‘‘เหตุใดสิทธิทางวัฒนธรรมจึงสำคัญในภาวะปัจจุบัน ?”

การอภิปรายของเอลซ่า สตามาโตพูลู ณ สภาที่ปรึกษาด้านจริยธรรมในกิจการระหว่างประเทศ คาร์เนกี้ และการตอบของริชาร์ด วิลสัน นักมานุษยวิทยา

เข้าถึงทางออนไลน์ได้ที่
http://www.carnegiecouncil.org/studio/multimedia/20040923b/index.html
http://www.carnegiecouncil.org/studio/multimedia/20040924/index.html

แปลโดย อธิป จิตตฤกษ์

ในปี 2004 เอลซ่า สตามาโตพูลูซึ่งเป็นนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนและดำรงตำแหน่งหัวหน้ากลุ่มว่าด้วยชนพื้นเมืองแห่งสหประชาชาติและเป็นสมาชิกคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติได้เข้าร่วมการประชุมที่สภาที่ปรึกษาด้านจริยธรรมในกิจการระหว่างประเทศ คาร์เนกี้ในมหานครนิวยอร์กเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นถึงความสำคัญของสิทธิในเชิงวัฒธรรมในบริบทการเมืองระหว่างประเทศในปัจจุบัน เอกสารชิ้นนี้เป็นผลมาจากการอภิปรายของเอลซ่าและเป็นส่วนหนึ่งของโครงการชุดใหม่ด้านจริยธรรมในการรักษามรดกทางวัฒนธรรมและธรรมชาติ โครงการนี้เน้นให้เห็นความท้าทายที่ชุมชนนานาชาติไม่เคยประสบมาก่อนในการส่งเสริมความหลากหลายทางวัฒนธรรมและให้ความสำคัญกับสิทธิทางวัฒนธรรมของปัจเจกบุคคล ชนพื้นเมืองและชนกลุ่มน้อย มันเป็นเป็นการสะท้อนบทบาทที่ผ่านมาของเอลซ่าในการกำหนดกลไกดำเนินงานของงานสิทธิมนุษยชนในระดับระหว่างประเทศเช่น การร่างคำประกาศสิทธิของชนพื้นเมืองหรือ คำประกาศว่าด้วยสิทธิของผู้ที่สังกัดชาติ ชาติพันธุ์ ศาสนาและภาษาของชนกลุ่มน้อย

