2023-06-13 18:11:14
ผู้เข้าชม : 12460

ไทดำ มีถิ่นฐานดั้งเดิมในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศเวียดนามเหนือ เชื่อมต่อกับลาวและจีนตอนใต้ จากนั้นได้อพยพเข้ามาในประเทศไทยในสมัยกรุงธนบุรีต่อเนื่องจนถึงรัชกาลที่ 5  คนกลุ่มนี้มีความเข้มแข็งทางวัฒนธรรมจากรากฐานความสัมพันธ์ของระบบสายตระกูลและเครือญาติ มีความเชื่อเกี่ยวกับผีบรรพบุรุษอย่างเข้มข้น มีเครือข่ายทางสังคมข้ามพรมแดนรัฐชาติ อีกทั้งเป็นกลุ่มคนที่มีศักยภาพในการอนุรักษ์ ฟื้นฟูและธำรงรักษาอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมให้มีความเข้มแข็ง 

  • ข้อมูลพื้นฐาน
  • ประวัติศาสตร์
  • การตั้งถิ่นฐานและกระจายตัว
  • วิถีชีวิตและวัฒนธรรม
  • งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
  • อ้างอิง

ชื่อกลุ่มชาติพันธุ์ : ไทดำ
ชื่อเรียกตนเอง : ลาวโซ่ง, ไทยโซ่ง, ไทดำ ,ไทยทรงดำ, ไตดำ, โซ่ง
ชื่อที่ผู้อื่นเรียก : ลาวทรงดำ, ผู้ไทยดำ, ไทยดำ
ตระกูลภาษา : ไท
ตระกูลภาษาย่อย : ไต-ไต
ภาษาพูด : ไต
ภาษาเขียน : โตสือไตดำ

ไทดำ” เป็นชื่อเรียกกลุ่มชาติพันธุ์ที่เริ่มถูกนำมาเป็นชื่อที่ใช้เรียกตนเองมากขึ้น ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากความเคลื่อนไหวในการฟื้นฟูอนุรักษ์วัฒนธรรมที่มีต้นกำเนิดจากดินแดนดั้งเดิมในเขตสิบสองจุไท สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ที่ต้องการเรียกชื่อของตนเองว่า “ไทดำ” ตามผู้คนและแหล่งกำเนิดดั้งเดิม ชื่อเรียกดังกล่าวจึงถูกใช้อย่างกว้างขวางและเป็นสากล สามารถเชื่อมโยงเครือข่ายกลุ่มชาติพันธุ์ไทดำข้ามรัฐชาติเพื่อสร้างความเป็นกลุ่มก้อนเดียวกันในขณะที่ชื่อเรียกที่มีคำนำหน้าว่าลาว เช่น ลาวโซ่งหรือ

ลาวทรงดำ เริ่มถูกปฏิเสธเนื่องจากพวกเขายืนยันอัตลักษณ์การเป็นกลุ่มคนไท แต่เนื่องจากการถูกบังคับในย้ายถิ่นจึงได้เดินทางมาพร้อมกับกลุ่มลาวหลายกลุ่ม ทำให้ถูกเรียกอย่างเหมารวมว่าเป็นชาวลาว

กลุ่มชาติพันธุ์ไทดำเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่จัดอยู่ในตระกูลภาษาขร้าไท (Kra-Dai) สาขาตะวันตกเฉียงใต้ (Southwestern Language Group) มีระบบภาษาเขียนเป็นของตนเองเรียกโดยทั่วไปว่า “โตสือไตดำ” (ตัวสือไทดำ) สันนิษฐานว่าอาจจะมาจากตัวอักษรสมัยสุโขทัย ไทดำในประเทศไทย มีถิ่นฐานดั้งเดิมอยู่ในบริเวณภาคเหนือของประเทศเวียดนาม แถบแม่น้ำดำและแม่น้ำแดงปัจจุบันอยู่ในเขตเวียดนามเหนือตอนเชื่อมต่อกับลาวและจีนตอนใต้ เคยเป็นที่รู้จักในนามของสิบสองจุไทส่วนการเคลื่อนย้ายเข้ามาในประเทศไทยเกิดขึ้นตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรี พ.ศ. 2322 เป็นต้นมา ช่วงเวลาของการเคลื่อนย้ายครั้งสำคัญเข้าสู่ประเทศไทย 7ครั้ง คือ1) สมัยกรุงธนบุรี (พ.ศ. 2322)2) รัชกาลที่ 1 กรุงรัตนโกสินทร์(พ.ศ. 2335) 3) รัชกาลที่ 3 กรุงรัตนโกสินทร์ (พ.ศ. 2378)4) รัชกาลที่ 3กรุงรัตนโกสินทร์ (พ.ศ. 2379)5) รัชกาลที่ 3กรุงรัตนโกสินทร์ (พ.ศ. 2381) 6) รัชกาลที่ 3กรุงรัตนโกสินทร์ (พ.ศ. 2382)และ7) รัชกาลที่ 5 กรุงรัตนโกสินทร์ (พ.ศ. 2429)

ในระยะแรกที่เคลื่อนย้ายเข้ามาในประเทศไทย ชาวไทยดำได้รับอนุญาตในการตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนในเขตเมืองเพชรบุรี และได้ตั้งถิ่นฐานอย่างต่อเนื่องมาจนถึงสมัยรัชกาลที่ 5 หลังจากนั้นจึงได้เริ่มโยกย้ายออกจากเพชรบุรี ไปตั้งบ้านเรือนกระจายอยู่ตามจังหวัดต่างๆ ปัจจุบันพบชุมชนชาวไทดำอยู่ในหลายจังหวัดของประเทศไทยได้แก่ราชบุรีกาญจนบุรีนครปฐมสุพรรณบุรีสมุทรสงครามสมุทรสาครลพบุรีสระบุรีนครสวรรค์พิจิตรสุโขทัยพิษณุโลกประจวบคีรีขันธ์ชุมพรสุราษฎร์ธานี และเลย

ในมิติสังคมและวัฒนธรรม กลุ่มชาติพันธุ์ไทดำถือเป็นกลุ่มที่มีความเข้มเข็งทางวัฒนธรรม ที่เกิดขึ้นจากความผูกพันในระบบสายตระกูลและเครือญาติและระบบผีบรรพบุรุษที่มีอยู่อย่างเข้มข้น แม้ว่าจะมีการเคลื่อนย้ายแยกออกห่างจากถิ่นฐานดั้งเดิมมายาวนานกว่าสองร้อยปี แต่ชาวไทดำยังสามารถรักษาอัตลักษณ์วัฒนธรรมทางชาติพันธุ์ร่วมกับชาวไทดำในภูมิภาคได้ชาวไทดำจึงเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพในการอนุรักษ์ฟื้นฟูและธำรงรักษาอัตลักษณ์กลุ่มชาติพันธุ์ให้มีความเข้มแข็งท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน

ประวัติศาสตร์ของกลุ่มชาติพันธุ์ไทดำในประเทศไทยสมทรงบุรุษพัฒน์ และคณะ (2552, 540) กล่าวไว้ว่ากลุ่มชาติพันธุ์ไทยโซ่งหรือไทดำ ดั้งเดิมอยู่ที่เมืองแถง หรือปัจจุบันคือเมืองเดียนเบียนฟูทางตอนเหนือของประเทศเวียดนามต่อมาได้มีการอพยพเข้ามาอยู่ในประเทศไทยครั้งแรกในปี พ.ศ. 2322ด้วยเหตุผลทางการเมืองจากนั้นการอพยพดำเนินต่อไปอีกหลายครั้งบริเวณที่กลุ่มชาติพันธุ์ไทยโซ่งเข้ามาตั้งหลักแหล่งเป็นแห่งแรก คือที่ตำบลหนองปรงอำเภอเขาย้อยเมืองเพชรบุรีต่อมาได้มีการโยกย้ายไปหาที่ทำกินใหม่ในบริเวณใกล้เคียงในภาคตะวันตกมีชุมชนภาษาไทยโซ่งอาศัยอยู่ใน 7 จังหวัดได้แก่ กาญจนบุรีเพชรบุรีราชบุรีนครปฐมสมุทรสาครสมุทรสงครามสุพรรณบุรีกลุ่มชาติพันธุ์ไทยโซ่งที่อาศัยอยู่ในจังหวัดที่มาอาณาบริเวณใกล้เคียงกับจังหวัดเพชรบุรีส่วนใหญ่อพยพมาจากจังหวัดเพชรบุรีเป็นเวลา 3-4 ชั่วอายุคน(ประมาณ 200 ปี)กลุ่มชาติพันธุ์ไทยโซ่งได้มีการรวมตัวกันอย่างเข้มแข็งทำให้เกิดชุมชนภาษาไทยโซ่งที่เข้มแข็งแทบทุกจังหวัดของภูมิภาคตะวันตก

ลำดับขั้นของการอพยพเคลื่อนย้ายชาวไทดำในประเทศไทยจากดินแดนที่เคยเรียกว่าสิบสองจุไทซึ่งตั้งอยู่บริเวณภาคตะวันตกเฉียงเหนือของเวียดนามเข้ามาสู่ประเทศไทยตั้งแต่ พ.ศ. 2322โดยได้รับการโปรดเกล้าฯ จากสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีให้ชาวไทดำตั้งบ้านเรือนอยู่ที่เมืองเพชรบุรีเป็นแห่งแรกซึ่งแสดงให้เห็นช่วงเวลาของการเคลื่อนย้ายครั้งสำคัญเข้าสู่ประเทศไทย 7ครั้ง (พิเชฐสายพันธ์, 2561, 18-20) ดังนี้

1) สมัยกรุงธนบุรี (พ.ศ. 2322) กองทัพเมืองหลวงพระบางไปตีเมืองทันต์ เมืองหวี เมืองม่วย โดยบัญชาของเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ได้ครอบครัว “ลาวทรงดำ”ลงมาเป็นอันมาก โปรดฯ ให้ตั้งบ้านเรือนที่เพชรบุรี
2) รัชกาลที่ 1 กรุงรัตนโกสินทร์ (พ.ศ.2335) เจ้าเมืองเวียงจันทน์แต่งกองทัพไปตีเมืองแถง เมืองพวน กวาดต้อนผู้คนส่งลงมากรุงเทพฯ โปรดฯให้ตั้งบ้านเรือนที่เพชรบุรี
3) รัชกาลที่ 3 กรุงรัตนโกสินทร์ (พ.ศ. 2378)เจ้าพระยาธรรมา (สมบุญ) แม่ทัพยกขึ้นไปหลวงพระบาง แต่งให้เจ้าสญไชย เจ้าแก่นคำ เจ้าคำปานคุมทัพขึ้นไปตีเมืองแถง กวาดต้อนครอบครัวชาวเมืองแถงประมาณ 10,000 คนลงมากรุงเทพฯ โปรดฯให้ตั้งบ้านเรือนที่เพชรบุรี
4) รัชกาลที่ 3 กรุงรัตนโกสินทร์ (พ.ศ. 2379 ) เจ้าอุปราช เจ้าราชวงศ์เมืองหลวงพระบาง แต่งทัพขึ้นไปตีเมืองหึมหรือฮึม เมืองคอย เมืองควรจับได้กลุ่มชาวลาวทรงดำ แล้วให้พระยาศรีมหานาม คุมลงมากรุงเทพฯ โปรดฯ ให้ตั้งบ้านเรือนที่เพชรบุรี
5) รัชกาลที่ 3 กรุงรัตนโกสินทร์ (พ.ศ.2381) เจ้าราชวงศ์จากหลวงพระบาง คุมครัวเรือนลาวทรงดำลงมากรุงเทพฯ โปรดฯให้ไปอยู่ท่าแร้งบ้านแหลม เพชรบุรี
6) รัชกาลที่ 3 กรุงรัตนโกสินทร์ (พ.ศ. 2382) เมืองหลวงพระบางส่งครัวลาวทรงดำร้อยคนเศษ ลงมาถวายที่กรุงเทพฯ
7) รัชกาลที่ 5 กรุงรัตนโกสินทร์ (พ.ศ.2429) เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี เป็นแม่ทัพขึ้นไปปราบฮ่อ ได้ตั้งค่ายที่เขตเมืองแถง ครั้งนี้ไม่ปรากฏหลักฐานการกวาดต้อนผู้คนลงมา แต่สันนิษฐานว่าทหารที่เป็น“ลาวโซ่ง” อาจจะพาญาติมิตรของตนมาสมทบที่เมืองเพชรบุรีอีก

จะเห็นว่า การเคลื่อนย้ายเข้ามาสู่ดินแดนประเทศไทยของชาวไทดำในระยะแรกได้รับอนุญาตในการตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนในเขตเมืองเพชรบุรี ทำให้เพชรบุรีกลายเป็นถิ่นฐานบ้านเรือนของชาวไทดำในประเทศไทยเป็นแห่งแรก และมีการตั้งถิ่นฐานอย่างต่อเนื่องมาจนถึงสมัยรัชกาลที่ 5 จากนั้นชาวไทดำได้เริ่มโยกย้ายออกจากเพชรบุรีไปตั้งบ้านเรือนกระจายอยู่ตามจังหวัดต่างๆ เป็นจำนวนมากทำให้ปัจจุบันพบชุมชนชาวไทดำ อยู่ในหลายจังหวัดของประเทศไทยได้แก่ ราชบุรี กาญจนบุรี นครปฐมสุพรรณบุรีสมุทรสงครามสมุทรสาครลพบุรี สระบุรี นครสวรรค์ พิจิตร สุโขทัย พิษณุโลก ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพรสุราษฎร์ธานี และเลย


ประวัติศาสตร์การตั้งถิ่นฐานของชาวไทดำที่อาศัยอยู่ในบริเวณประเทศไทย ได้เริ่มอพยพเคลื่อนย้ายเข้ามาตั้งถิ่นฐานในประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. 2322 ในอดีตกลุ่มชาติพันธุ์นี้ตั้งถิ่นฐานอยู่ในบริเวณที่เรียกว่าสิบสองจุไทซึ่งตั้งอยู่ภาคตะวันตกเฉียงเหนือของเวียดนาม อย่างไรก็ตามนักประวัติศาสตร์ได้สันนิษฐานถึงประวัติศาสตร์ต้นกำเนิดของกลุ่มไทดำในเวียดนามว่าควรเริ่มต้นตั้งแต่เมื่อใด ศาสตราจารย์คำจอง(Cam Trong)นักชาติพันธุ์วิทยาชาวเวียดนามซึ่งมีเชื้อสายเป็นลูกหลานตระกูลเจ้าเมืองไทดำในเวียดนามได้มีข้อเสนอไว้ใน “ประวัติศาสตร์และเอกสารไทดำในเวียดนาม”ว่า การปรากฏร่องรอยของกลุ่มไทดำในเวียดนามอาจมีมาตั้งแต่ราวคริสต์ศตวรรษที่ 8-10ซึ่งกลุ่มไทดำอพยพมาจากหัวแม่น้ำตาว (แม่น้ำแดง)มีท้าวสวงท้าวเงินเป็นผู้นำลงมาสู่เมืองลอ (ปัจจุบันเมืองนี้ตั้งอยู่ในภาคเหนือของเวียดนามมีชื่อว่าเหงียโหละ – Nghia Lo)จนถึงประมาณคริสต์ศตวรรษที่11ผู้นำชื่อล้านเจืองได้พาผู้คนแยกออกมาจากเมืองลอมาตั้งถิ่นฐานใหม่ที่เมืองแถง (เดียนเบียนฟู)ครั้นถึงคริสต์ศตวรรษที่ 13เจ้าฟ้าคำแลบ (หรือท้าวลอแลด)ได้ย้ายเมืองหลวงจากเมืองแถงมาตั้งที่เมืองหม้วย (คำจอง2536, 194)ซึ่งระยะเวลานี้เป็นช่วงที่อาณาจักรล้านช้างมีกำลังเข้มแข็งและสถาปนาขึ้นมาที่เมืองหลวงพระบาง

ในคริสต์ศตวรรษที่ 13นักประวัติศาสตร์จะเริ่มมีการอธิบายการปรากฏตัวของกลุ่มไทดำนเอกสารประวัติศาสตร์ที่สันนิษฐานความน่าจะเป็นของระยะเวลาที่ใกล้เคียงได้DavidWyatt (1976, 110-111) ได้ระบุถึงเอกสารประวัติศาสตร์ที่มีการกล่าวถึงไทดำจากเรื่อง “ขุนบรม”ที่ปรากฏอย่างอ้างอิงได้ในบันทึกพงศาวดารล้านช้างและพงศาวดารเมืองน่านที่อธิบายการเกิดขึ้นของบ้านเมือง ที่โยงใยเครือข่ายความสัมพันธ์กันตั้งแต่แถบสิบสองจุไทมายังล้านช้าง ในดินแดนลุ่มแม่น้ำโขงเมื่อเทียบเคียงเรื่องราวของขุนบรมกับตำนานและเอกสารท้องถิ่นของไทดำก็จะเห็นเรื่องราวที่ดำเนินไปอย่างสอดคล้องกันจึงอาจกล่าวได้ว่า ในราวคริสต์ศตวรรษที่ 13 เป็นต้นมา ชาวไทดำน่าจะตั้งถิ่นฐานในดินแดนสิบสองจุไทและมีเครือข่ายบ้านเมืองเฉพาะกลุ่มจนเป็นที่รู้จักและรับรู้ในบ้านเมืองอาณาจักรแวดล้อมที่ทำให้เห็นการบันทึกเรื่องราวของคนกลุ่มต่างๆ เหล่านี้ปรากฏขึ้นอย่างมีความเกี่ยวข้องกันในระดับภูมิภาค ในด้านประวัติศาสตร์ชุมชนไทดำในแต่ละจังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดเพชรบุรี จังหวัดราชบุรี จังหวัดนครปฐม จังหวัดสุพรรณบุรี จังหวัดกาญจนบุรี จังหวัดนครสวรรค์ จังหวัดกำแพงเพชร จังหวัดพิจิตร จังหวัดพิษณุโลก จังหวัดสุโขทัย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดชุมพร จังหวัดสุราษฎร์ธานี และจังหวัดเลย โดยมีรายละเอียด ดังนี้

จังหวัดเพชรบุรี

ตำบลหนองปรงอำเภอเขาย้อยจังหวัดเพชรบุรีเป็นถิ่นฐานเก่าแก่จนเรียกติดปากว่าเป็น “บ้านเก่า” ของชาวลาวโซ่ง/ไทดำในประเทศไทยชาวไทดำท้องถิ่นหมู่บ้านหนองปรง (เดิมเรียกว่าบ้านเลา)หนองจิกหนองเข้เชื่อกันว่า ชาวไทดำได้อพยพมาตั้งถิ่นฐานในจังหวัดเพชรบุรีตั้งแต่รัชสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรีโดยถูกกำหนดให้ไปอยู่บริเวณตำบลท่าแร้ง ทางไปอำเภอบ้านแหลมแต่ไม่ปรากฎระยะเวลาที่อาศัยอยู่แต่ชาวไทดำดั้งเดิมเคยอยู่บริเวณที่ดอนใกล้ภูเขา จึงย้ายไปอยู่ที่หมู่บ้านหนองปรงและคาดว่าจะย้ายไปพร้อมกับชาวไทดำที่หมู่บ้านสะพานยี่หน และหมู่บ้านเวียงคอยหนองปรงจึงเป็นที่มาของไทดำทั่วไปในประเทศไทย (มนูอุดมเวช2547, 17)

ตำบลห้วยข้องอำเภอบ้านลาดจังหวัดเพชรบุรี

ไทดำบ้านห้วยข้อง หรือบ้านใหม่ได้อพยพไจากหมู่บ้านเวียงคอยและหมู่บ้านวังตะโกในเขตอำเภอเมืองเพชรบุรีเมื่อประมาณ พ.ศ. 2350-2400 และยังมีไทดำหมู่บ้านใกล้เคียงชื่อว่าบ้านหนองโสน หรือห้วยทราย ประมาณก่อน พ.ศ. 2460 ไทดำจากแถบห้วยข้องและหนองโสน หรือบ้านใหม่และห้วยทราย มีจำนวนหนึ่งได้อพยพไปอยู่จังหวัดพิจิตร กำแพงเพชร หมู่บ้านแม่ประจันต์ในเพชรบุรี และไร่หลวง ในเขตอำเภอท่ายางเพชรบุรีต่อมาประมาณราว พ.ศ. 2510 ไทดำจากหนองโสนหรือห้วยทรายได้อพยพไปอยู่ที่พิจิตร กับอำเภอวังทองและอำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก และมีกลุ่มที่อพยพจากห้วยข้องและหนองโสนลงไปทางภาคใต้ ไปอยู่ที่ตำบลท่าข้ามอำเภอท่าแซะจังหวัดชุมพร

หมู่บ้านแม่ประจันต์ตำบลวังไคร้อำเภอท่ายางจังหวัดเพชรบุรี

ชาวไทดำบ้านแม่ประจันต์ส่วนใหญ่อพยพมาจากบ้านวังตะโกอำเภอเมืองจังหวัดเพชรบุรีตั้งแต่ราว พ.ศ. 2440จนปัจจุบันมีประชากรชาวไทดำอาศัยอยู่ในตำบลวังไคร้ถึงร้อยละ90ของประชากรทั้งหมด

จังหวัดราชบุรี

บ้านด่านทับตะโกอำเภอจอมบึงจังหวัดราชบุรี

ไทดำรุ่นแรกอพยพเข้ามาตั้งบ้านเรือนเมื่อประมาณ พ.ศ. 2505-2510ส่วนใหญ่มาจากอำเภอกำแพงแสนนครปฐม จากบริเวณหมู่บ้านโนนทองสระพัง บ่อน้ำจืด และไผ่หูช้างจนถึง พ.ศ. 2544 ไทดำที่บ้านด่านทับตะโกมีประมาณ15ครัวเรือน

บ้านวังปลาอำเภอจอมบึงจังหวัดราชบุรี

ไทดำหมู่บ้านวังปลา ส่วนใหญ่อพยพมาจากบ้านไผ่หูช้าง อำเภอกำแพงแสน และหมู่บ้านเกาะแรตอำเภอบางเลนจังหวัดนครปฐมเมื่อประมาณ พ.ศ. 2510เนื่องจากภูมิลำเนาเดิมมีที่ทำกินไม่เพียงพอการอพยพไปหมู่บ้านวังปลาในสมัยนั้นมีความยากลำบากหากเดินทางด้วยรถยนต์จากราชบุรีจะสามารถเดินทางผ่านได้เพาะห้วยท่าช้างซึ่งอยู่ระหว่างอำเภอจอมบึงกับวังปลา จากนั้นต้องเดินตามทางเกวียนเพื่อไปยังหมู่บ้านวังปลา

