2023-06-19 09:52:44
ผู้เข้าชม : 1343

ก่อ (อึมปี้) เดิมตั้งถิ่นฐานอยู่ในแคว้นสิบสองปันนา ประเทศจีน ปัจจุบันได้มีการอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทย บริเวณบ้านสะเกิน จังหวัดน่าน และบ้านดง จังหวัดแพร่ คนกลุ่มนี้มีความพยายามในการธำรงอัตลักษณ์ชาติพันธุ์ด้านการสื่อสารด้วยภาษาก่อ (อึมปี้) ในชีวิตประจำวัน มีการนับถือวิญญาณนิยมผ่าน "พิธีสังคหะ" เพื่อสะเดาะเคราะห์หมู่บ้าน รวมทั้งมีการทำนาเพื่อยังชีพ และมีบางส่วนเคลื่อนย้ายออกไปเป็นแรงงานนอกชุมชน

  • ข้อมูลพื้นฐาน
  • ประวัติศาสตร์
  • การตั้งถิ่นฐานและกระจายตัว
  • วิถีชีวิตและวัฒนธรรม
  • งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
  • อ้างอิง

ชื่อกลุ่มชาติพันธุ์ : ก่อ (อึมปี้)
ชื่อเรียกตนเอง : ก่อ (อึมปี้)
ชื่อที่ผู้อื่นเรียก : ก่อเมืองแพร่
ตระกูลภาษา : ออสโตรเอเชียติก
ตระกูลภาษาย่อย : ทิเบต-พม่า
ภาษาพูด : อึมปี้
ภาษาเขียน : ไม่มีตัวอักษรที่ใช้เขียน

กลุ่มชาติพันธุ์ก่อ (อึมปี้) เป็นชื่อเรียกกลุ่มชาติพันธุ์ที่เป็นมติร่วมกันของชาวอึมปี้ บ้านดง จังหวัดแพร่ และชาวก่อบ้านสะเกิน จังหวัดน่าน ที่ ไม่รู้จักคำว่า“อึมปี้” และยืนยันจะให้เรียกชื่อชาติพันธุ์ตนเองว่า “ก่อ” อย่างไรก็ตาม ในมิติความสัมพันธ์ทางสังคมและวัฒนธรรม ทั้งสองหมู่บ้านเป็นญาติพี่น้องที่มีการไปมาหาสู่กันและพูดภาษาเดียวกัน จึงมีความเห็นร่วมกันให้ใช้คำว่า “ก่อ” แต่ให้วงเล็บ “อึมปี้” ไว้ต่อท้ายเป็น “ก่อ (อึมปี้)”

Mr. Richard Davis ได้พบหมู่บ้านชาวก่อ (อึมปี้) บ้านดง จังหวัดแพร่ โดยบังเอิญ เมื่อ พ.ศ. 2510 ส่วนประวัติความเป็นมาไม่มีใครบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร เรื่องราวของกลุ่มชาติพันธุ์นี้จึงปรากฎผ่านเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่า บรรพบุรุษอพยพลงมาจากแคว้นสิบสองปันนา ในประเทศจีน เมื่อประมาณ 240 - 300 ปีที่ผ่านมา เรื่องเล่าข้างต้นสอดคล้องกับผู้สูงอายุในหมู่บ้าน ที่ระบุว่า ชาวบ้านดงอพยพมาจากสิบสองปันนา เขตลือเด่นฮ่อเข้ามาอยู่ในลาว ภายหลังเจ้าขาเค ได้ต้อนกลับมาเป็นเชลยศึกที่ถูกแบ่งมาจากบ้านสะเกิน มาทำหน้าที่เลี้ยงม้าและช้างให้กับเจ้าหลวงเมืองแพร่ ให้ตั้งชุมชนที่บ้านดงพร้อมกับสร้างวัดให้ ทั้งนี้ ได้เทียบเคียงกับหลักฐานทางประวัติศาสตร์ นับตั้งแต่อาณาจักรหอคำเชียงรุ่ง ถูกรุกราน และตกอยู่ใต้อำนาจของจักรพรรดิเฉิงหว่า ซึ่งตรงกับสมัยพระเจ้าติโลกราช มีสัมพันธไมตรีอันดีกับเจ้าเมืองหนองเส ได้กวาดต้อนผู้คนบางส่วนจากดินแดนตอนใต้ของจีนมายังล้านนา บรรพบุรุษของชาวก่อ (อึมปี้) อาจอยู่ในกลุ่มนั้น ดังการอ้างอิงถึงท้าวขาก่านเจ้าเมืองน่านในสมัยพระเจ้าติโลกราช ที่นำชาว ก่อ (อึมปี้) เข้ามาในพื้นที่ภาคเหนือของไทย จวบจนยุคเก็บผักใส่ซ้าเก็บข้าใส่เมือง การเคลื่อนย้ายถ่ายเทผู้คนจึงเกิดขึ้นอีกครั้ง เพื่อฟื้นฟูอาณาจักรล้านนา ปัจจุบันชาวก่อ (อึมปี้) ได้มาตั้งถิ่นฐานบริเวณบ้านสะเกิน ตำบลยอด อำเภอสองแคว จังหวัดน่าน และบ้านดง ตำบลสวนเขื่อน อำเภอเมือง จังหวัดแพร่

ชาวก่อ (อึมปี้) มีภาษาพูดที่เป็นอัตลักษณ์โดดเด่น ส่วนใหญ่ยังคงพูดภาษาก่อ (อึมปี้) ในชีวิตประจำวัน การดำรงชีพยังสัมพันธ์กับระบบเกษตร ชุมชนชาวก่อ (อึมปี้) ทั้งสองหมู่บ้านถูกแยกห่างจากกัน แต่ยังคง
อัตลักษณ์ทางภาษาที่มีความใกล้เคียงกัน สามารถสื่อสารกันเข้าใจ ทั้งสองหมู่บ้านยังคงนับถือวิญญาณนิยม โดยบ้านสะเกินมีความเชื่อและพิธีกรรมที่เกี่ยวกับการไหว้บูชาเจ้าหลวงจองคำ ซึ่งได้รับการนับถือเป็นเจ้าชวิตของตระกูลไตและพญาพรม และยังคงทำพิธีเลี้ยงเรือนผีประจำตระกูลมาอย่างต่อเนื่อง ส่วนบ้านดงมีความเชื่อและพิธีกรรมที่เกี่ยวกับการไหว้บูชาเทวดา และท้าวทั้งสี่ผู้ทำหน้าที่ปกป้องดูแลวงจรชีวิตของคนในชุมชน รวมถึงพิธีสำคัญในการทำบุญกลางบ้าน หรือ "พิธีสังคหะ" สะเดาะเคราะห์หมู่บ้านให้พ้นจากภัยพิบัติต่าง ๆ

ในหนังสือ Mpi Dictionary โดย ศรีนวล ดวงหอม (Srinuan Duanghom) ได้บันทึกไว้ว่า Mr. Richard Davis อาสาสมัครชาวอเมริกันประจำอำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน ได้ค้นพบหมู่บ้านมปีโดยบังเอิญ เมื่อปี พ.ศ. 2510 ส่วนประวัติความเป็นมาของคนมปี ไม่มีใครบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษรที่แน่นอน Mr. Richard Davis ซึ่งเป็นผู้ค้นพบหมู่บ้านมปี ได้รายงานเรื่องนี้แก่ Mr. Jimmy G. Harris ดังนั้น ในปี พ.ศ. 2510

Mr. Jimmy G. Harris และ Mr. Richard Davis จึงได้เริ่มออกไปสำรวจและเก็บข้อมูลภาษามปีในวันสุดสัปดาห์ โดยมีนายวิชัย เขื่อนสอง อายุ 61 ปี และภริยา นางบัวสี เขื่อนสอง อายุ 44 ปี เป็นผู้บอกภาษา ต่อมาประมาณเดือนเมษายน-พฤษภาคม พ.ศ. 2515 นายบุญเรียง ดวงหอม เดินทางมาเป็นผู้บอกภาษาที่กรุงเทพฯ สำหรับวิชาฝึกฟังให้ผู้เข้าอบรมสัทศาสตร์ภาคฤดูร้อน โดยมี Mr. Jimmy G. Harris เป็นผู้สอน ควบคุมและให้คำแนะนำ (Srinuan Duanghom 1976: คำนำ) เล่าต่อๆ กันมาว่า บรรพบุรุษของคนอึมปี้ อพยพลงมาจากแคว้นสิบสองปันนา ในประเทศจีน เมื่อประมาณ 240-300 ปีมาแล้ว และมาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่หมู่บ้านเสือกืน ตำบลยอด อำเภอปง จังหวัดเชียงราย สาเหตุที่อพยพไม่มีใครทราบแน่ชัด ต่อจากนั้นคนมปีบางส่วนได้ย้ายจากหมู่บ้านเสือกืน มาอยู่ที่ตำบลสวนเขื่อน อำเภอเมือง จังหวัดแพร่ และเรียกชื่อหมู่บ้านของตนว่า "บ้านมปี" แต่คนอื่นๆ เรียกว่า "บ้านดง" เมื่อคนมปีเริ่มมาอยู่ที่บ้านดง ตำบลสวนเขื่อนนี้ มีสมาชิกเพียง 6 คู่ และบ้าน 6 หลัง จากการสำรวจเมื่อปี พ.ศ. 2512 ของ Mr. Blobaum อาสาสมัครชาวอเมริกัน ซึ่งทำงานที่จังหวัดแพร่ ปรากฏว่าจำนวนบ้านเรือนได้เพิ่มขึ้นเป็น 234 หลังคาเรือน และมีประชากรประมาณ 1,250 คน คน อึมปีที่บ้านดงนับถือพุทธศาสนา จึงได้ร่วมกันสร้างวัดขึ้นวัดหนึ่ง เรียกว่า "วัดดงใต้" และต่อมาเพื่อให้เหมาะสมกับจำนวนประชากรที่เพิ่มมากขึ้นจึงได้สร้าง "วัดดงเหนือ" ขึ้นอีกวัดหนึ่ง ผู้บอกภาษาสูงอายุบางคนเล่าให้ฟังว่า คนมปีแต่เดิมนิยมฝังศพ มิได้เผาศพจนกระทั่งเมื่อยอมรับนับถือพุทธศาสนา (Srinuan Duanghom 1976: คำนำ)

