ชื่อเรียกกลุ่มชาติพันธุ์
ชื่อเรียกตนเอง
ลื้อ (Lue/Lu) และไตลื้อ เป็นชื่อที่เรียกตัวเองจริง โดยชื่อ “ลื้อ” สันนิษฐานว่ามาจากเมือง “ลื้อหลวง” ซึ่งยังไม่พบหลักฐานว่าอยู่บริเวณใด อันเป็นถิ่นฐานเดิมของคนลื้อ ก่อนที่จะอพยพลงใต้ จนมาถึงที่ราบลุ่มแม่น้ำโขง และสถาปนาเมืองลื้อใหม่อันเป็นดินแดนสิบสองปันนาในปัจจุบัน (โครงการพิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมและชาติพันธุ์ล้านนา, 2551) จิตร ภูมิศักดิ์สืบค้นจากเอกสารจีนพบว่า อาณาจักรไทเมือง (ต้าเหมิง) (น่านเจ้า) ได้เปลี่ยนชื่อเป็นอาณาจักร “ต้าหลี่” ซึ่งถ่ายเสียงมาเป็นคำว่า “ไตลื้อ” และเรียกคนลื้อว่า “หลี่” ดังนั้นเมืองเชียงรุ้งก็ถูกเรียกว่า “เช่อหลี่” หมายถึงเชียงลื้อ (เมืองของคนลื้อ) (จิตร ภูมิศักดิ์, 2519: 283) อนึ่ง คำว่า “ไต” หรือ “ไท” ในภาษาไทลื้อ แปลว่า “คน” ดังนั้น คนไทลื้อจะเรียกตนเองว่า ลื้อ ในบางโอกาส และหลายโอกาสก็จะใช้คำว่า “ไต” นำหน้าถิ่นฐาน บ้าน เมือง ที่ชาวไทลื้อนั้นอาศัยอยู่ เช่น ไตเมืองล้า ไตเมืองสิง ไตเมืองอู เป็นต้น จิตร ภูมิศักดิ์ ได้แปลงานศึกษาค้นคว้าว่าด้วยชนชาติไท จ้วง และกวางตุ้ง ของนักบวชคริสต์ชาวจีน ได้ข้อสรุปว่า คำว่า “ไต่” ในภาษาจ้วงแปลว่า “ดิน” (land) หรือ “ชาวพื้นเมือง” (native) คนไต จึงแปลว่า “ชาวพื้นเมืองของท้องถิ่น” (native of this land) โดยคำว่า “ไต่” ถูกใช้นำหน้าภูมิสถานหลายแห่งในมณฑลกวางตุ้งและกวางสี เช่น ไต่หยั่น ไต่หน ไต่ลาว ไต่คุน เป็นต้น (จิตร ภูมิศักดิ์, 2519: 581-588)
ไทลื้อ เป็นชื่อเรียกตนเองของคนลื้อในประเทศไทย หลังจากตนเองได้ถูกกลืนกลายเป็นคนไทยแล้ว โดยคำนี้เป็นการออกเสียงคำว่า “ไตลื้อ” ในแบบภาษาไทยของคนไทยภาคกลางและโดยทั่วไป เนื่องจากในการออกเสียง เสียง ต. ของคนไตลื้อ จะออกเสียงแทนอักษร ท. ที่เป็นการออกเสียงในแบบภาษาไทยกลาง
ชื่อที่คนอื่นเรียก
ไทลื้อ เป็นชื่อที่คนไทยทั่วไปใช้เรียกคนไตลื้อในประเทศไทย โดยคำนี้เป็นการออกเสียงคำว่า “ไตลื้อ” ในแบบภาษาไทยของคนไทยโดยทั่วไป เนื่องจากในการออกเสียง เสียง ต. ของคนไตลื้อ จะออกเสียงแทนอักษร ท. ที่เป็นการออกเสียงในแบบภาษาไทยกลาง ภายหลังชาวไตลื้อในประเทศไทยเองก็รับคำนี้ใช้เป็นชื่อเรียกตนเองด้วย
ไทยลื้อ เป็นชื่อที่ทางราชการไทยเรียกชาวไทลื้อที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย โดยชื่อนี้ปรากฏอย่างเป็นทางการใน “คู่มือการกำหนดสถานะบุคคลบนพื้นที่สูง เล่มที่ 2 (บัตรประจำตัวคนกลุ่มน้อย)” ของส่วนการทะเบียนราษฎร สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง พ.ศ.2544 เพื่อกำหนดสถานะบุคคลของกลุ่มคนไตลื้อบางกลุ่มที่ยังไม่ได้รับสัญชาติไทย นอกจากนี้ คำว่า “ไทยลื้อ” ถูกใช้เรียกคนไตลื้อภายหลังจากเกิดกระบวนการรื้อฟื้นประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของคนไตลื้อในประเทศไทย โดยชุมชนชาวไตลื้อที่อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา (ซึ่งเป็นชุมชนไทลื้อที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย) ที่มีการรื้อฟื้นอัตลักษณ์วัฒนธรรมไทลื้อมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ทศวรรษ 2530 (ดู ณกานต์ อนุกูลวรรธกะ, 2554) คำว่า “ไทยลื้อ” จึงเกิดขึ้นจากบริบทที่ต้องการใช้คำว่า “ไทย” เป็นจุดเกาะเกี่ยวกับวัฒนธรรมกระแสหลัก (ที่ได้อ้างอิงถึงต้นตระกูลไทยที่มาจากสิบสองปันนา [ดู ชลธิรา สัตยาวัฒนา, 2544]) ในขณะเดียวกันก็ยังคงแสดงถึงอัตลักษณ์และรากเหง้าของความเป็นลื้ออยู่
ไปอี เป็นชื่อที่ชาวจีนฮั่นเรียกชาวไทลื้อบริเวณสิบสองปันนาในอดีต (ในยุคอาณาจักร) โดยคำว่า “ไปอี” หรือ “สุ่ยไปอี่” เป็นชื่อที่ชาวจีนฮั่นเรียกกลุ่มคนไทลื้อสิบสองปันนา มีความหมายโดยรวมว่า “กลุ่มคนทางใต้ อาศัยใกล้น้ำ” (สุ่ย แปลว่า น้ำ และ ไปอี แปลว่า กลุ่มคนทางใต้ หรือบ้างก็แปลว่า ร้อยกลุ่มชาติพันธุ์ทางใต้) อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันชื่อ “สุ่ยไปอี” มีนัยยะแฝงอคติทางชาติพันธุ์ที่คนจีนฮั่นมีต่อชนกลุ่มน้อยทางใต้ของจีน ซึ่งยังปรากฏการใช้คำนี้เรียกคนไทลื้อสิบสองปันนาในประเทศไต้หวันเนื่องจากเป็นคำที่ใช้ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองของจีนแผ่นดินใหญ่ (อ่อนแก้ว, 2563: สัมภาษณ์) จิตร ภูมิศักดิ์อธิบายถึงคำนี้ว่า คนจีนใช้เรียกชนชาติไต (Dai) ในมณฑลยูนนนาน โดยความหมายของคำนี้พ้องไปกับการออกเสียงในภาษาจีนแตกต่างกันไป คือ “ไป่อี” แปลว่า เสื้อขาว “ไป๋อี๋” แปลว่า คนป่าขาว หรือ คนป่าร้อยจำพวก (จิตร ภูมิศักดิ์, 2519: 217-218) ส่วนในเอกสารจีนกล่าวถึง ในยุคราชวงศ์หรืออาณาจักร คนจีนเรียกชนชาติไตว่า “ไป่อี๋” แปลว่า อนารยชนคนเถื่อนผู้ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของชาว “ไป่เยว่” กลุ่มชนทางตอนใต้ของอาณาจักร เช่นพวก “ลั่วเยว่” (จ้วงในปัจจุบัน) และ “เตียวเยว่” ในยูนนาน หมายถึง กลุ่มคนไต ในเอกสารจีนยังกล่าวถึง ในราชวงศ์หมิงได้มีการเปลี่ยนชื่อพวก “เยว่” ว่า “ไป่อี๋” โดยประกอบด้วย ไป่อี๋ใหญ่ คือ ไตใต้คง (ไตเหนอ ไตมาว) และไป่อี๋เล็ก คือ ไตสิบสองปันนาและไตที่อยู่บริเวณตอนเหนือของไทย (ชลธิรา สัตยาวัฒนา, 2544: 43-44)
ชื่อเรียกในเชิงอคติทางชาติพันธุ์
ชาวไทลื้อ ไม่มีประเด็นด้านอคติทางชาติพันธุ์ที่เกี่ยวเนื่องจากชื่อเรียกมากนักเนื่องจากอาศัยในบริเวณล้านนามาเนิ่นนาน มีความสัมพันธ์อันดีกับคนเมืองและชนพื้นราบรวมถึงประวัติศาสตร์ร่วมกันของชนชนติไตในบริเวณสิบสองปันนา ประเด็นที่พึงตระหนักในการใช้คำเรียกคือมิติเชิงความสัมพันธ์ทางอำนาจที่การใช้คำว่า “ไทย” แบบมี “ย” ร่วมด้วยนั้นบ่งชี้ถึงประวัติศาสตร์รากเหง้าของชนชาติ และมิติของความเป็นคนไทยในรัฐชาติ และ“ไท” แบบไม่มี “ย” และออกเสียงว่า “ไต” อันเป็นชื่อที่เรียกขานตามสำเนียงของไทลื้อ
ภาษา
ตระกูลภาษา อยู่ในตระกูลภาษาไท-กะได
ภาษาพูด ภาษาไท-ลาว (ใกล้เคียงกับ ไทดำ ไทโยน และลาวล้านช้าง สื่อสารกันเข้าใจ)
ตัวอักษรที่ใช้เขียน ภาษาเขียนของชาวไทลื้อ ตัวอักขระเป็นแบบเดียวกันกับภาษาของชาวล้านนา อักษร ระบบการสะกดเหมือนกัน แต่อาจมีการออกเสียงต่างกันบ้าง โดยเฉพาะเสียงสระ อย่างไรก็ตามอักษรธรรมที่จารในคัมภีร์ใบลานของสิบสองปันนา ล้านนา และล้านช้างนั้น ทั้งระบบอักขระและเสียงเป็นแบบเดียวกัน
เนื้อหาโดย ผศ.ดร.วสันต์ ปัญญาแก้ว คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ปีงบประมาณ 2563 อัพโหลดข้อมูลเมื่อ 29 กันยายน 2563
จังหวัดที่กระจายตัวตั้งถิ่นฐาน | จำนวนครัวเรือน | จำนวนประชากร |
---|---|---|
เชียงราย เชียงใหม่ พะเยา ลำพูน น่าน ลำปาง เป็นต้น | 100000 |
สุวิไล เปรมศรีรัตน์ และคณะ. (2547). แผนที่ภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในประเทศไทย. กรุงเทพฯ : สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ
ไทลื้อ เป็นชื่อเรียกตนเองของคนลื้อในประเทศไทยที่กลืนกลายเป็นคนไทยแล้ว โดยคำนี้เป็นการออกเสียงคำว่า “ไตลื้อ” ลื้อ ไทลื้อ ไต และ ไทยลื้อ เป็นชื่อเรียกกลุ่มชาวลื้อที่หลากหลาย และใช้สลับไปมาในหลากหลายบริบท นักวิชาการส่วนใหญ่จะใช้หลักตระกูลภาษาและความเป็นชาติพันธุ์ รัฐไทยใช้คำว่า “ไทยลื้อ”อันมีนัยเชิงการเมืองและเกี่ยวพันกับเรื่องชาติและพลเมือง ในขณะที่ในกลุ่มชาวลื้อจะแยกกันเองตามชื่อเมืองเดิมของบรรพบุรุษจึงจะเรียกกันเองว่า ลื้อ ต่อด้วยชื่อเมืองเดิม เช่น ลื้อเมืองพง ลื้อเมืองลวง ลื้อเมืองสิงห์ ลื้อเมืองอู ยังอาจเรียกแยกตามถิ่นฐานในปัจจุบัน เช่น ลื้อเชียงคำ ลื้อเชียงของ ลื้อหนองบัว ลื้อดอยสะเก็ด
ไทลื้อ (Tai Lue) คือกลุ่มชนภาษาตระกูลไท จากหลักฐานตำนาน ที่พอจะสันนิษฐานกันได้ ว่าได้ว่า พญาเจิงคือผู้นำขอวชาวไทลื้อ ที่สามารถสถาปนารัฐไทขึ้นมาได้ในราวปลายพุทธศตวรรษที่ 17 อาณาจักรของรัฐไทลื้อแต่เดิม สถาปนาและขยายอาณาเขตการปกครองระดับรัฐ กระจายอำนาจและเครือข่าย ไปตามที่ราบระหว่างหุบเขา จากเขตลุ่มน้ำโขงตอนบน ทางตอนใต้ของมณฑลยูนนานในปัจจุบัน ออกไปทางตอนเหนือของเวียดนาม ตามลุ่มน้ำแดง ภาคเหนือและภาคตะวันออกของรัฐฉาน ประเทศพม่า ภาคเหนือและภาคกลางตอนบนของลาว และภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย คือเชียงแสนและเชียงราย ตามตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ บ้านเมืองของชาวลื้อปรากฏและถูกเอ่ยถึงมาตั้งแต่ต้น นับจากกำเนิดของพญามังราย การอพยพเข้ามาปักหลักสร้างบ้านตั้งชุมชนขึ้นใหม่ของชาวไทลื้อพื้นที่แถบภาคเหนือตอนบนปัจจุบันของประเทศไทย น่าจะมีมาอย่างยาวนาน นับตั้งแต่การสถาปนารัฐไทในประวัติศาสตร์ของล้านนายุคต้น เนื่องจากปรากฏรายชื่อนิกายลื้อ ในเอกสารตำนานรายชื่อหมวดวัดในเวียงเชียงใหม่ ชุมชนแถบสันติธรรมด้านนอกคูเมืองปรากฏมีป่าช้าลื้อตั้งอยู่ จวบจนถึงยุค“เก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง” ที่ผู้คนในแถบสิบสองปันนาถูกกวาดต้อนลงมาสร้างบ้านสร้างเมืองใหม่ในดินแดนล้านนา ปัจจุบันในแถบภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย ปรากฏชุมชนของ ชาวไทลื้อ ตั้งหมู่บ้านทั้งที่แยกอยู่ต่างหากและที่อาศัยปะปนไปกับชุมชนคนไทโยน มีชุมชนตั้งถิ่นที่อยู่อาศัยเป็นจำนวนมากในจังหวัดเชียงราย น่าน และอำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา
ไทลื้อแม้จะมีภาษา ศาสนา และประเพณีวัฒนธรรม ตลอดจนลักษณะหน้าตา ผิวพรรณ แบบเดียวกันทั้งกับชาวลื้อเมืองยอง ชาวขึนเชียงตุง และชาวโยนในล้านนา ทว่าพวกเขามีประวัติศาสตร์การตั้งถิ่นฐานและความทรงจำที่แยกแตกต่างออกไปจากชุมชนคนไทกลุ่มอื่นๆ อย่างชัดเจน เช่น การตั้งชื่อชุมชน ตามชื่อบ้านนามเมืองเดิม ความเชื่อเรื่องการตั้งใจบ้าน การนับถือผีบรรพบุรุษร่วมกัน ด้วยการยึดเอาผีเจ้าเมืองมาเป็น “ผีประจำหมู่บ้าน” การแสดงออกถึงความโหยหาอาลัยบ้านเกิดของบรรพชน กระทั่งมีการรื้อฟื้นสืบสานวัฒนธรรมความเป็นชาติพันธุ์ลื้อของตน ราวต้นทศวรรษ 2530 เป็นต้นมา โดยเชื่อมโยงและการเดินทางกลับไปสร้างสายสัมพันธ์กับชาวลื้อในเขตปกครองตนเองชนชาติไทสิบสองปันนา มีการตั้งสมาคมไทลื้อแห่งประเทศไทย ซึ่งมีสาขาของสมาคมไทลื้อระดับจังหวัด ครบ 7 จังหวัดในเขตภาคเหนือตอนบน และพวกเขายังพยายามรักษา แสดงอัตลักษณ์ และสืบสานวัฒนธรรมความเป็นชาติพันธุ์ลื้อด้วยการยึดโยงกับบ้านเกิดเมืองนอนเดิมของบรรพชนอย่างเหนียวแน่น
ประวัติศาสตร์
ไทลื้อ (Tai Lue) คือกลุ่มชนภาษาตระกูลไท (Tai speaking peoples) อาศัยใช้ชีวิตตั้งถิ่นฐาน มาอย่างยาวนานในเขตลุ่มน้ำโขงตอนบน มีภาษา ความเชื่อทางศาสนา คือพุทธศาสนาเถรวาท (Theravada Buddhism) และการนับถือ “ผี” ตามความเชื่อดั้งเดิม (Animism) ของตนเอง จากหลักฐานตำนาน ที่พอจะสันนิษฐานกันได้ ว่าได้ว่า พญาเจิงคือผู้นำขอวชาวไทลื้อ ที่สามารถสถาปนารัฐไทขึ้นมาได้ในราวปลายพุทธศตวรรษที่ 17 (คือ ปี พ.ศ. 1732) นอกจากจะสถาปนาราชวงศ์อาละโวสวนตาล พญาเจิงตั้งหอคำเชียงรุ่ง (บริเวณทิศใต้ของนครเชียงรุ่ง เขตปกครองตนเองชนชาติไทสิบสองปันนา ยูนนาน ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนในปัจจุบัน) ถือเป็นปฐมกษัตริย์ของชาวไทลื้อ อาณาจักรของรัฐไทลื้อแต่เดิม สถาปนาและขยายอาณาเขตการปกครองระดับรัฐ ผ่าน “ระบบเมือง” (Muang Polity) กระจายอำนาจและเครือข่าย ไปตามที่ราบระหว่างหุบเขา จากเขตลุ่มน้ำโขงตอนบน (ทางตอนใต้ของมณฑลยูนนานในปัจจุบัน) ออกไปทางตอนเหนือของเวียดนาม (ตามลุ่มน้ำแดง) ภาคเหนือและภาคตะวันออกของรัฐฉาน ประเทศพม่า ภาคเหนือและภาคกลางตอนบนของลาว และภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย (คือเชียงแสนและเชียงราย)
รัฐของชาวไทลื้อ (ซึ่งสถาปนาโดยพญาเจิง – ราชวงศ์อาละโวสวนตาล เชียงรุ่ง) แต่เดิมจึงนับเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับรัฐของชาวไทในเขตลุ่มน้ำโขงและลุ่มน้ำกก กระทั่งต่อมาจักรพรรดิราชวงศ์หย่วนได้ขยายออำนาจลงถึงเชียงรุ่ง (ราว ๆ ต้นพุทธศตวรรษ คือ พ.ศ. 1827 ก่อนที่พญามังรายจะขยายอำนาจลงมาตั้งเชียงใหม่ราวๆ 10 ปี) ในทำนองเดียวกับรัฐไทลล้านนา บางช่วงเวลารัฐไทลื้อจึงต้องแสดงความสวามิภักดิ์ต่อจีน ตำนานระบุว่า ราว พ.ศ 1927 ราชสำนักจีน ให้การรับรองและแต่งตั้งเจ้าเชียงรุ่ง สิบสองงปันา คำรงตำแหน่งเป็น “เจ้าแสนหวี”) และพม่า เชียงรุ่งและเชียงใหม่ยอมอยู่ภายใต้อำนาจของกษัตริย์บุเรงนองของพม่า ตามพงศาวดารเชื้อเครือเจ้าแสนหวี ในช่วงเวลาที่อยู่ภายใต้การเป็นรัฐบรรณาการของพม่านี้เอง ที่คำว่า “สิบสองปันนา” ปรากฏขึ้นเป็นครั้งแรก กล่าวคือในปี พ.ศ 2113 ท้าวอินเมือง กษัตริย์เชียงรุ่ง (ราชวงศ์อาละโวสวนตาล องค์ที่ 25) ได้รวบรวมหัวเมืองต่างๆ และจัดระบบ “ปันนา” เพื่อจัดระเบียบความสัมพันธ์ระหว่างเจ้า-ไพร่ ศักดินา และการจัดเก็บภาษา ตลอดจนการเกณฑ์แรงงาน (ผ่านระบบเหมืองฝาย) เรียกว่า “12 ปันนา” สิบสองปันนาและล้านนา (ซึ่งใช้ระบบ “ปันนา” เช่นเดียวกัน) จึงเป็นต้นแบบหนึ่งของ “รัฐศักดินาไท”นั้นแต่นั้นมาจึงปรากฏชื่อเรียก “สิบสองปันนา” ในฐานะที่เป็นรัฐของชาวไทลื้อ ควบคู่ไปกับ “ล้านนา” ซึ่งถือเป็นรัฐของชาวไทโยน (ซึ่งสถาปนาขึ้นโดยพญามังราย) ที่ขยายจากแถบลุ่มน้ำโขง-ลุ่มน้ำกก ลงมาแถบลุ่มน้ำปิง-กวง
ตามตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ บ้านเมืองของชาวลื้อ ปรากฏและถูกเอ่ยถึงมาตั้งแต่ต้น นับจากกำเนิดของพญามังราย ซึ่งมีศักดิ์เป็นหลานของกษัตริย์เชียงรุ่ง (คือท้าวรุ่ง) โดยมีมารดาซึ่งมีศักดิ์เป็นเจ้าหญิงเชียงรุ่ง ตามตำนานระบุว่า ชื่อของท้าวรุ่ง นอกจากจะเป็นที่มาของชื่อพญามังราย กษัตริย์เชียงรุ่งองค์นี้ยังยกเมืองสำคัญทางตอนใต้ คือ เมืองยอง เมืองพยาก เพื่อรับขวัญ วันเกิดหลาน คือพญามังราย ตามประเพณีของชาวไทดั้งเดิม (ทั้งในสิบสองปันนาและในล้านนา) ที่เรียกว่า “หลอนเดือน” (หลังจากเกิดได้ครบ 1 เดือน ชาวไทลื้อจะทำพิธีตั้งชื่อทารก และจัดงานเลี้ยงแสดงความยินดีในหมู่เครือญาติและมิตรชิดใกล้ใน)
อนึ่ง หากเชื่อตามหลักฐานจารึกการตั้งหมู่บ้านและการสร้างวัดศรีมุงเมือง ซึ่งปัจจุบันเป็นวัดเก่าแก่สำคัญ ชุมชนลื้อในเชียงใหม่ที่เก่าแก่ที่สุดคือ บ้านลวง ซึ่งปัจจุบันแยกเป็น บ้านลวงเหนือและบ้านลวงใต้ (หมู่ 4 หมู่ 5 และหมู่ 8 ตำบลเชิงดอย อำเภอดอยสะเก็ด) ตามตำนานเชื่อกันว่า ชุมชนหมู่บ้าน (ที่ต่อมาคือบ้านลวงนั้น) ตั้งขึ้นใน “ปันนาฝั่งแกน” โดยพระเจ้าแสนเมืองมา (พ.ศ.1931- 1954) กษัตริย์องค์ที่ 10 ของราชวงศ์มังราย ในปี พ.ศ. 1932 และต่อมาพญาสามฝั่งแกน ซึ่งประสูติในพื้นที่ “ปันนาฝั่งแกน” ขึ้นครองราชย์ในปี พ.ศ 1954 จึงได้สร้างวัดขึ้น ณ ที่นั้น คือวัด บุรฉัน หรือ “วัดศรีมุงเมือง” ในปัจจุบัน (อินทนนท์ 2559. 39-42)
ลุมาถึงสมัยพญาติโลกราช (ตามที่ระบุไว้ใน “พงศวดารโยนก” และตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่) ก็ปรากฏชัดว่า กษัตริย์ล้านนาเชียงใหม่ ได้ยกทัพขึ้นไปตีเมือง ทั้งเมืองยองและเชียงรุ่ง ให้มาขึ้นต่อล้านนาของพญาติโลกราช ดังนั้นในยุคนี้ หัวเมืองต่างๆ ของชาวไทในล้านนากับสิบสองปันนาจึงเป็นดินแดนที่อยู่ภายใต้การปกครองของพญาติโลกราช
หัวเมืองลื้อ ชาวลื้อ และประวัติการตั้งถิ่นฐานของชาวลื้อ (ในฐานะเชลยที่ถูกกวาดต้อนมาสร้าวบ้านแปลงเมืองหลังสงครามไท-พม่า ปลายศตวรรษที่ 19) ปรากฏอีกครั้งและระบุไว้อย่างชัดเจนในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ สมัยหลังการปลดแอกจากพม่า เมื่อกลุ่มผู้นำของไทล้านนา (ต่อมาคือต้นกำเนิดของทิพยวงศ์ หรือ “ตระกูลเจ้าเจ็ดตน”) หันไปสวามิภักดิ์พระเจ้ากรุงธนบุรี และราชวงศ์จักรีของสยาม เมื่อไทลุ่มน้ำปิงและลุ่มนำเจ้าพระยา พยายามขับไล่พม่าและปลดแอกตนเองออกจากการปกครองของกษัตริย์กรุงหงสาวดี (และอังวะ) เมื่อพวกเจ้าเจ็ดตน (ซึ่งต่อมาจะได้รับสถาปนาให้เป็นเจ้าผู้ปกครองเชียงใหม่ และหัวเมืองสำคัญอื่นๆ ของล้านนา คือ ลำพูน ลำปาง น่าน และการตั้งเมืองเชียงราย ขึ้นใหม่ในยุคนี้เองที่ ใหม่ ซึ่งอาจเรียกยุคนี้ว่า “ล้านนาใหม่” (สมัยหลังปลดแอกจากพม่า) ชาวลื้อทั้งจากเมืองยอง พยาก และหัวเมืองสำคัญของสิบสองปันนา ทั้งสองฝั่งของแม่น้ำโขง ถูกกวาดต้อนลงมาเพื่อร่วมสร้างบ้านแปลงเมืองขึ้นใหม่เป็นจำนวนมาก เหตุที่ถูกกวาดต้นลงมาแทบทั้งเมือง การอพยพโยกย้ายมาทั้งชุมชนและมีผู้นำดั้งเดิม มาด้วย การตั้งชุมชนใหม่ของชาวลื้อใน “ล้านนาใหม่” ซึ่งต่อมาจะค่อยๆ ผนวกและกลืนกลายเป็นส่วนหนึ่งของภาคเหนือตอนบนของสยาม (เปลี่ยนเป็น ประเทศไทย เมื่อ พ.ศ. 2482) จึงมักจะใช้ชื่อบ้านนามเมือง ตามชื่อของบ้านเกิดเมืองนอนเดิมที่เคยตั้งถิ่นฐานอยู่ในสิบสองปันนา (ในยูนนานตอนใต้) เมืองยอง (ในพม่า) และเมืองสิงห์ เมืองอู (ในลาว)
การเข้ามาของอังกฤษและฝรั่งเศสในแถบอุษาคเนย์ตอนบน ราวกลางพุทธศตวรรษที่ 24 นำไปสู่การแบ่งแยกดินแดนอาณาจักรลื้อออกเป็นส่วนๆ ของ 3 มหาอำนาจคือ จีน บริติชพม่า และฝรั่งเศสอินโดจีน กระทั่งหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 หัวเมืองลื้อ ซึ่งสวนใหญ่ตั้งอยู่ในภูมิภาคลุ่มน้ำโขงตอนบน ถูกผนวกเข้ากับดินแดนรัฐชาติสมัยใหม่ควบคู่ไปกับการเกิดขึ้นของประเทศชาติใหม่ (new Nations) ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือ พม่า ลาว เวียดนาม
การอพยพเข้ามาปักหลักสร้างบ้านตั้งชุมชนขึ้นใหม่ของชาวไทลื้อ พื้นที่แถบภาคเหนือตอนบนปัจจุบันของประเทศไทย น่าจะมีมาอย่างยาวนาน นับตั้งแต่การสถาปนารัฐไทในประวัติศาสตร์ของล้านนายุคต้น (พ.ศ.) เช่น ตามเอกสารตำนานรายชื่อ “หมวดวัด” ในเวียงเชียงใหม่ ยังปรากฏชื่อนิกายสงฆ์ (หรือหัวหมวดวัด) ซึ่งมี นิกายลื้อ นิกายยอง รวมกับนิกายอื่นๆ ด้วย อีกทั้งทางด้านตะวันตกเฉียงเหนือของเมืองเชียงใหม่ในปัจจุบัน (นอกคูเมือง แถบ สันติธรรม) มีป่าช้าลื้อ ซึ่งถือเป็นป่าช้าเก่าแก่ของชุมชนระแวกนั้น ที่ยังคงใช้ประกอบการฌาปนกิจ แลละเรียกกันว่า “ป่าช้าลื้อ” กระทั่งปัจจุบัน กระนั้น ช่วงเวลาที่อาจถือว่าเป็น “จุดเปลี่ยน” สำคัญของประวัติศาสตร์การตั้งถิ่นฐานของชาวลื้อในพื้นที่แถบภาคเหนือตอนบนของประเทศไทยในปัจจุบันนั้นคือยุคที่เรียกกันว่า “เก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง” ซึ่งตรงกับช่วงกลางศตวรรษที่ 19 ในเวลาเดียวกันกับที่ พระเจ้ากรุงธนบุรีและผู้นำในล้านนา ร่วกันขับไล่พม่าและมีนโยบายกวาดต้อนผู้คนจากบริเวณลุ่มน้ำโขงตอนบน (คือสิบสองปันนา) มาสร้างบ้านสร้างเมืองขึ้นใหม่ จะเรียกว่าเป็นส่วนหนึ่งของการสถาปนาราชวงศ์จักรีก็คงไม่ผิด ในช่วงต้นรัตนโกสินทร์กษัตริย์สยามก็ได้ยกทัพไปกวาดต้น ชาวลาวและชาวผู้ไท จากลาวล้านช้าง เวียงจันทน์ มาเป็นเชลย ตั้งบ้านตั้งเมืองขึ้นใหม่ในแถบภาคกลาง ดังปรากฏชุมชนของชาวลาว ชาวผู้ไท ใน ราชบุรี เพชรบุรี เป็นต้น ส่วนทางภาคใต้ (คือ นครศรีธรรมราชและสุราษฎร์ธานี) นั้นก็มีหลักฐานว่า เลยชาวลาวจำวนไม่น้อยถูกกวาดต้อนลงไป - ด้วยเหตุนี้ ภาษาใต้ ภาษาลาว และภาษาลื้อ อันที่จริงจึงใกล้เคียงกันมากยิ่งกว่า “ภาษากรุงเทพฯ”
กรณีของภาคเหนือ ปัจจุบันพบชุมชนของชาวลื้อทั้งที่เป็นชุมชนดั้งเดิมมานาน ชุมชนตั้งใหม่แยกออกจากชุมชนอื่นๆ และ “กลุ่มบ้าน” ที่อาศัยปะปนไปกับชุมชนคนไทโยน แทบทุกจังหวัดในเขตภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย
รายงานการสำรวจครั้งนี้ มุ่งนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับชาวไทลื้อจากสิบสองปันนา เป็นหมู่บ้านชุมชนชาวลื้อที่ปรากฏหลักฐานและชาวบ้านเองเชื่อว่าบรรพบุรุษของพวกเขามีถิ่นฐานบ้านเกิดอยู่ในสิบสองปันนา (คือ เขตปกครองตนเองชนชาติไทสิบสองปันนา และลาวตอนเหนือ คือแขวงหลวงน้ำทา และแขงพงสาลี) และได้อพยพเข้ามาตั้งรกรากอยู่ในภาคเหนือตอนบนของประเทศไทยในปัจจุบัน
เนื้อหาในรายงานนี้จะไม่ครอบคลุมถึง ชาวลื้อเมืองยองในรัฐฉานภาคตะวันออกของประเทศพม่า เนื่องจากเมืองยองและหัวเมืองอื่นๆ ของไทลื้อแถบนี้ เป็นส่วนหนึ่งของล้านนามานานมากแล้ว (อย่างน้อยตั้งแต่สมัยพญาติโลกราชของล้านนา และสมัยเจ้าอิ่นเมืองของไทลื้อซึ่งได้กำหนดรวบรวมชุมชนและที่นาตั้งขึ้นเป้น 12 ปันนา ซึ่งเป็นระบบการจัดเก็บภาษีแบเดียวกันกับที่พบในรัฐล้านนา) ทั้งนี้ชาวไทลื้อเองเหล่านี้ซึ่งมีถิ่นฐานมาจากหัวเมืองที่อยู่นอกเขตอำนาจ “รัฐสิบสองปันนาจารีต” มักจะเรียกตนเองและถูกคนอื่นเรียกในอีกชื่อหนึ่ง (แตกต่างออกไปจากลื้อสิบสองปันนา) คือ ไทยอง ไทขึน เป็นต้น
ชาวยอง หรือชาวไทลื้อเมืองยอง จัดเป็นกลุ่มชาวไทกลุ่มใหญ่ซึ่งถูกกวาดต้อนเข้ามาตั้งรกรากอยู่ในล้านนาจำนวนมากหลายช่วง เช่นมักจะเรียกการถูกบังคับให้โยกย้ายสร้างถิ่นฐานใหม่นั้นว่า เป็นการมาแบบ “เทครัว” โดยเฉพาะตั้งแต่สมัยพระเจ้าตากสินมหาราชจนมาถึงต้นรัตนโกสินทร์ (ดูแสวง มาละแซม 2538 ซึ่งศึกษาไว้อย่างละเอียดในกรณีประวัติศาสตร์การตั้งถิ่นฐานของชุมชนชาวยองในจังหวัดลำพูน) กลุ่มชาวลื้อจากเมืองยองเหล่านี้หลังเข้ามาตั้งถิ่นฐานในแอ่งที่รายเชียงใหม่-ลำพูนแล้ว ต่อมามีการอพยพโยกย้ายเพื่อเสาะหาที่ทำกินใหม่ (หรือพยายามกลับไปเมืองยอง) อาจด้วยเหตุที่มาเป็นจำนวนมากกลุ่มชาวลื้อมักถูกรัฐใช้เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการตั้งชุมชนใหม่ในหัวเมืองสำคัญที่ถูกทิ้งร้างช่วงสงครามปลดอแกพม่า (ในช่วง 100-200 ปีก่อน) ดังปรากฏว่าปัจจุบันชุมชนชาวลื้อจากเมืองยองในภาคเหนือของประเทศไทยนั้น นอกจากส่วนมากจะตั้งถิ่นฐานใหม่อยู่ในจังหวัดลำพูน (คิดเป็นราวๆ ร้อย 80 ของประชากรทั้งจังหวัด) และแถบอำเภอสันกำแพงจังหวัดเชียงใหม่ (ดูงานศึกษาของ รัตนาพร เศรษฐกุล 2538) ยังพบว่ามีกลุ่มชาวลื้อจากลำพูนที่โยกย้ายไปตั้งบ้านตั้งเมืองอื่นขึ้นใหม่ เช่นเมืองเชียงแสน แม่จัน (ช่วงสมัยรัชกาลที่ 5) เมืองพาน และแม่สาย (ชุมชนเหมืองแดง) ในจังหวัดเชียงราย
ชาวลื้อสิบสองปันนา แม้จะมีภาษา ศาสนา และประเพณีวัฒนธรรม แบบเดียวกัน (ทั้งกับชาวยอง ชาวขึน และชาวโยน) ตลอดจนลักษณะหน้าตา ผิวพรรณ การที่พวกเขามีรัฐที่สังกัด คือสิบสองปันนา และการมีกษัตริย์ของตนเอง สงครามการกวาดต้อนผู้คนช่วงต้นรัตนโกสินทร์นั่นเองคือเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้พวกเขามีสำนึกประวัติศาสตร์การตั้งถิ่นฐานและความทรงจำที่แยกแตกต่างออกไปจากชุมชนคนไทกลุ่มอื่นๆ อย่างชัดเจน
นอกจากการอยู่รวมกันเป็นชุมชนชาวนาอย่างเหนียวแน่น การแต่งงานกันเองในกลุ่มชาติพันธุ์ การใช้ภาษาแม่ พวกเขามักตั้งชื่อถิ่นฐานชุมชนใหม่ ตามชื่อบ้านนามเมืองเดิม (เช่นชื่อหมู่บ้านไทลื้อดั้งเดิมเกือบทั้งหมดในอำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยาและหลายอำเภอในจังหวัดน่าน นั้นคือแทบจะคือชื่อเดียวกันกับบ้านเก่าเมืองเดิม ที่ตั้งอยู่ในสิบสองปันนา และปัจจุบันยังสามารถสืบเสาะหาได้) การนับถือผีบรรพบุรุษร่วมกันโดยยึดเอาผีเจ้าเมืองเดิม (เช่น ชาวลื้อบ้านมาง ในอำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา)
การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจสังคมยุคโลกาภิวัตน์ วิกฤติความเป็นไทยและการก่อตัวของอัตลักษณ์ท้องถิ่น (Keyes and Tanabe 1996) ตั้งแต่ทศวรรษ 2530 เป็นต้นมา อันนำไปสู่กระแสโหยหาอาลัยบ้านเกิดเมืองนอนเดิม จึงมีส่วนอย่างมากต่อการที่ ชุมชนชาวลื้อสิบสองปันนา (ที่กล่าวถึงในรายงานนี้) พากันราวมกันและหันกลับมารื้อฟื้นสืบสานวัฒนธรรมความเป็นลื้อของตน โดยเฉพาะการเชื่อมโยงและการเดินทางกลับไปสร้างสายสัมพันธ์กับชาวลื้อในสิบสองปันนาปัจจุบัน และที่สำคัญการตั้งสมาคมไทลื้อแห่งประเทศไทย ซึ่งมีสาขาของสมาคมไทลื้อระดับจังหวัดครบ 7 จังหวัดในเขตภาคเหนือตอนบน ของประเทศไทย
การตั้งถิ่นฐานและการกระจายตัวของประชากร
ภาพรวมของชุมชนไทลื้อสิบสองปันนาในภาคเหนือของประเทศไทย ในส่วนต่อจากนี้จะพยายามชี้ให้เห็นว่า “ชาวลื้อสิบสองปันนา” ซึ่งปัจจุบันอาศัยอยู่ในภาคเหนือตอนบนของประเทศไทยทุกจังหวัด และกลายเป็นพลเมืองไทย ถือสัญชาติไทย จนแทบจะกลืนกลายเป็นคนไทยในภาคเหนือไปแล้วนั้น มีที่มาที่ไปอย่างไร โดยจะพิจารณาจากชุมชนไทลื้อสิบสองปันนาที่มีประวัติศาสตร์ความเป็นมาชัดเจนและปัจจุบันกลายเป็นชุมชนเก่าแก่ของชาวลื้อใน 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ดังนี้
จังหวัดเชียงใหม่ มีชุมชนไทลื้ออยู่ในหลายอำเภอคืออำเภอเมืองเชียงใหม่ อำเภอสันกำแพง อำเภอสะเมิง อำเภอสันทราย และอำเภอดอยสะเก็ด อย่างไรก็ตามชุมชนไทลื้อที่เก่าแก่และมีเอกลักษณ์โดดเด่นคือที่ “บ้านเมืองลวง” ตำบลวงเหนือ อำเภอดอยสะเก็ด และชุมชนไทลื้อบ้านแม่สาบ อำเภอสะเมิง สำหรับชุมชนไทลื้อบ้างเมืองลวง ตามตำนานเชื่อว่า บรรพบุรุษเป็นชาวไทลื้อจาก “ปันนาเมืองลวง” สิบสองปันนา ที่อพยพเข้ามาตั้งชุมชนในเชียงใหม่รุ่นแรกๆ ราวพุทธศตวรรษที่ 18 (พ.ศ. 1954) ในสมัยพระเจ้าสามฝั่งแกน ปัจจุบันชุมชนบ้านเมืองลวงมีประชากรเพิ่มมากขึ้น แยกเป็น บ้านลวงเหนือ (หมู่ 4 และหมู่ 5 ตำบลเชิงดอย) และบ้านลวงใต้ (หมู่ 8 ตำบลเชิงดอย)
จังหวัดลำพูน เป็นพื้นที่ที่ชาวไทลื้ออพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานมากที่สุด มีทั้งมาจากจากเมืองยอง (รัฐฉาน ประเทศพม่าในปัจจุบัน) และสิบสองปันนา ชาวลื้อจากเมืองยองตั้งหมู่บ้านอยู่ในทุกเขตอำเภอของจังหวัดลำพูน (ดูแสวงมาละแซม 2536 เพิ่มเติม) ส่วนชาวลื้อจากสิบสองปันนาในจังหวัดลำพูน ทั้งหมดตั้งชุมชนอยู่ในคืออำเภอบ้านธิ คือตำบลห้วยยาบและตำบลบ้านธิ ชาวบ้านไทลื้อใน 2 ตำบลนี้ เชื่อว่า บรรพชนของพวกเขาอพยพมาจากเชียงรุ่ง สิบสองปันนา
จังหวัดเชียงราย มีชาวไทลื้อตั้งชุมชนอยู่ในพื้นที่อย่างน้อย 3 อำเภอ คือ อำเภอเชียงของ ที่ บ้านห้วยเม็ง บ้านท่าข้าม และบ้านศรีดอนชัย อำเภอแม่สาย บ้านสันบุญเรือง และอำเภอพาน บ้านโป่งแดง ตำบลห้วยทรายขาว และบ้านกล้วยแม่แก้ว ตำบลสันมะเคล็ด อำเภอพาน
