2023-06-13 18:23:48
ผู้เข้าชม : 1086

บีซู มีถิ่นฐานดั้งเดิมอยู่บริเวณแคว้นสิบสองปันนา พื้นที่ตอนใต้ของประเทศจีน เมื่ออพยพเข้ามาในประเทศไทยได้ตั้งถิ่นฐานในจังหวัดเชียงราย ในประเทศไทยมีประชากรชาวบีซูค่อนข้างน้อย ทำให้คนกลุ่มนี้ถูกจัดอยู่ในกลุ่มเปราะบางที่มีความเสี่ยงต่อการสูญหายของอัตลักษณ์วัฒนธรรม อย่างไรก็ตาม ชาวบีซูยังคงมีความพยายามในการธำรงรักษาอัตลักษณ์ด้านภาษา และวิถีการบริโภคแบบดั้งเดิม คือ ลาบพริก อาหารที่มีการสืบทอดมาตั้งแต่บรรพบุรุษที่สะท้อนภูมิปัญญาในการปรุงอาหารในกระบอกไม้ไผ่เพื่อป้องกันส่วนผสมกระเด็น

  • ข้อมูลพื้นฐาน
  • ประวัติศาสตร์
  • การตั้งถิ่นฐานและกระจายตัว
  • วิถีชีวิตและวัฒนธรรม
  • งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
  • อ้างอิง

ชื่อกลุ่มชาติพันธุ์ : บีซู
ชื่อเรียกตนเอง : บีซู
ชื่อที่ผู้อื่นเรียก : ละว้า, ลัวะ, คนดอย
ตระกูลภาษา : จีน-ธิเบต
ตระกูลภาษาย่อย : ทิเบต-พม่า
ภาษาพูด : บีซู
ภาษาเขียน : ไม่มีตัวอักษรที่ใช้เขียน

กลุ่มชาติพันธุ์บีซู มีชื่อเรียกตนเองอย่างเป็นทางการว่า “บีซู” หมายถึง เรา ขณะเดียวกันอาจออกเสียงได้หลายรูปแบบทั้ง “บี่สู” หรือ “บีสู่”ในพงศาวดารจีน ระบุว่า บีซู เป็นชื่อเรียกเก่าแก่ที่มีอายุประมาณสามพันปีขณะที่ในประเทศไทยนั้น คนทั่วไปมักเรียกว่า “ละว้า” หรือ “ลัวะ” ขณะที่หน่วยงานราชการได้บันทึกข้อมูลของชาวบีซูว่า เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ลัวะ เนื่องจากต้นตระกูลของพวกเขานามสกุลวงศ์ละ ส่งผลให้เกิดความเข้าใจผิดว่าเป็นกลุ่มเดียวกับลัวะ อย่างไรก็ตาม เมื่อนักภาษาศาสตร์มีหลักฐานยืนยันเกี่ยวกับความเป็นกลุ่มชาติพันธุ์บีซูที่ชัดเจนแล้วนั้น จึงควรใช้ชื่อเรียกพวกเขาในชื่อ “บีซู”

หลักฐานจากพงศาวดารจีน พ.ศ. 2344 ระบุว่า ถิ่นฐานดั้งเดิมของชาวบีซูอยู่ทางตอนใต้ของประเทศจีน ซึ่งปัจจุบันคือ แคว้นสิบสองปันนาสันนิษฐานว่า การอพยพของชาวบีซูมาสู่ประเทศไทยนั้นอาจเกิดจากภัยสงครามและความอดอยาก ส่วนการเคลื่อนย้ายของชาวบีซูจากต้นทางมายังประเทศไทยยังไม่ปรากฎหลักฐานที่แน่ชัด อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาจากการใช้หลักฐานทางภาษาศาสตร์มาเทียบเคียงพบว่า ในประเทศจีนมีชาวบีซู ประมาณหกพันคนในมณฑลยูนนาน ซึ่งมักถูกคนอื่นเรียกว่า “Laopin” “Pin” และ “Laomian” ชนกลุ่มนี้ถูกรวมอยู่ในกลุ่มลาหู่ แต่นักวิชาการที่ได้ทำงานศึกษาระบุว่า กลุ่มคนเหล่านี้ คือ ชาวบีซู กระจายตัวอยู่ในพม่า ลาวและเวียดนามในส่วนของประเทศไทยนั้น จากข้อมูลการสำรวจเมื่อ พ.ศ. 2530 พบว่า ชาวบีซูอาศัยอยู่พื้นที่สี่ชุมชนของจังหวัดเชียงราย ปัจจุบัน พบว่า คงเหลือเพียงสามชุมชนเท่านั้นที่ยังคงมีชาวบีซูอาศัยอยู่คือ 1) บ้านดอนชมภู ในอำเภอแม่ลาว2) บ้านผาแดง ในอำเภอพาน และ3) บ้านปุยคำ ในอำเภอเมือง

ชาวบีซูในประเทศไทยมีจำนวนประชากรค่อนข้างน้อย ประกอบกับการแต่งงานข้ามกลุ่มชาติพันธุ์ ทำให้เกิดการผสมกลมกลืนกับคนท้องถิ่น แต่ทว่า ชาวบีซูยังมีความพยายามในการธำรงรักษาอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ไว้โดยเฉพาะอัตลักษณ์ด้านภาษา ซึ่งอยู่ในภาวะวิกฤติใกล้สูญหาย นอกจากนี้ชาวบีซูยังได้หยิบยกเอาอาหารท้องถิ่น คือ ลาบพริกซึ่งเป็นวิถีวัฒนธรรมที่สืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ สื่อให้เห็นถึงความเรียบง่ายของอาหารการกิน ความโดดเด่นของเมนูอาหารชนิดนี้ เป็นการสับส่วนผสมในกระบอกไม้ไผ่ สะท้อนให้เห็นภูมิปัญญาที่ได้รับการรสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นเกี่ยวกับการปรุงอาหารในกระบอกไม้ไผ่ที่ช่วยป้องกันส่วนผสมกระเด็น

