กลุ่มชาติพันธุ์ : บีซู

  • ชื่อกลุ่มชาติพันธุ์ : บีซู
  • ชื่อเรียกตนเอง : บีซู
  • ชื่อที่ผู้อื่นเรียก : ละว้า, ลัวะ
  • ภาษาที่ใช้พูดและเขียน : ภาษาบีซู จัดอยู่ในภาษาโลโลใต้ สาขาย่อยของตระกูลภาษาทิเบโต-เบอร์มา (Tibeto-Burman)
  • มิติทางประวัติศาสตร์ที่มีผลต่อการเรียกชื่อกลุ่มชาติพันธุ์ :

              มีการเล่าขานสืบต่อกันมาจากบรรพบุรุษบีซูที่ดอยชมภู จ.เชียงรายว่า นามสกุลเดิมคือ วงศ์ละ ซึ่งเป็นชื่อของผู้นำชุมชนสมัยก่อน ชื่อกะกุละ แต่ในสมัยที่กรมประชาสงเคราะห์มาสำรวจกลุ่มชาติพันธุ์ คนภายนอกเรียกปนกัน ระหว่างวงศ์ละ กับวงศ์ลัวะ ทำให้คนภายนอกเข้าใจผิดว่าคนบีซูเป็นกลุ่มเดียวกับคนลัวะ หรือคนดอย คนบีซูจำยอมให้ทางราชการเรียกว่า ละว้า หรือ ลัวะ จนกระทั่ง ผศ.ดร. เคิร์ก เพอร์สัน (Kirk R. Person) ผู้อำนวยการฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สถาบันภาษาศาสตร์ภาคฤดูร้อน (Summer Institute of Linguistics – SIL) ได้เข้ามาทำการวิจัยเรื่องภาษาในหมู่บ้าน และได้พาคนบีซูในเชียงรายไปพบคนบีซูในประเทศจีน ก็พบว่าภาษาของคนบีซูในเชียงรายและในจีนเป็นภาษาเดียวกัน ยิ่งเป็นข้อยืนยันได้ว่า คนบีซูในเชียงรายเป็นกลุ่มชาติพันธุ์บีซู ไม่ได้เป็นกลุ่มลัวะ ภาษาจึงถือเป็นสิ่งที่แสดงออกถึงความเป็นเอกลักษณ์ที่เด่นชัดของบีซู ในปี พ.ศ.2548 คนบีซูได้ไปร่วมกับเครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย เดินรอบตัวเมืองเชียงใหม่ เพื่อให้สังคมรับรู้ว่ามีบีซูอยู่ในประเทศไทย ทำให้มีคนรู้จักบีซูมากขึ้น และคนบีซูก็มีความมั่นใจมากขึ้น กล้าบอกใคร ๆว่าตนเองคือ บีซู มีวัฒนธรรม และภาษาของตนเอง

    ชื่อเรียกกลุ่มชาติพันธุ์ 

              “บีซู” หรือ “บี่สู” หรือ “บีสู่” เป็นชื่อที่กลุ่มชาติพันธุ์เรียกตัวเอง ถิ่นฐานดั้งเดิมของบีซูอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศจีน บริเวณสิบสองปันนา  

             “ลัวะ” หรือ “ละว้า” เป็นคำเรียกของคนพื้นเมืองทั่วไป

              “ลัวะ”  เป็นคำเรียกของหน่วยงานราชการ 

  • อื่น ๆ :

              ภาษาบีซูจัดอยู่ในตระกูลภาษาทิเบต-พม่า (Tibeto – Burmese family) ซึ่งตามหลักภาษาศาสตร์เรียกภาษากลุ่มนี้ว่า ภาษาโลโลใต้ (Southern Loloish) ภาษาบีซูเป็นภาษาที่เพิ่งมีนักภาษาศาสตร์ค้นพบเมื่อไม่นานมานี้ กล่าวคือ นักวิจัยชาวญี่ปุ่นชื่อ ทัตสุโอะ นิชิดะ และเดวิด แบรดลีย์ ได้รายงานเรื่องภาษานี้ไว้ในบทความที่เขียนเป็นภาษาญี่ปุ่นเมื่อปี ค.ศ.1966 ต่อมาบทความนี้ได้แปลเป็นภาษาอังกฤษ ในปี ค.ศ.1973 ทำให้ภาษาบีซูเป็นที่รู้จักมากขึ้นวงวิชาการ ต่อมาในปี ค.ศ.1977 ได้มีโครงการวิจัยเรื่องแผนที่ภาษาในประเทศไทย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในโครงการวิจัยภาษาไทยและภาษาพื้นเมืองถิ่นต่าง ๆ ของทบวงมหาวิทยาลัย ได้ระบุว่าภาษาบีซูใช้พูดกันอยู่ 3 แห่ง คือ ในจังหวัดเชียงราย 2 แห่ง และที่จังหวัดลำปางอีก 1 แห่ง (สุริยา รัตนกุล 2543)

              ความรู้เรื่องภาษาบีซูมีเพิ่มมากขึ้นเมื่อ เดวิด แบรดลี่ย์ นักภาษาศาสตร์ชาวอเมริกันผู้ให้ความสนใจภาษาโลโลใต้เป็นพิเศษ ได้เขียนบทความเรื่อง “Nasality in Bisu and Bisoid” ในปี ค.ศ.1983 และบทความอื่น ๆ เกี่ยวกับภาษาบีซู เดวิด แบรดลี่ย์ ระบุว่าในช่วงทศวรรษ 1970 เขาพบคนที่พูดภาษาบีซูหลายคนในหมู่บ้านคนไทยภาคเหนือที่ท่าก๊อ (Takaw) แต่คนเหล่านี้ไม่ได้พูดภาษาบีซูในหมู่บ้าน โดยหญิงสูงวัยคนหนึ่งเล่าว่าได้เปลี่ยนมาพูดภาษาไทยภาคเหนือนานแล้วจนอายที่จะพูดภาษาบีซู และคนที่ท่าก๊อก็ไม่เคยติดต่อกับบีซูที่อื่น ๆ เลย (Person 2002: 2) ต่อมาในปี ค.ศ.1987  วัชรี น่วมแก้ว ได้เขียนวิทยานิพนธ์เรื่อง “the Phonology of the Bisu Language as Spoken in Chiangrai Province” ระบุว่าได้พบว่ามีผู้พูดภาษาบีซูอยู่ใน 4 หมู่บ้านคือ บ้านดอยชมภู อำเภอเมือง หมู่บ้านลัวะบีซู อำเภอเวียงชัย หมู่บ้านดอยปุย อ. เมือง และหมู่บ้านผาแดง ต. ดอยงาม อ. พาน  จ.เชียงราย (สุริยา รัตนกุล 2543)   อย่างไรก็ตาม ความรู้ในเรื่องภาษาบีซูยังกระจุกตัวอยู่เฉพาะในวงวิชาการกลุ่มเล็ก ๆ เท่านั้น 

     

              เนื่องจากภาษาบีซูเป็นภาษาพูด ไม่มีระบบการเขียนและตัวอักษร เมื่อสภาพสังคมเปลี่ยนและคนบีซูเริ่มแต่งงานกับคนภายนอกกลุ่มมากขึ้น ทำให้คนรุ่นใหม่ในหมู่บ้านพูดภาษาบีซูได้น้อยลง นิยมพูดภาษาไทยภาคเหนือ (คำเมือง) และภาษาไทยภาคกลางมากขึ้น จนคนบีซูรุ่นผู้ใหญ่เริ่มกังวล และต้องการให้ภาครัฐและนักวิชาการช่วยเหลือในการอนุรักษ์ภาษาบีซู สถาบันภาษาศาสตร์ SIL จึงได้ทำโครงการวิจัย "การฟื้นฟูภาษาและภูมิปัญญาเพื่อพัฒนาการศึกษาและกลุ่มชาติพันธุ์" และได้พัฒนาระบบการเขียนภาษาบีซูโดยใช้อักษรไทยขึ้นในปี 2539 เพื่อใช้บันทึกนิทาน ทำพจนานุกรมภาพภาษาบีซู-ไทย-อังกฤษ เพื่อเป็นแบบเรียนใช้สอนในศูนย์เด็กเล็กของชุมชน (Person 2000)

  • เอกสารอ้างอิง :

    เนื้อหาโดย ดร.สมรักษ์ ชัยสิงห์กานานนท์  นักวิชาการ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

    เอกสารอ้างอิง

              เครือข่ายสื่อชนเผ่าพื้นเมือง ร่วมกับสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย. 2562. เครื่องแต่งกายกลุมชาติพันธุ์ในประเทศไทย. เชียงใหม่. ร่วมเจริญปริ้น 

              ชนเผ่าพื้นเมืองบีซู. แผนพับ. มปป. โครงการพัฒนาระบบฐานข้อมูลเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของชนเผ่าพื้นเมือง. มูลนิธิชนเผ่าพื้นเมืองเพื่อการศึกษาและสิ่งแวดล้อม. เชียงใหม่  

              ประกาศกระทรวงวัฒนธรรม เรื่อง ขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๕๗ (ณ วันที่ 5 กันยายน 2557)

              สาขาสารสนเทศ มหาวิทยาลัยพระเยา. (2555). ภาษาบีซู. เข้าถึงได้จาก: www.youtube.com/watch?v=9c3J3uV5FbA. (วันที่ค้นข้อมูล: 1 เมษายน 2557)

              พันแสงรุ้ง. (2555).วิถีบีซูที่ดอยชมภู. เข้าถึงได้จาก: http://www.youtube.com/watch?v=sFu3rOHM7eE. (วันที่ค้นข้อมูล: 1 เมษายน 2557).

