คำศัพท์

Anthropology of Opium, Cannabis and Tobacco

สังคมของการใช้ฝิ่น กัญชาและยาสูบ

บันทึกประวัติศาสตร์เกี่ยวกับการใช้กัญชาพบในประเทศจีนในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 200 รวมทั้งยังเชื่อว่ากัญชาถูกใช้เป็นพืชสำหรับพิธีกรรมทางศาสนาเพื่อติดต่อกับวิญญาณสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของชนพื้นเมืองในเขตเอเชียกลาง ในวัฒนธรรมอินเดียและฮินดูโบราณเชื่อว่ากัญชา (ganja) เป็นพืชที่ใช้สำหรับรักษาโรค (Russo, 2005) ในเขตวัฒนธรรมฮิบบรูและอัสซีเรีย มีการนำกัญชามาใช้ในพิธีกรรมต่างๆ กัญชาจึงดำรงอยู่ในเขตวัฒนธรรมเอเชียหลายแห่ง (Barre, 1977) ในช่วงต้นคริสต์ศวรรษที่ 20 กัญชาถูกนำมาใช้ในสังคมอเมริกันโดยแรงงานชาวเม็กซิโก ซึ่งชาวผิวดำในเขตภาคใต้ของสหรัฐจะสูบกัญชาร่วมกับการเล่นดนตรีแจ๊ซ ความนิยมการสูบกัญชาจึงแพร่กระจายในหมู่ชนชั้นแรงงานที่ทำงานบริเวณท่าเรือและเป็นสัญลักษณ์ของคนที่ชอบเที่ยวบาร์เหล้า ในเวลานั้นคนผิวขาวที่รังเกียจคนผิวดำจึงมองกัญชาเป็นสิ่งที่เลวร้ายและบ่อนทำลายสังคม ในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 กัญชาจึงเป็นสัญลักษณ์ของชนชั้นล่างที่มีชีวิตยากจน จนกระทั่งในทศวรรษ 1960 กัญชาเป็นที่นิยมในกลุ่มหนุ่มสาวชนชั้นกลางซึ่งพวกเขามีความคิดท้าทายระเบียบสังคมและแสวงหาเสรีภาพ

Newhart and Dolphin (2019) กล่าวว่าการใช้กัญชาคือภาพสะท้อนสังคมในคริสต์ศตวรรษที่ 20 เนื่องจากพืชชนิดนี้ถูกสร้างความหมายต่อประสบการณ์ของมนุษย์จากด้านลบไปจนถึงด้านคุณประโยชน์ กัญชาจึงมีภาพย้อนแย้งในตัวเอง ในการศึกษาประสบการณ์ของคนป่วยที่ใช้กัญชารักษาโรค ทำให้ Newhart and Dolphin (2019) เห็นว่ากัญชาคือพืชที่ถูกความรู้ทางการแพทย์นำไปใช้เป็นยาโดยที่ผู้ป่วยต่างมองพืชดังกล่าวเป็นส่วนที่สร้าง เกื้อกูล เยียวยา ประคับประคอง และต่อลมหายใจให้พวกเขา ในแง่นี้ กัญชาจึงเกี่ยวโยงอยู่กับกระบวนการกลายเป็นความรู้ทางการแพทย์ที่ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ (incomplete medicalization) กล่าวคือ พืชชนิดนี้ถูกให้คุณค่าด้วยความรู้ที่โต้แย้งกันระหว่างโทษและประโยชน์ ทำให้คุณสมบัติและสรรพคุณของกัญชามีข้อถกเถียงแบบปลายเปิด นั่นหมายถึง กัญชาเป็นทั้งยาเสพติดที่ให้ผลร้ายต่อสุขภาพและเป็นประโยชน์ต่อการรักษาโรคบางชนิด เป็นทั้งพืชเศรษฐกิจที่สร้างรายได้และเป็นทั้งสิ่งต้องห้ามที่ถูกควบคุมด้วยกฎหมาย

