ชื่อเรียกของชาวจีน
“ตึ่งนั้ง” “คนจีน” มาจากชาวจีนดินแดนต่าง ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ปรากฏขึ้นในสมัยราชวงศ์“ถั่ง” คนจีนโพ้นทะเลจึงเรียกตนเองว่า “ตึ่งนั้ง” ซึ่งแปลว่า “ชาวถัง” ในสําเนียงภาษาจีนแต้จิ๋ว (ศุภจิต มโนพิโมกษ์, 2560: 94)
คำเรียกของคนไทยเรียกคนที่มีสัญชาติจีน เชื้อชาติจีนเป็น “เจ๊ก” เฉพาะในเมืองไทยเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นจีนแต้จิ๋ว กวางตุ้ง แคะ ไหหลำ หรือฮกเกี้ยน จีนที่อพยพมาเมืองไทยเป็นคนยากจน เป็นชาวนา ไม่มีการศึกษา ขนบธรรมเนียมไม่นุ่มนวลเหมือนคนไทย จึงมองว่าคนจีนเป็นคนไม่มีกิริยามารยาท พูดจาโฮกฮาก ทำให้สกปรกน่าสะอิดสะเอียน ซึ่งเป็นที่น่ารังเกียจสำหรับคนไทย จีนแต้จิ๋วเรียกน้องของพ่อว่า “อาเจ็ก” หรือ “เจ๊กเจ็ก” แปลว่า “อา” หรือ “อาว์” บางทีก็ใช้เรียกชื่อคนที่ไม่รู้จักชื่อหรือคนที่นับถือกันว่า “อาเจ็ก” เป็นเสมือนสรรพนามของคน ๆ นั้น คนไทยได้ยินเสียงคนจีนแต้จิ๋วเรียกน้องของพ่อว่า “อาเจ็ก” ก็เรียกตาม ต่อเมื่อเห็นความประพฤติปฏิบัติในทางไม่ดีไม่มีกิริยามารยาท จึงแทนที่จะเรียกว่า “อาเจ็ก” กลับเรียกเป็นว่า “ไอ้เจ๊ก” ด้วยความโมโหโทโส คำ ๆ นี้จึงกลายเป็นคำที่ดูถูกดูแคลนคนจีนไปโดยปริยาย (มนัส โอภากุล, 2537: 73-74)
ขณะที่ชื่อเรียกกลุ่มอิทธิพลของชาวจีนในยุคหนึ่งนั้นมีคำเรียกว่า “อั้งยี่” ซึ่งมาจากการรวมตัวของสมาคมลับกู้ชาติของชาวจีนในภาคใต้ เพื่อต่อต้านการปกครองของราชวงศ์ชิง ในระยะแรกทางการไทยเรียกสมาคมลับจีนนี้ว่า “ตั้วเหี่ย” ภาษาแต้จิ๋วแปลว่า “พี่ใหญ่” (อุมา สินธุเศรษฐ, 2561: 233) แต่ในไทย อั้งยี่ เป็นที่รู้จักในบทบาทการเป็นขบวนการอาชญากรชาวจีนที่รวมตัวกันเป็นแก๊งอันธพาล มักก่อความวุ่นวาย ยกพวกตีกันระหว่างกลุ่ม จับคนไปเรียกค่าไถ่ รีดเงินเก็บค่าคุ้มครอง ฯลฯ และยังเป็นข้อหนึ่งของกฎหมายไทยในความผิดฐานเป็น อั้งยี่ซ่องโจร (อุมา สินธุเศรษฐ, 2561: 243) ทำให้เวลาพูดถึงชาวจีนด้วยคำนี้มักเป็นการพูดในเชิงลบ ไม่เป็นที่ชอบใจนักของชาวจีนโดยทั่วไป
อย่างไรก็ตามเนื่องจาก “คนจีน” ในประเทศไทยมักมีหลากหลายกลุ่มด้วยกัน ดังนั้นคนไทยจึงนิยมเรียกคนจีนด้วยชื่อกลุ่มต่อท้าย เพื่อเป็นการจำแนกอีกทีซึ่งมีดังนี้ “จีนฟุโจว” “จีนฮกจิว” “จีนแคะ” “จีนไหหลำ” “จีนกวางตุ้ง” “จีนแต้จิ้ว” เป็นต้น
ในปัจจุบันชาวไทยเชื้อสายจีน มีประมาณ 10 ล้านคนในประเทศไทย คิดเป็น 11–14% ของจำนวนประชากรทั้งหมดของประเทศ (พ.ศ. 2555) และยังมีอีกจำนวนมากไม่สามารถนับได้ เพราะที่กลมกลืนกับคนไทยไปแล้วโดยการแต่งงานข้ามเชื้อชาติ
เนื้อหาโดย ผศ. ดร. ดำรงพล อินทร์จันทร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
ปีงบประมาณ 2564 อัพโหลดเมื่อวันที่ 9 กรกฏาคม 2564
เอกสารอ้างอิง
กิตติ โล่ห์เพรชรัตน์. (2560). ตำนานลูกหลานมังกรในแผ่นดินสยาม. กรุงเทพ: ลูกบาศก์ห้า สิบสี่.
ณัฐวุฒิ สังข์ต้อง. (ออนไลน์). การอพยพของชาวจีนสมัยกรุงรัตนโกสินทร์. เข้าถึงเมื่อ 12 สิงหาคม 2563. เข้าถึงได้จาก: https://sites.google.com/site/natthawutsongtong/hnwy-kar-reiyn-ru-thi-2/7-kar-xphyph-khxng-chaw-cin-smay-krung-ratnkosinthr
ไทยเชื้อสายจีน. (ม.ป.ป). เรียกใช้เมื่อ 15 สิงหาคม 2563 จาก https://th.wikipedia.org/wiki/ ไทยเชื้อสายจีน
พรพรรณ จันทโรนานนท์. (2550). ชาวจีนในไทย. ศิลปวัฒนธรรม, 158-162.
