คำศัพท์

Alliance Theory

        ทฤษฎีเรื่องการสร้างพันธมิตร หรือ Alliance Theory เริ่มต้นจากแนวคิดของนักมานุษยวิทยาชื่อคล้อด เลวี่-เสตราส์ ซึ่งอธิบายไว้ในหนังสือเรื่อง Elementary Structures of Kinship (1949) ทฤษฎีนี้เป็นการอธิบายความสัมพันธ์ในระบบเครือญาติที่เกิดจากการแลกเปลี่ยนสมาชิกสองตระกูลผ่านการแต่งงาน ซึ่งเป็นทฤษฎีที่ได้รับความนิยมในหมู่นักมานุษยวิทยาฝรั่งเศสในทศวรรษ 1980 ที่เชื่อในระบบโครงสร้างทางสังคม และเป็นทฤษฎีที่ใช้ตอบโต้หักล้างทฤษฎีหน้าที่นิยมของเรดคลิฟฟ์-บราวน์

        เลวี่-สเตราสส์ กล่าวว่าการแลกเปลี่ยนสร้างผลในแง่บวกเสมอ  การแต่งงานคือรูปแบบการสื่อสารและการแลกเปลี่ยนที่สำคัญที่สุดในการสร้างมิตรระหว่างกลุ่ม และเป็นโครงสร้างพื้นฐานของระบบเครือญาติ เลวี-สเตราสส์อธิบายว่าการแต่งงานคือการปฏิบัติการทางเศรษฐกิจโดยอาศัยการแลกเปลี่ยนผู้หญิง แรงงาน บริการและสิ่งของ ซึ่งย้ายจากกลุ่มหนึ่งไปสู่อีกกลุ่มหนึ่ง   ทฤษฎีพันธมิตรให้ความสำคัญกับเรื่องการแต่งงานกับคนนอกกลุ่ม (exogamy) หรือการแต่งงานข้ามตระกูล ปัจจัยสำคัญของการแต่งงานนอกกลุ่มประกอบด้วย หนึ่ง การแต่งงานนอกกลุ่มจะช่วยให้คนในกลุ่มมีความกลมเกลียวสามัคคีกัน  ช่วยลดความตึงเครียดในหมู่ญาติพี่น้องซึ่งอาจแย่งชิงผู้หญิงในครัวเรือนเดียวกัน  และสอง การแต่งงานนอกกลุ่ม ช่วยสร้างมิตรและความสมานฉันท์ทางสังคมระหว่างเผ่า

       ในความคิดของ เลวี่-สเตราสส์ ญาติพี่น้องผู้ชายของฝ่ายแม่ เช่น พี่ชาย น้องชายของแม่คือบุคคลสำคัญในการสร้างพันธมิตร เพราะญาติฝ่ายชายคือผู้ที่จะตัดสินว่าลูกสาวของตนจะแต่งงานกับใครที่เป็นคนนอกตระกูล ซึ่งนำไปสู่การสร้างเครือญาติจากการแต่งงาน

        เอ็ดเวิร์ด ไทเลอร์ เคยอธิบายว่าการแลกเปลี่ยนก่อให้เกิดกลุ่มพันธมิตรและการควบคุมสมาชิกที่ต้องแต่งงานข้ามเผ่า  มาร์เซล มอสส์ อธิบายว่า กลุ่มทางสังคมที่ประกอบด้วยคนจำนวนมากมีการแลกเปลี่ยน ทำสัญญาข้อตกลง และมีการสร้างกฎควบคุมระหว่างกัน  กลุ่มทางสังคมในที่นี้อาจเป็นครัวเรือน     ชนเผ่า หรือกลุ่มตระกูล    สิ่งที่ใช้ในการแลกเปลี่ยนได้แก่ สินค้าหรือผู้หญิง  มอสส์เชื่อว่าการแลกเปลี่ยนจะทำให้เกิดการสร้างสัมพันธภาพ และนำไปสู่สันติภาพและความสงบสุขกลมเกลียวในสังคม

