2023-06-17 10:29:12
ผู้เข้าชม : 15424

มอญ สันนิษฐานว่า เป็นกลุ่มคนที่มีถิ่นกำเนิดเดิมบริเวณทางตอนตะวันตกของจีนหรือบริเวณทางตอนใต้ของอินเดีย เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีภาษาพูดและภาษาเขียนเป็นของตนเอง มีอาณาจักรโบราณ 2 แห่ง คือ  อาณาจักรทวารวดี บริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยา และอาณาจักรสะเทิม บริเวณลุ่มน้ำอิระวดี ทางตอนใต้ของประเทศเมียนมา ทั้งสองอาณาจักรมีบทบาทสำคัญในการเผยแพร่อารยธรรมมอญ จากการทำสงครามในสมัยกรุงศรีอยุธยา ส่งผลให้ชาวมอญอพยพเข้ามาในประเทศไทยอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งถึงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ปัจจุบันชาวมอญยังคงพยายามธำรงรักษาอัตลักษณ์อย่างเข้มแข็ง โดยเฉพาะระบบความเชื่อในการนับถือผีบรรพบุรุษและความศรัทธาในพระพุทธศาสนา 

  • ข้อมูลพื้นฐาน
  • ประวัติศาสตร์
  • การตั้งถิ่นฐานและกระจายตัว
  • วิถีชีวิตและวัฒนธรรม
  • งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
  • อ้างอิง

ชื่อกลุ่มชาติพันธุ์ : มอญ
ชื่อเรียกตนเอง : มอญ, รมัน, รามัญ
ชื่อที่ผู้อื่นเรียก : ตะเลง, ตะลาย, เปกวน, เม็ง
ตระกูลภาษา : ออสโตรเอเชียติก
ตระกูลภาษาย่อย : มอญ-เขมร
ภาษาพูด : มอญ
ภาษาเขียน : มอญ

คนมอญนิยมเรียกตนเองว่า “มอญ” “รมัน” หรือ “รามัญ” ตามชื่อประเทศของตน คือ “รามัญญเทส หรือ รามัญประเทศ ส่วนความหมายนั้นไม่ปรากฏเป็นที่แน่ชัด ชาวมอญบางคนได้อธิบายความหมายของคำว่ามอญ แปลว่า เป็นที่หนึ่ง ในแง่ที่ว่าพวกเขาเป็นที่หนึ่งในมนุษยชาติ บางคนกล่าวว่าหมายถึง ผู้นับถือพระรามปางพระนารายณ์ ปัจจุบันชาวมอญในประเทศไทยนิยมเรียกตนเองว่า“ชาวไทยรามัญ” คำว่า “มอญ” มักจะใช้ในการสื่อสารที่ไม่เป็นทางการ หรือเป็นการสื่อสารกันภายในกลุ่มส่วนคำว่า “รามัญ” หรือ “ไทยรามัญ” มักจะใช้ในการสื่อสารแบบทางการ สำหรับคำเรียกว่า “ตะเลง”เป็นที่เข้าใจกันในหมู่คนมอญว่า “ตะเลง” หมายถึง “อิตะเลิม” ที่แปลว่า “พ่อแม่ฉิบหายหรือบ้านแตกสาแหรกขาด” หรืออีกความหมายหนึ่งเป็นนัยแฝงการเหยียดหยามโดยแปลว่า “ เชื้อชาติอยู่ใต้ฝ่าเท้า” ซึ่งชาวมอญถือว่าเป็นการข่มเหงย่ำยีทางเชื้อชาติ ปัจจุบันคำนี้เลิกใช้กันแล้ว เพราะชาวมอญไม่ชอบชื่อนี้และไม่เคยนับว่าชื่อนี้เป็นชื่อที่ใช้เรียกกลุ่มชาติพันธุ์ของตนเอง ถึงแม้จะรับรู้ว่า ตะเลงหมายถึงมอญก็ตาม

ถิ่นกำเนิดเดิมของชาวมอญ สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นบริเวณทางตอนตะวันตกของจีนหรือบริเวณทางตอนใต้ของอินเดีย มีภาษาพูดและมีตัวอักษรเขียนของตนเอง เมื่ออพยพมายังอุษาอาคเนย์ ชาวมอญได้ก่อตั้งอาณาจักรโบราณสองแห่ง ได้แก่ อาณาจักรทวารวดีทวารวดี บริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา กับอาณาจักรสะเทิม บริเวณลุ่มแม่น้ำอิระวดีฝั่งตะวันออกทางตอนใต้ของพม่าทั้งสองอาณาจักรมีบทบาทสำคัญในการเผยแพร่อารยธรรมมอญที่ได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมจากอินเดียสู่ชนชาติต่าง ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเป็นหนึ่งในแม่แบบวัฒนธรรมที่เข้มแข็งในอุษาอาคเนย์ วัฒนธรรมมอญจึงยังคงปรากฎร่องรอยในภูมิภาคนี้จนถึงปัจจุบัน เมื่ออาณาจักรทวารวดีทวารวดีเสื่อมสลายเนื่องจากอิทธิพลของเขมร ชาวมอญทวารวดีทวารวดีได้ถูกกลืนกลายเป็นคนไทยหรือกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ ในขณะที่อาณาจักรมอญทางตอนใต้ของพม่ายังคงอัตลักษณ์ความเป็นมอญอย่างเข้มแข็ง จนกระทั่งถูกรวมเป็นส่วนหนึ่งของพม่าในเวลาต่อมา จากการทำสงครามกันอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้คนมอญมีการอพยพเข้ามาในสยามอย่างต่อเนื่องตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาจนถึงต้นรัตนโกสินทร์ปัจจุบันชาวมอญส่วนใหญ่อาศัยกระจัดกระจายอยู่ในพื้นที่ภาคกลาง โดยมีชาวมอญอาศัยอยู่ 35 จังหวัดทั่วประเทศ ได้แก่ กรุงเทพ นครนายก นครปฐม นครสวรรค์ นนทบุรี ปทุมธานี ลพบุรี สมุทรปราการ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม สระบุรี สิงห์บุรี สุโขทัย สุพรรณบุรี อยุธยา อ่างทอง อุทัยธานี กาญจนบุรี ตาก ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี ราชบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง ชุมพร สุราษฎร์ธานี กำแพงเพชร ชัยนาท เชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน ชัยภูมิ นครราชสีมา ปราจีนบุรี

ปัจจุบันชาวมอญที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยยังคงพยายามธำรงรักษาอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของตนอย่างเข้มแข็ง โดยเฉพาะระบบความเชื่อในการนับถือผีบรรพบุรุษและความศรัทธาในพุทธศาสนานิกายเถรวาทอย่างแรงกล้า กลายเป็นข้อปฏิบัติทางจารีตประเพณีที่ชาวมอญยึดถือปฏิบัติในชีวิตประจำวันอย่างเคร่งครัด โดยสะท้อนผ่านพิธีกรรม ประเพณีสำคัญ และเทศกาลต่าง ๆ ตลอดจนวิถีชีวิตในชีวิตประจำวันทั่วไประบบความเชื่อเรื่องผีบรรพบุรุษและความศรัทธาต่อพุทธศาสนายังมีส่วนสำคัญยิ่งในการสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของชาวมอญ รวมทั้งการธำรงอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่มีความโดดเด่นที่สุดของกลุ่มชาติพันธุ์มอญในยุคปัจจุบัน

ชาวมอญนับเป็นกลุ่มชาติพันูเก่าแก่กลุ่มหนึ่งในดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในด้านถิ่นกำเนิดเดิมของชาวมอญก่อนที่จะอพยพมายังดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังมีข้อถกเถียงจาก 3 แนวคิดสำคัญ กล่าวคือ แนวคิดแรก สันนิษฐานว่า ชาวมอญมาจากทางตะวันตกของประเทศจีน และเข้าสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้แนวคิดที่สอง ชาวมอญมาจากภูเขาหิมาลัย ลงมาที่ลุ่มแม่น้ำคงคา - พรมบุตร เข้าสู่แคว้นอัสสัมของอินเดีย และแนวคิดที่สาม ชาวมอญมาจากอินเดียทางตอนใต้โดยมีรายละเอียด ดังต่อไปนี้

แนวคิดแรก ชาวมอญมาจากทางตะวันตกของประเทศจีนก่อนที่จะเข้าสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ Nai Pan Hla นักวิชาการทางด้านประวัติศาสตร์และวรรณกรรมชาวมอญ ได้แสดงข้อสมมติฐานว่า ถิ่นกำเนิดดั้งเดิมของกลุ่มชนที่พูดภาษาตระกูลมอญ - เขมรอาศัยอยู่เป็นเวลายาวนาน คือ หุบเขาแยงซีเกียง (the valley of Yangtze Kiang (Chiang) ) ซึ่งอยู่ทางตะวันตกของประเทศจีนก่อนที่ชาวจีนซึ่งอพยพมาจากทางตอนเหนือจะเข้ามาครอบครองดินแดนแถบนี้ (1992, หน้า 13)โดยข้อสมมติฐานของ Nai Pan Hla วางอยู่บนข้อวิเคราะห์ทางด้านภาษาศาสตร์เรื่อง “Chinese and Indo – Europeans” โดย E.G. Pulleyblank ศาสตราจารย์ทางด้านภาษาจีนจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ซึ่งอธิบายถึงความเกี่ยวข้องทางด้านภาษาศาสตร์ระหว่างภาษาจีนในยุคแรกเริ่มกับภาษาดั้งเดิมของชนเผ่าหลากหลายกลุ่มที่อาศัยอยู่ในประเทศจีนในยุคแรกเริ่มประวัติศาสตร์ปรากฏร่องรอยภาษามอญ - เขมร ในภาษาจีนปัจจุบัน ตัวอย่างเช่น คำว่า “Chiang” ที่แปลว่า “แม่น้ำ” ภาษาจีนโบราณออกเสียงว่า “karwn” หรือ “krawn” ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับการออกเสียงคำว่า แม่น้ำในภาษามอญ คือ “Krun” (1966 อ้างถึงใน Nai Pan Hla, 1992, หน้า 13)

แนวคิดที่ว่าชาวมอญอพยพมาจากทางตะวันตกของประเทศจีนได้รับการตอบรับจากนักวิชาการชาวจีนจำนวนหนึ่ง โดย You. Z. (1994, อ้างถึงใน L. Shi et al., 2010, หน้า 473) ได้แสดงข้อสมมติฐานเกี่ยวกับต้นกำเนิดของชาวมอญในงานศึกษาเรื่อง “History of Yunnan Nationalities” ว่า ชนเผ่าโบราณที่ชื่อ “Baipu” ซึ่งตั้งถิ่นฐานกระจายตัวทางตอนใต้หรือตะวันตกเฉียงใต้ของมณฑลยูนนานตั้งแต่ยุคหินใหม่ได้พัฒนากลายมาเป็นชนเผ่าโบราณกลุ่มต่าง ๆ ที่พูดภาษาตระกูลมอญ – เขมร ในมณฑลยูนนานต่อมาในช่วงปลาย 2000 ปีก่อนคริสตกาลชนเผ่าเหล่านี้ส่วนใหญ่ได้อพยพลงมายังคาบสมุทรอินโดจีน แต่บางส่วนยังคงอาศัยอยู่ในมณฑลยูนนานตามเดิม โดยเฉพาะชนเผ่า Wa, Bulang และ Deanจากข้ออธิบายทางด้านประวัติศาสตร์และภาษาศาสตร์ได้พัฒนาไปสู่การศึกษาความเชื่อมโยงทางพันธุกรรมระหว่างชนเผ่าที่พูดภาษาตระกูลมอญ - เขมร ที่อาศัยอยู่ทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีนกับประชากรในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้แก่ งานศึกษาของ L. Shi et.al (2010, pp.467 - 475) ซึ่งเป็นกลุ่มนักวิชาการทางด้านชีววิทยาการแพทย์จากประเทศจีนและญี่ปุ่นได้วิเคราะห์ว่า เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มประชากรที่พูดตระกูลภาษาอื่นจะเห็นได้ว่า กลุ่มประชากรที่พูดภาษาตระกูลมอญ – เขมรที่อาศัยอยู่ทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ดังเช่น Bulang และ Wa ล้วนมีลักษณะทางพันธุกรรมแบบเดียวกัน โดยพิจารณาจากค่า Human leucocyte antigen (HLA) alleles และ haplotupes อันเป็นลักษณะทางพันธุกรรมที่ได้รับการถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษ (primogenitor alleles) ของชนเผ่าโบราณ Baipuหรืออาจกล่าวได้ว่า ชนเผ่าเหล่านี้ยังคงสามารถรักษาลักษณะทางพันธกรรมดั้งเดิมของตนไว้ได้ และมีระยะห่างทางพันธุกรรม (genetic distance) จากกลุ่มประชากรอื่น ๆ เป็นอย่างมาก ความแตกต่างดังกล่าวอาจเป็นผลมาจากที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของชนเผ่าเหล่านี้ที่มีความโดดเดี่ยวห่างไกลจากประชากรกลุ่มอื่น ก่อนที่สมาชิกของชนเผ่าจำนวนมากจะแยกย้ายไปตั้งถิ่นฐานในดินแดนอื่น ดังนั้น จึงสันนิษฐานว่า ชาว Bulang และ Wa น่าจะเป็นบรรพบุรุษของกลุ่มประชากรที่พูดภาษาตระกูลมอญ – เขมรทั้งหมด ข้อสันนิษฐานดังกล่าวสอดคล้องกับผลการทดลองของงานวิจัยที่ได้ทดสอบลักษณะการกระจายตัวของค่า HLA ในกลุ่มประชากรชนเผ่า Bulang ในมณฑลยูนนาน ประเทศจีน เปรียบเทียบกับประชากรในประเทศเวียดนามและไทย ที่พบว่า ประชากรทั้งสองกลุ่มล้วนมีความเกี่ยวข้องทางพันธุกรรมอย่างใกล้ชิด

นอกจากนี้ นักโบราณคดีจำนวนหนึ่งยังได้ตั้งข้อสมมติฐานจากหลักฐานทางโบราณคดีและข้อมูลภาษาศาสตร์ว่า บริเวณใจกลางหุบเขาแยงซี ( Yangtze Valley ) ประเทศจีนอาจเป็นถิ่นกำเนิดของกลุ่มชนที่พูดตระกูลภาษาออสโตรเอเชียติก (austroasiatic) ในช่วงก่อน 10,000 ปีมาแล้ว (Pejros and Shnirelman 1998; Bellwood 2005b as cited in RICCIO et. al, 2011, p.424 )ต่อมาในสมัยยุคหินใหม่ได้เกิดการกระจายตัวของกลุ่มชนเหล่านี้ออกจากประเทศจีนไปทางทิศตะวันตกบางส่วนอพยพยังภาคตะวันออกของอินเดีย ในขณะที่บางส่วนอพยพไปยังทิศใต้เข้าสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งนี้ นักโบราณคดีบางส่วนเชื่อว่า กลุ่มชนตระกูลภาษาออสโตรเอเชียติกในประเทศจีนเป็นผู้ให้กำเนิดวัฒนธรรมการเพาะปลูกข้าว จากการค้นพบหลักฐานการเพาะปลูกข้าวในยุคแรกเริ่มที่แหล่งโบราณคดี Pengtoushan บริเวณชายฝั่งทะเลสาบ Dongting และ Bashudang พื้นที่ทางตอนเหนือของ Pengtoushan และบริเวณใจกลางหุบเขาแม่น้ำ Yanzi ซึ่งเป็นแหล่งโบราณคดีเก่าแก่ที่มีอายุประมาณ 9,000 ปีมาแล้ว ดังนั้น การกระจายตัวของกลุ่มชนชาวออสโตรเอเชียติกที่ส่วนใหญ่เป็นชาวนาจึงย่อมก่อให้เกิดการเผยแพร่วัฒนธรรมการปลูกข้าวไปสู่อินเดียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตามมา (Blust 1996a; Blust 1996b; Diffloth 2005 as cited in RICCIO et. al, 2011, p.424 )

แนวคิดที่สองชาวมอญมาจากภูเขาหิมาลัย ลงมาที่ลุ่มแม่น้ำคงคา - พรมบุตร เข้าสู่แคว้นอัสสัมของอินเดีย นักมานุษยวิทยากลุ่มแรกที่นำเสนอแนวคิดนี้ คือ Carleton S. Coon และ Edward E.Hunt. Jr (1966 อ้างถึงใน ผาสุก อินราวุธ, 2548,85 ) ผ่านงานเขียนเรื่อง “The Living Races of Man” ซึ่งได้วิเคราะห์ที่มาของชนชาติมอญว่า เป็นชนเผ่าหนึ่งที่มีเชื้อสายมองโกลอยด์เช่นเดียวกับบรรพบุรุษของชนชาติพม่า ไทย และลาว โดยอพยพมาจากภูเขาหิมาลัย ลงมาที่แม่น้ำคงคาและแม่น้ำพรมบุตร แล้วจึงอพยพเข้าไปในอินเดียบริเวณแคว้นพิหารและแคว้นอัสสัมในภาคตะวันออกเฉียงเหนืออย่างไรก็ตาม งานศึกษาของ ผาสุก อินราวุธ (2548, หน้า 85) ได้ชี้ให้เห็นถึงข้อขัดแย้งจากการอธิบายดังกล่าวในส่วนที่ว่า ชาวมอญและชาวพม่ามีสายบรรพบุรุษร่วมกัน หากวิเคราะห์โดยใช้เกณฑ์ด้านภาษาศาสตร์จะเห็นได้ว่า รากของภาษามอญและพม่าอยู่คนละกลุ่มภาษา กล่าวคือ ภาษาของชาวพม่าอยู่ในกลุ่มภาษา Sino – Tibetan Languages ส่วนของชาวมอญอยู่ในกลุ่มตระกูลออสโตรเอเชียติก (Austro – Asiatic Languages) หรือกลุ่มภาษามอญ - เขมร (Mon Khmer) ซึ่งเป็นกลุ่มเดียวกับภาษามุณฑะ (Munda) ของชนเผ่ามุณฑะ ซึ่งเป็นชนเผ่าเชื้อสายมองโกลอยด์กลุ่มหนึ่งที่เป็นต้นบรรพบุรุษของชาวพิหาร ชาวอัสสัม และชาวยะไข่ของพม่าในปัจจุบัน

หลักฐานทางด้านภาษาศาสตร์ที่อธิบายว่า ภาษามอญ – เขมรและภาษามุณฑะในอินเดียควรจะจัดอยู่ในกลุ่มตระกูลภาษาออสโตรเอเชียติกได้ถูกนำเสนอครั้งแรกในงานศึกษาเรื่อง “The Talaeng Language” ของ Francis Mason ในปี 1854 (as cited in Sidwell, 2007, pp.2 - 3) อันเป็นที่มาของแนวคิดที่ว่าชาวมอญอาจจะสืบเชื้อสายมาจากชนเผ่ามุณฑะ ชนเผ่าโบราณที่สันนิษฐานว่าเป็นลูกหลานของประชากรมนุษย์กลุ่มหนึ่งที่อพยพจากแอฟริกามายังอินเดียในช่วงประมาณ 56,000 ปีมาแล้ว (Basu et al, 2003 ; Agrawal et al, 2008 as cited in Riccio et al., 2011, p. 407) และได้กลายมาเป็นต้นบรรพบุรุษของกลุ่มชนที่พูดภาษาตระกูลออสโตรเอเชียติกในอินเดีย อันรวมถึงชนเผ่ามุณฑะด้วย (Risley, 1915; Pattanayak, 1998 ; Gadgil et al. 1998; Majumder, 2001; Roychoudhury et al. 2001 as cited in Riccio et al., 2011, p. 407)ต่อมาชนเผ่ามุณฑะได้อพยพมายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงประมาณ 50, 000 bp ภาษามุณฑะของชนเผ่ามุณฑะได้ก่อให้เกิดภาษาย่อยอื่น ๆ ซึ่งล้วนอยู่ในตระกูลภาษาออสโตรเอเชียติกเหมือนกัน อันได้แก่ ภาษา Khasi – Khumic ในรัฐเมฆาลัย (Meghalaya) ทางตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย และภาษามอญ - เขมร ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Riccio et al., 2011, p. 407)

