2023-07-21 12:08:40
ผู้เข้าชม : 3732

เวียด สืบเชื้อสายมาจากชาวเวียดนามในพื้นที่ภาคใต้ของลุ่มแม่น้ำแยงซีเกียง สันนิษฐานว่า ชาวเวียดนามกลุ่มแรกอพยพเข้ามาในประเทศไทยสมัยกรุงศรีอยุธยาจนถึงก่อนสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง ปัจจุบัน ชาวเวียดตั้งถิ่นฐานกระจายตัวอยู่ทั่วทุกภูมิภาคในประเทศไทย อาชีพดั้งเดิมในระยะแรกของการอพยพเข้ามาในประเทศไทยส่วนใหญ่ทำงานรับจ้าง ทำนา ทำสวนตามความถนัด จากบุคลิกและลักษณะนิสัยในการเป็นคนขยัน อดทน ประหยัด อดออม ทำให้สามารถเป็นเจ้าของกิจการได้ ด้านวิถีวัฒนธรรม คนกลุ่มนี้มีการธำรงอัตลักษณ์ผ่านการแต่งกาย การจัดงานเทศกาลเต๊ดหรือตรุษญวน เต๊ด (Tet) หรือวันตรุษ นับเป็นประเพณีที่สำคัญที่สุดของชาวเวียดนามในประเทศไทย ในขณะเดียวกับก็มีการปรับเปลี่ยนอัตลักษณ์ให้สอดคล้องกับวิถีท้องถิ่น

  • ข้อมูลพื้นฐาน
  • ประวัติศาสตร์
  • การตั้งถิ่นฐานและกระจายตัว
  • วิถีชีวิตและวัฒนธรรม
  • งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
  • อ้างอิง

ชื่อกลุ่มชาติพันธุ์ : เวียด
ชื่อเรียกตนเอง : เหวียตเกี่ยว, ไทยใหม่
ชื่อที่ผู้อื่นเรียก : ญวน, แกว, คนไทยเชื้อสายเวียดนาม, เวียดนาม
ตระกูลภาษา : ออสโตรเนเชียน
ตระกูลภาษาย่อย : มอญ-เขมร
ภาษาพูด : เวียดนาม
ภาษาเขียน : จื๋อฮ้าน

ชาติพันธุ์เวียด หรือชาวเวียดนามในประเทศไทยเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่สืบเสื้อสายมาจากชาวเวียดนามที่อาศัยอยู่บริเวณภาคใต้ของลุ่มแม่น้ำแยงซีเกียงของประเทศจีนก่อนจะอพยพมายังแหลมอินโดจีนบริเวณลุ่มแม่น้ำแดงทางฝั่งทะเลจีนเมื่อประมาณ พ.ศ.800 ในประเทศไทยมีการใช้ชื่อเรียกชาวเวียดนามแตกต่างกันขึ้นอยู่กับช่วงเวลาที่อพยพเข้ามายังประเทศไทย อาทิ “ญวนเก่า” คือ ชาวเวียดนามที่เข้ามาในประเทศไทยช่วง พ.ศ.2474 “ญวนสวามิภักดิ์” คือ ชาวเวียดนามที่หนีฝรั่งเศสเข้ามาในช่วงต้นสงครามโลกครั้งที่สองและได้รับสัญชาติไทย “ญวนอพยพ” คือ ชาวเวียดนามกลุ่มใหญ่ที่สุดที่อพยพเข้ามาช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ในช่วงเวลาเดียวกันนี้เอง ได้ปรากฏคำเรียกชาวเวียดนามว่า “แกว” ซึ่งแฝงไปด้วยอคติทางชาติพันธุ์และนิยมเรียกกันในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ขณะที่ชาวเวียดนามจะมีคำเรียกตนเองว่า “เหวียตเกี่ยว” คำดังกล่าวใช้เรียกชาวเวียดนามอพยพหรือชาวเวียดนามโพ้นทะเล รวมทั้งในประเทศไทย ซึ่งประกอบไปด้วย “เหวียตกู๋” หรือชาวเวียดนามเก่า และ “ชาวเหวียตเหมย” ที่เป็นชาวเวียดนามอพยพปัจจุบันนิยมเรียกชาวเวียดนามว่า “ชาวไทยเชื้อสายเวียดนาม” ทั้งนี้ เพื่อหลีกเลี่ยงการดูหมิ่นหรือดูแคลนทางชาติพันธุ์

ชาวเวียดนามกลุ่มแรกสันนิษฐานว่าเข้ามาในประเทศไทยสมัยกรุงศรีอยุธยา และเรื่อยมาจนถึงก่อนสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง เงื่อนไขสำคัญที่ชาวเวียดนามกลุ่มแรกตัดสินใจอพยพเข้ามาในประเทศไทยเป็นเพราะต้องการลี้ภัยสงครามและการกดขี่ทางศาสนา ขณะเดียวกันมีบางกลุ่มถูกกวาดต้อนมาในฐานะเชลยสงคราม ชาวเวียดนามกลุ่มแรกส่วนใหญ่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในภาคกลาง และมีบางส่วนอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะจังหวัดที่มีพรมแดนติดกับแม่น้ำโขง หลังสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดและฝรั่งเศสกลับเข้ามามีอิทธิพลเหนืออินโดจีนอีกครั้ง ได้มีการอพยพครั้งใหญ่ราว 4-5 หมื่นคน ชาวเวียดนามกลุ่มนี้หนีการกวาดล้างของฝรั่งเศสจากเหตุการณ์ “วันท่าแขกแตก” ส่วนใหญ่อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในขณะนั้นรัฐบาลไทยมีท่าทีที่เป็นมิตรต่อชาวเวียดนามอพยพเป็นอย่างมาก แต่หลังจาก พ.ศ.2490 รัฐบาลได้ดำเนินนโยบายจำกัดพื้นที่และบีบคั้นชาวเวียดนามอพยพอย่างรุนแรง ความเข้มงวดที่รัฐไทยมีต่อชาวเวียดนามเริ่มคลี่คลายลงในรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ทำให้ชาวเวียดนามอพยพในประเทศไทยทั้งหมดได้รับสัญชาติโดยปราศจากเงื่อนไข

ชาวเวียดนามในประเทศไทยยังคงดำรงอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ของตนและมีการปรับเปลี่ยนอัตลักษณ์ให้เข้ากับวิถีชีวิตของท้องถิ่น แม้ว่าช่วงหนึ่งอัตลักษณ์บางอย่างจะขาดหายไปและไม่อาจส่งต่อให้กับคนรุ่นหลังได้จากการถูกจับตาโดยรัฐ แต่ในปัจจุบัน ชาวเวียดนามสามารถแสดงอัตลักษณ์ได้อย่างเปิดเผยและมีชาวเวียดนามจำนวนไม่น้อยเข้ามามีบทบาทในท้องถิ่นมากขึ้น ปัจจุบัน มีชุมชนชาวเวียดนามกระจายตัวอยู่เกือบทุกภูมิภาคของประเทศไทย ส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะจังหวัดนครพนม มุกดาหาร อุบลราชธานี หนองคาย อุดรธานี และสกลนคร นอกจากนี้ ยังมีบางกลุ่มอาศัยอยู่ที่ภาคใต้ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี และพัทลุง ที่ภาคกลางโดยเฉพาะในกรุงเทพมหานคร นครนายก และมีบางส่วนอยู่ที่จังหวัดจันทบุรี ปราจีนบุรี และสระแก้ว

ชาวเวียดนามในประเทศไทยเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่สืบเชื้อสายมาจาก “ชาวเหวียต” ซึ่งเดิมอาศัยอยู่บริเวณภาคใต้ลุ่มแม่น้ำแยงซีเกียงของจีนก่อนจะอพยพมายังอินโดจีน (เพ็ชรีสุมิตร, 2522)สอดคล้องกับการศึกษาของเจริญ ไชยชนะ (2515)ที่กล่าวว่า คนเวียดนามเป็นชนกลุ่มหนึ่งที่มีภูมิลำเนาเดิมอยู่ที่ลุ่มแม่น้ำแยงซีเกียงทางใต้ของจีนก่อนที่จะถูกรุกรานจากจีนและอพยพมาตั้งถิ่นฐานยังแหลมอินโดจีนบริเวณลุ่มแม่น้ำแดงทางฝั่งทะเลจีนเมื่อประมาณ พ.ศ. 800 อย่างไรก็ตาม พวกเวียดอาจเป็นหนึ่งในบรรพบุรุษของชาวเวียดนามแต่ก็มิใช่พวกเดียวซึ่งเกี่ยวข้องกับทั้งไทยและจีน และชาวเวียดนามเป็นส่วนผสมของกลุ่มชาติพันธุ์ในกลุ่มออสโตร – อินโดนีเซียนกับกลุ่มชาติพันธุ์ในภูมิภาคแห่งนี้ ซึ่งทฤษฎีการปะปนกันของบรรพบุรุษของชาวเวียดนามนี้ได้รับการสนับสนุนจากหลักฐานหลายประการ เช่น ภาษาเวียดนามเป็นส่วนผสมของภาษามอญ-เขมร (ภาษาอินโดนีเซียนมีระดับเสียงที่เสมอกันไปหมด) และภาษาไทย (ที่มีเสียงสูงต่ำ) และชาวเวียดนามยังเป็นกลุ่มคนที่เป็นผลจากการผสมของประชากรเผ่าอินโดนิเชียนกับชาวไทยในเวียดนามเหนือที่สืบเชื้อสายมาจากกลุ่มชาติพันธุ์ในภูมิภาคแห่งนี้ การใช้เครื่องหมายแสดงความเชื่อถือของชาวเวียดนามรุ่นแรก ๆ การสักตามตัว และการเคี้ยวหมากซึ่งเป็นวิถีธรรมดาของชาวเอเชียอาคเนย์เชื้อสายออสโตรเมลาโน-อินโดนีเชียน โดยเชื่อกันว่าเผ่าออสโตร- อินโดนีเชียน บางเผ่าเดินทางขึ้นเหนือไปยังมณฑลกวางสีและกวางตุ้งของจีนและไปผสมผสานกับบรรพบุรุษของพวกเวียด ซึ่งลักษณะสังคมเริ่มแรกและประเพณีหลายอย่างสืบทอดมาจากบรรพบุรุษ ก่อนที่จะรวมกันเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศที่มีการพูดภาษาและวัฒนธรรมเดียวกัน ประเทศเวียดนามเคยอยู่ภายใต้การปกครองของจีนเป็นระยะเวลานานถึงหนึ่งพันปี คือระหว่าง 111 ก่อนคริสต์ศักราชและถูกปกครองสืบต่อมาจนถึงประมาณปี ค.ศ. 939 (พ.ศ.1482) จีนจึงหมดอำนาจลง จากนั้นเวียดนามจึงเป็นอิสระจากการปกครองของจีน จนกระทั่งในปี ค.ศ.1883 (พ.ศ.2426) ที่ฝรั่งเศสเริ่มเข้ามาปกครองเวียดนามฝรั่งเศสแบ่งเวียดนามออกเป็นสามส่วนคือ โคจิจีน (ภาคใต้) อันหนำ (ภาคกลาง ) และตังเกี๋ย (ภาคเหนือ) อย่างไรก็ตาม ในระหว่างที่ตกเป็นอาณานิคมมีกลุ่มชาตินิยมของเวียดนามต่อสู้กับฝรั่งเศสอยู่เสมอทำให้เกิดการสูญเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก รวมทั้งมีการอพยพของชาวเวียดนามไปยังประเทศใกล้เคียงเพื่อหนีภัยสงครามที่เกิดขึ้นภายในประเทศ (เพ็ชรีสุมิตร, 2522)

ชาวเวียดนามในสมัยอยุธยาและรัตนโกสินทร์จนถึงสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง

การอพยพเข้ามายังประเทศไทยของชาวเวียดนามมีขึ้นหลายครั้ง และมีหลายสาเหตุไม่ว่าจะเป็นจากการถูกกดขี่หรือถูกกดดันทางศาสนา หรือความยากจน การถูกกวาดต้อนเป็นเชลย การค้า การหนีการต่อสู้ภายในกับฝรั่งเศส การเข้ามาเพื่อตั้งฐานเคลื่อนไหวของชาวเวียดนามรักชาติหรือกู้ชาติเพื่อต่อต้านฝรั่งเศส ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 และต้นศตวรรษที่ 20 โดยเฉพาะอย่างยิ่งการหนีการปราบปรามของฝรั่งเศสจากฝั่งลาว ทั้งก่อนและหลังสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ไม่ปรากฏแน่ชัดว่าชาวเวียดนามอพยพเข้ามาในประเทศไทยตั้งแต่เมื่อใด โดยในช่วงก่อนสมัยกรุงศรีอยุธยาจากข้อมูลในพงศาวดารเก่าแก่ของเวียดนามสมัยราชวงศ์เหงวียนเคยกล่าวถึงการติดต่อค้าขายกันทางทะเลระหว่างชาวเหวียตโบราณกับชนชาติ “เตียมลา” (Tiem La) หรือ “ซิกเดี๋ยว” (Xich Dieu) ที่อาศัยอยู่ในดินแดนที่เรียกว่า “สุวรรณภูมิ” นอกจากนี้ ยังพบว่ามีข้อมูลเกี่ยวกับการสู้รบกันระหว่างสองชนชาตินับแต่ดินแดนดังกล่าวเมื่อนานมาแล้ว หากแต่พบหลักฐานที่ชัดเจนว่าชาวเวียดนามเข้ามายังประเทศไทยในสมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่งปรากฏให้เห็นว่ามีชุมชนชาวเวียดนามตั้งหลักแหล่งอยู่ท่ามกลางหมู่บ้านหรือค่ายชาวต่างชาติรอบนอกกรุงศรีอยุธยา ชาวเวียดนามกลุ่มแรกที่ปรากฏในหลักฐานทางประวัติศาสตร์เดินทางมาจากประเทศเวียดนามตอนใต้โดยการเดินเรือผ่านทางทะเล (ธัญญาทิพย์ ศรีพนา และ Trinh Dieu Thin, 2548)

สำหรับการอพยพเข้ามายังประเทศไทยในสมัยอยุธยานั้นมีสาเหตุสำคัญจากการค้าและการถูกกดดันหรือการปราบปรามผู้นับถือศาสนาคริสต์ ซึ่งตรงกับสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชแห่งกรุงศรีอยุธยา จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์การคงอยู่ของชุมชนหรือหมู่บ้านหรือค่ายของชาวเวียดนามตั้งอยู่ท่ามกลางชุมชนหรือค่ายของชาวต่างชาติอื่น ๆ ที่ตั้งอยู่ในอาณาเขตของกรุงศรีอยุธยา เช่น หมู่บ้านของชาวจีนโปรตุเกส มลายู ญี่ปุ่น ฮอลันดา เป็นต้น สำหรับชาวเวียดนามกลุ่มดังกล่าวอพยพเข้ามาทางทะเล ภาษาฝรั่งเศสเรียกชาวเวียดนามเหล่านี้ว่า “ชาวโคแชงชีน” ภาษาอังกฤษเรียก “ชาวโคชินไชนา” ซึ่งหมายถึง ชาวเวียดนามทางใต้ และหมู่บ้านนี้ถูกเรียกว่า “ค่ายหรือหมู่บ้านโคแชงชีน” ชาวโคแชงชีนนี้เป็นชาวคริสต์ ทำเกษตรกรรมและงานหัตถกรรม สำหรับสาเหตุการย้ายถิ่นนี้ มาจากความขัดแย้งรุนแรงระหว่างขุนนางตระกูลจิ่งห์ หรือ ตริ่นห์ และเหงียน และประการสำคัญคือ การถูกข่มเหงจากการนับถือศาสนาคริสต์ทำให้เกิดการอพยพออกนอกประเทศ อย่างไรก็ตาม หลังจากสมัยสมเด็จพระนารายณ์ตลอดรัชสมัยราชวงศ์บ้านพลูหลวง นับตั้งแต่สมัยสมเด็จพระเพทราชา (พ.ศ.2241-2251) ชาวเวียดนามที่เป็นคริสต์ลดน้อยลงเนื่องจากความชิงชังและการข่มเหงรังแกอย่างรุนแรงจากราชสำนักด้วยเกรงว่าชาวตะวันตกจะเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของราชสำนักอยุธยา และด้วยความใกล้ชิดที่มีต่อบาทหลวงชาวตะวันตกจึงถูกทางการหวาดระแวงและถูกคุกคามไปด้วย (ผุสดี จันทวิมล, 2541 อ้างถึงใน ธัญญาทิพย์ ศรีพนา และ Trinh Dieu Thin, 2548)

ในสมัยกรุงธนบุรี หรือในช่วงกลางศตวรรษที่ 18 (พ.ศ.2310-2325) มีการอพยพหนีภัยการสู้รบชิงอำนาจของกลุ่มไตเซิน จากเมืองบันทายมาศ หรือ ห่าเตียน ซึ่งอยู่ทางภาคใต้ของเวียดนามในปัจจุบัน จากเหตุการณ์ดังกล่าวมีน้องชายเจ้าเมืองเว้นามว่า “เหงวียนเฟื้อกซวน” หรือ องเชียงซุน เป็นแกนนำอพยพพร้อมด้วยผู้ติดตามจำนวนหนึ่งเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารของพระเจ้ากรุงธนบุรีในราว พ.ศ.2319 แต่ต่อมากลับถูกจับประหารชีวิตเนื่องจากต้องการหนีกลับเวียดนาม ขณะเดียวกันผู้ติดตามที่มาด้วยพร้อมกันนั้นบางส่วนถูกเนรเทศให้ออกไปอยู่นอกเขตพระนคร ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเสด็จปราบดาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์จึงทรงให้ชาวเวียดนามกลุ่มดังกล่าวกลับมาตั้งบ้านเรือนอาศัยอยู่ในกรุงเทพ ฯ ดังเดิม พร้อมทั้งพระราชทานเงินทอง อาหาร และเสื้อผ้า และให้ตั้งบ้านเรือนในเขตเดิมที่เคยอาศัยอยู่เมื่อครั้งแผ่นดินกรุงธนบุรี ซึ่งก็คือ หนองระโหน ตำบลบ้านหม้อ หรือถนนพาหุรัดในปัจจุบัน และอีกที่หนึ่งคือตำบลบางโพ (ธัญญาทิพย์ ศรีพนา และ Trinh Dieu Thin, 2548)

ต่อมา พ.ศ.2325 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกได้มีชาวเวียดนามอีกกลุ่มหนึ่งอพยพเข้ามาขอพึ่งพระบรมโพธิสมภาร คือ “เหงวียนฟุกแอ๋งห์” หรือ องเชียงสือ ซึ่งเป็นเจ้าเมืองไซ่ง่อน และเป็นหลานชายของเหงวียน เฟื้อก ซวน พร้อมผู้ติดตาม ได้หนีกบฏไต เซิน เข้ามาในสยาม มาพำนักที่เกาะกระบือ ต่อมาอีกหนึ่งปีได้ถูกนำตัวเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก โดยทรงมีพระเมตตาให้ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บ้านต้นสำโรง ตำบลคอกกระบือ ปัจจุบันอยู่บริเวณริมฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ปากคลองผดุงกรุงเกษม และพระราชทานเงินเบี้ยหวัดให้ปีละ 5 ชั่ง เครื่องยศถาดหมาก คนโฑทอง กลดคันส้ม กระบี่บั้งทอง รวมทั้งชาวเวียดนามที่ติดตามมาก็ได้รับเบี้ยหวัดเช่นกันหากเป็นข้าราชการ และอนุญาตให้สามารถทำการประมงได้อย่างสะดวก เหงวียนฟุกแอ๋งห์ อยู่ในกรุงเทพ ฯ เป็นเวลา 4 ปี ก่อนจะแอบหนีออกไปทำสงครามกู้บ้านเมืองของตน ซึ่งต่อมาได้รับชัยชนะและสถาปนาตนเองเป็นจักรพรรดิญา ลอง ที่เมืองเว้ ใน พ.ศ.2345 สิ่งสำคัญที่ชาวเวียดนามอพยพกลุ่มนี้ได้นำติดตัวมาด้วย คือ พุทธศาสนาแบบมหายาน (ปัจจุบันแพร่หลายในเวียดนามใต้) จึงได้เกิดพุทธศาสนาอนัมนิกายขึ้น (เฉพาะกลุ่มชาวเวียดนาม) และยังคงดำรงอยู่จนถึงทุกวันนี้ ในปัจจุบันชาวเวียดนามกลุ่มนี้ได้กลมกลืนเข้ากับสังคมไทยและลูกหลานได้อาศัยอยู่ที่ชุมชนนางเลิ้งและสะพานขาวในกรุงเทพ ฯ บางส่วนที่นับถือศาสนาคริสต์แยกไปอยู่ที่สามเสนริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ชาวเวียดนามกลุ่มนี้เป็นผู้ช่วยบาทหลวงฝรั่งเศสสร้างโบสถ์หลายแห่งจนเกิดศึกแย่งชิงกันระหว่างชาวเวียดนามพุทธและคริสต์ในช่วงสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นระยะเวลาที่มีคนเวียดนามมาจากตั๋งเกี๋ยทางบก และอยู่เกาะกลุ่มเป็นหมู่บ้านต่างหากในบริเวณเดียวกัน ทำให้บ้านญวนสามเสนเป็นหมู่บ้านเวียดนามที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยในสมัยนั้น อย่างไรก็ตาม พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกโปรดให้ชาวเวียดนามที่บางโพดูแลกันเอง และเรียกว่า “ญวนบางโพธิ์” ต่อมาย้ายไปที่สามเสนและเรียกว่า “หมู่บ้านญาลอง” เพื่อเป็นการรำลึกถึงจักรพรรดิซาลอง หรือ ญาลอง ผู้ที่นำชาวเวียดนามกลุ่มนี้เข้ามาและเชื่อว่ามีส่วนช่วยพัฒนาและสร้างกรุงเทพฯ เนื่องจากเป็นช่วงที่ต้องการกำลังแรงงานในการทำงานอีกทั้งชาวเวียดนามเป็นแรงงานที่มีทักษะและความเชี่ยวชาญหลายด้านจึงเป็นกำลังสำคัญ ปัจจุบันลูกหลานของพวกเขาอาศัยอยู่ที่บ้านญวน สามเสน และโบสถ์กาลหว่าร์ (วัดแม่พระลูกประคำ) เขตเขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพ ฯ แม้จะเป็นคนไทย แต่ชาวเวียดนามเหล่านี้ก็ไม่ได้ถูกดูดกลืนเข้าสู่สังคมไทย เนื่องจาก ความแตกต่างกันทางศาสนา ชาวเวียดนามส่วนใหญ่ผันตัวเองเป็นครูสอนที่โรงเรียนเซนต์ คาเบรียล (St. Gabriel's College) โรงเรียนมัธยมที่ดำเนินการโดยพระสงฆ์ชาวฝรั่งเศสแห่งคณะภราดาชาวคริสต์ และในช่วงปัญหาชายแดนจากกรณีพิพาทอินโดจีน พ.ศ. 2483 มีครูจำนวนหนึ่งถูกกล่าวหาว่าเป็นสายลับให้กับรัฐบาลฝรั่งเศส (Varophas, 1966; ธัญญาทิพย์ ศรีพนา และ Trinh Dieu Thin, 2548)

ช่วงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ.2367-2394) การอพยพเข้ามาของชาวเวียดนามเริ่มลดน้อยลงอันเนื่องมาจากการลงนามในสัญญาสามฝ่ายคือ ไทย เวียดนาม และกัมพูชา ในวันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ.2389 การเข้ามาในช่วงนี้ส่วนใหญ่มาในรูปแบบของเชลย โดยแม่ทัพไทยในกัมพูชาได้กวาดต้อนชาวเวียดนามที่นับถือศาสนาคริสต์เข้ามาเป็นเชลยศึกประมาณ 300 คน และเพิ่มอีก 200 คนใน พ.ศ.2383 การกวาดต้อนเชลยชาวเวียดนามเกิดจากเหตุผลที่ต้องการชดเชยกำลังคนที่ขาดแคลนไปจากภาวะสงคราม และเพื่อนำไปเป็นรางวัลให้แก่ขุนนาง ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ.2394-2411) มีชาวเวียดนามอพยพเข้ามาในเขตภาคอีสาน อันเนื่องมาจากเหตุผลความยากจน การปรามปรามทางศาสนา ขณะเดียวกันที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงต้องการขยายและพัฒนาพื้นที่อีสาน นโยบายดังกล่าวจึงเป็นประโยชน์ต่อชาวเวียดนามอพยพกลุ่มนี้อย่างมาก ชาวเวียดนามที่อพยพมาช่วงเวลาดังกล่าวมาจากภาคกลาง มีพื้นเพเป็นชาวนา ประสบกับความยากลำบากจากปัญหาการเกษตร ได้เริ่มอพยพเข้ามายังสยามผ่านทางบก ข้ามภูเขาเจื่อง เซิน ที่กั้นระหว่างเวียดนามและลาวเข้ามาตั้งถิ่นฐานภูมิลำเนาในอีสาน โดยตั้งหลักแหล่งตามหมู่บ้านริมแม่น้ำโขง ถือว่าเป็นกลุ่มแรกที่เข้ามายังภาคอีสาน ที่สำคัญยังได้รับอนุญาตให้ตั้งบ้านเรือนตามความสมัครใจและสามารถเข้าประเทศมาได้โดยสะดวก ขณะเดียวกัน ยังมีชาวเวียดนามที่นับถือศาสนาคริสต์ที่หนีการปรามปรามทางศาสนาของกษัตริย์ตึ ดึ๊ก แห่งราชวงศ์เหงวียน ได้อพยพเข้ามาในช่วงเวลาเดียวกันจำนวนกว่า 4,000 คน กลุ่มนี้ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่อำเภอท่าแร่ จังหวัดสกลนคร และยังคงดำรงอยู่มาจนถึงปัจจุบัน ชาวเวียดนามที่เข้ามายังประเทศไทยช่วงเวลานี้ส่วนใหญ่เป็นชาวคริสต์ แม้จะอยู่แยกตัวออกจากสังคมชาวพุทธ แต่กลับสามารถใช้ชีวิตร่วมกันได้โดยไม่พบความขัดแย้ง มีการแต่งงานข้ามศาสนา ซึ่งโดยปกติในเวียดนามจะไม่มีการแต่งงานข้ามศาสนาเช่นนี้เกิดขึ้น (ธัญญาทิพย์ ศรีพนา และ Trinh Dieu Thin, 2548)

ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า (พ.ศ.2412-2453) เป็นช่วงที่ฝรั่งเศสสามารถยึดครองเวียดนามได้แล้ว และได้มีนโยบายการปกครองแบบขูดรีด กดขี่ประชาชน โดยเฉพาะชาวนา เนื่องจาก ถูกกดขี่จากหลายระดับนับแต่ชนชั้นศักดินา เจ้าของที่ดินและจากเจ้าอาณานิคมอย่างฝรั่งเศส ทำให้ชาวนาเหล่านี้ต้องหนีออกจากเวียดนามเพื่อหาโอกาสในชีวิตใหม่ นอกจากนี้ ประชาชนทั่วไปก็ยังพยายามหนีการกดขี่ และความขัดสนอัตคัดเช่นกัน ชาวเวียดนามเหล่านี้เลือกเดินทางข้ามภูเขาเจื่องเซิน มายังประเทศลาวและมุ่งหน้ามายังแม่น้ำโขงและข้ามเข้ามายังสยาม นอกจากกลุ่มชาวนาและประชาชนทั่วไปแล้ว ยังมีชาวเวียดนามที่เป็นกลุ่มรักชาติและต่อต้านการปกครองของฝรั่งเศสหลบหนีเข้ามายังประเทศลาวซึ่งเป็นดินแดนของฝรั่งเศสด้วย และมีบางส่วนอพยพเข้ามาในสยามเพื่อสร้างฐานหรือขบวนการต่อสู้กับฝรั่งเศสในเวลานั้นด้วย ขณะเดียวกัน สยามได้มีนโยบายพัฒนาไปสู่ความทันสมัยส่งผลให้มีความต้องการแรงงานสูง การเข้ามาของชาวเวียดนามจึงเป็นที่ต้องการจากราชสำนักสยามในขณะนั้น ถึงขนาดที่มีพระราชดำรัสตรัสว่าชาวญวนผู้ซึ่งหนีร้อนมาพึ่งเย็น ให้เก็บค่าส่วยยิ่งน้อยยิ่งดี พอที่ให้เขารู้สึกว่าเป็นไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินของเรา จากนโยบายภายใต้กรอบการปฏิรูปประเทศในรัชสมัยพระองค์ส่งผลให้ชาวเวียดนามในประเทศไทยในขณะนั้น ซึ่งส่วนใหญ่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในภาคอีสานมีโอกาสทำกินสะดวก และยังเป็นเหตุผลสำคัญที่ดำดูดชาวเวียดนามให้เข้ามายังอีสานเพิ่มมากขึ้น กอรปกับใน พ.ศ.2436 สยามได้ลงนามในสนธิสัญญากับฝรั่งเศส ซึ่งระบุว่าสยามต้องเสียดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงให้แก่ฝรั่งเศส และยังกำหนดให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณพื้นที่ 25 กิโลเมตร นับจากแม่น้ำโขงสามารถติดต่อทำการค้าได้อย่างเสรี กลายเป็นเงื่อนไขอีกหนึ่งประการที่ทำให้ชาวเวียดนามที่อาศัยอยู่ในประเทศลาวเดินทางไปมาค้าขายมากขึ้น และต่อมาเกิดความคุ้นเคยจนทำให้ต้องการตั้งถิ่นฐานถาวรในดินแดนภาคอีสาน ทำให้ชาวเวียดนามจากฝั่งลาวที่เข้ามาในเวลานั้นเป็นกลุ่มที่ทำอาชีพค้าขายกลุ่มแรก ๆ ที่เดินทางเข้ามาตั้งถิ่นฐานในภาคอีสาน และต่อมาได้มีบทบาทในการพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น โดยเฉพาะในจังหวัดหนองคาย สกลนคร และนครพนม (ธัญญาทิพย์ ศรีพนา และ Trinh Dieu Thin, 2548)

หลังสงครามโลกครั้งที่สอง นับได้ว่าเป็นช่วงที่มีชาวเวียดนามเดินทางอพยพเข้ามาในประเทศไทยจำนวนมาก โดยหนีการสู้รบและปราบปรามของฝรั่งเศสมาจากฝั่งลาวในเดือนมีนาคม พ.ศ.2489 จำนวนทั้งสิ้น 46,700 คน และอาจมีมากถึง 50,000 คนจากบางแหล่งข้อมูล สาเหตุสำคัญที่ทำให้ชาวเวียดนามกลุ่มนี้ต้องอพยพเข้ามาในประเทศไทยเป็นเพราะว่าการกลับเข้ามามีอำนาจอีกครั้งของฝรั่งเศสเหนือดินแดนอินโดจีน ภายหลังการสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง และฝรั่งเศสได้พยายามที่จะยึดพื้นที่ต่าง ๆ คืนและได้ใช้ความพยายามถึง 8 เดือนในการยึดท่าแขก ซึ่งอยู่ในแขวงคำม่วน ตรงข้ามกับจังหวัดนครพนม) จนกระทั่งสามารถยึดได้ในวัน 21 มีนาคม พ.ศ.2489 เหตุการณ์ดังกล่าวเรียกว่า “วันท่าแขกแตก” ซึ่งฝรั่งเศสได้ปรามปรามทหารและพลเรือนชาวเวีดนามและชาวลาว นอกจากนี้ ยังมีเมืองก่อนหน้านี้ที่ถูกฝรั่งเศสตีแตกและเข้ายึดเมืองเช่นกัน ได้แก่ สะหวันนะเขต (15 มีนาคม พ.ศ.2489) และตามมาด้วยเวียงจันทน์ต่อจากท่าแขก (25 เมษายน พ.ศ.2489) ชาวเวียดนามได้หนีการสู้รบข้ามแม่น้ำโขงเข้ามายังฝั่งไทยตามพื้นที่ต่าง ๆ ได้แก จังหวัดนครพนม อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย อำเภอเชียงแสน จังหวัดนครพนม จังหวัดมุกดาหาร และอุบลราชธานี (ธัญญาทิพย์ ศรีพนา และ Trinh Dieu Thin, 2548)

ชาวเวียดนามในไทยสมัยรัฐบาลของปรีดี พนมยงค์: “ช่วงเวลาแห่งมหามิตรชิดใกล้”

ก่อนเหตุการณ์วันท่าแขกแตก ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนมในขณะนั้นซึ่งเป็นสมาชิกเสรีไทยได้รับการร้องขอความช่วยเหลือจากนายพลสิงกะโปผู้มีส่วนในการกู้ชาติลาว ให้ช่วยเหลือชาวเวียดนามที่อพยพเข้ามาในประเทศไทย จึงได้มีการจัดที่พักชั่วคราวตามสถานที่ต่าง ๆ เอาไว้รองรับ นอกจากนี้ยังมีชาวเวียดนามบางส่วนอพยพเข้ามาอาศัยอยู่ตามใต้ถุนบ้านของทั้งชาวไทยและชาวเวียดนามรุ่นเก่าที่อพยพมาตั้งแต่สมัยรัตนโกสินทร์ เช่น บ้านหนองแสง ข้างวัดศรีเทพ ชุมชนบ้านใหม่หรือบ้านนาจอก บ้านต้นผึ้ง บ้านดอนโมง ต่อมาได้ทำการสร้างบ้านเรือน หรือกระต๊อบอยู่ร่วมกันในกลุ่มชาวเวียดนามไม่ไกลจากเมืองนครพนม บางส่วนอยู่ปะปนกับชาวเวียดนามรุ่นเก่า และมีบางคนเดินทางไปต่างอำเภอ เช่น เรณูนคร ธาตุพนม ท่าอุเทน เป็นต้น และต่อมาได้กระจายตัวออกไปตามจังหวัดต่าง ๆ เช่น สกลนคร อุดรธานี อุบลราชธานี และอีกหลายจังหวัดเพื่อหาทางทำมาหากิน

ชาวเวียดนามขณะนั้นมีสภาพชีวิตที่ลำบากยากเข็ญ หลายคนต้องหาบของขายต่างหมู่บ้าน ต่างอำเภอ หรือแม่แต่ระหว่างจังหวัด ชาวเวียดนามกลุ่มที่อพยพมาในวันท่าแขกแตกส่วนใหญ่ไม่มีทรัพย์สินติดตัวมาจากฝั่งลาว ต้องทิ้งบ้านเรือนเอาไว้ บางคนกลับไปก็ถูกทหารฝรั่งเศสสังหาร รัฐบาลไทยในขณะนั้น มีความเห็นอกเห็นใจชาวเวียดนามที่อพยพเข้ามาอย่างมาก โดยให้การช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมทั้งที่อยู่อาศัย อาหารและยา ที่ดินทำกิน อีกทั้งยังจัดหางานให้เพื่อเป็นการสร้างรายได้ โดยมีนายเตียง ศิริขันธ์ เป็นแกนนำหลักในการให้ความช่วยเหลือชาวเวียดนามในอีสานในเวลานั้น นอกจากนี้ รัฐบาลยังให้ความช่วยเหลือต่อขบวนการกู้ชาติในอินโดจีน กล่าวคือ มีนโยบายต่างประเทศว่าด้วยการอยู่ร่วมกันกับประเทศเพื่อบ้านอย่างสันติ และสนับสนุนการต่อสู้เพื่อเอกราชของประเทศเพื่อนบ้านและประเทศในเอเชียที่เป็นอาณานิคม โดยเน้นไปที่การให้แหล่งพักพิงเพื่อลี้ภัยในพื้นที่ภาคอีสานและอนุญาตให้ถืออาวุธเพื่อป้องกันการรุกรานของกองกำลังฝรั่งเศสจากฝั่งลาวได้ รวมถึงการอนุญาตให้เวียดนามตั้งสำนักงานผู้แทนรัฐบาลสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเวียดนามในไทยด้วย อย่างไรก็ตาม ท่าทีอันเป็นมิตรของรัฐบาลไทยรวมถึงความช่วยเหลือต่าง ๆ ได้เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิงหลังการรัฐประหารโดยพลโทผิน ชุณหะวัณ ใน พ.ศ.2490 (Varophas, 1966; ธัญญาทิพย์ ศรีพนา และ Trinh Dieu Thin, 2548)

ชาวเวียดนามในไทยภายหลังการรัฐประหาร พ.ศ.2490: “ห้วงเวลาแห่งความหวาดระแวงและมืดมน”

ชาวเวียดนามในช่วงเวลานี้อยู่ภายใต้สถานการณ์การถูกจับตาจากรัฐ อันเนื่องมาจากบริบททางการเมืองในภูมิภาคที่เกิดความหวาดกลัวการแพร่ขยายของลัทธิคอมมิวนิสต์ เนื่องจาก ชัยชนะของเหมา เจ๋อ ตุง ที่มีต่อเจียง ไค เช็ค รวมทั้งอิทธิพลของสหภาพโซเวียตที่แผ่ขยายไปยังยุโรปตะวันออกและประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคอื่นทั่วโลก เมื่อรัฐบาลปรีดี หมดอำนาจลงจากการโดนรัฐประหารได้มีการจัดตั้งรัฐบาลภายใต้การนำของพรรคประชาธิปัตย์ และหลังมีการจัดการเลือกตั้งจึงได้จอมพล ป. พิบูลย์สงครามขึ้นมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในเดือนเมษายน พ.ศ.2491 การขึ้นมามีอำนาจของจอมพล ป. พิบูลสงครามได้ส่งผลต่อการปรับเปลี่ยนนโยบายที่มีต่อชาวเวียดนามอพยพในประเทศไทยแบบพลิกผามือ เป็นการแทนที่ความช่วยเหลือที่เคยได้รับจากรัฐบาลปรีดีด้วยนโยบายเป็นปฏิปักษ์กับลัทธิคอมมิวนิสต์ทำให้ชาวเวียดนามในประเทศไทยต้องอยู่ภายใต้มาตรการควบคุมอย่างเข้มงวดจากรัฐบาล ถือเป็นการสิ้นสุดลงของเสรีภาพ ความเห็นอกเห็นใจ และความช่วยเหลือจากรัฐบาลไทย (ธัญญาทิพย์ ศรีพนา และ Trinh Dieu Thin, 2548)