งานชิ้นนี้เริ่มด้วยการให้ภาพกว้างๆ ซึ่งแสดงถึงองค์ประกอบทั่วไปของสิทธิทางวัฒนธรรม ไปจนถึงความสำคัญของมันในทางการมิติเมืองและจริยธรรม ไปจนถึงความสำคัญของมันต่อการอยู่รอดของชนพื้นเมืองและชนกลุ่มน้อย สตามาโตพูลูได้ชี้ให้เห็นตั้งแต่ต้นว่า แม้ว่าสิทธิทางวัฒนธรรมจะเป็นส่วนหนึ่งของระบอบสิทธิมนุษยชนและกฎหมายระหว่างประเทศโดยได้รับการบัญญัติในกลไกด้านสิทธิมนุษยชนที่ได้รับการให้สัตยาบันอย่างกว้างขวาง (ตั้งแต่ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนไปจนถึงข้อตกลงระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมไปจนถึงสนธิสัญญาในระดับโลกและระดับภูมิภาค) แต่มันก็ได้รับความสนใจจากองค์กรระหว่างประเทศต่างๆ น้อยมากเมื่อเทียบกับสิทธิทางเศรษฐกิจและสังคม “แม้แต่องค์การยูเนสโก้ (ซึ่งเป็นหน่วยงานของสหประชาชาติที่มีพันธะกิจหลักคือการส่งเสริมวัฒนธรรม) ก็ยังหลีกเลี่ยงเล่นบทบาทในด้านสิทธิทางวัฒนธรรม” อย่างไรก็ตามสตามาโตพูลูก็ได้ตอกย้ำถึงความสำคัญที่เพิ่มขึ้นของสิทธิทางวัฒนธรรมผ่านการริเริ่มต่างๆ ขององค์กรพัฒนาเอกชนเช่น องค์กรส่งเสริมการอยู่รอดเชิงวัฒนธรรม และ องค์กรนิรโทษกรรมสากล ความสำคัญที่เพิ่มขึ้นของสิทธิทางวัฒนธรรมจากสายตาของผู้กำหนดนโยบายเป็นผลจากความหลากหลายและการเคลื่อนย้ายถิ่นของพลเมืองโลกที่มากขึ้น และที่คู่ขนานไปกับปรากฏการณ์นี้ก็คือความจำเป็นที่จะต้องปกป้องและส่งเสริมเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมในระดับท้องถิ่น สตามาโตพูลูกล่าวว่า “ปัจจุบันนี้เรามีประเทศทั้งหมดเกือบ 200 ประเทศซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของกลุ่มชาติพันธุ์ประมาณ 5000 กลุ่ม มีมากกว่า 150 ประเทศที่มีชนกลุ่มน้อยทางศาสนาและชาติพันธุ์ที่สำคัญอาศัยอยู่ ชนพื้นเมืองประมาณ 370 ล้านคนอาศัยอยู่ใน 70 ประเทศโดยใช้ภาษาในการสื่อสารกันมากกว่า 4000 ภาษา นอกจากนี้เรามีภาษาทั้งหมดที่ใช้พูดกันมากกว่า 6000 ภาษาแต่ร้อยละ 90 ของภาษาเหล่านั้นอาจกำลังสูญหายไปหรือจะสูญหายในอีก 100 ปีข้างหน้า ประชากรกว่า 518 ล้านคนกำลังประสบกับข้อจำกัดในทางศาสนา ภาษา ประเพณีและรูปลักษณ์การแสดงออก” ข้อห้ามในการแสดงออกทางวัฒนธรรมที่มีต่อผู้ย้ายถิ่นฐาน และชนพื้นเมืองกำลังได้รับการประเมินว่าเป็นองค์ประกอบที่สำคัญในประเด็นเรื่องสันติภาพและความขัดแย้ง

ขณะที่สตามาโตพูลูได้กล่าวถึงหัวใจของสิทธิทางวัฒนธรรม เธอก็ได้ย้ำให้เห็นถึงปัญหาอันเกิดจากความสลับซับซ้อนของแนวคิดเรื่องวัฒนธรรม เช่นในสายตาของนักมานุษยวิทยาร่วมสมัยได้ให้ภาพของวัฒนธรรมว่าเป็น “วิถีชีวิต” หรือที่ดังที่ยูเนสโกได้อธิบายว่าเป็น “ลักษณะที่มีเอกลักษณ์ในทางจิตวิญญาณ วัตถุ สติปัญญาและอารมณ์ของสังคมหนึ่งหรือกลุ่มทางสังคมกลุ่มหนึ่งและครอบคลุมถึงศิลปะ วรรณกรรม วิถีการดำเนินชีวิต วิถีในการใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่น ระบบการให้คุณค่า ประเพณีและความเชื่อ” แนวคิดนี้บ่งบอกถึงความไหล่บ่า ไม่หยุดนิ่งและความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาของภาพตัวแทนทางวัฒนธรรมอีกทั้งปรากฏการณ์นี้ยังได้รับการขยายด้วยภาวะโลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจ การปฏิวัติด้านการสื่อสาร การย้ายถิ่นฐานขนาดใหญ่รวมถึงปรากฏการณ์อื่นๆ อีกที่สร้างการพบปะกันทางวัฒนธรรมอย่างต่อเนื่องซึ่งถึงที่สุดแล้วเป็นอุปสรรคในการให้คำนิยามของคำว่าสิทธิเชิงวัฒนธรรม เธอยังได้ตั้งคำถามอีกว่าใครจะเป็นเจ้าของสิทธิทางวัฒนธรรม จะเป็นปัจเจกชน (ผู้ซึ่งต้องได้รับการปกป้องจากผู้กระทำทั้งที่เป็นและไม่เป็นรัฐ ไปจนถึงกลุ่มและกลุ่มย่อยต่างๆ) จะเป็นกลุ่มคน ชนพื้นเมืองและชนกลุ่มน้อยต่างๆ (ผู้ซึ่งต้องป้องกันตัวเองจากรัฐที่ตนอาศัยอยู่) หรือจะเป็นรัฐ (ที่ต้องมีการปกป้องรัฐที่เล็กหรืออ่อนแอกว่าจากรัฐที่มีความเข้มแข็งกว่า) งานชิ้นนี้เสนอบทสังเคราะห์อย่างเป็นระบบในประเด็นเรื่องสิทธิเชิงวัฒนธรรมตามที่ได้มีการประกาศไว้ในบทบัญญัติด้านสิทธิมนุษยชนโดยเริ่มจากองค์ประกอบที่สำคัญ 5 ประการของสิทธิเชิงวัฒนธรรม