พรพรรณ จันทโรนานนท์. ชาวจีนในไทยมาจากไหน เปิดประวัติการอพยพยุคแรกเริ่ม ถึงการผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรม. (ออนไลน์). เข้าถึงเมื่อ 12 สิงหาคม 2563. เข้าถึงได้จาก: https://www.silpa-mag.com/history/article_26173
ชาวจีนที่อพยพมานั้น มักมาจากดินแดนทางตอนใต้ของประเทศจีน คือ มณฑลกวางตุ้ง ฮกเกี้ยน และไหหลำ ชาวจีนเหล่านี้ได้แก่ ชาวจีนกวางตุ้ง ชาวจีนแคะ ชาวจีนแต้จิ๋ว ชาวจีนฮกเกี้ยน และชาวจีนไหหลำ รวม 5 กลุ่มภาษาใหญ่ หลักฐานที่ชี้ให้เห็นถึงการอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานของชาวจีน 5 กลุ่มภาษาดังกล่าวในประเทศไทย เห็นได้จากศาลเจ้า สมาคมตระกูลแซ่ สมาคมกลุ่มภาษา สมาคมถิ่นเกิด สมาคมอาชีพ และโรงเรียนจีน สาเหตุของการอพยพของชาวจีนเข้าสู่ไทยก็เพราะความไม่สงบภายในประเทศจีน ความอดอยาก การติดต่อค้าขาย และความสามารถในการเดินเรือของจีนออกสู่ทะเล สมัยราชวงศ์ถัง (ค.ศ. 618-960) การเดินเรือออกสู่ประเทศต่าง ๆ มีความเจริญรุ่งเรืองมาก ในสมัยนั้นเมืองท่าสำคัญทางใต้ คือ เมืองกวางโจว เมืองเฉวียนโจว และเมืองหมิงโจว ซึ่งก็คือเมืองท่าสำคัญในมณฑลกวางตุ้ง ฮกเกี้ยน และเมืองเจิ้นเจียงในปัจจุบันเมืองดังกล่าวนี้นอกจากจะเป็นเมืองท่าสำคัญสามารถออกสู่ทะเลได้แล้วยังเป็นเมืองศูนย์กลางการค้าทั้งภายในและภายนอกประเทศด้วย กล่าวคือจากเมืองศูนย์กลางทางการค้าทางทะเลเหล่านี้ สินค้าจะถูกลำเลียงจากเมืองท่าแล้วส่งต่อไปตามลำน้ำยังเมืองต่าง ๆ ของจีน และอีกด้านหนึ่งเมืองท่าเหล่านี้ยังเป็นที่รวมสินค้าชนิดต่าง ๆ ของจีนเพื่อส่งออกขายยังประเทศทางแถบเอเชียอาคเนย์และอินเดียด้วย
เมืองท่าต่าง ๆ เหล่านี้ได้นำความเจริญมาสู่ดินแดนทางใต้ ในสมัยราชวงศ์ถังเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมืองกวางโจว ทางการของจีนเห็นเป็นประโยชน์ต่อราชสำนัก จึงได้สร้างกรมท่าเรือที่กวางโจวขึ้น ต่อมาเมื่อราชสำนักไม่ได้ผลประโยชน์ตามคาดหมาย กรมดังกล่าวถึงได้ถูกยกเลิกไป เมืองกวางโจวนั้น นับว่าเป็นเมืองท่าทางใต้ที่เป็นศูนย์กลางทางการค้าทางทะเลของจีนมาทุกยุคทุกสมัย นับตั้งแต่สมัยราชวงศ์ฮั่นเป็นต้นมา ถึงในสมัยราชวงศ์ถังเส้นทางเดินเรือจากกวางโจวไปยังต่างประเทศ จะมีทั้งสิ้น 6 สายด้วยกัน กล่าวคือ กวางโจว สู่ เปอร์เซีย กวางโจว สู่ เมโสโปเตเมีย (อิรัก) กวางโจว สู่ อาเด็น (ดินแดนของประเทศอาหรับ) กวางโจว สู่ ประเทศซือจื่อ (เกาะซีลอน) กวางโจว สู่ ทะเลใต้ (ประเทศในคาบสมุทรมลายู) กวางโจว สู่ เมืองตู่ผอ (ชวา) จากที่กล่าวมานี้จะเห็นได้ว่า จีนในสมัยราชวงศ์ถังได้มีการติดต่อกับประเทศต่าง ๆ แถบแหลมมลายู ซึ่งรวมถึงดินแดนทางตอนใต้ของไทยด้วย
การอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในพื้นที่
ชาวจีนรุ่นแรก ๆ ที่อพยพเข้ามาในไทยจะเข้ามากับเรือสินค้า และส่วนมากเป็นชาวจีนที่อาศัยทำกินอยู่ในดินแดนทางใต้แถบชายทะเลมาก่อน ต่อมาเมืองกวางโจวมีเมืองท่าใหม่แถบชายทะเลทางใต้ ยิ่งทำให้ดินแดนทางใต้มีความสำคัญเพิ่มขึ้นอีก เช่น เมืองท่าจางหลิน ที่ซัวเถาของเมืองแต้จิ๋ว จึงทำให้ชาวจีนกลุ่มภาษาต่าง ๆ อพยพออกนอกประเทศมากขึ้น (เกาะไหหลำเดิมอยู่ในมณฑลกวางตุ้ง ได้รับการยกฐานะเป็นมณฑล ในปี ค.ศ. 1988 ดินแดนที่ชาวจีนทางใต้นิยมอพยพมาอาศัยและทำการค้า คือแถบหนานหยางหรือแถบทะเลจีนใต้ ทั้งนี้หมายรวมถึงประเทศไทยด้วย ความสัมพันธ์ของประเทศจีนกับชาวจีนอพยพในประเทศในแถบหนานหยาง ก่อให้เกิดผลทางการค้าและการเมืองมาก ประเทศแถบหนานหยางต่างส่งเครื่องราชบรรณาการต่อจีนเพื่อขอการคุ้มครองจากจีนซึ่งเป็นพี่ใหญ่ในแถบนี้ ชาวจีนเรียกการถวายเครื่องราชบรรณาการนี้ว่า จิ้นก้ง (进贡) ไทยเรียกกันว่า “จิ้มก้อง” ความมีอำนาจและบารมีของจีนต่อดินแดนแถบหนานหยาง ซึ่งหมายรวมถึงคาบสมุทรมลายู และดินแดนทางตอนใต้ของไทยนั้น ได้กล่าวไว้อย่างชัดเจนในพงศาวดารราชวงศ์หยวน เป็นเนื้อความที่ตักเตือนไม่ให้ชาวมลายูมารังแกสยาม
