2023-06-17 11:27:58
ผู้เข้าชม : 1081

อาเคอะ มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมอยู่บริเวณทิเบต เมื่อประสบกับภาวะสงครามจึงอพยพสู่มณฑลยูนนาน ประเทศจีน บางกลุ่มเดินทางมายังประเทศเมียนมาและไทย ผ่านด่านแม่สาย และตั้งถิ่นฐานอย่างหนาแน่นในจังหวัดเชียงราย ในอดีตคนกลุ่มนี้ดำรงชีพด้วยการปลูกข้าวไร่ และผลไม้จากโครงการหลวง เช่น บ๊วย พลัม เชอร์รี่ ชา และชาป่า ปัจจุบัน ผู้คนส่วนใหญ่ยังคงดำรงชีพและมีรายได้จากการปลูกผลไม้เมืองหนาว และมีบางส่วนออกไปเป็นแรงงานรับจ้างนอกชุมชนและต่างประเทศ เช่น ไต้หวัน

  • ข้อมูลพื้นฐาน
  • ประวัติศาสตร์
  • การตั้งถิ่นฐานและกระจายตัว
  • วิถีชีวิตและวัฒนธรรม
  • งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
  • อ้างอิง

ชื่อกลุ่มชาติพันธุ์ : อาเคอะ
ชื่อเรียกตนเอง : อ่อเหงี่ยก๊อคือ, อาเคอะ
ชื่อที่ผู้อื่นเรียก : อาเคอะ, อาเข่อ, อาเค้ออาข่า
ตระกูลภาษา : จีน-ธิเบต
ตระกูลภาษาย่อย : ทิเบต-พม่า
ภาษาพูด : อาเคอะ
ภาษาเขียน : ไม่มีตัวอักษรที่ใช้เขียน

อาเคอะ เป็นชื่อเรียกกลุ่มชาติพันธุ์ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน อันเป็นที่รู้จักทั่วไปของคนภายนอก และคนในวัฒนธรรมเองยอมรับได้ในชื่อเรียกนี้ ชื่อนี้ถูกเรียกโดยชาวจีนที่ใช้เรียกพวกเขาเมื่อครั้งที่ยังเดินทางลี้ภัยสงคราม ขณะที่ชื่อเรียกตนเองอย่างแท้จริงคือ “อ่อเหงี่ยก๊อคือ” คำว่า อ่อเหงี่ย หมายถึง “เอกเทศน์ หนึ่งเดียว” ขณะที่คำว่า ก๊อคือ หมายถึง “ตัวพวกเขาเอง” ขณะที่คนนอกวัฒนธรรมและหน่วยงานราชการรู้จักในชื่อ “อาเค้ออาข่า” ซึ่งเป็นชื่อที่สัมพันธ์กับการจัดเป็นกลุ่มย่อยหนึ่งของอ่าข่ามายาวนาน ขณะที่ชื่อเรียกอาเข่อนั้นไม่เป็นที่พึงพอใจของพวกเขามากนัก เนื่องจากชื่อนี้ออกสียงคล้าย “อาขื่อ” ซึ่งในภาษาของพวกเขา หมายถึง สุนัข

อาเคอะมีถิ่นกำเนิดเดิมอยู่บริเวณทิเบต ต่อมาได้ประสบกับภาวะสงคราม จึงต้องลี้ภัยจากทิเบต และอพยพสู่มณฑลยูนนาน ตอนใต้ของจีน พวกเขาตั้งชุมชนอยู่ที่เมืองลุ่ม แคว้นสิบสองปันนา ในช่วงนโยบายจีนเดียวและความพยายามผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรม พวกเขาถูกปิดกั้นการประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อดั้งเดิม ชาวอาเคอะบางกลุ่มจึงได้อพยพจากจีนเดินทางลงมาทางทิศใต้ เข้าสู่ประเทศเมียนมาร์ ตั้งชุมชนอยู่ที่บ้านอาเคอะพะสัน ในเขตเมืองว้าเชียงคำ ชีวิตในเมียนมาร์ตกอยู่ภายใต้กองกำลังว้า พวกเขาถูกเกณฑ์แรงงานทั้งไปเป็นทหารและลูกหาบอาวุธสงคราม ส่งส่วยข้าวสาร อาหารและพืชผักให้กองกำลัง รวมถึงถูกข่มขู่ และเอาชีวิต เมื่อกองกำลังว้าล่มสลาย ชาวอาเคอะจึงกระจัดกระจาย บางส่วนหลบหนีไปกับทหารชาวว้า เดินทางถอยร่นไปยังเมืองยอง และหลบหนีไปหลายเมือง จนกระจัดกระจายไปตามพื้นที่ชายแดนไทย – เมียนมาร์ และลาว

เส้นทางการตั้งถิ่นฐานในประเทศไทย ชาวอาเคอะเดินทางผ่านด่านแม่สาย เข้าสู่อำเภอแม่ฟ้าหลวง และย้ายมาที่อำเภอแม่สรวย จนสามารถตั้งชุมชนได้ที่บ้านห้วยน้ำขุ่น ซึ่งเป็นชุมชนหลักที่มีชาวอาเคอะอยู่อาศัยมากที่สุด นอกจากนี้ชาวอาเคอะยังกระจายตัวตั้งถิ่นฐานในสองชุมชนของอำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย อย่างไรก็ตาม หน่วยงานราชการ ภาควิชาการ และบุคคลทั่วไป มักมีความเข้าใจที่คาดเคลื่อนว่าชาวอาเคอะเป็นกลุ่มย่อยกลุ่มหนึ่งของอ่าข่า ดังนั้น เอกสารทางวิชาการที่ผ่านมาจึงไม่ปรากฏชื่อเรียกหรือประวัติศาสตร์ของชาวอาเคอะ ขณะที่เจ้าของวัฒนธรรมได้มีความพยายามในการสื่อสารและแสดงออกทางอัตลักษณ์วัฒนธรรม ทั้งด้านภาษาและการแต่งกาย จวบจนเข้าร่วมกับเครือข่ายชาติพันธุ์เมืองเชียงราย ใน พ.ศ. 2552 และได้ประกาศต่อสาธารณะว่า “อาเคอะ” ไม่ได้เป็นกลุ่มย่อยของอ่าข่า

ในมิติสังคมวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ของชาวอาเคอะนั้น พบว่า ด้านการแต่งกายของผู้หญิงมีอัตลักษณ์ที่โดดเด่น การสวมผ้าคาดอกปักลวดลาย เมื่ออยู่ภายในบ้านจะแต่งกายแตกต่างกับกลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูงกลุ่มอื่นอย่างมาก อีกทั้งรูปแบบการสวมใส่ผ้าถุงหรือซิ่นลายขวางต่อซิ่นด้วยผ้าสีเขียว ได้รับอิทธิพลการแต่งกายของกลุ่มชาติพันธุ์ไต/ไท เนื่องจากพวกเขาใช้ชีวิตที่สัมพันธ์กับชุมชนชาวไต/ ไท ทั้งในแคว้นสิบสองปันนา ว้าเชียงคำ เมืองยอง จนกระทั่งเคลื่อนย้ายสู่ประเทศไทย นอกจากนี้ ชาวอาเคอะยังมีความเชื่อในการนับถือผีอย่างเข้มข้นโดยเฉพาะพิธีเลี้ยงผีประตูหมู่บ้านในช่วงเดือนสี่ ถือเป็นพิธีสำคัญในการเซ่นไหว้บรรพบุรุษประจำปี ควบคู่กับการทำนายทายทักดวงชะตาของหมู่บ้านในรอบปีไปพร้อมกัน แม้ว่าความเชื่อตามหลักศาสนาคริสต์ และศาสนาพุทธได้แพร่ขยายเข้ามาในชุมชน แต่ทว่า มีชาวอาเคอะเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่เปลี่ยนไปนับถือศาสนาอื่นเพียงศาสนาเดียว

อาเคอะมีถิ่นกำเนิดเดิมอยู่บริเวณทิเบต ต่อมาได้ประสบกับภาวะสงคราม จึงต้องลี้ภัยจากทิเบต และอพยพสู่มณฑลยูนนาน ตอนใต้ของจีน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่พวกเขาอยู่อาศัยมาจนถึงปลายศตวรรษก่อน

แต่สถานการณ์เริ่มเปลี่ยนไปในช่วงทศวรรษ 1940 เมื่อรัฐบาลจีนมีนโยบายรวมชาติและพยายามกลืนกลายวัฒนธรรมชาติพันธุ์ต่างๆ ให้เป็นหนึ่งเดียว ชาวอาเคอะบางกลุ่มได้ช่วยต่อสู้ในกองทหารก๊กมินตั๋งจนทำให้รัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์มีทัศนคติเชิงลบต่อพวกเขา นำมาซึ่งการถูกรัฐบาลจีนกดดันให้ละทิ้งหมู่บ้านอาเคอะหลายกลุ่มจึงอพยพออกจากจีนและมุ่งตั้งถิ่นฐานใหม่ ในประเทศเมียนมาร์ ลาว และไทย (Niemi, 2014: 7)

จากข้อมูลคำบอกเล่า ระบุว่า แต่เดิมเมื่อครั้งที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ที่แคว้นสิบสองปันนา อาเคอะอยู่ที่ “เมืองลุ่ม” ใกล้กับเมืองสูง ในชุมชนที่มีชื่อเรียกว่า “ป่าบงลุ่ม” เมื่อถูกบังคับไม่ให้ประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อ จึงเดินทางอพยพจากเมืองลุ่มถอยร่นลงมาในดินแดนประเทศพม่า มาอยู่เมือง “ว้าเชียงคำ” ตั้งชุมชนอยู่ที่เมืองว้าเชียงคำ ใช้ชื่อหมู่บ้านว่า “บ้านอาเคอะพะสัน” ในบริเวณใกล้เคียงกันนั้นมีหมู่บ้านอาข่ากลุ่มอื่นเรียกว่า “บ้านอาข่าพะสัน” ต่อมา มีกองกำลังว้าและคนจีนรวมกลุ่มกันเพื่อเกณฑ์แรงงานอาเคอะไปเป็นทหารแบกหามอาวุธสงคราม เช่น ลูกปืน หากผู้ใดฝ่าฝืนจะถูกลงโทษในรูปแบบต่างๆ ตั้งแต่ยิงปืนขู่หรือเอาชีวิต ต่อมาทหารพม่าบุกโจมตี ทหารว้าแตกทัพและหนีไปอยู่เมืองยอง ชาวอาเคอะจึงหนีตามทหารว้าไปที่เมืองยองในปีเดียวกัน และย้ายหนีต่อไปเมืองอื่นๆ อีกหลายครั้ง จนกระทั่งหลบหนีมายังพื้นที่ชายแดนท่าขี้เหล็ก บางส่วนย้ายไปที่บ้านหินหลวงประเทศลาว ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากอำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย

การโยกย้ายถิ่นฐานที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง เกิดขึ้นภายใต้เงื่อนไขด้านสงครามที่ทำให้บ้านเมืองอไม่สงบ ขณะที่กองกำลังฝ่ายต่างๆ พยายามดึงเอาชนกลุ่มน้อย ให้มาเป็นพวก นอกจากถูกการเกณฑ์แรงงานใช้งานอาเคอะเป็นลูกหาบแล้ว ยังต้องส่งส่วยทั้งข้าวสารและพืชผักให้กองกำลังเหล่านี้ ชาวอาเคอะที่ไม่ต้องการเป็นทหาร และไม่ประสงค์ให้ลูกหลานพัวพันกับการรบ จึงได้ปรึกษากันในกลุ่มอาเคอะและกลุ่มอื่นที่อยู่ด้วยกันในการหลบหนีเข้าเมืองไทย

ใน พ.ศ.2525 อาเคอะกลุ่มหนึ่งได้หลบหนีมาอยู่ที่บ้านแม่ไร่ ปัจุบันอยู่ในเขตหมู่บ้านสวนป่าอำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย หลังจากตั้งถิ่นฐานอยู่ที่บ้านแม่ไร่ได้ 3 ปี จึงโยกย้ายอีกครั้งเนื่องจากไม่มีที่ทำกิน เนื่องจากเขตบริเวณนั้นได้ถูกกำหนดโดยกรมป่าไม้ให้เป็นพื้นที่ปลูกป่า ชาวอาเคอะจำนวน 10 ครอบครัว จึงย้ายต่อมาอยู่ที่บ้านห้วยน้ำขุ่น ตำบลท่าก๊อ อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย ตั้งแต่ พ.ศ.2528 จนกระทั่งปัจจุบัน

นอกจากนี้ ชาวอาเคอะส่วนหนึ่งได้กระจายไปอยู่ในอีก 2 ชุมชน คือ บ้านแม่กรณ์หลวง และหมู่บ้านยางแดง ตำบลป่าแดด อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย

ในประเทศไทย ประชากรอาเคอะมีอยู่ประมาณ 400 คน อาศัยในพื้นที่สามหมู่บ้านในจังหวัดเชียงราย โดยหมู่บ้านห้วยน้ำขุ่นเป็นหมู่บ้านที่มีประชากรมากที่สุด ที่เหลือนั้นอยู่ร่วมกับอาข่าสองหมู่บ้าน (Niemi, 2014: 7) เมื่อเปรียบเทียบสัดส่วนของอาข่ากลุ่มอื่นแล้ว อาเคอะมีจำนวนประชากรน้อยมาก เช่นเดียวกับในประเทศจีน มีประชากร 11,000 คน ลาว มีประชากร 3,100 คน และพม่า มีประชากร1,200 คน รวมทั่วโลกมีประชากรชาวอาเคอะประมาณ 15,700 คนเท่านั้น ชนกลุ่มนี้จึงถูกโครงการกุศลของกลุ่มคริสเตียนชื่อ Joshua Project (n.d.b) จัดให้เป็นกลุ่มชาติพันธุ์หนึ่งที่ถูกละเลยในการเข้าถึงกลุ่มหนึ่งของโลก (world's least-reached ethnic people group) จนกระทั่งช่วงปี 2002-2006 สถาบัน SIL ร่วมกับมหาวิทยาลัยพายัพ มหาวิทยาลัยมหิดล และผู้นำของกลุ่มชาติพันธุ์อาเคอะจากสี่ประเทศได้ทำข้อตกลงร่วมกันและหาทางในการสร้างระบบการเขียนที่สอดคล้องกับการพูดของกลุ่มชาติพันธุ์ดังกล่าว จนภายหลังก่อให้เกิดการสอนภาษานี้ให้กับลูกหลาน (อภิวัฒน์ ก๊อคือ, มปป: 5)