- สิทธิในด้านการศึกษา;

- สิทธิในด้านการมีส่วนร่วมในชีวิตทางวัฒนธรรม;

- สิทธิในการได้รับประโยชน์จากคุณประโยชน์ทางวิทยาศาสตร์และการประยุกต์ใช้;

- สิทธิในการได้รับความคุ้มครองผลประโยชน์ทางศีลธรรมและทางวัตถุอันเป็นผลจากการประดิษฐกรรมใดๆ ทางวิทยาศาสตร์ วรรณกรรมและศิลปกรรม ซึ่งตนเป็นผู้สร้างและ;

- เสรีภาพในการดำเนินการวิจัยทางวิทยาศาสตร์และกิจกรรมที่สร้างสรรค์

สตามาโตพูลูได้ขยายความให้เห็นว่าความเป็นอิสระในทางวัฒนธรรมของปัจเจกชนหมายถึงการที่ “ปัจเจกชนที่อยู่ในกลุ่มสามารถมีเสรีภาพในการเลือกที่จะมีส่วนร่วมหรือไม่มีส่วนรวมในกิจกรรมทางวัฒนธรรมของกลุ่มและจะไม่ได้รับผลอันไม่พึงปรารถนาใดๆ จากการเลือกนั้นๆ” หลักการว่าด้วยความเป็นอิสระของปัจเจกชนประกอบด้วย

- การไม่เลือกปฏิบัติและความเสมอภาค;

- เสรีภาพจากการแทรกแซงการใช้ชีวิตทางวัฒนธรรม เสรีภาพในการสร้างและมีส่วนร่วมในงานด้านวัฒนธรรม;

- เสรีภาพในการเลือกที่จะมีส่วนร่วมทางวัฒนธรรมและการใช้ชีวิตทางวัฒนธรรมแบบใดแบบหนึ่ง;

- เสรีภาพในการเผยแพร่;

- เสรีภาพในการให้ความร่วมมืออย่างเต็มใจ;

- สิทธิในการร่วมกำหนดนิยาม เตรียมความพร้อมและนำนโยบายด้านวัฒนธรรมไปปฏิบัติ;

- องค์ประกอบอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับสิทธิในการมีส่วนร่วมในวิถีชีวิตทางวัฒนธรรม (ความเกี่ยวข้องสัมพันธ์ที่ตอกย้ำถึงการพึ่งพากันในทางสิทธิมนุษยชน เสรีภาพในการแสดงออก เสรีภาพในการเดินทางเคลื่อนย้ายถิ่นฐาน สิทธิในการประกอบอาชีพ เสรีภาพในการนับถือศาสนา สิทธิในการมีมาตรฐานในการดำรงชีพอย่างเพียงพอ;

นอกจากนี้สิทธิเชิงวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับชนกลุ่มน้อยและชนพื้นเมืองประกอบด้วย

- สิทธิในการได้รับการศึกษา;

- สิทธิในการใช้ภาษาของตนเองในที่ในพื้นที่ส่วนตัวและในอีกหลายด้านในพื้นที่สาธารณะเช่น ต่อหน้าเจ้าหน้าที่งานยุติธรรมและสิทธิในการใช้ภาษาของตนเองเพื่อแสดงตนเอง และชื่อสถานที่;