จังหวัดพะเยา มีชาวไทลื้ออาศัยอยู่จำนวนมากในอำเภอเชียงคำ อำเภอเชียงม่วน และอำเภอปงชาวลื้อในอำเภอเชียงคำ รวมกลุ่มตั้งชุมชนหมู่บ้านอาศัยอยู่อย่างหนาแน่นในตำบลหย่วน (ซึ่งปัจจุลบันคือศูนย์กลางของอำเภอเชียงคำ) คือบ้านหย่วน บ้านธาตุ บ้านแดนเมือง บ้านมาง ตำบลเชียงบาน ได้แก่ บ้านเชียงบาน บ้านแพด บ้านแวน บ้านทุ่งหมอก บ้านเชียงคาน ตำบลฝายกวาง ได้แก่ บ้านหนองลื้อ ตำบลภูซาง ได้แก่บ้านหนองเลา บ้านห้วยไฟ ตำบลสบบง ได้แก่ บ้านสบบง ส่วน อำเภอเชียงม่วน ได้แก่ บ้านท่าฟ้าเหนือ และบ้านท่าฟ้าใต้ ชาวลื้อเชียงคำ ได้ชื่อว่าเป็นกลุ่มที่ยังคงรักษาอัตลักษณ์วัฒนธรรมของชาวนาไทลื้อได้อย่างเหนียวแน่น (Moerman 1967) นอกจากภูมิปัญญา ทักษะการทำนา พวกเขายังมีการบันทึกจดจำประวัติศาสตร์การตั้งถิ่นฐานของบรรพชนผ่านภาพจิตกรรมฝาผนัง (ในอุโบสถ วัดแสนเมืองมา บ้านมาง และชุมชนไทลื้อบ้านแม่สาบ อำเภอสะเมิง) การนับถือผีเจ้าเมืองเดิม (พญาหลวงเมืองมาง บ้านมาง) และการใช้ภาษาลื้อในชีวิตประจำวัน
จังหวัดน่าน น่าจะเป็นจังหวัดที่หมู่บ้านไทลื้อกระจายอยู่มากที่สุด แทบทุกอำเภอ คือในพื้นที่อำเภอเมือง อำเภอท่าวังผา อำเภอปัว อำเภอเชียงกวาง อำเภอทุ่งช้าง กิ่งอำเภอทุ่งหลวง และกิ่งอำเภอแม่จริม อำเภอเมือง มีในตำบลดู่พงษ์ อำเภอท่าวังผา ที่ตำบลศรีภูมิ ตำบลสบยม ตำบลจอมพระ ตำบลแสงทอง ได้แก่ บ้านแฮะ บ้านฮวก ตำบลป่าคา ได้แก่บ้านต้นฮาง บ้านหนองบัว อำเภอปัว มีที่ตำบลปัว ได้แก่บ้านร้องแง บ้านมอน บ้านดอกแก้ว บ้านติ๊ด บ้านขอน ตำบลศิลาแลง ได้แก่ บ้านตีนตุก บ้านดอนไชย บ้านศาลา บ้านหัวน้ำ ตำบลศิลาเพชร ได้แก่ บ้านนาคำ บ้านป่าตอง บ้านดอนมูล บ้านดอนแก้ส บ้านทุ่งรัตนา อำเภอเชียงกลาง มีที่ตำบลยอด ได้แก่บ้านปางส้าน บ้านผาสิงห์ บ้านผาหลัก บ้านยอด และอำเภอทุ่งช้าง มีที่ตำบลงอบ ได้แก่ บ้านงอบเหนือ บ้านงอบใต้ ตำบลหอน ได้แก่ บ้านห้วยโก๋น บ้านห้วยสะแกง บ้านเมืองเงิน ตำบลแพ ได้แก่ บ้านห้วยเต๋ย บ้านสะหลี
จังหวัดแพร่ น่าจะมีชาวไทลื้อทั้งจากเมืองยองและสิบสองปันนาตั้งหลักปักฐานอยุ่จำนวนไม่น้อยเช่นกัน อย่างไรก็ตามสำหรับชาวไทลื้อจากสิบสองปันนา พบว่าอาศัยอยู่ที่ตำบลบ้านถิ่น อำเภอเมืองแพร่
จังหวัดลำปาง มีหมู่บ้านไทลื้อตั้งชุมชนอยู่ในอำเภอเมือง ตำบลกล้วยแพะ 5 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านกล้วยหลวง บ้านกล้วยแพะ บ้านกล้วยฝาย บ้านกล้วยกลาง และบ้านกล้วยม่วง และในอำเภอแม่ทะ ตำบลน้ำโจ้ 2 หมู่บ้าน คือ บ้านแม่ปุง และบ้านฮ่องห้า ซึ่งเป็นพื้นที่ติดต่อกับตำบลกล้วยแพะ
จังหวัดแม่ฮ่องสอน (จากการสำรวจในการทำรายนงานครั้งนี้) พบว่า มีชุมชนชาวไทลื้อตั้งถิ่นฐานอยู่ในอำเภอปาย บ้านแม่เย็น สันนิษฐานว่าเป็นกลุ่มเดียวกับชุมชนชาวลื้อ บ้านแม่สาบ อำเภอสะเมิง ที่ได้อพยพโยกย้ายหาที่ทำกินเข้ามาช่วงหลัง เมื่อมีทำสัมปทานค้าไม้สักให้กับบริษัทอังกฤษช่วงสมัยรัชกาลที่ 5
จังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดลำพูน
การตั้งถิ่นฐานของชุมชนชาวไทลื้อในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ส่วนใหญ่อยู่ในเขตอำเภอสันทราย อำเภอสะเมือง และอำเภอดอยสะเก็ด ส่วนในอำเภอสันกำแพง กิ่งอำเภอแม่ออน และเขตรอยต่อจังหวัดลำพูน (คืออำเภอบ้านธิ (ค่อนข้างยืนยันได้ว่าเป็นกลุ่มชาวลื้อที่อพยพมาจากเมืองยอง (ดู รัตนาพร เศรษฐกุล 2538) ปัจจุบันชุมชนชาวลื้อในจังหวัดเชียงใหม่ที่มีการแสดงอัตลักษณ์และรือฟื้นประวัติศาสตร์การตั้งถิ่นฐาน ตลอดจนประเพณีวัฒนธรรมของตนอย่างชัดเจน คือชุมชนชาวลื้อบ้านเมืองลวง ในอำเภอดอยสะเก็ด และชุมชนชาวลื้อบ้านแม่สาบ อำเภอสะเมิง สำหรับประวัติการตั้งถิ่นฐานของชาวลื้อบ้านเมืองลวงนั้น ตามหลักฐานประวัติศาสตร์ที่พบ (คือจารึกและเอกสารใบลานที่ระบุการสร้างวัดของชุมชน คือวัดศรีมุงเมือง) พวกเขาเชื่อวาบรรพบุรุษถูกกลุ่มเจ้าเจ็ดตน (ซึ่งต่อมาจะสถาปนาราชวงศ์ขึ้นปกครองล้านนายุคที่ 2 โดยการสนับสนุนจากกษัตริย์สยาม ราชวงศ์จักรี) กวาดต้อนมาจาก เมืองวะและเมืองลวง ซึ่งขึ้นตรงกับ “ปันนาเมืองลวง” ทางตอนใต้ของสิบสองปันนา (ติดชายแดนพม่าในปัจจุบัน) ราวๆ ปี พ.ศ.2350 ซึ่งเป็นยุคสร้างบ้านเมืองขึ้นใหม่ หลังจากผู้นำของล้านนาสามารถขับไล่และปลดแอกจากการปกครองของพม่าได้ (ดังกล่าวไปข้างต้น) ยุคการกวาดต้อนผู้คน ควบคู่ไปกับการทำลายศูนย์อำนาจของพม่าในล้านนา (คือเชียงแสน เมืองนาย และเชียงใหม่) มักเรียกกันว่ายุค “เก็บผักใส่ซ้าเก็บข้าใส่เมือง”
การอพยพเข้ามาตั้งรกรากของชาวลื้อสิบสองปันนา ในพื้นที่ที่ปัจจุบันคือจังหวัดเชียงใหม่ (คือแถบอำเภอดอยสะเก็ด อำเภอสันทราย) ทางด้านตะวันออก จึงเกิดขึ้นในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันกับ การตั้งถิ่นฐานของชาวไทขึน จากเชียงตุง (ซึ่งส่วนใหญ่ตั้งชุมชนอยู่นอกเวียงเชียงใหม่ด้านทิศใต้ หรือเขตนอกประตูเชียงใหม่) และชาวลื้อเมืองยอง (ซึ่งส่วนใหญ่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในเขตอำเภอสันกำแพง โดยเฉพาะที่ตำบลบวกค้าง และกิ่งอำเภอแม่ออน รอยต่อเขตอำเภอบ้านธิ จังหวัดลำพูน) อย่างไรก็ตาม สำหรับชาวลื้อในแถบแม่ออนและอำเภอบ้านธิ จังหวัดลำพูน พวกเขาได้รื้อฟื้นและสร้างความทรงจำใหม่ โดยเชื่อว่า บรรพบุรุษของพวกเขาคือชาวไทลื้อสิบสองปันนา ที่อพยพมาจาก เชียงรุ่ง
จังหวัดลำปางและจังหวัดแพร่
ชุมชนไทลื้อที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในเขตจังหวัดแพร่ปัจจุบันนั้น เข้ามาตั้งแต่สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ (ช่วงเดียวกันกับ “ยุคเก็บผักใส่ซ้าเก็บข้าใส่เมือง”) ทั้งนี้สันนิษฐานว่า ชาวลื้อกลุ่มนี้ มีพื้นเพเดิมมาจากเมืองยองและเชียงแสน (ช่วงแรกที่ กลุ่มเจ้าเจ็ดตน ขึ้นไปตีเมืองเพื่อขับไล่พม่าออกจากล้านนา จึงมีการกวาดต้นชาวลื้อลงมาด้วย) อยางไรก็ตามสำหรับชาวลื้อจากสิบสองปันนา ปัจจุบันในจังหวัดแพร่ มีหมู่บ้านของของชาวไทยลื้อที่สำคัญอยู่ 2 แห่ง คือ บ้านถิ่น ตำบลบ้านถิ่น อำเภอเมือง และบ้านหลวง ตำบลพระหลวง อำเภอสูงเม่น ส่วนที่จังหวัดลำปาง จากรายงานการศึกษาของ ประชัน รักพงษ์ (2536) พบว่าในพื้นที่จังหวัดลำปาง มีชุมชนไทลื้อขนาดใหญ่ ตั้งอยู่ในเขตอำเภอแม่ทะ ตำบลน้ำโจ้ 2 หมู่บ้าน คือบ้าน แม่ปุง บ้านฮ่องห้า และในอำเภอเมือง คือ ตำบลกล้วยแพะ 5 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านกล้วยหลวง บ้านกล้วยแพะ บ้านกล้วยฝาย บ้านกล้วยกลาง และบ้านกล้วยม่วง ชาวลื้อที่ลำปางนี้ เชื่อว่าส่วนใหญ่ถูกกวาดต้นมาจากเมืองยอง แต่พวกเขาไม่เรียกตนเองว่า “คนยอง” (เหมือนกลุ่มชาวลื้อที่ตั้งรกรากอยู่ในจังหวัดลำพูน โดยเฉพาะอำเภอเมืองและอำเภอป่าซาง) ทว่า หากคนกลุ่มอื่นที่ไม่ใช่ลื้อด้วยกัน เรียกพวกเขาว่า “พวกลื้อ” พวกเขาจะถือว่าเป็นการดูถูกเหยียดหยาม เนื่องจากคำว่า ลื้อ แต่เดิมนั้นค่อนข้างที่จะมีความหมายไปในทางดูถูกเหยียดหยาม ซึ่งคงมีสาเหตุมาจากการเป็นเชลยสงครามที่ถูกกวาดต้อนมานั่นเอง
จังหวัดเชียงราย
การตั้งถิ่นฐานของชาวลื้อในพื้นที่จังหวัดเชียงรายจากสิบสองปันนา ส่วนใหญ่จะตั้งชุมชนหมู่บ้านอยู่ในเขตอำเภอเชียงของและพญาเม็งราย บรรพบุรุษของชาวลื้อสิบสองปันนาในพื้นที่แถบนี้ ส่วนใหญ่ถูกเจ้าเมืองน่าน (ซึ่งรับคำสั่งจากกษัตริย์สยาม ช่วงต้นรัตนโกสินทร์) กวาดต้อนมาจากหัวเมืองลื้อในเขต “ปันนาเมืองอู” ซึ่งตั้งอยู่ทางภาคเหนือของลาวในปัจจุบัน (ก่อนที่จะตกเป็นของอินโดจีนฝรั่งเศส) คือเมืองอู (ปัจจุบันคือ บุนเหนือ บุนใต้) และเมืองสิงห์ (เมืองศูนย์อำนาจหนึ่งที่น่าสนใจของชาวลื้อ หลวงน้ำทานั้นแต่เดิมเป็นเพียงหมู่บ้านเล็กๆ ขึ้นกับเจ้าเมืองสิงห์) ส่วนชุมชนของชาวลื้อสิบสองปันนา (จากเชียงรุ่งและเมืองลวง) อีกกลุ่มใหญ่ซึ่งอพยพมาในภายหลัง คือช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และสงครามกลางเมืองในจีน (ทศวรรษ 2490) นั้นตั้งถิ่นฐานอยู่ในเมืองชายแดนแม่สาย ซึ่งปัจจุบันพบว่า ชุมชนชาวลื้อสิบสองปันนา กระจายตัวอยู่โดยทั่วในเขตอำเภอแม่สาย ส่วนหนึ่งมาจากการเพิ่มขึ้นของประชากร และการอพยพเข้ามาทีหลังอีก 2 ช่วงสำคัญคือ ช่วงปฏิวัติวัฒนธรรมในจีน (ทศวรรษ 1970) และช่วงสงครามกลางเมืองพม่า (ทศวรรษ 1980) อย่างไรก็ตาม ความซับซ้อนแต่น่าสนใจอยู่ตรงที่ ชาวลื้อที่อพยพเข้ามาช่วงหลังและปัจจุบันยังแทบไม่มีใครได้ถือสัญชาติไทย จะเป็นกลุ่มชาวลื้อที่เดิม มีบ้านเกิดเมืองนอนอยู่ในสิบสองปันนา ทว่าลี้ภัยการปฏิวัติวัฒนธรรม ข้ามแดนจากเขตปกครองตนเองชนชาติไทสิบสองปันนา (ตั้งขึ้นในปี 2496) ลี้ภัยมาอยู่ในเมืองยองปะปนกับชาวไทลื้อเมืองยอง (รัฐฉาน พม่า) ก่อน จากนั้นพวกเขาจึงหาทางโยกย้ายลงมายังเมืองชายแดนท่าขี้เหล็กและแม่สาย
ชุมชนชาวลื้อในแม่สาย ที่มาจากสิบสองปันนา ส่วนใหญ่มีบ้านเกิดเมืองนอนเดิมอพยพมาจาก 3 หัวเมืองสำคัญคือ (1) เมืองหุน เมืองฮาย ซึ่งอยู่ทางเขตตะวันตกเฉียงใต้ (2) เมืองลวง ซึ่งอยู่ทางใต้สุดของเขตปกครองตนเองชนชาติไทสิบสองปันนาในปัจจุบัน และ (3) เชียงรุ่ง-เมืองฮำ ซึ่งกลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็นครอบครัวเครือญาติของเจ้าหม่อมคำลือ เจ้าแผ่นดินองค์สุดท้ายของสิบสองปันนา ชาวลื้อสิบสองปันนาที่เก่าแก่ที่สุดในแม่สาย ตั้งรกรากอยู่ในบ้านไม้ลุงขุน (ราญ ฤนาถ และชุลีพร วิมุกตานนท์. 2530) และหากไม่รวมชาวลื้อเมืองยอง ที่อพยพขึ้นมาจากลำพูนช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งปัจจุบันคือ “ชุมชนบ้านเหมืองแดง” ของอำเภอแม่สาย และอีกส่วนหนึ่งในเขตอำเภอแม่จันและอำเภอเชียงแสน หลังปี 2535 เป็นต้นมา ในเขตอำเภอชายแดนแม่สายยังมีชุมชนชาวลื้อจากเมืองยอง (รัฐฉาน พม่า) อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานกระจายตัวอยู่ในพื้นที่รอบนอกเขตเมืองแม่สาย คือหมู่บ้านเหมืองแดงปิยะพร ที่แรกเริ่มเดิมทีมีสมาชิกกลุ่มจำนวน 14 ครัวเรือน กลุ่มนี้ต่อมาเป็นแกนนำสำคัญของ “สมาคมไทลื้อแม่สาย”
จังหวัดน่าน
ขณะที่ชาวลื้อที่ถูกกวาดต้อนมาจากหัวเมืองลื้อสิบสองปันนาฝั่งตะวันตกของลำน้ำโขง คือเมืองยอง เมืองลวง เมืองหุน เมืองฮาย และเชียงรุ่ง เป็นต้น นั้นตั้งรกรากอยู่ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง ชุมชนชาวลื้อที่ตั้งรกรากอยู่ในจังหวัดน่าน (และเชียงคำ พะเยา และเชียงของ จังหวัดเชียงราย) ในปัจจุบันนั้น ส่วนใหญ่คือกลุ่มที่ถูกกวาดต้อน มาในช่วงต้นรัตนโกสินทร์ (จนถึงสมัยรัชกาลที่ 4) มาจากหัวเมืองทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำโขง คือ เมืองหล้า เมืองอู เมืองสิงห์ เมืองมางและเมืองปง เป็นต้น และด้วยเหตุที่เจ้าเมืองน่าน คือผู้ที่นำทัพขึ้นไปกวาดต้อนลงมา ชาวลื้อสิบสองปันนาเหล่านี้ ส่วนใหญ่จึงตั้งถิ่นฐานใหม่ในพื้นที่ภายใต้การปกครองของเจ้าเมืองน่าน คือจังหวัดน่าน โดยเฉพาะเมืองปัว (และเชียงคำ เชียงของ) และกลายเป็นชุมชนท้องถิ่นสำคัญของน่านในเวลาต่อมา ดังจะเห็นว่า ทุกวันนี้วัฒนธรรมท้องถิ่นที่โดดเด่นในพื้นที่จังหวัดน่านนั้นคือศิลปะวัฒนธรรมของชาวไทลื้อ ทั้งการแต่งกาย อาหาร การทอผ้า วัดวา ศาสนาสถาน สถาปัตยกรรม และบ้านเรือนแบบไทลื้อ
การกวาดต้อนผู้คนจากสิบสองปันนาลงมาตั้งรกรากในเขตเมืองน่าน ซึ่งเป็นไปตามบัญชาของกษัตริย์สยาม เพื่อแก้ปัญหาเมืองร้าง ขาดผู้คนในแถบ “ล้านนาตะวันออก” จำนวนประชากรของจังหวัดน่านในปัจจุบันจึงมีลูกหลานของชาวไทลื้อสิบสองปันนา (รวมทั้งชาวลื้อเมืองยอและชาวเชียงแสนอีกส่วนหนึ่ง) อาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก กลายเป็นคนพื้นถิ่นของจังหวัดนี้ ดังปรากฏสะท้อนผ่านวิถีชีวิตและวัฒนธรรมประเพณีแบบไทลื้อ ที่เห็นได้โดยทั่วไป ศิลปะ วัฒนธรรมไทลื้อที่สำคัญ เช่น วัดหนองบัว และวัดหนองแดง มีสถาปัตยกรรมและภาพจิตรกรรมไทลื้อที่หาดูได้ยาก ส่วนที่ บ้านหนองบัว ตำบลป่าคา อำเภอท่าวังผา ซึ่งเป็นหมู่บ้านชาวไทลื้อกลุ่มใหญ่ ปัจจุบันเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม มีการจัดแสดงวัฒนธรรม และผ้าทอไทลื้อ การประกอบพิธีไหว้ผีบรรพบุรุษ คือผีเจ้าเมืองหล้า เป็นเอกลักษณ์โดดเด่น ที่สะท้อนความโหยหาอาลัย รักและภูมิใจในถิ่นฐานบ้านเกิดเมืองนอนเดิมของตนคือ สิบสองปันนา
จังหวัดพะเยา
อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา เป็นพื้นที่ศูนย์กลางของสมาคมไทลื้อแห่งประเทศไทย เนื่องจากมีการรวมตัวอย่างเข้มแข็งและการรื้อฟื้นประเพณีวัฒนธรรมไทลื้อ ผ่านการเชื่อมโยงและเดินทางกลับไปเยี่ยมเยือนญาติพี่น้อง ผูกมิตรสร้าเครือข่ายความสัมพันธ์กับชาวไทลื้อในสิบสองปันนายุคปัจจุบัน กระทั่งมักเป็นที่รับรู้กันว่า เชียงคำคือ “เมืองหลวงของชาวไทยลื้อ” จากสิบสองปันนาในประเทศไทย ในอดีตเชียงคำเป็นพื้นที่ผลิตข้าวและมีการค้าข้าวที่สำคัญมากที่สุดแห่งหนึ่งในภาคเหนือ (Moerman 1967) ก็เพราะว่าเป็นพื้นที่ที่มีชุมชนลื้อตั้งอยู่เป็นจำนวนมาก ชาวไทลื้อคือชาวนาที่มีภูมิปัญญาปลูกข้าวชั้นเลิศ การจัดการเหมืองฝาย และการค้าทางไกล คือวัวต่างช่วงหน้าแล้ง เชียงคำกลายมาเป็นศูนย์กลางของการรื้อฟื้นสืบสานวัฒนธรรมไทลื้อในประเทศไทย ตั้งแต่ต้นทศวรรษ 2530 มีกลุ่มที่เข้มแข็งภายใต้การนำของนักการเมืองท้องถิ่น คือลัดดาวัลย์ วงศ์ศรีวงศ์ เป็นแกนนำในการก่อตั้ง “สมาคมไทลื้อแห่งประเทศไทย” ซึ่งปัจจุบันมีสมาคมระดับจังหวัดแทบทุกจังหวัดในเขตภาคเหนือตอนบน ชาวลื้อในจังหวัดพะเยาซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่อำเภอเชียงคำ รวมพื้นที่ไปทางทิศตะวันออกติดชายแดนลาว (บริเวณลำน้ำแวน ลำน้ำแม่ลาว และลำน้ำยวน) ตามประวัติศาสตร์บอกเล่าของชาวล้านเองและที่บันทึกผ่านภาพจิตรกรรมฝาหนังในอุโบสถวัด (วักบ้านมาง วัดบ้านหย่วน) ระบุว่าบรรพบุรุษของชาวไทลื้อสิบสองปันนาในเชียงคำนั้นถูกกวาดต้อน อพยพลงมาในช่วงสมัยรัชกาลที่ 4 จากหัวเมืองลื้อทางตะวันออกเฉียงใต้ของสิบสองปันนา คือ เมืองพง เมืองหย่วน เมืองมาง เมืองบาน เมืองแพด และเมืองหล้า (ปัจจุบันเป็นตัวอำเภอของ Meng La County) ชื่อของหัวเมืองเหล่านี้ ปัจจุบันกลายเป็นชื่อของหมู่บ้านเก่าแก่ของชาวไทลื้อสิบสองปันนาในเชียงคำ คือ บ้านปง บ้านมาง บ้านหย่วน บ้านแพด บ้านเชียงบาน และบ้านล้า
