กลุ่มชาติพันธุ์ : ชอง

  • ชื่อกลุ่มชาติพันธุ์ : ชอง
  • ชื่อเรียกตนเอง : ชอง, ตัมเร็จ, สำแร
  • ชื่อที่ผู้อื่นเรียก : ชอง, ปัว, ซองชีขะโมย, มโนะห์, มนิก, ขำของ
  • ภาษาที่ใช้พูดและเขียน : ภาษาชอง จัดอยู่ในภาษาตระกูลออสโตรเอเชียติก (Austro-Asiatic language) ในสาขามอญ-เขมร กลุ่มย่อยเปียริก (Pearic language) สาขาตะวันตก
  • มิติทางประวัติศาสตร์ที่มีผลต่อการเรียกชื่อกลุ่มชาติพันธุ์ :

    ชื่อเรียกตนเอง   

              "ชอง" แปลว่า "คน" คำ ๆ นี้ใช้เป็นทั้งชื่อเรียกกลุ่มชนดั้งเดิมของจังหวัดจันทบุรี ตราด ฉะเชิงเทรา และภาษาถิ่นที่พวกเขาใช้พูดกัน ในพจนานุกรมภาษาไทยของราชบัณฑิตยสถาน ฉบับ พ.ศ. 2525 มีคำ ๆ นี้บรรจุอยู่โดยให้ความหมายว่าเป็นชื่อของกลุ่มชนกลุ่มหนึ่งที่อาศัยอยู่ทางตอนเหนือของจังหวัดจันทบุรี (สุวิไล เปรมศรีรัตน์ และคณะ, 2550: 3-4)  ในประเทศไทยนั้น เรียกตัวเองว่าชอง ไม่ปรากฏชื่อเรียกอื่น หากแต่ในประเทศกัมพูชา มีชื่อเรียกอื่น ๆ ปรากฏดังข้อมูลชื่อเรียกโดยผู้อื่น 

    ชื่อที่ผู้อื่นเรียก 

              "ปัว" "ซองชีขะโมย" "มโนะห์" และ "มนิก" "ขำของ" 

              "ปัว" (porr) เป็นชื่อที่คนกัมพูชาใช้เรียกพวกเขา แต่ชาวชองนั้นเรียกตัวเองว่า "ตัมเร็จ" หรือ "สำแร" ภาษาพูดคล้ายคลึงกับภาษาเขมร อย่างไรก็ดี ชนเผ่าชองกับเขมรมีความแตกต่างกันเรื่องรูปลักษณ์ขนาดของกะโหลกศีรษะและชนเผ่าชอง มักจะมีเลือดนิกริโต (ชาติพันธุ์มานิพบอยู่ในภาคใต้ของประเทศไทย) ผสมอยู่ประมาณร้อยละ 20 ทั้งนี้คงจะได้ผสมกับนิกริโตซึ่งตั้งหลักแหล่งอยู่ในบริเวณนี้มาก่อนนั่นเอง (INTHIRA KRONGSIRI, 2014: 58) 

              อีกหนึ่งหลักฐานคือ บันทึกของโจวต้ากวน (ค.ศ. 1838) อธิบายว่า ในประเทศกัมพูชาครั้งนั้นมีคนป่าพวกหนึ่ง คนพวกนี้มาจากแถบภูเขารวมกันอยู่เป็นเผ่าหนึ่งต่างหาก เรียกพวกนี้ว่า "ซองชีขะโมย" เมื่อพาเข้าไปในหมู่บ้าน คนป่าพวกนี้ไม่กล้าออกมาแสดงตนถึงกับว่าพวกนี้คล้ายสัตว์ จึงซื้อขายคนป่าพวกนี้ด้วยราคาไม่มากนัก คนพวกนี้ได้แต่นั่งและนอนอยู่ใต้ถุนบ้านเมื่อถึงคราวจะไปรับใช้พวกชองจึงจะขึ้นบนบ้านแล้วคุกเข่าลงหมอบกราบก่อนที่จะเดินต่อไปในบันทึกของโจวต้ากวนยังได้บรรยายถึงสถานะอันเลวร้ายของชาวชองไว้อีกมาก นอกจากนี้เขายังกล่าวว่ายาพิษของพวกนี้ร้ายมาก พวกนี้มักจะฆ่ากันแม้จะเป็นพวกเดียวกัน อย่างไรก็ดี เรื่องการดูถูกชาวชองของชาวกัมพูชานั้นในปัจจุบันก็ยังคงค่านิยมนี้อยู่ ยังคงดูถูกว่าเป็นชาวป่าชาวดอยจนเกิดสำนวนว่า "เธวอะ อะเวย โดจ เจีย จวง" (ทำอะไรเหมือนคนชอง) เป็นสำนวนที่ใช้ว่าคนที่ทำอะไรไม่ถูกต้อง ซึ่งชาวกัมพูชาถือว่าเป็นคำดูถูก เพราะถ้าเขาถูกเรียกว่า "อาจวง" (อ้ายชอง) เขาจะโกรธมาก นักโบราณคดีและนักมานุษยวิทยาสันนิษฐานว่า "ชอง" อาจเป็นทาสส่วนสำคัญของอาณาจักรกัมพูชา ยุคสังคมทาสนครธม คือกำลังที่ผลิตและสกัดหินขนหินสร้างเทวสถานน้อยใหญ่ภายใต้การควบคุมของหัวหน้างานสถาปนิกและช่างสลักฝีมือดีชาวกัมพูชา อย่างไรก็ตาม แม้ว่าชาวเขมรจะดูถูก "ชอง" เพียงใด หากแต่พวกชองก็ยังคงมีศักดิ์ศรี (อภิลักษณ์ เกษมผลกูล ,2555 :90-93) 

              ดร. ดูฟอสเซ พบว่าชาวชองในกัมพูชาเรียกตัวเองว่า มโนะห์และมนิก (Manoh. Manik) ก็มีซึ่งจิตร ภูมิศักดิ์ เชื่อว่า คำสองคำนี้แปลว่า "คน" เพราะลักษณะเป็นคำในตระกูลภาษามอญ-เขมรเหมือนกับที่พวก "เงาะ" ที่พัทลุงตรังเรียกตัวเองว่า "เมนิก-เมน" ที่แปลว่าคน (เพิ่งอ้าง, 2555: 90-93) ส่วนในเอกสารรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพบเรียกว่า "ขำของ"  

     

  • อื่น ๆ :