- สิทธิในการก่อตั้งโรงเรียนของตนเอง;

- สิทธิในการเข้าถึงระบบการศึกษาที่ใช้ภาษาแม่ของตนเองจนถึงระดับที่สูงสุด;

- สิทธิในการเข้าถึงเครื่องมือในการเผยแพร่วัฒนธรรมเช่น สื่อ พิพิธภัณฑ์ โรงละครและอื่นโดยไม่ได้รับการเลือกปฏิบัติ;

- สิทธิในการปฏิบัติกิจกรรมทางศาสนา;

- อิสรภาพในการรักษาความสัมพันธ์กับเครือญาติที่อยู่อาศัยต่างพรมแดนและสิทธิในการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจที่ส่งผลกระทบกับสถาบันของตน กล่าวอีกนัยหนึ่งชนกลุ่มน้อยและชนพื้นเมืองมีสิทธิในการพัฒนาวัฒนธรรมผ่านสถาบันต่างๆ และสามารถมีส่วนร่วมในการนิยาม เตรียมความพร้อมและนำนโยบายด้านวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับตนไปปฏิบัติผ่านสถาบันนั้นๆ;

- สิทธิในการเข้าถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจบางประเภทที่มีความเกี่ยวข้องกับการใช้ที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติตามจารีต จะต้องมีมาตรการพิเศษต่างๆ ในการรักษาพื้นที่ศักดิ์สิทธ์ ชิ้นงานศิลปะและความรู้ด้านวิทยาศาสตร์โดยเฉพาะความรู้ที่เกี่ยวกับธรรมชาติ ความรู้เกี่ยวกับจารีตมุขปาฐะ ความรู้เกี่ยวกับซากศพมนุษย์ หรือกล่าวได้ว่าเป็นสิ่งที่จับต้องได้และจับต้องไม่ได้ที่ประกอบกันเป็นมรดกวัฒนธรรมของชนพื้นเมือง

สิทธิทุกประการที่ได้รับการกล่าวข้างต้นนี้นอกจากจะเป็นสิทธิ์ของปัจเจกแล้วมันยังเป็นสิทธิกลุ่มด้วย “แม้ว่าสิทธิทางวัฒนธรรมจะไม่ได้รับการอย่างเป็นทางการว่าเป็นสิทธิกลุ่มโดยกลไกสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศต่างๆ แต่ในปัจจุบันนี้มีองค์ประกอบต่างๆ ของกฎหมายระหว่างประเทศก็มีมากพอที่จะคุ้มครองสิทธิร่วมกันที่สามารถยืนยันว่าปัจเจกชนที่เป็นสมาชิกของชนกลุ่มน้อยของรัฐชาติ ชาติพันธุ์ ศาสนาและภาษาและชนพื้นเมืองก็มีสิทธิในเชิงวัฒนธรรมไม่เพียงแต่ในฐานะปัจเจกบุคคลแต่ยังรวมถึงฐานะของส่วนหนึ่งของกลุ่มคนพร้อมไปกับสมาชิกคนอื่นด้วย” สิทธิทางวัฒนธรรมกลุ่มดังกล่าวเป็นรากฐานที่สำคัญในการตั้งคำถามต่อการเลือกปฏิบัติและปกป้องเป้าประสงค์ทางเศรษฐกิจและการเมืองของชุมชนที่ไม่สามารถบรรลุได้โดยทางตรง

