2023-06-13 17:43:46
ผู้เข้าชม : 2470

ชอง เป็นกลุ่มชนดั้งเดิมที่ตั้งถิ่นฐานในจังหวัดจันทบุรี  ตราด และฉะเชิงเทรา เรื่องราวของชาวชองได้ถูกบันทึกไว้ในเอกสารในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในฐานะของกลุ่มคนที่มีการเพาะปลูกกระวาน  เดิมคนกลุ่มนี้มีวิถีการดำรงชีพด้วยการเคลื่อนย้าย เก็บของป่าและล่าสัตว์ ปัจจุบันมีการปรับเปลี่ยนมาดำรงชีพด้วยการทำเกษตร การทำสวนผลไม้ ในขณะเดียวกันก็มีความพยายามในการธำรงรักษาภูมิปัญญาดั้งเดิมในการปลูกพืชสมุนไพร เช่น กระวาน เร่ว และไม้กฤษณา (ไม้หอม) และมีความเชื่อเรื่องผีอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะการเล่นผีหิ้งผีโรงที่ถูกจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี เพื่อสืบสายตระกูลและบรรพบุรุษ

  • ข้อมูลพื้นฐาน
  • ประวัติศาสตร์
  • การตั้งถิ่นฐานและกระจายตัว
  • วิถีชีวิตและวัฒนธรรม
  • งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
  • อ้างอิง

ชื่อกลุ่มชาติพันธุ์ : ชอง
ชื่อเรียกตนเอง : ชอง
ชื่อที่ผู้อื่นเรียก : ปัว, ซองชีขะโมย, ขำของ
ตระกูลภาษา : ออสโตรเอเชียติก
ตระกูลภาษาย่อย : มอญ-เขมร
ภาษาพูด : ชอง
ภาษาเขียน : ไม่มีตัวอักษรที่ใช้เขียน

ชองเป็นกลุ่มชนดั้งเดิมในแถบจังหวัดจันทบุรี ตราด และฉะเชิงเทรา ชนกลุ่มนี้เรียกตนเองว่า ชอง หมายถึง “คน” ในพจนานุกรมภาษาไทยของราชบัณฑิตยสถานฉบับ พ.ศ. 2525 ได้บรรจุอยู่โดยให้ความหมายว่าเป็นชื่อของชนกลุ่มหนึ่งที่อาศัยอยู่ทางตอนเหนือของจังหวัดจันทบุรี อย่างไรก็ตาม เรื่องราวของชาวชองได้นถูกบันทึกไว้ในเอกสารในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในชื่อ “ขำของ” ขณะที่ชาวชองในประเทศกัมพูชานั้น เรียกตัวเองว่า ตัมเร็จ สำเร และเป็นที่รู้จักของชนกลุ่มอื่นในชื่อ ปัว ซองชีขะโมย

ชาวชองเป็นกลุ่มคนที่ปรากฏในบันทึกของจีนตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 19 ตอนต้น ระบุว่า ชาวชองถูกชาวเขมรจับไปเป็นทาส และอาศัยอยู่ตามป่าเขา เก็บของป่าล่าสัตว์ ปลูกกระวานและฝ้าย สอดคล้องกับคำบอกเล่าของชาวชองที่จันทบุรี ที่มีการเพาะปลูกกระวานเป็นอาชีพสำคัญ ประกอบกับบันทึกหลายชิ้นที่เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ชาวชองที่อาศัยอยู่ในภาคตะวันออกของประเทศไทย บริเวณจังหวัดระยอง จันทบุรี ตราด และในราชอาณาจักรกัมพูชา ซึ่งมีอาณาเขตติดต่อกัน มีภาษาและวัฒนธรรมของตนเองหากแต่ไม่มีการจดบันทึกเรื่องราวเนื่องจากไม่มีภาษาเขียน ชนกลุ่มนี้ดำรงชีพด้วยการเก็บของป่าล่าสัตว์ ปลูกกระวานและทำไร่ข้าว เช่นเดียวกับบันทึกพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่กล่าวถึงชาวชองที่จันทบุรี สอดคล้องกับงานเขียนและนิพนธ์ของเสฐียรโกเศศและสุนธรภู่ ที่กล่าวถึงชาวชองจันทบุรีในทิศทางเดียวกัน ส่วนในหนังสือประวัติจังหวัดตราดที่เรียบเรียงโดยพระบริหารเทพธานี อดีตผู้ว่าราชการเมืองตราด เมื่อประมาณ พ.ศ. 2474 ระบุว่า ชาวชองในเมืองตราดเป็นชนพื้นเมืองตราดไม่ได้อพยพมาจากพื้นที่อื่น ส่วนใหญ่ตั้งถิ่นฐานอยู่อาศัยบริเวณเชิงเขาบรรทัดใกล้ชายแดนไทย - กัมพูชา นับถือศาสนาพุทธควบคู่กับผีบรรพบุรุษ จากบันทึกข้างต้นชี้ชัดว่า ชาวชองในประเทศไทยเป็นชนท้องถิ่นดั้งเดิม อาศัยอยู่ในแถบนี้มายาวนาน มีระบบสังคม ประเพณีวัฒนธรรมเฉพาะ ปัจจุบัน ชาวชองนั้นกระจายตัวอยู่ภาคตะวันออก ติดกับชายแดนประเทศกัมพูชา ในจังหวัดจันทบุรี ตราด ระยอง และฉะเชิงเทรา

แม้ว่า ชาวชองจะมีวิถีชีวิตที่เชื่อมโยงกับกระวานมายาวนาน แต่ในปัจจุบัน มีการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตมาดำรงชีพด้วยการทำเกษตร โดยเฉพาะการทำสวนผลไม้ แต่ยังไม่ละทิ้งภูมิปัญญาดั้งเดิม โดยเฉพาะพืชสมุนไพร เช่น กระวาน เร่ว และไม้กฤษณา (ไม้หอม) เป็นพืชเศรษฐกิจในยุคก่อนก็ยังคงมีอยู่ ยาสมุนไพรพื้นบ้านหลายตำรับได้รับการสืบทอดและสร้างกระบวนการเรียนรู้เพื่อพัฒนาต่อยอด ขณะเดียวกันยังมีความเชื่อเรื่องผีอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะการเล่นผีหิ้งผีโรง ที่ถูกจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี เพื่อสืบสายตระกูลและบรรพบุรุษไม่ให้หลงลืมกัน ระบบความเชื่อเรื่องผีจึงเป็นความรู้ภูมิปัญญาและอัตลักษณ์ของชาวชองที่ยังดำรงอยู่เพื่อธำรงอัตลักษณ์ชาติพันธุ์ของตนเอง

ชาวชองเป็นกลุ่มคนดั้งเดิมที่อาศัยในพื้นที่รอยต่อระหว่างประเทศไทยกับกัมพูชามายาวนานแต่ไม่ได้มีการจดบันทึกประวัติศาสตร์การตั้งถิ่นฐานไว้อย่างชัดเจน จากบันทึกของนักการทูตชาวจีนชื่อ โจวต้ากวน ที่มาเยือนราชอาณาจักรเขมรในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 14 (Chou,1987) สันนิษฐานได้ว่าเป็นร่องรอยทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับชาวชอง ในบันทึกนี้ได้กล่าวถึงประเพณีต่าง ๆ ในราชสำนักเขมรรวมทั้งกล่าวถึงชนพื้นเมืองที่เรียกว่า Chuang หรือ จวง ซึ่งตั้งถิ่นฐานอยู่ตามป่าเขา และถูกจับมาขายเพื่อเป็นทาสในเรือนของชาวเขมร ทั้งนี้ไม่อาจหาหลักฐานยืนยันในเอกสารอื่นใดได้ว่า “จวง” คือ บรรพบุรุษของชองที่พบอยู่ในพื้นที่จังหวัดจันทบุรีปัจจุบัน แม้จะไม่มีหลักฐานยืนยันโดยตรง แต่ทว่า ข้อความอื่นในเอกสารของโจว สามารถอนุมานได้ว่า ชาวชองในประเทศไทยอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับชนพื้นเมืองโบราณของกัมพูชาดังคำบรรยายในหัวข้อ “ชนพื้นเมือง” ซึ่งโจวได้ระบุว่า ชนชาวป่าของกัมพูชาสมัยนั้นไม่ได้พูดภาษาเขมร พวกเขาไม่มีบ้าน ครอบครัวของชนกลุ่มนี้จะเร่ร่อนไปตามป่าเขา ทำการล่าสัตว์และแบ่งปันสัตว์ที่ล่ามาได้ในกลุ่มของตนเอง นอกจากนี้ในเอกสารยังได้ระบุถึงวิถีการดำรงชีพของชนพื้นเมืองบางกลุ่มที่ได้เพาะปลูกกระวานและต้นฝ้าย สอดคล้องกับคำบอกเล่าของชาวชองจันทบุรีที่ระบุว่า กระวานเป็นพืชเครื่องเทศที่สัมพันธ์กับวิถีชีวิตของชาวชอง ก่อนที่จะหันมาทำสวนผลไม้บนพื้นที่ราบเชิงเขาแทนการปลูกกระวานบนพื้นที่ภูเขาดังเช่นในอดีต (สุวิไล เปรมศรีรัตน์ และคณะ, 2550)

ชิน อยู่ดี (2506) กล่าวว่า ชองกลุ่มนี้เป็นพวกเดียวกับพวกชองอูด ซะอูด หรือ ซะโอจ เป็นชอง ที่อพยพเคลื่อนย้ายมาจากประเทศกัมพูชาโยใช้เรือเป็นยานพาหนะในการเดินทางมาขึ้นที่ราชบุรีโดยมีเจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิต เจ้าเมืองโชฎึก เป็นผู้ส่งมา เมื่อ พ.ศ. 2376 ชนกลุ่มนี้ได้ขึ้นไปตามลำแควใหญ่ ในจังหวัดกาญจนบุรีตอนเหนือ (กองโบราณคดีกรมศิลปากร, 2506) และมีคนชองอาศัยอยู่แถบชายแดนประเทศไทยติดกับอำเภอบ่อไร่ จังหวัดตราด เรียกตนเองว่า “ทัมรีต หรือซัมแร” (Tamret or Samree) อยู่ในจังหวัดพระตะบองของกัมพูชา และคนชองที่เรียกตนเองว่า “ปอร์” (Porr) หรือ คอนโซ (KonCho) อาศัยอยู่ในจังหวัดโพธิสัตว์ของกัมพูชา มีเขตติดต่อกับอำเภอเมือง จังหวัดตราด