อย่างไรก็ตาม แนวคิดที่ว่าชาวมอญสืบเชื้อสายมาจากชาวมุณฑะในประเทศอินเดียได้ถูกโต้แย้งจากงานศึกษาทางด้านภาษาศาสตร์และพันธุกรรมศาสตร์ โดย Sir George Grierson (1904 : V. 2, p.2 ) เป็นนักวิชาการคนแรกที่แสดงข้อถกเถียงในหนังสือ “Linguistic Survey of India” ว่า แท้จริงแล้วควรจะจัดกลุ่มภาษามุณฑะกับภาษามอญ – เขมร ให้อยู่ในตระกูลภาษาเดียวกันหรือไม่ เพราะภาษาพูดของทั้งสองกลุ่มต่างก็แสดงให้เห็นถึงระเบียบความคิดที่ตรงข้ามกันโดยสิ้นเชิงข้อถกเถียงของ Sir George Grierson ได้ถูกนำมาวิเคราะห์ต่ออย่างเป็นระบบในงานศึกษาของ Patricia Donegan (et. al, 1983, p.3) ที่ศึกษาเปรียบเทียบโครงสร้างทางภาษาระหว่างภาษามุณฑะกับภาษามอญ – เขมร พบว่า แม้ว่าทั้งสองภาษาจะถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มตระกูลภาษาออสโตรเอเชียติก แต่เมื่อพิจารณาถึงโครงสร้างภาษากลับพบว่า มีความตรงกันข้ามกันในทุกระดับ ดังนั้น แนวคิดที่ว่าชาวมอญสืบเชื้อสายมาจากชาวมัณฑุ เพราะมีภาษาพูดในตระกูลเดียวกันจึงยังคงเป็นข้อถกเถียงอยู่สำหรับงานศึกษาทางพันธุกรรมศาสตร์ได้นำเสนอข้อถกเถียงที่สำคัญว่า แท้จริงแล้ว ชาวมุณฑะในประเทศอินเดียมีความเกี่ยวข้องทางพันธุกรรมกับประชากรในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่สันนิษฐานว่าสืบเชื้อสายมาจากชาวมุณฑะหรือไม่โดยงานศึกษาของ Riccio et. al ( 2011, pp.405 – 406) ได้ศึกษาความหลากหลายของลักษณะทางพันธุกรรมของยีน HLA (HLA - A, - B, and – DRB 1 loci) ที่พบในชาวมุณฑะที่อาศัยอยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดียว่า มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับยีน HLA ที่พบในประชากรกลุ่มอื่น ๆในอนุทวีปอินเดียกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือไม่ผลการศึกษาพบว่า ชาวมุณฑะมีความใกล้ชิดทางพันธุกรรมกับประชากรที่อาศัยอยู่ในอนุทวีปอินเดียมากกว่าประชากรกลุ่มที่อาศัยอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และพูดภาษาตระกูลออสโตรเอเชียติกเช่นเดียวกับชาวมุณฑะจากผลการศึกษาดังกล่าวจึงทำให้ Riccio ไม่สนับสนุนแนวคิดที่ว่า ชาวมุณฑะอาจเป็นตัวแทนของกลุ่มประชากรที่สืบเชื้อสายมาจากต้นบรรพบุรุษของกลุ่มชนที่พูดภาษาตระกูลออสโตรเอเชียติกในอินเดีย และอพยพไปทางทิศตะวันออกเข้าสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้

แนวคิดที่สาม ชาวมอญมาจากอินเดียทางตอนใต้แนวคิดดังกล่าวอ้างถึงหลักฐานทางประวัติศาสตร์ โบราณคดี และความเชื่อมโยงทางด้านวัฒนธรรม นักวิชาการบางส่วนจึงมีข้อสมมุติฐานว่า ชาวมอญสืบเชื้อสายมาจากชาวอินเดียใต้ (ผาสุก อินทราวุธ, 2548, หน้า 85) กล่าวคือ ในส่วนของหลักฐานทางประวัติศาสตร์นั้น งานศึกษาของ C.D. (1912 อ้างถึงใน สุภรณ์ โอเจริญ, 2541, หน้า 15) ได้เสนอให้พิจารณาจากร่องรอยของคำในภาษาพม่าที่ใช้เรียกคนมอญว่า “เตลง” (Talaing) ซึ่งปรากฏอยู่ในจารึกพม่าตั้งแต่ปี พ.ศ.1650สมัยพระเจ้าอโนรธาโดยนักวิชาการบางส่วนคาดว่าเป็นคำที่คนพม่าใช้เรียกคนมอญทางตอนใต้ที่อาศัยปะปนอยู่กับชาวอินเดียที่มาจากตลิงคะ (เตลิงคะนะ) หรือรัฐเตลังคานา (Talangana) ประเทศอินเดียในปัจจุบัน (G.H. Luce, 1969, อ้างถึงใน องค์ บรรจุน, 2559, หน้า 54 )ในขณะที่งานศึกษาขององค์ บรรจุน (2559, หน้า 54) ได้พยายามชี้ให้เห็นถึงความเชื่อมโยงทางด้านวัฒนธรรมระหว่างชาวมอญกับชาวอินเดียทางตอนใต้ที่สอดคล้องกับคัมภีร์พิธีรำผีมอญที่จะต้องมีขั้นตอนเซ่นไหว้เจ้าพ่อแห่งชมพูทวีป (ตะละเหญียะฮ์เกาะเกรียง) ในการประกอบพิธีกรรม ตลอดจนการรับวัฒนธรรมและตัวอักษรปัลลวะของอินเดียใต้มาพัฒนาขึ้นเป็นอักษรมอญในปัจจุบันรวมทั้งตำนานที่ตกทอดอยู่ในบทเพลงที่กล่าวถึงมอญ 3 กลุ่ม ซึ่งมีสัญลักษณ์ในการนับถือผี ( Totem ) ที่ต่างกัน ได้แก่ “มอญตาง” (สัญลักษณ์ ผ้า) อาศัยอยู่ในเมืองหงสาวดี มาจากลุ่มน้ำคงคา “มอญเตี๊ยะ” ( สัญลักษณ์ มะพร้าว) อาศัยอยู่ในเมืองพะสิม มาจากแคว้นตลิงคะ และ “มอญญะ” (สัญลักษณ์ กระบอกไม้ไผ่) อาศัยอยู่ในเมืองเมาะลำเลิง (มะละแหม่ง) มาจากปากน้ำโคธาวาร (Nai Pan Hla, 1992, p.48 อ้างถึงใน องค์ บรรจุน, 2559, หน้า 54)

ประวัติศาสตร์มอญที่ยาวนานนับพันปี สามารถอธิบายโดยแบ่งเป็น 2 ช่วงเวลา ได้แก่ ประวัติศาสตร์อาณาจักรมอญโบราณ และประวัติศาสตร์คนมอญในเมืองไทยในฐานะผู้พลัดถิ่นโดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

ประวัติศาสตร์อาณาจักรมอญสมัยโบราณ

ที่ตั้งของอาณาจักรมอญยุคโบราณสามารถจำแนกออกเป็น 2 พื้นที่ คือ 1) อาณาจักรมอญในประเทศไทย และอาณาจักรมอญในประเทศพม่า ทั้งนี้ การศึกษาร่องรอยของอาณาจักรมอญสมัยโบราณในช่วงแรกจะอ้างอิงจากหลักฐานทางโบราณคดีที่ขุดค้นพบจากประเทศไทยมากกว่าประเทศพม่า เพราะในช่วงเวลานั้นประเทศพม่ายังมีการขุดค้นทางโบราณคดีและการศึกษาทางด้านประวัติศาสตร์ไม่มากนักดังนั้น นักประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่จึงสันนิษฐานว่า อารยธรรมมอญยุคแรกเริ่มมีศูนย์กลางอยู่ที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา แต่มีนักวิชาการบางส่วนที่เชื่อว่า มีความเป็นไปได้ที่ทั้งลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาและทางพม่าตอนล่างเป็นแหล่งอารยธรรมที่เจริญควบคู่กันมา (Emmanuel Guillon, 1999, pp. 72 – 73 อ้างถึงใน องค์ บรรจุน, 2559, หน้า 56) ในประเด็นดังกล่าวจึงจะกล่าวถึงประวัติศาสตร์อาณาจักรมอญในประเทศไทยและประวัติศาสตร์อาณาจักรมอญโบราณในประเทศพม่า ประวัติศาสตร์ชาวมอญพลัดถิ่นในราชอาณาจักรไทย ถิ่นฐานชาวมอญในราชอาณาจักรไทย บทบาททางการเมือง สำนึกชาติพันธุ์ และการผสานเข้ากับสังคมไทย โดยมีรายละเอียด ดังนี้

อาณาจักรมอญโบราณในประเทศไทย

สำหรับการค้นพบหลักฐานทางโบราณคดีเกี่ยวกับอาณาจักรมอญโบราณในประเทศไทยนั้น จดหมายเหตุการณ์เดินทางของพ่อค้าและขุนนางราชวงศ์ถัง พ.ศ. 1132 – 1405 และบันทึกของพระถังซำจั๋ง พระภิกษุสงฆ์ชาวจีนที่เดินทางไปอินเดียในช่วงพุทธศตวรรษที่ 12 ได้กล่าวถึงรัฐชาวพุทธแห่งหนึ่ง ชื่อ “โตโลปี” ( to – lo- po – ti ) ซึ่ง Samuel Beal นักประวัติศาสตร์ชาวอเมริกันได้ตีความชื่อนี้เป็นภาษาสันสกฤตว่า “ทวารวดี” และเสนอว่า อาณาจักรนี้อยู่ในภาคกลางของประเทศไทยคำว่า “ทวารวดี” มาจากคำจารึกภาษาสันสกฤตว่า “ศรีทวารวดี ศวรปุณยะ” อันมีความหมายว่า “พระเจ้าศรีทวารวดีผู้มีบุญอันประเสริฐ” (ธิดา สารยะ, 2545, หน้า 10) โดยปรากฏคำจารึกนี้บนเหรียญเงิน 2 เหรียญ ซึ่งพบที่พระปฐมเจดีย์ในจังหวัดนครปฐม และที่อินทร์บุรีใกล้จังหวัดลพบุรีนอกจากนี้ ยังได้พบจารึกชื่อ “ทวารวดี” บนฐานบัวศิลาทรายแดงรองรับพระพุทธรูปที่วัดจันทึก อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา อายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 1223 หลักฐานทางโบราณคดีเหล่านี้จึงสนับสนุนให้นักประวัติศาสตร์ศิลปะเรียกชื่อศิลปะแบบมอญในช่วงเวลานี้ที่พบในประเทศไทยว่า “ทวารวดี” (กรรณิการ์ วิมลเกษม และจิรพัฒน์ ประพันธ์วิทยา, 2542, หน้า 392)

Paul Pelliot นักวิชาการชาวฝรั่งเศสเสนอสมมุติฐานว่า ประชากรของอาณาจักรเป็นมอญ ข้อสมมุติฐานข้างต้นมีความน่าเชื่อถือมากขึ้น เมื่อมีการขุดค้นพบจารึกภาษามอญที่เก่าแก่ที่สุด คือ จารึกสองชิ้นพบที่วัดโพธิ์ร้าง อ.เมือง จ.นครปฐม ซึ่ง Emmanuel Guillon สันนิษฐานว่า ตัวอักษรที่ใช้ในจารึกมีแหล่งกำเนิดจากอักษรปัลลวะจากอาณาจักรปัลลวะในอินเดียใต้ และอักษรจากตอนกลางลุ่มแม่น้ำกฤษณาทางตะวันออกเฉียงใต้ของอินเดีย จารึกดังกล่าวยังปรากฎคำที่เชื่อมโยงกับสำนึกความเป็นมอญ คือ คำว่า “โต้ง” หมายถึง เจ้าพิธีในการรำผีของมอญด้วยต่อมาได้มีการค้นพบจารึกภาษามอญโบราณกระจายอยู่ตามบริเวณภาคกลางของประเทศไทยนักประวัติศาสตร์จึงสรุปว่า ภาษามอญเป็นภาษาเดียวที่มีการจารึกในยุคนี้และบริเวณนี้ (Emmanuel Guillon, 1999, pp. 73,78 อ้างถึงใน องค์ บรรจุน, 2559, หน้า 58; องค์ บรรจุน ,2014)นอกจากนี้ยังได้ปรากฎจารึกอักษรมอญโบราณดังกล่าวที่ฐานเจดีย์วัดเป่อแหละเหงี่ม หรือโบตาทอง ( Botahtaung) ในเมืองละเกิง ( ย่างกุ้ง ) และเสาสลักที่บ้านตลาดในบริเวณที่ราบเวียงจันทร์ของลาว รวมทั้งพระพุทธรูปยืนที่มีลักษณะจีวรและพระศกที่สัมพันธ์กับศิลปะทวารวดีในที่ราบภาคกลางของไทย อันเป็นหลักฐานที่ยืนยันขอบเขตของอารยธรรมทวารวดีซึ่งขยายพื้นที่ออกไปมาก (องค์ บรรจุน, 2559, หน้า 60)

อาณาจักรทวารวดีมีอำนาจทางการเมืองอยู่ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 11 และพุทธศตวรรษที่ 12 คาดว่าเป็นอาณาจักรที่อยู่บริเวณภาคกลางของประเทศไทยนักวิชาการส่วนใหญ่สันนิษฐานว่า เมืองหลวงของอาณาจักรทวารวดีอยู่ที่บริเวณเมืองเมืองนครปฐมโบราณ ซึ่งมีพระปฐมเจดีย์เป็นศูนย์กลางและมีเจดีย์พระประโทนเป็นองค์ประกอบอยู่ทางด้านตะวันออก (ธิดา สาระยา, 2545, หน้า 24) แต่ฌอง บวสเซอลิเยร์และควอริทซ์ เวลส์ (H.G. Quaritch Wales) นักประวัติศาสตร์ชาวอังกฤษมีความเห็นว่า อู่ทองน่าจะมีความเก่าแก่และเป็นเมืองหลวงมากกว่า เนื่องจากอู่ทองมีผังเมืองเป็นรูปวงรีแบบผังเมืองของมอญ และมีการค้นพบเครื่องมือหินใหม่ที่แสดงว่า เป็นแหล่งที่มีการตั้งถิ่นฐานมายาวนาน นอกจากนี้ยังค้นพบแผ่นทองแดงจารึกชื่อกษัตริย์ 2 องค์ คือ พระเจ้าหรรษะวรมัน ( Harshavarman ) และพระเจ้าอีศานวรมัน (Isanavarman) ซึ่งอาจแสดงถึงความเป็นเครือญาติกับราชวงศ์เขมรในยุคเดียวกันนอกจากนี้ยังพบจารึกไดอัง (Kdai Ang) ของเขมรซึ่งสร้างขึ้นในราวปี พ.ศ.1172 ร่วมยุคเดียวกัน ที่กล่าวถึงมอญด้วยชื่อโบราณว่า “รามัญ” หรือ “รมัญ” (องค์ บรรจุน, 2559, หน้า 59)

โครงสร้างของอาณาจักรทวารวดีประกอบด้วย “บ้านพี่เมืองน้อง” ซึ่งมีโครงสร้างวัฒนธรรมเดียวกันที่เป็นอารยธรรม “ทวารวดี” แต่ในขณะเดียวกัน อารยธรรมทวารวดีก็ได้ถูกผสมกลมกลืนไปกับวัฒนธรรมท้องถิ่นด้วย จนกระทั่งเกิดเป็นอารยธรรมเฉพาะตนขึ้นในประเทศไทย (องค์ บรรจุน, 2559, หน้า 59)ภาพถ่ายทางอากาศเป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงขอบเขตของอารยธรรมทวารวดีที่แผ่ขยายไปอย่างกว้างขวางแสดงให้เห็นว่า ในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา มีเมืองรูปวงรีแบบเดียวกันที่มีผู้คนอยู่อาศัยมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 6 – 11 จำนวนมากกว่า 20 เมือง โดยมีเมืองสำคัญในภาคกลาง เช่น เมืองอู่ทอง เมืองสุพรรณบุรี เมืองสังขละบุรี เมืองคูบัว เมืองราชบุรี เมืองซับจาปา เมืองลพบุรี เมืองนครปฐม เมืองดงศรีมหาโพธิ์ และเมืองศรีเทพในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ เมืองเสมา เมืองพุทไธสง เมืองฟ้าแดดสงยาง เมืองนครจาปาศรีนาดูน และเมืองกันทรวิชัยในภาคเหนือ ได้แก่ เมืองหริภุญไชย เมืองศรีสัชนาลัย และเมืองพิษณุโลกส่วนทางภาคใต้ ได้แก่ เมืองนครศรีธรรมราช เมืองไชยา เมืองสะทิงพระ และเมืองยะรังกระทั่งยุคต่อมา ในช่วง พุทธศตวรรษที่ 13 – 14 พงศาวดารมอญฉบับปากลัดได้กล่าวถึงหัวเมืองมอญ 3 แห่ง คือ พะสิม (สิเรียม)พะโค (หงสาวดี)และเมาะตะมะ (ธิดา สาระยา, 2545, หน้า 24)

นักวิชาการส่วนใหญ่เชื่อว่า อาณาจักรทวารวดีเป็นอาณาจักรของชาวมอญโบราณ โดยชาวมอญเป็นประชากรกลุ่มใหญ่ในอาณาจักรและเป็นชนชั้นผู้ปกครอง (ปภัสสร เธียรปัญญา, หน้า 20) และมีประชากรหลากหลายชาติพันธุ์อาศัยอยู่ปะปนด้วย ได้แก่ ไทย (สยาม) เป็นหลัก นอกจากนั้นเป็นชาวต่างชาติ เช่น เปอร์เซีย จีน อินเดีย ซึ่งเข้ามาติดต่อด้านเศรษฐกิจและวัฒนธรรม (ธิดา สาระยา, 2545, หน้า 183)ทั้งนี้ เนื่องจากเมืองต่าง ๆ ในอาณาจักรทวารวดีส่วนใหญ่มีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับการทำเกษตรกรรม เมืองเหล่านี้จึงมีความสำคัญในด้านการเกษตรกรรม โดยเฉพาะการปลูกข้าวส่วนเมืองชัยภูมิอยู่ในศูนย์กลางของเส้นทางการค้า ทางบก และการค้าทางทะเลนอกจากนี้ ในยุคที่อาณาจักรทวารวดีรุ่งเรืองได้มีการหลั่งไหลแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมกับอารยธรรมอื่น ๆ โดยเฉพาะอารยธรรมจากอินเดีย ดังจะเห็นได้จากการขุดค้นพบโบราณวัตถุจำนวนมากที่มีอิทธิพลศิลปะอินเดียทั้งในศาสนาพุทธและฮินดูโดยศิลปะทวารวดีมีวิวัฒนาการต่อมาจนถึงประมาณพุทธศตวรรษที่ 15 ศึกษาได้จากการค้นพบเสมาหินในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยที่มีรูปแบบและคติในการสร้างคล้ายคลึงกันกับของอาณาจักรสะเทิม (Thaton) ของมอญในพม่าตอนล่าง ซึ่งพิสูจน์ถึงความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นระหว่างกัน รวมทั้งมีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมเดียวกันระหว่างประชากรทั้งสองกลุ่ม (Emmanuel Guillon, 1999, p.78 อ้างถึงใน องค์ บรรจุน, 2559, หน้า 60)