ชาวลื้อในเชียงคำ ยังเล่าว่า แต่เดิมพวกเขาถูกกวาดต้อนให้ไปตั้งรกรากใหม่ที่เชียงม่วน ต่อมาพวกเขาจึงขยายตัวและหาที่ทำกินใหม่ จนอพยพมาอยู่ที่เชียงคำ ปัจจุบันจึงพบว่ามีหมู่บ้านของชาวลื้อสิบสองปันนาชื่อเดียวกันทั้งใน เชียงม่วนและเชียงคำ คือ บ้านมาง (เมืองมาง) บ้านหย่วน (เมืองหย่วน) และบ้านปง (เมืองพง) (เชียงม่วน เดิมขึ้นตรงกับเจ้าเมืองน่าน ต่อมาเป็นส่วนหนึ่งของอำเภอบ้านม่วง จังหวัดน่าน กระทั่งหลังมีการตั้งจังหวัดพะเยาขึ้นในปี 2518 โดยแยกอำเภอเชียงคำจากเชียงราย และแยกเชียงม่วน และอำเภอปง จากจังหวัดน่าน มาขึ้นกับจังหวัดพะเยาคืออยู่ในเขตอำเภอเชียงม่วน จังหวัดน่าน) ชาวลื้อสิบสองปันนา ในเชียงคำและเชียงม่วน ยังคงมีการประกอบพิธีไหว้ผีเมืองของตน ทั้งแสดงความเคารพและจดจำบรรพชน ซึ่งถือเป็นการแสดงออกเชิงอัตลักษณ์ วัฒนธรรมที่แตกต่างไปจากชาวไทโยนอย่างชัดเจน ว่าพวกเขามาจากไหน อยู่ภายใต้การปกครองของใคร อาจด้วยเหตุที่เป็นกลุ่มที่ถูกกวาดต้อนมาหลังสุด พวกเขาจึงมีสำนึกรักบ้านเกิดเมืองนอนเดิมต่างไปจากชาวไทลื้อกลุ่มอื่น ที่ถูกกวาดต้อนเข้ามาตั้งรกรากอยู่ในเชียงใหม่และลำพูน
ดังที่กล่าวมาข้างต้นถึงประวัติศาสตร์การตั้งถิ่นฐานของชาวลื้อสิบสองปันนาในภาคเหนือของประเทศไทย จะเห็นว่า การสำรวจจำนวนครัวเรือนและจำนวนประชากรของ “ชาวไทยลื้อ” ซึ่งมีวิถีชีวิตเหมือนเฉกเช่นเดียวกับกับชาวไทยพื้นราบของภาคเหนือกลุ่มอื่น และปัจจุบันได้สัญชาติไทยและกลืนกลายเป็นส่วนหนึ่งของพลเมืองไทยในสังคมท้องถิ่นภาคเหนือไปแล้วกว่า 200 ปีแล้วนั้น เป็นเรื่องยากยิ่ง หรืออาจจะเป็นไปไม่ได้เลย มากไปกว่านั้น รัฐบาลไทยก็ไม่ได้มีนโยบายจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ที่เป็นคนพื้นราบ (แม้แต่ชาวจีน คนไทยเชื้อสายจีน ก็ไม่ได้มีการกำหนดอย่างเป็นทางการ) ทว่ารัฐไทยดำเนินการจำแนกและจัดเก็บข้อมูลประชากรของ “ราษฎรบนที่สูง” ซึ่งเดิมเรียกว่า “ชนกลุ่มน้อย” ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในภาคเหนือและตั้งชุมชนหมู่บ้านอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเล 500 เมตรขึ้นไป เช่น กะเหรี่ยง ม้ง อาข่า มูเซอ ลีซู ลัวะ ปะหล่อง เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม หากจะลองพยายามประมาณการว่า คนรุ่นลูกรุ่นหลานของไทลื้อสิบสองปันนาที่ถูกโยกย้าย กวาดต้อนมาตั้งแต่สมัยต้นรัตนโกสินทร์ ในเขตภาคเหนือตอนบนของประเทศไทยในปัจจุบันนั้นมีจำนวนเท่าใด อาจประมาณการได้ว่าในเขตตำบล/หมู่บ้าน ซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นชุมชนของชาวไทลื้อ ที่สามารถระบุได้อย่างชัดเจน(ทั้งพวกเขายังเรียกตนเองและรื้อฟื้นวัฒนธรรทมไทลื้อขึ้นมา และมีหลักฐานว่าเป็นชุมชนของชาวลื้อแต่ดั้งเดิมมานานกว่า 100 ปีเป็นอย่าวน้อย ก็อาจกล่าวได้ว่า อย่างน้อย 75 % ขึ้นไปของสมาชิกในชุมชน หมู่บ้าน/ตำบลนั้นๆ คือ “ไทยลื้อ” ส่วนที่เหลือนอกจากจะเป็นกลุ่มคนอพยพเข้าชุมชน โดยเฉพาะผ่านการแต่งงาน การเข้าไปหางานทำ หรือการย้ายเข้าไปตั้งรกรากอาศัยอยู่ปะปนกับชาวไทลื้อ คาดว่าไม่น่าจะมีสัดส่วนมากนัก ดังนั้นข้อมูลที่นำเสนอในตารางข้างล่างนี้ จึงแสดงจำนวนประชากรในพื้นที่ระดับตำบล (การสำมะโนประชากรของสำนักสถิติแห่งชาติ ปี 2553) ที่ระบุได้ว่าเป็นที่ตั้งของชุมชนไทยลื้อ ใน ปีพ.ศ. 2553 เนื่องจากข้อมูลระดับหมู่บ้านไม่สามารถเข้าถึงได้
ดังที่กล่าวมาข้างต้น ข้อมูลการเพิ่มขึ้น การลดลงของ การเปลี่ยนแปลงของจำนวนประชากรชาวลื้อในประเทศไทย ซึ่งกลายเป็นคนท้องถิ่นในแต่ละจังหวัดนั้นย่อมสัมพันธ์ไปกับการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรของประเทศ ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วช่วงเริ่มแผนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งนำไปสู่การลดอัตราการตายแรกเกิดของทารก และการมีสภาพชีวิตทางเศรษฐกิจสังคมดีขึ้นเป็นลำดับ จนนำมาสู่นโยบายการวางแผนควบคุมจำนวนประชากรของประเทศที่เริ่มอย่างจริงจังในทศวรรษ 2520 (โครงการ ถุงยางอนามัยมีชัย) กระนั้นการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรน่าจะขยายตัวมาโดยตลอด แม้ว่าสัดสวนของการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรในภาคเหนือนั้นจะต่ำกว่าภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทั้งนี้เนื่องจากภาคเหนือตอนบนนั้นพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าเขา ประชากรบนที่ราบ คือชาวไทกลุ่มต่างๆ ทั้ง ลื้อ ขึน โยน ตั้งถิ่นฐานอยู่ในที่ราบระหว่างหุบเขา ซึ่งพื้นที่จำกัด เงื่อนไขทางนิเวศวิทยา จึงมีส่วนอยู่มากต่อการควบคุมการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากร มากไปกว่านั้นในพื้นที่ภาคเหนือ เนื่องจากที่ทำกินมีจำกัด เมื่อจำนวนสมาชิกในชุมชนเพิ่มมากขึ้น การโยกย้ายตั้งหมู่บ้านเพื่อขยายที่ทำกินใหม่ก็ทำได้อย่างจำกัด จนนำไปสู่แนวโน้มของการย้ายถิ่นเพื่อเป็นแรงงานในเมืองใหญ่ (โดยเฉพาะกรุงเทพฯ และหาดใหญ่ ภูเก็ต) และการให้ความสำคัญกับการศึกษาสมัยใหม่ ซึ่งนำไปสู่การโยกย้ายออกจากชุมชนบ้านเกิดไปอาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ เช่น เมืองเชียงใหม่ และกรุงเทพมหานคร ไปโดยปริยาย
การดำรงชีพ
เนื่องมาจากคนลื้อเป็นคนที่ขยันทำมาหากินมาตั้งแต่สมัยโบราณ มีชีวิตสัมพันธ์กับระบบเกษตรแบบคนพื้นราบ ได้แก่ การทำนา ทำสวน ทำไร่ เลี้ยงสัตว์ ปัจจุบันยังมีชาวลื้อที่อยู่ในวิถีเกษตร หากแต่คนรุ่นใหม่เริ่มมีการปรับตัว มีบางส่วนที่ค้าขายและรับราชการ ในยุคปัจจุบันเด็กรุ่นใหม่ได้รับการศึกษาสูงขึ้นทำให้มีอาชีพที่หลากหลายตามระดับการศึกษา
โครงสร้างสังคม
ชุมชนไตลื้อแบบดั้งเดิมที่มีความเชื่อเรื่องผีและสายเครือญาติที่สืบเนื่องมาจากการอพยพมาจากเมืองอูและเมืองสิงห์ จะมีระบบการปกครองของชุมชนลื้อ ที่เรียกว่า “ไตเฮือน” ที่หมายถึง การอยู่รวมกันของชุมชนชาวลื้อที่สัมพันธ์กับความเชื่อเรื่องผีและสายเครือญาติที่สืบเนื่องมาจากเมืองอูและเมืองสิงห์ มีการสืบเชื้อสายหรือการสืบผีที่มีลักษณะความเป็นอยู่เป็นกลุ่มเป็นก้อนของคนที่เป็นเหมือนญาติกันโดยการสืบสายมาจากบรรพบุรุษ จำนวน 5 ไตเฮือน คือ ไตเฮือนน้ำห้วย ไตเฮือนกอขาม ไตเฮือนนาย ไตเฮือนกลาง และไตเฮือนก้างเถิ่น ซึ่งไม่มีลายลักษณ์อักษรระบุไว้แต่มีการเล่าสืบต่อกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ การตั้งชื่อ “ไตเฮือน” แต่ละชื่อนั้นสืบสายกันมาตามประวัติศาสตร์ที่คนลื้อเคยอยู่ในแคว้นสิบสองปันนาในอดีต ชุมชนลื้อแต่ละพื้นที่มีการตั้งชื่อไตเฮือนแตกต่างกันออกไป แต่แตกต่างกันไม่มากนัก
นอกจากระบบไตเฮือนจะเป็นระบบที่เป็นจุดยึดโยงความสัมพันธ์ของคนลื้อในแต่ละพื้นที่แล้ว ระบบไตเฮือนยังมีบทบาทในชุมชนอีกหลายเรื่อง โดยเฉพาะในเรื่องของการสืบผีของชาวลื้อ นอกจากนี้ ยังพบว่าหัวหน้าไตเฮือน หรือที่เรียกว่า “เจ้าเฮือน” ยังมีบทบาทต่อชุมชนอย่างมาก ในการแต่งงานของคนลื้อในอดีตจะเชิญหัวหน้าไตเฮือนมาเป็นประธานในงานที่คนลื้อเรียกว่า “มานั่งหนัก” (หมายถึงการนั่งนานไม่ลุกจนกว่างานจะเสร็จพิธี) มีการเลี้ยงอาหารเป็นขันโตกที่คนลื้อที่นี่เรียกว่า “โก๊ะ” จะเลี้ยงจำนวนมากน้อยขึ้นกับว่าเชิญคนจำนวนมากน้อยแค่ไหน ส่วนใหญ่เชิญไม่มากนัก ประมาณ 3-4 โก๊ะ โดยมีการเลี้ยงที่บ้านหัวหน้าไตเฮือนที่เจ้าสาวหรือเจ้าบ่าวเป็นสมาชิกอยู่ หลังจากแต่งงานเสร็จแล้วคนลื้อจะมีการเลี้ยงผีของไตเฮือน
ระบบไตเฮือนเปรียบเสมือนระบบการปกครองภายในชุมชนลื้อซึ่งในอดีตนับว่ามีความสำคัญต่อชุมชนลื้ออย่างมาก เพราะไม่มีระบบการปกครองตามกระทรวงมหาดไทย แต่ปัจจุบันระบบไตเฮือนเปรียบเสมือนเป็นการแบ่งโครงสร้างของชุมชนเพื่อช่วยในเรื่องการบริหารจัดการชุมชน ซึ่งในอดีตไม่ได้มีกฎหมายอย่างเป็นทางการต้องอาศัยระบบไตเฮือนช่วยในการปกครองคนในชุมชนลื้อ ปัจจุบันยังช่วยในเรื่องการช่วยกันทำงานในชุมชนในรูปแบบต่างๆ เช่น งานศพ งานขึ้นบ้านใหม่ งานด้านวัฒนธรรมและประเพณีของชุมชนด้วย โดยหัวหน้าแต่ละไตเฮือนมีเกณฑ์ในการเลือกโดยพิจารณาจาก 1) ความอาวุโส และ 2) ความเหมาะสม โดยทั่วไปในชุมชนลื้อก็จะมีการเปลี่ยนหัวหน้าไตเฮือนทุกๆ 4 ปี และมีการสลับการเปลี่ยนหัวหน้าไตเฮือนไปเรื่อยๆ หากจำนวนครัวเรือนในไตเฮือนไม่มากนักก็จะมีคนที่เป็นหัวหน้าไตเฮือนซ้ำๆ กัน
เสื้อผ้าและการแต่งกาย
การแต่งกายด้วยชุดลื้อแต่ละถิ่นที่มีความแตกต่างกันในรายละเอียดและลวดลาย สีสันเล็กน้อย เนื่องจากพัฒฯการของแต่ละชุมชนประกอบกับแนวนโยบายแปลงวัฒนธรรมมาเป็นสินค้าสร้างมูลค่า ทำให้เสื้อผ้าพของกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีอัคลักษณ์โดดเด่นได้รับการพัฒนาและปรับรูปแบบไป
การแต่งกายผู้หญิงลื้อที่นี่ในอดีตนั้นจะสวมใส่ “เสื้อปั๊ด” ที่มีลักษณะแขนยาว เอวลอย ตัดเข้ารูป ตรงชายเสื้อจะยกลอยขึ้นทั้งสองข้างของลำตัว สีที่ใช้เป็นสีดำ สีคราม ด้านหน้าตัวเสื้อตัดแบบป้าย ส่วนมากจะป้ายจากขวาไปซ้าย มีเพียงส่วนน้อยที่ป้ายจากซ้ายไปขวา ขึ้นอยู่กับความถนัดของคนสวมใส่ ตรงขอบเสื้อที่ป้ายสมัยโบราณมีการนำเส้นด้ายมาเย็บแบบเดินเส้นเรียงติดกันประมาณ 6-7 เส้น แล้วเว้นช่วงให้ว่างแล้วเดินเส้นด้ายเรียงกันอีกรอบ ทำเป็นกลุ่มประมาณ 4-5 กลุ่ม และมีการพัฒนามาเป็นการตกแต่งด้วยเม็ดพลาสติกแข็งสีต่างๆ ตรงริมเส้นด้ายที่นำมาเรียงกัน การใช้ผ้าสีต่างๆ มาเย็บเป็นเส้นความกว้างประมาณ 4 กระเบียดโดยเย็บเรียงสลับสีกันประมาณ 4-6 เส้น เพื่อเพิ่มความสวยงาม ปัจจุบันมีการนำลายผ้าทอลื้อมาตกแต่งเป็นเส้นตรงด้านหน้า ปลายแขนเสื้อและชายเสื้อหรือใช้ผ้าสีกุ๊นตรงชายเสื้อและปลายแขนเสื้อ เพื่อความสวยงามและโดดเด่น ตรงปลายของผ้าที่ป้ายไปด้านข้างทั้งสองข้างจะใช้ด้ายฝั้นเป็นเส้นหรือใช้ผ้าทำเป็นเส้นเล็กๆ เพื่อนำมาผูกกับสายอีกด้านหนึ่งเป็นการผูกเสื้อทั้งฝั่งซ้ายและฝั่งขวาเข้าด้วยกันโดยไม่ต้องใช้กระดุม ปัจจุบันมีการตัดเสื้อที่มีสีสันมากขึ้น มีสีชมพู สีขาว สีเหลือง ขึ้นอยู่กับโอกาสในการสวมใส่ ซึ่งมีการประยุกต์มากขึ้น และนอกจากเสื้อแขนยาวแล้วปัจจุบันยังนิยมตัดเสื้อลื้อแขนสั้นเพื่อให้เหมาะสมกับสภาพอากาศในแต่ละฤดูกาลด้วย
ผู้หญิงลื้อสวมซิ่นที่เป็นผ้าทอที่เป็นอัตลักษณ์ของลื้อ ที่ประกอบไปด้วย 3 ส่วน คือ หัวซิ่น กลางซิ่น และตีนซิ่น โดยมีลวดลายตรงกลางตัวซิ่น ส่วนหัวซิ่นเป็นผ้าฝ้ายสีดำ สีขาว หรือสีน้ำตาล ส่วนตีนซิ่นเป็นผ้าพื้นสีดำ ซิ่นของลื้อเวลาเย็บแล้วมี 2 ตะเข็บเพราะกี่ที่ใช้ทอมีขนาดไม่กว้างมาก ทำให้ได้ผ้าผืนเล็ก การนำมาทำผ้าถุงจึงจำเป็นต้องเย็บผ้าต่อกันสองผืน
สีเสื้อผ้าของผู้หญิงไทลื้อจะใช้ในโอกาสที่แตกต่างกันออกไป เช่น ถ้ามีงานบุญจะใส่เสื้อปั๊ดสีขาว โพกหัวด้วยผ้าสีขาวหรือสีชมพู ส่วนเสื้อผ้าสีดำจะสวมใส่ในงานประเพณีหรืองานแต่งงาน โดยโพกผมด้วยผ้าสีขาว สีดำ หรือสีชมพู ทรงผมผู้หญิงไทลื้อส่วนใหญ่ไว้ผมยาวแล้วเกล้ามวย ขมวดเป็นมวยต่ำ มวยผมให้อยู่ในแนวขวัญกลางศีรษะ ค่อนไปทางขวา แต่ปัจจุบันพบเห็นได้น้อย นอกจากนี้ยังมีถุงย่ามที่ใช้เป็นเครื่องประดับตกแต่งเวลาแต่งชุดลื้อ ในอดีตเอาไว้ใส่หมากพลูหรือดอกไม้ธูปเทียนไปวัด ปัจจุบันผู้หญิงลื้อจะใส่ของใช้ เครื่องสำอาง โทรศัพท์และเงิน
การแต่งกายของผู้ชายลื้อ ในอดีตจะสวมเสื้อคอกลมแขนยาวสีดำ สีขาว หรือสีคราม เป็นเสื้อตัวสั้น คอกลม เป็นผ้าสีล้วน ที่เป็นผ้าทอมือที่ทอใช้กันเองในชุมชน สีเสื้อจะใส่ในโอกาสที่แตกต่างกันคือ ถ้ามีงานบุญจะใส่สีขาวหรือสีดำ ด้านหน้าของตัวเสื้อมีผ้าป้ายเฉียงจากขวาไปซ้ายหรือซ้ายไปขวา ขึ้นอยู่กับความถนัดของผู้สวมใส่ ซึ่งส่วนใหญ่จะป้ายจากขวาไปซ้าย ป้ายมาติดกระดุมขอดเป็นปมหรือกระดุมเงินบริเวณใต้รักแร้และตรงเอว จากอดีตที่เป็นผ้าสีล้วนได้มีพัฒนาการการทำเสื้อผู้ชายให้มีสีสันสวยงาม โดยการตกแต่งที่สาบเสื้อด้านหน้าด้วยผ้าสีต่างๆ ความกว้างประมาณ 4 กระเบียดโดยเย็บสลับสีกันประมาณ 4-6 เส้น แต่งปลายแขนเสื้อด้วยผ้าทอจกเล็กๆ หรือกุ๊นด้วยผ้าสีต่างๆ ผู้ชายสวมกางเกงสีเดียวกันกับเสื้อ มีสายยาวสองเส้นที่เย็บติดไว้ด้านหลังกางเกง สำหรับผูกเพื่อยึดกางเกงที่ด้านหน้า กางเกงมีลักษณะก้นลึกที่ ศรียง วงศ์ชัย (2552: 23) เรียก “เต่ว 3 ดูก” หมายถึง กางเกงที่มีการเย็บ 3 ตะเข็บ ถ้าเป็นเจ้า เป็นพระยา เป้ากางเกงจะต้องลึกเป็นพิเศษถึงกับต้องมีผู้เดินตามหลังเพื่อคอยถือเป้ากางเกงให้ การแต่งกายของผู้ชายลื้อจะใช้ผ้าขาวม้าคาดพุง ผ้าโพกศีรษะด้วยผ้าสีน้ำตาล สีขาว หรือสีดำ พัฒนาการการทำกางเกงลื้อผู้ชายจากที่เป็นสีล้วนก็เป็นการกุ๊นด้วยผ้าสีต่างๆ ตรงปลายขากางเกงเพื่อความสวยงาม