ความมุ่งมั่นของรัฐดูเหมือนจะเป็นองค์ประกอบหลักในการปกป้องและเติมเต็มสิทธิทางวัฒนธรรมให้กับชนกลุ่มน้อยและชนพื้นเมืองผ่านแนวนโยบายที่เป็นรูปธรรม ไม่ว่าจะเป็นการนำไปปฏิบัติของฝ่ายนิติบัญญัติ บริหารและตุลาการและมาตรการที่เฉพาะเจาะจงอื่นๆ อีก ทั้งทางบวกและทางลบ ตราบใดที่การกระทำของรัฐไม่เป็นการปิดกั้นการแทรกแซงจากองค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิทธิมนุษยชนและประชาสังคมกลุ่มอื่นๆ มันก็เปิดทางให้กลไกในการตรวจสอบและสร้างความช่วยเหลือและร่วมมือในระดับระหว่างประเทศ “รัฐและหน่วยงานของรัฐต่างมีพันธะในการเคารพเสรีภาพของผู้ที่เป็นชนกลุ่มน้อยและกลุ่มชนกลุ่มน้อยในการเลือกชีวิตทางวัฒนธรรม ในการยืนยันในอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม และแสดงออกในทางวัฒนธรรมในแบบที่พวกเขาเลือก” นอกจากนี้รัฐ “ยังจำเป็นต้องปกป้องการมีส่วนร่วมทางวัฒนธรรมอย่างเสรีจากผู้อื่นเช่น การป้องกันการละเมิดโดยฝ่ายอื่นๆ ไม่ว่าพวกเขาจะเป็นปัจเจกชน กลุ่ม บรรษัทหรือผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจทั้งจากภายในและภายนอกรัฐ หลักการในการไม่เลือกปฏิบัติจะต้องเป็นแนวทางในการดำเนินการของรัฐ (…) รัฐสามารถใช้มาตรการในการด้านบวกของรัฐในการสิ่งเสริมความก้าวหน้าให้กับชนกลุ่มน้อยเช่น มาตรการในการส่งเสริมชนกลุ่มน้อย” มีการกล่าวด้วยว่ารัฐควรส่งเสริมการให้ความรู้เกี่ยวกับความหลากหลายทางวัฒนธรรม ชนกลุ่มน้อยและชนพื้นเมืองให้กับสังคมในวงที่กว้างขึ้นพร้อมๆ ไปกับออกมาตรการป้องกันและแก้ไขความเชื่อท้องถิ่นและแนวปฏิบัติทางวัฒนธรรมที่ไม่สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนอันเป็นที่การยอมรับในระดับระหว่างประเทศ

นักมานุษยวิทยานามริชาร์ด วิลสัน (ดำรงตำแหน่งแกลดสตีน แชร์ ออฟ ฮิวแมน ไรท์และผู้อำนวยการของสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งมหาวิทยาลัยคอนเนคติกัท) ได้เสนอแนวทางในการมองเพื่อเป็นการตอบรับกับข้อสังเกตุของสตามาโตพูลูโดยการตั้งคำถามถึงความรับผิดชอบของรัฐในการรักษาวัฒนธรรมที่กำลังจะตายลงไป วิลสันเสนอแนวทางด้วยการสร้างความรู้สึกด้วยของความอันไม่เท่าเทียมในด้านศักยภาพและโครงสร้างพื้นฐานของแต่ละรัฐที่มีอยู่ (ตัวอย่างที่สำคัญจากการตั้งข้อสังเกตของเขาคือระหว่างประเทศกัวเตมาลาที่รัฐความอ่อนแอและประเทศแอฟริกาใต้ที่รัฐมีความเข้มแข็งมากกว่าอย่างเห็นได้ชัด) ซึ่งมันส่งผลต่อนโยบายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสิทธิ นี่ทำให้เขากลับมาให้ความสำคัญกับข้อถกเถียงที่เกี่ยวกับคำถามถึงอำนาจที่แท้จริงของรัฐกับความสามารถของระบบพื้นฐานของรัฐในการจัดการกับสิทธิทางวัฒนธรรม

หากความจำเป็นในการส่งเสริมการยอมรับนับถือเสรีภาพในทางวัฒนธรรมและพหุนิยมทางวัฒนธรรมภายใต้บริบทของการจัดระเบียบการปกครองแบบประชาธิปไตยเป็นสิ่งสำคัญแล้ว กระบวนการบรรลุซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็ควรจะดำเนินการรวดเร็วกว่านี้ เอลซ่า สตามาโตพูลูยืนกรานผ่านการตั้งข้อสังเกตด้วยมุมมองทางประวัติศาสตร์ (กรณีที่สำคัญคือประวัติการร่างมาตราที่ 27 ของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและมาตราที่ 15 ของข้อตกลงระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม) ว่า มีการละเลยสิทธิทางวัฒนธรรมในการร่างคำประกาศและสนธิสัญญาด้านสิทธิมนุษยชนหลายฉบับ มันก่อให้เกิดความยุ่งยากในแนวทางทางการเมืองและกรอบแนวคิดในแง่ของการปกป้องและนำสิทธิทางวัฒนธรรมไปปฏิบัติในระดับระหว่างประเทศ

แนวคิดสัมพัทธ์นิยมทางวัฒนธรรม (อันได้รับการสถาปนาผ่านงานวิจัยทางมานุษยวิทยาของ ฟรานซ์ โบอาสในช่วงทศวรรษแรกๆ ของศตวรรษที่ 20) ดูเสมือนจะเป็นหนึ่งในประเด็นที่มีการถกเถียงกันในปัจจุบันซึ่งมีความอ่อนไหวที่สุด การเสนอเป็นนัยว่าอารยธรรมเป็นสิ่งที่ไม่มีความสัมบูรณ์ แนวคิดสัมพัทธ์นิยมทางวัฒนธรรม ได้ปฏิเสธคุณค่าสากลในด้านศีลธรรมโดยสิ้นเชิงเพื่อทำการพิจารณาจริยธรรมในฐานะที่เป็นสิ่งที่มีความสัมพัทธ์ไปตามรากฐานตามแต่ละบริบททางวัฒนธรรมเฉพาะ เอลซ่า สตามาโตพูลูชี้ให้เห็นว่า “แต่ละวัฒนธรรมสร้างคุณค่าอันจำเพาะหลายอย่างและคุณค่าเหล่านั้นก็สอดคล้องกันโดยบังเอิญกับวัฒนธรรมอื่นๆ และในหลายกรณีก็ไม่ ในบางครั้ง (…) สิทธิและความไม่ถูกต้องที่ได้รับการนิยามโดยชาติก็ไม่สอดคล้องหรือกระทั่งขัดแย้งกับหลักสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศตามที่ได้รับการนิยามร่วมกันผ่านการพูดคุยและฉันทานุมัติในระดับระหว่างประเทศมาเป็นเวลาหลายทศวรรษ (…) ในขณะเดียวกันสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ซึ่งรวมถึงสิทธิทางวัฒนธรรมก็ต้องได้รับการพิจารณาใหม่ให้สอดคล้องกับบริบทของวัฒนธรรม ความเป็นจริงในแต่ละสังคมเพื่อก่อให้เกิดความเข้าใจและนำไปปฏิบัติได้” ในปัจจุบันนี้คำถามเรื่องสิทธิมนุษยชนของสตรีเพศถูกเป็นหนึ่งในประเด็นที่สำคัญและเร่งด่วนในการถกเถียงผ่านแนวคิดสัมพัทธ์นิยม งานชิ้นนี้จบลงด้วยการแสดงความจำเป็นในการนำสภาพความเป็นจริงอันเกี่ยวข้องกับ ความหลากหลายทางวัฒนธรรมมาเป็นส่วนหนึ่งในการพิจารณาในการกำหนดนโยบายสาธารณะเพื่อเป็นการรักษาสันติภาพระหว่างประเทศพร้อมๆ ไปกับการเสนอแนะว่าในท้ายที่สุดแล้วหลักการต่างๆ ที่แนวคิดสัมพัทธ์นิยมทางวัฒนธรรมได้สื่อถึงอย่างต่อเนื่องอาจเป็นอุปสรรคในการพูดคุยเรื่องสิทธิมนุษยชนให้เกิดขึ้นจริงได้เช่นกัน

