เอกสารอ้างอิง
ดำรงพล อินทร์จันทร์. (2562). พลวัตชุมชนชาติพันธุ์กะเหรี่ยงภาคตะวันตกของไทย ระยะที่ 1 พื้นที่ศึกษา จังหวัดกาญจนบุรี ราชบุรี และเพชรบุรี. ชุดโครงการศึกษาวิจัยพลวัตของชุมชนชาติพันธุ์เพื่อการสร้างแผนที่วัฒนธรรมมีชีวิต ปีที่ 1 (พ.ศ. 2562). ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน): กรุงเทพฯ.
เอกสารที่เกี่ยวข้อง
ภาษาไทย
ภาษาอังกฤษ
สัมภาษณ์
จังหวัด | อำเภอ | ตำบล | หมู่บ้าน | จำนวนครัวเรือน | จำนวนประชากร | ละติจูด | ลองติจูด |
---|---|---|---|---|---|---|---|
ราชบุรี | สวนผึ้ง | 5225 | 19069 | 13.544093 | 99.339797 |
การสำรวจกลุ่มราษฎรบนพื้นที่สูงในจังหวัดราชบุรีของกองกิจการนิคมสร้างตนเองและพัฒนาชาวเขา กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (เมื่อปี พ.ศ. 2559) พบว่ามีการกระจายตัวอาศัยอยู่ใน 3 อำเภอ ประกอบด้วย อำเภอสวนผึ้ง บ้านคาและปากท่อ มีทั้งสิ้นจำนวน 89 หมู่บ้าน 12,113 หลังคาเรือน 12,456 ครอบครัว เป็นเพศชาย จำนวน 14,978 คน หญิง จำนวน 15,636 คน เด็กชาย จำนวน 4,905 คน เด็กหญิง จำนวน 4,595 คน รวมทั้งสิ้น จำนวน 40,114 คน พบว่าอำเภอสวนผึ้งมีการกระจายตัวของราษฎรบนพื้นที่สูงมากที่สุด จำนวน 20,200 คน คิดเป็นร้อยละ 50.36 รองลงมาได้แก่ อำเภอบ้านคา จำนวน 15,044 คน คิดเป็นร้อยละ 37.50 และอำเภอปากท่อ จำนวน 4,870 คน คิดเป็นร้อยละ 12.14 (ดำรงพล อินทร์จันทร์, 2562, น.68)
ในจำนวนราษฎรบนพื้นที่สูงของจังหวัดราชบุรีนั้น พบว่า มีกลุ่มชาติพันธุ์ 5 กลุ่ม ประกอบด้วย ไทยพื้นราบ กะเหรี่ยง มอญ ไทยวนและพม่า มีทั้งสิ้น 128 กลุ่มบ้าน ชุมชนชาติพันธุ์กะเหรี่ยงมีจำนวน 60 กลุ่มบ้าน 4,910 หลังคาเรือน 5,225 ครอบครัว เป็นชาย จำนวน 6,499 คน หญิง จำนวน 7,163 คน เด็กชาย จำนวน 2,779 คน เด็กหญิง จำนวน 2,628 คน รวมจำนวน 19,069 คน ทำเนียบหมู่บ้านและกลุ่มบ้านในปี พ.ศ. 2559 พบว่า ชุมชนกะเหรี่ยงกระจายอาศัยอยู่ในอำเภอสวนผึ้งมากที่สุด ในตำบลสวนผึ้งและตำบลตะนาวศรี (ดำรงพล อินทร์จันทร์, 2562, น.69)
ตำบลสวนผึ้ง เป็นชุมชนที่มีหลากหลายชาติพันธุ์ แบ่งเป็น 24 กลุ่มบ้าน เป็นกลุ่มบ้านกะเหรี่ยงทั้งหมด 7 กลุ่มบ้าน ได้แก่ หมู่ 1 บ้านแม่สลิ้ง หมู่ 3 หัวสาม หมู่ 4 ทุ่งเจดีย์ ผาปกสุขสันต์ และหวายน้อย หมู่ 5 บ่อปู หมู่ 6 ห้วยคลุม ส่วนตำบลตะนาวศรี มีการกระจายของชาวกะเหรี่ยงอาศัยใน 19 กลุ่มบ้าน จาก 22 กลุ่มบ้าน เช่น หมู่ 1 บ่อเก่ากลาง สวนผึ้ง เขาลูกช้าง และใจบำเพ็ญ หมู่ 2 ท่ามะขาม ท่ากุลา วังจระเข้ โป่งแห้ง หมู่ 4 บ่อหวี หมู่ 5 ห้วยแห้ง หมู่ 6 ห้วยกระวาด หนองตาดั้ง และเป็นห้วยน้ำหนัก ห้วยผาก วังโค หมู่ 7 บ่อเก่าบน เป็นชาวกะเหรี่ยงทั้งหมดอาศัยอยู่ในหมู่ 1 บ่อเก่าล่าง และหมู่ 6 พุระกำ ที่เหลือประชากรส่วนใหญ่เป็นกะเหรี่ยงอยู่อาศัยร่วมกับไทยพื้นราบเป็นส่วนใหญ่ มีพม่า และมอญบ้างเป็นส่วนน้อย (กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์, 2559, น.146-152) ชุมชนกะเหรี่ยงสวนผึ้งในปัจจุบันดำรงอยู่ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงในสังคมไทยอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะบริบทของการท่องเที่ยวของอำเภอ อย่างไรก็ตามก็ยังพบลักษณะทางวัฒนธรรมที่ยังคงบอกเล่าสืบสานเป็นมรดกภูมิปัญญาและวัฒนธรรมทางชาติพันธุ์ของตนเองได้อย่างดี (ดำรงพล อินทร์จันทร์, 2562, น.69)
ประวัติชุมชนชาติพันธุ์ ข้อมูลประวัติลำดับความช่วงเวลาทางประวัติศาสตร์ เริ่มตั้งแต่มีการอพยพเข้ามาตั้งหลักแหล่งในประเทศไทยตั้งแต่สมัยอยุธยา โดยมีสาเหตุของการอพยพเพื่อหลบภัยสงคราม ตั้งแต่สงครามระหว่างไทยกับพม่าในอดีต ต่อเนื่องมาถึงภัยจากการปราบปรามชนกลุ่มน้อยของรัฐบาลเมียนมาในปัจจุบัน ชาวกะเหรี่ยงอาศัยอยู่ตามแนวชายแดนด้านตะวันตกระหว่างไทยกับเมียนมา ในอดีตชาวกะเหรี่ยงมีส่วนช่วยในการรักษาแผ่นดินไทยตั้งแต่สมัยอยุธยาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ทำหน้าที่เป็นด่านหน้า กองสอดแนมและกำลังพลในการสู้รบกับพม่า จากบทบาทและความสำคัญของชาวกะเหรี่ยงทำให้ได้รับการสนับสนุนจากอาณาจักรไทย ตั้งแต่สมัยอยุธยาจนกระทั่งถึงสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ผู้นำกะเหรี่ยงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นนายด่านและเจ้าเมืองตะวันตก ตัวอย่างเช่น พระพิชัยชนะสงครามเป็นเจ้าเมืองศรีสวัสดิ์ คอยดูแลด่านชายแดนของประเทศเขื่อนขันธ์ นายกองด่านบ้องตี้ หลวงพิทักษ์บรรพต ขุนพิทักษ์ไพรวัลย์ นายกองด่านบ้านยางโทน และพระแม่กลองเป็นนายด่านดูแลชายแดนด้านอุ้มผางต่อแดนเมืองกำแพงเพชรและอุทัยธานี เป็นต้น (สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดราชบุรี, 2546, น.128-130) ปัจจุบันหน่วยงานราชการท้องถิ่นให้การยอมรับว่า กะเหรี่ยงเป็นชนไทยกลุ่มหนึ่งของจังหวัดราชบุรี เรียกว่า "ไทยกะเหรี่ยง" ตั้งถิ่นฐานอาศัยอยู่ที่ตำบลสวนผึ้ง ตำบลบ้านคา ตำบลบ้านบึง (และตำบลตะนาวศรี) อำเภอสวนผึ้ง และตำบลยางหัก อำเภอปากท่อ (สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดราชุบรี, 2534, น.41 อ้างถึงใน ดำรงพล อินทร์จันทร์, 2562, น.71)
ชาวกะเหรี่ยงได้รับพระบรมราชานุญาติจากพระมหากษัตริย์ไทยให้อาศัยอยู่บริเวณที่เรียกว่า "ทิ้ง เล่อว โหว่" คือตรงบริเวณที่ลำน้ำแควน้อยกับลำน้ำแควใหญ่ไหลมาบรรจบกัน แต่เนื่องจากไม่คุ้นเคยกับการทำนาในที่ลุ่มและใช้ชีวิตปะปนกับคนไทยพื้นราบ ทั้งอากาศในเมืองก็ร้อนเกินไป จึงได้ส่งตัวแทนไปกราบบังคมทูลต่อพระมหากษัตริย์ไทยเพื่อขอพระบรมราชานุญาตออกไปอยู่ตามป่าเขานอกเมืองเหมือนดังแต่ก่อน ดังนั้นกะเหรี่ยงโปว์กลุ่มหนึ่งจึงได้แยกตัวออกจากบริเวณนั้นไปทางตะวันตกเฉียงใต้ โดยขึ้นไปตามลำภาชี ซึ่งเป็นสาขาหนึ่งของลำน้ำแควน้อย กลุ่มนี้ได้ทิ้งหลักฐานแห่งแรกที่บ้านเก่ากะเหรี่ยง เขตตำบลด่านทับตะโก อำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ไทรโยค เมื่อปี พ.ศ. 2416 ได้พระราชทานบรรดาศักดิ์ให้นายท่องดิ้ง บุตรหลวงพิทักษ์ (พุ้งเลี้ยงเฮ้) เป็นกำนัน จากบ้านเก่ากะเหรี่ยงได้เคลื่อนย้ายต่อลงมาทางใต้ถึงบ้านรางบัว หนองอีหมัน ตั้งมั่นที่บ้านหนองกะเหรี่ยง อำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี ปัจจุบันเรียกเพี้ยนเป็น บ้านหนองนกกระเรียน อยู่มาระยะหนึ่งคงจะถูกคนไทยรุกรานหรือประสบภัยธรรมชาติ น้ำในหนองคงแห้งขอดจึงพากันเคลื่อนย้ายหาที่อยู่ใหม่ (ระอิน บุญเลิศ อดีตกำนันตำบลสวนผึ้ง อ้างถึงใน สุรินทร์ เหลือลมัย, 2540, น.11 อ้างถึงใน ดำรงพล อินทร์จันทร์, 2562, น.71)
สมุดราชบุรี (พระยาคทาธรบดี, 2468, น. 15 อ้างถึงใน ดำรงพล อินทร์จันทร์, 2562, น.71-72) บรรยายถึงวิถีชีวิตของชาวกะเหรี่ยงโปว์ว่า
"...ในท้องที่มณฑลราชบุรี ในเขตจังหวัดกาญจนบุรี ราชบุรี และเพชรบุรี ยังมีพลเมืองชาติพิเศษอยู่อีกคือ พวกกะเหรี่ยงกะหร่าง ชนพวกนี้อยู่ตามเขาที่ต่อแดนระหว่างพระราชอาณาจักรสยามกับพม่า แต่ความเป็นอยู่ของพวกนี้เป็นสัดเป็นส่วนไม่อยู่ใกล้ชิดกับชาติอื่น ๆ คงอยู่แต่เฉพาะในหมู่พวกเดียวกัน ตามภูเขาที่ป่าดงทั้งไม่ใคร่จะตั้งบ้านเรือนอยู่เป็นปกติมั่นคง มักจะอพยพโยกย้ายบ่อยบ่อยเมื่อมีเหตุการณ์ป่วยตายหรือโรคภัยอย่างใดขึ้น ชนพวกนี้ยังห่างไกลความเจริญกว่าชนพวกอื่น ๆ โดยเหตุที่ขาดการติดต่อทั้งไม่ใคร่จะกล้าเข้าในหมู่ประชุมชนในบ้านเมือง โดยไม่ถูกอัธยาศัยดินฟ้าอากาศ เพราะเมื่อออกมาภูมิประเทศที่เป็นท้องทุ่ง ก็อาจจะเกิดป่วยไข้จะตายได้ง่าย..."
