2023-05-15 14:30:11
ผู้เข้าชม : 1158

ไทเบิ้ง มีถิ่นฐานดั้งเดิมในเวียงจันทน์ สปป.ลาว ถูกกวาดต้อนมายังประเทศไทยในสมัยรัชกาลที่ 4 ส่วนใหญ่ตั้งถิ่นฐานบริเวณลุ่มแม่น้ำป่าสัก มีความเชื่อต่อสิ่งเหนือธรรมชาติ โดยเฉพาะความเชื่อเรื่องผี เมื่อเจ็บป่วยที่ไม่สามารถรักษาให้หายได้ด้วยการแพทย์สมัยใหม่ ชาวไทเบิ้ง จะทำพิธีกรรมเสี่ยงทาย หรือ "การบูน"  โดยมีหมอบูนเป็นผู้นำพิธีกรรม ส่วนวิถีการดำรงชีพของชาวไทเบิ้งมีความหลากหลายทั้งการทำนา การทำประมง การจักสาน และการทอผ้า 

  • ข้อมูลพื้นฐาน
  • ประวัติศาสตร์
  • การตั้งถิ่นฐานและกระจายตัว
  • วิถีชีวิตและวัฒนธรรม
  • งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
  • อ้างอิง

ชื่อกลุ่มชาติพันธุ์ : ไทเบิ้ง
ชื่อเรียกตนเอง : ไทเบิ้ง, ไทเดิ้ง
ชื่อที่ผู้อื่นเรียก : ไทยเบิ้ง, ไทยเดิ้ง, ไทยโคราช
ตระกูลภาษา : ไท
ตระกูลภาษาย่อย : ไต-ไต
ภาษาพูด : ไทเบิ้ง
ภาษาเขียน : ไม่มีตัวอักษรที่ใช้เขียน

ไทเบิ้ง หรือ ไทเดิ้ง เป็นชื่อเรียกกลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มหนึ่งที่ตั้งถิ่นฐานในเขตลุ่มแม่น้ำป่าสัก คำว่า “เบิ้ง” มีความหมายตรงกับคำว่า “บ้าง” ในภาษาไทยกลางคำว่า ไทเบิ้ง จึงหมายถึง มีความเป็นไทยอยู่บ้าง ส่วนคำว่า “เดิ้ง” มีความหมายว่า “ด้วย” ในภาษาไทโคราช คำว่า ไทเดิ้ง จึงหมายถึง มีความเป็นไทยด้วย ทั้งสองคำนี้มักปะปนในภาษาพูด จึงเป็นที่มาของชื่อเรียกกลุ่มชาติพันธุ์นี้

ชนกลุ่มนี้เป็นชาวลาวกลุ่มหนึ่งที่ถูกกวาดต้อนมาจากเวียงจันทน์ พร้อมกับชาวลาวกลุ่มอื่น ๆ ในสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ที่มีการทำสงครามเพื่อการกอบกู้เอกราชและปราบปรามหัวเมืองต่าง ๆและในสมัยรัชกาลที่ 3 เมื่อมีชัยชนะในการทำศึกสงครามแต่ละครั้งจะมีการกวาดต้อนผู้คนกลับมา และให้ตั้งถิ่นฐานในเมืองต่าง ๆ บริเวณภาคกลางและภาคอีสาน ส่งผลให้ผู้คนแถบนี้มีความหลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์และสำเนียงภาษานับได้ว่าไทเบิ้งมีถิ่นฐานอยู่ในแถบนี้มานานกว่าสองทศวรรษ ปัจจุบันไทเบิ้งกระจายตัวอยู่ในพื้นที่รอยต่อระหว่างภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำป่าสัก กระจายตัวในพื้นที่ 6 จังหวัด ได้แก่ 1)จังหวัดลพบุรี ในเขตอำเภอพัฒนานิคม อำเภอชัยบาดาล อำเภอสระโบสถ์
2) จังหวัดสระบุรี ในเขตอำเภอวังม่วง 3) จังหวัดเพชรบูรณ์ ในเขตอำเภอศรีเทพ อำเภอวิเชียรบุรี 4) จังหวัดบุรีรัมย์ ในเขตอำเภอนางรอง อำเภอเมือง อำเภอลำปลายมาศ 5) จังหวัดชัยภูมิ ในเขตอำเภอจัตุรัส อำเภอบำเหน็จณรงค์ 6) จังหวัดนครราชสีมา ในทุกอำเภอ ยกเว้นอำเภอหนองบัวใหญ่ อำเภอสูงเนิน

จากการตั้งถิ่นฐานของชาวไทเบิ้งในพื้นที่เขตรอยต่อระหว่างภูมิภาค ส่งผลให้ผู้คนในพื้นที่ดังกล่าวมีความผสมผสานทางวัฒนธรรมระหว่างภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลาง มีสำเนียงภาษาพูดที่มีอัตลักษณ์เฉพาะ ผสมผสานระหว่างสำเนียงสุพรรณบุรี สำเนียงภาคใต้ ซึ่งเป็นสำเนียงที่ไม่สะท้อนความเป็นอีสาน ในขณะเดียวกันก็มีคำที่แตกต่างจากภาษากลาง


ไทเบิ้ง หรือ ไทเดิ้ง เป็นกลุ่มที่อพยพมาจากเวียงจันทน์ ประเทศลาวในสมัยรัชกาลที่ 4เป็นกลุ่มชนท้องถิ่นกลุ่มหนึ่งที่ตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำป่าสัก และยังตั้งถิ่นฐานกระจัดกระจายอยู่ในจังหวัดอื่น ๆ ได้แก่ ลพบุรี สระบุรี เพชรบูรณ์ บุรีรัมย์ ชัยภูมิ และนครราชสีมา ชาวไทยเบิ้งนั้นถูกมองว่าเป็นกลุ่มคนกลุ่มเดียวกับชาวไทยโคราช เพราะมีวัฒนธรรมและสำเนียงภาษาบางอย่างคล้ายคลึงกัน เนื่องจากมีความใกล้เคียงกันในทางภูมิศาสตร์เนื่องจากกลุ่มชาวไทยเบิ้งมักจะอาศัยอยู่บริเวณรอยต่อระหว่างภาคกลางกับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ด้วยความใกล้เคียงกันของพื้นที่ทำให้เกิดความคล้ายคลึงกันในด้านอัตลักษณ์ชาติพันธุ์ (ปฏิภาณ ผลสันต์, 2557: 18)

การตั้งถิ่นฐานแถบลุ่มแม่น้ำป่าสักของชาวไทยเบิ้ง มีหลักฐานการขุดค้นพบทางโบราณคดีในพื้นที่กลุ่มชัยบาดาล กลุ่มมะนาวหวาน และกลุ่มหนองบัว โดยกรมศิลปากร ตั้งแต่ปี พ.ศ.2539-2540รวม 18 แห่ง นอกจากนี้ยังพบการตั้งถิ่นฐานเก่าแก่ที่สุดตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายพื้นที่แถบลุ่มแม่น้ำลพบุรี อายุราว 3,000-3,500 ปีหลักฐานทางโบราณคดีชิ้นสำคัญ ได้แก่ ภาชนะดินเผา ภาชนะสำริด ขวานหินขัด ขี้แร่ และเครื่องประดับร่างกาย เป็นต้น (ไทยเบิ้ง, ม.ป.ป: ออนไลน์)

การเข้ามาตั้งถิ่นฐานของกลุ่มวัฒนธรรมที่น่าจะเป็นบรรพบุรุษ ชาวไทยเบิ้งในลุ่มน้ำป่าสัก โดยใช้หลักฐานอ้างอิงของชุมชนไทยเบิ้งในช่วงเวลานั้น ที่ปรากฎหลักฐานสำคัญหลายชิ้น เช่น ซากหินทราย ฐานโยนี บัวกลีบหนุน หินศิลาแลงลักษณะเป็นชิ้นส่วนของหินทรายรูปรอยแกะสลัก และชิ้นส่วนของสถาปัตยกรรมแบบองค์ปรางค์มีอายุร่วมสมัยกับพระปรางค์สามยอดอยู่ที่วัดโคกสำราญ หรือวัดใหญ่ เป็นวัดเก่าแก่คู่บ้านโคกสลุง นอกจากนี้ยังมีศิลปกรรมเก่าแก่ที่พบในพื้นที่หมู่บ้านชาวไทยเบิ้งในแถบลุ่มน้ำป่าสัก สามารถระบุได้ว่าเป็นศิลปกรรมไทยแบบอยุธยา ผ่านการคนพบบานพับประตูไม้แกะสลักรูปทวารบาล ที่วัดสิงหาราม และจากการขุดแต่งรอบพระอุโบสถเก่าของวัดจันทาราม ได้ค้นพบพระพุทธรูปสัมฤทธิ์จำนวนมาก ซึ่งเป็นศิลปกรรมแบบอยุธยา (ภูธร ภูมะธน, 2541: 291-295)

ส่วนการอพยพตั้งถิ่นฐานของชาวไทยเบิ้ง ที่ระบุว่า เป็นกลุ่มคนที่อพยพมาจากเวียงจันทน์ จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์การอพยพกวาดต้อนผู้คนจากเวียงจันทน์มาสู่บริเวณภาคกลางและภาคอีสานของไทยใน 2 ช่วง คือ ในสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชที่ทรงกอบกู้เอกราชปราบปรามหัวเมืองต่าง ๆ และได้ตั้งกรุงธนบุรีเป็นราชธานี ต่อมาใน พ.ศ. 2321 ลาวคิดก่อการกบฏ พระเจ้ากรุงธนบุรีจึงโปรดให้สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกกับเจ้าพระยาสุรสีห์ยกทัพไปรบหัวเมืองต่างๆ ได้แก่ เมืองเวียงจันทน์ เมืองสีสัตนาคนหุต และเมืองหลวงพระบาง ซึ่งสงครามในครั้งนั้นได้ทำให้มีการอพยพกวาดต้อนชาวบ้านจากทั้ง 3 หัวเมือง จำนวนมาก และโปรดให้ตั้งถิ่นฐานอยู่ในเมืองต่าง ๆ ในภาคกลางและภาคอีสาน เมืองลพบุรีในตอนนั้นเป็นเมืองที่มีพลเมืองน้อยจนเกือบมีสภาพเป็นเมืองร้าง จึงเป็นโอกาสที่ทำให้มีผู้คนหลากหลายชาติพันธุ์อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานเป็นจำนวนมาก เป็นเหตุให้ปัจจุบันชาวลพบุรีมีภาษาพูดสำเนียงที่หลากหลายแตกต่างกัน

