มานุษยวิทยาคืออะไร

ศาสตร์ที่เรียกว่า “มานุษยวิทยา” คืออะไร

            มานุษยวิทยาแปลมาจาก Anthropology ในภาษาอังกฤษ ซึ่งหมายถึงศาสตร์ที่ศึกษามนุษย์ แต่เนื่องจากมนุษย์มีหลายมิติ ทำให้มานุษยวิทยาสนใจประเด็นย่อยๆที่สัมพันธ์กับมนุษย์อีกหลายเรื่อง เช่น โครงสร้างทางร่างกาย รูปร่างหน้าตาสีผิว เชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ บรรพบุรุษของมนุษย์ พฤติกรรมทางสังคม การใช้ภาษา การผลิตเครื่องมือเครื่องใช้และวัตถุสิ่งของ แบบแผนทางวัฒนธรรม เป็นต้น ประเด็นย่อยๆเหล่านี้ทำให้เกิดการจัดหมวดหมู่เป็นสาขาย่อยของมานุษยวิทยา โดยสายอังกฤษ ได้แบ่งเป็น 3 หมวด คือ มานุษยวิทยากายภาพ (Physical Anthropology) โบราณคดี (Archaeology) และมานุษยวิทยาสังคม (Social Anthropology)  สายอเมริกัน ได้แยกเป็น 4 หมวด โดยเพิ่มมานุษยวิทยาภาษา(Linguistic Anthropology) เข้าไป  และเปลี่ยนคำว่ามานุษยวิทยาสังคมเป็นมานุษยวิทยาวัฒนธรรม (Cultural Anthropology)   สาขาย่อยเหล่านี้จะมีระเบียบวิธีวิจัยและใช้ทฤษฎีที่แตกต่างกัน ซึ่งมีผลทำให้องค์ความรู้เกี่ยวกับความเป็นมนุษย์จากสาขาย่อยเหล่านี้มีลักษณะเฉพาะของตัวเอง

                มานุษยวิทยากายภาพจะสนใจการก่อกำเนิดเผ่าพันธุ์ของมนุษย์ ศึกษาการเปลี่ยนแปลงของขนาดร่างกายและมันสมองที่มีผลต่อระดับสติปัญญาและการแสดงพฤติกรรม  โบราณคดีจะสนใจศึกษาสังคมและวัฒนธรรมของมนุษย์ในอดีต โดยวิเคราะห์จากหลักฐานทางวัตถุและสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น ซึ่งอาจเป็นวัตถุชิ้นเล็กๆไปจนถึงอาคารสถานที่ขนาดใหญ่  มานุษยวิทยาภาษาจะสนใจศึกษาตัวอักษร พยัญชนะ การประดิษฐ์คำ การพูดการออกเสียง ระบบไวยกรณ์ และการใช้สัญลักษณ์ต่างๆในฐานะเป็นเครื่องมือสื่อสารทางสังคมและการให้ความหมายต่อสิ่งต่างๆในโลก  สำหรับมานุษยวิทยาสังคมหรือวัฒนธรรมวัฒนธรรม (บางครั้งรวมเรียกว่ามานุษยวิทยาสังคมวัฒนธรรม) จะสนใจชีวิตของมนุษย์ปัจจุบันที่ยังมีลมหายใจ โดยศึกษาความสัมพันธ์ทางสังคมที่ปรากฎอยู่ในชีวิตประจำวัน

                ถึงแม้ว่าสายาย่อยเหล่านี้จะมีโจทย์เฉพาะของตนเอง แต่จุดร่วมเดียกันก็คือความต้องการที่จะรู้ว่ามนุษย์ดำรงชีวิตอยู่ในโลกนี้อย่างไร  ดังนั้น “วัฒนธรรม” จึงเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้มนุษย์แตกต่างจากสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นๆ นักมานุษยวิทยาที่ทำงานภายใต้สาขาย่อยจึงมิได้ตัดขาดออกจากกันอย่างสิ้นเชิง หากแต่จะทำงานภายใต้ร่มเดียวกันที่ต่างค้นหาความหมายของ “วัฒนธรรม” จากมุมมองที่หลากหลาย   ซึ่งศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรจะอาศัยการผสมผสานความรู้จากสาขาย่อยเหล่านี้มาเป็นแนวทางเพื่อที่จะเรียนรู้คุณค่าและความหลากหลายทางวัฒนธรรมของมนุษย์ 

 