Newhart and Dolphin (2019) อธิบายว่ามุมมองของคนป่วย กัญชาคือพืชที่เป็นยารักษาโรคและทำให้ชีวิตของพวกเขาดำเนินต่อไปได้ ในขณะที่มุมมองของเภสัชกร อธิบายกัญชาในฐานะเป็นพืชที่ต้องใช้ด้วยความระมัดระวัง Chapkins and Webb (2008) ตั้งข้อสังเกตว่ากระบวนทัศน์ทางเภสัชศาสตร์ที่มีอิทธิพลต่อการสร้างนิยามทางการแพทย์ของกัญชาได้สถาปนาคู่ตรงข้ามระหว่างโมเลกุลพืชบางส่วนที่ถูกสกัดเป็นยากับพืชทั้งต้นในธรรมชาติที่นำไปใช้ทางการแพทย์ คู่ตรงข้ามนี้ทำให้เห็นพืชที่ต่างกันสองมิติ มิติแรกคือพืชที่ถูกตัดแยกเป็นส่วนย่อย มิติที่สองคือพืชที่มีองค์ประกอบครบทุกส่วน ความคิดของนักวิทยาศาสตร์และเภสัชกรมักจะมองพืชแบบแยกส่วนและให้ความสำคัญองค์ประกอบทางเคมีที่เป็นพิษและเป็นประโยชน์ทางสุขภาพ อาจกล่าวได้ว่ากระบวนการที่ทำให้กัญชาเป็นวัตถุทางการแพทย์ มักจะมีคำตอบสำเร็จรูปว่าสารเคมีที่อยู่ในกัญชาจะต้องได้รับการรับรองความปลอดภัย แต่สิ่งที่เป็นองค์รวมของกัญชาจะถูกมองข้ามไป

จากประสบการณ์ของผู้ป่วยที่ใช้กัญชาเป็นยารักษาโรค ผู้ป่วยมิได้มองแค่เรื่องสารเคมีในกัญชา แต่มองเห็นกัญชาที่สัมพันธ์กับวิธีการรักษา การดูแลสุขภาพ การใส่ใจของแพทย์ พยาบาลและญาติพี่น้อง กัญชาจึงดำรงอยู่ท่ามกลางความสัมพันธ์ทางสังคมที่หลากหลายซึ่งมีความหมายต่อการมีชีวิตที่ดีขึ้นของผู้ป่วย ในประเด็นนี้ Newhart and Dolphin (2019) กล่าวว่ามิติสังคมของกัญชาไม่ควรถูกลดทอนให้เหลือเพียงองค์ประกอบทางเคมีและสสารที่อยู่ในกัญชา กล่าวคือ การใช้กัญชาของคนกลุ่มต่างๆ จำเป็นต้องชี้ให้เห็นกิจกรรมทางสังคมที่มนุษย์มีต่อกัญชา รวมถึงลักษณะเฉพาะของกลุ่มคนที่อาศัยกัญชาเพื่อบรรเทาอาการเจ็บป่วยจากโรค โดยเฉพาะกลุ่มวัยกลางคนที่มีฐานะยากจน คนเหล่านี้ใช้กัญชาเป็นยาสมุนไพรที่ราคาไม่แพง ซึ่งสามารถช่วยให้พวกเขามีสุขภาพที่ดี ถือเป็นทางเลือกสำหรับคนจนที่ไม่มีเงินเพียงพอสำหรับซื้อยาที่มีราคาแพง

ในกรณีของยาสูบ การศึกษาของ Russell (2019) อธิบายว่ายาสูบมิได้เป็นเพียงวัตถุที่มนุษย์นำมาใช้ประโยชน์ แต่มันยังเป็นผู้กระทำการและมีบทบาทสำคัญทางสังคม ยาสูบในฐานะพืชชนิดหนึ่งมีโลกของตัวเองต่างไปจากโลกของมนุษย์ กล่าวคือ ในวัฒนธรรมพื้นเมืองในเขตอเมริกา ยาสูบคือพืชที่มีจิตวิญญาณและมีอิทธิพลต่อการดำเนินชีวิตของมนุษย์ (Hall, 2011; Kohn, 2013) ในช่วงประวัติศาสตร์ของมนุษย์ ยาสูบจะถูกนำมาใช้ในเงื่อนไขต่างๆ ทั้งในการประกอบพิธีกรรม การเป็นสินค้ามวลชนที่สร้างกำไรให้กับบริษัทผลิตบุหรี่ เป็นสมุนไพรสำหรับรักษาโรค เมื่อชาวตะวันตกนำยาสูบไปใช้ในอุตสาหกรรมตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 15 นับแต่นั้น ยาสูบกลายเป็นพืชเศรษฐกิจและแพร่กระจายไปทั่วโลก Russell (2019) ชี้ให้เห็นว่ายาสูบถูกให้คุณค่าและควาหมายเปลี่ยนไปตามช่วงเวลา ตั้งแต่การเป็นพืชที่ใช้เป็นยาและประโยชน์ทางการแพทย์ พืชที่ทำลายสุขภาพ พืชที่สร้างความสุขและความรื่นรมย์ ความหมายเหล่านี้ถูกนำเสนอผ่านกิจกรรมสังคม จนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 17 ยาสูบกลายเป็นพืชที่พบได้ในหลายพื้นที่ ในเวลานี้มันจะถูกนิยามว่าเป็นพืชที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมเบี่ยงเบนและการกระทำของปีศาจ นอกจากนั้น ในประเทศอังกฤษ ยาสูบกลายเป็นพืชเศรษฐกิจที่สร้างรายได้มหาศาลและทำให้อังกฤษเป็นประเทศที่ร่ำรวยและมีอำนาจมากขึ้น