จอมพล ป. พิบูลสงครามเริ่มต้นนโยบายอันเข้มงวดด้วยการตรวจค้นบ้านพักของคณะผู้แทนรัฐบาลสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเวียดนามในกรุงเทพ ฯ การยึดอาวุธ การยกเลิกการปฏิบัติงานของคณะผู้แทนดังกล่าว การสั่งให้ยุบสมาคมเหวียตเกี่ยวกู้ชาติ ในไทยใน พ.ศ.2495 การกำหนดเขตบ้านพักอาศัยใน 5 จังหวัด การจำกัดอาชีพ หรือห้ามชาวเวียดนามประกอบอาชีพ 9 สาขา และเคลื่อนย้ายชาวเวียดนามจากจังหวัดในภาคอีสานไปยังจังหวัดที่ห่างไกลออกไป (ร้อยเอ็ดและกาฬสินธุ์ใน พ.ศ.2496 ตามด้วยพัทลุงและสุราษฎร์ธานีใน พ.ศ.2497) เนื่องจากกลัวว่าจะมีการติดต่อกับกลุ่มเวียดนามคอมมิวนิสต์นอกประเทศได้สะดวก จับกุมชาวเวียดนามด้วยข้อหาคอมมิวนิสต์ และความพยายามที่จะส่งตัวกลับไปยังเวียดนามใต้ อย่างไรก็ตาม ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2497 ผู้แทนรัฐบาลเวียดนามใต้ได้เดินทางมายังกรุงเทพ ฯ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นการเจรจาเรื่องความเป็นไปได้ของการส่งตัวผู้อพยพชาวเวียดนามกลับคืนมาตุภูมิ โดยที่รัฐบาลไทยได้เรียกร้องต่อรัฐบาลเวียดนามใต้ให้รับเอาผู้อพยพชาวเวียดนามที่มีอยู่ในประเทศไทยกว่า 47,000 คนกลับไปยังประเทศเวียดนาม ในการเจรจาครั้งนั้น ผู้แทนจากรัฐบาลสหรัฐ ฯ แสดงท่าทีเห็นด้วยกับข้อเสนอดังกล่าวจากรัฐบาลไทย พร้อมทั้งรับปากว่าจะช่วยในการขนส่งชาวเวียดนามอพยพกลุ่มดังกล่าวกลับไปยังเวียดนามด้วย แต่ข้อเสนอดังกล่าวกลับถูกปฏิเสธจากผู้แทนจากรัฐบาลเวียดนามใต้ โดยให้ความเห็นว่ารัฐบาลเวียดนามใต้จะรับเอาเฉพาะผู้อพยพชาวเวียดนามที่ต้องการเดินทางกลับไปยังเวียดนามใต้เท่านั้น หลังจากที่การเจรจาจบลงก็ไม่ได้ยินเสียงตอบรับใด ๆ จากรัฐบาลเวียดนามใต้ (Varophas, 1966; ธัญญาทิพย์ ศรีพนา และ Trinh Dieu Thin, 2548) จนกระทั่ง ชาวเวียดนามอพยพส่วนใหญ่รู้ตัวว่าพวกเขาเองต้องการที่จะเดินทางกลับไปยังเวียดนามเหนือมากกว่าเวียดนามใต้ หากแต่รัฐบาลไทยกลับไม่ได้มีความสัมพันธ์ทางการทูตกับรัฐบาลเวียดนามเหนือ ต่อมาจึงได้สอบถามไปยังสภากาชาดไทยเพื่อติดต่อไปยังสภากาชาดสากลเพื่อติดต่อไปยังรัฐบาลเวียดนามเหนือ อย่างไรก็ตาม ไม่ถึงช่วงกลาง พ.ศ.2501 ทางสภากาชาดเวียดนามเหนือก็ตัดสินใจส่งผู้แทนของตนมาประชุมร่วมกับผู้แทนจากสภากาชาดไทยที่กรุงย่างกุ้ง ประเทศเมียนมา หลังจากการเจรจาใกล้จะครบสองเดือน สภากาชาดเวียดนามเหนือตกลงที่จะรับเอาชาวเวียดนามอพยพทั้งหมดที่ต้องการกลับคืนไปยังเวียดนามเหนือกลับไปทั้งหมด โดยที่ชาวเวียดนามอพยพกลุ่มแรกเดินทางออกจากประเทศไทยในเดือนมกราคม พ.ศ.2503 และการส่งตัวผู้อพยพชาวเวียดนามดังกล่าวนี้เกิดขึ้นเดือนละครั้ง จนกระทั่ง เกิดเหตุการณ์ที่สหรัฐ ฯ ทิ้งระเบิดในเวียดนามเหนือขึ้น ทำให้สภากาชาดเวียดนามเหนือปฏิเสธที่จะรับเอาชาวเวียดนามอพยพที่เหลือค้างอยู่ในประเทศไทยกว่า 30,000 คนเข้าประเทศอีกต่อไป (Varophas, 1966)

ความเข้มงวดดังกล่าวได้ทวีความรุนแรงมากขึ้นหลังการยึดอำนาจของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชติ์ ใน พ.ศ.2502 เรื่อยมาจนกระทั่งถึงสมัยของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ โดยได้เพิ่มขีดจำกัดในการประกอบอาชีพสำหรับชาวเวียดนามจากแต่เดิมเป็น 25 อาชีพ และยังบังคับให้ชาวเวียดนามที่ประกอบอาชีพต้องเสียภาษี 1,000 บาทต่อปี ส่วนใครที่มีร้านค้าก็จะต้องเสียภาษีพาณิชย์เพิ่มอีกหัวละ 500 บาทต่อปี การออกนโยบายเช่นนี้ยังได้เปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่รัฐหาประโยชน์จากชาวเวียดนามได้ง่ายมากขึ้นกว่าเมื่อก่อน การกำหนดเขตอาศัยที่น้อยลงเรื่อย ๆ จนเหลือเพียง 8 จังหวัดจากแต่เดิม 12 จังหวัด (ธัญญาทิพย์ ศรีพนา และ Trinh Dieu Thin, 2548)

ชาวเวียดนามในไทยทศวรรษ 2520 เป็นต้นมา: “ยุคผ่อนคลายและการแสดงตัวตนคนเหวียต”

อาจกล่าวได้ว่านับตั้งแต่ปลายทศวรรษที่ 2520 สถานการณ์ในภูมิภาคและระดับโลกได้คลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น นำไปสู่การปรับทัศนคติและพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างกันมากขึ้น นโยบายของรัฐบาลไทยหลังสิ้นสุดสมัยรัฐบาลของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ โดยเริ่มต้นในรัฐบาลของพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณได้มีลักษณะผ่อนปรนต่อการใช้ชีวิตของชาวเวียดนามมากขึ้นหากเทียบกับรัฐบาลในอดีต อันเนื่องมากจาก การสิ้นสุดสงครามเย็นและการล่มสลายของลัทธิคอมมิวนิสต์ที่นำโดยสหภาพโซเวียต ขณะที่เวียดนามเองได้ดำเนินนโยบายเปิดประเทศ ปรับความสัมพันธ์กับนานาประเทศ รวมทั้งรัฐบาลได้ตระหนักแล้วว่าชาวเวียดนามที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยคงจะอยู่ในประเทศไทยต่อไป จึงเห็นถึงความจำเป็นในการผสมผสานคนเหล่านี้เข้ากับสังคมไทย ดังนั้น จึงมีแนวนโยบายแก้ไขปัญหาชาวเวียดนามอพยพด้วยการให้สัญชาติไทยและสถานะคนต่างด้าวเข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมายในเวลาต่อมา โดยในวันที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ.2533 รัฐบาลมีดำริว่าบุตรหลานชาวเวียดนามที่เกิดในราชอาณาจักรจะได้รับสัญชาติไทย ตามมติคณะรัฐมนตรี ซึ่งมีสาระสำคัญดังนี้ ชาวเวียดนามอพยพชั้นบุตร ลูกครึ่ง และชั้นหลานที่เกิดในไทยให้ได้รับสัญชาติไทยตามกระบวนการราชการ แม้ว่าปัญหาชาวเวียดนามจะถูกหยิบยกขึ้นมาครั้งแรกในสมัยรัฐบาลของพลเอกชาติชาย ชุณหวัณ แต่การแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมและการเร่งรัดขั้นตอนได้มีขึ้นในการบริหารราชการแผ่นดินสมัยรัฐบาลอานันท์ ปัญยารชุน เป็นต้นมา กอรปกับรัฐบาลพลเอกชาติชายได้ถูกรัฐประหารไปก่อน

จากที่ได้อธิบายพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ข้างต้น จึงสรุปได้ว่า เราอาจแบ่งชาวเวียดนามอพยพออกได้เป็น5 กลุ่ม ตามนิยามของสมจิต สุดสงวน (2542)ได้ดังนี้

“ญวนเก่า” หมายถึง ชาวเวียดนามที่เข้ามาในประเทศไทยก่อน พ.ศ. 2474 ซึ่งยังไม่มีพระราชบัญญัติคนเข้าเมืองฉบับที่ 1 บังคับ ชั้นบุตรหลานได้สัญชาติโดยหลักดินแดนและการเกิดทั้งสิ้น

“ญวนสวามิภักดิ์” คือ ชาวเวียดนามที่หนีฝรั่งเศสมาในช่วงต้นสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยได้ร่วมรบในสงครามอินโดจีนซึ่งถือว่าช่วยราชการ จึงได้สัญชาติไทยและมียศทหารด้วย

“ญวนอพยพ” คือ ชาวเวียดนามที่มีมากที่สุดระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อฝรั่งเศสทำการกวาดล้างครั้งใหญ่มีคนเวียดอพยพมาประเทศไทยประมาณ 70,000 คน แต่รัฐไทยถือวาเข้าเมืองโดยมิชอบมีสถานะเป็นผู้อพยพ

“เวียดนามอพยพ” คือกลุ่มเวียดนามใต้ที่อพยพหลังเวียดนามเหนือและเวียดนามใต้รวมประเทศกัน พ.ศ. 2518

“ไทยใหม่” คือ บุตรหลานชาวเวียดนามอพยพที่ได้สัญชาติหลังจากไม่สามารถส่งกลับประเทศได้ ตามพระราชบัญญัติสัญชาติฉบับที่ 2 พ.ศ.2534 โดยยื่นผ่านอำเภอไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยพิจารณาให้สัญชาติ (ปัจจุบันนายอำเภอเป็นผู้อนุมัติ) เมื่อได้สัญชาติมักเปลี่ยนนามสกุลเป็นแบบไทย

การอพยพเข้ามาในประเทศไทยของชาวเวียดนามสามารถอธิบายและกำหนดได้ตามช่วงเวลา ดังที่ สมจิต สุดสงวน (2542) ได้อธิบายเอาไว้ ซึ่งการอพยพแต่ละครั้งขึ้นอยู่กับสถานการณ์และบริบทการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของประเทศเวียดนาม อาทิ สงครามภายในประเทศ การกดขี่ทางศาสนา ความขัดสนทางเศรษฐกิจ และการมองหาโอกาสในการเริ่มต้นชีวิตใหม่ ซึ่งพอจะสรุปได้ว่าชาวเวียดนามที่เข้ามายังประเทศไทยนั้นมีอยู่สองกลุ่มใหญ่ ได้แก่ ชาวเวียดนามกลุ่มแรกที่เข้ามาตั้งแต่กรุงธนบุรีจนถึงช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง กลุ่มนี้กระจุกตัวอยู่บริเวณภาคกลางของประเทศไทย และมีบางส่วนนับถือศาสนาคริสต์ กลุ่มที่สองเป็นชาวเวียดนามอพยพที่เข้ามาในประเทศไทยหลังสงครามโลกครั้งที่สองและการกลับเข้ามาปกครองอินโดจีนอีกครั้งของฝรั่งเศส กลุ่มหลังมีจำนวนมากถึง 4-5 หมื่นคนมักข้ามแม่น้ำโขงเข้ามาในประเทศไทยและกระจายตัวกันอยู่ในจังหวัดที่ติดริมแม่น้ำโขงและจังหวัดในภาคอีสาน รวมไปถึงบางจังหวัดในภาคใต้ เพื่อให้เห็นภาพการอพยพและตั้งถิ่นฐานได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้นขอให้ดูตารางสรุปการข้อมูลการตั้งถิ่นฐานและการกระจายตัวของประชากรชาวเวียดนามในประเทศไทย (ผุสดี จันทวิมล, 2541; Varophas, 1966; กฤษณะ ทองแก้ว, 2562; ธัญญาทิพย์ ศรีพนา และ Trinh Dieu Thin, 2548; วิภู ชัยฤทธิ์, 2553)

