คำศัพท์

Ethnochoreology

      Ethnochoreology หมายถึงการศึกษารูปแบบวิธีการร่ายรำ เต้นรำ ฟ้อนรำ และการเคลื่อนไหวร่างกายในท่วงท่าต่างๆ ซึ่งมนุษย์ในแต่ละวัฒนธรรมจะมีวิธีการแสดงออกแตกต่างกัน  ในมุมมมองมานุษยวิทยาการร่ายรำของมนุษย์เป็นเรื่องที่สัมพันธ์กับระบบความคิดและความเชื่อ มิใช่เรื่องของความบันเทิงเริงรมย์หรือความสวยงาม การศึกษาเรื่องการร่ายรำในมิติทางชาติพันธุ์จะสนใจบริบทของการร่ายรำที่มนุษย์ใช้ร่างกายของตัวเองเป็นเครื่องมือสื่อสารเพื่อที่จะแสดงความเคารพสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือเทพเจ้า

       ในอดีตที่ผ่านมา นักมานุษยวิทยาที่สนใจเรื่องการเต้นรำทำการศึกษาการเคลื่อนไหวของเรือนร่างที่มีหลายลักษณะและเชื่อมโยงถึงระบบความเชื่อ ศาสนา พิธีกรรม ศิลปะการป้องกันตัว การละเล่น ระบบสัญลักษณ์ ความบันเทิง และกีฬา  บริบททางสังคมเหล่านี้เป็นผลจากการคิดสร้างสรรค์ซึ่งเข้าไปจัดระเบียบท่าทางการเคลื่อนไหวของมนุษย์  การเคลื่อนไหวบางลักษณะอาจมีความซับซ้อนและใช้ประกอบกับการเล่นดนตรี

          การเคลื่อนไหวอย่างเป็นระบบเกิดขึ้นในทุกๆสังคม  ระบบการเคลื่อนไหวร่างกายเป็นระบบของความรู้ ซึ่งมีทั้งการแสดงท่าทาง และพื้นที่ที่ใช้แสดงท่าทาง เพื่อเป็นส่วนประกอบของกิจกรรมที่ใหญ่กว่า  ระบบความรู้ของการเคลื่อนไหวร่างกายถูกกำกับด้วยวัฒนธรรมและสังคมโดยกลุ่มคนที่สะสมความรู้และสืบทอดกันมา  ถึงว่าความรู้แบบนี้จะเป็นสิ่งที่ไม่ยืนนาน แต่การเคลื่อนไหวร่างกายก็มีระเบียบที่ชัดเจน  ความรู้แบบนี้อาจเป็นการแสดงออกถึงความสัมพันธ์ทางสังคมที่มองเห็นได้ด้วยตา เป็นระบบของสุนทรียะที่ละเอียดอ่อน และอาจทำให้เข้าใจคุณค่าทางวัฒนธรรม  การศึกษาการเคลื่อนไหวของร่างกายของกลุ่มคนในเชิงอุดมคติ เป็นการศึกษาที่ต้องการวิเคราะห์แบบแผนทางวัฒนธรรมและกิจกรรมที่เกิดขึ้นในสังคม ซึ่งเกี่ยวข้องกับการใช้ร่างกาย นอกจากนั้นยังเป็นการศึกษากระบวนการทางสังคมของกลุ่มคนบางกลุ่มในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง และศึกษาลักษณะท่าทางการเคลื่อนไหวของร่างกายในแบบต่างๆเพื่อดูว่ามนุษย์ใช้ร่างกายส่วนใด

          การเคลื่อนไหวร่างกายของคนพื้นเมือง อาจเป็นนิยามของระบบการเคลื่อนไหวที่มีลักษณะเฉพาะตัว  และการเคลื่อนไหวก็จะถูกนิยามในลักษณะใดลักษณะหนึ่ง  การวิจัยทางมานุษยวิทยาพยายามศึกษาการเคลื่อนไหวของมนุษย์  โดยเข้าไปอธิบายลักษณะท่าทางของมนุษย์ว่ามีระบบระเบียบอย่างไร เพื่อให้เข้าใจมิติของการเคลื่อนไหวในแบบต่างๆว่ามีความหมายอย่างไร และทำให้ใครดู  นักมานุษยวิทยาจะศึกษาความเหมือนและความต่างในการเคลื่อนไหวในบริบทต่างๆ  ศึกษาว่ามีเงื่อนไขอะไรบ้างที่จะเกิดการเคลื่อนไหวของร่างกาย   และการเคลื่อนไหวจะมีแบบใดบ้าง      บุคคลที่เคลื่อนไหวจะมีการแยกจากกันหรือรวมตัวกันหรือไม่อย่างไร  แบบแผนเป็นอย่างไร มีความหมายอย่างไร   การเคลื่อนไหวในแบบต่างๆมีความสัมพันธ์กันอย่างไร  บุคคลที่เกี่ยวข้องกับการเต้นรำค้นพบอะไรบ้าง และอะไรคือแนวคิดเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวทางร่างกายของมนุษย์