การเคลื่อนย้ายออกจากหนองกะเหรี่ยงได้แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งแยกลงไปทางใต้อีก ผ่านบ้านยางหัก ตากแดด อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี เลยลงไปตั้งบ้านเรือนอยู่ตามเชิงเขาต้นแม่น้ำเพชรบุรี เช่น ที่บ้านพลุพลู ห้วยแห้ง อำเภอหนองหญ้าปล้อง และที่บ้านวังวน บ้านสองพี่น้อง อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี แต่ไม่ได้เลยลงไปสุดทางที่อำเภอหัวหิน และอำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ดังที่มีผู้กล่าวถึง หากแต่เป็นเผ่าสะกอที่เคลื่อนย้ายลงมาอยู่ที่ราบภายหลัง ดังในมณฑลราชบุรีเรียกว่า "กะหร่าง" ส่วนอีกกลุ่มได้แยกไปทางทิศตะวันตกบริเวณต้นน้ำลำภาชี อำเภอสวนผึ้ง ที่พุน้ำร้อน แล้วต่ำลงมาที่บ้านโป่งกระทิงบน กระจายการตั้งบ้านเรือนในที่ราบเชิงเขาและที่ราบริมฝั่งลำภาชี ผ่านบ้านสวนผึ้ง บ้านบ่อ และบ้านทุ่งแฝก แล้วปักหลักอยู่มาจนถึงปัจจุบัน
ราว พ.ศ. 2438 สันนิษฐานว่า บ้านหนองกะเหรี่ยงไม่มีครัวเรือนชาวกะเหรี่ยงอยู่แล้ว เนื่องจากทางการได้เกณฑ์กะเหรี่ยงบ้านสวนผึ้งทางไกล เพื่อมาถวายของป่าและสัตว์ป่าต่าง ๆ เมื่อครั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสถ้ำจอมพล (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 12 ร.ศ. 114, น.363 อ้างถึงใน ดำรงพล อินทร์จันทร์, 2562, น.72)
ส่วนข้อมูลการค้นคว้าและรวบรวมความรู้เกี่ยวกับชุมชนกะเหรี่ยงสวนผึ้ง ราชบุรี ของ สุรเศรษฐ์ บุญเกตุ (2539) แสดงประวัติความเป็นมาของชาวกะเหรี่ยงสวนผึ้งว่า อพยพจากภาคใต้ของสหภาพเมียนมา (พม่า) หรือหัวเมืองมอญ มีความใกล้ชิดกับมอญซึ่งอาศัยอยู่ในที่ราบ เป็นกลุ่มที่ปรับตัวให้เข้ากับคนไทยพื้นราบได้ดี เข้ามาอาศัยในบริเวณภูมิภาคตะวันตกตอนล่างของไทย ในอดีต นโยบายการปกครองของไทยตั้งแต่ยุคสมัยกรุงศรีอยุธยาและรัตนโกสินทร์ตอนต้น ได้แต่งตั้งให้ผู้นำชาวกะเหรี่ยงปกครองดูแลกลุ่มชนของตัวเองในฐานะเมืองหน้าด่านของไทยในภูมิภาคตะวันตก ซึ่งได้รับความร่วมมือด้วยดีจากผู้นำชาวกะเหรี่ยงเพราะถือว่าพม่าเป็นศัตรูร่วมกัน ประกอบกับนโยบายทางการทหารของพม่าในอดีตพยายามขยายอาณาเขตขับไล่กลุ่มชาวมอญกะเหรี่ยงและละว้าที่อาศัยปะปนอยู่ทางตอนปลาย ทำให้กลุ่มชนทั้งสามต้องหลบหนีเข้ามาในภูมิภาคตะวันตกของไทยโดยเฉพาะทางด่านเจดีย์สามองค์ กาญจนบุรี แม่น้ำภาชี ลงไปจนถึงแม่น้ำเพชรบุรี (ดำรงพล อินทร์จันทร์, 2562, น.72)
ชาวกะเหรี่ยงได้รับความเดือดร้อนอย่างมากในสมัยพระเจ้าอลองพญา พระมหากษัตริย์ของพม่าทรงทำสงครามกับเมืองมอญ ชาวกะเหรี่ยงจึงอพยพข้ามเข้าสู่ดินแดนไทย เมื่อถึงสมัยรัชกาลที่ 4 ปี พ.ศ. 2411 พระองค์ทรงดำเนินนโยบายด้านชายแดนทางตะวันตก ป้องกันไม่ให้ผนวกแผ่นดินเหล่านี้เข้าร่วมในเขตอาณานิคม ขณะเข้ายึดครองพม่าจนถึงรัชกาลที่ 5 ปี พ.ศ. 2416 ได้เสด็จประพาสจอมบึง ด่านทับตะโก และโปรดให้ชาวกะเหรี่ยงเข้าเฝ้าอย่างใกล้ชิด และพระราชทานเหรียญกษาปณ์ ผ้าแพร ปัจจุบันชาวกะเหรี่ยงจะนำเหรียญกษาปณ์เหล่านั้น ร้อยห้อยเป็นเครื่องประดับชนิดหนึ่ง ชาวกะเหรี่ยงกลุ่มนี้เป็นบรรพบุรุษของชาวกะเหรี่ยงของอำเภอสวนผึ้งในปัจจุบันและทรงดำเนินนโยบายทางการปกครองกับชาวกะเหรี่ยงเหมือนยุครัตนโกสินทร์ตอนต้นโดยแต่งตั้งผู้นำกะเหรี่ยงเป็นผู้นำรักษาด้านชายแดนพระราชทานยศ เป็นหลวงคือหลวงพิทักษ์คีรีมาศ และตกทอดมาจนถึงปี พ.ศ. 2435 ได้มีการปฏิรูปการปกครอง เป็นกำนันผู้ใหญ่บ้านแทน (วุฒิ บุญเลิศ, 2535, น.17 อ้างถึงใน ดำรงพล อินทร์จันทร์, 2562, น.73)
ชาวกะเหรี่ยงถูกดึงให้มาเป็นคนไทย จากการดำเนินนโยบายของข้าหลวง หลังยุคแบ่งเขตการปกครองเป็นมณฑล เมืองแล้ว ข้าหลวงพยายามดำเนินนโยบายที่จะดึงชาวกะเหรี่ยงให้มาเป็นคนไทย เพราะอังกฤษอ้างว่าเมื่อที่ใดมีชาวกะเหรี่ยงดินแดน นั้นก็คือดินแดนพม่าจะต้องเป็นดินแดนอาณานิคมของอังกฤษด้วย ข้าหลวงมณฑลราชบุรีออกเยี่ยมราษฎรและมีความผูกพันกับกะเหรี่ยง ทำให้ชาวกะเหรี่ยงได้รับการยอมรับจากรัฐบาลกลางมาก อีกสาเหตุที่ชาวกะเหรี่ยงได้รับการยอมรับและเข้ากับคนไทยได้ง่ายก็คือการนับถือศาสนาพุทธเช่นเดียวกับคนไทย โดยคนกะเหรี่ยงได้รับการสืบทอดความเชื่อในเรื่องศาสนาพุทธผ่านชาวมอญ เมื่อครั้งอาศัยอยู่ในหัวเมืองมอญก่อนที่จะอพยพเข้าสู่ภาคตะวันตกของไทย จึงอาจกล่าวได้ว่าชาวกะเหรี่ยงที่ตั้งหลักแหล่งในภาคตะวันตกของไทยได้ตั้งหลักแหล่งพำนักอาศัยและติดต่อเคลื่อนย้ายกันในลักษณะประจำถิ่นมาเป็นระยะเวลานาน แม้จะมีการย้ายที่อยู่อาศัยหมู่บ้านกันบ้างแต่ก็ยังอยู่ในภูมิภาคและท้องถิ่นเดิม ชาวกะเหรี่ยงโปว์ จึงมีแหล่งที่อยู่อาศัยชัดเจนและมีเอกลักษณ์หรืออัตลักษณ์เฉพาะเป็นของตัวเอง มีความแตกต่างทางด้านวัฒนธรรมกับกะเหรี่ยงกลุ่มอื่น ๆ ในภาคตะวันตกและภูมิภาคอื่น ๆ อย่างชัดเจน (ดำรงพล อินทร์จันทร์, 2562, น.111)
การอพยพเคลื่อนย้าย
การเคลื่อนย้ายของผู้คนเข้ามายังพื้นที่ตำบลสวนผึ้ง ท่าเคย ป่าหวายและตะนาวศรี มีการอพยพเคลื่อนย้ายตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน โดยเคลื่อนย้ายมาจากฝั่งตะวันตกในเขตประเทศเมียนมาเข้ามาสู่พื้นที่ราชบุรี สามารถจำแนกได้เป็น 3 ระลอก ดังนี้
ระลอกที่ 1 กะเหรี่ยงอพยพเข้ามาตั้งหลักแหล่งในประเทศไทยตั้งแต่สมัยอยุธยา สาเหตุของการอพยพเพื่อหลบภัยสงคราม เช่น สงครามระหว่างไทยกับพม่า อพยพจากภาคใต้ของประเทศเมียนมาหรือหัวเมืองมอญ มีความใกล้ชิดกับมอญซึ่งอาศัยอยู่ในที่ราบ เป็นกลุ่มที่ปรับตัวให้เข้ากับคนไทยพื้นราบได้ดี กะเหรี่ยงมีส่วนช่วยในการรักษาแผ่นดินไทยตั้งแต่สมัยอยุธยาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น โดยเป็นทั้งด่านหน้า กองสอดแนม และกำลังพลในการสู้รบ กับพม่า (ดำรงพล อินทร์จันทร์, 2562, น.71)
ระลอกที่ 2 กะเหรี่ยงที่พระมหากษัตริย์ไทยพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้อาศัยอยู่บริเวณที่เรียกว่า "ทิ้ง เล่อว โหว่" คือตรงบริเวณที่ลำน้ำแควน้อยกับลำน้ำแควใหญ่ไหลมาบรรจบกันนั้น เนื่องจากไม่คุ้นเคยกับการทำนาในที่ลุ่มและใช้ชีวิตปะปนกับคนไทยพื้นราบ กะเหรี่ยงโปว์กลุ่มหนึ่งจึงได้แยกตัวออกจากบริเวณนั้นไปทางตะวันตกเฉียงใต้ โดยเดินขึ้นไปตามลำภาชี ซึ่งเป็นสาขาหนึ่ง ของลำน้ำแควน้อย กลุ่มนี้ได้ทิ้งหลักฐานแห่งแรกที่บ้านเก่ากะเหรี่ยง เขตตำบลด่านทับตะโก อำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี กระจายการตั้งบ้านเรือนในที่ราบเชิงเขาและที่ราบริมฝั่งลำภาชี ผ่านบ้านสวนผึ้ง บ้านบ่อและบ้านทุ่งแฝก แล้วปักหลักอยู่มาจนถึงปัจจุบัน (ดำรงพล อินทร์จันทร์, 2562, น.71)