ส่วนการอพยพอีกระลอกเกกิดขึ้นในช่วงที่ไทยทำสงครามกับลาวหลายครั้งในสมัยรัชกาลที่ 3 ระหว่างพ.ศ.2367 - 2392 มีเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับเวียงจันทร์ในการปราบกบฏเจ้าอนุวงศ์ได้มีการกวาดต้อนชาวลาวจากเวียงจันทน์มาไว้ที่เมืองลพบุรีเพื่อทดแทนชาวบ้านที่ถูกกวาดต้อนไปจนเกือบเป็นเมืองร้างเมื่อครั้งเสียกรุงแก่พม่าครั้งที่ 2 (ชนิกา วัฒนะคีรี, 2537 : 20)

ในทางวิชาการมีการกล่าวถึง กลุ่มชาติพันธุ์ไทยเบิ้งและไทยเดิ้ง ที่มีถิ่นฐานอยู่ในจังหวัดลพบุรีมานานกว่าสองทศวรรษ พื้นที่ของกลุ่มไทยเบิ้งอยู่ในเขตรอยต่อของภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ผู้คนที่อาศัยในพื้นที่แถบนี้มีอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่ผสมผสานเพราะเป็นชุมชนที่มีปฏิสัมพันธ์กับทั้งสองภูมิภาค มาอย่างยาวนาน

อย่างไรก็ตาม จากการสืบค้นข้อมูลทางวิชาการ เอกสาร รายงานวิจัยต่างๆพบข้อมูลไทเบิ้งจากชุมชนโคกสลุงเป็นหลัก เนื่องจากเป็นพื้นที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างเขื่อนป่าสักชลสิทธ์ รวมถึงการค้นพบหลักฐานทางโบราณคดี จึงมีหน่วยงาน องค์กร และภาควิชาการลงไปศึกษาจัดทำข้อมูลจำนวนมาก อีกทั้งพบว่า ชุดข้อมูลหลายชิ้นมีข้อค้นพบสอดคล้องกันว่า การศึกษาผลกระทบจากการสร้างเขื่อน ทำให้มีบุคคลภายนอกเข้าไปศึกษาในพื้นที่และค้นพบกลุ่มวัฒนธรรมเฉพาะที่เรียกตนเองว่า ไทเบิ้ง” แม้ว่าไทเบิ้งจะตั้งถิ่นฐานกระจัดกระจายตัวหลายจังหวัดในพื้นที่หลายชุมชน หากแต่สำนึกความเป็นไทเบิ้งนั้นมีความเข้มข้นแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขที่เกี่ยวข้องกับบริบทชุมชน และช่วงวัย

ชาวไทเบิ้ง ในชุมชนโคกสลุง ถือเป็นพื้นที่หลักที่มีการเข้าไปศึกษาวิถีวัฒนธรรมอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งมีกระบวนการรื้อฟื้นอัตลักษณ์ผ่านกิจกรรมทางวัฒนธรรมและการก่อตั้งพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านไทบิ้งโคกสลุง ทำให้หมู่บ้านนี้มีความเข้มข้นในการแสดงตัวตนและอัตลักษณ์ไทเบิ้ง ในขณะที่หมู่บ้านใกล้เคียงนั้น ไม่ได้นิยามความเป็นไทเบิ้งอย่างเข้มข้นนัก ดังนั้นข้อมูลที่ปรากฏในเอกสารชุดนี้จึงจะเป็นข้อมูลที่ประมวลมาจากเอกสารที่ศึกษาชาวไทเบิ้งโคกสลุงเป็นหลัก

กลุ่มชาวไทยเบิ้ง ตำบลโคกสลุง อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี เป็นกลุ่มชนที่มีขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมคล้ายกลุ่มคนไทยภาคกลาง แต่ยังมีลักษณะบางอย่างที่แสดงอัตลักษณ์ของกลุ่ม เช่น ภาษา การแต่งกาย อาหารการกิน การสร้างที่อยู่อาศัย นามสกุล ความเชื่อ การละเล่น เพลงพื้นบ้าน เครื่องมือเครื่องใช้ในการประกอบอาชีพ รวมทั้งการทอผ้าขาวม้าและการทอถุงย่ามเพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน (ภูธร ภูมะธน, 2541; สุรชัย เสือสูงเนิน, 2543; และสุธาทิพย์ ธีรานุวรรตน์, 2545 บริเวณนี้ในอดีตเคยเป็นแหล่งชุมชนโบราณ แบ่งออกเป็น 3 ยุค ดังนี้

1) ยุคก่อนประวัติศาสตร์ พบเศษภาชนะดินเผาที่บ้านเกาะพระแก้ว (บ้านร้าง) ถูกขุดค้นโดยกรมศิลปากร เมื่อ พ.ศ. 2538-2539

2) ยุคอิทธิพลวัฒนธรรมเขมร-ลพบุรี พบชิ้นส่วนกลีบขนุน ทำจากหินทรายที่วัดโคกสำราญพบศิลาแลงหินทรายตัดเป็นแท่งสี่เหลี่ยมเพื่อนำไปประกอบอาคารจำนวนหนึ่ง มีลักษณะเดียวกับที่ใช้ก่อพระปรางศ์สามยอดลพบุรี สันนิษฐานว่า อาจเป็นศาสนสถานก่อสร้างจากศิลาแลง หินทราย อิฐและกระเบื้องดินเผาที่โคกระฆัง รวมถึงบ้านโคกในบ้านเขตตำบลโคกสลุง ซึ่งเป็นเนินที่เคยเป็นถิ่นฐานในอดีต

3) ยุคปัจจุบัน ในอดีตตำบลโคกสลุงขึ้นกับอำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี จนกระทั่งพ.ศ. 2505 กระทรวงมหาดไทยประกาศตั้งอำเภอพัฒนานิคม ตำบลโคกสลุงจึงอยู่ในพื้นที่การปกครองอำเภอพัฒนานิคมนับจากนั้นมา

บ้านโคกสลุงมีชาวจีนจำนวนหนึ่งที่อาศัยอยู่ในตลาด เดินทางมาจากอำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี เข้ามาทำอาชีพค้าขาย เช่น ขายของชำ ทำก๋วยเตี๋ยว ทำโรงสี ฯลฯ กระทั่งมีครอบครัว แต่งงานกับคนท้องถิ่น ทำให้เกิดปรับตัวในการดำเนินชีวิตตามคนหมู่มาก เกิดการผสมผสานทางวัฒนธรม ทั้งพฤติกรรมการกินอาหารและความเป็นอยู่แบบเกษตรกร ขณะเดียวกันยังคงความเชื่อดั้งเดิม ดังเห็นจากการสร้างศาลเจ้าประจำกลางหมู่บ้าน

ด้านประวัติศาสตร์ของบ้านโคกสลุง (อุษณีย์ เกษมสันต์, 2542 และสุรชัย เสือสูงเนิน, 2543) ได้ปรากฏผ่านตำนานเรื่องเล่า และหลักฐานทางโบราณคดี

จากตำนานเรื่องเล่าที่ถูกเล่าสืบต่อกันมา ได้กล่าวถึงนายพราน 2 คนเข้าไปล่าสัตว์ในป่า ที่นั่งห้างรอยิงสัตว์ตอนกลางคืน ตกตอนกลางคืนมีหญิงสาวคนหนึ่งมาร้องขอความช่วยเหลือทำให้นายพรานเข้าใจว่า น่าจะเป็นเสือสมิง จึงตัดสินใจยิงหญิงสาว เมื่อถึงรุ่งเช้าแล้วลงมาดู พบว่า บุคคลที่ถูกยิงเป็นหญิงสาวไม่ใช่เสือสมิง นอนเสียชีวิตอยู่บริเวณโคกนั้น ต่อมาจึงได้ตั้งชื่อบริเวณนั้นว่า “โคกสาวหลง” จากนั้นเป็นระยะเวลาหลายปี จึงเปลี่ยนชื่อเป็น“โคกสลุง”

ส่วนหลักฐานที่ค้นพบจากสิ่งก่อสร้างที่อยู่ได้โบสถ์ ได้แก่ ก้อนหินศิลาแลงจำนวนมาก ก้อนหินทรายที่แตกหัก บางก้อนยังคงมีลวดลายที่ชัดเจน รวมไปถึงฐานโยนีที่วางอยู่ข้างโบสถ์หลังเก่าและหินทรายที่เรียกว่า บัวกลีบขนุน หินทรายรูปเทวรูปถือกระบอง หักเหลือเฉพาะส่วนเอว ปัจจุบันหลักฐานทุกชิ้นยังคงอยู่ที่วัดโคกสำราญ จากหลักฐานดังกล่าว ทำให้นักวิชาการบางคน ให้ความเห็นว่า พื้นที่เห่งนี้น่าจะเป็นปรางค์ ที่มีลักษณะคล้ายกันกับพระปรางค์สามยอดที่จังหวัดลพบุรี ซึ่งเป็นสมัยที่คนไทยได้รับอิทธิพลจากขอม

เป็นที่น่าสังเกตว่าบริเวณโคกสลุงนี้ เป็นที่สูงตามลักษณะภูมิประเทศและอาจเป็นแหล่งถลุงแร่เหล็กหรือแร่ชนิดใดชนิดหนึ่ง จึงตั้งชื่อหมู่บ้านแห่งนี้ว่า “โคกสลุง” เป็นเวลานานหลายช่วงอายุคน ก่อนที่จะเพี้ยนเปลี่ยนมาเป็น “โคกสลุง”

ส่วนเหตุผลที่สนับสนุนการเป็นพื้นที่ที่เคยเป็นแหล่งถลุงแร่ แล้วตั้งชื่อว่า โคกถลุง ปรากฎผ่านการออกเสียงคำของชาวไทยเบิ้งโคกสลุง ที่จะออกเสียง ถ.ถุง เป็น ส.เสือ เช่น คำว่า ถวิล ผู้สูงอายุ มักพูดว่า สวิล คำว่า ถนอม จะพูดว่า สนอม คำว่า แถลง บางคนจะพูดว่า แสลง คำว่า ถนัด จะพูดว่า สนัด และคำว่า สลุง จึงอาจเพี้ยนมาจากคำว่า ถลุง ได้เช่นกัน