              ภาษาชองเป็นภาษาดั้งเดิมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือจัดอยู่ในภาษาตระกูลออสโตรเอเชียติก (Austro-Asiatic language) ในสาขามอญ-เขมร กลุ่มย่อยเปียริก (Pearic language) สาขาตะวันตก ตามที่ อิสระ ชูศรี (Isara, 2002b) นักภาษาศาสตร์ได้ศึกษาภูมิศาสตร์ภาษาถิ่นของภาษาชองในจังหวัดจันทบุรี พบว่าภาษาชองมีลักษณะแตกต่างกัน ซึ่งสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ถิ่นย่อยตามที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ ได้แก่ 1) ภาษาชองถิ่นทางเหนือของอำเภอเขาคิชฌกูฎ (Northern Chong) อยู่บริเวณตำบลตะเคียนทองและคลองพลู 2) ภาษาชองถิ่นทางใต้ของอำเภอเขาคิชฌกูฎ (Southern Chong) อยู่บริเวณตำบลพลวง 3) ภาษาชองถิ่นตะวันออก (Eastern Chong) อยู่บริเวณอำเภอโป่งน้ำร้อน

              ส่วนใหญ่แล้ว ความแตกต่างของสำเนียงภาษาชองเป็นผลมาจากการที่กลุ่มคนเหล่านี้ไม่ได้ทำการติดต่อถึงกัน หรือแยกกันอยู่ เนื่องมาจากการเดินทางที่ยากลำบาก เพราะมักอาศัยกันอยู่ในป่าทึบ (Isara, 2002b) 

  • เอกสารอ้างอิง :

    เนื้อหาโดย อาจารย์พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

    เอกสารอ้างอิง

    • เกศสุดา สิทธิสันติกุล, บรรณาธิการ. ‘พะซวช์อง’ ฟื้นวิถีชาติพันธุ์: ผ่านห้องเรียน. เชียงใหม่: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.), 2546.
    • จิตร ภูมิศักดิ์. ความเป็นมาของคำสยาม ไทย ลาว และขอม. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ดวงกมล และมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2525.
    • เฉลิม ยงบุญเกิด, แปล. บันทึกว่าด้วยขนบธรรมเนียมประเพณีของเจินละ. กรุงเทพฯ: มติชน, 2543.
    • เฉิน ผันผาย. โครงการวิจัยการอนุรักษ์และฟื้นฟูภาษาชอง ต.ตะเคียนทอง และ ต.คลองพลู กิ่ง อ.เขาคิชฌกูฎ จ.จันทบุรี. กรุงเทพฯ: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.), 2544.
    • มิรินด้า บูรรุ่งโรจน์, บรรณาธิการ. ประสบการณ์การฟื้นฟูภาษาในประเทศไทย กรณีภาษาชอง จังหวัดจันทบุรี. กรุงเทพฯ: ศูนย์ศึกษาและฟื้นฟูวัฒนธรรมในภาวะวิกฤต มหาวิทยาลัยมหิดล, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.), 2550.
    • พระครูธรรมสรคุณ และธรรม พันธุ์ศิริสด. อารยธรรมชอง จันทบุรี อาณาจักรจันทรบูร เมืองเพนียด. จันทบุรี: คนรักบ้าน, 2541.
    • สุวิไล เปรมศรีรัตน์. พัฒนาระบบเขียนภาษาชอง. วารสารภาษาและวัฒนธรรม. นครปฐม: สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบท มหาวิทยาลัยมหิดล, 19.2: 5-18, 2543.
    • ราชบัณฑิตยสถาน. คู่มือระบบเขียนภาษาชองอักษรไทย. กรุงเทพฯ: ราชบัณฑิตยสถาน, 2555.
    • หลวงสาครคชเขตต์. จดหมายเหตุความทรงจำฝรั่งเศสยึดจันทบุรี พ.ศ.2436-2447. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ต้นอ้อ แกรมมี่, 2539.
    • Isara Choosri. Châak and other Chong Place names: Linguistic remains of a Mon-Khmer people in eastern Thailand, Mon-Khmer Studies, 34: 67-77, 2002a.
    • Isara Choosri. Dialects of Chong, Mon-Khmer Studies 32:55-70. 2002b.

    สัมภาษณ์

    • นายเฉิน ผันผาย, อายุ 78 ปี. บ้านเลขที่ 1/2 ม.4 บ้านคลองพลู ต.คลองพลู อ.เขาคิชฌกูฏ จ.จันทบุรี. (11-13 ธันวาคม 2558). สัมภาษณ์
    • นางเสียง คล้ายมะลิ, อายุ 82 ปี. บ้านเลขที่ 21 ม.4 บ้านคลองพลู ต.คลองพลู อ.เขาคิชฌกูฏ จ.จันทบุรี. (13 ธันวาคม 2558). สัมภาษณ์

    เว็บไซต์

    • เทศบาลตำบลคลองพลู อำเภอเขาคิชฌกูฎ จังหวัดจันทบุรี  ที่มา www.klongplucity.go.th เข้าถึงข้อมูลวันที่ 14 ธันวาคม 2558.

     

ชุดข้อมูล : แผนที่ภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในประเทศไทย

ที่มา:

สุวิไล เปรมศรีรัตน์ และคณะ. (2547). แผนที่ภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในประเทศไทย. กรุงเทพฯ : สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ


  • บทนำ :

              ชาวชองอาศัยอยู่ในเป็นบริเวณกว้างโดยเฉพาะในพื้นที่ภาคตะวันออกของประเทศไทยติดกับประเทศกัมพูชา พบในจังหวัดจันทบุรี ตราด ระยอง และฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นจังหวัดติดพรมแดนประเทศกัมพูชา

              จากการศึกษาข้อมูลในเขตจังหวัดจันทบุรีมีชาวชองอยู่กันมากในบริเวณเขาสอยดาวเหนือ บ้านคลองพลู บ้านกะทิง บ้านตะเคียนทอง บ้านคลองพลู บ้านคลองน้ำเป็น ใกล้น้ำตกกะทิง อำเภอเขาคิชฌกูฎ บ้านวังแซม บ้านปิด อำเภอมะขาม และบ้านวังกะแพร อำเภอโป่งน้ำร้อน ส่วนในเขตจังหวัดตราดอยู่อาศัยกันที่บ้านคลองแสง บ้านด่านชุมพล และบ้านปะเดา อำเภอบ่อไร่ จังหวัดตราด บางแหล่งข้อมูลระบุว่ามีชาวชองประมาณ 8,400 คน แต่โครงการแผนที่ภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ในประเทศไทยของมหาวิทยาลัยมหิดลระบุว่ามีราว 4,000 คน  (มิรินด้า บูรรุ่งโรจน์, 2550)

     

    แผนที่แสดงตำแหน่งที่ตั้งของหมู่บ้านคลองพลู จ.จันทบุรี

    แผนที่แสดงตำแหน่งที่ตั้งของหมู่บ้านคลองพลู จ.จันทบุรี

     

  • ประวัติ/ที่มาของกลุ่มชาติพันธุ์ชอง :

