คำศัพท์

Homelessness

           การไร้บ้าน หมายถึงสภาพของคนที่ไร้ที่อยู่ หรือผู้ที่ไม่สามารถหาที่อยู่เป็นของตัวเองได้ ซึ่งสาเหตุอาจจะมาจากหลายปัจจัย เช่น การถูกทอดทิ้ง การหนีออกจากบ้าน การไร้ที่พึ่ง ความยากจน เป็นต้น ผู้ที่ไร้ที่อยู่อาศัยจึงร่อนเร่พเนจรไปตามที่ต่างๆ ไม่มีอาชีพ ไม่มีรายได้ที่แน่นอน    รูปแบบของการไม่มีบ้าน อาจมี 2 ลักษณะคือ  การอยู่อาศัยตามท้องถนน และการอาศัยอยู่ในแหล่งเสื่อมโทรมในย่านอุตสาหกรรม   แต่การอยู่อาศัยแบบย้ายที่อยู่ไปเรื่อยๆ เช่น ในสังคมเร่ร่อนเลี้ยงสัตว์ของชาวยิปซี จะไม่ถือว่าเป็นการไร้บ้านเพราะเป็นรูปแบบทางวัฒนธรรมของคนกลุ่มนี้

          ในหลายวัฒนธรรมให้ความหมายกับการไร้บ้านต่างกันไป  โดยเฉพาะจะมีคำเรียกที่ใช้อธิบายการไร้บ้านเพื่อบ่งบอกถึงการไม่มีบ้านอยู่ และการอยู่ตามลำพัง เช่น ในลาตินอเมริกาจะมีคำเรียกการไร้บ้านว่า “วิน เทโช”  ส่วนคำเรียกคนที่ไม่มีบ้าน ในประเทศญี่ปุ่นเรียกว่า “ฟูโรชะ”  ในลาตินอเมริกาเรียกว่า “เดซัมพาราโด” เป็นต้น  แต่เดิมคำว่าการไร้บ้าน หมายถึงคนที่อยู่ตัวคนเดียว คนขอทาน หรือพวกร่อนเร่พเนจร นอกจากนั้นยังหมายถึงสัตว์ที่ถูกทิ้งขวาง เจ็บป่วย คนที่เป็นบ้า หรือติดยาเสพติด  ในช่วงทศวรรษที่ 1960 คำว่าการไร้บ้าน ยังหมายถึงการอยู่อาศัยในเขตแออัด ซ่อมซอในประเทศกำลังพัฒนา

          ชุมชนแออัดหรือสลัม คือที่อยู่อาศัยแบบชั่วคราว  ผู้อาศัยมักจะบุกรุกเข้าไปอยู่ในที่ดินของคนอื่น เช่น ในแอฟริกาจะเรียกที่อยู่อาศัยแบบนี้ว่า บิดอนวิลล์ หมายถึงเมืองที่มีขนาดเล็กๆ ในบราซิลเรียกว่า ฟาเวลลัส ในประเทศเปรู เรียกว่าเพลโบ โจวีเนส ในอินโดนีเซีย เรียกว่า กัมปุงส์  เด็กๆที่ไม่มีบ้านอยู่ โดยเฉพาะเด็กท้องถนนในประเทศกำลังพัฒนาเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจมาก   เด็กๆกลุ่มนี้เสี่ยงต่ออันตรายตามท้องถนน และเป็นกลุ่มเป้าหมายของรัฐที่ต้องการจัดระเบียบเมือง และทำเมืองให้สะอาด  เด็กไร้บ้านในประเทศอุตสาหกรรมจึงเป็นประเด็นที่ได้รับการศึกษาในมิติของการจัดหาที่อยู่อาศัยและหน่วยงานที่จะเข้ามาช่วยเหลือ

          ความรู้เกี่ยวกับสภาวะไร้บ้าน จึงมาจากงานวิจัย รายงาน การสำมะโนประชากร และสื่อมวลชน   การศึกษาทางมานุษยวิทยาเกี่ยวกับสภาวะไร้บ้านจะศึกษาในรายละเอียดและเก็บข้อมูลอย่างมีส่วนร่วม ตัวอย่างเช่น การศึกษาของเบ็กซ์เตอร์ และฮอปเปอร์(1981)  เรื่องคนไร้บ้านที่อาศัยอยู่ในสถานีรถไฟใต้ดินและท้องถนนของนิวยอร์ค  การศึกษาพบว่าคนเหล่านี้ไม่ต้องการใช้ชีวิตอยู่บนถนน  แต่พวกเขาไม่มีโอกาสได้ที่อยู่อาศัยเพราะสังคมมองว่าเป็นพวกหัวรุนแรงและเป็นขยะสังคม 