วิธีการศึกษาของมานุษยวิทยา เป็นอย่างไร

             นับตั้งแต่ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา นักมานุษยวิทยาเริ่มมีแนวทางการศึกษาในแบบของตัวเองที่แตกต่างไปจากศาสตร์ทางสังคมแบบอื่นๆ จากความสนใจชีวิตมนุษย์ในดินแดนต่างๆ ทำให้นักมานุษยวิทยาต้องทำหน้าที่เก็บข้อมูลวัฒนธรรม หรือที่รู้จักในนาม “การทำงานภาคสนาม” (Fieldwork) โดยมีเป้าหมายที่จะเรียนรู้ความคิดและการปฏิบัติที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันของมนุษย์  ในการทำงานภาคสนาม นักมานุษยวิทยาจะต้องเรียนรู้ภาษาของกลุ่มคนที่เข้าไปศึกษาเพื่อที่จะพูดคุยและสัมภาษณ์ รวมทั้งสังเกตสิ่งต่างๆแบบมีส่วนร่วม (Participant-Observation) โดยเข้าไปคลุกคลีอยู่อาศัยกับคนในท้องถิ่นเป็นเวลานานเพื่อที่จะเข้าใจวิถีชีวิตของคนเหล่านั้นได้ราวกับเป็นคนในวัฒนธรรมเอง

            ข้อมูลที่ได้จากการทำงานภาคสนาม นักมานุษยวิทยาจะนำมาเขียนเรียบเรียง รู้จักในนาม “ชาติพันธุ์วรรณา” (Ethnography) บางทีเรียกว่า “งานเขียนทางชาติพันธุ์” ซึ่งเป็นการอธิบายถึงวัฒนธรรมของกลุ่มคนที่ศึกษาภายใต้การตีความและการวิเคราะห์ด้วยกรอบทฤษฎีบางอย่าง   คำว่า “ชาติพันธุ์” (Ethnic) เป็นคำดั้งเดิมก่อนที่วิชามานุษยวิทยาจะสถาปนาตนเองเป็นศาสตร์สมัยใหม่   เนื่องจากการศึกษาวัฒนธรรมและชีวิตของคนในท้องถิ่นต่างๆ ได้นำไปสู่การเปรียบเทียบทางวัฒนธรรม การเปรียบเทียบนี้รู้จักในนาม “ชาติพันธุ์วิทยา” (Ethnology) ซึ่งต้องการที่จะเข้าใจว่ามนุษย์ในดินแดนต่างๆมีประวัติศาสตร์และแบบแผนการดำเนินชีวิตที่เหมือนและต่างกันอย่างไร  อาจกล่าวได้ว่ากลุ่มคนที่นักมานุษยวิทยาศึกษา เป็นกลุ่มทางชาติพันธุ์ทั้งที่เคยมีอยู่ในอดีตและกลุ่มที่มีชีวิตอยู่ในปัจจบัน ซึ่งกระบวนการทำงานที่กล่าวมาข้างต้นจะช่วยปะติดปะต่อเรื่องราวทางวัฒนธรรมของกลุ่มคนเหล่านั้น

           มานุษยวิทยา ในฐานะเป็นศาสตร์ที่ศึกษา “วัฒนธรรม” ของมนุษย์ ด้วยเหตุนี้ทำให้ “วัฒนธรรม” คือหัวใจหลักของวิชามานุษยวิทยา  แต่คำว่า “วัฒนธรรม” ในทางมานุษยวิทยามิใช่คุณสมบัติของสิ่งที่สวยงามหรือมีความคงที่ แต่เป็น “แนวคิด” (Concept) ที่มีข้อถกเถียงมาอย่างต่อเนื่อง

            แนวคิดเรื่อง “วัฒนธรรม” ที่ปรากฎอยู่ในวิชามานุษยวิทยาเป็นปฏิกิริยาโต้ตอบกับความรู้แบบวิทยาศาสตร์ของตะวันตกซึ่งเชื่อว่ามนุษย์ที่อาศัยอยู่ในป่าและถิ่นทุรกันดารเป็นกลุ่มคนที่ไม่มีวัฒนธรรม โดยที่ชาวตะวันตกจะมองว่าตนเองเป็นผู้ที่เจริญแล้ว มีความเฉลียวฉลาด และมีวัฒนธรรมที่สูงส่ง ในขณะที่ชนพื้นเมืองในดินแดนอื่นๆยังคงอยู่กับธรรมชาติจะถูกมองว่าล้าหลังและโง่เขลา ทำให้ขาดความเจริญทางวัฒนธรรม แต่มานุษยวิทยาออกมาโต้แย้งกับความคิดนี้โดยอธิบายว่า “วัฒนธรรม” มีอยู่ในชุมชนของมนุษย์ทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นชุมชนที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีแบบตะวันตกหรือชุมชนพื้นเมืองเร่ร่อนในเขตทุรกันดาร  ทุกชุมชนล้วนมีแบบแผนทางวัฒนธรรมเป็นของตัวเอง