สังฆราชปาลเลกัวซ์ หรือฌัง-ปัปติสต์ ปาลเลกัวซ์ (Jean-Baptiste Pallegoix) ที่เดินทางเข้ามาสยามในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ได้เล่าไว้ในบันทึกเรื่อง “เล่าเรื่องกรุงสยาม”ว่า พื้นที่ทางทิศเหนือของจังหวัดจันทบูรณ์ มีภูเขาล้อมรอบเป็นวงกลม เป็นที่ตั้งถิ่นที่อยู่อาศัยของชนเผ่าชอง ซึ่งรักษาเส้นทางเข้าออกตามช่องเขาทุกด้านไว้อย่างหวงแหน จะยอมให้บุคคลภายนอกเข้าไปได้ก็แต่เฉพาะผู้ที่เคยติดต่อทำมาค้าขายเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่คาดว่าจะไม่เป็นภัยแก่พวกเขาเท่านั้น พวกชองเคารพในตัวผู้เป็นหัวหน้าเผ่ามาก หัวหน้าเป็นผู้มีอำนาจเด็ดขาด สั่งให้ดำเนินตามกฎหมายและประเพณีโดยเคร่งครัด กฎหมายของเผ่าชองนี้กล่าวกันว่าเข้มงวดนัก แต่ไม่ค่อยมีการละเมิดเท่าใดเลย (ปาลเลกัวซ์, 2552: 53-54)

เช่นเดียวกันกับงานศึกษาของเกรมแฮม (Graham Webber, 1976: 11, 16, 24) ที่ได้ระบุว่า
ชาวชองเป็นชนกลุ่มน้อยกลุ่มหนึ่งที่อาศัยตามเชิงเขาทางทิศเหนือของจันทบูรณ์ พวกเขายังมีความเป็นอยู่แบบสมัยโบราณ คือ การหาของป่าล่าสัตว์ แล้วนำมาแลกเปลี่ยนอาหารอื่น ๆ กับชาวไทย ชาวชองจะมีภาษาและวัฒนธรรมเป็นของเขาเองซึ่งจะคล้ายกับชาวคะชิชองเป็นกลุ่มชนที่ตั้งอยู่ดั้งเดิมในแถบสยามกลาง เป็นชาวป่าเช่นเดียวกับกับพวกขมุ (Kamuk) ถิ่น (Tin) และชาวบน (Chaobon)ต่อมาได้มีการโยกย้ายถิ่นฐานออกมาตั้งหลักแหล่งเป็นของตนเอง ชาวชองได้เคยอาศัยอยู่บริเวณเนินเขาและที่ลุม ซึ่งมีเมืองหลวงอยู่ใกล้กับวัดทองทั่ว จังหวัดจันทบุรี แล้วย้ายเข้าป่าอีกในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย พวกเขาพูดภาษาของตนเอง ไม่มีภาษาเขียน จึงไม่มีการจดบันทึกทางประวัติศาสตร์

ในขณะที่หนังสือ "ชาติวงศ์วิทยาว่าด้วยชนชาติเผ่าต่าง ๆ ในประเทศไทย” ซึ่งนายแพทย์ เอ.คาร์ และพันตรี อีริค ไซเดนฟาเดน ได้ร่วมกันเขียนไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2473 ได้กล่าวถึง ชนเผ่าชองไว้ว่าเป็นคนที่มีถิ่นฐานอยู่ในแถบเขาในจังหวัดจันทบุรีและใกล้เคียง สืบเชื้อสายมาจากชนเผ่าชองในเขมร เขมรเรียกชนเผ่าชองว่า "ปอร์" แต่คนชองเรียกตัวเองว่า "ตัมเร็จ" หรือ "สำแร" ภาษาพูดคล้ายคลึงกับภาษาเขมร อย่างไรก็ดีชนเผ่าชองกับเขมรมีความแตกต่างกัน เรื่องรูปลักษณ์ขนาดของกะโหลกศีรษะและชนเผ่าชองมักจะมีเลือดนิกริโต (เซมังในภาคใต้ของประเทศไทย) ผสมอยู่ประมาณร้อยละ 20 ทั้งนี้ คงจะได้ผสมกับนิกริโต ซึ่งตั้งหลักแหล่งอยู่ในบริเวณนี้มาก่อนนั่นเอง

สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ สมัยที่ยังดำรงพระชนม์อยู่ ได้ทรงเคยพบกับชาวชองที่อำเภอมะขาม จังหวัดจันทบุรีในโอกาสที่เสด็จฯ ไปตรวจราชการ การสูญหายของกลุ่มชาติพันธุชองอาจเกิดจากการถูกคนไทยกลืนชาติเช่นเดียวกับชนเผ่าโบราณอีกหลายเผ่าที่เคยอาศัยอยู่ในถิ่นนี้มาตั้งแต่อดีต

ชาวชองจะต้องเป็นผู้ที่สืบเชื้อสายมาจากส่วยหรือกุย ซึ่งอยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยแน่นอน เพราะส่วยหรือกุยนี้เหมือนปอร์หรือสำแรและโกน ชนเผ่าชองในประเทศกัมพูชา จากการสำรวจในครั้งนั้นได้ความว่า ชนเผ่าชองเป็นตระกูลมอญ-เขมร ซึ่งผสมกับตระกูลเวดดิด-เมลาเนเซียน (weddid-Melanesian) (นักมนุษย์วิทยาชาวเยอรมันผู้หนึ่งเชื่อว่ากุยทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นเวดดิด ซึ่งถูกเผ่าอินโดนีเซียและเขมรเข้ามาผสมผสานทางเชื้อชาติ) ชนเผ่าชอง ในจังหวัดจันทบุรีดำรงชีพด้วยการทำไร่กระวาน ซึ่งเป็นสินค้าที่มีชื่อเสียงของจังหวัด และทำไร่ข้าว โดยใช้วิธีเผาป่าเพื่อปลูกข้าว ดังเนื้อความที่ถูกเขียนไว้ในหนังสือเรื่อง "ระยะทางเสด็จประพาสเมืองจันทบุรี” เมื่อวันเสาร์ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 2 ปีชวด อัฐศก 1238 (พ.ศ. 2419) มีความตอนหนึ่งว่า

...เร่วกระวานนั้นมีแถบป่าสีเซน ต่อเขตรแดนกับเมืองพระตบอง มีคนชาติหนึ่ง เรียกว่า ชอง อยู่ในแถบป่าสีเซน พูดภาษาหนึ่งต่างหาก แต่คล้าย ๆ กันกับเขมร ชอบลูกปัดแลของเหลือง เหมือนอย่างกะเหรี่ยงเมืองกาญจนบุรีเป็นกองส่วยเร่ว ส่วยกระวาน ขึ้นเมืองจันทบุรีกับไทยบ้าง ญวนบ้าง ไปเที่ยวเก็บตามเขาแลเนินที่ต่อเขตรแดนและป่าอื่น ๆ อีกมี คือ ป่าน้ำเขียว ป่าตะเคียนทอง แลป่าไพลขาว แต่เร่วกระวานนี้พวกส่วยไปเก็บมาส่งครบจำนวน แล้วจึงได้ซื้อขาย มีน้อยไปมาก ฯ... (สำเนาพระราชหัตถเลขาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, เรื่องระยะทางเสด็จประพาสเมืองจันทบุรี ณ วัน 7 ขึ้น 15 ค่ำ ปีชวด อัฐศก 1238)

พระยาอนุมานราชธน (ยง เสฐียรโกเศศ) ปราชญ์คนสำคัญ ระบุว่า ชนเผ่าชองเป็นชาวป่าจัดอยู่ในสายตระกูลมอญ-เขมร เป็นชาวพื้นเมืองที่ตั้งถิ่นฐานอยู่แถวระยอง-จันทบุรี เป็นเวลาช้านานเชื่อว่า สมัยสุโขทัยได้เข้ามาอยู่กันแล้ว จึงมีอิทธิพลภาษาพูดเป็นอนุสรณ์ไว้สืบต่อมาตราบจนทุกวันนี้นอกจากท่านสุนทรภู่ครูกวีจะได้พบสัมผัสกับชนเผ่าชองจนต้องระบายความในใจไว้ใน "นิราศเมืองแกลง" บทกวีนิพนธ์เรื่องแรก ใน 200 ปีที่ผ่านมาจากหลักฐานที่เชื่อถือได้ ที่แสดงว่าชาวชองอาศัยอยู่ในดินแดนภาคตะวันออกนี้ คือ นิราศเมืองแกลง ของท่านสุนทรภู่ซึ่งเป็นนิราศเรื่องแรก และเชื่อว่าท่านสุนทรภู่ แต่งเมื่อปี พ.ศ. 2350 ซึ่งในนิราศได้กล่าวถึงชาวชอง (กรมศิลปากร, 2520: 107) ไว้ว่า

“ครั้นแล้วลาฝ่าเท้าท่านบิตุรงค์ ไปบ้านพงค้อตั้งริมฝั่งคลองดูหนุ่มสาวชาวบ้านรำคาญจิต ไม่น่าคิดเข้าในกลอนอักษรสนอง ล้วนวงศ์วานว่านเครือเป็นเชื้อชอง ไม่เหมือนน้องนึกน่าน้ำตากระเด็น”

หลังจากนั้นก็มิได้ปรากฏหลักฐานใดที่จะแสดงถึงลักษณะหรือบรรยายถึงความเป็นอยู่ทางสังคมหรือวัฒนธรรมของชาวชอง เพิ่งจะมาปรากฏในหนังสือพิมพ์สยามรัฐรายวัน ฉบับประจำวันที่ 27 พฤศจิกายน 2513 ซึ่งมีผู้เขียนจดหมายถาม ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ความว่า

“เข้าป่าจันทบุรีได้ไปนอนบ้านชองที่จันทเขลมเกือบสุดแดน ผู้ชายล่ำสันบึกบึน ผิวคล้ำค่อนข้างเตี้ย นิยมกัญชา มีเขียง ตะเกียง กล้องแทบทุกบ้าน ผู้หญิงผิวขาวกว่าหน่อย อาชีพทำไร่และล่าสัตว์ ที่ทำนามีน้อย เวลาพูดกันเป็นภาษาชอง ไม่เหมือนโซ่ง ไม่เหมือนกะเหรี่ยง แต่เวลาพูดไทยชัดแจ๋ว อัธยาศัยดี งานศพ ตำข้าว ก็ช่วยกันไม่ว่าจะฝ่าป่าไปใกล้ไกล เรียนขอความรู้ว่า ชองเป็นไทยเผ่าไหน สายไหน ถอยร่นมาพร้อมกันหรือแต่เมื่อใด”