ต่อมา ศูนย์กลางของอาณาจักรทวารวดีในบริเวณจังหวัดนครปฐมหรือสุพรรณบุรีเริ่มเสื่อมอำนาจลงศูนย์กลางของอำนาจจึงได้เคลื่อนไปยังเมืองหริภุญชัย (จ.ลำพูน) ในราวพุทธศตวรรษที่ 13 เมื่อเมืองทวารวดีในบริเวณจังหวัดนครปฐมหรือ[SS1] สุพรรณบุรีตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของเขมรที่ครอบครองอาณาจักรอีสานปุระชาวมอญจำนวนหนึ่งจึงอพยพขึ้นทางเหนือสู่หริภุญชัยในราวพุทธศตวรรษที่ 16 ( สรัสวดี อ๋องสกุล, 2543, หน้า 40)อย่างไรก็ตาม ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสาเหตุของการสูญสิ้นของอาณาจักรทวารวดีนักวิชาการได้มีความเป็นแตกต่างกัน กล่าวคือ ปิแอร์ ดูปอง (Pierre Dupont) นักวิชาการชาวฝรั่งเศสให้เหตุผลการสูญสิ้นของรฐทวารวดีว่า เกิดจากการรุกรานของกองทัพพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 ( ครองราชย์ พ.ศ.1544 - 1593) จากเขมรในขณะที่ฌอง บวสเซอลิเยร์ (Jean Boisselier) นักวิชาการชาวฝรั่งเศส เชื่อว่า กองทัพที่เข้ามารุกรานทวารวดี เมื่อราว พ.ศ.1724 – 2267 คือ พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 (ครองราชย์ พ.ศ. 1724 - 1761)ส่วนเอมมานูเอล จียอง (Emmanuel Guillion) นักวิชาการชาวฝรั่งเศสร่วมสมัย มีความเห็นว่า สาเหตุของการล่มสลายของอาณาจักรทวารวดี อาจเกิดจากการซึมซับทางวัฒนธรรม และเกิดการกลืนกลายทางวัฒนธรรม ( ปภัสสร เธียรปัญญา, 2547, หน้า 16 – 17 ) ความเห็นของเอมมานูเอล จียอง สอดคล้องกับความเห็นของสุวิชญ์ รัศมิภูติ ที่เห็นว่าความผูกพันใกล้ชิดนี้น่าเชื่อว่า ไทย - ลาว และขอม - มอญ นั้นมีส่วนร่วมโคตรเหง้าทางภาษาและวัฒนธรรมกันมาแต่โบราณในยุคก่อนประวัติศาสตร์และความเห็นของชาร์ลส ไอแฮม ที่ระบุว่า คนก่อนประวัติศาสตร์สมัยหินใหม่ สัมฤทธิ์ และสมัยเหล็กนั้นมี ‘Gene’ หรือหน่วยถ่ายพันธุ์ ถ่ายทอดปะปนคละเคล้ากันมาเป็นระยะเวลานานและผสมผสานถ่ายทอดมายังรุ่นลูกหลานที่เป็นคนไทยในผืนแผ่นดินไทยจนกระทั่งปัจจุบัน (ชาร์ลส ไฮแอม และ รัชนี ทศรัตน์, 2542, หน้า 218)

สำหรับศูนย์กลางอำนาจของอารยธรรมทวารวดีในภาคเหนือ ณ เมืองหริภุญชัย บริเวณลุ่มแม่น้ำปิงนั้นนักประวัติศาสตร์สันนิษฐานว่า แต่เดิมเมืองนี้อาจเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรทวารวดี ซึ่งมีเมืองละโว้เป็นศูนย์กลางอำนาจและได้แผ่ขยายวัฒนธรรมมอญจากเมืองละโว้ขึ้นมาทางภาคเหนือโดยเมืองหริภุญชัยเป็นเมืองเหนือสุดที่รับวัฒนธรรมมอญจากละโว้ต่อมาเมืองหริภุญชัยได้แยกตัวเป็นอิสระ และพัฒนาการปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมในภูมิภาคนี้และรับวัฒนธรรมจากแหล่งอื่น ๆ เข้ามาผสมผสาน เช่น ศิลปะพุกาม ศิลปะอินเดียสมัยปัลลวะ จนสร้างเป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่น “มอญหริภุญชัย” (องค์ บรรจุน, 2559, หน้า 61)การตั้งถิ่นฐานของเมืองหริภุญชัยตั้งอยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำปิงขยายตัวจนถึงเวียงฮอด (อ.ฮอด จ.ตาก) ซึ่งอยู่ใต้สุด โดยตั้งอยู่บนเส้นทางที่เชื่อมชุมทางการค้าระหว่างล้านนากับอยุธยา และยังสามารถตัดข้ามภูเขาไปยังเมืองหงสาวดีในเขตหัวเมืองมอญได้ (สรัสวดี อ๋องสกุล, 2543, หน้า 76)

ตำนานจามเทวีวงศ์และสังคีติยวงศ์ กล่าวถึง การสร้างเมืองหริภุญชัย และการอัญเชิญพระนางจามเทวีจากละโว้ (ลพบุรี) มาครองเมืองหริภุญชัย เมื่อต้นพุทธศตวรรษที่ 14 มีพระเถระ ขุนนาง ข้าราชการ และช่างฝีมือผู้เชี่ยวชาญศิลปวิทยาการแขนงต่าง ๆ ติดตามมาด้วยเป็นจำนวนมาก พระนางจามเทวีจึงเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จามเทวีเอกสารโบราณของจีนเรียกเมืองหริภุญชัยว่า “หนี่หวังก๊ก” ซึ่งหมายถึง อาณาจักรที่มีกษัตริย์เป็นผู้หญิง (องค์ บรรจุน, 2559, หน้า 61) ประชากรในเมืองหริภุญชัยประกอบด้วยชาติพันธุ์ผสม คือ ชาวเม็ง (มอญ) และลัวะ ซึ่งเป็นชาติพันธุ์เดิม ในภายหลังจึงปรากฎกลุ่มคนไทยนอกจากนี้ยังมีชาวละโว้ซึ่งเชื่อกันว่า เป็นมอญที่มากับพระนางจามเทวี โดยมี “เม็ง” (คำเรียก “มอญ” ของชาวล้านนา) เป็นกลุ่มที่รับความเจริญมาจากมอญในแถบภาคกลางเป็นชนชั้นปกครอง(สรัสวดี อ๋องสกุล, 2543, หน้า 83) สภาพบ้านเมืองของหริภุญชัยมีความสงบ ปราศจากสงคราม มีความเจริญรุ่งเรืองทางพระพุทธศาสนากษัตริย์ที่สำคัญในสมัยนี้ คือ พญาอาทิตยราช ผู้ทรงสร้างพระธาตุหริภุญชัยเมื่อประมาณ พ.ศ.1700 และพญาสววาธิสิทธิ (สรรพสิทธิ์) ดังพบหลักฐานศิลาจารึกเป็นภาษามอญที่มีจารึกพระราชกรณียกิจของพระองค์ในด้านศาสนา (จำปา เยื้องเจริญ, 2532, หน้า 11 - 14)ความเจริญด้านต่าง ๆ จากหริภุญชัยได้แผ่ขยายไปสู่เมืองที่เกิดขึ้นในระยะต่อมา เช่น ล้านนา ดังที่ปรากฎผ่านอักษรธรรมล้านนาที่มาจากอักษรมอญหรือหริภุญชัย รวมทั้งด้านศิลปกรรมที่รับเอาศิลปะหริภุญชัยอย่างเด่นชัด เช่น รูปทรงเจดีย์ รวมทั้งกฎหมาย “มังรายศาสตร์” ที่เชื่อว่าได้รับอิทธิพลมาจากกฎหมายของมอญที่หริภุญชัย (สรัสวดี อ๋องสกุล, 2543, หน้า 131)

ส่วนเมืองสุโขทัยซึ่งครอบครองดินแดนที่เคยเป็นของมอญในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาและดินแดนบริเวณเหนือแม่น้ำโขงสืบแทนพวกเขมรนั้น (สรัสวดี อ๋องสกุล, 2543, หน้า 121)ประชากรส่วนใหญ่ของสุโขทัยอาจเป็นมอญและเขมร ซึ่งพ่อขุนรามคำแหงได้ดัดแปลงตัวอักษรจากทั้ง 2 ชาติ (ประเสริฐ ณ นคร, 2534, หน้า 13 - 14) เป็นภาษาทางการเพื่อที่ประชากรในอาณาจักรสุโขทัยที่พูดภาษามอญและเขมรจะสามารถใช้ร่วมกันได้ (องค์ บรรจุน, 2559, หน้า 62)

อาณาจักรมอญโบราณในประเทศพม่า

ปัจจุบัน ประเทศพม่าให้ความสำคัญกับการขุดค้นทางโบราณคดีมากขึ้น ทำให้เกิดการค้นพบหลักฐานทางโบราณคดีที่มีนัยยะสำคัญต่อการศึกษาเกี่ยวกับอาณาจักรมอญโบราณในประเทศพม่ามากยิ่งขึ้น ดังปรากฏรายชื่อแหล่งโบราณคดีในพิพิธภัณฑ์มอญเมืองเมาะลำเลิง (มะละแหม่ง) รัฐมอญ ประเทศพม่าหลายแห่ง เช่น แหล่งโบราณคดีในแขวงเมืองจย้าจก์แหมะโร่ะฮ์ (Kyail Mayaw) ย่านหมู่บ้านเกาะซั่วเกาะซ่าก ประกอบด้วยถ้ำธ่มแหมะสะ (Dhamathat Cave) ถ้ำเต่อคะราม (Khayone Cave) และถ้ำจะปาย (Sabae Cave) แหล่งโบราณคดีเมืองโบราณเมาะตะมะ (Motama Ancient City) พระธาตุอินทร์แขวน (Kyaik htiyoe Pagoda) เมืองโบราณเว่คะราว (Wagaru Ancient City) แหล่งโบราณคดีในแถบเมียนมาใต้ (Lower Myanmar) เมืองพะสิม หรือเมืองสิเรียม (Bassein) และแหล่งโบราณคดีสำคัญเมืองย่านเก่าสุวรรณภูมิ คือ แหล่งโบราณคดีหมู่บ้านวังกะ (Win Ka Ancient City) และเมืองโบราณสุวรรณภูมิ (Suvanabumi ancient City) แหล่งโบราณคดีกำแพงเมืองเก่าสะเทิม หรือสุธรรมวดี (Kadike Gyi Fortress Thaton) (U San Win, 2012, pp.1-3 อ้างถึงใน องค์ บรรจุน, 2559, 56 -57)

นอกจากนี้ยังมีแหล่งโบราณคดีในรัฐกะเหรี่ยง ประกอบด้วย ถ้ำโบราณ 2 แห่ง คือ ถ้ำเกาะกุ้น (Kaw – Goon Cave) และถ้ำยะตะบัน (Ya The Byan Cave) ซึ่งอยู่ใกล้กัน เป็นเขตอารยธรรมโบราณทวารวดี ราวพุทธศตวรรษที่ 11 – 12 ( U Tun Aung Chain, 2013, p.18 อ้างถึงใน องค์ บรรจุน, 2559, หน้า 56 -57) เช่นเดียวกับที่สเตทเนอร์ (Donald M.Stadtner) ยืนยันว่า หลักฐานทางด้านโบราณคดีที่พบทางตอนใต้ของประเทศพม่า ได้แก่ ชิ้นส่วนอิฐสร้างวัด ซากสถูป ภาชนะดินเผา จารึกคำอุทิศถวาย เหรียญเงิน รูปสลักในทางพุทธศาสนาและฮินดู รูปสำริด และจารึกภาษามอญ ล้วนแสดงให้เห็นถึงอารยธรรมมอญที่เจริญรุ่งเรืองมาตั้งแต่ช่วงพันปีแรก (Stadtner, 2011, p.25 อ้างถึงใน องค์ บรรจุน, 2559, หน้า 57)

อย่างไรก็ตาม ไมเคิล ออง ทวิน (Michael A.Aung Thwin) นักประวัติศาสตร์ชาวพม่า ได้แสดงข้อโต้แย้งในงานศึกษาเรื่อง “The Mists of Ramanna : The Legend that was Lower Burma ” ที่ระบุว่า อารยธรรมทางตอนใต้ของพม่าเป็นของชาวพยู (Pyu) และเป็นการแพร่กระจายทางวัฒนธรรมจากพม่าตอนบน สู่พม่าตอนล่างแบบทางเดียว (Single Dominant) ในขณะที่งานศึกษาของเอลิซาเบธ มอร์ (Elizabeth H.Moore) เลือกที่จะศึกษาเทียงเคียงรูปแบบทางศิลปะ “ มอญและพยู ” (Mon and Pyu) ที่เป็นต้นแบบของอารยธรรมพม่าแม้จะตัดมิติความเกี่ยวข้องทางภาษาและวัฒนธรรมออกไปแต่มอร์ก็เชื่อว่าการแพร่กระจายทางวัฒนธรรมมีความซับซ้อนและเกิดจากหลายกลุ่มวัฒนธรรม (Moore, 2007, pp. 129-131 อ้างถึงใน องค์ บรรจุน, 2559, หน้า 57 )ทว่า Stadtner จนสามารถยืนยันได้ว่าความมั่งคั่งของอารยธรรมพม่าไม่เพียงเต่เกิดจากการแผ่ขยายของอารยธรรมทางตอนใต้ของพม่าในยุคต้นเท่านั้น แต่ยังเป็นคุณลักษณะที่รับอิทธิพลมาจขากวัฒนธรรมมอญ (Stadtner, 2011, p.30 อ้างถึงใน องค์ บรรจุน, 2559, หน้า 57)

นอกจากนี้ประวัติการก่อตั้งอาณาจักรมอญโบราณยังได้ถูกกล่าวถึงในพงศาวดารชนชาติมอญ(ฉบับอักษรมอญ) แปลโดยพระครูโชติธรรมสุนทร ที่ระบุว่า รัชสมัยของพระเจ้าติสสะได้ทรงก่อตั้งอาณาจักรมอญขึ้นที่แคว้นมณีปุระในชมพูทวีป มีเมืองหลวงชื่อ “ทูปินะต่อมาเกิดการแย่งชิงราชสมบัติกันขึ้น พระราชโอกาสของพระเจ้าติสสะทั้ง 2 พระองค์ จึงได้รวบรวมไพร่พลลงเรือสำเภามายังสุวรรณภูมิ) พบทำเลบริเวณอ่าวเมาะตะมะเป็นที่ราบ ล้อมรอบด้วยภูเขาเกลาสะ ชัยภูมิเหมาะสมแก่การสร้างเมืองและเป็นยุทธศาสตร์ในการป้องกันข้าศึกได้ดีพระเจ้าสีหะราชา บุตรบุญธรรมของพระราชโอรสในพระเจ้าติสสะ จึงได้ก่อตั้งกรุงสุธรรม&l

บรรพบุรุษของคนไทยเชื้อสายมอญในปัจจุบัน ส่วนใหญ่อพยพมาจากเขตลุ่มแม่น้ำอิระวดีตอนล่างของประเทศพม่าเข้ามาในประเทศไทย เนื่องด้วยสาเหตุจากการหนีภัยสงคราม จึงได้มีการอพยพมาจากหลายหมู่บ้าน ทยอยเข้ามาหลายยุคสมัย และใช้เส้นทางข้ามพรมแดนที่แตกต่างกันตามที่ปรากฏให้เห็นถึงความแตกต่างหลากหลายของคนมอญชุมชนต่าง ๆ ในประเทศไทยนับตั้งแต่ที่กษัตริย์บุเรงนองของพม่ายึดครองอาณาจักรมอญในปี พ.ศ. 1600 ชาวมอญได้อพยพหนีภัยสงครามมาเป็นระลอกยุคที่ปรากฎหลักฐานชัดเจนถึงการอพยพของชาวมอญ คือ สมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราชพระเจ้าประสาททอง และพระนารยณ์มหาราชโดยข้อมูลจากพิพิธภัณฑ์วัดม่วง อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี ได้แสดงให้เห็นว่า ชาวมอญในช่วงสมัยนั้น ส่วนใหญ่ใช้เส้นทางเมาะตะมะ หงสาวดี ผ่านด่านเจดีย์สามองค์ จ. กาญจนบุรี เพื่อเข้ามาอาศัยที่ชานเมืองกรุงศรีอยุธยาพลวัตการเคลื่อนย้ายของชาวมอญมายังประเทศไทยดำเนินมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่เมื่อสี่ร้อยกว่าปีก่อนจนถึงต้นรัตนโกสินทร์ชาวมอญส่วนใหญ่ใช้เส้นทางมะละแหม่งเข้าสู่ด่านเจดีย์สามองค์ - จ.กาญจนบุรี หรือชายแดนตาก - แม่สอด และเคลื่อนย้ายต่อไปยังบริเวณพื้นที่หลักของชุมชนชาวมอญในประเทศไทย ได้แก่ จังหวัดราชบุรี นครปฐม อยุธยา อุทัยธานี ตาก เชียงใหม่ ลำพูนต่อมาจึงได้กระจายตัวไปตามจังหวัดต่าง ๆ ตามภาคกลาง ภาคอีสาน ภาคเหนือ และภาคใต้ (Thailand Science Research and Innovation, 2015)

บรรพบุรุษของชาวมอญที่อพยพเข้ามาอยู่ในประเทศไทยเมื่อสี่ร้อยกว่าปีก่อนมักจะได้รับการโปรดเกล้า ฯ จากพระมหากษัตริย์ไทยให้ตั้งถิ่นฐานบริเวณภาคกลางของประเทศไทยเป็นส่วนใหญ่ชาวมอญจะถูกจัดให้อาศัยอยู่ตามลำน้ำหรือริมแม่น้ำทางตอนเหนือของกรุงเทพ ฯนอกจากการตั้งถิ่นฐานตามบริเวณที่ทางราชการจัดหาไว้ให้แล้วชาวมอญส่วนใหญ่ยังเลือกตั้งหลักแหล่งตามบริเวณที่มีญาติพี่น้องหรือมีผู้คนจากหมู่บ้านเดิมในรัฐมอญอาศัยอยู่โดยงานศึกษาของสุจริตลักษณ์ ดีผดุง (2542, หน้า 7 - 9) ได้บ่งชี้ให้เห็นถึง การที่ชาวมอญจากพม่ามักจะหนีภัยความไม่สงบทางการเมืองเข้ามาอาศัยปะปนกับญาติชาวมอญในไทย และอาศัยอย่างเนืองแน่นในหลายจังหวัดละแวกลุ่มน้ำแม่กลองชายฝั่งตะวันตกทั้งนี้ การโยกย้ายถิ่นฐานของชาวมอญยังสัมพันธ์กับรูปแบบการดำรงชีพ ชาวมอญในภาคกลางบางส่วนที่ประกอบอาชีพล่องเรือขายสินค้าไปตามแม่น้ำสายหลักบริเวณภาคกลาง นับตั้งแต่สมัยอยุธยา มักจะจอดเรือขึ้นฝั่งและเลือกที่ทางตั้งบ้านเรือนตลอดริมฝั่งน้ำ จากนั้นจึงกระจายตัวไปตามลำน้ำถึงแม่น้ำท่าจีน แม่น้ำแม่กลอง และจังหวัดเชียงใหม่

นอกจากนี้ยังพบชาวมอญที่อาศัยอย่างหนาแน่นในอีกหลายจังหวัด เช่น ตามลำน้ำมหาชัยจังหวัดสมุทรสาคร ชาวมอญที่มาอาศัยอยู่บริเวณนั้นเป็นชาวมอญที่เข้ามารับจ้างขุดคลอง และทจังหวัดลพบุรีและอุทัยธานี ซึ่งเป็นเส้นทางผ่านของการอพยพของชาวมอญจากประเทศพม่าเข้าสู่ประเทศไทยอย่างไรก็ตาม แม้ว่าสมัยก่อนชาวมอญจะนิยมตั้งถิ่นฐานริมแม่น้ำเช่นเดียวกับคนไทยแต่เมื่อการคมนาคมทางบกเจริญก้าวหน้าขึ้น คนมอญจำนวนมากจึงหันมาสร้างบ้านเรือนริมถนนแทน เพราะสะดวกและรวดเร็วกว่าปัจจุบัน ชาวมอญตั้งถิ่นฐานกระจายอยู่ทั่ว 36 จังหวัดในประเทศไทย (Thailand Science Research and Innovation, 2015)

งานศึกษาของกาญจนา ชินนาค (2543, หน้า 15) ได้อธิบายถึงการตั้งถิ่นฐานของชาวมอญกลุ่มใหญ่ที่กระจายตัวอาศัยอยู่ตามบริเวณดังต่อไปนี้

      • บริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา กระจายตัวกันตามกรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะบ้านบางกระดี่เขตบางขุนเทียน ต่อเนื่องมาถึงเขตปริมณฑล อันได้แก่ ตำบลปากลัด จังหวัดนนทบุรี อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี ไปจนถึงจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และอำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ
      • บริเวณลุ่มแม่น้ำแม่กลองที่อำเภอบ้านโป่ง อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี และบริเวณระหว่างแม่น้ำแม่กลองกับชายแดนไทย – พม่าในจังหวัดกาญจนบุรี
      • บริเวณระหว่างลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำแม่กลอง เช่น จังหวัดนครปฐม และจังหวัดสมุทรสาคร
      • บริเวณลุ่มน้ำแม่ปิง ภาคเหนือ เช่น จังหวัดลำปาง จังหวัดลำพูน และจังหวัดเชียงใหม่

นอกจากนี้ยังมีกลุ่มคนมอญกระจัดกระจายตัวเป็นกลุ่มขนาดเล็ก ในบริเวณจังหวัดนครราชสีมา จังหวัดชุมพร จังหวัดระนอง และจังหวัดสุราษฎร์ธานี

ปัจจุบัน คนไทยเชื้อสายมอญตั้งถิ่นฐานกระจายอยู่ใน 35 จังหวัดทั่วประเทศ ได้แก่ กรุงเทพ นครนายก นครปฐม นครสวรรค์ นนทบุรี ปทุมธานี ลพบุรี สมุทรปราการ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม สระบุรี สิงห์บุรี สุโขทัย สุพรรณบุรี อยุธยา อ่างทอง อุทัยธานี กาญจนบุรี ตาก ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี ราชบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง ชุมพร สุราษฎร์ธานี กำแพงเพชร ชัยนาท เชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน ชัยภูมิ นครราชสีมา ปราจีนบุรี (Thailand Science Research and Innovation, 2015)

จากการสำรวจสำมะโนประชากรชาวมอญในประเทศไทยในระหว่าง พ.ศ. 2512 – 2515 ในท้องที่ 17 จังหวัด 37 อำเภอ 112 ตำบล 403 หมู่บ้าน 13,960 หลังคาเรือน พบว่า มีจำนวนประชากรมอญทั้งสิ้น94, 229 คน(สุจริตลักษณ์ ดีผดุง และคณะ, 2542, หน้า 14 - 16 )ต่อมา สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบท มหาวิทยาลัยมหิดลได้ดำเนินโครงการวิจัยเพื่อจัดทำแผนที่ภาษาแสดงกลุ่มชาติพันธุ์ ในประเทศไทย โดยสำรวจจำนวนประชากรระหว่าง พ.ศ. 2537 – 2539 พบว่า มีจำนวนผู้ที่ใช้ภาษามอญในชีวิตประจำวันประมาณ 70, 000 คน (จำนวนนี้ไม่รวมชาวมอญที่จัดเป็นผู้พลัดถิ่นสัญชาติพม่าและผู้หลบหนีเข้าเมือง) ( สุวรณะ เย็นสุข, 2544, หน้า 28 )สำหรับข้อมูลประชากรชาวมอญล่าสุดปรากฎในงานศึกษาของพัชรินทร์ สิรสุนทร (2558,หน้า 44) ได้ประมาณการจำนวนประชากรชาวมอญในประเทศไทยที่อาศัยอยู่ในบริเวณภาคกลาง หรือในพื้นที่ของจังหวัดราชบุรี กาญจนบุรี พระนครศรีอยุธยา และลพบุรี เป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 120,000 คน และมีชาวมอญมากกว่า 50, 000 คน ที่ยังใช้ภาษามอญเพื่อการสื่อสารในชีวิตประจำวัน

อย่างไรก็ตาม การสำรวจข้อมูลจำนวนประชากรชาวมอญในปัจจุบัน อาจต้องประสบข้อจำกัดในปัญหาการนิยมความเป็นชาติพันธุ์มอญและการระบุจำนวนที่แน่ชัดเนื่องจากกลุ่มคนมอญในประเทศไทยเท่าที่ยังมีสำนึกทางชาติพันธุ์ว่าตนเองเป็นมอญ ใช้ภาษาและวัฒนธรรมเดียวกับกลุ่มคนมอญในประเทศพม่า ส่วนใหญ่เป็น “กลุ่มมอญใหม่” ที่อพยพเข้ามาประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ตั้งแต่ปลายกรุงศรีอยุธยาจนถึงต้นรัตนโกสินทร์ (องค์ บรรจุน, 28 ตุลาคม 2014)อย่างไรก็ตาม งานศึกษาของพัชรินทร์ สิรสุนทร (2558, หน้า 44) ได้บ่งชี้ว่า ตลอดระยะเวลาสองร้อยกว่าปีที่ผ่านมา กลุ่มคนมอญใหม่เหล่านี้ได้ถูกผสมกลมกลืน ทางวัฒนธรรมกับคนไทยอย่างกว้างขวาง ผ่านการสมรส การศึกษาแบบสมัยใหม่ นโยบายชาตินิยมและนโยบายการพัฒนาสู่ภาวะความทันสมัยของรัฐไทย

ด้วยเหตุนี้ แม้ว่าในปัจจุบันยังมีชาวมอญบางส่วนที่พยายามรักษาอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของกลุ่มตนไว้ แต่ก็มีบางส่วนที่ยอมละเลิกวัฒนธรรมมอญ และเลือกดำเนินชีวิตแบบชาวไทยส่วนใหญ่ หรือยอมกลืนกลายเข้ากับกลุ่มชาติพันธุ์อื่นที่อาศัยอยู่ร่วมชุมชนเดียวกันนอกจากปัจจัยทางด้านการผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรมยังรวมถึงปัจจัยทางด้านการอพยพเคลื่อนย้ายของชาวมอญจากประเทศพม่าเข้ามาในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ทั้งกลุ่มชาวมอญที่อพยพหนีภัยสงครามที่เข้ามาอาศัยอยู่ในพื้นที่พักพิงชั่วคราวในประเทศไทย รวมทั้งกลุ่มแรงงานข้ามชาติชาวมอญที่อพยพมาประเทศไทยในช่วง 20 กว่าปีที่ผ่านมา เพื่อแสวงหาโอกาสทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น (พัชรินทร์ สิรสุนทร, 2558, หน้า 44) ชาวมอญกลุ่มนี้มีการอาศัยอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม บางส่วนเดินทางกลับประเทศพม่า ในขณะที่บางส่วนมีการแต่งงานและอาศัยอยู่นประเทศไทยอย่างถาวร (องค์ บรรจุน, 28 ตุลาคม 2014) พลวัตการตั้งถิ่นฐานของชาวมอญได้ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นการยากที่จะจำแนกแยกแยะได้อย่างชัดเจนว่า บุคคลใดเป็นชาวมอญที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย หรือชาวไทยเชื้อสายมอญ

การดำรงชีพ

ชาวมอญเป็นกลุ่มเศรษฐกิจที่สำคัญอีกกลุ่มหนึ่งของสังคมไทยในอดีตแม้ว่าชาวมอญจะมีสถานภาพเป็น “ไพร่หลวง” ภายใต้ระบบไพร่นับตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาจนถึงต้นรัตนโกสินทร์แต่รัฐไทยก็ให้ความเป็นอิสระทางเศรษฐกิจต่อชาวมอญพอสมควร ชาวมอญจึงสามารถเลือกประกอบอาชีพต่าง ๆ ได้ตามความถนัดของตนเอง ซึ่งแตกต่างจากแรงงานจีนที่เริ่มเข้ามาเป็นแรงงานรับจ้างโดยตรงอย่างไรก็ตาม แม้ว่าชาวมอญมีบทบาทเป็นผู้ประกอบการสำคัญทางเศรษฐกิจ ทั้งในแง่ผู้ผลิตและผู้ขาย ที่มีส่วนขับเคลื่อนการแลกเปลี่ยน รวมทั้งการไหลเวียนของสินค้าและเงินตราในระบบเศรษฐกิจแต่ชาวมอญไม่ได้เป็นผู้กุมอำนาจทางเศรษฐกิจการค้าที่สำคัญของประเทศไทยแบบคนจีน เนื่องจากระบบเศรษฐกิจของชาวมอญมีลักษณะเป็นเศรษฐกิจที่เลี้ยงตนเองได้กิจกรรมทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่จึงหมุนเวียนอยู่ในระบบท้องถิ่นภายในหมู่บ้านของตนหรือบริเวณใกล้เคียงเท่านั้นส่วนการค้าก็เป็นการรับซื้อสินค้าจากตำบลหนึ่งล่องเรือไปขายยังอีกตำบลหนึ่ง ไม่มีการค้ากับต่างประเทศโดยตรงดังเช่นชาวจีน (สุภรณ์ โอเจริญ, 2541, หน้า 85, 207)

นับตั้งแต่อดีตจนกระทั่งปัจจุบัน ชาวมอญมีการประกอบอาชีพที่หลากหลายและเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย ทั้งทำนา ทำอิฐ ค้าขายเครื่องปั้นดินเผาและวัสดุก่อสร้าง ดำทราย ทำเส้นขนมจีน งานหัตถกรรม ทำนาเกลือและตัดฟืนขายและรับราชการ โดยมีรายละเอียดดังนี้

การทำนา เป็นอาชีพดั้งเดิมในช่วงที่อาศัยอยู่ในประเทศพม่า อีกทั้งเป็นอาชีพที่คล้ายคลึงกับคนไทยทั่วไปกรรมวิธีในการทำนาของชาวนามอญก็ไม่ต่างไปจากชาวนาไทยนัก เครื่องมือที่ใช้ในการประกอบอาชีพได้แก่ คันไถและคราด ใช้วัวและควายเป็นแรงงานสำคัญ นอกจากจะใช้ไถนาแล้วยังใช้ในการนวดข้าวเพื่อแยกเมล็ดข้าวออกจากรวงอีกด้วยในพื้นที่ไร่นาบางแห่งยังมีการปลูกพืชผลต่าง ๆ เช่น ผักและผลไม้มันเทศ น้ำเต้า สัปปะรด อ้อย ฯลฯนอกจากนี้ยังมีการทำอุตสาหกรรมและหัตถกรรม แตกต่างกันไปตามท้องถิ่นอาชีพที่เป็นที่รู้จักกันดีว่าเป็นความเชี่ยวชาญและเป็นกิจการหลักของชาวมอญ คือ อุตสาหกรรมครัวเรือนทำเครื่องปั้นดินเผาและการทำอิฐ ซึ่งเป็นภูมิปัญญาเก่าแก่ของบรรพชนชาวมอญ ตั้งแต่อาศัยอยู่ในพม่าและสืบทอดมายังคนรุ่นหลังที่อาศัยอยู่ในไทยที่แหล่งเครื่องปั้นดินเผาที่มีความสำคัญและเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย คือ ชุมชนมอญ อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ซึ่งทำเครื่องปั้นดินเผาเป็นภาชนะสำหรับใช้ในครัวเรือนหลายชนิด เช่น ตุ่มใส่น้ำไหหม้ออ่าง ครก ถ้วยชาม ฯลฯ ในระยะแรก การทำเครื่องปั้นดินเผาเป็นเพียงงานอดิเรกในครัวเรือนควบคู่กับการทำนาซึ่งเป็นอาชีพหลักต่อมาเมื่อสินค้าเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลาย และใช้วัสดุที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น คือ ดินเหนียวในแถบเมืองนนทบุรีมอญแถบนั้นจึงหันมาทำอาชีพนี้อย่างเป็นอาชีพหลักที่สันนิษฐานว่าเกิดขึ้นในสมัยกรุงธนบุรีหรือรัตนโกสินทร์ตอนต้น ซึ่งเป็นช่วงที่มีมอญอพยพเข้ามาตั้งบ้านเรือนที่ปากเกร็ด ภาชนะดินเผาเหล่านั้นเมื่อทำเสร็จแล้วจะมีมอญอีกพวกหนึ่งล่องเรือมารับซื้อแล้วนำไปขายในพื้นที่ภาคกลางและภาคเหนือ ( สุภรณ์ โอเจริญ, 2541, หน้า 207)

ส่วนการทำอิฐ ส่วนใหญ่นิยมทำกันมากในพื้นที่สามโคก ปทุมธานี ที่สันนิษฐานว่าอาจทำกันมาตั้งแต่สมัยอยุธยาเช่นเดียวกับการทำเครื่องปั้นดินเผาส่วนมากมักทำเป็นงานอดิเรกในยามว่างจากฤดูทำนาอิฐดังกล่าวมีลักษณะเป็นก้อนสี่เหลี่ยมผืนผ้าเล็ก ผิวไม่เรียบ เรียกว่า “อิฐมอญ” อาจเพราะชาวมอญเป็นผู้นำเข้ามาและทำตามกันอย่างแพร่หลายจนดูเหมือนจะเป็นผู้ผูกขาดการทำอิฐชนิดนี้ โดยเฉพาะในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ทางการได้เกณฑ์ไพร่หลวงรามัญไปตั้งเตาทำอิฐเพื่อใช้ในการก่อสร้างป้อมค่ายและกำแพงเมือง (สุภรณ์ โอเจริญ, 2541, หน้า 208)

นอกจากอาชีพทำเครื่องปั้นดินเผาและอิฐแล้วชาวมอญจำนวนไม่น้อยได้หันมาประกอบอาชีพค้าขายโดยเฉพาะการค้าขายเครื่องปั้นดินเผา เช่น หม้อ ไห โอ่ง และวัสดุก่อสร้าง เช่น หลังคา อิฐ ทราย หิน ซีเมนต์ ฯลฯ ในการค้าขายของชาวมอญจะใช้เรือเป็นพาหนะสำคัญในการขนส่งสินค้า ล่องเรือไปตามแม่น้ำลำคลอง จากลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาในภาคกลางรอนแรมไปจนถึงพิษณุโลก อุตรดิตถ์ ในภาคเหนือ เพื่อนำสินค้าไปขายต่อให้กับพ่อค้าคนกลางการที่ชาวมอญที่ประกอบอาชีพค้าขายที่ใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในเรือจึงต้องปรับสภาพเรือให้มีลักษณะเป็นบ้านอยู่ในนั้นด้วย ในการเดินทางเพื่อค้าขายจะนิยมเดินทางพร้อมกันทั้งครอบครัวมอญชาวเรือบางกลุ่มเมื่อขายสินค้าหมดแล้วก็จะอยู่ทำไร่ตามตลิ่งในหัวเมืองในฤดูแล้งจะซื้อสินค้าจากกรุงเทพ ฯ บรรทุกเรือไปขายตามหัวเมืองทางเหนือจนถึงอุตรดิตถ์พอจะเข้าฤดูฝนจะถอยเรือลงมาจอดตามที่ว่างในลำน้ำแถวแควใหญ่ ถางตลิ่งทำไร่ปลูกแตงและยาสูบครั้นถึงฤดูน้ำหลากก็เก็บของในไร่บรรทุกเรือล่องลงมาขายที่กรุงเทพ ฯ แล้วซื้อสินค้ากรุงเทพ ฯ กลับขึ้นไปอีก วนเวียนเช่นนี้ทุกปี (สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงเดชานุภาพ, 270 – 271 อ้างถึงใน สุภรณ์ โอเจริญ, 2541, หน้า 210)

การดำทรายเป็นอีกอาชีพที่สำคัญของชาวมอญ ชาวมอญจะนำทรายที่ดำขึ้นมาไปขายเองหรืออาจมีพ่อค้าคนกลางมอญรับซื้อไปขายต่อ แม้ว่าจะไม่ปรากฏหลักฐานชี้ชัดว่า ชาวมอญเริ่มประกอบอาชีพนี้ตั้งแต่เมื่อใด แต่จากงานศึกษาวิจัย พบว่า ชาวมอญแถบบางพูด นนทบุรี ได้ประกอบอาชีพดำทรายในสมัยรัชกาลที่ 5 และทำกันเป็นกลุ่มใหญ่จนเป็นที่รู้จักในสังคมไทยจนเป็นที่กล่าวถึงในช่วงเกิดเหตุเรือพระประเทียบของสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ล่มที่บางพูดว่า ขณะที่เกิดเหตุนั้นมีมอญดำทรายอยู่แถบนั้น แต่ไม่มีใครกล้าเข้าไปช่วยกู้เรือ (ณัฐวุฒิ สุทธิสงคราม, 2509, หน้า 154 อ้างถึงใน สุภรณ์ โอเจริญ, 2541, หน้า 210)

นอกจากนี้ยังมีอาชีพที่มาจากภูมิปัญญาเก่าแก่สำคัญของชาวมอญ คือ การทำเส้นขนมจีนจำหน่ายโดยขนมจีนเป็นอาหารที่ชาวมอญเป็นต้นตำรับและเป็นที่นิยมรับประทานทั่วไปในประเทศไทยในอดีตชุมชนมอญที่มีชื่อเสียงในการทำเส้นขนมจีน ได้แก่ ชุมชนมอญ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ชุมชนมอญหนองดู่ จังหวัดลำพูน ชุมชนมอญแถบพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ (เพจรามัญคดี, 2017)

เมื่อว่างเว้นจากฤดูกาลทำนา ชาวมอญจะมีการทำงานฝีมือไว้ใช้สอยตามความจำเป็น เช่น ทอผ้า ทอเสื่อ สานตะกร้า กระบุงชุมชนมอญในพื้นที่อยุธยา สมุทรสาคร ราชบุรี และกาญจนบุรี จึงอาศัยทักษะงานฝีมือเหล่านี้มารับจ้างเย็บและค้าจากซึ่งใช้มุงหลังคา จนกลายเป็นอาชีพเสริม ในขณะที่บางชุมชนประกอบอาชีพทำนาเกลือและตัดฟืนขายอาชีพอีกอย่างหนึ่งที่มอญหันมาให้ความสนใจไม่น้อยในระยะหลัง คือ การรับราชการ เป็นขุนนาง และข้าราชการอยู่ในกรมกองต่าง ๆ ตั้งแต่ นายหมวด นายกอง ตลอดจนเสมียน สารวัตร และท้ายที่สุดเป็นนายทหารในกรมทหารเรือ( สุภรณ์ โอเจริญ, 2541, หน้า 85 – 86; สุจริตลักษณ์ ดีผดุง, 2542, หน้า 11 – 12)

นับตั้งแต่ พ.ศ. 2500 การดำเนินนโยบายพัฒนาประเทศให้เข้าสู่ภาวะทันสมัย (Modernization)
ของรัฐบาลไทย รวมทั้งกระแสโลกาภิวัตน์ที่ก่อตัวขึ้นได้ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงต่อวิถีชีวิตของชาวมอญหลายประการ โดยเฉพาะในแง่ของวิถีการดำรงชีพทางเศรษฐกิจที่มีการเปลี่ยนแปลงวิถีการดำรงชีพของชาวมอญในชุมชนบ้านบางกระดี่ เขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร ที่จากเดิมคนในชุมชนทำนาเป็นอาชีพหลัก ต่อมา ในช่วงปี พ.ศ. 2510 – 2512 ชาวบ้านเริ่มเปลี่ยนอาชีพมาเป็นเย็บจากตัดฟืนขายเมื่อยุคสมัยเปลี่ยนแปลงไป รายได้จากการเย็บจาก ตัดฟืน ไม่เพียงพอต่อการยังชีพ ชาวมอญส่วนใหญ่จึงหันไปประกอบอาชีพอื่น เช่น ประกอบกิจการวังกุ้ง วังปลา ค้าขาย รับราชการ และเป็นลูกจ้างในโรงงานเมื่อชุมชนมีถนนและรถยนต์เข้ามาใช้ในหมู่บ้าน ทำให้การติดต่อกับภายนอกมีความสะดวกรวดเร็ว มากขึ้น การประกอบอาชีพของคนในชุมชนจึงเกิดการขยายตัวและมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น ทำให้จำนวนโรงงานอุตสาหกรรมเกิดขึ้นในพื้นที่เพิ่มมากขึ้นในขณะที่พื้นที่การเกษตรลดลงเป็นอย่างมาก (จริยาพร รัศมีแพทย์, 2544, หน้า 64)