อีกกลุ่มหนึ่งแยกลงไปทางใต้อีก ผ่านบ้านยางหัก ตากแดด อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี เลยลงไปตั้งบ้านเรือนอยู่ตามเชิงเขาต้นแม่น้ำเพชรบุรี เช่น ที่บ้านพลุพลู บ้านห้วยแห้ง อำเภอหนองหญ้าปล้อง และที่บ้านวังวน บ้านสองพี่น้อง อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี แต่ไม่ได้เลยลงไปสุดทางที่อำเภอหัวหินและอำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ดังที่มีผู้กล่าวถึง หากแต่เป็นเผ่าสะกอที่เคลื่อนย้ายลงมาอยู่ที่ราบภายหลัง ดังในมณฑลราชบุรีเรียกว่า "กะหร่าง"
ระลอกที่ 3 จากบ้านเก่ากะเหรี่ยงได้เคลื่อนย้ายต่อลงมาทางใต้ถึงบ้านรางบัว หนองอีหมัน ตั้งมั่นที่บ้านหนองกะเหรี่ยง อำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี ปัจจุบันเรียกเพี้ยนเป็น บ้านหนองนกกระเรียน อยู่มาระยะหนึ่งคงจะถูกคนไทยรุกรานหรือประสบภัยธรรมชาติ น้ำในหนองคงแห้งขอดจึงพากันเคลื่อนย้ายหาที่อยู่ใหม่
ในอดีตชาวกะเหรี่ยงมีการดำรงชีพแบบหาของป่าล่าสัตว์ มักอพยพไปตามแหล่งทรัพยากร ไม่มีการลงหลักปักฐานหรือทำการเกษตรบนพื้นที่ราบ ปัจจุบันกระจายการตั้งบ้านเรือนในที่ราบเชิงเขาและที่ราบริมฝั่งลำภาชี
ปัจจุบันชาวกะเหรี่ยงจะนิยมแต่งกายชุดสมัยใหม่คือสวมเสื้อยืดและใส่กางเกง ดังนั้นเป็นการยากที่จะเห็นชาวกะเหรี่ยงแต่งชุดประจำเผ่าจะเห็นได้เฉพาะในเวลาที่มีงานสำคัญ ๆ หรือทางหน่วยงานของจังหวัด อำเภอมีงานประจำปี ขอร้องให้ชาวกะเหรี่ยงแต่งชุดประจำชาติพันธุ์เท่านั้น จึงจะเห็นชาวกะเหรี่ยงแต่งกายด้วยชุดพื้นเมืองของตัวเอง (ดำรงพล อินทร์จันทร์, 2562, น.74)
การแต่งกายของชาวกะเหรี่ยง แบ่งเป็นการแต่งกายของฝ่ายหญิงและการแต่งกายของฝ่ายชาย ฝ่ายหญิงจะเรียบง่ายแบ่งเป็น 2 ชนิดคือ ถ้าเป็นเด็กจะเป็นผ้าดิบสีขาวเพราะเป็นผืนยาว มีช่องสวมทางศีรษะ ยาวคลุมเข่าตลอด แล้วปักกุ้นขอบแขน คอ ชายผ้าถุงด้วยด้ายสีแดง อาจใส่เม็ดเงิน ลูกไม้ที่เรียกว่า "พ่งซ้า" ที่ชายถุง ส่วนชุดของหญิงสาวที่อายุเกิน 15 ปี คือชุดของผู้ใหญ่ จะมีเส้นด้ายยืนที่ทอด้วยด้ายสีน้ำเงินหรือสีแดงเป็นเส้นหลัก สวมใส่ได้ถึงวัยชรามี 2 ชิ้น คือ ชิ้นที่เป็นผ้าถุงกับชิ้นที่เป็นเสื้อ ส่วนที่เป็นเสื้อจะสวมทางศีรษะเหมือนชุดของเด็ก แต่จากต่างกันที่มีการปักตัวเสื้อด้วยด้ายสีต่าง ๆ ส่วนใหญ่จะเป็นการเดินเส้น ส่วนผ้าถุงจะทอยกลายหลากหลายมีเอกลักษณ์เฉพาะบริเวณเชิงถุง ส่วนปลายถุงจะติดเม็ดเงิน ลูกปัด เป็นเมล็ดพืชชนิดหนึ่ง ภาษากะเหรี่ยงเรียกว่า "พ่งซ้า" เป็นพืชล้มลุกมีดอกเหมือนฟางข้าว ทุกเมล็ดจะมีเกสรตรงกลางถ้าเกสรหลุดไปจะมีรูตรงกลาง นำมาร้อยรอบชายถุงหรือปักเลื่อมให้สวยงาม ส่วนการทำความสะอาดจะไม่นิยมซักเพราะเสื้อและผ้าถุงจะมีการตกแต่งด้วยลูกปัด ถ้าถูกับแปรงซักผ้าแล้วทำให้เครื่องประดับหลุดออกก็ได้ ดังนั้นจึงไม่นิยมซักกัน (ดำรงพล อินทร์จันทร์, 2562, น.74)
ลักษณะของเสื้อนั้นจะมีรูปทรงคล้ายกับเสื้อเชิ้ตในปัจจุบัน แต่จะแตกต่างกันตรงเนื้อผ้า คือเสื้อของชาวกะเหรี่ยงจะมีความหนาและค่อนข้างแข็งกระด้าง ขอเสื้อจะลึกด้านหน้าจนถึงเกือบกลางหลังและตัวเสื้อจะมีลวดลายซึ่งเกิดจากการปักด้วยด้ายสีต่าง ๆ เป็นรูปลักษณ์ที่แตกต่างกัน บางตัวมีลวดลายมาก บางตัวมีน้อยและเครื่องประดับเล็ก ๆ ติดอยู่เกือบรอบตัว ส่วนสีนั้นจะนิยมสีน้ำเงินและสีแดง แต่ส่วนมากเสื้อจะเป็นสีน้ำเงินทั้งตัว แต่ก็จะมีด้ายสีต่าง ๆ มาช่วยเพิ่มลวดลายให้ดูสวยงามขึ้น ลักษณะของแขนเสื้อจะเป็นลักษณะแขนกุด ตัวเสื้อจะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ส่วนผ้าถุงนั้นจะมีลวดลายและเนื้อผ้าคล้ายกับเสื้อ จะแตกต่างกันตรงที่ผ้าถุงจะใช้สีสองสีคือสีแดงและสีน้ำเงิน และจะแบ่งเป็น 2 ส่วนคือ ส่วนบนใช้สีน้ำเงินเพื่อให้เข้ากับเสื้อที่ใส่ซึ่งเสื้อจะเป็นสีน้ำเงิน ส่วนด้านล่างจะใช้สีแดงเป็นสีตัดเพื่อเพิ่มลวดลายของชุด วิธีการนุ่งจะนุ่งไม่เหมือนกับคนไทยแต่จะใช้การพักทั้งสองด้านคล้ายวิธีนุ่งผ้าถุงของชาวโซ่ง (ไทยทรงดำของเพชรบุรี) เด็กวัยรุ่นปัจจุบันนุ่งผ้าแบบชาวกะเหรี่ยงไม่เป็น ต้องให้ผู้ใหญ่นุ่งให้ ในการใช้งานจะนิยมแต่งกันในประเพณีสำคัญ เช่น งานแต่งงานของชาวกะเหรี่ยง งานประจำชนเผ่า คือการกินข้าวห่อ การต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง แต่ในปัจจุบันนี้หาดูได้ยากมาก แม้ในงานแต่งงานก็อาจจะไม่มีให้เห็นแล้ว ในงานแต่งงานประจำจะเห็นเป็นบางครั้ง แต่จะพบเห็นก็น่าจะเป็นงานที่หน่วยราชการขอร้องให้แต่งชุดเท่านั้น (ดำรงพล อินทร์จันทร์, 2562, น.74-75)
การแต่งกายของฝ่ายชายจะต้องนุ่งเป็นโจงกระเบน เสื้อจะเป็นเสื้อ เชิ้ตสีขาวแขนยาว ส่วนโจงกระเบน จากมีอยู่ไม่มากนัก เท่าที่พบเห็นก็จะเป็นสีน้ำเงิน สีน้ำตาล สีม่วง ซึ่งในปัจจุบันจะหาดูได้ยากกว่าการแต่งกายของฝ่ายหญิง แต่พอพบเห็นได้อยู่บ้าง ในงานแต่งงานซึ่งจะแต่งเต็มยศคือ นุ่งโจงกระเบน เสื้อเชิ้ตสีขาวแขนยาว และใช้ผ้าพันศีรษะมีลักษณะเป็นหงอนบนหน้าผาก เรียกว่า "ทุไก่นุ" ซึ่งจะมีลักษณะคล้ายนอแรด แต่จะทำด้วยผ้าสีต่าง ๆ ผ้าสีเหล่านี้ ได้มาจากพิธีกรรมต่าง ๆ จึงเป็นผ้าที่เป็นมงคลแก่ผู้สวมใส่ พันรอบศีรษะและทำนอแรด มีลักษณะสวยงามและดูดีมาก เสื้อผ้าของฝ่ายชายจะซักได้เพราะเป็นผ้าที่ไม่ค่อยมีลวดลายและเครื่องประดับอะไร ในอนาคตมีแนวโน้มจะไม่พบเห็น ชาวกะเหรี่ยงรุ่นหลังแต่งชุดประจำเผ่าอีกเลยก็เป็นได้ ชาวกะเหรี่ยงรุ่นใหม่จะนิยมแต่งชุดตามสมัยใหม่ เนื่องจากไม่เก้งก้างเกะกะเหมือนชุดประจำเผ่าและชุดของชาวกะเหรี่ยงถูกไว้ที่บ้านหรือไม่ก็ถูกเก็บเข้าพิพิธภัณฑ์ เพื่อให้ชนรุ่นหลังดูถ้าประเพณีที่สำคัญของชาวกะเหรี่ยง บางประเพณีถูกลืมไป เช่น ประเพณีการแต่งงาน (ดำรงพล อินทร์จันทร์, 2562, น.75)
การทอผ้า เสื้อผ้าและเครื่องแต่งกายของชาวกะเหรี่ยงสวนผึ้งในอดีต
ในอดีตชาวกะเหรี่ยงจะทอผ้าใช้เองทุกครัวเรือน โดยเฉพาะฝ่ายหญิงต้องทอผ้าเป็นทุกคนและต้องรับภาระการทอผ้าให้กับคนแก่หรือเด็กที่ยังไม่สามารถทอผ้าได้เอง อุปกรณ์เครื่องมือที่ใช้ ได้แก่ กี่ทอผ้า (ม้าท้ะ) ไม้ลวก ไม้เกลือ (ไม้มะเกลือ) ด้ายสี ที่รัดเอวหนังวัว (ยาก่องผัย) ที่เหยียดขา (ดั้งย้อง) การทอผ้ามีหลายชนิด คือ การทอผ้าถุง (นึ่ย) เสื้อ (ไฉน) ถุงย่าม (ท้งวา) ชาวกะเหรี่ยงปลูกฝ้ายเอง หนีบฝ้ายเองและย้อมเส้นด้ายเองรวมถึงการย้อมสี แต่ปัจจุบันการปลูกฝ้ายลดน้อยลง ต้องซื้อด้ายมาจากตลาด ขั้นตอนจึงลดลง การสืบทอดการทอผ้าก็สิ้นสุดลง การทอผ้าปัจจุบัน จึงมีให้เห็นเฉพาะการทอย่ามหรือการทอที่เป็นไปในลักษณะของการรื้อฟื้นวัฒนธรรมขึ้นมาเป็นสําคัญ การทอผ้าถุงเริ่มจากการออกแบบลายผ้าถุงและหาด้ายสีตามชนิดที่ต้องการ ซึ่งส่วนมากจะใช้ด้ายสีน้ำเงินและสีแดงเป็นหลัก ผ้าถุงจะถูกออกแบบเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ยาวประมาณ 80 เซนติเมตร ความยาวประมาณ 60 เซนติเมตร หลังจากนั้นก็จะเริ่มทอจากด้านล่างขึ้นมาด้านบน โดยจะใช้สีน้ำเงินเป็นพื้น ทอด้วยมือใช้กี่ทอผ้า ซึ่งชาวกะเหรี่ยงเป็นผู้ทํากี่ทอผ้าขึ้นมาเอง อุปกรณ์หลักจะประกอบด้วยกี่ทอผ้าไม้ลวกหรือไม้เกลือ เอาไว้เป็นที่กระทุ้งเส้นด้ายให้ชิดติดกันอย่างหนาแน่นไม่หลุดออกจากกัน และจะมีไม้ลวกปากแฉก มีด้ายอยู่ตรงกลางเอาเป็นตัวส่งเส้นด้าย ช่องของเส้นด้ายสีน้ำเงินจะเป็นตัวรองพื้นที่รัดเอวหนังวัว เอาไว้รัดเอวแล้วจะมีที่เหยียดขาเอาไว้เหยียดขาให้ตึงด้วย การทําผ้าถุงจะใช้เวลาในการทอประมาณหนึ่งเดือน สําหรับผ้าถุงที่มีลวดลาย ส่วนผ้าถุงที่ไม่มีลวดลายจะใช้เวลาประมาณหนึ่งสัปดาห์ ผ้าถุงต้องทอผ้าถึง 3 ชิ้น คือส่วนที่เป็นเชิง ส่วนตัวผืนและส่วนขอบบน ส่วนตัวผืนจะมีขนาดกว้างใหญ่ เมื่อได้ทั้งสามผืนแล้วนํามาเย็บติดกันถึงจะสมบูรณ์ (ดำรงพล อินทร์จันทร์, 2562, น.75)