              พันแสงรุ้ง. (2555).การฟื้นฟูภาษาบีซู 1.เข้าถึงได้จาก: http://www.youtube.com/watch?v=CtZExKqSq5U. (วันที่ค้นข้อมูล: 1 เมษายน 2557).

              พันแสงรุ้ง. (2555).การฟื้นฟูภาษาบีซู 2.เข้าถึงได้จาก: http://www.youtube.com/watch?v=bxvAEdIAC_4. (วันที่ค้นข้อมูล: 1 เมษายน 2557).

              สุริยา รัตนกุล. นานาภาษาในเอเชียอาคเนย์ ภาค 1 ภาษาตระกูลออสโตรเอเชียติก และ ตระกูลจีนทิเบต.พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ:สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบท มหาวิทยาลัยมหิดล, 2537      

              สุวิไล เปรมศรีรัตน์ และคณะ. (2547). แผนที่ภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในประเทศไทย. กรุงเทพฯ : สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ.กรุงเทพมหานคร

              Ji Hongli. (2005). A studuy of language use and language attitudes among Bisu in China and Thailand. Master thesis, Payap University.

              Person, Kirk R. (1998). The kinship system of the Bisu of Chiang Rai. Payap University technical paper no. 40. Chiang Mai, Thailand: Payap University Research and Development Institute.

              Person, Kirk R. (2000). Sentence Final Particles in Bisu Narrative. PhD dissertation, The faculty of the Graduate school of the University of Texas at Arlington.

              Person, Kirk R. (2002). Preserving the Bisu language: progress to date and future directions. Chiang Mai, Payap Research and Development Institute.

    สัมภาษณ์

              นายอุ่นเรือน วงค์ภักดี อายุ 58 ปี พ่อหลวงบ้านดอยชมภู เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2557 และ 21 กันยายน 2558

              นายดวงแสง เจษฎาไกรศรี อายุ 60 ปี อดีตพ่อหลวงบ้านดอยชมภู เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2557 และ 21 กันยายน 2558

             นายพิบูลย์ชัย สวัสดิ์สกุลไพร อายุ 46 ปี เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2557 และ 21 กันยายน 2558

              นายผัด ปุยคำ อายุ 64 ปี บีซูบ้านดอยปุย เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2557

              นางชนาภา ติคำ เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2558

              นายทอน ต๊ะจันทร์ เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2558

              นายคำมา วงศ์ลัวะ เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2558

     

ชุดข้อมูล : แผนที่ภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในประเทศไทย

ที่มา:

สุวิไล เปรมศรีรัตน์ และคณะ. (2547). แผนที่ภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในประเทศไทย. กรุงเทพฯ : สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ


  • ประวัติ/ที่มาของกลุ่มชาติพันธุ์บีซู :

             ดร.เจมส์ มาติซอฟ (James Matisoff) นักภาษาศาสตร์ชาวอเมริกัน พบว่าคำว่า “บีซู” เป็นคำโบราณที่มีอายุถึง 3,000 พันกว่าปีมาแล้ว จากหลักฐานที่ได้จากพงศาวดารจีน ปี พ.ศ.2344 พอจะบอกได้ว่า คนบีซูมีภูมิลำเนาเดิมอยู่ที่ประเทศจีนตอนใต้ คือ แถวสิบสองปันนาในปัจจุบัน ซึ่งสันนิษฐานสาเหตุที่อพยพลงมาอยู่บริเวณภาคเหนือของประเทศไทย อาจจะเป็นเพราะภัยสงครามและปัญหาความอดอยาก (www.langrevival.mahidol.ac.th)  หลักฐานแรกที่กล่าวถึงคนบีซูในประเทศไทยคือ บันทึกของวิศวกรชาวอังกฤษคนหนึ่งที่สร้างทางรถไฟจากเชียงรายไปคุนหมิง ซึ่งบันทึกไว้ว่าผู้หญิงคนบีซูนั้นสวยที่สุดในสยาม เพราะมีจมูกโด่ง และยังกล่าวถึงที่มาที่ไปของคนบีซูไว้พอสังเขป จากบันทึกนี้ทำให้สามารถสันนิษฐานได้ว่า มีคนบีซูอยู่ที่เชียงรายมา กว่า 200 ปีแล้ว (สัมภาษณ์ เคิร์ก เพอร์สัน, ใน พันแสงรุ้ง 2555)

             ในปัจจุบันมีคนบีซูประมาณ 6000 คน อยู่ที่ Menghai County, Lancang, Menglian และ Ximeng ในมณฑลยูนนานของจีน ซึ่งมักถูกคนอื่นเรียกว่า “Laopin” “Pin” และ “Laomian” เมื่อรัฐบาลจีนทำการจำแนกกลุ่มคนเป็นชนชาติต่าง ๆ ในช่วงทศวรรษ 1950 คนเหล่านี้ถูกจัดรวมในกลุ่มลาหู่ เพราะอาศัยอยู่บริเวณเดียวกันและแต่งตัวคล้ายกัน จวบจนกระทั่งต่อมาในปี 1991 ศาสตราจารย์ Li Yongsui ได้ระบุว่าคนเหล่านี้เป็นบีซู (Person 2002)

              นอกจากมีคนบีซูอาศัยที่มณฑลยูนนานของจีน และทางภาคเหนือของไทยแล้ว ดร.เคิร์ก เพอร์สัน ยังพบคนที่พูดภาษาใกล้เคียงกับบีซูกระจายตัวอยู่ในพม่า แต่ถูกเรียกว่า Pin, Pyin, Pyen (ซึ่งมีความหมายว่า เปลี่ยน เนื่องจากมีตำนานเล่าว่าพวกเขาเคยต้องเปลี่ยนชุดแต่งกายตามประเพณีไปใส่ชุดปลังเพื่อหลบหนีจากการถูกจับไปเป็นทาส) ในลาวก็มีกลุ่มที่ถูกเรียกว่า Phu Noi และในเวียดนามมีกลุ่มที่ถูกเรียกว่า Coong อีกจำนวนหนึ่งด้วย (Person 2002)

              ในประเทศไทย  มีชุมชนชาวบีซูหลักอยู่จำนวนสามชุมชนได้แก่  หนึ่ง หมู่บ้านบีซูดอยมภู  หมู่ที่ 7  ต.โป่งแพร่ อ. แม่ลาว จ. เชียงราย ชาวบีซูนี้เรียกหมู่บ้านของตัวเองว่า " บ้านห้วยจุ๋มปู่ค่อง"  โดยอยู่ร่วมกับกลุ่มชาติพันธุ์อื่น  มีชาวบีซู 48 ครัวเรือน  จากทั้งหมด 53 ครัวเรือน   สอง หมู่บ้านบีซูผาแดง  แต่เดิมนั้นเป็นหมู่บ้นขนาดใหญ่ของชาวบีซู  แต่ปัจจุบันเป็นบ้านบริวารของหมู่บ้านผาจ้อ หมู่ที่ 10 ต. สันกลาง อ.พาน จ. เชียงราย   มีชาวบีซู 9 ครัวเรือน จากทั้งหมด 80 ครัวเรือน   สาม หมู่บ้านปุยคำ หมู่ที่ 14 ต. ป่าอ้อดอนชัย  อ. เมือง จ. เชียงราย  เดิมเป็นชาวบีซูทั้งหมด  แต่ปัจจุบันมีชนพื้นเมือง แลุกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ  เข้ามาอาศัยร่วมด้วย ชุมชนนี้ยังไม่สามารถระบุจำนวนของชาวบีซูได้ (ชนเผ่าพื้นเมืองบีซู .แผนพับ.มปป.)