ปัจจุบันการแต่งกายของคนลื้อได้เปลี่ยนแปลงไปตามยุคตามสมัย วัยรุ่นและผู้ใหญ่จะนิยมแต่งกายตามกระแสนิยมที่ได้รับอิทธิพลการแต่งกายมาจากวัฒนธรรมการแต่งกายทางตะวันตกและตะวันออก ปัจจุบันนี้คนลื้อนิยมใส่ชุดลื้อเฉพาะในงานเทศกาลสำคัญต่างๆ เช่น วันขึ้นปีใหม่ และวันสำคัญทางพุทธศาสนา การแต่งกายแบบเดิมมักจะเห็นได้จากการแต่งของผู้สูงอายุในหมู่บ้าน หรือตามงานประเพณี พิธีกรรม หรือในโอกาสสำคัญๆ เท่านั้น (วิชุลดา มาตันบุญ และคณะ, 2556) และมีการสวมใส่ชุดลื้อเพื่อนำเสนอให้กับนักท่องเที่ยวในโอกาสที่มีคนมาเยือน
ที่อยู่อาศัยชาวลื้อ แบบชุมชนดั้งเดิมจะมีลักษณะตั้งบ้านเรือนอยู่รวมกันเป็น “ไตเฮือน” ซึ่งหมายถึง การตั้งบ้านเรือนอยู่รวมกันเป็นกลุ่มของชาวลื้อ การสร้างบ้านเรือนสมัยก่อนจะนิยมสร้างบ้านเรือนด้วยไม้ มีเสาบ้านขนาดใหญ่ ใต้ถุนบ้านยกสูง บริเวณใต้ถุนใช้เก็บข้าวของเครื่องใช้และผลผลิตทางการเกษตร ตลอดจนใช้เป็นที่เลี้ยงสัตว์เช่น วัว ควาย ไก่ เป็ด มีครัวไฟบนบ้าน ในอดีตเพื่อสร้างความอบอุ่นในฤดูหนาว เตาไฟทำด้วยดินเหนียวอัดแน่นทำเป็นฐานวางหม้อ มีความแข็งแรง เหนือเตาไฟมีตะแกรงไม้ไผ่สานถี่ๆ แขวนด้วยเชือก เพื่อไว้ตะกร้าหรือเสื่อไม้ไผ่ มีชานแดดยื่นออกไปด้านข้างบ้าน
ปัจจุบันการสร้างบ้านเรือนของชาวลื้อเปลี่ยนแปลงไปตามยุคตามสมัยส่วนใหญ่มีการสร้างบ้านด้วยปูน หรือปูนผสมไม้ ลักษณะบ้านเป็นชั้นเดียวหรือสองชั้น มีการแยกครัวไฟออกจากตัวบ้านหรือหากมีครัวไฟในตัวบ้านก็จะไม่ได้ใช้งานมากนักเพราะเกรงว่าจะทำให้มีกลิ่นเหม็นเข้าตัวบ้าน
อาหารไทลื้อ โดยเฉพาะไทลื้อในภาคเหนือของประเทศไทย แม้จะคล้ายคลึงกับอาหารล้านนา (เช่น ร้านอาหารพื้นเมืองที่โด่งดังในเชียงใหม่ลำพูน คือ ดาวคะนอง ลำพูน เฮือนใจยอง (เชียงใหม่) คุ้มเวียงยอง และศูนย์วัฒนธรรมเชียงใหม่ (Old Chiang Mai) เจ้าของล้วนแล้วแต่มีบรรพบุรุษเป็นไทลื้อ กระนั้นหากพยายามจะแยกออกมา (ซึ่งค่อนข้างที่จะเป็นปัญหาแน่ๆ) อาหารหลักของไทลื้อ คือข้าวเหนียว (คนเมืองก็กิอนข้าวเหนียวเช่นกัน ดังสะท้อนผ่านเพลง ลูกข้าวนึ่งของจรัล มโนเพ็ขร) ส่วนอาหารที่ใช้วัตถุดิบประเภทผักเป็นผักพื้นบ้าน ในภาคเหนือของไทย อาหารไทลื้อในประเทศไทยที่นิยมรับประทานมักจะเป็นแกงผัก จากผักหรือพืชพรรณธรรมชาติ ที่หาได้ง่ายตามธรรมชาติ เช่น เห็ด หน่อไม้ ไข่มดแดง สาหร่ายน้ำจืด ส่วนพืชผักสวนครัวทั่วไป ซึ่งมักจะปลูกตามข่วงบ้าน ใช้พริกแกงเป็น เครื่องปรุงหลัก ประกอบด้วย พริก ตะไคร้ หอม กระเทียม ปลาร้า หากเป็นอาหารประเภทหน่อไม้จะใส่ “น้ำปู๋” (ทำจากปูนา) ลงไปด้วย เช่น ยำหน่อไม้ แกงหน่อไม้ เป็นต้น (เสาวภา ศักยพันธ์ 2556. หน้า 37)
อาหารของชาวไทลื้อจะมีรสชาติจืด มีการปรุงรสด้วยเกลือเป็นหลัก ซึ่งมีผลดีต่อสุขภาพ ทำให้ชาวไทลื้อและผู้รักสุขภาพ สามารถนำไปปรับใช้ในการปรุงอาหารประจำวันได้ ทว่า ปัจจุบันการปรุงอาหารกลับนิยมใช้เครื่องปรุงรสต่างๆ มากขึ้น โดยขาดการตระหนักถึงคุณค่าทางโภชนาการ วัตถุดิบทั้งหมดยังซื้อจากตลาดสด แทนการปลูกผักและเลี้ยงสัตว์ เช่นเดียวกับกับในสังคมภาคเหนือทั่วไป การเตรียมและการปรุงอาหารในชนบทหมู่บ้านอาจยังไม่ต่างไปจากอดีตมากนัก แต่รสชาติอาหารเปลี่ยนแปลงจากเดิม เพราะปัจจุบันนิยมใช้เครื่องปรุงที่หลากหลากหลาย รวมทั้งมีการใช้เครื่องอำนวยความสะดวกมาช่วยในการประกอบอาหารมากขึ้น
ประเพณี เทศกาล และพิธีกรรม
ประเพณีสำคัญในรอบปี ( 12 เดือน) ของชาวลื้อในประเทศไทย ปัจจุบันไม่แตกต่างไปจากประเพณีในท้องถิ่นล้านนา ภาคเหนือตอนบนของประเทศไทยมากนัก และหลายส่วนยังคล้ายคลึงกับประเพณีของชาวลื้อในพม่า สิบสองปันนา (จีน)และลาวตอนเหนือ อย่างไรก็ตาม ปฏิทินของชาวลื้อแต่เดิมดังที่ใช้กันอยู่ในสิบสองปันนา ลาวตอนเหนือ และรัฐฉาน จะนับช้ากว่าปฏิทินล้านนา 1 เดือน ส่วนชาวลื้อใสประเทศไทยปัจจุบันกันมาใช้ปฏิทินระบบเดียวกันกับล้านนาเป็นส่วนมาก ดังนี
เดือนเจี๋ยง (หรือเดือนแรก) ในเดือนนี้ (ราวตุลาคม-พฤศจิกายน) จะมีประเพณีจาริกแสวงบุญ ไหว้พระธาตุประจำเมือง
เดือนก๋ำ (หรือเดือนสอง ตรงกับเดือนยี่ ของล้านนา ราวๆ เดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม) เป็นฤดูกาลเก็บเกี่ยวข้าว มีงานยี่เป็ง/ลอยกระทงซึ่งเป็นอิทธิพลจากส่วนกลาง กรุงเทพฯ ส่วนในชุมชนของชาวลื้อดั้งเดิมจะมีประเพณี “เข้าก๋ำ”
เดือนสาม งานประเพณีบวชลูกแก้ว (ราวเดือนมกราคม) เป็กตุ๊ ทำบุญตานข้าวใหม่
เดือนสี่ ประเพณีบวชลูกแก้ว (ราวเดือนกุมภาพันธ์) เป็กตุ๊ ทำบุญตานข้าวใหม่
เดือนห้า งานประเพณีปอยหลวง(ราวเดือนมีนาคม จนถึงต้นเมษายน)
เดือนหก ประเพณีปีใหม่สังขาร (เดือนเมษายน) บางแห่งมีประเพณีปอยหลวง
เดือนเจ็ด (ราวเดือนพฤษภาคม) ประเพณีสรงน้ำพระธาตุ พระบาท
เดือนแปด (ราวเดือนมิถุนายน) ทำนา นำน้ำเข้านา หว่านกล้า ล้อมรั้วนา
เดือนเก้า (ราวเดือนกรกฎาคม) ประเพณีเข้าพรรษา ประเพณีตกศีล
เดือนสิบ (ราวเดือนสิงหาคม - กลางพรรษา)
เดือนสิบเอ็ด (ราวเดือนกันยายน) - ปลายพรรษา ตานธรรม ทำบุญตานสลากภัต
เดือนสิบสอง (ราวเดือนกันยายน-ตุลาคม) ออกพรรษา
ทั้งนี้ในส่วนของรายงานการสำรวจเกี่ยวกับประเพณี เทศกาล พิธีกรรมต่างๆ ของชาวไทลื้อในภาคเหนือของประเทศไทยนั้น ดังที่กล่าวไปโดยทั่วไปไม่ได้แตกต่างไปจากชาวล้านนา อย่างไรก็ตาม รายงานการศึกษาของประชัน รักษ์พงษ์ และคณะ (2535) ซึ่งได้บันทึกไว้ราว 30 ปีก่อน มีสาระสำคัญที่น่าสนใจอยู่มากที่นอกจากจะสะท้อนประเพณีของชาวไทลื้อได้ดี ในตัวของมันเองก็สะท้อนถึงประเพณีพิธีกรรมต่างๆ ที่เคยมีมาในล้านนาด้วย ดังจะขอนำเป็นพื้นฐานประกอบกับข้อมูลสำรวจเอง เพื่อเสนอดังนี้
การตั้งครรภ์และคลอดบุตร
ประเพณีการเกิด แบบดั้งเดิมของชาวไทลื้อนั้น เมื่อเด็กคลอดออกมา เมื่อตัดสายสะดืออาบน้ำให้เด็กแล้ว หมอตำแยผู้ทำคลอดจะส่งให้ “แม่ฮับ” หรือแม่รับ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นยายของเด็ก หรืออาจเป็นผู้ทำคลอด เอาผ้าขาวพันรอบตัวเด็กแล้วใส่กระด้งนำไปวางไว้ที่หัวบันได กระทืบเท้า แล้วพูดว่า “ผีป่อเกิดแม่ก๋าย กันว่าเป็นลูกสูก็มาเอาไปเหวันนี้กันเป๋นลูกกกุนก่าบ่ฮื้อเอาไป” (ถ้าเป็นลูกผีก็เอาเสียวันนี้ เป็นลูกคนก็อย่าได้เอาไป) ทำเช่นนี้ 3 ครั้ง แล้วจึงนำเด็กมานอนไว้ข้างแม
เมื่อคลอดลูกแล้ว ชาวไทลื้อสมัยก่อนต้อง “อยู่เดิน” คืออยู่ไฟจนครบเดือน ในระหว่างที่อยู่ไฟมีข้อห้ามหลายประการ กล่าวคือ 7 วันแรกหลังคลอดกินได้แต่ข้าวจี่ หรือ “ข้าวแองไฟ” เป็นข้าวเหนียวปิ้งจนเกรียมรับประทานกับเกลือคั่วและน้ำพริกดำ ส่วนน้ำดื่ม น้ำต้มใส่หัวไพลที่เรียกว่า “ปูเลย” นิยมให้ดื่มมากๆ เพราะเชื่อว่าจะทำให้มีน้ำนมให้ลูกมา เมื่อครบ 7 วันก็เริ่มรับประทานผักต้มจิ้มน้ำพริกดำ หมูปิ้ง ปลาช่อน และปลาประเภทปลาดุกและปลาหางขาว ส่วนผักเป็นประเภทผักที่มีสีขาวเท่านั้น เช่น ผักกาดดอง เป็นต้น
ภายหลังคลอดจะต้อง “อยู่เดิน” หรืออยู่ไฟ ฟืนที่นำมาใช้ขณะอยู่ไฟจะใช้แต่ “ไม้แงะ” (ไม้เต็ง) เท่านั้น เพราะเผาไฟแล้วไม่มีกลิ่นและควันมาก ซึ่งสามีจะต้องเตรียมหาไว้ตั้งแต่ภริยาท้องแก่ใกล้คลอด ในขณะที่อยู่ไฟจะใส่เสื้อผ้าหนาๆ มีผ้ารัดเอวและผูกผมเพื่อให้เหงื่อออก หญิงอยู่ไฟจะต้อง “เข้าฟืนกรรม” คือคีบผ่านไฟใส่ “เบื้อง” ซึ่งเป็นอ่างดินเผา เป็นการนั่งย่างไฟเชื่อว่าจะทำให้มดลูกเข้าอู่เร็วขึ้น
ในขณะอยู่ไฟ ห้ามอาบน้ำร่วมกับผู้อื่นต้องนำฟางมากั้นเป็นห้องน้ำแยกจากผู้อื่นที่บริเวณลานบ้าน เมื่อครบ 15 วันจึงจะอาบน้ำได้ ใช้น้ำต้มใส่ใบกล้วย ใบเปล้า และใบหนาด หลังจากนั้นจะอาบทุกๆ 7 วันจนครบเดือน ระยะเวลาของการอยู่ไฟขึ้นอยูกับลูกที่เกิดใหม่ ถ้าเป็นลูกสาวจะอยู่เกินเดือนไป 1 วัน คือ 31 วัน เพราะเชื่อว่าเป็นการเผื่อกี่ เผื่อด้าย เด็กโตขึ้นจะได้เป็นคนขยันขันแข็ง รักงานบ้านงานเรือน แต่ถ้าเป็นลูกชายจะหยุด 1 วัน คืออยู่ 29 วัน เพื่อ “หยุด” คมหอก คมดาบ เมื่อโตขึ้นจำเป็นต้องออกสู้รบ อันตรายจากศาตราวุธ ต่างๆจะได้ไม่มาแผ้วพาน
เมื่อครบกำหนด “ออกเดิน” (ออกเดือน) จะมีพิธีออกเดือนโดยให้อาจารย์ผู้ประกอบพิธีมาทำพิธี “ส่งผีขี้ฮ้ายตายอยาก” โดยนำข้าวเหนียวจิ้มอาหารต่างๆ ใส่ในเบื้องนำไปวางไว้ที่นอกบ้าน แล้วพูดว่า “เอาผีขี้ฮ้ายต๋ายอยากเอาไปกิ๋นเห กำนี้ไปนั่งถ้ากิ๋น นอกถ้ากิ๋น” (ให้ผีร้ายเอาไปกินเสียให้นั่งกินนอนกิน) การทำพิธีนี้เชื่อว่าจะทำให้หญิงแม่ลูกอ่อนไม่มีนิสัย “ขี้ก๊ะ” (ตะกละ) คือเห็นอะไรก็ทำให้อาการอยากกินไปทั้งหมด
สำหรับเด็กแรกเกิดในสมัยก่อนนิยมใช้ผิวไม้ไผ่ตัดสายสะดือ เมื่อรกออก พ่อของเด็กจะนำไปฝังไว้กลางทุ่งนาหรือใต้บันได การหิ้วรกไปฝังเชื่อกันว่าถ้าหิ้วด้วยมือข้างไหนเด็กจะถนัดข้างนั้นเช่น หิ้วด้วยมือซ้ายเด็กจะเป็นคนถนัดซ้าย ถ้าหิ้วทั้ง 2 มือ เด็กจะถนัดทั้งสองข้าง
ในประเพณีการเกิดของชาวไทลื้อในสมัยก่อน ผู้เป็นแม่จะต้องปฏิบัติตามจารีตอย่างเคร่งครัด เชื่อกันว่าถ้าไม่ปฏิบัติตามจะทำให้เจ็บป่วยไม่สบาย เรียกว่า “ผิดเดือน” ซึ่งอาจทำให้ถึงตายได้ แต่ในปัจจุบันส่วนใหญ่ไปคลอดที่โรงพยาบาล การปฏิบัติตัวจึงไม่พิถีพิถันเหมือนแต่ก่อน ทำให้ประเพณีแต่ดั้งเดิมเสื่อมความนิยมลงไป
การเปลี่ยนช่วงวัย
อยู่ช่วง
อยู่ข่วง เป็นประเพณีแอ่วสาวเพื่อแสวงหาเนื้อคู่ของหนุ่มไทลื้อ ในสมัยก่อนชายหนุ่มไทลื้อทุกคนที่จะแต่งงานต้องผ่านการอยู่ช่วงปั่นฝ้ายกับหญิงคนรักมาก่อน ซึ่งจะไม่มีการคลุมถุงชนหนุ่มสาวมีโอกาสและมีความเป็นอิสระเสรีในการเลือกคู่ครอง แต่ทั้งนี้ต้องอยู่ในกรอบของประเพณีที่ดีงาม หากฝ่าฝืนจะถือเป็นการผิดผี หรือผิดฮีตอย่างร้ายแรง
ข่วง หมายถึงลานบ้าน มีร้านนั่งสำหรับพักผ่อนหรือทำงานในเวลากลางคืน โดยยกพื้นสูงประมาณครึ่งเมตร มีความกว้างยาวพอสำหรับบรรจุคนนั่งได้ 4-5 คน มีสิ่งประกอบสำคัญคือเตาไฟ หรือตะเกียง น้ำต้น (คนโท) ขันน้ำ และอุปกรณ์สำหรับใช่ปั่นฝ้าย พอตกตอนเย็นสาวๆ แถบบ้านใกล้เรือนเคียงที่นักันอยู่ช่วง ก็จะเตรียมหาฟืนมาไว้ เพื่อใช่ก่อกองไฟให้เกิดความอบอุ่นและแสงสว่างในหน้าหนาว ส่วนหน้าร้อนจะใช้ตะเกียงแทน
พอถึงยามดึก บรรดาหนุ่มไทลื้อก็จะไปแอ่วสาวอยู่ข่วง ก่อนถึงบ้านก็จะเริ่มจ๊อยเกี้ยวสาวมาแต่ไกล เช่น “ถ้าบ้านบ่ไกล๋ ป่าไม้บ่กั้น จะเตียวมาหาวันละร้อยปิ๊ก” (ถ้าบ้านไม่ไกล ป่าไม้ไม่กั้นจะเทียวมาหาวันละร้อยครั้ง) เมื่อฝ่ายสาวได้ยินก็เตรียมตัวไว้คอยรับ โดยการทำงานปั่นฝ้ายไปพลางๆ สำหรับการเกี้ยวพาราสีระหว่างหนุ่มสาวสมัยก่อนต่างจะพูดคุยกันด้วยคำคม และสำนวนโวหาร เป็น “ค่าว” ที่มีความไพเราะและมีความหมาย ครั้นเมื่อเวลาดึกมากแล้ว หนุ่มก็จะขอลาสาวกลับบ้าน ในระหว่างที่เดินทางกลับจะจ๊อยเป็นการอำลาอีกครั้งหนึ่ง
อยู่ข่วง เป็นจารีตประเพณีของสังคมไทลื้อ ที่เปิดโอกาสให้หนุ่มสาวได้มีโอกาสพบปะหลังจากทำงานประกอบภาระกิจประจำวันแล้ว ถ้าชายหญิงใดไม่เคย อยู่ข่วง เลยถือว่าเป็นสิ่งผิดปกติ อย่างไรก็ตามเสรีภาพในการเลือกคู่ครองดังกล่าว จะต้องอยู่ในสายตาของพ่อแม่ฝ่ายหญิงที่คอยดูแลไม่ให้เกินเลยจนออกนอกกรอบประเพณี
การแต่งงาน
ประเพณีแต่งงานของชาวไทลื้อ เดิมมีความแตกต่างไปจากประเพณีแต่งงานของชาวไทล้านนาบ้าง กล่าวคือภายหลังจากอยู่ช่วงปั่นฝ้ายแล้ว หนุ่มสาวคู่ใดที่มีความชอบพอกันจนเกิดเป็นความรัก ก็จะมีฐานะเป็นคู่รักกันเรียกว่า “ตั๋วป้อตั๋วแม่กั๋น” (ตัวพ่อตัวแม่) จากนั้นฝ่ายหนุ่มก็จะกลายเป็นแขกประจำที่จะแอ่วบนบ้าน แต่จะไม่ไปทุกวันเพราะถือว่าเป็นการเสียมารยาท อาจเว้น 2-3 วันไปครั้งหนึ่ง ส่วนฝ่ายหญิงจะปั่นฝ้ายคอยเมื่อถึงวันนัดหมาย เมื่อทั้งคู่ตกลงที่จะใช้ชีวิตร่วมกันฉันสามีภรรยา ฝ่ายชายก็จะดับตะเกียง เป็นสัญญาณว่าได้ถูกเนื้อต้องตัวกันแล้ว และลงจากบ้านไป แต่ในปัจจุบันใช้วิธีปิดไฟฟ้าแทน ถือว่าเป็นการผิดผีซึ่งฝ่ายชายจะต้องเสียผี
พอถึงตอนเย็นของวันรุ่งขึ้น ฝ่ายหญิงจะส่งตัวแทนไปบอกผีที่บ้านฝ่ายชาย เรียกว่า “ใจ้กำ” (ใช้คำ) โดยตัวแทนจะกล่าวกับพ่อแม่และญาติของฝ่ายชายว่า “เอองัวควายสูฮ้ายฮั้ว ไปเข้าสวยเปิ้น ฮื้อไปแป๋งฮั้วเหียเน้อ” (วัวควายของท่านพังรั้วบ้านเขา ขอให้ไปทำรั้งให้เรียบร้อยด้วย) ถ้าฝ่ายชายเต็มใจก็จะส่งธูป 12 คู่ ไปไหว้ผี แต่ถ้าไม่ตกลงก็จะส่งผู้แทนไปเจรจา เพื่อขอใช้เงินค่าทำขวัญ ซึ่งอาจมีการพูดจากระทบกระทั่งกันอย่างรุนแรงถึงกับตัดญาติขาดมิตรกัน แต่ถ้าฝ่ายชายไปไหว้ผีแสดงว่ามีความพอใจก็จะรอให้ฝ่ายหญิงมาขอให้ไปอยู่บ้านต่อไป