ต่อมาในปี 2562 กลุ่มชาติพันธุ์อาเคอะได้ลุกขึ้นมาประกาศต่อสาธารณะชนทางโลกออนไลน์ว่า พวกเขาไม่ใช่อาข่า และต้องการมีพื้นที่ทางสังคมของตนเอง (Aphiwat Kokhue, 2019) การประกาศดังกล่าวมีนัยยะที่สำคัญในการที่จะทำให้คนอื่นยอมรับและเข้าใจตัวตนของพวกเขามากขึ้น รวมทั้งต้องการให้สังคมเล็งเห็นความสำคัญของภาษาและวัฒนธรรมที่กำลังตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะสูญหาย การยืนหยัดที่จะสืบทอดวัฒนธรรมของตัวเองจึงทำได้ด้วยการประกาศจุดยืนเพื่อให้ทั้งลูกหลานมีความเข้าใจและมีสำนึกร่วมทางชาติพันธุ์ ไม่ถูกกลืนกลายเป็นอื่น นอกจากนี้ยังทำให้สังคมภายนอกรู้จักและเข้าใจความแตกต่างของพวกเขามากขึ้น การประกาศจุดยืนดังกล่าวจึงทำให้กลุ่มอาข่าที่อยู่อาศัยในประเทศไทยปัจจุบันคงเหลือเพียง 6 กลุ่มเท่านั้น ในทางกลับกันกลุ่มชาติพันธุ์อาเคอะก็ได้ถูกนับว่าเป็นสมาชิกกลุ่มหนึ่งของเครือข่ายชาติพันธุ์เมืองเชียงรายเมื่อปี 2562 ที่ผ่านมา (เครือข่ายชาติพันธุ์เมืองเชียงราย, 2562) นอกจากนี้ยังมีความพยายามในการเชื่อมโยงกับกลุ่มอาเคอะที่อยู่ในจีน พม่า ลาว ด้วยการจัดตั้งเครือข่ายแบบชื่อว่า “ก๊อคือญ่า” เพื่อพบปะ เรียนรู้ และสืบสานความเป็นชาติพันธุ์ของตนเองต่อไป (อภิวัฒน์ ก๊อคือ, 2563)

การดำรงชีพ

เมื่อ พ.ศ.2526 ได้มีการก่อตั้งศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยน้ำขุ่นไขึ้น จากนั้นใน พ.ศ. 2528 ชาวอาเคอะซึ่งเคยเป็นแรงงานรับจ้างปลูกป่าที่ดอยตุง จึงย้ายตามมาและขอพื้นที่โครงการหลวงฯ สำหรับสร้างหมู่บ้าน ภายหลังจากการตั้งเป็นหมู่บ้าน กลุ่มคนที่มีเงินเก็บจากการรับจ้างก็สามารถซื้อที่ดินเป็นของตนเอง (กะซอ, 2557: สัมภาษณ์) นอกจากปลูกข้าวเพื่อยังชีพ และเก็บชาป่าแล้ว โครงการหลวงฯ ได้นำเมล็ดพันธุ์ของผลไม้ เช่น บ๊วย พลัม เชอร์รี่ และชาเบอร์ 12 และเบอร์ 17 มาแจกจ่ายให้ชาวบ้านผู้ที่มีที่ดินเป็นของตนเอง ชาวบ้านจึงเริ่มปลูกผลไม้และชาเพื่อจำหน่าย ต่อมาชาป่าเริ่มเป็นที่ต้องการของตลาดมากขึ้น ในขณะที่พวกเขายังสามารถหารายได้จากการเก็บลูกเชอรี่ ลูกบ๊วย ลูกไหน และวัตถุดิบต่าง ๆ จากป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์ทำให้จำนวนครอบครัวที่ย้ายเข้ามาในหมู่บ้านมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว

ในอดีตชาวอาเคอะที่บ้านห้วยน้ำขุ่น อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย ส่วนใหญ่จะปลูกข้าว เพื่อบริโภคเองภายในครัวเรือน ข้าวที่ปลูกเรียกว่า “ข้าวไร่” หรือ “ข้าวดอย” จะปลูกในพื้นที่ดอน “ข้าวไร่” จะมีลักษณะเม็ดสั้นคล้ายกับข้าวญี่ปุ่น ต่อมาเมื่อโครงการหลวงนำเมล็ดพันธุ์ของผลไม้ เช่นบ๊วย พลัม เชอร์รี่ และชาเบอร์12 และเบอร์17 มาแจกจ่ายให้ ชาวบ้านจึงเริ่มปลูกผลไม้และชาเพื่อขายให้กับโครงการหลวงและบุคคลภายนอกที่ต้องการรับซื้อ บางครัวเรือนก็ปลูกสตอเบอรี่ ข้าวโพด กาแฟ ส่วนผู้ที่ไม่มีที่ดินเป็นของตนเองจะมีอาชีพรับจ้างเก็บเกี่ยวผลผลิต

นอกจากนี้ชาวบ้านยังได้ค้นพบ “ชาป่า” ที่สามารถขึ้นได้เองตามธรรมชาติ ไม่ต้องลงทุนใส่ปุ๋ย รดน้ำถือเป็นพืชที่ปลูกง่าย โตเร็ว และได้ราคาดีเมื่อนำไปจำหน่าย ชาวบ้านจึงนิยมปลูกชาป่า หรือรับจ้างเก็บชาป่าไปจำหน่าย ในชุมชนมีโรงงานคั่วชาประจำหมู่บ้านของอาโวย อายุ 33 ปี เป็นครูชาวอาข่าที่สอนศาสนาคริสต์ โรงงานนี้มีการจ้างงานคนในหมู่บ้านอาเคอะให้คั่วชา เพื่อนำไปขายให้กับชาวจีนที่มาจากแผ่นดินใหญ่ และขายให้ชาวพม่า อาจกล่าวได้ว่าชาป่าเป็นพืชที่นิยมปลูกมากที่สุดในหมู่บ้าน เนื่องจากวิธีการปลูกง่าย ลงทุนน้อย และกำไรมาก