เจมส์ มาติซอฟ (James Matisoff) นักภาษาศาสตร์ชาวอเมริกัน ระบุว่า คำว่า “บีซู” เป็นคำโบราณที่มีอายุถึง 3,000 พันกว่าปี จากหลักฐานที่ได้จากพงศาวดารจีน พ.ศ. 2344 บ่งชี้ว่า ชาวบีซูมีภูมิลำเนาเดิมอยู่ที่ประเทศจีนตอนใต้ บริเวณแคว้นสิบสองปันนาในปัจจุบันส่วนสาเหตุที่อพยพลงมาอยู่บริเวณภาคเหนือของประเทศไทย สันนิษฐานว่าอาจเกิดจากภัยสงครามและปัญหาความอดอยาก (ศูนย์ศึกษาและฟื้นฟูภาษาและวัฒนธรรมในภาวะวิกฤต) หลักฐานแรกที่กล่าวถึงชาวบีซูในประเทศไทย ปรากฎในบันทึกของวิศวกรชาวอังกฤษที่สร้างทางรถไฟจากเชียงรายไปคุนหมิง ซึ่งบันทึกไว้ว่า ผู้หญิงคนบีซูนั้นสวยที่สุดในสยาม เพราะมีจมูกโด่ง นอกจากนี้ในบันทึกยังทำให้สามารถสันนิษฐานได้ว่า คนบีซูตั้งถิ่นฐานอยู่ที่จังหวัดเชียงรายมายาวนานกว่า 200 ปี (พันแสงรุ้ง, 2555)

ปัจจุบันในประเทศจีนมีประชากรชาวบีซู ประมาณ 6,000 คน กระจายตัวอยู่ที่ Menghai County, Lancang, Menglian และ Ximeng ในมณฑลยูนนานของจีน ซึ่งมักถูกคนอื่นเรียกว่า “Laopin” “Pin” และ “Laomian” เมื่อรัฐบาลจีนทำการจำแนกกลุ่มคนเป็นชนชาติต่าง ๆ ในช่วงทศวรรษ 1950 กลุ่มคนเหล่านี้ถูกจัดรวมในกลุ่มลาหู่ เพราะอาศัยอยู่บริเวณเดียวกันและแต่งตัวคล้ายคลึงกัน ต่อมาในปี 1991 ศาสตราจารย์ Li Yongsui ได้ระบุว่า คนเหล่านี้เป็นบีซู (Person, 2002)

นอกจากมีคนบีซูอาศัยที่มณฑลยูนนานของจีน และทางภาคเหนือของไทยแล้ว เคิร์ก เพอร์สัน ยังพบคนที่พูดภาษาใกล้เคียงกับบีซูกระจายตัวอยู่ในพม่า แต่ถูกเรียกว่า Pin, Pyin, Pyen ซึ่งมีความหมายว่า เปลี่ยน เนื่องจากมีตำนานเล่าว่า พวกเขาเคยต้องเปลี่ยนชุดแต่งกายตามประเพณีไปใส่ชุดปลังเพื่อหลบหนีจากการถูกจับไปเป็นทาส ในลาวก็มีกลุ่มที่ถูกเรียกว่า Phu Noi ส่วนในเวียดามชนกลุ่มนี้ถูกเรียกว่า Coong (Person, 2002)

ในประเทศไทย มีชุมชนชาวบีซูในจังหวัดเชียงราย จำนวนสามชุมชนหลัก ได้แก่

หนึ่ง หมู่บ้านบีซูดอยชมภู หมู่ที่ 7 ตำบลโป่งแพร่ อำเภอแม่ลาว จังหวัดเชียงราย ชาวบีซูเรียกหมู่บ้านของตัวเองว่า "บ้านห้วยจุ๋มปู่ค่อง" โดยอาศัยอยู่รวมกันกับกลุ่มชาติพันธุ์อื่น มีชาวบีซู 48 ครัวเรือน จากทั้งหมด 53 ครัวเรือน ประชากรประมาณ 200 คน (พิบูลย์ชัย สวัสดิสกุลไพร และคณะ, ม.ป.ป.: 1) สอง หมู่บ้านบีซูผาแดง เดิมนั้นเป็นหมู่บ้านขนาดใหญ่ของชาวบีซู ปัจจุบันเป็นบ้านบริวารของหมู่บ้านผาจ้อ หมู่ที่ 10 ตำบลสันกลาง อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย มีชาวบีซู 9 ครัวเรือน จากทั้งหมด 80 ครัวเรือน สาม หมู่บ้านปุยคำ หมู่ที่ 14 ตำบล ป่าอ้อดอนชัย อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย เดิมเป็นชาวบีซูทั้งหมด ปัจจุบันมีประชากรบีซูประมาณ 200 คน (พิบูลย์ชัย สวัสดิสกุลไพร และคณะ, ม.ป.ป.: 1)แต่ปัจจุบันมีกลุ่มชาติพันธุ์อื่นเข้ามาอาศัยร่วมด้วย ชุมชนนี้ยังไม่สามารถระบุจำนวนของชาวบีซูได้ (ชนเผ่าพื้นเมืองบีซู,มปป.)

