คำศัพท์

Ethnographic Film

        ภาพยนตร์ทางชาติพันธุ์ (Ethnographic Film) หมายถึงการบันทึกเรื่องราวชีวิตทางสังคมและวัฒนธรรมของมนุษย์ ซึ่งนักมานุษยวิทยาใช้เป็นเครื่องมือในการศึกษาและการเก็บข้อมูลภาคสนาม ภาพยนตร์ทางชาติพันธุ์จึงมิใช่เรื่องแต่งหรือมีการเขียนบทเตรียมไว้ รวมทั้งมิใช่สารคดีที่นำเสนอเรื่องราวในเชิงสุนทรียะ  ตัวอย่างเช่น การทำงานภาคสนามของนักมานุษยวิทยาอัลเฟร็ด คอร์ต เฮดดอน ในปี 1898 ที่เดินทางไปเก็บข้อมูลชีวิตชนพื้นเมืองในหมู่เกาะทอร์เรส สเตรทส์ ทางตอนเหนือของออสเตรเลีย เขาได้ใช้กล้องภาพยนตร์บันทึกเรื่องราวทางสังคมของกลุ่มคนเหล่านี้

         โซล เวิร์ธ(1961) ให้ความเห็นว่าภาพยนตร์แบบไหนก็เป็นงานทางมานุษยวิทยาได้ทั้งนั้น ถ้าหากนักมานุษยวิทยาสนใจที่จะอธิบายในแง่วัฒนธรรม  แต่สิ่งที่นักมานุษยวิทยาให้ความสนใจก็คือภาพยนตร์ที่ถ่ายทำโดยนักมานุษยวิทยา ซึ่งถูกใช้เป็นสารคดีทางวัฒนธรรม เนื่องจากภาพยนตร์ที่ถ่ายทำโดยนักมานุษยวิทยาจะเปิดเผยให้เห็นความคิดของนักมานุษยวิทยาได้  แต่ปัญหาที่ตามมาคือภาพยนตร์หลายเรื่องถ่ายทำเรื่องราวของวัฒนธรรมอื่น  โดยตัวภาพยนตร์อาจเป็นภาพสะท้อนให้เห็นวัฒนธรรมของการสร้างภาพยนตร์  แต่ถ้าภาพยนตร์นั้นไม่มีบทและผู้กำกับการแสดงแล้ว ภาพยนตร์ก็อาจเป็นวิธีการแสดงออกทางวัฒนธรรมอย่างหนึ่ง    

          เมื่อมีการสร้างภาพยนตร์ครั้งแรกในช่วงปลายครสิต์ศตวรรษที่ 19  ผู้สร้างภาพยนตร์ได้ใช้ภาพยนตร์บันทึกเรื่องราวต่างๆเกี่ยวกับชีวิตคนที่แตกต่างหลากหลาย  ส่วนภาพยนตร์ในทางชาติพันธุ์อาจหมายถึงภาพยนตร์สารคดีที่นำเสนอเรื่องราวของผู้คนที่อาศัยอยู่นอกสังคมตะวันตก  นักมานุษยวิทยาจึงมีหน้าที่สำคัญสองประการ คือ หนึ่ง ต้องถ่ายทำวิถีชีวิตของคนเหล่านั้นอย่างสดๆร้อนๆ โดยไม่มีบทภาพยนตร์ล่วงหน้า  และสอง ต้องเลือกว่าจะทำให้ภาพยนตร์นี้ออกมาในลักษณะใดเพื่อทำให้คนดูเข้าใจเรื่องราวในภาพยนตร์นั้น 