              ในส่วนของจำนวนประชากรนั้น ไม่ได้มีการสำรวจอย่างเป็นทางการมากนัก เนื่องจากมีการแต่งงานข้ามกลุ่มชาติพันธุ์เพิ่มมากขึ้น หากแต่มีการประมาณการจำนวนประชากรไว้พอสังเขปว่า ชุมชนบีซูที่จังหวัดเชียงราย คือบ้านปุยคำ ตำบลป่าอ้อดอยคำ อำเภอเมือง มีประชากรบีซูประมาณ 200 คน และที่บ้านดอยชมพู ตำบลโป่งแพร่ อำเภอแม่ลาว ประชากรประมาณ 200 คนเช่นกัน  (พิบูลย์ชัย สวัสดิสกุลไพร และคณะ, ม.ป.ป.: 1)  ขณะที่ชุติมา มอเลกู่ และคณะ (2562) ให้ข้อมูลว่า ชาวบีซูในประเทศไทย เป็นชนเผ่าพื้นเมืองที่มีจำนวนประชากรประมาณ 1,000 คน  ใน 3 ชุมชนในพื้นที่จังหวัดเชียงราย  (2562: 37)  ขณะที่  สุวิไล เปรมศรีรัตน์ และคณะ. (2547).  ใช้เครื่องมือแผนที่ทางภาษาในการสำรวจกลุ่มชาติพันธุืที่พูดภาษาบีซู พบว่ามีจำนวน 500  คน  

  • วิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์บีซู :

              บีซูที่ดอยชมภูส่วนใหญ่ทำเกษตรกรรม ปลูกข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง ข้าวเหนียวและอื่นๆ มีส่วนน้อยที่ออกไปทำงานนอกหมู่บ้าน พื้นที่หมู่บ้านของบีซูดอยชมภู เป็นเขตป่าสงวน มีการกันพื้นที่ส่วนหนึ่งเป็นป่าชุมชน คนบีซูรักป่า และมีกฎห้ามคนหมู่บ้านอื่นทำลายป่า คนบีซูสามารถเข้าไปเก็บของป่าได้ เก็บเห็ดได้ พื้นที่ทำกินของคนบีซู จะไม่ขายให้คนนอกกลุ่ม แต่จะให้ลูกหลานทำกินสืบทอดกันไปในครัวเรือน ในการปกครองชุมชน มีพ่อหลวงดูแล เมื่อเกิดการทะเลาะวิวาทกัน พ่อหลวงเป็นผู้ตักเตือนหรือลงโทษ โดยการปรับเงินเข้าหมู่บ้าน 400-500 บาท มีการตั้งกฎเกณฑ์ข้อตกลงในชุมชน เพื่อไม่ให้เกิดความวุ่นวาย เช่น ผู้ใดยิงปืนยามวิกาล จะถูกปรับนัดละ 500 บาท และส่วนใหญ่คนในชุมชนจะฟังกัน (สัมภาษณ์นายอุ่นเรือน วงศ์ภักดี)

              ด้านศาสนาก็ได้รับนับถือพุทธศาสนาควบคู่กับความเชื่อเรื่องการถือผี ผู้ชายได้ผ่านการบวชเรียนและอ่านเขียนหนังสือได้ ในชุมชนยังคงมีการบูชาผีบรรพบุรุษและผีประจำหมู่บ้าน (เสื้อบ้าน) ที่เรียกในภาษาบีซูว่า “อังจาว” อันถือว่าเป็นอัตลักษณ์สำคัญของชุมชนบีซู 

  • ครอบครัวและระบบเครือญาติของกลุ่มชาติพันธุ์บีซู :

              บีซูตั้งถิ่นฐานตามสายตระกูลข้างพ่อและมีการนับถือผีตามสายตระกูล ในภาษาบีซูเรียกสายตระกูลว่า “อังเจอ” ซึ่งมีความหมายว่า เชือก หรือสาย ในไทยพบว่า มี 5 สายตระกูล คือ สะลาเจอ (ตระกูลเสือ) คงกุกเจอ (ตระกูลนกฮูก) ลางชัมเจอ (ตระกูลนาก) เซินกันทะเจอ (ซึ่งบีซูเองก็ไม่รู้ว่าหมายถึงอะไร) และ ตงเจอลิตเจอ (เป็นชื่อนกชนิดหนึ่ง แต่ปัจจุบันไม่มีคนสืบสายตระกูลนี้แล้ว)  ตระกูลเสือเป็นตระกูลที่ใหญ่ที่สุด นอกจากนั้นยังแบ่งที่นาตามสายตระกูลด้วย (Person 2000:  19) อย่างไรก็ตาม สายตระกูลไม่ได้มีบทบาทในการกำหนดหน้าที่หรือสืบทอดการปกครองหมู่บ้าน 

  • การแต่งงานของกลุ่มชาติพันธุ์บีซู :

              บีซูสืบทอดผีตามสายตระกูลข้างพ่อ หากถือสายตระกูลเดียวกันจะแต่งงานกันไม่ได้ ต้องมีการทำพิธีกรรมย้ายตระกูลเพื่อแก้เคล็ด เมื่อแต่งงานกันแล้ว ฝ่ายหญิงจะต้องเปลี่ยนมาถือสายตระกูลของฝ่ายชาย และจะต้องบอกกล่าวขอกับผีสายตระกูลฝ่ายหญิงก่อน ว่าขอให้ฝ่ายหญิงไปถือสายตระกูลของสามี แต่หากผู้หญิงแต่งงานกับคนที่ไม่ใช่บีซู ผู้หญิงยังคงเป็นสมาชิกในสายตระกูลเดิมของตน (Person 2000: 19) ในอดีตบีซูมีการห้ามไม่ให้ลูกหลานแต่งงานกับคนนอกที่ไม่ใช่บีซู แต่เมื่อ 30 ปีที่ผ่านมาโดยเฉพาะในช่วง 10 ปีหลัง การแต่งงานกับคนภายนอกกลุ่มมีมากขึ้นในทุกชุมชน ถ้าพ่อแม่ยังอยู่ ลูกก็จะถือผีตามพ่อแม่ โดยพ่อแม่เป็นคนทำพิธี เมื่อพ่อแม่ตาย หากมีลูกชายหลายคน แต่ละคนต้องแยกกันถือผีของบ้านตนเองแต่เป็นการถือผีในตระกูลเดียวกัน ส่วนใหญ่การทำพิธีไหว้ผีสายตระกูลนั้นจะทำเมื่อมีคนในบ้านเจ็บป่วย (สัมภาษณ์นายพิบูลย์ชัย สวัสดิ์สกุลไพร และนายดวงแสง เจษฏาไกรศรี)

              ในอดีต ก่อนพิธีแต่งงาน เจ้าบ่าวจะต้องไปทำงานใช้แรงงานและอยู่ที่บ้านพ่อแม่เจ้าสาวเป็นเวลา 1 – 3 ปี ระหว่างนี้เจ้าบ่าวและเจ้าสาวมีเพศสัมพันธ์กันได้ ดังนั้นในพิธีแต่งงานจึงเป็นเรื่องปกติที่เจ้าสาวเจ้าบ่าวมีลูก 1 – 2 คน ในช่วงนี้ครอบครัวเจ้าสาวยังมีสิทธิ์ปฏิเสธเจ้าบ่าว  ขณะที่เจ้าบ่าวก็มีสิทธิ์ยกเลิกพันธะสัญญาได้เช่นกัน เมื่อเจ้าบ่าวสิ้นสุดการทำงานให้พ่อแม่เจ้าสาว ก็จะกำหนดวันแต่งงาน ในวันนั้นญาติๆจะมารวมกันที่บ้านเจ้าบ่าวเจ้าสาว  ที่ห้องนอนเจ้าบ่าวจะตั้งเสาไม้ไผ่มีเส้นฝ้ายผูกโยงเสาไม้ไผ่กับจุดต่างๆในห้องนอนและรอบบ้าน เพื่อนๆและสมาชิกครอบครัวจะเรียงแถวเข้าไปในห้องเพื่อรินน้ำลงในอ่างที่หน้าเสาไม้ไผ่  จากนั้นเจ้าบ่าวและคณะจะพากันไปบ้านเจ้าสาว โดยมีหัวหน้าหมู่บ้านนำขบวน การประกอบพิธีจะทำในห้องเจ้าสาว โดยผู้อาวุโสจะให้คำแนะนำสั่งสอนคู่บ่าวสาว จากนั้นหนึ่งในหมู่ผู้อาวุโสที่เป็นชายจะป้อนข้าวเหนียวแก่เจ้าบ่าวเจ้าสาว และให้ดื่มน้ำจากแก้วน้ำเดียวกัน จากนั้นผู้อาวุโสคนอื่น ๆ จึงให้พรบ่าวสาว เมื่อสิ้นสุดพิธีที่บ้านเจ้าสาวขบวนบ่าวสาวก็พากันไปบ้านเจ้าบ่าว พร้อมทั้งแห่สิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็นในครัวเรือนของเจ้าสาวไปยังบ้านใหม่ด้วย (Person 2000: 20 - 22)  แต่คนบีซูในปัจจุบันเปลี่ยนไปทำพิธีแต่งงานแบบคนเมืองทั่วไปแล้ว