การทอเสื้อจะมีลักษณะคล้ายกับการทอผ้าถุง แต่เสื้อจะมีลวดลายและรายละเอียดมากกว่า จึงต้องใช้ระยะเวลานานประมาณ 5 เดือน เพราะจะต้องทําให้มีลักษณะกว้างใหญ่กว่าผ้าถุง คือยาวประมาณ 80 เซนติเมตร กว้างประมาณ 70 เซนติเมตร และจะตกแต่งแขนเสื้อและคอเสื้อด้วยลูกปัดหรืออาจใช้เมล็ดพุ่งซ้า ลูกปัดหรือถักด้วยด้ายสีแดง ทอถุงย่ามทําง่าย เวลาที่ใช้ก็ขึ้นอยู่กับขนาดของถุงย่ามและลวดลายแต่ก็จะใช้เวลาไม่เกิน 1 สัปดาห์เป็นอย่างมาก ส่วนวิธีการทําจะคล้ายกับการทอผ้าถุงและเสื้อ แต่สีที่ใช้เป็นตัวถุงย่ามจะมีมากกว่า ส่วนมากที่พบเห็นก็คือสีขาว สีแดงเป็นสีที่นิยม โดยจะมีสีดําเป็นสีสลับให้เกิดลวดลาย สุรเศรษฐ์ บุญเกตุ (2539, น.10 อ้างถึงใน ดำรงพล อินทร์จันทร์, 2562, น.76) กล่าวไว้กว่าเมื่อสองทศวรรษที่แล้วว่า ในอนาคตการทอผ้าของชาวกะเหรี่ยงน่าจะเหลือเพียงถุงย่ามเพราะทอง่ายที่สุด ปัจจุบันไม่ค่อยเห็นชาวกะเหรี่ยงทอผ้าถุงและเสื้อ ส่วนถุงย่ามยังมีผู้สืบทอดและผู้ที่ทอเป็นเหลืออยู่น้อย
เครื่องประดับตกแต่ง
ชาวกะเหรี่ยงมีเครื่องประดับที่ทําด้วยเงินแท้เช่นเดียวกับกลุ่มชนอื่น ๆ แต่ดูจะไม่มากเหมือนบางกลุ่ม ส่วนใหญ่จะสวมใส่กันทั้งชายและหญิง ลักษณะแตกต่างกันบ้างเล็กน้อย เครื่องประดับของชายที่ไม่ใช่เม็ดเงิน ได้แก่ การโพกศีรษะด้วยผ้าและผ้าสี โดยจะใช้ผ้าพันเข้ามาส่วนหน้าบริเวณหน้าผากให้เป็นงวงคล้ายนอแรด แล้วใช้ผ้าแพรสีหลากหลายพันรอบ ตามความเชื่อดั้งเดิม เล่าต่อกันมาว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสต้นน้ำตกไทรโยค กาญจนบุรี โดยเสด็จทางเรือมาขึ้นบกที่มณฑลราชบุรี แล้วเดินทางบกผ่านด่านทับตะโก ได้พระราชทานเหรียญและผ้าแพรสีแก่ชาวกะเหรี่ยง ชาวกะเหรี่ยงจึงได้พันผ้าสีไว้บนศีรษะเป็นต้นมา (วุฒิ บุญเลิศ, 2535, น.6 อ้างถึงใน ดำรงพล อินทร์จันทร์, 2562, น.78) และใช้กรณีแต่งกายเฉพาะพิธีสําคัญงานใหญ่ ๆ กับชายหนุ่มเท่านั้น
ส่วนเครื่องประดับที่ทําด้วยเงินนั้น ไม่ทราบที่มาว่าใครเป็นผู้ผลิตหรือรับจ้างทํามาแต่ดั้งเดิม ได้รับมาจากบรรพบุรุษเป็นทอด ๆ จนกระทั่งยุคของเถ้าแก่อ่อน แซ่ตั้ง บิดาของคุณเจษฎา ดรุณวิลาศ เป็นรุ่นที่มาจากราชบุรี มาตั้งบ้านเรือน อยู่ในหมู่บ้าน ทําเครื่องประดับเงินของชาวกะเหรี่ยงนานหลายปี เงินที่ชาวกะเหรี่ยงนํามาให้เถ้าแก่อ่อนทํานั้น จะเป็นเหรียญรัชกาลที่ 5 ทั้งหมด ไม่พบการนําเงินอื่นหรือเงินก้อนมาเป็นวัตถุดิบ เครื่องประดับทุกชิ้นเถ้าแก่อ่อนจะรับจ้างทํายกเว้นเข็มขัดของผู้ชาย เมื่อหมดรุ่นเถ้าแก่ก็ไม่มีผู้ใดสืบทอดงานฝีมือเหล่านี้อีกและไม่มีช่างมาอาศัยในหมู่บ้าน งานฝีมือจําพวกนี้จึงยุติในช่วงนั้น (ดำรงพล อินทร์จันทร์, 2562, น.77-78)
เครื่องประดับที่ทําด้วยเงินของชาวกะเหรี่ยงได้แก่ สร้อย (จี่พรึ่ย) คือเม็ดเงินที่ประดิษฐ์ขึ้น มีลักษณะคล้ายเงินพดด้วง โดยมีส่วนปลายยอดชิดติดกัน แต่เว้นส่วนกลางเป็นรูสําหรับร้อยด้ายหรือลูกปัด ตรงกลาง จะมีดอกจันหรือดาวหลายแฉก ขนาดเม็ดเงินจะเล็กใหญ่แตกต่างกัน ประมาณเม็ดถั่วเขียวหรือใหญ่กว่าเล็กน้อยขนาดความยาวของสร้อยแต่ละเส้น แล้วแต่ผู้สวมใส่ ถ้าเป็นเด็กขนาดจะสั้นลงเล็กกว่า ถ้าของผู้ใหญ่จะมีขนาดยาวมากกว่า ส่วนใหญ่สร้อยที่สวมจะไม่นิยมห้อยจี้หรือพระเหมือนคนไทย แต่จะห้อยเหรียญรัชกาลที่ 5 (จี่บ่ะ) ซึ่งเป็นเงินแท้เช่นกัน ปัจจุบันนําสร้อยชนิดนี้มาสวมเฉพาะวันพิธีสําคัญ เช่น พิธีเรียกขวัญกินข้าวห่อ
ตุ้มหู (กรก) ทําจากเงินภายในกลวง มีลักษณะคล้ายแกนของหลอดด้ายหรือปากแตรทั้งสองด้านความยาวประมาณ 2 เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 เซนติเมตร มีขนาดเล็กหรือใหญ่ ตามแต่ขนาดของรูหูที่เจาะไว้ ปัจจุบันพบเฉพาะในผู้สูงอายุเท่านั้น
กําไล (ไถ้) ทําจากเงินแท้ หนัก ตัน คล้ายตัวหนอนงอเข้าหากัน ปลายทั้งสองข้างจะค่อนข้างแหลม เปิดช่องทางขนาดพอดีที่จะคล้องข้อมือได้ จะไม่ใช้วิธีสวมจากปลายมือ มีหลายขนาด สมัยก่อนใครมีมากก็อาจสวมหลายวงได้ ปัจจุบันมีคนละวงและจะสวมเฉพาะผู้หญิงเท่านั้น
เข็มขัด (ยังเด่งไค) เป็นแค่ส่วนหัวจะมีลวดลาย เส้นของเข็มขัดจะทําจากการทอเส้นเงินขนาดเล็กละเอียดสวยงามมาก จะใช้เฉพาะผู้ชายในงานพิธีวันสําคัญไม่ปรากฏมีเข็มขัดของผู้หญิงแบบดั้งเดิม
คาดผม (คุคัง) ลักษณะเป็นเส้นเล็กบางคล้ายริบบิ้น ทําจากเงินตรีเป็นเส้นบาง กว้างประมาณครึ่งเซนติเมตร ยาวประมาณ 8 ฟุต ตรงกลางของเส้นคาดผมจะทําเป็นเงินคล้ายใบหอกติดไว้ สูงประมาณ 4 เซนติเมตร ใช้ได้ทั้งหญิงและชาย ถ้าเป็นหญิงจะให้ส่วนกลางที่มีลักษณะคล้ายใบหอกไว้ด้านหลังมวยผม ถ้าเป็นชาย จะใช้ส่วนนี้อยู่บริเวณโคนของนอแรดด้านหน้า (ผ้าพันศีรษะ)
กระดุม (ฉีเชียงซ้า) ลักษณะคล้ายผอบขนาดเล็ก ขนาดเท่าปลายนิ้ว ภายในโปร่งกลวง มีลวดลายได้ง่ายใช้ติดเสื้อผู้ชายเท่านั้น ปัจจุบันไม่ค่อยพบเห็น
การประดิษฐ์เสื้อผ้าและเครื่องแต่งกาย รวมถึงเครื่องมือเครื่องใช้ในการประดิษฐ์เสื้อผ้า
การทอผ้ามีอุปกรณ์เครื่องมือที่ใช้ได้แก่ กี่ทอผ้า (ม้าท้ะ) ไม้ลวก ไม้เกลือ (ไม้มะเกลือ) ด้ายสี ที่รัดเอวหนังวัว (ยาก่องผัย) ที่เหยียดขา (ดั้งย้อง) การทอผ้ามีหลายชนิด คือการทอผ้าถุง (นึ่ย) เสื้อ (ไฉน) ถุงย่าม (ท้งวา) ชาวกะเหรี่ยงปลูกฝ้ายเอง หนีบฝ้ายเอง และย้อมเส้นด้ายเองรวมถึงการย้อมสี แต่ปัจจุบันการปลูกฝ้ายลดน้อยลงต้องซื้อด้ายมาจากตลาด ขั้นตอนจึงลดลง การสืบทอดการทอผ้าก็สิ้นสุดลง (ดำรงพล อินทร์จันทร์, 2562, น.75)
ข้าวห่อ เป็นอาหารสำหรับใช้เป็นอาหารต้อนรับแขกในพิธีเรียกขวัญ วัตถุดิบ ได้แก่ ข้าวเหนียว มะพร้าว น้ำตาล น้ำผึ้ง จักตอกไม้ไผ่ เพื่อใช้เป็นเครื่องผูกข้าวห่อและทําน้ำจิ้ม การเตรียมจักตอกจะมี 2 ลักษณะคือ เดี่ยว ๆ จะใช้มัดข้าวห่อแยกเป็นห่อเดี่ยว ๆ กับการจักตอกรวมเพื่อต้องการข้าวห่อเป็นพวงใช้ในพิธี (ดำรงพล อินทร์จันทร์, 2562, น.79)
การห่อข้าว ลักษณะเป็นกรวยแหลม โดยใช้ใบตองม้วนให้แหลมขนาดประมาณ 3-5 นิ้ว ปิดปากกรวยด้วยใบตองส่วนเดิม แล้วใช้ตอกมัดกันไม่ให้ข้าวเหนียวร่วงหล่น เพราะข้าวจะเป็นข้าวสารธรรมดายังไม่ได้ผ่านกรรมวิธีใดใด บ้านที่มีลูกสาวอาจจะแกล้งแขก โดยการเข้าพริกยัดไส้และคอยยิ้มหัวเราะเมื่อพบว่าแขกคนใดเจอดีเข้า ส่วนข้าวห่อที่ใช้ทําพิธีสําหรับผู้ที่เกิดในเดือน 9 จะห่อเป็นพวง โดยใช้ตอกรวมห่อไปในทางเดียวกัน จะเหมือนกับขนมจ้างของชาวจีนแต่มีขนาดใหญ่กว่า เป็นพวงข้าวห่อที่ทําเฉพาะให้แก่บุตรคนเล็กของบ้านหรือผู้ที่เกิดในเดือน 9 เท่านั้น