ในช่วงยุคเรืองปัญญา (Enlightenment) (คริสต์ศตวรรษที่ 17-18) ชาวยุโรปมีการปฏิวัติความรู้ทางวิทยาศาสตร์และขยายอิทธิพลทางการเมืองและเศรษฐกิจไปในดินแดนต่างๆ ทั่วโลก ยาสูบจะกลายเป็นพืชที่บ่งบอกถึงอำนาจของทุนนิยมแบบตะวันตก ขณะเดียวกันก็ถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ที่แบ่งแยกโลกที่ต่างกันระหว่างความศิวิไลซ์กับความล้าหลัง ส่งผลให้ชนพื้นเมืองที่ใช้ยาสูบในชีวิตประจำวันถูกมองเป็นพวกไร้เหตุผลเนื่องจากสูบยาจนมีสุขภาพที่อ่อนแอ เมื่อชาวตะวันตกมองวิธีการใช้ยาสูบของชนพื้นเมืองเป็นดั่งคนที่ติดยาจนไร้ความสามารถ ทำให้เกิดการตีตราวัฒนธรรมของคนพื้นเมืองในเชิงลบ ในทางตรงกันข้าม หากชาวตะวันตกใช้ยาสูบที่ผ่านกระบวนการผลิตในโรงงานอุตสาหกรรมและเป็นสินค้าของพวกผู้ดีและมีฐานะทางเศรษฐกิจ การสูบบุหรี่ของชาวตะวันตกจะถูกมองว่าเป็นรสนิยมของผู้มีอันจะกิน การใช้ยาสูบที่ต่างกันระหว่างชาวตะวันตกกับคนพื้นเมืองจึงกลายเป็นการแบ่งแยกมนุษย์ให้มีศักดิ์ศรีที่ไม่เท่ากัน

Viveiros de Castro (1998) กล่าวว่าในวัฒนธรรมของคนพื้นเมืองในทวีปอเมริกา พวกเขามีวิธีการมองโลกที่ต่างไปจากชาวตะวันตก ทัศนะต่อการมีตัวตนและการใช้ชีวิตของคนเหล่านี้มิได้จำกัดอยู่กับมนุษย์ แต่สิ่งต่างๆในธรรมชาติล้วนมีตัวตน เช่นเดียวกับยาสูบที่มีจิตวิญญาณ มนุษย์จึงมิได้แยกขาดจากสิ่งต่างๆในธรรมชาติ แต่ทุกสิ่งล้วนพึ่งพาอาศัยกัน ตรงข้ามกับวิธีคิดแบบเหตุผลวิทยาศาสตร์ของตะวันตกที่ได้แยกมนุษย์ออกจากธรรมชาติ ดังนั้น การประณามยาสูบของคนพื้นเมืองว่าเป็นสิ่งที่สกปรกและอันตรายก็เท่ากับเป็นการนำเอาวิธีคิดตะวันตกไปตัดสินการดำรงอยู่ของยาสูบในโลกที่ต่างไป Russell (2019) กล่าวว่าในคริสต์ศตวรรษที่ 20 ยาสูบคือสินค้าในระบบอุตสาหกรรมบุหรี่ที่เสริมระบบอำนาจชายเป็นใหญ่ จนกระทั่งเกิดการเรียกร้องสิทธิสตรีในสังคมตะวันตก บุหรี่ถูกใช้เป็นสัญลักษณ์เสรีภาพและการปลดปล่อยผู้หญิงให้เป็นอิสระจากการควบคุมของผู้ชาย และในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 20 ในขณะที่บริษัทบุหรี่กำลังมีรายได้มหาศาล ก็มีการเคลื่อนไหวจากสาธารณสุขและการแพทย์ที่พยายามรณรงค์ให้ประชาชนงดสูบบุหรี่ในที่สาธารณะและเลิกบุหรี่เพื่อหลีกหนีการเป็นโรคร้ายหลายชนิด ภายใต้การรณรงค์ดังกล่าวทำให้เกิดการสร้างความหมายใหม่ของบุหรี่และยาสูบว่าเป็นเหมือนสิ่งที่เป็นพิษร้ายแรง เสมือนฆาตกรเงียบ คนสูบบุรี่จะถูกมองเป็นคนที่ไม่ดี

