ชุมชนชาติพันธุ์ : กะเหรี่ยง (บ้านป่าหมาก อ.สามร้อยยอด จ.ประจวบคีรีขันธ์)

  • ชุมชนชาติพันธุ์ : กะเหรี่ยง (บ้านป่าหมาก อ.สามร้อยยอด จ.ประจวบคีรีขันธ์)
  • ชื่อเรียกตนเอง : ปกากะญอ, กะหร่าง
  • ชื่อที่ผู้อื่นเรียก : กะเหรี่ยงสะกอ, ปกากะญอ, กะเหรี่ยงโปว์, โผล่ว
  • ภาษาที่ใช้พูดและเขียน : กลุ่มชนชาติกะเหรี่ยง “ปกากะญอ” พูดภาษา กะเหรี่ยงสะกอ (Sgaw Karenic) ตามการจำแนกตามหลักตระกูลภาษาในภาษาศาสตร์ กะเหรี่ยงสะกอจัดอยู่ใน ตระกูลภาษาจีน-ทิเบต (Sino-Tibetan linguistic) ภาษาธิเบต-พม่า (Tibeto-Burman) ในกลุ่มภาษา Karenic
  • มิติทางประวัติศาสตร์ที่มีผลต่อการเรียกชื่อกลุ่มชาติพันธุ์ :
  • เอกสารอ้างอิง :

    เอกสารอ้างอิง

    จักรี โพธิมณี และศศิธร ศิลป์วุฒยา. (2562). การสำรวจและศึกษาพลวัตทางสังคมและวัฒนธรรมชุมชนชาติพันธุ์กะเหรี่ยง กรณีศึกษาชุมชนในพื้นที่อำเภอสามร้อยยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์. กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