ขณะที่ชุติมา มอเลกู่ และคัมภีร์ คณะ (2562) ให้ข้อมูลว่า ชาวบีซูในประเทศไทย เป็นชนเผ่าพื้นเมืองที่มีจำนวนประชากรประมาณ 1,000 คน อาศัยอยู่ในพื้นที่3 ชุมชนในพื้นที่จังหวัดเชียงราย (2562: 37) ขณะทีสุวิไล เปรมศรีรัตน์ และคณะ (2547) ใช้เครื่องมือแผนที่ทางภาษาในการสำรวจกลุ่มชาติพันธุ์ที่พูดภาษาบีซู พบว่า มีจำนวน 500 คน

การดำรงชีพ

ชาวบีซูที่ดอยชมภูส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ปลูกข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง ข้าวเหนียวและอื่นๆ มีเพียงส่วนน้อยที่ออกไปทำงานนอกหมู่บ้าน พื้นที่หมู่บ้านของบีซูดอยชมภู ถูกกำหนดให้เป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติ มีการกันพื้นที่ส่วนหนึ่งเป็นป่าชุมชน จากวิถีชีวิตที่รักและผูกพันกับป่า จึงมีกฎของหมุ่บ้านที่ห้ามบุคคลจากหมู่บ้านอื่นทำลายป่า ส่วนคนบีซูสามารถเข้าไปเก็บของป่าได้ส่วนพื้นที่ทำกินของคนบีซู จะไม่ขายให้กับคนนอกกลุ่ม แต่จะรักษาไว้ให้ลูกหลานได้ทำกินสืบทอดในครัวเรือนต่อไป

ระบบความเชื่อ ประเพณี และพิธีกรรม

ศาสนาและความเชื่อ

ศาสนา

ชาวบีซูนับถือพุทธศาสนาควบคู่กับความเชื่อเรื่องการถือผี ผู้ชายได้ผ่านการบวชเรียนและอ่านเขียนหนังสือได้ ในชุมชนยังคงมีการบูชาผีบรรพบุรุษและผีประจำหมู่บ้าน (เสื้อบ้าน) ที่เรียกในภาษาบีซูว่า “อังจาว” อันถือว่าเป็นอัตลักษณ์สำคัญของชุมชนบีซู ชาวบีซูนับถือศาสนาพุทธและมีความผูกพันแน่นแฟ้นกับวัดและพระสงฆ์ มีความเคร่งครัดในการปฏิบัติศาสนกิจตามขนบประเพณีดั้งเดิม บิดามารดานิยมให้บุตรหลานที่เป็นชายบวชเรียน ถ้าเป็นผู้ใหญ่จะบวชให้พ่อแม่ ถ้าเป็นเด็กจะบวชเพื่อเรียนหนังสือ ในวันสำคัญทางพุทธศาสนาจะมีการทำบุญในหมู่บ้านเช่นเดียวกันคนไทยทางเหนือ

ความเชื่ออื่นๆ

ชาวบีซูนับถือผีไปพร้อมกับนับถือศาสนาพุทธ โดย เชื่อว่า มีทั้งผีหมู่บ้าน ผีในป่า ผีในถ้ำ ผีในทุ่งนา และผีบรรพบุรุษ บีซูเรียกผีที่ดูแลหมู่บ้านหรือเสื้อบ้านว่า “อังจาว” ซึ่งมีผู้ช่วยชื่อ “ม้า” (maa) หมายถึง ม้า มีหน้าที่ดูแลผีม้าที่เป็นหัวหน้าของม้า ซึ่งชาวบ้านบีซูจะให้ความเคารพนับถืออังจาวเป็นอย่างมาก เพราะเชื่อว่า เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ช่วยคุ้มครองหมู่บ้านของตนให้ปลอดจากอันตราย ดังนั้น คนบีซูจึงมีประเพณีที่สำคัญ คือ ประเพณีไหว้หอเสื้อบ้านที่เรียกกันว่า “อังจาวไว” โดยมีบุคคลสำคัญที่เป็นผู้ประกอบพิธีกรรมในหมู่บ้าน เรียกว่า “ปู่ตั้ง”

อีกทั้งมีการสร้างประตูไม้ไว้ทั้ง 4 ทิศของหมู่บ้าน เพื่อป้องกันการถูกรบกวนจากภูตผีปีศาจ เรียกในภาษาบีซูว่า “สะมาลาแกน” ในอดีตชุมชนของคนบีซูยังมีไม่มีการกระจายตัวหนาแน่น คนที่ปลูกบ้านจึงมักปลูกในประตูไม้ทั้ง 4 ทิศของหมู่บ้าน แต่ในปัจจุบัน ชาวบีซูมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นในขณะที่พื้นที่ในการตั้งถิ่นฐานมีจำนวนจำกัด ทำให้บ้านครัวเรือนต้องปลูกบ้านนอกเขตประตู แต่ยังคงรักษาพื้นที่บริเวณประตูเอาไว้ และมีพิธีทำความสะอาด และปรับปรุงประตูทุกเดือน 8 ของปี