ริชาร์ด วิลสันเห็นว่าจุดยืนในด้านสิทธิมนุษยชนของ เอลซ่า สตามาโตพูลูว่าเป็นท่าทีแบบ “สากลนิยมประนีประนอม” ที่มีแนวโน้มที่ไปทางมาตรฐานและแนวทางปฏิบัติระหว่างประเทศ เขาได้ตอบต่อข้อสังเกตของสตามาโตพูลูโดยการยืนกรานว่าอุปสรรคนั้นเกิดจากความเคลือบแคลงที่มีต่อแนวคิดสัมพัทธ์นิยม วิลสันย้อนกลับมาที่การถกเถียงเรื่องใครเป็นผู้อ้างสิทธิอันเหมาะสมของสิทธิเชิงวัฒนธรรม โดยให้ความสำคัญกับปัจเจกชนและย้ำว่าแนวคิดเรื่องสิทธิทางวัฒนธรรมในฐานะ “สิทธิของกลุ่มที่มีการยึดถือร่วมกัน มีความมุ่งมั่นร่วมกันและสามารถอ้างร่วมกันได้ในศาล” ควรถูกตั้งคำถามเพิ่มเติมโดยให้ความสำคัญต่อปัจเจกชนมากขึ้น “ในฐานะที่เสรีภาพในการแสดงออกของพวกเขาอาจจำกัดโดยกลุ่ม” จากนั้น วิลสันได้ย้ำถึงความย้อนแย้งผกผันของสิทธิทางวัฒนธรรม โดยกล่าวซ้ำว่าปัจจุบันนี้ฉันทานุมัติในด้านวัฒนธรรมสามารถสื่อคุณค่าและการปฏิบัติเชิงวัฒนธรรมที่เป็นองค์ประกอบที่มีวิวัฒนาการและยืดหยุ่น “หากวัฒนธรรมจะสามารถเป็นแนวคิดที่พอจะมีคุณประโยชน์อยู่บ้างสำหรับการคิดและวิเคราะห์สังคม มันก็ต้องเป็นระบบเปิดที่มีความเปลี่ยนแปลงได้ วัฒนธรรมเป็นสิ่งที่ไม่หยุดนิ่ง ไร้ขอบเขตและมันสามารถเปลี่ยนแปลงได้โดยกระบวนการทางสังคมแบบข้ามชาติ อัตลักษณ์ของสมาชิกในวัฒนธรรมหนึ่งๆ ไม่เป็นหนึ่งเดียวกันแต่มีความหลากหลาย และอัตลักษณ์เหล่านี้ก็ถูกท้าทายและมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา” วิลสันกล่าวเสริมว่าอย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันนี้สาขาวิชามานุษยวิทยาได้รับแนวคิดนี้และทำการปฏิเสธแนวทางนิยามวัฒนธรรมแบบเก่าซึ่งเป็นแบบสารัตถะนิยมอันเป็นแนวทางดั้งเดิมในการมองสังคมที่มีรากฐานมากจากสายความคิดเยอรมันโรแมนติกซิสม์ซึ่งเกิดขึ้นในกลางศตวรรษที่ 19 ที่ให้ภาพวัฒนธรรมว่า “เป็นองค์อินทรีย์ เป็นองค์รวม หยุดนิ่งและมีขอบเขตแน่ชัด” และมีรากฐานอันแนบแน่นกับธรรมเนียมที่ตกทอดมาจากอดีตอันไกลโพ้น ขบวนการเคลื่อนไหวด้านสิทธิของชนกลุ่มน้อยและชนพื้นเมืองจำนวนมหาศาลและผู้สนับสนุนแนวทางเหล่านี้ก็ได้ฉวยเอามุมมองแบบสารัตถะนิยมทางวัฒนธรรมเพื่ออ้างความเป็นเจ้าของมรดกทางวัฒนธรรมที่มีเอกลักษณ์อันโดดเด่นรวมถึงเสรีภาพทางวัฒนธรรมในระดับท้องถิ่น “ทำไมน่ะหรือ? เพราะนั่นเป็นสิ่งที่กฎหมายและกฎเกณฑ์ในทางระหว่างประเทศสามารถจะยอมรับ มันไม่สามารถยอมรับมุมมองเชิงวัฒนธรรมที่เคลื่อนไหว เปลี่ยนแปลง มีช่วงอายุสั้นๆ ได้ กฎหมายและกฎเกณฑ์ในทางระหว่างประเทศพยายามจะคว้าจับสิ่งที่มีขอบเขต