 

การเปรียบเทียบทางวัฒนธรรม

                ถ้าหากมองดูประวัติศาสตร์ของมานุษยวิทยา เราก็จะพบว่า “วัฒนธรรม” จะถูกอธิบายภายใต้กรอบความคิดทฤษฎีที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย แต่ละสกุลความคิดจะนิยามวัฒนธรรมไม่เหมือนกัน (Stephen P. Turner and Mark W. Risjord 2007)  ในระยะแรกๆของการศึกษาทางมานุษยวิทยา ความหมายของวัฒนธรรมจะถูกอธิบายด้วยทฤษฎีวิวัฒนาการ (Evolutionism) ซึ่งเป็นผลพวงมาจากความรู้แบบวิทยาศาสตร์ ตัวอย่างเช่น หนังสือของ Edward B. Tylor เรื่อง Primitive Culture (1871) ที่อธิบายว่าวัฒนธรรมของมนุษย์มีพัฒนาการเป็นลำดับชั้นที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับความซับซ้อนของสังคมจากระดับที่เร่ร่อนเก็บของป่าล่าสัตว์ มาสู่สังคมเกษตรกรรม และสังคมอุตสาหกรรมในขั้นสุดท้าย  ในแง่นี้ วัฒนธรรมจะถูกมองว่าเริ่มต้นจากความเรียบง่ายไปสู่ความซับซ้อน หรือเริ่มจากการไม่มีความรู้ไปสู่การมีความรู้แบบวิทยาศาสตร์  คำอธิบายนี้อาจจะลำเอียงเข้าหาสังคมตะวันตกที่มองว่าคนในสังคมอุตสาหกรรมฉลาดกว่าคนในสังคมเร่ร่อน ซึ่งกลายเป็นข้อด้อยของทฤษฎีวิวัฒนาการที่พยายามจัดลำดับชั้นทางสติปัญญาของมนุษย์

                   ถึงแม้ว่าทฤษฎีวิวัฒนาการจะมีข้อจำกัด แต่ก็ช่วยทำให้เกิดการศึกษาเชิงเปรียบเทียบว่าวัฒนธรรมของมนุษย์ในแต่ละแห่งมีความคล้ายคลึงหรือแตกต่างกันอย่างไร  สิ่งนี้กลายเป็นหน้าที่สำคัญที่นักมานุษยวิทยาต้องอธิบายบริบทและเงื่อนไขของการเกิดวัฒนธรรม รวมทั้งศึกษาว่าบุคคลในสังคมเดียวกันจะดำรงและสืบทอดวัฒนธรรมอย่างไร เมื่อนักมานุษยวิทยาต้องทำงานภาคสนาม นักมานุษยวิทยาต้องเข้าใจระเบียบกฎเกณฑ์ต่างๆที่ช่วยให้สังคมของมนุษย์ดำรงอยู่ได้ ในแง่นี้นำไปสู่การศึกษาโดยใช้ทฤษฎีโครงสร้างหน้าที่ (Structural-Functionalism) เพื่ออธิบายว่าวัฒนธรรมมีหน้าที่อย่างไรในการจัดระเบียบแบบแผนทางสังคม เช่น ศึกษาขนบธรรมเนียมประเพณี พิธีกรรม และความเชื่อทางศาสนา  ระเบียบต่างๆที่ปรากฎขึ้นมิได้แยกกันอยู่ หากแต่มีความเชื่อมโยงและสัมพันธ์กัน   Bronislaw Malinowski  (1922) อธิบายว่านักมานุษยวิทยาจะต้องค้นหากฎเกณฑ์ที่ทำให้สังคมดำรงอยู่ได้

 