ผู้นำพิธี/ผู้ประกอบพิธี

ผู้ประกอบพิธีกรรมในหมู่บ้าน เรียกว่า “ปู่ตั้ง” บุคคลที่ถูกเลือกให้เป็นปู่ตั้งจะต้องเป็นคนที่น่าเชื่อถือ และต้องเป็นคนบีซูเท่านั้น การคัดเลือกจะใช้วิธีการเสี่ยงทาย กล่าวคือ ชาวบ้านจะเสนอชื่อคนในหมู่บ้านบีซู จำนวนประมาณ 3-4 คน จากนั้นจะทำการเสี่ยงทายเก็บเมล็ดข้าวให้ปู่ตั้งเป็นคนเสี่ยงทายถามอังจาวว่าชื่นชอบอยู่กับบุคคลใด ถ้าชอบต้องเก็บเมล็ดข้าวให้ได้ 4 คู่เท่านั้น ถ้าได้ชื่อใคร บุคคลนั้นจะต้องยอมรับเป็นปู่ตั้งคนใหม่ ปัจจุบันในหมู่บ้านดอยชมภูมีปู่ตั้ง จำนวน 3 คน คือ ปู่ตั้งใหญ่ และปู่ตั้งผู้ช่วย จำนวน 2 คน

บทบาทหน้าที่ของปู่ตั้งใหญ่ จะเป็นผู้ดูแลสถานที่หอเสื้อบ้านใหญ่และหอเสื้อบ้านน้อย ที่ต้องเปลี่ยนน้ำเปลี่ยนแจกันดอกไม้ และถวายผลไม้ทุกวันพระ เมื่อถึงช่วงเข้าพรรษา ในทุกวันพระ ปู่ตั้งจะต้องเชิญอังจาวไปที่หอในวัด ช่วงเช้าชาวบ้านจะเอาข้าว อาหาร ขนม ผลไม้ และกรวยดอกไม้ไปใส่ในตระกร้าของอังจาว แล้วปู่ตั้งก็จะเอาของที่ชาวบ้านใส่ในตระกร้าไว้ไปถวายให้อังจาว ในช่วงค่ำจะเชิญอังจาวกลับมาที่หิ้งในบ้านทำเช่นนี้ตลอดระยะเวลาสามเดือนในช่วงเข้าพรรษา ส่วนปู่ตั้งผู้ช่วยจะทำหน้าที่ช่วยทำพิธีที่ประตูบ้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ (บูชาด้วยไก่) และประตูทิศตะวันออกเฉียงใต้ (บูชาด้วยสุนัข)

การทำนายและโหราศาสตร์

เมื่อชาวบีซูมีอาการเจ็บป่วย ที่ไม่สามารถระบุสาเหตุการเจ็บป่วยและไม่สามารถรักษาให้หายได้ด้วยการรักษาจากการแพทย์สมัยใหม่ ญาติของคนป่วยจะไปหาพ่อหมอ ให้ทำการเสี่ยงทายด้วยวาไม้ โดยจะทำกรวยดอกไม้ธูปเทียนแล้วเอาไปเหน็บไว้ที่บ้านพ่อหมอ ขอให้พ่อหมอเสียงทายให้ จากนั้นญาติจะต้องไปตัดไม้ในป่ามาให้มีความยาวพอดีกับวงแขนที่กางออกของพ่อหมอ เพื่อทำเป็นไม้เสี่ยงทาย พ่อหมอจะสื่อสารกับผีเพื่อถามว่าถูกผีทำให้เจ็บป่วยใช่หรือไม่ ถ้าถูกผีทำให้เจ็บป่วย ไม้ที่เสี่ยงทายจะยาวออกเกินวาของพ่อหมอ ถ้าผีทำให้คนไม่สบายทิศใด ไม้ที่เสี่ยงทายก็จะยาวออกทางทิศนั้น หลังจากเสี่ยงทายแล้ว พ่อหมอจะถามว่า จะเลี้ยงผีด้วยอาหารอะไร โดยพูดชื่ออาหารแต่ละอย่าง เมื่อตรงกับอาหารที่ผีอยากกิน ไม้ที่เสี่ยงทายก็จะยาวออก หากเป็นชื่ออาหารที่ผีไม่ชอบกิน ไม้ที่เสี่ยงทายจะยาวเท่าเดิม เมื่อได้รายการอาหารแล้ว จะต้องถามวันเวลาที่จะเลี้ยง เมื่อเสี่ยงทายถามวันเวลาได้แล้ว พ่อหมอจะได้บอกกล่าววิญญาณว่าตั้งแต่วันนี้ เป็นต้นไป ขอให้หายจากการเจ็บไข้ได้ป่วย จากนั้นก็เอากรวยดอกไม้ธูปเทียนไปเสียบไว้นอกบ้าน

เมื่อถึงวันที่ไปเลี้ยงผี ญาติผู้ป่วยจะสานตะแหลวและจัดเตรียมของเรียกขวัญ ได้แก่ ดอกไม้ ธูปเทียน หมาก เมี่ยง ใบพลู กล้วย อ้อย ข้าว อาหาร ด้ายผูกข้อมือ ผ้าแดง ผ้าขาว ฝ้าย และขันตั้ง ในวันเลี้ยงผี พ่อหมอจะไปที่บ้านของคนป่วย เพื่อบอกกล่าวและพาไปพื้นที่จุดที่เสี่ยงทายได้ เมื่อไปถึงในป่า พ่อหมอจะทำการปักตะเหลว บอกกล่าวผีและเริ่มทำพิธี เมื่อทำการเลี้ยงเสร็จ พ่อหมอจะทำการเสี่ยงทายด้วยการวาไม้ ถามวันนี้ได้รับอาหารที่เลี้ยงและกินอิ่มหรือยัง ถ้ายังกินไม่อิ่มไม้ที่เสี่ยงทายก็จะยาวพอดีกับวาของพ่อหมอ หากผีกินอิ่มแล้ว ไม้ที่เสี่ยงทายก็จะยาวออก เมื่อทำพิธีเลี้ยงแล้วเสร็จ พ่อหมอและคนที่ไปช่วยงานก็ได้กินอาหาร จากนั้นพ่อหมอจะเรียกขวัญคนป่วยโดยการจุดฝ้ายเพื่อเรียกขวัญคนป่วยกลับมาบ้าน เมื่อมาถึงบ้านคนป่วยก็จะมานั่งรอ พ่อหมอก็ถามคนที่นั่งรอว่า ขวัญของคนป่วยมาถึงหรือยัง แล้วคนที่นั่งรอก็จะได้ตอบว่า มาถึงเมื่อกี้แล้ว พ่อหมอก็ได้เรียกขวัญผูกข้อมือให้กับคนป่วย