และ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้ตอบว่า“.คนเผ่าชองนั้นเข้าใจว่าจะเป็นอีกเผ่าหนึ่งเป็นต่างหากจากเผ่าไทย แต่เดี๋ยวนี้ได้เข้าร่วมอยู่ในชนชาติไทย พูดภาษาไทยและมีขนบธรรมเนียมประเพณี ตลอดจนความเชื่อถือเป็นไทยทุกอย่าง ชนเผ่าชองนั้นเป็นชนพื้นเมืองที่อยู่ในประเทศไทยมาก่อนที่คนไทยจะได้อพยพมาถึงและคงได้อยู่ทางชายทะเลฝั่งตะวันออกของประเทศไทยปัจจุบันเป็นจำนวนมาก เพราะน่าสังเกตว่า ชื่อเมือง ตลอดจนชื่อหมู่บ้านแถวนั้นไม่ใช่ภาษาไทย คงจะเป็นชื่อที่พวกชองได้ตั้งไว้ก่อน เช่น ตราด ระยอง (ซึ่งดูเหมือนจะแปลว่า กะปิ) แกลง กร่ำ เพ ตลอดจนสัตหีบ น่าสังเกตว่าชื่อเมืองสัตหีบมีอยู่อีกแห่งหนึ่งในเกาะสุมาตรา.. ”
(สุเรขา สุพรรณไพบูลย์, 2530)

พระยาตวังคภูมาภิบาล อดีตผู้ว่าราชการเมืองตราด ได้ตรวจพบที่บ้านด่านชุมพล ซึ่งไกลจากคลองห้วยแร้งประมาณ 500 เส้น เมื่อพ.ศ. 2452 โดยกล่าวไว้ในหนังสือรายงานราชการการตรวจเมืองระยองแลเมืองตราด ซึ่งกราบทูลพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ใจความว่า

ราษฎรเปนของมีเขมรแลลาวบ้างเล็กน้อยการหาเลี้ยงชีพ มีการทำนาบ้างเล็กน้อยไม่ใคร่จะพอเพียงกัน เพราะไขยภูมิพื้นที่ของพวกของขอบตั้งอยู่ชายเนินริมมาบซึ่งมีทุ่งนาเล็กน้อย พวกชองเหล่านี้เมื่อหมดเทศกาลทำนาแล้วชอบประพฤติเข้าป่าหาไม้หอมแลกระวานเปนพื้น พวกเหล่านี้พิเคราะห์ดูแม้นพวกเขมรปลายเขตร์อำเภอท่าหลวง ซึ่งติดต่อกันบ่อไพลินถ้าเกิดเจ็บไขอะไรขึ้น แล้วก็ชอบทิ้งบ้านเรือนหนีเหมือนกันไปหาที่พักอื่นปลูกใหม่ต่อไป ข้าพระพุทธเจ้าจึงได้แนะนำชี้แจงว่าถิ่นฐานบ้านเรือนซึ่งเขาตั้งภูมิลำเนาดังที่ได้ตรวจเห็นมาแล้วนี้เป็นพื้นที่กลางป่าระหว่างเขาระหว่างเนินจะหาที่โค่นสร้างทำนาก็ไม่ใคร่จะมีครั้นจะสร้างสวนปลูกผลไม้เมื่อผลไม้เป็นผลแล้วก็ไม่มีที่จะจำหน่ายขายเพราะเป็นที่ป่าดอนให้ย้ายครอบครัวไปอยู่ริมคลองห้วยแร้ง ซึ่งเป็นที่อุดมดีจะทำสวนหรือทำนาก็มีที่ปลูกสร้างได้พวกราษฎรเหล่านั้นทั้งหมดพากันร้องว่าพวกเขาเหล่านั้นเป็นคนเคยอยู่ป่าดอนไม่เคยอยู่ใกล้ริมน้ำคลองมีความกลัวเกรงว่าจะผิดน้ำบ้างผิดผีบ้างพวกเหล่านี้ออกจะถือผีเคร่งมากข้าพระพุทธเจ้าจึงได้แนะนำให้หลวงพลกำนันหาพื้นดินที่ห้วยแร้งตั้งบ้านเรือนดูก่อน เพื่อราษฎรเหล่านั้นจะได้คุ้นเคยแลเป็นตัวอย่างต่อไป” (อภิลักษณ์ เกษมผลกูล, 2555: 94-96)

ต่อมาในราวปี พ.ศ. 2474 พระบริหารเทพธานี อดีตผู้ว่าราชการเมืองตราด ได้เรียบเรียงหนังสือ ประวัติจังหวัดตราด ขึ้นและกล่าวถึงกลุ่มชาติพันธุ์ชองในเมืองตราด ไว้ว่าชาวชองเหล่านี้เป็นชนพื้นเมืองตราดมาก่อนอยู่แล้วไม่ได้อพยพมาจากที่อื่น ส่วนใหญ่ตั้งที่อยู่อาศัยบริเวณเชิงเขาบรรทัดใกล้ชายแดนไทย - กัมพูชา นับถือศาสนาพุทธควบคู่ไปกับผีบรรพบุรุษ

จากเนื้อความข้างต้น จะเห็นว่า ชาวชอง ได้อาศัยอยู่ในภาคตะวันออกของประเทศไทยบริเวณจังหวัด ระยอง จันทบุรี ตราด และอาศัยเลยเข้าไปในเขตสาธารณรัฐกัมพูชา ซึ่งมีอาณาเขตติดต่อกับจังหวัดจันทบุรี ตราด มาแต่ดั้งเดิม จากสภาพความเป็นอยู่อาชีพ สังคม และวัฒนธรรมดั้งเดิม มีลักษณะคล้ายคลึงกับชาวบน กูย หรือส่วย ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ตระกูลออสโตรเอเชียติก สาขาย่อย มอญ–เขมร นอกจากนี้รูปร่าง ลักษณะโครงสร้างของร่างกาย แตกต่างไปจากคนไทย คนจีน ซึ่งอยู่ในเผ่ามองโกลอยด์ (Mongoloids) และนักมานุษยวิทยาจัดชนกลุ่ม มอญ–เขมรซึ่งมีลักษณะ รูปร่าง สภาพสังคมวัฒนธรรมใกล้เคียงกันนี้อยู่ในเผ่าพันธุ์ ออสโตร–เอเชียติค (Austro Asiatic) ดังนั้น จึงสรุปได้ว่า ชาวชอง เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มชาติพันธุ์ออสโตร–เอเชียติค และกลุ่มย่อย กลุ่ม มอญ–เขมร (โครงการพัฒนาระบบฐานข้อมูลเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย, ม.ป.ป: 1-2)

ชาวชองตั้งถิ่นฐานอยู่ในพื้นที่ภาคตะวันออกของประเทศไทยติดกับประเทศกัมพูชา พบใน 4 จังหวัด ได้แก่ จันทบุรี ตราด ระยอง และฉะเชิงเทรา นอกจากนี้ยังพบในจังหวัดปราสาท จังหวัดพระตะบอง ประเทศกัมพูชา ซึ่งเป็นจังหวัดรอยต่อติดพรมแดนกับประเทศไทยที่จังหวัดตราดและจันทบุรีอีกด้วย ในประเทศไทยพบกลุ่มคนที่พูดภาษาใกล้เคียงกับชาวชอง ได้แก่ ชาวกะซอง (Kasong) และชาวซัมเร (Samre) (Isara, 2002b) ส่วนในประเทศกัมพูชาได้แก่ กลุ่มชาวซัมเร ชาวซัมเรย์ (Samray) ชาวเปีย (Pear) และชาว Saoch

ชาวชองส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในจังหวัดจันทบุรี บริเวณเขาสอยดาวเหนือ อาศัยอยู่อย่างหนาแน่นในอำเภอเขาคิชฌกูฎ ในตำบลลตะเคียนทองและตำบลคลองพลู (มิรินด้า บูรรุ่งโรจน์, 2550: 14) บ้านคลองพลู บ้านกะทิง บ้านตะเคียนทอง บ้านคลองพลู บ้านคลองน้ำเป็น ใกล้น้ำตกกะทิง อำเภอเขาคิชฌกูฎ บ้านวังแซม บ้านปิด อำเภอมะขาม และบ้านวังกะแพร อำเภอโป่งน้ำร้อน ส่วนในจังหวัดตราดอยู่อาศัยกันที่บ้านคลองแสง บ้านด่านชุมพล และบ้านปะเดา อำเภอบ่อไร่ จังหวัดตราด บางแหล่งข้อมูลระบุว่ามีชาวชองประมาณ 8,400 คน ในขณะที่ข้อมูลการสำรวจภายใต้โครงการแผนที่ภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในประเทศไทยของมหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า ชาวชองในประเทศไทยมีประชากรประมาณ 4,000 คน(มิรินด้า บูรรุ่งโรจน์, 2550: 13) อาจเป็นเพราะยังไม่มีการสำรวจกันอย่างจริงจัง ในขณะที่ในประเทศกัมพูชาคาดการณ์ว่ามีชาวชองประมาณ 1,500 คน (Joshua Project, 2015)

ในอดีตพื้นที่อยู่อาศัยของชาวชองจะเป็นแหล่งที่มีพรรณไม้และเครื่องเทศที่มีราคา เช่น ไม้กฤษณา เร่วหอม และกระวาน เป็นต้น นอกจากนั้นยังเคยเป็นแหล่งผลิตน้ำมันยางจากธรรมชาตินำไปใช้ในการยาเรือ ทาบ้าน และทำเป็นขี้โล้นำไปใช้จุดไฟให้แสงสว่าง ทั้งหมดเป็นเหตุผลที่ทำให้ชาวชองอาศัยอยู่ใกล้กับแนวภูเขา (มิรินด้า บูรรุ่งโรจน์, 2550: 15) แต่ทว่า วิถีชีวิตของพวกเขาไม่อาจจัดได้ว่าเป็นกลุ่มคนที่นิยมการอาศัยอยู่บนภูเขา เพราะบ้านเรือนจะปลูกในพื้นที่ราบ แต่จะใช้ภูเขาเป็นแหล่งเพาะปลูกและล่าสัตว์