ส่วนกรณีของชาวมอญสามโคก จังหวัดปทุมธานี พบว่า อาชีพหลักที่ขึ้นชื่อของชาวมอญสามโคกในอดีตที่นิยมผลิตเครื่องปั้นเดินเผาและค้าขายเครื่องปั้นดินเผาและสินค้าอื่น ๆ โดยมีเรือเป็นยานพาหนะสำคัญ ต่อมาในปัจจุบัน เมื่อถนนตัดเข้ามาถึงชุมชน วิถีชีวิตที่ใช้เส้นทางน้ำเป็นเส้นทางหลักได้ถูกลดความสำคัญลงแม้ว่าชาวบ้านบางส่วนยังคงประกอบอาชีพผลิตเครื่องปั้นดินเผาอยู่บ้าง แต่มีจำนวนไม่มากนักแล้ว เพราะชาวบ้านมักจะนิยมขนเครื่องปั้นดินเผาบรรทุกรถยนต์ไปขายชุมชนอื่นแทนส่วนเรือมอญยังคงมีให้พบเห็นในชุมชน บางครอบครัวเก็บรักษาเรือมอญไว้ในฐานะเป็นสิ่งที่แสดงถึงความเจริญและความมั่งคั่งในอดีตมีเพียงส่วนน้อยที่ยังคงใช้เรือมอญค้าขายสินค้าทางน้ำ เช่น ขายมะพร้าวและเตาถ่าน อาชีพในปัจจุบันของชาวมอญสามโคกส่วนใหญ่จึงเป็นอาชีพใหม่ เช่น รับราชการ ทำงานเอกชน หรือประกอบธุรกิจส่วนตัว เป็นต้น ( ดาริกา ธนะศักดิ์ศิริ, 2556, หน้า 25 – 56 ; Thailand Science Research and Innovation , 2015)

ในขณะที่ชาวมอญเกาะเกร็ด จังหวัดนนทุบรี เป็นชุมชนที่มีชื่อเสียงในฐานะที่เป็นแหล่งผลิตเครื่องปั้นดินเผาคุณภาพดีเมื่อเครื่องปั้นดินเผาประเภทภาชนะสำหรับใช้งานในชีวิตประจำวันได้ลดบทบาทลงในสังคมปัจจุบัน ช่างฝีมือเกาะเกร็ดจึงได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบเครื่องปั้นดินเผา โดยประยุกต์ให้ดูทันสมัยและสวยงาม เพื่อเน้นขายเป็นของที่ระลึกให้กับนักท่องเที่ยวที่มาเยือนเกาะเกร็ด( Thailand Science Research and Innovation, 2015 )

ระบบความเชื่อ ประเพณี และพิธีกรรม

ศาสนาและความเชื่อ

ชาวมอญมีความเชื่อเกี่ยวกับพุทธศาสนาและความเชื่อเกี่ยวกับผี โดยมีรายละเอียดดังนี้

ความเชื่อเกี่ยวกับพุทธศาสนา

ชาวมอญยอมรับนับถือศาสนาพุทธแบบเถรวาทอย่างเคร่งครัดมาช้านาน ตั้งแต่อาณาจักรสุธรรมวดีหรือสะเทิม ซึ่งเป็นอาณาจักรแห่งแรกของชาวมอญ ชาวมอญ มีข้อปฏิบัติเกี่ยวกับศาสนาพุทธจำนวนมาก เช่น ห้ามใส่รองเท้าเข้าบริเวณวัด ห้ามผู้หญิงเข้าในพระอุโบสถ การฟังเทศน์ สวดมนต์ ปฏิบัติธรรมในวัดพระ ในช่วงวันสำคัญ จะนิยมไปทำบุญที่วัดอย่างพร้อมเพรียง และนิยมที่จะบริจาคเงินให้แก่วัด ด้วยเชื่อมั่นว่า การทำบุญอุทิศเพื่อศาสนานั้นจะเป็นผลอานิสงส์ส่งให้วิญญาณไปสู่สวรรค์นอกจากนี้ ชาวมอญยังให้ความเคารพต่อพระสงฆ์เป็นอย่างมาก เพราะถือว่าเป็นตัวแทนของพระพุทธเจ้า ซึ่งกล่าวกันว่า หากเป็นสิ่งที่คนมอญนับถือบูชาแล้วเป็นต้องถึงขั้นถวายหัว แม้แต่เงาก็ไม่เหยียบลบหลู่

ดังนั้น จึงเป็นธรรมเนียมโดยทั่วไปว่า เมื่อพบเห็นพระสงฆ์เดินสวนทางมาจะต้องสังเกตเงาของพระว่าทอดไปทางใด แล้วรีบไปอยู่ยังฝั่งตรงกันข้าม ไม่เหยียบไปบนเงาของพระสงฆ์เด็ดขาด พร้อมกับทรุดนั่งลงพนมมือจนกว่าพระสงฆ์จะเดินผ่านหน้าไป (องค์ บรรจุน, 2549, หน้า 53) ปัจจุบัน ความเชื่อเกี่ยวกับการไม่เหยียบเงาพระสงฆ์ได้ลดความสำคัญลง และคงไว้เฉพาะการรักษากิริยาอาการด้วยความเคารพนอบน้อมเมทาอเดินผ่านพระสงฆ์อาจพบเห็นภาพนี้อยู่บ้างในกลุ่มผู้สูงอายุในหมู่บ้านมอญต่างจังหวัด เช่น อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี เป็นต้น

ความเชื่อเกี่ยวกับผี

ชาวมอญนับถือผีอย่างเข้มข้น ผีในทัศนะของชาวมอญแบ่งเป็นผีดีและผีร้าย ผีดีจะให้ความช่วยเหลือในเรื่องเดือดร้อนต่าง ๆ ให้ความคุ้มครองรักษา และในขณะเดียวกันก็อาจให้โทษได้หากได้รับการกระทำที่ไม่พึงพอใจอันแสดงถึงความไม่เคารพ ลบหลู่ดูหมิ่น ชาวมอญจึงต้องมีการเซ่นไหว้ หรือทำพิธีต่าง ๆ เพื่อแสดงความเคารพบูชา หรือเพื่อขอขมาลาโทษอยู่เสมอทั้งนี้ จุดกำเนิดการนับถือผีของชาวมอญไม่มีหลักฐานชัดเจน นอกจากตำนานที่กล่าวว่า ในสมัยพุทธกาล เศรษฐีผู้หนึ่งมีภรรยา 2 คน ภรรยาน้อยมีลูกก่อน ภรรยาหลวงอิจฉา จึงฆ่าลูกภรรยาน้อยตาย เมื่อทั้งคู่ตายไปก็พยาบาทจองเวรฆ่าลูกของอีกฝ่ายสลับกันไปทุกชาติ ชาติสุดท้าย ฝ่ายหนึ่งเกิดเป็นผี อีกฝ่ายเกิดเป็นมนุษย์ ฝ่ายผีไล่ตามกินลูกนางมนุษย์ นางมนุษย์จึงหนึไปพึ่งพระพุทธเจ้าซึ่งประทับอยู่ ณ วฬุวันมหาวิหาร พระองค์ทรงทราบความเป็นมาโดยตลอดด้วยพระอภิญญาณ จึงทรงเทศนาแก่นางผีให้เห็นกรรมดีกรรมชั่ว และผลร้ายของการพยาบาทจองเวรซึ่งกันและกัน จนนางผีและมนุษย์คิดได้ เลิกจองเวรต่อกันต่อมา นางผีได้ไปอยู่กับมนุษย์ ช่วยเหลือนางมนุษย์และชาวเมืองทั้งหลายในการทำไร่นา บังเกิดผลดีมีโภคทรัพย์สมบูรณ์มั่งคั่ง จึงกลายเป็นประเพณีสืบต่อกันมาของชาวมอญในการนับถือผีบรรพบุรุษ (ituibook, 2019) ได้แบ่งประเภทผีบรรพบุรุษของชาวมอญ เป็น 3 ระดับ ได้แก่

ผีประจำตระกูล ผีบรรพบุรุษ หรือผีเรือน ถือว่าเป็นผีดีของชาวมอญอีกสายหนึ่ง โดยชาวมอญมีผีประจำตระกูลที่ปรากฏอยู่ในรูปของสัญลักษณ์เป็นพืช สัตว์ และสิ่งของหลายอย่าง เช่น ผีมะพร้าว ผีกระบอกไม้ไผ่ ผีข้าวเหนียว ผีงู ผีเต่า ผีม้า ผีไก่ และผีผ้าผีบรรพบุรุษสิงอยู่ที่เสาเอกของเรือน เรียกว่า เสาผีสัญลักษณ์ของผีแต่ละประเภทจะบ่งบอกได้ว่า มอญแต่ละกลุ่มอพยพมาจากที่ใด เช่น มอญเติ้ง คือ กลุ่มที่อาศัยอยู่ในแคว้นพะสิม (Bassein) เป็นกลุ่มพวกที่นับถือผีมะพร้าว มอญเตี๊ยะ คือ กลุ่มพวกที่อาศัยอยู่ในแคว้นหงสาวดี (Pegu) เป็นกลุ่มที่นับถือผีมะพร้าว มอญเตี๊ย คือ กลุ่มที่อาศัยอยู่ในแคว้นหงสาวดี (Pegu) เป็นกลุ่มที่นับถือผีผ้ามอญญะ คือ พวกที่อาศัยอยู่ในแคว้นสะเทิม (Thaton) เป็นพวกที่นับถือผีกระบอกไม้ไผ่ (สุเอ็ด คชเสนี, 2527, หน้า 51 - 52)

ผีประจำหมู่บ้าน ส่วนใหญ่มักเป็นผีของผู้นำหมู่บ้านที่นำพาผู้คนอพยพมาตั้งถิ่นฐานในชุมชนใหม่เมื่อระดับความเชื่อมีมากขึ้น บางหมู่บ้านก็ยกระดับเรียกผีของผู้นำว่า “เจ้าพ่อ” หลายชุมชนจะมีพิธีเซ่นไหว้บูชาเจ้าพ่อที่สิงสถิตประจำหมู่บ้าน

ผีประจำเมือง หรือ “ ผีเมือง” หรือ ผี “มเหสักข์หลักเมือง” เป็นเจ้าพ่อที่ครอบคลุมมีอำนาจ เป็นที่เคารพนับถือของผู้คนหลายหมู่บ้านในชุมชนที่ใหญ่ขึ้น มีโครงสร้างซับซ้อนขึ้น เช่น กรณีของชาวมอญบ้าน “เว่ขะราว” ต.บางพึ่ง อ.พระประแดง สมุทรปราการ และหมู่บ้านละแวกใกล้เคียงที่นับถือ “เจ้าพ่อเจ้าแม่แห่งบ้านเว่ขะราว” ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำหมู่บ้านเดิมที่บรรพชนได้อัญเชิญรูปสลักของเจ้าพ่อเจ้าแม่มายังประเทศไทยด้วย เพื่อปกป้องคุ้มครองและเพื่อความเป็นสิริมงคลระหว่างการเดินทางชาวมอญบ้านจะจัดพิธีรำบูชาและเซ่นไหว้เจ้าพ่อเจ้าแม่บ้านเว่ขะราวในท้ายวันสงกรานต์ของทุกปี

การสืบทอดการนับถือผี

ชาวมอญเชื่อว่า คนมอญทุกคนจะมีผีบรรพชนติดตัวมาตั้งแต่กำเนิดตามเชื้อสาย คนมอญจึงต้องนับถือผีมอญตามคตินี้ ระหว่างที่ยังอาศัยอยู่ในครอบครัวขยาย หรือแม้กระทั่งการแยกออกไปสร้างเรือนอยู่เป็นครอบครัวเดี่ยวหากยังไม่ได้ทำพิธีแยกผีบรรพชนไปอยู่ยังเสาผีหรือเสาเอกของเรือนก็ถือว่ายังนับถือผีเดียวกันส่วนลูกสาวที่แต่งงานแล้วจะนับถือผีตามสามี ถือว่าขาดจากการเป็นสมาชิกของตระกูลผีในครอบครัวเดิมผู้ที่รับผิดชอบดูแลผีจะเป็นหน้าที่ของประธานของตระกูลหรือเจ้าบ้าน คือ หัวหน้าครอบครัว (ปู่) สมาชิกในครอบครัว ซึ่งประกอบด้วยภรรยา (ย่า)ลูกชายลูกสะใภ้ลูกสาวที่ยังไม่ได้แต่งงาน และหลานทุกคน จะต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดซึ่งเป็นขนบจารีตโดยเคร่งครัด เมื่อประธานของบ้านหรือหัวหน้าครอบครัว (ปู่) เสียชีวิตลง หน้าที่ดูแลผีจะตกเป็นของลูกชายคนโตของตระกูล ยกเว้นชุมชนมอญในจังหวัดสมุทรสาคร แถบตำบลบ้านเกาะ ท่าทราย และเจ็ดริ้ว รวมทั้งชุมชนมอญอื่น ๆ ที่อพยพโยกย้ายไปจากตำบลเหล่านี้ จะกำหนดให้ลูกชายคนเล็กทำหน้าที่การดูแลผีหากยังไม่ได้ทำพิธีแยกผีออกไป หากเกิดการกระทำผิดผี ถูกผีลงโทษ ทุกคนในตระกูลจะต้องรับผิดชอบร่วมกัน ในกรณีที่จัดพิธีรำผีขึ้นเพื่อขอขมาจะต้องร่วมรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นด้วยแม้ว่าบางครอบครัวจะแยกบ้านเรือนไปอยู่ต่างจังหวัดแล้วและไม่ได้มีส่วนในการกระทำผิดผีก็ตาม ด้วยเหตุผลที่ต้องรับผิดชอบร่วมกันนี้ ทำให้ครอบครัวที่แยกออกไปตั้งบ้านเรือนไกลออกไป นิยมทำพิธีแยกผี เพื่อหลีกเลี่ยงการต้องรับผิดชอบความผิดร่วมกัน เช่นเดียวกับชาวบ้านทุ่งเข็นที่แยกผีออกมาจากชุมชนดั้งเดิมของตนที่ราชบุรี เนื่องจากระยะทางเป็นอุปสรรคในการเดินทางเข้าร่วมพิธีกรรม รวมทั้งเพื่อให้ขาดจากความรับผิดชอบร่วมกับตระกูลใหญ่ ทั้งนี้ ในประเด็นดังกล่าว มีข้อสังเกตว่า การที่แต่ละครอบครัวแยกผีออกมาจากตระกูลใหญ่ ทำให้โอกาสในการพบปะสังสรรค์กันและความสัมพันธ์ของคนภายในตระกูลลดน้อยถอยลงตามไปด้วย (องค์ บรรจุน, 2559, หน้า 121 - 122)

นอกจากประเด็นเรื่องผีแล้ว วิถีชีวิตของคนมอญตั้งแต่เกิดจนตายล้วนผูกพันธ์อยู่กับความเชื่อทุกขั้นตอนของชีวิตความเชื่อหลายสิ่งหลายสิ่งที่ยังคงสืบทอดต่อกันมาจากบรรพชน แม้ว่าความเชื่อบางประการไม่สามารถบ่งบอกที่มาได้ เช่น ชาวมอญพระประแดงและชาวมอญเกาะเกร็ด ที่ยังคงมีความเชื่อเรื่องการห้ามนำตุ๊กตาเข้าบ้านหรือห้ามให้ลูกหลานเล่นตุ๊กตา เพราะเชื่อว่าจะนำพาวิญญาณร้ายเข้ามาสิงในตุ๊กตา และอาจทำให้เด็กไม่สบาย นอกจากนี้ยังห้ามเล่นตุ๊กตารูปช้าง ม้า วัว ควาย เพราะเชื่อว่า ผีไม่ชื่นชอบ สำหรับชาวมอญพระประแดงให้เหตุผลในส่วนนี้ว่า เป็นพาหนะของเจ้าพ่อเจ้าแม่ประจำหมู่บ้าน ถือเป็นของสูง ไม่ควรนำมาเล่น ซึ่งถ้าเล่นแล้วก็อาจเกิดอาการไม่สบายได้เช่นกันนอกจากนี้ยังมีการห้ามคนนอกผีเข้าเรือนชั้นในและความเชื่อในตำราการดำเนินชีวิตต่าง ๆ อีกด้วย เช่น ตำราโลกสิทธิ ตำราโลกสมมุติ ตำราทำนายฝัน และตำราฤกษ์ยาม เป็นต้น

นับตั้งแต่อดีตจนกระทั่งปัจจุบัน ชาวมอญมีตำราหลักประกอบการดำเนินชีวิตทางโลก จำนวน 4 เล่ม แม้ว่าคนมอญในปัจจุบันไม่ได้เคร่งครัดในปฏิบัติตามอย่างครบถ้วยทุกเล่ม แต่ถือว่า ตำราเหล่านี้มีความสำคัญกับการดำเนินชีวิตของชาวมอญเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะชาวมอญในเมืองไทยที่อยู่ห่างไกลจากความเป็นเมือง เช่น ชาวมอญราชบุรี และชาวมอญสังขละ ฯ ซึ่งตำราดังกล่าว ได้แก่

1) โลกะสิทธิ เป็นตำราหลักที่คนมอญยึดเป็นหลักในการดำเนินชีวิตประจำวัน คล้ายกับตำราพรหมชาติของไทย กล่าวคือ เป็นตำราที่ประกอบด้วยวิชาโหราศาสตร์ เช่น การดูฤกษ์งามยามดี, ชะตาชีวิต)ไสยศาสตร์ เช่น การทำพิธีเสียกบาล ทำพิธีสะเดาะเคราะห์หรือต่อชะตาชีวิต และวิชาการเช่น การปลูกบ้าน บุคคลที่จะศึกษาตำรานี้มักเป็นผู้ที่มีความรู้สูง เช่น สมภาร มัคนายกวัด เป็นต้น

2) โลกะวัชชะ เป็นตำราที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติต่อผู้ใหญ่ มารยาททางสังคมในชีวิตประจำวัน และการใช้ชีวิตคู่

3) โลกสมมุติ เป็นตำราว่าด้วยการทำศพตามลักษณะการป่วยและการตาย

4) โลกภาษา เป็นตำรากวีนิพนธ์ขั้นสูงของมอญ มีตัวอย่างของร้อยกรองที่ใช้ศัพท์ภาษาในระดับสูงแบบต่าง ๆ เช่น คำสดุดี คำอวยพร เพลงทะแยมอญ

ประเพณี เทศกาล และพิธีกรรม

ประเพณี เทศกาล และพิธีกรรมสำคัญในรอบปี

ประเพณีที่เกี่ยวข้องกับชาวมอญ ได้แก่ ประเพณีสิบสองเดือน ประเพณีแห่หงส์ – ธงตะขาบ ประเพณีลอยเรือสะเดาะเคราะห์ ประเพณีตักบาตรน้ำผึ้ง ประเพณีสงกรานต์ และ ประเพณีสร้างพระ โดยมีรายละเอียดดังนี้

ประเพณีสิบสองเดือน

ขนบธรรมเนียมประเพณีมอญส่วนมากจะเกี่ยวข้องกับวันสำคัญทางศาสนา ซึ่งในแต่ละเดือน นอกจากจะมีวันพระประจำเดือนที่ชาวมอญจะต้องไปตักบาตรทำบุญเป็นกิจวัตรแต่ละเดือนในรอบ 1 ปีก็จะมีประเพณีสำคัญเรียกว่า “ประเพณีสิบสองเดือน” โดยมีรายละเอียด ดังต่อไปนี้ (สุจิตรา เปลี่ยนรุ่ง, 2553, หน้า 157 - 159 )

เดือนห้า (เดือนเมษายน) “กิเต๊าจอว์” เทศกาลสำคัญ คือ สงกรานต์ หรือ “อะต๊ะสัง กรานต์” เป็นวันขึ้นปีใหม่ ตรงกับวันที่ 13 – 15 เมษายนของทุกปี เทศกาลสงกรานต์เริ่มต้นจากวันต้อนรับสงกรานต์ เรียกว่า “ตะงัวอะต๊ะจิ” วันระหว่างปีใหม่กับปีเก่า เรียกว่า “ตะงัวกราบนาม” มีการทำพิธีทอดสะพาน ค้ำต้นโพธิ์ และก่อพระเจดีย์ทราย วันมหาสงกรานต์ จะมีการสรงน้ำพระพุทธรูปและสรงน้ำพระสงฆ์ ส่วนหนุ่มสาวมีการเล่นสาดน้ำและเล่นสะบ้า นอกจากนี้ยังมีการทำข้าวแช่ทำบุญถวายพระ ญาติผู้ใหญ่ และรับประทานในครอบครัวตลอดช่วงเทศกาลสงกรานต์ด้วย