ประเพณี เทศกาล และพิธีกรรม

ประเพณี เทศกาลและพิธีกรรมสำคัญในรอบปี

ประเพณีเซ่นไหว้บรรพชน

บ้านของชาวบีซูจะมีหิ้งผี แต่ละบ้านจะไหว้เฉพาะผีสายตระกูลที่ตนเองนับถือ เรียกว่า “อังบาอังตาอังแด” ในอดีตการไหว้ผีในบ้าน แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ

1) ผีบรรพบุรุษหรือผีพ่อแม่ปู่ย่า จะตั้งหิ้งบริเวณเขตของที่นอน หิ้งผีประจำบ้านถือเป็นที่ศักดิ์สิทธิ์ ในอดีตจะมีการแบ่งพื้นที่นอนและพื้นที่บ้านด้วยการใช้ไม้กั้น ห้ามคนภายนอกที่ไม่ใช่คนในบ้าน
ข้ามเขตเข้าไปในบริเวณที่นอน หากข้ามไปจะถือว่าผิดผี แม้จะนับถือผีข้างพ่อ แต่เมื่อญาติฝ่ายผีแม่เสียชีวิตและมีลูกสาวที่เปลี่ยนไปถือผีฝ่ายพ่อแล้วก็ต้องตามให้มาร่วมงานไหว้ผีด้วยเช่นกัน

2) การไหว้ผียุมแปง (เตาไฟ) ในอดีต ลักษณะบ้านบีซูเป็นบ้านหลังใหญ่ มีเตาไฟอยู่ในเรือน บริเวณนี้มีการตั้งหิ้งยุมแปงเป็นที่ศักสิทธิ์ของแต่ละครัวเรือน เป็นของที่รักษาคนในเรือนหลังนั้นหากทำผิด หรือเป็นเป็นที่ถูกใจผีที่รักษาบ้านหลังนั้น ผีอาจลงโทษคนในบ้าน จึงมีการไหว้หิ้งยุมแปงในเดือน 8 ของทุกปี และจะทำการไหว้ยุมแปงทุกครั้งที่มีคนในบ้านเจ็บป่วย ปัจจุบันเมื่อมีการใช้ก๊าซหุงต้มเข้ามาแทนที่ทำให้เตาไฟกลางบ้านหายไป อย่างไรก็ตาม ยังมีชาวบีซูส่วนหนึ่งที่ยังคงนับถือยุมแปงดั้งเดิม แม้จะไม่มีตั้งหิ้ง แต่มีการไหว้บอกกล่าวต่อยุมแปงในส่วนพื้นที่เตาไฟหรือพื้นที่ประกอบอาหาร

ประเพณีไหว้หอเสื้อบ้าน หรือ พิธีอังจาวไว

พิธีอังจาวไว ถือเป็นพิธีกรรมสำคัญที่บีซูบ้านดอยชมภูยังคงมีการยึดถือและปฏิบัติสืบต่อกันมาจนกระทั่งปัจจุบัน โดยปกติพิธีนี้จะจัดขึ้นปีละสามครั้ง คือ เดือน 4 เดือน 8 และเดือน 12 ของบีซู โดยจะมีการถวายไก่ สุราขาว ข้าวต้มมัด ผลไม้ และของหวาน

การไหว้อังจาวแต่ละครั้ง “ปู่ตั้ง” จะเป็นคนดำเนินการจัดเรียงลำดับว่า ใครเป็นเจ้าภาพหรือเป็นผู้นำไก่ไปรวมกัน เพื่อจะนำไปไหว้อังจาว จากนั้นปู่ตั้งจะแจ้งให้ผู้ใหญ่บ้านประชาสัมพันธ์ให้ชาวบ้านรับรู้ว่าใครเป็นเจ้าภาพนำไก่ไปถวาย จากนั้นปู่ตั้งจะเป็นคนกำหนดวัน เวลา และประชาสัมพันธ์ให้ชาวบ้านรับรู้ทั่วถึงกัน ในวันไหว้อังจาว ชาวบ้านจะหยุดทำงานกันทุกครัวเรือน ในช่วงเช้าชาวบ้านจะนำกรวยดอกไม้ (ส่วนใหญ่จะเป็นดอกไม้ขาว) ธูปเทียน พริกหนุ่ม พริกแห้ง กระเทียม หอมแดง ขิงข่า ตะไคร้ เกลือ และผลไม้ต่างๆ ไปถวายหอเสื้อบ้าน การประกอบพิธีในแต่ละเดือน มีขั้นตอนดังต่อไปนี้

