คำศัพท์

Market

          คำว่า Market อาจหมายถึงสถานที่ที่มีการจับจ่าย หมายถึงแนวคิดทางการตลาด หรือการซื้อขายสินค้าทั่วไป   ในทางมานุษยวิทยาจึงเกิดปัญหาในการนิยามว่าอะไรคือ “ตลาด” นอกจากนั้นยังความหมายของตลาดในฐานะที่เป็นสถานที่ซื้อขายจะเป็นตัวแทนของระบบการซื้อขายได้หรือไม่ เมื่อเอ่ยถึง “ตลาด” สิ่งที่คิดถึงอันดับแรกก็คือการซื้อและการขายวัตถุสิ่งของระหว่างมนุษย์  ส่วนการแลกเปลี่ยนสินค้าและวัตถุโดยไม่ใช้ตัวกลางที่มีมูลค่า หรือเงินตรา การแลกเปลี่ยนนี้อาจใช้วัตถุที่มีค่าอื่นๆแทนเงิน  การแลกเปลี่ยนสินค้าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลาและไม่ต้องที่พื้นที่เฉพาะ   ส่วนตลาดในความหมาย “สถานที่” จะเกิดขึ้นอย่างมีเวลาจำกัด มีขอบเขตพื้นที่ที่ชัดเจน สถานที่ที่เป็นตลาดจะใช้สำหรับการติดต่อซื้อขายสินค้าของคนกลุ่มต่างๆ    ส่วนคำว่า “การตลาด” (marketing) หมายถึงกระบวนการซื้อขายสินค้าที่ไม่ต้องอาศัยพื้นที่  ดังนั้นการซื้อขายสินค้าของมนุษย์จึงไม่จำเป็นต้องอาศัยพื้นที่ทางกายภาพ แต่ประเด็นเกี่ยวกับ “ตลาด” จะอธิบายได้ด้วยทฤษฎีของตะวันตกหรือไม่ หรือว่า แนวคิดของตะวันตกทำให้เกิดความเข้าใจเรื่องตลาดมากขึ้น หรือว่าทำให้บิดเบือนความเข้าใจเกี่ยวกับธรรมชาติของการติดต่อซื้อขายของมนุษย์

          หลังสงครามเย็น ระบบการค้าเสรีแบบตะวันตกได้รับชัยชนะซึ่งประเทศต่างๆในโลกต่างนำระบบนี้ไปใช้อย่างแพร่หลาย แม้แต่ประเทศที่เคยเป็นคอมมิวนิสต์มาก่อน  ดังนั้นระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมจึงผนวกเข้ากับระบบการเมืองประชาธิปไตยได้อย่างเหนียวแน่น  ระบบเสรีนิยมทางการค้าและการเมืองกลายเป็นวาทกรรมที่ครอบงำท้องถิ่นต่างๆตั้งแต่ระดับหมู่บ้านไปจนถึงระดับโลก ซึ่งก่อให้เกิดคำถามที่ว่าเราจะซื้อชีวิตแบบไหนให้เหมาะกับเรา  ชัยชนะของระบบตลาดเสรีในทศวรรษที่ 1980 สวนทางกับความรู้สึกที่เกิดขึ้น กล่าวคือแนวคิดเรื่องเสรีในระบบตลาดทำให้ชีวิตยุ่งยากมากขึ้น เนื่องจากผู้ที่กำหนดและชี้ชะตาคนในสังคมเป็นเพียงคนกลุ่มเล็กๆที่มีอำนาจ ทำให้เกิดสภาวะวิกฤต ตึงเครียด และความขัดแย้ง  วิกฤตการณ์นี้เกี่ยวข้องกับความคิดกระแสหลักทางสังคมและเศรษฐศาสตร์

          แบบแผนของตลาดถูกสร้างมาจากนักเศรษฐศาสตร์ซึ่งพยายามสร้างทฤษฎีมากมายมาอธิบาย และนักมานุษยวิทยาก็นำแนวคิดเหล่านั้นมาใช้เพื่อที่จะศึกษาความหมายของตลาดในวัฒนธรรมต่างๆ   ในการศึกษาของนักเศรษฐศาสตร์ เชื่อว่าตลาดคือพื้นที่สำหรับการแข่งขันระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายจำนวนมาก การแข่งขันที่เข้มข้นนี้ทำให้ผู้ขายสินค้าต้องผลิตสินค้าที่ดีกว่าคนอื่นๆ เพื่อให้ขายได้มากกว่าคนอื่นๆ  แต่ระบบตลาดในความหมายนี้ไม่สามารถอธิบายตลาดได้ทุกแบบ ทั้งนี้ต้องมีการศึกษาเพื่อเปรียบเทียบตลาดในความหมายอื่นๆด้วย