ในสมัยราชวงศ์หยวน (ค.ศ. 1279-1368) นอกจากการค้ากับต่างประเทศที่ยังคงปฏิบัติต่อจากรัชกาลก่อน โดยใช้เมืองท่าสำคัญที่กล่าวมาแล้ว ดินแดนทางเหนือของไทยนอกจากจะมีการติดต่อการค้ากับจีนแล้วก็คงมีชาวจีนอพยพอันเนื่องมาจากการกรีธาทัพเข้าปราบปรามดินแดนทางใต้ของจีนซึ่งต่อแดนกับอาณาเขตทางเหนือของไทยด้วย และเมื่อการทัพจบสิ้นลงก็คงมีชาวจีนติดค้างตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณทางเหนือของไทยบ้าง
เส้นทางอพยพของชาวจีนในสมัยโบราณ นอกจากพงศาวดารแล้วยังทราบได้จากบันทึกของนักเดินทาง นักแสวงบุญ เช่น บันทึกของหลวงจีนเสวียนจั้ง (ค.ศ. 602-664) หรือหลวงจีนเหี้ยนจัง หรือพระถังซำจั๋ง ที่มีชื่อว่า “ต้าถังซีอวี้จี้” เป็นการจดบันทึกถึงการเดินทางเข้ามายังอินเดียโดยผ่านดินแดนทางทะเลใต้ในสมัยราชวงศ์ถัง (ประเทศอินเดียในสมัยนั้นเรียกชื่อประเทศว่าเทียนจู๋กั๋ว โดยเริ่มเดินทางในรัชศกเจิงกวนปีที่ 3 แห่งรัชกาลพระเจ้าถังไท้จง คือ ค.ศ. 629 และกลับสู่ประเทศจีนถึงเมืองหลวงฉางอานในปีรัชศกเจิงกวนปีที่ 19 รวมเดินทางไปกลับ 17 ปี สิ่งที่หลวงจีนได้บันทึกไว้ ทำให้รู้ได้ว่าที่ดินแดนแหลมทองมีอาณาจักรทวารวดี อาณาจักรศรีเกษตร และอาณาจักรศรีวิชัย และบอกเล่าถึงชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในแถบนี้ รวมทั้งชาวจีนอพยพมากมาย (พรพรรณ จันทโรนานนท์ ,ออนไลน์ :2563)
ดังนั้นจะเห็นได้ว่าความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับจีน มีมาอย่างยาวนาน ชาวจีนนั้นเริ่มเดินสำเภามาค้าขายในดินแดนสุวรรณภูมิตั้งแต่สมัยก่อนสุโขทัย หลักฐานที่ชัดเจนที่สุดคือเมื่อชาวจีนมาถ่ายทอดสอนศิลปะการทำเครื่องถ้วยจานหลักฐานในสมัยสุโขทัยมีพ่อค้าจีนได้บรรทุกสินค้าลงเรือสำเภาจากจีนมาค้าขายบริเวณเมืองนครศรีธรรมราชสุราษฎร์ธานีชุมพร ในช่วงยุคสมัยนี้มีพ่อค้าชาวจีนเดินทางเข้ามาค้าขายในแผ่นดินโดยเฉพาะเครื่องสังคโลกที่เรารู้จักกันดีและซื้อสินค้าจากไทยกลับไปขายที่เมืองจีนสยามจำนวนมาก แต่มีไม่มีที่ตั้งหลักแหล่งอาศัยอยู่อย่างถาวร
ในช่วงสมัยกรุงศรีอยุธยา อิทธิพลของจีนมีบทบาทมายาวนานต่อเนื่อง ดังเช่น ต้นสมัยกรุงศรีอยุธยาได้มีกษัตริย์ขึ้นเสวยราชย์ที่เมืองกำแพงเพชรเนื่องจากมีหลักฐานที่กล่าวถึงเรื่องพระร่วงไปเมืองจีนและเอกสารของจีนพบว่ามีเจ้านครอินทร์เชื้อสายสุพรรณภูมิได้เดินทางไปเมืองจีนหลายครั้ง เจ้านครอินทร์ผู้นี้เป็นพระร่วงในหลักฐานตำนานสุโขทัย ในหลักฐานจดหมายเหตุจีนได้กล่าวถึงสุพรรณอ๋อง ซึ่งมีความสัมพันธ์อย่างตีกับจีนและได้กล่าวถึง เอี้ยวลกควรอิม ที่ได้ไปเมืองจีนซึ่งก็คือเจ้านครอินทร์นั่นเอง (หรือสมเด็จพระนครินทราธิราชกษัตริย์พระองค์ที่ 5 แห่งกรุงศรีอยุธยา) ในรัชสมัยขุนหลวงพะงั้วเจ้านครอินทร์ (พระราชนัดดา) ทรงมีพระปรีชาสามารถในด้านการค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งการค้าขายกับเมืองจีนอย่างต่อเนื่องเสมอมา ทรงเสด็จไปเมืองจีนหลายครั้งตั้งแต่ยังไม่ทรงครองราชย์จนตลอดรัชสมัยของพระองค์ ในรัชสมัยของพระองค์ ถือเป็นยุคทองทางการค้ายุคต้นของกรุงศรีอยุธยา พระองค์ทรงส่งคณะราชทูตกับทั้งเรือสินค้าไปค้าขายกับเมืองจีนถึง 14 ครั้งเจ้านครอินทร์ได้นำช่างทำเครื่องปั้นดินเผาจากจีนมาสยาม พระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรก ที่เสด็จไปเมืองจีนด้วยพระองค์เองในสมัยกรุงศรีอยุธยา ตอนต้นบางกอก (กรุงเทพฯ) เป็นชุมนุมใหญ่ต่อมามีฐานะเป็นเมืองโดยมีเจ้าเมืองเป็นผู้ดูแลฝั่งบางกอกและฝั่งธนบุรี ซึ่งขณะนั้นยังเป็นแผ่นดินเดียวกัน เพราะลำน้ำเจ้าพระยาสายเก่าไหลลงมาเข้าคลองบางกอกน้อย แล้วออกคลองบางกอกใหญ่จนในปี พ.ศ. 2085 สมเด็จพระไชยราชาธิราชโปรดฯ ให้ขุดคลองลัด ทำให้ลดระยะทางตั้งแต่บริเวณปากคลองบางกอกน้อย ไปจรดปากคลองบางกอกใหญ่ การขยายกว้างกลายเป็นแม่น้ำเจ้าพระยาสายใหม่ตลอดสมัยกรุงศรีอยุธยาศูนย์กลางชุมชนย้ายทิศทางมาอยู่ฝั่งวัดอรุณฯ จนถึงวัดระฆังฯ ขณะเดียวกันฝั่งตรงข้ามบริเวณพระบรมมหาราชวังในปัจจุบัน มีชาวจีนและชาวสยามมาตั้งบ้านเรือนอยู่อาศัยและทำมาค้าขาย หรือในสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททองและสมัยพระนารายณ์ การค้าขายมีความเจริญรุ่งเรืองมากขึ้น มีการจัดเรือสำเภาจีนในสยาม พ่อค้าชาวจีนยุคบุกเบิกเข้ามามีบทบาทสำคัญในสยาม ความสัมพันธ์ระหว่างไทย-จีน ทำให้มีชุมชนชาวจีนในสยามมากขึ้น ในยุคสมัยนี้ มีจำนวนชาวจีนอพยพเพิ่มจำนวนขึ้น ช่วยให้ธุรกิจหลวงออกไปติดต่อค้าขายกับจีน การค้าในราชอาณาจักรเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีการสนับสนุนพ่อค้าชาวจีน ในยุคแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์การค้าขายทางเรืออยู่ในการควบคุมของชาวจีนเป็นหลัก ในสมัยกรุงศรีอยุธยา มีกองกำลังอาสาชาวจีนช่วยออกรบทำศึกสงครามโดยเสมอมา พระมหากษัตริย์ทรงไว้วางพระหฤทัยให้ชาวจีนมารับราชการเป็นจำนวนมาก มีหัวหน้าชาวจีนที่มีหน้าที่ควบคุมดูแลชาวจีน โดยดำรงตำแหน่งเป็นเจ้ากรมท่าซ้ายมีบรรดาศักดิ์ที่โชฎีกราช เศรษฐีชาวจีนร่วมออกรบและปกป้องชาติบ้านเมืองจนถึงคราวกรุงแตกครั้งที่ 2 ชาวจีนได้อพยพเข้ามาส่วนมากมาจากตอนใต้ของประเทศจีน เพื่อมาตั้งรกรากปลูกบ้านเรือนและทำการค้า ในอดีตชาวจีนตั้งบ้านเรือนอยู่หนาแน่นบริเวณวัดพนัญเชิงและริมฝั่งน้ำตรงข้ามวัดพนัญเชิง ปัจจุบันอาศัยหนาแน่นอยู่บริเวณหัวรอตลาดเจ้าพรหม ส่วนใหญ่เป็นจีนแต้จิ๋วและจีนไหหลำ
ส่วนในสมัยกรุงธนบุรี สมเด็จพระเจ้าตากสิน ทรงย้ายเมืองหลวงมาอยู่ที่เมืองธนบุรี เพราะเป็นเมืองหน้าด่าน และท่าเรือ ที่ตั้งสะดวกแก่การติดต่อทางทะเลมีบ้านเรือนราษฎรอยู่หนาแน่น สมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินชาวจีนได้เข้ามาทำการค้าและอพยพมายังสยามเป็นจำนวนมากโดยเฉพาะชาวจีนแต้จิ๋ว ทำให้ชาวจีนโพ้นทะเลในสยามเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วการค้าขายของชาวจีนมีความโดดเด่นมาก การสนับสนุนพ่อค้าชาวจีนในสยามได้กลายเป็นนโยบายที่สำคัญในสมัยกรุงธนบุรี ทั้งนี้รวมถึงการให้สิทธิพิเศษแก่ชาวฉางโจวด้วย