หมู่บ้านโคกสลุงแต่ละหมู่บ้านจะเรียก “เนิน” เป็น “หย่อม” เช่น หย่อมมะขามหมู่ หย่อมหนองขัดงา หย่อมหนองจิก หย่อมหนองตามิ่ง หย่อมหัวโกรก หย่อมหนองกะเบียน หย่อมหนองใหญ่ หย่อมวัดใหญ่ เป็นต้น ส่วนที่มาของชื่อหย่อมจะเรียกตามสภาพนิเวศและกายภาพที่ปรากฏอยู่บริเวณนั้น เช่น หย่อมมะขามหมู่จะมีต้นมะขามใหญ่ขึ้น หลายต้น หย่อมหนองจิก เป็นชื่อหนองน้ำ หย่อมหนองตามิ่ง อยู่ใกล้วัดหนองตามิ่ง หย่อมหัวโกรก เป็นทางที่น้ำไหลผ่านและเซาะลึกเว้าเข้าไป เรียกว่าโกรก จึงเรียกหย่อมหัวโกรก หย่อมหนองกะเบียน อยู่ใกล้สระน้ำประจำหมู่บ้านอีกแห่งที่ชื่อ หนองกะเบียน จึงเรียกหย่อมหนองกะเบียน หย่อมหนองขัดงา เชื่อว่า บริเวณนี้จะมีการปลูกงา จึงตั้งชื่อว่า หนองขัดงา ชื่อสถานที่สิ่งเป็นที่บอกเล่าเรื่องราวและวิถีการดำเนินชีวิติของชาวไทยเบิ้งโคกสลุงที่เคยอาศัยอยู่ในบริเวณนี้

ชุมชนชาวไทยเบิ้งมีการตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำป่าสัก กระจัดกระจายอยู่ใน6 จังหวัด ได้แก่ 1) จังหวัดลพบุรี ในเขตอำเภอพัฒนานิคม อำเภอชัยบาดาล อำเภอสระโบสถ์ 2) จังหวัดสระบุรี ในเขตอำเภอวังม่วง 3) จังหวัดเพชรบูรณ์ ในเขตอำเภอศรีเทพ อำเภอวิเชียรบุรี 4) จังหวัดบุรีรัมย์ ในเขตอำเภอนางรอง อำเภอเมือง อำเภอลำปลายมาศ 5) จังหวัดชัยภูมิ ในเขตอำเภอจัตุรัส อำเภอบำเหน็จณรงค์ และ 6) จังหวัดนครราชสีมา ในทุกอำเภอ ยกเว้น อำเภอหนองบัวใหญ่ อำเภอสูงเนิน (ไทยเบิ้ง, ม.ป.ป: ออนไลน์)

ชุมชนไทยเบิ้งโคกสลุงเป็นชุมชนเกษตรกรรม ในอดีตทำการเกษตรและหาของป่าเป็นหลัก ต่อมาจากการเปลี่ยนแปลงไปสู่ความทันสมัย ทำให้วิถีการผลิตเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมที่ปลูกเพื่อยังชีพในครัวเรือนกลายเป็นการผลิตเพื่อขาย วิถีการดำรงชีพของชาวไทเบิ้งมีความหลากหลายทั้งการทำนา การทำประมง และงานจักสานและการทอผ้า โดยมีรายละเอียดดังนี้

การทำนา ในอดีตชาวไทเบิ้ง นิยมปลูกข้าวแบบนาปีเพื่อบริโภคในครัวเรือน ส่วนที่เหลือจะแบ่งขาย ส่วนปัจจุบันการปลูกข้าวเพื่อขายได้กลายเป็นอาชีพหลักของผู้คนในชุมชน อย่างไรก็ตาม ในช่วง พ.ศ. 2538 – 2542 มีการสร้างเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ และมีการเวนคืนพื้นที่ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่นาจากข้อจำกัดด้านพื้นที่ทำกินเชิงพื่นที่ทำให้ชาวไทเบิ้งมีการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตหันไปเป็นแรงงานในภาคอุตสาหกรรม

การทำประมง ในอดีตชาวไทยเบิ้งโคกสลุงส่วนใหญ่จับปลาจากแม่น้ำป่าสัก เพื่อยังชีพภายหลังจากการสร้างเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์แล้วเสร็จ เมื่อพ.ศ. 2542 ทำให้จำนวนปลาในแม่น้ำป่าสักเพิ่มจำนวนมากขึ้น ปัจจุบันมีชาวบ้านหลายครัวเรือนหันมาทำอาชีพประมงเป็นอาชีพหลักเพิ่มมากขึ้น

งานจักสานและการทอผ้า ในอดีตชาวไทยเบิ้งโคกสลุง มองว่า งานจักสานเป็นงานของผู้ชาย
ส่วนงานทอผ้าเป็นของผู้หญิง ฝ่ายชายจึงมักจะทำหน้าที่สานเครื่องมือเครื่องใช้ขึ้นเพื่อใช้เป็นอุปกรณ์ในการดำรงชีพ เช่น อุปกรณ์จับสัตว์หรือของใช้ทั่วไป ประกอบด้วย ข้อง ไซ หงอบ ตะกร้า เป็นต้น ส่วนฝ่ายหญิงมีหน้าที่ทอผ้า เพื่อนำมาเป็นเสื้อผ้าสวมใส่ปัจจุบันจากเงื่อนไขการเปลี่ยนแปลงของสภาพ เศรษฐกิจ สังคม ทำให้ค่านิยมดังกล่าวเปลี่ยนแปลงไป จากการผลิตเองกลายเป็นการหาซื้อจากตลาดแทน


ศาสนาและความเชื่อของชาวไทยเบิ้ง ประกอบด้วยความเชื่อ 2 ประเภทหลัก คือ 1) ความเชื่อในพุทธศาสนา และ 2) ความเชื่อต่อสิ่งเหนือธรรมชาติ (ภูธร ภูมะธน, 2541)

1) ความเชื่อในพุทธศาสนา

บ้านโคกสลุงมีสถานที่สำคัญ คือ วัดใหญ่หรือวัดโคกสำราญ หรือ “วัดโคกสลุง” ตั้งอยู่หมู่ 3 เหนือหมู่บ้าน ที่มาชื่อวัดใหญ่เป็นชื่อเดิมที่ชาวบ้านเรียกเช่นเดียวกับชื่อวัดโคกสลุง ส่วนวัดโคกสำราญเป็นชื่อที่ปรากฏอยู่ในกรมศาสนา ซึ่งทั้ง 3 ชื่อ เป็นวัดเดียวกัน เป็นแหล่งที่มีโบราณสถานฝังอยู่ใต้โบสถ์หลังเก่า ปัจจุบันได้มีการถมพื้นที่ทับสถานที่ดังกล่าว ส่วนชิ้นที่วางอยู่บน ได้แก่ ฐานโยนีบัวกลีบขนุน ชิ้นส่วนเทวรูป

นอกจากนี้ยังมีวัดหนองตามิ่ง วัดน้อย หรือวัดโคกสำรวย ตั้งอยู่หมู่ที่ 6 อยู่ทางทิศใต้ของหมู่บ้านเป็นวัดเดียวกันแต่มีความแตกต่างกันด้านชื่อเรียก คำว่า “หนองตามิ่ง มาจากบริเวณวัดนี้เป็นหนองนาของตามิ่ง จึงตั้งชื่อตามเจ้าของที่เดิม ส่วนคำว่า “วัดน้อย” มาจากที่มีวัดใหญ่ตั้งอยู่บริเวณทิศเหนือของหมู่บ้าน ทำให้วัดที่ก่อตั้งขึ้นภายหลังจึงถูกเรียกว่า “วัดน้อย” ส่วนชื่อวัดโคกสำรวยชาวบ้านเชื่อว่า ตั้งให้คล้องจองกับวัดใหญ่โคกสำราญ

สำนักสงฆ์หนองโสนโพธิ์ทอง ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2537 อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของหมู่บ้าน
หมู่ที่ 11 ที่มาของชื่อเรียกนี้เดิมบริเวณนี้มีหนองน้ำและมีต้นโสนขึ้นเป็นจำนวนมาก จึงตั้งชื่อตามสถานที่เดิมคือ วัดหนองโสน และเติมคำว่าโพธิ์ทองเข้าไปเพื่อให้คล้องจองและความหมายดีเป็นมงคล

2) ความเชื่อต่อสิ่งเหนือธรรมชาติ

ชาวไทยเบิ้งที่มีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป ยังคงมีความเชื่อเรื่องผีที่สำคัญ ดังนี้

ผีบ้านผีเรือนหรือผีปู่ย่าตายาย ชาวไทยเบิ้งไม่นิยมตั้งศาลบูชาผีบ้านผีเรือนผีปู่ย่าตายาย หรือศาลเจ้าที่ แต่เชื่อว่ามีผีประจำอยู่ในบ้านเรือน

ผีปอบ ชาวไทยเบิ้ง มีความเชื่อว่าปอบมีอยู่จริง ชาวบ้านบางคนเคยพบเห็น และผีปอบเคยสิงคนในหมู่บ้าน คนที่ถูกผีเข้าบางคนยังมีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน คนที่ถูกสิงจะมีอาการแปลกประหลาก เช่น กินของดิบบางคนเดินแก้ผ้า

ผีนางไม้ ส่วนใหญ่ชาวไทเบิ้งมีความเชื่อเรื่องผีนางตะเคียนมากที่สุด และต่างเชื่อกันว่า ตามต้นไม้ใหญ่จะมีผีประจำอยู่ หากมีผู้ใดไปทำอะไรไม่ดีจะถูกลงโทษ

ผีกระสือ ชาวไทยเบิ้งเล่าว่า เคยพบเห็นผีกระสือเข้ามาในหมู่บ้านช่วงค่ำ ๆ หรือตอนกลางคืน ในลักษณะของดวงไฟแวบๆ ลอยมาวนเวียนใต้ถุนบ้าน บางทีก็ดูดกินตับไตไส้พุงของสัตว์ที่เลี้ยงไว้ในใต้ถุนบ้านจนตาย

ผีพราย หรือ ผีเงือก ผีพรายหรือผีน้ำหรือผีเงือกจะมีความเหมือนกัน ชาวไทเบิ้ง เชื่อว่า ผีเงือกอยู่ประจำวังน้ำ หากผู้ใดไปหาปลา ลงเล่นน้ำหรือถ่ายปฏิกูลลงแม่น้ำ อาจจะถูกผีเงือกหลอกหลอนได้