การศึกษาวัฒนธรรมแบบองค์รวม

              นักมานุษยวิทยาอเมริกัน Franz Boas  ได้ปูทางการศึกษาวัฒนธรรมแบบองค์รวม (Holism)   โดยที่นักมานุษยวิทยาจะต้องไม่แยกส่วนสิ่งที่เกิดขึ้นในวัฒนธรรม แต่มองเห็นสิ่งต่างๆมีความเชื่อมโยงกัน เช่น ไม่ได้ศึกษาระบบเครือญาติที่ตัดขาดจากระบบเศรษฐกิจ การเมือง และความเชื่อทางศาสนา แต่จะอธิบายแบบแผนของระบบเครือญาติภายใต้ความสัมพันธ์ทางสังคมที่ถูกกำกับด้วยรูปแบบการยังชีพ การทำมาหากิน การจัดแรงงาน การจัดช่วงชั้นและสถานะของบุคคล  การศึกษาแบบองค์รวมจะทำให้นักมานุษยวิทยาที่ทำงานภาคสนามต้องสนใจทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นในชุมชนของมนุษย์ นักมานุษยวิทยาจึงต้องเก็บข้อมูลอย่างรอบด้านและเห็นความเชื่อมโยงของสิ่งต่างๆ เพื่อนำไปวิเคราะห์แบบแผนทางวัฒนธรรมที่มีลักษณะเฉพาะของแต่ละชุมชน

            ประเด็นสำคัญของการศึกษาแบบองค์รวมก็คือ การมองเห็นเงื่อนไขที่แตกต่างกันของวัฒนธรรมแต่ละแห่ง นักมานุษยวิทยาจะไม่พยายามมองวัฒนธรรมแบบเหมารวม หรือมองแบบเสี้ยวๆ   ในบทความเรื่อง The Principles of Ethnological Classification (1887)  Franz Boas เคยอธิบายว่าการศึกษาวัฒนธรรมไม่เหมือนกับการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ที่ต้องการสร้างกฎสากลของความจริง แต่การศึกษาวัฒนธรรมต้องการเข้าใจลักษณะเฉพาะที่ปรากฎในสังคมแต่ละแห่ง ซึ่งไม่จำเป็นต้องมีกฎแบบเดียวกัน จากคำอธิบายนี้ทำให้วิชามานุษยวิทยามองมนุษย์ในฐานะเป็นผู้ที่มีเงื่อนไขที่ต่างกัน มีประวัติศาสตร์ความเป็นมาที่ต่างกัน นักมานุษยวิทยา เช่น Marvin Harris ได้นำแนวคิดนี้ไปต่อยอดเพื่ออธิบายวัฒนธรรมว่าเป็นผลผลิตของการเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์ ซึ่งรู้จักในนาม Historical-Particularism เราจะเห็นได้ว่าการศึกษาแบบองค์รวมเพื่อที่จะเข้าใจเงื่อนไขเฉพาะทางประวัติศาสตร์ของวัฒนธรรมแต่ละแห่ง จะช่วยให้เราเห็นความแตกต่างทางวัฒนธรรม ซึ่งสังคมของมนุษย์ในแต่ละแห่งไม่จำเป็นต้องมีเส้นทางเดินไปสู่จุดหมายเดียวกัน

 

การทำความเข้าใจความคิดของคนในวัฒนธรรม

                มานุษยวิทยามิใช่การศึกษาทางวิทยาศาสตร์ที่ต้องการแสวงหากฎเกณฑ์เพียงหนึ่งเดียว แต่มานุษยวิทยาต้องการศึกษาประสบการณ์ของมนุษย์ที่มีความคิดและความเชื่อแตกต่างกัน   Bronislaw Malinowski (1922)  เคยพูดถึงประเด็นนี้ว่านักมานุษยวิทยาจะต้องศึกษาแบบแผนทางวัฒนธรรมจากมุมมองของคนในวัฒนธรรมเอง หรือรู้จักในนาม the native’s point of view (บางทีเรียกว่า Emic)  นักมานุษยวิทยาไม่สามารถตัดสินวัฒนธรรมของคนอื่นจากแนวคิดทฤษฎีของตะวันตก หรือใช้ความคิดของตัวเอง (Etic) เป็นบรรทัดฐานได้   จากประเด็นนี้ได้นำไปสู่การทบทวนระเบียบวิธีวิจัยและทฤษฎีที่นักมานุษยวิทยาเคยใช้มาในอดีต เพื่อที่จะเข้าใจวัฒนธรรมของคนอื่นโดยผ่านสายตาของคนในวัฒนธรรมนั้น (Martin Harris 1968, Robbins Burling 1964)  นอกจากนั้น ภายในวัฒนธรรมเดียวกัน สมาชิกของกลุ่มก็อาจให้คุณค่าและแสดงออกทางวัฒนธรรมไม่เหมือนกัน สิ่งเหล่านี้คือความซับซ้อนของวัฒนธรรมที่นักมานุษยวิทยาจะต้องไม่หยุดอยู่แค่การหากฎเกณฑ์หรือแบบแผนทางวัฒนธรรม แต่จะต้องค้นหาความไม่ลงรอยที่เกิดขึ้นในวัฒนธรรมนั้นด้วย