สุดท้ายในสมัยรัตนโกสินทร์ การตั้งรกรากมักจะเข้ามาแต่งงานกับผู้หญิงไทย และกลายเป็นค่านิยมในสมัยนั้น ลูกหลานจากการแต่งงานข้ามเชื้อชาตินี้เรียกว่า ลูกจีน แต่ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์นี้ กระแสการอพยพเริ่มเปลี่ยนไป ผู้หญิงจีนอพยพเข้ามาในสยามมากขึ้น จึงทำให้การแต่งงานข้ามเชื้อชาติลดลง การคอรัปชั่น ในรัฐบาลราชวงศ์ชิง และการเพิ่มขึ้นของประชากรในประเทศจีน ประกอบกับการเก็บภาษีที่เอาเปรียบ ทำให้ชายชาวจีนจำนวนมากมุ่งสู่สยามเพื่อหางานและส่งเงินกลับไปให้ครอบครัวในประเทศจีน ขณะนั้นชาวจีนจำนวนมากต้องจำยอมขายที่ดินเพื่อหลีกเลี่ยงการเก็บภาษีเพาะปลูกของทางการ ในรัชสมัยปลายรัชกาลที่ 3 ประเทศไทยต้องระวังผลกระทบจากการที่ฝรั่งเศสได้ดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง และอังกฤษได้มลายูเป็นอาณานิคม ในขณะเดียวกัน ชาวจีนจากมณฑลยูนนานก็เริ่มไหลเข้าสู่ประเทศไทยกลุ่มชาวไทยชาตินิยมจากทุกระดับจึงได้เกิดความคิดต่อต้านชาวจีนขึ้น หลายร้อยปีก่อนหน้านี้ ชาวจีนกุมเศรษฐกิจการค้าส่วนใหญ่ไว้ และยังได้รับอำนาจผูกขาดการค้าและรวมถึงการเป็นนายอากรเก็บภาษีซึ่งเริ่มในสมัยรัชกาลที่ 3 ด้วย ในขณะนั้นอิทธิพลทางการค้าของชาติตะวันตกก็สูงขึ้น ทำให้พ่อค้าขาวจีนหันไปขายฝิ่นและเป็นนายอากรมากขึ้น นอกจากนี้ เจ้าของโรงสีและพ่อค้าข้าวคนกลางชาวจีนยังได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในสยามซึ่งกินเวลาเกือบ 10 ปี หลังปี พ.ศ. 2448 ด้วยการให้สินบนขุนนาง กลุ่มอันธพาลอั้งยี่ และการเก็บภาษีอย่างกดขี่ ทั้งหมดนี้จุดประกายให้คนไทยเกลียดชังคนจีนมากขึ้น ในขณะเดียวกันอัตราการอพยพเข้าประเทศไทยก็มากขึ้น ในพ.ศ. 2453 เกือบ 10 % ของประชากรไทยเป็นชาวจีน ซึ่งผู้อพยพใหม่เหล่านี้มากันทั้งครอบครัวและปฏิเสธที่จะอยู่ในชุมชนและสังคมเดียวกับคนไทย ซึ่งต่างกับผู้อพยพยุคแรกที่มักแต่งงานกับคนไทย ซุน ยัตเซ็น ผู้นำการปฏิวัติประเทศจีน ได้เผยแพร่ความคิดให้ชาวจีนในประเทศไทยมีความคิดชาตินิยมจีนให้มากขึ้นเพื่อต่อต้านการเหยียดเชื้อชาติ ชุมชนชาวจีนจะสนับสนุนการตั้งโรงเรียนเพื่อลูกหลานจีนโดยเฉพาะโดยไม่เรียนรวมกับเด็กไทย ในปี พ.ศ. 2452 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงให้ชาวต่างชาติในประเทศไทยจดทะเบียนเป็นคนต่างด้าว เหตุการณ์นี้ทำให้ชาวจีนจำนวนมากต้องเลือกว่าจะเป็นคนไทยโดยสมบูรณ์หรือจะยอมเป็นคนต่างด้าว ชาวไทยเชื้อสายจีนจำเป็นต้องเข้ารับการตรวจเลือกเข้ารับราชการทหารซึ่งเริ่มประมาณ พ.ศ. 2475 ในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม มีการประกาศอาชีพสงวนของคนไทยเท่านั้น เช่น การปลูกข้าว ยาสูบ อีกทั้งประกาศอัตราภาษีและกฎการควบคุมธุรกิจของชาวจีนใหม่ด้วย ในขณะที่มีการปลุกระดมชาตินิยมจีนและไทยขึ้นพร้อมกัน ในปี พ.ศ. 2513 ลูกหลานจีนที่เกิดในไทยมากกว่า 90 % ถือสัญชาติไทยโดยสมบูรณ์ และเมื่อมีการเจริญความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างเป็นทางการแล้วในปี พ.ศ. 2518 ชาวจีนที่ไม่ได้เกิดในประเทศไทย ก็มีสิทธิที่จะเลือกที่จะถือสัญชาติไทยได้ (ณัฐวุฒิ สังข์ต้อง ,ออนไลน์ :ม.ป.ป)
ถิ่นฐานของกลุ่มชาติพันธุ์
กลุ่มชาวจีนที่ปะปนจนกลายมาเป็นชาวไทย (เชื้อสายจีน) มีอยู่ด้วยกัน 7 กลุ่มหลัก ๆ ดังนี้
1) แต้จิ๋ว เป็นกลุ่มชาวจีนที่มากที่สุด กล่าวกันว่า" ที่ไหนมีศาลเจ้า ที่นั่นจะพบคนจีน เพื่อพบปะกันและเป็นที่พึ่งทางใจเมื่อยามห่างไกลแผ่นดินเกิด ชาวจีนจะตั้งถิ่นฐานอยู่พื้นที่รอบ ๆ แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำแม่กลองและบริเวณภาคกลาง ได้เข้ามาที่แผ่นดินสยามตั้งแต่ยุคกรุงศรีอยุธยาแล้ว โดยสวนใหญ่มาจากมณฑลฝูเจี้ยน และ มณฑลกวางตุ้ง ส่วนมากจะทำการค้าทางด้าน การเงิน ร้านขายข้าว และ ยา มีบางส่วนที่ทำงานให้กับภาครัฐ ในสมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี พ่อค้าจีนแต้จิ๋วจำนวนมากได้รับสิทธิพิเศษ ชาวจีนกลุ่มนี้จึงเรียกว่า จีนหลวง (Royal Chinese) สาเหตุเนื่องจากสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงมีเชื้อสายแต้จิ๋วเช่นกัน ในช่วงกรุงรัตนโกสินทร์การอพยพของชาวแต้จิ๋วจึงมีมากขึ้น และในประเทศไทยเองก็มีคนแต้จิ๋วเป็นจำนวนมาก และปัจจุบันจะมีมากในทุกภาคของประเทศไทย แต่ที่มีชาวแต้จิ๋วมากที่สุดคือกรุงเทพฯ ภาคกลางตอนล่าง เช่น นครปฐม ราชบุรี เพชรบุรี สมุทรสาคร สมุทรสงคราม ตอนบน เช่น ชัยนาท สิงห์บุรี นครสวรรค์ เพชรบูรณ์ พิษณุโลก สุโขทัย ภาคตะวันออก เช่น ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี (เมืองเก่าของพระเจ้าตากสินมหาราช) ตราด สระแก้ว ปราจีนบุรี (ชาวแต้จิ๋วมาเริ่มตั้งต้นถิ่นฐานที่นี่มากที่สุดเพราะเป็นพื้นที่ไม่มีคนอยู่อาศัยเป็นป่าแต่อุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรน้ำเพื่อเพาะปลูกและที่ปลูกมากที่สุดคือ "ต้นไผ่" เพราะไผ่ขายเพื่อทำเรือแพออกไปค้าขายได้ แล้วกระจายไปในจังหวัดใกล้เคียงในเวลาต่อมา ในรัชสมัยกรุงศรีอยุธยาถึงสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ชาวแต้จิ๋วข้ามาอาศัยแผ่นดินสยามมากที่สุด) ภาคเหนือตอนบน เช่น เชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง แพร่ น่าน (ส่วนพะเยาจะมีจีนแคะหรือชาวฮากกาจำนวนมาก) ส่วนในภาคอีสานส่วนใหญ่จะเป็นชาวแต้จิ๋วในทุกจังหวัดเช่น นครราชสีมา (โคราช) ชัยภูมิ ขอนแก่น เลย อุดรธานี กาฬสินธ์ มหาสารคาม อุบลราชธานี ยโสธร ศรีสะเกษ สุรินทร์ บุรีรัมย์ ส่วนพื้นที่ริมโขงเช่น หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร จะปะปนไปด้วยชาวแต้จิ๋ว แคะ และเวียดนาม (ซึ่งปัจจุบันมีมากกว่า) ส่วนทางภาคใต้จะกระจายในฝั่งอ่าวไทย ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชซึ่งพระองค์ยกทัพทางเรือไปปราบกบฎที่ภาคใต้ เช่น เมืองนครศรีธรรมราช (ต้นกำเนิดราชสกุล ณ นคร) พัทลุง (ต้นกำเนิดราชสกุล ณ พัทลุง) ทุกจังหวัดเช่น สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา ยะลา ปัตตานี นราธิวาส ในฝั่งอันดามันนั้นส่วนใหญ่จะเป็นจีนฮกเกี้ยนหรือฝูเจี้ยน ซึ่งดั้งเดิมเดินทางมาจากมลายูแล้วมาขึ้นที่ชายฝั่งทะเล เช่น ภูเก็ต พังงา สตูล ตรัง ระนอง และนอกจากนั้นเป็นจีนแคะ เป็นต้น
2) แคะ เป็นกลุ่มชาวจีนอพยพที่มาจากมณฑลกวางตุ้งเป็นส่วนมาก อพยพมาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 19 และตั้งถิ่นฐานทีแถบจังหวัดสงขลา จังหวัดภูเก็ต จังหวัดราชบุรี และจังหวัดกาญจนบุรี ส่วนมากจะชำนาญทางด้านหนังสัตว์ เหมือง และเกษตรกรรม นอกจากนี้ ชาวจีนแคะยังเป็นเจ้าของธนาคารอีกหลายแห่ง อาทิ ธนาคารกสิกรไทย
3) ไหหลำ เป็นชาวจีนที่อพยพมาจากเกาะไหหลำของจีน ชาวไหหลำจะมีเป็นจำนวนมากที่เกาะสมุย เกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี ดังปรากฏได้เห็นจากศาลเจ้าจีนหลายแห่งบนเกาะสมุย และ เกาะพะงัน มีหลักฐานการอพยพตั้งแต่สมัยปลายกรุงศรีอยุธยา ซึ่งชาวจีนสามารถกลมกลืนกับชาวไทยได้ดี โดยส่วนมากมาจากตำบลบุ่นเชียว ชาวจีนกลุ่มนี้จะชำนาญทางด้านร้านอาหาร และโรงงาน