การดำรงชีพ

การดำรงชีพหลังจากเข้ามาในประเทศไทยชาวเวียดนามอพยพแทบทุกคนจำเป็นต้องทำงานเพื่อหาเลี้ยงชีพ พื้นฐานของชาวเวียดนามกลุ่มที่อพยพเข้ามาหลังสงครามโลกครั้งที่สองส่วนใหญ่มีฐานะยากจน และเคยทำมาทำกินในดินแดนอินโดจีนของฝรั่งเศส การอพยพข้ามแม่น้ำโขงเข้ามายังประเทศไทยเป็นเพราะว่ามองเห็นโอกาสในการประกอบอาชีพ อย่างไรก็ตาม ชาวเวียดนามไม่สามารถซื้อที่ดินได้ในขณะนั้น ก็จะรับจ้างทำนาทำสวนตามความถนัด บางคนจะเช่าที่ดินคนไทยเพื่อเพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ปีก อาทิ เป็ด ไก่ และเลี้ยงหมูเพื่อนำไปขาย บางคนอาจรับจ้างคนไทยที่มีฐานะดีเฝ้าสวนเพื่อดูแลสวนแลกกับการไม่ต้องเช่าที่ในการเพาะปลูกเลี้ยงปากท้องของตนเองและครอบครัว นอกจากนี้ ยังมีชาวเวียดนามบางส่วนในขณะนั้นประกอบอาชีพอื่น ๆ อีกเช่น เป็นแรงงานก่อสร้าง ขุดดิน ช่างไม้ ขายของ รับจ้างตักน้ำส่งตามบ้านเรือน หรือแม้แต่ยอมเป็นโสเภณี รายได้ส่วนหนึ่งชาวเวียดนามจะแบ่งให้กับองค์กรกลางนำส่งไปช่วยชาติในการต่อสู้เรียกร้องเอกราช (ผล อัฐนาค, 2543)

สำหรับเครื่องมือในการประกอบอาชีพของชาวเวียดนามส่วนใหญ่มักจะเกี่ยวข้องกับการทำประมง เนื่องจาก ชาวเวียดนามมีความถนัดในการทำประมง หรือการจับปลาในแม่น้ำจากการที่ประเทศเวียดนามอยู่ติดกับทะเลและมีแม่น้ำหลายสายที่สำคัญไหลลงสู่ทะเล อย่างไรก็ตาม เมื่อชาวเวียดนามอพยพเข้ามาในประเทศไทยแล้วทั้งหมดได้ฝึกและเรียนรู้ทักษะการประกอบอาชีพทุกอย่างที่สามารถทำได้ ขอบเขตการประกอบอาชีพของชาวเวียดนามจึงขยายออกไปมากขึ้น เช่น การเป็นช่างซ่อมเครื่องยนต์ ช่างตัดเย็บเสื้อผ้า ช่างก่อสร้าง ช่างตัดผม (ผล อัฐนาค, 2543)

ปัจจุบันชาวเวียดนามชาวเวียดนามสามารถประกอบอาชีพได้หลากหลาย ด้วยความขยัน อดทน ประหยัด อดออม ทำให้สามารถเป็นเจ้าของกิจการได้ โดยเฉพาะธุรกิจร้านอาหารเวียดนามตั้งแต่ร้านขนาดย่อมไปจนถึงร้านขนาดใหญ่ เช่น แดงแหนมเนือง และวีทีแหนมเนือง และมีบางส่วนทำธุรกิจของฝาก ซึ่งได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวอย่างมาก และได้กลายเป็นของฝากขึ้นชื่อประจำจังหวัด เช่น หมูยอของจังหวัดอุบลราชธานี ชาวเวียดนามในหลาย ๆ พื้นที่ของจังหวัดในภาคอีสานยังก้าวขึ้นมามีบทบาทสำคัญในการมีส่วนร่วมพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นนับแต่อดีต ดังจะเห็นได้จาก จังหวัดนครพนม หนองคาย อุดรธานี และสกลนคร ชาวเวียดนามได้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้คุมตลาดการค้าเทียบเท่าหรือมากกว่าชาวจีน (พิสิฐ อำนวยเงินตรา, 2560; ธัญญาทิพย์ ศรีพนา และ Trinh Dieu Thin, 2548; ณรงศักดิ์ คูบุญญอารักษ์ และคณะ, 2561)

ระบบความเชื่อ ประเพณี และพิธีกรรม

ศาสนาและความเชื่อ

ชาวเวียดนามแต่เดิมนับถือศาสนาพุทธนิกายมหายาน แต่เมื่อจีนเข้ามาปกครองเวียดนาม รวมเวลากว่าศตวรรษ จีนได้นำเอาลัทธิเต๋าและขงจื้อเข้ามาเผยแพร่ นอกจากเวียดนามจะยอมรับและนับถือทั้งสองลัทธินี้แล้ว ยังรับเอาลัทธิการบูชาดวงวิญญาณบรรพชนตามธรรมเนียมจีนเข้าไว้ด้วย ต่อมาเมื่อเวียดนามตกเป็นประเทศในอาณานิคมของฝรั่งเศส (พ.ศ.2427-2497) ทำให้ศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก เป็นตัวเลือกในการนับถือศาสนามากขึ้น (องค์ บรรจุน, 2565) ในปัจจุบัน รัฐธรรมนูญเวียดนามไม่ได้ระบุให้มีศาสนาประจำชาติ แต่บัญญัติให้ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพในการเลือกนับถือศาสนา ทำให้ชาวเวียดนามมีการนับถือศาสนาหลัก คือ พุทธ คริสต์ และลัทธิที่ได้รับอิทธิพลจากจีน ได้แก่ เต๋า ขงจื้อ และรับเอาประเพณีการเซ่นไหว้ดวงวิญญาณบรรพชนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมเวียดนาม (ผุสดี จันวิมล, 2541 อ้างถึงใน องค์ บรรจุน, 2565) นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มชาติพันธุ์ในเวียดนามอีกจำนวนมากที่เคารพบูชาเทพเจ้า ภูตผี และวิญญาณบรรพชน เช่น ไทดำ ทางตอนเหนือของเวียดนาม (องค์ บรรจุน, 2565)

เช่นกันกับชาวเวียดนามในประเทศไทย ซึ่งได้รับอิทธิพลทางด้านศาสนาและความเชื่อมาจากจีนในลัทธิใหญ่ 3 ลัทธิ ได้แก่ พุทธมหายาน ขงจื้อ และเต๋า ซึ่งทั้งหมดนี้ชาวเวียดนามเรียกว่า “ตำเสา” หรือ “สามศาสนา” (ธนนันท์ บุ่นวรรณา, 2565) ส่งผลให้วัฒนธรรมประเพณี วิถีชีวิตของชาวเวียดนามส่วนใหญ่ปะปนกันระหว่างพุทธ นิกายมหายาน ความเชื่อเรื่องความกตัญญูต่อพ่อแม่ บรรพบุรุษซึ่งมีรากความเชื่อจากลัทธิขงจื้อ ดังจะเห็นได้จากการมีแท่นบูชาบรรพบุรุษภายในบ้าน การมีศาลเจ้า หรือ “เด่น” (Den) ประจำหมู่บ้านเพื่อประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ ในแต่ละพื้นที่มักมีศาลเจ้าและเทพเจ้าประจำศาลแตกต่างกันออกไป และจะขอยกตัวอย่างมาให้เห็นเพียงบางแห่งเท่านั้น ชาวเวียดนามในประเทศไทยได้สร้างพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์รูปแบบต่าง ๆ ทั้งระดับชุมชนและครัวเรือนที่พวกเขาให้ความเคารพนับถือ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการผสมผสานกันระหว่างศาสนาและลัทธิความเชื่อ รวมทั้งการบูชาเซ่นไหว้บรรพบุรุษของคนเวียดนามได้เป็นอย่างดี ตัวอย่างของพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของชาวเวียดนาม ได้แก่

ศาลเจ้าพ่อด่ายเวือง (Dai Vuong) เป็นศาลเจ้าประจำหมู่บ้านนาจอก อ.เมือง จ.นครพนม สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2441 คำว่า “ด่ายเวือง” มีความหมายว่า พระมหากษัตริย์ผู้หญิงใหญ่ของเวียดนาม” ศาลเจ้านี้สร้างขึ้นหลังจากมีการก่อตั้งหมู่บ้านภายใต้การนำของกำนันลาย ประชากูล เดิมศาลเจ้าพ่อด่ายเวืองทำขึ้นด้วยไม้ โดยชาวเวียดนามรุ่นแรก ปัจจุบัน ชาวเวียดนามรุ่นหลังมีคุณภาพชีวิตและสภานะทางเศรษฐกิจดีขึ้น จึงได้รับการบูรณะขึ้นใหม่ เป็นการก่ออิฐถือปูน มีรูปทรงสวยงามมากขึ้น สำหรับชาวเวียดนาม ศาลเจ้าเป็นเหมือนสถานที่ศักดิ์สิทธิ์เป็นที่พึ่งทางจิตใจตลอดจนเป็นศาลที่ปกครองคนในหมู่บ้านด้วยกฎระเบียบของหมู่บ้าน และบรรจุความเชื่อในตัวของเจ้าที่สิงสถิตอยู่ นอกจากนี้ ยังเป็นศูนย์รวมสร้างศรัทธาหล่มหลอมคนในหมู่บ้านให้มีจิตสำนึกที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน สิ่งสำคัญอีกประการ คือ ศาลเจ้าพ่อด่ายเวือง ถูกใช้เป็นพื้นที่ในการประกอบสร้างความเป็นชาติและความกตัญญูต่อบรรพบุรุษผ่านพิธีกรรมต่าง ๆ สำหรับพิธีกรรมที่จัดขึ้นที่ศาลเจ้าพ่อด่ายเวือง ได้แก่ พิธีเต๊ด ซึ่งจัดขึ้นปีละครั้ง คือ ช่วงมกราคม-กุมภาพันธ์ และประเพณีวันไหว้ จัดขึ้นในเดือน 6 ช่วงเข้าพรรษาของไทย (จตุพร ดอนโสม, 2555)

ศาลเทพเจ้าเจิ่น ฮึง ด่าว (Tran Hung Dao) หรือเตริ่น ฮึง ด่าว คือ เทพเจ้าที่ได้รับความเคารพอย่างมากจากชาวเวียดนามในภาคอีสาน เช่น จังหวัดอุดรธานี หนองคาย นครพนม และมุกดาหาร โดยมีความเชื่อที่เล่าต่อกันมาว่าเป็นเจ้าแห่งบรรพบุรุษของชาวเวียดนามที่นับถือสืบทอดกันมา และครั้งหนึ่งเทพองค์ดังกล่าวเคยเป็นผู้ปกครองชนชาติเวียดนามนับแต่โบราณในสมัยราชวงศ์เจิ่น (Tran) เป็นทหารยอดนักรบนำพาเวียดนามสู้รบกับจีนจนมีชัยหลายครั้ง จึงมีความศักดิ์สิทธิ์เป็นอย่างมาก ชาวเวียดนามได้ทำสัญลักษณ์แทนองค์เทพเจิ่น ฮึง ด่าว ขึ้นเป็นรูปปั้นในร่างชายถือดาบที่ทำจากไม้ ประทับยืนด้วยอากัปกิริยาดูน่าเกรงขาม นอกจากนี้ ยังมีข้อห้ามไม่ให้สตรีเข้าใกล้ แต่สามารถสักการะได้แค่เพียงด้านนอก เนื่องจาก เชื่อว่าหากผู้หญิงเข้าไปใกล้แล้วจะทำให้ความศักดิ์สิทธิ์เสื่อมสลายลง (ธัญญาทิพย์ ศรีพนา, 2548;จตุพร ดอนโสม, 2555) ชาวเวียดนามที่เคารพนับถือเทพเจ้าเจิ่น ฮึง ด่าวจะมีการจัดพิธีไหว้ใหญ่ประจำปี 2 พิธี คือ พิธีบูชาวันครบรอบวันตายพ่อ (Gio Cha) และพิธีบูชาครบรอบวันตายแม่ (Gio Me) โดยจัดขึ้นในวันที่ 20 เดือน 8 และวันที่ 3 เดือน 3 ตามปฏิทินจันทรคติ นอกจากนี้ ยังมีการจัดพิธีไหว้เจ้าทุกวันที่ 1 และ 15 ในทุกเดือน (เศรษฐศาสตร์ วัตรโศก, 2559)