                การศึกษาความคิดและประสบการณ์ของคนแต่ละกลุ่มจึงเริ่มมีความสำคัญ ความท้าทายที่นักมานุษยวิทยาต้องเผชิญต่อจากนี้ก็คือ ระเบียบวิธีวิจัยและแนวคิดทฤษฎีอาจจะไม่ได้เป็นเครื่องพิสูจน์ “ความจริง” ของวัฒนธรรมอีกต่อไป แต่อาจเป็นเพียง “แว่นตา” ที่ถูกสร้างขึ้นภายใต้กระบวนทัศน์และความเชื่อบางแบบ แว่นตาที่นักมานุษยวิทยาใช้จึงอาจทำให้เกิดความบิดเบือนหรือมายาคติเกี่ยวกับวัฒนธรรม ตัวอย่างเช่น ทฤษฎีโครงสร้างนิยม (Structuralism) มองวัฒนธรรมว่าเป็นกฎธรรมชาติที่มีอยู่ในจิตสำนึกของมนุษย์ ซึ่งจะถูกใช้เพื่อจัดระเบียบ จัดช่วงชั้น จัดลำดับ แบ่งแยก สร้างขอบเขตให้กับความสัมพันธ์ทางสังคมต่างๆ ไม่ว่าสังคมจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร กฎอันนี้ก็จะดำรงอยู่ต่อไปเหมือนเป็นสิ่งถาวร   ทฤษฎีโครงสร้างนิยมไม่ได้บ่งชี้ถึง “ความจริง” และ “กฎตายตัว” ของวัฒนธรรม หากแต่เป็นเพียงกระบวนทัศน์ของตะวันตกที่เชื่อว่าพฤติกรรมของมนุษย์ถูกควบคุมด้วยกฎของจิตสำนึก

 

การเปลี่ยนกระบวนทัศน์เกี่ยวกับวัฒนธรรม

                การตรวจสอบการทำงานภาคสนาม ระเบียบวิธีวิจัย แนวคิดทฤษฎี และชาติพันธุ์วรรณา (Ethnography)  ทำให้นักมานุษยวิทยาเห็นรูปแบบของการสร้างวาทกรรมเกี่ยวกับวัฒนธรรมที่ต่างกัน 2 ลักษณะคือ หนึ่ง วัฒนธรรมคือปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนกับสังคม (Culture as Interaction) และสอง วัฒนธรรมคือกฎที่ควบคุมพฤติกรรมของบุคคล   (Culture as Rules) อย่างไรก็ตาม ความกระตือรืนร้นที่จะแสวงหา “ความจริง” เกี่ยวกับวัฒนธรรมได้นำไปสู่คำถามใหญ่ที่ว่าใครคือผู้ที่มีอำนาจในการสร้างความหมายของ “วัฒนธรรม”  Clifford Geertz (1973) ได้เริ่มตั้งคำถามนี้โดยอธิบายว่าวัฒนธรรมมิใช่วัตถุสิ่งของที่อยู่นอกตัวมนุษย์ หากแต่เป็นปฏิสัมพันธ์ที่มนุษย์มีต่อสิ่งต่างๆรอบตัว เราไม่สามารถแยก “วัฒนธรรม” ออกไปจากตัวมนุษย์ได้  ข้อสังเกตนี้ทำให้นักมานุษยวิทยาเริ่มสนใจปฏิบัติการในชีวิตประจำวันของบุคคล พร้อมๆกับตรวจสอบวิธีการสร้างความรู้ของนักมานุษยวิทยา เช่น ตรวจสอบอำนาจ(Authority) ของนักมานุษยวิทยาที่เป็นผู้เขียนงานทางชาติพันธุ์

                 ในแง่นี้ สิ่งที่เรียกว่า “วัฒนธรรม” จะมิใช่วัตถุสิ่งของที่มีอยู่ได้ด้วยตัวมันเองและรอให้มนุษย์เข้าไปค้นหา หรือนำออกมาใช้   หากแต่เป็นความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่กำหนดว่าใครคือผู้ชี้นำทางสังคม วัฒนธรรมจึงไม่ใช่แค่ขนบธรรมเนียมประเพณีอย่างที่เราเข้าใจ แต่เป็นภาพสะท้อนของวิธีการสร้างความรู้ของสังคมซึ่งกำหนดว่าอะไรดีและไม่ดี “ความรู้” จึงเป็นเครื่องมือของการสร้าง “ความจริง” เกี่ยวกับวัฒนธรรม    ซึ่งนักมานุษยวิทยาในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 20 (ทศวรรษ 1980 เป็นต้นมา) ต่างกลับไปตรวจสอบทฤษฎีเก่าๆที่เคยสร้างความรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมเอาไว้ และพยายามเสนอว่าการศึกษา “วัฒนธรรม” จำเป็นต้องตรวจสอบกระบวนทัศน์ (Paradigm) ที่อยู่เบื้องหลังการสร้างนิยามวัฒนธรรมเพื่อที่จะเข้าใจว่า “วัฒนธรรม” คือวาทกรรม (Culture as Discourses) ที่สัมพันธ์กับการใช้อำนาจทางสังคม (Sherry Ortner 1984, George E. Marcus and Michael Fisher 1986, James Clifford and George E. Marcus 1986, Clifford Geertz 1988, James Clifford 1988)