บ้านอ้ออีเขียวตำบลกรับใหญ่อำเภอบ้านโป่งจังหวัดราชบุรี

ไทดำ บ้านอ้ออีเขียวมีประวัติว่าอพยพมาจากเพชรบุรีเมื่อประมาณ พ.ศ. 2440เช่น
ตระกูลของนายพอ แฝงเพชร มีพ่อของปู่และแม่ของปู่อพยพมาจากเพชรบุรีตระกูลของนายสมัยติดหงิมที่กล่าวว่า อพยพมาจากเพชรบุรี ส่วนใหญ่ไทดำบ้านอ้ออีเขียวตั้งบ้านเรือนอยู่ใกล้กับวัดอ้ออีเขียวทางหน้าวัดอ้ออีเขียว 7 หลังคาเรือน และหลังวัด 6หลังคาเรือน

จังหวัดนครปฐม

บ้านดอนทรายอำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม

ไทดำบ้านดอนทรายส่วนใหญ่ย้ายมาจากบ้านโป่งราชบุรีเมื่อประมาณ พ.ศ. 2470ทั้งนี้ ประวัติของบางครอบครัวกล่าวว่า ก่อนที่จะอยู่ที่บ้านโป่งราชบุรี บรรพบุรุษได้ย้ายมาจากเพชรบุรี อพยพด้วยเกวียนมาอยู่ที่บ้านโป่ง ราชบุรี ก่อนหน้านี้เมื่อประมาณ พ.ศ. 2440และภายหลังได้ย้ายมาอยู่ที่บ้านดอนทรายนครปฐมอีกครั้ง

บ้านหัวถนนตำบลดอนพุทราอำเภอดอนตูมจังหวัดนครปฐม

ไทดำบ้านหัวถนนมีบรรพบุรุษอพยพจากเพชรบุรี เมื่อราว พ.ศ. 2420 ด้วยการเดินทางด้วยเกวียนค้างแรมไปเรื่อย ในเวลานั้นยังมีชาวไทดำกลุ่มอื่นที่อพยพตามกันมาผ่านมาทางบ้านหัวถนนและเดินทางต่อไปยังหมู่บ้านเกาะแรต บ้านดอนขมิ้น บ้านดอนยอ อำเภอบางเลน หมู่บ้านดอนทอง บ้านสระสี่มุม บ้านชุกหัวบัว บ้านไผ่หูช้าง และบ้านหนองหมู อำเภอกำแพงแสน การอพยพจากหมู่บ้านหัวถนนต่อไปยังพื้นที่อื่นเกิดขึ้นในหลายระลอก ตั้งแต่ช่วง พ.ศ. 2480 และช่วง พ.ศ. 2490 จากนั้นการอพยพจากหัวถนนก็เบาบางลง มีการอธิบายถึงเส้นทางและวิธีในการอพยพแยกย้ายต่อจากหัวถนนไปยังถิ่นต่าง ๆ ได้แก่ กลุ่มที่อพยพไปทางสุพรรณบุรี ใช้วิธีขึ้นรถไฟจากนครปฐมไปบางกอกน้อย แล้วต่อด้วยเรือซึ่งว่าจ้างจากสุพรรณบุรีมาขนของจากบางกอกน้อย กลุ่มที่อพยพขึ้นไปทางเหนือ ใช้วิธีไปขึ้นรถไฟที่นครปฐมแล้วต่อรถไฟอีกครั้งที่หัวลำโพงเพื่อขึ้นไปทางเหนือ เป็นต้น

บ้านเกาะแรตตำบลบางปลาอำเภอบางเลนจังหวัดนครปฐม

จากคำบอกเล่าจากพระมหามนต์ เพชรศาสตร์ กล่าวถึงประวัติความเป็นมาของหมู่บ้านเกาะแรต ในราวปี พ.ศ. 2411 ลาวโซ่งกลุ่มหนึ่งซึ่งตั้งหลักแหล่งบริเวณคลองในตำบลปอหลวง อำเภอเมืองจังหวัดเพชรบุรี ได้เดินทางโดยทางเท้ามุ่งหน้าไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ผ่านเขตอำเภอบางคนฑี จังหวัดสมุทรสงคราม ติดต่อกับอำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี เดินทางข้ามแม่น้ำแม่กลองไปตามคลองดำเนินสะดวก (สมัยนั้นเป็นเพียงลำธารธรรมดา) ผ่านบ้านบังลอยแล้วเดินทางต่อไปถึงทุ่งหนองผำ (บ้านเกาะแรตปัจจุบัน) จากนั้นเดินทางข้ามแม่น้ำท่าจีนไปทางทิศตะวันออกถึงเขตคลองหนองกระทุง ตำบลบางภาษี อำเภอบางเลน ปรากฏว่าเป็นที่ลุ่มไม่เหมาะแก่การทำมาหากิน จึงได้มาตั้งบ้านเรือนกันอยู่ที่บ้านเกาะแรตจนถึงปัจจุบัน

หัวหน้าหมู่บ้านลาวโซ่งคนแรกคือ นายทรัพย์ ในสมัยรัชกาลที่ 6 โปรดเกล้าฯ ให้มีการตั้งนามสกุลขึ้นเพื่อระลึกถึงถิ่นเดิม คนในหมู่บ้านนี้จึงมักใช้คำว่า “เพชร” นำหน้านามสกุล เพราะได้ย้ายมาจากเมืองเพชรบุรีเช่นนายทอนเพชรรุณ นายเพียงเพชรแอน นายแอ เพชรยวนเป็นต้น (นุกูล ชมภูนิช, 2532, 10)

บ้านดอนทอง อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม

แต่เดิมชาวไทดำบ้านดอนทอง เรียกชื่อหมู่บ้านนี้ว่า “ไผ่ควาย” เป็นชุมชนไทดำชุมชนใหญ่แห่งหนึ่งในอำเภอกำแพงแสน ประวัติกล่าวว่า บรรพบุรุษอพยพมาจากเพชรบุรี เมื่อประมาณ พ.ศ. 2440ปัจจุบันหมู่บ้านดอนทองมีชาวไทดำอาศัยอยู่ร้อยละ 70 จากประชากรทั้งหมด

ในบริเวณนี้ยังมีชุมชนไทดำจำนวนมากแถบตำบลสระสี่มุมซึ่งมาตั้งถิ่นฐานในช่วงเวลาใกล้เคียงกันต่อมาประมาณปี พ.ศ. 2495 ชาวไทดำบางส่วนจากตำบลสระสี่มุม อำเภอกำแพงแสน ได้อพยพไปตั้งถิ่นฐานในเขตอำเภอบ่อพลอย จังหวัดกาญจนบุรี อีกหลายหมู่บ้านเช่น บ้านหนองรีบ้านยางสูง เป็นต้น

จังหวัดสุพรรณบุรี

บ้านดอนมะนาวอำเภอสองพี่น้องจังหวัดสุพรรณบุรี

ไทดำบ้านดอนมะนาวมีบรรพบุรุษอพยพมาจากเพชรบุรีเมื่อประมาณ พ.ศ. 2440โดยการเดินทางด้วยเกวียนเพื่อหาแหล่งทำกินใหม่ จากนั้น ประมาณ พ.ศ. 2495 ชาวไทดำกลุ่มหนึ่งซึ่งใช้นามสกุล “แสงอรุณ”“ออมสิน” และ “ทองเชื้อ” จากบ้านดอนมะนาว อำเภอสองพี่น้อง สุพรรณบุรี ได้อพยพไปอยู่หมู่บ้านน้ำเรื่องอำเภอกงไกรลาศ จังหวัดสุโขทัย

บ้านดอนมะเกลืออำเภออู่ทองจังหวัดสุพรรณบุรี

ไทดำบ้านดอนมะเกลือ อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี อพยพมาจากจังหวัดเพชรบุรีตั้งแต่ก่อน พ.ศ. 2440โดยมาจากบ้านตาลเรียง บ้านห้วยท่าช้าง อำเภอเขาย้อย เพชรบุรี ในระยะแรกบ้านดอนมะเกลือยังมีสภาพเป็นป่า เป็นที่เล่าขานกันว่ามีงูชุกชุม และการอพยพครั้งนั้นใช้การเดินทางด้วยเกวียนต่อมาชาวไทดำบางส่วนจากดอนมะเกลือ อำเภออู่ทอง สุพรรณบุรี ได้อพยพไปทางทางภาคเหนือโดยใช้เส้นทางรถไฟ ไปตั้งถิ่นฐานในบริเวณจังหวัดสุโขทัย กำแพงเพชร พิจิตร และพิษณุโลก เช่น บ้านเนินหว้า อำเภอกงไกรลาศสุโขทัยบ้านเขาหน่อบ้านวังหยวก จังหวัดนครสวรรค์เป็นต้น

จังหวัดกาญจนบุรี

บ้านห้วยยางอำเภอห้วยกระเจาจังหวัดกาญจนบุรี

ไทดำบ้านห้วยยาง อำเภอห้วยกระเจา กาญจนบุรีมีบรรพบุรุษอพยพมาจากบ้านดอนและบ้านยางในเขตอำเภออู่ทอง สุพรรณบุรี ตามประวัติกล่าวว่า นายธง เป็นบุคคลแรกที่อพยพจากบ้านดอน สุพรรณบุรีมาอยู่ที่บ้านห้วยยางกาญจนบุรีที่ได้เดินทางเข้ามาจับจองพื้นที่ในป่าซึ่งปัจจุบันคือหมู่บ้าน
ห้วยยางเมื่อราว พ.ศ. 2460-2470 นายธงเป็นคนเก่าแก่ และมีเพื่อนฝูงจำนวนมาก จึงพากันตระเวนยิงเนื้อยิงสัตว์ป่าไปหลายแห่งในที่สุดก็มาถึงบริเวณที่เป็นหมู่บ้านห้วยยางในปัจจุบัน จึงได้ย้ายมาตั้งหลักแหล่งที่นั่น

จังหวัดนครสวรรค์

บ้านไผ่สิงห์ตำบลไผ่สิงห์อำเภอชุมแสงจังหวัดนครสวรรค์

ชาวไทดำรุ่นแรกของหมู่บ้านไผ่สิงห์ อำเภอชุมแสงนครสวรรค์อพยพมาจากเพชรบุรีประมาณ 5-6 ครอบครัวเมื่อ พ.ศ. 2488จากนั้นมีชาวไทดำอพยพตามกันมาอีกหลายครอบครัวในช่วงแรก
ชาวไทดำกลุ่มนี้อพยพไปอยู่ในตัวอำเภอชุมแสง ต่อมาได้อพยพไปยังหมู่บ้านโพธิ์หนองยาว และย้ายมายังหมู่บ้านไผ่สิงห์ เมื่อได้ตั้งหลักแหล่งที่หมู่บ้านไผ่สิงห์แล้ว ได้มีชาวไทดำจากราชบุรี เพชรบุรี บ้านสระสี่มุม อำเภอกำแพงแสน นครปฐมได้อพยพตามกันมาอยู่สมทบอีก

บ้านคลองเกษมอำเภอชุมแสงจังหวัดนครสวรรค

ชาวไทดำหมู่บ้านคลองเกษม อำเภอชุมแสง นครสวรรค์ อพยพมาจากราชบุรีและเพชรบุรีเมื่อประมาณพ.ศ. 2440ในระยะเริ่มแรกมีผู้อพยพเข้ามาอยู่ประมาณ 20หลังคาเรือน หมู่บ้านคลองเกษมนั้นเมื่อก่อนชาวไทดำเรียกว่า“คลองขอม”

บ้านหนองเนินอำเภอท่าตะโกจังหวัดนครสวรรค์

ชาวไทดำบ้านหนองเนิน อำเภอท่าตะโก นครสวรรค์ ได้อพยพมาจากอำเภอกำแพงแสนนครปฐมและอำเภอสองพี่น้อง สุพรรณบุรีตั้งแต่ราว พ.ศ. 2460แต่เดิมพื้นที่ตั้งแต่นครสวรรค์มาถึงหนองเนินเป็นป่าใหญ่การอพยพครั้งนั้นมีเรื่องเล่ากันว่า ไทดำบางคนที่มาจากนครปฐมมีความต้องการไปอาศัยอยู่หนองเนิน แต่เดินทางไปไม่ถูก จึงได้เดินทางเลยไปตั้งถิ่นฐานถึงจังหวัดพิจิตร นอกจากนี้ยังพบว่า ภายหลังต่อมาชาวไทดำที่บ้านหนองเนินบางครอบครัวได้ย้ายมาจากบ้านบัวงาม ราชบุรีเมื่อราว พ.ศ. 2470-2480 รวมทั้งภายหลังยังมีบางครอบครัวที่อพยพมาจากอำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรีตามมาอยู่ที่บ้านหนองเนิน

บ้านแหลมย้อยอำเภอบรรพตพิสัยจังหวัดนครสวรรค์

ชาวไทดำบ้านแหลมย้อย อำเภอบรรพตพิสัยนครสวรรค์ บางครอบครัวมีประวัติว่าอพยพมาจากอำเภอชุมแสงนครสวรรค์ เมื่อราว พ.ศ. 2480ทั้งนี้ ก่อนหน้านั้นครอบครัวมีประวัติว่าอพยพมาจากบ้านสระสี่มุม อำเภอกำแพงแสน นครปฐม มาอยู่ที่ชุมแสงก่อนนี้แล้วจึงย้ายมาที่แหลมย้อย บรรพตพิสัยอีกทีหนึ่งเนื่องจากที่ดินทำกินในอำเภอชุมแสงมีน้อยลงและคนรุ่นหลังก็มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น การอพยพใช้วิธีการเดินทางด้วยรถไฟจากอำเภอชุมแสง ลงที่ปากน้ำโพ แล้วขึ้นรถยนต์จากปากน้ำโพไปลงที่ตัวอำเภอบรรพตพิสัยจากนั้นก็เดินทางไปหมู่บ้านแหลมย้อย ปัจจุบันมีชาวไทดำเป็นจำนวนมากถึง100ครัวเรือนที่บ้านแหลมย้อยและบ้านปากดงที่อยู่ใกล้เคียง

บ้านหนองหูช้างอำเภอลาดยาวจังหวัดนครสวรรค์

ไทดำบ้านหนองหูช้างอำเภอลาดยาวนครสวรรค์มีประวัติว่า มีชาวไทดำสองคนจากเพชรบุรี ชื่อ เสาร์ และเปลี่ยนมาดูพื้นที่เมื่อราวก่อน พ.ศ. 2500เมื่อพึงพอใจจึงได้เตรียมซื้อที่ดินและร่วมกันอพยพมาอาศัยอยู่

บ้านหนองตาหมูอำเภอลาดยาวจังหวัดนครสวรรค์

ไทดำบ้านหนองตาหมู อำเภอลาดลาว จังหวัดนครสรรค์ มีประวัติว่า ใน พ.ศ. 2495ครอบครัวของเกี้ยว และวน อุ่นเรื่อน อพยพมาจากบ้านห้วยท่าช้าง อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี ได้พาครอบครัว พร้อมกับผู้ใหญ่เสาร์ซึ่งเป็นลุง และครอบครัวอื่นรวมทั้งสิ้น4ครอบครัวเช่าเหมารถยนต์จากเพชรบุรีมาถึงสถานีรถไฟนครสวรรค์แล้วนั่งรถประจำทางจากนครสวรรค์ไปตามถนนลูกรังจนถึงทางแยกหนองวัวแล้วจึงลงเดินเท้าตามคันนาเข้าไปยังหนองตาหมู หลังจากการอพยพของ 4 ครอบครัวนี้มาอยู่ที่หนองตาหมู ก็มีครอบครัวอื่นอพยพตามกันมาอีก

บ้านน้ำสาดอำเภอหนองบังจังหวัดนครสวรรค์

ชาวไทดำหมู่บ้านน้ำสาดส่วนใหญ่อพยพมาจากจังหวัดเพชรบุรีและจากภาคใต้โดยเข้ามาอยู่ที่บ้านน้ำสาดตั้งแต่ราว พ.ศ. 2480การอพยพใช้วิธีขึ้นรถไฟจากเพชรบุรีไปต่อที่หัวลำโพง แล้วไปลงสถานีชุมแสงจากนั้นจึงเดินเท้าเรื่อยไปจนมาถึงหมู่บ้านน้ำสาดนอกจากนี้ยังมีบางครอบครัวย้ายมาจากบ้านไผ่สิงห์อำเภอชุมแสงและจากแถบตัวอำเภอชุมแสงเข้ามาอาศัยสมทบด้วย

บ้านท่าช้างบึงหล่มและทุ่งหญ้าคาตำบลคลองน้ำไหลอำเภอคลองลานจังหวัดนครสวรรค์

ชาวไทดำในบริเวณตำบลคลองน้ำไหลอำเภอคลองลาน นครสวรรค์ เป็นกลุ่มที่อพยพโยกย้ายมาจากอำเภอท่าตะโกนครสวรรค์เมื่อปี พ.ศ.2518เนื่องจากญาติพี่น้องได้พากันชักชวนไปหาแหล่งทำกินใหม่

จังหวัดกำแพงเพชร

บ้านหนองกระทิงอำเภอขาณุวรลักษณบุรีจังหวัดกำแพงเพชร

ชาวไทดำบ้านหนองกระทิงอำเภอขาณุวรลักษณบุรีกำแพงเพชรเป็นกลุ่มคนที่อพยพมาจากอำเภอกำแพงแสนจังหวัดนครปฐมมาตั้งถิ่นฐานที่บ้านหนองกระทิง ประมาณ พ.ศ. 2500 จำนวนประมาณ 2-3 ครอบครัวเนื่องจากย้ายที่ทำกินจากแหล่งเดิมและมีญาติพี่น้องที่อยู่ในบริเวณนี้อยู่อาศัยมาก่อน

บ้านวังน้ำอำเภอคลองขลุงจังหวัดกำแพงเพชร

ชาวไทดำบ้านวังน้ำ อำเภอคลองขลุงจังหวัดกำแพงเพชรเป็นกลุ่มคนที่อพยพมาจาก 3 พื้นที่ ได้แก่ 1) กลุ่มที่ย้ายมาจากบ้านวังหยวก ซึ่งเป็นพื้นที่ใกล้เคียงอพยพเมื่อ พ.ศ. 2492เนื่องจากบ้านวังหยวกเกิดอุทกภัย 2) กลุ่มที่อพยพมาจากสุพรรณบุรี ประมาณ พ.ศ.2495และ3) กลุ่มที่อพยพมาจากอำเภอกำแพงแสนนครปฐม ซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่ย้ายมาเมื่อ พ.ศ. 2500ทั้งกลุ่มที่ย้ายมาจากสุพรรณบุรีและกำแพงแสนเป็นกลุ่มที่มีการเคลื่อนย้ายเพื่อหาแหล่งทำกินใหม่

จังหวัดพิจิตร

ตำบลไผ่รอบอำเภอโพธิ์ประทับช้างจังหวัดพิจิตร

บริเวณตำบลไผ่รอบอำเภอโพธิ์ประทับช้างจังหวัดพิจิตรเป็นแหล่งที่ตั้งถิ่นฐานของชาวไทดำกลุ่มใหญ่แห่งหนึ่งในภาคเหนือของประเทศไทยพื้นที่ดังกล่าวประกอบด้วยหลายหมู่บ้าน เช่นบ้านหนองไม้แดงบ้านไผ่รอบบ้านคลองยางบ้านหนองหลวง บ้านป่าสัก บ้านหนองนาร้าง บ้านเกาะแก้ว บ้านไดโพ บ้านโรงวัว บ้านก่อ บ้านเนินตาล บ้านเนินตะค้อ บ้านเนินยาง บ้านห้วยแยกบ้านหนองหัวปลวกและบ้านหนองแห้วส่วนใหญ่ชาวไทดำตำบลไผ่รอบ อพยพมาจากเพชรบุรีซึ่งเกิดขึ้นก่อน พ.ศ. 2495โดยขึ้นรถไฟจากเพชรบุรีไปลงที่ตัวเมืองพิจิตรแล้วเดินเท้าจากพิจิตรไปถึงหมู่บ้านวังจิก จากนั้นลงเรือที่บ้านวังจิกไปขึ้นบกที่ตำบลไผ่รอบซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีเครือญาติอพยพจากเพชรบุรีมาอาศัยอยู่บริเวณนี้ก่อนหน้านี้

บ้านบัวยางอำเภอวชิรบารมีจังหวัดพิจิตร

ไทดำที่หมู่บ้านบัวยาง อำเภอวชิรบารมี จังหวัดพิจิตรเป็นชุมชนไทดำที่มีขนาดใหญ่นับร้อยหลังคาเรือนและไม่มีคนกลุ่มอื่นปะปน ในอดีตพื้นที่ดังกล่าวอยู่ภายใต้การปกครองของอำเภอสามง่ามแต่ปัจจุบันถูกแยกออกมาเป็นเขตของอำเภอวชิรบารมี การอพยพของกลุ่มไทดำมาที่บ้านบัวยางในช่วงปี พ.ศ. 2480มีชาวพวนและชาวไทดำอำเภอกำแพงแสน นครปฐม เป็นจำนวนมากได้รวมตัวกันอพยพผู้คนด้วยกองเกวียนกว่าร้อยเล่ม นำโดยหัวหน้ากองเกวียนชื่อหนานแก่นซึ่งเป็นชาวพวนในกลุ่มชาวพวนนี้ต่อมาไปตั้งถิ่นฐานที่อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก ส่วนกลุ่มไทดำในระยะแรกได้เริ่มตั้งบ้านเรือนที่บ้านบัวยางเพียง2-3 หลังคาเรือนเท่านั้นต่อมาอีก 3 ปี จึงมีการอพยพชาวไทดำตามมา

