คำศัพท์

Joking

       อารมณ์ขันและเรื่องตลกเป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกเชื้อชาติเผ่าพันธุ์มีเหมือนกัน  อารมณ์ขันอาจหมายถึงภาวะของความรื่นเริงในอารมณ์ซึ่งมักจะแสดงออกมาด้วยรอยยิ้ม หรือการหัวเราะเมื่อมีสิ่งมากระตุ้นเร้าจากภายนอก  การหัวเราะและอารฒณ์ขันเป็นส่วนหนึ่งของการสื่อสารระหว่างมนุษย์ซึ่งอาศัยองค์ประกอบทางชีววิทยา สังคมวัฒนธรรม และจิตวิวิทยา ความสนใจและคำถามต่อเรื่องนี้มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ  อารมณ์ขันเป็นประเด็นที่ได้รับการศึกษาในหลายศาสตร์ไม่ว่าจะเป็นวิทยาศาสตร์หรือมนุษยศาสตร์

          นักมานุษยวิทยาที่ศึกษาเรื่องอารมณ์ขันมักจะใช้ความรู้ทางภาษาศาสตร์ จิตวิทยา สังคมวิทยา และคติชนวิทยามาอธิบาย  การศึกษาของนักมานุษยวิทยาไม่เหมือนกับการศึกษาของนักจิตวิทยา ตรงที่นักมานุษยวิทยามองว่าอารมณ์ขันไม่มีทฤษฎีเดียวแบบตายตัว แต่ลักษณะที่แตกต่างกันในแต่ละวัฒนธรรม   ในการศึกษาของนักมานุษยวิทยาจะพบว่ามีการเอ่ยถึงอารมณ์ขันในหลายลักษณะ เช่น อารมณ์ขันในเหตุการณ์บางเหตุการณ์ หรือการเล่นเกมส์ของเด็ก  อย่างไรก็ตาม นักมานุษยวิทยาได้ให้ข้อมูลและรายละเอียดของอารมณ์ขันในวัฒนธรรมต่างๆ และวิเคราะห์อารมณ์ขันในประเด็นที่เชื่อมโยงกับบริบททางสังคมวัฒนธรรม  ข้อมูลเหล่านี้จะเป็นสิ่งสำคัญในการทำความเข้าใจภาพรวมของอารมณ์ขันในระดับสากลและพัฒนาไปสู่ทฤษฎีได้

          คำว่า “ความสัมพันธ์แบบชวนหัว” หรือ joking relationship หมายถึงอารมณ์ขันที่เกิดขึ้นอย่างมีแบบแผนและมีความสัมพันธ์ทางสังคม โดยเฉพาะ ในระบบเครือญาติ  แต่ความสัมพันธ์แบบชวนหัวก็มีความหลากหลาย โดยทั่วไปจะเป็นเรื่องของการแลกเปลี่ยนด้วยคำพูดและการแสดงกิริยาอาการ เช่น  เรียกชื่อเล่น  การหยอกล้อ การกระเซ้าเหย้าแย่  การพูดล้อเลียน เสียดสี การสลับคำพูด  การเล่นแกล้ง การจับต้องอวัยวะเพศ การพูดสองแง่สองง่าม  การเล่นตลกโปกฮา และการแสดงกิริยาขบขันแบบอื่นๆที่มีกับญาติพี่น้อง  การแสดงออกเหล่านี้ไม่ใช่การสร้างความโกรธเคือง  ในสังคมแอฟริกันในเขตซาฮาร่า การแสดงความขบขันในกลุ่มญาติพี่น้องคือสิ่งที่ทำให้นักมานุษยวิทยาหันมาสนใจศึกษาเรื่องนี้ และตั้งแต่ทศวรรษที่ 1920 เป็นต้นมาก็มีการศึกษาเรื่องอารมณ์ขันเกิดขึ้นมาก

          การศึกษาความสัมพันธ์แบบชวนหัวจะเกี่ยวข้องกับเรื่องเพศ อายุ ความต่างระหว่างวัย  ระดับความสัมพันธ์ของญาติพี่น้อง สิทธิพิเศษ  ข้อผูกมัดส่วนตัว และการแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน  การแสดงอาการขบขันในสังคมที่ไม่มีตัวหนังสือเริ่มเป็นที่สนใจเพราะเป็นการแสดงออกในระบบเครือญาติ  ข้อด้อยของการศึกษาในประเด็นนี้ก็คือ ยังไม่มีการอธิบายรายละเอียดของการแสดงอาการขบขันเหล่านั้น  แต่อธิบายเพียงโครงสร้างความสัมพันธ์แบบชวนหัวซึ่งถูกมองว่าเป็นหน้าที่ทางสังคมแบบหนึ่ง  ทฤษฎีเกี่ยวกับความสัมพันธ์แบบชวนหัวในระยะแรกจึงเป็นทฤษฎีโครงสร้างหน้าที่