4) ฮกเกี้ยน หรือฝูเจี้ยน คาดกันว่าชาวจีนฮกเกี้ยนอพยพมาประเทศไทยเป็นจีนกลุ่มแรก ๆ เข้ามาในสมัยกรุงศรีอยุธยาก่อนจีนกลุ่มอื่นและเป็นจีนอาสาช่วยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีกอบกู้เอกราชด้วย แม้แต่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 แห่งราชวงศ์จักรี ท่านถือกำเนิดในชุมชนจีนฮกเกี้ยนบริเวณวัดสุวรรณดาราราม ฝั่งตะวันออกของคลองนายก่าย กรุงศรีอยุธยา มารดาของท่านชื่อดาวเรืองหรือหยก เป็นธิดาที่เกิดในสกุลคหบดีจีนที่ร่ำรวยที่สุดในชุมชนชาวจีนฮกเกี้ยน ชาวฮกเกี้ยนจะเชี่ยวชาญทางด้านการค้าขายทางเรือหรือรับราชการ และชาวจีนกลุ่มนี้จะมีจำนวนมากในพื้นที่ภาคใต้ เป็นประชากรส่วนใหญ่ของจังหวัดภูเก็ต มีจำนวนมากในพังงา ตรัง ระนอง สตูล ชุมพรและจังหวัดทั่วไป
5) กวางไสหรือกวางสีเป็นกลุ่มชาวจีนที่อพยพมาจากมณฑลกวางสี ส่วนใหญ่มาจากอำเภอหยง และแถบอำเภอใกล้เคียง ช่วงแรกอพยพมาอยู่แถบประเทศมาเลเซียก่อนแล้วค่อย ๆ เดินเท้าอพยพเข้ามาสู่ประเทศไทย อาศัยอยู่มากในอำเภอเบตง จังหวัดยะลา และตำบลปาดังเบซาร์ อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา พูดภาษาจีนกวางตุ้งเป็นภาษาหลัก ชาวจีนกวางไสเป็นเกษตรกร ทำสวนยางพารากันเป็นส่วนมาก ไม่สันทัดเรื่องการค้าขาย จึงไม่ค่อยเป็นที่รู้จักกันมากนัก แต่ยังมีของที่พอเป็นที่รู้จัก ก็คือ ไก่กวางไสหรือไก่เบตง เป็นไก่พันธุ์เนื้อพื้นเมืองที่นำพันธุ์มาจากประเทศจีน มีลักษณะพิเศษกว่าไก่ชนิดอื่น ๆ เคาหยก หมูสามชั้นต้มสุก ทอดส่วนที่เป็นหนังและนำไปหมักด้วยเต้าหู้ยี้ เหล้าจีน น้ำขิง กระเทียมเล็กน้อย แล้วนำมานึ่งเผือก กินคู่กับผักดอง
6) ฮ่อ เป็นคำที่คนไทยใช้เรียกชาวจีนที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยผ่านทางประเทศพม่าและประเทศลาว ชาวจีนฮ่อส่วนใหญ่จะอาศัยอยู่ทางภาคเหนือทั้งในเมืองและบนดอย หนึ่งในกลุ่มชนที่สำคัญคือชาวจีนหุย ซึ่งเป็นชาวจีนที่มีลักษณะเหมือนชาวจีนฮั่นทุกอย่างเพียงแต่นับถือศาสนาอิสลาม ชาวฮ่อในประเทศไทย 1 ใน 3 นับถือศาสนาอิสลาม นอกนั้นนับถือบรรพบุรุษ
7) เปอรานากัน หรือ บาบ๋า - ย่าหยา เป็นกลุ่มชาวจีนที่มีเชื้อสายมลายูแต่ไม่ได้นับถือศาสนาอิสลาม เนื่องจากในอดีตชาวจีนโดยเฉพาะกลุ่มฮกเกี้ยนเดินทางเข้ามาค้าขายในบริเวณดินแดนคาบสมุทรมลายู และตัดสินใจตั้งถิ่นฐานในเมืองมะละกา ประเทศมาเลเซีย ซึ่งสมรสกับชาวมลายูท้องถิ่นและภรรยาชาวมลายูจะเป็นผู้ดูแลกิจการการค้าที่นี่ สำหรับสายเลือดใหม่ของชายชาวจีนกับหญิงมลายู หากเป็นชายจะได้รับการเรียกขานว่า บาบ๋าหรือบ้าบ๋า (Baba) ส่วนผู้หญิงจะเรียกว่า ย่าหยาหรือโญญา (Nyonya) และเมื่อคนกลุ่มนี้มีจำนวนมากขึ้น ก็ได้สร้างวัฒนธรรมรูปแบบใหม่ที่แตกต่างไปจากเดิมของบรรพบุรุษมาผสมผสานกันเป็นวัฒนธรรมใหม่ เมื่อพวกเขาอพยพไปตั้งถิ่นฐานในบริเวณนี้ก็ได้นำวัฒนธรรมของตนกระจายไปด้วย วัฒนธรรมใหม่นี้จึงถูกเรียกรวม ๆ ว่า จีนช่องแคบ โดยในประเทศไทยคนกลุ่มนี้จะอยู่ในจังหวัดภูเก็ต ซึ่งมีบรรพบุรุษอพยพมาจากปีนังและมะละกา คนกลุ่มนี้มีวัฒนธรรมใกล้เคียงกับกลุ่มเปอรานากันในประเทศมาเลเซีย ประเทศอินโดนีเซีย และประเทศสิงคโปร์ (ไทยเชื้อสายจีน, ออนไลน์: ม.ป.ป)
ชาวจีนเป็นนิยมระบบ “สังคมชายเป็นใหญ่” การสืบสายโลหิตจะใช้โคตรตระกูลฝ่ายชายเป็นตัวกำหนด “แซ่” ซึ่งแซ่จะเป็นตัวกำหนดการมีบรรพบุรุษร่วม เป็นความสัมพันธ์ทางสังคมที่ยึดโยงความเป็นพวกพ้องเดียวกัน ระบบครอบครัวของชาวจีนมีลักษณะเป็น “ระบบกงสี” ซึ่งระบบกงสีในอดีตเป็นระบบการผลิตในวิถีครัวเรือน โดยในกงสีจะประกอบด้วย พ่อ แม่ ลูก ลูกสะใภ้ และหลาน สังคมชายเป็นใหญ่ของครอบครัวจีน พ่อจะเป็นผู้มีบทบาทมากที่สุด มีหน้าที่สำคัญคือการทำมาหาเลี้ยงชีพเพื่อหารายได้ดูแลสมาชิกในกงสี โดยมีลูกชายเป็นกำลังสำคัญ ขณะที่แม่จะเป็นผู้มีหน้าที่ทำงานบ้านและดูแลความเรียบร้อยภายในบ้าน