คำศัพท์

Oral Tradition

        คำว่า “บอกเล่า” (oral) มีความหมายในสองลักษณะคือ การไม่ใช้ตัวหนังสือ และการใช้ภาษาพูด การบอกเล่ายังหมายถึงการแสดงออกด้วยคำพูด เช่น การร้องเพลง การเล่านิทาน การใช้คำพังเพย หรือสุภาษิต ซึ่งเป็นการแสดงออกทางวัฒนธรรมที่มีเอกลักษณ์แตกต่างจากการแสดงออกแบบอื่นที่ต้องใช้ตัวหนังสือ  อย่างไรก็ตามยังมีความคลุมเคลือที่เกิดจากความหมายที่ทับซ้อน ซึ่งนำไปสู่การถกเถียงทางวิชาการว่าอะไรที่เป็นตัวหนังสือ อะไรที่เป็นคำบอกเล่า โดยเฉพาะในสังคมชนเผ่าที่มีธรรมเนียมต่างไปจากตะวันตก  เมื่อกล่าวถึงประเพณีการบอกเล่า ยังคงมีข้อถกเถียงว่าประเพณีนี้แสดงออกด้วยการใช้คำพูด หรือว่าไม่ต้องใช้ภาษาเขียน  เป็นประเพณีของสังคม หรือเป็นของคนบางคน  การบอกเล่ามีการสืบทอดผ่านคนแต่ละคนหรือไม่ และประเพณีนี้จะเป็นคุณค่าทางสังคมหรือไม่ ถ้าไม่มีการบอกเล่า  ประเพณีนี้จะหมายถึงอะไร

          ในทางปฏิบัติ ความหมายของการบอกเล่าอาจเป็นอะไรก็ได้ เพราะว่าการบอกเล่าใช้อธิบายลักษณะที่เกิดขึ้นในวัฒนธรรมซึ่งเกิดขึ้นเมื่อบุคคลต้องการสร้างความหมาย  คำว่าประเพณีการบอกเล่าจึงเต็มไปด้วยการให้คุณค่าทั้งที่เป็นส่วนตัวและการเมือง เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับกลุ่มคนบางกลุ่มหรือคนทั้งหมด ซึ่งต้องอาศัยข้อมูลมาอธิบาย  ด้วยเหตุนี้นักวิชาการบางคนจึงใช้คำว่าประเพณีการบอกเล่าเป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์ เนื่องจากการบอกเล่าเป็นสิ่งที่ทำให้ให้เกิดการถกเถียงว่าอะไรคือการสื่อสาร อะไรเป็นวัฒนธรรม หรือความสัมพันธ์เชิงอำนาจ  อย่างไรก็ตาม นักวิชาการบางคนก็ยังมีข้อถกเถียงและกำลังทำวิจัยเพื่อพิสูจน์ว่าการบอกเล่าหมายถึงอะไรและเกี่ยวข้องกับสิ่งใดบ้าง

           ในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 นักมานุษยวิทยาและนักคติชนวิทยาเชื่อว่าการบอกเล่ามาจากความทรงจำในอดีต ซึ่งตกทอด สืบทอดมาจากคนรุ่นก่อนโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงเนื้อหาสาระ   การอธิบายในทำนองนี้สัมพันธ์กับแนวคิดเรื่อง “ความทรงจำของชนเผ่า” และมักจะเชื่อเรื่อง “คติชน” หรือ “ชุมชน” ซึ่งมีการสืบทอดสิ่งต่างๆโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลง  นักวิชาการกลุ่มนี้เชื่อว่ามีวัฒนธรรมบอกเล่าอยู่ในสังคมชนเผ่า  ความคิดนี้เกี่ยวข้องกับแนวคิดวิวัฒนาการและจินตนาการแบบโรมแนติก ซึ่งเชื่อในสิ่งบริสุทธิ์ที่เกิดจากประเพณีการบอกเล่าของชาวบ้าน ซึ่งตรงข้ามกับประเพณีการเขียนตัวหนังสือในชีวิตสมัยใหม่  ความคิดนี้ยังคงมีอิทธิพลอยู่ในวงการศึกษา