พิธีอังจาวไวในเดือน 4 จะมีผู้นำไก่ไปถวายจำนวน 5 คน คนละ 1 ตัว และมีอีกคนหนึ่งที่จะนำสุราขาว 1 ขวดไปถวาย เมื่อถึงบริเวณหอเสื้อบ้าน ปู่ตั้งจะบอกกล่าวก่อน หลังจากนั้นทำการฆ่าไก่เพื่อนำไปต้มไก่ที่ถวายจะต้องทำเครื่องหมายโดยการเอาตอกมัดไก่ไว้ให้มีความสมบูรณ์ทั้งตัว แม้แต่หนังไก่ก็ไม่ให้หลุดออกมา เครื่องปรุงทุกอย่าง เช่น พริก ตะไคร้ข่า ต้องหั่น ขิง กระเทียม หอมแดง จะไม่ใช้ครกตก แต่ต้องทุบใส่ ก่อนที่จะถวายไก่ต้มจะต้องนำผลไม้ ข้าวต้มมัด ของหวาน ถวายก่อนเป็นอันดับแรก เมื่อไก่ต้มสุกแล้ว จะยกผลไม้ ข้าวต้มมัด และของหวาน ออกมาแจกจ่ายให้ชาวบ้านรับประทาน

การไหว้อังจาวในเดือน 8 (ระหว่างเดือนพฤษภาคม - เดือนมิถุนายน) มีขั้นตอนเช่นเดียวกันกับการไหว้อังจาวในเดือน 4 แต่มีความแตกต่างกันตรงที่ในเดือน 8 จะมีการไหว้อังจาวสองพื้นที่พื้นที่แรก บริเวณหอเสื้อบ้าน จะมีผู้ไปไหว้ 10 คน เก้าคนนำไก่คนละ 1 ตัว และอีกคนนำสุราขาวไปถวาย 1 ขวด และพื้นที่ที่สอง บริเวณ “อุ่ม” หรือที่ประตูบ้านทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ปู่ตั้งอุ่มจะขอแบ่งไก่จากปู่ตั้งจำนวน 4 ตัว และให้ชาวบ้านประมาณ 3-4 คน มาช่วยกันทำอาหารหรือต้มไก่ 4 ตัว เมื่อทำอาหารหรือต้มไก่สุกแล้วก็จะยกไก่ต้มถวายพร้อมกับจุดธูปเทียน ปู่ตั้งอุ่มจะเป็นคนบอกกล่าวให้มารับของเซ่นไหว้ หลังจากที่ธูปเทียนไหม้จนหมด ปู่ตั้งก็จะบอกกล่าวขออาหารเซ่นไหว้ เพื่อเอากลับไปที่บ้านปู่ตั้งอุ่ม เพื่อแบ่งกันทานถือเป็นเสร็จพิธีกรรม

การไหว้อังจาวในเดือน 12 (ระหว่างเดือนตุลาคม - พฤศจิกายน) มีขั้นตอนเช่นเดียวกันกับการไหว้ในเดือน 4 มีผู้นำไก่ไปถวาย 5 ตัว และสุราขาว 1 ขวด พิธีสำคัญนี้ทุกครอบครัวจะมีส่วนร่วมโดยมีการกำหนดให้ตัวแทนชาวบ้านที่ได้รับมอบหมายในแต่ละครั้งนำไก่มาร่วมในพิธี ตำแหน่งหน้าที่นี้จะหมุนเวียนกันไปตามหมวดจนครบทุกคนในหมู่บ้าน ในอดีตพิธีนี้จะมีทั้งผู้ใหญ่และเด็กเข้าร่วมพิธี แต่ปัจจุบัน มีเพียงผู้ใหญ่บางคนเท่านั้นที่เข้าร่วม เพราะผู้ใหญ่หลายคนต้องออกไปทำงานในเมือง ส่วนเด็กต้องเข้าสู่ระบบการศึกษา

นอกจากการไหว้อังจาวปีละ 3 ครั้งแล้ว เมื่อคนบีซูท้องลูกคนแรกจะต้องทำการถวายหอเสื้อบ้าน ก่อนวันถวายหอเสื้อบ้าน 1 วัน คนในบ้านจะต้องไปตัดไม้อ้อ เอามาตัดเป็นท่อนตามปล้อง ตามจำนวนครัวเรือนที่มีอยู่ในหมู่บ้าน จำนวนครัวเรือนละ 2 ปล้อง ปล้องแรกบรรจุทรายจนเต็ม และปล้องที่ 2 ใส่น้ำให้เต็ม เมื่อถึงช่วงเวลากลางคืนประมาณ 20.00 - 21.00 น. จะเอาปล้องที่ใส่ทรายออกมาโปรยใส่ที่หน้าบ้าน และเอาปล้องที่ใส่น้ำไปเทที่หน้าบ้านทุกครัวเรือน หลังจากโปรยทรายและเทน้ำเสร็จจะบีบปล้องไม้อ้อจนแตกทิ้งไว้หน้าบ้านของทุกครัวเรือน

วันรุ่งขึ้น จะมีการถวายหอเสื้อบ้าน ด้วยการเตรียมหมู 1 ตัว พร้อมเครื่องปรุง ผลไม้ ขนมของหวาน ข้าวต้มมัด ไปที่หอเสื้อบ้านใหญ่ ปู่ตั้งจะบอกกล่าวกับอังจาวว่า วันนี้เป็นวันดีมีหมูมาถวายให้คนที่ท้องนั้นมีความสุขมีลูกก็ขอให้ลูกคลอดออกมาครบ 32 ประการ ขอให้ได้เลี้ยงเด็กง่าย ๆ มีความสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง ตอนคลอดก็ขอให้คลอดลูกออกมามีความปลอดภัย จากนั้นก็ทำการฆ่าหมู ช่วยกันชำแหละ แล้วนำเนื้อหมูไปลาบและแกง ก่อนที่จะถวายแกงหมูและลาบหมูจะต้องนำผลไม้ ข้าวต้มมัด ของหวานถวายเป็นอันดับแรกแกงหมูสุก และลาบหมูเสร็จแล้วจึงนำไปถวาย และยกผลไม้ ข้าวต้มมัด และของหวานให้ชาวบ้านรับประทาน