จังหวัดพิษณุโลก

อำเภอวังทองจังหวัดพิษณุโลก

ประวัติการเคลื่อนย้ายในภาพรวมของกลุ่มไทดำมายังอำเภอวังทอง พิษณุโลกพื้นที่นี้ได้มีชาวไทดำกลุ่มหนึ่งย้ายมาจากเพชรบุรีก่อนต่อมาราว พ.ศ. 2490 มีไทดำจำนวนมากอพยพจากบางกุ้ง สุพรรณบุรี มาอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวในพื้นที่บ้านดงข่อย (ไทดำเรียกดอนข่อย)และบ้านหนองบัว

อำเภอบางระกำจังหวัดพิษณุโลก

ประวัติชาวไทดำในอำเภอบางระกำจังหวัดพิษณุโลกสืบเชื้อสายมาจากบรรพบุรุษที่เพชรบุรีซึ่งมีครอบครัวที่ใช้นามสกุล “มาเพชร” เพื่อบ่งบอกว่าตระกูลของตนมีบรรพบุรุษมาจากเพชรบุรี และบางส่วนอพยพมาจากสุพรรณบุรี ประมาณ พ.ศ. 2460 ชาวไทดำกระจายกันอยู่ในหมู่บ้านต่าง ๆ เช่น บ้านคลองวัดไร่บ้านท่าโกบ้านคุยยาง บ้านยางแขวนอู่บ้านบึงคัด และบ้านหนองเขาควาย ในตำบลบางระกำ บ้านหนองขานางบ้านคุยขวาง และหมู่บ้านรุ้งวิไล ตำบลคุยม่วง บ้านหนองตาเขียวและหมู่บ้านดอนอภัยตำบลบ่อทองบ้านห้วงกระไดตำบลชุมแสงสงคราม บ้านประดู่งาม ตำบลพันเสา บ้านวัดกลาง และบ้านพันต่าง ตำบลวังอีทก บ้านโป่งหม้อข้างตำบลบางแก้วเป็นต้น จากนั้นมีชาวไทดำทยอยโยกย้ายเข้ามาตั้งถิ่นฐานในหมู่บ้านต่าง ๆ เป็นระยะรวมถึงการเคลื่อนย้ายของชาวไทดำในพื้นที่ใกล้เคียงที่มีการแต่งงานระหว่างกัน

จังหวัดสุโขทัย

บ้านคลองยางอำเภอเมืองสุโขทัยจังงหวัดสุโขทัย

ชาวไทดำหมู่บ้านคลองยาง อำเภอเมืองสุโขทัย จังหวัดสุโขทัย มีบรรพบุรุษอพยพโยกย้ายมาจากบ้านเวียงคอย อำเภอเมือง เพชรบุรี ตั้งแต่ประมาณ พ.ศ. 2470 การอพยพครั้งแรกได้ไปตั้งถิ่นฐานที่บ้านพันต่างตำบลบางอีทก อำเภอบางระกำ พิษณุโลก จนกระทั่งปี พ.ศ.2496ได้อพยพครอบครัวมาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่บ้านคลองยางอำเภอเมืองสุโขทัยจนทำให้บ้านคลองยางมีชาวไทดำอาศัยอยู่นับร้อยหลังคาเรือนทว่า เมื่อช่วง พ.ศ. 2513เป็นต้นมา พื้นที่แถบนี้ประสบกับปัญหาน้ำท่วมอย่างต่อเนื่อง ทำให้ชาวบ้านต้องอพยพออกไปทำกินในที่อื่นทำให้เหลือชาวไทดำอยู่ที่บ้านคลองยางเพียงจำนวน40หลังคาเรือน

บ้านน้ำเรื่องอำเภอกงไกรลาศจังหวัดสุโขทัย

หมู่บ้านน้ำเรื่อง อำเภอกงไกรลาศ จังหวัดสุโขทัย มีประชากรเป็นชาวไทดำเกือบทั้งหมด ประวัติของการย้ายถิ่นฐานมาตั้งที่บ้านน้ำเรื่อง ส่วนใหญ่เป็นชาวไทดำที่อพยพมาจากดอนมะนาว สุพรรณบุรี และเพชรบุรี บางครอบครัวระบุได้ว่ามาจากบ้านทับคาง อำเภอเขาย้อย เพชรบุรี ซึ่งบางครอบครัวอาจจะอพยพมาอยู่ที่นครสวรรค์ก่อน จากนั้นจึงอพยพไปอาศัยอยู่ที่พิจิตรแล้วจึงมาอยู่ที่บ้านน้ำเรื่อง จังหวัดสุโขทัย

จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

อำเภอเมืองจังหวัดประจวบคีรีขันธ์

ประวัติย่าน “ซอยลาว” นิคมสร้างตนเอง ประจวบคีรีขันธ์ ย่าน “ซอยลาว” เป็นที่รู้จักของคนทั่วไปใช้เรียกชุมชนชาวไทดำซึ่งตั้งอยู่บริเวณถนนสายโท หลักกิโลเมตรที่ 4 มีชาวไทดำอาศัยอยู่ราว20 ครัวเรือนชาวไทดำในย่านดังกล่าวส่วนใหญ่อพยพไปจากหมู่บ้านห้วยท่าช้าง และหมู่บ้านหนองปรง อำเภอเขาย้อย กับหมู่บ้านวังตะโก อำเภอเมือง เพชรบุรีโดยอพยพไปตั้งแต่ราวปี พ.ศ. 2502-2507

บ้านตาลเจ็ดยอดกิ่งอำเภอสามร้อยยอดจังหวัดประจวบคีรีขันธ์

ไทดำที่หมู่บ้านตาลเจ็ดยอด กิ่งอำเภอสามร้อยยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ได้อพยพมาจากบ้านหนองพลับ อำเภอเมืองเพชรบุรีเมื่อช่วงปีพ.ศ. 2470-2475 เริ่มจากจำนวน 2 ครอบครัว และมีชาวไทดำอพยพตามมาจำนวนมาก จนกระทั่งพ.ศ. 2543มีชาวไทดำในหมู่บ้านตาลเจ็ดยอดจำนวนเกือบถึงสองร้อยครัวเรือน

ส่วนชื่อชื่อหมู่บ้านสามร้อยยอดนั้น มีเรื่องเล่ามาว่าในยุคนั้นหมู่บ้านมีต้นตาลอยู่ต้นเดียวแต่ไม่มียอดแต่กลับพบว่า มีลูกดกรายล้อมต้น ต่อมาเกิดไฟป่าขึ้น และตาลต้นนี้ถูกไฟไหม้จึงทำให้สันนิษฐานว่าต้นตาลที่มีลักษณะประหลาดต้นนี้อาจจะเป็นที่มาของชื่อตาลเจ็ดยอดอันเป็นชื่อของหมู่บ้านก็ได้

บ้านหนองตลาดอำเภอกุยบุรีจังหวัดประจวบคีรีขันธ์

ชาวไทดำที่บ้านหนองตลาดอำเภอกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์เป็นที่รู้จักของคนทั่วไปว่า “ลาวหนองตลาด” เดิมอาศัยอยู่จำนวนมาก แต่ในปัจจุบันแต่งงานกับคนท้องถิ่นและกลายเชื้อสายไปไม่น้อย ไทดำกลุ่มนี้ย้ายมาจากเพชรบุรี ส่วนใหญ่เป็นลูกหลานของผู้ที่มาจากบ้านหนองพลับ และบ้านสมอลก อำเภอเมืองเพชรบุรี เมื่อประมาณ พ.ศ. 2460 บางครอบครัวระบุได้ว่ามาจากหมู่บ้านเขาอีโก้อำเภอเขาย้อย เพชรบุรี เมื่อประมาณ พ.ศ. 2503

บ้านห้วยยาง และบ้านห้วยไผ่ อำเภอทับสะแกจังหวัดประจวบคีรีขันธ์

เมื่อประมาณ พ.ศ.2500มีชาวไทดำจากหมู่บ้านหนองปรง เพชรบุรี เดินทางลงไปทางภาคใต้จำนวนหนึ่งประมาณ20คนเพื่อบุกเบิกไร่นาในบริเวณหมู่บ้านห้วยยาง อำเภอทับสะแก ประจวบคีรีขันธ์ปัจจุบันยังมีไทดำตั้งถิ่นฐานที่หมู่บ้านห้วยยาง อำเภอทับสะแกอยู่ 4 ครัวเรือน นอกจากนี้ ในช่วงเวลาดังกล่าวยังมีกลุ่มที่ย้ายไปตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บ้านห้วยไผ่ อำเภอทับสะแก ซึ่งมีบางครอบครัวมาจากบ้านทับคาง เพชรบุรี นอกจากนี้บางคนยังมีการอพยพไปยังบ้านดอนรวบ อำเภอเมือง ชุมพร อำเภอท่าแซะ ชุมพร อำเภอสวี ชุมพร และบ้านนาสาร สุราษฎร์ธานี ปัจจุบันมีชาวไทดำอยู่ที่บ้านห้วยไผ่ ประมาร20 คน

บ้านโคกตาหอมอำเภอบางสะพานจังหวัดประจวบคีรีขันธ์

ชาวไทดำที่บ้านโคกตาหอม อำเภอบางสะพาน ประจวบคีรีขันธ์มีจำนวน 9หลังคาเรือน อพยพโยกย้ายมาจากสระสี่มุม อำเภอกำแพงแสน นครปฐม เมื่อราว พ.ศ. 2500 เนื่องจากปัญหาในการประกอบอาชีพทำนาในแหล่งเดิม เมื่อมาอาศัยอยู่ที่บ้านโคกตาหอม ที่อยู่ติดทะเลจึงไม่ได้ทำนา แต่จะประกอบอาชีพปลูกผักทำไร่ปลูกพริกปลูกมะพร้าวเพื่อขาย ทำให้ชุมชนไทดำหมู่บ้านโคกตาหอมเป็นชุมชนไทดำที่มีลักษณะทางภูมิศาสตร์ที่แตกต่างจากชุมชนไทดำอื่นๆ ที่ปกติจะตั้งถิ่นในพื้นที่ราบหรือที่ราบเชิงเขาซึ่งสะดวกในการทำนาหาของป่า และทำสวน ในขณะที่ชาวไทดำบ้านโคกตาหอม เป็นหมู่บ้านชาวไทดำที่อยู่ชายทะเล

จังหวัดชุมพร

บ้านดอนรวบอำเภอเมืองชุมพรจังหวัดชุมพร

ชาวไทดำบ้านดอนรวบอพยพมาจากอำเภอเขาย้อยเพชรบุรีเมื่อปี พ.ศ. 2440ครั้งแรกมีการอพยพจำนวน 3 ครอบครัว โดยใช้การเดินทางด้วยเท้าจนมาถึงที่ดินข้างตลาดชุมพรในปัจจุบัน แต่ไม่ได้มีการตั้งถิ่นฐานเพราะเกรงว่าน้ำจะท่วม จึงเดินทางต่อไปถึงที่ดอนอันเป็นบริเวณที่ตั้งของบ้านดอนรวบในปัจจุบันจึงได้จับจองที่ดินทำกิน ในระยะแรก ต้องโค่นป่าเสม็ด ขุดตอไม้ออก แล้วทำนา แต่เนื่องจากไม่มีควาย จึงต้องใช้มีดหวดถากเอาต่อมาเมื่อรวบรวมเงินได้จึงซื้อควาย แล้วสร้างเกวียนตามแบบเกวียนที่เคยใช้ในเพชรบุรีภายหลังครัวเรือนขยายตัว และมีไทดำจากสุพรรณบุรีและเพชรบุรีมาอยู่ด้วยทำให้ประชากรเพิ่มขึ้นมากในปัจจุบันมีชาวไทดำอาศัยในหมู่บ้านดังกล่าวเป็นชาวไทดำทั้งหมดจำนวน 160 ครัวเรือน จำนวนประชากร 600 คน

อำเภอท่าแซะจังหวัดชุมพร

ชาวไทดำในอำเภอท่าแซะ จังหวัดชุมพร อพยพมาจากบ้านห้วยท่าช้าง บ้านหนองปรง บ้านเขาย้อย อำเภอเขาย้อย เพชรบุรีบ้านไร่โคก บ้านห้วยข้อง บ้านหนองโสน อำเภอบ้านลาด เพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรีได้แก่โดยเริ่มอพยพมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2511 เพื่อแสวงหาที่ทำกินใหม่ ประกอบการในช่วงปีเดียวกันนั้นได้มีการเปิดนิคมท่าแซะ จึงเป็นโอกาสที่ทำให้ชาวไทดำได้เข้ามาอาศัยอยู่ในนิคมเพื่อเปิดพื้นที่ทำกิน

จังหวัดสุราษฎร์ธานี

บ้านท่าสะท้อนและบ้านไทรงามอำเภอพุนพินสุราษฎร์ธานี

หมู่บ้านท่าสะท้อน และหมู่บ้านไทรงาม อำเภอพุนพินสุราษฎร์ธานีตั้งอยู่คนละฝั่งแม่น้ำ
ชาวบ้านท้องถิ่นเรียกชาวไทดำสองหมู่บ้านนี้ว่า พวก “คลองแม่น้ำ” บรรพบุรุษเดิมของชาวไทดำในพื้นที่นี้อยู่ที่เพชรบุรีและมีบางส่วนที่ย้ายไปอยู่ที่นครปฐม ราชบุรี สุพรรณบุรี ก่อนที่จะย้ายมาอยู่ที่บ้านท่าสะท้อน และบ้านไทรงาม อำเภอพุนพินสุราษฏร์ธานี เมื่อประมาณช่วง พ.ศ. 2500-2504ด้วยการเดินทางตามเส้นทางรถไฟเมื่อมาถึงสุราษฎร์ธานีก็จะเดินทางต่อด้วยเรือเมล์มายังบ้านไทรงาม ในระยะหลังหมู่บ้านไทรงามได้เปลี่ยนชื่อใหม่ว่าบ้านดอนมะลิตามชื่อวัดดอนมะลิ

บ้านสะพานสองอำเภอบ้านนาสารจังหวัดสุราษฎร์ธานี

ชาวไทดำบ้านสะพานสอง อำเภอบ้านนาสารสุราษฎร์ธานี ส่วนใหญ่อพยพมาจากเพชรบุรี มีบางกลุ่มมาจากราชบุรี และนครปฐม โดยอพยพมาครั้งแรกราว พ.ศ. 2490 ด้วยเส้นทางรถไฟจนมาถึง บ้านนาสารและมีผู้อพยพตามกันมา

บ้านทุ่งเกวียนอำเภอเคียนซาสุราษฎร์ธานี

หมู่บ้านทุ่งเกวียน เป็นที่รู้จักกันในอีกชื่อหนึ่งว่า “ทุ่งทอง” แต่ชาวไทดำจะเรียกหมู่บ้านนี้ว่าบ้านทุ่งเกวียนส่วนใหญ่อพยพมาจากอำเภอบางเลนจังหวัดนครปฐม เมื่อราวปี พ.ศ. 2500บางครอบครัวอพยพมาจากเพชรบุรีอาศัยการเดินทางอพยพด้วยทางรถไฟมาถึงสถานีบ้านนาสารจากนั้นเดินเท้าต่อในช่วงเช้ามาถึงทุ่งเกวียนในตอนค่ำ

หมู่บ้านทำเนียบ อำเภอคีรีรัฐนิคมจังหวัดสุราษฎร์ธานี

ชาวไทดำหมู่บ้านทำเนียบ อำเภอคีรีรัฐนิคมจังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นกลุ่มที่อพยพโยกย้ายมาจากบ้านไทรงาม คลองแม่น้ำ อำเภอพุนพิน สุราษฎร์ธานี อีกทอดหนึ่งเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2530 เนื่องจากประสบปัญหาน้ำท่วมที่ทำกินในบริเวณบ้านไทรงาม ทำเนียบหมู่บ้านมีไทดำอยู่ 3ครอบครัวประชากรประมาณ20คน

จังหวัดเลย

บ้านนาป่าหนาดอำเภอเชียงคานจังหวัดเลย

ไทดำบ้านนาป่าหนาด อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย เป็นไทดำกลุ่มเดียวที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของปร

การดำรงชีพ

ระบบการผลิตในอดีตของคนไทดำมีความสัมพันธ์กับลักษณะการตั้งถิ่นฐานที่คนไทดำนิยมตั้งถิ่นฐานตามที่ราบในหุบเขาที่มีลำน้ำไหลผ่านเพื่อเอื้อต่อระบบการเพาะปลูกแบบการทำนาแบบแผนในการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจของชาวไทดำในอดีตและดำเนินมาจนถึงปัจจุบัน จึงมีข้าวเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญและมีการพัฒนาระบบการจัดน้ำจากธรรมชาติเข้าสู่พื้นที่นาด้วยระบบชลประทานขนาดเล็กหรือระบบ “เหมืองฝายไหลลิน”ซึ่งเป็นระบบที่มีประสิทธิภาพต่อการทำนาในพื้นที่หุบเขา

นอกจากการทำนาลุ่มแล้วยังมีการทำไร่ในพื้นที่บริเวณที่เป็นที่ลาดสำหรับการเพาะปลูกพืชหลายชนิด เช่น ข้าวโพด ฝ้าย มัน และข้าวไร่ วิถีการดำรงชีพที่อาศัยระบบเกษตรกรรมจึงเป็นแบบแผนทางเศรษฐกิจที่สำคัญของกลุ่มไทดำ เพื่อนำผลผลิตทางการเกษตรมาแลกเปลี่ยนกับสินค้าและผลผลิตชนิดอื่นในตลาดการเกษตรและการแลกเปลี่ยนในตลาดจึงเป็นวิถีชีวิตทางเศรษฐกิจพื้นฐานที่สำคัญของชาวไทดำ(Cam Trong 1978, 91-103;ฉัตรทิพย์นาถสุภา และพิเชฐสายพันธ์, 2553, 28-29)

นอกจากระบบการผลิตที่เกี่ยวข้องกับการเพาะปลูกโดยเฉพาะการทำนาและการทำไร่แล้ว
การเลี้ยงสัตว์ได้แก่ ควาย วัว หมู เป็ดไก่ ล้วนเป็นสัตว์เลี้ยงสำคัญที่พบทั่วไปในชุมชนของชาวไทดำ โดยเฉพาะควาย ถือเป็นสัตว์เลี้ยงสำคัญที่ควบคู่ไปกับการทำนา ดังมีคำกล่าวของชาวไทดำที่ว่า “ควายใกล้กล้า” หมายความว่า ควายมักจะอยู่ใกล้กับต้นกล้าหรือพื้นที่ทำนา นอกจากควายจะถูกเลี้ยงไว้เพื่อการทำนาเป็นหลักแล้วยังมีการนำควายมาฆ่าในพิธีกรรมเสนบ้านเสนเมืองด้วยสัตว์เลี้ยงเหล่านี้อยู่ในวิถีชีวิตของชาวไทดำสมกับคำกล่าวที่ว่า “หมูไก่อันของนาย วัวควายอันของปู่” หมายความว่าทั้งหมู ไก่ วัว ควาย ต่างก็เป็นสัตว์เลี้ยงสำคัญมาตั้งแต่ปู่ย่าตายาย

จากที่กล่าวมาข้างต้น ถือเป็นอัตลักษณ์ชาวไทดำที่สะท้อนผ่านวิถีชีวิตแบบเกษตรกรรมที่ รวมทั้งการมีระบบความเชื่อและศาสนาในคติผีแถนและผีบรรพชน ซึ่งผูกพันด้วยสำนึกในระบบเครือญาติและความเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ไว้ได้อย่างเหนียวแน่นและยังสามารถสร้างความสัมพันธ์เชื่อมโยงสถานะทางชาติพันธุ์ของกลุ่มไทดำที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในประเทศต่าง ๆ ไว้ได้ในปัจจุบัน

ระบบความเชื่อ ประเพณี และพิธีกรรม

ศาสนาและความเชื่อ

ชาวไทดำ ในประเทศไทย มีความเชื่อเกี่ยวกับขวัญ ผี แถน ความเชื่อตามหลักพระพุทธศาสนา และความเชื่อตามหลักศาสนาคริสต์ การปรับตัวหันมานับถือพุทธศาสนาตามบริบทของสังคมไทยของชาวลาวโซ่ง เกิดขึ้นควบคู่กับการ รักษาคติความเชื่อดั้งเดิม เกี่ยวกับขวัญ ผี และแถน และยังคงรักษาแบบแผนคติความเชื่อเหล่านี้ไว้ผ่านการปฏิบัติทางพิธีกรรมโดยเฉพาะพิธีบูชาผีบรรพชน ซึ่งยังมีการทำพิธีปากตงเลี้ยงผีบรรพชน กันสำหรับกลุ่มที่สืบเชื้อสายมาจากตระกูลผู้ท้าวจะทำพิธีปากตงในทุกรอบ 5 วัน ส่วนกลุ่มที่สืบเชื้อสายมาจากตระกูลผู้น้อย จะทำพิธีปากตงในทุกรอบ 10 วัน อย่างไรก็ดี ในกรณีของกลุ่มไทดำ ที่ได้อพยพเคลื่อนย้ายเข้ามาสู่ประเทศไทยมากกว่าสองร้อยปี ด้วยบริบททางสังคมไทยที่ผู้คนนับถือพุทธศาสนาอิทธิพลทางพุทธศาสนาจึงได้เข้าไปมีผลต่อระบบความเชื่อ ศาสนา ในประเทศไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เสมอชัย พูลสุวรรณ (2544, 50)ได้ตั้งข้อสังเกตว่า ชาวลาวโซ่งเกือบทั้งหมดรับนับถือพุทธศาสนาเถรวาทตามอย่างคนไทยภาคกลาง แต่ยังไม่ละทิ้งความเชื่อ ประเพณีการนับถือผีบรรพชนแบบดั้งเดิม ทั้งนี้ เนื่องจากชาวบ้านเห็นว่าการนับถือผีไม่ขัดกับหลักทางพุทธศาสนา โดยให้เหตุผลว่า การประกอบพิธีเสนเรือนเพื่อเซ่นผีบรรพชน เป็นวิธีที่แสดงความกตัญญูกตเวทีต่อบุพการีตามหลักของพุทธศาสนา ในส่วนประเพณีอื่น เช่น ประเพณีการทำศพแม้ยังคงรักษารูปแบบประเพณีดั้งเดิมไว้ แต่มีการประยุกต์ให้เข้ากับหลักพุทธศาสนา เช่น การนิมนต์พระมาสวดพระอภิธรรมและทำบุญเลี้ยงพระอุทิศส่วนกุศลให้ผู้ตาย