              ในปัจจุบันพื้นที่ที่มีชาวชองอาศัยอยู่หนาแน่นพบในเขตอำเภอเขาคิชกูฏ โดยเฉพาะในตำบลตะเคียนทองและตำบลคลองพลู ส่วนตำบลที่อยู่ทางใต้ลงมาคือตำบลพลวง และตำบลชากไทย มีประชากรเบาบางลงมา ส่วนในตำบลทับไทรของอำเภอโป่งน้ำร้อนมีประชาชนที่พูดภาษาชองเหลือน้อยมาก (มิรินด้า บูรรุ่งโรจน์, 2550) 

     

    ปากทางเข้าหมู่บ้านคลองพลู (หมู่บ้านชอง)

    ปากทางเข้าหมู่บ้านคลองพลู (หมู่บ้านชอง)

     

              สำหรับหมู่บ้านคลองพลูตั้งชื่อตามคลองพูล ซึ่งมีต้นน้ำมาจากน้ำตกคลองพูล เขาสอยดาว ถ้าสังเกตให้ดีจะพบว่าหมู่บ้านตั้งอยู่บนเนินขนาดเล็ก ล้อมรอบด้วยพื้นที่ราบเหมาะกับการปลูกข้าว มีเนื้อที่โดยรวมประมาณ 82,000 ไร่ มีลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบสลับสันเขา พื้นที่ส่วนใหญ่ ประมาณร้อยละ 62 เป็นที่ราบลุ่ม และประมาณร้อยละ 32 เป็นสันเขา สภาพภูมิอากาศอยู่ในเขตที่มีอากาศร้อนชื้น มีฝนตกชุกติดต่อกันประมาณ 6  เดือนต่อปี  (สำนักงานเทศบาลตำบลคลองพลู, 2558)

         

    ประวัติความเป็นมาของชาวชอง

              ชาวชองเป็นกลุ่มคนดั้งเดิมที่คงอยู่อาศัยในเขตรอยต่อระหว่างประเทศไทย กับกัมพูชามานานมากแล้ว เพียงแต่ไม่ได้มีการจดบันทึกเอาไว้อย่างชัดเจน ชื่อของชาวชองปรากฏในเอกสารเก่าสุดอยู่ในบันทึกของโจวต้ากวาน ทูตชาวจีนที่เดินทางเข้ามายังราชสำนักกัมพูชาเมื่อ พ.ศ.1839 ว่าชาวเขมรในกัมพูชาจับ “ชวง” หรือ “จวง” (Chuang) ตามป่าเขามาเป็นทาสใช้สอยในเรือนของชาวเขมร คนกลุ่มนี้เป็นชาวป่าไม่ได้พูดภาษาเขมร เพาะปลูกกระวานและต้นฝ้าย (เฉลิม ยงบุญเกิด, 2543: 21) ซึ่งนับว่าสอดคล้องกับคำบอกเล่าของชาวชองจันทบุรีในปัจจุบันว่าอาชีพเดิมของชาวชองคือการปลูกกระวาน  และชาวชองในกัมพูชาก็ทำอาชีพปลูกกระวานเช่นกัน

              เมื่อกล่าวถึงประวัติศาสตร์ ชาวชองมักจะเล่าเรื่องนางกาไวกับเมืองเพนียด เพราะเชื่อว่าเดิมชองเคยเป็นพลเมืองของเมืองเพนียด ส่วนใหญ่ชาวบ้านจะจดจำเรื่องราวได้เพียงคร่าว ๆ ตำนานดังกล่าวมีข้อพิจารณา 2 ประการ คือ ประการแรกเป็นตำนานเก่าแก่ที่เล่ากันมานานในหมู่ชาวชองจริง แต่เรื่องจะเป็นจริงหรือเท็จอย่างไรคงต้องหาหลักฐานทางประวัติศาสตร์มาสนับสนุนเพิ่มเติม ประการที่สองอาจเป็นผลมาจากกระแสท้องถิ่นนิยมในการค้นหาตัวตน ดังเห็นได้จากในช่วงปี 2541 ได้มีการเปิดเมืองเพนียดเป็นแหล่งท่องเที่ยว ในปีเดียวกันนั้นได้มีการตีพิมพ์หนังสือเรื่องอารยธรรมชอง จันทบุรี อาณาจักรจันทบูร เมืองเพนียด ขึ้นมา ซึ่งได้มีการจัดนิทรรศการเกี่ยวกับเมืองเพนียด และชาวชอง ด้วย (พระครูธรรมสรคุณ และธรรม พันธุ์ศิริสด, 2541) 

              ต่อมาพบการกล่าวถึงว่าในเมืองจันทบุรีมีชาวชองเข้ามาขายสินค้าโดยนำกระวานมาขาย และซื้อของใช้ในเมืองจันทบุรี โดยปรากฏอยู่ในจดหมายเหตุความทรงจำฝรั่งเศสยึดจันทบุรี เขียนโดยหลวงสาครคชเขตต์ ในช่วง พ.ศ.2436-2447 (หลวงสาครคชเขตต์, 2539)

              อย่างไรก็ตาม จากประวัติศาสตร์บอกเล่าของชาวชองพบว่าการเปลี่ยนแปลงเฉพาะในเขตตำบลคลองพลูเกิดขึ้นอย่างชัดเจนหลัง พ.ศ.2500 เป็นต้นมา มีการตัดถนนเข้ามาในหมู่บ้าน ชาวบ้านเริ่มปลูกพืชเพื่อการค้าและเริ่มมีการไปรับจ้างทำงานกันนอกหมู่บ้าน ในช่วงปี พ.ศ.2520-2530 ได้มีการนำไฟฟ้าเข้ามาใช้ในหมู่บ้าน และในช่วงเวลาไล่เรี่ยกัน พ.ศ.2536 ได้มีการสร้างโรงเรียนคลองพลูวิทยา ชาวบ้านจึงต้องหาเงินมากขึ้นเพื่อส่งลูกหลานเรียน ทำให้มีการทำสวนผลไม้กันมากโดยมีการปลูกเงาะ และทุเรียน (สัมภาษณ์ นายเฉิน ผันผาย, 2558) ผลจากความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวตลอด 50 ปี ทำให้อัตลักษณ์และวัฒนธรรมของชุมชนค่อย ๆ ลดความเข้มแข็งลงเป็นลำดับ เพราะชาวชองเองได้ทำการปรับตัวให้เข้ากับสังคมไทยมากขึ้น          

     

  • วิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ชอง :

