คำศัพท์

Marriage

        การแต่งงานในความคิดของมานุษยวิทยามีความแตกต่างหลากหลาย ขึ้นอยู่กับทัศนคติของผู้ศึกษา และผู้ถูกศึกษา ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น กฎทางสังคม พฤติกรรม สิทธิ ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล หรือโครงสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มสังคม     จอร์จ ปีเตอร์ เมอร์ด็อกค์(1949) นิยามความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลในการแต่งงานโดยอาศัยการยอมรับทางสังคมที่มีต่อชายและหญิง ซึ่งเกี่ยวข้องกับเรื่องเศรษบกิจและเพศสัมพันธ์  วอร์ด เอช กู้ดอีนาฟ(1970) นิยามต่างออกไปว่าการแต่งงานเป็นเรื่องของสิทธิ เพราะการแต่งงานคือการทำสัญญาที่ต้องได้รับความเห็นชอบจากบุคคลและกลุ่มคน เพื่ออนุญาตให้มีการกระทำทางเพศต่อผู้หญิง และผู้หญิงก็มีสิทธิที่จะมีลูก  โครงสร้างของการแต่งงานยังชี้ให้เห็นความเป็นไปได้ที่สมาชิกในกลุ่มจะมีคู่ครองสำหรับแต่งงาน

        สังคมส่วนใหญ่จะมีการปฏิบัติที่บ่งบอกถึงการแต่งงาน สังคมมีความคาดหวังที่จะควบคุมประชากรในครัวเรือน การแบ่งงานกันทำ การแบ่งปันทรัพยากร การแสดงความสัมพันธ์ทางเพศ การสืบพันธุ์ และการเลี้ยงดูบุตร  การแต่งงานจะเป็นการสร้างกลุ่มญาติพี่น้องที่เกินขอบเขตไปมากกว่าคู่สามีภรรยา  การแต่งงานทำให้เกิดกลุ่มญาติระหว่างตระกูล การแต่งงานอาจมีหลายลักษณะ เช่น ผู้ชายแต่งงานกับผู้หญิงหลายคน หรือ ผู้หญิงแต่งงานกับผู้ชายหลายคน ในบางวัฒนธรรมอนุญาตให้มีการแต่งงานแบบสามีคนเดียว และภรรยาคนเดียว (Monogamy) บางวัฒนธรรมผู้ชายสามารถมีภรรยาได้หลายคน (polygynous) บางวัฒนธรรมผู้หญิงมีสามีได้หลายคน (polyandrous)  รูปแบบการแต่งงานเหล่านี้เป็นเรื่องที่อธิบายได้ด้วยทฤษฎีและการนิยามความหมายของการแต่งงาน แต่นิยามของการแต่งงานไม่สามารถครอบคลุมรูปแบบการแต่งงานได้ทั้งหมด ขึ้นอยู่กับแต่ละวัฒนธรรม

          ทฤษฎีหน้าที่นิยม นิยามการแต่งงานว่าเป็นการแทรกแซงของสังคมต่อความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล  การแต่งงานมีความสำคัญในฐานะเป็นการสร้างสัมพันธภาพระหว่างสองครอบครัว ซึ่งต้องกระทำภาระหน้าที่สืบทอดสมาชิกให้สังคม เลี้ยงดูบุตร และกล่อมเกลาบุตรให้เติบโตในสังคม  มาลีนอฟสกี้ เขียนบทความเรื่อง Parenthood the Basis of Social Structure (1930)  อธิบายว่าการแต่งงานคือใบอนุญาตที่สังคมมอบให้บุคคลเพื่อสืบทายาทและเลี้ยงดูบุตร  การแต่งงานทำให้เกิดการจัดระเบียบการให้กำเนิดบุตรและทำให้บุตรมีพ่อที่ถูกต้องทางสังคม   ความคิดของเมอร์ด็อกค์เรื่องครอบครัวเดี่ยวคือปรากฏการณ์สากล อธิบายว่าการแต่งงานคือการพิสูจน์ความสัมพันธ์ระหว่างชายหญิงที่สังคมยอมรับ ทั้งในเรื่องเพศ เศรษฐกิจ การทำงาน ที่อยู่อาศัยจากการแต่งงาน ความสัมพันธ์เหล่านี้คือหน่วยที่ก่อให้เกิดการสืบทายาท 