          ข้อถกเถียงระหว่างแนวคิดแบบ formalist  และแบบ substantivist เกิดขึ้นในช่วงทศวรรษที่ 1960 โดยมีการตั้งคำถามเกี่ยวกับรูปแบบที่เหมาะสมของตลาดและแนวคิดที่จะนำไปวิเคราะห์ตลาดในวัฒนธรรมต่างๆ  ในส่วนของ formalist เชื่อว่าพื้นที่ทางเศรษฐกิจคือพื้นที่เฉพาะของกิจกรรมที่เกิดขึ้นทุกวัฒนธรรม ต่างกันเพียงรายละเอียด ทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์สามารถนำไปอธิบายระบบตลาดได้ทุกวัฒนธรรม  ส่วนพวก substantivist เชื่อว่าเศรษฐกิจไม่อาจแยกอยู่โดดๆ แต่เกี่ยวข้องกับเรื่องราวทางวัฒนธรรมอื่นๆ และอยู่ในเงื่อนไขทางสังคม ด้วยเหตุนี้ทำให้ระบบเศรษฐกิจในแต่ละสังคมแตกต่างกันทั้งในแง่ที่เป็นพฤติรรมและความหมาย  การถกเถียงเหล่านี้จะมีการอ้างถึงคำว่า “market”  “marketplace” “market-principles”   ตลาดในฐานะที่เป็นพื้นที่ทางกายภาพ หมายถึงพื้นที่ที่ใช้ประกอบกิจกรรมของมนุษย์ในการแลกเปลี่ยนวัตถุสิ่งของ  ตลาดในฐานะที่เป็นแนวคิดและทฤษฎี จะหมายถึงระบบความคิดที่สันนิษฐานว่าการซื้อขายสินค้าสัมพันธ์กับกระบวนการทางเศรษฐกิจอื่นๆ

          คาร์ล โพลันยี นักประวัติศาสตร์เศรษฐกิจซึ่งมีแนวคิดแบบ substantive ได้แยกประเภทของตลาดและระบบการแลกเปลี่ยนสินค้าออกเป็นประเภทต่างๆ  แนวคิดของโพลัยนีถูกนำไปใช้โดยพอล โบแฮนนัน และจอร์จ ดัลตัน ซึ่งอธิบายชนิดของการค้าขายในแอฟริกา ตั้งแต่ชนิดที่ไม่มีระบบตลาด ซึ่งชาวบ้านจะนำของมาแลกเปลี่ยนกันหรือแบ่งปันกันโดยไม่มีการแสวงหากำไร ไปจนถึงระบบตลาดที่ต้องอาศัยพื้นที่ค้าขายและมีแนวคิดเกี่ยวกับการแสวงหากำไรเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย   นักคิดแนว substantive เชื่อว่าแนวคิดตลาดแบบตะวันตกสามารถอธิบายตลาดในที่อื่นได้เฉพาะกรณีที่ตลาดนั้นมีการค้าแบบแสวงหากำไรเท่านั้น  ในบางสังคมที่มีระบบแลกเปลี่ยนสินค้าแบบอื่นๆ นักคิดแนว formalist ต้องปรับแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์เพื่อที่จะอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นซึ่งมิใช่ระบบเศรษฐกิจที่เหมือนตะวันตก  นักคิดแนว formalist จะนำทฤษฎีเรื่องการแสวงหากำไรและประโยชน์สูงสุด การตัดสินใจลงทุนและสัดส่วนของปัจเจกบุคคลไปอธิบาย