          ในทศวรรษที่ 1950 นักมานุษยวิทยาหลายคนและนักสังคมศาสตร์อื่นๆเริ่มแยกแยะปรากฎการณ์ที่คล้ายกับอาการขบขันออกจากความสัมพันธ์ในระบบเครือญาติซึ่งเกิดขึ้นในสังคมที่ซับซ้อน   และสังคมอุตสาหกรรม  ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดแนวคิดเรื่องความสัมพันธืแบบชวนหัวนอกปริมณฑลเครือญาติก็คือ การแสดงมิตรภาพความสนิทสนมกัน และความคุ้นเคยประจำวันในที่ทำงาน  การศึกษาประเด็นนี้ช่วยให้ขยายความเข้าใจเกี่ยวกับความสัมพันธ์แบบชวนหัวกับคนที่ไม่ใช่ญาติในสังคมอุตสาหกรรม  และยังทำให้เห็นความแตกต่างระหว่างอารมณ์ขันในหมู่ญาติกับอารมณ์สนุกสนานกับคนที่ไม่ใช่ญาติ

          กล่าวคือ ความสัมพันธ์แบบชวนหัวในระบบเครือญาติ จะมีข้อบังคับและกฎเกณฑ์คอยกำกับ  ตัวอย่างเช่น สังคมหลายแห่งในแอฟริกา  หลานจะได้รับอนุญาตให้ทำอะไรก็ได้เมื่ออยู่กับลุงซึ่งเป็นพี่ชายของแม่  ไม่ว่าหลานจะทำอะไร ลุงจะไม่โกรธ  ส่วนความสัมพันธ์แบบชวนหัวของคนต่างเพศในระบบเครือญาติ เป็นความสัมพันธ์ที่บ่งบอกถึงความเป็นเอกภาพของการแต่งงานและการมีเพศสัมพันธ์ของคนในเครือญาติ   ส่วนความสัมพันธ์แบบชวนหัวในสังคมอุตสาหกรรมเป็นการแสดงออกส่วนบุคคล เป็นสิ่งที่คนสองคนเข้าใจกัน เห็นคล้อยตามกัน และแลกเปลี่ยนกัน  ความสัมพันธ์แบบชวนหัวกับคนที่ไม่ใช่ญาติจึงต่างไปจากกับคนที่เป็นญาติ  เพราะในระบบเครือญาติอารมณ์ขันจะมีพิธีกรรมและแบบแผนเข้ามาควบคุม

          ความสัมพันธ์แบบตลกโปกฮา ในสังคมที่ไม่มีตัวหนังสือและสังคมอุตสาหกรรมต่างได้รับการศึกษาด้วยทฤษฎีโครงสร้างหน้าที่ซึ่งมีแรดคลิฟฟ์-บราวน์เป็นผู้นำ  นักมานุษยวิทยาหลายคนนำทฤษฎีนี้ไปใช้ และเสนอแนะว่าหน้าที่ของอารมณ์ขัน คือการแสวงหาความสำราญและความพอใจ  ช่วยลดความเครียด หรือความเบื่อหน่าย  ช่วยให้เกิดความสัมพันธ์แบบฉัตรมิตรที่เหนียวแน่น ช่วยแก้ปัญหาความขัดแย้งต่อผลประโยชน์ที่ไม่เท่ากัน และช่วยพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างเพศให้มีศักยภาพมากขึ้น   หน้าที่ต่างๆเหล่านี้ถูกสันนิษฐานโดยนักวิจัย และอาจไม่ใช่สิ่งเดียวกับที่เกิดขึ้นในการแสดงอารมณ์ขันจริงๆของคน  สิ่งที่สำคัญพอๆกันก็คือ การแสดงอารมณ์ขันทุกแบบไม่จำเป็นต้องมีหน้าที่ทางสังคมเสมอไป


ผู้เขียน: ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ

เอกสารอ้างอิง:

Charles R. Gruner 1997. The Game of Humor: A Comprehensive Theory of Why We Laugh. Transaction Publishers.

David Levinson and Melvin Ember (eds.) Encyclopedia of Cultural Anthropology. Henry Holt and Company, New York. 1996. Pp.618-620.

Mary Douglas "Jokes." in Rethinking Popular Culture: Contemporary Perspectives in Cultural Studies. 1975. Chandra Mukerji and Michael Schudson. (eds.) 1991. Berkeley: University of California Press.


หัวเรื่องอิสระ: การเล่นตลกขบขัน