          คำอธิบายของทฤษฎีหน้าที่นิยม เชื่อว่าการแต่งงานคือการที่สังคมเข้าไปจัดระเบียบ และตรวจสอบสมาชิกในสังคม แต่การอธิบายนี้ยังมีข้อถกเถียง  นิยามของเมอร์ด็อกค์ไม่สามารถนำไปอธิบายสังคมอื่นได้ทั้งหมด  ในสังคมที่ผู้หญิงยังคงอยู่บ้านของตัวเองหลังแต่งงาน หรืออาจอยู่ทั้งบ้านสามีและบ้านของตัวเอง กรณีนี้ไม่สอดคล้องกับนิยามของเมอร์ด็อกค์     แคธลีน โกฮ์ (1959) ศึกษาชนเผ่านายาร์พบว่าผู้หญิงที่แต่งงานแล้วจะไปเยี่ยมบ้านของสามีเป็นระยะๆ  ลูกชาวในชนเผ่านายาร์จะแต่งงานกับผู้ชายนอกหมู่บ้าน แต่เมื่อมีพิธีศพ ญาติพี่น้องของผู้หญิงเท่านั้นจะมาร่วมพิธี ผู้หญิงจะได้รับสิทธิในการแต่งงานกับผู้ชายในวรรณะเดียวกันซึ่งมาจากครอบครัวอื่น ซึ่งสามารถมีสามีได้ 3 หรือ 4 คน  ส่วนลูกที่เกิดมาจะต้องได้รับค่าเลี้ยงดูจากผู้ชาย ถ้าผู้ชายไม่จ่ายเงิน เด็กคนนั้นก็จะเป็นคนนอกวรรณะและไม่ได้รับการยอมรับจากครอบครัว  โกฮ์อธิบายว่าชาวนายาร์ยอมรับการแต่งงานที่ผู้ชายต้องทำหน้าที่ของพ่อ

          คำถามเกี่ยวกับการแต่งงานของคนเพศเดียวกันมีหรือไม่ ในหลายๆสังคมอนุญาตให้มีการแต่งงานระหว่างชายกับชาย หรือหญิงกับหญิง ซึ่งการแต่งงานแบบนี้ไม่สอดคล้องกับทฤษฎีหน้าที่นิยม  กล่าวคือการแต่งงานระหว่างคนเพศเดียวกันเป็นกรณีพิเศษ ทำให้ความหมายของการแต่งงานทั่วไปอธิบายการแต่งงานชนิดนี้ไม่ได้ ในทัศนะของนักวิชาการอาจมองว่าการแต่งงานของคนเพศเดียวกันไม่ต่างจากการแต่งงานตามปกติ เพราะจะต้องมีคนใดคนหนึ่งทำหน้าที่เป็นพ่อหรือแม่ เช่นเดียวกับคู่แต่งงานที่เป็นชายหญิง

          นิยามของการแต่งงานจากทฤษฎีหน้าที่นิยม อาจเห็นได้จากการศึกษาของเรดคลิฟฟ์ บราวน์ เรื่อง African System of Kinship and Marriage(1950)   เรดคลิฟฟ์ บราวน์อธิบายว่าโครงสร้างและกฎระเบียบเกี่ยวกับการแต่งงานของชาวแอฟริกันมีความสำคัญมากกว่าความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล มีการอ้างถึงทฤษฎีทายาทและการสืบสายตระกูล (descent theory) เรดคลิฟฟ์ บราวน์กล่าวว่ากลุ่มตระกูลเป็นกลุ่มที่มีการจัดระเบียบทางสังคมและคอยจัดการให้มีการแต่งงาน  ซึ่งการแต่งงานของชาวแอฟริกันแบ่งออกได้เป็น 3 ลักษณะ คือ

       1 การแต่งงานที่มอบสิทธิในการควบคุมผู้หญิงให้กับผู้เป็นสามี  สามีจะทำหน้าที่ควบคุมแรงงานของสตรี ควบคุมเพศ และลูกๆ รวมทั้งสามีจะได้รับค่าชดเชยในกรณีที่มีคนอื่นมาทำร้ายภรรยาของตนเอง  ในบางสังคม สามีจะมีสิทธิในการครอบครองลูกถ้าเขายอมจ่ายค่าตัวให้เจ้าสาวเต็มจำนวน แต่ถ้าจ่ายค่าตัวน้อยก็จะได้รับสิทธิน้อย
       2 การแต่งงานก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าสาวและญาติของเจ้าสาว  ในหลายๆสังคม เจ้าสาวจะย้ายไปอยู่กับสามี และต้องตัดขาดจากพ่อแม่ญาติพี่น้อง ส่วนในสังคมที่ผู้ชายต้องไปอยู่บ้านภรรยา จะไม่ค่อยมีความแตกร้าวกับญาติพี่น้องมากนัก
       3 การแต่งงานสร้างพันธมิตร เกิดการทำข้อตกลงระหว่างกลุ่มหรือครอบครัว  ในหลายสังคมใช้การแต่งงานเป็นการสร้างความสัมพันธ์ทางสังคมระหว่างบุคคล และกลุ่มคน  เรดคลิฟฟ์-บราวน์เชื่อว่าการแต่งงานถูกควบคุมด้วยโครงสร้างสังคม โดยยึดหลักการเปลี่ยนกรรมสิทธิครอบครอง การตัดขาดจากครัวเรือนเดิม และการสร้างความสัมพันธ์กับคนกลุ่มใหม่