ประเพณี เทศกาลและพิธีกรรมที่เกี่ยวกับชีวิต

การแต่งงาน และการหย่าร้าง

บีซูสืบทอดผีตามสายตระกูลฝ่ายพ่อ หากถือสายตระกูลเดียวกันจะไม่สามารถแต่งงานกันได้ ต้องมีการทำพิธีกรรมย้ายตระกูลเพื่อแก้เคล็ด เมื่อแต่งงานกันแล้ว ฝ่ายหญิงจะต้องเปลี่ยนมาถือสายตระกูลของฝ่ายชาย และจะต้องบอกกล่าวขอกับผีสายตระกูลฝ่ายหญิงก่อน ว่าขอให้ฝ่ายหญิงไปถือสายตระกูลของสามี หากผู้หญิงแต่งงานกับคนนอกที่ไม่ใช่ชาวบีซู ผู้หญิงยังคงเป็นสมาชิกในสายตระกูลเดิมของตน (Person, 2000: 19) ในอดีตบีซูมีข้อห้ามไม่ให้ลูกหลานแต่งงานกับคนนอก จากนั้นเมื่อ 30 ปีที่ผ่านมาและในช่วง 10 ปีหลัง ทุกชุมชนของชาวบีซูมีการแต่งงานกับคนภายนอกกลุ่มมากขึ้น ถ้าพ่อแม่ยังมีชีวิตอยู่ ลูกจะถือผีตามพ่อแม่ โดยพ่อแม่เป็นคนทำพิธี เมื่อพ่อแม่เสียชีวิต หากมีลูกชายหลายคน แต่ละคนต้องแยกกันถือผีของบ้านตนเอง แต่เป็นการถือผีในตระกูลเดียวกัน ส่วนใหญ่การทำพิธีไหว้ผีสายตระกูลนั้นจะทำเมื่อมีคนในบ้านเจ็บป่วย (พิบูลย์ชัย สวัสดิ์สกุลไพร และดวงแสง เจษฏาไกรศรี,สัมภาษณ์)

ในอดีต ก่อนพิธีแต่งงาน เจ้าบ่าวจะต้องไปทำงานใช้แรงงานและอยู่ที่บ้านพ่อแม่เจ้าสาวเป็นเวลา
1 – 3 ปี ระหว่างนี้เจ้าบ่าวและเจ้าสาวสามารถมีเพศสัมพันธ์กันได้ ดังนั้น ในพิธีแต่งงานจึงเป็นเรื่องปกติที่คู่บ่าวสาวจะมีลูก 1 – 2 คน ในช่วงนี้ครอบครัวเจ้าสาวยังมีสิทธิ์ปฏิเสธเจ้าบ่าว ขณะที่เจ้าบ่าวก็มีสิทธิ์ยกเลิกพันธะสัญญาได้เช่นกัน เมื่อเจ้าบ่าวสิ้นสุดการทำงานให้พ่อแม่เจ้าสาว จะกำหนดวันแต่งงาน ในวันนั้นญาติจะมารวมกันที่บ้านเจ้าบ่าวเจ้าสาว ที่ห้องนอนเจ้าบ่าวจะตั้งเสาไม้ไผ่มีเส้นฝ้ายผูกโยงเสาไม้ไผ่กับจุดต่างๆ ในห้องนอนและรอบบ้าน เพื่อนและสมาชิกครอบครัวจะเรียงแถวเข้าไปในห้องเพื่อรินน้ำลงในอ่างที่หน้าเสาไม้ไผ่ จากนั้นเจ้าบ่าวและคณะจะไปบ้านเจ้าสาว โดยมีหัวหน้าหมู่บ้านนำขบวน การประกอบพิธีจะทำในห้องเจ้าสาว โดยผู้อาวุโสจะให้คำแนะนำสั่งสอนคู่บ่าวสาว จากนั้นหนึ่งในผู้อาวุโสที่เป็นชายจะป้อนข้าวเหนียวแก่เจ้าบ่าวเจ้าสาว และให้ดื่มน้ำจากแก้วน้ำเดียวกัน จากนั้นผู้อาวุโสคนอื่นจึงให้พรบ่าวสาว เมื่อสิ้นสุดพิธีที่บ้านเจ้าสาว ขบวนบ่าวสาวก็พากันไปบ้านเจ้าบ่าว พร้อมทั้งแห่สิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็นในครัวเรือนของเจ้าสาวไปยังบ้านใหม่ (Person, 2000: 20 - 22) ปัจจุบันชาวบีซูได้เปลี่ยนไปทำพิธีแต่งงานแบบคนเมืองทั่วไป