เดือนหก (เดือนพฤษภาคม) “กิเต๊าปะซาจก์” ในเดือนนี้มีวันสำคัญทางศาสนา คือ วันวิสาขบูชา ซึ่งจะมีการทำบุญตักบาตร และพิธีกรรมสำคัญ คือ การสร้างน้ำต้นโพธิ์ หรือรดน้ำต้นโพธิ์คนมอญจะเตรียมธูปเทียนไปที่วัด พระสงฆ์จะสวดมนต์และรดน้ำที่ต้นโพธิ์ก่อน จากนั้นชาวบ้านจะนำน้ำที่เตรียมไว้มารดต้นโพธิ์ด้วยส่วนตอนค่ำจะทำการเวียนเทียนรอบเจดีย์ในวัดคนมอญจะดูแลต้นโพธิ์เป็นอย่างดี เพราะเชื่อว่าเป็นที่สถิตของเทวา

เดือนเจ็ด (เดือนมิถุนายน) “กิเต๊าจิห์” ในเดือนนี้ไม่ค่อยมีประเพณีสำคัญมากนัก นอกจากวันพระประจำเดือน ซึ่งคนมอญจะไปทำบุญตักบาตรเป็นประจำ และจัดเวรกันไปเปลี่ยนดอกไม้บูชาพระที่วัดในช่วงเย็นก่อนวันพระเหตุที่ไม่ปรากฏประเพณีสำคัญเพราะในช่วงนี้เป็นฤดูกาลทำนา ทำสวน

เดือนแปด (เดือนกรกฎาคม) “กิเต๊าะฮะเกิ่น” ในเดือนนี้มีเทศกาลสำคัญทางศาสนา คือวันอาสาฬหบูชา (ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8) และวันเข้าพรรษา (แรม 1 ค่ำ เดือน 8) วันเข้าพรรษาเป็นวันสำคัญที่พระสงฆ์จะต้องอยู่ประจำวัดส่วนผู้คนจะไปทำบุญตักบาตรโดยนำต้นเทียน ผ้าอาบน้ำฝน เครื่องไทยทานไปถวายพระส่วนคนเฒ่าคนแก่ก็จะถือศีลในช่วงนี้จะมีการทำขนมชนิดหนึ่งเรียกว่า “กกฮะเต่อ” คล้ายกับขนมเทียนนอกจากนี้ คนมอญจะต้องเตรียม “จอง” หรือต้นผ้าป่า ประกอบด้วยอัฐบริขารสำหรับพระสงฆ์

เดือนเก้า (เดือนสิงหาคม) “กิเต๊าขะดัวซอยว์ มีงานพิธีสำคัญเรียกว่า“หล่องเนิ่งลิฐิ” ตรงกับขึ้น 15 ค่ำ เดือน 9 เป็นงานบุญระหว่างเข้าพรรษา หรือเรียกว่า “งานบุญหม้อเงินหม้อทอง” ซึ่งสมัยก่อนใช้หม้อดินแต่ในปัจจุบัน หม้อดินเผาหายากจึงใช้กาละมังขนาดใหญ่หรือหม้ออลูมิเนียมแทน โดยใส่มะพร้าว ข้าวสาร พริกแห้ง กะปิ น้ำปลา ผงซักฟอก สบู่ ทราย เงิน ธูปเทียน โดยจะนำสิ่งของต่าง ๆ เหล่านี้ถวายพระ โดยเชื่อว่าเป็นการสะสมเอาไว้ใช้ในชาติหน้า

เดือนสิบ (เดือนกันยายน) “กิเต๊าพ่อด” มีพิธีสำคัญ คือ “เปาะห์ฮะมอดปาง” หรือการลอยเรือสะเดาะเคราะห์ ตรงกับขึ้น 14 ค่ำ เดือน 10 เป็นพิธีกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับตำนานพระไตรปิฎก และมีพิธีตักบาตรน้ำผึ้งหรือน้ำตาลทรายในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10

เดือนสิบเอ็ด (เดือนตุลาคม) “กิเต๊าเหวาะ” วันสำคัญ คือ วันออกพรรษา ( แรม 1 ค่ำ เดือน 11) มีพิธีตักบาตรเทโว และการจัด “จองสลาก” มาถวายพระคนมอญจะให้ความสำคัญกับวันออกพรรษาเป็นอย่างมาก และมีการจัดพิธีตักบาตรเทโว พิธีล้างเท้า และตักบาตรดอกไม้

เดือนสิบสอง (เดือนพฤศจิกายน) “กิเต๊าอะทอน” มีการทอดกฐิน ตักบาตรพระร้อย และลอยกระทง เพื่อบูชาพระอุปคุต

เดือนอ้าย (เดือนธันวาคม) “กิเต๊าะเล่กะซอ” เป็นเดือนที่อยู่ในช่วงการเก็บเกี่ยว จึงมีเพียงพิธี “ รำผี ” ทั่วไป

เดือนยี่ (เดือนมกราคม) “กิเต๊าโป๊ะ” ในช่วงเดือนนี้ยังอยู่ในฤดูกาลเก็บเกี่ยวและยังไม่มีกิจกรรมอะไร มีการจัดพิธีรำผีอยู่ทั่วไป

เดือนสาม (เดือนกุมภาพันธ์) “กิเต๊ามาฆก์” หรือ เดือนมาฆะ มีวันสำคัญทางศาสนา คือ วันมาฆบูชา (ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3)

เดือนสี่ (เดือนมีนาคม) “กิเต๊าเพ่อระเกิ่น” คนมอญจะนิยมให้บุตรหลานบวชเณรและบวชพระกันในเดือนนี้

ประเพณีแห่หงส์ – ธงตะขาบ เสาหงส์และธงตะขาบ เป็นสัญลักษณ์บูชาพระพุทธเจ้าของชาวมอญ ตามที่มีตำนานเล่าขานกันมาเมื่อถึงเทศกาลสงกรานต์ในวันที่ 13 เมษายนของทุกปี ชาวมอญชุมชนต่าง ๆ จะร่วมมือกันทำธงตะขาบและจัดขบวนแห่เมื่อถึงวันงานจะจัดขบวนแห่น้ำหวาน นก ปลา และแห่ธงตะขาบเพื่อนำไปถวายวัดโดยภายในขบวนแห่จะประกอบด้วยสาวงามภายในหมู่บ้านเป็นผู้ถือหงส์ ผู้ที่ถือหงส์ถูกเรียกว่า “ นางหงส์ ” ชาวมอญจึงนิยมเรียกประเพณีนี้ว่า “ ประเพณีแห่หงส์ - ธงตะขาบ ”เมื่อขบวนแห่ถึงที่วัดก็จะนำธงตะขาบไปแขวนไว้ที่เสาหงส์ จึงถือว่าเป็นการบูชาองค์สัมมาสัมพุทธเจ้านั่นเอง (รามัญคดี, 2560)

ประเพณีลอยเรือสะเดาะเคราะห์

ประเพณีลอยเรือสะเดาะเคราะห์ จัดขึ้นในเดือน 10 ของทุกปี ประเพณีนี้จัดขึ้นตามตำนานการเดินทางไปอัญเชิญพระไตรปิฎกที่เมืองศรีลังกาของพระมหาเถรพุทธพระมอญที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้มีสติปัญญาและบารมีสูงส่ง ชาวมอญเชื่อว่า ท่านเป็นเทพบุตรจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ลงมาถือกำเนิดในมนุษยโลกโดยพระมหาเถรพุทธได้ออกเดินทางด้วยเรือจากเมืองสุธรรมวดี หรือเมืองสะเทิมในปัจจุบัน สมัยพระเจ้าธรรมะปาละ ไปยังประเทศศรีลังกาใน พ.ศ. 943 และกลับถึงเมืองสุธรรมวดี ใน พ.ศ. 956 พร้อมด้วยพระไตรปิฎก ทักษิณสาขา (กิ่งไม้โพธิ์ด้านใต้) พระธาตุ และอื่น ๆ พระมหาเถรพุทธโฆษาเป็นผู้คัดลอกพระไตรปิฎกจากภาษาบาลีที่จารึกด้วยตัวอักษรลังกาเป็นตัวอักษรมอญในยุคเริ่มแรก โดยจารึกลงในคัมภีร์ใบลาน ขณะที่ท่านอยู่ระหว่างการเดินทางจากศรีลังกากลับมาเมืองมอญชาวมอญที่เมืองสุธรรมวดีจึงริเริ่มจัดงานทำบุญลอยเรือสะเดาะเคราะห์เพื่อขอพรให้ท่านเดินทางกลับมาถึงเมืองมอญด้วยความปลอดภัยนับตั้งแต่นั้นมา การลอยเรือสะเดาะเคราะห์ในวันเพ็ญเดือนสิบ จึงกลายเป็นประเพณีปฏิบัติของชาวมอญเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน เพื่อรำลึกถึงบุญคุณของพระมหาเถรพุทธโฆษา (รามัญคดี, 2560)

ประเพณีลอยเรือสะเดาะเคราะห์ของชาวมอญ วัดวังก์วิเวการาม อ.สังขละบุรี ตรงกับวันขึ้น 14 - 15 ค่ำ และแรม 1 ค่ำ เพื่อสืบสานประเพณีดั้งเดิมของบรรพบุรุษ รวมทั้งเพื่อบูชาเทวดาที่อยู่ในน้ำ ป่า และบนบกด้วยก่อนถึงวันพิธี ชาวมอญจะนำไม้ไผ่มาบ้านละ 1 ลำ เพื่อสร้างเรือจำลอง ณ บริเวณลานเจดีย์พุทธคยา วังวังก์วิเวการาม และประดับตกแต่งเรือด้วยกระดาษหลากสี ในยามหัวค่ำจนถึงเช้ามืดของวันขึ้น 15 ค่ำ ชาวบ้านจะทยอยพากันนำธงตะขาบหรือ “โน่” ตุง ร่มกระดาษ มาประดับตกแต่งเรือ และบริเวณปะรำพิธี พร้อมทั้งนำเครื่องเซ่นไหว้ เช่น กล้วย อ้อย ขนม ข้าว ดอกไม้ ไปวางไว้ในลำเรือ จุดอธิษฐานให้สิ่งไม่ดีและเคราะห์ร้ายต่าง ๆ ไปให้พ้นจากชีวิตตน พร้อมทั้งรับฟังบทสวดอิติปิโส 108 จบ และบทสวดสะเดาะเคราะห์จากภิกษุสงฆ์เมื่อถึงเช้าวันแรม 1 ค่ำ ชาวบ้านก็จัดตั้งขบวนแห่ มีการเล่นโคม ปล่อยโคมลอยขนาดใหญ่ ร้องรำทำเพลง และช่วยกันลากเรือไปปล่อยกลางน้ำบริเวณจุดบรรจบของแม่น้ำสามประสบ (travel.kapook.com ,2559)

ประเพณีตักบาตรน้ำผึ้ง

การตักบาตรน้ำผึ้ง เป็นประเพณีเก่าแก่ของมอญที่มีมาแต่สมัยพุทธกาล โดยจะทำกันในวันพระขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10ตามตำนานกล่าวว่า พระปักเจกโพธิรูปหนึ่งอาพาธ จึงต้องการได้น้ำผึ้งมาผสมโอสถ เช้าวันหนึ่งได้บิณฑบาตผ่านไปยังชายป่า ปรากฏว่ามีชายชาวป่าผู้หนึ่งนำน้ำผึ้งมาใส่บาตรด้วยจิตกุศลอันแรงกล้า จึงเกิดปรากฏการณ์อัศจรรย์ น้ำผึ้งเพิ่มพูนจนล้นบาตร ฝ่ายหญิงชาวป่าผู้หนึ่งนั่งทอผ้าอยู่และเห็นเหตุการณ์โดยตลอด จึงรีบนำผ้าที่ทอเสร็จแล้วมาถวายพระ เพื่อใช้ซับน้ำผึ้งที่ล้นบาตรนั้นอานิสงค์ดังกล่าว ส่งผลทำให้ชายหนุ่มไปเกิดในภพภูมิใหม่ เป็นพระราชาปกครองเมืองอันรุ่งเรืองเกรียงไกรส่วนหญิงสาวไปเกิดเป็นพระธิดาของกษัตริย์อีกเมืองหนึ่งที่มีความเข้มแข็งและมั่งคั่งเช่นกันจากพุทธประวัติดังกล่าว จึงเกิดประเพณีตักบาตรน้ำผึ้งขึ้น รวมทั้งเกิดการถวายผ้ารองบาตรน้ำผึ้งคู่กันด้วย รามัญคดี, 2557)

ก่อนถึงเทศกาลตักบาตรน้ำผึ้ง บรรดาหญิงสาวจะช่วยกันทอผ้าปักผ้าอย่างประณีตสวยงามเพื่อถวายพระในช่วงเช่าของวันงาน จะมีการเข้าวัดทำบุญตักบาตรตามปกติ นอกเหนือจากอาหารหวานคาวแล้ว ชาวบ้านยังเตรียมน้ำผึ้งมาและรินน้ำผึ้งจากภาชนะที่เตรียมมาลงในบาตร เช่นเดียวกับการตักบาตรทั่วไปชาวมอญเชื่อว่า การตักบาตรด้วยน้ำผึ้งจะได้อานิสงค์มาก โดยลุงจันทร์ เขียวพันธุ์ ชาวมอญบ้านหนองดู่ - บ่อคาว จ.ลำพูน (Thailand Science Research and Innovation, 2557) อธิบายว่า น้ำผึ้งถือเป็นหนึ่งใน “เภสัชทั้ง 5 ” ถือเป็นของบำรุงของพระสงฆ์ ได้แก่ เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง และน้ำอ้อย เพราะของบำรุงเหล่านี้ พระสงฆ์สามารถเก็บไว้ใช้เป็นวัตถุดิบปรุงยาเมื่อยามจำเป็นได้ปัจจุบัน น้ำผึ้งเริ่มหายากและมีราคาแพงมากขึ้นกรรมการวัดบางวัดจึงเตรียมน้ำผึ้งไว้ให้ ชาวบ้านก็บริจาคค่าน้ำผึ้งให้วัดตามกำลังศรัทธา ขณะที่บางชุมชนทำความตกลงกันระหว่างวัดและชาวบ้าน โดยขอให้ชาวบ้านเปลี่ยนเป็นน้ำตาลทรายแทน เพราะหาได้ง่ายและใช้ประโยชน์ได้มากกว่า (รามัญคดี,2557)

ประเพณีสงกรานต์

ประเพณีสงกรานต์ของชาวมอญจะถือเอาวันที่ 13 14 และ 15 เดือนเมษายนของทุกปี เป็นช่วงวันขึ้นปีใหม่ ในช่วงเวลาดังกล่าวจะจัดประเพณีสงกรานต์ขึ้นอย่างยิ่งใหญ่เป็นประจำทุกปี ในภาษามอญเรียกว่า “ ว่านอะต๊ะ” ในวันที่ 11 และ 12 จะช่วยกันทำขนมกวนหรือขนมกาละแมเมื่อถึงวันที่ 13 14 และ 15 จะทำบุญโดยนำอาหารคาวหวานไปถวายพระที่วัด ช่วงกลางวันจะนิยมพากันไปรดน้ำขอพรผู้ใหญ่ คือ พ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย และผู้ที่เคารพนับถือ และปล่อยนกปล่อยปลา เด็กและหนุ่มสาวจะช่วยกันนำขนมกาละแมและผลไม้ไปส่งยังบ้านผู้ใหญ่ต่าง ๆ ในช่วงเย็นลูกหลานจะพากันนำดอกไม้ ธูปเทียน น้ำอบน้ำปรุง ไปกราบไหว้บรรพบุรุษของตน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเจดีย์บรรจุกระดูกที่ตั้งอยู่ในบริเวณวัด รวมทั้งไปสรงน้ำพระพุทธรูปและพระสงฆ์ เมื่อเสร็จงานหนุ่มสาวจะพากันไปเล่นสาดน้ำอย่างสนุกสนาน เมื่อถึงช่วงหัวค่ำหนุ่มสาวจะนิยมพากันไปเล่นสะบ้า

ประเพณีสำคัญที่เกี่ยวเนื่องกับประเพณีสงกรานต์ ได้แก่ ประเพณีค้ำโพธิ์ (ท็อก - ส้อย) มีจุดประสงค์เพื่อให้ตระหนักถึงการค้ำจุนพุทธศาสนาประเพณีสรงน้ำพระสงฆ์และรดน้ำขอพรผู้ใหญ่ประเพณีปล่อยนกปล่อยปลา ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อถือเป็นการสะเดาะเคราะห์ให้แก่ตนเองและทำให้อายุยืนยาวตามคติความเชื่อของชาวมอญ รวมทั้งประเพณีแห่งหงส์ – ธงตะขาบ (สุจริตลักษณ์ ดีผดุง, 2542, หน้า 22 – 23 ; จวน เครือวิชฌยาจารย์, 2548, หน้า103 )

ประเพณีสร้างพระ

ประเพณีสร้างพระ หรือที่เรียกในภาษามอญว่า “ เทาะ -อะโยง-จ๊า ” เป็นประเพณีทำบุญ 7 วัน หลังจากจัดงานฌาปนกิจศพจุดมุ่งหมายของประเพณี คือ เพื่อสร้างพระพุทธรูปใหม่ สำหรับอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ตาย ประหนึ่งว่าได้มีพระพุทธเจ้าเกิดขึ้นใหม่อีกองค์หนึ่ง กล่าวคือ โลหะเปรียบได้กับถาดทองใส่ข้าวมธุปายาสที่นางสุชาดานำไปถวายพระโพธิสัตว์การที่ผู้ทำบุญทิ้งเหรียญกษาปณ์ลงในถาดให้เกิดเสียงดัง เปรียบได้กับเหตุการณ์ตอนพระโพธิสัตว์ทรงอธิษฐานลอยถาดทองเสี่ยงบารมีที่ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชราถาดนั้นได้จมลงไปกระทบกับถาดทองที่พระพุทธเจ้าองค์ก่อนได้เคยทรงอธิษฐานเสียงบารมีไว้ทำให้เกิดเสียงดังขึ้นส่วนหญ้าแพรกเปรียบได้กับหญ้าที่นายโสตถิยะถวายให้พระโพธิสัตว์เพื่อปูบัลลังก์ เป็นที่ประทับนั่งในเหตุการณ์ตอนพระโพธิสัตว์ได้ตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ และใช้หญ้าแพรกทั้งหมด 49 กิ่ง เปรียบได้กับจำนวนก้อนข้าวอธุปายาสที่นางสุชาดาถวายพระโพธิสัตว์ พิธีสร้างพระเริ่มจากผู้ทำบุญต้องเตรียมของ คือ พระพุทธรูปใหม่ 1 องค์ ถาดโลหะ 1 ใบ ใบโพธิ์หญ้าแพรก 7 กำ ๆ ละ 7 กิ่งเหรียญกษาปณ์ 7 เหรียญข้าวสวย 1 หม้อบาตรพระ 1 ใบข้าวทิพย์ผสมน้ำผึ้งใส่บาตร 1 ใบ เมื่อเริ่มพิธีพระสงฆ์จะสวดมนต์บท “อเนกะชา ฯ” พอสวดมนต์จบ 1 จบ ผู้ทำบุญก็จะหยิบเหรียญกษาปณ์ ใบโพธ์ และหญ้าแพรกอย่างละกำ ทิ้งลงไปในถาดให้เกิดเสียงดังครั้งหนึ่ง โดยทำเช่นนี้จนครบ 7 ครั้ง เป็นอันเสร็จพิธี (สุเอ็ด คชเสนี, 2547, หน้า 79)


