คำศัพท์

Infanticide

         การฆ่าทารก (Infanticide)  เป็นเหตุการณ์ที่ไม่ค่อยเกิดขึ้นมากนักในสังคมมนุษย์ อาจพบเห็นได้ในสงครามหรือการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ส่วนกรณีอื่นๆไม่มีรายงานอย่างเป็นทางการ   การฆ่าทารกมักจะถูกโจมตีว่าเป็นการกระทำที่ผิดศีลธรรม เช่นกรณีที่มารดาไม่สามารถเลี้ยงดูบุตรแรกเกิดของตนได้ เธออาจทำแท้ง หรือฆ่าทารกตั้งแต่แรกคลอด  นอกจากนั้นการตายของทารกอาจเกิดจากการถูกทิ้งให้อดตาย ขาดอาหาร ซึ่งเป็นการฆาตกรรมทางอ้อม  ชาวยุโรปมักจะประณามการฆ่าทารกว่าเป็นความโหดเหี้ยม และเป็นความป่าเถื่อน  ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 17-18 อัตราการตายของทารกในทวีปยุโรปเกิดจากสาเหตุที่พ่อแม่ส่งทารกไปเลี้ยงดูในสถานรับเลี้ยงเด็ก หรือบ้านสงเคราะห์เด็กกำพร้า

          ในสังคมที่ไม่มีการคุมกำเนิด การฆ่าทารกอาจเป็นวิธีที่จะช่วยให้มารดามีชีวิตรอด และเลี้ยงดูลูกที่เกิดมาก่อนหน้านั้นได้  ในสังคมญี่ปุ่นการฆ่าทารกรู้จักในนาม “mabiki”  ในสังคมชาวเผ่า !Kung San มารดาคือผู้ที่ฆ่าทารก  ในยุคPleistocene การฆ่าทารกเกิดขึ้นมากในสังคมเร่ร่อน ผู้หญิงคือแรงงาน และเป็นผู้ควบคุมประชากรที่เกิดขึ้นมาใหม่ เธอจะรู้ว่าทารกควรจะมีจำนวนเท่าใดที่เธอสามารถเลี้ยงดูได้  การฆ่าทารก หรือทิ้งทารกให้อดตายมักจะเกิดขึ้นในสังคมที่ผู้หญิงต้องการควบคุมระบบเศรษฐกิจในการเลี้ยงดูเด็ก  เช่นเดียวกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมส่วนใหญ่ การมีชีวิตรอดของลูกที่เกิดใหม่ขึ้นอยู่กับการให้นมของสัตว์เพศเมีย

          ในปารากวัย มีชาวเผ่าเร่ร่อนชื่อ Ache  มักจะฆ่าเด็กๆ มีรายงานว่าเด็กชาย 9 เปอร์เซ็น และเด็กหญิง 16 เปอร์เซ็นต์จะถูกฆ่าก่อนอายุ 5 ขวบ  สาเหตุเพราะต้องการควบคุมอาหารให้เพียงพอกับประชากรในเผ่า เด็กๆที่พ่อตายมักจะตกเป็นเหยื่อของการฆ่า  ในเผ่า Ayoreo ในประเทศโบลิเวีย ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควรจำเป็นต้องฆ่าทารกที่เกิดมา จนกระทั่งถึงเวลาที่เหมาะสมจึงจะสามารถเลี้ยงดูทารกได้   ทารกของมนุษย์มักจะต้องพึ่งพาผู้ใหญ่ หรือพ่อแม่เพื่อเอาชีวิตรอดจนกว่าจะเติบโตถึงวัยแต่งงาน ดังนั้นมนุษย์จึงใช้เวลาเลี้ยงดูทารกนานกว่าสัตว์ชนิดอื่นๆ   การเลี้ยงดูจึงขึ้นอยู่กับปัจจัยทางทรัพยากร และเศรษฐกิจ พ่อแม่จึงเป็นผู้ควบคุมและกำหนดว่าสมาชิกในครอบครัวควรจะมีชีวิตรอดได้อย่างไร การฆ่าทารกอาจเป็นการแก้ปัญหาของการเอาชีวิตรอดทางหนึ่ง

          ในสังคมที่มีการจัดระเบียบสังคมที่ซับซ้อน บุคคลจะมีฐานะสูงต่ำต่างกันมาก และการควบคุมสมาชิกในตระกูลชั้นสูงอาจเป็นเรื่องจำเป็น ตัวอย่างเช่นตระกูล Rajput  ในดินแดนตอนเหนือของอินเดีย ลูกสาวที่เกิดมามักจะถูกฆ่าเป็นส่วนใหญ่ เพราะต้องการควบคุมทรัพยากรในตระกูลให้คงที่ หากมีลูกสาวหลายคนก็ต้องใช้ของหมันมากขึ้นในการแต่งงานกับคนนอกตระกูล ทรัพย์สินจะกระจัดกระจายไป   ตระกูลชั้นสูงที่ไม่มีลูกสาว มีแต่ลูกชาย  ลูกสะใภ้จึงมาจากคนตระกูลอื่น ซึ่งหมายถึงจะได้รับสินสอดจากการแต่งงาน   การศึกษาของดิกแมนน์ ชี้ว่าผู้ชายที่ร่ำรวยจะมีภรรยาได้หลายคน ส่วนผู้ชายในตระกูลที่ยากจนจำเป็นต้องมีลูกสาวไว้หลายๆคนเพื่อให้เป็นลูกสะใภ้แก่ครอบครัวที่ร่ำรวย  ลูกสาวในครอบครัวที่ยากจนจึงเป็นแหล่งสร้างฐานะให้พ่อแม่