          นักมานุษยวิทยาพยายามที่จะวิพากษ์วิจารณ์การจัดประเภทคนซึ่งไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนเหล่านั้น ตัวอย่างเช่น การศึกษาของกู้ด(1987) ชี้ว่าความรู้ของรัฐเกี่ยวกับเด็กข้างถนนในประเทศโคลัมเบีย รัฐได้จัดให้เด็กๆเป็นพวกที่มีชีวิตอยู่บนถนนซึ่งไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของเด็กที่มีสภาพเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เด็กๆจะมีชีวิตอยู่ทั้งในบ้าน ในท้องถนน และสถานสงเคราะห์ หมุนเวียนไป   มานุษยวิทยายังชี้ให้เห็นสภาพสังคมของคนไร้บ้านที่มีทั้งการช่วยเหลือกัน การสร้างมิตรภาพซึ่งกันและกัน และมีเครือข่ายทางสังคมที่ซับซ้อน  นักมานุษยวิทยาพยายามจะทำให้สังคมเห็นว่าคนไร้บ้านมีความสัมพันธ์กันอย่างไร ในขณะที่สังคมมองว่าคนไร้บ้านคือพวกโดดเดี่ยว  การวิจัยทางมานุษยวิทยายังทำให้มองเห็นปรากฏการณ์ของสังคมโลกที่มีคนไร้บ้าน และการศึกษาเรื่องนี้ก็ต้องเข้าใจบริบททางวัฒนธรรมของแต่ละแห่ง ซึ่งมีผลทำให้คนไร้บ้านมีวิธีปรับตัวแตกต่างกัน และมิใช่เรื่องปัญหาทางสังคม

          สาเหตุของการไร้บ้านอาจจะมองได้จากหลายมุม ไม่ว่าจะเป็นทฤษฎีเรื่องการปราศจากที่อยู่อาศัย หรือการถูกทอดทิ้งให้อยู่ตามลำพัง   การศึกษาวิจัยในประเทศอุตสาหกรรมพบว่า การไร้บ้านมีสาเหตุมาจากสภาพครอบครัวที่แตกตแยก ปัญหายาเสพติด การป่วยทางจิต หรือการติดเหล้า   ในประเทศกำลังพัฒนา ปรากฎการณ์ของคนไร้ที่อยู่อาศัยเป็นผลมาจากนโยบายของรัฐและเอกชนที่ไม่ตอบสนองความต้องการของคนกลุ่มนี้  การเพิ่มขึ้นของคนไร้บ้านเนื่องมาจากมีคนอพยพจากเขตชนบทเข้าสู่เมืองมากขึ้น และอายุขัยของประชากรมีเพิ่มขึ้น  นอกจากนั้น นโยบายของรัฐเกี่ยวกับที่อยู่อาศัยยังไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ เช่น ขาดการสร้างที่อยู่อาศัยให้กับประชาชนอย่างเหมาะสมและพอเพียง การเสื่อมโทรมของที่อยู่อาศัย เป็นต้น

          ความพยายามที่จะพัฒนาชีวิตของคนไร้บ้านให้ดีขึ้นยังรวมถึงการช่วยเหลือให้บุคคลรักษาบ้านของตัวเองเอาไว้ในช่วงที่มีวิกฤตทางเศรษฐกิจ เช่น โครงการบ้านสงเคราะห์ของประเทศแคนาดา และการไกล่เกลี่ยมิให้มีการรื้อถอนที่อยู่อาศัย  การช่วยเหลือคนไร้บ้านตามท้องถนนอาจทำได้โดยการนำอาหารไปเลี้ยง หรือให้ที่อยู่ชั่วคราว    ในประเทศกำลังพัฒนา มีโครงการหลายแห่งที่จะช่วยพัฒนาชีวิตของคนไร้บ้าน ทั้งที่เป็นโครงการของรัฐ เอกชน และกลุ่มชาวบ้านที่ร่วมตัวกัน  ในปัจจุบันนี้ คนไร้บ้านในสังคมอุตสาหกรรมเป็นผู้ที่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ และมีพลังทางการเมืองที่จะผลักดันให้เกิดนโยบายช่วยเหลือคนไร้บ้าน


ผู้เขียน: ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ

เอกสารอ้างอิง:

Anderberg, Kristen 2011. 21st Century Essays on Homelessness. Seaward Avenue Press.

David Levinson ,Melvin Ember (eds.) Encyclopedia of Cultural Anthropology. Henry Holt and Company, New York. 1996. Pp.579-581.

Kim Hopper. 2002. Reckoning with Homelessness. Cornell University Press

Irene Glasser and Rae Bridgman 1999. Braving the Street: The Anthropology of Homelessness. New York: Berghahn.


หัวเรื่องอิสระ: การไร้บ้าน