ในส่วนของการนับถือพุทธศาสนา ในชุมชนขนาดใหญ่มักจะมีวัดประจำชุมชน หากเป็นชุมชนขนาดเล็กอาจใช้วัดร่วมกับคนไทย ได้มีวิถีปฏิบัติทางพุทธศาสนาดังเช่นคนไทยภาคกลางทั่วไป เช่น ประเพณีการบวชเรียนของชายหนุ่มที่มีอายุครบยี่สิบปีบริบูรณ์การทำบุญในเทศกาลต่าง ๆ เช่นสงกรานต์เข้าพรรษาและวันสำคัญทางศาสนาอื่น ๆ

ในขณะที่ชาวไทดำบางกลุ่มที่นับถือคริสต์ศาสนา จะไม่มีการนับถือความเชื่อเดิมในระบบผีต่างๆประวัติของการนับถือคริสต์ศาสนาของชาวไทดำในประเทศไทยตามหลักฐานที่ปรากฏอาจเริ่มตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4เมื่อครั้งที่ศาสนาจารย์ แดเนียล แมคกิลวารี มิชชันนารีคณะเพรสไบทีเรียนได้เข้าไปทำงานประกาศศาสนาที่เมืองเพชรบุรี ซึ่งเป็นเวลาเดียวกับที่รัชกาลที่ 4 ทรงโปรดฯ ให้สร้างพระนครคีรีเป็นพระราชวังฤดูร้อนขึ้น บันทึกของแมคกิลวารีได้กล่าวถึง “นายอัง” ชาวลาวที่มาเปลี่ยนศาสนา นายอังผู้นี้ ปรากฏชื่อในบันทึกของแหม่มแมรีคอร์ต ที่เดินทางไปเพชรบุรีว่าเป็น ชาวลาวที่สังกัดกับกลุ่มไทดำ(เสมอชัยพูลสุวรรณ, 2544, 51-52) นับได้ว่าเป็นบันทึกครั้งแรกที่กล่าวถึงชาวไทดำที่เพชรบุรี ที่ได้มีโอกาสเปลี่ยนไปนับถือคริสต์ศาสนาตั้งแต่เวลานั้น

หลังจากสมัยรัชกาลที่ 4 เป็นต้นมาไม่ปรากฏหลักฐานถึงชาวลาวโซ่งในเพชรบุรีที่หันมานับถือศาสนาคริสต์ จนกระทั่ง พ.ศ. 2500 จอห์น แซมมิชชันนารีโปรเตสแตนท์ในคณะดีไซเปิล ได้รายงานว่า เขาได้พบข้อมูลการเผยแพร่คริสต์ศาสนานิกายโรมันคาทอลิคอีกครั้งในกลุ่มไทดำเพชรบุรีโดยกล่าวถึงมิชชันนารีคาทอลิคเข้ามาซื้อที่ดิน แล้วมอบให้ชาวลาวโซ่งเข้าไปทำกินในบริเวณที่เรียกว่า “โคกฝรั่ง”แต่ไม่ปรากฏว่าที่ชุมชนโคกฝรั่งจะกลายเป็นชุมชนชาวไทดำที่หันมานับถือคริสต์ศาสนาอย่างยั่งยืนได้

นอกจากนี้ยังมีรายงานกล่าวถึงหมู่บ้านชาวไทดำ ชื่อบ้านยาง ซึ่งอยู่ระหว่างทางจากนครปฐมไปสุพรรณบุรีโดย อลัน ยูแบงค์มิชชันนารีโปรเตสแตนท์อีกท่านหนึ่งกล่าวว่าเคยมีมิชชันนารีคาทอลิคเข้ามาซื้อที่ดินผืนใหญ่ชาวบ้านมาเช่าทำกินในราคาถูกและชักจูงให้ชาวบ้านเข้ารีตเป็นคริสตังเมื่อผ่านเวลาไปถึงกลางทศวรรษที่1960เมื่ออลันยูแบงค์ เข้ามาสำรวจที่หมู่บ้านนี้ พบว่า เหลือเพียงชาวไทดำครอบครัวเดียวที่มีความเชื่อมั่นในคริสต์ศาสนา

ในกรณีชาวไทดำที่นครปฐม พบว่า ตั้งแต่พ.ศ. 2495 คณะมิชชันนารีกลุ่มใหม่ที่เข้ามาสานต่องานเผยแพร่ศาสนาที่นครปฐม คือ ดร. เอ็ดน่า กีซ กับศาสนาจารย์ จิร์จ เชอรี่โฮมส์ และภรรยา มีความสนใจที่จะเผยแพร่ศาสนาในหมู่ชาวไทดำ มิชชันนารีคณะดังกล่าวได้ประสานงานร่วมกับอาจารย์บำรุงอดิพัฒน์จัดซื้อที่ดินสร้างอาคารที่พักผู้บริหาร อาคารคลีนิค และอาคารโรงเรียนขึ้นที่ตำบลสามง่าม อำเภอกำแพงแสนจังหวัดนครปฐมต่อมามีการสร้างโบสถ์ถาวรแล้วเสร็จเมื่อปีพ.ศ. 2513เป็นที่รู้จักกันในนาม“คริสตจักรสามแยก”ซึ่งเป็นศูนย์กลางของชาวไทดำในแถบนั้น และมีการไปเผยแพร่ศาสนาในหมู่บ้านไทดำในบริเวณใกล้เคียงเช่นบ้านไผ่หูช้างบ้านแหลมกระเจา เป็นต้น

ความสัมพันธ์ระหว่างคริสต์ศาสนากับชาวไทดำในบ้านแหลมกระเจาเกิดขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ. 2500เมื่อมีมิชชันนารีเข้าไปช่วยเหลือทางเศรษฐกิจแก่ชาวบ้านซึ่งประสบภัยนาล่มเนื่องจากถูกน้ำท่วมหลายปีติดต่อกัน หลังจากนั้นมิชชนนารีได้ช่วยสร้างอาชีพเสริมให้กับชาวบ้านในหมู่บ้าน ด้วยการส่งเสริมงานหัตถกรรมมีตัวแทนจำหน่ายอยู่ภายใต้การดูแลของสภาคริสตจักรแห่งประเทศไทยอีกทั้งมิชชันนารียังให้การสงเคราะห์ในด้านอื่น ๆ อีก เช่น ให้เงินกู้ด้วยดอกเบี้ยราคาถูก นำผู้เจ็บป่วยเข้ารับการรักษาพยาบาลในกรุงเทพฯความสัมพันธ์ระหว่างคริสต์ศาสนากับชาวไทดำจึงเกิดขึ้นผ่านระบบการช่วยเหลืออุปถัมภ์และทำให้ชาวบ้านได้เริ่มสนใจเข้าร่วมกิจกรรมทางศาสนากับองค์กรคริสต์ในระดับต่างๆ กันตั้งแต่การเข้าร่วมตามมารยาทไปจนถึงการยอมรับว่าพระเจ้ามีอยู่จริงและยินยอมรับศีลเปลี่ยนศาสนาไปเป็นคริสเตียน(เสมอชัยพูลสุวรรณ, 2544)

การเปลี่ยนศาสนาไปเป็นคริสเตียนของชาวไทดำส่วนใหญ่เป็นการเปลี่ยนในฐานะปัจเจกบุคคลอาจมีบางคนในครอบครัวเปลี่ยนไปเข้ารีตแต่ยังมีสมาชิกในครอบครัวคนอื่นที่เป็นฝ่ายชายในครอบครัวเดียวกันทำหน้าที่สืบผีของตระกูลทำให้เห็นว่า ผีตระกูล ยังไม่ได้ถูกละทิ้งและความสัมพันธ์ทางเครือญาติยังไม่ได้รับผลกระทบมากนักมีบางครอบครัวที่หัวหน้าครอบครัวยินยอมเข้ารีตและยกเลิกประเพณีการบูชาผีบรรพชนพร้อมกับยินยอมให้มิชชันนารีเข้ามาทำพิธียกหิ้งผีบรรพชนออกจากเรือน การกระทำดังกล่าวมักเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของชาวบ้านว่าเป็นการทิ้งผีพ่อแม่ ทำให้ผู้ที่เปลี่ยนศาสนาได้รับการต่อต้านและถูกมองอย่างแปลกแยกจากสังคม ตามที่ชาวบ้านกล่าวกันว่า “คริสเตียนเป็นพวกที่ละทิ้งผีบรรพบุรุษพวกนี้จะไม่ประกอบพิธีเสนเรือนอีกต่อไป ปล่อยให้ผีบรรพบุรุษต้องอดอยาก” (เสมอชัย พูลสุวรรณ, 2544, ก-ข)จากเหตุการณ์ข้างต้นสะท้อนให้เห็นว่า สังคมชาวไทดำมีความเข้มแข็งของระบบความเชื่อดั้งเดิม แม้แต่การที่ชาวไทดำหันมานับถือพุทธศาสนา ก็เกิดขึ้นอย่างค่อนข้างล่าช้ากว่าชนกลุ่มน้อยกลุ่มอื่น ๆ ในภาคกลางของประเทศไทย ระบบความเชื่อดั้งเดิมที่เข้มแข็งจึงส่งผลกระทบต่อการเผยแพร่คริสต์ศาสนาให้ได้รับการยอมรับในหมู่ชาวไทดำ (เสมอชัยพูลสุวรรณ, 2544)

ในขณะที่ความเชื่อเกี่ยวกับหิ้งผีของชาวไทดำเปรียบเสมือนสัญลักษณ์แทนศูนย์รวมความสัมพันธ์ทางสังคมผ่านระบบเครือญาติที่เหนียวแน่น รวมทั้งเป็นสัญลักษณ์ที่สัมพันธ์กับการดำรงอยู่ของการจัดวางสถานะของกลุ่มคนในสังคมของชาวลาวโซ่งตามระบบกลุ่มชั้นของสายตระกูลเมื่อมีการยกหิ้งผีออกจากเรือนจึงทำให้เกิดความแปลกแยกต่อระบบความสัมพันธ์ชุดเดิมที่ยึดโยงอยู่ อีกทั้งชาวบ้านยังมีทัศนะว่า การย้ายหิ้งผีออกไปเป็นการละทิ้งผีบรรพชน และถูกตราหน้าว่าเป็นผู้ที่ปล่อยให้ผีบรรพชนอดอยาก ที่มีผลต่อผู้ที่เป็นลูกหลานที่ไม่สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างปกติสุข ตามความเชื่อเดิมที่รองรับอยู่ในทางตรงกันข้ามชาวไทดำกลับสามารถปรับความสัมพันธ์ของตนกับคริสต์ศาสนาได้อย่างลื่นไหล โดยสามารถยอมรับสมาชิกที่เปลี่ยนไปนับถือคริสต์ศาสนาได้ในระดับปัจเจกบุคคล ตราบเท่าที่ยังไม่มีผลกระทบต่อระบบการสืบผีของตระกูลในขณะที่ผู้ที่เปลี่ยนไปเข้ารีตทั้งครอบครัวจะถูกมองว่าเป็นผู้ที่แปลกแยกกับชุมชน

ความเชื่อ

ชาวไทดำมีความเชื่อดั้งเดิมคือ การนับถือ “ผี” และ “ขวัญ” รวมทั้งพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ โดยมีรายละเอียด ดังนี้

ความเชื่อเรื่องผี

เนื่องจากเชื่อว่าผีนั้นเป็นเทพยดาที่ให้ความคุ้มครองพิทักษ์รักษาหรืออาจให้โทษถึงตายได้ผีของชาวไทดำมีทั้ง “ผีแถน” “ผีฟ้า” “ผีบ้าน” “ผีเรือน” และ “ผีบรรพบุรุษ”ความเชื่อในเรื่องของผีเรือนหากทำในสิ่งไม่ดีจะเป็นการ “ผิดผี”และถูกลงโทษได้ “ผีป่า” “ผีข่วง” และ ผีอื่นๆ

ความเชื่อเรื่องขวัญ

“ขวัญ” เป็นสิ่งที่อยู่ติดตัวเป็นสิ่งที่มองไม่เห็นแต่ทำให้ร่างกายมีชีวิตสามารถทำงาน หรือ เคลื่อนไหวได้ขวัญอาจจะตกหายจากการตกใจหรือเจ็บป่วยหากขวัญไม่อยู่กับตัวต้องทำพิธีเรียกขวัญไทดำมีความเชื่อพื้นฐานในเรื่องร่างกายและชีวิตโดยที่มีขวัญเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่ทำให้ร่างกาย ซึ่งถือว่าเป็นองค์ประกอบทางวัตถุ มีชีวิตชีวาสามารถเคลื่อนไหวและทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขวัญเป็นสิ่งที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า แต่สามารถเคลื่อนไหวเข้าออกจากร่างกายได้โดยที่เจ้าของไม่รู้สึกตัวในช่วงเวลาปกติขวัญจะอยู่ในร่างกาย ทำให้คนมีจิตใจและสุขภาพสมบูรณ์ เมื่อขวัญออกจากร่างกาย ผู้เป็นเจ้าของขวัญอาจเจ็บป่วยหมดเรี่ยวหมดแรงและอาจเสียชีวิตได้หากขวัญไม่กลับคืนมาสู่ร่างกาย ดังนั้น เมื่อคนไทดำเกิดอาการเจ็บป่วยทางร่างกายหรือรู้สึกไม่สบายใจจะประกอบพิธีเรียกขวัญหรือสู่ขวัญเพื่อให้ขวัญกลับคืนมาอยู่กลับร่างกายให้เข้าสู่สภาวะปกติลักษณะขวัญของชาวไทดำมีความแตกต่างจากมโนภาพในเรื่องวิญญาณแบบอินเดียซึ่งจะมองว่าวิญญาณเป็นส่วนเดียว ไม่อาจแบ่งย่อยลงไปได้แต่ขวัญของไทดำสามารถแยกย่อยออกได้เป็นจำนวนมากชาวไทดำมีคำกล่าวว่า “สามสิบขวัญหน้าห้าสิบขวัญปลาย” แสดงถึงการที่ขวัญสามารถแยกย่อยออกเป็นองค์ประกอบในส่วนต่างๆ ของร่างกายได้จำนวนมากเมื่อขวัญส่วนใดไม่อยู่กับร่างกายก็จะทำให้ร่างกายส่วนนั้นไม่ปกติแต่ถ้าขวัญทั้งหมดไม่อยู่กับร่างกายจะทำให้เสียชีวิต

เมื่อชาวไทดำเสียชีวิตขวัญส่วนต่างๆ ที่อยู่ในร่างกายก็จะแยกย้ายกันออกจากร่าง ไปอยู่ตามสถานที่ต่างๆ เพื่อไม่ให้ขวัญของคนตายกระจัดกระจายไปจนควบคุมไม่ได้ในพิธีศพจะมีการทำพิธีช้อนขวัญเพื่อรวมขวัญต่างๆ ของคนตายให้เข้ามาอยู่ร่วมกัน ในขณะที่ขวัญในส่วนที่สำคัญ เช่น ขวัญกกหรือขวัญต้น จะถูกส่งให้กลับไปอยู่ยังเมืองฟ้ากับบรรพชนที่เสียชีวิตไปก่อนหน้านั้นแล้ว ในพิธีศพจึงจะมีขั้นตอนในการสวดบอกทางให้ขวัญเดินทางกลับไปหาบรรพชนบนเมืองฟ้าตามเส้นทางได้อย่างถูกต้อง ส่วนที่เรียกว่าขวัญปลาย ของผู้ตายจะถูกนำไปอยู่ที่ป่าช้า (ป่าแฮ่ว) ซึ่งเป็นที่ฝังศพหรือฝังกระดูกของผู้ตาย (ในกรณีเผา) ที่ป่าช้าจะปลูกเรือนหลังเล็กๆ คร่อมบนหลุมศพของผู้ตายเรียกว่า เฮือนแฮ่ว หากผู้ตายเป็นผู้สูงอายุจะมีการสร้างเรือนเล็กอีก 1 เรือน ตั้งคู่กับเฮือนแฮ่ว เรียกว่าหอแก้ว ขวัญอีกส่วนหนึ่ง คือ ขวัญหัวของผู้ตาย เมื่อเสร็จจากพิธีจัดการศพจะทำการเชิญขวัญหัวให้กลับมาอยู่บนเรือนของลูกชาย บนเรือนจะมีห้องที่จัดแบ่งพื้นที่ไว้เฉพาะสำหรับเป็นที่อยู่ของบรรพชนเรียกว่า กะลอห่องลูกหลานในตระกูลจะทำพิธีเซ่นไหว้เลี้ยงผีบรรพบุรุษเป็นประจำทุก 10 วันซึ่งจะเป็นรอบกำหนดของแต่ละตระกูล (สิง)ตามรอบการนับวันของไทดำเรียกพิธีเลี้ยงผีในรอบ 10 วันนี้ว่า “เวนตง” หรือ “ปาดตง” ซึ่งเป็นการทำพิธีเลี้ยงผีในระดับของแต่ละครอบครัวและในแต่ละปีจะมีการเซ่นไหว้ที่เรียกว่าเสนเฮือนซึ่งจะเป็นพิธีใหญ่ที่ต้องเชิญลูกหลานเครือญาติในสายตระกูลเข้ามาร่วมพิธี

ในการเป็นผู้สืบทอดระบบสายตระกูลและระบบผีบรรพชนลูกชายจะมีบทบาทสำคัญ หากบ้านใดไม่มีลูกชายเป็นผู้สืบทอดเมื่อพ่อแม่เสียชีวิตลง ลูกสาวจะเชิญขวัญของพ่อแม่กลับไปอยู่ด้วย แต่ขวัญพ่อแม่ของผู้เป็นลูกสาวจะไม่มีสิทธิ์ขึ้นไปอยู่บนกะลอห่องซึ่งเป็นที่อยู่ของผีตระกูลของสามีของลูกสาว เนื่องจากลูกสาวเมื่อแต่งงานแล้วจะถูกตัดออกจากผีตระกูลเดิมของตนและไปเข้ากับผีบรรพชนในตระกูลของสามีแทนดังนั้นกรณีที่พ่อแม่ไม่มีลูกชายแต่เมื่อลูกสาวจำเป็นต้องเชิญขวัญพ่อแม่ไปอยู่ด้วยเมื่อตายแล้วขวัญของพ่อแม่ลูกสาวคนนั้นจะได้รับอนุญาตเพียงปลูกเป็นหอหรือศาลเล็กๆ อยู่นอกเรือน ใกล้กับบ้านของลูกเขยเท่านั้น

สำหรับกรณีของเด็กหรือคนหนุ่มสาวที่เสียชีวิตก่อนวัยอันควรหรือยังไม่ได้แต่งงานขวัญของผู้ตายจะไม่ได้ถูกเชิญให้กลับมาอยู่กับบรรพชนที่บ้านแต่จะถูกส่งขึ้นไปบนเมืองฟ้า ให้ไปอยู่รวมกันบนพื้นที่ที่ถูกจัดไว้เพื่อมิให้ขวัญผีกลุ่มนี้ล่องลอยไร้จุดหมายซึ่งเป็นอันตรายต่อคนที่มีชีวิตอยู่

ความเชื่อในเรื่องขวัญของไทดำสะท้อนให้เห็นการจัดระเบียบความสัมพันธ์ของชีวิตที่เป็นปกติกับชีวิตไม่ปกติ (การเจ็บไข้ได้ป่วย) และความตายรวมทั้งการจัดระเบียบพื้นที่ของโลกมนุษย์สำหรับการดำเนินชีวิตของคนปกติกับโลกหลังความตาย ซึ่งมีพื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับซากชีวิต ได้แก่ บริเวณป่าแฮ่ว และพื้นที่ของชีวิตหลังความตายที่ชาวไทดำเรียกว่า เมืองฟ้า ซึ่งเป็นที่อยู่ของบรรดาขวัญของคนที่เสียชีวิตของบรรพชนแต่ละสายตระกูลร่วมกับผีแถนผู้มีอำนาจในการควบคุมชีวิตและระบบธรรมชาติ ซึ่งสะท้อนให้เห็นระบบจักรวาลวิทยาของชาวไทดำจากความเชื่อในเรื่องขวัญ

ประเพณี เทศกาล และพิธีกรรม

ประเพณี เทศกาล และพิธีกรรมสำคัญในรอบปี

เทศกาลปีใหม่-กินเจียง

เป็นเทศกาลเฉลิมฉลองการขึ้นปีใหม่ของชาวไทดำในช่วงเวลานี้ชาวไทดำในเวียดนามและลาวนิยมทำพิธีเสนเฮือนพร้อมกันไปด้วย บางหมู่บ้านจะไม่ทำพร้อมกับวันปีใหม่ของเวียดนาม (กรณีในเวียดนามวันขึ้นปีใหม่ตรงกับวันเต๊ดหรือช่วงเวลาเดียวกับเทศกาลตรุษจีน) แต่จะทำกันในเดือน 5 ซึ่งถือว่าเป็นช่วงที่ว่างจากฤดูทำนา เช่น ที่เมืองลอง ปฏิทินการทำงานของชาวไทดำ เริ่มต้นจาก เดือน 4 จะตำกล้า เดือน 5 เสนเฮือน เดือน 6ดำนา เดือน 9 เกี่ยวข้าว เกี่ยวเสร็จก็จะปลูกข้าวโพดต่อจนถึงเดือน 12 นอกจากการฉลองในช่วงปีใหม่แล้ว ที่เมืองลอยังมีการฉลองในวันที่ 14 เดือน 7 อีกด้วย ซึ่งในงานเดือน 7 นี้ มีการทำขนมพิเศษทำจากแป้ง บางทีก็เรียกว่า แป้งสิบสี่ ในบางหมู่บ้านโดยเฉพาะที่เดียนเบียนฟู แม้จะมีงานกินเลี้ยงที่ตรงกับวันตรุษของเวียดนามแล้ว ยังคงมีการจัดงาน กินเบือนห้า (กินเดือนห้า) ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับการเฉลิมฉลองชัยชนะของสงครามเดียนเบียนฟู