การค้นคว้าประวัติศาสตร์ชนเผ่าก่อ(อึมปี้) จึงเริ่มต้นจากประวัติความเป็นมาผ่านการบอกเล่าของชนชาติพันธุ์ก่อ(อึมปี้) รุ่นปัจจุบันที่ได้รับฟังเรื่องราวและถ่ายทอดสืบต่อกันมา และทำการวิเคราะห์ร่วมกับข้อมูลประวัติศาสตร์ทางวิชาการที่มีการบันทึกไว้และสามารถสืบค้นได้ นำมาปะติดปะต่อเรื่องราวต่างๆ เข้าด้วยกันเพื่อจัดทำเป็นประวัติศาสตร์ชนเผ่าพื้นเมืองก่อ(อึมปี้) จากประวัติศาสตร์และถิ่นกำเนิดของชนเผ่าพื้นเมืองก่อ(อึมปี้) อาจต้องเริ่มต้นด้วยการเคลื่อนย้ายของกลุ่มชนเผ่าในดินแดนทางตอนใต้ของจีน ไม่ว่าจะเป็นการรวบรวมกลุ่มคนแล้วอพยพลงมาหรือเป็นการถูกกวาดต้อนจากสงครามเพื่อการสร้างบ้านแปงเมืองใหม่ ความเชื่อของชนเผ่าพื้นเมืองก่อ(อึมปี้) ที่บอกว่ามาจากสิบสองปันนานั้น การจัดทำข้อมูลเชิงประวัติศาสตร์จึงต้องอ้างอิงถึงเส้นทางการเคลื่อนย้ายของกลุ่มคนตามประวัติศาสตร์ และนำมาอ้างอิงเป็นเรื่องราวการเคลื่อนย้ายของกลุ่มชาติพันธุ์ก่อ(อึมปี้)

นับตั้งแต่อาณาจักรหอคำเชียงรุ่งได้จัดตั้งขึ้นบริเวณทางตอนใต้ของประเทศจีน และปัจจุบันคือ เขตปกครองตนเองชนชาติไทสิบสองปันนา ตลอดระยะเวลาการดำรงอยู่ของอาณาจักรหอคำเชียงรุ่งที่เจริญรุ่งเรืองเป็นระยะเวลากว่า 100 ปี ได้ถูกรุกรานจากการขยายอาณาเขตของมองโกลและตกอยู่ภายใต้การปกครองในยุคสมัยของพระเจ้าหอคำเชียงรุ่งรัชกาลที่ 33 จากนั้นจึงตกอยู่ภายใต้การปกครองของจีนโดยในยุคสมัยจักรพรรดิเฉิงหว่า ซึ่งตรงกับสมัยพระเจ้าติโลกราชแห่งอาณาจักรล้านนาได้ขยายอิทธิพลและเจริญสัมพันธไมตรีกับเจ้าเมืองหนองแส ซึ่งเป็นผู้ปกครองสิบสองปันนาและเป็นแม่ทัพจีนในตอนใต้ จึงมีการกวาดต้อนผู้คนบางส่วนมายังอาณาจักรล้านนา บรรพบุรุษของชาวก่อ(อึมปี้) จึงน่าจะอยู่ในกลุ่มผู้คนที่ถูกกวาดต้อนด้วย ดังการอ้างอิงถึงท้าวขาก่านเจ้าเมืองน่านในสมัยพระเจ้าติโลกราช จึงเป็นยุคที่สองของการเคลื่อนย้ายในกลุ่มชนเผ่าพื้นเมืองก่อ(อึมปี้) และเป็นยุคแรกของการเข้าสู่พื้นที่ทางภาคเหนือของประเทศไทย

การกวาดต้อนผู้คนจากการขยายอิทธิพลของอาณาจักรต่างๆ มาจนถึงในยุคที่อาณาจักรล้านนาตกเป็นเมืองขึ้นของพม่าและอยุธยายาวนานหลายร้อยปี จวบจนพระยากาวิละซึ่งได้ร่วมกับพระเจ้าตากแห่งกรุงธนบุรีขับไล่พม่าออกจากเชียงใหม่สำเร็จ จึงได้กวาดต้อนผู้คนจากหัวเมืองทางเหนือถึง 57 หัวเมือง ในยุคที่รู้จักกันดี คือ “เก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง” ซึ่งตรงกับยุคสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น จึงเป็นยุคที่สามของการเคลื่อนย้ายของชาวก่อ(อึมปี้) และเป็นครั้งที่สองของการเข้าสู่พื้นที่ทางภาคเหนือของประเทศไทย โดยมีเรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์ของเจ้าหลวงจองคำ ที่ชาวก่อ(อึมปี้) บ้านสะเกินให้ความเคารพนับถือ เป็นหลักฐานอ้างอิงว่าในพื้นที่บ้านสะเกินเคยเป็นทุ่งสงครามการสู้รบในสมัยโบราณ มีด่านปางค่า (บริเวณบ้านปางค่า ต.ผาช้างน้อย อ.ปง จ.พะเยา) เป็นป้อมปราการป้องกันการรุกรานของศัตรู เป็นต้น แต่ทั้งนี้ยังคงต้องการแหล่งข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อการอ้างอิงและพิสูจน์ความถูกต้องต่อไป

ขณะที่ประวัติจากบ้านดงนั้น ตามประวัติของวัดดงใต้เล่าว่า วัดดงใต้เป็นวัดเก่าแก่วัดหนึ่งมีอายุรวมราว 346 ปี ตามที่กรมศาสนาค้นพบ ไม่มีหลักฐานใดอ้างอิงชัดเจน นอกจากหลักฐานที่ปรากฏในคัมภีร์ใบลานจารึกเป็นภาษาล้านนา และสอบถามจากผู้สูงอายุในหมู่บ้าน ซึ่งท่านก็จำสืบกันมา พอสรุปได้คร่าว ๆ ว่า วัดดงใต้สร้างเมื่อ พ.ศ. 2189 ช่วงนั้นชาวบ้านดงอพยพมาจากสิบสองปันนา เขตลือเด่นฮ่อเป็นคำที่ผู้สูงอายุจำสืบกันมาและมาอยู่ที่ลาว ภายหลังเจ้าขาเป๋ เจ้าเมืองแพร่ไปรบที่ลาวและได้ต้อนชาวบ้านดง (มปี้) มาด้วย และให้ชาวบ้านดงเลี้ยงช้างและม้า พร้อมกันนั้นสร้างวัดให้ชนชาวมปี้ด้วย ตามหลักฐานที่ปรากฏนามเจ้าอาวาส มีลำดับดังนี้ ครูบาจัยยะเสน ไม่ปรากฏปี , ครูบาบาระมี ไม่ปรากฏปี, ครูบาอินต๊ะ ไม่ปรากฏปี, ครูบามัลละ ไม่ปรากฏปี, ครูบาเตจะ มรณะ พ.ศ. 2466, ครูบาหมื่น พ.ศ. 2467-2490, ครูบาใจ ชยราโธ (พระอธิการใจ ชยราโธ) พ.ศ. 2491-2510, ครูบาอินสม กตสาโร (พระครูวิมลธรรมสาร) พ.ศ. 2511-2543, พระกรุง สนติกโร (รักษาการแทน) พ.ศ. 2547 (ป้ายประวัติหน้าวัดดงใต้)

ดังนั้น ถ้าเชื่อตามประวัติวัด ชาวก่อ(อึมปี้) ถึงแม้จะเป็นกลุ่มชนที่ถูกกวาดต้อนมาด้วยรูปแบบสงครามสมัยโบราณแต่ก็เป็นประชากรที่อยู่มานานมากแล้ว ไม่ใช่คนกลุ่มใหม่อย่างที่เคยเข้าใจกัน ส่วนผู้ที่กวาดต้อนที่ชื่อว่า "เจ้าขาเป๋" นั้นก็คือ เจ้าหลวงพิมพิสาร เจ้าพ่อของเจ้าน้อยทิพวงศ์ ซึ่งเจ้าน้อยทิพวงศ์คือเจ้าพิริยเทพวงศ์ เจ้าแพร่องค์สุดท้าย ชาวก่อ(อึมปี้) จึงเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีการอพยพเคลื่อนย้ายจากดินแดนสิบสองปันนาลงมาทางใต้ สิ้นสุดอยู่ในพื้นที่บ้านสะเกิน จังหวัดน่าน และบ้านดง จังหวัดแพร่ ด้วยเหตุปัจจัยแห่งการขยายอาณาเขตของอาณาจักรต่างๆ ในสมัยโบราณ การกวาดต้อนผู้คนในยุคสมัยนั้นได้นำพาชนเผ่าพื้นเมืองก่อ(อึมปี้) มาตั้งถิ่นฐานอยู่ในปัจจุบัน