จากนั้น ต้มข้าวหลังจากที่แช่มา 1 คืน โดยใช้หม้อขนาดใหญ่ ปี๊บหรือกระทะแล้วแต่จะหาได้ต้มตั้งแต่เช้าจนถึงเย็น ขณะที่เฝ้าเตาไฟก็จะขูดมะพร้าวเพื่อกวนกับน้ำตาลทําเป็นนําจิ้ม แต่เดิมใช้น้ำผึ้งเป็นน้ำจิ้ม แต่ภายหลังเมื่อน้ำผึ้งหายากขึ้น จึงต้องกวนน้ำตาลกับมะพร้าวแทน (ดำรงพล อินทร์จันทร์, 2562, น.80)
ชุมนุมวันขึ้นปีใหม่กะเหรี่ยงที่วัดแจ้งเจริญของชาวกะเหรี่ยงสวนผึ้ง วัดแจ้งเจริญเป็นสถานที่สำคัญในชุมชนและเป็นที่รู้จักของชาวกะเหรี่ยงโดยทั่วไป เนื่องจากชื่อเสียงของ “หลวงพ่อนวม” หรือ "หลวงปู่นวม" พระเกจิองค์สำคัญ "หลวงพ่อนวม" อดีตเจ้าอาวาสวัดแจ้งเจริญ ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือของชาวกะเหรี่ยง จนกระทั่งเกิดประเพณีชุมนุมวันปีใหม่ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 และการเหยียบหลังกะเหรี่ยงมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งข้อมูลจากพระครูศรีธรรมาภรณ์ เจ้าอาวาสวัดแจ้งเจริญ (2561, สัมภาษณ์) และ "ประวัติศาสตร์เมืองราชบุรี" เมื่อปี พ.ศ. 2547 โดยรองศาสตราจารย์ยนต์ ชุ่มจิต ซึ่งได้คัดลอกเรื่องเกี่ยวกับ "หลวงพ่อนวม" อดีตเจ้าอาวาสวัดแจ้งเจริญ เขียนไว้ดังนี้
"กะเหรี่ยงสวนผึ้ง อ.สวนผึ้ง กิ่ง อ.บ้านคา ส่วนมากนับถือพุทธศาสนา มีส่วนน้อยที่นับถือคริสต์ศาสนานิกายโปรเตสแตนต์ สำหรับวัดที่ชาวกะเหรี่ยงนิยมไปทำบุญ ถือศีล ปฏิบัติธรรมตามปกติ ก็คือ วัดในท้องถิ่น เช่น วัดท่ามะขาม วัดหินสูง และวัดเขาตกน้ำ เป็นต้น วันที่ชาวกะเหรี่ยงสวนผึ้งในจังหวัดราชบุรี และเพชรบุรี จะไปทำบุญร่วมกันคือ วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 ของทุกปี โดยจะเดินทางไปยังวัดแจ้งเจริญ ต.จอมประทัด อ.วัดเพลง จ.ราชบุรี เพื่อสรงน้ำหลวงพ่อนวม (มรณภาพตั้งแต่ปี พ.ศ. 2478) ซึ่งชาวกะเหรี่ยงทั้งในอดีตและปัจจุบันให้ความเคารพอย่างยิ่ง” (ดำรงพล อินทร์จันทร์, 2562, น.69)
สาเหตุที่ชาวกะเหรี่ยงสวนผึ้ง ที่อยู่ในจังหวัดราชบุรีและเพชรบุรี ให้ความเคารพหลวงพ่อนวมอย่างสูงตลอดมาจนถึงปัจจุบันนั้น มีประวัติความเป็นมาช้านานแล้วจากคำบอกเล่าของท่านพระครูศรีธรรมาภรณ์ เจ้าอาวาสวัดแจ้งเจริญและเจ้าคณะอำเภอวัดเพลงในปัจจุบัน เล่าว่า เมื่อประมาณ 100 ปีที่ผ่านมา พระอธิการนวมได้ออกจาริกธุดงค์ไปตามป่าชายแดนไทย-พม่า ด้วยประสงค์จะหาความสงบวิเวกปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ท่านเห็นว่าการที่อยู่วัดนั้น ย่อมมีแต่ความสะดวกสบายทุกประการ แต่ถ้าได้ออกไปตามป่าเขาลำเนาไพรบ้างก็จะเป็นการทดสอบความอดทนและคงต้องใช้ความพยายามอย่างมาก ด้วยจิตใจที่กล้าแกร่งไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคใดใด ในที่สุดท่านก็ไปถึงถิ่นที่อยู่ของชาวกะเหรี่ยงโพล่ว (กะเหรี่ยงโปว์) ซึ่งสมัยนั้นยังนับถือผีและสิ่งนอกเหนือธรรมชาติ มีความชำนาญเรื่องไสยศาสตร์ สามารถปล่อยผี ปล่อยคุณไสย เสกหนัง เสกตะปูเข้าท้องผู้อื่นถึงตายได้ ปกติแล้วคนแปลกหน้าที่ล่วงล้ำเข้าไป มักจะถูกลองของเสมอ หากใครไม่แน่จริงก็จะมีอันตรายถึงตายทุกรายไป (ดำรงพล อินทร์จันทร์, 2562, น.83)
ครั้งหนึ่ง หัวหน้าผู้นำกะเหรี่ยงได้นิมนต์พระภิกษุนวมไปสวดที่บ้าน ท่านจึงถามก่อนว่า "เล่นของหรือเปล่า?" คงเป็นเพราะกะเหรี่ยงไม่เข้าใจคำถามจึงไม่ตอบ ขณะที่ท่านนั่งสวดมนต์อยู่นั้น ผีน้ำมันพรายที่กะเหรี่ยงเลี้ยงไว้ในขวดสำหรับรักษาคนเจ็บป่วยและดูแลคุ้มครองคนในครอบครัวและหมู่บ้านได้ตกลงมาจากหิ้งแล้วผีน้ำมันพรายก็หนีไป หัวหน้ากะเหรี่ยงเชื่อว่าเป็นการกระทำของภิกษุนวม "มันคงเก่งในคาถาอาคมมาก" กะเหรี่ยงสวนผึ้ง (ดำรงพล อินทร์จันทร์, 2562, น.83)
ในสมัยนั้น มักจะใช้สรรพนามทั่วไปว่า "มัน" เสมอ จึงคิดจะลองของโดยใช้วิธีการต่าง ๆ นานา ดังเช่นพระภิกษุนวม เข้าไปปักกลดอยู่ในเขตหมู่บ้านกะเหรี่ยง ตั้งจิตภาวนาแผ่กุศลให้ชาวกะเหรี่ยงเรื่อย ๆ หัวหน้ากะเหรี่ยงคิดจะปล่อยของให้เข้าตัวพระภิกษุนวม ด้วยวิธีการเอาเนื้อสัตว์ใส่กระบอกไม้ไผ่แล้วทำพิธีปล่อยคาถาอาคมนำไปฝังใต้ดินจนเน่าเหม็น จากนั้นในยามวิกาลก็ทำพิธีปล่อยของโดยไม่ให้ผู้รับหรือผู้ถูกกระทำรู้ตัว คืนนั้นพระภิกษุนวมได้เข้าฌานตั้งสมาธิ แผ่กุศลให้ชาวกะเหรี่ยงตลอดคืน ด้วยจิตที่บริสุทธิ์มีสมาธิแน่วแน่และมั่นคงของที่หัวหน้ากะเหรี่ยงส่งมาจึงไม่สามารถทำอันตรายพระภิกษุนวมได้
เมื่อการปล่อยของครั้งแรกไม่สำเร็จ หัวหน้าจึงคิดหาวิธีที่สูงขึ้นเพื่อคิดจะเอาชนะพระภิกษุนวม โดยให้ลูกบ้านนำหมากพลูไปถวาย ทำทีว่าต้อนรับขับสู้ท่าน แต่หัวหน้ากะเหรี่ยงสั่งให้นำหนังสัตว์ติดตัวไปด้วย เพื่อให้พระภิกษุนวมได้นั่งแทนเสื่อตามธรรมเนียมของชาวกะเหรี่ยง เมื่อพระภิกษุนวมนั่งลงบนหนังสัตว์ก็ทราบด้วยฌานอันแก่กล้าว่า ท่านกำลังถูกเสกหนังสัตว์เข้าท้องอย่างแน่นอน ท่านจึงทำจิตใจให้สงบ พร้อมใช้วิชาอาคมต่อสู้ทันที พอท่านตบเข่าเท่านั้น หนังสัตว์ที่ม้วนเล็กลงก็ขยายใหญ่ขึ้นตามเดิม จากนั้นชาวกะเหรี่ยงก็ส่งหมากพลูให้กับท่าน ท่านรับไว้แล้วกลืนลงท้องทันทีเพียงครู่เดียวก็อาเจียนออกมาหมด สิ่งที่อาเจียนออกมามีแต่สิ่งของที่แหลมคม เช่น ตะปู เศษแก้ว เศษโลหะหลายชนิด ท่านล่วงรู้ทันทีว่าถูกกะเหรี่ยงทำอีกแล้ว ลูกบ้านได้มารายงานหัวหน้าว่า พระภิกษุนวมไม่ได้รับอันตรายอะไร หัวหน้าถึงกับอุทาน "มันเก่ง" เพราะตนได้ทำของปล่อยของจนหมดภูมิแล้ว หัวหน้าจึงเชื่อว่า พระภิกษุนวม มีความเก่งกล้าสามารถทางไสยศาสตร์เหนือพวกตนจริง ถ้าท่านจะลองของพวกตนบ้างก็คงจะแก้ไม่ตกเป็นแน่ (ดำรงพล อินทร์จันทร์, 2562, น.83)
กิตติศัพท์ความเก่งกล้าด้านคาถาอาคมทำให้ชาวกะเหรี่ยงอยากจะมาดูตัว ดังนั้น ในวันหนึ่ง ชาวกะเหรี่ยงจึงพร้อมกันมาที่พระภิกษุนวม ปักกลดอยู่ ครั้นเห็นท่านนั่งหลับตาอยู่ในกลดก็คิดว่าท่านกำลังฝึกวิชาอาคม แท้จริงแล้วท่านกำลังเจริญวิปัสสนากรรมฐาน ต่างจึงพากันนั่งรอดูท่าทีอย่างสงบ จนเด็ก ๆ ที่พามานั่งรออยู่ด้วยเกิดหิวน้ำ จึงขอน้ำจากพ่อแม่ดื่ม แต่แล้วต่างก็ต้องประหลาดใจ เมื่อทุกกระบอกน้ำไม่มีน้ำเลย สร้างความงุนงงให้กับชาวกะเหรี่ยงอย่างมาก พระภิกษุนวม ลืมตามองเห็นเหตุการณ์เช่นนั้น ก็ส่งภาษาใบ้มือชี้ที่ปากของท่านแล้วชี้มือไปที่กระบอกน้ำ พอชาวกะเหรี่ยงส่งกระบอกน้ำที่เด็ก ๆ กำลังแย่งกันนั้นให้ท่าน ทันทีที่ท่านเอียงปากกระบอกลงในบาตรเท่านั้นปรากฏว่ามีน้ำไหลออกมา ท่านจึงส่งกระบอกน้ำให้เด็กที่กำลังหิวกระหาย ครั้นเมื่อชาวกะเหรี่ยงยกกระบอกอื่นขึ้นดื่มก็มีน้ำไหลทุกกระบอก จึงรู้ว่ากำลังถูกหลวงพ่อท่านลองวิชา แต่ไม่มีใครสามารถแก้อาคมของหลวงพ่อได้เลย (ดำรงพล อินทร์จันทร์, 2562, น.84)