                   เราจะเห็นว่า การทำความเข้าใจ “วัฒนธรรม” เป็นเรื่องที่ต้องไตร่ตรอง และต้องเข้าใจกระบวนทัศน์ของการสร้างความรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมที่ดำเนินไปพร้อมกับบริบททางสังคมในแต่ละยุคสมัย สำหรับสังคมไทย เรามักจะใช้คำว่า “วัฒนธรรม” ในความหมายแคบๆที่เป็นเรื่องความสวยงามและความคงที่ ซึ่งอาจจะเป็นการทำความเข้าใจที่นำไปสู่ความขัดแย้งได้ง่ายถ้าหากเผชิญหน้ากับสิ่งที่อยู่นอกระเบียบกฎเกณฑ์ทางสังคม ดังนั้น วิชามานุษยวิทยาจะเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับการทำความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงความหมายของวัฒนธรรม และเป็นสิ่งจำเป็นที่สังคมสมัยใหม่ต้องมองวัฒนธรรมในมิติของ “พลวัต”  ที่เป็นกระบวนการเปลี่ยนผ่านอย่างต่อเนื่อง

 

ความรู้มานุษยวิทยา นำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างไร

                        วิชามานุษยวิทยาเป็นศาสตร์ที่เพิ่งสถาปนาตัวเองในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 และเป็นศาสตร์ของชาวตะวันตกที่ต้องการเรียนรู้วัฒนธรรมของคนอื่นที่ต่างไปจากตัวเอง นักมานุษยวิทยาที่เดินทางไปยังดินแดนต่างๆจึงเหมือนกับนักสำรวจเก็บข้อมูลเกี่ยวกับวิถีชีวิตมนุษย์ที่อาจดู “แปลกพิศดาร” ในสายตาของคนผิวขาว  ในระยะแรกๆความรู้มานุษยวิทยาจึงเป็นความรู้ที่ชาวตะวันตกเอาไปใช้เพื่อที่จะตอกย้ำว่าตนเองเจริญกว่ามนุษย์กลุ่มอื่นๆ  เช่นในช่วงลัทธิอาณานิคม นักมานุษยวิทยาทำงานในพื้นที่ที่ชาวตะวันตกเข้าไปยึดครองและปกครอง วัตถุสิ่งของของชนเผ่าทั้งหลายที่นักมานุษยวิทยาเก็บมาศึกษาก็กลายเป็น “ของแปลก” ที่ต่อมาจะถูกนำไปไว้ในพิพิธภัณฑ์ ในแง่นี้ นักมานุษยวิทยาก็อาจเป็นผู้ลักขโมยวัตถุทางวัฒนธรรมของคนอื่นไปโดยไม่ได้ตั้งใจ

                        แม้ว่านักมานุษยวิทยาจะถูกสอนให้เข้าใจชีวิตของคนอื่น แต่ในเวลาเดียวกันนักมานุษยวิทยาก็อาจกลายเป็นเครื่องมือของรัฐภายใต้ความสัมพันธ์เชิงอำนาจ   ตัวอย่างเช่น Eric Wakin (1992) เขียนหนังสือเรื่อง Anthropology Goes to War: Professional Ethics and Counterinsurgency in Thailand เพื่อชี้ให้เห็นว่าในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง นักมานุษยวิทยาอเมริกันเข้ามาศึกษาวัฒนธรรมของกลุ่มคนที่มีภาษาต่างไปจากตนเอง เพื่อที่จะเรียนรู้ว่าคนเหล่านั้นคิดอย่างไร ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อกองทัพที่จะเข้าไปอาศัยอยู่ในพื้นที่  นักมานุษยวิทยาจึงทำหน้าที่คล้ายๆล่ามทางวัฒนธรรมที่เชื่อมประสานระหว่างคนพื้นเมืองกับคนผิวขาว  การทำงานภายใต้เงื่อนไขของสงคราม การเมือง และเศรษฐกิจนี้  ประเทศมหาอำนาจตะวันตกต้องการที่จะเรียนรู้ว่าคนพื้นเมืองที่ตนจะเข้าไปติดต่อสัมพันธ์ด้วยนั้นคิดอย่างไร  วิธีนี้เป็นวิธีการของการแสวงหาผลประโยชน์รูปแบบหนึ่ง ซึ่งรัฐมักจะอาศัยทักษะของนักมานุษยวิทยา เพื่อให้นักมานุษยวิทยานำข้อมูลเกี่ยวกับคนท้องถิ่นมาประเมินถึงความเป็นไปได้ที่รัฐจะเข้าไปดำเนินการต่างๆในท้องถิ่นนั้น