การดำรงชีพ

ก่อนหน้าปี พ.ศ. 2500 ระบบเศรษฐกิจของชาวชองเป็นการเกษตรแบบยังชีพเป็นหลัก มีการปลูกข้าวเพื่อเลี้ยงครอบครัวไม่ใช่เพื่อการค้า ยกเว้นการปลูกกระวานที่ทำเพื่อการค้าเท่านั้น นอกจากนี้ยังมีการหาของป่าและล่าสัตว์ชาวชองส่วนใหญ่มักจะมีบ้านเรือนที่ค่อนข้างใหญ่และได้รับการศึกษาที่ดีพอสมควร ทั้งนี้ เพราะมีทุนการเงินในการจับจ่ายใช้สอย อย่างไรก็ตาม การศึกษาประเด็นด้านการดำรงชีพและการเกษตรของชาวชองนั้นก็ยังมีงานศึกษาที่ค่อนข้างจำกัด งานศึกษาที่เกี่ยวข้องกับชาวชองส่วนใหญ่มุ่งศึกษาด้านภาษาเป็นหลัก ซึ่งในอนาคตควรมีการศึกษาในประเด็นด้านนี้เพิ่มมากขึ้น

ปัจจุบัน วิถีการดำรงชีพของชาวชองมีความหลากหลาย ทั้งการทำนา การปลูกพืชเศรษฐกิจ และการล่าสัตว์ ทั้งนี้ ชาวชองบางส่วนปรับเปลี่ยนวิถีการทำเกษตรแบบยังชีพมาเป็นเกษตรเชิงพาณิชย์ โดยเฉพาะการทำสวนผลไม้ เช่น ทุเรียน มังคุด และเงาะ โดยมีรายละเอียดดังนี้

การทำนา

ชาวชองใช้ระบบการทำนาและการทำไร่ควบคู่กัน ในอดีตเมื่อ 50 ปีที่ผ่านมา ระบบการทำนาของชาวชองเป็นการปลูกข้าวไร่ (ฮายบาย) พันธุ์ข้าวไร่มีชื่อว่า ข้าวนางบ่อ ข้าวลูกปลา และข้าวเม็ดลายกระจ่อน สำหรับพันธุ์ข้าวนาได้แก่ ข้าวเหลืองทอง ข้าวนางกะลิง และข้าวขาวประแส ปัจจุบันพันธุ์ข้าวเหล่านี้ได้สูญหายไปเมื่อประมาณ 40 ปี ที่ผ่านมา เนื่องจากชาวชองหันมาปลูกข้าวพันธุ์ กข. มากกว่าข้าวพันธุ์พื้นเมือง

ก่อนที่จะเริ่มต้นการทำนาจะมีการไหว้ศาลหมู่บ้านและศาลนา ที่จัดขึ้นในเดือน 3 ขึ้น
3 ค่ำ (ประมาณเดือนเมษายน) สำหรับข้าวนา หลังจากนั้นจะนำกล้าที่หว่านไว้แล้วทำการตกกล้าเป็นเวลา 3 วันให้แล้วเสร็จ เพื่อเตรียมต้นข้าวไว้สำหรับการปลูกข้าว ต่อจากนั้นจะทำพิธีแรกนาขวัญ การทำพิธีแรกนาขวัญจะทำด้วยการที่เจ้าของนาเอาหมากพลูและหัวหมูเวียนซ้ายรอบนา 3 รอบ แล้วทำการไถนาครั้งแรก แล้วพูดว่า “หลานจะขอไถนาแล้วนะ” แล้วก็พูดเสริมขอพรต่างๆ เพื่อให้ได้ข้าวอุดมสมบูรณ์

หลังจากนั้นจะทำการถอนกล้าในนา แล้วจึงนำไปดำในนาที่เตรียมไว้ ชาวชองมีความเชื่อว่า ก่อนที่จะนำกล้าทั้งหมดลงไปดำนา จะต้องมีการดำนาไว้ 3 กอ (ต้น) เสียก่อน เพื่อนำไปฝากไว้กับพระแม่ธรณี ข้าว 3 กอนี้จะต้องไปปักทั้ง 4 มุมของแปลงนา ซึ่งข้าว 3 กอนี้ เมื่อออกรวงจะถูกเกี่ยวเป็นอันดับต้นแยกออกไปต่างหากจากข้าวทั่วไป แล้วนำขึ้นยุ้ง พร้อมกับพูดว่า “ไปอยู่ในยุ้งนะจะได้ไม่โดนนกโดนกา”

หลังจากดำนาแล้วเสร็จก็จะทำการปัก “ตะหลิว” (บางแห่งเรียกว่า ตาเหลว หรือตาแหลว) เพื่อให้ช่วยปกปักป้องกันข้าว ชาวบ้านจะทำการดูแลข้าว ถอนหญ้าและวัชพืชต่างๆ ประมาณเดือนปลายพฤศจิกายนถึงธันวาคมจะเป็นช่วงที่เกี่ยวข้าวนากัน โดยจะทำการเกี่ยวแล้วมัดฟ่อน ขนข้าวฟ่อน กองเป็นลอม แล้วนำมานวดข้าวกันในลานที่บ้าน หลังจากนวดข้าวแล้วก็จะทำการ “โรยข้าว” ด้วยการเลือกเม็ดพันธุ์ที่ดีเก็บไว้ใช้ในปีถัดไป ขั้นตอนต่อไปจะเป็นการขนข้าวขึ้นยุ้ง โกยข้าวออกจากยุ้ง ตากข้าวเปลือก และสีข้าวซ้อมข้าวให้เป็นข้าวสาร มีการหุงข้าวสวย และข้าวมันเพื่อเป็นการฉลองข้าวใหม่

ขั้นตอนการทำนาข้างต้นเป็นวิธีการที่เกิดขึ้นก่อน พ.ศ.2500 ในยุคนั้นชาวบ้าน 1 ครอบครัวโดยเฉลี่ยจะใช้พื้นที่ปลูกข้าวประมาณ 5-20 ไร่

สำหรับการปลูกข้าวไร่จะเริ่มต้นใช้ช่วงเวลาเดียวกัน คือ ประมาณเดือน 3 โดยการเผาไร่ หลังจากเผาไร่แล้วเสร็จจะเป็นช่วงของการหยอดข้าว ผู้หญิงจะทำหน้าที่ถือไม้สำหรับแทงดินให้เป็นรู ส่วนผู้ชายทำหน้าที่หยอดเมล็ดข้าว ซึ่งแตกต่างจากกลุ่มชาติพันธุ์ลีซูที่ผู้ชายทำหน้าที่ถือไม้เพื่อแทงดิน ผู้หญิงหยอดเมล็ดข้าว หลังจากนั้นก็ทำการกำจัดวัชพืชและเก็บเกี่ยวในราวเดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคม (เฉิน ผันผาย, 2558; สัมภาษณ์)

การปลูกพืชเศรษฐกิจ

ในอดีตชาวชองมีอาชีพหลักในการเพาะปลูกเครื่องเทศโดยเฉพาะกระวานและเร่ว โดยเฉพาะกระวานเป็นพืชที่สร้างรายได้ให้กับชาวชองเป็นอย่างมาก รองลงมาเป็นการทำไม้กฤษณาและการเก็บน้ำผึ้ง

กระวาน (cardamom) เป็นพืชที่ขึ้นในป่าบนภูเขาสูง ไม่สามารถให้ผลผลิตในพื้นที่ราบได้ เพราะเป็นพืชที่ต้องการความชื้นและความเย็น หากปลูกในพื้นที่ต่ำจะออกแต่ดอกไม่มีเมล็ด การปลูกและเก็บเกี่ยวจะต้องเดินขึ้นเขาไปใช้เวลาเดินจากตีนเขาอาจจะ 1-2 ชั่วโมง ชาวชองบ้านคลองพลูจะนิยมปลูกกระวานที่เขาสอยดาว มีความเชื่อว่า ห้ามผู้หญิงที่มีประจำเดือนปลูกกระวาน จะปลูกได้ดีเฉพาะผู้ชาย ส่วนผู้หญิงจะให้รอที่ขนำ (ฮะหนำ)

ส่วนเร่วสามารถเติบโตได้ทั่วไป เร่วแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ เร่วหอม ปลูกได้ที่บ้าน และเร่วป่า เป็นเร่วขน หน่อหรือรากสามารถเอามาจิ้มน้ำพริกได้ มีกลิ่นหอม สรรพคุณทางยาช่วยรักษาอาการท้องขึ้น ท้องอืดเฟ้อ ขับลม ในจังหวัดจันทบุรีและใกล้เคียงมักนำเร่วมาทำแกง

นอกจากนี้ ชาวชองในอดีตยังทำไม้กฤษณากัน การเข้าไปตัดไม้ในป่าจะต้องเข้ากันไปหลายคนพร้อมด้วยเสบียงอาหาร เมื่อ พ.ศ.2500 ราคาของไม้กฤษณากิโลกรัมละประมาณ 400 บาท ส่วนอีกอาชีพหนึ่งของชาวชอง คือ การเก็บน้ำผึ้ง คนที่เก็บน้ำผึ้งจะเป็นบุคคลที่มีความสามารถในการปีนต้นไม้ การขึ้นต้นไม้จะมีการตอกทอยกัน ทำกัน 2 คน คนหนึ่งจะทำหน้าที่รมควันตัดหัวน้ำผึ้งลงมา คนข้างล่างรอบีบเอาน้ำผึ้ง รังผึ้งบางรังให้น้ำผึ้งได้มากถึง 10 ขวด ส่วนขี้ผึ้งเคี้ยวเก็บเอาไว้เพื่อเอามาทำยา ปกติการเก็บน้ำผึ้งจะทำในเดือน 5 หรือเสาร์ 5 ถือกันว่าน้ำผึ้งจะดีและศักดิ์สิทธิ์มาก (เฉิน ผันผาย, 2558; สัมภาษณ์)

การล่าสัตว์

ในอดีตชาวชองมีการล่าสัตว์ โดยบุคคลที่ถูกเรียกว่านายพราน แบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ คือ รูปแบบแรก พรานเที่ยวป่าใหญ่ เป็นนายพรานที่ล่าสัตว์ใหญ่ และรูปแบบที่สอง พรานสมัครเล่น เป็น นายพรานที่ล่าสัตว์เล็กเพียงเพื่อพอยังชีพเท่านั้น