    เรื่องที่เกี่ยวข้อง

    ภาษาไทย

    • กิตติกุล ศิริเมืองมูล และคณะ. (2559). ความเชื่อกับการจัดระเบียบที่ว่างของเรือนกะเหรี่ยงในหมู่บ้านพระบาทห้วยต้ม ตำบลนาทราย อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน. เจ-ดี วารสารวิชาการ การออกแบบสภาพแวดล้อม ปีที่ 3 ฉบับที่ 1.
    • โกวิท แก้วสุวรรณ. (2542). "ดูทุหล่า" ในพิธีเรียกวีหล่าของชาวกะเหรี่ยงโป : กรณีศึกษากะเหรี่ยงโปบ้านเกาะสะเดิ่ง ตำบลไสล่โว้ อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี, วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตร์ มหาบัณฑิต สาขาวิชาวัฒนธรรมศึกษา บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล.
    • โกศล มีคุณ. (2535-2536). สภาพสังคมและวัฒนธรรมที่เปลี่ยนไปของชาวกะเหรี่ยง อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี. สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ.
    • ขจัดภัย บุรุษพัฒน์. (2533). ชาวเขา. กรุงเทพฯ: แพร่พิทยา.
    • ขวัญชีวัน บัวแดง. (2549). กะเหรี่ยง: หลายหลายชีวิตจากขุนเขาสู่เมืองเชียงใหม่. ศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนา สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัย เชียงใหม่.
    • โครงการภาษาศาสตร์ ภาษากะเหรี่ยง (2560) [Online]. เขาถึงได้ จาก : http://www.arts.chula.ac.th/~ling/Karen/?p=3 เข้าถึงเมื่อ 20 กุมภาพันธ์ 2562.
    • ชนัญ วงษ์วิภาค. (2531). เอกสารประกอบการประชุมสัมมนาเรื่อง การศึกษาวิจัยกลุ่มชาติพันธุ์ในภูมิภาคตะวันตก ใน การประชุมสัมมนา “สังคม-วัฒนธรรมภาคตะวันตกศึกษา”. นครปฐม: คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร.
    • ชมพูนุท โพธิ์ทองคำ. (2541). การตั้งชื่อของชาวกะเหรี่ยงโป ตำบลสวนผึ้ง อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี, กรุงเทพฯ : สาขาวิชาภาษาศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล.
    • ธรรมนูญ และคณะ. (2560). โครงการศึกษาผลกระทบจากถนนเชื่อมหมู่บ้านป่าหมาก ตำบลศาลาลัย อำเภอสามร้อยยอด ภายในอุทยานแห่งชาติกุยบุรีต่อเส้นทางเชื่อมต่อของสัตว์ป่า. ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรมอุทยานแห่งชาติ จังหวัดเพชรบุรี: กรุงเทพฯ.
    • นิเทศ ตินณะกุล. (2559). ระบบความเชื่อทางศาสนาของกะหร่างป่าละอู. วารสารวิชาการมหาวิทยาลัยปทุมธานี, ปีที่ 8 ฉบับที่ 1 (มกราคม - มิถุนายน).
    • นิวัฒน์ ฉิมพาลี. (2545). รายงานวิจัยผลกระทบของการพัฒนา เศรษฐกิจ-สังคมต่อสภาพแวดล้อมและชาติพันธุ์ในภูมิภาคตะวันตก. กรณีศึกษาชุมชนกะเหรี่ยงในเขตอำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี, กรุงเทพฯ : ภาควิชามานุษยวิทยา คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร.
    • บัณฑิต ไกรวิจิตร. (2559). รื้อสร้างวรรณกรรม ภาพแทนชุมชนป่า" ใน "ความหวัง กับ จินตนาการทางมนุษยศาสตร์". รวมบทความจากการประชุมวิชาการระดับชาติเวทีวิจัย มนุษยศาสตร์ ครั้งที่ 7, บก.คงกฤช ไตรยวงศ์ , ธนภาษ เดชพาวุฒิกุล, กรุงเทพฯ: สกว.
    • ประกาศสำนักทะเบียนกลาง กรมการปกครอง เรื่องจำนวนราษฎรทั่วราชอาณาจักร แยกเป็นกรุงเทพฯ และจังหวัดต่าง ๆ ตามหลักฐานการทะเบียนราษฎร ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2553. (2553). [Online]. เข้าถึงได้จาก : http://203.113.86.149/stat/y stat53.html, เข้าถึงเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2562.
    • ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี. (2539). ภูมิปัญญานิเวศวิทยาชนพื้นเมือง ศึกษากรณีชุมชนกะเหรี่ยงใน ป่าทุ่งใหญ่ นเรศวร. นนทบุรี: โลกดุลยภาพ.
    • พงศกร ตุ้มปรึกษา. (2559). การศึกษาเรือนกะเหรี่ยงในเขตพื้นที่ราชบุรี เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์. วิทยานิพนธ์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
    • พิพัฒน์ เรืองงาม. (2533). ชาวกะเหรี่ยง และวัฒนธรรมของชาวกะเหรี่ยง ตำบลไล่โว้ อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี. สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยศิลปากร
    • วัลย์ศิกา สรรเสริญชูโชติ. (2545). การศึกษาการเปลี่ยนแปลงในวิถีการผลิตและระบบความสัมพันธ์ทางสังคม ในมิติหญิงชายของชุมชนกะเหรี่ยง : ศึกษาเฉพาะกรณีบ้านทิพเย หมู่ที่ 3 ตำบลชะแล อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี. วิทยานิพนธ์หลักสูตรพัฒนาชุมชนมหาบัณฑิต คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
    • วิสุดา เจียมเจิม. (2554). การศึกษาดนตรีของชาวกะเหรี่ยงบ้านป่าละอู ตำบลห้วยสัตว์ใหญ่ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์. วิทยานิพนธ์ สาขาวิชามานุษยดุริยางควิทยา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.
    • ศิริรัตน์ ชูพันธ์ อรรถพลพิพัฒน์ และอมรา ประสิทธิ์รัฐสินธุ์. (2558). การแปรของเสียงพยัญชนะท้ายในภาษากะเหรี่ยงสะกอตามถิ่นที่อยู่ และทัศนคติของผู้พูด. สงขลานครินทร์ ฉบับสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, ปีที่ 21 ฉบับที่ 1 (ม.ค. - มี.ค.).
    • ศุภลักษณ์ โทณลักษณ์. (2542). การนับถือผีบรรพบุรุษของชาวกะเหรี่ยงโปว์ : บทบาท ความสำคัญและการเปลี่ยนแปลง กรณีศึกษาหมู่บ้านดงเสลาเก่า ตำบลด่านแม่แฉลบ อำเภอศรีสวัสดิ์จังหวัดกาญจนบุรี. สารนิพนธ์ปริญญาศิลปะศาสตร์บัณฑิต สาขามานุษยวิทยา คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร
    • ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน). (2557). สรุปการประชุมปฏิบัติการเพื่อสื่อสารความเข้าใจอันดีต่อกลุ่มชาติพันธุ์ขาวกะเหรี่ยง. จังหวัดราชบุรี.
    • สมเกียรติ จำลองและจันทบูรณ์ สุทธิ. (2539). วันเดือนปี ชาวเขา (กะเหรี่ยงโปว์) : กรณีจังหวัดอุทัยธานี กาญจนบุรี และสุพรรณบุรี. สถาบันวิจัยชาวเขา กรมประชาสงเคราะห์ กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม.
    • สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการปฏิบัติการจิตวิทยาแห่งชาติ. (2519). ชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์กรมแผนที่ทหาร.
    • สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง. (2551). รวมบทความกะเหรี่ยงราชบุรี. นครปฐม : เพชรเกษม พริ้นติ้ง.
    • สุทิน สนองผัน. (2545). การศึกษาเปรียบเทียบสภาพการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมในชุมชนกะเหรี่ยงในเขตชายแดนไทยและพม่า ระหว่างพ.ศ. 2490-2543. กรุงเทพฯ: โครงการอาณาบริเวณศึกษา 5 ภูมิภาค.
    • สุรินทร์ เหลือสมัย. (2540). วัดเก่ากะเหรี่ยงกับการสืบสานวัฒนธรรมท้องถิ่น. ศิลปะวัฒนธรรมห้องถิ่นราชบุรี 1: 30-35.
    • สุริยา รัตนกุล และ ลักขณา ดาวรัตนหงษ์. (2531). อาหารแสลงโรคและบริโภคนิสัยของชาวกะเหรี่ยงสะกอ. กรุงเทพมหานคร: สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่ อพัฒนาซนบทมหาวิทยาลัยมหิดล.