         อย่างไรก็ตาม เมื่อนักสร้างภาพยนตร์ต่างทำงานในสังคมของตัวเองเพิ่มมากขึ้น  ชนพื้นเมืองในโลกที่สามก็เริ่มรู้จักการใช้วีดีโอและภาพยนตร์มากขึ้นเช่นกัน   ดังนั้นการนิยามความหมายของภาพยนตร์ชาติพันธุ์ก็ยากขึ้นเรื่อยๆ   การหานิยามดังกล่าวช่วยให้เกิดความคิดที่ว่าการสร้าง การเผยแพร่ และการชมภาพยนตร์คือรูปแบบหนึ่งของการแสดงออกทางวัฒนธรรมซึ่งควรจะได้รับการตรวจสอบ  เพราะภาพยนตร์มิได้เป็นเพียงเครื่องมือในการนำเสนอเรื่องราวทางวัฒนธรรมเท่านั้น แต่ภาพยนตร์ยังเป็นเครื่องมือในการสร้างอัตลักษณ์ทางสังคมด้วย

          ในช่วงทศวรรษที่ 1920-30  นักมานุษยวิทยาเริ่มใช้ภาพยนตร์เป็นสื่อการสอน ตัวอย่างเช่น เรื่องหัตถรรม พิธีเฉลิมฉลอง หรือการเต้นรำ  เกรกอรี เบทสัน และมาร์กาเร็ต มี้ด พยายามใช้ภาพยนตร์เป็นเครื่องทดลอง โดยบันทึกภาพชีวิตของชาวบาหลีเพื่อทำให้เข้าใจวัฒนธรรมเหล่านั้น  ภาพยนตร์ของมี้ดและเบทสัน ได้แก่เรื่อง Karba’s First Year (1950) Childhood Rivalry in Bali and New Guinea(1952) และ Trance and Dance in Bali(1951)  ภาพยนตร์ดังกล่าวมีบทบรรยายและบทวิเคราะห์อยู่ด้วย  อย่างไรก็ตามเมื่อนักมานุษยวิทยาเริ่มหลีกหนีไปจากวิธีการทางวิทยาศาสตร์ นักมานุษยวิทยารุ่นหลังก็เริ่มตั้งคำถามเกี่ยวกับ “ความจริง” ในภาพยนตร์มากขึ้น

          ภาพยนตร์ทางชาติพันธุ์ในยุคแรกๆ  เช่นเรื่อง Man with a Movie Camera (1929) ของ ดาซีก้า เวอร์ทอฟ  เป็นการเสนอภาพสะท้อนความประทับใจของผู้สร้างภาพยนตร์ และมีการตั้งคำถามว่าภาพยนตร์จะนำเสนอความจริงทางสังคมได้หรือไม่  หรือถ้าภาพยนตร์เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการสร้างเรื่องราวของความจริงเหล่านั้น   ภาพยนตร์ของบาซิล ไรท์ เรื่อง Song of Ceylon(1934)  นำเสนอเรื่องราวจารีตประเพณี และศาสนาของชนพื้นเมืองควบคู่ไปกับเรื่องราวของลัทธิอาณานิคมราวกับเป็นบทกวี   นักมานุษยวิทยาจำนวนมากยังคงถกเถียงเกี่ยวกับเรื่องสุนทรียะในภาพยนตร์ว่าควรจะมีหรือไม่ เพราะการผู้สร้างภาพยนตร์มักจะให้ความสนใจทางสุนทรียะมากกว่าที่จะสะท้อนภาพวัฒนธรรมของชาวบ้าน  ข้อโต้แย้งประการหนึ่งคือภาพยนตร์คือผลลัทธ์ทางวัฒนธรรมประเภทหนึ่ง

          ภาพยนตร์ของหลุยส์ บันเนล เรื่อง Land Without Bread (1932) เป็นเรื่องเกี่ยวกับภาพลักษณ์ของความจริงที่มีคำบรรยายและเสียงดนตรีประกอบ ซึ่งช่วยให้ความจริงชัดเจนขึ้น  ภาพยนตร์เรื่องนี้คือตัวอย่างของการตั้งคำถามเกี่ยวกับความจริง  ในปี ค.ศ. 1953  จีน รูชได้สร้างภาพยนตร์เรื่อง Les Maitres Fous   เป็นเรื่องเกี่ยวกับความเชื่อและพิธีกรรมการถูกผีสิงในดินแดนแอฟริกาตะวันตก พิธีดังกล่าวนี้ชนพื้นเมืองสร้างขึ้นมาเพื่อตอบโต้ลัทธิอาณานิคม  และในปี ค.ศ.1957 รูชได้สร้างภาพยนตร์เรื่อง Moi un Noir ภาพยนตร์เรื่องนี้มีคำบรรยาย เป็นเรื่องเกี่ยวกับผู้สร้างภาพยนตร์ และนักแสดงที่ต้องเล่นตามบทบาทที่ได้รับ 