ก่อ (อึมปี้) มีการตั้งถิ่นฐานเป็นชุมชนในหมู่บ้านสะเกิน จังหวัดน่าน และบ้านดง จังหวัดแพร่ โดยมีข้อมูลของแต่ละหมู่บ้านดังนี้

บ้านสะเกิน

บ้านสะเกิน หมู่ที่ 1 ตำบลยอด อำเภอสองแคว จังหวัดน่าน มีการตั้งถิ่นฐานของประชากรเป็นชนเผ่าพื้นเมืองที่เรียกตัวเองว่า “ก่อ” บ้านสะเกิน เดิมเรียกชื่อกันว่าบ้าน “เสือกืน” ซึ่งหมายถึงเป็นพื้นที่ที่มีเสือชุกชุมใครเข้าไปแล้วอาจไม่รอดกลับมาเพราะถูกเสือกิน เนื่องจากสภาพพื้นที่เป็นเขตป่าดงดิบหนาทึบมีภูเขาสูงล้อมรอบแอ่งกระทะที่เป็นที่ราบแม่น้ำงิม ซึ่งเป็นที่ตั้งชุมชนเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน จากประวัติศาสตร์บอกเล่า ระบุว่าคนก่อบ้านสะเกิน ได้ถูกเกณฑ์จากเจ้าเมืองน่านให้มาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่บ้านสะเกิน ซึ่งแต่เดิมอยู่บริเวณบ้านม่วงเน่า (บ้านเชียงแล) อำเภอท่าวังผา และเคลื่อนย้ายมาอยู่บริเวณบ้านยอด อำเภอสองแคว เจ้าเมืองน่านในสมัยนั้น ได้มีการสำรวจแหล่งผลิตดินปืน และได้มาพบกับถ้ำขี้ค้างคาว หรือถ้ำสะเกิน ซึ่งอยู่เหนือหมู่บ้าน จึงได้เกณฑ์บรรพบุรุษชาวก่อ (อึมปี้) ให้มาตั้งถิ่นฐานผลิตดินปืนจากขี้ค้างคาวส่งเข้าเมืองต่อเนื่องมาหลายยุคสมัยเจ้าปกครองเมืองน่าน

บ้านดง

บ้านดง หมู่บ้านชาวก่อ(อึมปี้) ตั้งอยู่ในเขตบริหารท้องถิ่นของเทศบาลตำบลสวนเขื่อน อำเภอเมือง จังหวัดแพร่ อยู่ในเขตปกครองท้องที่ตำบลสวนเขื่อน บ้านดง เป็นหมู่บ้านของชาวก่อ(อึมปี้) อีกหมู่บ้านหนึ่งที่เล่าต่อๆ กันมาว่า บรรพบุรุษได้ย้ายมาอยู่ที่ตำบลสวนเขื่อน อำเภอเมือง จังหวัดแพร่ ทำหน้าที่เลี้ยงช้างเลี้ยงม้าให้เจ้าเมืองแพร่ และเรียกชื่อหมู่บ้านของตนว่า “บ้านมปี” แต่คนภายนอกเรียกว่า “บ้านดง ปัจจุบันแบ่งการปกครองท้องที่ออกเป็น 2 หมู่บ้านทางการ คือ หมู่ 4 บ้านดงใต้ และหมู่ 8 บ้านดงเหนือ การตั้งถิ่นฐานอยู่มาอย่างยาวนานถึงกว่า 400 ปีของชาวก่อ(อึมปี้) บ้านดง จึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มคนพื้นเมืองของจังหวัดแพร่ในปัจจุบัน

การดำรงชีพ

วิถีชีวิตของชาวก่อ (อึมปี้) สัมพันธ์กับระบบเกษตร ถึงแม้แรกเริ่มการเข้ามาตั้งถิ่นฐานในพื้นที่สมัยโบราณนั้นจะมีหน้าที่ตามที่เจ้าเมืองมอบหมายให้ เช่น การเลี้ยงม้าให้เจ้าเมือง การทำดินปืนให้เจ้าเมืองแต่พวกเขาก็ทำเกษตรไปพร้อมกับหน้าที่เหล่านั้นเพื่อยังชีพ จวบจนลูกหลานของชาวก่อ(อึมปี้) ในปัจจุบันนี้ยังคงทำเกษตร ทั้งการทำนา ทำไร่ เลี้ยงสัตว์ และเก็บหาขอป่าล่าสัตว์ ทั้งนี้เนื่องจากทั้งสองชุมชนตั้งอยู่ในเขตพื้นเนินเขา ไกล้แม่น้ำ จึงมีพื้นที่ทั้งสำหรับการทำนาน้ำฝน และพื้นที่สำหรับการทำไร่หมุนเวียน

สำหรับบ้านสะเกินนั้น ปัจจุบันมีพื้นที่การปลูกข้าวเพื่อบริโภคทั้งแบบนาน้ำฝน และไร่หมุนเวียน ส่วนใหญ่แล้วมีข้าวเพียงพอสำหรับการบริโภคในแต่ละปี นอกจากนี้ยังทำสวนผลไม้ ปลูกพืชเศรษฐกิจเพื่อขาย เก็บหาของป่า จับสัตว์น้ำ เลี้ยงสัตว์ และออกไปทำงานรับข้างนอกชุมชน

ในส่วนของบ้านดง ยังมีครอบครัวที่ปลูกข้าวบริโภคเองเกือบครึ่งหนึ่งของครอบครัวทั้งหมดในชุมชน ทั้งนี้ครอบครัวโดยส่วนใหญืนิยมเปลี่ยนพื้นที่ที่เคยใช้ปลูกข้าวไร่มาปลูกพืชเศรษฐพิจชนิดอื่น ทำสวนผลไม้ รับจ้าง เก็บหาของป่าและเลี้ยงสัตว์ ในสมัยโบราณเล่ากันว่าบรรพบุรุษมีอาชีพเลี้ยงม้าให้กับเจ้าเมือง ต่อมาชาวก่อ(อึมปี้)จึงมีอาชีพทำไร่ทำนาและเลี้ยงวัวควาย สำหรับการทำนาจะปลูกข้าวประมาณ 2-3 ไร่ต่อครอบครัว ซึ่งเป็นการปลูกเพื่อการดำรงชีพเหลือจึงจะขายข้าวที่ปลูกเป็นข้าวเหนียวทั้งหมดและใช้ควายไถนา สมัยก่อนนาข้าวอุดมสมบูรณ์เพราะน้ำอุดมสมบูรณ์ แต่ในปัจจุบันต้องใช้ปุ๋ยเข้ามาทดแทน

ก่อนที่ชาวบ้านจะเริ่มปลูกข้าวมีการทำพิธี "แฮกนาขวัญ" หรือ "กอแปงขวัญข้าว" การปลูกข้าวจะเริ่มต้นกันในเดือนพฤษภาคม เริ่มจากการหว่านกล้า ซึ่งจะเตรียมกล้าไว้ประมาณ 20 วัน จากนั้นเดือนมิถุนายนเมื่อฝนตกน้ำมาแล้วก็จะไถนา และใส่ขี้วัวขี้ควายลงไปเพื่อเพิ่มปุ๋ยในดิน แล้วก็ปักดำต้นกล้าข้าว โดยจะมีระบบการเอาแรง ซึ่งบ้านใกล้เรือนเคียงจะมาช่วยกัน โดยเริ่มจากนาที่ได้น้ำดี ๆ ก่อนแล้วค่อยไล่ลำดับไปยังนาอื่น ๆ หลังจากนั้นจะมีการดูแลข้าว ในช่วงก่อนที่ข้าวจะออกรวง ชาวบ้านจะทำพิธีที่เรียกว่า "ปู่จาข้าว" หรือ "กอปู่จาเค" เป็นพิธีที่บอกกล่าวกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ว่าอย่าให้สัตว์แมลงบุ้งมารบกวน โดยของไหว้จะประกอบด้วยเนื้อวัวควาย ขนมข้าวต้ม ธูปเทียน ดอกไม้และกล้วยน้ำหว้า คนทำพิธีจะเป็นใครก็ได้ขอให้เป็นผู้อาวุโส เมื่อถึงเดือนพฤศจิกายนก็จะถึงช่วงฤดูกาลเก็บเกี่ยว

ส่วนการทำไร่ เป็นการทำไร่ข้าวบนภูเขา ทำกันครอบครัวละ 1-2 ไร่ นอกจากปลูกข้าวแล้วก็ยังมีการปลูกถั่วลิสง ข้าวโพด และพืชอื่น ๆ อีกด้วย ปัจจุบันชาวบ้านไม่ปลูกข้าวไร่ เพราะทำค่อนข้างลำบากและคนมีจำนวนน้อยลง (สัมภาษณ์ พระครูวิจิตรศิลปาคม, 2558)

การล่าสัตว์ สมัยก่อนล่ากันมากเพราะสัตว์ป่าชุกชุม การล่าใช้หน้าไม้และปืนแก็บ ล่าสัตว์แบบไม่เลือกชนิดของสัตว์ อะไรกินได้ก็ล่าทั้งหมด เช่น ไก่ นกอีเห็น กระรอก นกคุ้ม กระต่าย หมูป่า ซึ่งหมูป่าบางครั้งก็ใช้ปืน บางครั้งก็ใช้ "ถ่าเคะ" คือกับดักสัตว์ที่ทำเป็นไม้แหลมติดกันเป็นแผง เมื่อสัตว์เดินสะดุดเชือกก็จะตีใส่ตัวสัตว์ตาย