          ประเพณีการบอกเล่ายังคงมีความสำคัญสำหรับการสร้างความรู้และจัดระเบียบทางสังคม  ทฤษฎีทางสังคมในคริสต์ศตวรรษที่ 19 หลายทฤษฎีต่างเห็นความสำคัญของประเพณีการบอกเล่า  แต่ยังมีข้อถกเถียงระหว่างพวกที่เชื่อเรื่องตัวหนังสือกับพวกที่เชื่อเรื่องคำบอกเล่า  นักวิชาการบางคนเชื่อว่าภาษาเขียนเป็นบ่อเกิดของความคิดและการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ซึ่งมีผลต่อประวัติศาสตร์  นักวิชาการกลุ่มนี้ได้แยกวัฒนธรรมเป็นสองแบบ คือวัฒนธรรมที่ใช้ตัวหนังสือซึ่งมีความเจริญก้าวหน้า เช่น สังคมตะวันตก กับสังคมที่ไม่มีตัวหนังสือ ได้แก่สังคมที่ยังคงยึดถือขนบธรรมเนียมประเพณีสมัยโบราณ  การอธิบายในแนวนี้มาจากวิธีคิดของตะวันตก  ปัจจุบันนี้ นักมานุษยวิทยาหลายคนชี้ให้เห็นถึงความหลากหลายของการใช้คำว่าการสื่อสารเชิงบอกเล่า ซึ่งพบเห็นได้ทั้งวัฒนธรรมสมัยใหม่ ในเขตเมือง และสังคมพื้นบ้าน  การบอกเล่าในแต่ละพื้นที่จะมีความแตกต่างกันโดยเห็นจากการศึกษาของนักมานุษยวิทยาในหลายวัฒนธรรม

          การศึกษาประเพณีการบอกเล่าอีกแนวทางหนึ่ง ได้แก่การพิจารณาเรื่องความสนุกสนาน การบอกเล่าจะถูกมองว่าเป็นการใช้ภาษาที่สวยงามเหมือนผลงานศิลปะ  นักมานุษยวิทยาหลายคนศึกษาบทกลอน บทกวี นิทาน ตำนาน เรื่องเล่า คติความเชื่อ บทสวด บทพรรณา สำนวนโวหาร บทเพลง คำพังเพย สุภาษิต ต่างๆ การศึกษาเหล่านี้อาจอยู่ใต้หัวข้อเกี่ยวกับศิลปะของการใช้คำ หรือวรรณศิลป์ที่ไม่เป็นตัวหนังสือ ซึ่งเป็นการศึกษาที่ใกล้เคียงกับวิธีมองวัฒนธรรมอย่างรอบด้านของประเพณีการบอกเล่า  การศึกษาในแนวนี้ต้องใช้ความรู้จากหลายสาขา ระหว่างมานุษยวิทยา ภาษาศาสตร์ วรรณคดี คติชน และดนตรีทางชาติพันธุ์

          การศึกษาในรายละเอียด อาจใช้แนวคิดทฤษฎีที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นทฤษฎีหน้าที่นิยม โครงสร้างนิยม หลังโครงสร้างนิยม  วาทกรรม  การวิเคราะห์ภาษา มาร์กซิสต์ เฟมินิสต์ จิตววิทยา และวรรณคดี   นักมานุษยวิทยาภาษาศาสตร์ชี้ให้เห็นความสำคัญของการสื่อสารที่ไร้ตัวหนังสือ และการสื่อสารแบบละคร โดยอาศัยแนวคิดของภาษาศาสตร์ การละคร และวาทวิทยา   การศึกษาแนวนี้ช่วยให้เข้าใจว่าการบอกเล่ามีมิติทางศิลปะร่วมอยู่ด้วย  มิใช่เป็นเพียงการพูดตามธรรมชาติ  ประเพณีการบอกเล่ายังมีด้านที่เป็นโครงสร้างทางความคิดและการสร้างสรรค์ที่เกิดจากบุคคล