          ข้อถกเถียงนี้นำไปสู่ความน่าเบื่อและไร้ประโยชน์ โดยไม่ช่วยให้เกิดมุมมองใหม่ขึ้นมา  นอกจากนั้น วิธีคิดของพวก substantivist ก็เป็นสิ่งที่ฟังไม่ขึ้น โดยเฉพาะเมื่อระบบตลาดเสรีแผ่อำนาจไปทั่วโลก  การถกเถียงเรื่องทฤษฎีสำหรับการวิเคราะห์ระบบเศรษฐกิจก็เป็นสิ่งที่ไม่ตรงประเด็นท่ามกลางโลกที่กำลังกลายเป็นระบบตลาดมากขึ้นเรื่อยๆ     การพัฒนาแนวคิดทฤษฎีในช่วงทศวรรษที่ 70อาจแบ่งได้เป็นสองแนวคิด แนวคิดแรกเป็นของนักมานุษยวิทยาที่สนใจบริบททางสังคมของท้องถิ่น  ส่วนแนวคิดที่สองเป็นของมาร์กซิสต์ ซึ่งอธิบายระบบการแลกเปลี่ยนสินค้าและต่อมาก็อธิบายเกี่ยวกับระบบอำนาจทางเศรษฐกิจมากกว่าจะเป็นเรื่องของการค้าอย่างเดียว อย่างไรก็ตามแนวคิดของมาร์กซิสต์ให้ความสำคัญกับทฤษฎีการตลาดเพียงอย่างเดียวซึ่งก่อให้เกิดข้อสงสัยตามมา

          ทฤษฎีที่พัฒนาตามมาอีกคือการศึกษาตลาดในสังคมชาวนา ซึ่งเกี่ยวข้องกับภูมิศาสตร์เศรษฐกิจ  การศึกษาของ จี ดับบลิว สกินเนอร์ ทำให้เกิดทฤษฎี central-place และในช่วงทศวรรษที่ 1970 การศึกษาของคารอล สมิธก็ทำให้แนวคิดแบบ formalist แพร่ขยายมากขึ้น    การศึกษาของสกินเนอร์เรื่องโครงสร้างหน้าที่ของระบบตลาดในเขตชนบทของจีน สะท้อนให้เห็นภาพทางภูมิศาสตร์ที่ใช้เป็นพื้นที่ของตลาด  สมิธอธิบายว่าทฤษฎี central-place ของสกินเนอร์ช่วยให้เกิดความเข้าใจเกี่ยวกับกิจกรรมการค้าขายในเกิดขึ้นในระบบเศรษฐกิจที่ซับซ้อน  การศึกษาของสมิธเรื่องหน้าที่ทางพื้นที่ชี้ให้เห็นว่าพื้นที่ของตลาดคือพื้นที่ที่สำคัญมากที่สุด ช่วยทำให้เห็นว่าชนบทเกี่ยวข้องและเชื่อมต่อกับเมืองอย่างไร และช่วยให้มองหานิยามระบบตลาดว่าเป็นอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นตลาดแบบเมืองหรือชนบท หรือว่าเป็นตลาดถาวรหรือชั่วคราว

          แนวคิดแบบ formalist  เชื่อว่าทฤษฎี central-place จะทำให้ความวุ่นวายในโลกหายไปได้ การอธิบายด้วยทฤษฎีนี้ให้ความสำคัญกับเรื่องสังคม การเมือง และพื้นที่ทางภูมิศาสตร์  รูปแบบของตลาดที่ใช้วิเคราะห์ตามทฤษฎีนี้เป็นตลาดแบบชาวนา ซึ่งมีสินค้าในภาคเกษตรกรรมและบางชนิดมาจากอุตสาหกรรม   ทฤษฎี central-place หรือพื้นที่สาวนกลางเป็นทฤษฎีสากลที่ใช้อธิบายรูปแบบตลาดอื่นๆที่เกิดขึ้นในโลก  ยิ่งกว่านั้น ทฤษฎีนี้ยังสนใจการเคลื่อนย้ายสินค้าด้วยระบบการซื้อขาย สนใจชนิดของการค้าขาย และผลกระทบทางสังคมที่เกิดจากการค้า  อาจกล่าวได้ว่าตลาดจึงเป็นพื้นที่ที่ช่วยให้เกิดโครงสร้างทางสังคม