          โรเบิร์ต การ์ดเนอร์ สร้างภาพยนตร์ของตัวเองเรื่อง Dead Birds ในปี ค.ศ.1963 เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับการทำสงครามของชนเผ่าดานี ในดินแดนนิวกินีตะวันตก ซึ่งเป็นจังหวัดหนึ่งในประเทศอินโดนีเซีย  ภาพยนตร์ที่มีชื่อเสียงของการ์ดเนอร์คือเรื่อง Deep Heart  และ Forest of Bliss เป็นภาพยนตร์ที่ท้าทายความหมายและนิยามของภาพยนตร์ชาติพันธุ์ โดยการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างการศึกษาทางมานุษยวิทยากับงานศิลปะ  การ์ดเนอร์ให้ความเห็นว่าการนำเสนอเรื่องราวด้วยสุนทรียะจะให้อารมณ์ความรู้สึกเกี่ยวกับชีวิตมนุษย์ได้ดีกว่าการนำเสนอแบบวิชาการ

          ในช่วงทศวรรษที่ 1960  มาร์แชลได้สร้างภาพยนตร์ในแนวที่เขาเรียกว่า sequence films หรือ ภาพยนตร์ที่มีเหตุการณ์ต่างๆร้อยเรียงเป็นเรื่องราว  ภาพยนตร์เรื่องนี้ชื่อ A Curing Ceremony ,A Joking Relationship, Argument About a Marriage  และ The Meat Fight  ภาพยนตร์สองเรื่องนี้เป็นรายละเอียดชีวิตของชาวจูโฮนซี เริ่มตั้งแต่ที่ชาวบ้านพบกับปัญหา มีการรวมตัวกันเพื่อแก้ปัญหา และเหตุการณ์ที่ผ่านพ้นไปหลังจากปัญหาจบสิ้นแล้ว   เหตุการณ์ต่างๆถูกนำมาตัดต่อสั้นๆเพื่อใช้ในการเรียนการสอน  นโปเลียน แช็คน่อน และ ทิโมธี เอช ร่วมกันสร้างภาพยนตร์เกี่ยวกับชนเผ่ายาโนมาโมในภาคใต้ของเวเนซูเอล่า  ตัวอย่างเช่น เรื่อง A Father Washes His Children, A Man and His Wife Weave a Hammock และ Yanomamo Myth of Naro  ภาพยนตร์เหล่านี้ถ่ายทำแบบเหตุการณ์ต่อเนื่อง และนำมาตัดต่อให้สั้นเพื่อใช้ในการเรียน 

          เมื่อระบบเสียงในภาพยนตร์พัฒนาไปมากขึ้นในช่วงทศวรรษที่ 1960 ทำให้ภาพยนตร์ชาติพันธุ์ที่นำเสนอเหตุการณ์แบบต่อเนื่องมีความสมบูรณ์  เดวิด และจูดิธ แม็คดูกัลล์เดินทางไปอูกานดา  และใช้วิธีบันทึกเสียงพูดของชนเผ่าจีในอูกานดา ในภาพยนตร์เรื่อง Nawi(1970)  To Live with Herds(1973) และ Under the Men’s Tree(1974)  ภาพยนตร์เหล่านี้มีเสียงพูดของชนเผ่าและคำแปลขึ้นบนหน้าจอ ภาพยนตร์ของแม็คดูกัลล์ไม่ได้สร้างเรื่องราวของชนเผ่าแบบละคร แต่นำเสนอชีวิตจริงของพวกเขา  ภาพยนตร์ของแม็คดูกัลล์จะมีลักษณะเหมือนการเฝ้าสังเกตพฤติกรรมของมนุษย์   โคลิน ยัง เรียกภาพยนตร์แนวนี้ว่า observational cinema หรือภาพยนตร์เฝ้าสังเกตการณ์ 