คู่ขัดแย้งระหว่างอุตสหกรรมบุหรี่กับขบวนการต่อสู้ทางสุขภาพ คือภาพสะท้อนเชิงการเมืองในยุคโลกาภิวัตน์ ยาสูบและบุหรี่จะเป็นสัญลักษณ์ที่มีความย้อนแย้งในตัวเอง ในด้านหนึ่ง บุหรี่จะเป็นเครื่องหมายของผู้มีรสนิยมและความสุขสำราญ แต่อีกด้านหนึ่งมันถูกตีตราว่าเป็นความเลวทรามและตัวการที่ทำร้ายชีวิต ในขณะเดียวกัน ในวัฒนธรรมท้องถิ่นของคนพื้นเมืองในอเมริกาก็มีความพยายามที่จะฟื้นฟูคูรค่าของยาสูบขึ้นมาใหม่ เนื่องจากเป็นพืชที่มีความสำคัญในพิธีกรรมและจิตวิญญาณ ความไม่ลงรอยดังกล่าวนี้สะท้อนว่ายาสูบคือผู้กระทำการทางสังคมที่สามารถทำให้มนุษย์พบกับความปั่นวุ่นวุ่นวายและความอภิรมย์ บริบททางวัฒนธรรมของการใช้ยาสูบในสังคมมนุษย์ในพื้นที่ต่างๆ คือบทเรียนสำคัญต่อการทบทวนความสัมพันธ์และปฏิบัติร่วมกันระหว่างมนุษย์กับยาสูบ

การศึกษาของ Aurin (2000) ทำความเข้าใจวัฒนธรรมและการเมืองของการใช้ฝิ่นในประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งสะท้อนชนชั้นทางสังคมและวิถีชีวิตของคนที่แตกต่างหลากหลาย ฝิ่นจะถูกให้คุณค่าและมีความหมายแตกต่างกัน ตั้งแต่การเป็นยารักษาโรค การเป็นสิ่งเสพติดที่มีพิษร้ายแรง การเป็นสินค้าที่ผิดกฎหมาย เป็นยาที่อยู่ในวงจรของอาชญากรรม เป็นสัญลักษณ์ของศิลปินที่แหกจารีตประเพณี เป็นความเสื่อมทางสังคม เป็นเครือข่ายของนักเลงและอันธพาล ความหมายเหล่านี้ดำรงอยู่กับวาทกรรมทางสังคมที่คนกลุ่มต่างๆนำไปใช้ตอบโต้และต่อรองในอัตลักษณ์ ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 ความรู้ทางการแพทย์มีอำนาจชี้นำและสร้างวาทกรรมให้กับการใช้ฝิ่นในฐานะเป็นยาที่ส่งผลต่อร่างกาย ทำให้ผู้ใช้ฝิ่นมีอาการเสพติด ฝิ่นที่สกัดเป็นมอร์ฟีนจึงเป็นยาที่ถูกควบคุมด้วยแพทย์ซึ่งถูกใช้รักษาผู้ป่วยในบางกรณี ต่อมานักการเมืองได้นำฝิ่นมาเป็นเครื่องมือทางการเมืองโดยสร้างกฎเกณฑ์และข้อห้ามเพื่อป้องกันและลงโทษขบวนการค้าฝิ่นข้ามชาติ พร้อมกับตอกย้ำความหมายของฝิ่นในฐานะเป็นยาเสพติดที่บ่อนทำลายสังคมและศีลธรรมของประชาชน มีการตอกย้ำความเลวของผู้สูบฝิ่นและเฮโรอีน ทำให้สังคมมีภาพจำว่าคนกลุ่มนี้คือคนที่รังเกียจ จิตแพทย์ได้อธิบายพฤติกรรมของคนติดเฮโรอีนที่ขาดสติและมีร่างกายที่เสื่อมโทรม ความน่าเกลียดและน่ากลัวของฝิ่นและเฮโรอีนส่งผลให้รัฐเข้าไปจัดการและจับกุมผู้ค้าและผู้เสพ