          การแสดงออกทางร่างกายมีความสำคัญเทียบเท่ากับเป็นแบบแผนทางวัฒนธรรม   ระบบการเคลื่อนไหวที่มีรูปแบบเฉพาะตัวนี้อาจเป็นรูปแบบทางศิลปะ หรือ เป็นการทำงาน พิธีกรรม การเฉลิมฉลอง ความบันเทิง หรือมีลักษณะหลายๆอย่างรวมกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขทางสังคม  บุคคลอาจแสดงการเคลื่อนไหวร่างกายในแบบเดียวกัน โดยมีท่าทางของการเคลื่อนไหวเหมือนกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ต่างๆ เช่นเคลื่อนไหวในพิธีกรรม ทางการเมือง เพื่อความบันเทิง หรือเพื่อแสดงออกถึงชาติพันธุ์    อาจกล่าวได้ว่า การเคลื่อนไหวร่างกายที่เหมือนกันอาจเป็นการให้รหัสบางอย่าง และรหัสในการเคลื่อนไหวในแบบต่างๆจะเกิดขึ้นในบริบทที่ต่างกัน เช่น การเต้นรำแด่พระเจ้า อาจต่างไปจากเต้นรำเพื่อความบันเทิง  นอกจากนั้นพื้นฐานและประสบการณ์ส่วนตัวของผู้แสดงยังมีผลต่อการให้ความหมายในการเคลื่อนไหวร่างกายเช่นเดียวกับอารมณ์ความรู้สึกของผู้แสดง

          ตัวอย่างเช่น การเคลื่อนไหวในพิธีกรรมทางศาสนาของชาวบาหลี เป็นการแสดงที่ประกอบด้วยความเชื่อทางไสยศาสตร์เพื่อวิงวอนสิ่งศักดิ์ให้ประทานบางสิ่งบางอย่าง  แต่เมื่อการแสดงดังกล่าวนี้ย้ายมาอยู่บนเวทีให้ผู้ชมดู การเต้นรำจะมีความหมายต่างไปจากเดิม  ผู้ชมจะใช้ประสบการณ์ของตัวเองตีความการเต้นรำแตกต่างกันไป ผู้ชมอาจเป็นคนในหมู่บ้านเดียวกัน หรือเป็นคนจากที่อื่น ซึ่งอาจไม่เคยเห็นการแสดงแบบนี้มาก่อนและไม่ว่าบริบททางวัฒนธรรมของชาวบาหลีเลย

          การเคลื่อนไหวของร่างกายที่มีระเบียบแบบแผนตายตัวอาจมีความหมายบางอย่าง ทั้งนี้อาศัยการเล่านิทาน ตำนาน นวนิยาย การเปรียบเทียบ หรือ ใช้สัญลักษณ์  การเคลื่อนไหวอาจเป็นเครื่องหมาย เป็นสัญลักษณ์ หรือการสื่อให้รู้ถึงบางสิ่งบางอย่าง หรืออาจเป็นทั้งสัญลักษณ์และการสื่อความ   การเคลื่อนไหวเป็นสิ่งประดิษฐ์ทางวัฒนธรรมซึ่งประกอบด้วยความคิดที่มีบริบททางวัฒนธรรมเป็นตัวควบคุม  การเคลื่อนไหวจึงเป็นสิ่งที่มีเป้าหมายบางอย่าง   ท่วงท่าของการเคลื่อนไหวอาจเป็นสิ่งที่ได้รับความชื่นชมจากผู้ดูในฐานะเป็นงานศิลปะ หรือผลงานของมนุษย์  การเคลื่อนไหวร่างกายอาจเป็นความบันเทิงเริงรมย์ อาจเป็นเครื่องมือสื่อสารทางการเมืองหรือประเด็นทางสังคม  อาจเป็นการแสดงสภาวะศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนา และอาจเป็นการทำงานทางสังคมก็ได้