ปัจจุบัน ชุมชนอะเคอะมีการสร้างถนนเข้าหมู่บ้าน มีไฟฟ้า และประปาภูเขา ชาวบ้านในหมู่บ้านส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ คนวัยกลางคน และเด็กเล็ก ส่วนคนรุ่นใหม่ที่เป็นสมาชิกในครอบครัวส่วนใหญ่ออกนอกชุมชนเพื่อไปเรียนหนังสือและทำงานในตัวเมือง คนหนุ่มสาวที่ไปอยู่และทำงานภายนอกมักกลับมาหมู่บ้านในช่วงเทศกาลปีใหม่ หลายครอบครัวมีการเคลื่อนย้ายไปทำงานที่ต่างประเทศ เช่น ไต้หวัน

ระบบความเชื่อ ประเพณี และพิธีกรรม

ศาสนา

ปัจจุบัน ชาวอาเคอะในชุมชนห้วยน้ำขุ่นไม่ได้มีการนับถือผีแบบเดียวกันทั้งหมดดังเช่นในอดีต เนื่องจากมีความพยายามเข้ามาเผยเพร่ศาสนาพุทธและศาสนาคริสต์ในชุมชน ทำให้มีการตั้งอาศรมพระธรรมจาริกอยู่นอกเขตหมู่บ้าน เหนือบริเวณประตูตะวันออก ขณะเดียวกัน มีการเผยแพร่ศาสนาคริสต์อย่างแพร่หลาย เริ่มจากการที่ผู้นำศาสนาชาวอาข่าชื่อ อาโวย มาเผยแพร่ศาสนาและการสอนหนังสือให้กับชาวอาเคอะและอาข่า รวมทั้งมีองค์กรคริสต์เข้ามาให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนด้านการศึกษา เช่น การสนับสนุนค่าเทอมหรือค่าเสื้อผ้า และอุปกรณ์การศึกษาให้กับเด็กที่อยู่ระหว่างการศึกษาเล่าเรียน การสนับสนุนทุนการศึกษาให้สามารถเรียนต่อในระดับสูงขึ้น แม้แต่ลูกชายของพิมาซึ่งเสียชีวิตไปแล้ว ก็หันไปนับถือศาสนาคริสต์ เนื่องจากได้รับโอกาสทางการศึกษาจนสามารถเรียนจบปริญญาโทและย้ายไปอยู่ที่เชียงใหม่ ทำให้ไม่มีผู้สืบทอดตำแหน่งพิมาในชุมชนอีกต่อไป ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ชาวอาเคอะ จำนวนประมาณ 23 หลังคาเรือน จาก 50 กว่าหลังคาเรือน ได้เปลี่ยนมานับถือศาสนาคริสต์นิกายโปรแตสแตนท์ มีการสร้างโบสถ์คริสต์อยู่ในหมู่บ้าน นอกจากปัจจัยด้านเศรษฐกิจแล้ว ชาวอาเคอะที่เปลี่ยนมานับถือศาสนาคริสต์ยังให้เหตุผลว่า ความเท่าเทียมนั้นก็เป็นคุณสมบัติหนึ่งของศาสนาคริสต์ที่ทำให้ผู้หญิงเปลี่ยนมานับถือศาสนาคริสต์ เพราะถ้าเป็นคริสตศาสนิกชน ไม่ว่าจะเพศใดก็ตามหรืออายุเท่าไรก็ตาม สามารถเข้าร่วมพิธีกรรมได้หมด ไม่มีแบ่งแยกดังเช่นการนับถือผีแบบดั้งเดิม (รายงานภาคสนามวิชา ม.432)

ความเชื่ออื่นๆ

ในอดีต ชาวอาเคอะมีความเชื่อว่า จักรวาลนี้มีการอาศัยอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับผีต่อมาเกิดทะเลาะกัน จึงเกิดการแบ่งแยกให้ผีอยู่ตอนกลางคืนและคนอยู่ตอนกลางวัน และคนไม่สามารถมองเห็นผีได้ แต่ผีสามารถมองเห็นคนได้ ผีมีทั้งผีดีและผีร้าย จึงมีการสร้างประตูหมู่บ้านเพื่อแบ่งกั้นเขตไม่ให้ผีร้ายจากในป่าเข้ามาในหมู่บ้านได้

บ้านของชาวอาเคอะ จะมีทั้งหิ้งบูชาผีบ้านผีเรือนหรือผีบรรพบุรุษ เช่น ปู่ย่าตายาย ที่คอยคุ้มครองดูแลครอบครัวมาหลายชั่วอายุคน อยู่บริเวณเสาเอกของบ้าน บนผนังหัวนอนของเจ้าบ้าน ซึ่งก็คือผู้ชายที่มีอาวุโสที่สุดของบ้าน เป็นหิ้งไม้ไผ่ ข้างหิ้งจะแขวนตระกร้าที่เรียกว่า “กายุ” และกระบอกใส่ข้าวเรียกว่า “โอะเบาะ” ซึ่งจะบรรจุข้าวเปลือกจากพิธีข้าวใหม่และใส่ขิงเพื่อให้ผีบรรพบุรุษได้มาทานข้าวใหม่และเพื่อให้มีกินมีใช้ตลอดปี ส่วนบนหิ้งมีใบไม้ที่เป็นตัวแทนของป่า กระดูกคางหมู และไม้ที่ใช้ตีไก่ที่ทำพิธี

การนับถือบูชาผีบรรพบุรุษได้สะท้อนถึงระบบสังคมผู้ชายเป็นใหญ่และการเคารพผู้อาวุโส อย่างไรก็ตาม การนับถือผีนั้นต้องเคร่งครัดในการประกอบพิธีกรรม ไม่สามารถผิดพลาดได้ องค์ประกอบสำคัญส่วนใหญ่ในการประกอบพิธีเกี่ยวข้องโดยตรงกับเซ่นสรวงบูชาด้วยสัตว์ต่างๆ โดยในปีหนึ่งต้องมีการฆ่าสัตว์เพื่อเซ่นสังเวยผีจำนวนมาก เป็นเหตุให้บางครอบครัวที่มีฐานะทางเศรษฐกิจไม่ดี ไม่ต้องการร่วมพิธีกรรมแบบผี และหันไปหาความเชื่อหรือศาสนาอื่น

ผู้นำประกอบพิธีกรรม

ในการประกอบพิธีกรรมสำคัญตามความเชื่อเรื่องผี โดยเฉพาะพิธีเลี้ยงผีประตูบ้าน มีบุคคลสำคัญที่เป็นผู้นำในการประกอบพีกรรม เรียกว่า “จยื่อมา” โดย จยื่อมา จะมีผู้ช่วย ได้แก่ นาเหง่อ (ผู้ช่วยทำพิธีลำดับที่ 1) และ หล่าชี (ผู้ช่วยลำดับที่2) ปัจจุบันในหมู่บ้านมีผู้ช่วยทำพิธี 4 คน ผู้ที่สามารถเป็นจยื่อมาได้ต้องเป็นตระกูลเฮปู และเคยทำงานในตำแหน่งผู้ช่วยมาก่อน) การได้รับการคัดเลือกต้องได้รับความเห็นชอบของ จยื่อมา รุ่นก่อน ส่วนในกลุ่มที่ถือคริสต์ศาสนา มีศาสนาจารย์หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “สล่า” เป็นนำพิธีในโบสถ์

พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์

ชาวอาเคอะมีพื้นที่ส่วนตัวในบ้านที่ใช้ในการสังสรรค์กับครอบครัวและเครือญาติ มีการรวมกลุ่มกันที่บ้านกระซอ (ผู้ใหญ่บ้าน) เป็นครั้งคราว มีพื้นที่พิธีกรรม คือ สุสานและประตูผี โดยมี 2 ประตูอยู่ที่หน้าสุสานบนเขาหน้าหมู่บ้าน และอีกพื้นที่ คือ บนเขาหลังหมู่บ้าน เป็นพื้นที่สำหรับทำพิธีกรรมตามโอกาสต่างๆ เช่น พิธีกรรมเลี้ยงผี

ประเพณี เทศกาล และพิธีกรรม

ประเพณี เทศกาลและพิธีกรรมสำคัญในรอบปี

ประเพณีเลี้ยงผีประตูหมู่บ้าน

อาเคอะมีวิธีการนับวันลักษณะร่วมกันกับอาข่า กล่าวคือ ปีหนึ่งมี 12 เดือน และ 1 สัปดาห์ มี 12 วัน โดยใช้สัตว์ 12 ตัวเป็นชื่อเรียก ได้แก่ ไก่ หมา หมู หนู วัว เสือ ลา กระต่าย สุนัขจิ้งจอก และม้าในการทำพิธี จะมีการดูวัน เดือนที่เหมาะสม เช่น การทำพิธีเลี้ยงผีประตูหมู่บ้านจะทำในเดือนสี่ ซึ่งเป็นช่วงแห่งการเข้าสู่ฤดูกาลใหม่ และจะต้องทำในวันไก่เท่านั้น

ตามประเพณีของอาเคอะ เมื่อตั้งหมู่บ้าน จะมีการสร้างประตูหมู่บ้านขึ้น 2 ประตู ได้แก่ ประตูทางทิศตะวันออก เป็นประตูสำหรับผู้คนใช้ในการเข้าออกหมู่บ้าน และประตูทางทิศตะวันตกใช้สำหรับเคลื่อนย้ายศพไปยังป่าช้า ประตูเหล่านี้ถือเป็นสัญลักษณ์แบ่งเขตระหว่างโลกมนุษย์กับป่า ที่เชื่อว่า ปกครองด้วยภูตผี ถือเป็นเสมือนรั้วป้องกันคุ้มครองคนในชุมชน ไม่ให้สิ่งเลวร้ายติดตามคนกลับเข้ามาในเขตชุมชน บริเวณประตูหมู่บ้านจึงถือเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ที่คนในชุมชนนับถือ และห้ามบุคคลทุกเพศทุกวัยทำการล่วงละเมิด ในเดือน 4 ของทุกปี ก่อนที่จะทำการเพาะปลูกข้าว จะมีพิธีเซ่นไหว้ประตูหมู่บ้าน เรียกว่า “มีกอลอแนะ” เป็นพิธีที่คนทั้งชุมชนมีการระดมทุนในรูปแบบตัวเงินและระดมแรงกายในการจัดเตรียมของมาเซ่นสรวงผีดี ได้แก่ ผีเจ้าป่าเจ้าเขา รวมทั้งผีบรรพบุรุษ ให้มาช่วยปกป้องคุ้มครองให้คนในหมู่บ้านอยู่อย่างสงบสุข ในอดีตจะมีการสร้างประตูใหม่ขึ้นถัดจากประตูเก่าซ้อนไปเรื่อยๆ จำนวนชั้นของประตูจึงเป็นสิ่งที่บอกถึงอายุการก่อตั้งหมู่บ้านปัจจุบันมีหลายครัวเรือนเปลี่ยนแปลงไปนับถือศาสนาคริสต์และไม่ได้ร่วมในพิธี จึงไม่มีการสร้างประตูใหม่อีกต่อไป

ในเดือน 4 ของทุกปี “จยื่อมา” หรือ ผู้นำทางพิธีกรรมจะเป็นผู้กำหนดวันฤกษ์ดี (วันไก่) และประกาศวันที่จะทำพิธีไหว้ผีประตูหมู่บ้าน ซึ่งถือเป็นวันที่คนในชุมชนต้องงดเว้นการทำไร่ ทำสวน หยุดการจับปลา เก็บเห็ด หรือทุกอย่างที่อยู่ในป่า ในการทำพิธีนี้จะมีเฉพาะผู้ชายเท่านั้นที่สามารถเข้าร่วมได้ในช่วงเช้ามืดของวันทำพิธี ผู้ชายในหมู่บ้านจะช่วยกันถางหญ้า เตรียมพื้นที่สำหรับทำพิธีกรรมที่ประตูตะวันออก ช่วยกันนำไม้ไผ่มาสานเป็นคบไฟและตะแหลว นำตะแหลวไปติดที่ต้นไม้ที่ประตูตะวันตก ซึ่งเป็นทางไปสุสาน ขณะเดียวกันที่บ้านของจยื่อมา (คนปัจจุบันชื่อ ยูปอ เฮปู) จะมีการนำไก่ตัวผู้และไก่ตัวเมียมาฆ่าและนำไปทำอาหารเพื่อให้จยื่อมา และผู้ช่วยทั้งหมดได้รับประทานอาหารร่วมกัน หลังจากนั้นที่บ้าน จยื่อมา จะมีการทำนายกระดูกไก่ส่วนน่อง 2 อันมาวางคู่กัน กระดูกด้านซ้ายทำนายว่าคนในหมู่บ้านจะสามัคคีกลมเกลียวกันหรือไม่ ส่วนกระดูกด้านขวาทำนายถึงชะตาของเจ้าบ้าน ว่าจะเกิดสิ่งดีหรือสิ่งร้ายขึ้นกับตัวเอง รูบนกระดูกไก่ต้องมีสี่รู ข้างละสองรู ถึงจะเรียกได้ว่าดีที่สุด หากไม่มีรูบนกระดูกไก่ด้านขวาแสดงว่าจะมีคนปองร้ายกับครอบครัวเจ้าบ้านนี้ นอกจากนี้ รูบนกระดูกไก่ยังหมายความว่าผีได้มากินอาหารนี้แล้ว หลังจากนั้นทำนายกระดูกไก่ส่วนคาง หากมีจุดสีขาว แสดงว่าจะไม่แห้งแล้ง อุดมสมบรูณ์ตลอดปี เมื่อทำนายกระดูกไก่และทานอาหารเสร็จ จยื่อมาและผู้ช่วย จึงนำไก่อีกสองตัว (เพศผู้และเพศเมีย) ขึ้นไปที่ประตูตะวันออกเพื่อทำพิธีต่อ