                             ปัญหาดังกล่าวนี้ ทำให้เกิดการตั้งคำถามว่าอะไรคือ “จริยธรรม” ของนักมานุษยวิทยา ความรู้ทางมานุษยวิทยาจะมีไว้เพื่อตอบสนองอำนาจรัฐหรือมีไว้เพื่อลดความขัดแย้งทางสังคม  คำถามนี้มาพร้อมกับการทบทวนบทบาทการทำงานของนักมานุษยวิทยา มีการแสวงหาบทบาทที่ควรจะเป็นภายใต้เงื่อนไขที่ซับซ้อนระหว่างการทำงานเพื่อตอบโจทย์ของรัฐกับการทำงานเพื่อสร้างการเรียนรู้เกี่ยวกับความเป็นมนุษย์ รัฐอาจมีงบประมาณสนับสนุนการวิจัยของนักมานุษยวิทยา แต่ในขณะเดียวกันก็อาจไม่มีอิสรภาพทางความคิดที่จะถกเถียงและตั้งคำถามเกี่ยวกับความไม่ยุติธรรม ความเหลื่อมล้ำ อคติ และการเอารัดเอาเปรียบทางสังคม

                          ปัจจุบัน นักมานุษยวิทยาได้ใช้ความเชี่ยวชาญของตัวเองเข้าไปทำงานในองค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน บางครั้งเราจะรู้จักนักมานุษยวิทยาเหล่านี้ในฐานะเป็น “นักมานุษยวิทยาปฏิบัติการ” (Anthropology in Action หรือ James Hunt เรียกว่า Practical Anthropology, Radcliffe-Brown เรียกว่า Applied Anthropology, Malinowski เรียกว่า Practicing Anthropology)  หมายถึงนักมานุษยวิทยาที่นำความรู้ทางสังคมวัฒนธรรมไปแก้ปัญหาสังคม ไปเป็นแนวทางการวางนโยบาย  การขับเคลื่อนทางสังคม หรือปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของมนุษย์   เป้าหมายของปฏิบัติการเหล่านี้อาจมีหลายลักษณะ เช่น เพื่อส่งเสริมความเท่าเทียม เพิ่มคุณค่าและศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์ รื้อฟื้นความทรงจำและความภาคภูมิใจในตัวเองของคนในท้องถิ่น เป็นต้น อย่างไรก็ตาม สิ่งที่นักมานุษยวิทยาควรพึงระมัดระวังก็คือ ความรู้ของนักมานุษยวิทยาจะต้องเอื้อประโยชน์ต่อประชาชนส่วนใหญ่ มากกว่าจะตอบสนองเฉพาะคนกลุ่มเล็กๆบางกลุ่ม

 

มานุษยวิทยากับโลกที่เคลื่อนไปตลอดเวลา

                   ศาสตร์ของมานุษยวิทยาเป็นศาสตร์ที่มีลักษณะเปิดกว้าง หากมองจากปรัชญาแรกเริ่มของมานุษยวิทยาก็จะพบว่า มานุษยวิทยาต้องการทำความเข้าใจวิถีชีวิตของมนุษย์ที่ยังมีลมหายใจและที่เคยอยู่บนโลกนี้  เจตนารมย์ที่จะเข้าใจชีวิตมนุษย์เป็นเจตนารมย์ที่ยิ่งใหญ่และฟังดูเหมือนอุดมคติ เพราะการทำความเข้าใจชีวิตมนุษย์เป็นเรื่องที่ทำได้ยาก ดังนั้นมานุษยวิทยาจะเริ่มต้นจากประเด็นบางประเด็น เช่น พิธีกรรม ความเชื่อ ศาสนา ไสยศาสตร์ เศรษฐกิจ การเมือง ศิลปะ เพศภาวะ ชนชั้น เครือญาติ ฯลฯ ประเด็นเหล่านี้เหมือนเป็นประตูบานแรกที่นักมานุษยวิทยาจะเดินสำรวจเข้าไปในสนามที่กว้างใหญ่ ซึ่งมีสิ่งต่างๆโยงใยกันอย่างซับซ้อน   นักมานุษยวิทยาแต่ละคนจึงเลือกที่จะสร้างความเชี่ยวชาญของตนเองผ่านประเด็นเหล่านี้แต่มีปลายทางร่วมกันคือการทำความเข้าใจวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของมนุษย์