          แนวคิดของพวก formalist ยังสนใจเรื่องพฤติกรรมของปัจเจกบุคคลที่เกิดในตลาด  การวิเคราะห์ในประเด็นนี้พยายามชี้ให้เห็นว่าพฤติกรรมการซื้อขายสินค้าเป็นสิ่งที่มีเหตุผล  ปัจเจกแต่ละคนคือผู้ที่คิดและเลือกซื้อและขายสินค้าอย่างมีเหตุผล  การอธิบายแบบนี้คือการเหมารวมเกินไป โดยกล่าวว่ามนุษย์คือสัตว์เศรษฐกิจที่หวังกำไรและมูลค่าทางเศรษฐกิจ  การอธิบายแบบนี้ก่อให้เกิดข้อวิพากษ์วิจารณ์ตามมา  ระบบเหตุผลของพฤติกรรมซื้อขายสินค้ายังมีความสัมพันธ์กับการหวังผลประโยชน์  แต่สิ่งนี้ย่อมมีเงื่อนไขของตัวเอง และนำไปสู่แนวคิดเรื่องการแลกเปลี่ยนสินค้าอย่างมีเป้าหมาย และรูปแบบที่แตกต่างกันของการแลกเปลี่ยนสินค้าซึ่งอาศัยเหตุผลเหมือนกันในแต่ละวัฒนธรรม  คำอธิบายของ formalist บอกให้รู้ว่าระบบเหตุผลไม่ได้มีเฉพาะในสังคมตะวันตก แต่นักมานุษยวิทยาไม่เชื่อ เนื่องจากการอธิบายของ formalist มีเงื่อนไขทางการเมืองและอาจทำให้วัฒนธรรมบางแห่งถูกมองว่าไร้เหตุผล  คำถามคือการวิเคราะห์พฤติกรรมของปัจเจกที่ก่อให้เกิดความเข้าใจพฤติกรรมการซื้อขายที่ต่างกันในแต่ละวัฒนธรรมเป็นเพียงสมมิตฐานใช่หรือไม่  และความมีเหตุผลแบบตะวันตกคืออะไร

          เมื่อตลาดถูกอธิบายว่าเป็นระบบของข้อมูลข่าวสาร ทำให้เกิดการสร้างทฤษฎีใหม่ขึ้นมา  ทฤษฎีนี้เชื่อว่าข้อมูลข่าวสารเป็นสิ่งมีมนุษย์แบ่งปันกันได้ และยังถูกปกปิด ปิดกั้นไว้สำหรับคนบางคนทั้งที่เป็นพ่อค้าแม่ค้า และนักมานุษยวิทยา  ในสังคมที่ไม่มีการกระจายข่าวอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การค้าขายสินค้าที่ด้อยคุณภาพ  พ่อค้าที่ต้องซื้อขายสินค้าที่ด้อยคุณภาพ พ่อค้าคนนั้นต่อรองเพื่อลดความเสี่ยง หรือการผูกขาดจากสถาบันหรือคนที่ต้องค้าขายด้วย เพื่อทำให้การค้าดำเนินต่อไปได้  ความไม่แน่นอนของการค้าเกิดขึ้นในสังคมชาวนา และเป็นผลมาจากการด้อยพัฒนาในเรื่องสาธารณูปโภค     การศึกษาของ เจ และ พอล อเล็กซานเดอร์ ในกลางทศวรรษที่ 1980 ศึกษาเรื่องการต่อรองราคาสินค้า การตั้งราคา การให้ข้อมูลทางการตลาด และการค้าระหว่างคนกลุ่มต่างๆในชวา  พบว่าการควบคุมข้อมูลข่าวสารเป็นสิ่งที่มีความสำคัญมากสำหรับพ่อค้าเพื่อที่จะได้ผลกำไร  ผู้ซื้อและผู้ขายอาจมิใช่ปัจเจก แต่การซื้อขายอาจเกิดขึ้นภายใต้ความสัมพันธ์ที่มาจากข้อมูลข่าวสารและอำนาจที่โยงไปถึงพฤติกรรมการซื้อขาย