ปัจจุบันการทำนายังคงเป็นอาชีพที่มีการทำกันอยู่ แต่เมื่อประมาณสี่สิบปีที่ผ่านมานั้น คนในหมู่บ้านเริ่มออกไปทำงานรับจ้างนอกหมู่บ้านมากขึ้น เนื่องจากต้องการเงินสำหรับใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน อีกทั้งพืน้ที่ทำกินของแต่ละครอบครัวมีน้อยลง เนื่องจากประชาการที่เพิ่มขึ้น ที่ดินจึงถูกจัดสรรให้สมาชิกในครอบครัวที่เพิ่มมากขึ้น ต่อมาคนในหมู่บ้านได้หันไปทำไม้กวาดดอกหญ้าหลายครอบครัว ซึ่งเป็นอาชีพใหม่ ๆ ที่ได้รับความนิยมในช่วงหลัง (สัมภาษณ์ พระครูวิจิตรศิลปาคม, 2558)

ระบบความเชื่อ ประเพณี และพิธีกรรม

ศาสนาและความเชื่อ

ชาวก่อ (อึมปี้) นับถือศาสนาพุทธผสมผสานกับการนับถือผีบรรพบุรุษและนับถือเทวดา (เรียกในภาษาอึมปี้ว่า อะลา) อึมปี้คงนับถือศาสนาพุทธมานานแล้ว อย่างน้อยก็เมื่อเริ่มอพยพและมีการตั้งวัดดงใต้เมื่อราว 300 กว่าปีก่อน ศาสนาพุทธนอกเหนือไปจากการนับถือพระพุทธเจ้าแล้ว ยังให้ความสำคัญกับ “ท้าวทั้งสี่” หรือเทพประจำทิศ โดยเทพประจำทิศเหนือคือท้าวเวสสุวรรณทำหน้าที่ดูแลปกป้องบ้านไม่ให้ศัตรูและสิ่งชั่วร้ายเข้ามารังควาญ เทพประจำทิศใต้คือท้าววิรุหะ (ท้าววิรุฬหก) ทำหน้าที่ดูแลไม่ให้มีอุปสรรคและให้มีความสำเร็จในเรื่องต่าง ๆ เทพประจำทิศตะวันตกคือท้าววิรูปักษ์ทำหน้าที่ไม่ให้สัตว์ร้ายสัตว์เลื้อยคลานเช่นงูเข้ามาในบ้าน เทพประจำทิศตะวันออกคือคนธรรพ์ (ท้าวธตรฐ) ทำหน้าที่ดูแลความสงบให้ราบรื่น การบูชาท้าวทั้งสี่นี้จะทำในพิธีกรรมที่เรียกว่า "ขึ้นท้าวทั้งสี่" หรือที่ในภาษาอึมปี้เรียกว่า "ต้าตั้งสี่ต้า" ซึ่งความเชื่อพวกนี้เป็นการเรียนรู้ผ่านวัดและในชุมชนโดยเฉพาะคนเฒ่าคนแก่ในหมู่บ้าน

ความเชื่อเรื่องการกำเนิดใหม่

ความเชื่อเรื่องการกำเนิดใหม่ของชาวก่อ(อึมปี้) บ้านดง จังหวัดแพร่นั้น เชื่อว่าเด็กทุกคนที่เกิดมาคือผีบรรพบุรุษที่ลงมาเกิดใหม่ โดยเชื่อว่าคนที่เกิดมา เกิดจากการตายแทนกัน ชาวบ้านจะทำพิธีเสี่ยงทายว่าบรรพบุรุษคนนั้นคือใคร ก็ต่อเมื่อเด็กที่เกิดมาใหม่นั้นแสดงอาการป่วยไม่สบาย ดังนั้น เพื่อให้รู้ว่าผีบรรพบุรุษคนไหนที่ลงมาเกิด ผู้อาวุโสที่เป็นผู้หญิง จะมีการเชิญผีลงมาสิงที่ก้อนข้าว โดยเอาเชือกผูกก้อนข้าวเอาไว้ ถ้าก้อนข้าวแกว่งตามการถาม ซึ่งจะถามไปเรื่อย ๆ ว่าผีบรรพบุรุษนั้นคือใคร เช่น เป็นปู่ เป็นย่า เป็นลุง เป็นต้น เมื่อทราบว่าเป็นใคร ผู้หญิงที่ทำพิธีจะถามว่าผีบรรพบุรุษนั้นต้องการอะไรบ้าง เช่น ผ้าแพร เงิน ทอง เป็นต้น ถ้าผีเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง พ่อแม่เด็กจะรีบไปเอาของจำลอง เช่น ถ้าผีเอาผ้าแพรก็จะเอากระดาษตัดมาแล้วบอกว่านี่คือผ้าแพร เป็นต้น เมื่อได้ของตามต้องการแล้ว ก็เป็นอันเสร็จพิธี นอกจากนี้ ตามความเชื่อของอึมปี้ ผีบรรพบุรุษคนหนึ่งสามารถเกิดเป็นเด็กกี่คนก็ได้ เช่น ผีบรรพบุรุษหนึ่งคนสามารถลงมาเกิดได้จำนวน 5 คน เป็นต้น

ความเชื่อเรื่องขวัญ

ความเชื่อเรื่องขวัญ อึมปี้เชื่อว่าขวัญมี 32 ประการ ขวัญเรียกว่า "ส่าโหล" ขวัญแตกต่างจากวิญญาณ เพราะวิญญาณตามความเชื่อในศาสนาพุทธมีเพียงดวงเดียว แต่ถ้าจะเรียกขวัญว่าเป็นวิญญาณก็ต้องแสดงว่าคนเรามีวิญญาณ 32 ประการเช่นกัน ชาวบ้านจะมีความเชื่อเรื่องขวัญ เช่น ถ้าเคราะห์ไม่ดี ไม่สบายก็จะมีการเรียกขวัญ หรือถ้าเด็กเกิดมาแล้วไม่ค่อยสบายก็เป็นเพราะขวัญไม่ครบ 32 ประการ เป็นต้น (สัมภาษณ์ พระครูวิจิตรศิลปาคม และนายธีรภพ เขื่อนสี่, 2558)

ประเพณี เทศกาล และพิธีกรรม

ประเพณี เทศกาล และพิธีกรรมสำคัญในรอบปี

วันสงกรานต์

ในวันสงกรานต์นั้นมีงานทั้งหมด 3 วัน โดยเริ่มวันที่ 13 หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “วันล่อง” ในวันนี้ ชาวบ้านจะพากันทำความสะอาดบ้านและวัดเพื่อเตรียมงานและถือเป็นมงคลต้อนรับวันปีใหม่ไทย วันที่ 14 หรือ “วันเน่า” ในวันนี้ชาวบ้านพากันทำอาหารและทำขนมเพื่อนำไปไหว้ “บ้านเทวดา” ในหมู่บ้าน และสำหรับนำไปทำบุญที่วัดในวันรุ่งขึ้น วันที่ 15 หรือ “วันพญาวัน” ในวันนี้มีพิธีสรงน้ำพระและการทำบุญใส่บาตร อีกทั้งยังมีพิธีสืบชะตาซึ่งเป็นพิธีที่จัดขึ้นในวันพญาวัน โดยชาวบ้านช่วยกันนำไม้ท่อนยาว ๆ มาค้ำต้นโพธิ์ที่อยู่ในวัด และมีการสวดมนต์ ถือเป็นการสืบชะตาและสะเดาะเคราะห์ให้แก่ตนเอง

พิธีสังคหะ บ้านดง จังหวัดแพร่

"พิธีสังคหะ" หรือในภาษาอึมปี้เรียกว่า "สังคหะเค" (คำว่า เค แปลว่าทำ) เป็นพิธีที่มีเป้าหมายเพื่อส่งเคราะห์ สะเดาะเคราะห์ ให้พ้นจากภัยพิบัติต่าง ๆ ถือว่าเป็นพิธีกรรมระดับหมู่บ้าน พิธีนี้จะทำกัน 2 วัน โดยพิธีจะเริ่มหลังจากวันวิสาขบูชา 7 วัน ซึ่งจะตรงกับวันแรม 7 ค่ำ เดือน 6 (ปกติตรงกับเดือนพฤษภาคม) ในวันแรกพิธีจะเริ่มในช่วงเช้า ซึ่งชาวบ้านแต่ละครอบครัวหรือถ้าไม่มีเวลาก็สามารถฝากกันได้ ชาวบ้านจะจัดทำสะตวงหรือกระบะที่ทำจากหยวกกล้วยทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัส ขนาดกว้างยาวประมาณ 50 เซนติเมตร จำนวน 8 อัน ซึ่งเท่ากับจำนวนเทพประจำทิศทั้งแปด สิ่งที่ใส่ในสะตวง ได้แก่ รูปปั้นเทพเจ้าประจำทิศขี่บนพาหนะ ข้าวตอก ดอกไม้ ธูปเทียน แกงส้ม แกงหวาน กล้วย อ้อย หมาก พลู ข้าวดำ ข้าวขาว พริกแห้งเกลือ หอม ปลาร้าและใบมะขาม โดยในแต่ละสะตวงจะมีการเขียนป้ายบอกชื่อเทพเจ้าเอาไว้ สำหรับเทพเจ้าประจำทิศประกอบด้วยรายชื่อดังนี้ (เขียนตามชาวบ้าน) พญายมขี่ควายหนใต้, พระเปิงขี่แรด, พะยาอินขี่ช้างวันออก, พระปายขี่วันวันออกแจ่งเหนือ, พระจันขี่วิมานหนเหนือ, พระภายขี่ม้าวันตกแจ่งเหนือ, วะรุณะขี่นาค วันตก และพระนารายณ์ขี่ครุฑวันตกแจ่งใต้