              ก่อนหน้าปี พ.ศ.2500 ระบบเศรษฐกิจของชาวชองเป็นการเกษตรแบบยังชีพเป็นหลัก มีการปลูกข้าวเพื่อเลี้ยงครอบครัวไม่ใช่เพื่อการค้า ยกเว้นการปลูกกระวานที่ทำเพื่อการค้าเท่านั้น นอกจากนี้ยังมีการหาของป่าและล่าสัตว์อีกด้วย เท่าที่สังเกตชาวชองส่วนใหญ่มักจะมีบ้านเรือนที่ค่อนข้างใหญ่และได้รับการศึกษาที่ดีพอสมควร

              1) การทำนา

              ชาวชองใช้ระบบการทำนาและการทำไร่ควบคู่กัน แต่ในอดีตย้อนกลับไปเกิน 50 ปี ระบบการทำนาของชาวชองเป็นการปลูกข้าวไร่ (ฮายบาย) พันธุ์ข้าวไร่เท่าที่ชาวบ้านจำได้มีชื่อว่าข้าวนางบ่อ, ข้าวลูกปลา, และข้าวเม็ดลายกระจ่อน สำหรับพันธุ์ข้าวนาเท่าที่ชาวบ้านจำได้ ได้แก่ ข้าวเหลืองทอง ข้าวนางกะลิง และข้าวขาวประแส ปัจจุบันพันธุ์ข้าวเหล่านี้หมดไปแล้ว เพราะชาวบ้านหันมาปลูกข้าวพันธุ์ กข. แทน (สัมภาษณ์ นายเฉิน ผันผาย, 2558) ก่อนที่จะเริ่มต้นการทำนาจะมีการไหว้ศาลหมู่บ้าน และศาลนา โดยจะไหว้กันในเดือน 3 ขึ้น 3 ค่ำ (เดือนสามตามจันทรคติมักตรงกับช่วงเดือนเมษายน) 

     

    นาข้าวของชาวชองที่หมู่บ้านคลองพลู จ.จันทบุรี

    นาข้าวของชาวชองที่หมู่บ้านคลองพลู จ.จันทบุรี

     

    ศาลนาเป็นศาลที่ต้องบูชากันก่อนการปลูกข้าว

    ศาสนา เป็นศาลที่ต้องบูชากันก่อนการปลูกข้าว 

     

    ศาลหมู่บ้าน ถือเป็นศูนย์รวมของคนในหมู่บ้าน

    ศาลหมู่บ้าน ถือเป็นศูนย์รวมของคนในหมู่บ้าน

     

                                                 

              2) การปลูกพืชเศรษฐกิจ

              ในอดีตชาวชองมีอาชีพในการเพาะปลูกเครื่องเทศโดยเฉพาะกระวาน และเร่ว เป็นหลัก โดยเฉพาะกระวานเป็นพืชที่สร้างรายได้ให้กับชาวชองเป็นอย่างมาก

              กระวาน (cardamom) เป็นพืชที่ขึ้นในป่าบนภูเขาสูง คนบ้านคลองพลูจะไปปลูกกระวานกันที่เขาสอยดาว มีความเชื่อว่ากระวานไม่ให้ผู้หญิงที่มีประจำเดือนปลูกจะปลูกได้ดีเฉพาะผู้ชาย ส่วนผู้หญิงจะให้รอที่ขนำ (ฮะหนำ) 

     

    นายเฉิน ผันผาย พาไปดูต้นกระวานที่ปลูกไว้ภายในสวน

    นายเฉิน ผันผาย พาไปดูต้นกระวานที่ปลูกไว้ภายในสวน

     

              เร่ว สามารถเติบโตได้ทั่วไป มีอยู่ 2 ชนิดคือ เร่วหอม ปลูกได้ที่บ้าน และเร่วป่า เป็นเร่วขน หน่อหรือรากสามารถเอามาจิ้มน้ำพริกได้ มีกลิ่นหอม สรรพคุณทางยาคือช่วยแก้ท้องอืดเฟ้อ ขับลม ในเขตจังหวัดจันทบุรีและใกล้เคียงมักเอามาทำแกง 

     

    ต้นเร่ว พืชเศรษฐกิจและอาหารสำคัญอย่างหนึ่งของชาวชอง

    ต้นเร่ว พืชเศรษฐกิจและอาหารสำคัญอย่างหนึ่งของชาวชอง

     

              นอกจากนี้ ชาวชองสมัยก่อนยังทำไม้กฤษณากันด้วย อีกอาชีพหนึ่งของชาวชองคือการเก็บน้ำผึ้ง ส่วนขี้ผึ้งเคี้ยวเก็บเอาไว้เพื่อเอามาทำยา ปกติการเก็บน้ำผึ้งจะทำในเดือน 5 หรือเสาร์ 5 ถือกันว่าน้ำผึ้งจะดีและศักดิ์สิทธิ์มาก (สัมภาษณ์ นายเฉิน ผันผาย, 2558)

     

              3) การล่าสัตว์

              แบ่งออกเป็น 2 แบบคือ พรานเที่ยวป่าใหญ่คือนายพรานที่ล่าสัตว์ใหญ่ และพรานสมัครเล่นคือนายพรานที่ล่าสัตว์เล็กเพียงเพื่อพอยังชีพเท่านั้น

              สำหรับพรานป่าใหญ่จะไปล่าสัตว์กันที่เขาสอยดาวเป็นหลัก มีทั้งที่ล่าสัตว์ตามใบงานและล่าสัตว์โดยไม่มีใบงาน ในกรณีของการล่าตามใบงานของนายทุน โดยนายทุนจะให้ปืนล่าสัตว์เช่นปืนไรเฟิล ชาวชองจะทำดินปืนเอง นายเฉิน ผันผายได้บอกสูตรการทำดินปืนคือประกอบด้วยการตำดินปืน (ขี้ค้างคาว) ดินบด พริก กระเทียม ของร้อนต่าง ๆ ตำรวมกัน และมีการเอาไม้กระดูกหมา (ผู้เขียนไม่ทราบว่าคืออะไร) ถือว่าเป็นเชื้อ แล้วเอาทั้งหมดไปคั่ว ที่สำคัญด้วยจะต้องมี "ไม้บังคับป่า" เช่น ไม้ส้วมร้าง บ้านร้าง วัดร้าง/โบสถ์ร้าง, ดินหลังเมือง เพื่อทำให้ดินปืนเกิดความขลัง การล่าสัตว์จะทำกันในทุกฤดู แต่ส่วนใหญ่แล้วจะเริ่มกันในช่วงหลังจากฤดูการเก็บเกี่ยว ยกเว้นในช่วงเข้าพรรษาพรานจะไม่ทำการล่าสัตว์

              การล่าสัตว์ต่าง ๆ ทั้งหมดเลิกกันไปเมื่อราว 30-40 ปีที่ผ่านมา เพราะได้มีการตั้งเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาวขึ้นเมื่อ พ.ศ.2515 ทำให้นายพรานไม่สามารถเข้าไปล่าสัตว์กันได้อีก (สัมภาษณ์ นายเฉิน ผันผาย, 2558) 