ความตาย และการทำศพ

ในอดีตเมื่อมีคนเสียชีวิตในชุมชน จะไม่ให้เด็กและผู้หญิงออกจากบ้าน ผู้ทำหน้าที่จัดพิธีศพจะเป็นผู้ชาย การฝีงศพจะใช้การฝังศพเป็นหลัก เชื่อว่าจะต้องฝังศพผู้ตายภายใน 24 ชั่วโมง การเลือกสถานทำพิธีเสี่ยงทายจากไข่ ถ้าโยนไข่ หรือไข่หลุดมือแล้วแตกบริเวณใดจะทำพิธีฝังศพตำแหน่งนั้น หากโยนไข่แล้วไข่ไม่แตกต้องหาพื้นที่สำหรับการฝังใหม่ พิธีการเสี่ยงทายด้วยไข่มีชื่อเรียกตามภาษาบีซูว่า “ยา-อู-จัน” ผู้ทำพิธีนั้นไม่จำเป็นต้องเป็นหมอผี แต่ต้องเป็นผู้ที่รู้และเข้าใจพิธี อาจเป็นผู้สูงอายุลักษณะเดียวกับสัปเหร่อ โดยจะเรียกว่าผู้นำทาง ในภาษาบีซู เรียกว่า แก-บา-หนำ-ฮู ปัจจุบัน เมื่อมีคนเสียชีวิตจะใช้การเผาศพและมีการประกอบพิธีกรรมตามแบบคนพื้นเมือง

ชุติมา มอแลกู่ และคณะ. (2562). เครื่องแต่งกายกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย. เชียงใหม่: เครือข่ายสื่อชนเผ่าพื้นเมือง ร่วมกับสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย. เชียงใหม่. ร่วมเจริญปริ้น

นิเวศน์สื่อพื้นบ้านสู่นวัตกรรมสื่อดิจิทัลออนไลน์ : กลุ่มชาติพันธุ์บีซู. (2565). ออนไลน์. เข้าถึงเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2565 เข้าถึงได้จาก https://www.north-thai-ethnic-folkmedia.org

ประกาศกระทรวงวัฒนธรรม เรื่อง ขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๕๗ (ณ วันที่ 5 กันยายน 2557)

พันแสงรุ้ง. (2555). การฟื้นฟูภาษาบีซู 1.เข้าถึงได้จาก: (วันที่ค้นข้อมูล: 1 เมษายน 2557).

พันแสงรุ้ง. (2555). การฟื้นฟูภาษาบีซู 2.เข้าถึงได้จาก: http://www.youtube.com/watch?v=bxvAEdIAC_4. (วันที่ค้นข้อมูล: 1 เมษายน 2557).

พันแสงรุ้ง. (2555). วิถีบีซูที่ดอยชมภู. เข้าถึงได้จาก: (วันที่ค้นข้อมูล: 1 เมษายน 2557).

พิบูลย์ชัย สวัสดิสกุลไพร และคณะ. (2558). “บีซู อางเกิ่งอางกอ เฮล่นยา” (แหล่งเรียนรู้ของเก่าชาวบีซู) บ้านดอยชมพู ตำบลโป่งแพร่ อำเภอแม่ลาว จังหวัดเชียงราย. กรุงเทพฯ: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย.

มูลนิธิชนเผ่าพื้นเมืองเพื่อการศึกษาและสิ่งแวดล้อม. (ม.ป.ป.). “บีซู” ในเอกสารแผ่นพับของโครงการพัฒนาระบบฐานข้อมูลเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย. เชียงใหม่: มูลนิธิชนเผ่าพื้นเมืองเพื่อการศึกษาและสิ่งแวดล้อม

สาขาสารสนเทศ มหาวิทยาลัยพระเยา. (2555). ภาษาบีซู. เข้าถึงได้จาก: www.youtube.com/watch?v=9c3J3uV5FbA. (วันที่ค้นข้อมูล: 1 เมษายน 2557)

สุริยา รัตนกุล. (2537). นานาภาษาในเอเชียอาคเนย์ ภาค 1 ภาษาตระกูลออสโตรเอเชียติก และ ตระกูลจีนทิเบต.พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ:สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบท มหาวิทยาลัยมหิดล

สุวิไล เปรมศรีรัตน์ และคณะ. (2547). แผนที่ภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในประเทศไทย. กรุงเทพฯ : สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ.กรุงเทพมหานคร

Ji Hongli. (2005). A studuy of language use and language attitudes among Bisu in China and Thailand. Master thesis, Payap University.

Person, Kirk R. (1998). The kinship system of the Bisu of Chiang Rai. Payap University technical paper no. 40. Chiang Mai, Thailand: Payap University Research and Development Institute.

Person, Kirk R. (2000). Sentence Final Particles in Bisu Narrative. PhD dissertation, The faculty of the Graduate school of the University of Texas at Arlington.

Person, Kirk R. (2002). Preserving the Bisu language: progress to date and future directions. Chiang Mai, Payap Research and Development Institute.

นายอุ่นเรือน วงค์ภักดี, อายุ 58 ปี พ่อหลวงบ้านดอยชมภู, เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2557 และ 21 กันยายน 2558

นายดวงแสง เจษฎาไกรศรี, อายุ 60 ปี อดีตพ่อหลวงบ้านดอยชมภู, เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2557 และ 21 กันยายน 2558

นายพิบูลย์ชัย สวัสดิ์สกุลไพร, อายุ 46 ปี ,เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2557 และ 21 กันยายน 2558

นายผัด ปุยคำ, อายุ 64 ปี, บีซูบ้านดอยปุย เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2557

นางชนาภา ติคำ, เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2558

นายทอน ต๊ะจันทร์, เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2558

นายคำมา วงศ์ลัวะ, เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2558


close
ลืมรหัสผ่าน?
กรุณากรอกอีเมลที่ท่านสมัครสมาชิกไว้เพื่อรับรหัสผ่านใหม่
ระบบจัดส่งการสร้างรหัสผ่านใหม่ให้ท่านทางอีเมลเรียบร้อยแล้ว
นโยบายความเป็นส่วนตัว