          ลีช (1961)  กล่าวว่าการแลกเปลี่ยนผู้หญิงมีความสำคัญในการสร้างสัมพันธภาพ    เมื่อมีการแต่งงานระหว่างกลุ่มจะนำไปสู่การแลกเปลี่ยนทางเศรษฐกิจ การเมือง และการใช้ที่ดิน   การแลกเปลี่ยนแรงงาน สินค้า ข้าวของเครื่องใช้ พรมแดน สิทธิทางการเมือง และสถานะทางสังคม       ฟ็อกซ์ (1967) อธิบายว่าการแต่งงานระหว่างเผ่าก่อให้เกิดรูปแบบการแลกเปลี่ยน  และการแลกเปลี่ยนผู้หญิงจะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนอย่างอื่นตามมาด้วย  นอกจากนั้น ยังทำให้เกิดมิตร ช่วยลดความขัดแย้งระหว่างกลุ่ม   ฟ็อกซ์กล่าวว่าการสร้างสัมพันธภาพกับคนต่างกลุ่มจะช่วยให้เกิดการแต่งงานระหว่างกลุ่มขึ้น  แต่ในสังคมที่ไม่มีภาษาจะไม่เกิดการแลกเปลี่ยนและการสร้างสัมพันธภาพระหว่างกลุ่ม

          ร็อดเซ็ท(1991) อธิบายว่า การแต่งงานกับคนนอกกลุ่มเป็นการโยกย้ายสมาชิกของกลุ่มไปอยู่ที่อื่น เพื่อสร้างกลุ่มญาติพี่น้องใหม่ที่มีความกลมเกลียว การแต่งงานกับคนนอกจึงช่วยให้เกิดการสร้างสัมพันธภาพ เงื่อนไขของการเกิดสัมพันธภาพ ประกอบด้วย 1) สมาชิกภายในกลุ่มแต่งงานกับคนนอกกลุ่ม 2) สายสัมพันธ์ของคนในกลุ่มขึ้นอยู่กับสายโลหิต ถึงแม้จะแต่งงานออกไปแล้วก็ตาม และ 3)ความสัมพันธ์ระหว่างญาติร่วมสายเลือดเดียวกันกับญาติจากการแต่งงานเกิดขึ้นโดยการสร้างระบบตัวแทนซึ่งกันและกัน

        คัง (1982) ศึกษาเปรียบเทียบสังคมที่การแต่งงานนอกกลุ่มและสังคมที่มีการแต่งงานในกลุ่ม  พบว่าการแต่งงานอนกกลุ่มจะมีลักษณะที่ผู้ชายแต่งงานไปอยู่กับบ้านผู้หญิง หรือแยกไปอยู่ตามลำพัง การแต่งงานกับคนนอกนี้ไม่ได้ช่วยให้เกิดการสร้างมิตรอย่างที่เข้าใจ  การศึกษาของคังได้หักล้างความเชื่อในทฤษฎีสัมพันธภาพ  การศึกษาของเพจ(1981) พบว่าสังคมที่นับญาติข้างพ่อ การแต่งงานกับคนนอกจะทำให้เกิดความขัดแย้งภายในกลุ่มมากขึ้น   ออตเตอร์เบนกล่าวว่าการแต่งงานนอกกลุ่มไม่ได้มีวัตถุประสงค์หลักในการสร้างมิตร แต่ผู้ที่ได้ประโยชน์จากการแต่งงานจะอยู่ที่ตัวบุคคลมากกว่า  อย่างไรก็ตาม  ออตเตอร์เบนกล่าวว่าจาการศึกษาและสอบถามชาวบ้าน ไม่พบว่าผู้ที่แต่งงานกับคนนอกกลุ่มต้องการจะสร้างมิตรกับคนอื่นหรือเพื่อที่จะยุติสงครามแต่อย่างใด

          นอกจากนั้น การสร้างพันธมิตรจากการแต่งงาน ยังสัมพันธ์กับกฎข้อห้ามการมีเพศสัมพันธ์และการแต่งงานกับคนที่เป็นญาติและมีสายโลหิตเดียวกัน ญาติพี่น้องจะแต่งงานกันไม่ได้ต้องแต่งงานกับคนต่างครอบครัวและมิใช่พี่น้องของตน ซึ่งทฤษฎีโครงสร้างนิยมเชื่อว่ากฎข้อห้ามนี้เป็นกฎสากลที่มีอยู่ในมนุษย์ทุกกลุ่ม และทำให้มนุษย์ต้องแต่งงานกับคนที่ไม่ใช่พี่น้องของตัวเอง


ผู้เขียน: ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ

เอกสารอ้างอิง:

David Levinson and Melvin Ember (ed.) Encyclopedia of Cultural Anthropology. Henry Holt and Company. New York. 1996 pp.45-46.

Leach, E.R. 1961. Rethinking Anthropology. New York: The Humanities Press.

Lévi-Strauss, Claude. 1971. The Elementary Structures of Kinship. Boston, MA.: Beacon Press. (first published 1949)


หัวเรื่องอิสระ: การสร้างพันธมิตรจากการแต่งงาน