สิ่งที่ปิด ซึ่งสามารถสามารถชั่งตวงวัดและจัดประเภทได้” วิลสันอธิบายเพิ่มเติมโดยย้ำถึงปัญหาที่อยู่ใจกลางของความสัมพันธ์ที่ขัดแย้งกันระหว่างการจัดประเภทวัฒนธรรมอยู่นิ่งและคงที่ตามแนวทางกฎหมาย กับการมองวัฒนธรรมเป็นระบบแบบเปิดในปัจจุบันที่แพร่หลายในสายวิชามานุษยวิทยา เขาอ้างบทหนึ่งในหนังสือเนื้อหาเกี่ยวกับชุมชนมาชพีที่เคป คอดในงาน The Predicament of Culture : Twentieth-Century Ethnography, Literature and Art (Harvard University Press, 1988) ของเจมส์ คลิฟฟอร์ด (James Clifford) ซึ่งคลิปฟอร์ดได้ย้อนกลับไปดูว่าเหตุใดชาวมัชพีถึงได้รับการปฏิเสธสิทธิจากศาลในกรณีที่ชาวมัชพีได้ทำการอ้างสิทธิในที่ดินของบรรพบุรุษของตนเองในช่วงทศวรรษที่ 1980 โดยการอ้างสนธิสัญญาที่มีการเซ็นขึ้นในช่วงปลายศตวรรษที่ 18 กับผู้ที่ตั้งรกรากผิวขาว ณ เวลานั้น กรณีนี้ชี้ให้เห็นว่าศาลไม่ได้มองว่าอัตลักษณ์เป็นเรื่องเลื่อนไหล และมีการเปลี่ยนแปลง และแต่ศาลอิงมุมมองทางประวัติศาสตร์ ซึ่งมองตรงข้ามว่าอัตลักษณ์เป็นสิ่งที่คงที่ และด้วยเหตุนี้ในสายตาศาลชาวมัชพีในยุคนี้จึงต่างกับชาวมัชพีในศตวรรษที่ 18 วิลสันย้ำว่ามุมมองที่ว่าวัฒนธรรมเป็นสิ่งที่หยุดนิ่งมันได้รับการหล่อเลี้ยงด้วยความตายตัวของกฎหมาย โดยส่วนใหญ่แนวทางการมองวัฒนธรรมแบบนี้มีวัตถุประสงค์ในการรับใช้อุดมการณ์บางอย่างและมันเป็นมุมมองที่ผิดในระดับรากฐาน “ผมไม่ต้องการสร้างความคลุมเครือในประเด็นนี้ ขอกล่าวว่ามุมมองทางวัฒนธรรมแบบเก่าที่มองว่าวัฒนธรรมหยุดนิ่งและเป็นองค์อินทรีย์ในแบบเยอรมันโรแมนติกซิสม์นั้นผิดแน่ๆ ถ้าเราวัดจากหลักฐานเชิงประจักษ์ คนเราไม่เคยอยู่ในกลุ่มเล็กๆ ซึ่งถูกจำกัดอยู่ในแวดวงแคบๆ อีกชั้นโดยมีความคิดเรื่องศาสนา วัฒนธรรมและคุณค่าต่างๆ ฯลฯ ร่วมกันไปหมด (…) ในความเป็นจริงมันมีการเคลื่อนไหวเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าคุณจะพูดถึงแอฟริกา อเมริกาเหนือหรือที่อื่นๆ” วิลสันจบด้วยการตั้งคำถามที่เกี่ยวกับผลของสร้างระบอบกฎหมายระหว่างประเทศสำหรับสิทธิในเชิงวัฒนธรรมและปัญหาอีกมากมายที่อาจตามมาในขณะเขาก็ทำให้ทางสองแพร่งที่ต้องเลือกระหว่างการยอมรับวัฒนธรรมท้องถิ่นหรือยืนยันสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ไปจนถึงอุปสรรคที่องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศต้องเจอในการประสานรากเหง้าในแบบดั้งเดิมเข้ากันกับเสรีภาพในแบบใหม่

 

Comments are closed.