ต่อมาผู้ชายที่มาร่วมพิธี จะช่วยกันนำหมู ต้องเป็นเพศเมียเท่านั้น เพราะสามารถขยายพันธุ์ต่อไปได้เปรียบเสมือนความเจริญรุ่งเรืองไปข้างหน้าโดยนำมาที่บริเวณประตูตะวันออก และช่วยกันทำแท่นวาง หรือแท่นบูชา อีกทั้งยังทำแก้วน้ำและสร้อยเงินสร้อยทองซึ่งทำจากไม้ไผ่ ในระหว่างนั้นจะจัดเตรียมอุปกรณ์ในการทำครัว ได้แก่ หม้อ เตาแก็ส ถ้วยชาม กระทะ ช้อน ตะเกียบ เครื่องปรุงต่างๆ ฯลฯ เตรียมก่อไฟและต้มน้ำรอ ประมาณ 11.00 น. จยื่อมาเดินขึ้นมาบริเวณที่จัดพิธีพร้อมถือไก่ที่ยังมีชีวิตอยู่ขึ้นมา ผู้ชายคนอื่นๆ ก็ช่วยกันจับหมูและมัดขาหมูแล้วนำมาไว้หน้าแท่นบูชา จากนั้นจยื่อมาก็ท่องบทสวดบูชาและใช้ไม้ตีหัวไก่ให้ตายอยู่บริเวณหน้าแท่นวางหรือแท่นบูชา ตามมาด้วยการลงมือฆ่าหมู โดยให้ผู้ช่วยจยื่อมาเชือดคอหมู และนำเลือดหมูใส่ชามมาวางบนแท่นบูชา ที่แท่นวางหรือโต๊ะพิธีกรรมจะประกอบด้วย จานใส่ข้าวสารและเกลือ เลือดหมูที่ได้จากการฆ่าหมู่ในพิธี และขนไก่และขนหมูที่ถูกฆ่าในพิธี เพื่อเป็นการส่งวิญญาณไก่และหมู

หลังจากนั้น ชาวบ้านจะนำตับสดของหมูมาวางหน้าแท่นบูชา เพื่อให้จยื่อมาทำนาย ผลการทำนาย พบว่า เงินทองในหมู่บ้านจะดี ทำมาค้าขายขึ้น คนในหมู่บ้านจะมีความสามัคคีดี และคนในหมู่บ้านจะอายุยืนซึ่งถือได้ว่าในปีนี้มีแต่สิ่งดี ๆ ไม่มีสิ่งร้าย เมื่อทำนายเสร็จกลุ่มผู้ชายจึงนำหมูและไก่ มาต้มให้สุกแล้วมาวางหน้าแท่นบูชาอีกครั้งและจยื่อมาจะท่องบทสวดของชาวอาเคอะ จากนั้นก็นำหมูและไก่ไปประกอบอาหาร ทุกคนที่มาร่วมพิธีนั่งล้อมวงเป็นกลุ่มๆ ตามลำดับอาวุโส และรับประทานอาหารร่วมกัน จยื่อมาและผู้ช่วยจะนั่งอยู่กลุ่มเดียวกัน ในขณะที่รับประทานอาหารไป จยื่อมาจะเอากระดูกคางไก่มาทำนายความเป็นอยู่ของชาวบ้านและสภาพ ฝน ฟ้า อากาศ หรืออื่นๆ ในตอนท้ายเมื่อรับประทานอาหารกันเสร็จแล้ว จยื่อมาจะมาสวดหน้าแท่นวางอีกครั้งและจยื่อมาทุกคนจะนำตะเกียบที่รับประทานอาหารมาทำนายด้วยการวางไขว้กันไปมา และดูตำแหน่งสุดท้ายว่าจะเป็นอย่างไร ลงท้ายพอดีหรือไม่ เมื่อทำนายเรียบร้อยจึงจบพิธี (รายงานภาคสนามวิชา ม.432)

นอกจากพิธีเลี้ยงผีประจำปีแล้ว ประตูหมู่บ้านยังเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ เมื่อคนในหมู่บ้านประสบปัญหา ก็จะมาทำพิธีขอขมา สะเดาะเคราะห์ หรือเรียกขวัญ เช่น เด็กวัยรุ่นเกิดอุบัติเหตุรถมอเตอร์ไซต์คว่ำ เมื่อทราบข่าว พ่อของเด็กก็จะมาทำพิธีไหว้ผีที่นี่ หรืออาจรอให้เด็กกลับมาถึงบ้านก่อน ถ้าเป็นผู้หญิงให้เอาไก่ตัวผู้ ถ้าเป็นผู้ชายให้เอาไก่ตัวเมียมาไหว้ โดยเตรียมต้มไข่ แกะเนื้อ ข้าวเหนียว เกลือ แล้วสวิงจับปลาไปด้วย
มีการร้องเรียกขวัญ และใช้สวิงจับขวัญให้กลับมาที่ร่าง (กะซอ และซอเอะ, 2557)

นอกจากพิธีเลี้ยงผีประตูหมู่บ้านที่กล่าวไปแล้ว ยังมีพิธีกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวกับผลผลิต การเพาะปลูก
การทำมาหากิน ได้แก่

พิธีโถะฉิงจะโลณะ - เป็นพิธีที่ทำทันทีเมื่อฟ้าร้องหรือฝนตกครั้งแรก หลังปีใหม่

พิธีโซมากุจะโลณะ – เป็นพิธีที่ทำให้พืชไร่ที่ปลูกงดงาม

พิธีแจ๊ะมีจะโลณะ – ขอขมาผีไฟเพื่อไม่ให้เผาป่า

พิธียะคาจะโลณะ – ทำพิธีก่อนวันปลูกข้าว

พิธียูชิกุนจะโลณะ – เป็นพิธีที่ทำเพื่อให้ข้าวที่ปลูกไว้เติบโตดี ไม่เหี่ยวเฉา แห้งตาย

พิธีอาเดะจะโลณะ – เป็นพิธีที่จัดขึ้นเพื่อไม่ให้เจ็บไข้ได้ป่วย สุขภาพแข็งแรง โดยการใส่ของกินของแต่ละบ้านในที่ใส่ที่เตรียมไว้เฉพาะที่ตั้งอยู่นอกหมู่บ้าน

พิธีโอลอณะ ทำพิธีเพื่อป้องกันไม่ให้หนูมากินข้าวที่ปลูกไว้ในไร่นา

พิธีหว่าลอณะ – ทำพิธีเพื่อไม่ให้หมูป่ามากินพืชที่ปลูกไว้

พิธีเฌอลาลอณะ – เป็นพิธีที่ให้คนหมู่บ้านแยกกันกินข้าว (รายงานภาคสนามวิชา ม.432)