Aurin (2000) อธิบายว่าการกลายเป็นยาเสพติดของฝิ่นและเฮโรอีนในกฎหมายของสหรัฐอเมริกาคือกลไกของความรู้ทางการแพทย์ ซึ่งเป็นอำนาจรัฐที่เข้ามาจัดระเบียบชีวิตของพลเมือง ทำให้ผู้ใช้ฝิ่นกลายเป็นคนชั่ว เป็นอาชญากร และเป็นคนที่บ่อนทำลายสังคม ความรู้ทางการแพทย์และจิตเวชศาสตร์ถูกนำมาอธิบายผลกระทบทางร่างกายและสภาพจิตของผู้ใช้ฝิ่นและเฮโรอีน ซึ่งถือเป็นวิธีการผูกขาดอำนาจของแพทย์ เช่นเดียวกับการศึกษาของ Gillogly (2008) พบว่ารัฐไทยมีการปราบปรามและสั่งห้ามการปลูกฝิ่นที่อยู่ในเครือข่ายกลุ่มชาติพันธุ์ภาคเหนือตั้งแต่ทศวรรษ 1970 เป็นต้นมา เนื่องจากรัฐไทยถูกกดดันจากนานาชาติโดยเฉพาะประเทศมหาอำนาจตะวันตกที่มีมาตรการป้องกันและปราบปรามการค้ายาเสพติดที่เข้มงวด ในบริบทสังคมไทย การปรามปรามการปลูกและการค้าฝิ่นในกลุ่มชาติพันธุ์ยังเป็นการควบคุมกลุ่มชาติพันธุ์ให้ปฏิบัติตามบรรทัดฐานของรัฐไทยโดยนำชาติพันธุ์เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาชนบท การที่กลุ่มชาติพันธุ์ร่วมมือกับรัฐไทยส่งผลให้ชุมชนของพวกเขาได้เข้าถึงสิทธิและระบบสาธารณูปโภค ขณะเดียวกันก็ทำให้กลุ่มชาติพันธุ์มีที่ทำกินที่มั่นคง

ฝิ่น กัญชาและยาสูบกับการควบคุมชีวิตตัวเอง

ตัวอย่างการศึกษาของ Baciu (2018) ชี้ว่าประสบการณ์ของวัยรุ่นในประเทศโรมาเนีย มองว่าการใช้กัญชาได้สร้างความรู้สึกที่แปลกใหม่ พวกเขาคิดว่าการสูบกัญชาสร้างตัวตนที่ต่างไปจากคนอื่น รวมถึงยังทำให้พวกเขารู้สึกสบายใจจากความเครียดในปัญาหาครอบครัว ทำให้ได้มีเพื่อนที่รู้ใจ การศึกษาของ Mostaghim and Hathaway (2013) อธิบายว่ากลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยในประเทศแคนาดาจะมีการสูบกัญชาในงานปาร์ตี้ ซึ่งเป็นช่วงเวลาพิเศษที่เพื่อนๆจะมาร่วมกลุ่มทำกิจกรรมที่ผ่อนคลายและสนุกสนาน รวมทั้งการสูบกัญชามิใช่กิจกรรมที่แยกขาดจากกิจกรรมอื่น นักศึกษาจะสูญกัญชาในขณะที่เล่นเกมคอมพิวเตอร์ และร่วมสังสรรค์ดื่มสุรากับเพื่อนฝูง กิจกรรมเหล่านี้คือช่วงเวลาที่พวกเขากำลังสร้างอัตลักษณ์และสำนึกการเป็นบุคคล การสูบกัญชาไปพร้อมกับเพื่อนและทำกิจกรรมอื่นๆ คือกระบวนการเรียนรู้ทางสังคมที่กลุ่มนักศึกษาสามารถทดลองสิ่งที่แปลกใหม่และอยู่นอกกฎระเบียบ ในแง่นี้ กัญชาจึงมิใช่ยาอันตราย หากแต่เป็นเครื่องมือที่สร้างตัวตน