     

    การปลูกหมากขายถือเป็นอาชีพหนึ่งของชาวชอง

    การปลูกหมากขายถือเป็นอีกอาชีพหนึ่งของชาวชอง

     

    ชาวนาชาวชองกำลังเกี่ยวข้าว

    ชาวนาชาวชองกำลังเกี่ยวข้าว

     

  • การแต่งงานของกลุ่มชาติพันธุ์ชอง :

              พิธีแต่งงานของชาวชองมีอยู่ 2 แบบ คือ การแต่งงานพิธีเล็ก และการแต่งงานพิธีใหญ่

              การแต่งงานพิธีเล็ก เรียกในภาษาชองว่า "กากำลุ" งานแต่งงานจะจัดบนบ้าน ตั้งแต่เช้า ฝ่ายชายจะแห่ขันหมากมา อุปกรณ์ที่เจ้าบ่าวต้องเตรียมมาประกอบด้วยกระด้ง ในกระด้งจะมีการปั้นกวาง กระต่าย เป็นสัญลักษณ์ ในงานจะมีหมอพิธี มีการทำบายศรีสามชั้น มีแชงแลงดักปลา ใบกระบุงจะมี "ขวานรู" (ขวานแบบหนึ่ง) กำไลเงิน กระปุกน้ำ เหล้าในไหที่มีหลอดดูด (อุ) มีไก่ทั้งตัว ไก่เป็นและไก่ต้ม ระหว่างนี้จะมีเพลงกระบอกขับกล่อม ผู้ชายกับผู้หญิงจะต้องนั่งชิดกันอยู่ตรงหน้ากระบุง ซึ่งในนั้นจะมีของอยู่หลายอย่างได้แก่ เคียว ลูกปัด กำไลเงิน กระปุกน้ำชา เหล้าที่ยังไม่ต้ม เหล้าต้มแล้วขวดหนึ่ง และไก่เป็นหนึ่งตัว เรียกกระบุงนี้ว่า "โคกกะเชอ" 

     

    “โคกกระเชอ” คือกระบุงที่ใช้ในพิธีแต่งงานของชาวชอง

    "โคกกระเชอ" คือกระบุงที่ใช้ในพิธีแต่งงานของชาวชอง

     

              จากนั้นจะมีคนแบกกระบุงทำตัวเป็นคนง่อย เดินไปรอบแล้วพูดว่า "เดินไปหาไม้ในป่าจะต้องมีหมาตามตูด" หมอพิธีจะเรียกหมาปลอม (คนที่แสดงเป็นหมา) เดินตาม จากนั้นเจ้าบ่าวจะเอาขวานรูไปเที่ยวป่าแกล้งไปตัดไม้เพื่อทำบ้าน โดยจะมีการเว่นเอาขวานสับ 3 หน 3 รอบ จากนั้นจะทำพิธีเสี่ยงทายว่าคู่บ่าวสาวจะอยู่กันยืดไหมด้วยการใช้ไก่เสี่ยงทาย โดยเอาไก่ปล่อยหน้าบ้าน ถ้าไก่เดินอยู่แถวบ้านแสดงว่าคู่บ่าวสาวจะอยู่ด้วยกัน หลังจากนั้นก็จะทำการผูกข้อมือก็เป็นอันแล้วเสร็จ

              การแต่งงานพิธีใหญ่เรียกว่า "กาตั๊ก" เป็นการแต่งงานกลางแจ้ง ทำพิธีกันในเวลากลางคืน นิยมทำให้กับลูกสาวคนแรกหรือคนสุดท้อง วิธีการแต่งงานเริ่มต้นจากการยกปรำที่พื้นลานหน้าบ้าน เอาเครื่องแต่งงานไว้ภายใน ได้แก่ "โคกกะเชอ" (กระบุงใส่สิ่งของมงคลต่าง ๆ) ขันหมาก ให้ผู้ชายและผู้หญิงที่เป็นคู่บ่าวสาวไปอยู่ด้านในปรำ ในปรำจะมีเด็กพรหมจารีย์อยู่ 4 คน เพื่อเป็นตัวแทนให้คู่บ่าวสาวรักกัน จากนั้นจะมีการป้อนข้าวป้อนน้ำและมะพร้าวให้กับเจ้าบ่าวเจ้าสาว บรรดาญาติและคนรู้จักจะเดินเวียนกันไปรอบปรำ คนที่เดินนำหน้าจะสวมเขาควาย ทำท่าทางเป็นควายเต้นรำไปมาและไล่ขวิดคน ผู้หญิงจะถือ "กระดิ่งช้างม้า" ถือเป็นพาหนะ ส่วนผู้ชายอีกคนถือ "ทับไซ" ทำจากลูกมะพร้าวมีกรวดด้านในทำให้เกิดเสียงดัง เพื่อให้เสียงดังนี้เป็นตัวแทนไปบอกปู่ย่าตายายที่ล่วงลับ และมีการตีกลองโพนเพื่อให้จังหวะสนุกสนาน คนทั้งหมดจะเดินวนกัน 3 รอบ จากนั้นจะหยุด ถือเป็นอันเสร็จพิธีแต่งงานแบบกาตั๊ก (สัมภาษณ์ นายเฉิน ผันผาย, 2558) 

     

    เขาควายที่ใช้สวมในพิธีแต่งงานพิธีใหญ่เรียกว่า “กาตั๊ก”

    เขาควายที่ใช้สวมในพิธีแต่งงานพิธีใหญ่เรียกว่า "กาตั๊ก"  

     

    “กระดิ่งช้างม้า” ถือเป็นพาหนะของคู่บ่าวสาว

    "กระดิ่งช้างม้า" ถือเป็นพาหนะของคู่บ่าวสาว

     

    “บังไซ” ทำจากลูกมะพร้าวมีกรวดด้านในทำให้เกิด เสียงดังใช้ในงานแต่งงานใหญ่

    "บังไซ" ทำจากลูกมะพร้าวมีกรวดด้านในทำให้เกิดเสียงดังใช้ในงานแต่งงานใหญ่

     

  • การแต่งกายของกลุ่มชาติพันธุ์ชอง :