ผีปะกำ หรือ ผีประกำ ในอดีตชาวไทยเบิ้งโคกสลุงเชื่อว่า ผีปะกำเคยมีอาชีพเกี่ยวกับการคล้องช้าง ก่อนจะออกไปคล้องช้างจะต้องทำพิธีเซ่นสรวงบูชาผีปะกำ จึงจะเกิดผลดีต่อการไปคล้องช้าง

ผีโรงผีโลง เป็นผีของบรรพบุรุษ ของแต่ละบ้านชาวไทเบิ้ง เชื่อว่า ผีพวกนี้จะไม่ทำร้ายผู้ใดแต่ต้องกราบไหว้บูชา

ผีตายโหง หมายถึงคนที่ตายแบบผิดปกติ ผีเหล่านี้จะมาหลอกหลอนคนอื่น ไม่ยอมไปผุดไปเกิดง่าย ๆ

ผีตะมอย ชาวบ้านบางหมู่บ้านเชื่อเรื่องผีตะมอย แต่ไม่สามารถระบุรูปร่างได้แน่ชัด แต่เป็นผีขี้ขโมย ชอบลักขโมยกินข้าวของชาวบ้าน

พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์

ในอดีตชาวไทยเบิ้งมีความเชื่อเรื่องเจ้าพ่อและศาลของสิ่งศักดิ์สิทธิ์จำนวนมาก ศาลเหล่านี้สร้างขึ้นจากการที่ชาวบ้านบนบานศาลกล่าวต่อเจ้าพ่อองค์ใดองค์หนึ่งที่ตนรู้จัก หลังจากได้รับผลสมตามที่ต้องการ จะมีการตั้งศาลถวาย ต่อมาจึงมีผู้คนมากราบไหว้บูชาบนบานศาลกล่าวให้พ้นเรื่องเดือดเนื้อร้อนใจ หลังจากได้ตามที่ขอจึงพากันเซ่นสรวงบูชาเป็นการบำรุงศาล ภายหลังไม่มีคนดูแล ศาลจึงถูกทิ้งให้ชำรุดและทรุดโทรม

ศาลที่ชาวไทยเบิ้งโคกสลุงรู้จักกันมาแต่ดั้งเดิมมีหลายศาล เช่น ศาลเจ้าพ่อปราสาททอง ชาวบ้านไม่สามารถอธิบายเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของศาลเจ้าพ่อองค์นี้ได้ อย่างไรก็ตามชาวบ้านเชื่อว่า เป็นศาลที่ศักดิ์สิทธิ์ สร้างเป็นเสาไม้สี่ต้น มุงด้วยใบลาน ตั้งอยู่ริมแม่น้ำป่าสัก เมื่อชาวบ้านเดินผ่านในช่วงที่ไปทำไร่ทำนาจะต้องไหว้บอกกล่าวศาลเจ้าพ่อแห่งนี้ โดยการบอกจุดประสงค์ในคำขอและพูดคำว่า “โผลกๆๆๆ” หลังจบประโยคเสมอ ปัจจุบันศาลแห่งนี้ได้สูญหายไป คงเหลือไว้เพียงคำเล่าลือ นอกจากนี้ยังมีศาลอื่นๆ เช่น ศาลเจ้าพ่อหลวง ศาลเจ้าพ่อศรีเทพหรือหลวงพ่อเพชร ศาลเจ้าพ่อหลวงตู้ และศาลเจ้าพ่อชัยบาดาล (ภูธร ภูมะธน, 2541)


ประเพณีในรอบปีของชาวไทยเบิ้งโคกสลุงมีความคล้ายกับชาวไทยในภาคกลาง สามารถสรุปประเพณีรอบปีที่สำคัญ ดังนี้

1. งานเทศน์มหาชาติ ในแต่ละวัดจะมีการจัดงานในช่วงเวลาที่แตกต่างกัน ถ้าไม่เทศน์ในช่วงเข้าพรรษา จะเทศน์กลางเดือน 12 บริเวณวัดจะถูกตกแต่งให้สวยงาม เนื่องจากเทศน์มหาชาติถือเป็นงานบุญที่สำคัญ ชาวบ้านจะร่วมมือกันจัดงานให้สำเร็จลงได้ด้วยดี

2. วันสำคัญอื่นๆ ทางพุทธศาสนาชาวไทเบิ้งจะมีการทำบุญตักบาตรในช่วงเช้าของวันสำคัญทางพุทธศาสนา ส่วนตอนค่ำจะไปเวียนเทียนที่วัด เช่น วันมาฆบูชา ทำบุญตักบาตรและเวียนเทียนในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3วันวิสาขบูชาทำบุญตักบาตรและเวียนเทียนในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 และวันอาสาฬหบูชาทำบุญตักบาตรและเวียนเทียนในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8

3. วันเข้าพรรษาถือเป็นวันสำคัญทางศาสนาเฉกเช่นวันสำคัญทางพุทธศาสนาอื่นๆ ในงานบุญดังกล่าวชาวไทยเบิ้งโคกสลุงจะนำพุ่มดอกไม้ ผ้าอาบน้ำฝนและเทียนพรรษาไปถวายพระ โดยจัดขึ้นในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8

4. บุญออกพรรษาหรือลาพรรษาจะมีการตักบาตรเทโวในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ตามประเพณีชาวบ้านจะเตรียมอาหารไปตักบาตรเทโวอย่างพร้อมเพรียง ขนมที่ชาวไทยเบิ้งทำเป็นหลักเพื่อนำไปตักบาตรเทโว คือ ข้าวต้มมัด ขนมเทียน และขนมกล้วย

5. วันตรุษและสงกรานต์ ประเพณีตรุษจะทำในวันพระสิ้นเดือน 4 ชาวบ้านจะกวนข้าวเหนียวแดงเพื่อนำไปถวายพระ ส่วนข้าวโป่งเป็นขนมที่มีลักษณะคล้ายกับข้าวเกรียบว่าวของภาคกลาง ปัจจุบันวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป ชาวบ้านจึงไม่นิยมทำกันเอง เนื่องจากขั้นตอนการทำยุ่งยาก ส่วนประเพณีสงกรานต์จะทำในวันที่ 13 – 15 เมษายน มีการทำบุญตักบาตรสรงน้ำพระพุทธรูป สรงน้ำพระสงฆ์ และชาวบ้านจะเล่นสาดน้ำกัน แต่จะมีความพิเศษที่แตกต่างจากประเพณีสงกรานต์ของไทย คือการละเล่นรื่นเริงต่างๆ เช่น รำโทน ลูกช่วง ชักเย่อ ฯลฯ

6. วันลอยกระทง จัดขึ้นในวันเพ็ญเดือน 12 ชาวบ้านจะช่วยทำกระทง ซึ่งกระทงที่จัดทำขึ้นมีหลายแบบ ส่วนใหญ่ทำจากต้นกล้วย ใช้กาบกล้วยตัดได้ขนาดแล้วตัดเป็นรูปเรือ ใส่ดอกไม้ ธูป เทียน ลงในแพ แล้วนำไปลอยแม่น้ำป่าสัก ในวันลอยกระทง ชาวบ้านมักจะมาประชุมกันบริเวณวัดและาลอยกระทงหน้าวัดอย่างพร้อมเพรียงกัน

7. ประเพณีทอดกฐิน ทอดผ้าป่า ในการทอดกฐิน จะทอดตั้งแต่หลังออกพรรษาถึงวันเพ็ญเดือน 12 ซึ่งการทอดกฐินของชาวไทยเบิ้ง แบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ คือ ทอดกฐินแบบธรรมดา และแบบจุลกฐิน ส่วนการทอดผ้าป่าจะไม่มีกำหนดแน่นอน ในอดีตมักจะทอดผ้าป่าทุกวันพระในช่วงเข้าพรรษา

8. วันสารทเป็นประเพณีที่นิยมทำเพื่ออุทิศส่วนกุศลไปให้บรรพบุรุษ ในเดือน 10 ชาวบ้านจะกวนกระยาสารทเพื่อนำไปถวายพระ หลังเสร็จพิธีจะชวนกันเข้าป่าไปหาผลไม้ป่ากันอย่างสนุกสนาน

9. บุญกลางบ้าน เป็นประเพณีของชาวไทยเบิ้ง จะทำเฉพาะปีที่ฝนฟ้าไม่ตกตามฤดูกาล วัตถุประสงค์ในการทำเพื่อเป็นการทำบุญบูชาผีบรรพบุรุษ เพื่อให้คนในหมู่บ้านอยู่กันอย่างร่มเย็นเป็นสุขไม่มีโรคภัยร้ายแรง ทั้งนี้ การทำบุญกลางบ้าน เดิมทีจะทำกลางเดือน 6 เดือน 7 หรือเดือน 8 ทำเฉพาะปีที่ฝนแล้ง หากปีใดมีน้ำอุดมสมบูรณ์จะไม่มีการทำบุญกลางบ้าน ปัจจุบันมีการบุญกลางบ้านเป็นประจำทุกปี ในช่วงกลางเดือน 6

10. การขึ้นปีใหม่ เดิมชาวไทยเบิ้งโคกสลุงจะมีการจัดเฉลิมฉลองงานปีใหม่เช่นเดียวกับงานปีใหม่ทั่ว ไป กระทั่งในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านไทยเบิ้งโคกสลุง ได้จัดกิจกรรมตลาดนัดศิลปวัฒนธรรมและเวทีสาธารณะชุมชนที่ทำการพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านในช่วงปีใหม่ เพื่อชาวไทยเบิ้งได้นำการละเล่นพื้นบ้านรูปแบบต่างๆ มาเผยแพร่ สืบสาน สืบทอด และแลกเปลี่ยนให้กับคนในชุมชน โดยมีผู้ใหญ่ทำหน้าที่สอน เพื่อให้ผู้คนและเด็กได้เรียนรู้ สืบทอดและบอกต่อ เพื่อให้ภูมิปัญญาวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ได้รับการสืบทอดการบ่งบอกอัตลักษณ์ของชาวไทเบิ้งให้คงอยู่คู่บ้านคู่เมืองต่อไป เช่น การละเล่นวิ่งว่าวติดธนู เสือกินงัว (วัว) ตีลูกล้อ (ระวง) รถล้อไม้ จิ้งหน่อง ปืนไม้ไผ่ จิ้งโป๊ะ ว่าวอีลุ้ม ว่าวปักเป้า ว่าวจุฬา ว่าวสองห้อง รวมไปถึงการสานปลาตะเพียน การสานตุ๊กโต่งและการสอนสานจิ้งหันใบลาน ปัจจุบันกิจกรรม เหล่านี้หาเล่นได้ยากในบ้านโคกสลุง ทางพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านจึงเล็งเห็นว่า หากไม่รักษาไว้อนาคตลูกหลานไทยอาจจะไม่รู้จักและไม่มีโอกาสที่จะได้เล่นและสัมผัส (ภูธร ภูมะธน, 2541)