ในการกินเลี้ยงหรือเทศกาลต่าง ๆ ชาวไทดำจะทำอาหารสำหรับงานเลี้ยง เช่น ลาบ เนื้อจุ๊บ ผักจุ๊บ เนื้อปิ้ง ปลาปิ้ง ต้มไก่ ก้อยปลา หากเป็นชาวไทดำในประเทศเวียดนามจะมีการทำขนมเวียดนามที่เรียกว่า แบ๋งห์จึง ซึ่งเป็นขนมในเทศกาลตรุษตามที่ได้รับอิทธิพลจากเวียดนามมาใช้ในเทศกาลกินเจียงปีใหม่ของชาวไทดำอีกด้วย นอกจากนี้ยังมีการดื่มเหล้า เหล้าของชาวไทดำมี เหล้าส่า ซึ่งจะหมักไว้ในไห การดื่มต้องเอาไม้ไผ่เล็กมาทำเป็นหลอดดูด เหล้านี้ผู้หญิงในครอบครัวต้องสามารถทำได้ นอกจากเหล้าส่า ยังมี เหล้าเสี่ยว (คำว่าเสี่ยวเป็นคำในภาษาเวียดนามแปลว่า เหล้า เป็นการใช้คำซ้อน) ซึ่งเป็นเหล้าขาวหรือเหล้าอีกประเภทหนึ่งคือ เหล้าหวาน เป็นเหล้าหมักข้าวเหนียว

นอกจากการกินอาหารร่วมกันแล้ว ในช่วงเวลาของเทศกาลจะมีการละเล่นที่เรียกว่า ทอดมะก๋อนระหว่างหญิงชาย ส่วนมากการทอดมะก๋อนจะเล่นกันมากในตอนกินเจียง เมื่อหมดฤดูกาลเล่นแล้ว จะโยนมะก๋อนขึ้นฟ้าไป จะไม่เก็บเอาไว้ ถือว่าเป็นการส่งลูกมะก๋อนขึ้นไปเมืองฟ้า

ปัจจุบันชาวไทดำในประเทศไทยนิยมจัดเทศกาลประเพณีวัฒนธรรมไทดำประจำปี โดยแต่ละชุมชนหรือหมู่บ้านจะมีการกำหนดงานประเพณีประจำปีของตนขึ้นในระหว่างช่วงปลายเดือนมีนาคม –ต้นเดือนพฤษภาคม บางแห่งจะอาศัยช่วงเวลาเทศกาลสงกรานต์ร่วมกับการจัดงานประเพณีประจำปีโดยถือว่าเป็นช่วงปีใหม่ที่เป็นการผสมผสานวัฒนธรรมปีใหม่ดั้งเดิมแบบไทยประเพณีและปีใหม่ดั้งเดิมแบบประเพณีกินเจียงของไทดำเข้าด้วยกัน เมื่อชุมชนชาวไทดำในประเทศไทยได้กำหนดวันจัดงาน จะมีการเชิญชุมชนไทดำจากพื้นที่ต่าง ๆ ในประเทศไทยเข้าร่วมงานประเพณีด้วย การกำหนดวันจัดงานของแต่ละชุมชนจึงมักจะกำหนดวันจัดงานที่ไม่ตรงกัน โดยมีการประสานงานกันระหว่างชุมชนต่าง ๆ เพื่อเลือกวันจัดงานประจำปีของแต่ละชุมชน ในปัจจุบันนอกจากจะมีชาวไทดำในประเทศไทยเข้าร่วมงานแล้วบางชุมชนยังมีการเชื้อเชิญชาวไทดำจากต่างประเทศหรือต่างทวีปเข้าร่วมงานประเพณีประจำปีนี้ด้วยเช่นลาวเวียดนาม

ประเพณี เทศกาล และพิธีกรรมสำคัญในชีวิต

การแต่งงาน และการฟย่าร้าง

พิธีเกี่ยวกับการแต่งงานของไทดำ เป็นพิธีกรรมที่มีขั้นตอนและมีความสลับซับซ้อนมีความเชื่อมโยงกับผีบรรพชน เมื่อผู้หญิงแต่งงานแล้วจะต้องย้ายผีจากตระกูลเดิมมาเคารพผีตามตระกูลของสามี จึงต้องมีพิธีลาผีตระกูลเดิม และบอกผีเพื่อให้อนุญาตเข้ามาอยู่กับตระกูลของสามีด้วย

เมื่อหนุ่มสาวชอบพอกันฝ่ายชายจะส่งตัวแทนทาบทามสู่ขอผู้หญิงจากพ่อแม่ของฝ่ายหญิงเมื่อตกลงกันได้แล้วก็จะนัดหมายกำหนดวันทำพิธีส่งเขย ในวันส่งเขยเจ้าบ่าวและญาติฝ่ายชายจะเดินทางไปที่บ้านของเจ้าสาวทางบ้านของเจ้าสาวจะเตรียมงานเลี้ยงไว้ต้อนรับการไปบ้านเจ้าสาวนี้ไทดำเรียกว่า “ส่งเขย” ฝ่ายเจ้าบ่าวต้องเตรียมจำสิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็นมายังบ้านเจ้าสาว เช่น เสื้อผ้า ที่นอน ผ้าห่ม มุ่ง มีดพร้า ของใช้ส่วนตัวมายังบ้านเจ้าสาว ซึ่งเป็นขั้นตอนที่เจ้าบ่าวต้องอยู่บ้านเจ้าสาวเพื่อช่วยทำงานระยะเวลาหนึ่งอาจจะยาวนานเป็นเดือนหรือเป็นปีก็ได้ ในกรณีที่เป็นตระกูลผู้ท้าวเจ้าบ่าวอาจจะต้องอยู่นานถึง 2-3 ปี ช่วงเวลาที่เจ้าบ่าวต้องอยู่บ้านเจ้าสาวนี้ ยังไม่นับว่าเป็นสามีภรรยากัน เพราะเจ้าบ่าวยังต้องแยกนอนกับเจ้าสาว เจ้าบ่าวจะถูกเรียกว่าเป็น “เขยกวาน”

หลังจากที่เขยกวานได้อยู่ที่บ้านเจ้าสาวตามระยะเวลาที่ตกลงกันไว้จนเป็นที่พอใจกันแล้วจะประกอบพิธีแต่งงานอย่างเป็นทางการเรียกว่า “กินดอง” ครอบครัวของฝ่ายชายจะนำสิ่งของจำนวนมากมาเป็นของกำนัลแก่ครอบครัวของเจ้าสาว เช่น เหล้า หมู ไก่ ปลา หมากพลูยาสูบ พร้อมกับของขวัญแก่เจ้าสาวเช่นกำไล ตุ้มหู ปิ่นปักผม เครื่องประดับต่าง ๆ เมื่อญาติทั้งสองฝ่ายต่างรับรองพิธีกินดองแล้ว ก็จะไปจัดห้องให้คู่สามีภรรยา ฝ่ายหญิงจะมาทำพิธีตั้งเกล้าผม ซึ่งถือว่าตนมีสามีแล้ว ฝ่ายชายจะอยู่ที่บ้านของฝ่ายหญิงต่อไปอีกระยะหนึ่งช่วงเวลานี้เรียกว่าการ “อยู่เขย”

หลังจากระยะเวลาอยู่เขยของฝ่ายชายที่อยู่บ้านฝ่ายหญิงผ่านไป ซึ่งบางครั้งกินเวลายาวนานถึงสิบปีทางญาติพี่น้องของฝ่ายชายจะเตรียมของขวัญไปให้กับครอบครัวของฝ่ายหญิง เพื่อรับลูกสะใภ้กลับมาอยู่ที่บ้านของสามีก่อนที่สะใภ้จะย้ายบ้านไปอยู่กับสามีต้องทำพิธีบอกลาผีเรือนเดิมของตนเองให้ทราบเมื่อสะใภ้ย้ายมาอยู่ที่เรือนของสามีและทำพิธีบอกผีเรือนสามีเพื่อรับลูกสะใภ้เข้ามาเป็นสมาชิกใหม่ของตระกูลแล้วถือว่าฐานะของสะใภ้ได้กลายเป็นคนในตระกูลของสามีอย่างสมบูรณ์

การตั้งครรภ์และการคลอดบุตร

ผู้หญิงไทดำสามารถตั้งครรภ์กับเจ้าบ่าวได้ตั้งแต่เมื่อเจ้าบ่าวได้ผ่านการอยู่เขยที่บ้านของเจ้าสาว ในระหว่างนี้ผู้ที่เป็นภรรยายังอยู่ที่บ้านเดิมของพ่อแม่ของตนเอง หากทราบว่าฝ่ายหญิงกำลังตั้งครรภ์จะไม่ได้รับอนุญาตให้กลับไปอยู่ที่บ้านของสามี จนกว่าจะคลอดบุตร หรือจนกว่าการอยู่เขยจะครบกำหนดลงแต่หากฝ่ายหญิงเกิดการตั้งครรภ์ภายหลังจากการอยู่เขยและได้ย้ายไปเป็นสะใภ้เข้าไปอยู่ที่เรือนของสามีแล้ว ช่วงเวลาก่อนครบกำหนดคลอด แม่ของฝ่ายหญิงสามารถเข้าไปดูแลเพื่อช่วยเหลือในการทำคลอดลูกสาวของตนที่เรือนของลูกเขยได้

ในการคลอดบุตร เด็กแรกเกิดจะถูกนำรกและสายสะดือไปฝังหรือแขวนไว้ตามต้นไม้ แม่ของเด็กจะมีระยะเวลาอยู่ไฟมีข้อห้ามไม่ให้กินปลาตะเพียน เนื้อควายเผือก และเนื้อสุนัข

หลังจากทารกมีชีวิตรอดมาได้ระยะหนึ่งประมาณอย่างน้อย 1 เดือน จะมีการทำขวัญลูกหากเป็นเด็กหญิงมีการนำเส้นด้ายมาร่วมทำพิธี เพื่อคาดหวังว่าโตขึ้นจะได้ทอผ้า หากเป็นผู้ชายจะนำหน้าไม้หรือเครื่องมือทำมาหากินมาเข้าพิธี เพื่อคาดหวังว่าโตขึ้นจะได้ทำมาหากินแข็งขัน หลังจากครอบครัวรับขวัญเด็กเป็นการภายในแล้วจะเชิญมดมาทำพิธีทำขวัญให้เด็กอีกครั้งหนึ่ง ในพิธีนี้มีการตั้งชื่อให้กับเด็ก มดจะทำการ “ขับเสนต้อนเขยเอาจื่อ(ชื่อ)” พิธีนี้จะมีญาติทางฝ่ายแม่ของเด็กเข้ามาร่วม พร้อมกับนำข้าวของมารับขวัญเด็กและมาช่วยงาน ญาติของฝ่ายแม่ของเด็กจะเตรียมชะลอมใส่พัดหรือหน้าไม้มาให้เด็กและเตรียม “ไต้” เป็นเครื่องสานขนาดเล็ก แทนขวัญของเด็กสำหรับนำไปผูกไว้ในกะล้อห่อง ใกล้หิ้งผีบรรพชนเพื่อให้ผีเรือนคอยช่วยคุ้มครองดูแล พิธีในการตั้งชื่อเด็กจึงแสดงถึงการรับรองสมาชิกใหม่ที่กลายเป็นสายสัมพันธ์ทางเครือญาติระหว่างญาติทางฝ่ายแม่ และญาติทางฝ่ายพ่อให้ผูกพันเป็นเครือญาติกัน พิธีที่เกี่ยวเกี่ยวข้องกับการตั้งครรภ์และการคลอดบุตร มีดังนี้

พิธีเสนฆ่าเกือดเป็นพิธีฆ่าแม่ซื้อของเด็กแรกเกิด มีความเชื่อว่าแม่ซื้อเป็นผีติดตามเด็กแรกเกิดมาและจะมาเอาชีวิตเด็กคืนไป จึงต้องทำพิธีฆ่าแม่ซื้อเพื่อเด็กจะได้มีสุขภาพแข็งแรง

การสู่ขวัญเด็กอ่อน เด็กที่เกิดมาเป็นสมาชิกใหม่ของชาวไทดำ จะทำพิธีสู่ขวัญเพื่อทำให้เด็กมีความแข็งแรง เป็นการก้าวผ่านเข้าสู่ชีวิตที่จะเกิดขึ้นใหม่และดำเนินต่อไปอย่างเป็นปกติสุขในสังคมการก้าวเข้าสู่ชีวิตใหม่ของวัยทารกเมื่อคลอดออกมาแล้วแม่จะทำพิธีสู่ขวัญให้ลูกน้อยของที่ต้องเตรียมคือ ไก่ 1 ตัว น้ำต้ม 1 ถ้วย ข้าวเหนียวนึ่ง เหล้า 1 ขวด เสื้อตัวเล็กให้ลูกน้อยใส่เมื่อผู้ทำพิธีทำพิธีเสร็จแล้วก็จะเรียกลูกให้ตื่นเอากระบอกไม้ไผ่ที่ใช้สำหรับใส่น้ำเรียกว่า บั้งน้ำ มากระทุ้งบนเรือน แล้วพูดว่า “...ตื่นไปไฮ่ล้อมอา ตื่นไปนาล้อมเอื้อย ตื่นขึ้นเย้อวสูง...แหละน้อ” (เย้อว = ใหญ่)

เมื่อพูดจบแล้วก็กระแทกบั้งนั้นให้เสียงดัง ถ้าเป็นลูกหญิงก็จะเอาดอกฝ้ายปั่นให้เป็นเส้นด้ายแล้วสอดเข้าไประหว่างนิ้ว มัดนิ้วเอาไว้เพื่อว่าเมื่อเด็กเติบโตขึ้นจะได้ทอผ้าเป็น เพราะการทอผ้าเป็นคุณสมบัติของลูกหญิงชาวไทดำ ส่วนลูกชายนั้นก็จะเอากง (หน้าไม้)อันน้อยๆ ใส่มือไว้

ความตาย และการทำศพ

ชาวบ้านทุกครัวเรือนจะให้ความสำคัญกับการตายเป็นอย่างมาก เมื่อมีคนตายในหมู่บ้านจะหยุดงานการทุกประเภทและมาช่วยกันจัดการงานศพ ในวันแรกที่มีคนเสียชีวิต ญาติพี่น้องจะอาบน้ำแต่งตัวให้ศพ โดยให้ใส่เสื้อด้านที่มีสีสัน แล้วยกศพวางบนแคร่ไม้ไผ่ที่ทำขึ้นนำไปวางไว้ใต้ขื่อบ้านตามยาว รองและคลุมศพด้วยผ้าไหมหรือผ้าฝ้ายที่แขวนไว้ ปลายเท้าศพจะวางเครื่องเซ่นไหว้ ในอดีต ในช่วงเวลากลางคืนจะก่อกองไฟไว้ข้างบนบ้านติดกับห้องผีเป็นสัญลักษณ์ของคนตายและปล่อยไฟลุกทั้งคืน ในวันรุ่งขึ้นหมอพิธีจะทำพิธีบอกทางให้กับผู้ตาย เพื่อให้วิญญาณกลับไปบ้านเกิดเมืองนอน หลังจากนั้นจะหามศพไปเผาที่ป่าช้า โดยให้ลูกชายผู้ตายถือธงนำหน้า เมื่อถึงป่าช้าหมอพิธีจะพิธีเสี่ยงทายเพื่อขอซื้อที่ดินสำหรับเผาศพ เมื่อได้ที่แล้วจะช่วยกันถางหญ้าพรวนดินให้เป็นรูปสี่เหลี่ยม แล้วปักเสา 4 เสา วางแคร่บนปลายเสา กองฟืนไว้ใต้เสา หมอพิธีจะจุดไฟเป็นคนแรก วันรุ่งขึ้นญาติจะเก็บกระดูกและทำพิธีส่งผี คือส่งเสื้อผ้าเครื่องใช้ไปให้ผี ตั้งเสาธง เสาหลวง เรือนแก้วสำหรับเป็นบ้านเรือนให้ผู้ตายได้อยู่เมืองฟ้า เป็นต้น หลังจากพิธีส่งผีแล้ว ต้องหาวันที่ทำพิธีแผ้วเรือน เพื่อล้างเรือนสะอาดเสียก่อนที่จะอยู่อาศัยกันต่อไปโดยปราศจากทุกข์โศก เพราะเชื่อว่าบ้านที่มีคนตายเป็นเรือนไม่สะอาดบริสุทธิ์ (สมทรงบุรุษพัฒน์,2554, 82)

การสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์และบรรพบุรุษ

พิธีเสนเฮือน

เมื่อพ่อแม่เสียชีวิต ชาวลาวโซ่งจะเชิญมาอยู่บนแท่นบูชาที่มุมหนึ่งของห้องในบ้าน เรียกว่า “กะล้อห่อง” แปลว่า “มุมห้อง” ครอบครัวของชาวลาวโซ่งจะมีสมุดจดรายชื่อบรรพบุรุษในผีเรือนเดียวกันเรียกว่า“ปั๊บผีเรือน”ภายในหนึ่งหรือสองปีจะทำพิธีเสนเฮือนเพื่อแสดงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษให้มากินเครื่องเซ่นการทำพิธีเสนเฮือนมีสองลักษณะคือ ทำตามตระกูลหรือสิง ได้แก่ ตระกูลผู้ต๊าว (ผู้ท้าว) ซึ่งสืบเชื้อสายมาจากตระกูลชั้นเจ้าเมือง และตระกูลผู้น้อย ซึ่งสืบเชื้อสายมาจากสามัญชน (วิลาวัณย์ปานทอง และคณะ,2551)

พิธีเสนเฮือนจะเริ่มในตอนเช้าตรู่โดยจะจัดเครื่องเซ่นใส่ในภาชนะที่เรียกว่า “ปานเผือน” โดยใส่เนื้อหมูไว้ล่างสุด ขนมและเครื่องเซ่นอื่นไว้ด้านบน ราวเจ็ดโมงเช้า หมอเสนจะประกอบพิธีเซ่นผีเรือนที่กะล้อห่อง ซึ่งมีของสำหรับประกอบพิธีวางอยู่ ได้แก่ ปานเผือนบรรจุเครื่อง เซ่น กะแอบข้าวเหนียวนึ่ง ตะเกียบ 1 คู่น้ำ 1 ชาม และปั๊บผีเรือน 1 เล่ม หมอเสนจะใส่เสื้อฮี และกล่าวในภาษาลาวโซ่งร้องเรียกให้ผีเรือนมารับเครื่องเซ่น จากนั้นจะอ่านรายชื่อผีเรือนทีละราย และคีบเครื่องเซ่นลงในช่องฝากระดานให้ผีเรือนแต่ละรายจนหมดรายชื่อ ในระหว่างนั้นจะหยดน้ำลงไปในช่องให้ผีเรือนได้ดื่ม เมื่อเสร็จพิธีจะเอาเครื่องเซ่นออกจากปานเผือนมาแบ่งปันกันในบรรดาญาติและผู้ร่วมงาน จากนั้นหมอเสน เจ้าของบ้านและญาติจะรับประทานอาหารร่วมกันในห้องผีเรือน ส่วนแขกที่มาร่วมงานรับประทานอยู่นอกห้องผีเรือน (สมทรงบุรุษพัฒน์ และคณะ, 2554, 82)

พิธีปาดตง

เป็นการเซ่นผีหรือเลี้ยงผีเรือนด้วยอาหารเป็นประจำในทุก ๆ รอบ 10 วัน ตามวันกำหนดของแต่ละตระกูลเรียกว่า “เวนตง” ตามธรรมเนียมของชาวไทดำ เมื่อบิดามารดาได้เสียชีวิตลง หลังจากการทำพิธีศพเสร็จสิ้นไปแล้วได้ประมาณ 1 เดือน จะมีพิธีเชิญผีผู้ตายซึ่งได้มีสถานะเป็นผีด้ำอยู่ร่วมกับผีด้ำบรรพชนที่อยู่บนเมืองฟ้าแล้ว ให้วิญญาณหรือขวัญส่วนหนึ่งกลับมาอยู่กับลูกหลานบนเรือน เพื่อทำหน้าที่คุ้มครองดูแลลูกหลานที่อาศัยอยู่ในเรือนให้ชีวิตดำเนินไปอย่างปกติสุข บนเรือนของลาวโซ่ง/ไทดำ จะมีห้องที่กั้นไว้เป็นพิเศษสำหรับผีด้ำเรียกว่า กะล้อห่อง เมื่อผีด้ำได้ถูกเชิญมาอยู่บนกะล้อห่องแล้วจะมีกำหนดวันสำหรับเลี้ยงผีด้ำ การเลี้ยงผีด้ำที่เชิญมาอยู่บนเรือนนี้เรียกว่าการทำพิธี “ปาดตง”

การกำหนดรอบวัน 10 วันเป็นวิธีการนับวันตามแบบประเพณีของลาวโซ่ง/ไทดำ ได้แก่ 1) มื้อกาบ2) มื้อฮับ 3) มื้อฮาย 4) มื้อเมิง5) มื้อเปิก 6) มื้อกัด 7) มื้อโขด8) มื้อฮ้วง 9) มื้อเต่า 10) มื้อก่า

ในการทำพิธีปาดตงมีข้อกำหนดที่แตกต่างกันระหว่างกลุ่มตระกูลผู้ท้าวและกลุ่มตระกูลผู้น้อยกล่าวคือ กลุ่มตระกูลผู้ท้าว ได้แก่ ตระกูล “สิงลอ” และ “สิงลอคำ” จะทำพิธีปาดตง2ครั้ง ในรอบ 10วัน โดยกำหนดทำในมื้อฮาย และมื้อฮ้วงส่วนกลุ่มตระกูลผู้น้อยจะทำพิธีปาดตงเพียง1 ครั้ง ในรอบ 10 วัน ซึ่งจะทำพิธีในวันใดขึ้นกับวันที่คนในตระกูลผู้น้อยแต่ละตระกูลได้กำหนดเอาไว้มาก่อนแล้ว

ผู้ที่ทำหน้าที่ในการปาดตง คือ ลูกสะใภ้ที่แต่งงานเข้ามาอยู่ในเรือน เป็นผู้เตรียมสำรับกับข้าวสำหรับการเลี้ยงผีด้ำเมื่อถึงกำหนดวันทำปาดตง พร้อมทั้งคอยดำเนินการปาดตงจนเสร็จสิ้น ในวันปาดตงของแต่ละเรือนจะมีการเตรียมสำรับกับข้าวเลี้ยงผีด้ำ 2 เวลา คือ “งายตง” เป็นการเลี้ยงผีในตอนเช้า และ “แลงตง”เป็นการเลี้ยงผีในตอนกลางวัน