หิ้งบูชาปิตุภูมิ (Ban tho To Quoc) หิ้งบูชาปิตุภูมิถูกสร้างขึ้นครั้งแรกในประเทศไทยเมื่อ พ.ศ.2491 ภายใต้บริบทการเมืองสมัยนายปรีดี พนมยงค์ เป็นนายกรัฐมนตรี มีวัตถุประสงค์เพื่อจะใช้รื้อฟื้นความรักชาติของชาวเวียดนามในประเทศไทย และเพื่อรวบรวมความรักสามัคคีระหว่างชาวเวียดนามในการต่อสู้กับฝรั่งเศส หิ้งบูชาปิตุภูมิจะถูกวางไว้ในตำแหน่งที่สำคัญที่สุดของบ้าน โดยมักจะมีรูปของโฮจิมินห์ติดไว้ตรงกลาง ด้านบนของภาพมีข้อความเขียนว่า “To quoc tren het” แปลว่า “ชาติอยู่เหนือสิ่งอื่นใด” ด้านซ้ายเขียนว่า “Can kiem nhan nai vuot qua kho” แปลว่า “ความขยัน ประหยัดมัธยัสถ์ และความอดทนจะนำพาให้ก้าวข้ามความลำบาก” ด้านขวาจะเขียนว่า “Viet Thai tah thiet muon nam” แปลว่า “เวียดนามและไทยมีความรักใคร่กลมเกลียวกันยิ่งยืนนาน” และด้านล่างเขียนว่า “Ho chu tich muon nam” แปลว่า “โฮจิมินห์จงเจริญ” หิ้งบูชาปิตุภูมิมีบทบาทสำคัญในงานพิธีสำคัญต่าง ๆ ของชาวเวียดนามอย่างมาก อาทิ เทศกาลเต๊ด วันครบรอบวันตายของบรรพบุรุษ วันชาติเวียดนาม วันคล้ายวันเกิดของโฮจิมินห์ และพิธีมงคลสมรส จะมีการนำหิ้งบูชาปิตุภูมิออกมาตั้งไว้เพื่อให้กราบไหว้บูชา (เศรษฐศาสตร์ วัตรโศก, 2559)

สำหรับความเชื่อเรื่องการเสี่ยงทายของชาวเวียดนามจะเกี่ยวข้องกับพิธีกรรมในการบวงสรวงเทพเจ้าผ่านร่างทรง โดยเฉพาะที่อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย ชาวเวียดนามจะเสี่ยงทายผ่านร่างทรงหรือที่เรียกว่า ถัน โต๋ (Thanh To) ที่เป็นเพศชายหรือผู้ช่วยร่างทรงที่เป็นเพศหญิงหรือ โก ฮาย (Co Hai) การเสี่ยงทายจะมีลักษณะคล้ายกับชาวเวียดนามในหมู่บ้านนาจอกที่จังหวัดนครพนม กล่าวคือ จะใช้เหรียญกษาปณ์จีนโบราณจำนวน 2 เหรียญ ซึ่งที่ด้านใดด้านหนึ่งของทั้งสองเหรียญจะทาด้วยสีขาว การเสี่ยงทายจะใช้เพื่อต้องการทราบว่ามีเทพหรือผีมารับของเซ่นไหว้แล้วหรือยัง โดยโก ฮายจะโยนเหรียญทั้งสองลงบนถาดกลม อีกกรณีเป็นการเสี่ยงทายเพื่อสะเดาห์เคราะห์ โดยใช้เหรียญกษาปณ์จีนโบราณ 36 เหรียญ ที่ด้านใดด้านหนึ่งของเหรียญทั้งหมดจะทาด้วยสีขาว พิธีดังกล่าวจะมีไท กรุ๋ง หรือ ไถ่ กุ๋ง (Thay Cung) เป็นผู้ทำพิธี โดยจะใช้มือข้างใดข้างหนึ่งกำเหรียญทั้งหมด แล้วปล่อยลงมาทีละเหรียญบนถาดที่มีข้าวสารผสมเกลืออย่างละกำมือและธูปวางเอาไว้ ส่วนมืออีกข้างจะกำมีดบางแล้วตวัดมีดใต้มือที่กำเหรียญในลักษณะการตัดบางบางอย่าง ในทีนี้หมายถึงการตัดเหรียญที่กำลังร่วงหล่นลงบนถาด หากมีดที่ตวัดไปมาเกิดโดนเหรียญจะต้องเริ่มทำใหม่ แต่ถ้าทำเช่นนี้แล้วเหรียญหล่นลงมาครบ 36 เหรียญ ไท กรุ๋งจะเอาธูปที่วางบนถาดข้าวสารผสมเกลือไปปักที่กระถางธูปบนแท่นบูชาสำหรับวางของเซ่นไหว้ จากนั้น ยกถาดที่มีเหรียญและข้าวสารผสมเกลือขึ้นมาผัด 3 ครั้ง แล้วนับเหรียญที่มีสีขาวแต้มอยู่ขึ้นทีละ 4 เหรียญ ทำเช่นนี้จนกว่าจะเหลือ 1-2 เหรียญ เป็นอันเสร็จพิธี แต่ถ้าหากเหลือเหรียญที่เป็นเศษ 3 เหรียญ ก็จะต้องทำพิธีตัดเหรียญและอธิษฐานใหม่ จนกว่าการเสี่ยงทายจะเหลือเหรียญในถาด 1-2 เหรียญ การเสี่ยงทายดังกล่าวนอกจากจะเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจแล้ว ยังแสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมของชาวเวียดนามที่บริโภคข้าวเป็นอาหารหลัก รวมทั้งเกลือที่สามารถร่วมรับประทานกับข้าวได้ ถือเป็นสิ่งมีคุณค่า นอกจากนี้ ยังสัมพันธ์กับประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์ที่ชาวเวียดนามต้องต่อสู้ดิ้นรนและผ่านช่วงสงครามมาหลายครั้ง เกลือจึงเป็นสิ่งมีคุณค่าทั้งในแง่ของอาหารและยารักษาบาดแผลที่เกิดจากการสู้รบด้วย (จิราภรณ์ วีระชัย, 2543)

ประเพณี เทศกาล และพิธีกรรม

ประเพณี เทศกาลและพิธีกรรมสำคัญในรอบปี

เทศกาลเต๊ดหรือตรุษญวน เต๊ด (Tet) หรือวันตรุษ นับเป็นประเพณีที่สำคัญที่สุดของชาวเวียดนามในประเทศไทย เทศกาลเต๊ดเป็นวันฉลองการเริ่มต้นปีใหม่ของคนเวียดนาม จัดขึ้นปีละครั้ง ส่วนใหญ่จัดขึ้นในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี ตามคติของปฏิทินจันทรคติ (วันสิ้นเดือนสิบสองของปี) ซึ่งตรงกับวันตรุษจีนนั่นเอง รูปแบบของพิธีในเทศกาลเต๊ดจะมีพิธีเซ่นไหว้บรรพบุรุษทั้งที่บ้านและที่ศาลเจ้า ในกระบวนการไหว้เจ้านั้น ชาวเวียดนามจะนำเหล้าและไก่นึ่งเป็นตัว บางครั้งมีหัวหมู มีขนมแบ๋งห์ จึง หรือบั๊ญ จึง มาเซ่นไหว้ในพิธีเต๊ดที่ศาลเจ้าในชุมชนและในพิธีกรรมจะมีผู้นำในการทำพิธีเป็นผู้ชายที่มีวัยวุฒิที่ได้รับคัดเลือกให้มาทำหน้าที่ในเทศกาลเต๊ดแต่ละปี ผู้นำพิธีจะแต่งกายด้วยชุดเอ๋าด่าย (Ao Dai) แบบเวียดนาม ในวันดังกล่าวจะถูกให้ความสำคัญในฐานะวันรวมญาติของชาวเวียดนามในประเทศไทยด้วย เนื่องจาก สมาชิกทุกคนในครอบครัวที่อยู่ต่างถิ่นจะเดินทางกลับมารวมตัวกันเพื่อเฉลิมฉลองในวันดังกล่าว บ้านเรือนจะต้องได้รับการตกแต่งอย่างงดงาม มีการทำความสะอาดบ้าน โดยเฉพาะหิ้งบูชาบรรพบุรุษของแต่ละบ้านที่จะได้รับการดูแลเป็นพิเศษ ชาวเวียดนามเชื่อว่าวันเริ่มต้นปีใหม่ควรจะเป็นการเริ่มต้นพร้อมกับสิ่งใหม่ ดังนั้น ในเช้าวันแรกของปีชาวเวียดนามจึงจะแต่งกายด้วยเสื้อผ้าชุดใหม่ แต่ละครอบครัวจะเซ่นไหว้บรรพบุรุษด้วยอาหาร ขนม ผลไม้ เหล้า น้ำชา ส่วนผู้อาวุโสในครอบครัวจะให้พรกับเด็ก ๆ พร้อมแจกเงิน ที่ส่วนใหญ่เป็นเหรียญหรือธนบัตรใบใหม่ ใส่ในซองสีแดง การให้เงินกับเด็ก ๆ นี้เรียกว่า “หมึ่ง ต๋วย” (Mung Tuoi) คล้ายกับการแต๊ะเอียของชาวจีน หลังจากนั้น คนในครอบครัวจะเฉลิมฉลองด้วยการกินดื่มกันอย่างสนุกสนาน (จิราภรณ์ วีระชัย, 2543 อ้างถึงใน จตุพร ดอนโสม, 2555)

พิธีกรรมบูชาดวงวิญญาณของบรรพบุรุษ หรือพิธีโหย๋ การเซ่นไหว้ดวงวิญญาณบรรพบุรุษถือได้ว่ามีความสำคัญต่อการดำเนินชีวิตของชาวเวียดนามในประเทศไทยอย่างมาก เมื่อครบรอบวันตายของบรรพบุรุษในแต่ละปี จะมีการทำพิธีบูชาดวงวิญญาณบรรพบุรุษขึ้นในครอบครัว ลูกหลานจะต้องเตรียมของไหว้ อาทิ ไก่ต้ม เหล้า เบียร์ น้ำอัดลม ขนม เสื้อผ้า กระดาษเงินและกระดาษทอง จากนั้นจะเชิญ “ไทกรุ๋ง” ซึ่งเป็นผู้อาวุโสที่ได้รับการถ่ายทอดกระบวนการทำพิธีและสามารถสวดเชิญดวงวิญญาณของบรรพบุรุษได้มาเป็นสื่อกลางเพื่อเชิญวิญญาณให้มารับของเซ่นไหว้ โดยไทกรุ๋งจะเริ่มด้วยการเสี่ยงทายเพื่อดูว่าดวงวิญญาณบรรพบุรุษได้มาถึงบริเวณพิธีหรือยังด้วยการโยนเหรียญโบราณของเวียดนามที่มีรูตรงกลางรูป 4-6 เหลี่ยม และที่เหรียญถูกใช้ปูนขาวทาเอาไว้ด้านใดด้านหนึ่งของแต่ละเหรียญ หากเหรียญที่โยนแล้วตกลงมามีลักษณะคว่ำกับหงายก็หมายความว่าดวงวิญญาณของบรรพบุรุษได้มาถึงแล้ว แต่ถ้าเหรียญที่โยนตกลงมาไม่คว่ำและหงาย จะต้องตรวจดูว่าของไหว้ที่ทำมาเพียงพอหรือไม่ มีอะไรขาดตกบกพร่องบ้าง เช่น ขวดเหล้าเปิดหรือปิดอยู่ ถ้าไม่ได้เปิดขวดเหล้าตองกล่าวคำขอโทษและเปิดขวดเหล้าดังกล่าวให้เรียบร้อย แล้วจึงเริ่มการโยนเหรียญเสี่ยงทายใหม่ ชาวเวียดนามจะเชื่อว่าการเตรียมของเซ่นไหว้มาไม่เรียบร้อย หรือไม่พร้อมสำหรับการทำพิธีจะทำให้วิญญาณของบรรพบุรุษไม่พอใจ สำหรับบทสวนที่ไทกรุ๋งใช้สวดเพื่อเชิญวิญญาณของบรรพบุรุษจะเป็นภาษาเวียดนาม โดยสรุปความได้ว่าเป็นการกล่าวถึงชื่อผู้ตายที่ได้ตายในวันนี้ในอดีต แลขอเชิญให้วิญญาณผู้ตายมารับของเซ่นไหว้ที่ครอบครัวจัดเตรียมไว้ให้ การสวดจะกล่าวเช่นนี้อยู่ 3 จบ จากนั้นจะกล่าวว่า แม้ดวงวิญญาณจะไม่ได้อยู่กับครอบครัว หากแต่ลูกหลานยังคงระลึกถึงและจะจัดของเซ่นไหว้มาถวายให้เสมอ เมื่อคิดว่าวิญญาณมารับของเซ่นไหว้แล้วก็จะมอบหน้าที่ให้ลูกชายคนโตหรือหัวหน้าครอบครัวนำกระดาษเงินและกระดาษทองไปเผา โดยมีไทกรุ๋งเป็นผู้กล่าวกับดวงวิญญาณบรรพบุรุษว่าให้นำเอาข้าวของทั้งหมดที่นำมาเซ่นไหว้ในวันนี้ไปด้วย โดยที่สามารถนำไปแจกให้ดวงวิญญาณอื่นได้ตามแต่เจตนารมณ์ของวิญญาณบรรพบุรุษ เมื่อเสร็จพิธีของไหว้ทุกอย่างจะถูกแจกจ่ายให้กับคนในครอบครัวเพื่อรับประทานต่อไป (จตุพร ดอนโสม, 2555)