ทุกคนในกงสีจะร่วมแรงร่วมใจกันทำงาน รายได้ที่มาจากการทำงานของทุกคนถือเป็นผลผลิตส่วนรวมของกงสี และสมาชิกในครอบครัวจะได้รับการแบ่งสรรจากกงสี สำหรับการสืบทอดมรดก ชาวจีนจะให้มรดกแก่ลูกชายคนโตมากที่สุด เนื่องจากถือว่าเป็นผู้สืบทอดวงศ์ตระกูล ปัจจุบันรูปแบบความสัมพันธ์ของครอบครัวชาวจีนเปลี่ยนไปจากเดิม เนื่องจากเป็นลักษณะครอบครัวเดี่ยวมากขึ้น โดยมีการแยกครอบครัวออกจากระบบกงสีแบบเดิม มีการแต่งงานทั้งกับชาวจีนด้วยกันและชาวไทย รวมถึงมีการขยายตัวออกไปอาศัยยังพื้นที่อื่นๆมากขึ้น ระบบกงสียังคงมีให้เห็นอยู่บ้างบางครอบครัว โดยเฉพาะกงสีที่มีกำลังการผลิตขนาดใหญ่จำเป็นต้องใช้สมาชิกในครอบครัวมาบริหารงานในกงสีร่วมกัน (ดำรงพล อินทร์จันทร์ ,ออนไลน์ :ม.ป.ป)
อิทธิพลวัฒนธรรมอาหารของชาวจีน ซึ่งมีหลากหลายชนิดตามแต่ละท้องถิ่น โดยทั่วไปนิยมรับประทานอาหารจานผักและธัญพืชเป็นหลัก นอกจากในราชสำนักที่จะมีอาหารประเภทเนื้อ อาหารที่รู้จักกัน เช่น ก๋วยเตี๋ยว ติ่มซำ หูฉลามกระเพาะปลา วัฒนธรรมการกินเป็นการกินร่วมกันโดยอุปกรณ์การกินหลัก คือตะเกียบ อาหารจีนจะมีอุปกรณ์การทำหลัก ๆ เพียงสี่อย่างคือ มีด เขียง กะทะก้นกลม และตะหลิว แต่บางแหล่งก็แบ่งเป็นกลุ่มย่อย ๆ ตามมณฑลต่าง ๆ ได้อีกเช่น อาหารเสฉวน เป็นอาหารจีนที่ใช้เครื่องเทศและของป่ามาก เครื่องปรุงที่เป็นเอกลักษณ์คือพริกหอมหรือพริกเสฉวน เป็นอาหารรสจัดรวมทั้งรสเผ็ดร้อน ใช้เต้าซี่เป็นเครื่องปรุงมีเครื่องเทศมาก อาหารที่มีชื่อเสียงคือซุปเสฉวน อาหารกวางตุ้ง เป็นอาหารจีนที่เด่นด้านการใช้เทคนิคการปรุงเพื่อคงความสดใหม่ของอาหารมากที่สุดมักใช้น้ำมันหอยและผักมาก ปรุงเน้นการปรุงอาหารได้ดูสด รสชาตินุ่มนวล และมีอาหารประเภทติ่มซำที่เป็นรู้จักกันดี อาหารที่มีชื่อเสียง ได้แก่ หมูหัน เป็ดย่างและนกพิราบทอดกรอบ อาหารฮกเกี้ยน เป็นอาหารจีนที่เด่นด้านการใช้น้ำซุป มักใช้ข้าวหมักสีแดงสด โดยที่นำมาหมักเต้าหู้ยี้สีแดงมีน้ำซุปใสที่เก่าที่สุดและใช้เครื่องปรุงบางอย่างจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่นน้ำปลาและผงกะหรี่ อาหารทีมีชื่อเสียงคือพระกระโดดกำแพง อาหารไหหลำ อาหารส่วนใหญ่มีเต้าเจี้ยวถั่วเหลืองและถั่วดำ เป็นเอกลักษณ์พิเศษ และใช้น้ำส้มปรุงรสได้ โดยทั่วไปจะมีชนิดอาหารคล้ายอาหารจีนแบบอื่น ๆ แต่จะมีรสชาติและหน้าตาที่เป็นเอกลักษณ์ เช่น ขนมไหว้พระจันทร์แบบไหหลำจะมีไส้น้อยกว่าแบบอื่น และบ๊ะจ่างแบบไหหลำก็จะเน้นข้าวเหนียวมากกว่าแบบอื่น อาหารที่มีชื่อเสียงคือ ขนมจีนไหหลำ อาหารปักกิ่ง เน้นการทอดที่กรอบและนิ่มนวล แต่อาหารไขมันค่อนข้างสูง ทั้งนี้เพราะภูมิอากาศที่หนาวเย็น อาหารซัวเถา เน้นในการตุ๋นและเคี่ยวเปื่อย รสชาติของอาหารที่เปื่อยนุ่มจนแทบละลายเมื่อถูกลิ้น อาหารชานตง เป็นอาหารจีนที่มีความโดดเด่นในด้านเป็นอาหารในราชสำนัก และได้รวมอาหารที่ได้รับอิทธิพลจากชาวแมนจูและชาวมองโกลเข้าไว้ด้วย เช่น เป็ดปักกิ่งและหม้อไฟมองโกเลีย อาหารเซี่ยงไฮ้ เป็นอาหารจีนที่ได้รับอิทธิพลอาหารตะวันตกมาก เพราะเป็นเมืองท่าเมืองเดียวของจีนในสมัยที่เริ่มติดต่อกับชาติตะวันตก อาหารที่มีชื่อเสียงเช่น เป็ดอัดแห้ง และอาหารที่ปรุงจากปูขน อาหารจีนแต้จิ๋ว มีลักษณะคล้ายอาหารจีนกวางตุ้ง แต่เน้นอาหารทะเลมากกว่า อาหารจีนแคะ หรือจีนฮากกา เป็นอาหารที่เน้นข้าว เนื้อสัตว์ ผักดองและผักตากแห้ง อาหารที่มีชื่อเสียงคือลูกชิ้นหมูแคะและผักดำต้มหมูสามชั้น (อาหารจีน, ออนไลน์ : ม.ป.ป)
Access Point |
---|
No results found. |