  • การแต่งกายของกลุ่มชาติพันธุ์บีซู :

            ชาวบีซูไม่ได้สวมใส่เสื้อผ้าตามอัตลักษณ์กลุ่มชาติพันธุ์ในชีวิตประจำวัน  เช่นเดียวกับหลายกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย  ที่เสื้อผ้าตามอัตลักษณ์มีไว้เพื่อเสดงออกถึงตัวตนเมื่อต้องเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ทางสังคม  ส่วนในชีวิตประจำวันนั้นจะสวมใส่เสื้อผ้าทั่วไปตามสมัยนิยมเป็นหลัก  โดยเสื้อผ้าตามอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ของชาวบีซู มีรายละเอียดดังนี้ 

              ชุดผู้ชาย ตัวเสื้อทำจากผ้าฝ้ายสีแดงน้ำหมาก คอจีน ผ่าหน้า ป้ายด้านขวาของผู้สวมใส่ แขนเสื้อทรงกระบอกยาว  ชายเสื้อขลิบผ้าสีน้ำเงิน  กระดุมเสื้อทำมาจากกะลามะพร้าว มีหอยเบ้อประดับตัวเสื้อ  ส่วนกงเกงเป็นทรงขากว้าง สีดำหรือสีน้ำเงิน  ส่วนของผ้าโพกหัวนิยมใช้สีแดง 

              ชุดของผู้หญิง ตัวเสื้อเป้นผ้าฝ้ายสีน้ำเงินคอจีน ตัวเสื้อคลุมป้ายด้านซ้ายของผู้สวมใส่  เสื้อแขนกระบอกยาว  คอเสื้อและชายเสื้อตกแต่งลายปักสีแดงและหอยเบี้ย  สวมผ้าถุงสีเขียวทอลายแดงสลับดำคาดกลาง  (เครือข่ายสื่อชนเผ่าพื้นเมือง ร่วมกับสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย. 2562 )

  • บ้านของกลุ่มชาติพันธุ์บีซู :

              ชุมชนชาวบีซูดั้งเดิมจะมีการสร้างประตูหมู่บ้านทั้งสี่ทิศ คือ  ทิศเหนือ  ทิศตะวันตก  ทิศตะวันออก และทิศใต้ เพื่อแสดงขอบเขตของหมู่บ้าน จะมีเฉพาะชาวบีซูเท่านั้นที่สามารถสร้างบ้านเรือนในอาณาเขตนี้ ขณะที่บีซูที่แต่งงานกับคนต่างชาติพันธุ์ จะต้องออกไปสร้างบ้านนนอกพื้นที่ชุมชน   หากแต่ปัจจุบันกติการการสร้างบ้านเรือนแบบนี้ได้เลือนหายไปกับการขยายตัวของชุมชน และการเพิ่มขึ้นของประชากร  การแต่งงานข้ามกลุ่มชาติพันธุ์ รวมถึงข้อจำกัดด้านพื้นที่ในการสร้างบ้านเรือน   ในสามชุมชนบีซู ที่จังหวัดเชียงรายนั้น ที่บ้านดอบชมพู ยังคงปรากฏเสาหลักหมู่บ้านให้เห็นอยู่ ขณะที่ในชุมชนอื่น ๆ  เลือนหายไปตามกาลเวลา (ชนเผ่าพื้นเมืองบีซู .แผนพับ.มปป.)

  • อาหารของกลุ่มชาติพันธุ์บีซู :

             คนบีซูนิยมรับประทานอาหารที่ทำจากพืชผักมากกว่าเนื้อสัตว์โดยให้เหตุผลว่าบำรุงสุขภาพดีกว่าเนื้อสัตว์ อาหารที่คนบีซูนิยมรับประทานกันมาอย่างยาวนาน และยังคงเหลืออยู่ในปัจจุบันคือ ลาบพริก โดยลาบพริกนี้เป็นอาหารที่คนบีซูภูมิใจนำเสนอแก่คนภายนอกเป็นอย่างมาก เพราะคนบีซูเห็นว่าลาบพริกมีความพิเศษกว่าอาหารอื่น ๆ ตรงที่เป็นอาหารที่สืบทอดมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายาย ถือเป็นเอกลักษณ์ของคนบีซูอย่างแท้จริง และสมควรที่อนุรักษ์อาหารชนิดนี้ไว้ ด้วยการเชิญชวนให้คนนอกมารับประทานและทำความรู้จักกับอาหารชนิดนี้ ลาบพริก ถือเป็นอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูงมากเพราะวัตถุดิบที่นำมาทำนั้นล้วนแต่เป็นสมุนไพรทั้งสิ้น

              จากรายงานของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลและตัวแทนชาวบ้านหรือ อสม ที่ออกตรวจเยี่ยมดูแลสุขภาพกายและสุขภาพใจ ของหลาย ๆ หมู่บ้านในจังหวัดเชียงราย พบว่าสุขภาพโดยรวมของคนบีซูนั้นดีมาก เพราะไม่ปรากฏว่ามีชาวบ้านคนใดเป็นโรคเบาหวานเลย นายพิบูลย์ชัยเล่าว่า เป็นเพราะคนบีซูเน้นรับประทานผักจึงทำให้สุขภาพของคนบีซูแข็งแรง ดังนั้นลาบพริกและอาหารบีซูจึงเป็นเอกลักษ์ที่ล้ำค่าของคนบีซู ที่ชาวบ้านอยากจะอนุรักษ์ให้อาหารชนิดนี้อยู่ไปตราบสู่รุ่นลูกรุ่นหลาน แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าวัยรุ่นคนบีซูในปัจจุบันนั้น ไม่เห็นคุณค่าของอาหารของตนและไม่นิยมรับประทานเท่าใดนัก แต่กลับไปนิยมกินอาหารแบบคนเมือง เช่น การกินหมูกระทะ ลาบเนื้อ  ส่วนอาหารประจำเผ่ามีแต่ผู้ใหญ่และคนแก่เท่านั้นที่กิน

  • การตายและการทำศพของกลุ่มชาติพันธุ์บีซู :

              ในอดีตเมื่อมีคนเสียชีวิตในชุมชน จะไม่ให้เด็กและผู้หญิงออกจากบ้านชาว ผู้ทำหน้าที่จัดพิธีศพจเป็นกลุ่มผู้ชาย ใช้การฝังศพเป็นหลัก เชื่อว่าจะต้องฝังศพผู้ตายภายใน  24  ชั่วโมง  การเลือกสถานทำพิธีเสี่ยงทายจากไข่ ถ้าโยนไข่ หรือใข่หลุดมือแล้วแตกที่ไหนจะทำพิธีฝังศพ ณ ตำแหน่งนั้น แต่ถ้าเมื่อโยนและไข่ไม่แตกต้องหาที่ฝังใหม่ พิธีการเสี่ยงทายด้วยไข่นี้มีชื่อเรียกตาม ภาษาบีซูว่า ยา-อู-จัน โดยผู้ทำพิธีนั้นไม่จำเป็นต้องเป็นหมอผี แต่ต้องเป็นผู้ที่รู้และเข้าใจพิธี อาจเป็นคนเฒ่าคนแก่ (ลักษณะเดียวกับสัปเหร่อ) โดยจะเรียกว่าผู้นำทาง ในภาษาบีซู เรียกว่า แก-บา-หนำ-ฮู  ส่วนในปัจจุบันนั้น ใช้การเผาศพและพิธีแบบคนพื้นเมือง