นอกจากการล่าสัตว์แล้ว ชาวชองยังมีการหาขนเม่น โดยเอาไปขายร้านยาของชาวจีนเพื่อเอาไปทำเป็นยาเรียกว่ากันว่า “โรงสินแส” อยู่ที่ตัวเมืองจันทบุรี สัตว์อีกชนิดที่มีราคา คือ เกล็ดของตัวลิ่น และดีของตัวลิ่น ที่เชื่อว่าช่วยแก้ช้ำใน และเป็นยาบำรุงกำลัง มีการล่างูเหลือมเพื่อเอาหนัง และกระดูกงูเหลือมเอาไปทำยา เลียงผาล่าเอาหัวไปเคี่ยวเอาน้ำมันเพื่อเอาไปเป็นยาแก้เคล็ดขัดยอก ล่าหมูป่าเพื่อเอาเขี้ยวมาทำเป็นยาแก้ไข้ ถ้าเป็นเขี้ยวตันจะเอาไปทำของขลัง ส่วนหมีกินเนื้อ ส่วนดีหมีเอาไปขายให้ร้านขายยาได้ราคาดี สุดท้ายเขากวางอ่อนเอาไปขายร้านยา เมื่อได้มาจากป่าจะทำการห่อผ้าแล้วเอาไปย่างไฟอ่อนๆ การล่าสัตว์ต่างๆ ทั้งหมดได้ถูกเลิกกันไปเมื่อประมาณ 30-40 ปีที่ผ่านมา เพราะได้มีการตั้งเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาวขึ้นเมื่อ พ.ศ.2515 ทำให้นายพรานไม่สามารถเข้าไปล่าสัตว์ได้อีก (เฉิน ผันผาย, 2558; สัมภาษณ์)

ระบบความเชื่อ ประเพณี และพิธีกรรม

ศาสนาและความเชื่อ

ศาสนา

ชาวชองยังคงนับถือศาสนาพุทธควบคู่กับการนับถือผี ปัจจุบันให้ความสำคัญกับศาสนาพุทธเป็นหลัก ส่วนศาสนาผีนั้นแม้ว่าชาวบ้านหลายคนจะเลิกเล่นผีไปแล้วก็ตาม เช่น ผีท่า รวมถึงผีหิ้งกับผีโรงเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงด้านสังคม ทำให้คนในครอบครัวไม่สามารถเดินทางกลับมาเล่นผีได้ อย่างไรก็ตาม ด้วยการนับถือศาสนาพุทธจึงทำให้ความเชื่อและพิธีกรรมต่างๆ ยังคงปฏิบัติได้เช่นเดิม

ความเชื่ออื่นๆ

ชาวชองไม่ได้มีความเชื่อที่แตกต่างจากคนกลุ่มอื่นๆ ในภูมิภาคอุษาคเนย์ คือ มีความเชื่อผสมผสานกันระหว่างศาสนาผี พุทธ และพราหมณ์ โดยศาสนาผีเป็นศาสนาดั้งเดิมก่อนการรับศาสนาพุทธและพราหมณ์เข้ามา

ชาวชองที่บ้านคลองพลูมีความเชื่อเรื่องผี ในภาษาชองเรียกผีว่า “มู้จ” แบ่งผีออกเป็น 4 ชนิด ได้แก่
ผีเรือน (มู้จต็อง) เป็นผีที่มีกันทุกบ้าน ผีหิ้ง (มู้จต็องพัฮ) และผีโรง มีนับถือเฉพาะบางตระกูล และผีท่า
(มู้จพิท่า) มีนับถือในบางตระกูลเช่นกัน มีรายละเอียด ดังนี้

ผีเรือน ทำเป็นศาลขนาดเล็กตั้งอยู่ตามพระภูมิ ถือเป็นที่อยู่ของผีปู่ย่าตายาย เชื่อกันว่าผีเรือนถือเป็นผีเจ้าที่ ทำให้กระดูกคนตายต้องเอามาไว้ที่บ้าน เพื่อให้มีหน้าที่ในการคุ้มครองทุกคนในบ้าน

ผีหิ้ง จะทำไว้บนบ้าน เป็นหิ้งให้ผีอยู่ จึงเรียกว่าผีหิ้ง เชื่อกันด้วยว่า “ผีหิ้งคือคนให้เหล้า” คนโบราณบอกว่าเมื่อเอาสายสิญจน์ผูกกับผีหิ้งแล้วโยงกับไห เมื่อบูชาจะมีเหล้าไหลออกมาเอง ทำให้ชาวชองบูชาผีหิ้ง จึงเชื่อกันว่า “ผีหิ้งมาจากคนกินเหล้า”

ผีโรง จะเล่นกันในเวลากลางวัน โดยเล่นกันในโรงที่ตั้งกับพื้นดินจึงเรียกกันว่าผีโรง ทุกอย่างทำคล้ายกับผีหิ้ง แต่ไม่มีการเข้าสมิง และไม่มีผีครบทั้ง 12 ตน ในบ้านคลองพลูไม่มีการเล่นกัน เหลือเพียงที่วัดตะเคียนทองยังทำกันทุกปี (เฉิน ผันผาย, 2558; สัมภาษณ์)

ผีท่า จะเป็นการเล่นกันข้างคลอง ทำกันในช่วงเดือน 3 เวลากลางวัน โดยจะเล่นกันข้างคลอง เซ่นไหว้ครูและทำการร้องรำทำเพลง เล่นละครกัน จัดเป็นผีที่เข้าง่ายไม่ยากเหมือนผีหิ้ง ปัจจุบันการเลี้ยงผีท่าได้เลิกไปแล้วประมาณ 20-30 ปี เพราะตระกูลที่ทำ คือ คนในนามสกุลจันทวงศ์ได้เลิกไป (เฉิน ผันผาย, 2558; สัมภาษณ์)

ประเพณี เทศกาล และพิธีกรรม

ประเพณี เทศกาลและพิธีกรรมสำคัญในรอบปี

การเล่นผีหิ้งผีโรง

การเล่นผีหิ้งและผีโรง เป็นพิธีที่จัดขึ้นเพื่อเป็นการสนทนาระหว่างคนตายกับคนเป็นโดยผ่านร่างของคนทรง การเล่นผีหิ้งและผีโรง มีความคล้ายคลึงกันมาก แต่แตกต่างกันในช่วงเวลาของการเล่น การเล่นผีหิ้งจะเล่นในเวลากลางคืน ส่วนการเล่นผีโรงจะเล่นเวลากลางวัน ประโยชน์อย่างหนึ่งของการเล่นผีหิ้งและผีโรงเป็นการกระชับความสัมพันธ์ในระบบเครือญาติให้ดำรงอยู่ (มิรินด้า บูรรุ่งโรจน์, 2550: 24)ในส่วนนี้จะให้ข้อมูลเฉพาะการเล่นผีหิ้งเนื่องจากการละเล่นนั้นไม่แตกต่างกันมากนัก

ผีหิ้งจะต้องเล่นต้องเลี้ยงกันในบ้าน มีการลงทรงเซ่นไหว้กันทุกปี ทำพิธีกรรมกันในเดือน 3ในเดือนกุมภาพันธ์ ขึ้น 3 ค่ำ หลังฤดูการเก็บเกี่ยวการเลี้ยงผีหิ้งในเวลากลางคืน เริ่มขึ้งในช่วงหลังพระอาทิตย์ตกดิน ช่วงเวลาประมาณ 1 ทุ่ม หมอทรงจะเป็นผู้หญิงทำหน้าที่เป็นสื่อกลางให้กับบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้วสอบถามความเป็นอยู่ของผี ผีหิ้งจะเข้าทรงทั้งหมด 12 ตน เป็นผีที่เป็นพี่น้องกัน ผีคนสุดท้องเป็นผีสมิง เมื่อเข้า จะสังเกตง่ายเพราะจะร้องและเต้นรำดาบ กระโดดขึ้นไปกินไก่ดิบที่เอามาเซ่น บางครั้งจะวิ่งออกไปตามทุ่ง จากนั้นจะเรียกกลับมา คนที่เข้าทรงจะนอนหงาย แสดงว่าผีออกแล้ว เป้าหมายของการทำผีหิ้งเพื่อถามไถ่สารทุกข์สุกดิบ เช่น ถ้าผี (คนตาย) ไม่มีบ้าน ก็จะทำบ้านขนาดเล็กส่งไปให้ เป็นต้น พิธีจะเสร็จในเวลาประมาณเที่ยงคืน (เฉิน ผันผาย, 2558; สัมภาษณ์)

ในหนังสือเรื่องอารยธรรมชองจันทบุรี อาณาจักรจันทบูร เมืองเพนียด เขียนโดย พระครูธรรมสรคุณ และนายธรรม พันธุ์ศิริสด ได้อธิบายเกี่ยวกับการเล่นผีหิ้งไว้ว่าการเล่นผีหิ้งเกิดจากเด็กเลี้ยงควาย นึกเล่นสนุก เอามาผ้ามาเคียนหัว แล้วเอาดอกไม้เหน็บรอบหัว แล้วเชิญผีเข้า สมมติตนเป็นคนนั้นคนนี้ หรือคนที่ตายไปแล้วหลายปี เล่นกันสนุก ผู้ใหญ่มาเห็นเข้าก็เลยทำดูบ้าง และสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน บางครอบครัว การเล่นผีหิ้งนั้นจะเล่นในบ้าน บางครั้งเล่นกันมากถึง 50-100 คนในบ้านจะมีหิ้งเหมือนหิ้งพระโบราณ กว้างประมาณ 50 เซนติเมตร ยาวประมาณ 70 เซนติเมตร สองข้างต่อออกไปคล้ายกับงาช้าง เพื่อให้แขวนของได้ ต้องยกให้สูงเหนือพื้นประมาณคอ บนหิ้งจะมีขนมต้ม เทียน และขนมอื่นๆ มีทั้งเหล้า ไก่ เป็ด และหมู ผู้ที่เป็นคนทรงจะต้องเป็นผู้หญิง การแต่งตัวจะนุ่งโจงกระเบนและใส่เสื้อแขนกระบอกมีผ้าพาดเฉียงเป็นสไบ ใช้ด้ายขาวเคียนหัวและดอกไม้แซมโดยรอบ ด้ายจะโยงมาที่หิ้ง นั่งพับเพียบมีหมอเป็นผู้เชิญ จากนั้นก็จะมีผีมาเข้า 12 คนหรือ 12 ครู ระหว่างนั้นก็จะมีการเล่นดนตรีมีโทน กรับ ฉิ่ง ตีเป็นจังหวะ เมื่อผีเข้า คนถูกทรงก็จะลุกขึ้นเต้นรำเป็นจังหวะ ยืนขึ้นกินขนมและอาหารต่างๆ ที่อยู่บนหิ้ง จากนั้นคนทรงก็จะล้มลงนอนบนตักของหมอ หมอก็ใช้คาถาเป่ากระหม่อมและใช้ข้าวสารเสก เสร็จแล้วผู้ทรงก็จะลุกขึ้นมานั่ง พูดจาไถ่ถามสารทุกข์สุกดิบ ถามชื่อเสียงเรียงนาม ผีตาอะไรผียายอะไร ตายแล้วไปอยู่ไหน สบายดีไหม เมื่อเข้าทรงจนครบก็เป็นอันจบพิธี (พระครูธรรมสรคุณ และธรรม พันธุ์ศิริสด, 2541: 17-21)