การรักษาโรคภัยไข้เจ็บ

พิธีเทาะฮะแนมใหญ่

หากผู้ป่วยมีอาการเจ็บป่วยเนื่องจากถูกผีกระทำหรือถูกผีสิง เมื่อร่างทรงปะโหนกทราบว่า ผีที่กระทำเป็นผีประเภทใดก็จะแจ้งให้ผู้ป่วยและญาติพี่น้องทราบว่า ควรต้องทำพิธีเทาะฮะแนมใหญ่หรือการทำพิธีเสียกบาลใหญ่ โดยญาติผู้ป่วยต้องไปติดต่อนัดหมายกับผู้ประกอบพิธีซึ่งเป็นคนทรงหรือหมอผีที่มีประสบการณ์สูง และเป็นผู้มีดวงแข็งและ ทราบวิธีการเรียกผีที่ถูกต้องจึงจะทำพิธีได้ เพื่อส่งผลให้ขับไล่ผีต่าง ๆ ได้ตรงกับชื่อหรือประเภทของผีที่เข้ามาสิงอยู่ในตัวผู้ป่วยและเข้ามาทำร้ายผู้ป่วยให้เกิดอาการเจ็บป่วยหากหมอผีไม่มีความรู้และประสบการณ์มากพอก็จะถูกผีทำร้ายได้ทั้งนี้ การประกอบพิธีกรรมเทะฮะแนมใหญ่ ผู้ประกอบพิธีจะต้องทำพิธีในตอนเช้าและต้องเสร็จสิ้นพิธีก่อนช่วงเพล หรือก่อน 11.00 น. และจะไม่ประกอบพิธีในวันพระ

ขั้นตอนการประกอบพิธีเริ่มจากการเตรียมอุปกรณ์ประกอบพิธี ประกอบด้วย กระด้งขนาดใหญ่ 1 ใบกล้วยน้ำว้า ข้าวใส่ชามหรือถ้วยน้ำตาลปี๊บผลไม้ 4-7 อย่าง ขนม เหล้าขาว หมากพูล และดอกไม้ ธูป เทียนเมื่อหมอผีตรวจดูอุปกรณ์เซ่นไหว้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ผู้ป่วยก็จะทำพานไหว้ครู ประกอบด้วย ดอกไม้ ธูป เทียน หมากพูล และเงินค่าครู ตามจำนวนที่หมอผีกำหนดมามอบให้กับหมอผี จากนั้นหมอผีจะขึ้นไปจุดธูปเทียนบูชาเสาผีเรือนหรือเสาปะโหนกบนเรือนของผู้ป่วย และเรียกผู้ป่วยออกมานั่งในบริเวณบ้านที่มีพื้นที่กว้าง ๆ เพื่อให้ผู้ป่วยนั่งยืดขาไปทางทิศตะวันตก เพราะชาวมอญมีความเชื่อว่าจะทำให้สิ่งที่ไม่ดีตกตามทิศหรือตกไปพร้อมกับตะวันตกดินจากนั้นให้ญาติผู้ป่วยนำภาชนะใส่เครื่องเซ่นไหว้ ผู้ประกอบพิธีเป็นผู้กำหนดว่าจะใช้กระด้งหรือแพต้นกล้วย หรือขึ้นอยู่กับปะโหนกชี้แนะตามประเภทของผีที่ทำร้ายผู้ป่วยหากผีชั่วร้ายหรือผีตายโหงมักจะใช้ต้นกล้วยแทนกระด้ง นำมาวางไว้ที่ปลายเท้าของผู้ป่วยผู้ประกอบพิธีใช้มือจับที่ศีรษะผู้ป่วยแล้วค่อย ๆ ลูบลงมาตามส่วนที่สำคัญของร่างกาย พร้อมกับพูดเรียกชื่อผีต่าง ๆ โดยเฉพาะผีที่ร่างทรงปะโหนกบอกไว้ว่าเป็นผีที่เข้ามาทำร้ายผู้ป่วย โดยจะมีการบอกกล่าวขอขมาและเชิญผีเหล่านั้นมากินของเซ่นไหว้เมื่อกินอิ่มแล้วก็ขอให้ผีต่าง ๆ ออกไปจากร่างกายผู้ป่วย หรืออ้อนวอนให้เลิกทำร้ายผู้ป่วยหมอผีพูดซ้ำอยู่ 3 ครั้ง พร้อมกับใช้มือลูบผู้ป่วยตั้งแต่ศรีษะจนถึงปลายเท้า 3 ครั้งเช่นกันเมื่อครบ 3 ครั้งแล้ว หมอผีจะพูดเป็นภาษามอญใจความว่า “เจี๊ยะ -พอ-ละ” แปลว่า “กินอิ่มแล้วนะ เอาอาการเจ็บป่วยต่าง ๆ ไปด้วยและออกจากร่างผู้ป่วยไป ... ไป” เป็นอันเสร็จพิธีจากนั้น หมอผีจะให้ญาติผู้ป่วยทำภาชนะใส่เครื่องเซ่นไหว้ผี หากเป็นแพต้นกล้วยก็จะให้เอาไปลอยน้ำแต่ถ้าเป็นกระด้งก็ให้ไปวางไว้ตามทางแยกหรือทางสามแพร่งนอกชายคาบ้าน

พิธีรำผี

การรักษาโดยประกอบพิธีรำผี จัดให้มีขึ้นต่อเมื่อบุคคลในครอบครัวประพฤติผิดข้อห้าม หรือ “ผิดผี”ทำให้ผีเรือนไม่พอใจ จึงดลบันดาลให้ครอบครัวไม่เป็นสุข มีปัญหาเดือดร้อนเกิดขึ้น เช่น เจ็บป่วยโดยหาสาเหตุไม่ได้ รักษาไม่หาย ก็จะต้องจัดพิธีรำผีขึ้นเพื่อสะเดาะห์เคราะห์และขอขมาโทษต่อปะโหนก (ผีเรือน) (สุวรณะ เย็นสุข, 2544, หน้า 96;รามัญคดี,2563) อธิบายถึงขั้นตอนการประกอบพิธีรำผี ดังต่อไปนี้

เมื่อเจ้าบ้านหรือหัวหน้าครอบครัวไปหา “โต้ง” ซึ่งเป็นผู้อำนวยการพิธี ให้ทำนายสิ่งผิดปกติที่เกิดขึ้น หากผลการทำนายบ่งบอกว่า เหตุอาเพศนั้นเป็นเพราะผีทำก็จะต้องจัดพิธีรำผีเพื่อเป็นการขอขมา โดยโต้งจะกำกับดูแลขั้นตอนตามตำราของแต่ละตระกูลที่มีรายละเอียดปลีกย่อยที่แตกต่างกัน ตั้งแต่การปลูกโรงพิธีและการเตรียมสิ่งของประกอบพิธีพิธีรำผีมักทำกันในช่วงฤดูแล้งรายเดือน 4 – 6 เช่นเดียวกับการเซ่นไหว้ผีและข้อห้ามในการจัดพิธีรำผี คือ ห้ามจัดในวันพระ เพราะต้องเข้าวัดทำบุญถือศีลฟังธรรม ในการจัดพิธีรำผีนี้ต้องบอกกล่าวญาติทุกคนในตระกูลที่เป็นผีเดียวกันให้มาร่วมพิธีทั้งหมด และการจัดงานภายในตระกูลเดียวกันนี้ห้ามจัดงานเกินปีละ 1 ครั้งงานในที่นี้ครอบคลุมการโกนจุก งานบวช งานแต่ง และงานศพ รวมทั้งต้องไม่มีคนในตระกูลตั้งครรภ์ในเวลาที่จัดงานในวันสุกดิบก่อนวันทำพิธีให้ปลูกโรงหรือปะรำพิธีขึ้นภายในบริเวณบ้านของตน จัดเตรียมเครื่องเซ่นอุปกรณ์รำผีและอาหารไว้เป็นชุด ตามจำนวนสมาชิกในตระกูล พร้อมทั้งวงปี่พาทย์มอญบรรเลงประกอบพิธีตลอดทุกขั้นตอน

การประกอบพิธีจะเริ่มจากการเชิญ “ปะโหนก” ซึ่งเป็นพ่อปู่หรือพ่อใหญ่ เข้าสู่โรงพิธีตั้งแต่เช้าตรู่โต้งจะเป็นผู้กำกับการรำในแต่ละขั้นตอนโดยละเอียด ซึ่งโต้งจะเป็นผู้จัดการเชิญให้ผีบรรพชนเข้าร่างลูกหลาน โดยไม่ได้ทำหน้าที่เป็นร่างทรงหรือให้ผีเข้าร่างโต้งแต่อย่างใด ในทุกบทของการรำ ผู้รำจะต้องรำด้วยเครื่องเซ่น 1 ชุด รำพร้อมอุปกรณ์ทั้ง 4 ชนิด ได้แก่ ต้นสันพร้ามอญ (ขาไก่ดำ) ดาบ กระสวยทอผ้า และเหล้าอย่างละคู่ รำจากด้านในปะรำพิธีไปวนรอบหม้อน้ำและกิ่งต้นหว้าซึ่งปักไว้หน้าปะรำพิธีการรำผีแต่ละบทจะมีท่ารำและเพลงประกอบประจำบทนั้น ๆวงปี่พาทย์และโต้งต้องรู้ขั้นตอนของพิธีกรรมทั้งหมด จังหวะท่ารำและเพลงต้องสัมพันธ์กัน

เมื่อปะโหนกลงโรงพิธีแล้ว จะทำพิธีกันในโรงพิธีไปตลอดทั้งวัน ตามขั้นตอนตามตำราของแต่ละตระกูล ซึ่งแต่ละขั้นตอนล้วนจำลองวิถีชีวิตตั้งแต่เกิดจนตาย กล่าวโดยย่อ ดังนี้ คือ “รำสามถาด” เป็นการรำบวงสรวงในโรงพิธีให้กับผีปู่ย่าตายาย เจ้าที่เจ้าทาง และเทวดาอารักษ์ “ฟันต้นกล้วย” เป็นการจำลองพิธีทำศพ “อาบน้ำต้นผี” เป็นการจำลองขั้นตอนการโกนจุกและอาบน้ำต้นผี (ผู้สืบทอดผี)“บวชเณร” เป็นการจำลองขั้นตอนการบวชเณร พายเรือบิณฑบาต “กาขโมยปลาย่าง” “ฝรั่งกินปลา” เป็นการจำลองขั้นตอนการเลี้ยงอาหารแขก (มุสลิม)“ส่องกล้อง ดูระยะทาง” เป็นการจำลองการเดินทางอพยพข้ามแม่น้ำสะโตง“ลูกสะใภ้”หมายถึง ลูกสะใภ้ทั้งหมดที่รำด้วยกันในพิธี“ปะโหนกรักษา” เป็นการจำลองการรักษาโรคด้วยคาถาและสมุนไพร“จุดเทียนเสี่ยงทาย” “กินปลาย่าง” เป็นการจำลองการกินปลาย่างของเมียน้อย ซึ่งต้องแอบกินเมื่อจบการรำชุดกินปลาย่างแล้วถือว่า การรำผ่านมาได้ครึ่งทาง ผู้ร่วมพิธีทั้งหมดจึงจะสามารถพักกินอาหารกลางวันได้ ซึ่งการรำผีในช่วงเช้าเป็นแบบพิธีการ

สำหรับช่วงบ่ายจะเป็นไปในลักษณะผ่อนคลาย เน้นความสนุกสนาน ได้แก่ “รำผีประจำโรงพิธี”พ่อปู่หนุ่มจีบสาว” “ส่งขันหมาก” “ชนไก่” “รำสามสาว” “เก็บฝ้าย (ทอผ้า)” “เล่นสะบ้า”“เล่นลูกข่าง” “คล้องช้าง” “ออกศึก” “รำกะเหรี่ยง” (ลาวกระทบไม้) “รำรวมญาติ” (ผีตะครุบ) ใครถูกคล้องคอด้วยผ้าสไบจะต้องออกไปรำ “เชิญปะโหนกกลับเสาผีบนเรือน” “รำถวายมือ” “ทุ่มมะพร้าวเสี่ยงทาย”(พิจารณาลักษณะการแตกของผลมะพร้าวและทิศทางการกระเด็น สำหรับพยากรณ์ความกลมเกลียวของคนในครอบครัว) และพิธีรำผีจะจบลงด้วยชุด “เข็นเรือ” (สะเดาะเคราะห์) เป็นการรวบรวมอาหารเซ่นไหว้ เศษเครื่องใช้ อุปกรณ์ประกอบพิธีที่ทำขึ้นชั่วคราวลงแพต้นกล้วย จากนั้นเปิดดูเทียนเสี่ยงทาย โต้งจะพิจารณาลักษณะการไหลของน้ำตาเทียนแล้วทำนายอนาคต การทำมาหากิน และความสามัคคีปรองดองของคนในตระกูล จากนั้นนำแพต้นกล้วยไปทิ้งน้ำ เป็นการลอดเสนียดจันไร เป็นอันเสร็จสิ้นพิธีกรรม

เนื่องด้วยการประกอบพิธีรำผีในอดีต เป็นพิธีที่ต้องมีการเตรียมการหลายขั้นตอนและใช้เวลาหลายวัน โดยเฉพาะขั้นตอนของพิธีที่ใช้เวลาถึง 1 วัน ตั้งแต่แต่เช้าจรดเย็น อีกทั้งมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง ประกอบกับข้อกำหนดในการประกอบพิธีกรรมรำผีที่ให้สมาชิกในตระกูลต้องมาให้ครบทุกคนชาวมอญส่วนใหญ่จึงไม่ยินดีที่จะประกอบพิธีกรรมรำผีเท่าใดนัก นอกจากเหตุผลในเรื่องความยุ่งยากของพิธีกรรมและค่าใช้จ่ายที่สูงแล้วส่วนใหญ่ยังเกรงว่าจะถูกมองจากคนในชุมชนว่า สมาชิกในครอบครัวทำผิดผี ละเมิดต่อจารีตประเพณีอีกด้วย (ณัฐวิทย์ พิมพ์ทอง, 2555 ; รามัญคดี, 2563)ปัจจุบัน การประกอบพิธีรำผีมอญจึงนับเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยุ่งยาก เนื่องมาจากเหตุผลหลายประการ ทั้งเรื่องของขั้นตอนการเตรียมพิธีกรรมที่มีรายละเอียดมาก เครื่องเซ่นไหว้เครื่องบูชาหลากหลายชนิดค่าใช้จ่ายสูงนับเป็นหลักหมื่นหรือหลักแสนบางชุมชนยังขาดผู้รู้ที่สามารถประกอบพิธีกรรม จึงต้องว่าจ้างผู้ทำพิธีจากชุมชนมอญที่อื่น ๆ อีกทั้งความเชื่อเรื่องการนับถือผีบรรพชนของชาวมอญก็ลดน้อยถอยลงประกอบกับการที่สมาชิกในตระกูลต่างออกไปจากชุมชนเพื่อเรียนหนังสือและทำงานในที่ห่างไกล ทำให้ไม่สะดวกที่จะเข้าร่วมพิธีกรรมให้ครบทุกคนด้วยเหตุนี้ ชาวมอญจึงมักจะหลีกเลี่ยงที่จะจัดพิธีรำผีด้วยการระมัดระวังที่จะไม่ทำ “ผิดผี ”

อย่างไรก็ตาม บางตระกูลจะจัดพิธีรำผีขึ้นเมื่อได้ผลกำไรจากการประกอบอาชีพตามที่ได้บนบานกับ “ปาโน่ก” หรือผีบ้านผีเรือนไว้ (สุวรณะ เย็นสุข, 2544, หน้า 96 ; ณัฐวิทย์ พิมพ์ทอง,2555; รามัญคดี, 2563 )พิธีกรรมการรำผีจึงยังคงได้รับการสืบสานต่อไปแม้ว่าหน้าที่ (function) และคุณค่าของพิธีกรรมในปัจจุบันจะถูกขับเน้นให้เป็นเรื่องของการแก้บนผีบรรพบุรุษ อันจะนำมาซึ่งความสำเร็จตามที่มุ่งหวัง มากกว่ามุ่งเน้นรักษาอาการเจ็บป่วย สะเดาะเคราะห์ และขอขมาต่อผีบรรพบุรุษดังเช่นในอดีต

  • Agrawal, S., S. K. Srivastava, M. Borkar et al. (2008). “Genetic affinities of north and northeastern populations of India: Inference from HLA-based study” In Tissue Antigens 72 , pp. 120 – 130
  • Basu, A., N. Mukherjee, S. Roy et al. (2003). “In Ethnic India: A genomic view, with special reference to peopling and structure” In Genome Res . 13, pp.2277-2290.
  • Bellwood, P. (2005a.). “Examining the farming/language dispersal hypothesis in the east Asian context” In The Peopling of East Asia: Putting Together Archaeology, Linguistics and Genetics, L. Sagart, R. Blench, and A. Sanchez-Mazas, eds. London, U.K.: Routledge- Curzon, 1, pp.17-30
  • Blagden, C.O. (1941). “Etymological Notes”, JBRS, IV, p. 59
  • Blust, R. (1996a.). “Beyond the Austronesian homeland: The Austric hypothesis and its implications for archaeology” In Transactions of the American Philosophical Society 86, pp.117-158.
  • Blust, R. (1996b.). “Austronesian culture history: The window of language.” In Prehistoric Settlement of the Pacific, W. H. Goodenough, ed. Philadelphia, PA: American Philosophical Society, 86, pp. 28-35
  • C.D. (1912). “Note on the Word ‘Talaing‘” In Journal of Burma Research Society (JBRS), II, pt.i, p.100
  • Coon, Carleton Stevens, Hunt, Edward E. (1965). The Living Races of Man. London: Great Britain. Lowe and Brydone (Printers) Ltd.
  • Cooper, W.G. “The Origin of the Talaings.” Journal of Burma Research Society (JBRS). 1 (1913), pp. 1 - 11
  • D.G.E. Hall. (1966). A History of South-East Asia. St. Martin’s Press
  • Diffloth, G. (2005). “The contribution of linguistic palaeontology to the homeland of Austro-asiatic” In The Peopling of East Asia: Putting Together Archaeology, Linguistics, and Genetics, L. Sagart, R. Blench, and A. Sanchez-Mazas, eds. London, U.K.: RoutledgeCurzon
  • Dona, M. Stadtner (2011) Edited by, Patrick McCormick, Mathias Jenny, and Chris Baker. “Demystifying Mists: The Case for the Mon ”. In The Mon Over Two Millennia: Monuments, Manuscripts, Movements. Bangkok: Institute of Asian Studies, Chulalongkorn University, p. 25.
  • Donegan, Patricia & Stamp, David & Haudricourt, Andre & Pinnow, Heinz – Jurgen. (1983). Rythm and the holistic organization of language structure, Paper from the Parasession on the Interplay of Phonology, Morphology and Syntax
  • Elizabeth H. Moore. (2007). Early Landscapes of Myanmar. Bangkok: River Books, pp.129-131.
  • Emmanuel Guilion. (1999). The Mons: A Civilization of Southeast Asia. Bangkok: The Siam Society
  • G.H. Luce. (1969). Old Burmar-Early Pagan. Volume One: Text. New York: J.J. Augustin Publisher
  • Gadgil, M., N. Joshi, S. Manoharan et al. (1998). “Peopling of India”. In The Indian Human Heritage, D. Balasubramanian and N. Rao, eds. Hyderabad, India L University Press, pp.100 – 129
  • Grierson, George A. (1904). “Mon – Khmer and Siamese – Chinese families” In Linguistic survey of India, Vol.2. Reprinted 1966, Delhi : Motilal Banarsidass.
  • Guillon, Emmanuel (1999). The Mons : A Civilization of southeast Asia. Bangkok : The Siam Society.
  • L. Shi, Y. F. Yao , M. Matsushita , L. Yu , X. Q. Huang, W. Yi, T. Oka , K. Tokunaga & J. Y.
  • Chu. (2010). “Genetic link among Hani, Bulang and other Southeast Asian populations: evidence from HLA -A, -B, -C, -DRB1 genes and haplotypes distribution. ” In International Journal of Immunogenetics 37, Blackwell Publishing Ltd,
  • M.O. (1912) “The Origin of the World ‘Talaing‘ ”. Journal of Burma Research Society (JBRS) 2 pt.1, pp. 73 – 74
  • Majumder, P.P. (2001). “Ethnic populations of India as seen from an evolutionary perspective”. In J. Biosci. 26, pp.533 – 545.
  • Mason, Francis (1854). “The Talaeng Language” In Journal of AmericanOriental Society 4, pp. 277-288
  • Nai Pan Hla. (1992).The Significant Role of the Mon Language and Culture in Southeast Asia. Tokyo: Institute for the Study of Languages and Cultures of Asia and Africa, University of Foreign Studies
  • Pattanayak, D.P. (1998). “The language Heritage of India” In The Indian Human Heritage, D.Balasubramanian and N. Rao, eds. Hyderabad, India : Universities Press, pp.95 – 99
  • Pejros, I., and V. Shnirelman (1998). “Rice in Southeast Asia: A regional interdisciplinary approach” In Archaeology and Language II: Correlating Archaeology and Linguistic Hypothesis , R. Blench and M. Springgs, eds. London, U.K.: Routledge, pp. 379-389
  • Phayre, Arthur P., Sir. (1967). History of Burma. London : Susil Gupta
  • Phayre, Arthur P., Sir. “On the History of Pegu ”. In Journal of the Royal Asiatic Society of Bengal 42 pt. 1
  • PULLEYBLANK, E.G (1966). "Chinese and IndoEuropeans." In JRAS pts. 1 and 2, April 1966, pp.9-39
  • RICCIO, M., NUNES, J., RAHAL, M., KERVAIRE, B., TIERCY, J., & SANCHEZ-MAZAS, A. (2011). “ The Austroasiatic Munda Population from India and its Enigmatic Origin: A HLA Diversity Study” In Human Biology, 83(3), pp.405-435. Retrieved October 7, 2020, from http://www.jstor.org/stable/41466748
  • Risley, H. (1915). The People of India. Calcutta, India: Thacker Spink.
  • Roychoudhury, S., S. Roy, A. Basu et al. (2001). Genomic structures and population histories of linguistically distinct tribal groups of India. Hum. Genet. 109, pp. 339 – 350
  • Sidwell. (2007). Comparative Mon – Khmer Linguistics in the 20 th Century : Where From, Where To ?. Accessed from http://www.jseals.org/monkhmer/sidwell2007comparat...
  • U San Win. (2012). Research on Suvannabhumi. Mawlamyine: Classic Media Group, pp. 1-3.
  • U Tun Aung Chain, Edited. (2013). Sacred Kawgun Cave: A historical Mon Buddist Monument. Yangon: Cho Cho Myint Media, p. 18.