เมื่อถึงเวลาราว 15.00-16.00 น. พระสงฆ์และผู้ชายอึมปี้จะจัดเตรียมสถานที่บริเวณหน้าวัดดงใต้ โดยเอาโต๊ะมาตั้งสะตวง ส่วนชาวบ้านจะเตรียมตะกร้าซึ่งภายในมีขันน้ำที่มีการใส่ส้มป่อย ตาแหลวและสายสิญจน์ ในตะกร้าจะมีข้าวตอก ดอกไม้และธูปเทียนอีกด้วย เมื่อทุกคนพร้อม ผู้นำชาวบ้านจะนิมนต์พระสงฆ์มาประกอบพิธีทางศาสนา โดยเจ้าอาวาสวัดดงใต้จะสวดคาถาหลายอย่าง ซึ่งคาถานี้จะสืบทอดเฉพาะวัดดงใต้เท่านั้น เจ้าอาวาสจะหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ส่วนชาวบ้านหันหน้าในทางตรงกันข้าม เมื่อเจ้าอาวาสสวดเสร็จก็จะประพรมน้ำมนต์ หลังจากนั้นตัวแทนชาวบ้านจะประเคนเครื่องสังคหะและสิ่งของต่าง ๆ แด่พระสงฆ์ ต่อจากนั้นชาวบ้านจะช่วยกันยกสะตวงไปไว้ตามทิศต่าง ๆ ที่กำหนดไว้ พระสงฆ์อนุโมทนาให้พรชาวบ้านเป็นอันเสร็จพิธี ในวันรุ่งขึ้น ชาวบ้านจะทำพิธีอุทิศส่วนกุศลให้กับผู้ล่วงลับและบรรพบุรุษ โดยจะมีพิธีส่งซึ่งชาวบ้านต้องช่วยกันทำกระทงขนาดเล็กเท่ากับจำนวนหลังคาเรือนในหมู่บ้าน จากนั้นจะนำไปส่ง (วางทิ้งไว้) ตามสถานที่ที่เตรียมเอาไว้ (สัมภาษณ์ พระครูวิจิตรศิลปาคม, 2558)

พิธีไหว้ศาลเจ้าหลวงจองคำ บ้านสะเกิน จังหวัดน่าน

เจ้าหลวงจองคำ เป็นผู้นำทัพของเจ้าเมืองน่าน ที่ทำหน้าที่เฝ้าเมืองหน้าด่านบริเวณบ้านสะเกิน โดยมีป้อมค่ายอยู่บริเวณบ้านปางค่า อำเภอปง จังหวัดพะเยา โดยเจ้าหลวงจองคำมีผู้ช่วยอีก 4 คน คือ เจ้าหลวงจมปู (ชมปู) ผู้ทำหน้าที่เฝ้าหน้าด่านพญาแช่หรือเจ้าปุ๊กแค่ อาญาหาญและอาญานาง ทั้งสองเป็นผัวเมียกัน โดยอาญาหาญเป็นคนเมือง อาญานางเป็นขมุ ทั้งหมดเสียชีวิตจากการสู้รบ โดยเจ้าหลวงจองคำเสียชีวิตบริเวณเหนือหมู่บ้านใกล้เคียงกับที่ตั้งศาล (เฮือนผี) ปัจจุบัน ส่วนเจ้าหลวงชมปูเสียชีวิตที่ด่านปางค่า พญาแช่เสียชีวิตบริเวณตะวันตกของหมู่บ้าน อาญาหาญและอาญานางเสียชีวิตท้ายหมู่บ้าน

พิธีกรรมการไหว้ศาลเจ้าหลวงจองคำ เกิดขึ้นจากเหตุการณ์ในช่วงเวลาหนึ่งที่หมู่บ้านสะเกิน ชาวก่อ(อึมปี้) ในยุคสมัยนั้นมีการเลี้ยงควายกันเป็นจำนวนมาก และเกิดมีโจรลักขโมยควายขึ้นหลายครั้ง ประกอบกับมีควายตายจากโรคระบาด ชาวบ้านจึงได้ร่วมกันบวงสรวงเจ้าหลวงจองคำเพื่อไม่ให้มีใครมาขโมยควายได้อีกและครั้นเมื่อบวงสรวงแล้วเกิดมีโจรขโมยควายไป ยังไม่ทันข้ามแม่น้ำงิม โจรก็ถูกควายขวิดตาย และควายในหมู่บ้านก็ไม่เกิดโรคระบาดอีก ทำให้ชาวบ้านเชื่อว่าเป็นผลจากอิทธิฤทธิ์ของเจ้าหลวงจองคำ จึงได้ตั้งศาลบูชาเจ้าหลวงจองคำขึ้น และมีการจัดพิธีกรรมไหว้ศาลเจ้าหลวงจองคำและผู้ช่วยทั้งสี่ตลอดมาทุกปีตราบจนปัจจุบัน

พิธีกรรมการไหว้ศาลเจ้าหลวงจองคำ จัดให้มีขึ้นปีละ 2 ครั้ง ดังนี้

ครั้งที่ 1 เดือน 4 เหนือ (กุมภาพันธ์) ออก 3 ค่ำ มีเครื่องเซ่นไหว้เป็นหมู 1 ตัว และไก่ 3 คู่ เป็นเวลา 5 ปี ติดต่อกัน จากนั้นขึ้นปีที่ 6 จะเซ่นไหว้ด้วยควาย 1 ตัว และไก่ 3 คู่ โดยควายที่จะนำมาเลี้ยงต้องเป็นควายที่มีเขาเลยใบหูไปประมาณ 1 คืบ

ครั้งที่ 2 เดือน 8 (มิถุนายน) ออก 3 ค่ำ มีเครื่องเซ่นไหว้เป็นหมู 1 ตัว และไก่ 3 คู่

พิธีกรรมไหว้ศาลเจ้าหลวงจองคำและการไหว้เฮือนผีประจำตระกูล ทั้งสองพิธีกรรมนี้จะมีความเกี่ยวข้องใกล้ชิดกัน เนื่องด้วยเฮือนผีของตระกูลพวกไตและพญาพรมถือเจ้าหลวงจองคำเป็นเจ้าชีวิตของทั้งสองตระกูล (นายสนิทคนตรง, 5 กรกฎาคม 2560)

พิธีไหว้เทวดา บ้านดง จังหวัดแพร่

ข้อมูลเกี่ยวกับความเชื่อเรื่องเทวดาของชาวก่อ (อึมปี้) บ้านดง จังหวัดแพร่ เป็นความเชื่อดั้งเดิมก่อนที่จะรับพระพุทธศาสนาเข้ามา คนภายนอก จะเรียกว่า "เทวดา" แต่ถ้าคุยกันในภาษาอึมปี้จะเรียกว่า "อะลา" ไม่ใช่ผี ถ้าเรียกแบบนั้นจะถือว่าเป็นการดูถูก มีตำนาน เล่าว่า

"...เทวดาขี่ม้าขาวมาหาน้องของพ่อของลุงแก้ว ชื่อว่าลุงกล้า เทวดาได้ขี่ม้าขาวมาในเวลากลางคืนมาที่บ้านของผู้นำ ก่อนวันที่ชาวบ้านจะทำพิธี ชาวบ้านจะได้ยินเสียงกระดิ่งม้ามาที่บ้านลุงแก้ว..." (สัมภาษณ์ นายธีรภพ เขื่อนสี่, 2558)

ถือกันว่าคนนามสกุล "สีตื้อ" เป็นตระกูลของเทวดา ซึ่งเทวดาคนปัจจุบันคือนายแก้ว สีตื้อ อะลาปูคนแรกของหมู่บ้านนั้นไม่มีใครทราบว่าคือใคร ลุงแก้วเล่าว่า

"...เท่าที่จำได้ อ่าลาบูคือปู่ของลุงแก้ว (นาย ต๊ะ สีตื้อ) ซึ่งได้ถ่ายทอดให้กับพ่อของลุงแก้ว (นายตา สีตื้อ) จากนั้นพ่อของลุงแก้วก็ได้ถ่ายทอดให้กับลุงของลุงแก้ว (นายแจ้ สีตื้อ) และลุงของลุงแก้วก็ได้ถ่ายทอดให้กับลุงแก้ว..."