การเล่นผีหิ้งของบ้านตะเคียนทอง ตำบลตะเคียนทอง อำเภอเขาคิชกูฏ จังหวัดจันทบุรี

ชาวชองบ้านตะเคียนทองนั้นสืบทอดพิธีเล่นผีหิ้งมาเนิ่นนาน

การเล่นผีหิ้งของชาวชอง เกิดจากความเชื่อที่ว่า เมื่อบรรพบุรุษหรือญาติพี่น้องที่เสียชีวิตไปแล้ว
ก็สามารถที่จะติดต่อสื่อสารกันเพื่อการไต่ถามทุกข์ สุข ทั้งของคนเป็นและคนตาย นอกจากนี้ยังมีความเชื่อว่า หากชาวชองครอบครัวหรือตระกูลใดที่มีการเล่นผีหิ้งเป็นประจำทุกปีแล้ว จะทำให้เกิดความร่ำรวยมีความสุข ดังในอดีตชาวชองจึงได้มีการนำผีหิ้งมาเล่นกัน

ก่อนการเล่นผีหิ้งจะต้องเตรียมสถานที่ไว้พอสมควร บ้านต้องกว้าง สามารถรองรับญาติพี่น้องได้อย่างน้อยห้าสิบหรือหนึ่งร้อยคน มีหิ้งเหมือนหิ้งพระโบราณ กว้างประมาณหกสิบเซนติเมตรยาวประมาณเจ็ดสิบเซนติเมตร สองข้างหิ้งต่อไม้ออกไปเหมือนกับงาช้าง เพื่อใช้แขวนสิ่งของได้ บนหิ้งจะมีขนมต้ม ขนมเทียน ขนมอื่น ๆ มีเหล้า และอาหารครบถ้วน มีรูปช้าง รูปม้า แขวนให้เรียบร้อยคนทรงผีต้องเป็นผู้หญิงในตระกูลนั้นแต่งตัวนุ่งโจงกระเบนใส่เสื้อแขนกระบอก มีผ้าพาดเฉียงที่ไหล่ใช้ด้ายสีขาวเคียนรอบหัวปักแซมด้วยดอกไม้รอบหัว ในมือถือจั่นหมาก โยงด้ายสีขาวลงมาจากหิ้งนั่งพับเพียบมีอาจารย์กำกับหรือครูหมอผีเป็นผู้เชิญสามารถเชิญผีได้ปีละหนึ่งครั้ง ครั้งละสิบสองผีหรือสิบสองครูเท่านั้น

ดนตรีประกอบมีโทนกรับฉิ่งตีเป็นจังหวะเช่น จังหวะปะโท้น ๆโท้นปะ โท้น ๆเป็นต้น

เพลงเชิญผีหิ้งมีดังนี้

“เชิญเอ๋ยเชิญลงเชิญเจ้าทุกองค์เทวาดาลองค์ใดที่ศักดิ์สิทธิ์ให้เนรมิตท่านลงมาลงมาจะกินเอ๋ยเป็ดเสด็จลงมาจะกินไก่ลงมาตระเว็ดเอ๋ยม้อยให้ห้อยลงมาตระเว็ดใหญ่ลงมาอยู่ริงเอ๋ยริงให้วิ่งลงมาอยู่ไร่ ลงมาตามเทียนเอ๋ยหลัก ให้ปักลงมาตามเทียนชัยเร็ว ๆเถิดหนาพ่อเอ๋ยแม่เอ๋ยเร็ว ๆสักหน่อยว่าขนมนมเนยก็แต่งไว้องค์นี้จะขึ้นเอ๋ยไปองค์ไหนจะลงมาหน่วงหนักชักช้าไม่ว่ากะไรระทวยแม่เอ๋ยระทอดเหมือนดังยอดแพงพวยเขาก็รำก็รำเอ๋ยด้วยงามไม่งามไม่รู้เลย ลุกขึ้นจะนุ่งเอ๋ยผ้าลุกขึ้นจะทาน้ำมันแป้งกระแจะจันท์แม่เอ๋ยน้ำมันเฉลิมน้ำมันแป้งทา”

เพลงส่งผีเมื่อผีหิ้งเข้าครบทั้งสิบสองครูแล้วสุดท้ายของการเล่นคือ การส่งผี

“ส่งเอ๋ยมาส่งเจ้าไปถึงต้นกระเบาใบดกส่งไปให้พ้นป่ารกไปถึงต้นตะบกตะแบกใหญ่”

“จะขอกล่าวถึงในขณะการเล่นผีหิ้งเมื่อครูหมอเชิญผีเข้าแล้วคนทรงผีก็จะลุกขึ้นเต้นรำเป็นจังหวะยืนขึ้นขนมนมเนยกินหมูเห็ดเป็ดไก่ดื่มเหล้าที่อยู่บนหิ้งจนอิ่ม หรือกินนานพอสมควรแล้วล้มตัวลงบนตักของครูหมอผีครูหมอจะใช้คาถาเป่ากระหม่อมใช้ข้าวสารเสกคนทรงจะลุกขึ้นนั่งพูดจาถามไถ่สารทุกข์สุขดิบได้ถามชื่อเสียงเรียงนามผีตาอะไรผียายอะไรเมื่อตายไปแล้วมีความเป็นอยู่อย่างไรรับทุกข์ขนาดไหนสบายก็บอกว่าสบายไม่สบายเขาก็บอกว่าไม่สบายรับโทษทัณฑ์อย่างไรเขาก็จะบอกมา”

“ถ้าเป็นผีพ่อผีแม่เมื่อเห็นลูก ๆ มาเขาจะเรียกลูก ๆ ไปกอดไปรัดแล้วสั่งสอนให้ลูกหลานขยันหมั่นทำมาหากินอย่าไปทำความชั่วถ้าทำชั่วแล้วตายไปจะลำบากเช่นลักขโมยสิ่งของผู้อื่นตายไปแล้วถูกยมบาลลงโทษตัดมือตัดเท้าหนแล้วหนเล่าไม่รู้จักจบจักสิ้น”

ขวิกวรรณภักดี ชาวบ้านตะเคียนทอง

ในการเล่นผีหิ้งนั้น เมื่อผีตนที่หนึ่งออก ผีตนที่สองเข้า เรียงต่อไปจนครบทั้งสิบสองผี หรือสิบสองครู ผีแต่ละตนกริยาท่าทางไม่เหมือนกันถ้าเป็นผีผู้หญิงกริยาท่าทางเรียบร้อยคล้ายผู้หญิงแต่ถ้าเป็นผีผู้ชายกริยาท่าทางจะขึงขังดุจผู้ชายในอดีต เมื่อยังมีชีวิตอยู่มีบุคคลิกเช่นไรเมื่อเสียชีวิตไปก็จะแสดงออกเช่นนั้นบุคคลที่เรียบร้อยเมื่อมาเข้าผีหิ้งก็จะเรียบร้อยคนเคยพูดจาไพเราะ คนเคยพูดจาโผงผางเป็นนักเลง เมื่อมาเข้าผีหิ้งก็จะพูดโผงผางเป็นนักเลงดังเดิมส่วนคนที่ชอบกินเหล้าพอมาเข้าผีหิ้งก็จะคว้าขวดเหล้าดื่มหมดเป็นขวด ๆ ประเด็นสำคัญคือ ในขระที่ผีลงนั้น คนทรงดื่มกินข้าวปลาอาหารจำนวนมาก เมื่อผีออกไปแล้ว คนทรงกลับหิวโหยมาก และไม่มีอาหารเมาเหล้า แม้ว่าระหว่างผีลงจะดื่มสุราไปก็ตาม

กำหนดการเล่นผีหิ้งมักจะกำหนดเล่นกันยามกลางคืนตั้งแต่เดือนห้าถึงเดือนหกของทุกปีบ้านที่มีผีหิ้ง เมื่อกำหนดวันเล่นแล้วจะเริ่มส่งข่าวไปตามบ้านพี่น้องที่อยู่ห่างไกลจะบอกข่าวถึงกันทุกคนคนที่อยู่ไกลจะนำข้าวสารอาหารแห้งติดตัวไปรวมกันที่บ้านเจ้าภาพ ระหว่างจัดงานมีการหุงหากินอาหารร่วมกันหนึ่งวันดังเช่นงานวันรวมญาติปีละหนึ่งครั้งนับว่าเป็นประเพณีอันดีงามของชาวชองเพราะญาติที่อยู่ห่างไกลจะต้องบอกกล่าวถึงกันหมด แต่ละครอบครัวต้องมีตัวแทนมาหนึ่งคน ถ้าครอบครัวหรือญาติคนใดไม่มาร่วมงานผีญาติที่เข้าทรงนั้น จะถามหา ถ้าไม่พบจะถูกด่าทอทันทีพิธีกรรมเหล่านับว่าเป็นกุศโลบายของชาวชองที่จะไม่ลืมญาติพี่น้อง(คำรณ วังศรี และคณะ, 2562).