  • ประเพณีเซ่นไหว้บรรพชนของกลุ่มชาติพันธุ์บีซู :

     ในบ้านจะมีหิ้งผีและแต่ละบ้านไหว้เฉพาะผีสายตระกูลที่ตนเองถือ เรียกว่า “อังบาอังตาอังแด” ในอดีตการไหว้ผีในบ้าน แบ่งเป็น 2 ส่วนคือ

              1.ผีบรรพบุรุษหรือผีพ่อแม่ปู่ย่า จะตั้งหิ้งบริเวณเขตของที่นอน หิ้งผีประจำบ้านถือเป็นที่ศักดิ์สิทธิ์ โดยในอดีตใช้การแบ่งพื้นที่นอนและพื้นที่บ้านด้วยการใช้ไม้กั้น โดยห้ามคนภายนอกที่ไม่ใช่คนในบ้านข้ามเขตเข้าไปในบริเวณที่นอน หากข้ามไปจะถือว่าผิดผี แม้จะนับถือผีข้างพ่อ แต่เมื่อญาติฝ่ายผีแม่ตายและมีลูกสาวที่เปลี่ยนไปถือผีฝ่ายชายแล้วก็ต้องตามให้มาร่วมงานไหว้ผีด้วยเช่นกัน

              2. การไหว้ผียุมแปง (เตาไฟ) ในสมัยก่อน ลักษณะบ้านบีซูเป็นบ้านหลังใหญ่ มีเตาไฟอยู่ในเรือน บริเวณนี้มีการตั้งหิ้งยุมแปงเป็นที่ศักสิทธิ์ของแต่ละครัวเรือน เป็นของที่รักษาคนในเรือนหลังนั้น ๆ แต่หากทำอะไรผิดไม่ถูกใจผีที่รักษาบ้านหลังนั้น ๆ ผีอาจลงโทษคนในบ้านได้ จึงมีการไหว้หิ้งยุมแปงในเดือน 8 ของทุกปี และจะทำการไหว้ยุมแปงทุกครั้งที่มีคนในบ้านเจ็บป่วย ปัจจุบันเมื่อมีการใช้แก็สหุงต้มเข้ามาแทนที่ทำให้เตาไฟกลางบ้านหายไป แต่บีซูส่วนหนึ่งยังคงนับถือยุมแปงดังเดิม แม้จะไม่ตั้งหิ้ง ก็มีการไหว้บอกกล่าวต่อยุมแปงในส่วนพื้นที่เตาไฟหรือที่ประกอบอาหาร

  • ศาสนาและความเชื่อของกลุ่มชาติพันธุ์บีซู :

              บีซูนับถือศาสนาพุทธและมีความผูกพันแน่นแฟ้นกับวัดและพระสงฆ์ และมีความเคร่งครัดในการปฏิบัติศาสนกิจตามขนบประเพณีดั้งเดิม บิดามารดานิยมให้บุตรหลานที่เป็นชายบวชเรียน  ถ้าเป็นผู้ใหญ่จะบวชให้พ่อแม่ ถ้าเป็นเด็กจะบวชเพื่อเรียนหนังสือ ในวันสำคัญทางพุทธศาสนาจะมีการทำบุญในหมู่บ้านเช่นเดียวกันคนไทยทางเหนือ  ในขณะเดียวกันก็ยังคงนับถือผีด้วยเช่นกัน มีทั้งผีหมู่บ้าน ผีในป่า ผีในถ้ำ ในทุ่งนาและผีบรรพบุรุษ บีซูเรียกผีที่ดูแลหมู่บ้านหรือเสื้อบ้านว่า ‘อังจาว’  ซึ่งมีผู้ช่วยชื่อ ‘ม้า’ (maa) หมายถึง ม้า มีหน้าที่ดูแลผีม้าที่เป็นหัวหน้าของม้า ซึ่งชาวบ้านบีซูจะให้ความเคารพนับถืออังจาวเป็นอย่างมากโดยเชื่อว่า เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ช่วยคุ้มครองหมู่บ้านของตนให้ปลอดจากอันตรายได้ ดังนั้นคนบีซูจึงมีประเพณีที่สำคัญคือประเพณีไหว้หอเสื้อบ้านที่เรียกกันว่า “อังจาวไว” โดยมีบุคคลสำคัญที่เป็นผู้ประกอบพิธีกรรมในหมู่บ้าน เรียกว่า ปู่ตั้ง      

                                                                                             

                    ศาลอังจาว หรือเสื้อบ้านของบีซู    

     

    ศาลผู้ช่วย หรือ "ม้า" เป็นศาลขนาดเล็ก ตั้งอยู่เคียงข้างศาลอังจาว    

     

             อีกทั้งมีการสร้างประตูไม้ไว้ทั้ง 4 ทิศของหมู่บ้าน เพื่อกันภูตผีปีศาจรบกวน เรียกในภาษาบีซูว่า “สะมาลาแกน” สมัยก่อนชุมชุนของคนบีซูยังไม่หนาแน่น คนที่ปลูกบ้านก็มักจะปลูกในประตูไม้ทั้ง 4 ทิศของหมู่บ้าน แต่ในปัจจุบันผู้คนเพิ่มจำนวนมากขึ้นแต่พื้นที่มีจำกัด บ้านหลายหลังจึงต้องมาปลูกนอกเขตประตู แต่ยังคงรักษาพื้นที่บริเวณประตูเอาไว้ และมีพิธีทำความสะอาด และปรับปรุงประตูทุกเดือน ๘ ของปี 

     

       

                                              ประตูหมู่บ้าน

     

                                                                                                        ประตูหมู่บ้าน มีหอตั้งของบูชา

     

  • ผู้นำพิธี/ผู้ประกอบพิธีของกลุ่มชาติพันธุ์บีซู :

              ผู้ประกอบพิธีกรรมในหมู่บ้าน เรียกว่า ปู่ตั้ง คนที่เป็นปู่ตั้งจะต้องเป็นคนที่น่าเชื่อถือ และต้องเป็นคนบีซูเท่านั้น โดยมีคัดเลือกด้วยการเสี่ยงทาย กล่าวคือ ให้ชาวบ้านเสนอชื่อคนในหมู่บ้านบีซูมาประมาณ 3-4 คน และทำการเสี่ยงทายเก็บเมล็ดข้าวให้ปู่ตั้งเป็นคนเสี่ยงทายถามอังจาวว่าชอบอยู่กับคนไหน ถ้าชอบต้องเก็บเมล็ดข้าวให้ได้ 4 คู่เท่านั้น แล้วถ้าได้ชื่อใคร คนนั้นจะต้องยอมรับเป็นปู่ตั้งคนใหม่ ปัจจุบันในหมู่บ้านดอยชมภูมีปู่ตั้ง ๓ คน คือ ปู่ตั้งใหญ่ และปู่ตั้งผู้ช่วย ๒ คน

              ปู่ตั้งใหญ่ เป็นผู้ดูแลสถานที่หอเสื้อบ้านใหญ่และหอเสื้อบ้านน้อย เปลี่ยนน้ำทุกวันพระ แล้วเปลี่ยนแจกันดอกไม้ และถวายผลไม้ทุกวันพระ เมื่อถึงช่วงเข้าพรรษาทุก ๆ วันพระ ปู่ตั้งจะต้องเชิญอังจาวไปที่หอในวัด ตอนเช้าชาวบ้านจะเอาข้าว อาหาร ขนม ผลไม้ และกรวยดอกไม้เอาไปใส่ในตระกร้าของอังจาว แล้วปู่ตั้งก็จะเอาของที่ชาวบ้านใส่ในตระกร้าไว้ไปถวายให้อังจาว และเชิญอังจาวกลับมาที่หิ้งในบ้านในตอนค่ำ ทำเช่นนี้ตลอดระยะเวลาสามเดือนช่วงเข้าพรรษา ส่วนปู่ตั้งผู้ช่วยจะทำหน้าที่ช่วยทำพิธีที่ประตูบ้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ (บูชาด้วยไก่) และประตูทิศตะวันออกเฉียงใต้ (บูชาด้วยสุนัข)

     

    ศาลอังจาวในบริเวณวัดดอยชมภู ซึ่งในช่วงวันพระ เข้าพรรษา 

            ปู่ตั้งต้องเชิญอังจาวจากแท่นบูชาในบ้านมาไว้ที่นี่ ตั้งเคียงข้างกับศาลเสื้อวัด                

     