          ตลาดในฐานะเป็นสิ่งประดิษฐ์ทางวัฒนธรรม มาจากแนวคิดของพอล อเล็กซานเดอร์ ซึ่งเป็นแนวคิดใหม่ของการศึกษามานุษยวิทยาเศรษฐกิจ  และยังเป็นประเด็นที่สตีเฟ่น กัดแมน(1986) นำไปศึกษาในเรื่องเศรษฐกิจทางวัฒนธรรม ซึ่งอธิบายว่าระบบเศรษฐกิจแบบตะวันตกเป็นเพียงระบบหนึ่งที่เกิดขึ้นมาและมีข้อสมมุติฐานเป็นของตัวเอง   ดังนั้นการศึกษาระบบเศรษฐกิจต้องคำนึงถึงเงื่อนไขทางวัฒนธรรมด้วย  ทั้งนี้วัฒนธรรมมิใช่ด้านตรงข้ามของเศรษฐศาสตร์ แต่วัฒนธรรมจะช่วยให้เข้าใจพฤติกรรมทางการตลาด และบอกให้รู้ว่าทำไมทฤษฎีเศรษฐกิจแบบตะวันตกจึงไม่สอดคล้องกับพฤติกรรมที่เกิดขึ้นจริงๆ    วัฒนธรรมและเศรษฐกิจเป็นสิ่งที่ตอบสนองซึ่งกันและกัน พฤติกรรมการค้าขายในตลาดทุกชนิดเป็นสิ่งที่หล่อหลอมจากวัฒนธรรม  พอล อเล็กซานเดอร์อธิบายว่า เราจำเป็นต้องทำความเข้าใจกระบวนการของตลาดทั้งที่เป็นแบบตะวันตกและมิใช่ตะวันตก เช่นเดียวกับการศึกษาเปรียบเทียบระบบเครือญาติในวัฒนธรรมต่างๆ   โรเจอร์ คีซิ่งอธิบายว่าระบบตลาดแบบตะวันตกถูกอธิบายแบบเหมารวมและตั้งความหวังมากเกินไป

          การเปลี่ยนทฤษฎีโครงข่ายความเป็นญาติไปเป็นเรื่องระบบภาษาและสัญลักษณ์อาจทำให้เข้าใจความหมายของตลาดในฐานะเป็นปรากฎการณ์ทางวัฒนธรรมได้ดีขึ้น  นิยามของตลาดจากนักเศรษฐศาสตร์อธิบายว่าตลาดเป็นหน่วยทางเศรษฐกิจที่เต็มไปด้วยกิจกรรมของการซื้อขายและการตั้งราคา ความหมายนี้ตอบสนองสิ่งที่เรียกว่าเป็นกำลังซื้อและกำลังขายในการแลกเปลี่ยนสินค้า ซึ่งตลาดในความเป็นจริงอาจมิได้มีเพียงสิ่งเหล่านี้  การศึกษาของอเล็กซานเดอร์(1991) พบว่าการต่อราคาในตลาดชวาอาจสะท้อนความหมายทางเศรษฐกิจและเห็นภาพวิธีการตั้งราคาของชาวบ้านได้ดีกว่าวิธีแบบตะวันตก  อเล็กซานเดอร์ชี้ให้เห็นว่าการตั้งคาราในตะวันตกไม่สอดคล้องกับความต้องการของชาวบ้าน เพราะชาวบ้านคิดว่า “ความยุติธรรม” ในราคาสินค้าคือสิ่งที่สำคัญที่สุด

          การศึกษาของกัดแมน อธิบายพฤติกรรมทางเศรษฐกิจของมนุษย์ที่หล่อหลอมมาจากวัฒนธรรม  ถ้าทฤษฎีการตลาดของตะวันตกเป็นวิธีคิดทางวัฒนธรรม คำถามคือทำไมทฤษฎีนี้จึงถูกนำมาใช้และดำรงอยู่ในชีวิตของมนุษย์  จากการศึกษาวาทกรรม คำอธิบาย และรูปแบบของตลาดเป็นสิ่งที่หล่อหลอมมาจากสังคม โดยมีนักเศรษฐศาสตร์เป็นผู้กำหนดนิยามและแสดงออก  นักมานุษยวิทยาจึงศึกษาวิธีการของนักเศรษฐศาสตร์ในการสร้างวาทกรรมเกี่ยวกับระบบเศรษฐกิจ นอกจากนั้น ในปัจจุบันนักมานุษยวิทยายังสนใจศึกษาวิธีการของชนพื้นเมืองที่จะติดต่อสัมพันธ์กับระบบโลกและอำนาจภายนอก  ความรู้ของท้องถิ่นอาจมิใช่ปัจจัยที่ทำให้เราเข้าใจวิธีที่ชาวบ้านเข้าไปเกี่ยวข้องกับระบบโลก  แต่ต้องศึกษาบริบทของกระบวนการทางวัฒนธรรม และค้นหาว่าชาวบ้านใช้ระบบตลาดพร้อมๆกับการทำกิจกรรมเชิงอำนาจอย่างไรบ้าง