หลังจากนั้น พระภิกษุนวมได้กลายเป็นผู้เก่งกล้าของชาวกะเหรี่ยง ต่างก็หันมาสนใจและอยากจะฝึกวิชาอาคมจากพระภิกษุนวม แต่ก็ยังไม่กล้าแสดงออกนอกหน้าเพราะกลัวหัวหน้าจะโกรธ ครั้นใกล้เทศกาลเข้าพรรษา พระภิกษุนวมจำต้องกลับวัดแจ้งเจริญ กะเหรี่ยงซึ่งต้องการรู้ว่าท่านอยู่ไหนแน่ จึงสั่งให้ลูกบ้านสะกดรอยตามพระภิกษุนวมไปห่าง ๆ ไม่ให้รู้ตัว คอยนำอาหารถวายท่านตลอดการเดินธุดงค์กลับถึงวัด ลูกบ้านจึงกลับไปรายงานหัวหน้าว่าท่านอยู่ที่วัดแจ้งเจริญ หลังจากนั้นอีกไม่นานก็มีชาวกะเหรี่ยงสามคนขี่ช้างมาหาพระภิกษุนวมได้พักที่ศาลาเมื่อเวลาพลบค่ำพอดี ชาวบ้านได้เห็นพฤติกรรมการก่อไฟหุงข้าวของกะเหรี่ยงสามคนนั้น เขาไม่ได้ไปหาไม้ฝืนที่ไหน แต่จะใช้มีดถากที่หน้าแข้งตนเอง แล้วก็มีสะเก็ดไม้ปลิวออกมาให้หุงข้าวได้ วันต่อมาชาวบ้านเห็นว่าเสาศาลาได้แหว่งไปหลายต้น จึงได้นำความไปแจ้งให้พระภิกษุนวมทราบ ท่านจึงรู้ได้ทันทีว่า ชาวกะเหรี่ยงสามคนได้ใช้วิชาถากเสาวัด ท่านไม่ได้โกรธเคืองแต่ให้คนที่มาบอกไปหากะลามาสามใบ แล้วท่านก็หายเข้าไปในกุฎิของท่านพักใหญ่ ๆ แล้วก็ออกมาให้ชาวบ้านคนเดิมนำกะลาสามใบไปวางไว้หลังวัด (ดำรงพล อินทร์จันทร์, 2562, น.84)
เช้าวันต่อมา ชาวกะเหรี่ยงสามคนก็จะก่อไฟหุงข้าวด้วยวิธีเดิม คือใช้มีดถากหน้าแข้งให้ไม้ฟืนปลิวออกมา แต่แล้วก็ต้องตกใจมากเมื่อมองไม่เห็นช้างสามเชือกของตน จึงรีบไปกราบหลวงพ่อบอกว่า ช้างของตนหายไปเสียแล้ว พระภิกษุได้ตักเตือนเรื่องใช้วิชาอาคมถากเสาวัด แล้วบอกให้ไปหากะลาที่บริเวณหลังวัดแล้วลองเปิดดู กะเหรี่ยงทั้งสามต้องประหลาดใจมาก เมื่อเห็นช้างของตนอยู่ในกะลาจึงรู้ว่าช้างสามเชือกของตนถูกท่านทำพิธีครอบไว้ ด้วยอภินิหารครั้งนี้ทำให้หัวหน้ากะเหรี่ยงยอมรับนับถือพระภิกษุนวม ชื่อเสียงของท่านได้แพร่หลายไปในหมู่ชาวกะเหรี่ยงโพล่ว คำสรรพนามที่เรียกว่า "มัน" ปัจจุบันชาวกะเหรี่ยงรุ่นเก่ายังใช้เรียกท่านอยู่ ด้วยมุขปาฐะที่สืบทอดเรื่องราวของพระภิกษุนวม หรือพระอธิการนวม จากปากต่อปากทำให้ชื่อเสียงของท่านแพร่หลาย เดิมชาวกะเหรี่ยงมีความเชื่อเรืองผีมีอิทธิพลต่อการดำรงชีวิต ถ้าทำให้ผีพึงพอใจ ผีก็ย่อมบันดาลความสุขให้แก่ชีวิตได้ แต่ถ้าทำให้ผีไม่พึงพอใจ ผีก็จะลงโทษด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น ทำให้ผู้คนเจ็บไข้ได้ป่วย เกิดโรคระบาด อากาศวิปริต สัตว์เลี้ยงล้มตาย พืชผลทางการเกษตรเสียหาย ที่สำคัญทำให้พวกเขาล้มตายได้ (ดำรงพล อินทร์จันทร์, 2562, น.85)
แต่หลังจากเลื่อมใสศรัทธาต่อพระอธิการนวมแล้ว เมื่อได้รับความเดือดร้อนหรือเจ็บไข้ได้ป่วย ก็จะบนบานถึงพระอธิการนวมแทนบนบานกับผี และการที่ชาวกะเหรี่ยงวนเวียนมากราบไหว้และบวชแก้บนเป็นประจำ จึงเกิดเป็นประเพณีวันชุมนุมชาวกะเหรี่ยงขึ้นที่วัดแจ้งเจริญ โดยยึดเอาวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 มาทำพิธีสรงน้ำพระอธิการนวม มานอนให้ท่านเหยียบขณะเดินไป-กลับจากพิธีสรงน้ำ นี่คือรูปธรรมที่แสดงถึงการเคารพนับถือและเทิดทูนอย่างสูง จนให้สมญานามพระอธิการนวมว่า "หลวงพ่อกะเหรี่ยง" แต่นั้นมา แม้เมื่อหลวงพ่อมรณภาพแล้ว ชาวกะเหรี่ยงก็ยังไปนมัสการสรงน้ำปิดทองรูปหล่อเหมือนจริงของท่านทุกปี พร้อมกันนั้นก็ได้ให้ความเคารพนับถือเจ้าอาวาสวัดแจ้งเจริญทุกรูปต่อมาว่าเป็น "หลวงพ่อกะเหรี่ยง" เหมือนกัน จนถึงท่านพระครูศรีธรรมาภรณ์ เจ้าอาวาสองค์ปัจจุบัน (ดำรงพล อินทร์จันทร์, 2562, น.87)
หลวงพ่อนวม มรณภาพมาแล้วตั้งแต่ปี พ.ศ. 2487 แต่เพราะท่านเป็นภูมิปัญญาในพระพุทธศาสนากับภูมิปัญญาท้องถิ่นกะเหรี่ยง จึงผลักดันให้ความเชื่อเรื่องผีสางดั้งเดิมค่อย ๆ คลี่คลาย แล้วบูรณาการทางวัฒนธรรมกับพระพุทธศาสนาด้วยพลังศรัทธายิ่งสืบเนื่องจนถึงวันนี้ จึงยังเห็นคนไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงโพล่วงหอบลูกจูงหลานและอุตส่าห์อุ้มทองแม้จะถึงวัยชรามากแล้วมาพักค้างคืนที่โรงเรียน โรงทึม ศาลา กุฏิหอฉัน มีจำนวนถึงปีละร่วม 4,000 คน คณะกรรมการวัดต้องต้อนรับเลี้ยงดูหุงข้าวมื้อละ 3 กระสอบ ถึงวันละ 9 กระสอบที่เดียว (ข้อมูลสถิติของวัดแจ้งเจริญ ปี พ.ศ. 2538) การที่ลูกหลานชาวกะเหรี่ยงยังมาชุมนุมวันปีใหม่ที่วัดแจ้งเจริญทุกปี ถือเป็นการทำตาม "คำสั่งบรรพบุรุษ" ชาวกะเหรี่ยงถือว่า การทำตามสิ่งที่บรรพบุรุษได้สั่งสอนไว้ ถือเป็นเรื่องอันศักดิ์สิทธิ์เป็นโลกทัศน์ที่สำคัญของชาวกะเหรี่ยง การปฏิบัติตามจึงเป็นสิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัว แม้จะอยู่กันคนละหมู่บ้าน แต่ถือว่ามีสายเลือดทางวัฒนธรรมโพล่งร่วมกัน การได้มาร่วมกิจกรรมและพิธีกรรมเช่นทุกปี (ดำรงพล อินทร์จันทร์, 2562, น.85) เป็นการสร้างจุดร่วมของความเป็นคนกลุ่มชาติพันธุ์เดียวกัน ลูกหลานได้เห็นถึงที่มาของสังคม "พุทธแบบกะเหรี่ยง" รู้จักโลกทัศน์แบบเก่าของชาติพันธุ์ตนเอง และมองเห็นวิถีทางที่จะช่วยให้สังคมกะเหรี่ยงและระบบธรรมชาติอยู่รอดในสังคมปัจจุบัน (ศักดิ์ศรี บุญรังศรี, 2561: ออนไลน์ อ้างถึงใน ดำรงพล อินทร์จันทร์, 2562, น.86, 114) เดิมทีชาวกะเหรี่ยงนับถือผีด้วยความกลัวในสิ่งที่ธรรมชาติอันมองไม่เห็น เกิดข้อห้ามเป็นการควบคุมทางสังคม เกิดคุณธรรม ตามโลกทัศน์ ด้วยเกรงการกระทำผิด ปัจจัยที่ทำให้ชาวกะเหรี่ยงสวนผึ้งในเขตนี้นับถือพุทธศาสนา เกิดจากเจ้าอธิการนวม อดีตเจ้าอาวาส วัดแจ้งเจริญ ถือธุดงค์เข้าไปในป่าจนถึงหมู่บ้านกะเหรี่ยงชายแดนเมื่อประมาณหนึ่งร้อยปีมาแล้ว มีเรื่องเล่า ตำนานและหลักฐานทางวัตถุ ว่าด้วยการลองของ ใช้คาถาอาคมทางไสยศาสตร์ ระหว่างเจ้าอธิการนวมกับหัวหน้าผู้นำกะเหรี่ยง จนกระทั่งหัวหน้าผู้นำกะเหรี่ยง ยอมแพ้และรับนับถือพุทธศาสนา แต่ยังคงสืบทอดการถือผี ความเป็นพุทธ ยอมรับตั้งแต่ระดับครอบครัว เครือญาติจนถึงกลุ่มชาติพันธุ์ทั้งจังหวัดราชบุรีและเพชรบุรี มีศูนย์รวมจิตวิญญาณที่วัดแจ้งเจริญ จึงมีบริบททางประวัติศาสตร์แตกต่างจากจังหวัดอื่นในภาคกลาง ด้วยการบูรณาการทางวัฒนธรรม ปรากฏวัดเก่ากะเหรี่ยง ที่ประกอบด้วย 2 หลักฐาน การนับถือผีของเดิมที่เปลี่ยนสัญลักษณ์มาเป็นเจดีย์ ต้นโพธิ์ ศาลา เสาหงส์ วัดเก่าที่คงสืบเนื่องถึงปัจจุบันอยู่ที่อำเภอหนองหญ้าปล้อง อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี และที่อำเภอปากท่อจังหวัดราชบุรี พบว่า มีกระบวนการผลิตซ้ำของพิธีกรรมในเดือน 5 เดือน 11 ทุกปี แต่ที่อำเภอสวนผึ้งจังหวัดราชบุรี ได้ละเลยความสำคัญ (ดำรงพล อินทร์จันทร์, 2562, น.86)