          คำถามคือ การศึกษาเรื่องประเพณีการบอกเล่าจะช่วยให้เราเข้าใจการสื่อสารที่ไม่มีตัวหนังสือนี้อย่างไร  การศึกษาเรื่องนี้อาจเกี่ยวข้องกับวิธีคิดของนักประวัติศาสตร์ หรือนักภาษาศาสตร์ และท้าทายการนิยามความหมายของตะวันตก  การศึกษาประเพณีการบอกเล่ายังอาจท้าทายวิธีคิดเดิมๆที่มองว่าการบอกเล่าเป็นสิ่งที่คงที่ถาวร  นักมานุษยวิทยาบางคนเชื่อว่าประเพณีการบอกเล่าเป็นการสร้างสรรค์ส่วนตัว มิใช่เป็นของส่วนรวมที่คงทนและยืนนาน  ผู้เชี่ยวชาญทางภาษาและประวัติศาสตร์บางคนวิเคราะห์วรรณกรรมของโฮเมอร์ เรื่อง The Song of Roland  และ Beowulf โดยเชื่อว่าวรรณกรรมนี้เป็นสิ่งที่ถูกเขียนมาจากคำบอกเล่า    การศึกษาของแพร์รี และอัลเบิร์ต ลอร์ด เป็นการเปรียบเทียบวรรณกรรมของโฮเมอร์กับวรรณกรรมของชาวสลาวิคในช่วงปี ค.ศ.1930  พบว่าผู้แต่งวรรณกรรมอาศัยการได้ดูการแสดงละคร สิ่งนี้เรียกว่าการแต่งเรื่องจากคำบอกเล่า ซึ่งได้กลายเป็นทฤษฎีที่มีผู้นำไปใช้มากในสายมนุษยศษสตร์ ถึงแม้ว่าจะมีข้อท้วงติงอยู่บ้างในเรื่องของความเป็นสากล และกรณีศึกษาที่เป็นเรื่องที่แต่งจากคำบอกเล่า  นักวิชาการในปัจจุบันเริ่มที่จะมองดูวัฒนธรรมอื่นๆ เช่น การแสดงละครที่อาจเกี่ยวข้องกับประเพณีการบอกเล่า ซึ่งเชื่อมโยงแนวคิดและข้อมูลทางมานุษยวิทยา หรือนักคติชนวิทยา

          ประเพณีการบอกเล่าอาจเป็นตัวแทนของอดีต ซึ่งในปัจจุบันเริ่มที่จะสนใจประวัติศาสตร์ของคำบอกเล่าเพื่อทำความเข้าใจสังคมที่ไม่มีภาษาเขียน และประสบการณ์ของชาวบ้านที่ไม่มีปากมีเสียง  การศึกษานี้ทำได้โดยการบันทึกคำบอกเล่าของชาวบ้าน หรือรู้จักในนามประวัติศาสตร์ของชาวบ้าน  อย่างไรก็ตาม ยังมีผู้ไม่เห็นด้วยในแง่ที่ว่าประเพณีการบอกเล่ามิใช่ประวัติศาสตร์ส่วนตัว แต่เป็นเรื่องของส่วนรวม และมีการเปลี่ยนแปลงตามเวลา ตัวอย่างเช่น การศึกษาของเฮนจ์(1982) อธิบายว่าประเพณีการบอกเล่าหมายถึงการเก็บรวบรวมความรู้จากอดีตที่ตกทอดมาสู่คนรุ่นหลัง  ซึ่งแตกต่างจากเรื่องที่แต่งจากคนๆเดียว