ประเพณี เทศกาลและพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับชีวิต

พิธีบ๋าน เจ๋า เป็นพิธีที่เกี่ยวข้องกับทารกที่เลี้ยงยากและมักเจ็บป่วยเป็นประจำ เมื่อพ่อและแม่ได้ปรึกษากับปู่ย่าตายายแล้ว ก็จะประกอบพิธีกรรมยกบุตรตนให้เทพเจ้า โดยพ่อและแม่จะต้องเตรียมน้ำสำหรับทำน้ำมนต์สะเดาะเคราะห์จากน้ำในท้องเรือหรือบ่อน้ำ หากเด็กเป็นชายจะใช้น้ำในท้องเรือ 7 ขัน หรือบ่อน้ำ 7 บ่อ หากเป็นเด็กหญิงจะใช้น้ำในท้องเรือ 9 ขัน หรือบ่อน้ำ 9 บ่อ มาใส่ปี๊บพร้อมด้วยหนามของพืชชนิดต่าง ๆ เช่น โป๊ยเซียน กุหลาบ มะนาว มะกรูด โดยสำหรับเด็กชายจะใช้หนามจากพืช 7 ชนิด ส่วนเด็กหญิงจะใช้ 9 ชนิด นอกจากนี้ ยังใส่ดอกของต้นอ้อไม่จำกัดจำนวนรวมลงไปในน้ำมนต์ด้วย เมื่อน้ำมนต์ถูกเตรียมเสร็จเรียบร้อยแล้ว พ่อและแม่ของเด็กจะจัดเตรียมกระทงสะเดาะเคราะห์ พื้นปูด้วยใบตอง ปักธงและรูปชายหญิงหนึ่งคู่ตัดมาจากกระดาษ พร้อมทั้งอาหารคาวหวาน ข้าวเหนียว เหล้าขาว หรือเหล้าโรง ผลไม้ชนิดใดก็ได้ยกเว้นมังคุดและลุมุด ซี่ไม้ไผ่เล็ก ๆ จำนวน 3 ซี่ เส้นผม เล็บมือและเล็บเท้าของเด็ก และโลงศพหุ่นเด็กที่ทำจากไม้ไก บง (cay bong) หรือไม้ต้นนุ่นหรือไม้เนื้ออ่อนเท่านั้น วันประกอบพิธีจะเชิญไท กรุ๋ง ถัน โต๋ และผู้ช่วย โก ฮาย พร้อมด้วยพ่อและแม่ของเด็กไปที่ศาลเจ้า จัดเครื่องเซ่นไหว้ และสวดบทอัญเชิญเทพเจ้าเป็นภาษาเวียดนาม จากนั้นผู้ช่วยในการทำพิธีจะต้มน้ำมนต์ที่ได้เตรียมมาเพื่อสะเดาะเคราะห์และย่ำฆ้องและกลองเป็นจังหวะ จากนั้นเทพเจ้าจะลงประทับร่างทรงและผู้ช่วยร่างทรง แล้วผู้ช่วยในการทำพิธีจะนำชุดแดงมาสวมให้กับทั้งคู่ จากนั้นจะนำเอาเส้นผม เล็บมือและเล็บเท้าของเด็กมาใส่ในโลง และตรึงตะปูฝาโลง พร้อมนำอาวุธ 3 คู่ ได้แก่ กระบอง ค้อน และแส้มาวางที่หน้าเตาไฟต้มน้ำมนต์ จากนั้นจะจุดธูปทีกระทงสะเดาะเคราะห์ พร้อมร่ายคาถาขับไล่ผีร้าย หากผีแก่กล้า ร่างทรงจะต้องรำอาวุธเข้าช่วย ขณะเดียวกันจะมีการจุดซี่ไม้ไผ่เล็ก ๆ ที่เตรียมมากวัดแกว่งไล่ผีออกไปนอกศาลเจ้า เสร็จแล้วก็จะนำโลงศพจำลองและกระทงสะเดาะเคราะห์ไปวางไว้ที่ทางสามแพร่ง เป็นอันว่าผีร้ายได้ถูกกำจัดออกไปจากตัวเด็กแล้ว สุดท้ายจะนำเด็กไปให้ร่างทรงนำดอกต้นอ้อจุ่มน้ำมนต์มาพรมลงบนตัวเด็ก จากนั้น ร่างทรงจะเอาดอกอ้อใส่เข้าไปในปากของเด็ก เมื่อเด็กคายน้ำมนต์ออกมาหรือสำรอกอาหารเหลวออกมาก็จะเชื่อว่าเด็กได้สำรอกเอาสิ่งชั่วร้ายออกจากร่างกายแล้ว จากนั้นก็จะนำเด็กไปฝากเป็นบุตรบุญธรรมของเทพเจ้า โดยประทับชื่อใหม่ทีพ่อและแม่ของเด็กเตรียมไว้บนหน้าอกของเด็กด้วยอักษรโนม (Nôm) เพื่อแสดงตนว่าเด็กได้กลายเป็นลูกของเทพเจ้าเป็นอันเสร็จพิธี (จิราภรณ์ วีระชัย, 2543)

พิธีแต่งงาน (Lễ cưới) การแต่งงานในภาษาเวียดนามเรียกว่า “ด๋ามเกือย” โดยชาวเวียดนามในประเทศไทยนิยมแต่งงานกับชาวเวียดนามด้วยกันเอง โดยพ่อแม่เป็นฝ่ายทาบทามและเลือกคู่ครองที่คิดว่าเหมาะสมให้ และมีชาวเวียดนามน้อยมากที่แต่งงานกับคนนอกชาติพันธุ์ ตามประเพณีการแต่งงานของชาวเวียดนามนิยมแต่งงานกันในเดือนคู่ ยกเว้น ช่วงเดือนเข้าพรรษา หรือหากมีญาติฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสียชีวิตและอยู่ในช่วงไว้ทุกข์จะไม่นิยมจัดงานแต่งงานขึ้นในครอบครัวเป็นเวลา 2 ปี นอกจากนี้ ชาวเวียดนามยังมีข้อห้ามที่สำคัญคือห้ามเชิญบุคคลที่เป็นหม้ายหรือผ่านการหย่าร้างเข้าร่วมในพิธีแต่งงานโดยเด็ดขาด เพราะเชื่อว่าจะทำให้ชีวิตคู่ล้มเหลว หรือเกิดการพลัดพราก (ปัจจุบันข้อห้ามดังกล่าวไม่ได้เคร่งครัดเหมือนในอดีตแล้ว) สำหรับชาวเวียดนามการแต่งงานจะเกี่ยวข้องกับพิธีกรรม 3 ขั้นตอน ได้แก่ พิธีสู่ขอ (Lễ chạm ngõ) พิธีหมั้น (Lễ ăn hỏi) และงานเลี้ยงฉลองสมรส (Lễ cưới) การสู่ขอเป็นพิธีที่ผู้ใหญ่ของทั้งสองฝ่ายจะเป็นผู้จัดการติดต่อกัน โดยมีผู้ใหญ่ของฝ่ายชายทำหน้าที่ไปสู่ขอฝ่ายหญิง ผู้ทำหน้าที่เป็นผู้ไปสู่ขอส่วนใหญ่มักเป็นเพศชายมีวัยวุฒิและรู้ภาษาเวียดนาม สามารถอ่านบทสวดมนต์ภาษาเวียดนามได้เป็นอย่างดี โดยบ้านของฝ่ายชายจะเตรียมของเพื่อนำไปเป็นของกำนัลในการพูดคุยเรื่องการสู่ขอ หากทั้งสองฝ่ายตกลงกันได้ก็จะมีการหาฤกษ์ยามเพื่อจัดงานหมั้นและงานแต่งงานต่อไป หลังจากตกลงกันได้เรียบร้อยจะเข้าสู่พิธีหมั้น เป็นพิธีที่เจ้าบ่าวมาทำการหมั้นเจ้าสาวที่บ้าน นิยมจัดขึ้นในช่วงไม่เกินเที่ยงวัน โดยมีการนำเอาของหมั้น เช่น หมาก พลู ส้ม เหล้า คุกกี้ มามอบให้ฝ่ายหญิง หลังจากเสร็จพิธี ทั้งครอบครัวฝ่ายชายและฝ่ายหญิงจะจัดงานเลี้ยง ซึ่งตามประเพณีแล้ว จะนิยมกินเลี้ยงที่บ้านฝ่ายชายก่อน เมื่อต้อนรับแขกเสร็จเรียบร้อยฝ่ายชายก็จะต้องเดินทางไปยังบ้านของฝ่ายหญิงเพื่อต้อนรับแขกทางฝ่ายหญิงต่อ การจัดงานเลี้ยงหลังพิธีหมั้นนี้ขึ้นอยู่กับความสะดวกของแต่ละครอบครัว อาจจัดขึ้นหลังพิธีหมั้นหลายเดือนก็เป็นได้ และงานเลี้ยงมงคลสมรส จะจัดขึ้นที่บ้านของฝ่ายชาย มีแขกจากทั้งสองฝ่ายมาร่วมงานเพื่อแสดงความยินดี ลักษณะเด่นของงานเลี้ยงมงคลสมรสของชาวเวียดนามก็คือจะมีหิ้งบูชาโฮจิมินห์ประดับอยู่ในงาน ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่สุดในพิธีนี้ และเจ้าบ่าวเจ้าสาวจะต้องไปถ่ายรูปร่วมกับแขกที่หน้าหิ้งบูชาโฮจิมินห์ (พิสิษฐ์ อำนวยเงินตรา, 2557 อ้างถึงใน กรชวัล กริ่งสันเทียะ, 2559; จตุพร ดอนโสม, 2555)

พิธีศพ (Dam ma) สำหรับชาวเวียดนามในประเทศไทยอาจจะมีการจัดการพิธีศพให้กับสมาชิกที่ล่วงลับแตกต่างกันออกไป จุตพร ดอนโสม (2555) ระบุว่าทันทีที่มีชาวเวียดนามเสียชีวิต ญาติของผู้ตายจะต้องแจ้งต่อประธานศาลเจ้า โดยนำหมากพลู 1 สำรับ ประกอบด้วยหมากและพลูอย่างละ 5 คำ เหล้าขาว 1 ขวด มารับ “การครอบ” ซึ่งเป็นการบอกกล่าวแก่ผู้อาวุโสหรือประธานศาลเจ้า จากนั้นผู้ที่เป็นประธานศาลเจ้าจะไปแจ้งต่อผู้ใหญ่บ้านที่มีหน้าที่ให้สัญญาณกลองแก่สมาชิกในหมู่บ้าน ที่มีทำนองการตีเฉพาะ เมื่อได้ยินเสียงกลองชาวเวียดนามจะมารวมตัวกันที่บ้านของผู้ตาย และมีกรรมการศาลเจ้าเป็นแกนนำในการประกอบพิธีศพ และมีตัวแทนชายฉกรรจ์ 7 คน รับมอบหมายงานจากกรรมการศาลเจ้าให้มีหน้าที่ช่วยงานศพจนกระทั่งพิธีได้เสร็จสิ้นลง การตั้งศพ ชาวเวียดนามจะตั้งศพหันศีรษะผู้ตายไปทางทิศตะวันตก เช่นกันกับคนไทย การวางศพจะวางไปตามแนวยาวของบ้าน ลักษณะศพนอนวางมือซ้ายทับมือขวาที่หน้าท้อง เท้าโผล่นอกผ้าที่ใช้คลุมศพ และหันเท้าออกนอกบ้าน ตั้งกระถางธูปไว้ที่เท้าผู้ตาย โดยปักธูปใหญ่ไว้กลางและมีเทียน 2 เล่ม มีโต๊ะเล็กเรียกว่า “เกือบอุบ” สำหรับวางข้าวจ้าว ตะเกียบคู่หนึ่ง น้ำแก้วหนึ่ง ตะเกียงน้ำมันก๊าดที่ต้องจุดไว้ตลอดเวลา 1 ดวง ซึ่งมีความเชื่อว่าตะเกียงจะเป็นแสงสว่างนำทางผู้ตายมากินอาหารที่จัดวางไว้นี้ ข้าว มีความหมายถึง ความอุดมสมบูรณ์ ไข่ หมายถึง อาหาร ถ้าเป็นงานศพของผู้ที่ยังไม่ได้มีอายุไม่ว่าชายหรือหญิงจะตัดชุดแดงใส่ให้แก่ศพ และมีข้าว 9 เมล็ด เงินบาท 1 เหรียญ และทองคำจำนวนหนึ่งให้อยู่กับศพ เพราะเชื่อว่าสัญลักษณ์ดังกล่าวจะนำพาความอุดมสมบูรณ์ในโลกหน้า