เป็นเวลานานกว่า 60 ปีมาแล้ว สัญลักษณ์สิ่งแทนตัวเจ้าอธิการนวม น้ำมนต์และน้ำมันงาที่ปลุกเสกแล้ว เมื่อท่านมรณภาพ เมื่อปี พ.ศ. 2478 ชาวกะเหรี่ยงงดใช้เก็บไว้บูชาบนหิ้งเป็นวัตถุมงคล เรียกว่า "พระน้ำมนต์" และ "พระน้ำมัน" เมื่อเจ็บไข้ได้ป่วยจากบนบานที่หิ้งพระขอให้หายป่วย แล้วจะไปบวชแก้บนเป็นสามเณรหรือชีพราหมณ์ที่วัดแจ้งเจริญ เนื่องจากระหว่างปีชาวกะเหรี่ยงมาบวชแก้บน หลายรายแต่ไม่พร้อมกัน จึงนัดหมายเพื่อความสะดวกทั้งทางวัดและชาวกะเหรี่ยงทุกหมู่บ้าน กำหนดวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 มาร่วมกิจกรรมและพิธีกรรมสืบเนื่องจนถึงปัจจุบัน การผลิตซ้ำของพิธีกรรมเกิดการตอกย้ำความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อนวมตลอดมา เกิดพันธะผูกพันระหว่างชาวกะเหรี่ยงกับหลวงพ่อนวม ผู้มาร่วมพิธีกรรมเกิดความรู้สึกเป็นพวกพ้องเดียวกันแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น เกิดความสำเร็จร่วมกันนำไปสู่การยึดมั่นในหลวงพ่อนวมเป็นศูนย์รวมจิตวิญญาณ พบว่าชาวกะเหรี่ยงมีจิตสำนึกอันเหนียวแน่นร่วมกันให้สมญานามหลวงพ่อว่า "หลวงพ่อกะเหรี่ยง" ปัจจุบันชาวกะเหรี่ยงมาวัดแจ้งเจริญเพื่อทำบุญแห่รูปหล่อเหมือนหลวงพ่อนวม หลวงพ่อบ๋อ และหลวงพ่อม่วง สรงน้ำปิดทองเพื่อเป็นสิริมงคล มาบวชแก้บนเป็นสามเณรหรือชีพราหมณ์เนื่องจากเจ็บไข้ได้ป่วยระหว่างปี และหรือมาสรงน้ำเจ้าอาวาสองค์ปัจจุบันซึ่งเป็นตัวแทนหลวงพ่อกะเหรี่ยง ความเชื่อ และพิธีกรรม เช่นนี้จึงมีส่วนสำคัญส่งเสริมวันชุมนุมปีใหม่กะเหรี่ยงให้คงอยู่อย่างมั่นคงไม่ว่าสังคมจะเปลี่ยนแปลงไปมากมายเพียงใดก็ตาม ก็จะคงความสัมพันธ์กับจิตวิญญาณที่มีพลังของ "พุทธแบบกะเหรี่ยง" (สุรินทร์ เหลือลมัย, 2540 อ้างถึงใน ดำรงพล อินทร์จันทร์, 2562, น.87)
ประเพณีกินข้าวห่อ
เป็นส่วนหนึ่งของประเพณีการเรียกขวัญ ให้แก่สมาชิกภายในครอบครัวทุกคน มีจุดประสงค์เพื่อเป็นการส่งเสริมความร่วมมือและสามัคคีกันในหมู่บ้านหรือระหว่างหมู่บ้าน ตามประเพณีดั้งเดิมแล้วมีการทําข้าวห่อต้องเตรียมสิ่งของต่าง ๆ ได้แก่ ข้าวเหนียว น้ำตาล เรือ มะพร้าว วัสดุที่ใช้ห่อ ได้แก่ ใบตองตอก และภาชนะ และเชื้อเพลิงที่ใช้ต้มข้าว ระยะเวลาที่จัดประเพณีกินข้าวห่อ จะอยู่ในช่วงเดือน 9 นับทางจันทรคติของทุกปี จะกําหนดเป็นวันใดก็ได้แล้วแต่ผู้นําหมู่บ้าน ปัจจุบันมักเลือกวันเสาร์หรือวันอาทิตย์ เพื่อให้ลูกหลานที่ไปเรียนหรือไปทํางานที่อื่นได้กลับมาร่วมพิธี (ดำรงพล อินทร์จันทร์, 2562, น.79)
ขั้นตอนการเตรียมการ สำหรับขั้นตอนการเตรียมงานในการจัดงานนี้ ดำรงพล อินทร์จันทร์ (2562, น.79-81) ได้อธิบายไว้ว่า
วันที่ 1 วันแรกจะเป็นการเตรียมวัสดุ ได้แก่ ข้าวเหนียว มะพร้าว น้ำตาล น้ำผึ้ง จักตอกไม้ไผ่ เพื่อใช้เป็นเครื่องผูกข้าวห่อและทําน้ำจิ้ม การเตรียมจักตอกจะมี 2 ลักษณะคือ เดี่ยว ๆ จะใช้มัดข้าวห่อ แยกเป็นห่อเดี่ยว ๆ กับการจักตอกรวม เพื่อต้องการข้าวห่อเป็นพวงใช้ในพิธี สําหรับบ้านที่มีสมาชิกคนใดคนหนึ่งเกิดในเดือน 9 และบ้านที่มีเด็กเล็ก จะทําให้ลูกคนเล็ก ต้องจัดหาเครื่องเซ่นไหว้ที่กล่าวในพิธีเรียกขวัญแล้ว
วันที่ 2 สมาชิกในบ้านจะช่วยกันห่อข้าว ลักษณะเป็นกรวยแหลม โดยใช้ใบตองม้วนให้แหลมขนาดประมาณ 3-5 นิ้ว ปิดปากกรวยด้วยใบตองส่วนเดิม แล้วใช้ตอกมัดกันไม่ให้ข้าวเหนียวร่วงหล่น เพราะข้าวจะเป็นข้าวสารธรรมดายังไม่ได้ผ่านกรรมวิธีใดใด บ้านที่มีลูกสาวอาจจะแกล้งแขก โดยการเข้าพริกยัดไส้ และคอยยิ้มหัวเราะเมื่อพบว่าแขกคนใดเจอดีเข้า ส่วนข้าวห่อที่ใช้ทําพิธีสําหรับผู้ที่เกิดในเดือน 9 จะห่อเป็นพวง โดยใช้ตอกรวมห่อไปในทางเดียวกัน จะเหมือนกับขนมจ้างของชาวจีน แต่มีขนาดใหญ่กว่า เป็นพวงข้าวห่อที่ทําเฉพาะให้แก่บุตรคนเล็กของบ้านหรือผู้ที่เกิดในเดือน 9 เท่านั้น จํานวนข้าวห่อในแต่ละปีไม่แน่นอน อาจขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจหรือจํานวนแขกที่คาดคะเนว่าจะมาร่วมในปีนั้น ๆ บางปีจึงมีเหลือแจกจ่ายผู้ที่เคารพนับถือ บางปีก็ไม่พอให้แขกจากต่างถิ่น บางครั้งจะห่อข้าวในเวลากลางคืนให้หนุ่มสาวได้พูดคุยสนุกสนานกัน โดยเริ่มห่อในวันเตรียมของ
วันที่ 3 จะใช้เวลาต้นข้าวหลังจากที่แช่มา 1 คืน การต้ม จะใช้หม้อขนาดใหญ่ หรือปี๊บ หรือกระทะ แล้วแต่จะหาได้ ต้มตั้งแต่เช้าจนถึงเย็น ขณะที่เฝ้าเตาไฟก็จะขูดมะพร้าวเพื่อกวนกับน้ำตาลทําเป็นน้ำจิ้ม แต่เดิมใช้น้ำผึ้งเป็นน้ำจิ้ม แต่ภายหลังเมื่อน้ำผึ้งหายากขึ้น จึงต้องกวนน้ำตาลกับมะพร้าวแทน น้ำจิ้มก็เป็นสิ่งยืนยันได้อีกครั้งหนึ่งว่า สาวบ้านใดกวนน้ำจิ้มได้อร่อยกว่า ย่อมเชื้อชวนให้มีหนุ่ม ๆ มาชิมข้าวห่อบ้านนั้น
วันที่ 4 ก่อนสว่างชาวบ้านจะตีเกราะ เคาะไม้ ตีปี๊บ ยิงปืน หรือจุดประทัด โดยผู้นําหมู่บ้านจะเริ่มให้สัญญาณก่อน บ้านอื่น ๆ ก็เริ่มพิธีพร้อมกัน เสียงที่ทําให้ดังเหล่านั้น เพื่อเริ่มพิธีเรียกขวัญให้เข้าบ้าน โดยผู้เฒ่าของบ้าน ถ้าแยกเรือนไม่มีผู้เฒ่าก็จะให้พ่อหรือแม่เป็นผู้ทําพิธี หน้าที่ตรงนี้จะเป็นหน้าที่ของผู้หญิง ตามบทบาทของผู้หญิงที่เป็นผู้นําของครอบครัวจึงเหมาะสมที่จะต้อนรับขวัญขึ้นบ้าน จะเชิญขวัญขึ้นบ้านโดยใช้ไม้คนข้าวหรือทัพพีเคาะที่แม่บันไดหรือขั้นบันไดที่ยาวขึ้นมาเหนือพื้นบ้าน พูดเชิญชวนเป็นภาษากะเหรี่ยง ในการเชิญขวัญจะต้องมีกระบุง ใส่เครื่องเซ่นที่ประกอบด้วย ข้าวห่อที่ต้มแล้ว กล้วย อ้อย ยอดอ่อนต้นดาวเรือง ด้ายสีแดง อาจจะประดับกระบุงที่ใส่ด้วยสร้อยเงิน ลูกปัด เมื่อเสร็จพิธีเชิญขวัญที่บันไดแล้วจะยกเครื่องเซ่นไปไว้ในห้อง เพื่อผูกแขนด้วยด้ายสีแดงให้แก่สมาชิกในบ้าน โดยผูกแขนทั้งสองข้างพร้อมกล่าวให้ขวัญมาอยู่กับตัว เริ่มตั้งแต่ผู้มีอายุมากถึงอายุน้อยสุด ผู้เฒ่าหรือพ่อบ้านจะให้ใส่เครื่องประดับ ก็ถือเป็นวันดี บางบ้านอาจนําชุดกะเหรี่ยงมาสวมใส่ให้ดูสวยงามกว่าวันธรรมดา ปัจจุบันถูกมองว่ายุ่งยาก สวมเสื้อผ้ากะเหรี่ยงท่ามกลางอากาศร้อน ไม่อยากสวมใส่ยกเว้นได้รับการร้องขอจากแขกต่างถิ่นที่ไม่ใช่ชาวกะเหรี่ยง พิธีเรียกขวัญทุกปีจะแฝงด้วยคติความเชื่อ ทําให้บุคคลในครอบครัวเกิดสํานึก ในหน้าที่ความดีที่ควรทํา สิ่งใดไม่ดีที่เคยทํา ขวัญกระเจิงหนีไป บัดนี้ได้กลับมาอยู่กับตัวแล้ว จงรักษาความดีตั้งมั่นด้วยสติรักษาความดีต่อไป
เมื่อพิธีผูกแขนสมาชิกในบ้านเสร็จ ทุกคนจะปฏิบัติภารกิจประจําวัน ออกเที่ยวกินข้าวห่อบ้านหลังอื่น ๆ ทุกบ้านจะหยุดงานไม่ไปไร่ ขณะเดียวกันก็ต้องมีคนคอยรับแขก เพราะหากมีแขกมากินข้าวห่อต้องยกสํารับออกมา ได้แก่ ข้าวห่อ พร้อมน้ำจิ้ม น้ำดื่ม น้ำล้างมือ และที่ใส่เปลือกใบตองหลังกินข้าวห่อแล้ว มีแนวปฏิบัติเกิดขึ้นภายหลังว่า เมื่อขึ้นบ้านใด เจ้าของบ้านยกสํารับออกมาแขกจะต้องกินข้าวห่อทุกบ้านชาวกะเหรี่ยงถือว่า เป็นการให้เกียรติกัน ซึ่งในวันตามปกติไม่มีอะไรจะเลี้ยงดูแขกผู้มาเยือน วันนี้สิ่งที่ดีที่สุดตามความเชื่อจึงต้องให้เกียรติ ถ้าไม่ยอมกินข้าวห่อชาวกะเหรี่ยงถือว่าไม่ให้เกียรติกัน สุรเศรษฐ์ (2539 อ้างถึงใน ดำรงพล อินทร์จันทร์, 2562, น.80) กล่าวว่า "...ซึ่งก็เป็นเรื่องลําบากใจ สําหรับคนไทยที่ไม่รู้รายละเอียดตรงนี้ ขึ้นบ้านแรก ๆ จึงรับประทานข้าวห่ออย่างเอร็ดอร่อย พอบ้านต่อ ๆ มา จึงนั่งตาลอย ไม่ให้เกียรติเจ้าของบ้าน จึงควรหาเหตุผลเอาเอง..."
