คำศัพท์

Diasporas

        Diasporas หมายถึง คนพลัดถิ่น เป็นกลุ่มประชากรที่กระจัดกระจายย้ายถิ่นไปอยู่ในพื้นที่ที่มิใช่บ้านเกิดและชุมชนดั้งเดิมของตัวเอง กลุ่มคนที่ย้ายออกไปจากที่อาศัยเดิมเหล่านี้อาจจะมีเหตุผลทางประวัติศาสตร์ การเมือง สงคราม ความขัดแย้ง การค้าขาย และเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม กลุ่มคนที่ย้ายออกไปจากบ้านเกิดบางกลุ่มอาจยังคงมีสายสัมพันธ์ที่เหนียวแน่นกับญาติพี่น้องและชุมชนดั้งเดิมของตัวเอง แต่บางกลุ่มอาจไม่มีสายสัมพันธ์กับดินแดนบ้านเกิด

          รากศัพท์คำว่า diaspora มาจากภาษากรีก ซึ่งหมายถึงชาวยิวที่อาศัยอยู่อย่างกระจัดกระจายในสังคมของชาวเจนไทลส์ในสมัยของพระเยซู จนถึงต้นต้นคริสต์ศตวรรษ    นอกจากนั้นคำว่า diaspora เป็นคำของชาวฮิบบรูที่ใช้เรียกพวกที่ถูกเนรเทศและพวกที่อพยพ  ในสมัยโรมัน diaspora หมายถึงชาวยิวที่อาศัยอยู่อย่างโดดเดี่ยวเนื่องจากถูกโจมตีและฆ่าล้างเผ่าพันธุ์จนต้องเร่ร่อนไปในอยู่ที่ต่างๆ  ในเวลาต่อมาชาวยิวที่เป็นพ่อค้าและมีฐานะร่ำรวยได้เข้ามาช่วยชาวยิวด้วยกันก่อตั้งเป็นชุมชนอยู่นอกเมืองปาเลสไตน์  ซึ่งชุมชนของชาวยิวในที่แห่งนี้ถูกเรียกโดยชาวฮิบบรูว่าเป็น ชุมชนของ เตฟูโซต์  

          ในคริสต์ศตวรรษที่ 17  แนวคิดเรื่อง diaspora ขยายไปสู่กลุ่มคนทางศาสนา ได้แก่ ชาวอาร์เมเนียนส์ ชาวปาเลสไตน์ และชาวฮูกิวน็อตส์     ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 16-17 ภาษาอังกฤษมีคำว่า refugee หรือคนอพยพ ใช้เรียกชาวฮูกิวน็อตส์ที่ต้องการอพยพออกไปอยู่ที่อื่น  ชาวอาร์เมเนียนและชาวปาเลสไตน์ที่เร่ร่อนเป็นพวกที่ใกล้เคียงกับชาวยิวที่เร่ร่อน คนเหล่านี้เป็นพวกที่มีภาษาและศาสนาเดียวกัน มีประวัติศาสตร์เกี่ยวกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และการถูกทำร้ายเหมือนกัน  ทั้งชาวปาเลสไตน์และอาร์เมเนียนมีอาชีพค้าขายเป็นหลักและอาศัยอยู่ในดินแดนนอกบ้านเกิดของตนเองเช่นเดียวกับชาวยิว

          แนวคิดเรื่อง diaspora ในทางมานุษยวิทยามีส่วนเกี่ยวข้องกับแนวคิดทางศาสนาแต่ไม่เหมือนกันทีเดียว   กล่าวคือ diaspora ทางมานุษยวิทยาหมายถึงชุมชนของผู้อพยพ ที่มีความเป็นชาติพันธุ์ร่วมกัน แต่อาศัยอยู่ในดินแดนที่มิใช่บ้านเกิดของตัวเอง คนเหล่านี้อาศัยอยู่กระจัดกระจายในสังคมอื่น แต่มีการร่วมตัวกันเพื่อธำรงและสร้างวัฒนธรรมของตัวเองอย่างมีเอกลักษณ์  สมาชิกในชุมชนผู้อพยพเหล่านี้จะรู้สึกว่าตนเองไม่ได้รับการยอมรับจากเจ้าของดินแดนที่พวกเขาอาศัยอยู่  ผู้อพยพมองว่าดินแดนบ้านเกิดของเขาคือที่อยู่อาศัยที่แท้จริง และหวังว่าวันหนึ่งจะเดินทางกลับไปที่นั่น  ผู้อพยพพลัดถิ่นจึงยึดมั่นในดินแดนบ้านเกิดอย่างเหนียวแน่น และพยายามสร้างความทรงจำ ตำนาน และประวัติศาสตร์เกี่ยวกับดินแดนเกิดของตนเอง