ชาวบ้านเชื่อว่า เทวดาเป็นผู้คุ้มครองเชิงจิตวิญญาณ และเป็นผู้นำในการประกอบพิธีต่าง ๆ และมีศาลของเทวดา เรียกว่า "อะลาเกอ" ตั้งอยู่นอกหมู่บ้านใกล้กับวัดดงใต้ ถือเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ และทุกปีจะมีการประกอบพิธีกรรมที่อะลาเกอ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน อึมปี้นับถือเทวดา (ไม่ใช่นับถือผี) ที่เรียกว่า "อ่าลา" ซึ่งไม่มีตัวตนปรากฏให้เห็น แต่เชื่อกันว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่บนสรวงสวรรค์ ในระยะเวลา 1 ปี ชาวบ้านจะมีการประกอบพิธีไหว้เทวดา จำนวน 4 ครั้ง คือ วันแรม 4 ค่ำเดือน 4 (เดือนมกราคม) วันเข้าพรรษา (เดือนกรกฎาคม) วันออกพรรษา (เดือนตุลาคม) และวันที่ 16 เมษายน ซึ่งวันหลังนี้จะเป็นช่วงที่มีคนเข้าร่วมพิธีกรรมมากที่สุด เพราะเป็นวันหยุดและถือเป็นวันที่ทุกคนได้มารดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ด้วย

ก่อนถึงวันประกอบพิธี ชาวบ้านจะช่วยกันถางหญ้าและทำความสะอาดพื้นที่โดยรอบหอเทวดาหรือ "อะลา เกอ" ในภาษาอึมปี้ พิธีจะเริ่มในช่วงเช้า โดย "อะลาปู" (ผู้ประกอบพิธีกรรม) ซึ่งเป็นผู้สืบเชื้อสายมาจากเทวดา จะเตรียมถาดไว้ที่บ้านของตนเองเพื่อให้ชาวบ้านนำเครื่องประกอบพิธีมาวางไว้ ได้แก่ ดอกฝ้าย 4 ดอก ธูป 4 คู่ หมากพลู 4 ชุด ข้าวสาร ขนม น้ำส้มป่อย ข้าวเสี้ยว (ข้าวสวยโรยด้วยน้ำอ้อย) พร้อมกับเงิน 9 บาทถวายให้กับอะลาปู ในช่วงบ่ายของวันประกอบพิธี ชาวบ้านทุกหลังคาเรือนจะไปที่บ้านของอาละปู ซึ่งส่วนใหญ่แล้วคนที่ไปจะเป็นผู้ใหญ่ ยกเว้นบางหลังคาเรือนถ้าไม่มีผู้ใหญ่ไปจะส่งตัวแทนเป็นเด็กไปก็ได้ อะลาปูจะแต่งกายด้วยเสื้อสีขาวและกางเกงสีสุภาพ มักเป็นสีดำ แต่สมัยก่อนเป็นสีขาว ถือถาดที่บรรจุสิ่งของสำหรับไหว้เทวดาไปด้วย เดินนำหน้าขบวนและมีชาวบ้านเดินตาม เมื่อถึงหอเทวดา (อะลาเกอ) อะลาปูจะเป็นตัวแทนถวายเครื่องเซ่นในถาดให้กับอะลา โดยไปวางไว้ในหอ ทำจากไม้ เดิมมุงหลังคาด้วยหญ้าคา ต่อมาเปลี่ยนเป็นสังกะสี จากนั้นจะกล่าวคำบูชาเทวดาด้วยภาษาอึมปี้ โดยบอกกล่าวให้เทวดารู้ว่าพวกตนได้มาทำความเคารพ เมื่อกล่าวเสร็จอะลาปูจะพรมน้ำส้มป่อยและผูกข้อมือชาวบ้าน จากนั้นชาวบ้านก็พากันกลับบ้าน

การบูชาเทวดาถือเป็นงานใหญ่ที่ขาดไม่ได้ เพราะถือเป็นพิธีสำคัญที่ทำให้หมู่บ้านอยู่เย็นเป็นสุข สถานที่ตั้งอะลาเกออยู่ใกล้กับวัดดงใต้ ห่างไปประมาณ 300 เมตร โดยตั้งอยู่ใกล้กับลำเหมืองแคโม สำหรับหออะลาเกอหลังเก่ายังพบอยู่ใกล้กับหออะลาเกอหลังปัจจุบันอีกด้วย อนึ่ง เมื่อปีที่แล้ว (2557) คนในหมู่บ้านตั้งใจว่าจะทำถนนปูนขนาดเล็กไปยังอะลาเกอ แต่มีคนเข้าทรงบอกว่า อะลาไม่ต้องการให้มีการทำถนนเข้าไปและยังไม่ต้องการให้เปลี่ยนศาล (สัมภาษณ์ พระครูวิจิตรศิลปาคม, 2558; สัมภาษณ์ นายธีรภพ เขื่อนสี, 2558)

ประเพณี เทศกาล และพิธีกรรมที่เกี่ยวกับชีวิต

การแต่งงานและการหย่าร้าง

พิธีแต่งงาน ในเรื่องการแต่งงานนั้น เนื่องจากในระยะแรกๆ ที่ชาวอึมปี้มาตั้งรกรากที่บ้านดงยังเป็นหมู่บ้านเดี่ยว มีหมู่บ้านคนเมืองในละแวกใกล้เคียง ฉะนั้นเมื่อถึงคราวแต่งงาน หนุ่มชาวอึมปี้จากบ้านดงก็จะเดินทางไปหาสาวที่บ้านสะกืนในจังหวัดพะเยา ปัจจุบันชุมชนบ้านดงมีพลเมืองเพิ่มมากขึ้น มีสมาชิกมากพอสำหรับการเลือกแต่งงานได้ นอกจากนี้ การผสมผสานทางวัฒนธรรมกับคนเมืองใกล้เคียงมีผลให้เกิดการยอมรับและมีการแต่งงานระหว่างชาวอึมปี้กับคนเมืองมากขึ้น แล้วพามาอยู่ในหมู่บ้าน ในอดีตก่อนจะจัดพิธีแต่งงานเฉพาะเดือนคู่ เพราะถือว่าจะได้อยู่เป็นคู่กันไปยาวนาน แต่ปัจจุบันจัดตามฤกษ์ โดยไม่ได้ถือว่าเป็นเดือนคู่หรือเดือนคี่ วันที่ถือว่าเป็นวันเสียในแต่ละเดือน จะห้ามประกอบพิธีทุกอย่างทั้งที่เป็นมงคลและไม่เป็นมงคล ได้แก่

เดือน 1 (เกี๋ยง), เดือน 5, เดือน 9 วันเสียคือ วันอาทิตย์และวันจันทร์

เดือน 4, เดือน 8, เดือน 12วันเสียคือวันพุธและวันศุกร์

เดือน 2 (ยี่), เดือน 6, เดือน 10วันเสียคือวันอังคาร

เดือน 3, เดือน 7, เดือน 11วันเสียคือวันพฤหัสบดีและวันเสาร์

วันที่ถือว่าเป็นวันดีเรียกว่า “วันโจ๋ง” หรือ “วันฟู” ส่วนวันที่ถือว่าเป็นวันไม่ดี เรียกว่า “วันลอย” และ “วันโล่ง” วันต่าง ๆ เหล่านี้ มีแต่คนเฒ่าคนแก่และพระครูเท่านั้นที่นับเป็นว่าวันไหนคือวันอะไร ทุกครั้งที่ชาวบ้านจะประกอบพิธีก็จะมาให้พระครูหรือคนเฒ่าคนแก่ดูวันให้ว่าวันไหนเป็นวันดี ที่เหมาะแก่การประกอบพิธีนั้น

การสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์และบรรพบุรุษ

การทำบุญให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว

มีการทำให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้วในช่วงเดือนกันยายนของทุกปีโดยถือเอาวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 เพราะชาวบ้านเชื่อว่าในวันนี้เป็นวัน “เปิดโลก” หรือ “เปิดนรก” คือเป็นวันที่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้วได้ขึ้นมาบนโลกเพื่อรับส่วนบุญส่วนกุศลที่ญาติพี่น้องได้ทำบุญให้ สำหรับวันพระอื่น ๆ ที่เหลือก็จะมีการทำบุญใส่บาตรและประกอบพิธีเหมือนเช่นที่อื่นทั่วไป

การทำมาหากิน

พิธีกินข้าวใหม่ บ้างดง จังหวัดแพร่

หลังจากการเก็บเกี่ยวข้าวในช่วงเดือนพฤศจิกายนแล้ว ชาวบ้านจะนำข้าวสารหรือข้าวเปลือกที่ได้จากการเก็บเกี่ยวไปทำบุญถวายที่วัด ซึ่งเป็นการทำบุญข้าวใหม่ เพื่อขอพรให้การทำนาครั้งต่อไปได้ผลผลิตข้าวดีและงอกงาม

พิธีขอฝนบ้างดง จังหวัดแพร่

พิธีขอฝน หรือ "แช่น้ำอุปคุต" ในภาษาอึมปี้คือ "อุปาโค เจอะโหตุ้ง" ชาวบ้านจะเลือกผู้นำพิธีโดยคัดเลือกจากคนที่ชาวบ้านเห็นว่ามีศีลธรรม พื้นที่ในการประกอบพิธีกรรมจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ ส่วนที่ทำในวัด และส่วนที่ทำในป่า

ในส่วนของวัด ผู้นำพิธีจะขุดสระน้ำขนาดเล็กเป็นรูปสี่เหลี่ยม สระนี้ลึกประมาณศอกหนึ่ง กว้างประมาณ 50-70 เซนติเมตร จากนั้นจะใส่น้ำลงไปในนั้นแต่ใส่ลงไปไม่มาก เมื่อเสร็จแล้วจะปั้นดินเป็นรูปปลาช่อน หอยและนกกะเรียน โดยปลากับหอยจะวางไว้ในสระ ส่วนนกกระเรียนจะวางไว้ข้างสระทำท่าทางคล้ายกับกำลังจะไปกินปลา จากนั้นจะปักไม้ขนาดเล็กที่สี่มุมของสระ แล้วนำหญ้าคาเขียวมาพันเป็นเชือกยาววงล้อมรอบตัวสระ (สัมภาษณ์ พระครูวิจิตรศิลปาคม, 2558)