ภาษาไทย

  • MGR Online. (2550). “หงส์ฟ้ารามัญ” วงทะแยมอญหนึ่งเดียวในไทย เล่นด้วยใจสำนึกรักความเป็น
  • มอญ. 31 สิงหาคม 2550. สืบค้นจาก https://mgronline.com/live/detail/9500000102471
  • กรรณิการ์ วิมลเกษม และจิรพัฒน์ ประพันธ์วิทยา (2542). “ชื่อ ‘ทวารวดี’ ในจารึกวัดจันทึก.” ใน สังคม
  • และวัฒนธรรมในประเทศไทย. กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร , หน้า 392
  • กรมศิลปากร. (2529). จารึกในประเทศไทย. กรุงเทพฯ: กรม ศิลปากร, หน้า 29
  • กาญจนา ชินนาค. (2543). การศึกษาประเพณีและพิธีกรรมการรำผีมอญ บ้านวัดเกาะ ตำบลสร้อยฟ้า อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี. ( รายงานการวิจัย ). ราชบุรี : คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎหมู่บ้านจอมบึง
  • จวน เครือวิชฌยาจารย์ (2537). วิถีชีวิตชาวมอญ. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์เมืองโบราณ
  • จวน เครือวิชฌยาจารย์ (2548) ประเพณีมอญที่สำคัญ, พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
  • จำปา เยื้องเจริญ.(2532). ศิลาจารึกในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติหริภุญไชย. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, หน้า 11-14.
  • จิรากรณ์ คชเสนี ( 2552 ). เสี้ยวหนึ่งของเรื่องราวมอญในมุมมองของผู้สืบเชื้อสายมอญ. ใน มนธิรา ราโท และขนิษฐา คันธะวิชัย (บรรณาธิการ), มอญในแผ่นดินสยาม, หน้า 109 – 136. กรุงเทพมหานคร : สถาบันเอชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • จริยาพร รัศมีแพทย์ ( 2544 ). รูปแบบการตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนของชุมชนมอญบ้านบางกระดี่กรุงเทพมหานคร. วิทยานิพนธ์ หลักสูตรปริญญาการวางแผนภาคและเมืองมหาบัณฑิต สาขาวิชาการวางผังเมือง บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • เจือจันทร์ วงศ์พลกานันท์. กระบวนการสร้างอัตลักษณ์ของสตรีชายแดนกลุ่มชาติพันธุ์มอญและปฏิสัมพันธ์กับกลุ่มพม่าและไทย : กรณีศึกษาชุมชนมอญในจังหวัดกาญจนบุรี. วิทยานิพนธ์ปริญญาดุษฎีบัณฑิต, สาขาสหวิทยาการ วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2549
  • ชโลมใจ กลั่นรอด ( 2541) ทะแยมอญ : วัฒนธรรมการดนตรีของชาวมอญชุมชนวัดบางกระดี่. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยมหิดล
  • ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และคณะ (2551). มอญ เขมรศึกษา (เอกสารวิชาการ โครงการตลาดวิชามหาวิทยาลัยชาวบ้าน หมายเลข 3 / 2551) พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์
  • ชาร์ลส ไฮแอม และ รัชนี ทศรัตน์. (2542). สยามดึกดำบรรพ์: ยุคก่อนประวัติศาสตร์ถึงสมัยสุโขทัย. กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ, หน้า 218-219.
  • ชุติมา สังคะหะ (2561). อาหารกับการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมชุมชนชาวมอญ กรณีศึกษาชุมชนชาวมอญเทศบาลตำบลบางหลวง อำเภอเมือง จังหวัดปทุมธานี. วารสารมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ นายเรืออากาศ ปีที่ 6 ธันวาคม 2561
  • ฑีฆายุ เจียมจวนขาว (2553). การปรับเปลี่ยนทางเสียงของคำยืมทับศัพท์ภาษาบาลีและสันสกฤตในภาษามอญ. วิทยานิพนธ์ สาขาวิชาภาษาศาสตร์ ภาควิชาภาษาศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • ณัฐวิทย์ พิมพ์ทอง (2012) “แกะกล่อง : รำโรง วิถีมอญ”. สืบค้นจาก https://www.sarakadee.com/2012/12/18/rammorn/
  • ณัฐวุฒิ สุทธิสงคราม. (2509). สมเด็จพระนางเรือล่ม. พระนคร : โอเดียนสโตร์
  • ดาริกา ธนะศักดิ์ศิริ. (2556) ความสำนึกในชาติพันธุ์มอญของชาวมอญในอำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี. กรมศิลปากร:กรุงเทพฯ.
  • ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร และคณะ ( 2547 ). ชื่อลำนำแม่กลอง วินิจฉัยนาม ใน ลุ่มแม่น้ำแม่กลอง ประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์ “เครือญาติมอญ ”. กรุงเทพฯ : มติชน
  • ธิดา สาระยา. (2538). (ศรี) ทวารวดี: ประวัติศาสตร์ยุคต้นของสยามประเทศ. กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ
  • นพวรรณ กรุดเพชร ( 2556 ) การศึกษาและการถ่ายทอดภูมิปัญญาลวดลายที่ใช้ประดับตกแต่งโลงมอญของชุมชนชาวมอญในจังหวัดสมุทรปราการ และจังหวัดสมุทรสาคร. ปริญญานิพนธ์ หลักสูตรปริญญาการศึกษามหาบัณฑิต สาขาวิชาศิลปศึกษา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิ โรฒ
  • นริศรา โฉมศิริ. การศึกษาบริบททางภาษาศาสตร์และวัฒนธรรมของชื่อชาวมอญ กรณีศึกษาชาวมอญ บ้านวังกะ ตำบลหนองลู อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี. วิทยานิพนธ์ ศิลปศา -สตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาภาษาศาสตร์ บันฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล พ.ศ. 2547, หน้า 28 - 29
  • นริศรานุวัตติวงศ์, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยา และ ดำรงเดชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยา. (2505) สาสน์สมเด็จ. เล่ม 20. พระนคร : คุรุสภา
  • นิธิ เอี่ยวศรีวงศ์. (2547). มอญศึกษา. ใน ลุ่มน้ำแม่กลอง ประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์ “เครือญาติ” มอญ (หน้า 36 -39). กรุงเทพ: มติชน.
  • ปภัสสร เธียรปัญญา และคณะ.(2547). สิทธิมนุษยชนท้องถิ่นมอญ: กรณีการสร้างท่อก๊าซที่มีผลกระทบต่อ ชุมชนมอญพื้นเมืองและชุมชนมอญอพยพที่อำเภอสังขละบุรี. กรุงเทพฯ: สำนักงานกองทุน สนับสนุนการวิจัย (สกว.)
  • ประเสริฐ ณ นคร. (2534). งานจารึกและงานประวัติศาสตร์ของ ดร.ประเสริฐ ณ นคร. กรุงเทพฯ: ศูนย์ส่งเสริมและฝึกอบรมการเกษตรแห่งชาติ สำนักส่งเสริมและฝึกอบรม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, หน้า 13-14.
  • ปริญญา กุลปราการ (2007). “โลงมอญ (อะลาบ๊อก)”. วารสาร Voice of Mon No.12, พฤศจิกายน–ธันวาคม 2007. สืบค้นจาก http://www.openbase.in.th/files/voiceofmon12.pdf
  • ผาสุก อินทราวุธ. (2548) สุวรรณภูมิจากหลักฐานทางโบราณคดี. กรุงเทพฯ : ภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร
  • พงศาวดารมอญ พม่า ( คัดจากประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 1) (2520). หนังสืออนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ อำมาตย์ตรีหลวงบริณัยจรรยาราษฎร์ (มณฑล คชเสนี) ณ เมรุวัดมกุฎกษัตริยาราม วันจันทร์ที่ 26 ธันวาคม พ.ศ.2520. กรุงเทพ : บริษัทประชาชน จำกัด
  • พรพิมล ตรีโชติ. (2542). ชนกลุ่มน้อยกับรัฐบาลทหารพม่า. กรุงเทพมหานคร : มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  • พระครู โชติธรรมสุนทร (ช่วง อู่เจริญ) (แปล) (2543). สุธรรมวดีราชา วงสะปฐม พงศาวดารชนชาติมอญ (ฉบับอักษรมอญ), อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพพระครูปทุมธรรมโชติ (บุญไทยโชติปาโล) ณ เมรุลอยแบบปราสาท 9 ยอด วัดราษฎร์ศรัทธาทา ต.บางหลวง อ.เมือง จ.ปทุมธานี วัน อาทิตย์ที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2540. กรุงเทพฯ: เท็คโปรโมชั่น แอนด์แอดเวอร์ไทซิ่ง
  • พระมหาจรูญ ญาณจารี (2009) “คติคำสอนมอญ” สืบค้นจาก http://www.openbase.in.th/node/9840
  • พระมหาจรูญ ญาณจารี (2009) (แปลและเรียบเรียง) “นิทานมอญ เรื่อง แหม๊ะอ๊อกเค (ศรีธนญชัย)” สืบค้นจาก http://www.openbase.in.th/node/9992?fbclid=IwAR3B453dpyHfXK3AfzeZ-4DKxSoyQvMkKLLhH_PAOHwUmZQLLq64V0U4kYA
  • พัชรินทร์ สิรสุนทร (2558) การจัดการความรู้แบบมีส่วนร่วมเพื่อพัฒนานวัตกรรมทางสังคมเพื่อการเรียนรู้วัฒนธรรมมอญ กรณีศึกษาชุมชนบางกระดี่ กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย. กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ประจำปีงบประมาณ 2558
  • พิสัณห์ ปลัดสิงห์ ( 2530 ). คนมอญ. กรุงเทพฯ : เคล็ดไทย. พิมพ์ครั้งแรก เมษายน 2530
  • ไพโรจน์ โพธิ์ไทร (2521). ภูมิหลังของพม่า. กรุงเทพฯ : โอเดียนสโตร์
  • ไม่ปรากฏชื่อผู้แต่ง. (6 มีนาคม 2009) “ทอดมันหน่อกะลา เอกลักษณ์อาหารมอญเกาะเกร็ด” สืบค้นจาก http://www.openbase.in.th/node/10069
  • (ไม่ปรากฎชื่อผู้แต่ง). (2009). “ทะแยมอญ (ซะมาแขวก)” .สืบค้นจาก www.monstudies.com อ้างถึงใน http://www.openbase.in.th/node/10101
  • (ไม่ปรากฎชื่อผู้แต่ง) (2559) “ประเพณีบุญเดือนสิบ ลอยเรือสะเดาะเคราะห์ ชาวมอญ สังขละบุรี” สืบค้นจาก https://travel.kapook.com/view128348.html. 6 กันยายน 2559. เข้าถึงข้อมูลวันที่ 29 พฤษภาคม 2563
  • วัฒนา บุรกสิกร (2541). ลักษณะคำไทยที่มาจากภาษามอญ : รายงานการวิจัย. กรุงเทพ : เท็คโปรโมชั่น แอนด์ แอดเวอร์ไทซิ่ง
  • ส.พลายน้อย. (2544). เล่าเรื่องพม่ารามัญ. (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพมหานคร : พิมพ์คำ
  • สรัญญา ชูชาติไทย. (2543). แนวทางการอนุรักษ์หมู่บ้านมอญพระประแดง : กรณีศึกษาหมู่บ้านทรงคนอง. วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต สาขาวิชาสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • สรัสวดี อ๋องสกุล. (2543). ชุมชนโบราณในแอ่งเชียงใหม่-ลำพูน. กรุงเทพฯ: อมรินทร์, หน้า 17.
  • สุกัญญา เบาเนิด.(2549). การสร้างอัตลักษณ์ของคนมอญย้ายถิ่น : ศึกษากรณีแรงงานข้ามชาติในจังหวัดสมุทรสาคร. วิทยานิพนธ์ปริญญามานุษยวิทยามหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • สุจิตรา เปลี่ยนรุ่ง ( 2553 ). การสื่อสารเพื่อสร้าง ธำรงรักษา และต่อรองอัตลักษณ์ความเป็นมอญของกลุ่มชาวมอญพลัดถิ่นในประเทศไทยท่ามกลางกระแสโลกาภิวัตน์. วิทยานิพนธ์หลักสูตรปริญญานิเทศศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชานิเทศศาสตร์ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • สุจริตลักษณ์ ดีผดุง, วิจิตร เกิดวิสิษฐ์, สุเอ็ด คชเสนีย์ และ อรรถจินดา ดีผดุง (2542). มอญ : บทบาทด้านสังคม วัฒนธรรม ความเป็นมาและความเปลี่ยนแปลงในรอบ 200 ปีของกรุงรัตนโกสินทร์. สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อชนบท มหาวิทยาลัยมหิดล
  • สุจริตลักษณ์ ดีผดุง. (2542) สารานุกรมชาติพันธุ์มอญ. นครปฐม : สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบท, หน้า 7 – 9
  • สุภรณ์ โอเจริญ (2541). มอญในเมืองไทย. โครงการหนังสือชุด “ประเทศเพื่อนบ้านของไทยในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้.”. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. พิมพ์ครั้งที่ 1
  • สุภาวดี มิตรสมหวัง, ผศ.ดร. ( 2544 ). สถาบันครอบครัวของกลุ่มชาติพันธุ์ในเขตกรุงเทพมหานคร : ศึกษากรณีกลุ่มชาติพันธุ์ซิกข์ มอญ เขมร และไทย. รายงานวิจัย. ภาคสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • สุวรณะ เย็นสุข ( 2544 ) การรักษาพยาบาลแบบพื้นบ้านชาวมอญในประเทศไทยเปรียบเทียบระหว่างชาวมอญภาคกลางกับภาคเหนือ. วิทยานิพนธ์ สาขาวิชาไทยศึกษา ศิลปศาสตรบัณฑิต. มหาวิทยาลัยรามคำแหง
  • สุเอ็ด คชเสนี ( 2527 ). วัฒนธรรมประเพณีมอญ.เมืองโบราณ, 10 (3), 50 - 63
  • สุเอ็ด คชเสนี (2547) “วัฒนธรรมประเพณีมอญ” ใน 80 ปี ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์สุเอ็ด คชเสนี : 88 ปี สมาคมไทยรามัญ, หน้า 80 – 83. โสภณ นิไชยโยค, บรรณาธิการ. กรุงเทพฯ : เท็คโปรโมชั่น แอนด์ แอดเวอร์ไทซซิ่ง, 2547
  • โสภณ นิไชยโยค. (บรรณาธิการ) ( 2547 ). 80 ปี ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์สุเอ็ด คชเสนี: 48 ปี สมาคมไทยรามัญ. กรุงเทพฯ : บริษัท เท็คโปรโมชั่น แอนด์ แอ็ดเวอร์ไทซซิ่ง จำกัด
  • องค์ บรรจุน (2549). ต้นทางจากมะละแหม่ง. กรุงเทพฯ : อัมรินทร์ พริ้นติ้งกรุ๊ป
  • องค์ บรรจุน (2549). มอญขวาง. ใน ศิลปวัฒนธรรม. กุมภาพันธ์, 2549. 27 (4), หน้า 50 – 53
  • องค์ บรรจุน (2550) สตรีมอญในราชสำนักสยามสมัยรัตนโกสินทร์ พ.ศ.2325 – 2475. ปริญญานิพนธ์ สาขาประวัติศาสตร์ไทย หลักสูตรปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
  • องค์ บรรจุน (2052). “ ประเพณีการสร้างเสาหงส์ –ธงตะขาบ”. สืบค้นจาก www.monstudies,com อ้างถึงใน http://www.openbase.in.th/node/10038.
  • องค์ บรรจุน (2052). “อาหารมอญ – ข้าวทิพย์มอญ” สืบค้นจาก http://www.openbase.in.th/node/10059?fbclid=IwAR2gxyh9xapeV__UwzO1CFfrnq5iDqN-PztXNoU8N9qrOivl_ADYjARyono
  • องค์ บรรจุน (2558). “สะบ้า : เกมกีฬาของมอญ เขมร และอื่น ๆ” ใน นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤศจิกายน 2558 อ้างถึงใน https://www.silpa-mag.com/culture/article_10854 (เผยแพร่วันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ.2563)
  • องค์ บรรจุน. (2559). “เมียนมาร์ ต้นหว้า และศรัทธา” ใน ศิลปวัฒนธรรม. ฉ.10. (สิงหาคม 2559), หน้า 54
  • องค์ บรรจุน (2559). “บ้านทุ่งเข็น” : ชุมชนชาติพันธุ์มอญร่วมสมัยแห่งสุพรณบุรี. ดุษฎีนิพนธ์หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต ( สหวิทยาการ ) วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  • อิมธิรา อ่อนคำ (2560). มอญ ตำบลบ้านม่วง อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี : วิถีและพลัง. ดุษฎีนิพนธ์ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต, มหาวิทยาลัยบูรพา
  • อิมธิรา อ่อนคำ (2562). ประเพณีงานศพของชาวมอญกับความเชื่อที่สืบทอดอย่างเข้มแข็งในสังคมไทยใน วารสารบริหารธุรกิจและสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ปีที่ 2 ฉบับที่ 3 กันยายน - ธันวาคม 2562

นายจิรศักดิ์ กาสรศิริ (อายุ 29 ปี) ชาวไทยเชื้อสายมอญ อ.โพธาราม จ.ราชบุรี


close
ลืมรหัสผ่าน?
กรุณากรอกอีเมลที่ท่านสมัครสมาชิกไว้เพื่อรับรหัสผ่านใหม่
ระบบจัดส่งการสร้างรหัสผ่านใหม่ให้ท่านทางอีเมลเรียบร้อยแล้ว
นโยบายความเป็นส่วนตัว