              ในอดีต ผู้ชายชาวชองจะนุ่งโสร่ง ไม่นุ่งกางเกง ไม่สวมเสื้อและมีผ้าขาวม้าเคียนเอว แต่ในบางโอกาสจะสวมเสื้อแขนสั้นสีดำ สีเทา หรือกรมท่าแล้วแต่ความชอบ ส่วนผู้หญิงนิยมนุ่งผ้าโจงกระเบน ใส่เสื้อแขนกระบอก ซึ่งไม่ค่อยพบเห็นได้มากเท่าไหร่นัก ส่วนด้านในเป็นเสื้อคอกระเช้า นอกจากนี้บางครั้งจะห่มสไบทับด้านนอกด้วย ผู้หญิงชาวชองหันมาเริ่มนุ่งกางเกงกันเมื่อประมาณปี 2520 ส่วนเด็กผู้ชายสมัยก่อนจะนิยมไว้ผมเปียและไว้แกะ ผู้หญิงจะไว้จุก เชื่อว่าจะทำให้เด็กมีอายุยืน และจะตัดกันเมื่ออายุได้ 12 ปี สำหรับคนในปัจจุบันมีเพียงเฉพาะคนแก่ที่ยังแต่งกายในแบบดั้งเดิม ซึ่งโดยมากมักมีอายุ 50-60 ปีขึ้นไป ส่วนคนรุ่นหนุ่มสาวเป็นการแต่งกายตามสมัยนิยมกันหมด (สัมภาษณ์ นายเฉิน ผันผาย, 2558; และนางเสียง คล้ายมะลิ, 2558) 

     

    นายเฉิน ผันผาย นุ่งโสร่งแบบดั้งเดิมเป็นแบบให้ในการถ่ายภาพ

    นายเฉิน ผันผาย นุ่งโสร่งแบบดั้งเดิม

     

    ผู้หญิงชาวชองสมัยก่อนจะนุ่งโจงกระเบน สวมเสื้อ และห่มสไบ

     

                                                      

  • บ้านของกลุ่มชาติพันธุ์ชอง :

              ชาวชองเรียก "บ้าน" ในภาษาของเขาเองว่า "ต็อง" ถ้าเป็นหมู่บ้านเรียกว่า "ซุกต็อง" คำว่า "ซุก" มีความคล้ายคลึงกับภาษาเขมรที่ใช้เรียกหมู่บ้านขนาดใหญ่-เมืองคือคำว่า "สร็อก" (Srok) ชาวชองแบ่งบ้านออกเป็น 2 แบบคือ แบบแรกคือ บ้านชั่วคราวเรียกว่า "ฮะหนำ" เป็นบ้านที่ปลูกเพื่อใช้พักอาศัยเวลาทำไร่ แบบที่สองคือบ้านถาวร ทำเป็นบ้านหลังใหญ่ขึ้นมาเล็กน้อยและมักตั้งอยู่รวมกันเป็นกลุ่มจำนวน 5-10 หลังคา 

     

    บ้านแบบดั้งเดิมของชาวชองสร้างจากไม้ไผ่ และเสาทำจากไม้เนื้อแข็ง

    บ้านแบบดั้งเดิมของชาวชองสร้างจากไม้ไผ่ และเสาทำจากไม้เนื้อแข็ง 

    (ที่มา: ภาพถ่ายในศูนย์การเรียนรู้ฟื้นฟูภาษา-วัฒนธรรมชอง, 2558)

     

    บ้านรุ่นเก่าอีกแบบหนึ่งในหมู่บ้านของชาวชองที่บ้านคลองพลู จ.จันทบุรี มุงหลังคาด้วยกระเบื้องว่าว

    บ้านรุ่นเก่าอีกแบบหนึ่งในหมู่บ้านของชาวชอง

    ที่บ้านคลองพลู จ.จันทบุรี มุงหลังคาด้วยกระเบื้องว่าว

     

              ดั้งเดิมบ้านของชาวชองทำจากไม้ไผ่เป็นหลัก เป็นลักษณะเครื่องผูกยกเสาสูงมีชั้นเดียว พื้นเรือนและฝาเรือนทำจากฟากไม้ไผ่ เสาบ้านทำจากไม้ยืนต้น ส่วนหลังคามุงด้วยใบระกำ หรือไม่ก็ใช้ตับหญ้าคา พื้นที่ใช้สอยภายในแบ่งออกเป็น 4 ส่วน คือส่วนแรกเป็นพื้นที่เปิดโล่งเป็นชานที่พักต่อขึ้นจากบันได ส่วนที่สองเป็นชานเรือนใช้เป็นที่พักผ่อนและรับรองแขก ส่วนที่สามเป็นครัว ส่วนที่สี่เป็นห้องนอนแบ่งออกเป็น 2 ห้อง พ่อแม่จะนอนข้างนอก ส่วนลูกสาวนอนข้างใน แต่ถ้ามีลูกชายจะให้นอนที่ชานเรือน ปัจจุบันเรือนแบบนี้ไม่มีให้เห็นแล้ว (มิรินด้า บูรรุ่งโรจน์, 2550: 16-17) ข้างบ้านทุกหลังจะมียุ้งสำหรับเก็บรักษาข้าวเปลือกเอาไว้ด้วย ลักษณะของยุ่งจะมีขนาดไม่ใหญ่มากนัก แต่เพียงพอสำหรับการเก็บเกี่ยวข้าวไว้กินตลอดทั้งปี

              บ้านของชาวชองเริ่มเปลี่ยนไปเมื่อราว 50-60 ปีที่ผ่านมา ภายหลังจากเริ่มมีการพัฒนาถนนและเกิดนโยบายทางเศรษฐกิจ ทำให้เริ่มหันมาปลูกพืชทางการเกษตรเชิงพาณิชย์ เมื่อเริ่มมีเงินจึงเริ่มมีการสร้างบ้านที่ทำจากไม้กระดานแผ่น และมุงหลังคาด้วยกระเบื้องว่าว และต่อมาเริ่มมีการปลูกบ้านที่ใช้ปูนเป็นวัสดุและมีการมุงหลังคาด้วยกระเบื้องยิปซั่ม

     

    บ้านของนายเฉิน ผันผาย อดีตกำนันตำบลคลองพลู สร้างเมื่อราว 50 กว่าปีก่อน

    บ้านของนายเฉิน ผันผาย อดีตกำนันตำบลคลองพลู สร้างเมื่อราว 50 กว่าปีก่อน

     

  • ศาสนาและความเชื่อของกลุ่มชาติพันธุ์ชอง :

              ชาวชองก็ไม่ได้แตกต่างจากคนกลุ่มอื่น ๆ ในภูมิภาคอุษาคเนย์คือมีความเชื่อผสมผสานกันระหว่างศาสนาผี พุทธ และพราหมณ์ โดยศาสนาผีเป็นศาสนาดั้งเดิมก่อนการรับศาสนาพุทธและ พรามหณ์เข้ามา ในภาษาชองเรียกผีว่า "มู้จ" แบ่งผีออกเป็น 4 ชนิดได้แก่ ผีเรือน (มู้จต็อง) เป็นผีที่มีกันทุกบ้าน, ผีหิ้ง (มู้จต็องพัฮ) และผีโรง มีนับถือเฉพาะบางตระกูล, และผีท่า (มู้จพิท่า) มีนับถือในบางตระกูลเช่นกัน มีรายละเอียดคร่าว ๆ ดังนี้