เมื่อสะใภ้ทำสำรับกับข้าวเสร็จแล้วจะอาบน้ำชำระร่างกายแต่งตัวโดยนุ่งซิ่นผ้าลายแตงโม ผ้าคาดอกเอาเสื้อฮีคาดทับผ้าคาดอกเข้าไปทำความสะอาดในกะล้อห่องล้างถ้วยก้อ บั้งน้ำโตง หากมีเหล้า (เหล้าหน่องก้อ) ก็จะทำการหน่องหรือรินเหล้าในถ้วยก้อก่อนการเลี้ยงสำรับกับข้าวให้ผีด้ำ ในขั้นตอนการเข้าไปทำความสะอาดกะล้อห่อง ล้างถ้วยก้อ บั้งน้ำโตง และรินเหล้าหน่องก้อ หลังจากทำความสะอาดในขั้นตอนนี้เสร็จสะใภ้จึงเข้าครัวเพื่อเตรียมสำรับกับข้าวแล้วจึงนำไปวางให้ผีด้ำตรงกลางของกะล้อห่อง จากนั้นสะใภ้จะถอยห่างจากสำรับกับข้าวประมาณ 3 ก้าว จึงนั่งยอง ๆ หันหน้าไปทางสำรับกับข้าว และกล่าวเชิญเพื่อเรียกผีด้ำให้มากินข้าวในสำรับนั้น คำกล่าวเรียกผีด้ำมากินข้าวพิธีปาดตงมีความแตกต่างกันระหว่างผีด้ำผู้น้อยและผีด้ำผู้ท้าวดังนี้

“เออเจอนี้นาด้ำสะถ่อปอด้ำปอกวาน...(นั้น) “เอาะจือ”ด้ำสะแกวแม่ด้ำแม่นาง...(นั้น)ด้ำสะถู่ปู่ด้ำปู่กวาน...(นั้น)ด้ำสะข่าย่าด้ำย่านาง...(นั้น)สามสิบด้ำเฮือนโก๊บโหกสิบด้ำเฮือนกู๊จูโตนจูโก๊นเออเจอนี้นาหยังมี เข้าสุกหายงายโต๊งสุกป๊าด “ตอนเช้า”เข้าสุกแหงแลงโค๊งสุกป๊าด “กลางวัน”เหล้ามาหยอดก้อหน่องฟาย (เหล้าหน่องก้อ)หนี้เนอเจือกันมาป๊ากันมากินโก๊นเด๊าว์ (ไหน) หย่าเฮี๊ยะเบ่าฮู้ผู้เด๊าว์หย่าเฮี๊ยะเบ่าเงินเว้นผู้เด๊าว์มันกลายกายผู้เด๊าว์มันหม้อมได้กินป๊อมมันอ่าวส่วนดูงามกินแล้วจั่งเห๊าย์ (ให้)กู้มเห๊าย์ลุ๊เต้าลุหลานผู้โก๊นัวกว๊ายปายเขาผีอย่าซนคนอย่าแพ้ (ชนะ)ผู้ปีหย่าเห้าย์เจ็บต๊องผู้น้องหย่าเห๊าว์เจ็บปูมกินแล้วเห๊าย์เมือหยู่หัวกอนเห้าย์เมือนอนหัวขื่อผีจีขึ้นต๊างตูเอาหยู๊มากั้งผีจีขึ้นตางหลั้งเอาเหาะมาแต๊งเนอ”

คำกล่าวเรียกผีด้ำสำหรับผู้ท้าวในพิธีปาดตง

“เออเจอนี้นาบุนก๊ำฮ้าวต้าวก๊ำ...(นั้น) ผู้หลวงรวงก๊ำเจ้าผู้เหย๊าย์แม่นางส้อยลายอำนางก๊ำ...(นั้น)ผู้หลวงรางก๊ำเจ้าผู้เหย๊าย์สามสิบต้าวเฮือนโก๊บโหกสิบต้าวเฮือนกูจูโตนจูโก๊นเฮยเจอนี้นาหยังมีข้าวสุกหายงานโต๊งสุกป๊าดหนี้เนอเจื๊อกันมา...(ว่าคือกว๊ามผู้น้อย)

หลังจากกล่าวเชิญผีด้ำมากินข้าวที่จัดไว้ให้เสร็จแล้ว สะใภ้ก็ลุกออกมาจากกะล้อห่อง เตรียมเชี่ยนหมากพลู ประกอบด้วย ใบตอง ยาสูบ ไม้ขีด มีดไต หมากพลู ปูนแดงใส่ไว้ในสำรับเชี่ยนหมากให้ครบถ้วนทิ้งระยะห่างประมาณ20นาที ว่าผีด้ำกินข้าวเสร็จแล้วจึงถือเชื่ยนหมากเข้าไปวางในกะล้อห่องแล้วกล่าวว่า “มีหมะปู๊อันเส่าย์ (ใส่) แหล ปู๊แป๊อันเส่าย์ถ้วยมาเมยหนี้ เนอ” สะใภ้ยกสำรับกับข้าวออกมาเป็นอันเสร็จพิธีปาดตง ขั้นตอนตามที่กล่าวมาทำทั้งปาดงายตงในเวลาเช้า และปาดแลงโตงซึ่งทำอีกครั้งในช่วงกลางวันประมาณระหว่าง11.00 – 13.00 น.

พิธีเสนเต็ง

เป็นพิธีเพื่อขอไถ่ความผิดของผีเฮือนที่ได้ทำผิดต่อแถน ซึ่งเป็นเทวดาที่อยู่บนฟ้า มีอำนาจเหนือมนุษย์สามารถดลบันดาลให้เกิดสิ่งดีและสิ่งร้ายแก่คน สัตว์ และพืชผีเฮือนถูกแถนจับไปลงโทษ ส่งผลให้ผีเฮือนกลับมาทำร้ายลูกหลานให้เจ็บป่วยเพื่อจะได้ไปช่วยไถ่ถอนตนออกมาจากแถน ดังนั้นเมื่อมีการเจ็บป่วย จึงต้องมีการทำพิธีเสนเพื่อนำเครื่องเซ่นไปให้แถนเพื่อช่วยให้หายป่วย

พิธีเสนตั้งบั้ง

เป็นพิธีที่มีลักษณะพิเศษกว่าพิธีการเสนอื่น ๆ เพราะพิธีเสนตั้งบั้งเป็นความเชื่อของชาวลาวโซ่งที่มีความเชื่อว่า บ้านใดที่มีพ่อหรือปู่เป็นผู้มีเวทย์มนต์หรือเรียกว่าเป็นผู้มีวิชา มีครูบาอาจารย์สามารถรักษาไข้ถอนพิษถอนคุณด้วยเวทย์มนต์ได้เมื่อเสียชีวิตไปแล้วลูกหลานจะอัญเชิญมาไว้ที่เรือนมีการจัดพิธีเสนประจำปี ด้วยการเป่าปี่ประโคมและการร่ายรำประกอบเป็นพิเศษ ผู้สืบผีต้องเตรียมเครื่องเซ่นไหว้ 2 ชุดแยกกันและเครื่องเซ่นก็ต่างกันคือ มีการเซ่นผีเรือนธรรดาก่อนในตอนเช้า และการเซ่นไหว้ผีผู้มีเวทย์มนต์เป็นพิเศษในตอนบ่าย

ปัจจุบันเป็นพิธีที่ไม่ค่อยได้จัดทำมากนักในประเทศไทยเนื่องจากเป็นพิธีประจำปีบางครั้งต้องอาศัยระยะเวลา 2-3 ปีตามเงื่อนไขและความพร้อมจึงจะสามารถทำพิธีนี้ได้ครั้งหนึ่งอีกทั้งยังเป็นพิธีใหญ่ที่ต้องทำร่วมกับพิธีเสนเรือนประจำปี จึงทำให้โอกาสของการจัดพิธีเสนตั้งบั้งมีน้อยลง พิธีเสนตั้งบั้งเป็นพิธีที่จัดทำขึ้นในบ้านของผู้ที่มีพ่อหรือปู่ที่เป็นผู้มีความรู้เวทย์มนต์วิชาในการรักษาโรค เมื่อผู้นั้นเสียชีวิตไปแล้วลูกหลานจะอัญเชิญมาเป็นผีเรือน โดยจะจัดหิ่งที่อยู่ไว้เฉพาะต่างหากจากผีเรือนธรรมดา แต่อยู่ในห้องผีเดียวกัน เมื่อถึงโอกาสสำคัญก็จะถูกเชิญมาร่วมพิธีกรรม ซึ่งวาระที่จะทำพิธีเสนตั้งบั้งได้นั้นนิยมทำกันในเดือน 4 เดือน6และเดือน 12 เพราะเป็นช่วงที่ว่างจากฤดูทำนา ไม่นิยมทำกันในเดือน 5 เพราะถือว่าเป็นเดือนร้อน และไม่ทำในเดือน 9-10-11เพราะเชื่อว่าใน 3 เดือนนี้ผีไม่อยู่ เนื่องจากเป็นเดือนที่ผีไปเผ้าแถนจึงไม่สะดวกในการทำพิธีเสนตั้งบั้ง (สานิตย์รัศมี, 2545)

การทำพิธีเสนตั้งบั้งจะทำต่อจากการเสนเรือนในตอนเช้า แล้วจึงทำพิธีเสนตั้งบั้งในตอนบ่าย ระยะเวลาในการทำพิธีนั้นขึ้นอยู่กับการเสี่ยงทายของหมอผู้ทำพิธีที่เสี่ยงทายได้ถูกต้องตามที่ต้องการช้าหรือเร็ว พิธีเสนตั้งบั้งเป็นพิธีของครอบครัวที่หัวหน้าครอบครัวจะจัดขึ้นในระหว่าง 2-3 ปีต่อครั้งตามฐานะทางเศรษฐกิจของครอบครัวหากไม่มีการจัดพิธีเสนตั้งบั้ง เชื่อว่าจะเกิดอัปมงคลมีการเจ็บไข้ได้ป่วยเป็นผู้ไม่รู้บุญคุณของพ่อแม่ปู่ย่าและบรรพบุรุษเป็นที่ตำหนิติเตียนของตนทั่วไป

ขั้นตอนของพิธีเสนตั้งบั้ง เริ่มต้นด้วยการที่หมอพิธีเริ่มไหว้ครูบาอาจารย์ที่ได้ร่ำเรียนมาเพื่อเป็นสิริมงคล จากนั้นหมอพิธีบอกกล่าวแถนให้รับรู้เกี่ยวกับการเซ่นไหว้มนต์ หมอพิธีเชิญแถนลงมารับเครื่องเซ่นไหว้ หมอพิธีทำพิธีรับขวัญมนต์ การเลี้ยงอาหารมนต์ การรำและกระทุ้งกระบอกไม้ไผ่แสดงความยินดี เชิญแถนและมนต์กลับที่อยู่เดิม และสิ้นสุดด้วยการเลี้ยงอาหารผู้เข้าร่วมพิธี

เครื่องบูชาของหมอพิธี ได้แก่ กระบุงข้าวเปลือก 1 กระบุง ข้าวสาร 1 ชาม ไข่ไก่ต้มสุก 1 ฟองด้ายสายสิญจน์หรือด้ายดิบ 1 ใจ (สำหรับเคียนหัวหมอพิธี) กำไล 1 อัน หมากพลู เหล้าขาว 1 ขวด ห่อผ้าหรือถุงหลา (ห่อผ้าเจ้าของบ้าน) ห่อข้าวเหนียว 10 ห่อ ห่อปลาปิ้ง 9 ห่อ เทียน แก้วน้ำ ปานเผือนสำหรับใส่เครื่องเซ่น เงิน 1 บาท

เครื่องเซ่นไหว้ในพิธี ประกอบด้วย 4 ชุด แต่ละชุดมีเครื่องเซ่นเหมือนกัน ไก่ต้มสุก 1 ตัว ห่อข้าวสุก 1 ห่อ (ข้าวเหนียว) หมากพลู 1 คำ หมูนอนรอง 1 ชิ้นหรือ 1 ถาด (บางเจ้าใช้หัวหมูหรือคางหมูก็ได้แล้วแต่สภาพเศรษฐกิจ) ข้าวต้มมัด 1 ชุด เผือกสุก 1 ชุด มันต้มสุก 1 ชุด อ้อย 1 ชุด ขนมแล้วแต่จะจัดหาได้(ควรเป็นขนมที่มีชื่อเป็นสิริมงคล) ผลไม้ตามฤดูกาล ปานขวัญ 4 ใบ ขนมจันอับ เหล้า

ขันหมากของหมอเมือง ประกอบด้วยตะกร้า 1 ใบ เหล้าขาว 1 ขวด แก้ว 1 ใบ หมากพลู ปูน 1ชุด เทียน 1 เล่ม ขันน้ำมนต์ 1 ใบ ขันน้ำขนาดเล็ก 1 ใบ (สำหรับใส่ข้าวสารเสี่ยงทาย)

อุปกรณ์ตั้งเสาหลัก ประกอบด้วย ไม้ไผ่สูงจากพื้นถึงเพดานยาวประมาณ 250 ซม. 1 อัน (เสาลั่งหรือเสาตั้ง) จะตั้งไว้กลางบ้าน ไหเหล้า 1 ไห ร่มขาวและร่มแดงขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 45 ซม. 2 คัน (อยู่สูงกว่าโคนเสาประมาณ 120ซม. เป็นร่มที่ทำขึ้นเอง) ยอดตำลึง (นำมาเพื่อพอเป็นพิธี) ยอดหญ้าใบแหลมๆ (นำมาเพื่อพอเป็นพิธี) ยอดกระถิน2-3 ยอด เชือกสำหรับไว้ผูก 1 ชุด ใบมะละกอ ใบตาลอ่อน (สำหรับตกแต่งในไหเหล้า)

อุปกรณ์การแต่งหิ้งมนต์ ประกอบด้วย ผ้าไหมสีแดงขนาดความกว้าง 70 ซม.ยาว250ซม.จำนวน1ผืน ผ้าขาวขนาดความกว้าง 75 ซม. ยาว 250 ซม. จำนวน 1 ผืน ผ้าสไบเฉียงสีขาว ไม้ไผ่ผ่าซีก 2 อันขนาดยาว 270 ซม. กว้าง 3 ซม. ดอกไม้ พวงมาลัย ตะกร้าเครื่องเซ่นขึ้นหิ้ง 2 ชุด ตะกร้า ไก่ ยำหน่อไม้ดอง ใบตอง

ลำดับขั้นตอนในการทำพิธีเสนตั้งบั้ง

ก่อนเริ่มงานเจ้าของบ้านเตรียมติดต่อหาหมอพิธีช่วยดูฤกษ์วัน เวลา ในการจัดว่าเหมาะสมวันไหนโดยให้เจ้าของบ้านต้องนำเอาเสื้อผ้าที่สวมใส่แล้วใส่ห่อไปให้หมอพิธีเพื่อดูฤกษ์การจัดงานพร้อมทั้งเจ้าของบ้านต้องเตรียมเครื่องเซ่นไหว้มาบูชาครูและเลี้ยงผีที่บ้านของหมอพิธีด้วยโดยเครื่องเซ่นไหว้ที่นำมาเลี้ยงประกอบด้วย หมาก พลู ดอกไม้ ธูป เทียน เหล้าข้าว เงิน21 บาท ซึ่งหมอพิธีจะทำการกำหนดวันสำหรับทำพิธีเสนตั้งบั้ง

ก่อนถึงวันทำพิธีตามที่กำหนด เจ้าของบ้านจะเตรียมอุปกรณ์และเครื่องเซ่นไหว้ให้พร้อมโดยเฉพาะการเตรียมหมูในพิธี ซึ่งตามปกติชาวลาวโซ่งจะเลี้ยงลูกหมูไว้สำหรับการประกอบพิธีไหว้ผีเรือน หมูที่เลี้ยงไว้ทำพิธีนี้ต้องเลือกตัวที่แข็งแรง มีลักษณะดีและเป็นตัวผู้เท่านั้น จากนั้นจะเชิญญาติพี่น้องและแขกมาร่วมงานพิธี

วันทำพิธี เวลาประมาณ 00.30น. ของวันที่เริ่มทำพิธีเจ้าของบ้านพร้อมกับญาติพี่น้องจะมาช่วยงานโดยการเริ่มฆ่าหมูที่เลี้ยงไว้สำหรับไหว้ผีเรือนโดยจัดการผ่าท้องเอาเครื่องในหมูออกแล้วทำความสะอาดให้เรียบร้อยหลังจากนั้นให้ลูกเขยหรือลูกสะใภ้เป็นคนหามหมูขึ้นบนเรือนเข้าไปที่ห้องเลี้ยงผี หากาบ้านนั้นไม่มีลูกเขยหรือลูกสะใภ้ให้ญาติในตระกูลเดียวกันเป็นคนหามแทนก็ได้ เมื่อเอาหมูเข้าห้องผีเรือนตรงมุมห้องที่เรียกว่า กะล้อห่องทำความเคารพพร้อมทั้งกล่าวบอกผีเรือนว่าเอาหมูมาให้กินตามประเพณีเพื่อให้อยู่เย็นเป็นสุขจากนั้นจึงจัดการชำแหละออกเป็นส่วน ๆ เช่น หัว ขา ซี่โครง หาง อย่างละพอเหมาะที่จะประกอบเป็นตัวหมูทั้งตัวเพื่อเป็นพิธีใส่ปานเผือนสำหรับเตรียมเซ่นไหว้แล้วนำเนื้อหมูส่วนที่เหลือทั้งหมดไปต้มให้สุกเสียก่อนแล้วจึงนำไปเซ่นไหว้พร้อมกับเครื่องเซ่นไหว้อย่างอื่นที่เจ้าของงานได้เตรียมไว้แล้วทั้งคาวหวาน จากนั้นเริ่มพิธีเสนเรือนไปจนเสร็จ จากนั้นหมอพิธี เจ้าของงานและญาติที่นับถือผีเดียวกันที่มาร่วมพิธีในวันนั้นจะรับประทานอาหารร่วมกันในห้องบนบ้านนั้นส่วนแขกที่มาร่วมในงานนั้นก็รับประทานอาหารเช่นเดียวกัน แต่อยู่นอกห้องผีเรือน

อาหารที่จัดทำสำหรับเลี้ยงแขกในพิธีเป็นอาหารตามประเพณีของชาวไทดำ ได้แก่ จุ๊บหมู แกงส้มหน่อไม้ดองกับไก่ แกงเจือหมูใส่ผักดองที่นิยม เช่น หัวผักกาดหรือสับปะรด ลาบเลือด (ลาบเลือดที่ทำจากหมูต้มสับให้ละเอียดแล้วนำคลุกกับเลือดหมูสด แล้วใส่เครื่องเคียงและเครื่องเทศตามที่ต้องการ)ลาบเลือดนี้ไทดำ ถือว่าเป็นอาหารที่ให้ความแข็งแรงและมักกินกันทุกคน

การเริ่มเสนตั้งบั้ง ภายหลังจากการกินเลี้ยงช่วงเช้าแล้ว ในเวลาบ่าย เริ่มทำพิธีเสนตั้งบั้ง โดยหมอพิธีจะเริ่มด้วยการไหว้ครูบาอาจารย์ที่ได้ร่ำเรียนวิชาความรู้ทางด้านพิธีก่อนด้วยเครื่องบูชาครูในระหว่างนี้จะมีการเป่าปี่เสนสั้นและปี่เสนยาวไปตามเสียงร้องของหมอพิธีตลอด และมีการกล่าวเชิญชวนแขกให้เข้ามาร่วมในบริเวณที่ทำพิธีกรรมหลังจากนั้นหมอพิธีจะกล่าวเป็นภาษาไทดำ บอกผีบ้านผีเรือนในทำนองว่าทำพิธีเซ่นไหว้ผีแล้วขอให้รับรู้พร้อมทั้งลงมาร่วมพิธีดังกล่าว ข้างตัวหมอที่ทำพิธีมีห่อผ้าวางไว้ที่ใกล้ตัวหมอพิธี1 ห่อห่อผ้านี้เรียกว่า “ถุงหลา” ถุงนี้นำมาเข้าพิธีเพื่อเป็นเครื่องเสี่ยงทายของเจ้าของบ้านและครอบครัวเกี่ยวกับโรคภัยไข้เจ็บและการทำมาหากิน หมอพิธีจะกล่าวคำบูชาครูเป็นภาษาไทดำ คล้ายบทสวดมนต์ ซึ่งจะมีความหมายเกี่ยวกับการอัญเชิญครูบาอาจารย์และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้รับรู้ว่า สถานที่นี้มีการเซ่นไหว้ หลังจากการสวดบอกกล่าวเสร็จแล้วเจ้าของบ้านได้นำอาหารมาเลี้ยงหมอพิธี อาหารเหล่านั้นประกอบด้วย เหล้า ไก่ต้มข้าวสุกและแกง 2-3 อย่าง หมอพิธีรับประทานอาหารนั้นเสร็จแล้ว มีผู้สูงอายุหรือเจ้าของบ้านได้กล่าวบอกหมอพิธีเป็นภาษาไทดำ ความว่า ขณะนี้บ้านนี้ต้องการเซ่นไหว้ผีเรือน ขอให้หมอพิธีอัญเชิญผีเรือนมารับเครื่องเซ่นไหว้เหล่านี้ด้วย โดยเฉพาะผีเรือนที่เคยเป็นมนต์มาก่อน จึงกล่าวให้หมอพิธีเซ่นผีให้ถูกต้อง

จากนั้นหมอพิธีนั่งลงหน้าหิ้งผีมนต์ประนมมือไหว้ครูจุดเทียน 1 เล่มร่ายมนต์เป็นภาษาไทดำ เวียนไปรอบกระบุงข้ามม้า (กระบุงข้าวเปลือกสำหรับไหว้ครู) สามรอบ แล้วส่งเทียนให้หมอผู้ช่วยจุดต่ออีก 4 เล่มปักไว้ที่ราวผ้าสไบเฉียงข้างละ 2 เล่ม แล้วร่ายมนต์อีกครั้ง ระหว่างนี้เริ่มมีการเป่าสี่เสนทั้งสองไปพร้อมกัน เพื่อบอกกล่าวแก่แถนว่าตนต้องการเซ่นไหว้มนต์ในวันนี้ ให้แถนลงมาช่วยตามหาขวัญของมนต์ได้หรือไม่ จากนั้นหมอพิธีจึงสั่งให้หมอผู้ช่วยทำพิธีเสี่ยงทายเพื่อให้ทราบตำตอบจากแถนหมอทำพิธีถามตอบนี้เรียกว่า “หมอสะ” หมอสะถามแถนว่า ถ้าแถนตกลงรับช่วยเหลือตามที่หมอพิธีได้เชิญ ขอให้เม็ดข้าวสารที่หยิบขึ้นมาเป็นเลขคู่ ถ้าไม่ตกลงตามที่มาหาขวัญให้ขอให้หยิบข้าวสารนับได้เป็นเลขคี่ จากนั้นจึงใช้มื

กันทิมา วัฒนะประเสริฐ และสุวัฒนา เลี่ยมประวัติ.(2528). ระบบเสียงภาษาลาวของลุ่มน้ำท่าจีน. นครปฐม: มหาวิทยาลัยศิลปากร.