          การศึกษาดังกล่าวนี้ข้ามพ้นไปไกลเกินกว่าทฤษฎีของพวก substantive ซึ่งแยกบริบททางสังคมออกจากบริบททางเศรษฐกิจอย่างสิ้นเชิง  การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในสังคมยุโรปในทัศนะของคาร์ล โพลันยี คือการเกิดขึ้นของระบบตลาดซึ่งเข้ามาสร้างมาตรฐานศีลธรรมใหม่  นักวิชาการคนอื่นอธิบายว่าเศรษฐกิจแบบชนเผ่าที่เน้นศีลธรรมถูกครอบงำด้วยระบบตลาดสมัยใหม่ที่เน้นกำไร  อย่างไรก็ตาม ทฤษฎีการตลาดก็มีระบบศีลธรรมของตัวเองเช่นกัน  การกระทำทางเศรษฐกิจจะถูกมองว่าเป็นการกระทำต่อสินค้า  มนุษย์ทุกกลุ่มจะมีการแลกเปลี่ยนสินค้า  ถ้าตลาดเป็นระบบที่มีการควบคุมตัวเอง ตลาดก็จะควบคุมให้เกิดสมดุลทางผลประโยชน์ และการร่วมมือทางสังคม  แต่ตลาดก็มีศีลธรรมที่ขัดแย้งกัน 2 ด้าน คือ การทำลายระบบศีลธรรมประเพณี และการก้าวไปข้างหน้าเพื่อแสวงหาประโยชน์สูงสุด

          ตลาดในฐานะเป็นตัวแทนของอำนาจคือประเด็นที่ทำให้เห็นว่าตะวันตกสร้างระบบตลาดขึ้นมาอย่างไร วาทกรรมของตลาดเป็นวาทกรรมกระแสหลักในโลกปัจจุบัน  ตลาดและความสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้องกับตลาดเป็นพรมแดนของการแข่งขันทางอำนาจ โดยวัดและตัดสินด้วยคุณค่าทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรม ตลาดในฐานะเป็นเครื่องหมายของทุนนิยมปกปิดซ่อนเร้นสิ่งที่เป็นอำนาจ ไม่ว่าจะเป็นการเอาเปรียบและความไม่เท่าเทียมกันของการแลกเปลี่ยนสินค้าและอำนาจทางการเมือง  อย่างไรก็ตาม ปัญหาเหล่านี้หนักหนาสาหัสมากกว่าการเป็นแค่เรื่องทางการเมือง   ผู้มีอำนาจชี้นำในการสร้างวาทกรรมของตลาด คือผู้ที่มีอำนาจในการกำหนดว่าอะไรคือการค้าขาย มีอำนาจในการแทรกแซงวาทกรรมของคนอื่น  และกล่าวอ้างวาทกรรมของตัวเอง  เสียงพูดของชนพื้นเมืองที่บรรยายถึงการเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการค้าของคนภายนอกยังเป็นเสียงที่ไม่มีใครได้ยิน  ระบบโลกไม่เพียงแต่รักษาสมดุลของความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ แต่มันยังเต็มไปด้วยวาทกรรมเกี่ยวกับ “ตลาด” ระบบโลกยังสะท้อนให้เห็นความสัมพันธ์ทางสังคมในระดับท้องถิ่นและในระดับนานาชาติด้วย


ผู้เขียน: ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ

เอกสารอ้างอิง:

Bohannan, Paul 1959. "The Impact of money on an African subsistence economy". The Journal of Economic History 19 (4): 491–503.

Carrier, James 1997. Meanings of the market: the Free Market in Western Culture. Oxford: Berg.

David Levinson and Melvin Ember (eds.)  Encyclopedia of Cultural Anthropology. Henry Holt and Company, New York. Pp.728-732.

George Dalton, Paul Bohannon 1962. Markets in Africa. Evanston, Illinois: Northwestern University Press.

Graeber, David 2001. Towards an Anthropological Theory of Value: The false coin of our own dreams. Basingstoke: Palgrave.


หัวเรื่องอิสระ: ตลาด