               

               หิ้งบูชาอังจาวในบ้านของปู่ตั้งใหญ่                        

     

  • พิธีกรรมสำคัญของกลุ่มชาติพันธุ์บีซู :

              พิธีอังจาวไว นั้นถือเป็นพิธีกรรมสำคัญที่บีซูบ้านดอยชมภูยังถือปฏิบัติอยู่ โดยปกติทำกันปีละสามครั้ง  คือ เดือน 4  เดือน 8 และเดือน 12 ของบีซู โดยจะมีการถวายไก่ สุราขาว ข้าวต้มมัด ผลไม้ และของหวาน

              การไหว้อังจาวแต่ละครั้ง ปู่ตั้งจะเป็นคนดำเนินการจัดเรียงลำดับว่า ใครจะเป็นผู้นำไก่ไปรวมกันหรือเป็นเจ้าภาพ เพื่อจะนำไปไหว้อังจาว จากนั้นปู่ตั้งก็จะไปบอกให้ผู้ใหญ่บ้านประชาสัมพันธ์ให้ชาวบ้านรับรู้ว่าใครเป็นเจ้าภาพนำไก่ไปถวาย จากนั้นปู่ตั้งจะเป็นคนกำหนดวัน เวลา และประชาสัมพันธ์ให้ชาวบ้านรับรู้ทั่วถึงกัน ในวันไหว้อังจาว ชาวบ้านจะหยุดทำงานกันทุกครัวเรือน ในช่วงเช้าชาวบ้านจะนำกรวยดอกไม้ (ส่วนใหญ่จะเป็นดอกไม้ขาว) ธูปเทียน พริกหนุ่ม พริกแห้ง กระเทียม หอมแดง ขิงข่า ตะไคร้ เกลือ และผลไม้ต่างๆ ไปถวายหอเสื้อบ้าน การประกอบพิธีในแต่ละเดือน มีขั้นตอนดังต่อไปนี้

             พิธีอังจาวไวในเดือน 4 จะมีผู้นำไก่ไปถวาย 5 คน คนละ 1 ตัว และอีกคนหนึ่งที่จะนำสุราขาว 1 ขวดไปถวาย เมื่อไปถึงบริเวณหอเสื้อบ้าน ปู่ตั้งก็จะบอกกล่าวก่อน หลังจากนั้นทำการฆ่าไก่เพื่อนำไปต้ม ไก่ที่ถวายจะต้องทำเครื่องหมายโดยการเอาตอกมัดไก่ไว้ให้มีความสมบูรณ์ทั้งตัว แม้แต่หนังไก่ก็ไม่ให้หลุดออกมา เครื่องปรุงทุกอย่างจะไม่ตำที่ครก พริก ตะไคร้ข่า ต้องหั่น ขิง กระเทียม หอมแดง ต้องทุบใส่ ก่อนที่จะถวายไก่ต้มจะต้องนำผลไม้ ข้าวต้มมัด ของหวาน ถวายก่อน เมื่อไก่ต้มสุกแล้ว ก็จะยกผลไม้ ข้าวต้มมัด และของหวาน ออกมาแจกจ่ายให้ชาวบ้านรับประทาน

              การไหว้อังจาวในเดือน 8 (ระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงเดือนมิถุนายน) มีขั้นตอนเหมือนกับการไหว้อังจาวในเดือน 4 แต่ต่างกันตรงที่ในเดือน 8 จะมีการไหว้อังจาวอยู่สองแห่ง แห่งแรกคือที่หอเสื้อบ้าน จะมีผู้ไปไหว้ 10 คน  เก้าคนนำไก่คนละ 1 ตัว และอีกคนนำสุราขาวไปถวาย 1 ขวด และแห่งที่สองคือ “อุ่ม” หรือที่ประตูบ้านทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ปู่ตั้งอุ่มจะขอแบ่งไก่จากปู่ตั้งจำนวน 4 ตัว และให้ชาวบ้านประมาณ 3-4 คน มาช่วยกันทำอาหารหรือต้มไก่ 4 ตัว เมื่อทำอาหารหรือต้มไก่สุกแล้วก็จะยกไก่ต้มถวายพร้อมกับจุดธูปเทียน ปู่ตั้งอุ่มจะเป็นคนบอกกล่าวให้มารับของเซ่นไหว้ หลังจากที่ธูปเทียนไหม้หมดแล้ว ปู่ตั้งก็จะบอกกล่าวขออาหารเซ่นไหว้ เพื่อเอากลับไปที่บ้านปู่ตั้งอุ่ม เพื่อแบ่งกันทาน  ถือเป็นเสร็จพิธีกรรม

              การไหว้อังจาวในเดือน 12 (ระหว่างเดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายน) มีขั้นตอนเหมือนการไหว้ในเดือน 4 มีผู้นำไก่ไปถวาย 5 ตัว และสุราขาว 1 ขวด พิธีสำคัญนี้ทุกครอบครัวจะมีส่วนร่วมโดยจะมีการกำหนดให้ตัวแทนชาวบ้านที่ได้รับมอบหมายในแต่ละครั้งนำไก่มาร่วมในพิธี ตำแหน่งหน้าที่นี้จะหมุนเวียนกันไปตามหมวดจนครบทุกคนในหมู่บ้าน พิธีนี้ในสมัยก่อนจะมีทั้งผู้ใหญ่และเด็ก ๆ เข้าร่วมพิธีหมดแต่ในปัจจุบันมีแต่ผู้ใหญ่บางคนเท่านั้นที่เข้าร่วม เพราะผู้ใหญ่หลายคนไปทำงานในเมือง และเด็ก ๆ ต้องไปโรงเรียน

              นอกจากการไหว้อังจาวปีละ 3 ครั้งแล้ว เมื่อคนบีซูท้องลูกคนแรกจะต้องทำการถวายหอเสื้อบ้าน โดยก่อนวันถวายหอเสื้อบ้าน 1 วัน คนในบ้านจะต้องไปตัดไม้อ้อ เอามาตัดเป็นท่อน ๆ ตามปล้อง ตามจำนวนครัวเรือนที่มีอยู่ในหมู่บ้าน จำนวนครัวเรือนละ 2 ปล้อง ปล้องแรกบรรจุทรายจนเต็ม และปล้องที่ 2 ใส่น้ำให้เต็ม พอถึงตอนกลางคืนเวลาประมาณ 20.00-21.00 น. ก็จะเอาปล้องที่ใส่ทรายออกมาโปรยใส่ที่หน้าบ้าน และเอาปล้องที่ใส่น้ำไปเทที่หน้าบ้านทุกครัวเรือน พอโปรยทรายและเทน้ำเสร็จก็จะบีบปล้องไม้อ้อจนแตกทิ้งไว้หน้าบ้านของทุกครัวเรือน

              วันรุ่งขึ้นที่ทำการถวายหอเสื้อบ้าน เตรียมหมู 1 ตัว พร้อมเครื่องปรุงและผลไม้ ขนมของหวาน ข้าวต้มมัด ไปที่หอเสื้อบ้านใหญ่ ปู่ตั้งก็จะบอกกล่าวกับอังจาวว่า วันนี้เป็นวันดีมีหมูมาถวายให้คนที่ท้องนั้นมีความสุขมีลูกก็ขอให้ลูกคลอดออกมาครบ 32 ประการขอให้ได้เลี้ยงเด็กง่าย ๆ มีความสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง ตอนคลอดก็ขอให้คลอดลูกออกมามีความปลอดภัย จากนั้นก็ทำการฆ่าหมู ช่วยกันชำแหละ แล้วนำเนื้อหมูไปลาบและแกง ก่อนที่จะถวายแกงหมูและลาบหมูจะต้องนำผลไม้ ข้าวต้มมัด ของหวานถวายก่อน แกงหมูสุก และลาบหมูเสร็จแล้วจึงนำไปถวาย และยกผลไม้ ข้าวต้มมัด และของหวานออกให้ชาวบ้านรับประทาน

  • การรักษาของกลุ่มชาติพันธุ์บีซู :