การขึ้นปีใหม่

อาเคอะมีเทศกาลปีใหม่ 2 ครั้ง ครั้งแรกตรงกับปีใหม่สากล มีการเลี้ยงผีบรรพบุรุษในวันปีใหม่
มีการตำข้าวปุก เรียกว่า “อ่อถ่อถ่อแนะ” จัดงานฉลอง 3 วัน 3 คืน และครั้งที่ 2 ตรงกับช่วงตรุษจีน เรียกว่า “เจเลเลแนะ” หรือ ปีใหม่ไข่แดง ฉลองเพียงวันเดียว จะฆ่าไก่หรือฆ่าหมูก็ได้ เพื่อเซ่นไหว้ผีบรรพบุรุษ และต้องมีไข่ต้มทาสีแดงเซ่นไหว้ด้วย นอกจากนี้เทศกาลปีใหม่ไข่แดงยังเป็นวันสุดท้ายที่คนในชุมชนสามารถตำข้าวปุก และห้ามทำจนกว่าจะถึงวันปีใหม่อีกรอบ

จากข้อมูลภาคสนามของชุมชนอาเคอะ ห้วยน้ำขุ่น จะทำการฉลองปีใหม่ โดยมีวันเตรียมงานก่อน 1 วัน เป็นวันที่ทำการฆ่าหมูและเตรียมของเซ่นไหว้ผีบรรพบุรุษ คือ ไก่ต้ม เหล้า น้ำชา และข้าวใส่ในขันโตก กล่าวเชิญบรรพบุรุษให้มาร่วมกินด้วย รวมทั้งนิยมทำข้าวต้มมัด (ทอชิ) และขนมบัวลอย (เยเล) ขนมที่ทานแล้วให้มีความสามัคคีกลมเกลียว เพื่อให้พบความสุขในชีวิตเป็นการเริ่มต้นสิ่งใหม่ หลังจากนั้นเป็นการเลี้ยงฉลองกันเป็นเวลา 3 วัน ในวันเริ่มฉลองนั้นทุกบ้านจะเริ่มตำข้าวปุกได้ ในช่วงเช้าคนในชุมชนจะร่วมฉลองมีการร้องเพลงเต้นรำอย่างสนุกสนาน

หลังจากนั้น จยื่อมาและผู้ช่วยจะแบ่งเวียนกันไปทำพิธีสวดกล่าวเชิญบรรพบุรุษให้ครบทุกบ้านที่ยังนับถือผีบรรพบุรุษ ซึ่งมีจำนวนกว่า 30 หลังคาเรือน ขั้นตอนในการเชิญบรรพบุรุษ เริ่มต้นจากการที่เจ้าบ้านจะต้องเตรียมของไหว้ ลักษณะเป็นกระบอกผูกรวมกันมีไม้ปักยึดและใส่ข้าวสุกลงในกระบอก นอกจากนี้ยังมีน้ำ เหล้า และหยวกกล้วยดอง เมื่อผู้ทำพิธีมาถึงจะไปที่บริเวณเตาไฟสวดกล่าวเชิญบรรพบุรุษ ขอบคุณที่ดูแลมาทั้งปีและขอพรให้ดูแลในปีถัดไป เมื่อประกอบพิธีบริเวณเตาไฟแล้วเสร็จจึงมีการเลี้ยงอาหารแก่ผู้อาวุโส
ชายหญิงและญาติที่มาร่วมอวยพรให้แก่เจ้าบ้าน โดยจะต้องแยกกันระหว่างโต๊ะชายและหญิง ผู้ที่อาวุโสที่สุดจะนั่งด้านในสุดของบ้าน จากนั้นจึงเป็นผู้ที่อาวุโสรองลงมา เจ้าของบ้านจะเตรียมต้มไก่และนำไปให้โต๊ะฝ่ายชาย เพื่อให้หมอผู้ทำพิธีช่วยทำนายส่วนต่างๆ ของกระดูกไก่ว่า ปีนี้การงานและครอบครัวของเจ้าบ้านจะมีแต่เรื่องมงคลและดีตลอดปีหรือไม่ เมื่อผู้อาวุโสทานเสร็จ คนรุ่นต่อมาจึงจะทานอาหารที่เหลือ งานเลี้ยงเช่นนี้ถือเป็นโอกาสดีให้ญาติพี่น้องได้พบปะสังสรรค์กัน เสมือนการได้ทำบุญที่คนรุ่นหลังและเจ้าบ้านได้ทำอาหารเลี้ยงผู้อาวุโสในชุมชน ในส่วนครัวเรือนที่เปลี่ยนไปนับถือคริสต์ศาสนาและไม่ทำพิธีที่บ้านของตน สามารถไปเยี่ยมและทานอาหารที่บ้านของญาติพี่น้องได้

ตามประเพณีแล้ว ในวันที่สิ้นสุดวันปีใหม่ (วันที่ 4) ผู้หญิงในหมู่บ้านจะสวมชุดอาเคอะไปทำการจับปลาโดยใช้ “อีขู่” (ที่จับปลา) และทำอาหารกินกันบริเวณนั้น เป็นการฉลองเฉพาะผู้หญิง และต้องกินให้หมดเท่าที่จับมาได้ ไม่นำกลับบ้าน มีการร้องเพลงกินเหล้าสนุกสนานกัน เนื่องจากนานๆ ครั้งจะได้พบและฉลองร่วมกัน หญิงที่มีลูกก็สามารถพาเด็กไปได้ อย่างไรก็ดี หลังจากมีการเปลี่ยนเปลงในการนับถือศาสนา ส่งผลให้เกิดความแตกต่างกันในความเชื่อและการปฏิบัติพิธีกรรม การเชิญมาร่วมงานกันมักไม่ค่อยให้ความร่วมมือ จึงทำให้ประเพณีดั้งเดิมเริ่มถูกลดทอนความสำคัญลง

ประเพณี เทศกาลและพิธีกรรมที่เกี่ยวกับชีวิต

การตั้งครรภ์และคลอดบุตร

โดยทั่วไปเมื่อมีเด็กเกิดใหม่ ครอบครัวอาเคอะจะทำการเซ่นไหว้บอกกล่าวผีบรรพบุรุษด้วยไก่ 1 ตัว และผูกสายสิญจน์สีแดงเพื่อรับขวัญ ให้เด็กเติบโตอย่างแข็งแรง ไม่มีโรคภัย อีกทั้งการนำเด็กแรกเกิดไปเข้าบ้านใดก็ตาม ในครั้งแรกเจ้าของบ้านก็ต้องทำการบอกกล่าวผีของบ้านนั้นและรับขวัญเด็กด้วยข้าวและไข่ พร้อมให้พรเด็กกลับไปว่าให้เลี้ยงง่ายโตไว