เกิ่ม คำจอง.(2532). "คนไทยขาวและคนไทยดำในภาคตะวันตกเฉียงเหนือของเวียดนาม ชื่อนั้นสำคัญไฉน.”พรเพ็ญฮั่นตระกูล (แปล) ใน เอกสารประกอบการสัมมนา เรื่อง “คนไทนอกประเทศ: พรมแดนความรู้.” การประชุมใหญ่สามัญประจำปีพ.ศ. 2531 และการสัมมนาทางวิชาการของสมาคมประวัติศาสตร์ฯ (28-29 มกราคม), 29 หน้า.

โกศลแย้มกาญจนวัฒน์. (2545). ลาวโซ่งกับความเชื่อในพิธีศพ. กรุงเทพฯ: ม.ป.ท.

คมคาย หมื่นสาย.(2537). “เอ็ดแฮว: วาระสุดท้ายของชีวิตไทยทรงดำ”ใน ชีวิตไทย ชุดฮีตฮอยเฮา, หน้า 25-35.(กรุงเทพฯ): สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ, ภาพประกอบ.

คำ จอง. (2538).“ประวัติศาสตร์ และเอกสารไทดำในเวียดนาม.” เรณู วิชาศิลป์ (ถอดความจากคำบรรยายและเรียบเรียง) ในการศึกษาวัฒนธรรมชนชาติไท. หน้า 193-196 กรุงเทพฯ: สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ

งามพิศ สัตย์สงวน. (2545). สถาบันครอบครัวของกลุ่มชาติพันธุ์ในกรุงเทพมหานคร: กรณีศึกษาครอบครัวไทยโซ่ง. กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

จิรัชฌา วานิช. (2541).การทดลองใช้เรื่องเล่าจากโครงเรื่องวรรณกรรมตะวันตกเพื่อวัดทัศนคติที่มีต่อการแก้ปมปัญหาครอบครัวของชาวบ้านลาวโซ่ง ต.หนองปรง อ.เขาย้อย จ.เพชรบุรี. วิทยานิพนธ์หลักสูตรสังคมวิทยาและมานุษยวิทยามหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

จิรพร เจริญสุข. (2516).“พิธีศพของลาวโซ่งหมู่ที่ 1 ตำบลบ้านดอนอำเภออู่ทองจังหวัดสุพรรณบุรี”. สารนิพนธ์ศิลปศาสตรบัณฑิตสาขาวิชาโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2516. 28 แผ่น, ภาพประกอบ

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. คณะอักษรศาสตร์. (2535).ไท-กะได เครื่องแต่งกายและเครื่องประดับสตรี ไทดำ-ต้ง-หลี. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัย, 2535.28 หน้า. ภาพประกอบ. แผนที่.

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. สถาบันไทยศึกษา.(2534).การประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่องไทในเวียดนามกับการศึกษาชนชาติไท 4 ก. ค. 34.

ฉวีวรรณ ประจวบเหมาะ, สุดสวาท ดิศโรจน์ และเสมอชัย พูลสุวรรณ.(2530).ระบบนิเวศวัฒนธรรมของชุมชนลาวโซ่ง (An cultural-ecological approach Lao-Song communities). กรุงเทพฯ: คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

ฉวีวรรณ ประจวบเหมาะ.(2543).ชีวิตลาวโซ่งเมื่อวันวาน. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

ฉัตรทิพย์ นาถสุภา และพิเชฐ สายพันธ์, บรรณาธิการ.(2553).ทฤษฎีบ้านเมือง ศาสตราจารย์คำจองกับการศึกษาชนชาติไท. กรุงเทพฯ : สร้างสรรค์.

ชมรมไทยโซ่ง.(2532).หนังสือสาร์สผู้ไทย. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์อักษรพิทยา. 53 หน้า. ภาพประกอบ.

ชลธิรา สัตยาวัฒนา.(2562). ด้ำ แถน กำเนิดรัฐไท สาวรกรากต้นตอ คนไท ชุมชนไท-ลาว และความเป็นไท/ไต/ไทย/สยาม. กรุงเทพฯ: ชนนิยม.

ชาคริต อนันทราวัน.(2521). “ระบบหน่วยเสียงในภาษาไทยดำ หมู่บ้านนาป่าหนาด ตำบลเขาแก้ว อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย.” วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.

ชาคริต อนันทราวัน.(2530) .“รู้จักไทดำบ้านนาป่าหนาด ตำบลเขาแก้ว อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย.” ใน เอกสารประกอบการสัมมนาทางวิชาการ เรื่องโบราณคดี ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม ท้องถิ่น จังหวัดเลย (22-24 ธันวาคม 2530). ศูนย์วัฒนธรรม จังหวัดเลย วิทยาลัยครูเลย.

ชิน อยู่ดี และคนอื่นๆ.(2530).คนไทยอยู่ที่ไหนบ้าง. สุจิตต์ วงษ์เทศ บรรณาธิการ. กรุงเทพฯ: ศิลปวัฒนธรรม. 124 หน้า. ภาพประกอบ, แผนที่.

โชติมา จะตุรวงค์.(2540).เรือนไทดำ: กรณีศึกษา เพชรบุรี. วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

ดัลเซ่, มาเซียล และไพฑูลย์ ดัลเซ่.(2519).ปัญหาการเมืองของชนเชื้อชาติเผ่าไทยในเอเชีย เวียดนาม พม่า จีน. กรุงเทพฯ: ดวงกมล.163 หน้า. แผนที่.

ดารารัตน์ เมตตาริกานนท์.(2530).“ความเชื่อและพิธีกรรมของชาวไทดำบ้านนาป่าหนาด.” ใน เอกสารประกอบการสัมมนาทางวิชาการ เรื่องโบราณคดี ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมท้องถิ่น จังหวัดเลย (22-24 ธันวาคม 2530). ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดเลย วิทยาลัยครู. หน้า 115-129.

ดารารัตน์ เมตตาริกานนท์ และสมศักดิ์ ศรีสันติสุข.(2529)รายงานการวิจัยเรื่องการเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และวัฒนธรรมในหมู่บ้านอีสาน:ศึกษากรณีหมู่บ้านนาป่าหนาด. ขอนแก่น: คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น. 293 หน้า.

ถนอม คงยิ้มละมัย.(2557).วรรณกรรมท้องถิ่นไทยทรงดำ. พิพิธภัณฑ์ปานถนอม บ้านหนองจิก ตำบลหนองปรง อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี.

ถวิล เกษรราช.(2512).ประวัติผู้ไทย. พระนคร: กรุงสยามการพิมพ์. 472 หน้า.

ถวิล ทองสว่างรัตน์.(2529). ประวัติผู้ไทยและชาวผู้ไทยเมืองเรณูนคร. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ศรีอนันต์. 282 หน้า.

ทวี สว่างปัญญางกูร.(2539).ฟอนต์อักษรไทดำ (Black Tai postscript & true type fonts). กรุงเทพฯ: ม.ป.พ.

ทวี สว่างปัญญางกูร(2537).“อักขระและวรรณกรรมของไทดำและไทขาว.” ใน การสัมมนาทางวิชาการเรื่องวัฒนธรรมชนชาติไท: สิบสองจุไท. วันที่ 19 สิงหาคม 2537 จัดโดยสถาบันไทยคดีศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ. กรุงเทพฯ: สถาบันไทยคดีศึกษา

ทวีโรจน์ กล่ำกล่อมจิตต์.(2551).เจ้าจอมโซ่ง. เพชรบุรี: เพชรภูมิการพิมพ์.

ธิดา ชมภูนิช.(2546).การศึกษาศิลปหัตถกรรมไทยโซ่ง จังหวัดนครปฐม. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์พิทักษ์อักษร

นเรศร์ มุลาลีและคนอื่น ๆ. (2525). โครงสร้างทางพันธุกรรมของประชากรย่อยในประเทศไทยภาค 1 ไทยดำ. ขอนเเก่น: คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

นาตยา สำราญทรัพย์.(2532).“ระบบเครือญาติและโครงสร้างทางสังคมของลาวโซ่ง.” สารนิพนธ์ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร.

นำพวัลย์ กิจรักษ์กุล.(2532).การศึกษารูปแบบการตั้งถิ่นฐานประชากรเศรษฐกิจและวัฒนธรรมของลาวโซ่งในจังหวัดนครปฐม.นครปฐม: ภาควิชาภูมิศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์มหาวิทยาลัยศิลปากร

นิพนธ์ เสนาพิทักษ์. (2521). ประวัติผู้ไทยโซ่งดำ. กรุงเทพฯ.

นุกูล ชมภูนิช.(2530).วัฒนธรรมไทยโซ่งหมู่บ้านเกาะแรตตำบลบางปลา อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม. นครปฐม: ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมวิทยาลัยครูนครปฐม. 2530. 213 แผ่น. ภาพประกอบ.

บทบรรยายพิเศษเรืองไทยดำศึกษา 29 เมษายน 2539. (2539). จัดโดย สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.1 แฟ้ม (2 บทความ) มีบทความเรื่อง “Documents en Francais sur les des Sipsong Chau Tai du Vietnam et sur leurs prolongements au Laos” โดย Jacques Lemoine และ “ไทยดำศึกษาในประเทศเวียดนาม” โดย Cam Trongแปลโดย ทวี สว่างปัญญางกูร

บังอรปิยะพันธ์.(2529). ประวัติศาสตร์ของชุมชนลาวในหัวเมืองชั้นใน ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น. วิทยานิพนธ์อักษรศาสตร์บัณฑิต บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร.

บังอรปิยะพันธ์. (2538).“ประวัติศาสตร์เกี่ยวกับชนชาวลาวในภูมิภาคตะวันตก.” ใน ฟ้าเฟื่องเรื่องวิจัย 80 ปี ฝึกหัดครูสู่ราชภัฏ. หน้า 98-108. นครปฐม: ศูนย์วิจัยและบริการการศึกษาสถาบันราชภัฏนครปฐม.

บุญมี ปาริชาติธนกุล.(2546).ความเชื่อเรื่องผีในพิธีกรรมของชาวไทยโซ่งบ้านไผ่หูช้าง อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยรามคำแหง.

บุญยงค์ เกศเทศ. (2527). “ผีฟ้าพญาแถน.” ใน ชีวิตไทยชุดบูชาพญาแถน. หน้า 188-200. กรุงเทพฯ: สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ

บุญยงค์ เกศเทศ.(2558).“ไทดำ” เมืองแถน “ทรงดำ” ถิ่นสยาม จากหนองแฮด ถึงหนองปรง.มหาสารคาม: กากะเยีย.

บุปผา พงษ์ไพบูลย์.(2537).“การแต่งงานของชาวไทยโซ่ง.” ใน ชีวิตไทย ชุด บรรพบุรุษของเรา. หน้า 23-28. กรุงเทพฯ: สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ.

ประชุมพงศาวดารที่ 9. (2502).พระนคร: กรมศิลปากร. 105 หน้า. (พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราช ทานเพลิงศพ พันตรีหลวงสำแดงศรผลาญ (เฉือย โกมลารชุน) ณ ฌาปนสถานกองทัพบกวัดโสมนัสวิหารวันที่ 17 ธันวาคม 2502)

ประภาพันธ์ ทองแป้น. (2530).“สภาพการศึกษา ปัญหา และความต้องการการศึกษาของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ชาวลาวโซ่ง: การศึกษาเฉพาะกรณีตำบลดอนมะเกลืออำเภออู่ทองจังหวัดสุพรรณบุรี (Educational settings, problems and needs for education of Lao Song students in prathom suksa six: A case study of Tambol Dornrnaklua, Amphoe U Thong, Changwat Suphan Buri.” วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต สาขาวิชาพื้นฐานการศึกษาบัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. 2530. 249 หน้า.

ประเสริฐ ณ นคร.(2536). “ลายสือไทย” ใน ราชบัณฑิตยสถาน. พจนานุกรมศัพท์วรรณคดีไทย สมัยสุโขทัยศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงมหาราช หลักที่ 1: ฉบับราชบัณฑิตยสถาน. หน้า 7-12. กรุงเทพฯ: ราชบัณฑิตยสถาน. 50 หน้า. ภาพประกอบ.

ปัทมา พัฒน์พงษ์.(2556). “การจัดการข้อมูลตัวบทของกลุ่มชาติพันธุ์ไทยโซ่ง. รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์.”สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย.

ปราณี กุลละวณิชย์.(2536).ชนเผ่าไท-กะได: ภาษาและเครื่องแต่งกายสตรี. กรุงเทพฯ: คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

ปานทิพย์ คงยิ้มละมัย.(2546).“พิธีเสนเฮือนในวิถีชีวิตลาวโซ่ง: กรณีศึกษาตำบลหนองปรง อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี.”วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชา ประชากรศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล.

เปรมวิทย์ วิวัฒนเศรษฐ์. (2527).วรรณกรรมอายุรกรรมพื้นบ้านไทยทรงดำ บางระกำ พิษณุโลก: การวิเคราะห์เชิงหน้าที่นิยมและแบบแผนทางฉันทลักษณ์. ปริญญานิพนธ์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พิษณุโลก.

เปรมวิทย์ วิวัฒนเศรษฐ์.(2533).หรรษาวรรณกรรมไทยทรงดำพิษณุโลก. เชียงใหม่: มหาวิทยาลัยพายัพ.

เปรมวิทย์ วิวัฒนเศรษฐ์.(2529).อาหารพื้นบ้านไทยทรงดำ บางระกำ พิษณุโลก: การวิเคราะห์ตามแนวหน้าที่นิยมและสังคมวิทยา. เชียงใหม่: มหาวิทยาลัยพายัพ.

พนิดา เย็นสมุทร. (2524).คําและความหมายในภาษาลาวโซ่ง. วิทยานิพนธ์ปริญญาศลิปศาสตรมหาบัณฑิตมหาวิทยาลัยศิลปากร.

พรเพ็ญ ฮันตระกูล.(2539).“ฮิตคองเมืองบ๋าน”จารีตบ้านเมืองของคนไทยในเวียดนาม: เอกสารประวัติศาสตร์.” ใน การประชุมนานาชาติไทยศึกษา 6. เชียงใหม่, 2539.

พิเชฐ สีตะพงศ์ และไอยเรศ บุญฤทธิ์.(2556). “วัฒนธรรมไทยโซ่ง ภาพสะท้อนผ่านเพลงขับสายแปง. รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย.

เพ็ญวิภา อยู่เย็น.(2556). การแปรเสียงวรรณยุกต์ตามตัวแปรอายุในภาษาไทยโซ่ง จังหวัดราชบุรี. วิทยานิพนธ์หลักสูตรปริญญาศิลปศาสตรหมาบัณฑิต (ภาษาศาสตร์) บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล.

ภัทธิยา ยิมเรวัต.(2544).ประวัติศาสตร์สิบสองจุไท. กรุงเทพฯ: สร้างสรรค์.

มนตรี ศรีบุษรา. (2522). ไทยดำรำพัน. โดย ม.ศรีบุษรา. กรุงเทพฯ: บรรณกิจ. 192 หน้า. ภาพประกอบ. ตาราง, แผนที่.

มนู อุดมเวช.(2537). “วัฒนธรรมและผ้าไทในสิบสองจุไท.” ใน การสัมมนาทางวิชาการ เรื่อง วัฒนธรรมชนชาติไทย: สิบสองจุไท. วันที่ 19 สิงหาคม 2537 จัดโดย สถาบันไทยคดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ. (มปป.)กรุงเทพฯ: สถาบันไทยคดีศึกษา.

มนู อุคมเวช และคนอื่นๆ.(2537).“ผ้าไทดำกับการอพยพ.” ใน สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ. คณะอนุกรรมการส่งเสริมการแต่งกายแบบไทย. ผ้าไทย. หน้า 75-9. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์คุรุสภา.

มนู อุดมเวช. (2547). ประวัติศาสตร์ไทดำในประเทศไทย. คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี.

มยุรี วัดแก้ว.(2521). การศึกษาโครงสร้างสังคมของลาวโซ่ง. วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต สาขาพัฒนาสังคมมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. 101 หน้า.

มีวรรณ ลีรวัฒน์ และคนอื่นๆ. (2525). พจนานุกรมภาษาไทยเปรียบเทียบ กรุงเทพฯ เชียงใหม่ ไทยลื้อ ไทยดำ. เชียงใหม่: คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.รายงานวิจัยเดิมใช้ชื่อ “ภาษาไทยถิ่นที่ใช้พูดในประเทศอื่นๆ นอกประเทศไทย”

ยุกติ มุกดาวิจิตร.(2557).ประวัติศาสตร์ไทดำ: รากเหง้าวัฒนธรรม–สังคมไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้. กรุงเทพฯ:สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม.

ยุกติ มุกดาวิจิตร.(2561).อ่าน “ส่งชู้สอนสาว” วรรณกรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ไตดำในเวียดนาม: จากรักโรแมนติกสู่การต่อสู้ทางชนชั้น. กรุงเทพฯ: ศุนย์มานุษยวิทยาสิรินธร.

ยุกติ มุกดาวิจิตร.(2547).“การรื้อฟื้นสือไต๊ในเวียดนาม: ความรู้ของท้องถิ่นกับท้องถิ่นของความรู้”. เสนอใน การประชุมทางมานุษยวิทยาประจำปีครั้งที่ 3 ณ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร กรุงเทพฯ

ระวิวรรณ โอฬารรัตน์มณี.(2556).รูปแบบบ้านเรือนของกลุ่มชาติพันธุ์ในอุษาคเนย์. เชียงใหม่ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

รัชพล ปัจพิบูลย์.(2538). “กระบวนการถ่ายทอดวัฒนธรรมการทอผ้าของชาวไทยทรงดำ.” วิทยานิพนธ์ปริญญา ศึกษาศาสตร์มหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. เชียงใหม่.

เรณู เหมือนจันทร์เชย.(2541). การศึกษาอิทธิพลความเชื่อ ประเพณี และพิธีกรรมของชาวลาวโซ่งที่มีต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต: กรณีศึกษาหมู่บ้านแหลงกะเจา 2 ตำบลลำลูกบัว อำเภอดอนตูม จังหวัดนครปฐม. วิทยานิพนธ์หลักสูตรปริญญาศิลปะศาสตร์มหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยมหิดล.

เรณู เหมือนจันทร์เชย.(2542).โลกทัศน์ของกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย: ความเชื่อเรื่องผีของลาวโซ่ง. สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบท มหาวิทยาลัยมหิดล. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์สหธรรมิก จำกัด.

เรณู เหมือนจันทร์เชย. ผีเฮือนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของชาวไทยโซ่ง. วารสารภาษาและวัฒนธรรม. สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบท มหาวิทยาลัยมหิดล.

เรไร สืบสุข, สุขสมาน ยอดแก้ว และรัชฎาพรรณ เศรษฐวัฒน์.(2523).วรรณกรรมพื้นบ้านไทยทรงดำ อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี. เพชรบุรี: ภาควิชาภาษาไทยวิทยาลัยครูเพชรบุรี“เรือนลาวโซ่ง.” ใน เรือนไทย. ไม่บอกเลขหน้า. กรุงเทพฯ: กรมยุทธโยธาทหารบก.(2514) ภาพประกอบ.

ลุงก๊อต.(2536). ตำนานคนไต. ผู้แปลเป็นไต จายจึงมาว เมืองน้ำคำ; ผู้แปลเป็นไทย โสภณ แก้วจันทร์คำ และคณะ; บรรณาธิการ เดชา เตียงเกตุ. กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2536. 168 หน้า. ภาพประกอบ.

“วัฒนธรรมไทยทรงดำ (ลาวโซ่ง).” ใน สำนักงานศึกษาธิการอำเภอบางแพ. วัฒนธรรมบางแพ.(2534).หน้า 19-31. ราชบุรี: สำนักงานศึกษาธิการอำเภอบางแพ.

วาสนา อรุณกิจ. (2529). “พิธีกรรมและโครงสร้างทางสังคมของลาวโซ่ง (Lao Song ritual and social structure).” วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต สาขาวิชาสังคมวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. 225 หน้า.ภาพประกอบ. ตาราง.

วิไลลักษณ์ เดชะ.(2529) . “ศึกษาเปรียบเทียบระบบเสียงภาษาไท 6 ภาษาที่พูดในอำเภอท่าตะโก จังหวัดนครสวรรค์ (A Comparative study of the phonology of six Tai dialects in Armphoe Tha Tako, Changwat Nakhon Sawan).” วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต สาขาวิชาภาษาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

วิไลวรรณ ขนิษฐานันท์.(2529).วิวัฒนาการพิธีทำขวัญของคนไท. กรุงเทพฯ: สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

วิศรุต สุวรรณวิเวก.(2524).“ระบบการเขียนของภาษาโซ่ง (Song 's paleography).” วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิตภาควิชาภาษาตะวันออก สาขาวิชาจารึกบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร

วีระ อินพันทัง.(2555).เรือนลาวโซ่ง การกลายรูปในรอบสองศตวรรษ. กรุงเทพฯ : อุษาคเนย์.

วีระวัชร์ปิ่นเขียน. (2532) . “ลาวโซ่ง.” ใน สำนักงานจังหวัดราชบุรี. ของดีเมืองราชบุรี. หน้า 41-42. กรุงเทพฯ: สำนักงานจังหวัดราชบุรี.