                     ถึงแม้ว่านักมานุษยวิทยาจะมีความสนใจในประเด็นที่ต่างกัน แต่ทุกคนล้วนเชื่อมโยงประเด็นที่ตนเองสนใจกับสถานการณ์ที่เป็นจริง เช่น สนใจเรื่องศาสนา นักมานุษยวิทยาก็จะทำงานวิจัยบนโจทย์ด้านศาสนาแต่ผลลัพธ์จะเป็นการทำความเข้าใจชีวิตมนุษย์ที่ขับเคลื่อนด้วยความเชื่อทางศาสนา และนักมานุษยวิทยายังชี้ให้เห็นว่าในมิติทางศาสนายังเต็มไปด้วยความสัมพันธ์ที่โยงใยถึงระบบเครือญาติ การทำมาหากิน ชนชั้น ฐานะทางสังคม เพศภาวะ และสุนทรียะ ศาสนาจึงไม่ได้ตัดขาดจากบริบทอื่นๆ สิ่งนี้คือคุณสมบัติของศาสตร์มานุษยวิทยาที่สามารถมองเห็นความเชื่อมโยงต่างๆที่เกิดขึ้นบนชีวิตมนุษย์ และยังทำให้ศาสตร์แบบนี้มองเห็นการเปลี่ยนแปลงที่เคลื่อนตัวและดำเนินไปข้างหน้าอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

                     ดังนั้น เรื่องท้าทายของนักมานุษยวิทยาคือการมองเห็นพลวัตของวิถีชีวิต และความกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้การเปลี่ยนแปลงใหม่ๆที่เกิดกับชีวิตมนุษย์  นักมานุษยวิทยามิใช่ผู้ที่ติดอยู่กับอดีตหรือมองชีวิตมนุษย์เป็นแค่ความลงตัวในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง แต่นักมานุษยวิทยาจะเป็นผู้มองหาประเด็นเล็กๆที่จะเป็นประตูเปิดไปสู่ความเข้าใจที่ซับซ้อนของชีวิตมนุษย์ที่เคลื่อนตัวอยู่ตลอดเวลา   

 

ผู้เขียน ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ

เอกสารอ้างอิง

Boas, Franz 1974 (1887). "The Principles of Ethnological Classification," in A Franz Boas reader ed. by

                George W. Stocking Jr. Chicago, The University of Chicago Press.

Burling, Robbins. 1964. Cognition and Componential Analysis: God’s Truth or Hocus’ pocus?

American Anthropologist 66 (1): 20-28.

Clifford, James. 1988. The Predicament of Culture: Twentieth-Century Ethnography, Literature, and Art.

                Cambridge, Harvard University Press.

Clifford, James and Marcus, George E.(eds.) 1986. Writing Culture: The Poetics and Politics of Ethnography.

                Berkeley, University of California Press.

Geertz, Clifford. 1973. The Interpretation of Culture. New York, Basic Books.

Geertz, Clifford. 1988. Works and Lives: The Anthropologist as Author. Stanford, Stanford University Press.

Harris, Marvin. 1968. The Rise of Anthropological Theory. New York, Thomas Y. Crowell Company.

Malinowski, Bronislaw. 1922. Argonauts of the Western Pacific. New York, E.P. Dutton & Co.

Marcus, George E. and Fisher, Michael M.J.1986. Anthropology as Cultural Critique: An Experimental Moment

                in the Human Sciences. Chicago, University of Chicago Press.

Ortner, Sherry. 1984. Theory in Anthropology since the Sixties. Comparative Studies in

Society and History 26 (1): 126-166.

Turner, Stephen P. and Risjord, Mark W. (ed.) 2007. Philosophy of Anthropology and Sociology. Armsterdam,

                North-Holland.

Tylor, Edward B. 1920(1871). Primitive Culture. New York: J.P. Putnam’s Sons.

Wakin, Eric. 1992 Anthropology Goes to War: Professional Ethics and Counterinsurgency in Thailand.

                Madison: University of Wisconsin Press