          แบบแผนการเคลื่อนไหวที่มาจากพระเจ้าหรือบรรพบุรุษอาจเป็นแบบแผนที่ดำรงอยู่ถาวร เช่นเดียวกันการสร้างผลงานทางวัฒนธรรมและการแสดงทางสุนทรียะ ถึงแม้ว่าความหมายของการเคลื่อนไหวจะเปลี่ยนไปตามยุคสมัย  การทำความเข้าใจการเคลื่อนไหวร่างกาย ผู้แสดงและผู้ชมต้องมีความสามารถหรือมีความรู้  ซึ่งความรู้ในการเต้นรำตามแบบโบราณเป็นสิ่งจำเป็นเช่นเดียวกับมีความรู้ในด้านภาษา   ความรู้ยังเกี่ยวข้องกับการเรียนรู้กฎเกณฑ์ แบบแผนของการเต้นรำต่างๆ เช่นเดียวกับการเรียนรู้ไวยกรณ์ของภาษา   ความรู้จะช่วยให้เข้าใจหลักเกณฑ์ของการเคลื่อนไหวร่างกายที่เคยปฏิบัติกันมาตั้งแต่อดีต   การแสดงจึงประกอบด้วยการเคลื่อนไหวร่างกายในขั้นตอนต่างๆ นักแสดงต้องเข้าใจกระบวนการเคลื่อนไหวตั้งแต่ต้นจนจบ   

      ฟรานซ์ โบแอส ล่าวว่าการเต้นรำเกิดขึ้นภายใต้ประสบการณ์ของบุคคล  ในปี ค.ศ. 1922 เรดคลิฟฟ์-บราวน์ ศึกษาชนเผ่าในเกาะอันดามัน  อธิบายรายละเอียดเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวทางร่างกายของชนเผ่า ซึ่งเกิดขึ้นในพิธีต่างๆ และมีหน้าที่ทางสังคม  อีแวนส์-พริทเชิร์ด (1928) ศึกษาการเต้นรำของชนเผ่า อะซันเด โดยกล่าวว่า การเต้นรำมีแบบแผนตายตัว ผู้เต้นจะรู้ว่าต้องเต้นอย่างไร จะเต้นในโอกาสใด ใครมีบทบาทสำคัญในการเต้น และแบบแผนของการเต้นคืออะไร   การเต้นของชาวบ้านอาจจะไม่สอดคล้องกับทฤษฎีของตะวันตก

      ตั้งแต่ทศวรรษที่ 1950 เป็นต้นมา   มีนักมานุษยวิทยาจำนวนมากสนใจเรื่องการเต้นรำ เช่น มาร์เซล มอสส์(1950) ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับเรือนร่างและการเคลื่อนไหวร่างกายในหลายๆวัฒนธรรม    เกอร์ทรูด โพรคอช คูรัธ ศึกษาการเต้นรำที่เป็นผลมาจากบริบททางวัฒนธรรม   เขียนหนังสือเรื่อง Panorama of Dance Ethnology (1960)  ในปี ค.ศ.1968 อลัน โลแม็กซ์ ศึกษาแบบการเคลื่อนไหวร่างกายโดยการเปรียบเทียบและจัดประเภทของการเคลื่อนไหวในวัฒนธรรมต่างๆ ทั้งนี้เขาได้สร้างทฤษฎีเรื่อง choreometrics  ขึ้นมาจัดประเภทของการเคลื่อนไหวร่างกายโดยมีทฤษฎีวิวัฒนาการเป็นพื้นฐาน  โลแม็กซ์ศึกษาการเต้นรำจากภาพยนตร์  เขากล่าวว่าแบบแผนการเต้นรำมีความแตกต่างกันที่ความซับซ้อนของท่วงท่า และเงื่อนไขทางเศรษฐกิจของสังคมนั้นๆ 