ส่วนในป่า ชาวบ้านจะพากันไปที่ "ซิ่งแม่น้ำ" (วังน้ำ) ของแม่น้ำลัวที่อยู่ในป่าดิบลึก จากนั้นจะจัดเตรียมสถานที่โดยทำการขัดรั้วและโยงสายสิญจน์รอบบริเวณวังน้ำ จัดตั้งแท่นสำหรับบูชาท้าวทั้งสี่ มณฑปสำหรับพระอุปคุต รอบรั้วราชวัตจะมีการปักกิ่งไม้จิก ไม้หว้า ไม้พุทรา และไม้ขนุน จากนั้นหาต้นกล้วย อ้อย ข่า ข่าแดง ขิง มาประดับและหาไม้มาประดิษฐ์เป็นนกช้อนหอยจับกิ่งไม้วางไว้ทางด้านทิศตะวันออก ส่วนด้านทิศเหนือเป็นนกเหยี่ยวเกาะกิ่งไม้ สิ่งที่จะขาดไม่ได้คือจะต้องมีปลาช่อนตัวใหญ่สองตัว รวมทั้งสัตว์น้ำอื่น ๆ ได้แก่ ปู หอย เต่า สำหรับปล่อยลงวังน้ำ ถ้าหาของจริงไม่ได้ก็ให้ทำจำลองขึ้นมา จากนั้นชาวบ้านจะนำกระบอกไม้ไผ่ที่มีการสลักคาถาไปผูกติดกับก้อนหินในแม่น้ำ แล้วโยงเชือกไปมัดกับต้นไม้ขนาดใหญ่ (มยุรี ถาวรพัฒน์, 2554) โดยต้องมัดให้แน่น จากนั้นกลุ่มผู้ประกอบพิธีกรรมก็จะกลับมาที่หมู่บ้าน

เมื่อกลุ่มคนที่ทำพิธีในป่ากลับมาที่วัด พระสงฆ์จะสวดคาถาในอุโบสถวัดดงใต้เป็นเวลา 7 วัน ถ้าฝนตกลงมาก่อนหน้านั้นก็หยุดสวด แต่ถ้าเกิน 7 วันแล้วฝนยังไม่ตกก็หยุดสวด เป็นอันว่าพิธีกรรมไม่ได้ผล ส่วนกระบอกสลักคาถาก็จะไปนำกลับคืนมา พระครูวิจิตรศิลปาคมเล่าว่า มีอยู่ครั้งหนึ่งเมื่อขอฝนแล้วปรากฏว่าฝนตกหนักพัดต้นไม้ล้ม ทำให้กระบอกสลักคาถาลอยเข้าไปในเมือง ปรากฏว่ามีคนในเมืองเก็บได้ คนๆ นั้นก็เอามาคืนให้กับทางบ้านดงใต้ เพราะรับรู้กันว่ามีเพียงหมู่บ้านนี้เท่านั้นที่ทำพิธีขอฝน

พิธีกรรมขอฝนนี้ไม่ได้ทำกันมานานเกินกว่า 60 ปี ดังนั้น พิธีกรรมนี้จึงได้จากคำบอกเล่าตามความทรงจำของคนในหมู่บ้านและยังมีความสับสนกันอยู่ สาเหตุที่พิธีกรรมนี้ไม่ได้ทำอีกด้วยเป็นเพราะพิธีกรรมนี้จะทำก็ต่อเมื่อเกิดภัยแล้งเท่านั้น และในช่วง 50 ปีที่ผ่านมาชาวบ้านไม่เคยอยู่ในภาวะที่ขาดแคลนน้ำ แม้ฝนจะตกไม่ถูกต้องตามฤดูกาลก็ตาม โดยเฉพาะสมัยนี้ระบบการชลประทานดีทำให้พิธีนี้ในอนาคตคงเหลือแค่เรื่องเล่าเท่านั้น (สัมภาษณ์ พระครูวิจิตรศิลปาคม, 2558; สัมภาษณ์ นายธีรภพ เขื่อนสี, 2558)

พิธีแฮกนาขวัญบ้างดง จังหวัดแพร่

"พิธีแฮกนาขวัญ" เป็นพิธีทำขวัญข้าว เป็นพิธีที่เจ้าของนาจะทำพิธีบูชาข้าว การทำขวัญข้าวมี 3 ช่วง ดังนี้

ช่วงแรก การทำก่อนที่จะปลูกข้าวลงในนา จะนำข้าวจำนวน 9 ต้น มาลงในนาก่อน จากนั้นไหว้ขอพรให้ข้าวเจริญเติบโต

ช่วงที่สอง การทำก่อนที่ข้าวจะออกรวง สังเกตได้จากต้นข้าวสูงประมาณคืบเศษ เรียกพิธีว่า "ปู่จาข้าว" บูชาด้วยเนื้อควาย ขนมข้าวต้ม ธูปเทียน ดอกไม้ กล้วยน้ำว้า เจ้าของนาจะไหว้และบอกกล่าวขออย่าให้สัตว์แมลงบุ้งมารบกวนและบอกเจ้าที่เจ้าทางแม่ธรณีด้วย

ช่วงสุดท้าย การทำในช่วงเก็บเกี่ยวจะมีการมัดข้าว 9 ต้นแรกที่ไปปลูกในนา ไปเก็บมาก่อน แล้วเอาข้าว 9 ต้นนั้นมาไว้ที่ยุ้งข้าวก่อน และวางลงในกระบุง (ตะกร้าขนาดใหญ่ในยุ้ง) แล้วเอาวี (พัด) ใหญ่ ๆ พัด เป็นอันเสร็จพิธี ทั้งนี้เพื่อความเป็นมงคล (สัมภาษณ์ พระครูวิจิตรศิลปาคม, 2558)

พิธีฝากข้าวไว้กับท้าวทั้งหก บ้างดง จังหวัดแพร่

"พิธีฝากข้าวไว้กับท้าวทั้งหก" หรือที่ในภาษาอึมปี้เรียกว่า "กอปูจาเค" ซึ่งคนภายนอกมักเข้าใจว่าเป็นพิธีบูชาแม่โพสพ แต่อึมปี้ไม่ได้นับถือพระแม่โพสพแต่อย่างใด คำว่า "กอ" แปลว่า ข้าว (ข้าวเปลือก) "ปูจา" มาจากคำว่า บูชา และคำว่า "เค" แปลว่า ทำ พิธีกอปูจาเค จะทำในวันพระช่วงเข้าพรรษา ช่วงเวลาที่ทำก็คือเป็นช่วงที่ข้าวกำลังตั้งท้อง โดยมากจะปลูกไปได้ประมาณ 2 เดือนแล้ว โดยต้นข้าวจะสูงประมาณ 60 เซนติเมตร ช่วงเวลานี้จะตกในราวเดือนสิงหาคม จุดประสงค์ของการทำพิธีกอปูจาเคคือ ต้องการฝากข้าวไว้กับท้าวทั้งหกเพื่อให้ช่วยดูแลไม่ให้สัตว์หรือแมลงมารบกวน ประกอบด้วยท้าวเวสสุวรรณ ท้าววิรุหะ (ท้าววิรุฬหก) ท้าววิรูปักษ์ และคนธรรพ์ (ท้าวธตรฐ) พระอินทร์ และพระแม่ธรณี เจ้าของนาจะเป็นผู้ทำพิธีนี้ด้วยตนเอง พิธีมักเริ่มตั้งแต่เช้ามืด และไม่ควรเกิน 4 โมงเช้า (10.00 น.) โดยจะเลือกทำพิธีในวันพระ เพราะถือกันว่าเป็นวันดี เมื่อไปถึงทุ่งนาเจ้าของนาจะทำแท่นพิธีด้วยการปักไม้ไผ่จำนวน 5 อัน บนยอดจะมีกาบหยวกกล้วยวางอยู่ (ทำเป็นจานรอง) ไม้ทั้งห้าอันจะปักประจำทิศทั้งสี่ และทิศตรงกลาง ส่วนของพระแม่ธรณีจะวางเครื่องเซ่นไว้บนดิน สำหรับเครื่องเซ่นที่เจ้าของนาจะต้องเตรียมไปไหว้ที่ทุ่งนาของตนเอง ได้แก่ ข้าว ข้าวต้ม ขนม บุหรี่ (มีหลี) เมี่ยง (ชา) แหนม และหมากพลู ซึ่งอย่างหลังถือเป็นของที่ขาดไม่ได้ ทั้งหมดจะวางไว้บนกาบหยวกกล้วย จากนั้นเจ้าของนาจะขอให้ท้าวทั้งหกคุ้มครองนาข้าวของตนและให้ข้าวได้ผลดีอุดมสมบูรณ์ (สัมภาษณ์ พระครูวิจิตรศิลปาคม, 2558)

พิธีตักข้าวล้นบาตรบ้างดง จังหวัดแพร่

พิธีตักข้าวล้นบาตร หรือในภาษาอึมปี้เรียกว่า "ลุงแปะ" เป็นพิธีที่ทำในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 4 (เดือนมกราคม) หรือทำในช่วงหลังจากลอยกระทงได้แล้วประมาณ 2 เดือน พิธีนี้จะทำในช่วงฤดูกาลเก็บเกี่ยว โดยชาวบ้านเมื่อทำนาเสร็จหมดทุกหลังคาเรือนแล้วก็จะเอาข้าวขึ้นยุ้ง จากนั้นจะทำข้าวใหม่ที่สีแล้วมาถวายให้กับพระ ซึ่งจะทำกันก่อนที่แต่ละบ้านจะกินข้าวใหม่กัน