              เมื่อมีคนไม่สบายเจ็บไข้ แล้วไปพบหมอหลายครั้งก็ไม่หายหรือหาสาเหตุไม่พบ ญาติของคนป่วยก็จะไปหาพ่อหมอ ให้ทำการเสี่ยงทายด้วยวาไม้ โดยจะทำกรวยดอกไม้ธูปเทียนแล้วเอาไปเหน็บไว้ที่บ้านพ่อหมอ ขอให้พ่อหมอเสียงทายด้วยการวาไม้ จากนั้นไปตัดไม้ในป่ามาให้ยาวพอดีกับวงแขนที่กางออกของพ่อหมอ เพื่อทำเป็นไม้เสี่ยงทาย พ่อหมอจะสื่อสารกับผีเพื่อถามว่าถูกผีทำให้เจ็บป่วยใช่หรือไม่ ถ้าถูกผีทำให้เจ็บป่วย ไม้ที่เสี่ยงทายจะยาวออกเกินวาของพ่อหมอ ถ้าผีทำให้คนไม่สบายทิศไหน ไม้ที่เสี่ยงทายก็จะยาวออกทางทิศนั้น พอเสี่ยงทายได้แล้ว พ่อหมอต้องถามดูว่า จะเลี้ยงผีด้วยอาหารอะไร โดยพูดชื่ออาหารแต่ละอย่าง เมื่อตรงกับอาหารที่ผีอยากกิน ไม้ที่เสี่ยงทายก็จะยาวออก หากเป็นชื่ออาหารที่ผีไม่ชอบกิน ไม้ที่เสี่ยงทายจะยาวเท่าเดิม เมื่อได้รายการอาหารแล้ว ก็จะต้องถามวันเวลาที่จะเลี้ยง เมื่อเสี่ยงทายถามวันเวลาได้แล้ว พ่อหมอจะได้บอกกล่าววิญญาณว่าตั้งแต่วันนี้ เป็นต้นไป ขอให้หายจากการเจ็บไข้ได้ป่วย จากนั้นก็เอากรวยดอกไม้ธูปเทียนไปเสียบไว้นอกบ้าน

    การวาไม้เพื่อเสี่ยงทาย (ภาพของหมู่บ้าน)

              เมื่อถึงวันที่ไปเลี้ยงผี ญาติผู้ป่วยจะสานตะแหลว และจัดเตรียมของเรียกขวัญ ได้แก่ ดอกไม้ ธูปเทียน หมาก เมี่ยง ใบพลู กล้วย อ้อย ข้าว อาหาร ด้ายผูกข้อมือ ผ้าแดง ผ้าขาว ฝ้ายและขันตั้ง แล้ววันที่ไปเลี้ยง พ่อหมอไปบ้านคนป่วย เพื่อบอกกล่าวและพากันออกไป ณ จุดที่เสี่ยงทายได้ เมื่อไปถึงในป่า พ่อหมอก็ทำการปักตะเหลว บอกกล่าวผี และเริ่มทำพิธี เมื่อทำการเลี้ยงเสร็จ พ่อหมอก็ทำการเสี่ยงทายด้วยการวาไม้ ถามวันนี้ได้รับอาหารที่เลี้ยงและกินอิ่มหรือยัง ถ้ายังกินไม่อิ่มไม้ที่เสี่ยงทายก็จะยาวพอดีกับวาของพ่อหมอ หากผีกินอิ่มแล้ว ไม้ที่เสี่ยงทายก็จะยาวออก เมื่อทำพิธีเลี้ยงเสร็จแล้ว พ่อหมอและคนที่ไปช่วยงานก็ได้กินอาหาร จากนั้นพ่อหมอจะเรียกขวัญคนป่วยโดยการจุดฝ้ายเพื่อเรียกขวัญคนป่วยกลับมาบ้าน เมื่อมาถึงบ้านคนป่วยก็จะมานั่งรอ พ่อหมอก็ถามคนที่นั่งรอว่า ขวัญของคนป่วยมาถึงหรือยัง แล้วคนที่นั่งรอก็จะได้ตอบว่า มาถึงเมื่อกี้แล้ว พ่อหมอก็ได้เรียกขวัญผูกข้อมือให้กับคนป่วย 

  • สถานการณ์ปัจจุบันของกลุ่มชาติพันธุ์บีซู :

              ในอดีตคนรุ่นก่อน ๆ ไม่กล้าแสดงตนเป็นบีซู ผู้ชายบวชเรียนจึงเรียนรู้ภาษาไทยมากขึ้น บีซูที่สูงอายุเข้าใจภาษาไทยเหนือแต่สำเนียงที่พูดเพี้ยน บีซูที่อายุ 25-50 ปี พูดได้สองภาษา พูดภาษาไทยเหนือได้เหมือนภาษาแม่ พูดภาษาไทยมาตรฐานได้ไม่ดี จึงใช้คำศัพท์และออกเสียงวรรณยุกต์ในภาษาไทยเหนือเมื่อพูดภาษาไทยมาตรฐาน ผู้ให้ข้อมูลเล่าว่า ประมาณปี พ.ศ.2519 กรมสงเคราะห์ชาวเขาเริ่มเข้ามาสำรวจข้อมูล และให้การสงเคราะห์ มีครูเข้ามาสอนหนังสือให้อ่านออกเขียนภาษาไทยได้ โดยผู้เรียนได้วุฒิบัตรประถม 4  ต่อมามีการตัดถนนเข้าหมู่บ้าน โรงเรียนนี้ถูกยุบไปในปี 2531 เริ่มมีการศึกษานอกโรงเรียน และครูผู้สอนไม่ให้พูดภาษาท้องถิ่น ให้พูดภาษาไทย มีป้ายติดตามที่ต่าง ๆ ให้ท่องว่า “ฉันเป็นคนไทย พูดภาษาไทย” ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้คนบีซูอายที่จะพูดภาษาของตนเอง (นายพิบูลชัย, 21 กันยายน 2558)     

              ปัจจุบัน บีซู ค่อนข้างพูดภาษาตนเองได้น้อยลง เด็กส่วนมากเรียนหนังสือในระบบโรงเรียนอย่างน้อย 6 ปี และได้รับอิทธิพลจากวิทยุและโทรทัศน์ บีซูรุ่นนี้จะมั่นใจในการใช้ภาษาไทยมาตรฐานมากขึ้น และกลมกลืนกับคนพื้นราบ คนเมือง รวมทั้งอายไม่กล้าใช้หรือพูดภาษาบีซู ทำให้เด็กปัจจุบันไม่สามารถพูดภาษาบีซูได้แล้ว บางบ้านไม่สามารถพูดได้เลย  แต่ต่อมาเมื่อ ดร.เคิร์กได้พาบีซูที่เชียงรายเดินทางไปพบกับบีซูในประเทศจีนทำให้ทราบว่ายังใช้ภาษาลักษณะเดียวกันพูดกันรู้เรื่อง แต่ในจีนค่อนข้างใช้ภาษาบีซูที่เก่ากว่าบีซูในไทย และพอรู้ว่า บีซูในหลายประเทศใช้ภาษาแบบเดียวกัน แต่ไม่ได้มีการติดต่อกันเพราะทุกคนลำบากเหมือนๆกัน รวมทั้งบีซูยังไม่มีเครือข่ายของตนเองในการติดต่อ

              บีซูยังคงให้ความสำคัญในการสอนให้ลูกหลานพูดภาษาบีซู และเรียกร้องให้ภาครัฐและนักวิชาการช่วยเหลือในการอนุรักษ์ภาษาและวัฒนธรรมบีซู ในเดือนธันวาคม 2541 ชาวบ้านบีซู 30 คน ได้รวมตัวประชุมกันที่วัดประจำหมู่บ้านดอยชมภูและเห็นพ้องว่าจะใช้ตัวอักษรไทยในการเขียนภาษาบีซู ผู้ที่ได้รับการฝึกอบรมในเวิร์คช้อปด้านภาษาศาสตร์ของ SIL มหาวิทยาลัยพายัพได้ผลิตหนังสือขนาดสั้นกว่า 40 เล่ม เกี่ยวกับนิทานพื้นบ้าน พจนานุกรมภาพภาษาบีซู-ไทย-อังกฤษ ในปี 2542 เมื่อคณะแพทย์ของโครงการหลวงได้มาตรวจรักษาที่หมู่บ้าน ดร. เคิร์ก พร้อมภรรยา ได้เข้าเฝ้าและถวายหนังสือภาษาบีซูให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทอดพระเนตร และภาพดังกล่าวได้ออกอากาศทางทีวี ทำให้บีซูมีความภูมิใจที่ราชวงศ์ไทยเห็นคุณค่าของภาษาและวัฒนธรรมบีซู และเป็นแรงบันดาลใจให้พวกเขาอนุรักษ์ภาษาและวัฒนธรรมบีซูสืบต่อไป (Person 2000: 27-28) ในระยะแรกได้มีการสอนให้ผู้ใหญ่เขียน-อ่านภาษาบีซูที่ประดิษฐ์ขึ้น ต่อมาจึงขยายไปยังเด็ก ๆ โดยใช้พื้นที่บ้านของ อ.เคิร์ก เป็นที่เรียนรู้ 