ประเพณี เทศกาลและพิธีกรรมที่เกี่ยวกับชีวิต

การตั้งครรภ์และคลอดบุตร

ชาวไทยเบิ้งโคกสลุงมีประเพณีความเชื่อเกี่ยวกับการเกิด (ภูธร ภูมะธน, 2541) นับตั้งแต่ผู้หญิงท้องจะมีข้อห้ามต่างๆ คือ คนท้องห้ามทำบาป ไม่ตกปลา ไม่ฆ่าสัตว์ ห้ามเตรียมของใช้ของลูกไว้ก่อน เช่น ผ้าอ้อม ที่นอน หมอน ถ้าจะเตรียมที่นอนและหมอนไว้ต้องไม่เย็บปิดปากที่นอน หรือปากหมอน เมื่อคลอดแล้วจึงจะเย็บปิดปากหมอนปาก

นอกจากนี้ ยังห้ามคนท้องข้ามขอนไม้ใหญ่ ไม่ไปเยี่ยมคนไข้หนัก ไม่ไปงานศพ ถ้าจะไปงานศพต้องหาเข็มกลัด กลัดผ้าถุงด้านในบริเวณท้อง เพื่อป้องกันสิ่งที่ไม่ดีไม่ให้เกิดในท้อง ไม่ไปดูคนอื่นคลอดลูก เพราะมีความเชื่อว่าจะทำให้คลอดยาก ห้ามอาบน้ำตอนกลางคืนเพราะกลัวจะเกิดแฝดน้ำ ส่วนการรับประทานอาหารตต้องรีบอิ่มก่อนบุคคลอื่นแม้ว่าจะยังไม่อิ่ม แล้วจึงกลับไปกินต่อภายหลังเพราะมีความเชื่อว่า อิ่มก่อนจะทำให้คลอดง่าย

อีกทั้งยังมีความเชื่อว่า ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์หากได้ลอดท้องช้างหรือดื่มน้ำในรอยเท้าช้างจะทำให้คลอดง่าย ในอดีตหากมีคนเข้าป่าแล้วพบรอยเท้าช้างมีน้ำขังอยู่จะตักน้ำในรอยเท้านั้นใส่กระบอกกลับบ้านให้หญิงตั้งครรภ์ได้ดื่มกิน รวมถึงเมื่อเกิดจันทรคราสหรือสุริยคราสจะต้องปลุกลูกในท้องให้รู้ตัวด้วยโดยเอามือตบท้องเบาๆ และบอกให้ลูกรู้ว่าเกิดคราสจะทำให้คลอดง่าย โดยมีเนื้อความว่า “เกิดจันทรคราสแล้วลูกเอ๊ย อยู่เย็นเป็นสุข สนุกสบายนะ ลูกนะ เกิดมาก็ขอให้มาค้ำมาคูณกันเน้อ”

ส่วนการกินอาหาร ชาวไทยเบิ้งโคกสลุง เชื่อว่า คนท้องไม่ควรรับประทานอาหารรสจัด เช่น เผ็ดจัด เปรี้ยวจัด และไม่ให้กินอาหารพร่ำเพรื่อ ห้ามกินกล้วยแฝด กลัวว่าจะมีลูกแฝด ทำให้คลอดยาก ไม่ให้นั่งหรือยืนบริเวณบันไดหรือประตู

ขั้นตอนการเตรียมการคลอด เมื่อท้องแก่ ผู้เป็นสามีต้องทำงานบ้านที่หนักแทนภรรยา เช่น หาบน้ำ ตำข้าว หาปลาไว้ทำปลาแห้งเพื่อเป็นอาหารสำหรับคนอยู่ไฟ และหายาประเภทว่านไพลเตรียมไว้ให้ภรรยาและเตรียมตัดฟืนไว้เพื่อใช้ในการอยู่ไฟ ส่วนมากจะใช้ไม้แสมสาร ไม้สะแก

นอกจากนี้ หญิงตั้งครรภ์บางคน โดยเฉพาะการตั้งครรภ์ลูกคนแรกจะกลับไปคลอดที่บ้านแม่ตนเอง โดยจัดเตรียมห้อง “ในเรือน” เป็นห้องคลอด บางบ้านจะทำด้วยสายสิญจน์วนรอบห้องคลอด บางคนอาจทำสายสิญจน์คล้องคอคนท้องไว้เพื่อป้องกันไม่ให้ผีมารบกวน ภายในห้องที่ถูกใช้เป็นห้องคลอดต้องทำเตาไฟ โดยเอาไม้ขอนวางขวางกันเป็นคอกหมู เอากาบกล้วยปูรองพื้นและนำดินใส่จนเต็ม เตรียมแคร่นอนไว้ข้างเตาไฟ ใต้ถุนของห้องคลอดจะขุดหลุมตรงกับร่องสำหรับขับถ่ายของเสียไว้ รอบหลุมจะตัดหนามพุทราหรือหนามอื่นมาสะไว้โดยรอบเพื่อป้องกันผีปอบ ผีกระสือไม่ให้มากินเลือด กินของคาว ของเสียที่ถ่ายทิ้งลงมาทางร่องนั้น

การคลอด เมื่อท้องแก่และเริ่มปวดท้องจะไปตามหมอตำแยมาทำคลอด เริ่มด้วยหมอตำแยจะทำพิธีไหว้ผีบ้านผีเรือน เครื่องเซ่นไหว้ประกอบด้วยขนมต้ม ข้าวเหนียวนึ่ง กล้วย ดอกไม้ ธูป เทียน และเงิน จัดใส่พานเพื่อไหว้ “ปู่ ย่า ตา ยาย ทางพ่อก็ดี ให้มาช่วยให้คลอดง่ายให้มาปกปักรักษาให้คลอดง่าย” การเตรียมตัวคลอดจะนิยมให้คนท้องนั่งหันหน้าไปทางทิศเหนือ หรือทิศตะวันออก และให้นั่งพิงครกหรือพิงหลังสามีเอาเท้ายันฝาไว้ เมื่อเด็กคลอดออกมาแล้วผู้เป็นสามีหรือคนในบ้านจะรีบติดไฟต้มน้ำร้อนเพื่อเตรียมอาบน้ำเด็กต่อไป ถ้าการคลอดมีอาการผิดปกติจะใช้หมอพื้นบ้านมาเสกมาเป่า หรือทำน้ำมนต์ให้ดื่มเป็นการสะเดาะเคราะห์ เมื่อเด็กตกฟากแล้วจะเอาด้ายมัดสะดือ 3 เปลาะ ใช้ขมิ้นรองมือ วางสายสะดือบนขมิ้นใช้ผิวไม้รวกตัดออก 2 เปลาะ ใช้รังหมาร่าเผาไฟให้ละเอียดนำไปพอกสะดือ เพื่อให้สะดือแห้งและต้องระมัดระวังไม่ให้สะดือเปียกน้ำ

ส่วนรกจะนำใส่หม้อตาลและนำเกลือใส่เพื่อไม่ให้เน่า หลังจากนั้นผู้เป็นสามีหรือแม่ใหญ่จะเป็นผู้นำรกไปฝังไว้ที่ใต้บันได เพราะมีความเชื่อว่าเมื่อเด็กเติบโตขึ้นจะได้เป็นคนรักบ้านเป็นห่วงบ้าน จะไปที่ใดก็ตามจะต้องกลับบ้านเสมอ เมื่อฝังรกใต้บันไดแล้วจะสุมไฟไว้เหนือหลุมที่ฝังรกเพื่อป้องกันสัตว์ไปขุดคุ้ย

ส่วนแม่ เมื่อคลอดและรกออกแล้ว หมอตำแยจะให้ดื่มน้ำมะขามเปียกใส่เกลือซึ่งเป็นยาสมุนไพร หลังจากนั้นจะนำเด็กไปอาบน้ำอุ่น ทาขมิ้นดินสอพอง วางแด็กนอนในกระด้ง ถ้าเป็นผู้ชายจะนิยมจัดหาสมุดดินสอวางในกระด้ง ถ้าเป็นลูกสาวจะหาด้าย เข็ม วางในกระด้ง แล้วหมอตำแยจะทำพิธีทิ้งกระด้ง (ร่อนกระด้ง) และพูดว่า “3 วันเป็นลูกผี 4 วันเป็นลูกคน ลูกใครหลานใครก็มารับไปเด้อ” ว่าดังนี้ 3 ครั้งจะมีคนมารับกระด้งไป คนที่มารับกระด้งนี้จะต้องเป็นคนเลี้ยงลูกง่าย เป็นคนดีมีศีลธรรม เมื่อรับกระด้งมาแล้วจะกล่าวว่า “ลูกฉันเอง ฉันจะผูกเอามิ่งเอาขวัญลูก” เมื่อรับไปแล้ววางกระด้งลงทำพิธีเรียกขวัญ ผูกข้อมือรับเป็นลูก เป็นหลาน “ขวัญเอ๋ยมาเฮอะมาลูกมาแม่จะผูกเป็นลูกเป็นเต้า อยู่เย็นเป็นสุขสนุกสบาย ความเจ็บก็ไม่ได้ความไข้ก็ไม่มี ตั้งแต่วันนี้ไปให้เลี้ยงง่าย”