              ผีเรือน ทำเป็นศาลขนาดเล็กตั้งอยู่ตามพระภูมิ ถือเป็นที่อยู่ของผีปู่ย่าตายาย เชื่อกันว่าผีเรือนถือเป็นผีเจ้าที่ด้วย ทำให้กระดูกคนตายต้องเอามาไว้ที่บ้าน เพื่อให้มีหน้าที่ในการคุ้มครองทุกคนในบ้าน

              การเล่นผีหิ้งและผีโรง เป็นพิธีที่จัดขึ้นเพื่อเป็นการสนทนาระหว่างคนตายกับคนเป็นโดยผ่านร่างของคนทรง การเล่นผีหิ้งและผีโรงนั้นคล้ายคลึงกันมากต่างกันแค่ผีหิ้งเล่นกลางคืน ผีโรงเล่นกลางวัน ประโยชน์อย่างหนึ่งของการเล่นผีหิ้งและผีโรงคือเป็นการกระชับความสัมพันธ์ในระบบเครือญาติให้ดำรงอยู่ (มิรินด้า บูรรุ่งโรจน์, 2550: 24)

              ผีหิ้ง จะทำเป็นหิ้งให้ผีอยู่บนบ้าน จึงเรียกว่าผีหิ้ง เชื่อกันด้วยว่า "ผีหิ้งคือคนให้เหล้า" คนโบราณบอกว่าเมื่อเอาสายสิญจน์ผูกกับผีหิ้งแล้วโยงกับไห เมื่อบูชาจะมีเหล้าไหลออกมาเอง ทำให้ชาวชองบูชาผีหิ้ง จึงเชื่อกันว่า "ผีหิ้งมาจากคนกินเหล้า" ผีหิ้งจะต้องเล่นต้องเลี้ยงกันในบ้าน มีการลงทรงเซ่นไหว้กันทุกปี ทำพิธีกรรมกันในเดือน 3  ขึ้น 3 ค่ำ  ประมาณช่วงเดือนกุมภาพันธ์ หลังจากเกี่ยวข้าวเกี่ยวปลาเสร็จ ผีหิ้งจะมีการเลี้ยงกันในเวลากลางคืน เริ่มกันหลังตะวันตกดินประมาณ 1 ทุ่ม หมอทรงจะเป็นผู้หญิงทำหน้าที่เป็นสื่อกลางให้กับบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้วสอบถามความเป็นอยู่ของผี (สัมภาษณ์ นายเฉิน ผันผาย, 2558)

     

    ตัวอย่างของหิ้งผีหิ้ง จัดแสดงอยู่ในศูนย์การเรียนรู้ฟื้นฟูภาษา-วัฒนธรรมชอง

    ตัวอย่างของหิ้งผีหิ้ง จัดแสดงอยู่ในศูนย์การเรียนรู้ฟื้นฟูภาษา-วัฒนธรรมชอง

     

              ผีโรง จะเล่นกันในเวลากลางวัน โดยเล่นกันในโรงที่ตั้งกับพื้นดินจึงเรียกกันว่าผีโรง ทุกอย่างทำคล้ายกับผีหิ้ง แต่ไม่มีการเข้าสมิง และไม่มีผีครบทั้ง 12 ตน ในบ้านคลองพลูไม่มีการเล่นกัน เหลือเพียงที่วัดตะเคียนทองยังทำกันทุกปี (สัมภาษณ์ นายเฉิน ผันผาย, 2558)

              ผีท่า จะเป็นการเล่นกันข้างคลอง ทำกันในช่วงเดือน 3 เวลากลางวัน โดยจะเล่นกันข้างคลอง เซ่นไหว้ครูและทำการร้องรำทำเพลง เล่นละครกัน จัดเป็นผีที่เข้าง่ายไม่ยากเหมือนผีหิ้ง ปัจจุบันการเลี้ยงผีท่าได้เลิกไปแล้วประมาณ 20-30 ปี เพราะตระกูลที่ทำคือคนในนามสกุลจันทวงศ์ได้เลิกไป (สัมภาษณ์ นายเฉิน ผันผาย, 2558) 

     

  • ตำนานของกลุ่มชาติพันธุ์ชอง :

              ชาวชองมักจะเล่าเรื่องนางกาไวกับเมืองเพนียด เพราะเชื่อว่าเดิมชองเคยเป็นพลเมืองของเมืองเพนียด ส่วนใหญ่ชาวบ้านจะจดจำเรื่องราวได้เพียงคร่าว ๆ ในที่นี้ขอยกเนื้อหามาจากหนังสือ ‘พะซวช์อง’ ฟื้นวิถีชาติพันธุ์: ผ่านห้องเรียน โดยเกศสุดา สิทธิสันติกุล, บรรณาธิการ ความว่า

              "พระเจ้านางกาไว สนมพระเจ้าพรมทัตอยากให้ลูกคนเดียวของตัวเองไปปกครองเมืองเพนียด จึงออกอุบายให้ลูกเลี้ยง 2 พระองค์ชื่อวรพงศ์กับสุริยา ไปปกครองเมืองเขมรแถบสามสิบ และไปตั้งที่พำนักรวบรวมไพร่พลก่อนออกศึก ซึ่งปัจจุบันเรียกสถานที่ดังกล่าวว่า บ้านพลับพลา และได้ยกทัพไปรบกับพระนางกาไวที่เมืองเพนียด เป็นประวัติศาสตร์สงครามของพระนางกาไวกับลูกเลี้ยงที่ได้เล่าขานกันมาว่า พระนางกาไวแพ้ไม่รู้จะทำอย่างไรจึงให้ทหารเอาทองหว่านทั่วป่า และกอไผ่ที่รก ๆ เพื่อให้ทหารของวรพงศ์ และสริยาหลงเก็บทรัพย์สินเอาไป ซึ่งสถานที่ดังกล่าวในปัจจุบันได้ตั้งเป็นวัด และยังสามารถพบเห็นร่องรอยทางประวัติศาสตร์โดยเรียกวัดดังกล่าวว่า "วัดทองทั่ว" จนสุดท้ายพระนางกาไวก็หนีออกทะเล แต่พบกับทหารข้าศึกอีกจึงย้อนกลับเข้าเมืองเพนียดเพื่อดื่มยาพิษตาย" (เกศสุดา สิทธิสันติกุล, 2546) เมื่อพระนางกาไวยเสียชีวิต พวกขอมจึงเข้ามาปกครองแทน ต่อมาเมื่อ พ.ศ.1800 กรุงสุโขทัยเรืองอำนาจ ขอมจึงย้ายหนีออกไป (สัมภาษณ์ นายเฉิน ผันผาย, 2558) 