          ลีเวลีน-เดวีส์ ถ่ายภาพยนตร์แบบเฝ้าสังเกตการณ์และใช้เสียงพูดของตัวเองในภาพยนตร์  เธอพูดกับชาวมาไซเพื่อแสดงความไว้วางใจและต้องการที่จะสื่อสารกับคนเหล่านั้น  ภาพยนตร์ของลีเวลีน-เดวีส์ ได้แก่ เรื่อง The Woman’s Olamal(1984) และ Memory and Dream(1993)     จอร์จ พรีโลแรน ใช้วิธีบันทึกภาพชีวิตของชาวอาร์เจนติน่า ทำให้เกิดภาพยนตร์อัตชีวประวัติของบุคคล  พรีโลแรนยังสอนให้ชาวบ้านตัดต่อภาพยนตร์ชีวิตของตัวเอง ภาพยนตร์เรื่องนี้คือ Zulay Facing the 21st  Century ซึ่งสร้างในปี ค.ศ.1991     พรีโลแรนและภรรยาของเขาทำงานร่วมกับซูเลย์ทั้งในประเทศเอกัวดอร์และลอสแองเจลีส  วิธีการทำงานของจอร์จและภรรยากลายเป็นวิธีการใหม่ของการทำงานร่วมกันระหว่างชาวบ้านและนักมานุษยวิทยาซึ่งเป็นวิธีที่ได้รับความนิยมมากขึ้นในช่วงหลังยุคอาณานิคม

          ในช่วงทศวรรษที่ 1960 ผู้สร้างภาพยนตร์สนใจเรื่องการแสนอความจริงและผลกระทบของเทคโนโลยี  ในช่วงทศวรรษที่ 1970 ภาพยนตร์หลายเรื่องใช้วิธีการสำรวจตรวจสอบ สะท้อนความคิด และไม่มีการบรรยาย  ในช่วงทศวรรษที่ 1980 มีการสำรวจเรื่องตัวตนของผู้สร้างภาพยนตร์และผู้ที่ถูกบันทึกในภาพยนตร์  ในทศวรรษที่ 1990 ภาพยนตร์มีการใช้เทคนิคผสมผสาน เพื่อแสดงให้เห็นความทรงจำ ประสบการณ์ ประวัติศาสตร์ ความฝันและความหมาย  ประเด็นต่างๆเหล่านี้ยังคงมีความสำคัญอยู่ในปัจจุบัน  ผู้สร้างภาพยนตร์ทั้งหลายต้องเผชิญหน้ากับปัญหาทางจริยธรรมแตกต่างกันไป โดยเฉพาะเมื่อต้องนำเสนอเรื่องราวชีวิตของคนอื่น 


ผู้เขียน: ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ

เอกสารอ้างอิง:

Banks, Marcus; Morphy, Howard (ed.) 1997. Rethinking Visual Anthropology. New Haven und London: Yale University Press.

David Levinson and Melvin Ember (eds.) 1996. Encyclopedia of Cultural Anthropology. Henry Holt and Company, New York.  pp.411-415.

Grimshaw, Anna; Ravetz, Amanda 2009. Observational cinema. Anthropology, film, and the exploration of social life. Bloomington: Indiana University Press

Heider, Karl G. 2007. Ethnographic film. Austin: University of Texas Press

Pink, Sarah 2006. Working images. Visual research and representation in ethnography. London: Routledge

Ruby, Jay 2000. Picturing Culture. Explorations of Film and Anthropology. University of Chicago Press


หัวเรื่องอิสระ: ภาพยนตร์ทางชาติพันธุ์