ส่วนคนเฒ่าคนแก่ ก็นั่งล้อมวงเป่าแคน แคนกะเหรี่ยงจะมีเพียง 7 เต้า ร้องเพลง เกี้ยวพาราสีกันเพื่อความสนุกสนาน ไม่ได้ตั้งใจเกี้ยวกัน เพียงแต่ระลึกถึงความหลังครั้งหนุ่มสาวและคํากลอนมากกว่า การละเล่นชนิดนี้เกิดจากไม่เห็นหนุ่มสาวมาหัดร้อง บางครั้งแม้จะพอฟังรู้แต่อาจไม่เข้าใจ คนเฒ่าคนแก่ก็ไม่สามารถร้องได้ทุกคน แต่ส่วนใหญ่จะฟังรู้เรื่อง การร้องจะร้องต่อกันเป็นวรรค ๆ เมื่อฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดร้องจบจากต่อสู้กันด้วยปฏิภาณไหวพริบไม่มีคํากลอนตายตัว เช่น ฝ่ายชายขึ้นต้นว่า "เดินทางมากลางป่าไม่พบผู้คน หิวโหยจะหาข้าวกินที่ไหนได้” ฝ่ายหญิงจะตอบว่า "ไร้ญาติหรืออย่างไร จึงเดินป่ามาเพียงคนเดียว ช่างน่าสงสาร” ฝ่ายหญิงบางคนเสริมว่า "เพราะชีวิตคิดอะไรข้าวหุงแล้ว แต่ขาดเนื้อสัตว์มาทํากับข้าว ถ้ามีคนหาเนื้อมาได้จะมีข้าวกิน”
ในพิธีจะมีการร้องเพลง การร้องเพลงเกี้ยวพาราสี จะตอบโต้กันอย่างไรขึ้นอยู่กับปฏิภาณไหวพริบของผู้ร้อง การร้องจึงไม่มีกําหนดการจบสิ้นสุดเมื่อใด ขึ้นอยู่กับว่าสมาชิกจะเหนื่อยเพียงใดจะมีใครมาร้องแทน ส่วนผู้ที่เป่าแคนจับเป่าได้เฉพาะบุคคล บางหมู่บ้านไม่มีใครเป่าแคนได้เลย เมื่อต้องการจะเล่นเพลงก็ต้องชวนกันมาจากที่อื่น ๆ การละเล่นเพลงเป็นของผู้อาวุโส เด็ก ๆ จึงไม่มีทางออกอื่น จึงร่วมกันเล่นสะบ้าบ้าง แข่งฟุตบอลภายในหมู่บ้านบ้าง หรือระหว่างหมู่บ้านบ้าง ตามแต่จะนัดหมายกัน บางปีอาจจะร่วมแข่งครั้งเดียวเพื่อชิงถ้วยบุคคลสําคัญ การกินข้าวห่อแต่ละหมู่บ้านจะนัดหมายกันเองว่าจะกินวันใด จะพยายามเลือกวันที่ไม่ตรงกับหมู่บ้านอื่น เพราะจะได้ไปเที่ยวเยี่ยมเยือนกัน เป็นการไปมาหาสู่ผูกความสัมพันธ์กันระหว่างหนุ่มสาว หรือผู้ใหญ่ทําให้เกิดความรักใคร่สามัคคีทั้งภายในหมู่บ้าน ระหว่างหมู่บ้านใกล้เคียงที่สืบตามเชื้อสายเดียวกัน ให้เป็นสายใยสัมพันธ์สืบไป มีกิจกรรมให้กับเยาวชนที่ไม่สามารถร่วมกิจกรรมร้องเพลง ผู้นําหมู่บ้านหรือหน่วยงานได้จัดกิจกรรมทดแทนกิจกรรมเดิมที่เด็กรุ่นใหม่สามารถยอมรับได้ อย่างน้อยที่สุดก็สามารถดึงให้เยาวชนอยู่ในระเบียบแบบแผน เข้าใจผู้ใหญ่มากขึ้นและร่วมสนุกสนานกันมากขึ้น (สุรเศรษฐ์ บุญเกตุ, 2539 อ้างถึงใน ดำรงพล อินทร์จันทร์, 2562, น.81)
ชุมชนกะเหรี่ยงสวนผึ้ง อ.สวนผึ้ง กิ่งอ.บ้านคา ส่วนมากนับถือพุทธศาสนามีส่วนน้อยที่นับถือคริสต์ศาสนานิกายโปรเตสแตนต์
สำหรับความเชื่อดั้งเดิมที่เป็นเรื่องเหนือธรรมชาติ เมื่อประมาณ 100 ปีก่อน กะเหรี่ยงโพล่ว (กะเหรี่ยงโปว์) ซึ่งสมัยนั้นยังนับถือผีและสิ่งนอกเหนือธรรมชาติ มีความชำนาญเรื่องไสยศาสตร์ สามารถปล่อยผี ปล่อยคุณไสย เสกหนัง เสกตะปูเข้าท้องผู้อื่นถึงตายได้ ปกติแล้วคนแปลกหน้าที่ล่วงล้ำเข้าไป มักจะถูกลองของเสมอ หากใครไม่แน่จริงก็จะมีอันตรายถึงตายทุกรายไป เดิมชาวกะเหรี่ยงมีความเชื่อเรืองผีมีอิทธิพลต่อการดำรงชีวิต ถ้าทำให้ผีพึงพอใจ ผีก็ย่อมบันดาลความสุขให้แก่ชีวิตได้ แต่ถ้าทำให้ผีไม่พึงพอใจ ผีก็จะลงโทษด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น ทำให้ผู้คนเจ็บไข้ได้ป่วย เกิดโรคระบาด อากาศวิปริต สัตว์เลี้ยงล้มตาย พืชผลทางการเกษตรเสียหาย ที่สำคัญทำให้พวกเขาล้มตายได้ ชาวกะเหรี่ยงยังคงสืบทอดการถือผี ความเป็นพุทธ ยอมรับตั้งแต่ระดับครอบครัวเครือญาติจนถึงกลุ่มชาติพันธุ์ทั้งจังหวัดราชบุรีและเพชรบุรี มีศูนย์รวมจิตวิญญาณที่วัดแจ้งเจริญ จึงมีบริบททางประวัติศาสตร์แตกต่างจากจังหวัดอื่นในภาคกลาง ด้วยการบูรณาการทางวัฒนธรรม ปรากฏวัดเก่ากะเหรี่ยง ที่ประกอบด้วย 2 หลักฐาน การนับถือผีของเดิมที่เปลี่ยนสัญลักษณ์มาเป็นเจดีย์ ต้นโพธิ์ ศาลา เสาหงส์ (ดำรงพล อินทร์จันทร์, 2562, น.85)
ในช่วงของพิธีเรียกขวัญ เมื่อพิธีผูกแขนสมาชิกในบ้านเสร็จ ทุกคนก็ปฏิบัติภารกิจประจําวัน อยากออกเที่ยวกินข้าวห่อบ้านหลังอื่น ๆ ทุกบ้านจะหยุดงานไม่ไปไร่ ขณะเดียวกันก็ต้องมีคนคอยรับแขก เพราะหากมีแขกมากินข้าวห่อต้องยกสํารับออกมา ได้แก่ ข้าวห่อ พร้อมน้ำจิ้ม น้ำดื่ม น้ำล้างมือ และที่ใส่เปลือกใบตองหลังกินข้าวห่อแล้ว มีแนวปฏิบัติเกิดขึ้นภายหลังว่า เมื่อขึ้นบ้านใด เจ้าของบ้านยกสํารับออกมา แขกจะต้องกินข้าวห่อทุกบ้านชาวกะเหรี่ยงถือว่า เป็นการให้เกียรติกัน ซึ่งในวันตามปกติไม่มีอะไรจะเลี้ยงดูแขกผู้มาเยือน วันนี้สิ่งที่ดีที่สุดตามความเชื่อจึงต้องให้เกียรติ ถ้าไม่ยอมกินข้าวห่อชาวกะเหรี่ยงถือว่าไม่ให้เกียรติกัน สุรเศรษฐ์ (2539 อ้างถึงใน ดำรงพล อินทร์จันทร์, 2562, น.80) กล่าวว่า "...ซึ่งก็เป็นเรื่องลําบากใจ สําหรับคนไทยที่ไม่รู้รายละเอียดตรงนี้ ขึ้นบ้านแรก ๆ จึงรับประทานข้าวห่ออย่างเอร็ดอร่อย พอบ้านต่อ ๆ มาจึงนั่งตาลอย ไม่ให้เกียรติเจ้าของบ้าน จึงควรหาเหตุผลเอาเอง..."
ผู้ทําพิธีกรรมสำคัญ เช่น พิธีเรียกขวัญ คือผู้หญิงอาวุโสในครอบครัวหรือหัวหน้าครอบครัว
แคน ตามข้อมูล ปรากฏการเป่าแคนของชาวกะเหรี่ยงสวนผึ้งช่วงที่มีพิธีเรียกขวัญ แคนกะเหรี่ยงจะมีเพียง 7 เต้า ประกอบไปกับการร้องเพลง เกี้ยวพาราสีกันเพื่อควาสนุกสนาน ไม่ได้ตั้งใจเกี้ยวกัน เพียงแต่ระลึกถึงความหลังครั้งหนุ่มสาวและคํากลอนมากกว่า การละเล่นชนิดนี้เกิดจากไม่เห็นหนุ่มสาวมาหัดร้อง บางครั้งแม้จะพอฟังรู้แต่อาจไม่เข้าใจ คนเฒ่าคนแก่ก็ไม่สามารถร้องได้ทุกคน แต่ส่วนใหญ่จะฟังรู้เรื่อง
เพลงเกี้ยวพาราสี การร้องเพลงเกี้ยวพาราสีเป็นส่วนหนึ่งของพิธีเรียกขวัญ ในส่วนของการจัดตอบโต้กันอย่างไรขึ้นอยู่กับปฏิภาณไหวพริบของผู้ร้อง การร้องจึงไม่มีกําหนดการจบสิ้นสุดเมื่อใด ขึ้นอยู่กับว่าสมาชิกจะเหนื่อยเพียงใดจะมีใครมาร้องแทน การร้องจะร้องต่อกันเป็นวรรค ๆ เมื่อฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดร้องจบจากต่อสู้กันด้วยปฏิภาณไหวพริบไม่มีคํากลอนตายตัว เช่น ฝ่ายชายขึ้นต้นว่า "เดินทางมากลางป่าไม่พบผู้คน หิวโหยจะหาข้าวกินที่ไหนได้" ฝ่ายหญิงจะตอบว่า "ไร้ญาติหรืออย่างไร จึงเดินป่ามาเพียงคนเดียว ช่างน่าสงสาร” ฝ่ายหญิงบางคนเสริมว่า “เพราะชีวิตคิดอะไรข้าวหุงแล้ว แต่ขาดเนื้อสัตว์มาทํากับข้าว ถ้ามีคนหาเนื้อมาได้จะมีข้าวกิน" (ดำรงพล อินทร์จันทร์, 2562, น.80)
Access Point |
---|
No results found. |