         นิยามการแต่งงานของทฤษฎีหน้าที่นิยมให้ความสำคัญกับพฤติกรรมของสามีภรรยาโดยมองจากสายตาของคนพื้นเมือง ในขณะที่แนวคิดของเรดคลิฟฟ์-บราวน์ อธิบายโครงสร้างการแต่งงานจากแนวคิดทฤษฎี  นิยามของทฤษฎีหน้าที่นิยมทำให้เราเข้าใจเกี่ยวกับกิจกรรมในชีวิตประจำวันของคู่แต่งงาน ส่วนเรดคลิฟฟ์-บราวน์อธิบายว่าการแต่งงานคือกฎข้อบังคับ ต้องมีการทำข้อตกลงระหว่างกลุ่มสองกลุ่ม  เรดคลิฟฟ์-บราวน์กล่าวถึงรูปแบบการแต่งงานที่ต่างกัน 3 ลักษณะ แต่ไม่ได้ชี้ให้เห็นลักษณะเฉพาะของการแต่งงานซึ่งอาจต่างกันในแต่ละสังคม เช่นกรณี การแต่งงานในสังคมอุตสาหกรรมทุนนิยม ซึ่งความหมายของการแต่งงานจะเป็นเรื่องส่วนตัว มิใช่เรื่องของญาติพี่น้องที่จะเข้ามาควบคุมหรือเปลี่ยนแปลง

       คล้อด เลวี่-สเตราส์ อธิบายโครงสร้างของการแต่งงานว่าเปรียบเสมือนยอดเขา แต่มิใช่เป็นสิ่งที่ถูกกำหนดตามโครงสร้างสังคม     เลวี่-สเตราส์ไม่สนใจพฤติกรรมของคู่สามีภรรยา แต่ให้ความสนใจกับกลไกการสร้างความสัมพันธ์เชิงโครงสร้างที่ถาวรของกลุ่มญาติพี่น้องของสามีภรรยา      ทฤษฎีของเลวี่-สเตราส์ได้รับการขนานนามว่าทฤษฎีพันธมิตร (Alliance theory)  คำถามคือทฤษฎีนี้ใช้อธิบายการแต่งงานได้หรือไม่  ตัวอย่างเช่นการแต่งงานในกลุ่มที่นับญาติข้างแม่ สมาชิกที่เป็นญาติกันจะถูกแบ่งเป็นสองกลุ่ม คือกลุ่มที่ให้เจ้าสาว กับกลุ่มที่รับเจ้าสาว  ผู้ชายในกลุ่มจะเป็นผู้ที่ทั้งให้และรับภรรยา  การแบ่งญาติเป็นสองกลุ่มนี้ สิทธิต่อตัวผู้หญิงจะเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มซึ่งสิทธิจะเกิดขึ้นเมื่อมีการแต่งงาน

       แนวคิดของเลวี่-สเตราส์มีข้อถกเถียงมากมายตามมาภายหลัง  การแต่งงานในกลุ่มญาติไม่เหมือนกับการที่ผู้ชายแต่งงานกับลูกสาวที่มาจากญาติฝ่ายชายข้างแม่  เพราะญาติแต่ละคนไม่สามารถมีผู้หญิงไว้สำหรับการแต่งงาน  ดังนั้นการแต่งงานในกลุ่มญาติพี่น้องจึงหมายถึงการแต่งงานกับคนที่มาจากกลุ่มที่ถูกกำหนดไว้แล้ว  ถึงแม้ว่าในหลายสังคมจะมีการแต่งงานกับกลุ่มคนที่เป็นญาติกันในความหมายของเลวี่-สเตราส์ แต่ความหมายของการแต่งงานนี้มาจากแนวคิดทฤษฎี มิใช่มาจากพฤติกรรมและการปฏิบัติของชาวบ้าน  การศึกษาของเลวี่-สเตราส์เป็นการมองหากลไกที่เกิดขึ้นในโครงสร้างของระบบเครือญาติ ซึ่งไม่อาจนำไปอธิบายสังคมทุกแห่งได้ เพราะในหลายสังคมการแต่งงานมีลักษณะของตัวเอง และสัมพันธ์โครงสร้างเครือญาติที่ซับซ้อน