หลังจากนั้นจะเป็นขั้นตอนการอยู่ไฟ การอยู่ไฟหรือภาษาพื้นบ้านชาวไทยเบิ้งเรียกว่า “อยู่กรรม” เป็นการอยู่ไฟฟืน แม่เด็กจะนอนข้างไฟ โดยนอนเหยียดแขนเหยียดขาบนแคร่ซึ่งส่วนมากจะเป็นไม้กระดานแผ่นเดียว การนอนอยู่ไฟจะไม่ให้งอแขนงอขาและห้ามไม่ให้ออกนอนบริเวณที่อยู่ไฟ เมื่อแข็งแรงดีแล้วจะลุกขึ้นเดินได้เล็กน้อย ผู้ที่ไปเยี่ยมเยียนห้ามทักถามเรื่องร้อน เช่น “ร้อนไหม” อาหารสำหรับผู้อยู่ไฟ สามารถรับประทานได้เฉพาะข้าวกับเกลือ โดยการกัดก้อนเกลือกินกับข้าวสวย แล้วดื่มน้ำร้อนตามเข้าไป จะทำให้รู้สึกว่าข้าวมีรสหวาน หรือกินข้าวกับปลาช่อนแห้ง น้ำที่ใช้ดื่มจะต้องดื่มน้ำร้อนเท่านั้น นอกจากนี้ยังมีข้อห้ามไม่ให้กินของเย็น เช่น แตงโม ฟัก อาหารบางชนิดเป็นอาหารต้องห้าม ได้แก่ ผักประเภทมีมือ เช่น ตำลึง ปลาประเภทที่มีเงี่ยง เช่น ปลาดุก ปลาแขยง เพราะกลัวแสลง เมื่อออกจากไฟแล้วจึงสามารถรับกินหมู ไก่ และแกงเลียง

การแต่งงาน

วิถีชีวิตของชาวไทยเบิ้งในอดีต ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำนาหาเลี้ยงชีพตลอดเวลาช่วงกลางวัน โอกาสที่ชายหนุ่มจะได้พบปะพูดคุยเกี้ยวพาหญิงสาวจึงมีน้อย เว้นแต่โอกาสในงานบุญ งานวัด งานตรุษ สารท และช่วงเวลากลางคืนที่บ้านหญิงสาวจะจุดตะเกียงสว่างไสว ทำงานอยู่ใต้ถุนบ้าน เช่น ทอผ้า ตำข้าว กรองแฝก กะเทาะเปลือกละหุ่ง ชายหนุ่มจะไปเที่ยวบ้านหญิงสาว ช่วยทำงานหรือนั่งคุยเป็นเพื่อนขณะหญิงสาวทำงาน เป็นโอกาสที่หนุ่มได้พบปะเกี้ยวพากัน หรือบางครั้งเพื่อนบ้านในหมู่บ้านมีงานบวช งานศพ หญิงสาวจะไปช่วยงานที่บ้านเจ้าภาพ เช่น ทำอาหาร ทำขนม ก็เป็นอีกโอกาสหนึ่งที่ชายหนุ่มได้มีโอกาสพบปะพูดคุยทำความรู้จักกัน เมื่อรู้จักกันแล้วถ้าชายหนุ่มพึงพอใจจะติดตามไปพูดคุยพบปะหญิงสาวถึงบ้านในโอกาสต่อไปเพื่อศึกษานิสัยใจคอ

เมื่อชายหนุ่มตกลงใจต้องการหญิงสาวนั้นเป็นคู่ชีวิต ชายหนุ่มจะบอกบิดามารดา ให้จัดหาเถ้าแก่ไปทาบทามและสู่ขอ เถ้าแก่ที่ไปทาบทามจะเป็นบุคคลที่มีศีลธรรม เป็นที่เคารพนับถือของผู้คน ในการทาบทามนั้น ฝ่ายหญิงก็จะมีผู้ใหญ่ที่นับถือเป็นพยานรับรู้ด้วย เมื่อทาบทามแล้วเห็นว่าฝ่ายหญิงสาวไม่รังเกียจก็จะมีการพูดจาสู่ขอ และนัดหมายวันที่จะหาฤกษ์งามยามดีเพื่อกำหนดวันหมั้นและวันแต่งงานต่อไป

เมื่อได้ทาบทามสู่ขอแล้วจะให้พระสงฆ์หรือหมอดูกำหนดฤกษ์ เพื่อเป็นวันหมั้น ซึ่งจะต้องเป็น “วันฟู” เพราะตามความเชื่อไทยเบิ้งโคกสลุงจะไม่จัดใน “วันจม” วันฟู หมายถึง วันอธิบดี วันธงชัย ส่วนวันจม หมายถึง วันอุบาทว์และวันโลกาวินาศ สำหรับเดือนที่นิยมจัดงานจะเป็นเดือนคู่ ทั้งนี้ จะไม่จัดงานระหว่างเข้าพรรษา เมื่อได้ฤกษ์งามยามดีสำหรับการหมั้นแล้ว ฝ่ายชายจะจัดเถ้าแก่และเตรียมเงินทองและของหมั้นตามที่ฝ่ายหญิงเรียกร้องนำไปทำพิธีที่บ้านฝ่ายหญิง ซึ่งอาจจะหมั้นไว้นาน 3-5 ปี แล้วจึงแต่งงาน แต่ส่วนมากจะนิยมหมั้นพร้อมด้วยการแต่งงาน หนุ่มสาวบางคู่ที่ชอบพอกัน แต่บิดามารดาของหญิงสาวไม่ชอบหนุ่มผู้นั้น อาจจะเพราะยากจน หรือบิดามารดาและญาติผู้ใหญ่อาจจะชอบชายหนุ่มคนอื่นมากกว่า หญิงสาวอาจจะหนีตามชายหนุ่มคนที่ตนรักไป ซึ่งจะทำให้บิดามารดาของฝ่ายหญิงอับอาย เมื่อหนีไปอยู่ด้วยกันระยะหนึ่งแล้ว ฝ่ายชายจะจัดผู้ใหญ่ไปขอขมาต่อบิดามารดาของฝ่ายหญิง ซึ่งจะไม่กล้าเรียกร้องเงินทองขอขมานี้มากนัก

เมื่อใกล้ถึงวันแต่งงาน ทั้งบ้านฝ่ายชายและบ้านฝ่ายหญิงจะมีการเตรียมตำข้าว หาฟืน หาปลา หาผักป่า เพื่อเตรียมทำอาหารในวันงาน เนื้อสัตว์ที่ใช้ทำอาหารของชาวไทยเบิ้งนิยมใช้ปลา จะไม่มีการฆ่าหมู วัว หรือควาย อาหารที่ทำเลี้ยงพระและเลี้ยงแขกในงานแต่งงานจะเป็นอาหารพื้นบ้านที่เรียบง่าย เช่น แกงหัวค้อแกงหัวลาน แกงขนุน แกงหน่อไม้ป่า ขนมจีน และแกงบอน

ส่วนขนมหวานที่นิยม ได้แก่ ลอดช่องน้ำกะทิ ข้าวตอก ข้าวโป่ง ข้าวเหนียวแดง อาหารทั้งคาวและหวานนั้นจะจัดทำกันเองโดยมีเพื่อนบ้านช่วยกันทำ

ขบวนขันหมาก เมื่อขึ้นไปบนเรือนพร้อมทั้งมอบของขันหมากแก้ฝ่ายเจ้าสาวแล้ว ฝ่ายเจ้าสาวจะมอบแป้งกระสอบหนึ่งถุง เป็นดินสอพองปั้นเป็นก้อนเล็กๆ บรรจุในซองกระดาษแก้วสีต่างๆ เป็นของชำร่วย จากนั้นเถ้าแก่ฝ่ายเจ้าสาวจะตรวจนับสินสอดที่ฝ่ายเจ้าบ่าวนำมา เมื่อตรวจสอบว่าครบถ้วนถูกต้องจึงจะทำพิธีผูกข้อมือโดยบิดามารดาของฝ่ายเจ้าสาวจะผูกข้อมือเจ้าบ่าว เรียกว่า ผูกเอาเขย และมอบเงินรับไหว้ จากนั้นบิดามารดาฝ่ายเจ้าบ่าวจะผูกข้อมือเจ้าสาว เรียกว่า ผูกเอาสะใภ้

หลังจากนั้นจะเชิญญาติผู้ใหญ่และผู้ที่เคารพนับถือผูกข้อมืออวยพรให้แก่บ่าวสาว เมื่อเสร็จพิธีผูกข้อมือจึงจะยกสำรับอาหารเลี้ยงผู้มาร่วมงานและจะมีพิธีเกี่ยวกับบ่าวสาวอีกครั้งในตอนเย็น ซึ่งเป็นพิธีมอบที่นอน หรือพิธีส่งตัวเจ้าบ่าวเจ้าสาว เป็นที่น่าสังเกตว่าพิธีแต่งงานของชาวไทยเบิ้งในอดีตจะไม่มีพิธีรดน้ำหรือหลั่งน้ำสังข์ แต่ในระยะเวลาต่อมาจนกระทั่งถึงปัจจุบันจะมีพิธีหลั่งน้ำสังข์เช่นเดียวกับเพราะจำลองคนลพบุรี (ภูธร ภูมะธน, 2541)

การรักษาโรค

การบูน คือ พิธีกรรมการเสี่ยงทาย ผู้ทำหน้าที่ในพิธีกรรมนี้เรียกว่า “หมอบูน” ทำหน้าที่เสี่ยงทายสิ่งต่าง ๆ ที่เป็ความวิตกกังวลของคนในชุมชน โดยเฉพาะโรคภัยข้เจ็บต่าง ๆ

เมื่อมีอาการเจ็บป่วยที่ไม่สามารถรักษาให้หายได้ด้วยการเพทย์สมัยใหม่ ชาวไทเบิ้งจะไปหา “หมอบูน” เพื่อทำพิธีกรรมเสี่ยงทาย เพื่อค้นหาสาเหตุของความเจ็บป่วย ทำให้เกิดสาเหตุที่เกิดขึ้น พร้อมวิธีการแก้ไข กล่าวคือ เวลาป่วยไปหาหมอแล้วไม่หายจากอาการเจ็บป่วย วิธีการตรวจ หมอบูนจะสอบถามอาการผู้ป่วย ด้วยการตั้งคำถามว่าเป็นโรคใด โดนฤทธิ์จากผีใด หรือเจอภัยจากกระสือ กระหัง เปรต ปอบ ผีพราย ผีบ้านผีเรือน ผีโป่งค่าง ผีเงือก ผีตายโหง ฯลฯ เมื่อสอบถามเสร็จแล้ว หากกรรไกรที่ถืออยู่ในมือของหมอบูนแกว่งไกว แสดงว่า คำตอบ คือ “ใช่” จากนั้นจะถึงช่วงการรักษา จะมีวิธีการรักษาที่แตกต่างกันไปตามแต่โรค ตามความเชื่อของชาวไทเบิ้งหากโดนผีตายโหงจะให้นำของเซ่นไปไหว้ขอขมา วางไว้บริเวณทางสามแพร่ง จากนั้นอาการเจ็บป่วยก็จะหายส่วนการตรวจโรค นอกจากจะใช้หมากพลูเป็นเครื่องไหว้ครูแล้ว ยังมีค่าครูอีก 1 บาท แต่ชาวบ้านบางรายอาจให้มากกว่านี้ตามกำลังศรัทธา ปัจจุบัน เหลือผู้ประกอบพิธีกรรมเพียงไม่กี่คน หนึ่งในนั้น คือ ยายหรึ่ม อ่อนสลุง อายุ 85 ปี