การแต่งงาน และการหย่าร้าง

ในการแต่งงาน จะมีข้อห้ามแต่งงานกันระหว่างหญิงชายที่มีบรรพบุรุษในสายเดียวกันย้อนหลัง 7 รุ่นอย่างไรก็ตาม การที่ประชากรชาวอะเคอะมีจำนวนน้อย ประกอบกับในปัจจุบันมีการเปลี่ยนเป็นชื่อ-นามสกุลไทย ทำให้เด็กรุ่นหลังที่ไปเรียนและทำงานนอกชุมชน บางส่วนไม่รับรู้และไม่สามารถจดจำชื่อบรรพบุรุษของสายตระกูลได้ บางคู่หากชอบพอกันแล้ว เมื่อกลับมาทำพิธีแต่งงานและญาติผู้ใหญ่ไล่สายตระกูลย้อนไป 7 รุ่นพบว่ามีชื่อซ้ำกัน ก็จะต้องทำพิธีแก้ โดยการเซ่นไหว้ผีบรรพบุรุษด้วยวัวหรือควายเพื่อเป็นการขอขมา จากเดิมจะใช้เพียงไก่ในการขอขมาเท่านั้น เมื่อแต่งงานแล้วผู้หญิงต้องย้ายไปอยู่กับผู้ชาย หากบ้านใดมีลูกเพียงคนเดียวและเป็นลูกสาวจะมีการตกลงกันให้มีการสร้างบ้านใหม่ในพื้นที่บ้านเดียวกันของฝ่ายหญิง หากมีการเลิกรากันจะต้องมีการเลี้ยงผีบรรพบุรุษเพื่อเป็นการขอขมาเช่นกัน

ความตาย และการทำศพ

ในการประกอบพิธีศพของชาวอาเคอะนั้น จะมีการฆ่าสัตว์เลี้ยง คือ สุนัขของผู้ตาย เนื่องจากชาวอาเคอะมีความเชื่อว่า สุนัขจะเป็นสิ่งที่นำทางดวงวิญญาณของผู้ตายให้รอดพ้นจากสิ่งกีดขวางหรืออันตรายนอกจากนี้ในงานศพ ยังสะท้อนฐานะทางสังคมของผู้เสียชีวิตผ่านอาหาร ผู้ตายที่มีฐานะก็สามารถล้มควายเพื่อนำมาเลี้ยงแขกที่มางานได้ หากมีฐานะปานกลางก็จะฆ่าหมูหรือไก่มาเลี้ยงแขก ในพิธีจะฆ่าสุนัขก่อนฆ่าไก่และหมู ในขณะเดียวกัน ชาวอะเคอะยังมีความเชื่อว่า ในงานศพจะมีวิญญาณมารับคนตาย ดังนั้น ก่อนการรับประทานอาหารทุกอย่างจะต้องให้ผีก่อนโดยการคีบอาหารทิ้งลงพื้น

คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ .(2557). รายงานการลงพื้นที่ภาคสนามของนักศึกษาวิชา ม.432 ภาคเรียนที่ 2/2557

เครือข่ายชาติพันธุ์เมืองเชียงราย. (2562). วันนี้ขอแนะนำกลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มใหม่. (ออนไลน์) สืบค้น 15 สิงหาคม 2563, เข้าถึงได้จาก https://www.facebook.com/ChaingraiEthnicNetwork/posts/521315815080497.

ศตวรรษ สถิตย์เพียรศิริ และ จันทบูรณ์ สุทธิ. (2532). วัน เดือน ปี อีก้อ. ใน จันทบูรณ์ สุทธิ,สมเกียริ จำลอง,นิพัทธเวช สืบแสง,ศตวรรษ สถิย์เพียรศิริ,ทวิช จตุวรพฤกษ์. วันเดือนปี ชาวเขา เล่มที่1 กะเหรี่ยงโปว์ ขมุ เย้า ลัวะและอีก้อ. จัดพิมพ์ที่ระลึกในวโรกาส ฉลองสิริราชสมบัติครบ 50ปี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ,สถาบันวิจัยชาวเขากรมประชาสงเคราะห์กระทรวงแรงงานและสังคม เอกสารวิชาการลำดับที่ สวข. 00-39-09

ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยน้ำขุ่น.(ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 15 สิงหาคม 2563., เข้าถึงได้จากhttp://royalprojectthailand.com/huainamkhun

อภิวัฒน์ ก๊อคือ. (มปป.). “แหล่งอ้างอิง”. (ออนไลน์)สืบค้นเมื่อ 15 สิงหาคม 2563, เข้าถึงได้จาก https://www.facebook.com/ photo?fbid=2528654050543920&set=pcb.2528669457209046.

อ้าเค้ออ่าข่า.(ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 15 สิงหาคม 2563, เข้าถึงได้จาก http://akha.hilltribe.org/thai/a-kerv-history.php)

Aphiwat Kokhue. (2019). สืบค้นเมื่อ 15 สิงหาคม 2563, เข้าถึงได้จากhttps://www.facebook.com/aphiwatkokhue.aphiwat/posts/2528669457209046.

Joshua Project. (n.d.a). Akeu in Thailand. Retrieved August 15, 2020 from https://joshuaproject.net/people_groups/18899/TH.

Joshua Project. (n.d.b). The Akeu People Group Is Reported in 4 Countries”. Retrieved August 15, 2020 from https://joshuaproject.net/people_groups/18899.

Niemi, Kaisa. (2014). Changing Minds, Changing Hats Construction and Expression of Akeu Ethnic Identity in Thailand and Myanmar. University of Oulu, Master’s Thesis.

Niemi, Kaisa. (2014). Changing Minds, Changing Hats Construction and Expression of Akeu Ethnic Identity in Thailand and Myanmar. University of Oulu, Master’s Thesis. Retrieved August 15, 2020 from https://pdfs.semanticscholar.org/759e/250d8e0ad6024e8e192434ed9f971cf2bdfa.pdf.

นายกะซอ อาเค๊อะ, เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2557 และวันที่ 1-4 มกราคม 2558, บ้านห้วยน้ำขุน ตำบลท่าก๊อ อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย, สมรักษ์ ชัยสิงห์กานานนท์ ผู้สัมภาษณ์

นางซอเอะ อาเค๊อะ, เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2557 และวันที่ 1-4 มกราคม 2558, บ้านห้วยน้ำขุน ตำบลท่าก๊อ อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย, สมรักษ์ ชัยสิงห์กานานนท์ ผู้สัมภาษณ์

นายพงศกร เฮมู, เมื่อวันที่ 1-2 มกราคม 2558, บ้านห้วยน้ำขุน ตำบลท่าก๊อ อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย, สมรักษ์ ชัยสิงห์กานานนท์ ผู้สัมภาษณ์

นางลลิตา, เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2557 และวันที่ 1-4 มกราคม 2558, บ้านห้วยน้ำขุน ตำบลท่าก๊อ อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย, สมรักษ์ ชัยสิงห์กานานนท์ ผู้สัมภาษณ์

นายอภิวัฒน์ ก๊อคือ, เมื่อวันที่ 2-4 มกราคม 2558, บ้านห้วยน้ำขุน ตำบลท่าก๊อ อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย, สมรักษ์ ชัยสิงห์กานานนท์ ผู้สัมภาษณ์

นายอภิวัฒน์ ก๊อคือ, เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2563. สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์, ประสิทธิ์ ลีปรีชา ผู้สัมภาษณ์


close
ลืมรหัสผ่าน?
กรุณากรอกอีเมลที่ท่านสมัครสมาชิกไว้เพื่อรับรหัสผ่านใหม่
ระบบจัดส่งการสร้างรหัสผ่านใหม่ให้ท่านทางอีเมลเรียบร้อยแล้ว
นโยบายความเป็นส่วนตัว