         แนวคิดของคาร์ล มาร์กซ์ อธิบายว่าการแต่งงานคือวิธีการสร้างหน่วยผลิต  คล้อด เมลลาสโซ(1981) กล่าวว่าการสืบเผ่าพันธุ์มีความใกล้ชิดกับการสร้างหน่วยผลิต แต่ภายใต้ระบบทุนนิยม การสืบพันธุ์กับการผลิตจะถูกแยกออกจากกัน   เมลลาสโซเชื่อว่าการแต่งงานคือองค์ประกอบสำคัญของการสร้างแรงงาน  เมลลาสโซนิยามว่าการแต่งงานหมายถึงการตกลงร่วมกันซึ่งจะมีการสร้างแรงงานขึ้นมาใหม่  กล่าวอีกนัยหยึ่งคือ เป็นการทำข้อตกลงเกี่ยวกับการสร้างแรงงานและการควบคุมแรงงาน          นิยามดังกล่าวนี้พบได้ในคำอธิบาย ของเรดคลิฟฟ์-บราวน์ซึ่งกล่าวว่าการแต่งงานเปรียบเสมือนการวางกฎเกณฑ์เกี่ยวกับแรงงาน

        แซคส์ (1979) โต้แย้งว่าการแต่งงานและสถานะของภรรยา จะถูกเปลี่ยนเป็นวิธีการผลิต  แซคส์เชื่อว่าวิธีการผลิตก่อนสมัยทุนนิยมมี 3 ลักษณะ คือ การผลิตแบบช่วยกัน  การผลิตแบบใช้แรงงานในครัวเรือน และการผลิตแบบชนชั้น  การผลิตแต่ละแบบทำให้ผู้หญิงมีสิทธิลดน้อยลงเรื่อยๆ  แนวคิดของแซคส์โต้แย้งความคิดของเลวี่-สเตราส์และเรดคลิฟฟ์- บราวน์ ซึ่งอธิบายว่าการแต่งงานเป็นการโอนถ่ายกรรมสิทธิ์ผู้หญิงและทำให้ผู้หญิงเป็นทาส   แซคศ์อธิบายว่าในสังคมเร่ร่อนซึ่งมีการทำงานร่วมกัน ผู้หญิงมิได้เป็นสมบัติของสามีหรืออยู่ใต้อำนาจของสามี

        เจน เอฟ โคลเลียร์(1988) วิจารณ์แนวคิดของมาร์กซิส โดยเริ่มตั้งข้อสังเกตด้วยแนวคิดทฤษฎีว่าการแต่งงานเป็นสิ่งที่สังคมสร้างขึ้น  โคลเลียร์อธิบายว่าการแต่งงานถูกควบคุมด้วยอายุ และเพศ ตัวอย่างเช่น ในสังคมที่มีพ่อแม่เลือกคู่ครองให้ลูกๆ ลูกต้องเชื่อฟังผู้ใหญ่ในเรื่องการแต่งงาน  ลูกจะแต่งงานได้เมื่อได้รับอนุญาตเท่านั้น ในบางสังคมผู้ชายต้องพิสูจน์ตัวเองก่อน เช่น ทำงานในไร่นา และไม่ยุ่งเกี่ยวกับใคร ในบางสังคมผู้ชายจะแต่งงานกับผู้หญิงที่พ่อแม่เลือกให้  โคลเลียร์เชื่อว่าความหมายของการแต่งงานในแต่ละวัฒนธรรมแตกต่างกัน  ทั้งในแง่การปฏิบัติ และโครงสร้างทางสังคมและเพศ