    ภาษาอังกฤษ

    • Ananda Rajha. (1987). Remaining Karen: a study of cultural reproduction and maintenance of identity. ANU epress.
    • Buergin, R. (2001). Contested Heritages: Disputes on People, Forests, and a World Heritage Site in Globalizing. Thailand. Freiburg [Germany]: University of Freiburg.
    • Buergin, R. (2002). Change and Identity in Pwo Karen Communities in Thung Yai Naresuan Wildlife Sanctuary, a 'Global Heritage' in Western Thailand. Freiburg [Germany]: University of Freiburg.
    • Keyes, C. F. (1995). The golden peninsula: culture and adaptation in mainland southeastasia. Honolulu: University of Hawaii Press.
    • Renard, R. D. (2003). Studying peoples often called Karen. In C. O. Delang (Ed.), Living at the Edge of Thai Society (pp. 1-15). London and New York: Routledge Curzon.
    • Rosaldo, R. (1994). Subjectivity in Social Analysis. In S. Seidman (Ed.), The Postmodern Turn: New Perspective on Social Theory (pp. 171-183).

     

แสดง 1-1 จากทั้งหมด 1 รายการ
จังหวัด อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน จำนวนครัวเรือน จำนวนประชากร ละติจูด ลองติจูด
ประจวบคีรีขันธ์ สามร้อยยอด ศาลาลัย บ้านป่าหมาก93512.2763999.574414

  • บทนำ :

              บ้านป่าหมาก ตั้งอยู่บริเวณหมู่ที่ 8 ตำบลศาลาลัย อำเภอสามร้อยยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นหมู่บ้านขนาดกลางตั้งอยู่บนส่วนหนึ่งของเทือกเขาตะนาวศรี เป็นหมู่บ้านสุดท้ายของชายแดนไทยทางตะวันตกในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และตั้งอยู่ในระนาบเดียวกับเมืองมะริดและเมืองทวายของประเทศเมียนมา (จักรี โพธิมณี และศศิธร ศิลป์วุฒยา, 2562, น.123)

              ลักษณะพื้นที่ของชุมชนเป็นที่ราบหุบเขา ตั้งอยู่ภายในเขตอุทยานแห่งชาติกุยบุรี มีลักษณะภูมิประเทศเป็นเทือกเขาสลับซับซ้อน แนวเขาขวางตัวในทิศเหนือ-ใต้ เป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาตะนาวศรีที่กั้นพรมแดนระหว่างประเทศไทยกับประเทศเมียนมา มีสภาพพื้นที่แบ่งออกเป็น 2 ลักษณะคือ แบบลูกคลื่นลอนชั้นถึงเนินเขา มีความลาดชันประมาณ 80-100 เมตร พื้นที่ส่วนใหญ่จะถูกบุกรุกแผ้วถางทำไร่สับปะรด อ้อย ผักต่าง ๆ และแบบภูเขา ประกอบด้วยเขาวังไทรดิ่ง เขาหนองหว้า เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารของลำห้วยลำธารหลายสาย เช่น ห้วยตะลุยแพรกซ้าย ห้วยตะลุยแพรกขวา (ธรรมนูญ และคณะ, 2553, น. 22-23 อ้างถึงใน จักรี โพธิมณี และศศิธร ศิลป์วุฒยา, 2562, น. 126-127)

     

  • ประวัติ/ที่มาของชุมชนชาติพันธุ์กะเหรี่ยง (บ้านป่าหมาก อ.สามร้อยยอด จ.ประจวบคีรีขันธ์) :

               "รุ่นพ่อแม่ผมอยู่มากว่า 30 ปีแล้ว มาจากฝั่งพม่ากัน แล้วก็มาตั้งบ้านอยู่แถวสวนทุเรียน แถวนั้นมีสวนทุเรียนเยอะ เขาว่าปลูกกันมากว่าร้อยปี แถวนั้นก็เรียกว่าบ้านแพรกตะคร้อในปัจจุบัน ทีนี้พอทหารเริ่มมาไล่ให้อยู่กันเป็นที่เป็นหมู่บ้านช่วงปี 2539 เราก็ขยับขยายมาบริเวณบ้านป่าหมากนี้ เดี๋ยวนี้ดีกว่าตอนที่ผมขึ้นมาเมื่อก่อนจะว่าไปบ้านป่าหมากเกิดการก่อร่างชุมชนมาไม่นาน จากการอพยพย้ายถิ่นทํากินของพี่น้องชาวปกากะญอจากบ้านสวนทุเรียนแถบทางไปน้ำตกแพรกตะคร้อ ผู้คนอาศัยป่าเพื่ออยู่กินและผูกพันกับมันมานานแล้ว" (นายเยี่ยม โต๊ะไธสง , สัมภาษณ์ 28 มีนาคม 2562; อ้างถึงใน จักรี โพธิมณี และศศิธร ศิลป์วุฒยา, 2562, น. 125)