ประเพณี เทศกาลและพิธีกรรมที่เกี่ยวกับชีวิต
การตั้งครรภ์และคลอดบุตร
ในอดีตก่อน พ.ศ. 2500 เมื่อผู้หญิงชาวชองตั้งครรภ์ได้ 3 เดือน สามีจะไปหาหมอตำแยทำคลอดเพื่อฝากครรภ์ไว้ก่อน เมื่อตั้งครรภ์ได้หกเดือน ทารกในท้องจะดิ้น สามีจะต้องต้มยาครรภ์กล่อมกุมารให้ทารกในท้องกิน เพื่อจะให้ทารกในท้องสมบูรณ์ปกติ ยากล่อมกุมาร คือ ต้นเถาว์ยายม่อมทั้งห้าและอื่น ๆ เมื่อตั้งครรภ์ได้แปดถึงเก้าเดือนทารกในครรภ์จะดิ้นแรง จึงทำให้แม่เจ็บปวด จะต้องไปให้หมอตำแยทำการแปรท้อง คือ หมอตำแยจะบีบท้องเบา ๆ เพื่อให้ทารกหันหัวลงตามธรรมชาติและคลอดง่ายขึ้นเมื่อตั้งครรภ์ครบเก้าเดือน สามีจะหาไม้ทำฟืนนอนไฟตัดเป็นท่อน ๆ แล้วเอามากองสุมรวมกัน โดยการตั้งขึ้นเป็นกระโจมสักยี่สิบถึงสามสิบท่อนแล้วเอาหนามระกำ หรือหนามหวายขมเอามาสะไว้ เพื่อป้องกันผีกระสือจะมาอาศัยคอยดูดเลือด เมื่อลูกในครรภ์คลอดออกมาเสร็จแล้วทำแคร่นอนไฟกว้างประมาณร้อยยี่สิบหรือร้อยห้าสิบ ยาวสองเมตรสูงยี่สิบถึงยี่สิบห้าเซนติเมตร (เฉิน ผันผาย, 2547, น.7)

วิธีการทำคลอด จะมีหมอทำน้ำมนต์ใส่ขัน คือ น้ำมนต์สะเดาะเคราะห์น้ำมนต์พ่นให้ลูกคลอดง่าย พร้อมท่องคาถา ยะโตหัง หนึ่งจบจากนั้นหมอทำน้ำมนต์จะพ่นหัวคนท้อง เวลามีลมเบ่งและหมอตำแยจะคอยดูคนท้องว่าคนท้องมีลมเบ่งลูกออกมาหรือไม่ หมอตำแยจะคอยดึงทารกออกมาจากช่องคลอดพร้อมกับเอารกเด็กออกพร้อมกัน เมื่อเด็กออกมาแล้วหมอตำแยจะตัดสายสะดือด้วยหลอดคม เตรียมเอายากวาดทรางล้วงคอเด็กโดยใช้กระเทียมและเหล้า จากนั้นจะเอารกเด็กคลุกเกลือเอาไปฝังพร้อมกับเอากระด้งที่เตรียมไว้ทำเบาะเด็กทารกและใช้ผ้าถุงหรือผ้าขาวม้าทำกระโจมคลุมเด็ก เพื่อให้เกิดความอบอุ่นสักระยะหนึ่ง ส่วนแม่เด็กที่คลอดใหม่สามีและหมอตำแยจะต้มน้ำร้อนใส่ใบไพลและให้อาบน้ำ หลังจากนั้นจะให้แม่เด็กขึ้นนอนบนแคร่ที่เตรียมไว้เพื่อจะนอนไฟต่อไป ก่อนจะก่อไฟหมอตำแยจะต้องดับพิษไฟก่อนแล้วจึงให้ แม่เด็กนอนไฟต่อสามวัน โดยต้องนอนหันหน้าเข้าหาไฟ หมอตำแยจะให้แม่เด็กกินยาร้อนเอาใบไผ่สีสุกหนึ่งกำ โขลกให้แหลกเคล้ากับเหล้าขาว บีบคั้นเอาแต่น้ำกรองด้วยผ้าให้สะอาดจึงจะให้แม่ลูกอ่อนกินหนึ่งถ้วยตาไลเพียงหนึ่งครั้ง หลังจากนั้นในวันต่อไปแม่ลูกอ่อนจะต้องกินยาร้อนยาดองกับเหล้า เพื่อไล่เลือดเสียที่คลั่งในอู่มดลูกให้หมด

เมื่อแม่ลูกอ่อนนอนไฟได้สามวัน หมอตำแยจะทำพิธีงำแงเด็ก คือ ทำบายศรีปากชาม ทำขนมลูกโทนใส่ชามบายศรี มีผ้าแดงขาวให้แม่เด็กลูกอ่อนขอขมากล่าวอภัยโทษ อย่ามีบาปกรรมกับหมอตำแย จากนั้นทำการผูกข้อมือหมอตำแยด้วยด้ายแดงขาวพร้อมกับเอาสตางค์ค่าครูหมอตำแยให้ เพื่อเป็นค่ามาทำคลอดตามแต่จะให้ หมอตำแยจะทำพิธีเอาเด็กอ่อนขึ้นเปลพร้อมกล่าวเรียกมิ่งขวัญเด็กอ่อนตอนขึ้นเปล หมอตำแยจะดูแลแม่เด็กอ่อนจนแข็งแรงดีก่อนประมาณเจ็ดวัน จากนั้นหมอตำแยจะโยนแม่ซื้อเด็กให้ เพื่อให้เด็กอ่อนไม่ร้องตอนค่ำคืน

การดูแลเด็กหลังคลอดนั้นจะต้องกวาดทรางน้ำนม และดูแลสะดือโดยใช้มหาหิงค์ร้อนลนด้วยควันตะเกียงหรือไต้ เพื่อให้มหาหิงคุ์ละลายแล้วเอาไปกดที่สะดือเด็ก ทำทุกค่ำจนสะดือแห้งไม่มีแผล และนำมหาหิงคุ์น้ำทาท้องเด็กป้องกันท้องอืด ท้องผูก ปวดท้องได้ดี (คำรณ วังศรี และคณะ, 2562)

การแต่งงาน และการหย่าร้าง

พิธีแต่งงานของชาวชองมีอยู่ 2 แบบ คือ การแต่งงานพิธีเล็ก และการแต่งงานพิธีใหญ่

การแต่งงานพิธีเล็ก เรียกในภาษาชองว่า “กากำลุ” งานแต่งงานจะจัดบนบ้าน ตั้งแต่เช้า ฝ่ายชายจะแห่ขันหมากมา อุปกรณ์ที่เจ้าบ่าวต้องเตรียมมาประกอบด้วยกระด้ง ในกระด้งจะมีการปั้นกวาง กระต่าย เป็นสัญลักษณ์ ในงานจะมีหมอพิธีมีการทำบายศรีสามชั้น มีแชงแลงดักปลา ใบกระบุงจะมี “ขวานรู” (ขวานแบบหนึ่ง) กำไลเงิน กระปุกน้ำ เหล้าในไหที่มีหลอดดูด (อุ) มีไก่ทั้งตัว ไก่เป็นและไก่ต้ม ระหว่างนี้จะมีเพลงกระบอกขับกล่อม ผู้ชายกับผู้หญิงจะต้องนั่งชิดกันอยู่ตรงหน้ากระบุง ซึ่งในนั้นจะมีของอยู่หลายอย่างได้แก่ เคียว ลูกปัด กำไลเงิน กระปุกน้ำชา เหล้าที่ยังไม่ต้ม เหล้าต้มแล้วขวดหนึ่ง และไก่เป็นหนึ่งตัว เรียกกระบุงนี้ว่า “โคกกะเชอ”

จากนั้นจะมีคนแบกกระบุงทำตัวเป็นคนง้อย เดินไปรอบแล้วพูดว่า “เดินไปหาไม้ในป่าจะต้องมีหมาตามตูด” จากนั้นหมอพิธีจะเรียกหมาปลอม (คนที่แสดงเป็นหมา) เดินตาม จากนั้นเจ้าบ่าวจะเอาขวานรูไปเที่ยวป่าแกล้งไปตัดไม้เพื่อทำบ้าน โดยจะมีการเว่นเอาขวานสับ 3 หน 3 รอบ จากนั้นจะทำพิธีเสี่ยงทายว่าคู่บ่าวสาวจะอยู่กันยืดไหมด้วยการใช้ไก่เสี่ยงทาย โดยเอาไก่ปล่อยหน้าบ้าน ถ้าไก่เดินอยู่แถวบ้านแสดงว่าคู่บ่าวสาวจะอยู่ด้วยกัน หลังจากนั้นก็จะทำการผูกข้อมือก็เป็นอันแล้วเสร็จ

การแต่งงานพิธีใหญ่เรียกว่า “กาตั๊ก” เป็นการแต่งงานกลางแจ้ง พิธีทำกันในเวลากลางคืน นิยมทำให้กับลูกสาวคนแรกหรือคนสุดท้อง วิธีการแต่งงานเริ่มต้นจากการยกปรำที่พื้นลานหน้าบ้าน ปรำนี้จะมีขนาดประมาณ 2 เมตร เอาเครื่องแต่งงานไว้ภายใน ได้แก่ “โคกกะเชอ” (กระบุงใส่สิ่งของมงคลต่างๆ) ขันหมาก ให้ผู้ชายและผู้หญิงที่เป็นคู่บ่าวสาวไปอยู่ด้านในปรำ ในปรำจะมีเด็กพรหมจารีย์อยู่ 4 คน เพื่อเป็นตัวแทนให้คู่บ่าวสาวรักกัน จากนั้นจะมีการป้อนข้าวป้อนน้ำและมะพร้าวให้กับเจ้าบ่าวเจ้าสาว

จากนั้นบรรดาญาติและคนรู้จักจะเดินเวียนกันไปรอบปรำ คนที่เดินนำหน้าจะสวมเขาควาย ทำท่าทางเป็นควายเต้นรำไปมาและไล่ขวิดคน ผู้หญิงจะถือ “กระดิ่งช้างม้า” ถือเป็นพาหนะ ส่วนผู้ชายอีกคนถือ “ทับไซ” ทำจากลูกมะพร้าวมีกรวดด้านในทำให้เกิดเสียงดัง เพื่อให้เสียงดังนี้เป็นตัวแทนไปบอกปู่ย่าตายายที่ล่วงลับ และมีการตีกลองโพนเพื่อให้จังหวัดสนุกสนาน คนทั้งหมดจะเดินวนกัน 3 รอบ (สัมภาษณ์ นายเฉิน ผันผาย, 2558) ชนวัวชนควายนั้นเป็นการแสดงอาชีพคือการออกล่าสัตว์ เพื่อปลูกฝังให้คู่บ่าวสาวขยันทำมาหากินนอกจากนัยังมีพิธีโค่นตะเคียน หมายถึง ให้เจ้าบ่าวขยันขันแข็ง อดทนทำมาหากิน พิธีขันไก่ หมายถึง เจ้าสาวต้องตื่นนอนแต่เช้าเหมือนไก่ ขยันทำมาหากิน การจับศีรษะบ่าวสาวโขกกันเบา ๆ หมายถึง ให้ร่วมกันทำมาหากิน เป่าหู 3 ครั้งให้เป็นคนใจคอหนักแน่น ไม่หูเบา ในการส่งตัวเข้าหอ เจ้าสาวต้องยกน้ำให้แม่ เป็นการสอนให้เจ้าสาวใจเย็นเหมือนน้ำ ส่วนเจ้าบ่าวต้องเอาฟืนให้พ่อ ถือเป็นการแทนคุณพ่อที่เตรียมฟืนมาให้ต้มน้ำเมื่อแรกเกิด (สายพิรุณ สินฤกษ์ 2546)