นับตั้งแต่มีการถูกเนื้อต้องตัวหญิง โดยการดับไฟเป็นสัญญาณแล้ว ตามจารีตประเพณีของสังคมไทลื้อถือว่าทั้งคู่เป็นสามีภรรยากันโดยชอบธรรม แต่จะยังไม่ไปอยู่กินด้วยกันฉันสามีภรรยา แยกกันอยู่ตามปกติจนกว่าฝ่ายหญิงจะมาขอให้ไปอยู่ ในระหว่างนั้นชายต้องทำงานหนักเพื่อเก็บออมเงินทองและทรัพย์สินไว้ ส่วนหญิงก็เตรียมตัวเป็นแม่บ้าน พอถึงเทศกาลสงกรานต์ ในวันพญาวัน (วันเถลิงศก) หญิงก็จะไปดำหัวพ่อแม่ฝ่ายชาย พร้อมกับส่งของเรียกว่า ส่งครัว ซึ่งมีอาหารประเภทอาหารแห้ง เช่น ปลาเกลือขนาดใหญ่ วุ้นเส้น ขนม หมาก เมี่ยง บุหรี่พื้นเมือว นำมาบรรจุใส่ย่ามขนาดใหญ่ซึ่งทอใช้เอง ไทลื้อเรียกว่าถุงปื๋อ ไปส่งบ้านพ่อแม่ฝ่ายชายพร้อมกับมีเพื่อนสาวไปส่งอีก 1 คน เมื่อนำไปมอบให้แล้วก็ตักน้ำ ปัดกวาดถูดบ้านให้ด้วย ส่วนทางพ่อแม่ฝ่ายชายก็จัดเตรียมสิ่งของไว้ให้ เช่น ผ้าห่อ ผ้าปูที่นอน ปลอกหมอน พร้อมกับให้เงินเป็นขวัญถุงอีกจำนวนหนึ่งจะมากน้อยขึ้นอยู่กับฐานะของพ่อแม่ฝ่ายชาย
การเลือกคู่ นิยมปฏิบัติกันในเดือนสี่ เดือนหก หรือเดือนแปดเหนือ ครั้นถึงเดือนแปดราวเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นระยะเริ่มต้นของฤดูกาลทำไร่ทำนา ผู้ใหญ่ฝ่ายหญิงก็จะไปขอฝ่ายชายให้มาอยู่บ้านเพื่ออยู่กินฉันสามีภรรยาโดยสมบูรณ์ เป็นที่น่าสังเกตว่าธรรมเนียมของไทลื้อถือว่าสามคืนแรกที่ไปอยู่นั้นห้ามแตะต้องตัวภรรยา และพอถึงเช้าตรู่สามีจะต้องรีบกลับไปอยู่บ้านของตน ปฏิบัติเช่นนี้เป็นเวลา 3 วัน ทั้งนี้เพราะว่าทั้งคู่ยังไม่คุ้นเคยกับการอยู่ใกล้ชิดแบบสามีภรรยามาก่อน จึงต้องอาศัยการปรับตัวระยะหนึ่ง หลังจากนั้นก็จะอยู่กันฉันสามีภรรยาตลอดไป ส่วนภรรยาก็จะหาเสื้อผ้าใหม่มาให้สวมใส่แทนชุดเดิม มีธรรมเนียมอีกอย่างหนึ่งคือก่อนที่เขยใหม่จะมาอยู่บ้าน ทางพ่อแม่ฝ่ายหญิงจะหาไม้ทำฟืนมาเตรียมไว้ ดังนั้นทุกเช้าเขยใหม่จะต้องตื่นแต่เช้าเพื่อผ่าฟืนเพื่อเก็บไว้ใช้ตลอดปี หลังจากนั้นจะช่วยพ่อแม่ของภรรยาทำงานทุกอย่างไปจนครบ 3 ปี และหลังจากนั้นอีก 3 ปีก็จะไปอาศัยอยู่กับพ่อแม่ของสามี ในระหว่างนั้นจะหาไม้เก็บรวบรวมไว้ปลูกบ้าน เมื่อครบ 6 ปี จึงสามารถแยกครอบครัวไปสร้างบ้านของตนเองอยู่ในบริเวณบ้านของพ่อแม่ ส่วนจะเป็นฝ่ายสามีหรือภรรยาก็แล้วแต่จะตกลงกัน สำหรับลูกสาวคนเล็กจะอยู่รวมกับพ่อแม่เพื่อเป็นผู้สืบแทนมรดกต่อไป
ความตาย และการทำศพ
ประเพณีการตายของไทลื้อสิบสองปันนาในอดีตจะมีลักษณะแตกต่างไปจากประเพณีเกี่ยวกับความตายในสังคมไทยโดยทั่วไป กล่าวคือ เมื่อมีคนตาย จะนำศพห่อด้วยไม้ไผ่ แล้วใช้ผ้าขาวปิดทับข้างนอก ด้านบนสานไม้ไผ่ปิดทับ เรียกว่า “หล้อง” โดยทั่วไปจะเก็บศพไว้เพียงคืนเดียวแล้วรีบนำไปฝัง ขณะที่นำศพไปยังป่าช้า สัปเหร่อ จะใช้ไม้ไผ่ยาวประมาณ 3 เมตร 2 ลำ ผูกติดกับหล้องทั้งสองข้าง แล้วใช้ คน (เรียกว่า “เขย”) จำนวน 4 คนหามไปฝัง เสร็จแล่วใช้แผ่นไม้ปิดทับและตัดหนามไม้ไผ่มาคลุมอีกทีหนึ่งเพื่อป้องกันสัตว์มาคุ้นเขี่ย
ส่วนคนตายท้องกลมเรียกว่าว่า ตายพราย เป็นสิ่งที่น่ากลัวมาสำหรับชาวบ้าน ถ้าหากมีคนตายท้องกลมจะรีบน้ำไปฝังทันที โดยไม่ให้ข้ามวันหรือข้ามคืน ถ้าตายตรงไหนะต้องเจาะพื้นบ้านเป้นช่องตรงนั้น เพื่อนำศพออกจากบ้านโดยไม่ให้ผ่านประตูห้องหรือบันไดบ้าน การทำศพต้องดำเนินการอย่างรีบเร่งจะห่อด้วยเสื่อเพียงอย่างเดียว แล้วรับนำไปฝังโดยเร็วที่สุด บริเวณที่ฝังต้องแยกออกไปต่างหาก ชาวบ้านเรียกว่า ป่าช้าผีดิบ ส่วนสามีของผู้ตายต้องรับเข้าวัดแล้วบวชเป็นเวลา 3 วัน หรือ 7 วัน เป็นอย่างน้อย ทั้งนี้เชื่อว่าเพื่อป้องกันการติดตามรังควาญ
ประเพณีการทำศพของหมู่บ้านไทลื้อในสมัยก่อน ส่วนใหญ่จะใช้การฝัง ส่วนการเผาศพ จะมีบ้างเฉพาะศพพระ หรือผู้สูงอายุเท่านั้น ส่วนในปัจจุบันได้เปลี่ยนไปมากจะใช้การเผาทั้งหมด แต่มีข้อห้ามคือถ้าเป็นศพตายท้องกลมต้องแยกเผาต่างหาก ไม่เผาในบริเวณเชิงตะกอนที่ใช้เผาศพโดยทั่วไป
การเปลี่ยนสถานภาพ
ประเพณีของชาวไท ทั้งในล้านาและสิบสองปันนา ที่สะท้อนถึง การเปลี่ยนผ่าน ได้ดีที่สุดเห็นจะเป็นเรื่องของการบวชเรียน ของเด็กชาย (โดยทั่วไปตรงกับเดือน 4 ลื้อ หรือเดิน 5 เหนือ ราวเดือนกุมภาพันธ์ ถึงมีนาคม) การไปข่วง “อยู่ข่วง” ของเด็กสาว (โดยทั่วไปเมื่ออายุ 14 15 พ่อแม่ก็จะเริ่มปล่อยให้ “หัด” ไปช่วง) และประเพณีสงกรานต์ขึ้นปีใหม่ ซึ่งโดยทั่วไปแต่เดิมมีช่วงเวลาอย่างน้อย 5-7 วัน คือ วันสังขารล่อง ซึ่งเป็นวันแรกของการเข้าสู่ช่วงเทศกาลปีใหม่ วันเนา (เป็นวันที่ตระเตรียมของ จะหยุดงานแล้ว) วันพญาวัน คือวันที่สำคัญที่สุด ดังจะได้กล่าวข้างล้าง วันปากปี๋ วันปากเดือน และวันปากวัน สามวันหลังนี้เป็นช่วงที่ชาวบ้านจะไป “ดำหัว” หรือขอขมาและมอบสิ่งของแก่ญาติผู้ใหญ่ เพื่อแสดงความรักเคารพ
วันพญาวัน ชาวลื้อและชาวล้านนาถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ เป็นวันเริ่มศักราช ของปี จุลศักราช เริ่มปีนักษัตร ตามตำนานเล่ากันว่า ในวันนี้ หมู่มวลสัตว์ และพรรณไม้ จะมาชุมนุมประชุมกันเพื่อเลือก "พญา" ของตน ว่ากันว่า เป็นวันเวลาที่ต้นไม้นานาและสัตว์ป่าทั้งมวล บ่ควรถูกรบกวน ในวันพญาวันนี้จึงเป็นวันที่ห้ามฆ่าสัตว์ ตัดต้นไม้ หรือเก็บไซ้ใจเครือผัก ผลหมากรากไม้ (ก่บ่าดี) วันนี้ ชาวไทลื้อ ไทล้านนา จะไปวัดกัน ทำบุญ อุทิศส่วนกุศล ที่เรียกว่า “ตาน” ถึงคนต๋าย ญาติผู้ใหญ่ผู้ล่วงลับ และสืบชะตาให้แก่ตน ด้วยการบูชาไม้ค้ำสะหลี เป็นการค้ำชูศาสนาไปด้วย พวกสาวๆ และแม่บ้านจะตระเตรียมข้าว ปลา อาหาร ข้าวตอกดอกไม้ ส้ม หมากม่วง บะผาง หรือมะปราง (เพราะมักออกผล สุก ยามนี้) พากันไปฮอม หรือทำบุญที่วัด มีการตาน "ไม้ก๊ำสะหลี"เพื่อสืบชะตาตนและศาสนา ค้ำยันกิ่งก้านต้นโพธิ์ อันเป็นสัญลักษณ์สำคัญของเถรวาทพุทธศาสนา มีตาน "ตุงไจย" โดยทั้วไปเพื่ออุทิศให้คนตาย ไปเกิดในยมโลกแล้วได้เกาะ ก่าย ขึ้นสูงมาได้ เผื่อจะได้พ้นขุมนรก มาเกิดมาเป็นคนในอีกชาติหนึ่ง นอกจากจะพากันไปวัด ทำบุญทำทาน สายขอวงวันพญาวัน หรืออีกวันหนึ่งหากบ้านไกลกัน ก็เริ่มไปหาคนเฒ่าคนแก่ ญาติผู้ใหญ่ เพื่อขอ “สุมา” ขมาอาภัยที่อาจได้ล่วงเกิน ไปในปีที่ผ่านมา เรียกว่า "ดำหัว" เพื่อขอพรชัยในปีใหม่ที่กำลังมาถึงด้วย ในอดีต ช่วงบ่ายที่วัด ยังมีการแข่งบั้งไฟ ภายในชุมชนหรือระหว่างหมู่บ้าน จนไปถึง เล่นนำ้ สาดน้ำ ทั้งญิงชายที่เล่นกันมาก่อนหลายวันแล้ว และอาจจะ "เล่น" กันไปอีกหลายวัน
การแข่งบั้งไฟขึ้นฟ้านั้น มีนัยยะทั้งเป็นเรื่องของความเป็นชาย และความสมบูรณ์พูลผลของชีวิต บั้งไฟ สมัยก่อนที่เล่นกันนั้น เล่นกันทั้งหนุ่มชายวัยรุ่น ไปจนถึงพระน้อย ตุ๊ปี้ ก็ทำมาแข่งกันนั้น ความหมายของ บั้งไฟ ในล้านนาและสิบสองปันนาตามฮีตฮอย บ้างก็ว่า จุดขอฟ้าขอฝน บ้างก่ว่า มันเปน "เกม" สัญลักษณ์ของพวกผู้ชาย ที่ได้เวลาย้อนคืนมา (หลังจากที่วันก่อนคือ "วันเนา" ที่ปล่อยให้ผู้หญิงมาลามปาม หรือเกี้ยวพาราสีได้ วันเนา อันเป็นห่วงยามแห่งความว่างเปล่า ปล่อยให้ แม่ญิง อ่อนสาวได้ "เล่น" กับบ่าวชาย จนอาจไปถึงฝั่งฝา โดยนัยนี้ ช่งสงกรานต์ จึงเป็นช่วงที่หนุ่มสาวที่กำลังแตกวัยได้ใช้โอกาสหาคู่) ฉะนั้น อันบั้งไฟ ใหญ่ๆ ยาวๆ ที่จุดขึ้นแรงๆ สูงๆ จึงถือเป็นที่สุดของความเป็นชาย บั้งไฟของใครที่ "แตก" ก่อนไม่ทันขึ้น จึงเป็นที่เล่าขวัญ หยอกล้อ ม่วนงันกันไป
ในเชิงสัญลักษณ์ บั้งไฟนั้นจึงเปรียบเหมือนดั่งพญานาคา ที่เมื่อจุดส่งขึ้นไปสูงจนไปชนใส่ “ผืนฟ้า” เทวดาพึงใจอาจปล่อยน้ำไหล กลายเป็นสายฝน หลั่งลงมาสู่หมู่มวลมนุษย์ สิงห์สาราสัตว์ ได้ดื่มกิน แพรพันธุ์นานา ออกกล้า เติบใหญ่ ถือเป็นโชคเปนไชย ในวันขึ้นปีใหม่ที่ได้มาถึงในปีนั้น แล้วแล
การรักษาโรคภัยไข้เจ็บ
ปู่จาเตียน หรือบูชาเทียน เป็นประเพณีการสะเดาะเคราะห์อีกแบบหนึ่ง เพื่อบูชาหลีกเคราะห์ภัยต่างๆ ที่มีมาถึงตนเองและครอบครัว รวมทั้งญาติพี่น้อง นิยมประกอบพิธีในวันเข้าพรรษา ออกพรรษา และเทศกาลสงกรานต์ แต่ในวันอื่นๆ ก็สามารถทำได้ตลอดทั้งปี บางคนทำพิธีเพื่อความมีโชคลาภ บางคนก็ทำเพื่อแผ่เมตตามหานิยม
เทียนที่ใช้บูชา ใช้เทียนไข หรือเทียนขี้ผึ้งธรรมดา ผู้ประกอบพิธีได้แก่ พระสงฆ์ สามเณร ปู่อาจารย์ หรือผู้ที่เคยบวชเรียนมาแล้ว เขียนคาถาเป็นอักขระพื้นเมืองล้านนาลงบนเทียนไข วิธีเขียนทำได้ 3 แบบ คือ บูชาเพื่อหลีกเคราะห์ บูชาเพื่อรับโชค และบูชาสืบชะตา
ประเพณีบูชาเทียนในปัจจุบันยังปฏิบัติกันอยู่ในหมู่บ้านไทลื้อ เพื่อเป็นการเสริมกำลังใจให้แก่ตนเอง และครอบครัว การประกอบพิธีกรรมบูชาเทียนสามารถทำแทนกันได้ เช่น กรณีที่สมาชิกในครอบครัวอยู่ห่างไกลพ่อแม่หรือญาติผู้ใหญ่ อาจประกอบพิธีกรรมให้ก็ได้ เป็นการส่งจิตใจถึงกันเพื่อสร้างความอบอุ่นให้กับครอบครัว
ปู่จาข้าวหลีกเคราะห์
ปู่จาข้าวหลีกเคราะห์หรือบูชาข้าวหลีกเคราะห์ เป็นการประกอบพิธีทางศาสนาเพื่อยึดเอาพระรัตนตรัยเป็นสรณะ มีวัตถุประสงค์เพื่อสะเดาะเคราะห์ไว้ล่วงหน้าให้แก่ตนเอง และสมาชิกในครอบครัว นิยมประกอบพิธีกันในเทศกาลสงกรานต์ เข้าพรรษา ออกพรรษา โดยยึดถือเป็นประเพณีที่ปฏิบัติติดต่อกันมานานแล้ว เป็นการเสริมสร้างความเป็นศิริมงคลแก่ครอบครัว โดยเชื่อว่าจะปราศจากเคราะห์และภัยอันตรายทั้งปวง
สิ่งของที่ใช้ประกอบพิธีมีกระทง ซึ่งเรียกว่า ควั๊กบรรจุใบขนุน ใบดอกแก้ว ใบคำ กล้วย อ้อย มะพร้าว น้ำตาล เทียนไข หมาก พลู บุหรี่ เมี่ยง ช่อ (ธงสามเหลี่ยมเล็กๆ ทำด้วยกระดาษ) ข้าวเหนียวนึ่งปั้นเป็นก่อนให้ครบจำนวนของสมาชิกในครอบครัว ผ้าตีด(ใช้ด้าย 5 เส้นรวมกันไว้สำหรับจุดไฟขณะทำพิธี) สีสายยาว (ใช้ด้าย 5 เส้น แต่ยาวกว่าผ้าตีด) และเสื้อผ้าของสมาชิกในครอบครัวทุกคน
การจัดเตรียมสิ่งของ จะดำเนินการล่วงหน้า 1 วัน เรียกว่า วันดา จะจัดเตรียมทำควั๊กสำหรับใส่สิ่งของที่จะใช้ประกอบพิธีให้พร้อม และทำควั๊กอีกอันหนึ่งใส่ข้าว 1 ก้อน กล้วย 1 ใบ เรียกว่าใส่ข้าวปั้นกล้วยหน่วย สำหรับบูชาพระแม่ธรณี โดยนำไปวางไว้ที่ประตูรั้วหน้าบ้าน ส่วนเสื้อผ้าของสมาชิกในครอบครัวบรรจุใส่กระบุงเตรียมไว้
ขั้นตอนการประกอบพิธีที่วัด
การประกอบพิธีกระทำในตอนเช้า เมื่อชาวบ้านมาพร้อมกันที่ศาลาวัด พระสงฆ์จะสวดมนต์ รับศีลเสร็จแล้วก็จะเริ่มกล่าวคำบูชาข้างหลีกเคราะห์ ในขณะเดียวกันชาวบ้านก็จะทำพิธีจุดไฟเผาผ้าตีด คือด้ายสีขาวที่เตรียมมาและจุดเทียน มีชาวบ้านบางส่วนนำผ้าจีดและเทียนไปจุดข้างวิหาร และข้างกำแพงวัด เมื่อพระกล่าวคำบูชาข้างหลีกเคราะห์จบแล้ว ผู้ประกอบพิธีก็จะคว่ำกระบุงที่บรรจุเสื้อผ้ากลับด้านล่างเป็นด้านบนและสลัด เป็นการไล่เคราะห์ใส่ในควั๊กเครื่องเซ่นบูชา จากนั้นก็จะนำควั๊กไปถวายพระพุทธรูปในวิหารแล้วนำกลับลงมาที่ศาลา เมื่อเสร็จพิธีแล้วก็จำควั๊กข้าวหลีกเคราะห์ไปทิ้งไว้ข้างนอกวัด
พิธีปู่จาข้าวหลีกเคราะห์ปัจจุบันยังคงพบเห็นอยู่ในวัดของชุมชนไทลื้อ เป็นที่น่าสังเกตว่าผู้ประกอบพิธีกรรมเกือบทั้งหมดเป็นผู้หญิงที่เป็นแม่บ้าน หรือผู้หญิงที่สูงอายุ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความรักและความห่วงใยของแม่บ้านที่มีต่อสมาชิกในครอบครัวทุกคน
เช่นเดียวกันกับชาวไทล้านนา ชาวลื้อสิบสองปันนา เชื่อในเรื่องขวัญ และใช้การเรียกขวัญ หรือฮ้องขวัญ และการส่งเคราะห์ เป็นส่วนหนึ่งของการรักษาเมื่อมีคนเจ็บไข้ได้ป่วย
การเรียกขวัญ หรือฮ้องขวัญ ของไทลื้อ มีลักษณะคล้ายคลึงกับประเพณีเรียกขวัญของชาวเหนือโดยทั่วไป วัตถุประสงค์ของการประกอบพิธีเรียกขวัญ เพื่อเรียกขวัญคนที่เพิ่งหายจากการเจ็บป่วยใหม่ๆ ให้มีขวัญและกำลังใจที่ดีขึ้น เชื่อกันว่าคนเจ็บป่วยที่เบื่ออาหารเมื่อทำพิธีเรียกขวัญแล้วจะกลับมารับประทานอาหารได้ตามปกติ
ลำดับขั้นตอนในการประกอบพิธี
เจ้าบ้านหรือญาติของผู้เจ็บป่วย จะจัดเตรียมสิ่งของเพื่อประกอบพิธี ได้แก่ หมาก 1 หัว พลู 1 เรียง บุหรี่ 1 มวน เมี่ยง 1 อม กล้วย 1 ลูก ข้าวเหนียว 1 ก้อน ปลาปิ้ง 1 ตัว ไข่ต้ม 1 ฟอง ไก่ต้ม 1 ตัว (โดยปกตืจะไม่นิยมฆ่าไก่ถ้าไม่จำเป็น เพราะเชื่อว่าจะทำให้คนป่วยหายช้า) นอกจากนั้นยังมีด้ายสายสิญจน์อีกจำนวน 1 เส้น หรือ 9 เส้นก็ได้ ข้าวสารจำนวน 64 เม็ด หรือ 32 คู่ ใส่ในถ้วยใบเล็กๆไว้ในที่ประกอบพิธี
เมื่อเตรียมสิ่งของเรียบร้อยแล้ว หมอขวัญก็จะเริ่มประกอบพิธีเรียกขวัญ ถ้อยคำและสำนวนโวหารเป็นแบบพื้นเมืองภาคเหนือ ไช้เวลาประมาณ 50 นาที ในขณะที่หมอขวัญกำลังทำพิธีไกล้จะจบ จะมการเสี่ยงทาย เพื่อดูว่าขวัญของผู้ป่วยกลับคืนมาแล้วหรือยัง โดยหยิบข้าวสารจากในถ้วยขึ้นมานับ ถ้าหากหยิบได้จำนวนเป็นคู่แสดงว่าขวัญผู้ป่วยกลับมาแล้ว แต่ถ้าหยิบได้จำนวนคี่แสดงว่าขวัญขวัญไม่มา หมอขวัญก็จะทำพิธีเรียกขวัญต่อไปอีก แล้วเสี่ยงทายใหม่จนกว่าจะหยิบข้าวสารได้จำนวนคู่ ก็ถือว่าขวัญกลับมาแล้วเป็นเสร็จพิธี หลังจากเสร็จพิธีแล้วก็จะนำปลาปิ้ง ไข่ต้ม และไก่ต้มมาให้ผู้ป่วยรับประทาน
การเรียกขวัญอีกอย่างหนึ่งที่ไม่มีพิธีการ คือ เวลาลูกหลานตกใจร้องไห้ หรือหกล้ม ผู้ใหญ่ก็จะอุ้มแล้วใช้มือลูบหัวและหลัง แล้วกล่าวปลอบใจว่า “ขวัญมาๆ ขวัญมาอยู่กับเนื้อกับตัว” ซึ่งนิยมปฏิบัติกันเป็นประจำ
การเรียกขวัญเป็นประเพณีพื้นบ้านที่มีผลทางจิตใจ เป็นการเสริมสร้างขวัญและกำลังใจแก่บุคคลที่เสียขวัญให้มสภาพจิตที่ดีขึ้น อีกอย่างหนึ่งเมื่อคนป่วยที่เพิ่งฟื้นจากไข้เริ่มรับประทานอาหารที่ดีมีคุณภาพ ก็จะช่วยให้สุขภาพแข็งแรงจนหายเป็นปกติได้ในที่สุด (ประชัน รักษ์พงษ์ 2536.)
การเรียกขวัญ ยังเป็นพิธีการช่วยเสริมสร้างกำลังใจให้ ผู้ป่วยหรือผู้ที่ประสบอุบัติเหตุ และมีความเชื่อว่า ผู้ป่วยที่เบื่ออาหาร ภายหลังพิธีเรียกขวัญ ผู้ป่วยจะมีความอยากอาหารตามปกติ ขั้นตอนการทำพิธีคือ ในวันดาหรือหนึ่งวันก่อนพิธีเรียกขวัญ เจ้าบ้านและ ญาติร่วมกนจัดเตรียมอาหารและผลไม้ ประกอบด้วย ข้าวเหนียว ปลาปิ้ง ไข่ต้ม ไก่ต้ม และกล้วยน้ำว้า และสิ่งของต่างๆ ที่ใช้ในการประกอบพิธี ประกอบด้วย หมาก พลู บุหรี่ และเมี่ยง อย่างละ 1 พร้อม ทั้งสายสิญจน์ 1 หรือ 9 เส้นและข้าวสาร 64 เม็ด ในวันงาน หมอขวัญเริ่มพิธีเรียกขวัญด้วยถ้อยคำและสำนวนโวหารแบบพื้นบ้านไทลื้อใช้เวลาประมาณ 50 นาที ในขณะใกล้จบพิธีหมอขวัญจะมีการเสี่ยงทายเพื่อตรวจสอบว่าขวัญของผู้ป่วยกลับมาอยู่กับตนเองหรือไม่โดยการหยิบข้าวสารจากถ้วยขึ้นมานับ ถ้าหยิบได้จำนวนคู่ แสดงว่าขวัญผู้ป่วยกลับมาอยู่กลับตนเอง แต่ถ้าหยิบได้จำนวนคี่ แสดงว่าขวัญของผู้ป่วยยังไม่กลับมา หมอขวัญจะประกอบพิธีต่อไปจนสามารถหยิบข้าวสารได้จำนวนคู่ แล้วให้ผู้ป่วยกินปลาปิ้ง ไข่ต้มและไก่ต้ม จึงถือว่าเสร็จพิธี (เสาวภา ศักยพันธ์ 2556. หน้า 11-12)
ส่งเคราะห์
ส่งเคราะห์ เป็นประเพณีพื้นบ้านของชาวไทลื้อที่คล้ายกับของภาคเหนือโดยทั่วไป การส่งเคราะห์เป็นการสิ่งสิ่งชั่วร้ายต่างๆ ออกไปจากผู้มีเคราะห์หรือผู้ประสบเคราะห์กรรมต่างๆ เพื่อให้อยู่สุขสบสยปลอดภัยจากโรคภัยไข้เจ็บและอันตรายทั้งปวง รวมทั้งเป็นการเสริมแรงใจให้แก่ผู้ประสบเคราะห์กรรมอีกด้วย
การประกอบพิธีกรรมส่งเคราะห์ กระทำเมื่อมีเหตุ 2 ประการ
ประการแรก ส่งเคราะห์ตามราศี ตามวันเดือนปีเกิด ตามโชคชะตาที่หมอดูหรือผู้รู้ได้ทำนายทายทักไว้ว่าปีใดคนเกิดวันไหนจะมีเคราะห์ โดยการกำหนดจากการถือฤกษ์ตามวันสงกรานต์ เช่น ปีใดวันสงกรานต์ตรงกับวันอาทิตย์ ผู้ที่เกิดวันพุธจะต้องเข้าพิธีส่งเคราะห์ เพื่อจะได้อยู่สบาย ปราศจากเคราะห์ภัยอันตรายต่างๆ ตลอดปี
ประการที่สอง ทำพิธีส่งเคราะห์เมื่อประสบภัยพิบัติต่างๆ เช่น ประสบอุบัติเหตุ เจ็บป่วย ก็จะทำการส่งเคราะห์เพื่อให้พ้นจากภัยพิบัติทั้งปวง
การเตรียมทำพิธีส่งเคราะห์
เตรียมทำสะตวง โดยนำกาบกล้วยมาพับเป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส กว้างยาวราว 1 ศอก ใช้ไม้ไผ่เล็กๆ เสียบเป็นแนวขวางปูทับด้วยใบตอง แบ่งออกเป็นห้องหรือช่องจำนวน 9 ห้อง แต่ละห้องจะใส่สิ่งของลงไปให้ครบจำนวนเท่าๆกัน อย่างละ 8 ชิ้น เรียกว่าเครื่องแปด ได้แก่ แกงหวาน ป้าว (มะพร้าว) ตาล (น้ำตาล) กล้วย อ้อย หมาก พลู บุหรี่ ข้าวจี่(ข้าวเหนียวปิ้ง) ใส่เกลือข้างใน 1 เม็ด ข้วตอก ดอกไม้ ธูปเทียน ตรงมุมทั้ง 4 ด้านของสะตวงปักด้วยธง 6 สี คื ดำ แดง ขาว เหลือง เขียว น้ำเงินหรือคราม บางครั้งใช้สีขาวแทนทั้งหมด เพราะมีความเชื่อว่าสีขาวจะทำให้ปราศจากเคราะห์อย่างขาวบริสุทธิ์ ขันตั้งหรือขันยกครู สำหรับหมอผู้ประกอบพิธี แระกอบด้วย ดอกไม้ 4 ดอก เทียน 4 เล่ม เงิน 10 บาท
ขั้นตอนของการประกอบพิธี
พิธีจะเริ่มโดยหมอผู้ประกอบพิธีทำพิธียกครู โดยหันหน้าทางทิศตะวันออกแล้วกล่าวคำยกครู เสร็จแล้วก็ประกอบพิธีส่งเคราะห์ โดยให้ผู้เข้าพิธีนั่งลงแล้ววางสะตวงไว้ตรงข้ามหน้า ส่วนขันน้ำมนต์วางไว้ที่หน้าหมอผู้ประกอบพิธี ซึ่งนั่งอยู่ด้านหลังผู้เข้าพิธี เมื่อพร้อมแล้วก็จะเริ่มกล่าวสรรเสริญพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ และพระพรหม จากนั้นก็ร่ายคาถาสำหรับปัดเคราะห์ ให้ออกจากร่างกายของผู้เข้าในพิธี จบแล้วหมอพิธีก็จะเก็บเอาเครื่องยกครูใส่ย่ามส่วนตัว ส่วนสะตวงนำไปทิ้งไว้นอกบ้านเป็นเสร็จพิธี
การส่งเคราะห์เป็นฮีตของชาวไทลื้อที่ปฏิบัติสืบต่อกันมา เพื่อเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจ เป็นการบำรุงขวัญ และให้กำลังใจแก่ผู้ที่ระสบเคราะห์กรรมให้หายจากความวิตกกังวล ทำให้มีความเชื่อมั่นในตนเองมากขึ้น ในการประกอบอาชีพการงาน และพร้อมที่จะต่อสู้กับอุปสรรคและภัยอันตรายในภายภาคหน้า
ประเพณี/เทศกาล/พิธีกรรมเกี่ยวกับการทำมาหากิน
สู่ขวัญควาย
สำหรับชาวไทลื้อ (และล้านนา) สู่ขวัญควาย เป็นประเพณีที่เตือนสติและจิตใจให้คนเรามีความกตัญญูกตเวที ระลึกถึงบุญคุณของสัตว์ที่ได้ช่วยเหลือเกื้อกูลแก่เรา โดยเฉพาะความที่ได้ให้แรงงานไถนา เพื่อพลักแผ่นดินให้คนได้ปลูกข้าว ในขณะที่ไถคราดนั้นบางครั้งได้ ดุ ด่า เฆี่ยน ดี ดังนั้นเมื่อสิ้นฤดูกาลไถคราดจึงมีการประกอบพิธีสู่ขวัญควาย
สิ่งที่ใช้ในการประกอบพิธีมี ไก่ต้มตัวเมีย 2 ตัว ข้าวกล้า 1 มัด ด้ายสายสิญจน์นำมาทบกัน 7 เส้น สวยดอกไม้(กรวย) 1 คู่ แอกควาย 1 อัน
ลำดับขั้นตอนในการประกอบพิธี
เมื่อจัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ประกอบพิธีเรียบร้อยแล้ว เจ้าของจะนำควายไปอาบน้ำทำความสะอาด แล้วนำมาเข้าสู่พิธี ใช้ด้ายสายสิญจน์ผู้สวยดอกไม้ติดเขาทั้งสองข้าง ส่วนไก่ต้มบรรจุใส่ถาดวางไว้ใกล้ๆควาย เริ่มต้นพิธีโดยหมอขวัญกล่าวพรรณนาถึงบุญคุณของควายและการใช้งานไถคราดพลิกแผ่นดินให้ได้เพาะปลูก จากนั้นก็ขอให้อโหสิกรรมที่ได้ล่วงเกิน ดุ ด่า เฆี่ยน ตี ในระหว่างฤดูกาลทำนา
“อัชชะในวันนี้ก็เป็นวันดี ย่าสั่งสีกับย่าสั่งใส้คดดินมาปั้นไว้แป๋งควายดำก่อน ส่วนไถนา ฝนตกลงมาจะจุ่มแผ่นดินจุ่มแผ่นดินตุ๋ม ฝนตกห่าใหญ่ไม่ใส่น้ำนาดอน เอาปอนเอาป๋อมาผูกจากคอเจ้า แล้วมาขอสูมา ขวัญหางได้กวัดได้แกว่ง สูมาขวัญแข้ง สูมาขวัญมา สูมาขวัญตา สูมาขวัญหน้า ได้จักหน้าหื้อข้าได้กิน น้ำป่ามาแฮง ถ้าสัตว์ตัวใดบ่ดีเปิ้นเอาไปฟันแทงกินเลือดมาก สัตว์ตัวนี้ดีจักลาภได้ข้าวเต็มเล็มถุ”
เมื่อกล่าวจบแล้ว ก็จะเอาแอกขึ้นใส่คอควาย แล้วทำพิธีปลดแอกโดยกล่าวว่า “ปลดจากแอก แยกจากไถ ฝนตกจะไปฝันเป็นกล้า ฟ้าฮ้องจะไปฝันใส่นา ปล่อยกินหญ้าอ่อนน้ำใส” เสร็จแล้วเอาหางกล้าและหญ้าอ่อนที่เตรียมไว้ให้ควายกิน เป็นเสร็จพิธี
แฮกนา
แฮกนา คือ การแรกนาของชาวบ้าน แบ่งออกเป็น 2 ระยะ คือ แฮกนาตอนหว่านกล้า และแฮกนาวันปลูกนา (ดำนา) ประเพณีแฮกนาชาวบ้านเชื่อว่าเป็นการประกอบพิธีเพื่อกราบไหว้พระแม่ธรณี รวมทั้งเจ้าที่เจ้าทางเพื่อขออนุญาตพลิกแผ่นดินทำกิน
การแฮกนาหว่านกล้า ก่อนประกอบพิธี จะต้องไปขอคำปรึกษาจาก “พ่อจารย์” ประจำหมู่บ้าน เพื่อดูฤกษ์วันให้เป็นมลคลเสียก่อน ตำราระบุว่าบุคคลใดก็ตามจะไถนาให้ดูการกลับตัวของนาค เวลาไถให้เริ่มจากทิศหัวนาคไปยังทิศหางนาค ไม่ย้อนจากทางหางนาคไปสู่หัวนาค เพราะมีความเชื่อว่าเป็นการย้อนทวนเกล็ดนาค ทำให้เปลืองเสื้อผ้าและอุปกรณ์การไถ
การแฮกนาตอนปลูก การประกอบพิธีใช้ข้าวเหนียว 1 ก้อน กล้วย 1 ผล เรียกว่า “ข้าวปั้นกล้วยหน่วย” เพื่อไหว้บอกกล่าวพระแม่ธรณี โดยกล่าวว่า
“เอ่อบัดเดี๋ยวนี้ ผู้ข้าจักได้แฮกนาวันนี้ จะได้ปลูกข้าววันนี้ขอหื้อคุณแม่พระธรณี เจ้าที่มาปกปักรักษาท้าวองอาจนาฏสนม กลมทวีแม่นางนาฎน้อย แม่ธรณีอันเป็นผู้หล้าหลับแล้วลืมตื่น ตื่นแล้วหรือยัง สาดตังโลกวิฑูร ข้าพเจ้าจักแฮกนานี้ก็ขอพึ่งเงาแข้งเงาขา กับแม่ธรณีเป็นเจ้า ขอกุ่งก้านฮักษาสัตว์ตัวร้ายอย่าได้มากระทำร้าย”
เมื่อเริ่มปักดำข้าวกล้าต้นแรกให้พูดว่า “พุทธัง สรณัง คัจฉามิ ต้นที่สองพูดว่า ธรรมัง สรณัง คัจฉามิ ต้นที่สามพูดว่า สังฆัง สรณัง คัจฉามิ” แล้วปักดำไปเรื่อยๆ โดยกล่าวไตรสรณคมไปจนจบ เรียกว่า “สรณคมเก้าบั้ง” เป็นเสร็จพิธี
ตานข้าวใหม่และกินข้าวใหม่
ตานข้าวใหม่และกินข้าวใหม่ เป็นประเพณีที่ชาวไทลื้อ ไทล้านนา ปฏิบัติสืบต่อกันมานานแล้ว กล่าวคือ เมื่อเก็บเกี่ยวข้าวมาไว้ในยุ้งฉางแล้ว ก่อนจะนำข้าวไปตำหรือนำไปสี ต้องหาฤกษ์ยามวันดี โดยดูจากตำราซึ่งจารึกลงบนแผ่นไม้ขนาดกว้างราว 4 นิ้ว ยาวราว 1 ศอก เรียกว่า “ปั๊กกะตืน” ซึ่งจะมีประจำที่ยุ้งข้าว การตานข้าวใหม่จะเริ่มในตอนเช้า โดยนึ่งข้าวใหม่พร้อมทั้งทำอาหารไปทำบุญที่สัด เพื่ออุทิศส่วนกุศลของการกินข้าวใหม่ไปยังบุพกรชารีผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว และเป็นการนำข้าวใหม่ไปถวายพระด้วย ภายหลังกลับจากการทำบุญที่วัด ก็จะนำข้าวใหม่และอาหารไปให้บุพการีที่ยังมีชีวิตอยู่รับประทานก่อน ได้แก่ ปู่ ย่า ตา ยาย และพ่อแม่ เมื่อรับประทานเสร็จแล้ว ก็จะให้พรแก่ลูกหลาน เช่นกล่าวว่า “กิ๋นอิ่มไปหื้อตก จ๊กอิ่มไปหื้อลง หื้อกิ๋นมั่นกิ๋นยืน กิ๋นยาว” หมายถึงกินอย่ามห้สิ้นเปลือง ให้กินไปนานๆ
จะเห็นได้ว่าประเพณีตานข้าวใหม่และกินข้าวใหม่ เป็นการแสดงกตัญญูกตเวทีตอบแทนแก่ผู้มีพระคุณ ได้แก่ บุพการี ทั้งผู้ที่ล่วงลับไปแล้วและผู้ที่มีชีวิตอยู่ เพราะท่านเหล่านี้ได้บุกเบิกสร้างไร่นาไวให้ลูกหลานได้ทำมาหากิน ดังนั้นเมื่อได้ผลผลิตจึงตอบแทนบุญคุณด้วยการตานข้าวใหม่และกินข้าวใหม่
เก็บขวัญข้าว
เก็บขวัญข้าวเป็นประเพณีของชาวนาที่ประกอบพิธีภายหลังฤดูเก็บเกี่ยว เพื่อเป็นศิริมงคลแก่ยุ่งฉางและครอบครัว เพราะมีความเชื่อว่าเมื่อได้ทำพิธีเก็บขวัญข้าวแล้ว “กิ๋นบ่มีต๊ก จ๊กบ่มีลง” หมายถึง กินไม่มีสิ้นเปลือง
พอถึงฤดูการเก็บเกี่ยวชาวนาจะหาฤกษ์ยามจากอาจารย์ประจำหมู่บ้าน เพื่อหาวันที่เหมาะสมสำหรับการเก็บเกี่ยว ตามตำราแบ่งวันออกเป็น 2 ประเภท คือ วันจม กับวันฟู ยึดตามจันทรคติข้างขึ้นข้างแรมเป็นหลัก วันจม เป็นวันที่ไม่ดี เชื่อกันว่าหากทำสิ่งใดมีแต่ละล่มจม ส่วนวันฟูเป้นวันดีประกอบการงานสิ่งใดจะเจริญรุ่งเรืองและก้าวหน้า เมื่อได้ฤกษ์ดีแล้ว ชาวนาจะลงมือเกี่ยวข้าว เมื่อนำข้าวไปเก็บที่ยุ้งฉางเรียบร้อยแล้วก็จะทำพิธีเก็บขวัญข้าว ถ้าหากมีนาอยู่หลายแห่งจะประกอบพิธี ณ ทุ่งที่เสร็จภายหลัง
สิ่งของที่ใช้ประกอบพิธีมี กระบุง สวิง บายศรีปากชาม 1 ชุด ดอกไม้ 1 คู่ ธูป เทียน 2 คู่ ไข่ต้ม 1 ฟอง ตาแหลก(เฉลียว) 1 อัน เพื่อนำไปประกอบพิธีที่ลานนวดข้าว ผู้ประกอบพิธีส่วนใหญ่มักจะเป็นผู้หญิง
การประกอบพิธีเริ่มต้นด้วยการใช้มือซ้ายจับมัดข้าวใส่กระบุง มือขวาจับพัด เรียกว่า “ก๋า” พัดโบกเข้าไปในกระบุง 3 ครั้ง พร้อมกับกล่าวเชิญขวัญข้าวว่า “มาเนอขวัญข้าว มาอยู่ในเล้าในเย จ้างจักย่ำหัว วัวจักย่ำเก้า หื้อมาอยู่เล้าเย” (มาเถิดขวัญข้าว มาอยู่ในยุ้งในฉาง ช้างจะเหยีบหัว วัวจะเหยียบเกล้า ให้มาอยู่ในยุ้งในฉาง) ในขณะทำการเก็บขวัญข้าวก็จะเรียกขวัญเดินไปเดินมาทำพิธีวนไปเรื่อยๆ รอบลานนวดข้าวใช้สวิงตักขวัญข้าว และรวงข้าวที่ยังตกหล่นอยู่ในกระบุง เสร็จแล้วนำกระบุงไปยังยุ้งข้าว เลือกมุมใดมุมหนึ่งของยุ้งฉางโดยให้สูงพอสมควร นำกระบุงขวัญข้าววางลงพร้อมกับพูดว่า “กิ๋นอย่าไปต๊ก จ๊กอย่าไปลง หื้อมั่นเหมือนย่าหินก้อนหนา บ่าผาก้อนใหญ่” (กินอย่าให้สิ้นเปลือง ให้มั่นคงเหมือนหินผา) แล้วเอาสวิงวางลงใกล้ๆเป็นเสร็จพิธี
ประเพณี/เทศกาล/พิธีกรรมอื่น ๆ
ป๊กเฮิน
ป๊กเฮิน คือประเพณีปลูกบ้านของชาวไทลื้อ เป็นประเพณีที่แสดงให้เห็นถึงความร่วมมือร่วมใจ ทำให้เกิดความสมานสามัคคี ช่วยเหลือเกื้อกูลกันในบรรดาเพื่อนบ้านและญาติมิตร ซึ่งต่างก็มีความสำนึกว่าเป็นหน้าที่ที่จะต้องช่วยเหลือกัน ในเช้าวันประกอบพิธีป๊กเฮิน เพื่อนบ้านและญาติมิตรซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย จะหยุดงานภาระกิจประจำวันของตนไปช่วยพิธียกเสาขวัญหรือเสามงคลและเสาอื่นๆ รวมทั้งติดตั้งโครงสร้างหลักที่สำตัญของบ้านจนเสร็จเรียบร้อย หลังจากนั้นเจ้าบ้านก็จะดำเนินการก่อสร้างต่อไป
ก่อนที่จะทำการปลูกบ้าน อันดับแรกเจ้าของบ้านก็จะต้องไปดูฤกษ์ยามจากอาจารย์ประจำหมู่บ้าน เพื่อความเป็นศิริมงคล เช่น
เดือน ออก(ข้างขึ้น) 1 ค่ำ ชนะข้าศึกศัตรู
ออก 2 ค่ำ จะได้ทุกข์โศกไหม้
ออก 3 ค่ำ ได้ลาภ
ออก 4 ค่ำ บ่ดี
ออก 5 ค่ำ ไฟจักไหม้
ออก 6 ค่ำ เจ้าเฮือนจักตาย
ออก 7 ค่ำ บ่ดี
ออก 8 ค่ำ ทุกข์โศกไหม้
ออก 9 ค่ำ ดี
ออก 10 ค่ำ อยู่ดีกินดี
ออก 11 ค่ำ ดีนัก
ออก 12 ค่ำ ดีนัก
การป๊กเฮินหรือปลูกบ้านของชาวไทลื้อ นิยมทำในเดือนคู่คือ เดือน 4 เดือน 6 และเดือน 8 เหนือ ยกเว้นเดือน 10 เหนือ เพราะเป็นเดือนเข้าพรรษาชาวบ้านไม่นิยมประกอบพิธีมงคล ส่วนเดือนคี่นั้นถือว่าไม่ดี
การขุดหลุมและนำมูลดินไปวาง ก็จะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบให้ถูกต้องตามหลักโหราศาสตร์ เช่น เดือน 4 เอาปลายเสาวางไว้ทางทิศใต้ เอามูลดินวางไว้ทิศตะวันออก เดือน 6 และเดือน 8 เหนือ ให้วางเสาไว้ทางทิศเหนือ เอามูลดินวางไว้ทางทิศใต้ เป็นต้น ก่อนขุดหลุม อาจารย์ผู้ประกอบพิธีจะทำพิธีขึ้นท้าวทั้งสี่ เมื่อเสร็จพิธีแล้วก็จะทำการขุดหลุมและทำพิธียกเสาขวัญ ซึ่งเสาหลักของบ้าน สิ่งของในพิธีมีกล้วย 1 เครือ หรือมะพร้าว 1 ทะลาย ต้นกุ๊ก หน่อกล้วย หน่ออ้อย หมาก พลู บุหรี่ ด้าย ซึ่งทำด้วยฝ้ายดิบจำนวน 108 เส้น ผูกติดไว้กับเสาขวัญ การปลูกบ้านของไทลื้อเสาขวัญจะต้องอยู่ทางด้านตะวันออกเสมอ แบะเป็นต้นที่ 2 ส่วนเสานางจะอยู่ทางทิศตะวันตก เพื่อให้คู่กับเสาขวัญ