     

    บ้านเช่าของ อ.เคิร์ก เพอร์สัน ซึ่งเคยใช้เป็นสถานที่สอนภาษาเขียนบีซู

              ในปี 2548 ชุมชนบีซูเริ่มไปเข้าร่วมกับเครือข่ายชนเผ่าในประเทศไทย และไปร่วมงานมหกรรมชนเผ่าที่เชียงรายเป็นครั้งแรก ในโอกาสนี้จึงได้มีการนำเอาชุดบีซูที่ได้จากจีนมาเป็นต้นแบบในการตัดเย็บชุดแต่งกายเพื่อร่วมเดินในขบวนพาเหรด และมีการประยุกต์การฟ้อนเจิงและแห่ฆ้อง แห่กลอง ที่ในอดีตเคยทำกันในคืนก่อนวันพระ (ในอดีตมีนิทานว่า หากไม่แห่กลองก่อนวันพระ จะมียักษ์มากิน) มาประยุกต์เป็นการแสดงประจำกลุ่ม เมื่อได้รับความชื่นชมและยอมรับจากสังคม คนบีซูจึงมีมั่นใจที่จะแสดงตามแบบฉบับของตนเองอย่างไม่เขินอายดังเช่นในสมัยก่อน

  • การเปลี่ยนแปลงและปัญหาที่ประสบอยู่ของกลุ่มชาติพันธุ์บีซู :

              อย่างไรก็ตาม ชุมชนบีซูต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงไปตามกระแสโลกาภิวัฒน์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนคือ เรื่องภาษา กล่าวคือ คนรุ่นลูกรุ่นหลานพูดภาษาบีซูได้น้อยลงกว่า 20 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากการคมนาคมที่สะดวกขึ้นทำให้คนบีซูมีโอกาสติดต่อกับโลกภายนอกมากขึ้น เด็กๆที่ไปเรียนหนังสือในเมือง ได้เปลี่ยนไปพูดคำเมืองและไทยกลาง และมองว่าการพูดภาษาบีซูเป็นเรื่องน่าอาย นอกจากนั้นยังมีวัยรุ่นไปทำงานต่างถิ่นต่างภูมิภาค มีการแต่งงานกับคนนอกกลุ่ม จึงมีเขย มีสะใภ้ทั้งชาวภาคกลางและชาวอีสานที่ไม่ใช่คนบีซูมาอยู่ในหมู่บ้าน ทำให้เกิดความหลากหลายในด้านภาษาขึ้นในหมู่บ้าน ส่งผลให้ภาษากลางและภาษาคำเมืองกลายเป็นภาษาหลักที่ใช้พูดคุยกันในหมู่บ้าน ส่วนภาษาบีซูจะมีก็แต่คนรุ่นเก่าแก่เท่านั้นที่ยังพูดอยู่ ด้วยเหตุที่กล่าวมานี้ทำให้ภาษาบีซูจัดอยู่ในกลุ่มภาษาที่อยู่ในภาวะวิกฤตใกล้สูญไป จำเป็นที่จะต้องมีการฟื้นฟูภาษาบีซูอย่างเร่งด่วน หน่วยงานหลายแห่ง เช่น ศูนย์ศึกษาและฟื้นฟูภาษาและวัฒนธรรมในภาวะวิกฤต สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล และสำนักงานสนับสนุนการวิจัย ได้เข้ามาช่วยให้ทุนสนับสนุนผู้นำชุมชนบีซูในการฟื้นฟูภาษาบีซู  เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2553 ได้ทำการเปิดศูนย์บ่มเพาะภาษาบีซูหรือศูนย์เด็กเล็ก ที่ครูผู้สอนและพี่เลี้ยงต่างก็ใช้ภาษาบีซูในการเรียนการสอน โดยไม่มีภาษาคำเมืองหรือภาษาไทยกลางเข้ามาปน นอกจากนั้นยังมีกลุ่มเยาวชนคนบีซูกลุ่มเล็ก ๆที่คอยเผยแพร่และสอนภาษาบีซูให้กับเด็กคนบีซู ซึ่งก็ได้รับการสนับสนุนจากผู้ใหญ่ในชุมชนเป็นอย่างดี  ภาษาบีซูนั้นเป็นเอกลักษณ์ของคนบีซู เพราะว่า ภาษาบีซูจะเป็นปัจจัยที่สำคัญที่จะทำให้คนภายนอกรู้ว่าพวกเขาคือคนบีซู นอกจากนั้นคนบีซูยังมองว่าภาษาบีซูนั้นเป็นภาษาที่ปู่ย่าตายายพ่อแม่ เคยพูดกันมาและสั่งสอนให้พูดกันถือเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่ควรจะอนุรักษ์ไว้เป็นอย่างยิ่ง ซึ่งต่อมากระทรวงวัฒนธรรมได้ประกาศขึ้นทะเบียนภาษาบีซูเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ ประจำปีพุทธศักราช2557  

              ปัจจุบัน ชุมชนบีซูดอยชมภูยังได้รับทุนสนับสนุนจากศูนย์ศึกษาและฟื้นฟูภาษาและวัฒนธรรมในภาวะวิกฤต สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล และสำนักงานสนับสนุนการวิจัย ให้ทำโครงการ “บีซูอางเกิงอางกออางอานเฮล่นยา” หรือแหล่งเรียนรู้ของเก่าของชาวบีซู มีทีมวิจัย 12 คน ร่วมกันเก็บข้อมูลประเพณีสำคัญและบันทึกเรียบเรียงเป็นภาษาบีซู และภาษาไทย แม้ว่าในปัจจุบันคนบีซูได้มีการผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรมจนคล้ายคนไทยภาคเหนือไปมากแล้ว แต่จากการไปร่วมกิจกรรมและดูงานในเครือข่ายกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง ทางกลุ่มหวังว่า ในอนาคตจะทำการสร้างบ้านแบบในอดีต ที่เป็นบ้านยกพื้นให้สูงจากพื้นดิน  หลังคามุงจาก แต่ละบ้านจะมีแค่สองหรือสามห้อง โดยห้องจะอยู่สองฝั่งของบ้าน ตรงกลางบ้านเป็นพื้นที่โล่งไว้ตั้งเตาไฟ และสามารถนั่งได้ ส่วนบนเสามีหิ้งวางของ ส่วนประตูจะอยู่เกือบกลาง ๆ บ้าน มีชานส่วนหน้าบ้านเอาไว้ใช้รับแขก ส่วนหลังบ้านจะมีบันไดขึ้น นิยมทำเป็นเลขคี่ เช่น 3 ขั้น หรือ 5 ขั้น และบริเวณบันไดจะเป็นจุดที่ตั้งครกตำข้าว  เพื่อจำลองภาพวิถีชีวิตในอดีต และเป็นสถานที่ให้บีซูรุ่นหลังได้เรียนรู้เกี่ยวกับของเล่นในอดีต และทำกิจกรรมเรียนรู้ร่วมกัน 

Access Point
No results found.

ชาวบีซูในประเทศไทยอาศัยอยู่กลุ่มเล็กๆ ใน อำเภอเมืองและอำเภอแม่ลาว จังหวัดเชียงราย ชาวบีซูนับถือศาสนาพุทธและมีความผูกพันแน่นแฟ้นกับวัดและพระสงฆ์ ขณะเดียวกันก็ยังคงนับถือผีด้วยเช่นกัน มีทั้งผีหมู่บ้าน ผีในป่า ผีในถ้ำ ในทุ่งนาและผีบรรพบุรุษ บีซูเรียกผีที่ดูแลหมู่บ้านหรือเสื้อบ้านว่า ‘อังจาว’ ซึ่งชาวบ้านบีซูจะให้ความเคารพนับถืออังจาวเป็นอย่างมากโดยเชื่อว่า เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ช่วยคุ้มครองหมู่บ้านของตนให้ปลอดจากอันตรายได้ ดังนั้นคนบีซูจึงมีประเพณีที่สำคัญคือประเพณีไหว้หอเสื้อบ้านที่เรียกกันว่า “อังจาวไว”