          ข้อถกเถียงอีกประการหนึ่ง เกิดขึ้นระหว่างนักประวัติศาสตร์และนักมานุษยวิทยา ซึ่งเชื่อว่าประเพณีการบอกเล่าเป็นบ่อเกิดของการแสดงออกทางวัฒนธรรม ข้อโต้แย้งที่เกิดขึ้นได้แก่ นักมานุษยวิทยาเชื่อในตำนาน แต่นักประวัติศาสตร์คิดว่าเป็นข้อมูลประวัติศาสตร์  นักมานุษยวิทยาคิดว่าเรื่องเล่าเป็นจินตนาการ แต่นักประวัติศาสตร์คิดว่าเป็นความจริง ตัวอย่างเช่น เรื่องแต่งส่วนบุคคลอาจถูกมองว่าเป็นการแสดงออกถึงประสบการณ์และความคิดส่วนตัว ซึ่งอาจไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องราวในอดีต  ข้อถกเถียงนี้ยังคงดำเนินต่อมา แต่มีแนวโน้มที่นักมานุษยวิทยาและนักประวัติศาสตร์จะคิดเห็นคล้ายกัน ในแง่ที่ว่าประเพณีการบอกเล่าไม่มีความเป็นกลาง เรื่องราวเปลี่ยนแปลงไปตามบริบทสังคม และถูกปรับแต่งโดยผู้แต่ง ผู้ฟัง ผู้แสดง และยังนำความคิดทางมานุษยวิทยามาอธิบายเรื่องการแสดงละคร การทำงานศิลปะ  การสื่อสาร และการบันทึกความทรงจำทางสังคมและการเมือง

          นักมานุษยวิทยาหลายคนสนใจเรื่องหน้าที่และการเปลี่ยนแปลงของประเพณีการบอกเล่า ในบริบททางวัฒนธรรม นอกจากนั้นยังสนใจศึกษาประเพณีการบอกเล่าในฐานะเป็น “ระบบข้อมูล” ของท้องถิ่น  นักมานุษยวิทยาและนักวิชาการสาขาอื่นๆสนใจกระบวนการที่ทำให้เกิดการสร้าง  การสืบทอด การให้คุณค่าต่อ“ประเพณี”  มีการถามว่าประเพณีการบอกเล่าสัมพันธ์กับคุณค่าในแต่ละยุคสมัยอย่างไร  ตัวอย่างเช่น  สิ่งที่มักจะเกี่ยวข้องกับประเพณีการบอกเล่าก็คือการแสดงตัวตนของมนุษย์ในช่วงเวลาที่มีปัญหาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องส่วนตัว ส่วนร่วม หรือประเทศชาติ

          นักมานุษยวิทยาหลายคนอาศัยความคิดจากการศึกษาของฮ็อบส์บอม และแรงเจอร์(1983) เรื่อง Invention of Tradition ซึ่งอธิบายเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและการเมือง โดยเผยให้เห็นว่า “ประเพณี” มิใช่ของโบราณแต่เพิ่งเกิดขึ้นมาไม่นาน  นักมานุษยวิทยาในปัจจุบันจึงหันมาตั้งคำถามว่าประเพณีการบอกเล่าถูกสร้างขึ้นมาได้อย่างไร  ประเพณีการบอกเล่ามีความคงที่หรือเปลี่ยนแปลง  ถูกควบคุมจากอำนาจหรือไม่ ผู้ที่คิดว่าประเพณีบอกเล่าเป็นของมีค่าตั้งแต่โบราณจะออกมาโต้แย้งอย่างไร และกระบวนการทางสังคมของการสร้างความทรงจำและการลบเลือนเป็นอย่างไร


ผู้เขียน: ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ

เอกสารอ้างอิง:

David Levinson and Melvin Ember (eds.) Encyclopedia of Cultural Anthropology. Henry Holt and Company, New York. 1996. Pp.888-891.

Finnegan, Ruth. 1992. Oral Traditions and the Verbal Arts: A Guide to Research Practices. London: Routledge.

Jacobs, Melville. 1959. The Content and Style of an Oral Literature. New York: Viking Fund Publications in Anthropology.

Tedlock, Dennis. 1983. The Spoken Word and the Work of Interpretation. Philadelphia: University of Pennsylvania Press.

Tonkin, Elizabeth. 1992. Narrating Our Pasts: The Social Construction of Oral History. New York: Cambridge University Press.


หัวเรื่องอิสระ: ประเพณีบอกเล่า