เมื่อเสร็จการป๊กเฮินแล้ว เจ้าของบ้านก็จะเลี้ยงอาหารเป็นการตอบแทนน้ำใจไมตรี โดยไม่ต้องจ่ายงินหรือให้สิ่งของตอบแทนแต่อย่างใด ประเพณีป๊กเฮินยังคงมีปฏิบัติกันอยู่ในหมู่บ้านไทลื้อ
ขึ้นเฮือนใหม่
ขึ้นเฮือนใหม่ (เรือหใหม่) คือประเพณีขึ้นบ้านใหม่ของไทลื้อ เป็นประเพณีที่ปฏิบัติสืบทอดกันมาจากบรรพบุรุษ เพื่อเป็นศิริมงคลให้แก่ผู้อยู่อาศัย นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างวามสามัคคีในหมู่ญาติมิตรและผู้ที่เคารพนับถือ
ลำดับขั้นตอนในการประกอบพิธี
การประกอบพิธี แบ่งออกเป็น 2 วัน คือวันดากับวันทำบุญ
วันดา เป็นวันที่จัดเตรียมสิ่งของ จะจัดก่อนวันทำบุญ 1 วัน เป็นวันที่ญาติมิตรและผู้ใกล้ชิดมาช่วยกันจัดเตรียมสิ่งของ จัดสถานที่ไว้ประกอบพิธีและรับแขก บางบ้านที่เจ้าภาพมีฐานะดีก็อาจให้มีคณะช่างซอมาซอ เพื่อให้เกิดความสนุกสนานรื่นเริงตั้งแต่เย็นวันดาจนถึงเช้าวันทำบุญ หน้าที่ของผู้ช่วยเตรียมงานฝ่ายหญิงก็จะเตรียมหาอุปกรณ์การประกอบอาหาร ซึ่งยืมจากวัดหรือเพื่อนบ้านในหมู่บ้าน ส่วนฝ่ายชายเป็นฝ่ายจัดเตรียมอาหาร เช่น ล้มวัว ควาย หมู ไก่ มากน้อยขึ้นอยู่กับจำนนผู้มาร่วมในพิธี สำหรับผู้เฒ่าผู้แก่ก็จัดเตรียมเครื่องไทยทาน และสิ่งของที่ใช้ในพิธีสืบชะตา
วันทำบุญ ตอนเช้ามีการทำบุญตักบาตร ถวายภัตตาหารเช้า เลี้ยงอาหารแขกผู้มาร่วมงาน หลังจากนั้นฟังเทศน์ และทำพิธีสืบชะตาแก่เจ้าของบ้าน เสร็จแล้วพระให้พรเป็นเสร็จพิธี
ศาสนาและความเชื่อ
ชาวไทลื้อนับถือพุทธศาสนานิกายเถรวาท เหมือน ล้านนา อย่างไรก็ตาม ความเชื่อเกี่ยวกับพระอุปคุต ของชาวไทลื้อนั้นค่อนข้างโดดเด่น
แห่พระอุปคุต
การแห่พระอุปคุตมักจะมีขึ้นก่อนพิธีการสำคัญ เช่นเวลาจะมีงานระดับชุมชน เช่น “ตานหลวง” หรืองานฉลองวิหาร ศาลา กุฎิ กำแพงวัด ฯลฯ ชาวลื้อ (และเป็นที่นิยมในชุมชนชาวล้านนาในปัจจุบัน) จะมีการแห่อัญเชิญพระอุปคุตให้มาช่วยห้ามมาร เพื่อช่วยรักษางานไม่ให้มารทั้งหลาย หรือสิ่งชั่วร้ายทั้งหลายมารบกวนในงาน ลักษณะอุปคุตเป็นหินแกะสลัก หรือบางวัดเป็นหินลูกกลมๆไม่ได้แกะสลัก
ตามตำนานอุปคุต เล่าว่า ในสมัยพุทธกาลมีพระภิกษุรูปหนึ่งที่ยังไม่สำเร็จอรหันต์ แต่ใกล้จะหมดกิเลสอาสวทั้งปวง ขณะจำวัดอยู่น้ำอสุจิก็ไหลโดยไม่รู้ตัว พระภิกษุนั้นก็นำผ้าสบงไปซักที่แม่น้ำ ปลาซิวว่ายน้ำมาบริเวณนั้นพอดี จึงกินน้ำอสุจิพระภิกษุรูปนั้น ปลาซิวเกิดตั้งท้องแต่เป็นท้องที่ไม่ไช่ปลา กลับกลายเป็นหิน บรรดาปลาทั้งหลายในแม่น้ำจึงได้ตั้งชื่อว่า “อุปคุต” ตั้งแต่นั้นมาอุปคุตก็เป็นใหญ่ในแม่น้ำ โดยที่ไม่มีสิ่งใดที่จะไปรบกวนได้
การแห่อุปคุตจะเริ่มขึ้นก่อนงานฉลอง 1 วัน โดยที่กรรมการนำลูกหิน หรืออุปคุตไปทิ้งไว้ในน้ำแล้วทำเครื่องหมายไว้เป็นที่เรียบร้อย ขบวนแห่เชิญอุปคุตซึ่งประกอบด้วย ฆ้อง กลอง ชาวบ้านจำนวนหนึ่งและพระอีก 4 รูปแท่นสำหรับใส่อุปคุตเป็นลักษณะครึ่งวงกลม ผ่ากลางยาวประมาณ 2 ฟุต มีคานไม้ไผ่ 2 เล่ม และมีคน 2 คน สำหรับหาม เมื่อไปถึงยังที่หมายแล้วก็จะมีคนอาสาประมาณ 4-5 คนเพื่อลงค้นหา ลักษณะการหาคลายกับการจับปลา อาจจะมีลูกเล่นเข้าประกอบด้วย ทำให้เกิดความสนุกสนาน เมื่อพบแล้วก็จะจับพร้อมกันแล้วโห่ร้องอย่างสนุกสนาน แล้วนำขึ้นมาบนฝั่ง พระจะให้ศีลและสวดชัยมลคลคาถาเสร็จแล้วก็นำอุปคุตขึ้นแท่น แห่นำไปยังบริเวณงาน นำไปตั้งไว้ในสถานที่เหมาะสม เพื่อเป็นประธานรักษาความสงบเรียบร้อยของงาน เมื่อเสร็จงานขบวนแห่ก็จะแห่กลับไปที่เดิม เป็นเสร็จพิธี
จะเห็นว่าการแห่อุปคุตทำเพื่อเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจในการจัดงาน เชื่อว่าเมื่อเชิญอุปคุตมาเป็นประธานรักษาความสงบเรียบร้อยแล้วจะไม่มีสิ่งชั่วร้ายหรือมารรบกวนตลอดงาน (ประชัน รักษ์พงษ์ 2536
ความเชื่ออื่นๆ
สืบชะตา
การสืบชะตาเป็นจารีตประเพณีของหมู่บ้านไทลื้อและชาวล้านนาในภาคเหนือ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เป็นศิริมงคล และขับไล่สิ่งชั่วร้ายที่เป็นเสนียดจัญไรให้ออกไปจากบุคคลหรือสถานที่ พิธีสืบชะตาเป็นประเพณีที่ได้รับอิทธิพลจากธรรมเนียมของพราหมณ์ ซึ่งได้นำมาผสมผสานกับพิธีกรรมของพุทธศาสนาได้อย่างกลมกลืน สืบชะตาในหมู่บ้านไทลื้อมี 2 ประเภท คือ สืบชะตาคนและสืบชะตาหมู่บ้าน
พิธีสืบชะตาคน
จะจัดในโอกาสต่างๆ กัน เช่น ขึ้นบ้านใหม่ ภายหลังจากการเจ็บป่วย หรือทำให้โอกาสที่หมอดูทำนายทายทักว่าดวงชะตาไม่ดี บางครั้งก็ทำเพื่อสะเดาะเคราะห์ ภายหลังจากปะสบเคราะห์กรรม เมื่อสืบชะตาแล้วเชื่อว่าจะช่วยเสริมสร้างดวงชะตาให้ดีขึ้น อีกทั้งเป็นการบำรุงขวัญและกำลังใจของผู้ที่ประสบจากเคราะห์กรรมหรือผู้เจ็บป่วย ให้กลับคืนสู่สภาพปกติ
สถานที่ประกอบพิธีใช้บริเวณบ้านของผู้เข้าในพิธีสืบชะตา โดยใช้ห้องโถง ห้องรับแขก ลานบ้าน หรือบริเวฯบันได สำหรับสิ่งของเครื่องใช้ในพิธีมี ไม้ง่ามขนาดเล็กนำมามัดรวมกัน มีจำนวนมากกว่าอายุผู้เข้าพิธีสืบชะตา 1 อัน นอกจากนี้มีกระบอกข้าว กระบอกทราย กระบอกน้ำ สะพานลวดเงิน สะพานลวดทอง เบี้ยแถว (ใช้เปลือกหอยแทน) หมากแถว มะพร้าวอ่อน กล้วย อ้อย หมอน เสื่อ ดอกไม้ ธูปเทียน และมีเทียนชัยเล่มยาว 1 เล่ม การจัดสถานที่ใช้ไม้ตั้งเป็นกระโจมสามเหลี่ยม ตรงกลางเป็นที่ว่างสำหรับว่งสะตวงและสิ่งของเครื่องใช้ในพิธี จัดที่ว่างใกล้ๆกระโจมให้เป็นที่นั่งสำหรับผู้เข้าไปรับการสืบชะตา แล้ววนด้ายสายสิญจน์ 3 รอบ โยงกับเสา กระโจมทั้งสามขา แล้วนำไปพันรอบพระพุทธรูปและพระที่สวดทำพิธี
โดยปกติการสืบชะตาคนในภาคเหนือโดยทั่วไปใช้พระสงฆ์ประกอบพิธี 9 รูป แต่ที่หมู่บ้านไทลื้อใช้พระเพียง 1 รูป สำหรับการท่องคาถาและบทสวดจบแล้วใช้ด้ายสายสิญจน์ผูกข้อมือผู้ป่วยเป็นเสร็จพิธี
ส่วนการสืบชะตาคนพร้อมกับขึ้นเรือนใหม่ ใช้พระ 5 รูปขึ้นไป เพื่อสวดพระปริต สวดชยันโต ให้ศีลให้พร ฟังเทศน์สังคหะ และเทศน์สืบชะตา ตัวแทนที่เข้าไปนั่งในสายสิญจน์คือผู้นำครอบครัวหรือผู้อาวุโสสูงสุดในครอบครัว เพื่อเป็นศิริมงคลแก่บ้านและครอบครัว
พิธีสืบชะตาบ้าน
การสืบชะตาบ้านมีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างความเป็นศิริมงคลให้แก่หมู่บ้าน โดยจะประกอบพิธีที่หอเสื้อบ้านหรือศาลากลางบ้านอันเป็นศูนย์รวมในการประกอบพิธีของหมู่บ้าน ก่อนถึงวันประกอบพิธีชาวบ้านจะช่วยกันประดับตกแต่งหอเสื้อบ้าน หรือศาลากลางบ้านให้สวยงาม ทำความสะอาดบริเวณรอบๆ แล้วขัดราชวัตร ปักฉัตรและธงทิว ใช้ต้นกล้วย ต้นอ้อยประดับโดยรอบ วงด้ายสายสิญจน์รอบบริเวณพิธี ทำแท่นบูชาท้าวทั้งสี่และเทพารักษ์ในบริเวณนั้นมีสิ่งของที่นำมาประกอบพิธี ได้แก่ ข้า พริกแห้ง เกลือ ขนม ข้ามต้ม ดอกไม้ ธูปเทียน หมาก พลู บุหรี่ เมี่ยง ซึ่งได้มาจากการบริจาคของชาวบ้าน ในวันประกอบพิธีจะมีการทำบุญตักบาตรในตอนเช้า ในบริเวณพิธี หลังจากนั้นพระสงฆ์สวดชัยมงคลคาถา และสวดพระปริต เทศนาธรรมใบลานเจ็ดคัมภีร์ และเทศนาธรรมสืบชะตา เพื่อขับไล่สิ่งชั่วร้ายและเสนียดจัญไร หรือสิ่งอัปมงคลทั้งหลายให้ออกไปจากหมู่บ้าน เมื่อจบพิธีแล้วก็จะปะพรมน้ำมนต์แก่ผู้มาร่วมพิธีทุกคน
กำหนดวันประกอบพิธีสืบชะตาของหมู่บ้านไทลื้อจะทำหลังสงกรานต์ของทุกปี ประเพณีสืบชะตาบ้านเป็นการรวมน้ำใจของชาวบ้านให้มีความสามัคคี โดยการกิจกรรมทำบุญร่วมกัน เป็นการสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่คนในหมู่บ้าน และสืบทอดมรดกเกี่ยวกับประเพณีให้แก่ลูกหลาน แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า การประกอบพิธีในระยะหลังๆ ผู้เข้าร่วมกิจกรรมมักจะเป็นผู้สูงอายุ ส่วนคนรุ่นหลังมักจะไม่ให้ความสนใจมากนัก
เพลง
การขับลื้อ คือ การขับร้องบทเพลงที่แสดงถึงอัตลักษณ์ของคนไทลื้อ โดยจะใช้ภาษาลื้อในการขับร้อง ซึ่งการขับลื้อของคนไทลื้ออาจมีความแตกต่างกันเล็กน้อยตามสำเนียงการพูดของคนไทลื้อแต่ละท้องถิ่น การขับลื้อมี 2 แบบ คือ แบบที่ 1 จะเป็นการขับลื้อที่มีดนตรีประกอบ เครื่องดนตรีที่ใช้ประกอบคือ ปี่ลื้อ หรือสะล้อ หรือซึง อย่างใดอย่างหนึ่ง ทำนองการขับลื้อไม่มีแบบฉบับที่เป็นมาตรฐานตายตัว จะมีเครื่องดนตรีที่ใช้สี หรือดีด หรือเป่าประกอบคลอไปกับสำเนียงเสียงขับที่ผู้ขับ การขับลื้อนิยมแสดงทั้งงานมงคลและงานอวมงคล และแบบที่ 2 คือ ขับลื้อแบบไม่มีเครื่องดนตรีประกอบ โดยส่วนใหญ่ การขับแบบนี้จะขับเข้าป่าเวลาไปป่า ไร่ นา หรือสวน ผู้ขับก็จะขับลื้อไปด้วยเพื่อความสนุกสนาน ไม่เน้นเนื้อหาสาระ (Sara Davis 2005.)
การร่ายรำ
การฟ้อนของชาวไทลื้อจังหวัดน่าน มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความเป็นมาและพัฒนาการการฟ้อนของหญิงและชายไทลื้อ รวมถึงวิเคราะห์ลักษณะท่าฟ้อน โดยศึกษาจากเอกสารงานวิจัย การสัมภาษณ์ การสังเกตจากภาพถ่าย ภาพวีดีทัศน์ ตลอดจนการฝึกหัดของผู้วิจัยกับผู้เชี่ยวชาญการฟ้อนในแต่ละชุด ผลจากการศึกษาพบว่า ฟ้อนของชาวไทลื้อมีด้วยกัน 5 ชุด คือ ฟ้อนอิสระ ฟ้อนมูเซอ ฟ้อนพม่า ฟ้อนเจิง ซึ่งเป็นฟ้อนแบบดั้งเดิม และฟ้อนไทลื้อ เป็นฟ้อนที่ประดิษฐ์ขึ้นใหม่ สำหรับฟ้อนอิสระนั้นเป็นรากเหง้าของการฟ้อนทั้ง 4 ชุด ที่มีลักษณะเฉพาะดังนี้ ฟ้อนมูเซอและฟ้อนพม่าเป็นการฟ้อนแห่เครื่องครัวทานในเทศกาลงานบุญต่างๆ ส่วนฟ้อนเจิง เป็นการฟ้อนอวดฝีมือในเชิงการต่อสู้ของผู้ชายไทลื้อ และฟ้อนไทลื้อเป็นฟ้อนที่ประดิษฐ์ขึ้น เพื่อฟ้อนในงานบวงสรวงดวงวิญญาณเจ้าหลวงเมืองล้า การฟ้อนของชาวไทลื้อ มีลักษณะที่เหมือนกัน คือ การยืดและยุบตัวไม่เน้นการกระทบเข่าที่แรง มีการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง ใช้การเบี่ยงลำตัวไปด้านข้าง และบังคับส่วนของนิ้วมือไม่มากนัก นอกจากนี้ผู้วิจัยยังพบว่าฟ้อน 4 ชุด ที่มีพัฒนาการโดยได้รับอิทธิพลภายนอกที่แตกต่างกัน มีลักษณะเด่นดังนี้ ฟ้อนมูเซอ ใช้การก้าวเท้าที่มีช่วงความกว้างระหว่างเท้าทั้งสองข้างมาก ประมาณ 90 เซนติเมตร เพื่อให้สามารถเอนลำตัวไปด้านข้างได้มาก และมีการเบนปลายเท้า ใช้การบิดลำตัวและตีไหล่ ช่วยในการเปลี่ยนทิศทางในการฟ้อนจากด้านหนึ่งไปอีกด้านหนึ่ง ฟ้อนพม่า มีการทรงตัวที่เน้นการโน้มลำตัวไปด้านหน้า เอนลำตัวไปด้านข้าง และเบี่ยงลำตัวออกด้านข้างประมาณ 45 องศาขณะเคลื่อนไหว และในการก้าวเท้ามีลักษณะเหมือนครึ่งวงกลมเพื่อให้สัมพันธ์กับลำตัวที่เบี่ยงไปด้านข้าง ฟ้อนเจิงเน้นการทรงตัวโดยเบี่ยงลำตัวไปด้านข้าง การใช้ลำตัวโน้มไปด้านหน้ามากจนในบางท่าฟ้อนลำตัวขนานกับพื้น และใช้การกระโดดสปริงตัวก่อนการก้าวเท้าและนั่งลง ฟ้อนไทลื้อ เน้นการขย่มตัวเบาๆ ตามจังหวะในท่านั่งฟ้อนขณะเปลี่ยนการปฏิบัติของมือ และใช้ท่ามือตั้งวงบนหน้าตักข้างหนึ่ง จีบส่งหลังข้างหนึ่ง เป็นการเคลื่อนไหวในช่วงเริ่มต้นของการเปลี่ยนอิริยาบถ จากท่ายืนเปลี่ยนเป็นท่านั่ง หรือจากท่านั่งเปลี่ยนเป็นท่ายืน การฟ้อนของชาวไทลื้อ เป็นส่วนหนึ่งของวิถีการดำเนินชีวิต ดังนั้น จึงควรนำออกเผยแพร่แก่สาธารณชนให้มากขึ้น เพื่อให้เป็นสมบัติทางวัฒนธรรมของชนกลุ่มนี้สืบไป
เครื่องดนตรี
เครื่องดนตรีที่ใช้บรรเลงร่วมกับการขับลื้อ คือ ปี่ไม้ขม หรือปี่ลื้อ เป็นไม้ตระกูลไผ่ที่มีขนาดเล็ก
แต่เดิมการเล่น “หมากกอน” น่าจะเป็นการละเล่นที่โดดเด่นของหนุ่มสาวชาวลื้อในช่วงเทศกาลปีใหม่ เป็นการโยนลูกกอนให้กันระหว่างหนุ่มสาว เพื่อสื่อสารสัญลักษณ์ เกี้ยวพาราสีกัน ปัจจุบันน่าจะสูญหายไปแล้ว นอกจากที่สิบสองปันนายังมีบางแห่งที่จัดแสดงอยู่บ้าง
ตำนาน นิทาน เรื่องเล่าพื้นถิ่น สำนวน สุภาษิต วรรณกรรม ของชาวลื้อ ไม่ต่างไปจากชาวล้านนา เนื่องจากส่วนใหญ่มาจากอิทธิพลของพุทธศาสนาเดียวกัน เพียงแต่จะมีชื่อเรียกต่างกันบ้างเช่น “ลังกาสิบโห” ก็คือ รามเกียรต์ นั่นเอง
มีกลุ่มคนรุ่นใหม่กันมาใช้สื่อสังคมออนไลน์ สร้างเครือข่ายอยู่บ้างเช่น เยาวชนรักษ์ไทลื้อ เยาวชนไทลื้อบ้านธิ กลุ่มเยาวชนฮักไทลื้อหละปูน สมาคมไทลื้อ ชมรมไทลื้อประจำจังหวัดเกือบทุกแห่งจะมีสื่อสังคมออนไลน์สร้างเครือข่ายกันเอง ทั้ง Line และ Facebook
ข้อมูลเครือข่าย/สมาคม-ชมรมไทลื้อในประเทศไทยในปัจจุบัน
สมาคมไทลื้อในประเทศไทย
ระดับประเทศ นางลดาวัลลิ์ วงศ์ศรีวงศ์ นายกสมาคมไตลื้อแห่งประเทศไทย
ระดับภูมิภาค ภาคเหนือ นายมงคลศิลป์ ศรีอิ่นแก้ว นายกสมาคมไทลื้อภาคเหนือ
ระดับจังหวัด
Access Point |
---|
No results found. |
ชาวไทลื้อ เคลื่อนย้ายมาจากพม่า ส่วนใหญ่ตั้งถิ่นฐานในพื้นที่ภาคเหนือ ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง ลำพูน พะเยา แม่ฮ่องสอน แพร่ น่าน อัตลักษ์สำคัญคือ เสื้อผ้าการแต่งกาย และภาษา การเคลื่อนย้ายมาจากหลากหลายเมืองและหลายช่วงเวลาของไทลื้อ ได้ถูกร้อยรัดความเป็นชาติพันธุ์ไว้ด้วยกันภายใต้สมาคมไทลื้อแห่งประเทศไทย โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา