2023-06-17 10:47:27
ผู้เข้าชม : 3578

ลาวครั่ง มีถิ่นฐานดั้งเดิมอยู่ที่ สปป.ลาว  อพยพเข้ามาในประเทศไทยในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ด้วยเหตุผลด้านสงครามระหว่างไทยและลาว คนกลุ่มนี้ถูก “เทครัว” หรือถูกย้ายผู้คนในชุมชนมาทั้งหมด ปัจจุบัน ตั้งถิ่นฐานหนาแน่นในจังหวัดเลย นครปฐม สุพรรณบุรี อุทัยธานี ฯลฯ  ในอดีตมีวิถีการดำรงชีพด้วยการทำนา ภายหลังได้เปลี่ยนแปลงมาปลูกพืชเศรษฐกิจ เช่น ข่า มะเขือ ดอกรัก อ้อย ฯลฯ อัตลักษณ์ที่โดดเด่นของชาวลาวครั่ง คือ ผ้าทอที่มีความงดงามและมีมูลค่าค่อนข้างสูง ปัจจุบันคนกลุ่มนี้ได้เผชิญกับความท้าทายด้านการเปลี่ยนแปลงทางภาษาและวัฒนธรรม เนื่องจากคนรุ่นใหม่มีการเปลี่ยนแปลงการดำรงชีพไปสู่ความทันสมัย

  • ข้อมูลพื้นฐาน
  • ประวัติศาสตร์
  • การตั้งถิ่นฐานและกระจายตัว
  • วิถีชีวิตและวัฒนธรรม
  • งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
  • อ้างอิง

ชื่อกลุ่มชาติพันธุ์ : ลาวครั่ง
ชื่อเรียกตนเอง : ลาวครั่ง
ชื่อที่ผู้อื่นเรียก : ลาวครั่ง, ไทครั่ง, ลาวขี้ครั่ง, ลาวเต่าเหลือง, ลาวด่าน, ลาวโนนปอแดง
ตระกูลภาษา : ไท
ตระกูลภาษาย่อย : -
ภาษาพูด : ลาวครั่ง
ภาษาเขียน : ไม่มีตัวอักษรที่ใช้เขียน

“ลาวครั่ง” เป็นชื่อที่กลุ่มชาติพันธุ์ใช้เรียกแทนตนเอง แต่เดิมเรียกตนเองว่า “ลาวขี้คั่ง” ต่อมาได้ลดคำว่า ขี้ และเพิ่มตัวควบกล้ำ ร ที่คำว่า คั่ง เป็น “ครั่ง” เพื่อให้สอดคล้องกับภาษาไทยคำว่าครั่ง หมายถึง แมลงครั่ง เป็นแมลงที่ชาวท้องถิ่นลุ่มน้ำโขงและชาวตระกูลไท นิยมนำรังของแมลงครั่งมาย้อมด้ายย้อมไหม บางพื้นที่พบว่ามีชาวบ้านพูดสำเนียงเช่นเดียวกับชาวลาวครั่ง เรียกตนเองว่า “ลาวเวียงจันทร์” สำหรับภาษาราชการเรียกชนกลุ่มนี้ว่า “ลาวครั่ง” โดยมีข้อสันนิษฐานว่าชื่อกลุ่มชาติพันธุ์อาจมีที่มาสามประการ กล่าวคือ ประการแรก บรรพบุรุษของชนกลุ่มนี้เคยอาศัยอยู่ที่ภูคัง จึงได้ชื่อว่า ลาวคัง ประการที่สอง กลุ่มชาติพันธุ์เข้ามาเป็นเชลยศึกทำหน้าที่เป็นคนเลี้ยงครั่ง เพื่อส่งส่วยให้คลังหลวงของสยาม จึงได้รับชื่อว่าลาวขี้คั่งและลาวครั่ง ประการที่สามอาจมาจากคำว่า ลาวค้าง เพราะเป็นกลุ่มชนที่สยามต้อนเข้ามาและไม่ได้เดินทางกลับสู่ประเทศลาว จากนั้นทุกชื่อได้ถูกกร่อนเสียงเป็นคำว่า ลาวครั่ง ทั้งนี้กลุ่มชาติพันธุ์พอใจที่จะถูกเรียกว่าลาวครั่ง มากกว่าชื่อลาวขี้คั่งหรือชื่ออื่น

ชาวลาวครั่ง เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่พูดภาษาอยู่ในตระกูลภาษาไท (Tai Language Family) อาศัยอยู่หลายประเทศในภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ชาวลาวครั่งแต่เดิมอาศัยอยู่ในประเทศลาว มีวัฒนธรรมพื้นฐานด้านภาษาและวัฒนธรรมอื่นๆ ใกล้เคียงกับวัฒนธรรมลาวในแผ่นดินประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป. ลาว) มีประวัติอพยพเข้ามาดำรงชีวิตเป็นประชากรของอาณาจักรสยามเมื่อต้นรัตนโกสินทร์ เพราะเหตุของการสงครามระหว่างสยามและลาว ประกอบกับเป็นช่วงที่กองทัพสยามได้กวาดต้อนเชลยศึกชาวลาวหลายกลุ่มเข้ามาอยู่ในแผ่นดินสยาม ชาวลาวเข้ามาเป็นเชลยศึกโดยถูก “เทครัว” คือการกวาดต้อนผู้คนในชุมชนมาทั้งหมดทุกคน โดยขณะที่อพยพด้วยความยากลำบากจากการเดินทาง มีชาวลาวล้มตายไปจำนวนมาก และเหลือรอดเพียงจำนวนหนึ่งที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานในประเทศไทยจนถึงปัจจุบัน โดยหากไม่จำแนกเชื้อชาติหรือสัญชาติ แต่จำแนกจากผู้ที่พูดภาษาลาวครั่งเพียงเท่านั้น ในปัจจุบันพบว่ามีชาวลาวครั่งอาศัยอยู่ในประเทศไทย จำนวนประมาณ 90,000 คน อาศัยกระจายอยู่ในจังหวัดเลย นครปฐม สุพรรณบุรี อุทัยธานี ชัยนาท กำแพงเพชร นครสวรรค์ และอุตรดิตถ์

ชาวลาวครั่งมีแกนหลักทางวัฒนธรรมอันเป็นที่สังเกตได้ คือภาษาลาวครั่ง มีลักษณะพิเศษทางด้านเสียงวรรณยุกต์แตกต่างจากภาษาลาวถิ่นอื่น ๆ ภาษาลาวครั่งในปัจจุบันได้นำเอาศัพท์ภาษาไทยภาคกลางร่วมใช้มากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มอาศัยใกล้เมืองหลวง ต่างกับกลุ่มที่ห่างไกลเมืองหลวงที่ยังมีความเข้มข้นทางภาษามากกว่า ผ้าทอผ้าทอพื้นของชาวลาวครั่งถือเป็นศิลปะบนผืนผ้าที่ดงามและทรงคุณค่า รวมถึงมีมูลค่าสูง นิยมใช้สีแดง หรือสีเหลือบแดง เพื่อสอดรับกับนิยามและคำเรียกขานว่า ครั่ง อันเป็นวัตถุธรรมชาติท้องถิ่นที่นำมาย้อมด้ายหรือไหมให้เป็นสีแดง ปัจจุบันความเข้มข้นทางภาษาและวัฒนธรรมมีแนวโน้มที่จะลดน้อยเบาบางลง เนื่องจากเยาวชนคนรุ่นใหม่ เรียนรู้วิถีชีวิตใหม่ การงานอาชีพ ประกอบกับสภาพสังคมแวดล้อมที่เคยสอดรับกับวิถีชีวิตดั้งเดิมเปลี่ยนแปลงไป

ชาวลาวครั่งที่เข้ามาอยู่ในอาณาจักรสยามนั้น เดินทางมาเพราะเหตุของสงคราม เป็นเชลยศึกโดยถูก “เทครัว” หรือถูกย้ายผู้คนในชุมชนมาทั้งหมด คือมีทั้งผู้เฒ่าชรา ชาย หญิง เด็ก โดยมีกองกำลังทัพของฝ่ายสยามกำกับการเคลื่อนย้าย

เมื่อพิจารณาตามความเป็นจริงของมนุษย์ ย่อมรักถิ่นฐานบ้านเกิด หวงแหนถิ่นที่ทำกิน และรักพวกพ้องวงศ์วาน หากมิใช่เรื่องร้ายแรง หรือไม่มีแรงจูงใจที่ดีกว่า ชาวบ้านชาวเมืองย่อมจะไม่หนีจากถิ่นของตน เว้นเสียแต่ภาวะจำยอม เช่น เกิดโรคระบาด ผู้คนล้มตายเป็นอันมาก ถูกขู่ฆ่าเอาชีวิตดังกรณีสงคราม ดังนั้น เมื่อย้อนพิจารณาถึงชาวลาว (นับรวมว่ามีลาวครั่งอยู่ด้วย) ที่เป็นข้าแผ่นดินของเจ้าชีวิตลาวในสมัยอดีต ก็ย่อมรักแผ่นดินถิ่นเกิดเช่นกัน จึงเห็นได้ว่า การที่ชาวลาว (และลาวครั่ง) จะเดินทางมุ่งหน้ามาอยู่ในแผ่นดินสยามด้วยจิตที่ชื่นบานนั้น เป็นไปได้ยากมาก หรือไม่มีหลักฐานที่พอเชื่อถือได้ว่า ได้มีการอพยพมาสยามด้วยเจตนาตนเอง

ประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์ลาวครั่งยังมีความคลุมเครือ มีแต่เพียงหลักฐานว่าเป็นชาวลาวที่ต้องอพยพจากประเทศลาวในช่วงต้นรัตนโกสินทร์เอกสารในชั้นหลังที่กล่าวถึงประวัติศาสต์ของชาวลาว และมีการอนุมานว่าเป็น ลาวครั่ง มีแยกย่อยต่างๆ เช่น

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย “...ได้กวาดต้อนครัวลาวภูครังมาจากเมืองภูครังซึ่งเป็นหัวเมืองอยู่ฝั่งซ้ายแม้น้ำโขง เข้ามาตั้งบ้านเรือนอยู่เมืองนครชัยศรี” (อิงอร ปิยะพันธุ์ หน้า 38)

“ในสมัยรัชกาลที่ 2 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พ.ศ. 2360 มีร่างศุภอักษรถึงเจ้าเวียงจันทน์ให้แต่งท้าวเพียคุมคนและช้างไปรับครัวลาวภูครังที่หลบหนีจากแขวงพิษณุโลกไปอยู่เวียงจันทน์ลงมากรุงเทพฯ (จดหมายเหตุรัชกาลที่ 2 พ.ศ. 2360 (จ.ศ. 1179) เลขที่ 10” (มยุรี ถาวรพัฒน์ และ เอมอร เชาว์สวน หน้า 6)

ประเด็นที่ไม่อาจทราบได้คือ ลาวภูครังในเอกสารของไทย คนกลุ่มนี้พูดสำเนียงเสียงใด และเป็นคนกลุ่มเดียวกันกับลาวครั่งทุกวันนี้จริงหรือไม่ มีข้อควรสังเกตว่า คำเรียกขานว่า ลาวครั่ง นี้ อาจมีการสถาปนาชื่อเรียกขานทั้งในฐานะเป็นชื่อของภาษาลาวถิ่น และชื่อเรียกชาติพันธุ์ เฉพาะในประเทศไทย และเพิ่งกำหนดเป็นทางการในราว 50 ปี ที่ผ่านมานี้เท่านั้น เพราะเป็นช่วงที่ประเทศไทยเริ่มผ่อนปรนให้คนในชาติเริ่มแสดงตัวตนของความเป็นชาติพันธุ์ได้มากขึ้น และมีนักวิชาการชาติตะวันตกมาศึกษาวิจัยเกี่ยวกับภาษา-ชาติพันธุ์ ทั้งนี้เพราะจากการสืบค้นกลุ่มชาติพันธุ์ในลาว ก็ไม่ปรากฏว่ามีชื่อภาษาลาวถิ่นและชาติพันธุ์ว่า ลาวครั่ง อยู่ในสปป. ลาว อีกทั้งบทความของนักวิชาการลาวที่เขียนเรื่อง Languages and Ethnic Classification in the Lao PDR (Kingsada Page 24) ก็ไม่ระบุว่ามีชื่อลาวครั่งใน สปป.ลาว เช่นกัน เพราะถ้าหากมีจริง เก่าแก่จริง หรือมีมานานร่วมสมัยกับการศึกสงครามช่วงกว่า 2 ศตวรรษที่ผ่านมา ก็ควรจะพบเห็น เพราะในบทความดังกล่าวนี้ ได้กล่าวถึง แสก พวน ผู้ไท เยือง ลื้อ ขึน กอย ซามเกา ฯลฯ แต่ไม่มีชื่อเรียกขานที่พอจะหมายถึงลาวครั่ง แต่ประการใด

ในการสำมะโนประชากร ประเทศไทยมิได้กำหนดลักษณะทางชาติพันธุ์อย่างเด่นชัด เพราะมีแนวคิดการหลอมรวมความเป็นไทย ตามนโยบายจากอดีต การระบุชื่อชาติพันธุ์จึงไม่เคร่งครัดนัก กล่าวคือ ทางการไทยไม่มุ่งเน้นแยกหาว่า เป็นชนเผ่าใดหรือชาติพันธุ์ใด และมิได้นำมาย้ำแยก ในการสำรวจแม้จะมีการให้ระบุเชื้อชาติ (race) กับสัญชาติ (nationality) แต่คนไทยมักจะระบุว่าตนเป็น คนเชื้อชาติไทย สัญชาติไทย ไปโดยปริยาย ยกเว้นผู้มีประวัติว่าเป็นชาวต่างชาติจริงแล้วเพิ่งย้ายตัวมาอยู่ในประเทศไทย เช่น เชื้อชาติอินเดีย สัญชาติไทย, เชื้อชาติจีน สัญชาติไทย แต่ถ้าบุพการีเป็นชาวต่างชาติ แต่ตนเกิดที่ประเทศไทย เช่น ลูก หลาน หรือเหลนของคนมอญ คนอินเดีย คนอิหร่าน คนจีน ที่เกิดในไทย เขาย่อมมีสิทธิแสดงตนว่าเป็นคนเชื้อชาติไทย สัญชาติไทย

ดังนั้น ในการสำรวจประชากรไทย จึงไม่พบข้อมูลที่เป็นเอกเทศแน่ชัดว่า มีชาวลาวครั่ง (และกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ) เป็นจำนวนเท่าใด เพราะชาวลาวครั่งในปัจจุบัน ล้วนเกิดในประเทศไทย จึงไม่จำเป็นต้องระบุว่าตนมีเชื้อชาติลาวครั่ง เพราะคำว่า เชื้อชาติ เป็นคำทางการ แต่คำว่า เชื้อสาย เป็นคำที่ไม่เป็นทางการ ด้วยเหตุนี้ จึงพบเห็นคนไทยจำนวนมากที่มักเผยตัวว่าเป็นคน เชื้อสายจีน เชื้อสายมอญ เชื้อสายลาว แต่ไม่บอกว่าตนเป็นคนเชื้อชาติจีน เชื้อชาติมอญ หรือเชื้อชาติลาว

งานวิจัยโครงการแผนที่ภาษากลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทยของมหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งใช้ภาษา เป็นตัวกำหนดผู้คน กล่าวคือ ไม่มุ่งเน้นถามถึงเชื้อชาติหรือสัญชาติ แต่ถามถึงภาษาที่พูดหรือชื่อที่เรียกขานภาษา พบว่า มีผู้คนที่พูดภาษาลาวครั่ง เป็นจำนวนประมาณ 90,000 คน มีกระจายอยู่ในจังหวัดเลย นครปฐม สุพรรณบุรี อุทัยธานี ชัยนาท กำแพงเพชร นครสวรรค์ (สุวิไล เปรมศรีรัตน์ 2547) อย่างไรก็ดี สถานภาพการใช้ภาษาของชาวลาวครั่ง มีความเข้มข้น-เบาบางไปตามท้องที่

ตามหลักการนั้น นับจากปี พ.ศ. 2544 (อันเป็นปีที่เสร็จสิ้นการวิจัยโครงการแผนที่ภาษาฯ) จนถึงปัจจุบัน (พ.ศ. 2563) นานนับได้ 19 ปี จำนวนประชากรลาวครั่งควรจะเพิ่มขึ้นตามอัตราการเกิดของประชากร แต่ตามพฤติการณ์มิอาจคาดการณ์เช่นนั้นได้ เนื่องจากสังคมเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว คนที่มีบรรพบุรุษเป็นชาวลาวครั่ง แต่คนรุ่นใหม่ที่เติบโตมาพร้อมกับวัฒนธรรมสังคมไทยสมัยใหม่ เขาหรือเธออาจจะไม่ได้อยู่อาศัยในชุมชนจนเกิดความซาบซึ้งหรือรับรู้รากเหง้าทางวัฒนธรรมของบรรพบุรุษ บ้างก็ออกจากชุมชนดั้งเดิมเพื่อการศึกษาและทำงาน มีครอบครัว และรวมถึงไม่สามารถพูดภาษาลาวครั่งได้ สภาวะการณ์เช่นนี้ จึงไม่อาจเรียกได้ว่า กลุ่มคนดังกล่าวยังคงความเป็นประชากรลาวครั่ง สามารถกล่าวได้แต่เพียงว่า มีเชื้อสายลาวครั่งเท่านั้น ยังผลไปสู่การไม่สามารถระบุจำนวนตัวเลขประชากรลาวครั่งได้อย่างชัดเจน

ความเป็นชาติพันธุ์ มิได้เกิด หรือมีขึ้นเพียงเพราะมีสายสายแหรก หรือมีบรรพบุรุษ แต่ยังหมายรวมถึงการยินยอมพร้อมใจที่จะเรียกตนเป็นชาติพันธุ์ การเข้าร่วมกิจกรรมทางชาติพันธุ์ (ร่วมพิธีกรรม ประเพณี การแต่งกาย ความเชื่อ การดำรงชีวิต การแสดงออก) หรือกล่าวอีกอย่างว่า ต้องมีส่วนร่วมทั้งทางประวัติศาสตร์ กาย ใจ กับหมู่กลุ่มนั้น จึงจะนับว่าเป็นชาติพันธุ์โดยแท้

การศึกษาเรื่อง “ความเป็นลาวครั่ง” นี้ เมื่อลงลึกสู่รายละเอียดของชุมชนใดชุมชนหนึ่งแล้ว มักพบประเด็นที่คล้ายกันคือ ปัจจุบันชาวลาวครั่งมีความกลมกลืนกับชาวไทยในภาพรวม โดยมิได้บ่งบอกทางกายภาพที่แน่ชัด ประกอบกับมีการเปลี่ยนแปลงทางด้านสังคม วัฒนธรรม การศึกษา การสื่อสาร อาชีพ และวิทยาการแผนใหม่ ทำให้ผู้คนเกิดการเลียนแบบและเอาอย่างกันได้อย่างเสรี การจำแนกว่า ใคร คือลาวครั่ง จึงหาเส้นแบ่งที่ชัดเจนได้ยาก

ตัวอย่าง หญิงคนหนึ่งเกิดจากพ่อแม่ที่เรียกตนเองว่าเป็นลาวครั่ง ครั้นเมื่อถึงชั้นมัธยมเธอออกจากหมู่บ้านเพื่อไปศึกษาในตัวเมืองและพักอาศัยอยู่กับญาติ ปิดภาคการศึกษาหนึ่งครั้งจึงเดินทางกลับหมู่บ้าน ต่อมาได้ศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาที่เมืองหลวง เมื่อจบการศึกษา ทำงาน แล้วแต่งงาน สามีเป็นชาวภาคใต้ เธอยังคงมีชื่อเป็นคนในหมู่บ้านที่เป็นลาวครั่ง แต่เธอพูดภาษาลาวครั่งไม่ชัดและหลงลืมคำศัพท์ไปมาก นอกจากนี้ เธอยังไม่มีโอกาสได้ไปร่วมงานพิธีกรรมทางความเชื่อกับคนในหมู่บ้าน เธอไม่จำเป็นต้องดำรงชีวิตเหมือนพ่อแม่ เนื่องจากเธอมีอาชีพที่แตกต่างจากชาวบ้าน มีเงินเดือน ฯลฯ ปรากฏการณ์เช่นนี้มีความก้ำกึ่งว่า ควรจะนับเธอเป็นชาวลาวครั่งหรือไม่ อีกทั้งลูกหรือหลานของเธอควรจะนับด้วยหรือไม่

ลักษณะปลีกย่อยคล้ายๆ กันนี้ ปรากฏอยู่ในทุกชุมชนลาวครั่ง ขณะเดียวกัน คนสูงวัยที่เคยรู้เห็นเรื่องราวต่างๆ ในชุมชน เคยประพฤติทางประเพณีพิธีกรรมอันเป็นวัฒนธรรมลาวครั่ง นับวันยิ่งลดจำนวนลง ถึงแม้ว่า ในแต่ละปีจะมีจำนวนประชากรในประเทศเพิ่มขึ้น และประชากรในหมู่บ้านลาวครั่งก็เพิ่มขึ้น แต่ไม่อาจระบุจำนวนประชากรที่แน่ชัดได้ว่า ลูก หลาน เหลนที่เกิดขึ้นใหม่นี้ จะควรนับว่าเป็นลาวครั่งด้วยหรือไม่ เพราะมีการแต่งงานข้ามชุมชน ข้ามวัฒนธรรม อีกทั้งบางครัวเรือนก็ไม่ได้ร่วมกิจกรรมกับชุมชนลาวครั่งเหมือนเมื่อครั้งอดีต

สถานการณ์ด้านวัฒนธรรมที่สะท้อนถึงด้านประชากรคือ ตามหมู่บ้านหรือชุมชนที่ถือตนว่าเป็นลาวครั่ง เมื่อคราวที่มีการแสดงทางวัฒนธรรม เช่น การแสดงเพื่อต้อนรับแขก การฟ้อนรำ การแต่งกาย ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุที่มีความมุ่งหมายใคร่เสนอเรื่องราวทางวัฒนธรรมของตนเอง แต่เยาวชนมีบทบาทน้อย ทำให้เห็นแนวโน้มว่า จำนวนประชากรลาวครั่งที่พร้อมจะถือตนว่าเป็นคนลาวครั่ง มีจำนวนลดลงโดยสภาพ

การดำรงชีพ

การผลิตอาหาร การเกษตร และการยังชีพ

ในอดีต ชาวลาวครั่ง ดำรงชีพด้วยการทำนาเป็นหลัก ซึ่งการทำนานี้ อาศัยน้ำฝน เป็นการทำนาปี หรือการทำเพียงครั้งเดียว เป็นข้าวเจ้าพันธุ์ท้องถิ่นภาคกลาง พันธุ์ข้าวดังกล่าวนี้ มีลักษณะพิเศษคือทนน้ำท่วมขังได้ และยืดลำต้นได้รวดเร็วคล้ายสายบัวที่ยืดยาวไปตามระดับน้ำ ซึ่งพันธุ์ข้าวลักษณะนี้น่าจะดับสูญไปแล้ว การทำนานิยมใช้วิธีตกกล้า เมื่อต้นกล้าสูงได้เกือบศอก หรือมีอายุประมาณ 20 วัน ต่อจากนั้นจึงถอนต้นกล้าแล้วนำไปดำในดินเลนที่ไถและคราดจนเละเหลว แรงงานที่ใช้ลากไถและคราด ชาวลาวครั่งโพรงมะเดื่อนิยมใช้วัว ไม่ใช้ควายเหมือนกับชาวลาวหรือชาวอีสาน โดยมีเหตุผลว่า ควายมักเกลือกเลนโคลน ตีแปลงลงปลัก ทำให้ต้องล้างทำความสะอาด

อย่างไรก็ดี การใช้แรงงานสัตว์เพื่อลากคราดหรือไถ ชาวลาวครั่งดอนตูม จังหวัดนครปฐม และชาวลาวครั่งอำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี เมื่ออดีตนั้น นิยมใช้ควาย ไม่นิยมใช้วัว นอกจากนี้ การทำให้เมล็ดข้าวหลุดออกจากรวง ใช้วัวหรือควายเดินย่ำ ไม่นวดหรือฟาดฟ่อนข้าวลงที่ผืนลาน ซึ่งการนวดข้าวโดยใช้แรงงานสัตว์ย่ำนี้ เป็นขนบวิธีทำนาของคนไทยภาคกลาง ชาวลาวครั่งที่มาอยู่ในถิ่นภาคกลางจึงรับเอาแบบแผนการทำนาเช่นนี้ไว้ด้วย

ปัจจุบัน การทำนาดังกล่าวเหลือแต่เพียงคำบอกเล่า ทั้งนี้เพราะมีการทำนาแบบนาหว่าน ใช้แรงงานเครื่องจักร มีการจ้างแทนการวานหรือเอาแรง อีกทั้งชาวลาวครั่งที่อยู่ในพื้นที่ชลประทาน สามารถทำนาได้ถึงปีละ 2-3 ครั้ง การทำนาก็มุ่งผลิตข้าวเพื่อขาย มากกว่ามุ่งบริโภคภายในเฉพาะครัวเรือน เมื่อบุตรหลานชาวลาวครั่งมีความรู้ ต่างก็ออกไปทำงานนอกชุมชน ทำให้ผืนนาบางแปลงรกร้างไม่มีผู้ทำ หรือบ้างก็เปลี่ยนจากการทำนามาเป็นการปลูกพืชเศรษกิฐอื่นๆ เช่น การปลูกข่า มะเขือ ดอกรัก อ้อย ฯลฯ

กล่าวได้ว่า อาชีพหรือการประกอบการทำมาหากินของชาวลาวครั่ง เป็นไปเช่นเดียวกับชาวไทยในพื้นที่หรือท้องถิ่นเดียวกัน ไม่บ่งบอกว่าเป็นอาชีพของชาวลาวครั่งเป็นการเฉพาะ

เครื่องมือ เครื่องใช้สำคัญในชีวิต

ในอดีต ชาวลาวครั่งเกือบทั้งหมดประกอบอาชีพทางการเกษตร มีเพียงส่วนน้อยที่ประกอบอาชีพการค้า เช่น คนที่แต่งงานกับคนจีน ทำให้หันอาชีพจากการทำเกษตรไปเป็นการค้าขาย เครื่องมือสำคัญที่เนื่องด้วยการดำรงชีวิตของชาวลาวครั่งเมื่อสมัยอดีต จำแนกดังนี้

เครื่องมือการเกษตร เช่น จอบ เสียม, หลาว (ไม้หาบฟ่อนกล้า/ ฟ่อนข้าว), คราด, ไถ, แอก (ใช้ข่มคอวัว-ควาย), คันโซ้/ ซงโลง (ใช้วิดน้ำในแปลงนา), เคียว, คันฉาย (ไม้สงฟาง), วี (พัดขนาดใหญ่ให้โบกให้แกลบหรือข้าวลีบปลิว)

เครื่องมือประมง เช่น แห, สวิง, เบ็ด, ลัน (เครื่องดักปลาไหล), ลอบ (ใช้ดักปลา ดักกบ), ไซ, สุ่ม (ครอบปลา), ตาข่าย, ข้อง

เครื่องมืองานไม้ เช่น ค้อน, ตะลุมพุก (ค้อนไม้), กบ, สว่าน, เหล็กซี (เหล็กแหลม ใช้เจาะ) เลื่อย, สิ่ว, บุ้ง (ตะไบถูไม้ให้เข้ารูป), ตะไบ (ถูกเหล็ก ถูฟันเลื่อย)

เครื่องมือทอผ้า เช่น กี่ (โครงไม้ใช้กางเส้นทอผ้า) กระสวย, กง (ระวิง), หลา (ไน), กวัก/ อัก, คอนอัก (คอนสำหรับใช้สอดกวัก), อิ้ว (เครื่องแยกเมล็ดฝ้ายออกจากใยฝ้าย), เปีย (อุปกรณ์รวบด้ายให้เป็นไจ หรือเป็นเข็ด), เฝีย (เฝือ อุปกรณ์เป็นซี่คล้ายคราด ใช้เกี่ยวสาวเส้นด้ายเพื่อเริ่มเส้นยืนของการทอผ้า หรือเรียกว่า ค้นหูก), กงฝ้าย (ใช้ดีดปุยฝ้ายให้พองฟู)

เครื่องนอน เช่น ฟูก (ที่นอนยัดนุ่น), สาด (เสื่อ), มุ้ง, หมอน, ผ้าผวย (ผ้าห่ม)

เครื่องครัว เช่น หม้อ, จาน, ชาม, ช้อน, สารพี (ทัพพี), กระจ่า, ครก, สากกะเบือ, เตา, คีไฟ (กระบะดิน เป็นที่ตั้งสำหรับก่อไฟบนเรือน), เส้า (ก้อนดินหรือหินใช้หนุนหม้อในคีไฟ)

เครื่องใช้ เช่น กระด้ง, ตะกร้า, เขิง (ตะแกรง กระด้งตาห่าง ใช้ร่อนกรอง หรือใช้ตากของ), ครก/ ครกกระเดื่อง (ตำข้าว เป็นอาทิ), สาก (ใช้ร่วมกับครกตำข้าว), กระบวย, หีบอ้อย (กรามช้าง ใช้หีบอ้อย), สีฟันเฟือง (โม่สีข้าว)

ภาชนะและอุปกรณ์เกี่ยวเนื่อง เช่น กระบุง, กระจาด, สาแหรก, หม้อ, ไห, ตุ่ม, โอ่ง, โตก (ถาดหรือกระด้งมีตีน), เฝียน (หน้าแว่นใช้บีบขนมจีน)

ปัจจุบันนี้ สิ่งของดังที่กล่าวเกือบทั้งหมด ไม่ได้มีการใช้อยู่ในวิธีชีวิตประจำวันแล้ว บางแห่งได้นำไปถวายวัด รวบรวมไว้สร้างเป็นพิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน หรือหากจะเหลือการใช้จริงอยู่บ้าง เฉพาะในชุมชนที่อนุรักษ์ จัดแสดงพร้อมกับการสาธิตการใช้งาน ทั้งนี้เนื่องจากวิถีการดำรงชีวิตของชาวลาวครั่งได้ปรับตัวเข้ากับยุคสมัย ทำให้สิ่งของเครื่องใช้เหล่านี้ลดบทบาทไปจากสังคม

อัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์

ชาวลาวครั่งมีอัตลักษณ์ (identity) หลายประการ แต่ไม่ถึงกับเรียกว่าเป็นเอกลักษณ์ (Unified style) หรือลักษณะอันเป็นหนึ่งเดียว ทั้งนี้เพราะวัฒนธรรมสามารถเลื่อนไหลหรือกลืนกลายไปมาหาสู่กันกับสังคมที่แวดล้อม

ตัวอย่างอัตลักษณ์ เช่น ภาษา เมื่อกล่าวถึงภาษาลาวครั่ง ชาวท้องถิ่นหรือนักภาษาที่ศึกษาเรื่องนี้ จะหมายรู้ร่วมกันว่าเป็นภาษาที่มีสำเนียงเฉพาะ (เป็นอัตลักษณ์) แต่ไม่ได้มีอยู่ในเฉพาะกลุ่มคนที่เรียกตนเองว่าลาวครั่งเท่านั้น เพราะยังพบสำเนียงภาษาเช่นนี้กับชาวหลวงพระบาง ชาววังสะพุง จังหวัดเลย ชาวน้ำปาด จังหวัดอุตรดิตถ์ ชาวหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นต้น

ผ้าถุงพื้นแดง ทอขิดหรือทอยกดอก ถือเป็นอัตลักษณ์ แต่มิใช่เอกลักษณ์ เพราะชาติพันธุ์ลาวท้องถิ่นอื่นก็มีความรู้เกี่ยวกับการทอผ้าด้วยด้ายหรือไหมสีแดง และรู้กรรมวิธีย้อมด้ายหรือไหมด้วยครั่ง ดังปรากฏในวรรณกรรมนิพนธ์เรื่อง ย่าสอนหลาน ซึ่งเป็นวรรณกรรมลาวลุ่มน้ำโขงว่า

“มีไหม คันบ่มีคั่งญ้อมสิเป็นป่านซาวกะเลิง

ดำบ่แดงพอกะเทินส่วนสิเสียเซิงผ้า”

มีความหมายว่า แม้ว่ามีไหม แต่ถ้าไม่มีครั่งเพื่อนำมาย้อมให้แดงใสงามแล้ว ก็ไม่ต่างอะไรกับป่านของชาวเผ่ากะเลิง รังแต่จะเกิดความกระดำกระด่าง แม้ทอไปแล้วก็จะได้ผ้าคุณภาพไม่ดี ทำให้เปล่าประโยชน์

แกงไข่ผำ ถือว่าเป็นอัตลักษณ์ แต่ไม่ถึงกับเป็นเอกลักษณ์ เพราะการรู้กรรมวิธีนำผำหรือไข่น้ำ หรือดอกไม้น้ำจืดมาปรุงเป็นอาหาร มีอยู่ทั่วไปทั้งชาวไทยภาคเหนือ อีสาน และใน สปป.ลาว

ขนมตาวัวตาควาย เป็นลักษณะอย่างการทำขนมบัวลอยใส่ไส้หน้ากะฉีกหรือไส้ถั่ว เป็นอัตลักษณ์ของชาวลาวครั่งถิ่นบ้านโคก จังหวัดสุพรรณบุรี ไม่ปรากฏพบในหมู่ชาวลาวครั่งถิ่นอื่นๆ

อัตลักษณ์หลายอย่างที่ชาวลาวครั่งนิยามไว้นี้ มีความเหมือน คล้าย หรือเป็นไปในลักษณะสอดคล้องกับชนถิ่นอื่นอยู่บ้าง ซึ่งถือเป็นความสามัญของวัฒนธรรมที่ต้องมีการหยิบยืมหรือลอกเลียนกันได้เสมอ ด้วยเหตุนี้ เมื่อศึกษาถึงกลุ่มชาติพันธุ์ลาวครั่งในหลายท้องที่ และกลุ่มชาติพันธุ์อื่นที่มิได้เรียกขานตนเองว่าเป็นคนลาวครั่ง ก็จะพบปรากฏการณ์ทางวัฒนธรรมที่เหมือนหรือสอดคล้องกันบ้าง เป็นเรื่องสามัญ

ระบบความเชื่อ ประเพณี และพิธีกรรม

ศาสนาและความเชื่อ

ชาวลาวครั่งนับถือศาสนาพุทธ แต่ก็ปฏิบัติตามความเชื่อลัทธิผี และศาสนาฮินดูอยู่หลายประการ ในการปฏิบัติกิจที่เนื่องด้วยพุทธศาสนา ชาวลาวครั่งมีการบำเพ็ญบุญกุศลโดยการตักบาตรในตอนเช้า หรือนำอาหารไปถวายพระในตอนเช้า เมื่อถึงวันพระ บางคนงดเว้นไม่ฆ่าสัตว์ หรือไม่ใช้แรงงานวัวควายลากคราดไถ เพราะถือว่าเป็นการทรมานสัตว์ ครั้นเมื่อมีกิจกรรมทางวัฒนธรรม เช่น แต่งงาน ขึ้นบ้านใหม่ โกนผมไฟ ตาย ก็มักจะโน้มนำเข้าไปหาพุทธศาสนา โดยนิมนต์พระมาสวดในงาน ถือว่าเป็นศิริมงคล นอกจากนี้ ในวาระสำคัญทางพุทธศาสนา เช่น วันมาฆบูชา วิสาขบูชา วันอาสาฬหบูชา วันเข้าพรรษา วันออกพรรษา มักจะมีการทำบุญใหญ่เป็นกรณีพิเศษว่าวันปกติ นอกจากนี้ ชายชาวลาวครั่งยังบวชเป็นภิกษุสามเณรเพื่อศึกษาพระธรรมคำสอนของพระศาสดา

ความเชื่อถือเรื่องผีในหมู่ชนชาวลาวครั่งก็ยังคงดำเนินไปพร้อมกับการนับถือพุทธศาสนา เช่น ความเชื่อเรื่องผีเทวดาอารักษ์ การทรงเจ้า การอ้อนวอนขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครอง อีกทั้งยังมีความเชื่อทางศาสนาฮินดู ซึ่งศาสนานี้มีพราหมณ์เป็นผู้ปฏิบัติศาสนกิจ แต่การประพฤติตามลัทธิศาสนานี้ ไม่ได้เคร่งครัดมากนัก เพียงแต่นำเอารูปรอย หรือแบบแผนบางประการมาใช้ เช่น เวลาจะสร้างบ้านหรืออาคาร จะเชิญพราหมณ์มาตั้งเสาเอก และทำพิธีดูฤกษ์ยาม ซึ่งพราหมณ์นั้นก็มิได้เชิญจากผู้ที่มีวรรณะพราหมณ์ แต่เป็นหมอดูหรือผู้ที่เคยศึกษาบวชเรียนทางพุทธศาสนามาแล้ว แต่งกายด้วยอาภรณ์สีขาว สื่อนัยว่าเป็นพราหมณ์เจ้าพิธี บางครั้ง หมอสูดหรือผู้ทำพิธีสูดขวัญก็แต่งกายสีขาว ถือว่าเป็นสีแห่งความบริสุทธิ์

การนับถือศาสนาของชาวลาวครั่ง เป็นไปด้วยความอะลุ้มอล่วย กล่าวคือ เป็นการหยิบเอาบางส่วนของแต่ละศาสนาหรือลัทธิมาปฏิบัติเพื่อให้สอดรับกับความเชื่อและความเป็นอยู่ มิได้มุ่งหมายถือเคร่งจนยากแก่การดำรงความเป็นอยู่ในวิถีวัฒนธรรมของตนเองแต่ประการใด

ความเชื่ออื่นๆ

นอกจากความเชื่อทางด้านศาสนาแล้ว ยังมีความเชื่อปลีกย่อยที่อยู่ในการปฏิบัติตนของชาวลาวครั่ง ความเชื่อปลีกย่อยเหล่านี้ บางประการก็มิได้บันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร เป็นแต่เพียงคำบอกเล่าหรือคำสอน หรือข้อห้ามซ่อนคำสอนเอาไว้ ซึ่งอาจเหมือนหรือแตกต่างกันในสังคมชาวลาวครั่งแต่ละท้องถิ่น ตัวอย่างความเชื่ออื่นๆ เช่น

คนที่นั่งคานกี่ เมื่อถูกกระสวยกระทุ้งตัว จะทำให้หาผัวไม่ได้

การลอดราวตากผ้า ทำให้เสื่อมราศี

การกินเงี่ยน เดนอาหารหรือน้ำจากคนอื่น ทำให้เสื่อมวิชา

ไม่กินอาหารในงานศพ

ขณะที่ทำแกงนางหวานห้ามทักถามว่าคัน

ผู้ชายเข้าไปในห้องส้วม เป็นการผิดผี

ฆ่าสัตว์ในวันพระ เป็นบาปหนา

ใช้แรงงานสัตว์ในวันพระ เป็นบาปหนา

เหยียบหมอน จะทำให้เกิดความอัปรีย์

ถ้าถูกฟาดหัวด้วยใบลาน (จารึก) ขี้กลากจะเกิดบนหัว

การด่าพ่อแม่และผู้มีพระคุณ เกิดชาติหน้าปากจะเท่ารูปเข็ม

การทุบตีพ่อแม่และผู้มีพระคุณ เกิดชาติหน้ามือจะเท่าใบตาล

การทำให้พ่อแม่และผู้มีพระคุณเสียใจร้องไห้ จะเป็นบาปติดตัวจนวันตาย

ฯลฯ

จึงเห็นได้ว่า ความเชื่อหลายอย่าง เป็นการปรับมาจากหลักการแห่งคุณธรรม หรืออิงความเชื่อตามลัทธิศาสนาที่ชาวลาวครั่งยึดถือ แต่ตัดเอามาเป็นท่อนเป็นประเด็น เพื่อนำมาบอกสอนให้สมาชิกของครอบครัวให้เป็นคนดี เป็นบุคคลที่พึงประสงค์ในสังคม

ประเพณี เทศกาล และพิธีกรรม

ประเพณี เทศกาล และพิธีกรรมสำคัญในรอบปี

ในรอบปี ชาวลาวครั่งมีเทศกาลอยู่หลายอย่าง ซึ่งเมื่ออดีตเคยใช้ระบบนับช่วงเวลาตามแบบจันทรคติ หรือการนับตามแบบตำราโหราศาสตร์ เรียกว่า ปีหนไท ซึ่งไม่ตรงกับเดือนทางสุริยคติ อันได้แก่การนับว่าเดือนมกราคม หรือกุมภาพันธ์ เป็นอาทิ นอกจากนี้ ลาวครั่งในแต่ละถิ่นต่างก็มีขนบนิยม หรือข้อกำหนดทางประเพณีหรือเทศกาลไม่เหมือนกัน ทั้งนี้เพราะมีปัจจัยเรื่องความเชื่อ ความศรัทธา ประวัติศาสตร์และตำนานท้องถิ่น การกำหนดเทศกาล หากนับจากช่วงของเดือนจันทรคติ มีดังนี้

ลำดับเดือน ชื่อเทศกาล/ ประเพณี/พิธีกรรม พื้นที่ชุมชนลาวครั่ง

เดือนสาม บุญคูนลานวัดหนองกระดูกเนื้อ ต. หนองนมวัว อ.ลาดยาว จ. นครสวรรค์

วัดหัวถนนกลาง ต. หัวถนน อ.ท่าตะโก จ.จังหวัดนครสวรรค์

เดือนสี่ งานปิดทองหลวงพ่อเดิมวัดศรีสโมสร บ้านกุดจอก ต.กุดจอก อ.หนองมะโมง จ. ชัยนาท

เดือนห้า เทศกาลสงกรานต์/ ต้อนฮับสังขานต์/ บุญปีใหม่ไท-ลาว บ้านกุดจอก ต.กุดจอก อ.หนองมะโมง จ. ชัยนาท

แห่ธงสงกรานต์ วัดทุ่งผักกูด ต.ห้วยด้วน อ.ดอนตูม นครปฐม

งานตั้งธงสงกรานต์วัดบ่อกรุ บ้านบ่อกรุ ต. บ่อกรุ อ.เดิมบางฯ จ. สุพรรณบุรี

เดือนหก เลี้ยงบ้าน/ เลี้ยงผีตาแฮก(ในอดีต จัดทำกันทุกชุมชน)

เดือนเจ็ด เลี้ยงผีเจ้านายลาวครั่ง ต. โพรงมะเดื่อ อ. เมือง จ. นครปฐม และชาวลาวครั่งชุมชนอื่น

เดือนแปด บุญเข้าพรรษา(ลาวครั่งทุกชุมชน)

เดือนเก้า บุญข้าวประดับดิน

เดือนสิบ บุญสารทลาว (ขึ้น 15 ค่ำ)(มีลาวครั่งบางชุมชนที่จัดงานนี้ และบางแห่งไปจัดงานบุญเดือนสิบ วันแรม 15 ค่ำเดือนสิบ ซึ่งเป็นสารทไทย)

เดือนสิบเอ็ด บุญออกพรรษา/ บุญกฐิน(ลาวครั่งทุกชุมชน และชาวไทยทั่วไป)

เดือนสิบสอง ประเพณีลอยกระทง(โดยทั่วไป)

นอกจากนี้ อาจมีงานพิธีเกี่ยวกับศาสนา ซึ่งไม่กำหนดระยะเวลาในช่วงเดือน เช่น การทอดผ้าป่า การถวายสังฆทานของผู้ที่ประสงค์จะทำบุญ งานบวช โดยไม่นับว่าเป็นเทศกาลหรือประเพณีของลาวครั่งโดยเฉพาะ เนื่องจากเป็นรูปแบบทางศาสนาพุทธในประเทศไทยที่คล้ายคลึงกัน

เทศกาลสงกรานต์

ประเพณีนี้ จัดขึ้นช่วงกลางเดือนเมษายน ชาวลาวครั่งหลายท้องที่ต่างแสดงออกทางประเพณีสงกรานต์แตกต่างกันไปตามท้องถิ่นของตน เช่น ชาวลาวครั่งบ้านบ่อกรุ ต. บ่อกรุ อ.เดิมบางนางบวช จ. สุพรรณบุรี มีกิจกรรมตั้งธงสงกรานต์, ชาวลาวครั่งบ้านสระบัวก่ำ อ.ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี มีกิจกรรมยกธงสงกรานต์, ชาวลาวครั่งบ้านทุ่งผักกูด ต.ห้วยด้วน อ.ดอนตูม นครปฐม มีกิจกรรมแห่ธงสงกรานต์, ชาวลาวครั่งตำบลห้วยแห้ง อ.บ้านไร่ จ.อุทัยธานี มีกิจกรรมแห่น้ำดอกไม้ ฯลฯ

จึงเห็นได้ว่า รายละเอียดของกิจกรรมที่จัดในช่วงเทศกาลสงกรานต์นี้ มีผิดแปลกแตกต่างกันไปบ้าง แต่ก็มีจุดร่วมเดียวกัน คือวาระที่ชาวชุมชนได้ร่วมกันสนุกสนาน ได้พบปะและแสดงความเป็นพวกพ้องเดียวกัน โดยมีวัดเป็นศูนย์รวมจิตใจ และต่างก็ใช้วัดเป็นสถานที่จัดงาน

ตัวอย่างงานสงกรานต์ โดยมีกิจกรรมที่เรียกว่า “แห่น้ำดอกไม้” ของชาวลาวครั่ง ตำบลห้วยแห้ง อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี ซึ่งมีการจัดขึ้นในวันที่ 15 เมษายนทุกปี โดยชาวบ้านจัดหาดอกไม้ที่มีในท้องถิ่น หรือหาซื้อได้ในฤดูกาล ทำเป็นช่อ หรือเป็นซุ้มตั้งบนเสลี่ยงหาม หรืออาจบรรทุกไว้ท้ายรถกระบะในลักษณะคล้ายรถขบวนบุปผาชาติ ขบวนแห่นี้เป็นของแต่ละหมู่บ้านภายในตำบลเดียวกัน

ในขบวนแห่ มีดนตรีบรรเลงด้วยจังหวะที่ครึกครื้น มีชาวบ้านแต่งกายด้วยผ้าหลากสีงามตา ร่ายรำไปตามจังหวะเสียงดนตรี มีขบวนริ้วธงผ้าทอพื้นบ้านร่วมอยู่ในขบวน ระหว่างที่เดินไปในท้องถนน ผ่านบ้านและร้านค้าริมทาง มีผู้สาดน้ำให้เกิดความชุ่มฉ่ำไปตลอดทาง การแห่น้ำดอกไม้นี้ ชาวลาวครั่งถิ่นอื่นอาจเรียกว่า แห่ดอกไม้ (ไม่มีคำว่า น้ำ นำหน้า) แต่หลักความเดียวกัน คือมีการแห่ดอกไม้ไปตามเส้นทางในหมู่บ้าน โดยเตรียมชะลอมขนาดใหญ่เพื่อให้ชาวบ้านริมทางได้นำดอกไม้ของตนมาใส่ในชะลอม บ้างก็มีบาตรสำหรับให้ชาวบ้านร่วมทำบุญโดยการบริจาคเงิน ระหว่างทางมีเด็กๆ และคนหนุ่มสาวเล่นสาดน้ำกันอย่างสนุกสนาน

ชาวลาวครั่งบ้านบ่อกรุ ต. บ่อกรุ อ.เดิมบางนางบวช จ. สุพรรณบุรี มีกิจกรรมตั้งธงสงกรานต์ ซึ่งคล้ายกับการแห่ดอกไม้ แต่เป็นการแห่ธง ผ้าที่ทำธงสงกรานต์ เป็นผ้าทอพื้นบ้าน แล้วนำมาร้อยอุบะดอกไม้ หรือทำชายครุย ขลิบริมตกแต่งขอบผ้าให้สวยงาม ระหว่างที่แห่จากบ้านเพื่อเข้าไปสู่วัด มีขบวนกลองยาว มีคนร่วมขบวนออกท่าร่ายรำอย่างสนุกสนาน ครั้นถึงวัดแล้ว ผู้นำขบวนนำดอกไม้และปัจจัยคนร่วมทำบุญไปถวายแด่พระภิกษุ นิมนต์พระสงฆ์มารับของถวาย พระสงฆ์สวดพระพุทธมนต์ เป็นการอวยพรปีใหม่ให้ชาวบ้านที่ไปร่วมทำบุญ ช่วงเย็นมีการเล่นสาดน้ำกันในบริเวณวัด หรือก่อกองทราย แล้วประดับตกแต่งด้วยดอกไม้

ประเพณี เทศกาล และพิธีกรรมเกี่ยวกับชีวิต

การตาย และการทำศพ

ชาวลาวครั่ง จำแนกการตายเป็น 2 ลักษณะ คือการตายธรรมดา กับการตายโหง กล่าวคือ การตายธรรมดา ใช้แก่การที่คนสูงอายุมากแล้วตาย หรือป่วยไข้เรื้อรังมานานแล้วตาย เพราะถ้าโรครุมเร้าแล้วรักษาไม่หาย สุดสิ้นปัญญาจะแก้ไข ก็จำนนว่าต้องตาย ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดาสามัญ ส่วนการตายโหง เป็นการตายอย่างฉับพลัน ผิดไปจากธรรมดา เช่น ตายจากการตกควาย ตกต้นไม้ ตกน้ำ ถูกยิง ถูกแทง รถชน ฟ้าผ่า ไฟไหม้ ผูกคอตาย กินยาตาย ฯลฯ

การปฏิบัติต่อศพคนที่ตายทั้ง 2 ลักษณะจึงแตกต่างกันโดย ถ้าตายธรรมดา จะตั้งศพไว้ที่บ้าน 1-2 คืน แต่ถ้าตายโหง จะไม่ตั้งศพไว้ที่บ้าน ให้ตั้งไว้ที่วัด หรือรีบนำไปฝังที่ป่าช้า ไม่นิยมในไปเผา เหตุที่ต้องตั้งศพไว้เพียง 1-2 คืน เพราะสมัยอดีตไม่มีวิทยาการในการเก็บรักษาศพ ทำให้เกิดกลิ่นเหม็น เป็นเรื่องน่าอุจาด การแก้ปัญหาทำได้แต่เพียงการกรอกเหล้าขาวเข้าในปากคนตาย ซึ่งเหล้านั้นเป็นอัลกอฮอล์ชนิดหนึ่ง มีส่วนฆ่าเซื้อโรคได้บ้าง แต่ไม่สามารถป้องกันการเน่าเปื่อยของศพได้ อีกประการนั้น การกรอกเหล้าลงในปากคนตาย ไม่สามารถทำได้ในจำนวนมาก เพราะระบบของร่างกายไม่ทำงานแล้ว สิ่งที่นำมากลบกลิ่นศพอีกอย่างหนึ่งคือ ยาฉุน หรือยาเส้น โดยการนำไปรองพื้นโลงศพ แต่การทั้งหลายก็ไม่สามารถระงับน้ำเหลืองที่ไหลออกจากศพได้ ดังนั้น การจัดการศพในอดีต จึงนำฟูกหรือที่นอนซึ่งยัดด้วยนุ่นมารองพื้นศพแล้วมัดรวบเข้ากับเสื่อต้นปรือ หรือต้นกก

หากผู้ตายเป็นผู้มีฐานะดีก็อาจมีการบรรจุศพไว้ในโลง ซึ่งโลงทำจากไม้กระดาน ตีเป็นโครงรูปกล่องสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้างแขนยาววา หรือพอเหมาะที่จะนำศพไปบรรจุไว้ข้างใน นำกระดาษแก้วหรือกระดาษสีมาปิดรอบนอกโลงให้ดูงาม บางครั้ง การทำโลงศพอาจมีเพื่อนบ้านบริจาคแป้นหรือกระดานมาร่วมในงาน หรือการเลาะเอากระดานที่กรุฝาเรือน 1-2 แผ่น มาเลื่อยตัดทำโลง เพื่อเป็นเคล็ดว่าได้มอบบ้านอันเป็นที่อยู่ของผู้ตายไปด้วย

หากเป็นชาวบ้านที่อัตคัดเงินทอง ศพก็อาจจะเพียงแต่ห่อด้วยเสื่อหรือฟูกแล้วคลุมด้วยผ้าฝ้ายด้ายดิบ หรือผ้าขาวม้า และถ้าเป็นศพหญิงจะคลุมด้วยผ้าซิ่นซึ่งเป็นของใช้ส่วนตัวผู้ตาย แล้วก็เผาไปพร้อมกับศพ เพราะถือว่าเป็นสมบัติของแต่ละคน ในกาลตต่อมาจึงได้มีวิธีการเลี่ยงเผาผ้าทอที่มีลวดลายอันงดงามพร้อมกับคนตาย โดยการนำผ้าของผู้ตายไปถวายพระ แล้วญาติหรือเจ้าภาพจึงไปขอบูชากลับคืนมา หรือมิเช่นนั้นก็นำผ้าทอนั้น โดยเฉพาะผ้าซิ่นไปห่อคัมภีร์ หรือเอกสารใบลานจารึกเพื่อถวายวัด ขนบอันนี้จึงเป็นที่มาของการใช้ผ้าผืนงามในการห่อคัมภีร์

ปัจจุบัน งานศพของชาวลาวครั่ง มีลักษณะร่วมกันกับชาวไทยทั่วไป กล่าวคือ เมื่อมีคนตาย จะมีการอาบน้ำศพ ประพรมน้ำหอม และหรืออาจมีการแต่งหน้าศพให้ดูดี แล้วสัปเหร่อมัดตราสังสามเปราะ บรรจุเข้าสู่โลง จุดเทียนให้ติดสว่างต่อเนื่องทั้งกลางวันและกลางคืนที่เบื้องหน้าโลงศพตลอดช่วงของการตั้งศพบำเพ็ญกุศล อีกทั้งมีร้านค้าขายโลงศพ จึงไม่ต้องงัดฝาเรือนมาประกอบโลงดังเช่นในอดีต มียาฉีดรักษาสภาพศพมิให้เน่าเหม็นได้ง่าย อีกทั้งวิทยาการสมัยใหม่ มีโลงเย็นให้เช่าหรือบริการมีเครื่องประดับตกแต่งภายนอกโลงทำให้ดูดี ไม่น่ากลัว

จำนวนระยะเวลาที่การตั้งศพบำเพ็ญกุศล ขึ้นอยู่กับฐานะทางครอบครัวและญาติมิตรของผู้เสียชีวิต หากเป็นครอบครัวใหญ่ มีญาติมิตรจำนวนมาก อาจตั้งศพไว้ 3-7 วัน เพื่อรอญาติมิตรให้มาพร้อมหน้า แต่ถ้าฐานะไม่ดี อาจตั้งบำเพ็ญกุศลไว้เพียง 1-2 วัน

ตลอดระยะเวลาที่ตั้งศพบำเพ็ญกุศลที่บ้านนี้ เรียกว่า “งันเฮียนดี” คำว่า งัน แปลว่า เฉลิมฉลอง ส่วน เฮียนดี หมายถึง เรือนดี จุดประสงค์ของงานก็เพื่อรวมญาติพี่น้อง บ้านใกล้เรือนเคียงมาอยู่เป็นเพื่อนกับญาติผู้ตาย เพื่อให้เรือนนั้นไม่เงียบเหงาวังเวง ครั้นเมื่อคนมาร่วมชุมนุมกันมาก จึงมีการทำสำรับอาหารเลี้ยงแขกหรือคนที่มาร่วมงาน นอกจากนี้ก็มีการละเล่นแบบพื้นบ้าน เช่น เล่นหมากฮุก หมากสะกา หมากเสือข้ามตาเว็น แต่ปัจจุบันไม่มีการเล่นดังกล่าวแต่อย่างใด

การเปลี่ยนสถานภาพ

การโกนจุก

ในอดีตนั้น ชาวลาวครั่งที่อาศัยในเขตภาคกลางประเทศไทย ได้รับเอาการไว้ผมจุกไปใช้ในสังคมเป็นบางส่วน โดยเฉพาะเด็กผู้ชาย การไว้จุกนี้เชื่อว่า จะช่วยทำให้เด็กเลี้ยงง่าย ปลอดภัยจากโรคร้ายหรือความเจ็บป่วย แต่มิได้เป็นการไว้ผมจุกทุกคน มีเป็นบางครอบครัวเท่านั้น

มูลเหตุของการไว้จุกให้เด็ก เกิดจากความเชื่อที่ว่า เด็กที่คลอดออกมาแล้ว มีอาการเจ็บป่วยอยู่บ่อยๆ สุ่มเสี่ยงต่อการเสียชีวิต การไว้จุกจึงเป็นเคล็ดว่า จะทำให้อายุยืนยาวรอดพ้นจากการป่วยไข้ได้ พ่อแม่หรือญาติที่เชื่อดังกล่าวจึงไว้จุกให้แก่ลูกหลานของตนเอง โดยการเหลือเส้นปอยผมไว้ตรงการศีรษะ หรือค่อนมาทางหน้าฝากเล็กน้อย แต่โกนผมบริเวณรอบศีรษะโดยทั่ว ภาพของคนที่ไว้ผมจุกในสังคมไทยจึงส่อให้ทราบว่า เขาหรือเธอผู้นั้นยังเป็นเด็กอยู่ ครั้นเด็กผู้นั้นเติบโตมาเรื่อยๆ ญาติจะหาวันและฤกษ์ในการจัดพิธีโกนจุก โดยมักจะเลือกช่วงอายุเลขคี่ คือ 5, 7, 9, 11 หรือ 13 ขวบ

พิธีโกนจุกนี้ หลายครอบครัวที่มีลูกอยู่ในวัยเดียวกัน อาจร่วมกันทำพิธีที่วัด หรือจัดพิธีเฉพาะครอบครัวและญาติมิตรของตนเป็นการเฉพาะก็ได้เมื่อกำหนดวันที่จะทำพิธีแล้ว เจ้าภาพจะเตรียมกรรไกร มีดโกน เทียนขาว หญ้าแพรก พาน และใบบัวร่วมในพิธี

เมื่อพระสวดมนต์บทชยันโต ต่อจากนั้นพระจะเริ่มขลิบหรือตัดจุกออกเพียงเล็กน้อย แล้วจึงให้ญาติผู้ใหญ่หรือพ่อของเด็กผู้ไว้จุกโกนให้เรียบร้อย และประพรมน้ำมนต์ให้ทั้งแก่เด็กและญาติที่มาร่วมงาน ส่วนปอยจุกที่ตัดออกแล้วจะใส่ในพานที่มีใบบัวรองพื้นพาน แล้วนำไปลอยน้ำหลังเสร็จพิธีของงาน

ความสำคัญของพิธีโกนจุก เป็นพิธีกรรมที่เสริมความสัมพันธ์ของสมาชิกในครอบครัวและญาติมิตร อีกทั้งเป็นพิธีการที่ผ่านพ้นวัยเด็ก และนับวันจะก้าวย่างสู่ความเป็นผู้ใหญ่ การไว้จุกและการโกนจุกนี้น่าเชื่อได้ว่า มิใช่เป็นของดั้งเดิมที่มาพร้อมกับขนบวัฒนธรรมลาวครั่งจากอดีต แต่เป็นการซึมซับเอาวัฒนธรรมไทยภาคกลางไปใช้

การสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์และบรรพบุรุษ

การเลี้ยงปีเจ้านาย

คำว่า เลี้ยงปี หมายถึง การเซ่นบวงสรวงในรอบปี จะจัดให้มี 1 ครั้ง ส่วนคำว่า เจ้านาย หมายถึง ผีบรรพบุรุษ ผู้ที่เคยบุกเบิกสร้างชุมชนชาวลาวครั่ง จนเป็นบ้านเป็นเมือง ในชุมชนชาวลาวครั่งเกือบทุกแห่ง มักมีสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของชุมชน เรียกว่า หอผีเจ้านาย หรือศาลเจ้าพ่อ มีสถานะเป็นแหล่งที่สถิตของดวงวิญญาณผีอารักษ์ชุมชน

ความเชื่อเรื่องผีเจ้านาย เป็นลักษณะทางวัฒนธรรมอีกประการหนึ่งของชาวลาวครั่ง มีหลักการทางความเชื่อจะเป็นแนวเดียวกันกับความเชื่อเรื่องผีปู่ตา หรือผีตาปู่ของชาววัฒนธรรมลาวในภาคอีสาน หรือผีเจ้านาย/ ผีเจ้าเมืองของชาวไทยใหญ่ หรือของชาวล้านนา

ชาวลาวครั่งมีวรรณกรรมมุขปาฐะอย่างหนึ่ง กล่าวถึงผู้กล้า ที่เรียกในนาม “เจ้านาย” ของชุมชน เป็นไปในลักษณะว่า ท่านผู้นี้เป็นผู้นำหรือหัวหน้าชาวลาวครั่งในอดีตกาล มีความองอาจกล้าหาญ ได้รวบรวมสมัครพรรคพวกมาตั้งเป็นบ้านเป็นเมือง ช่วยบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่ชาวบ้านทั่วไป ครั้นเมื่อเสียชีวิตไปแล้ว ชาวบ้านจึงร่วมกันสร้างหอหรือศาลให้เป็นที่สิงสถิต แล้วนำเรื่องราวมาบอกกล่าวแก่ลูกหลานสืบมา

นอกจากมีผีเจ้านายแล้ว ยังมีผู้ช่วยของท่านอีก 1-10 ตน ซึ่งชาวลาวครั่งได้สร้างหอขนาดย่อมไว้ข้างๆ หอประธานหรือหอใหญ่ที่เป็นหอเจ้านาย นามที่เรียกขานผีเจ้านายมีแตกต่างกันไป แต่มักจะมีคำว่า หาญ สิงห์ ขุน ฟ้า อยู่ในคำเรียก เช่น ขุนสิงหา, พ่อเฒ่าสิงห์หาญ, ขุนหาญฟ้าแมบ (ฟ้าแลบ), เจ้าพ่อสิงห์หาญ, เจ้าพ่อแสนหาญ, ขุนแสนคำเมือง, พ่อขุนหาญขวานฟ้า เป็นต้น

เรื่องเล่าเกี่ยวกับผีเจ้านายของชุมชนชาติพันธุ์ลาวครั่ง ถึงแม้จะหาหลักฐานทางประวัติศาสตร์โดยแท้จริงไม่ได้ แต่ได้ช่วยให้เห็นร่องรอยของการก่อร่างสร้างชุมชนของชาวลาวครั่งแต่ละแห่ง มีผู้นำคนหนึ่งพร้อมเพื่อนพ้องหรือคนที่ช่วยเหลืองาน หรือคนในกลุ่มเครือญาติเดียวกัน เป็นพี่และน้อง ร่วมกันบุกเบิกสร้างเป็นชุมชน เพราะในประวัติศาสตร์นั้น ชาวลาวครั่งไม่ใช่คนท้องถิ่นแดนสยามโดยกำเนิด แต่เป็นกลุ่มคนที่ต้องอพยพจากบ้านเกิดเมืองนอนมาอยู่ในดินแดนนี้เพราะเหตุจากการสงคราม ถูกนำมาเป็น “ข้าแผ่นดิน” ให้มาอาศัยอยู่กินเป็นราษฎรของเมืองสยาม จึงต้องหักร้างถางพงสร้างชุมชนขึ้นมาเอง การมีผู้นำที่เข้มแข็ง คอยขจัดภัยแก้ปัญหาต่างๆ ย่อมเป็นที่รวมศรัทธา อีกทั้งเป็นที่เคารพยำเกรงของผู้คนในชุมชน

การแสดงออกถึงความเชื่อเรื่องผีเจ้านายอย่างเป็นรูปธรรมคือ แต่ละชุมชนหมู่บ้าน/ตำบล มีการสร้างหอ หรือศาลของผีเจ้านาย (ซึ่งมีชื่อแตกต่างกัน) เมื่อถึงเดือน 7 ตามปฏิทินจันทรคติ จะมีประเพณีการเลี้ยงผีเจ้านาย โดยแต่ละครัวเรือนจะจัดของมาร่วมงานสังเวย ประกอบด้วย เหล้า น้ำดื่ม อาหารคาวหวาน ไก่ต้ม ไก่เป็น ผลไม้ หมากพลู ยาสูบ บางหมู่บ้านจะรวมเงินจากแต่ละครัวเรือน นำไปซื้อของสังเวยร่วมกัน เช่น ซื้อตัวตุ่น ไก่ หัวหมู (ซึ่งเป็นของเซ่นบวรสรวงตามมาจากการที่ชาวชุมชนหันมาบริโภคหมูแล้ว) และของใช้อื่นๆ ที่ประกอบในพิธีกรรม ถือว่าทุกครอบครัวได้มีส่วนร่วมในงานนี้

เมื่อถึงกำหนดวันงาน ชาวบ้านจะร่วมใจเดินทางไปยังศาลเจ้านาย มีกวาน เป็นผู้ประสานให้คำแนะนำ หรือบอกเล่าให้ชาวบ้านทำสิ่งใดหรือห้ามทำสิ่งใด และจะมีผู้ทรง โดยเรียกว่า ท้าวเทียม หรือนางเทียม เป็นร่างเพื่อเชิญผีเจ้านายมาประทับบางหมู่บ้าน ได้นิมนต์พระสงฆ์มาร่วมสวดพระพุทธมนตร์เพื่อเป็นศิริมงคลแก่ชาวบ้าน สร้างขวัญกำลังใจในการดำรงชีพ ประกอบภารกิจการงานให้เป็นไปด้วยความราบรื่นเป็นสุข

ชาวลาวครั่งนับถือผีเจ้านายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ดังนั้น เมื่อประสบความทุกข์ยาก หรือพบปัญหาที่แก้ลำบาก ก็ไปนบไหว้เพื่อขออำนาจศักดิ์สิทธิ์ให้ช่วยแก้ปัญหา หรือหลีกเลี่ยงภัยพิบัติ และการให้คำมั่นสัญญาว่า หากแก้ปัญหาได้แล้วจะนำสิ่งของมาบวงสรวง การสัญญากับสิ่งศักดิ์สิทธิ์โดยมีข้อแม้เช่นนี้เรียกว่า บะ หรือ บน บางครั้งก็ใช้ควบกันเป็น บะบน

ตัวอย่างเรื่องที่ชาวลาวครั่งไปบะบนที่หอผีเจ้านาย เช่น ก่อนจะคัดเลือกการเกณฑ์ทหาร ประสงค์ที่จะจับได้ใบดำ ซึ่งไม่ต้องเป็นทหาร, การสอบเข้ารับราชการ ขอให้สมประสงค์, บุตรหลานหรือคนในครอบครัวต้องเดินทางไกล ทั้งในต่างจังหวัดหรือต่างประเทศ ขอให้เดินทางปลอดภัย, คนในชุมชนหมู่บ้านแต่งงาน บอกกล่าวให้ผีเจ้านายรับรู้ว่า จะมีเขยใหม่ หรือสะใภ้ใหม่มาเป็นสมาชิกของชุมชน, ของมีค่าสูญหายแล้วขอให้ได้ของคืน, คนในครอบครัวป่วยหนัก ขอให้การรักษาได้ผลดี ฯลฯ เรื่องราวต่างๆ เหล่านี้ ถ้าประสบผลตามปรารถนา จะมีการแก้บะ หรือแก้บนด้วยสิ่งของที่สัญญาเอาไว้