          ผู้อพยพพลัดถิ่นยังหมายถึง คนที่ถูกเนรเทศออกจากบ้านเกิด กลุ่มคนอพยพ กลุ่มคนเร่ร่อนที่ไม่มีสัญชาติ ซึ่งอาศัยรวมตัวกันเป็นชุมชนแต่ยังคงมีการติดต่อกับบ้านเกิด  สิ่งที่แตกต่างกันในกลุ่มคนพลัดถิ่นนี้คือเรื่องของฐานะ     คำว่า คนถูกถอดสัญชาติอาจหมายถึงคนที่ไม่มีชาติ  คนเปลี่ยนถิ่นอาจหมายถึงคนที่หาที่ทำงานใหม่หรือที่เรียนใหม่ คนอพยพหมายถึงคนไม่มีสมบัติเป็นของตัวเอง  และคนถูกเนรเทศทางการเมือง หมายถึงคนที่ถูกตัดขาดจากบ้านเกิดเมืองนอน  ชุมชนของคนพลัดถิ่นจึงประกอบด้วยคนในลักษณะต่างๆที่กล่าวมาแล้ว คนเหล่านั้นมักจะมีความคิดและสำนึกร่วมกันบางอย่าง สำนึกนั้นอาจมาจากการมีความทรงจำเดียวกัน และมีจินตนาการเหมือนกัน

          คนหลายกลุ่ม ทั้งที่สร้างอัตลักษณ์ให้ตนเอง หรือถูกหยิบยื่นอัตลักษณ์โดยคนอื่น เช่น ชาวเติร์กในเยอรมัน ชาวอิหร่านในสแกนดิเนเวีย ชาวแม็กรีบีส และชาวโปรตุเกสในฝรั่งเศส ชาวอินเดียในประเทศอังกฤษ  ชาวแอฟริกันผิวดำในอเมริกา ชาวกรีก ชาวไอริช ชาวอิตาลี ชาวโปล์ ชาวคิวบาในอเมริกา คนจีนในอเมริกา คนจีนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ชาวเอเชียในอูกานดา ชาวยิปซีในเอชเยและยุโรป   และชาวมายาในกัวเตมาลา  ประวัติศาสตร์ของคนพลัดถิ่นเหล่านี้มีความแตกต่างกัน

          ตัวอย่างเช่น คนผิวดำในอเมริกาอาจมีประวัติศาสตร์คล้ายกับชาวยิว ชาวปาเลสไตน์ และชาวอาร์เมเนีย ซึ่งถูกขับไล่ออกจากบ้านเกิดของตนเองและอพยพกรจัดกระจายไปอยู่ที่อื่น  แต่ชาวผิวดำในอเมริกาไม่อาจระบุดินแดนเกิดได้ชัดเจนเหมือนชาวยิว   และตำนานเกี่ยวกับการกลับไปบ้านเกิดของคนผิวดำก็ถูกเปลี่ยนไปเป็นการดิ้นรนเรียกร้องเสรีภาพของชาวแอฟริกัน   ชุมชนคนพลัดถิ่นชาวมายาในเม็กซิโกและสหรัฐก็มีประวัติศาสตร์เกี่ยวกับการทารุณกรรมและ การค้าขายใกล้เคียงกับชาวยิว และอาร์เมเนีย   ในช่วงทศวรรษที่ 1980 ชาวมายาจำนวนมากได้อพยพกระจัดกระจายออกจาประเทศกัวเตมาลาเข้าไปอยู่ในเม็กซิโก หรือกลายเป็นคนต่างด้าวในสหรัฐ   คนพลัดถิ่นชาวคิวบาอพยพจากไมอามี่ไปอยู่ในสเปนหลังจากที่ฟีเดล คาสโทรขึ้นปกครองประเทศในปี ค.ศ.1958 คล้ายๆกับชาวมายาที่อพยพไปอยู่ที่อื่นด้วยเหตุผลทางการเมือง