ความตายและการทำศพ
เมื่อมีผู้เสียชีวิต หมอผีประจำหมู่บ้านจะกล่าวคำให้ผู้ตายไปสู่สุขคติ และใช้น้ำมะพร้าวล้างหน้าศพ ส่วนใหญ่นิยมเผาศพตอนกลางวัน หากเป็นการเสียชีวิตด้วยโรคระบาดจะรีบเผาทันทีไม่ให้ค้างคืน การเผาศพทำบนเชิงตะกอน มีการสวดพระมาลัย หรือ "สวดผี" 4 วัน ศพผู้ตายใช้ด้ายผูกข้อมือเรียกว่า "ด้ายดอย" สัปเหร่อใช้ด้ายแดงและด้ายขาวผูกข้อมือ (สายพิรุณ สินฤกษ์, 2546)

กรมศิลปากร. (2520). ชีวิตและงานท่านสุนทรภู่. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์คุรุสภา.

เกศสุดา สิทธิสันติกุล, บรรณาธิการ. ‘พะซวช์อง’ ฟื้นวิถีชาติพันธุ์: ผ่านห้องเรียน. เชียงใหม่: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.), 2546.

ขนิษฐา หอมแช่ม. (2549). “การศึกษาวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับดนตรีของชนเผาชอง ตําบลตะเคียนทอง จังหวัดจันทบุรี”. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปกรรมศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชามานุษยดุริยางควิทยา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.

คำรณ วังศรี และคณะ. (2562). รายงานความก้าวหน้าโครงการสืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นสมุนไพรพื้นบ้านชอง ตำบลตะเคียนทอง อำเภอเขาคิชฌกูฏ จังหวัดจันทบุรี. ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

โครงการพัฒนาระบบฐานข้อมูลเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย. ( มปป). ชนเผ่าพื้นเมือง ชอง. เชียงใหม่: มูลนิธิชนเผ่าพื้นเมืองเพื่อการศึกษาและสิ่งแวดล้อม (ม.ก.ส)

จิตร ภูมิศักดิ์. ความเป็นมาของคำสยาม ไทย ลาว และขอม. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ดวงกมล และมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2525.

จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว.พระบาทสมเด็จพระ. (2419). พระราชหัตถเลขาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. ระยะทางเสด็จประพาสเมืองจันทบุรี. เมื่อวันเสาร์ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 2 ปีชวด อัฐศก 1238 (พ.ศ. 2419)

เจตน์จรรย์ อาจไธสง เฉินผันผาย คำรณวังศรี TunPheakdey, Chum Lay, CherdchonKhway, and Vann Sopheak. (2560). อัตลักษณ์ทางสังคมและวัฒนธรรม “ชาวชอง-ชาวซำเร” ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย-กัมพูชา. รายงานความก้าวหน้าวิจัย ประจำปีงบประมาณ 2559 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตจันทบุรี ร่วมกับ University of Management and Economics เดือนมกราคมพ.ศ. 2560. ได้รับทุนสนับสนุนจากกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ปีงบประมาณ 2559.

เจตน์จรรย์ อาจไธสง อังคณา ประเสริฐศรี และคำรณ วังศรี. (2560). กลวิธีการสื่อสารภูมิปัญญาการรักษาโรคแบบชองระหว่างหมอพื้นบ้านกับผู้สืบทอดภูมิปัญญา. รายงานการวิจัยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตจันทบุรี.

เฉลิม ยงบุญเกิด, แปล. บันทึกว่าด้วยขนบธรรมเนียมประเพณีของเจินละ. กรุงเทพฯ: มติชน, 2543.

เฉิน ผันผาย. โครงการวิจัยการอนุรักษ์และฟื้นฟูภาษาชอง ต.ตะเคียนทอง และ ต.คลองพลู กิ่ง อ.เขาคิชฌกูฎ จ.จันทบุรี. กรุงเทพฯ: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.), 2544.

ชิน อยู่ดี. (2506). รายงานเสนอกองโบราณคดีกรมศิลปากร. เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2506.

ปาลเลกัวซ์, มงเซเญอร์. (2552). เล่าเรื่องกรุงสยาม. แปลโดย สันท์ ท. โกมลบุตร. นนทบุรี: สำนักพิมพ์ศรีปัญญา.

พระครูธรรมสรคุณ และธรรม พันธุ์ศิริสด. (2541). อารยธรรมชอง จันทบุรี อาณาจักรจันทรบูร เมืองเพนียด. จันทบุรี: คนรักบ้าน.

มิรินด้า บูรรุ่งโรจน์, บรรณาธิการ. (2550). ประสบการณ์การฟื้นฟูภาษาในประเทศไทย กรณีภาษาชอง จังหวัดจันทบุรี. กรุงเทพฯ: ศูนย์ศึกษาและฟื้นฟูวัฒนธรรมในภาวะวิกฤต มหาวิทยาลัยมหิดล, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.).

ราชบัณฑิตยสถาน. (2555). คู่มือระบบเขียนภาษาชองอักษรไทย. กรุงเทพฯ: ราชบัณฑิตยสถาน.

สายพิรุณ สินฤกษ์. (2546). ดนตรีในสังคมวัฒนธรรมของชาวชอง ตำบลตะคียนทอง จ.จันทบุรี. ศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยมหิดล.

สำนักงานส่งเสริมและสนับสนุนวิชาการ 10 สำนักงานปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์. (2554). ชนเผ่าชอง. สืบค้นเมื่อ 1 เมษายน 2563 จาก http://www.tpso10.org/index.php?option=com_content...

สุธาสินี บุญเกิด. (2564). ชุมชนตะเคียนทองกับห้องแห่งความลับ. คลังข้อมูลชุมชน. ออนไลน์เข้าถึงได้จาก https://communityarchive.sac.or.th/blog/132 เข้าถึงเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2565

สุนทรภู่. นิราศเมืองแกลง. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, 2349.

สุเรขา สุพรรณไพบูลย์. (2530). การศึกษากลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย: ชอง. กรุงเทพฯ: สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย.

สุวิไล เปรมศรีรัตน์. พัฒนาระบบเขียนภาษาชอง. วารสารภาษาและวัฒนธรรม. นครปฐม: สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบท มหาวิทยาลัยมหิดล, 19.2: 5-18, 2543.

สุวิไล เปรมศรีรัตน์และคณะ. (2550). ประสบการณ์การฟื้นฟูภาษาในประเทศไทย กรณีภาษาชอง จังหวัดจันทบุรี. เชียงใหม่: วนิดาการพิมพ์.

หลวงสาครคชเขตต์. จดหมายเหตุความทรงจำฝรั่งเศสยึดจันทบุรี พ.ศ.2436-2447. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ต้นอ้อ แกรมมี่, 2539.

Crawford, John. (1856). A Descriptive Dictionary of Indian Islands and Adjacent Countries. (Reprinted edition 1971) Singapore:Oxford University Press.

Huffman, Franklin E. (1985). “The Phonology of Chong” in S. Ratcnaskul. D, Thomas, S. Premsrirat, eds. SALS. pp.428-478.

Isara Choosri. Châak and other Chong Place names: Linguistic remains of a Mon-Khmer people in eastern Thailand, Mon-Khmer Studies, 34: 67-77, 2002a.

Isara Choosri. Dialects of Chong, Mon-Khmer Studies 32:55-70. 2002b.

Joshua Project. (2020). Chong in Cambodia. Retrieved April 1, from https://joshuaproject.net/people_groups/11366/CB

Joshua Project. (2020). Chong in Thailand. Retrieved April 1, from https://joshuaproject.net/people_groups/11366/TH

n.a. (2018). Chong: a language of Thailand. SIL International.

Schliesinger, Joachim (2011). Ethnic Groups of Cambodia Volume 1 Introduction and Overview. Bangkok: White Lotus Press.

Schliesinger, Joachim (2011). Ethnic Groups of Cambodia Volume 2 Profile of Austro-Asiatic-Speaking Peoples. Bangkok: White Lotus Press.

Seidenfaden, Erik. (1938). “The Races of Indo-China”, Journal of the Siam Society. 30 (3): 57-

เว็บไซต์

เทศบาลตำบลคลองพลู อำเภอเขาคิชฌกูฎ จังหวัดจันทบุรี : www.klongplucity.go.th เข้าถึงข้อมูลวันที่ 14 ธันวาคม 2558.

Joshua Project. https://joshuaproject.net/people_groups/11366/CB. [Accessed on 14 Dec 2015].

นายเฉิน ผันผาย, อายุ 78 ปี. บ้านเลขที่ 1/2 ม.4 บ้านคลองพลู ต.คลองพลู อ.เขาคิชฌกูฏ จ.จันทบุรี, สัมภาษณ์วันที่ 11-13 ธันวาคม 2558.

นางเสียง คล้ายมะลิ, อายุ 82 ปี. บ้านเลขที่ 21 ม.4 บ้านคลองพลู ต.คลองพลู อ.เขาคิชฌกูฏ จ.จันทบุรี, สัมภาษณ์วันที่ 13 ธันวาคม 2558.


close
ลืมรหัสผ่าน?
กรุณากรอกอีเมลที่ท่านสมัครสมาชิกไว้เพื่อรับรหัสผ่านใหม่
ระบบจัดส่งการสร้างรหัสผ่านใหม่ให้ท่านทางอีเมลเรียบร้อยแล้ว
นโยบายความเป็นส่วนตัว