       ทั้งนักมานุษยวิทยาอเมริกันและอังกฤษ ต่างใช้แนวคิดของภาษาศาสตร์มาอธิบายการเต้นรำ และทำให้การเต้นรำถูกอธิบายด้วยทฤษฎีโครงสร้าง     การศึกษาโครงสร้างของการเต้นรำ เช่น การศึกษาของกีออร์กี้ มาร์ติน  และเออร์โน่ เปโซว่า ที่ศึกษาการเต้นรำของชาวฮังกาเรียน ซึ่งต่อมาถูกอธิบายให้เป็นระบบมากขึ้นโดยนักวิชาการชาวยุโรปตะวันออกจากสภาดนตรีพื้นบ้านนานาชาติ    นอกจากนั้น เอเดรียน แอล แค็ปเลอร์ยังใช้หลักของภาษาศาสตร์ไปอธิบายการเคลื่อนไหวร่างกายของชาวโพลินีเซียน เพื่อค้นหากฎเกณฑ์ทั่วไป   แต่แค็ปเลอร์ก็ไม่พบกฎเหล่านั้น เพราะว่ากฎมองไม่เห็น  นอกจากมีแต่ความทรงจำเกี่ยวกับการเต้นรำซึ่งเป็นเค้าโครงนำไปสู่การทำความเข้าใจความหมายของการเต้นในท่าต่างๆ 

        ดริด วิลเลียมส์ยังใช้แนวคิดทางภาษามาอธิบายท่วงท่าการเคลื่อนไหวร่างกายของมนุษย์  ทั้งนี้วิลเลียมส์ได้ใช้แนวคิดของเบรนดา ฟาร์แนลล์มาวิเคราะห์ภาษาร่างกาย  ฟาร์แนลล์ทำการศึกษาภาษาสัญลักษณ์ของชนพื้นเมืองในอเมริกา  นอกจากนั้นยังนำแนวคิดของราจิกา  พูรี มาอธิบายท่วงท่าของการใช้มือในการเต้นรำของชาวอินเดียนท้องถิ่นมาอธิบายโครงสร้างของการเต้นรำ

       การสื่อสาร การแสดงอารมณ์ และ สภาวะของจิตใจในการเต้นรำ  เป็นประเด็นที่ได้รับการศึกษาจากฮันนา(1979)  การศึกษาของคริสทีน โลเคน-คิม ศึกษาการแสดงอารมณ์ในการเต้นรำโดยการเปรียบเทียบการเต้นรำเหมือนการเผชิญหน้ากับคนแปลกหน้า  ประเด็นอื่นๆที่มีการศึกษาได้แก่ เรื่องเพศสภาพของการเต้นรำ การต่อรองกับจารีตประเพณี  ความสัมพันธืระหว่างกายกับจิต ศิลปะการป้องกันตัว การท่องเที่ยว ความผสมผสานทางวัฒนธรรมในเขตเมือง และความเป็นอเมริกัน   จุดประสงค์ของการวิจัยทางมานุษยวิทยาต่อเรื่องการเต้นรำและการเคลื่อนไหวร่างกายของมนุษย์มิใช่เป็นเพียงการอธิบายการมีอยู่ของการเต้นรำในวัฒนธรรมเท่านั้น แต่เป็นการศึกษาที่ต้องการทำความเข้าใจสังคมโดยวิเคราะห์ระบบของการเคลื่อนไหวทางสรีระ   นักมานุษยวิทยาจำนวนมากสนใจความหมาย ความรู้สึกทางความคิด และการให้คุณค่า ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะมีอยู่ในกิจกรรมต่างๆซึ่งมีการเคลื่อนไหวร่างกายเป็นส่วนประกอบ  นักมานุษยวิทยาสนใจที่จะถามว่าการเคลื่อนไหวนั้นทำอย่างไร มีความหมายอย่างไร และการศึกษาเรื่องนี้จะทำให้เราเข้าใจสังคมได้หรือไม่


ผู้เขียน: ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ

เอกสารอ้างอิง:

David Levinson ,Melvin Ember .(eds.) 1996. Encyclopedia of Cultural Anthropology. Henry Holt and Company. New Yrok. .Pp.309-312.

John Blacking. 1984. “Dance as Cultural System and Human Capability: An Anthropological Perspective.” in Dance, A Multicultural Perspective. Report of the Third Study of Dance Conference, ed. J. Adshead, 4-21.

Kaeppler, Adrienne L. 2000. Dance Ethnology and the Anthropology of Dance. Dance Research Journal. Vol.32, No.1, pp.116-125.


หัวเรื่องอิสระ: การเคลื่อนไหวร่างกายเชิงชาติพันธุ์