ความตาย และการทำศพ

การทำงานศพของชาวไทยเบิ้ง ในอดีตนิยมเผา หากเป็นศพที่เสียชีวิตผิดธรรมชาติเช่น การถูกฆาตกรรม ตกต้นไม้ ฟ้าผ่า จมน้ำ คลอดบุตร หรืออุบัติเหตุจะนำศพฝังไว้ 3 - 5 ปี แล้วจึงทำพิธีเผาในภายหลัง เมื่อมีผู้เสียชีวิต จะเริ่มจากการทำความสะอาดศพด้วยน้ำร้อนต้มใส่ใบมะขาม ใบฝรั่ง การอาบน้ำศพจะทำเฉพาะลูกหลาน และญาติใกล้ชิด จากนั้นจะแต่งตัวศพ ทาขมิ้น ผัดแป้ง หวีผม โดยจะหวีไปในทางตรงข้ามกับตอนมีชีวิตอยู่ ใส่เสื้อผ้ากลับด้านหน้าไว้ข้างหลัง จัดทำกรวยใบตองใส่ดอกไม้ ธูป เทียน ใส่มือพนมไว้เพื่อให้ผู้ตายนำไปบูชาพระจุฬามณีบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ และบอกกับศพว่าใครขอก็ไม่ให้ นำเงินเหรียญใส่ในปากศพ แล้วใช้ผ้าขาวมัดตราสังข์ศพ แล้วทำพิธีเบิกโลงก่อนนำศพลงบรรจุในโลง

การเบิกโลง เป็นหน้าที่ของสัปเหร่อ โดยใช้ไม้ไผ่ผ่าซีกเป็นปากกา มีลักษณะเป็นไม้คีบเหมือนไม้ปิ้งปลา 8 อันนำไปคีบตามขอบโลงด้านละ 2 อัน แล้วนำด้ายสายสิญจน์มัดโยงตามไม้คีบปากกาทั้ง 8 อัน ทำกระทงใบฝรั่ง 4 กระทง ใส่ข้าวดำ ข้าวแดง เพื่อวางในโลงเป็นเครื่องสังเวย ทำน้ำมนต์ธรณีสารพรมที่โลงและศพ แล้วใช้เทียนจุดด้ายสายสิญจน์ที่โยงไว้ระหว่างไม้คีบปากโลง ให้สายสิญจน์ขาดเป็นช่องๆ เป็นการแสดงว่าได้ตัดขาดจากญาติพี่น้อง ลูกหลานให้หมด ต่อจากนั้นจึงม้วนด้ายสายสิญจน์และนำไม้คีบปากทั้งหมดใส่ในโลงด้วย หลังจากนั้นจะยกโลงไปตั้งบนเรือนหันด้านศีรษะไปทางทิศตะวันตกเพื่อทำพิธีสวดศพต่อไป

การสวดศพ ในอดีตจะตั้งศพที่บ้าน ไม่นิยมตั้งศพที่วัดดังเช่นปัจจุบัน ทั้งนี้ ชาวไทยเบิ้งโคกสลุงจะตั้งศพบำเพ็ญกุศลเพียง 1-3 วัน เนื่องจากยังไม่มีการฉีดยาป้องกันศพเน่าเปื่อย ตลอดเวลาของการตั้งศพสวดจะจุดธูปหรือจุดตะเกียงตลอดไม่ให้ดับ เมื่อถึงเวลาอาหาร ญาติของผู้ตายจะจัดสำรับอาหารไปวางข้างโลง และเคาะโลงเรียกให้กินอาหาร เมื่อพระสงฆ์สวดพระอภิธรรมก็จะเคาะโลงเรียกให้ฟังพระสวด

การเผาศพ เมื่อสวดศพวันสุดท้ายจะหามศพไปทำพิธีที่วัด ในกรณีที่ผู้เสียชีวิตเป็นพ่อ แม่หรือญาติผู้ใหญ่ หลังจากการหามศพลงจากบ้านแล้วจะคว่ำโอ่งน้ำ 1 ใบ ขบวนศพที่หามไปนั้นจะนำหน้าศพด้วยหม้อไฟ (ซึ่งเป็นหม้อตาลใส่ฝ้ายจุดไฟ และมีถาดใส่มะพร้าวปอกเปลือกแล้ว 1 ลูก กระทงใบฝรั่งหรือกระทงใบตองใส่ข้าวดำข้าวแดง และสตางค์กระทงละ 1 บาท แต่ละกระทงจะปักธงสามเหลี่ยม ขณะที่หามศพไปจะโรยข้าวตอกไปตลอดทาง เป็นการนำไปสู่สวรรค์ และตลอดทางที่หามศพไปจะไม่มีการหยุดพักระหว่างกลางทาง

การกำหนดวันเผาศพของชาวไทยเบิ้งโคกสลุงจะห้ามเผาศพวันพระและวันคู่ ห้ามเผาวันศุกร์ วันเสาร์และวันอังคาร การเผาศพจึงเกิดขึ้นเฉพาะวันคี่ การแต่งกายของผู้ไปร่วมงานศพจะแต่งกายสีใดก็ได้ไม่ถือว่าผิดธรรมเนียมประเพณีแต่อย่างใด ต่อมาชาวไทเบิ้งได้รับเอาประเพณีการแต่งกายสีดำ หรือสีขาว - ดำ ไปงานศพจากคนภาคกลาง

หลังจากเผาศพ 3 วัน จะทำพิธีกลบธาตุหรือกลับธาตุ โดยจะนิมนต์พระสงฆ์ไปที่เชิงตะกอน สวดบังสุกุลตายพรมน้ำมนต์ที่กระดูก แล้วเขี่ยกระดูกเป็นรูปคนหันศีรษะไปทางตะวันออก แล้วพระสงฆ์สวดบังสุกุลเป็นเพื่อเป็นการแสดงการเกิด แล้วจึงเก็บกระดูกใส่โกศไว้บนหิ้งบูชาหรือเก็บไว้ที่วัด เมื่อถึงวันตรุษสงกรานต์ แต่ละปีจะนำโกศไปวัดให้พระสงฆ์สวดบังสุกุลหรือนิมนต์พระสงฆ์ไปทำบุญที่บ้าน เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่
ผู้ล่วงลับ นับเป็นการทำบุญใหญ่ประจำปี

นอกจากนี้ คนไทยเบิ้งโคกสลุงยังมีการต่ออายุและการดูใจผู้ป่วยระยะท้ายสุดของชีวิต กล่าวคือ เมื่อมีผู้ป่วยหนักมักจะทำพิธีต่ออายุโดยนิมนต์พระสงฆ์มาทำพิธีที่บ้าน มีการทำบุญเลี้ยงพระสวดต่อชะตาชักบังสุกุลเป็นการสร้างเสริมกำลังใจผู้ป่วยและยืดอายุผู้ป่วยไปอีกระยะหนึ่ง อีกทั้งยังเป็นการบอก “ทาง” โดยนัยแก่คนใกล้สิ้นใจ เมื่อผู้ป่วยอาการหนักเห็นว่า ไม่มีทางรอดมีอาการใกล้สิ้นใจ ญาติพี่น้องจะบอกทางแก่ผู้ป่วยให้นึกถึงพระอรหันต์ หรือบอกให้ท่องพุทโธๆ หรือจะกล่าวนำดังๆ ให้ผู้ป่วยได้ยินจะได้ยึดคำพุทโธๆ เป็นพุทธานุสติ ให้จิตใจสบายและเชื่อมั่นว่าเมื่อจากโลกนี้ไปแล้วจะไปสู่ภพภูมิที่ดี (ภูธร ภูมะธน, 2541)

การเปลี่ยนสถานภาพ

ชาวไทเบิ้งมีประเพณีการเปลี่ยนผ่านสถานภาพด้วยประเพณีการบวช ผู้ที่จะบวชตามประเพณีของชาวพุทธทั่วไป จะต้องมีอายุครบ 20 ปี มีร่างกายครบ 32 ประการ ส่วนมากนิยมบวชก่อนแต่งงาน การบวชของชาวไทยเบิ้งโคกสลุงมีพิธีกรรมคล้ายกับประเพณีบวชในพื้นที่อื่นๆ เช่น การเตรียมการบวช นิยมหาฤกษ์เพื่อกำหนดวันที่ดีทำพิธี ผู้บวชจะต้องหัดขานนาค หัดสวดมนต์ให้คล่อง โดยบิดามารดาจะนำดอกไม้ ธูป เทียน
ใส่พานพาผู้ที่จะบวชไปให้อยู่ที่วัดอย่างน้อย 1 เดือน

การบวชตามประเพณีนิยมจัด 2 วัน คือ วันสุกดิบและวันบวช ตอนกลางวันก่อนเพลในวันสุกดิบ จะทำพิธีปลงผมที่วัด บิดามารดานาคจะเป็นผู้เริ่มขลิบผมเป็นบุคคลแรก ต่อด้วยญาติและพระสงฆ์เป็นผู้โกนจนหมด ผมที่โกนจะนำไปลอยน้ำ หลังจากนั้น บิดามารดานาคจะอาบน้ำให้นาคและแต่งตัวใหม่ ตอนค่ำจะทำพิธีสู่ขวัญหรือทำขวัญนาค โดยมีหมอซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นผู้คนในหมู่บ้าน หมอทำขวัญจะเริ่มทำพิธีนำไหว้พระสวดบทชุมนุมประชุมเทวดา แหล่บทไหว้ครูและบทสอนต่าง ๆ ท้ายสุดจะเป็นบทเชิญขวัญนาค ซึ่งในการแหล่จบแต่ละครั้งแต่ละบทจะมีการตีฆ้อง 3 ครั้ง โห่ร้องเอาชัย และเวียนเทียน วันรุ่งขึ้นเป็นวันบวช นิยมบวชตอนเช้าหลังจากถวายภัตตาหารเช้าแล้ว จะแห่นาคเดินจากบ้านไปวัด อาจมีกลองยาวหรือแตรวงนำขบวน (ภูธร ภูมะธน, 2541)