วีระศักดิ์ มั่นการ.(2551) . “ภูมิปัญญาในการดูแลรักษาสุขภาพของชาวไทยโซ่ง: ศึกษากรณีกลุ่มผู้สูงอายุในอำเภอเขาย้อยจังหวัดเพชรบุรี.” วิทยานิพนธ์หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาชนบทศึกษาและการพัฒนา สำนักบัณฑิตอาสาสมัคร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ศรีศักร วัลลิโภดม และสุจิตต์ วงษ์เทศ.(2534). ไทยน้อย ไทยใหญ่ ไทยสยาม. กรุงเทพฯ: มติชน, 2534. 231 หน้า. ภาพประกอบ (ภาพสีบางภาพ), แผนที่. (ศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษ)

ศิราพร ณ ถลาง.(2539).การวิเคราะห์ตำนานสร้างโลกของคนไท (An analysis of the creation myths of the Tai speaking peoples). นนทบุรี: สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. 97 แผ่น.

สมคิด ศรีสิงห์.(2529).โครงการศึกษาวิจัยประวัติศาสตร์วัฒนธรรมลาวโซ่งในเขตจังหวัดพิจิตรและพิษณุโลก (The project of research on Lao Song cultural history in the area of Pichit and Pitsanuloke). พิษณุโลก: คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒพิษณุโลก.

สมคิด ศรีสิงห์.(2536). รายงานการวิจัยเรื่อง วัฒนธรรมของไทยโซ่งดำ (ลาวโซ่ง) ในจังหวัดพิษณุโลกและพิจิตร. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ. 171 หน้า. แผนที่. (สนับสนุนการวิจัยโดยสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ)

สมทรง บุรุษพัฒน์.(2524). การเล่นคอนของลาวโซ่งที่บางกุ้ง. นครปฐม: สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบทมหาวิทยาลัยมหิดล. 47 หน้า. ภาพประกอบ. แผนที่.

สมทรง บุรุษพัฒน์.(2540) .สารานุกรมกล่มุชาติพันธุ์ไทยโซ่ง. นครปฐม: สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบมหาวิทยาลัยมหิดล. จัดพิมพ์เนื่องในมหาวโรกาสฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี ในปีพุทธศักราช.

สมทรง บุรุษพัฒน์ และคณะ.(2554).การใช้ภาษาและทัศนคติต่อภาษาและการท่องเที่ยวเชิงชาติพันธุ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ในภูมิภาคตะวันตกของประเทศไทย. นครปฐม: สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล.

สมทรง บุรุษพัฒน์ และคณะ.(2556).การพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงชาติพันธุ์ไทยโซ่ง. นครปฐม: สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล.

สมทรง บุรุษพัฒน์.(2556). การแปรและการเปลี่ยนแปลงเสียงในภาษาไทยโซ่ง. รายงานวิจัยฉับบสมบูรณ์. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย.

สมพนธ์ สุขวงศ์.(2518).“ไทยทรงดำ” ใน อนุสรณ์ในการพระราชทานเพลิงศพนายสมพนธ์ สุขวงศ์. หน้า 1-23. ม.ป.ท.

สมพร เกษมสุขจรัสแสง.(2526). “การผสมผสานทางวัฒนธรรมของลาวโซ่งในเขตอำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี”. วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต สาขาวิชาการศึกษาผู้ใหญ่และการศึกษาต่อเนื่อง ภาควิชาพื้นฐานทางการศึกษา บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร. 141 หน้า.

สมศักดิ์ ศรีสันติสุข และคนอื่น ๆ.(2530). รายงานการวิจัยเรื่อง การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ การเมืองสังคมและวัฒนธรรมในชุมชนบ้านเยอ บ้านไทยดำ และบ้านไทยลาว: การศึกษาเปรียบเทียบเฉพาะกรณี. ขอนแก่น: คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น. 372 หน้า.

สมศักดิ์ ศรีสันติสุข.(2542). การศึกษาการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมของชุมชนตระกูลภาษาไตดำ บ้านแจ้งสะหว่าง เมืองนาซายทอง แขวงกำแพงนะคอนเวียงจัน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว. กรุงเทพฯ: สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ.

สานิตย์รัศมี. (2545). พิธีเสนตั้งบั้ง:กรณีศึกษาดนตรีและพิธีกรรมของลาวโซ่งหมู่บ้านเกาะแรตจังหวัดนครปฐม.บัณฑิตวิทยาลัยมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒหลักสูตรปริญญาศิลปกรรมศาสตร์มหาบัณฑิต วิชาเอกมานุษยดุริยางควิทยา.

สิริ พึ่งเดช. (2519). ประวัติลัทธิของผู้ไตทรงคำ. พระนคร: โรงพิมพ์คุรุสภา.

สิริวัฒน์ คำวันสา.(2521).โครงการลุ่มน้ำท่าจีน: ภาษาและวรรณกรรมจังหวัดสุพรรณบุรี (The Study of language and literature in the Tha Chin Basin: Suphanburi case). นครปฐม: มหาวิทยาลัยศิลปากร

เสมอชัย พูลสุวรรณ.(2544). ลาวโซ่งกับคริสต์ศาสนา. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

สุธี จันทร์ศรี และสมทรง บุรุษพัฒน์.(2561) .สืบอัตลักษณ์ไทดำ สืบลำนำดนตรี. นครปฐม: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ; สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล.

สุนันน์ อุดมเวช. (2537).“ผ้าไทในเวียดนาม.” ใน การสัมมนาทางวิชาการเรื่อง วัฒนธรรมชนชาติไท: สิบสองจูไท. 19 สิงหาคม 2537 จัดโดย สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ. กรุงเทพฯ: สถาบันไทยคดีศึกษา.

สุนันท์ อุดมเวช.(2528) . วรรณกรรมไทยทรงดำ อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี. เพชรบุรี: ภาควิชาภาษาไทยวิทยาลัยครูเพชรบุรี. 232 หน้า. ภาพประกอบ.

สุปาณี โคตรจรัส, อารี เพชรผุด และพวงเพชร วัชรอยู่.(2520).อิทธิพลของสถาบันทางสังคมต่อการอบรมเลี้ยงดูเด็กไทดำ (The influence of social institutious on Thai Dam child rearing practices). กรุงเทพฯ: ภาควิชาจิตวิทยา คณะสังคมศาสตร์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. 11, 100 หน้า, ภาพประกอบ.

สุพิดา เกิดอู่ม.(2560). “การเปลี่ยนแปลงเสียงวรรณยุกต์ภาษาไทยโซ่งจังหวัดเพชรบุรี.” วิทยานิพนธ์หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาภาษาศาสตร์เพื่อการสื่อสาร ภาควิชาภาษาอังกฤษและภาษาศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

สุภางค์ จันทวานิช.(2536). “กลุ่มชาติพันธุ์ไทขาว.” ใน สถานภาพทางการวิจัยเรื่อง พัฒนาการทางสังคมและวัฒนธรรมของกลุ่มลาว ไทดำ ไทขาว. เอกสารประกอบการสัมมนาทางวิชาการเรื่อง “สถานภาพและแนวทางการศึกษาวัฒนธรรมชนชาติไท” 10-13 กันยายน 2538 จัดโดย สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ. กรุงเทพฯ: สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ.

สุภางค์ จันทวานิช และจารุวรรณ พรมวัง-ขำเพชร.(2538). “กลุ่มชาติพันธ์ไทขาว.” ใน การศึกษาวัฒนธรรมชนชาติไท. หน้า 201-227. กรุงเทพฯ:สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ.

สุภาภรณ์จินดามณีโรจน์.(2554). ประวัติศาสตร์สังคมของชุมชนลุ่มน้ำท่าจีน. นครปฐม: คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร.

สุภาภรณ์ตัณศลารักษ์.(2527). การศึกษาลุ่มน้ำท่าจีน การสำรวจและศึกษาข้อมูลเบื้องต้นการศึกษาประวัติศาสตร์สมัยใหม่-ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นลุ่มน้ำท่าจีน. กรุงเทพฯ: หมวดวิชาประวัติศาสตร์ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร. 44 หน้า. ภาพประกอบ, แผนที่.

สุมิตร ปิติพัฒน์.(2536). “ข้อคิดเกี่ยวกับการศึกษาวิจัยลาวโซ่งและไทดำในประเทศไทย.” ใน สถานภาพทางการวิจัย เรื่อง พัฒนาการทางสังคมและวัฒนธรรมของกลุ่มลาว ไทดำ ไทขาว. เอกสารประกอบการ สัมมนาทางวิชาการ เรื่อง สถานภาพและแนวทางการศึกษาวัฒนธรรมชนชาติไท 10-13 กันยายน 2536 จัดโดย สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ. กรุงเทพฯ: สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ.

สุมิตร ปิติพัฒน์.(2538). “ข้อคิดเกี่ยวกับการศึกษาวิจัยลาวโซ่งและไทดำในประเทศไทย” ใน การศึกษาวัฒนธรรมชาติไท. หน้า 170-183. กรุงเทพฯ: สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ.

สุมิตร ปิติพัฒน์.(2545).ศาสนาและความเชื่อไทดำในสิบสองจุไท สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม. กรุงเทพฯ: สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

สุมิตร ปิติพัฒน์, บัณฑร อ่อนดำ และพูนสุข ธรรมาภิมุข. (2521).ลาวโซ่ง: รายงานวิจัย. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. 87 หน้า. ภาพประกอบ.

สุมิตร ปิติพัฒน์ และเสมอชัย พูลสุวรรณ. (2540).ลาวโซ่ง: พลวัตของระบบวัฒนธรรมในรอบสองศตวรรษ. รายงานวิจัยเสนอต่อสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ.

สุรศักดิ์ มนตรี, เจ้าพระยา. (2504).ประวัติการของจอมพลและมหาอำมาตย์เอก เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสง-ชูโต). พระนคร: โรงพิมพ์ศรีหงศ์. 667 หน้า.(มธ-กลาง / DS570.6 ส7ก15 2504ก)

สุรัตน์ วรางครัตน์.(2524). “การศึกษาเชิงเปรียบเทียบ ประเพณีวัฒนธรรมของชาวผู้ไทย-ลาวโซ่ง.” สกลนคร: วิทยาลัยครูสกลนคร. (อัดสำเนา)

สุลิ (นามแฝง).(2519). ประวัติลัทธิของผู้ไทซงดำ. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์คุรุสภา.

สุวัฒนา เลี้ยมประวัติ และกันทิมา วัฒนะประเสริฐ.(2536). รายงานการวิจัยเรื่อง วิเคราะห์การใช้คำและการแปรของภาษาของคนสามระดับอายุในชุมชนภาษาลาวลุ่มแม่น้ำท่าจีน (An analysis of lexical use and variation among three generations in Lao language communities of Thachin River Basin). นครปฐม: ภาควิชาภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร. 288 แผ่น.

สุวัฒนา เลี้ยมประวัติ.(2556). การแปรการใช้ศัพท์ในภาษาไทดำของคนสามระดับอายุ. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย.

สุวิมล เวชวิโรจน์.(2552). การสื่อสารอัตลักษณ์กับการแต่งกายของชาวไทยโซ่ง อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี. วิทยานิพนธ์หลักสูตรวารสารศาสตรมหาบัณฑิต สาขาสื่อสารมวลชน คณะวารสารศาสตร์และการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

อภิญวัฒน์ โพธิ์สาน.(2552).สารัตถะ คติความเชื่อ และพิธีกรรมลาวโซ่ง. มหาสารคาม: หจก.อภิชาติการพิมพ์.

อมรรัตน์ เฉลิมรัมย์.(2554). รูปแบบและลวดลายการตกแต่งเคหะสิ่งทอของไทดำ (Style and Motif of Black Tai Household Textile Decoration). การศึกษาค้นคว้าอิสระวิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต (คหกรรมศาสตร์),มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. กรุงเทพฯ

อรพันธ์ อุนากรสวัสดิ์. (2536). การศึกษาเปรียบเทียบระบบเสียงภาษาผู้ไทกับภาษาลาวโซ่ง (A comparative phonological study of Phu Tai and lao Song). วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิตสาขาวิชาภาษาไทยบัณฑิตวิทยาลัยมหาวิทยาลัยศิลปากร.

อัญชลี บูรณะสิงห์.(2531). วิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงการใช้คำของคนสามระดับอายุในภาษาไทยโซ่ง. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาภาษาศาสตร์และภาษาเอเชียอาคเนย์ มหาวิทยาลัยมหิดล.

อุษา ทองจันทา.(2554). ศิลปะลายดอกผ้าของชาวไทดำร่วมสมัย. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยศิลปกร. นครปฐม.

อวยพร ชื่นกลิ่นธูป.(2517).ประเพณีการทำศพของลาวโซ่ง. กรุงเทพฯ: แผนกสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

เอก แสงอัมพร.(2551). คุณลักษณะทางสถาปัตยกรรมเรือนพื้นถิ่นไทดำ: กรณีศึกษา ตำบลหนองปรง จังหวัดเพชรบุรี. วิทยานิพนธ์หลักสูตรสถาปัตยกรรมศาสตรมหาบัณฑิต คณะศิลปกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

หนังสือและเอกสาร (ภาษาต่างประเทศ)

Abaidie, Maurice.(1924).Les races du Haut-Tonkin de Phong-Tho a Lang Son. Paris: Societe d’Editions Geographiques, Maritimes et Coloniales. 191 pp.

Baceam Don and Brase, James L. (1977). Pap Su Ep Quam Angkit Tay Dam (English Thai Dam language lessons).Huntington Beach, Calif. : Summer Institute of Linguistics. 78 p. illus. (Linguistic series, ethnic minorities of Southeast Asia).

Baccan, Don and others.(1989). Tai Dai-English, English-Tai Dam vocabulary book. Eastlake, Ca: Summer Institute of Linguistics. 349 p. illus.

Be Viet Dang.(1990). "Some questions on Tay and Thai ethnos histories and main cultural features." In Proceeding of the 4th International Conference on Thai Studies, (Kunming) 11-13 May, 1990. vol. 3, pp. 188-189. Kunming: Institute of Southeast Asian Studies.

Cam Trong.(1996). “Ban Muang, a characteristic feature of the Thai social structure.” In Thai Studies 6th International Conference. Chiangmai, 1996.

Cam Trong.(1987). “Some questions of ancient history and culture of the Thai ethnic nationality in Vietnam.” In Proceeding of the International Conference on Thai Studies, The Australian National University, Canberra (3-6 July). vol. 3. Pt. 1. pp. 197-210.

Cam Trong.(1958).Thai people in Northwestern Vietnam. Hanoi: Social Sciences Publishing House.

Cam Trong.(1993).“Thai studies in Vietnam direction of development Coperation.” In สถานภาพทางการวิจัย เรื่อง พัฒนาการทางสังคมและวัฒนธรรมของกลุ่มลาว ไทดำ ไทขาว. Bangkok: Office of the National Culture Commission. (Seminar on the State of knowledge and the Directions of Research on Tai Culture, September 10-13. 1993)

Cam Trong. (1996). “Traditional Tai Darn textiles in contemporary Tai Dam Society.” In Thai Studies 6th International Conference. Chiang Mai, 1996.

Chamberlain, James R.(1986)“Remarks on the origins of Thao Hung or Cheuang.” In Robert J. Bickner, Thomas J. Hudak and Patcharin Peyasantiwong (eds.), Papers from a Conference on Thai Studies in Honor of William J. Gedney. Ann arbor: Center for South and Southeast Asian Studies, University of Michigan. pp. 51-90. (Michigan Papers on South and Southeast Asia No. 25)

Condominas, G.(1980). L 'espace social a propos de l' Asie du Sud-Est. Paris.

Condomins, Georges.(1990). From Lawa to Mon, from Saa to Thai: Historical and anthropological aspects of Southeast Asian social spaces, Gehun Wijeywardene (ed.) Stephanie Anderson Maria Magannon and Gehan Wijeyewardene (trans.). Canberra: Department of Anthropology, Research School of Pacific Studies, Australian National University. 114 P.

Condominas, Georges.(1978). “Some remarks on thai political systems.” In G. B. Milner (ed.), Natural symbols in South East Asia. pp. 105-112, London: School of Oriental and African studies.

Conklin, Nancy Faires.(1981). “The semantics and syntax of numeral classification in Tai and Austronesian Volume 1.” Ph. D thesis, University of Michigan.

Dang Nghiem Van.(1990). “The Lac Muong (Territarial Pillar): A power fetish of Thai seigneurs.” In Proceedings of the 4th International Conference on Thai Studies, Kunming (11-13 May), 1990. vol. 3, pp. 69-82. Kunming: Institue of Southeast Asian Studies (สวท / DS560. 3 155)

Dang Nghiem Van, Chu Thai Son and Luu Hung. (1993) Ethnic minorities in Vietnam. Hanoi: The GIOI Pubishers.

Dieu Chinh Nhim and Donaldson, Jean. (1970). Tai-Vietnamese English vocabulary. Saigon.

Diguet, Edouard.(1908). Les Montagnards du Tonkin. Paris: Chulamel.

Gedney, William J.(1989). “A comparative sketch of White, Black and Red Tai.” In Selected papers on comparative Tai studies. pp. 415-461. Ann Arbor, Mich. : Center for South and Southeast Asian Studies, University of Michigan. 544 p. (Michigan paper on South and Southeast Asia; no. 20)

Hickey, Gerald C.(1953). “Social systems of Northern Viet Nam: A study of systems in contact.” Ph.D. thesis.University of Chicago.

Hartmann, John. (1995).“Transmutation in a multicultural world: a comparative study of old Lao and Thai Dam manuscript versions of the tale of Prince Theung or Terng.” In Proceedings of the International Conference on Tai Language & Cultures. p. 73-102. Bangkok: Faculty of Liberal Arts, Thammasat University. (In honor of the sixth cycle of Her Royal Highness Princess Galayani Vadhana)

Hartman, John F.(1985). “Dating White Thai and Black Thai Scripts.” A paper presented at 18th International Conference on Sino-Thibetan Language and Linguistics, Ramkhamheang University Bangkok.

He, Ping and Fang Tie.(1996). “Research on the ancient customs of marriage and reproduction among the Tai In Thai Studies 6th International Conference. Chiang Mai, 1996.

Houng Luong.(1993). “Tai culture develop during unification but poly form.” ใน สถานภาพทางการวิจัยเรื่อง พัฒนาการทางสังคมและวัฒนธรรมของกลุ่มลาว ไทดำไทขาว. Bangkok: Office of the National Culture Commission. (Seminar on the State of Knowledge and the Directions of Research on Tai Culture, September 10-13)

Howard, Michael and Be Kim Khung. (1996). “Traditional Tai dance in Vietnam under Doi Moi.” In Thai Studies 6th International Conference. Chiang Mai 1996.

Jonsson, Nanna L.(1991). “Proto Southwestern Tai (Historical linguistics, Tai language).” Doctor of Arts thesis. State University of New York at Albany.

Keyes, Charles F.(1996).“Who Are The Tai? Reflection of the invention of identities,” in Ethnic Identity: Creation, Conflict, and Accommodation. 3rd edition. Romanacci-Ross Land DeVos G (eds.) Walnut Creek, CA, US: Altamira, pp. 136-160.

Khampheng Tipmoondali. (1990).“A few features on the communal rice field system of the Thai minority in Huaphan province of PDR. Law (summary).” In Proceedings of the 4th International Conference on Thai Studies, Kunming (11-13 May), 1990. vol. 3, pp. 202-209. Kunming: Institute of Southeast Asian Studies.

Kirsch, A. Thomas.(1967). “Phu Thai religious syncretism: a case study of Thai religion and society.” Ph.D.thesis, Harvard University.

Lajonquiere, Lunet de and Edmond, Etienne.(1906) Ethnographie du Tonkin septentional. Paris: Emest Leroux.

“Lao Song or Tai Dam.” In Thai life. Thai textiles: threads of a cultural Heritage.(1994)pp. 42-43. Bangkok: National Identity Board. illus.

Le Ngoc Thang.(1990).“Traditional clothing of the Thais living in Vietnam.” In Proceedings of the 4th International Conference on Thai Studies, Kunming (11-13 May), 1990. Kunming: Institute of Southeast Asian Studies. vol. 3, pp. 218-224.

Le Sy Giao.(1996).“About some customs of water use of Thai people in Vietnam (In comparison with Thai people in Thailand).” In Thai Studies 6th International Conference. Chiang Mai, 1996.

LeBar, Frank M., Hickey, Gerald C. and Musgrave, John K. (1964). “Black Tai.” In Ethnic groups of mainland Southeast Asia. pp. 220-223. New Haven: Human Relations Area Files Press.

ณรงค์ ลาวลงเฆ่,ชาวไทดำบ้านหนองเนิน ตำบลหัวถนน อำเภอท่าตะโก จังหวัดนครสวรรค์,วันที่ 23สิงหาคม 2563.

แตง ทองเชื้อ, ชาวไทดำบ้านยางใหญ่ ตำบลหนองเต่า อำเภอเก้าเลี้ยว จังหวัดนครสวรรค์, วันที่ 22 สิงหาคม 2563.

เผย เรือนใจดี, ชาวไทดำบ้านยางใหญ่ ตำบลหนองเต่า อำเภอเก้าเลี้ยว จังหวัดนครสวรรค์, วันที่ 22 สิงหาคม 2563.

ยม น้อยพาน, ชาวไทดำบ้านหนองเนิน ตำบลหัวถนน อำเภอท่าตะโก จังหวัดนครสวรรค์, วันที่ 23 สิงหาคม 2563.

วิเชียร เชื่อมชิต, ประธานชมรมไทดำอำเภอเก้าเลี้ยว จังหวัดนครสวรรค์, วันที่ 22 สิงหาคม 2563.

อธิป ย้อนเพชร, ศูนย์ฟื้นฟูวัฒนธรรมไตดำโบราณบ้านดอน ตำบลบ้านดอน อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี, วันที่ 21 สิงหาคม 2563.


close
ลืมรหัสผ่าน?
กรุณากรอกอีเมลที่ท่านสมัครสมาชิกไว้เพื่อรับรหัสผ่านใหม่
ระบบจัดส่งการสร้างรหัสผ่านใหม่ให้ท่านทางอีเมลเรียบร้อยแล้ว
นโยบายความเป็นส่วนตัว