ในงาน จะมีการร่วมรับประทานอาหารช่วงกลางคืน มีการนำอาหารอาทิ เมล็ดแตงโม (โหดเยือ) ส้มตำ ข้าวเกรียบ (แบ๋งห์ดา) และข้าวต้ม (จ๋าวกว่าง) และของหวานเป็นบัวลอยลูกใหญ่มาบริการแขกผู้ร่วมงาน ผู้เข้าร่วมงานแต่งกายสีดำ และญาติผู้ตายจะแต่งกายตามแบบเวียดนาม คือ ลูกสาวต้องแต่งชุดสีขาว คือ สวมเสื้อขาว ผ้าถุงขาว สวมผ้าที่ทำคล้ายหมวกสวมยาวคลุมถึงไหล่ ส่วนลูกชายใส่ชุดสีขาวเช่นกัน มีผ้าโพกที่ศีรษะ และหลานของผู้ตายต้องส่วมเสื้อสีขาวและโพกผ้าสีขาวที่หัวด้วย การแต่งกายในพิธีศพของชาวเวียดนามเรียกว่า “อ้าวเต้” ทำมาจากผ้าดิบสีขาว หรือเรียกได้อีกชื่อว่าชุด “วายโท” (เหงียน ถิ ถ่าว, 2552) ในคืนสุดท้าย จะมีพิธีบอกผู้ตายให้ทราบ เรียกว่าพิธีเจี่ยนกิ่ว โดยเป็นการยกโลกศพ กลับหัวโลงศพหันศีรษะออกนอกบ้าน มีการเดินรอบโลงศพสามรอบ ทุกครั้งจะมีหัวหน้าชายฉกรรจ์คอยให้สัญญาณ โดยเคาะไม้เป็นจังหวะ และมีการตีฆ้องสลับกัน ทุกครั้งที่ตีญาติจะร้องไห้เสียงดังขึ้น เพื่อแสดงถึงความกตัญญูต่อผู้ตาย การเคลื่อนศพในอดีตจะใช้การแบกหาม แต่ปัจจุบันจะเปลี่ยนมาใช้รถ ในขบวนศพจะมีลูกชายคนโตของผู้ตายเดินนำหน้ารถบรรจุศพโดยเดินถอยหลังและไม่สวมรองเท้า ระหว่างทางมีการโปรยกระดาษเงินกระดาษทอง ระหว่างทางมีการหยุดพักเพื่อทำพิธี “ดีดาง” คล้ายการทำบังสุกุลของคนไทย มีการบริจาคเงินจากญาติผู้ตายตามศรัทธาแก่ศาลเจ้า สำหรับการฝังศพ ญาติจะจ้างคนมาขุดเตรียมไว้ นิยมขุดอยู่ในตระกูลหรือฮ่อของตนเอง เนื่องจากเชื่อว่าจะได้กลับมาเกิดในครอบครัวเดียวกันในภพหน้า ก่อนจะฝังศพ ไทกรุ๋งจะทำหน้าที่อ่านใบเบิกทางของผู้ตาย โดยใบเบิกทางนี้จะใช้แปะไว้ที่หน้าโลงศพเพื่อฝังลงไปพร้อมกัน จากนั้นก็จะนำศพลงฝัง มีช่างปูนก่อหลุมศพเพื่อสร้างเป็นฮวงซุ้ยต่อไป และเป็นอันเสร็จพิธี (จตุพร ดอนโสม, 2555)

คนเวียดนามในแผ่นดินสยาม. (16 มิถุนายน 2562). การอพยพของคนไทยเชื้อสายเวียดนามจากแผ่นดินแม่สู่แผ่นดินไทย [Video].

ประวัติศาสตร์นอกตำรา. (6 มกราคม 2564). คนเวียตที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยจนถึงวันนี้ที่พวกเขาต้องกลับสู่มาตุภูมิประวัติศาสตร์นอกตำรา EP.27 [Video].

Thai PBS. (3 เมษายน 2562). อาหารไทยเชื้อสายเวียดนามที่นี่บ้านเรา (3 เม.ย. 62) [Video].อาหารไทยเชื้อสายเวียดนามที่บ้านเรา

กรชวัล กริ่งสันเทียะ. (2559). การดำรงอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมผ่านการสอนภาษาเวียดนามของชาวเหวียดเกี่ยวในจังหวัดอุดรธานีและนครพนม [ภาคนิพนธ์, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์]. ฐานข้อมูลวิจัย (ThaiLis).

กฤษณะ ทองแก้ว. (2562). ชาวไทยเชื้อสายเวียดนาม: พลวัตการเปลี่ยนแปลงผ่านทางสังคมในเมืองสุราษฎร์ธานี. วารสารราชภัฏสุราษฎร์ธานี, 6(1), 186-211.

จตุพร ดอนโสม. (2555) การสร้างอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ของคนไทยเชื้อสายเวียดนามบ้านนาจอก. ขอนแก่น: ศูนย์วิจัยพหุลักษณ์สังคมลุ่มน้ำโขง มหาวิทยาลัยขอนแก่น.

จิตร ภูมิศักดิ์. (2556). ความเป็นมาของคำสยาม, ไทย ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ. พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพฯ:แม่คำผาง.

จิราภรณ์ วีระชัย. (2543). สถานภาพและบทบาทของเจ้าอง โต๋ที่มีผลต่อวิถีชีวิตชาวไทยเชื้อสายเวียดนามในอำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย [การศึกษาค้นคว้าอิสระปริญญาโท, มหาวิทยาลัยมหาสารคาม]. ฐานข้อมูลวิจัย (ThaiLis).

เจริญ ไชยชนะ. (2515). ประวัติศาสตร์ประเทศไทยในเอเชีย. พิมพ์ครั้งที่ 2 กรุงเทพฯ: ไชยวัฒน์ การพิมพ์

ณรงศักดิ์ คูบุญญอารักษ์, พิสิฏฐ์ บุญไชย, และไพบูลย์ บุญไชย. (2561). บทบาทของชาวไทยเชื้อสายเวียดนามที่มีต่อการเปลี่ยนแปลง ด้านเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม. วารสารมหาวิทยาลัยนครพนม. 8(2), 107-116.

ณัฐฌา กำจรวัฒนสิริ. (2553). ชุมชนชาวเวียดนาม บริเวณชุมชนมิตรสัมพันธ์ถนนมิตรสัมพันธ์ อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว [วิทยานิพนธ์ปริญญาโท, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์]. ฐานข้อมูลวิจัย (ThaiLis).

ธนนันท์ บุ่นวรรณา. (2556). วิทยานิพนธ์สาขาประวัติศาสตร์เวียดนาม ระหว่าง ค.ศ.1985-2010: สำรวจสถานภาพองค์ความรู้. ศูนย์วิจัยพหุลักษณ์สังคมลุ่มน้ำโขง มหาวิทยาลัยขอนแก่น. ขอนแก่น: หจก.โรงพิมพ์คลังนานาวิทยา.

ธนนันท์ บุ่นวรรณา. (2565). ประวัติศาสตร์เวียดนามก่อน ค.ศ.1975. มหาวิทยาลัยขอนแก่น.

ธัญญาทิพย์ ศรีพนา. (2546). “ชาวเวียดนามอพยพในภาคอีสานของไทย”. วารสารอินโดจีน, (3-4), 59-75.

ธัญญาทิพย์ ศรีพนาและ Trinh Dieu Thin. (2548). เหวียต เกี่ยว ในประเทศไทยกับความสัมพันธ์ไทย-เวียดนาม. กรุงเทพฯ : สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับสถานบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา กรุงฮานอย.

นุชนงค์ อุเทศพรรัตนกุล. (2544). วัฒนธรรมการบริโภคอาหารของชาวเวียดนามในเขตเทศบาลเมืองนครพนม [วิทยานิพนธ์ปริญญาโท, มหาวิทยาลัยมหาสารคาม]. ฐานข้อมูลวิจัย (ThaiLis).

ผล อัฐนาค. (2543). วิถีชีวิตคนไทยเชื้อสายเวียดนามในเขตเทศบาลเมืองมุกดาหาร จังหวัดมุกดาหาร [วิทยานิพนธ์ปริญญาโท, มหาวิทยาลัยมหาสารคาม]. ฐานข้อมูลวิจัย (ThaiLis).

ผุสดี จันทวิมล. (2541). เวียดนามในเมืองไทย. กรุงเทพฯ: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยและมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์.

พิสิฐ อำนวยเงินตรา. (2560). การปรับตัวทางเศรษฐกิจและสังคมของชุมชนชาวไทยเชื้อสาย เวียดนาม จังหวัดอุดรธานี. วารสารศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. 13(1), 207-244.

เพ็ชรี สุมิตร. (2522). ประวัติศาสตร์การเมืองเวียดนาม. มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพาณิช.

ภัสธิดา บุญชวลิต. (2564). การคงอยู่ของลักษณะน้ำเสียงในระบบเสียงวรรณยุกต์ภาษาเวียดนามของชาวไทยเชื้อสายเวียดนามรุ่นที่ 4 ในจังหวัดนครพนม. วารสารมนุษยศาสตร์วิชาการ, 28(2), 442-472.

วิภู ชัยฤทธิ์. (2553). ความสัมพันธ์ทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมระหว่างชาวเวียดนามอพยพกับชาวไทยท้องถิ่นในจังหวัดพัทลุง [วิทยานิพนธ์ปริญญาโท, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่]. ฐานข้อมูลวิจัย (ThaiLis).

ศริญญา สุขนรี. (2558). ชาวเวียดนามอพยพ: นายทุนยุค “ไทยใหม่” และการกลายเป็นชนชั้นนำเมืองชายแดน. เชียงใหม่: ศูนย์อาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

เศรษฐศาสตร์ วัตรโศก. (2559) อุดรธานีกับขบวนการกู้ชาติเวียดนาม. ขอนแก่น: ศูนย์วิจัยพหุลักษณ์สังคมลุ่มน้ำโขง มหาวิทยาลัยขอนแก่น.

เศรษฐศาสตร์ วัตรโศก. (2559). อุดรธานีกับการเคลื่อนไหวของขบวนการกู้ชาติเวียดนาม [วิทยานิพนธ์ปริญญาโท, มหาวิทยาลัยขอนแก่น]. ฐานข้อมูลวิจัย (ThaiLis).

สมจิต สุดสงวน. (2542). การสืบทอดวัฒนธรรมของคนไทยเชื้อสายเวียดนาม กรณีศึกษาจังหวัดนครพนม [วิทยานิพนธ์ปริญญาโท มหาวิทยาลัยรามคำแหง]. ฐานข้อมูลวิจัย (ThaiLis).

สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคอีสาน เล่ม 2. (2542). กรุงเทพฯ: มูลนิธารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์.

สุภีร์ สมอนา. (2548). การบริโภคสุนัขในจังหวัดสกลนคร [วิทยานิพนธ์ปริญญาโท, มหาวิทยาลัยขอนแก่น]. ฐานข้อมูลวิจัย (ThaiLis).

สุรัตน์ วรางค์รัตน์. (2542). เรือนพักอาศัยชาวไทย-เวียดนามบ้านท่าแร่ สกลนคร. สำนักศิลปวัฒนธรรม สถาบันราชภัฏสกลนคร.

โสภนา ศรีจำปา. (2543). รู้จักเวียดนามผ่านภาษาและวัฒนธรรม. สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบท มหาวิทยาลัยมหิดล.

หนึ่งฤทัย จันทรคามิ และสมชัย ภัทรธนานันท์. (2563). เครือข่ายชาตินิยมข้ามชาติ: ชาวเวียดนามในประเทศไทย. วารสารบัณฑิตวิทยาลัยพิชญทรรศน์. 15(3), 233–243.

เหงียน ถิ ถ่าว. (2552). อัตลักษณ์ของคนไทยเชื้อสายเวียดนามในเขตเทศบาลนครอุบลราชธานี [วิทยานิพนธ์ปริญญาโท มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี]. ฐานข้อมูลวิจัย (ThaiLis).

องค์ บรรจุน. (4 มีนาคม 2565). ที่มาของพิธี “เหม่อ เกื่อ มา” ไฉนถูกมองเป็น “ภาระ” หลังความตายในวิถีชีวิตลูกหลานเวียดนาม. ศิลปวัฒนธรรม. https://www.silpa-mag.com/culture/article_84074

Varophas, K. (1966). The Vietnamese Refugees in Thailand. World Affairs, 128(4), 233-238.


close
ลืมรหัสผ่าน?
กรุณากรอกอีเมลที่ท่านสมัครสมาชิกไว้เพื่อรับรหัสผ่านใหม่
ระบบจัดส่งการสร้างรหัสผ่านใหม่ให้ท่านทางอีเมลเรียบร้อยแล้ว
นโยบายความเป็นส่วนตัว