การทำมาหากิน

ชาวไทยเบิ้งโคกสลุงมีความเชื่อและประเพณีที่เกี่ยวข้องกับการทำการเกษตรสืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยโบราณ โดยเฉพาะการไหว้แม่โพสพและรับขวัญข้าว

การไหว้แม่โพสพจะจัดขึ้นในช่วงข้าวตั้งท้อง การไหว้จะมีการจัดเตรียมผ้าหรือกระดาษสีแดงตัดเป็นธงใช้สำหรับปักติดก้านธง ภายในกระทงกรวยใส่ข้าวสุก ส้ม กล้วย อ้อย หมากพลู ขนมตามที่มี สิ่งที่ขาดไม่ได้จะต้องมีส้ม เพราะเป็นผลไม้รสเปรี้ยวที่คนท้องนิยมรับประทาน เนื่องจากเปรียบต้นข้าวที่กำลังออกรวงเป็นแม่โพสพที่กำลังตั้งท้อง ติดกระทงกับก้านธงแล้วนำไปปักรับท้องแม่โพสพที่คันนา ก่อนปักธงก็จะพูดแต่สิ่งที่ดีๆ

การพูดเชิญชวนบอกแม่โพสพว่า วันนี้นำอาหารผลไม้ขนมหวานมารับท้องแม่โพสพขอให้ข้าวงอกงาม อย่ามีสิ่งใดมากวน หลังจากบอกกล่าวเสร็จจะเป็นการแต่งตัวให้กับแม่โพสพ โดยเอาแหวนเงิน หรือแหวนทองไปสวมให้ต้นข้าว แล้วเอาแป้งไปโรย จากนั้นจึงอันเชิญแม่โพสพมารับเครื่องสังเวยเชยชมผลหมากรากไม้ที่นำมาถวาย

การรับขวัญข้าว จะประกอบพิธีประมาณเดือนสิบสอง หลังจากเกี่ยวข้าว นวดข้าวและนำข้าวเข้ายุ้ง แต่ละบ้านที่เก็บเกี่ยวข้าวได้จะทำพิธีรับขวัญข้าวหรือเรียกขวัญข้าว จัดขึ้นบริเวณลานนวดข้าวโดยเลือกผู้หญิงที่ออกเรือน และมีวัยวุฒิ เนื่องจากมีเรื่องเล่าว่า มีผัวเมียคู่หนึ่งมีอาชีพทำนา โดยปกติแล้วเมียจะเป็นคนไปทำขวัญข้าวด้วยตัวเอง แต่แล้ววันหนึ่งเมื่อเมียตายไป ผัวจึงต้องไปทำแทน ระหว่างที่คอนกระบุงได้หันไปเห็นผู้หญิงสวยนั่งอยู่ในกระบุง ทำให้อดใจไม่ไหวจับปล้ำโดยหารู้ไม่ว่าผู้หญิงคนนั้น คือ พระแม่โพสพ หลังจากเหตุการณ์นี้เกิดขึ้น พระแม่โพสพไม่เคยปรากฏอีก ด้วยเหตุนี้ ชาวบ้านจึงเชื่อว่าต้องเป็นผู้หญิงเท่านั้นที่จะทำพิธีได้ นอกจากนี้ หากครัวเรือนใดไม่ประกอบพิธีรับขวัญข้าว จะได้ยินเสียงพระแม่โพสพร้องให้คร่ำครวญให้ไปรับนางเข้าไปอยู่ในยุ้งข้าว ผู้หญิงจะคอนกระบุงข้าวขึ้นบ่าเดินไปที่ลานนวดข้าว ในกระบุงจะใส่หมาก พลู ยาเส้น ดอกไม้ ธูป และเทียน เมื่อถึงลานข้าวจะวางกระบุงลงพื้นจุดธูปกล่าวเชิญพระแม่โพสพเรียกขวัญแม่โพสพให้มาเข้ายุ้ง จากนั้นจะมีคนช่วยนำฟางข้าวมาผูกเป็นรูปหุ่น มีแขน มีขามีลำตัว มีศีรษะ ขนาดสูงประมาณ 1 ฟุต สมมติว่าเป็นแม่โพสพวางลงในกระบุงกล่าวเชิญเสร็จ ถึงคอนกระบุงกลับยุ้ง โดยมีเคล็ดว่า ตลอดเส้นทางห้ามพูดและห้ามทักกับใครทั้งสิ้น เมื่อคอนกระบุงมาที่ยุ้งข้าวแล้วนำหุ่นฟางแม่โพสพไปตั้งไว้ที่มุมใดมุมหนึ่งของกองข้าวในยุ้งเหมือนให้แม่โพสพตามจากนามาอยู่ยุ้งข้าวด้วย รอจนครบ 3 วันจึงจะเอาออกมาได้

การไหว้แม่โพสพเป็นประเพณีที่มีการปฏิบัติอย่างเข้มข้นในอดีต และเลือนหายในปัจจุบัน เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพสังคม วัฒนธรรมและระบบนิเวศชุมชน (ภูธร ภูมะธน, 2541, คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร 2559)

ชนิกา วัฒนะคีรี. (2537). จากสังคมชาวนาสู่สังคมอุตสาหกรรม : การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในชุมชนไทยเบิ้ง บ้านดีลัง จังหวัดลพบุรี. ปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต สาขามานุษยวิทยา, มหาวิทยาลัยศิลปากร.

ชาญวิทย์ ตีรประเสริฐ. (2548). พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน การแสดงทางวัฒนธรรม และกระบวนการรื้อฟื้นความเป็นไทยเบิ้ง. วิทยานิพนธ์สังคมวิทยาและมานุษยวิทยามหาบัณฑิต (มานุษยวิทยา). มหาวิทยาลัยธรรมศาตร์.

ชาติชาย อนุกูล. (2554). วัฒนธรรมการห่อของกลุ่มชาติพันธุ์ในจังหวัดลพบุรี:กรณีศึกษาศิลปอัตลักษณ์และความหมาย. ปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาศิลปวัฒนธรรมวิจัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรฒ

คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร. (2559). นักเรียนพากย์สนาม ณ โคกสลุง. นักศึกษาสาขาวิชาเอกมานุษยวิทยา ชั้นปีที่ 3. รุ่นที่ 59. ภาควิชามานุษยวิทยา คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร.

ปฏิภาณ ผลสันต์. (2557). การรื้อฟื้นและแสดงออกในด้านอัตลักษณ์ กรณีศึกษา ชุมชนชาวไทยเบิ้งตำบลโคกสลุง อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี. ปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

พรเพ็ญ เดอ ยอง. (2556). การสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นของครอบครัวไทยเบิ้ง โดยกลุ่มเยาวชนตำบลโคกสลุง อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี. วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิตมนุษยนิเวศศาสตร์ (พัฒนาครอบครัวและสังคม). มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.

ภูธร ภูมะธน. (2541). มรดกวัฒนธรรมไทยเบิ้ง ลุ่มแม่น้ำป่าสัก ในเขตที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนป่าสัก. ลพบุรี: สำนักศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี.

รวีทิวา ไวยนันท์. (2552). การแพร่กระจายวัฒนธรรมการแสดงรำโทน จังหวัดลพบุรี. ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (ดุริยางค์ไทย). จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

ธวัช ปุณโณทก. (2525). ประวัติศาสตร์ สังคมอีสาน สมัยรัตนโกสินทรืตอนต้น. ใน ศิลปวัฒนธรรม. ฉบับที่ 3 ปีที่ 7 (พฤษภาคม 2525) หน้า 32-58

ระบบสถิติทางการทะเบียน. (2559). http://stat.dopa.go.th/stat/statnew/upstat_age_disp.php (วันเข้าถึง 29 ธันวาคม 2559)

สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี. (ม.ป.ป.). ไทยเบิ้ง. เรียกใช้เมื่อ 10 สิงหาคม 2563 จาก http://library.tru.ac.th/index.php/inlop/lpcul/331-lpcul24.html.

สุธาทิพย์ ธีรานุวรรตน์. (2545). การศึกษาระบบเสียงภาษาไทยเบิ้ง-ไทยเดิ้ง ตำบลโคกสลุง อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี. ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (ภาษาศาสตร์). มหาวิทยาลัยมหิดล.

สุรชัย เสือสูงเนิน. (2543). ผ้าขาวม้า: ผ้าทอเพื่อชีวิต ของชาวไทยเบิ้งโคกสลุง จ.ลพบุรี. ค้นคว้าอิสระ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร.(2548). การศึกษางานศิลปหัตกรรมและวิถีชีวิตของชาวไทยเบิ้งโคกสลุง จังหวัดลพบุรี. การศึกษามหาบัณฑิต (ศิลปศึกษา). มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร.

สุรินทร์ มุขศรี (2544). “พิพิธภัณฑ์ไทเบิ้งที่โคกสลุง,” ศิลปวัฒนธรรม: 22, 11 (ก.ย.): 131-133.

องค์การบริหารส่วนตำบลโคกสลุง. (2558). แผนพัฒนาประจำปี 2558. เอกสารอัดสำเนา

อุษณีย์ เกษมสันต์ (2542). เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์: โครงการพัฒนาลุ่มน้ำป่าสัก อันเนื่องมาจากพระราชดำริ/ คณะอนุกรรมการประชาสัมพันธ์และทำความเข้าใจกับมวลชน คณะกรรมการบริหารโครงการพัฒนาลุ่มน้ำป่าสักอันเนื่องมาจากพระราชดำริ.กรุงเทพฯ : โอ.เอส.พริ้นติ้งเฮ้าส์.


วีระพงศ์ มีสถาน, นาย, นักวิจัย สภาบันวิจัยภาษาเพื่อการพัฒนาชนบท มหาวิทยาลัยมหิดล, 2560, เอกรินทร์ พึ่งประชา ผู้สัมภาษณ์


close
ลืมรหัสผ่าน?
กรุณากรอกอีเมลที่ท่านสมัครสมาชิกไว้เพื่อรับรหัสผ่านใหม่
ระบบจัดส่งการสร้างรหัสผ่านใหม่ให้ท่านทางอีเมลเรียบร้อยแล้ว
นโยบายความเป็นส่วนตัว