     

  • สถานการณ์ปัจจุบันของกลุ่มชาติพันธุ์ชอง :

    การเปลี่ยนศาสนา

              ถึงแม้ว่าในเขตหมู่บ้านชาวชองจะพบป้ายเชิญชวนให้นับถือศาสนาคริสต์ แต่เท่าที่ทราบไม่พบว่าชาวชองมีการเปลี่ยนศาสนา ชาวชองทั้งหมดยังคงนับถือศาสนาพุทธควบคู่กับการนับถือผี ชาวชองในปัจจุบันให้ความสำคัญกับศาสนาพุทธเป็นหลัก ส่วนศาสนาผีนั้นถึงแม้ว่าชาวบ้านหลายคนจะเลิกเล่นผีกันไปแล้วก็ตาม เช่น ผีท่า รวมถึงผีหิ้งกับผีโรงที่คนในหมู่บ้านแทบไม่เล่นกันแล้ว ทั้งนี้เพราะสังคมเกิดการเปลี่ยนแปลงทำให้คนในครอบครัวไม่สามารถเดินทางกลับมาเล่นผีได้ อย่างไรก็ตาม ด้วยการนับถือศาสนาพุทธจึงทำให้ความเชื่อและพิธีกรรมต่าง ๆ ยังคงปฏิบัติได้เช่นเดิม

    ภาษาเดิมที่กำลังสูญหาย

              ในแง่ของภาษาชองจัดว่าอยู่ในภาวะวิกฤตทางด้านภาษา เพราะคนรุ่นหลังไม่ได้พูดภาษาชองกันแล้ว อาจฟังรู้เรื่องบ้าง แต่ก็ไม่สามารถพูดได้ อย่างไรก็ตาม การเข้ามาทำงานวิจัยของนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยมหิดลนับตั้งแต่โครงการของศูนย์ศึกษาและฟื้นฟูภาษา-วัฒนธรรมในภาวะวิกฤตที่เริ่มเข้ามาทำงานตั้งแต่ราวปี 2542 เป็นต้นมาที่เข้ามาพัฒนาระบบตัวเขียนในภาษาชอง หรือการจัดทำโครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูภาษาชอง ต.ตะเคียนทอง และ ต.คลองพลู กิ่ง อ.เขาคิชฌกูฎ จ.จันทบุรี เมื่อราวปี 2546 ในช่วงเวลานั้นได้มีนโยบายที่ให้ชาวชองไปสอนภาษาชองในโรงเรียน 

     

    ตัวอย่างของตัวอักษรชอง ที่นายเฉิน ผันผาย พัฒนาขึ้นมาจากอักษรภาษาไทยและอื่นๆ ทั้งนี้เพื่อใช้ในการออกเสียงภาษาชองจะได้มีความถูกต้องมากขึ้น

    ตัวอย่างของตัวอักษรชอง ที่นายเฉิน ผันผาย พัฒนาขึ้นมาจากอักษรภาษาไทยและอื่น ๆ

    ทั้งนี้เพื่อใช้ในการออกเสียงภาษาชองจะได้มีความถูกต้องมากขึ้น

     

              สำหรับความเคลื่อนไหวในปัจจุบันนั้น ราชบัณฑิตยสถานได้จัดทำคู่มือระบบเขียนภาษาชองอักษรไทยขึ้นเมื่อ พ.ศ.2555 นั้น ก็ได้ทำให้ชุมชนตระหนักถึงความสำคัญของภาษาชองมากขึ้น แต่ภาษาชองก็ยังจัดอยู่ในภาวะวิกฤตทางด้านภาษาเช่นเคย นายเฉิน ผันผาย อดีตกำนันตำบลคลองพลูบอกว่าคนรุ่นหลังนั้นไม่สืบทอดกันแล้ว เพราะไปเรียนภาษาอื่นกันหมด และภาษาชองไม่ได้มีความสำคัญกับสังคมภายนอกมากนัก 

     

  • การรวมกลุ่มและสร้างเครือข่ายในปัจจุบันของกลุ่มชาติพันธุ์ชอง :

              อาจกล่าวได้ว่าการเกิดขึ้นของเครือข่ายกลุ่มชาติพันธุ์ชองนั้นเป็นผลมาจากการเข้ามาทำวิจัยของสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล อย่างน้อยตั้งแต่ต้นทศวรรษ 2540 เป็นต้นมา ซึ่งส่งผลให้ชาวชองได้ทำวิจัยด้วยตนเอง มีการสำรวจสำมะโนประชากรของชาวชองในเขตตำบลคลองพลูและตำบลตะเคียนทอง เกิดการเข้าใจสถานภาพของคนที่สามารถพูดภาษาชองมากขึ้น และทำให้มีโลกทัศน์ที่กว้างกว่าเดิม โดยเฉพาะเมื่อเกิดการพัฒนาก่อตั้งศูนย์การเรียนรู้ฟื้นฟูภาษา-วัฒนธรรมชอง: แหล่งเรียนรู้ตัวตนทางวัฒนธรรมของชาวชอง ขึ้นในปี พ.ศ.2547 ทำให้มีกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ มาดูงานเช่น ชาวญัฮกุร ชาวโอก๋อง มาดูงานศูนย์ดังกล่าว ทำให้ชาวชองรู้จักกับกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ เพิ่มขึ้น ในอีกไม่กี่ปีถัดมา ชาวชองก็ได้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย

     

    ศูนย์การเรียนรู้ฟื้นฟูภาษา-วัฒนธรรมชอง ต.คลองพลู จ.จันทบุรี

    ศูนย์การเรียนรู้ฟื้นฟูภาษา-วัฒนธรรมชอง ต.คลองพลู จ.จันทบุรี

     

Access Point
No results found.

ชาวชองกระจายตัวอยู่ในบริเวณภาคตะวันออก บริเวณจังหวัดจันทบุรี ตราด ฉะเชิงเทรา โดยพบว่ามีความหนาแน่นบริเวณ ตำบลตะเคียนทอง ตำบลคลองพลู อำเภอเขาคิชฌกูฏ จังหวัดจันทบุรี ผู้ชายชาวชองสูงวัยยังคงนิยมนุ่งโสร่งและเคียนผ้าขาวม้า หญิงสูงวัยยังมีบางส่วนที่นุ่งโจงกระเบน ชาวชองในแถบนี้ดำรงชีพในวิถีเกษตร ทั้งทำนา ทำไร่และมีพืชผักประจำถิ่นอย่างหมาก กระวานและเร่ว ชาวชองมีความเชื่อผสมผสานกันระหว่างศาสนาผี พุทธ และพราหมณ์ โดยศาสนาผีเป็นศาสนาดั้งเดิมก่อนการรับศาสนาพุทธและพรามหณ์เข้ามา