พิธีเริ่มต้นเวลา 7-8 โมงเช้า โดยก่อนที่ชาวบ้านจะนำข้าวมาถวายล้นบาตรให้กับพระนั้นจะต้องไปถวายหรือ "ใส่ข้าวท้าวทั้งสี่" (ท้าวทั้งสี่ตา) เสียก่อนเพราะถือกันว่าเป็นเจ้าที่วัด ทั้งนี้เพื่อเป็นการทำความเคารพ นายธีรภพ เขื่อนสี กล่าวว่า ถ้าไม่ทำก็เหมือนขาดอะไรไป ชาวบ้านจะนำข้าวนึ่งปั้นเป็นก้อนถวายให้ท้าวทั้งสี่ โดยวางไว้บนแท่นที่อยู่ในเขตวัด บริเวณโบสถ์ อาจารย์วัดจะเตรียมบาตรจำนวน 4 ใบวางไว้ภายในโบสถ์ บาตรใบที่หนึ่งสำหรับใส่ข้าวเปลือก บาตรใบที่สองสำหรับใส่ข้าวสาร ซึ่งทั้งสองบาตรนี้จะใช้สำหรับถวายแด่พระสงฆ์ บาตรใบที่สามจะใส่ข้าวเปลือก และบาตรใบที่สี่จะใส่ข้าวสาร ซึ่งทั้งสองใบหลังนี้จะใช้สำหรับถวายพระพุทธ (วางหน้าพระประธาน) นอกจากบาตรทั้งสี่ใบแล้ว ยังมีบาตรอีกสองใบที่ตั้งไว้ด้านหน้าโบสถ์ ใบหนึ่งใช้สำหรับใส่อาหารคาวหวาน และอีกใบหนึ่งไว้สำหรับใส่น้ำ ชาวบ้านจะนำน้ำมาใส่จนล้นบาตรเรียกว่า "ตักน้ำล้นบาตร"

หลังจากถวายข้าวท้าวทั้งสี่เสร็จแล้ว ชาวบ้านจะเข้าไปในโบสถ์เพื่อนำข้าวไปถวาย โดยจะเทข้าวสารและข้าวเปลือกแยกกันตามบาตรให้ล้นบาตรทุกอัน ชาวบ้านเชื่อว่าการเทข้าวให้ล้นบาตรก็เพราะต้องให้เหลือกินเหลือใช้และมีความอุดมสมบูรณ์ เมื่อเทข้าวและอาหารต่าง ๆ เรียบร้อยแล้ว ประมาณ 7-8 โมงเช้า อาจารย์วัดจะนำไหว้พระเพื่อรับศีล พระจะให้ศีลให้พรกับชาวบ้านในโบสถ์ จากนั้นชาวบ้านจะนำข้าวใหม่ที่นึ่งสุกแล้ว พร้อมอาหารคาวหวาน ถวายแด่พระภิกษุสามเณร เมื่อถวายเสร็จ อาจารย์วัดจะนำสวดมนต์บูชาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เสร็จแล้วพระสงฆ์จะอนุโมทนา หลังจากเสร็จพิธีที่วัดแล้ว ชาวบ้านจะกลับไปบ้านและร่วมกันรับประทานข้าวใหม่พร้อมกับสมาชิกในครอบครัวโดยให้บุพพการีรับประทานก่อนเพื่อเป็นการแสดงความกตัญญู (สัมภาษณ์ พระครูวิจิตรศิลปาคม, 2558; สัมภาษณ์ นายธีรภพ เขื่อนสี่, 2558) ปัจจุบันชาวบ้านยังคงทำพิธีตักข้าวล้นบาตรเช่นเดียวกับในอดีต เพียงแต่กลุ่มคนที่มาร่วมพิธีมีน้อยลงเพราะแยกย้ายกันไปทำงานและเยาวชนไปเรียนหนังสือตามเมืองใหญ่

การรักษาโรคภัยใข้เจ็บ

ประเพณีการทำปูจาเค บ้างดง จังหวัดแพร่

ประเพณีการทำ "ปูจาเค" คือพิธีสะเดาะเคราะห์ โดยจะทำในวันขึ้น 8 ค่ำ ของทุกเดือนซึ่งจะตรงกับวันพระ โดยอึมปี้จะนำเสื้อผ้าของคนที่อยู่ในบ้านคนละหนึ่งชิ้นมาพับใส่ในภาชนะที่บรรจุได้พอเหมาะ และนำเครื่องประกอบพิธีกรรมได้แก่ ธูป 3 ดอก ดอกไม้ หมาก 3 อัน ใบพลู 3 ใบ ฝ้ายขาว 9 เส้น ช่อ (ธง) สีขาว 3 อัน เพื่อแสดงถึงการสะเดาะเคราะห์ ข้าวปั้น และเงินตามกำลังศรัทธา ของทั้งหมดจะนำไปถวายภายในโบสถ์ ขั้นตอนการทำพิธีนั้น ชาวบ้านในแต่ละบ้านจะนำเสื้อผ้ามาพับใส่ในขันแล้วใช้ใบตองวางทับบนเสื้อผ้า แล้วนำข้าว 3 ปั้นพอเหมาะมาวางชิดติดกัน วางบนใบตอง นำธูปดอกไม้ ช่อ (ธงสีขาว) ปักไว้บนข้าว เสร็จแล้วนำใบพลูวางเรียง 3 ใบรอบข้าว แล้ววางหมากทับบนใบพลู สุดท้ายนำฝ้ายขาววางบนใบตองแล้วเอาไปที่วัด เมื่อไปถึงวัดจะนำของทั้งหมดไปวางรวมกันหน้าพระพุทธรูปประธาน จากนั้นจะนำฝ้ายขาวไปวางบนเหล็ก เมื่อพระสวดใกล้จบ จะมีเด็กวัดเอาไปเผานอกวิหาร ถือว่าเป็นการเผาเคราะห์ให้หายไป เป็นอันเสร็จพิธี (เอกชัย เขื่อนสี่ และคณะ 2557)

ประเพณีส่งเคราะห์ บ้างดง จังหวัดแพร่

บรรพบุรุษแต่ก่อนของชุมชนอึมปี้ ได้อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ซึ่งความพอใจในการดำเนินชีวิตต้องการความปราศจากโรคภัยไข้เจ็บที่เกี่ยวกับภูตผีปีศาจ ทุกชีวิตต้องพึ่งพาอาศัยพ่ออาจารย์ประจำหมู่บ้านซึ่งเป็นผู้ที่ต้องได้รับการแต่งตั้งจากคนในชุมชนเป็นที่ยอมรับนับถือ และพ่ออาจารย์นั้นต้องเป็นผู้ที่มีภูมิปัญญาทางด้านพิธีกรรมต่าง ๆ ซึ่งได้ร่ำเรียนศึกษามาจากผู้รู้จากบรรพบุรุษในการทำพิธี พ่ออาจารย์คนปัจจุบันคือ นายปั๋น สีตื้อ ซึ่งเป็นผู้ที่ผ่านกระบวนการบวชเรียนมาก่อนจะเป็นผู้สวดโองการเพื่อขอความคุ้มครอง ป้องกันภยันตรายต่าง ๆ เป็นการบอกกล่าวและขอดลบันดาลให้เกิดสิ่งที่เป็นสิริมงคลกับเจ้าบ้าน

มยุรี ถาวรพัฒน์. (2559). สารานุกรมกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย : อึมปี้. สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล. กรุงเพทฯ : เอกพิมพ์ไท จำกัด.

มูลนิธิชนเผ่าพื้นเมืองเพื่อการศึกษาและสิ่งแวดล้อม. (ม.ป.ป.). “ก่อ (อึมปี้)” ในเอกสารแผ่นพับของโครงการพัฒนาระบบฐานข้อมูลเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย. เชียงใหม่: มูลนิธิชนเผ่าพื้นเมืองเพื่อการศึกษาและสิ่งแวดล้อม

ชัชวาล คำงาม. บันทึกประวัติศาสตร์ล้านนา. [ระบบออนไลน์], http://historicallanna01.blogspot.com/ เข้าถึงเมื่อ 20 เมษายน 2560

ธีระภพ เขื่อนสี่. (2553). สร้างระบบตัวเขียน “สืบชะตาภาษาอึมปี้บ้านดง ตำบลสวนเขื่อน อำเภอเมือง จังหวัดแพร่”. รายงานผลการวิจัย, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว)

วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. อาณาจักรน่านเจ้า. [ระบบออนไลน์], http://www.wikipedia.org/ เข้าถึงเมื่อ 23 เมษายน 2560

วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. ไทลื้อ. [ระบบออนไลน์], http://www.wikipedia.org/ เข้าถึงเมื่อ 23 เมษายน 2560


close
ลืมรหัสผ่าน?
กรุณากรอกอีเมลที่ท่านสมัครสมาชิกไว้เพื่อรับรหัสผ่านใหม่
ระบบจัดส่งการสร้างรหัสผ่านใหม่ให้ท่านทางอีเมลเรียบร้อยแล้ว
นโยบายความเป็นส่วนตัว