อนึ่ง การเลี้ยงผีเจ้านายนี้ บ้างก็เรียกว่า เลี้ยงปีเจ้าพ่อ หมายถึงเมื่อครบรอบ 1 ปี ก็จะมีพิธีกรรมนี้ นอกจากนี้มีคำอธิบายว่า บะกุ้มปี หรือ บะคุ้มปี คำว่า กุ้ม หรือ คุ้ม แปลว่า ตลอด กล่าวคือ บางคนอาจไปบะบนผีเจ้านายเอาไว้ เรื่องเล็กบ้างใหญ่บ้าง แล้วยังไม่มีโอกาสจะมาแก้บน ครั้นเมื่อถึงวาระการเลี้ยงประจำปี จึงเป็นโอกาสดีที่จะต้องมาเลี้ยงแก้บน นำสิ่งของเซ่นไหว้มาบวงสรวง จะอ้างว่าไม่มีเวลาไปแก้บนเรื่อยๆ ไม่ได้ การเลี้ยงผีเจ้านาย เป็นปรากฏการณ์ทางสังคมของชาวลาวครั่ง ที่ประกาศตนหรือแสดงตนว่าเป็นหมู่พวกเดียวกัน เป็นศรัทธาที่ก่อให้เกิดความสามัคคี สร้างความเชื่อมั่น และดำรงความเป็นชาติพันธุ์ไว้ได้

การทำมาหากิน

เลี้ยงผีตาแฮก หรือพิธีแฮกนา

การแฮกนา เป็นการเซ่นบวงสรวงผีที่เชื่อว่ามีอยู่ประจำนา เรียกว่า ผีตาแฮก ผีนี้ทำหน้าที่ปกปักรักษาผืนนา ให้ข้าวกล้าเจริญเติบโต มีความอุดมสมบูรณ์ ในช่วงเดือน 6 อันเป็นการเริ่มฤดูทำนา ชาวลาวครั่งจะจัดสำรับเซ่นไหว้ใส่ในกระบะกาบกล้วย ประกอบไปด้วยธูป เทียน หมากพลู บุหรี่ อาหารคาว-หวาน น้ำ เหล้า และมีไก่ต้ม 1 ตัว ซึ่งไก่ต้มนี้ เป็นทั้งเครื่องเซ่นและเครื่องเสี่ยงทาย

โดยเจ้าของนาจะนำกระบะเครื่องเซ่นและไก่ต้มไปวางที่แปลงนา แห่งใดแห่งหนึ่งตามที่กำหนด หรือที่เคยทำพิธีนี้มาตั้งแต่เก่าก่อน แล้วกล่าววาจาว่า แม่เจ้าที่นาขอได้มาปกปักรักษาลูกหลานที่จะลงมือทำนาในปีนี้ ขอให้น้ำท่าอุดมบูรณ์ เมื่อไถคราด ขออย่าให้หัก เมื่อปักดำก็ให้ข้าวกล้างอกงาม เมื่อกล่าวบวงสรวงแล้ว เจ้าของนาจะฉีกปากไก่ต้ม โดยดึงปากล่างออกมาเสี่ยงทาย โดยที่ปากไก่ส่วนนี้มีเอ็นอ่อนโค้งงออยู่ 1 คู่ หากเอ็นปากไก่ปีใดโค้งงออ่อนช้อยดี ทำนายว่า ปีนี้จะได้ผลผลิตข้าวมาก แต่ถ้าเอ็นปากไก่ค่อนข้างตรง ทำนายว่า ปีนี้ข้าวในนาจะได้ไม่มาก

อนึ่ง การทำพิธีแฮกนานี้ มีรายละเอียดแตกต่างกันออกไป บางชุมชนนั้นมีการขุดคูนดินที่นาให้มีพื้นที่ 1 ตารางศอก เมื่อนำต้นกล้าที่ถอนออกมาไปปักดำในพื้นที่ 1 ตารางศอกนั้น พร้อมกับเครื่องเซ่นและไก่ต้มเช่นกัน การทำนายโดยใช้คางไก่ก็มีลักษณะคล้ายกัน

การเลี้ยงผีตาแฮก มักทำเมื่อสมัยอดีต และทำทุกครัวเรือนที่มีการทำนาปี (คือ 1 ปีทำนาเพียงครั้งเดียว) ภายหลังมีการทำนา 2 - 3 ครั้ง/ปี ประกอบกับวิทยาการด้านพันธุ์ข้าว ดิน ปุ๋ย น้ำ และย่าฆ่าแมลง เป็นปัจจัยต่อผลผลิตข้าวในนา ทำให้ชาวนาทะยอยละเลิกการเลี้ยงผีตาแฮก อีกทั้งคนเฒ่าคนแก่ที่เชื่อถือและเคารพผีตาแฮกได้ค่อยๆ หมดไปจากสังคมชาวลาวครั่ง ปัจจุบันเรื่องราวการเลี้ยงผีตาแฮก จึงเหลือแต่ความทรงจำของผู้ที่เคยเห็นบุพการีได้ทำให้เห็นผ่านตาเมื่อสมัยที่ตนยังเป็นเด็ก ส่วนการเลี้ยงผีตาแฮกโดยเชื่ออย่างสุจริตหาดูได้ยาก

ผู้นำในการประกอบพิธีกรรม

กวาน คำว่า กวาน มีความหมายว่าเป็นผู้นำ แต่เดิมใช้กับผู้นำชุมชน หรือผู้ใหญ่บ้าน ต่อมาเมื่อสังคมไทยกำหนดตำแหน่งผู้นำสูงสุดของหมู่บ้านอย่างเป็นทางการว่า ผู้ใหญ่บ้าน คำว่า กวาน อันเป็นคำลาวเรียกแต่เดิมมานั้น ได้เสื่อมคลายลง แต่ก็มีบางชุมชนที่ยังคงใช้คำว่า กวาน โดยหมายถึงผู้นำในการทำพิธีทางความเชื่อ โดยออกเสียงว่า /กวน/

กวาน หรือ กวน ในชุมชนลาวครั่ง คือผู้นำในการทำพิธีทางความเชื่อถือ โดยเฉพาะการเซ่นบูชาผี หรืออารักษ์หลักบ้าน บทบาทและหน้าที่ของกวาน คือเป็นผู้นำในการประกอบพิธี ทำหน้าที่คล้ายล่ามที่สื่อสารระหว่างคนที่เป็นชาวบ้านทั่วไป กับผีหรือเทวดา ในขณะเดียวกับก็เป็นผู้บอกหรือแนะนำให้ต้องทำสิ่งนั้นสิ่งนี้แก่ชาวบ้านที่มาร่วมพิธีงาน คล้ายกับมรรคนายกประจำวัดที่เป็นผู้นำพาสวดอาราธนาศีล อาราธนาธรรม กล่าวคำถวายทานแด่พระสงฆ์ นอกจากนี้ ยังเป็นผู้รู้ในเรื่องธรรมเนียมการจัดสำรับสิ่งของ “เครื่องแต่งแก้” คือชุดที่นำไปเพื่อใช้เซ่นบูชาแก้บนผีหรือเทวดาอารักษ์ ทั้งยังเป็นผู้นำพาไปกล่าวคำกราบไหว้

การทำหน้าที่ของกวาน ไม่มีรายได้ ไม่มีค่าจ้าง แต่ทำหน้าที่เพื่อชุมชน เสียสละทั้งแรงงาน เวลา และความรู้เพื่อรับใช้สังคม สนองกรอบแนวคิดความเชื่อที่นับถือกันสืบมาแต่ครั้งอดีต

การสืบทอดหน้าที่ของกวาน เป็นได้ทั้งชายหรือหญิง ส่วนหนึ่งเป็นการสืบทางสายตระกูล กล่าวคือ ถ้าพ่อหรือแม่ของครอบครัวหนึ่งเคยทำหน้าที่เป็นกวานประจำหมู่บ้านนั้นมา ภายหลังเสียชีวิตลง ชาวบ้านจะมองหากวานคนใหม่ โดยการเชื้อเชิญให้ญาติของกวานคนเดิม อาจเป็นลูกหรือหลาน หรือน้อง มาทำหน้าที่นี้แทน แต่ทั้งนี้ต้องพิจารณาถึงจิตใจและความสมัครใจของผู้นั้นด้วยว่า ยินดีจะทำหน้าที่กวานสืบทอดต่อจากบรรพบุรุษหรือไม่ แต่ถ้าหากญาติของกวานคนเดิมไม่มีความพร้อม หรือปฏิเสธการเป็นกวาน ชาวบ้านจะพิจารณามองหาคนที่เหมาะสมจากครอบครัวอื่น โดยพิจารณาถึงวัยวุฒิ ต้องมีอายุพอสมควร หรือตั้งแต่วัยกลางคนขึ้นไป พิจารณาถึงความมีน้ำใจและความเสียสละ เพราะหน้าที่นี้ไม่มีรายได้ รวมถึงพิจารณาถึงความรู้ความสามารถว่าจะทำหน้าที่ได้ รู้ขนบการเซ่นไหว้ดีพอเพียง เป็นต้น

การเป็นกวาน ไม่มีใบแต่งตั้งใดๆ แต่เป็นการรับรู้กันภายในชุมชนหมู่บ้านหรือตำบลอันเป็นที่อยู่ของชาวลาวครั่ง ซึ่งในปัจจุบันนี้ ท้องที่ที่มีหอเจ้านาย หรือศาลผีอารักษ์อยู่ มักจะมีกวานประจำชุมชน แต่บางหมู่บ้านที่มีประชากรลาวครั่งอยู่เบาบาง และมีลักษณะเป็นสังคมเมืองมากขึ้นแล้ว ก็อาจจะไม่มีกวานประจำ

หมอสูด คำว่า สูด หมายถึง สวด หรือการสวด หมอสูด หมายถึงบุคคลที่มีความสันทัดจัดเจนในการสวด เป็นบุคคลสาธารณะในชุมชนที่ช่วยเติมเต็มกิจกรรมทางด้านวัฒนธรรมของชาวลาวครั่ง การสวด มักจะเป็นงานพิธีทางวัฒนธรรม เช่น การบวช การแต่งงาน การเรียกขวัญ การขึ้นบ้านใหม่ โดยเจ้าภาพจะเชิญหมอสูดไปเป็นเจ้าพิธีในงาน กล่าวบทกลอน คำสวด หรือคำสอน (ขึ้นอยู่กับงาน) โดยบทสวดเป็นภาษาลาวครั่งที่มีการเรียบเรียงให้มีจังหวะ ท่วงทำนองและสัมผัสเสียงสัมผัสคำที่สอดคล้องกัน จัดว่าเป็นความเจริญทางภูมิปัญญาด้านภาษาอีกประการ

โดยทั่วไป หมอสูดเป็นผู้มีวาทะคารมดี มีปฏิภาณดี สามารถเอ่ยความกล่าวเล่าความเป็นไปของบุคคลหรือเหตุการณ์เฉพาะหน้าให้ได้เนื้อหาใจความ คล้ายพ่อเพลงแม่เพลงพื้นบ้านที่มีความสามารถตอบโต้กันไปมา โดยยังคงลีลาภาษาที่เป็นบทกลอนหรือร่ายในภาษาท้องถิ่นของตนไว้ได้

สถานภาพของหมอสูดของชาวลาวครั่งมีจำนวนน้อยลงมาก และมีแนวโน้มสูญหายไปจากสังคมลาวครั่ง หมู่บ้านหรือตำบลบางแห่งไม่มีหมอสูด หากเจ้าภาพของงานมีความประสงค์จะประกอบพิธีกรรมที่มีผู้มาสวด จึงต้องเชิญหมอสูดจากชุมชนอื่น

งานศิลปะหัตถรรมประเภท ผ้าทอลาวครั่ง. (ม.ป.ป.). กรุงเทพฯ: ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน).

จอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จ พระ. (2548). ประชุมประกาศ ร. 4. (ชาญวิทย์ เกษตรศิริ-หัวหน้าบรรณาธิการ) พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
ชนิดา ตั้งถาวรสิริกุล. (2541). สื่อสัญลักษณ์ผ้าลาวเวียงจันท์. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
ชอบ ดีสวนโคก , สุเทพสารคุณ พระครู และสายฝน ศรีชุมพล. (2540). ของเก่าบ่เล่ามันลืม เฮียนธรรมนำคำโบฮานอีสาน. ขอนแก่น: คลังนานาวิทยา.
ชาญวิทย์ เกษตรศิริ (บรรณาธิการ). (2551). สยามหรือไทย : นามนั้นสำคัญฉะนี้หรือ?. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จฯ กรมพระ. (2545). นิทานโบราณคดี. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ดอกหญ้า.
ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จฯ กรมพระ. (2545). เทศาภิบาล. กรุงเทพฯ: พิฆเณศ พริ้นท์ติ้ง เซ็นเตอร์.
เดเนียล แมคกิลวารี ดีดี. (จิตราภรณ์ รัตนกุล - แปล). (ม.ป.ป.). กึ่งศตวรรษในหมู่คนไทยและคนลาว. กรุงเทพฯ : ภาพพิมพ์.
ถาวร สิกขโกศล. (2558). เสภาเรื่องขุนช้าง-ขุนแผน เล่ม 1 กรุงเทพฯ: บริษัท ตถาตา พับลิเคชั่น จำกัด.
ทรงยศ วีระทวีมาส นพดล ตั้งสกุล และ วีละ อาโนลัก. (2552). เรือนพื้นถิ่นผู้ไทในประเทศลาว. ขอนแก่น: คลังนานาวิทยา.
ธวัช ปุณโณทก. (ม.ป.ป.). ศิลาจารึกอีสานสมัยไทย-ลาว. กรุงเทพฯ: คุณพินอักษรกิจ.
เนชั่นนัล จีโอกราฟฟิก. (ม.ป.ป.). สยามและเพื่อนบ้าน ภาพและรายงานพิเศษจากอดีด. กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์พับลิชชิ่ง.
บังอร ปิยะพันธุ์. (2541). ลาวในกรุงรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
บุญช่วย ศรีสวัสดิ์. (2557). ราชอาณาจักรลาว. กรุงเทพฯ: สยามปริทัศน์.
ประสงค์ สุขุม. (2543). จากยมราชถึงสุขุมวิท เหตุการณณ์ใน 4 รัชกาล. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
ปริศนา ศิรินาม. (2516). ความสัมพันธ์ระหว่างไทยและประเทศราชในหัวเมืองลานนาไทยสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น. (วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต). บัณฑิตวิทยาลัยการศึกษาประสานมิตร.
พุฒินันท์ รังสิโย, พระ. (2562). การวิเคราะห์อัตลักษณ์ของชุมชนลาวครั่งตามหลักพระพุทธศาสนาในจังหวัดนครปฐม. (วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต). มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.
ไพศาลย์ เปี่ยมเมตตาวัฒน์. (2558). สยามผ่านมุมกล้อง จอห์น ทอมสัน 2408-2409 รวมทั้งนครวัดและเมืองชายฝั่งประเทศจีน. กรุงเทพฯ: ศิริวัฒนาอินเตอร์พริ้น.
มงเซเญอร์ ปาลเลกัวซ์ (สันต์ ท. โกมลบุตร - แปล). (2549). เล่าเรื่องกรุงสยาม. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ: สามลดาการพิมพ์.
มยุรี ถาวรพัฒน์ และ เอมอร เชาว์สวน. (2548). สารานุกรมกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย ลาวครั่ง. กรุงเทพฯ: เอกพิมพ์ไท.
มยุรี ถาวรพัฒน์. (2548). สารานุกรมกลุ่มชาติพันธ์ในประเทศไทยลาวครั่ง. กรุงเทพฯ: สถาบันวิจัย ภาษา และวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบท มหาวิทยาลัยมหิดล.
มองซิเออร์ เดอ ลาลูแบร์. (สันต์ ท. โกมลบุตร - แปล). (2548). จดหมายเหตุ ลา ลูแบร์ ราชอาณาจักรสยาม. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: โสภณการพิมพ์.
แมคคาร์ธี เจมส์ ฟิตซรอย. (สุมาลี วีระวงศ์ - แปล). (2533). บันทึกการสำรวจและบุกเบิกในแดนสยาม. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์กรมแผนที่ทหาร.
เรืองเดช ปันเขื่อนขัติย์. (2531). ภาษาถิ่นตระกูลไทย. ม.ป.ท. : ม.ป.พ.
วันเพ็ญ แสงทองพินิจ และ เอมวดี เกียรติสิริ. (ม.ป.ป.). อาหารลาวครั่ง ชุมชนห้วยด้วน อ.ดอนตูม จ.นครปฐม. ม.ป.ท. : เพชรเกษมพริ้นติ้ง.
ศรีพรหมา กฤดากร ณ อยุธยา, หม่อม. (2550). อัตชีวประวัติ หม่อมศรีพรหมา กฤดากร. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: สารคดี.
ศิลปากร, กรม (2548). พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา เล่ม 1. นครปฐม: นครปฐมการพิมพ์.
ศิลปากร, กรม. (2534). นิทรรศการข้อมูลทางมานุษยวิทยาของไทย เรื่อง ประเพณีเกี่ยวกับชีวิต. กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้งกรุ๊พ.
ศิลปากร, กรม. (2548). พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา เล่ม 2. นครปฐม: นครปฐมการพิมพ์.
สมทรง บุรุษพัฒน์ และคณะ. (2554). การใช้ภาษาและทัศนคติต่อภาษาและการท่องเที่ยวเชิงชาติพันธุ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ในภูมิภาคตะวันตกของประเทศไทย. กรุงเทพฯ: สร้างสื่อจำกัด.
สุนี โชติดิลก, วิชัย แหวนเพชร , ทิวัฒน์ มณีโชติ, เพียงพบ มนต์นวลปราง และ เกษม ช่วยพนัง. (2562).การพัฒนาหนังสือความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นแบบมีส่วนร่วม ใน วารสารวิจัยราชภัฏพระนคร สาขามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ปีที่14 ฉบับที่1 (มกราคม-มิถุนายน 2562) หน้า320-338
สุรักษ์ ศิวรักษ์. (2550). ประวัติเจ้าศรีพรหมา. ใน อัตชีวประวัติ หม่อมศรีพรหมา กฤดากร. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. หน้า 20-55.
สุริยา รัตนกุล, คุณหญิง. (2543). นานาภาษาในเอเชียอาคเนย์ ภาคที่ 1. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ: สหธรรมมิก.
สุวิไล เปรมศรีรัตน์ และคณะ. (2547). แผนที่ภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในประเทศไทย. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์คุรุสภาพลาดพร้าว.
อัญชลี สิงห์น้อย วงศ์วัฒนา. (2559). ชาติพันธุ์ “ไทครั่ง” ภูมิภาคเหนือตอนล่าง : อัตลักษณ์และความหลากหลาย. Journal of Community Development Research, 2(10), หน้า 107-110.
เอนก นาวิกมูล. (2547). การแต่งกายสมัยรัตนโกสินทร์. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: ด่านสุทธาการพิมพ์.

ກະຊວງຖະແຫຼງຂ່າວ ແລະ ວັດທະນະທຳ. (2000). ປະຫວັດສາດລາ ເດຶກດຳບັນ-ປະຈຸບັນ. ວຽງຈັນ: ໂຮງພິມແຫ່ງລັດ.

ຄະນະຄົ້ນຄວ້າ ພາກວິຊາພາສາລາວ. (2004). ພື້ນວຽງ ສະໄໝເຈົ້າອະນຸ. ວຽງຈັນ: ວິສາຫກິດໂຮງພິມສຶກສາ.
ສິລາ ວີຣະວົງສ໌. (2001). ພົງສາວະດານລາວ ແຕ່ບູຮານ ເຖີງ 1946. ພິມຄັ້ງທີ 3. ວຽງຈັນ: ນັນທາຕຸລາດ.

Joachim Schleisinger. (2000). Ethnic Groups of Thailand Non-Tai-Speaking Peoples. Bangkok: White Lotus.

Kingsada Thongpheth. (2003). Langueges and Ethnic classification in the Lao PDR. Language and Life Journal. Vientien: Laochalern. 24-39.

กมนพรรธน์ บ่อแก้ว, นาย, บ้านนา หมู่ที่ 1 ตำบลโพรงมะเดื่ออำเภอเมืองจังหวัดนครปฐม, วันที่ 8 กันยายน 2563

แขวง โชติหา, นาย, บ้านนา หมู่ที่ 1 ตำบลโพรงมะเดื่ออำเภอเมืองจังหวัดนครปฐม, วันที่8 กันยายน 2563
แขวง โชติหา, นาย, (ครั้งที่ 2) บ้านนา หมู่ที่ 1 ตำบลโพรงมะเดื่อ อำเภอเมืองจังหวัดนครปฐม, วันที่ 13 ตุลาคม 2563
ชาวบ้านทับคล้าย, ตำบลทับหลวงอำเภอบ้านไร่จังหวัดอุทัยธานี, วันที่ 24 ตุลาคม 2563
ซ้อง จบศรี, นาง, บ้านกุดจอกตำบลกุดจอกอำเภอหนองมะโมงจังหวัดชัยนาท, วันที่ 26 กันยายน 2563
ณัฐวุฒิ สังข์อูบ, นาย, บ้านหนองสังข์ตำบลทุ่งขวางอำเภอกำแพงแสนจังหวัดนครปฐม, วันที่ 24 ตุลาคม 2563
นิวัฒนากร ศรีพรมมา, นาย, บ้านกุดจอกตำบลกุดจอกอำเภอหนองมะโมงจังหวัดชัยนาท, วันที่ 26 กันยายน 2563
มาลี บ่อแก้ว, นาง, บ้านนา หมู่ที่ 1ตำบลโพรงมะเดื่ออำเภอเมืองจังหวัดนครปฐม, วันที่ 8 กันยายน 2563



close
ลืมรหัสผ่าน?
กรุณากรอกอีเมลที่ท่านสมัครสมาชิกไว้เพื่อรับรหัสผ่านใหม่
ระบบจัดส่งการสร้างรหัสผ่านใหม่ให้ท่านทางอีเมลเรียบร้อยแล้ว
นโยบายความเป็นส่วนตัว