               จากคำบอกเล่าของ คุณแดง ใจเย็น (สัมภาษณ์, 28 มีนาม 2562 อ้างถึงใน จักรี โพธิมณี และศศิธร ศิลป์วุฒยา, 2562, น. 133) ได้กล่าวถึงการสืบต้นตระกูลของกะหร่าง บ้านป่าหมาก สามารถย้อนเล่าไปได้ 5 รุ่นด้วยกัน โดยคุณแดงเล่าว่า "…ที่ป่าหมากนี้อยู่กันมา 5 ชั่วคนแล้ว ตั้งแต่ พือโลโพ พือตอฮิ พือจะเย พะลวยบี พะลวยบี (พ่อ) และผม…" ซึ่งภายหลังจากที่มีการกวาดต้อนและให้ชาวกะเหรี่ยงมาอาศัยอยู่รวมกัน ได้มีการส่งเจ้าหน้าที่มาจัดการทำบัตรแสดงตัวให้กับชาวกะหร่างที่ถูกกวาดต้อน ซึ่งก่อนหน้านี้ชาวกะเหรี่ยงมีเพียงชื่อไม่มีนามสกุล จึงมีการตั้งนามสกุลเกิดขึ้นโดยมีอยู่ด้วยกัน 3 นามสกุล คือ ใจเย็น โคสินธุ์และจันทร์อุปถัมภ์ โดยที่มาของชื่อนามสกุลนั้น ผู้ศึกษาสามารถสอบถามได้เพียงแค่นามสกุลใจเย็น โดยคุณแดงให้ข้อมูลว่าเป็นชื่อของปู่คุณแดง จึงนำมาตั้งเป็นนามสกุลให้ใช้กันในกลุ่มลูกหลาน ซึ่งนามสกุลใจเย็นเป็นนามสกุลที่พบได้มากที่สุดในบ้านป่าหมาก

               การอพยพของชาวกะเหรี่ยงที่บ้านป่าหมากนี้ มีคำเล่าขานของผู้คนในชุมชนว่าหมู่บ้านมีอายุประมาณ 200-300 ปี โดยมีการอพยพโยกย้ายมาจากพม่าตั้งแต่ครั้งที่พระเจ้าบุเรงนองทํารุนแรงต่อกะเหรี่ยงเมื่อครั้งสร้างเจดีย์ชเวดากอง ปัจจุบันเมื่อบริเวณดังกล่าวกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของดินแดนไทย (จักรี โพธิมณี และศศิธร ศิลป์วุฒยา, 2562, น. 123)

              วิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยงแต่เดิมนั้นมีรูปแบบวิถีชีวิตแบบล่าสัตว์หาของป่า ดังนั้นจึงไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นหลักแหล่ง จะย้ายที่อยู่ไปตามสภาพความอุดมสมบูรณ์ของสิ่งแวดล้อม ทำเลที่เหมาะสม สำหรับการสร้างบ้านเรือนนั้น คือ ต้องอยู่ใกล้แหล่งน้ำ เนื่องจากน้ำเป็นสิ่งสำคัญในการดำรงชีวิต เมื่อได้ที่อยู่แล้วจะทำการถางป่าเพื่อทำไร่ปลูกข้าว มีลักษณะเป็นไร่เลื่อยลอยคือเปลี่ยนที่ทำกินไปเรื่อย ๆ หลังจากที่ดิน บริเวณนั้นไม่สามารถสร้างผลผลิตได้แล้ว คุณแดง ใจเย็น กล่าวว่า "…ปีนี้เราอยู่นี้ ปีหน้าย้ายไปอยู่ข้างบน เมื่อก่อนกะเหรี่ยงไปอยู่ตรงแพรกตะลุย พอพี่น้องไทยขึ้นมาเราก็ถอย  ๆ…" (แดง ใจเย็น, สัมภาษณ์ 29 มีนาคม 2562 อ้างถึงใน จักรี โพธิมณี และศศิธร ศิลป์วุฒยา, 2562, น. 129)

     

  • วิถีชีวิตของชุมชนชาติพันธุ์กะเหรี่ยง (บ้านป่าหมาก อ.สามร้อยยอด จ.ประจวบคีรีขันธ์) :

               วิถีชีวิต ของชาวกะเหรี่ยงชุมชนบ้านป่าหมาก เดิมทีชาวกะเหรี่ยงมีรูปแบบวิถีชีวิตแบบล่าสัตว์หาของป่า ดังนั้นจึงไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นหลักแหล่งจะย้ายที่อยู่ไปตามสภาพความอุดมสมบูรณ์ของสิ่งแวดล้อม ทำเลที่เหมาะสมสำหรับการสร้างบ้านเรือนนั้น คือ ต้องอยู่ใกล้แหล่งน้ำ เนื่องจากน้ำเป็นสิ่งสำคัญในการดำรงชีวิต เมื่อได้ที่อยู่แล้วจะทำการถางป่าเพื่อทำไร่ปลูกข้าว มีลักษณะเป็นไร่เลื่อยลอยคือเปลี่ยนที่ทำกินไปเรื่อย ๆ หลังจากที่ดินบริเวณนั้นไม่สามารถสร้างผลผลิตได้แล้ว ภายหลังจากที่ถูกปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตโดยทางการไทยจึงปรับมาประกอบอาชีพแบบสังคม เกษตรกรรม มีที่อยู่เป็นหลักแหล่งและรวมตัวกันเป็นหมู่บ้าน (จักรี โพธิมณี และศศิธร ศิลป์วุฒยา, 2562, น. 123)

               อาชีพ ที่สร้างรายได้หลักให้กับชาวกะหร่างบ้านป่าหมากคือเกษตรกรรมและรับจ้าง

               เกษตรกรรม การทำเกษตรแบบดั้งเดิมนั้นเป็นการทำการเกษตรแบบไร่หมุนเวียน กล่าวคือ เมื่อได้ผลผลิตจากที่ดินผืนนี้แล้วจะทำการเผาซากพืชและย้ายไปยังที่ทำกินแหล่งอื่นเพื่อให้ดินในบริเวณที่เผาไปนั้นได้ฟื้นตัวและกลับมามีแร่ธาตุที่อุดมสมบูรณ์ ซึ่งโดยมากแล้วจะใช้เวลาประมาณ 3 ปี จึงจะวนกลับมาปลูกยังที่ดินแปลงเดิม (จักรี โพธิมณี และศศิธร ศิลป์วุฒยา. 2562, น.150)2, น. 150)

               ข้าวไร่ พืชหลักที่ปลูกกันในอดีตคือ "ข้าวไร่" ไม่ทราบสายพันธุ์ โดยเริ่มต้นถางป่าเพื่อปรับพื้นที่ในช่วงเดือน 4 เมื่อถางแล้วจึงเผาป่าเพื่อให้เหลือที่ดินโล่ง ๆ หากเผาไม่หมดหรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า "ไฟกินไม่ดี" จะต้องรื้อบรรดาตอไม้หรือเศษกิ่งไม้ที่ไม่ติดไฟออก และเผาอีกจนกว่าจะหมด หลังจากนั้นจึงทิ้งที่ดินผืนดังกล่าวไว้จนถึงเดือน 7 จึงเริ่มทำนา โดยใช้วิธีการขุดหลุมแล้วหยอดเมล็ดข้าวลงไปและรอเวลาให้ธรรมชาติเป็นผู้จัดการ คุณคะนึงกล่าวกับผู้ศึกษาว่า "...ปลูกข้าวก็เหมือนเล่นหุ้นกับเทวดา ปีไหนน้ำเยอะน้ำน้อยเราก็ต้องเดากันไป..." (คะนึง โคสินธุ์, สัมภาษณ์ 30 มีนาคม 2562 อ้างถึงใน จักรี โพธิมณี และศศิธร ศิลป์วุฒยา, 2562, น. 150) เมื่อไม่มีการควบคุมปัจจัยการผลิตจึงส่งผลให้ข้าวที่ได้มีปริมาณน้อย ผลผลิตที่ได้มีเพียง 2-3 เกวียนต่อการปลูกข้าวไร่ 20 ไร่เท่านั้น ดังนั้นข้าวที่ปลูกจึงนำไว้รับประทานกันภายในครัวเรือนและเก็บไว้เป็นเมล็ดพันธุ์ในปีถัดไปเท่านั้น แต่ในปัจจุบันการปลูกข้าวลดลงไปมากแล้วเนื่องจากต้องเสียแรงเยอะแต่ได้ผลผลิตไม่คุ้ม (จักรี โพธิมณี และศศิธร ศิลป์วุฒยา, 2562, น.150)

               ไร่นาสวนผสม ภายหลังจากที่รัฐเข้ามาจัดการจนเกิดเป็นชุมชนบ้านป่าหมาก จึงเลิกทำไร่หมุนเวียนประกอบกับมีประกาศให้พื้นที่บริเวณดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของอุทยานแห่งชาติกุยบุรี ที่ดินทำกินจากเดิมที่ไม่มีการจำกัดจำนวนจึงเหลือเพียงแค่ครอบครัวละ 5 ไร่ และไม่สามารถซื้อขายในเชิงพาณิชย์ได้ นอกจากมอบให้แก่ลูกหลานเท่านั้น ดังนั้นจึงต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบมาเป็นไร่นาสวนผสมที่สามารถปลูกพืชหลายชนิดได้ ซึ่งในที่ดิน 5 ไร่ นั้นจะปลูกข้าวและพืชผักสวนครัว อาทิเช่น พริก มะเขือ เป็นต้น และหากเหลือกินก็จะนำลงมาขายที่ตัวเมืองนอกจากนี้แล้วยังทำสวนกล้วย ได้แก่ กล้วยน้ำว้า กล้วยหอมและกล้วยไข่ โดยช่วงไหนที่ราคาดีจะมีแม่ค้าขึ้นมารับซื้อในหมู่บ้าน แต่หากราคาไม่ดีก็ต้องขายกันเองในหมู่บ้าน เนื่องจากแม่ค้าจะไม่เข้ามารับซื้อเพราะทางเข้าหมู่บ้านลำบากและไม่คุ้มค่าเหนื่อยที่ต้องเดินทางมา โดยที่ดิน 5 ไร่ที่ได้รับการจัดสรรนี้มีข้อกำหนดในการใช้คือ ผู้ใช้ต้องไม่แอบขยายหลักเขตของตนเองและต้องไม่ปล่อยให้ที่ดินรกร้าง ไม่เช่นนั้นจะถูกยึดที่ทำกิน ซึ่งชาวบ้านบ้านป่าหมากในตอนนี้จำนวนทั้งสิ้น 27 ครอบครัว ต้องถูกยึดที่ดินทำกินไป เนื่องจากข้อกำหนดไม่สอดคล้องกับการทำเกษตรแบบดั้งเดิมที่ปฏิบัติกันมา (จักรี โพธิมณี และศศิธร ศิลป์วุฒยา, 2562, น. 150)

              ไร่กาแฟ การทำไร่กาแฟเริ่มประมาณหลังปี พ.ศ. 2550 โดยมีเจ้าอาวาสวัดป่าช้างขาวที่ธุดงค์เข้ามาในชุมชนเมื่อปี พ.ศ. 2549 เป็นผู้แนะนำให้ทดลองปลูก จากนั้นจึงเริ่มบอกให้ชาวบ้านปลูกตามมาเรื่อย ๆ เขาเล่าว่าเดิมทีที่แห่งนี้มีเมล็ดพันธุ์กาแฟของตนเองอยู่ก่อนแล้ว แต่ไม่มีใครทราบว่าเป็นพันธุ์อะไร เมื่อเจ้าอาวาสฯ แนะนำและให้เมล็ดพันธุ์กาแฟโรบัสต้าจากจังหวัดชุมพร ซึ่งเป็นบ้านเกิดของเจ้าอาวาสมาปลูกจึงเกิดการผสมเกสรกันทำให้รสชาติกาแฟเปลี่ยนไปจนกลายเป็นเอกลักษณ์ ต่อมาในปี พ.ศ. 2555 ผลผลิตกาแฟดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ชาวบ้านจึงหันมาทำไร่กาแฟผสมกับการปลูกพืชอื่น ๆ มากกว่า 73 ครัวเรือน และรวมตัวกันตั้งเป็นกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟบ้านป่าหมาก โดยผู้ที่ต้องการเข้าเป็นสมาชิกในกลุ่มต้องลงหุ้น 1 หุ้น เท่ากับกาแฟ 10 กิโลกรัม และจะได้เงินปันผลทุก 6 เดือน เมื่อถึงฤดูเก็บเกี่ยว ผลผลิตทางกลุ่มจะรับซื้อเมล็ดกาแฟที่ตากจนแห้งแล้วจากสมาชิกในกลุ่มก่อนและหากยังได้จำนวนไม่มากเท่าที่ต้องการจึงจะรับซื้อจากเกษตรกรรายอื่น ซึ่งการรวมตัวกันเป็นกลุ่มเกษตรกรในรูปแบบนี้จะช่วยให้สามารถควบคุมคุณภาพของเมล็ดกาแฟและทำให้เพิ่มมูลค่าของเมล็ดกาแฟได้อีกด้วย (จักรี โพธิมณี และศศิธร ศิลป์วุฒยา, 2562, น. 151)

     

    กาแฟโรบัสต้าของกลุ่มเกษตรกรป่าช้าวขาว
    (ที่มา: จักรี โพธิมณี และศศิธร ศิลป์วุฒยา, 2562, น. 151)

     

               ต้นกาแฟนั้นสามารถปลูกได้ดีที่บ้านป่าหมากเนื่องจากมีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม มีอุณหภูมิและความชื้นที่พอเหมาะสำหรับการเจริญเติบโตของต้นกาแฟจึงทำให้เมล็ดกาแฟมีคุณภาพ โดยต้นกาแฟหลังจากปลูกแล้วประมาณ 5 ปี จึงจะสามารถให้ผลผลิตได้ ในการเก็บเมล็ดกาแฟนั้นจำเป็นต้องเก็บผลที่สุกแล้วหรือที่เรียกกันว่า ลูกเชอร์รี่ เนื่องจากมีสีแดงสดคล้ายผลเชอร์รี่ หากผลยังไม่สุกจะทำให้กาแฟที่ได้มีรสเปรี้ยว หลังจากนั้นจึงนำเมล็ดกาแฟที่ได้ไปตากจนแห้งโดยต้องตากในโรงเรือนที่ปิดมิดชิดและควรเลือกสถานที่ที่ไม่มีกลิ่นเหม็น เนื่องจากเมล็ดกาแฟจะมีคุณสมบัติในการดูดซับกลิ่น ดังนั้นหากสร้างโรงเรือนใกล้กับพื้นที่ที่มีกลิ่นเหม็นก็จะทำให้กลิ่นของกาแฟเปลี่ยนไป เมื่อตากเมล็ดจนแห้งแล้วเกษตรกรในกลุ่มจะนัดกันเพื่อนำเมล็ดกาแฟมาสีเพื่อให้เปลือกหลุด หลังจากนั้นจึงส่งเมล็ดกาแฟเข้ากลุ่ม ทางกลุ่มจะนำเมล็ดที่ได้มาคั่วจนสีเข้มขึ้น ในช่วงแรกนั้นคั่วกับกระทะทองเหลืองแต่ทำให้เมล็ดกาแฟสุกไม่เท่ากัน ท่านเจ้าอาวาสจึงคิดประดิษฐ์อุปกรณ์ในการคั่วโดยดัดแปลงโอ่งที่ใช้ใส่น้ำมาไว้ใส่เมล็ดกาแฟและติดมอเตอร์ให้หมุนโอ่งตลอดเวลา จึงทำให้ได้เมล็ดกาแฟที่สุดเสมอกัน ซึ่งในปัจจุบันสามารถขายได้ในราคากิโลกรัมละ 100 บาท โดยแหล่งซื้อขายที่สำคัญในปัจจุบันคือ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนก้องวัลเล่ย์ ที่มีการพัฒนาสายพันธุ์กาแฟของไทยให้มีคุณภาพทัดเทียมกับต่างประเทศ (จักรี โพธิมณี และศศิธร ศิลป์วุฒยา, 2562, น. 152)

              นอกจากเมล็ดกาแฟที่เป็นสินค้าหลักแล้ว ทางกลุ่มยังมีการแปรรูปผลิตภัณฑ์ที่ได้จากกาแฟมีทั้งชาดอกกาแฟ และสบู่สครับกากกาแฟ โดยสินค้าทั้งหมดมีจัดจำหน่ายอยู่ที่ร้านกาแฟโรบัสต้าป่าช้างขาว ซึ่งเป็นร้านกาแฟที่สร้างขึ้นเพื่อรองรับการเข้ามาของนักท่องเที่ยว และร้านกาแฟดังกล่าวยังสร้างรายได้ให้กับเยาวชนในชุมชนอีกด้วย เนื่องจากมีการนำเยาวชนมาช่วยทำงานร้านกาแฟในเวลาว่าง

              รับจ้าง นอกจากทำการเกษตรแล้ว ยังมีผู้ชายบางส่วนที่ออกไปประกอบอาชีพรับจ้างเป็นแรงงานรายวันเนื่องจากบางคนไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตัวเอง ซึ่งส่วนมากแล้วจะไปเป็นแรงงานก่อสร้างและแรงงานในสวนยางและสวนสับปะรดบริเวณเขาจ้าว โดยจะออกไปทำงานโดยรถมอเตอร์ไซต์ในตอนเช้าและกลับมาบ้านในตอนเย็น ดังนั้นแล้วช่วงกลางวันเราจะพบผู้ชายวัยทำงานในหมู่บ้านค่อนข้างน้อย (จักรี โพธิมณี และศศิธร ศิลป์วุฒยา, 2562, น. 152)

     

  • ครอบครัวและระบบเครือญาติของชุมชนชาติพันธุ์กะเหรี่ยง (บ้านป่าหมาก อ.สามร้อยยอด จ.ประจวบคีรีขันธ์) :

               เดิมโครงสร้างของครอบครัวเริ่มจากการเป็นครอบครัวขยายที่มีขนาดใหญ่ มีสมาชิกหลากหลายรุ่นอยู่รวมกัน และมีลูกหลานหลายคนเพื่อช่วยกันทํามาหากินโดยเฉพาะการทําไร่ ตลอดจนทํางานบ้าน เช่น ซักเสื้อผ้า ตําข้าว ตักน้ำ เป็นต้น แต่ในปัจจุบันครอบครัวของกะหร่างบ้านป่าหมากมีขนาดเล็กลง ส่วนมากในชุมชนมีลักษณะเป็นครอบครัวเดี่ยวเนื่องจากมีลูกน้อยลง ปัจจุบันพบว่าในบางครอบครัวมีสมาชิกเพียง 4 - 5 คนเท่านั้น (จักรี โพธิมณี และศศิธร ศิลป์วุฒยา, 2562, น. 133)

            

  • การแต่งงานของชุมชนชาติพันธุ์กะเหรี่ยง (บ้านป่าหมาก อ.สามร้อยยอด จ.ประจวบคีรีขันธ์) :

              อย่างไรก็ตามการสมรสหรือการสร้างครอบครัวในอดีตนั้นจะเป็นการเลือกคู่โดยผู้ใหญ่เป็นธุระจัดการให้ คู่หนุ่มสาวแทบไม่เคยเจอหน้ากันแต่ต้องอาศัยการพูดคุยของผู้ใหญ่จึงจะแต่งงานกัน ผู้ใหญ่จะมีบทบาทในการเลือกคู่แต่งงานให้หนุ่มสาว บางครั้งมีการอยู่ด้วยกันก่อนแต่งแล้วจึงทำพิธีขอขมากันภายหลังโดยพาญาติผู้ใหญ่ไปทำพิธีขอขมาผีบรรพบุรุษและขอขมาญาติผู้ใหญ่ก่อน แต่อย่างไรก็ตามในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเป็นอย่างมากทั้งโครงสร้างของครอบครัวและการสมรส ซึ่งในอดีตจะเป็นระบบคลุมถุงชน แต่จากการพูดคุยกับคนในชุมชนพบว่ามีการเลือกคู่เองเพิ่มมากขึ้น โดยจะเป็นลักษณะของต่างคนต่างชอบพอกันเองแล้วจึงไปบอกผู้ใหญ่ เพื่อให้ผู้ใหญ่ไปทำการทาบทาม สู่ขอและจัดการแต่งงานตามประเพณี ในขณะเดียวกันก็จะมีอีกส่วนหนึ่งที่คู่หญิงชายจะไปพบกันที่ต่างเมือง เนื่องจากต่างออกไปทำงานในพื้นที่นอกชุมชนและอยู่กินกันโดยไม่ได้แต่งงานกันตามประเพณี แต่หลังจากนั้นคู่หญิงชายมักจะมาทำพิธีขอขมากันที่บ้านเพื่อให้ญาติผู้ใหญ่ได้รับรู้ว่าแต่งงานกันแล้วอย่างเป็นทางการ แต่อย่างไรก็ตามการแต่งงานแบบคลุมถุงชนซึ่งเป็นรูปแบบสำคัญในอดีตที่ลดความสำคัญลงไปก็ไม่ได้หายไปทั้งหมด จากการลงพื้นที่ภาคสนามยังพบบางครอบครัวที่แต่งงานกันโดยความเห็นชอบของครอบครัวเป็นหลัก (จักรี โพธิมณี และศศิธร ศิลป์วุฒยา, 2562, น. 133)

              กระนั้นโดยทั่วไปการแต่งงานของคนในชุมชนบ้านป่าหมากไม่มีพิธีหมั้น มีเพียงพิธีแต่งงานแบบเรียบง่าย การแต่งงานจะจัดขึ้นในหมู่บ้านมักจะเป็นบ้านเจ้าสาวเป็นหลัก สำหรับสินสอดอาจมีหรือไม่มีก็ได้ มีเพียงหมอขวัญมาจัดพิธีให้ถูกต้องตามประเพณี ชาวกระเหรี่ยงในสมัยก่อนมีความคาดหวังว่าการแต่งงานก็เพื่อสืบตระกูลและช่วยกันทำมาหากิน ในปัจจุบันทางด้านพิธีหรือประเพณีที่ใช้ในการแต่งงานมีการเปลี่ยนแปลงไปตามประเพณีของไทยมากขึ้น ปัจจัยที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงก็คือความเป็นเมืองที่เริ่มเข้ามาสู่สังคมของบ้านป่าหมากมากขึ้นเรื่อย ๆ (จักรี โพธิมณี และศศิธร ศิลป์วุฒยา, 2562, น. 134)

     

  • การสืบผีและมรดกของชุมชนชาติพันธุ์กะเหรี่ยง (บ้านป่าหมาก อ.สามร้อยยอด จ.ประจวบคีรีขันธ์) :

               หากสืบย้อนต้นตระกูลของบ้านป่าหมากจากคําบอกเล่าของคุณแดง ใจเย็น พบว่าสามารถย้อนไปได้ราว 5 รุ่น โดยคุณแดงเล่าว่า "...ที่ป่าหมากนี้อยู่กันมา 5 ชั่วคนแล้ว ตั้งแต่ พือโลโพ พือตอฮิ พือจะเย พะลวยบี พะลวยบี (พ่อ) และผม..." (แดง ใจเย็น, สัมภาษณ์ 29 มีนาคม 2562 อ้างถึงใน จักรี โพธิมณี และศศิธร ศิลป์วุฒยา, 2562, น. 133) ซึ่งภายหลังจากที่มีการกวาดต้อนและให้ชาวกะเหรี่ยงมาอาศัยอยู่รวมกัน ได้มีการส่งเจ้าหน้าที่มาจัดการทําบัตรแสดงตัวให้ ซึ่งก่อนหน้านี้ชาวกะเหรี่ยงมีเพียงชื่อไม่มีนามสกุลจึงมีการตั้งนามสกุลเกิดขึ้นโดยมีอยู่ด้วยกัน 3 นามสกุล คือ ใจเย็น โคสินธุ์และจันทร์อุปถัมภ์ โดยที่มาของชื่อนามสกุลนั้น ผู้ศึกษาสามารถสอบถามได้เพียงแค่นามสกุลใจเย็น โดยคุณแดงให้ข้อมูลว่าเป็นชื่อของปู่คุณแดง จึงนํามาตั้งเป็นนามสกุลให้ใช้กันในกลุ่มลูกหลาน ซึ่งนามสกุลใจเย็นเป็นนามสกุลที่พบได้มากที่สุดในบ้านป่าหมาก (จักรี โพธิมณี และศศิธร ศิลป์วุฒยา, 2562, น. 133)

     

  • การแต่งกายของชุมชนชาติพันธุ์กะเหรี่ยง (บ้านป่าหมาก อ.สามร้อยยอด จ.ประจวบคีรีขันธ์) :

               การแต่งกาย ในอดีตการแต่งกายจะมีลักษณะของการดํารงอัตลักษณ์ดั้งเดิม ไม่ว่าจะเป็นการใส่เสื้อผ้าที่แสดงสถานะของผู้หญิง โดยผู้หญิงทุกวัยที่ยังไม่แต่งงานมักจะสวมชุดยาวสีขาว (เฌวา) ผู้หญิงที่มีครอบครัวจะเปลี่ยนมาเป็นสวมใส่เสื้อสีดําหรือที่เรียกว่า "เชโม่ซู" และผ้าถุง (ผ้าซิ่น) สําหรับผู้หญิงสาวทุกคนจะสวมชุดทรงกระสอบยาวสีขาวหรือสีแดงถึงข้อเท้า บางชุดทอเป็นเส้นสีแดงเล็ก ๆ รอบสะโพกและกลางขา แขนสั้นผ่าคอเป็นรูปสามเหลี่ยม ผมไว้มวยข้างหลังพันหลายรอบด้วยเส้นด้ายถักสีแดงหรือโพกด้วยผ้าสีขาว เจาะรูหู ส่วนผู้หญิงที่แต่งงานแล้วมักสวมเสื้อสั้นลงมาใต้เอวสีครามเข้ม ตรงครึ่งอกล่างเย็บด้วยเส้นด้ายกับลูกเดือยหินสีขาวเป็นรูปตารางหมากรุก หรือเป็นจุดสีขาวแต่บางกลุ่มก็ทอยกช่วงเอวแล้วทอจกดอกแยกสีผสมเข้าไป ส่วนผู้ชายมักสวมกางเกงขายาวสีดํา สีน้ำเงิน หรือกรมท่าและเสื้อชุดทรงกระสอบหลวม ๆ ไม่มีแขน บางคนสวมเสื้อเชิ้ตข้างในแล้วทับด้วยเสื้อชุดสีแดง ผู้ชายบางคนสวมเสื้อชุดสีดํา แต่ทุกคนต้องมีเสื้อชุดสีแดงเตรียมไว้เสมอ ส่วนผู้ชายวัยรุ่นมักใส่เสื้อสีแดงมีลวดลายเป็นเส้นขวาง สําหรับเด็กผู้หญิงแต่งกายตามคล้ายหญิงสาวยังไม่แต่งงาน เพียงแต่ใส่สีสันสดใส ส่วนใหญ่จะเป็นสีชมพู สีแดง บางครั้งมีพู่ห้อย (ซูมอ ใจเย็น, สัมภาษณ์ อ้างถึงใน จักรี โพธิมณี และศศิธร ศิลป์วุฒยา, 2562, น. 142)