          ชุมชนเล็กๆ เช่น ชุมชนชาวเติร์กในเยอรมัน   ชุมชนชาวแม็กรีบีสและชาวโปรตุเกสในฝรั่งเศส  เกิดขึ้นมาด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจมากกว่าเหตุผลทางการเมือง  ถึงแม้ว่าชาวโปรตุเกสและชาวแม็กรีบีสจะต่างไปจากคนพลัดถิ่นประเภทอื่นๆ แต่พวกเขาก็ยังมีสำนึกของการเป็นคนพลัดถิ่น และปรารถนาที่จะกลับบ้านเกิดเช่นกัน  ตัวอย่างผู้พลัดถิ่นชาวไอรัชและชาวกรีกในอเมริกา ถึงแม้ว่าพวกเขาจะปรับตัวเข้ากับสังคมอเมริกันได้ดี แต่พวกเขาก็มีวัฒนธรรมเป็นของตัวเอง และมีสำนึกว่าตนคือคนข้ามสัญชาติ  ชาวไอริชและชาวกรีกมีการร่วมตัวกันเป็นสมาคมเพื่อทำกิจกรรมร่วมกัน   ชาวไอริชในอเมริกามีความคิดว่าบ้านเกิดคือประเทศไอร์แลนด์ แต่ชาวกรีกคิดว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งของชาวเฮลเลนิคที่พลัดถิ่นในที่ต่างๆซึ่งมิใช่เพียงดินแดนรัฐชาติกรีกในปัจจุบัน

          ในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 20  คนพลัดถิ่นอพยพข้ามพรมแดนไปอยู่ในที่ต่างๆในลักษณะเป็นชุมชนที่ไม่มีรัฐ หรือสังคมที่ผสมผสานหลายวัฒนธรรม  ชุมชนแบบนี้มีการอ้างถึงบ้านเกิดมากกว่าหนึ่งแห่ง  อัตลักษณ์ของคนประเภทนี้ถูกสร้าง หรือฟื้นฟูมาจากวัฒนธรรมหลายๆแบบ โดยอาศัยสื่อ เช่น วิทยุ โทรทัศน์  ภาพยนตร์ หนังสือ นิตยสาร ดนตรี และการแสดง

          การผสมปนเปของวัฒนธรรมที่หลากหลายก่อให้เกิดอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมแบบข้ามชาติ ซึ่งท้าทายแนวคิดเรื่องวัฒนธรรมในทางมานุษยวิทยา ซึ่งเคยเชื่อว่าวัฒนธรรมต้องอยู่ติดกับพื้นที่   อัตลักษณ์ของคนพลัดถิ่นจึงมีการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย โดยขึ้นอยู่กับบริบททางวัฒนธรรมและการเมือง  การอพยพโยกย้ายถิ่นของคนจำนวนมากช่วยให้มองเห็นธรรมชาติทางสังคมของพื้นที่ซึ่งถูกมนุษย์สร้างและใช้ตามยุคสมัย  ในชุมชนของคนพลัดถิ่นหลายแห่ง สำนึกเกี่ยวกับตัวตนและวัฒนธรรมมีความแตกต่างกัน เช่นเดียวกับเรื่องตำนานและการกลับไปบ้านเกิด  สิ่งเหล่านี้ถูกสร้างขึ้นและเปลี่ยนแปลงไปโดยเงื่อนไขที่มีพลังขับเคลื่อน


ผู้เขียน: ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ

เอกสารอ้างอิง:

Braziel, Jana Evans. 2008. Diaspora - an introduction. Malden, MA: Blackwell.

Brubaker, Rogers 2005. "The 'diaspora' diaspora". Ethnic and Racial Studies 28 (1): 1–19.

Cohen, Robin 2008. Global Diasporas: An Introduction (2nd ed.). Abingdon: Routledge.

David Levinson ,Melvin Ember (eds.) Encyclopedia of Cultural Anthropology. Henry Holt and Company, New York. 1996.pp.341-342.

Shain, Yossi, 2007. Kinship and Diasporas in International Politics, Michigan University Press.


หัวเรื่องอิสระ: คนพลัดถิ่น