        นักมานุษยวิทยาที่ใช้แนวคิดวิวัฒนาการมาอธิบายการแต่งงาน กล่าวว่าการแต่งงานเป็นเรื่องของพฤติกรรมส่วนบุคคลมากกว่าเป็นเรื่องโครงสร้างสังคม  นักมานุษยวิทยาสายนี้เชื่อว่าการแต่งงานเป็นเรื่องของการสืบพันธุ์และการเลี้ยงดูบุตร  แนวคิดสำคัญคือการถ่ายทอดพันธุกรรมจากรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่ง  ทารกที่เกิดมาจะต้องพึ่งพาอาศัยพ่อแม่  แม่จะมีบทบาทในการเลี้ยงดูบุตรและทำให้เกิดความสัมพันธ์ระหว่างแม่ลูกซึ่งเป็นพัฒนาการทางสังคม และช่วยให้เกิดการปรับตัวในการอยู่รอดของมนุษย์  ทฤษฎีนี้ เชื่อว่าการแต่งงานเป็นการสร้างสายสัมพันธ์ที่เกิดจากการสืบพันธุ์  การที่มนุษย์จับคู่กันก่อให้เกิดการสืบทอดพันธุกรรมที่เหมาะสม

        นักวิชาการสายชีววิทยาสังคมพยายามศึกษากระบวนการพัฒนาตามลำดับขั้นและปัจจัยของสภาพแวดล้อมในการควบคุมการสืบพันธุ์และพฤติกรรมการจับคู่   เช่นการศึกษาของ แพทริเซีย เดรเปอร์ และเฮนรี ฮาร์เพนดิ่ง(1982) อธิบายว่าการเลี้ยงดูลูกมี 2 ลักษณะ คือ เลี้ยงแบบมีพ่ออยู่ด้วย และแบบไม่มีพ่อ  การเลี้ยงแบบไม่มีพ่อคือในบ้านนั้นจะไม่มีพ่ออยู่ในครอบครัว ลูกสาวในครอบครัวแบบนี้จะมีความเป็นอิสระ และไม่ต้องพึ่งคนอื่น ลูกสาวจะมีเพศสัมพันธ์เร็วกว่าปกติ และมีคู่นอนหลายคน ส่วนลูกชายก็ไม่ต้องพึ่งพาพ่อและเมื่อโตขึ้นเขาก็จะไม่อยู่เลี้ยงดูลูกของตัวเอง  ลักษณะนี้ทำให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ด้วยตัวเองของเด็กที่มีผลต่อพฤติกรรมทางเพศและสถาบันการแต่งงาน

      รอดนีย์ นีดแฮม(1971) ตั้งข้อสังเกตว่าการแต่งงานไม่มีนิยามที่เป็นสากล  เมื่อไรที่มีการสร้างนิยาม เมื่อนั้นก็จะเป็นมุมมองของสังคมใดสังคมหนึ่ง  นีดแฮมเชื่อว่าการแต่งงานคือเรื่องราวของสิทธิซึ่งแต่ละสังคมจะให้ความหมายต่างกัน นีดแฮมเชื่อว่านิยามของการแต่งงานเป็นสิ่งที่ไม่คงที่ และไม่มีนิยามเดียว ถึงแม้ว่านิยามนั้นจะอาศัยข้อมูลจากชาวบ้านก็ตาม แต่ก็ไม่มีใครที่จะนิยามการแต่งงานในเชิงทฤษฎีได้อย่างลงตัว  นิยามต่างๆล้วนอธิบายว่าการแต่งงานคือการทำข้อตกลงหรือการยอมรับทางสังคม ซึ่งหนีไม่พ้นการเป็นสิ่งที่สังคมสร้างขึ้น  อย่างไรก็ตามนีดแฮมยังคงไม่มองข้ามนิยามที่เป็นสากล กล่าวคือ สิทธิบางอย่างอาจเกิดขึ้นในทุกสังคมและไม่จำเป็นต้องมีสังคมเข้ามาควบคุม  นอกจากนั้นอาจมีพฤติกรรมที่เป็นสากลที่สามารถอธิบายได้ด้วยทฤษฎีเดียวกัน ถึงแม้ว่าจะไม่มีสิทธิใดๆเกี่ยวข้องกับการแต่งงานเลยก็ตาม


ผู้เขียน: ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ

เอกสารอ้างอิง:

David Levinson, Melvin Ember. (ed.) 1996. Encyclopedia of Cultural Anthropology. Henry Holt and Company, New York. Pp.733-736.      

Fox, Robin. 1967. Kinship and marriage: An anthropological perspective. Harmondsworth, UK: Penguin.

Leach, Edmund 1955. Polyandry, Inheritance and the Definition of Marriage. Man 55:182-186.

Stockard, Janice E. 2002. Marriage in culture: Practice and meaning across diverse societies. Fort Worth, TX: Harcourt.


หัวเรื่องอิสระ: การแต่งงาน