          ในสังคมที่ไม่ซับซ้อน ความต้องการลูกชายอาจมีมากกว่าลูกสาว โดยเฉพาะสังคมที่ต้องสู้รบ และทำสงคราม ลูกชายจะเป็นผู้ปกป้องคุ้มครองคนในครอบครัวได้ ลูกสาวที่เกิดใหม่จึงอาจถูกฆ่าตาย การศึกษาของ Divale และ Harris ชี้ว่าการฆ่าเด็กผู้หญิงเพื่อต้องการลดประชากร และควบคุมทรัพยากรที่มีอยู่จำกัดให้พอเพียงกับสมาชิก  การฆ่าทารกจึงเป็นดั่งการบูชายัญเพื่อทำให้กลุ่มอยู่รอด และเพื่อบวงสรวงให้ได้ลูกชายมาทดแทน  ตัวอย่างเช่น ในสังคมของชาว Eipo ในเขตที่ราบสูงตอนกลางในประเทศนิวกินี มักจะมีการฆ่าทารกผู้หญิงมากกว่า 40 เปอร์เซ็นต์     ในวัฒนธรรมจีน ลูกชายมักเป็นที่นิยมมากกว่าลูกสาว ลูกสาวที่เกิดใหม่อาจถูกฆ่าตั้งแต่แรกคลอด  ในประเทศอินเดีย การฆ่าลูกสาวเป็นสิ่งผิดกฎหมาย แต่อาจมีเด็กผู้หญิงที่ถูกปล่อยให้กำพร้ามากขึ้น

          การศึกษาของเรดคลิฟฟ์-บราวน์ ชี้ว่าการฆ่าทารกเป็นการทำให้กลุ่มอยู่รอดได้  จากแนวคิดทฤษฎีวิวัฒนาการทำให้นักมานุษยวิทยาเชื่อว่าการฆ่าทารกเป็นการคัดเลือกสายพันธุ์ตามธรรมชาติ เช่นเดียวกับการกระทำของสัตว์หลายชนิด อย่างไรก็ตามการฆ่าทารกมิใช่การกระทำที่เหมือนกันในทุกแห่ง  การฆ่าลูกอ่อนของสัตว์บางชนิดอาจเป็นการปรับตัวตามธรรมชาติ แต่การฆ่าทารกของมนุษย์อาจเป็นเรื่องทางวัฒนธรรม ซึ่งอาจแบ่งออกเป็น 5 ลักษณะ ดังต่อไปนี้

1 การฆ่าทารกเพื่อเป็นอาหาร  เนื้อทารกอาจเป็นอาหารอย่างดีให้กับสมาชิกในกรณีที่เกิดสภาวะขาดแคลนอาหารประเภทอื่น
2 การฆ่าทารกเพื่อควบคุมประชากร เมื่อประชากรมากขึ้นอาจเป็นอุปสรรคต่อการหาอาหารให้เพียงพอกับทุกคน การฆ่าทารกแรกเกิดจะทำให้ส่วนแบ่งอาหารมีมากขึ้น
3 การฆ่าทารก ในเพศที่ไม่ต้องการ เช่นฆ่าทารกเพศชายเพื่อมิให้เป็นคู่แข่งเมื่อเติบโตขึ้น อย่างไรก็ตามกรณีเช่นนี้อาจไม่พบมากนัก ยกเว้นสัตว์บางชนิดเช่น กอริลล่า มักจะฆ่าลูกเพศผู้ที่เกิดใหม่
4 การฆ่าทารกเพื่อการสืบพันธุ์  แม่ที่ตั้งครรภ์อาจฆ่าทารกที่เกิดใหม่เพื่อเลือกผู้ที่สืบทายาทที่เหมาะสม ลูกที่ถูกฆ่าอาจมีร่างกายพิการไม่สมประกอบ หรืออ่อนแอ ไม่เหมาะสมที่จะเลี้ยงดูต่อไปได้
5 การฆ่าทารกเพราะความเกลียดชัง เป็นกรณีที่พบในสังคมเมือง เด็กทารกอาจถูกทอดทิ้งให้ตาย

       กล่าวโดยสรุป การฆ่าทารกเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับมนุษย์มาช้านาน ในสัตว์ประเภทไพรเมทมีการฆ่าทารกในเพื่อที่ไม่ต้องการ  อย่างไรก็ตามในสังคมมนุษย์สมัยใหม่ การฆ่าทารกจะมุ่งประเด็นไปที่ผู้เป็นพ่อแม่  มากกว่าผู้อื่นที่อาจฆ่าเด็กได้เช่นเดียวกัน  ในสังคมที่ไม่มีการคุมกำเนิดแบบสมัยใหม่ การฆ่าทารกยังทำตามจารีตประเพณี ซึ่งอาจถือเป็นวิธีการวางแผนครอบครัวประเภทหนึ่ง


ผู้เขียน: ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ

เอกสารอ้างอิง:

Sarah Blaffer Hrdy เรื่อง Infanticide ใน David Levinson and Melvin Ember (eds.) 1996. Encyclopedia of Cultural Anthropology. Henry Holt and Company, New York. Pp.644-648.

Sargent, Carolyn 1988. "Born to die: witchcraft and infanticide in Bariba culture". Ethnology 27 (1): 81.

Schrire, Carmel; William Lee Steiger 1974. "A matter of life and death: an investigation into the practice of female infanticide in the Arctic". Man: the Journal of the Royal Anthropological Society 9: 162

Williamson, Laila 1978. "Infanticide: an anthropological analysis". In Kohl, Marvin. Infanticide and the Value of Life. NY: Prometheus Books. pp. 61–75.


หัวเรื่องอิสระ: การฆ่าทารก