Waldstein (2010) อธิบายว่าในสังคมอังกฤษ สื่อมวลชนมักนำเสนอกัญชาในฐานะเป็นสิ่งสกปรก ในขณะที่ครัวเรือนต่างๆ พยายามปลูกและนำกัญชามาใช้ในชีวิตประจำวันเพื่อเป็นยาสมุนไพรที่รักษาอาการเจ็บป่วย สังคมอังกฤษมีข้อถกเถียงว่ากัญชามีคุณประโยชน์หรือเป็นอันตรายต่อมนุษย์เมื่อิจาณาจากคุณสมบัติที่เคมีที่ผู้ใช้นำเข้าสู่ร่างกายและเกิดผลกระทบต่อสุขภาพ ประเด็นนี้ทำให้เกิดคนกลุ่มต่างๆโต้แย้งด้วยประสบการณ์ของตัวเองที่เผชิญกับผลข้างเคียงจากกัญชาไม่เหมือนกัน ในขณะที่รัฐบาลอังกฤษอนุญาตให้ประชาชนใช้กัญชาในเชิงการแพทย์ แต่ในเวลาเดียวกันก็ลงโทษผู้ที่ใช้กัญชาเป็นยาสมุนไพร ความลักลั่นนี้สะท้อนมายาคติของกัญชาที่สังคมยังมองว่าเป็นพืชที่อันตราย คาดว่ามีชาวอังกฤษประมาณ 2 ล้านคนที่ใช้กัญชาแบบลับๆเพื่อมิให้ทางการเข้ามาตรวจค้น คนกลุ่มนี้ใช้กัญชาเพื่อเป็นการแพทย์ทางเลือก (Coggans et al., 2004) ความต้องการยาสมุนไพรเพื่อรักษาโรคของชาวอังกฤษคือปรากฎการณ์ที่สะท้อนว่ายาสมัยใหม่ไม่ตอบสนองความต้องการของประชาชนอีกต่อไป พวกเขาจึงแสวงหาพืชสมุนไพรที่ช่วยบรรเทาและรักษาอาการเจ็บป่วย (Taylor, 2008) รวมทั้งยังสะท้อนว่าประชาชนอังกฤษต้องการดูแลสุขภาพของตนเองโดยไม่นำเอาอำนาจควบคุมของแพทย์มาเป็นตัวกำหนดชีวิต ปรากฎการณ์นี้คือโลกทัศน์ของผู้ที่ใช้กัญชาในฐานะเป็นสมุนไพรที่สร้างทางเลือกใหม่ในการมีสุขภาพที่ดี (Jones, 2006)

Waldstein (2010) กล่าวว่าการใช้กัญชาของประชาชน คือวิธีการที่บุคคลแสวงหาทางเลือกสำหรับการดูแลตัวเอง (self-care practices) ซึ่งเขาคิดว่าให้อิสระและสร้างอำนาจแห่งตัวตนโดยไม่ต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบความรู้การแพทย์กระแสหลัก ความรู้สึกพอใจของประชาชนที่มีต่อกัญชาจึงตอกย้ำว่าระบบสาธารณสุขที่รัฐเข้ามาจัดการไม่ตอบสนองชีวิตของประชาชน กัญชาและสมุนไพรพื้นบ้านอีกหลายชนิดจึงอาจเป็นดัชนีที่บ่งบอกว่าประชาชนต้องการการแพทย์ที่ตนเองควบคุมได้ (self-medication) เป็นวิธีการที่ประชาชนต้องการกำหนดชีวิตของตนเองโดยไม่ยอมตกอยู่ใต้บ่งการของรัฐ


ผู้เขียน: ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ

เอกสารอ้างอิง:

Aurin, M. (2000). Chasing the Dragon: The Cultural Metamorphosis of Opium in the United States, 1825-1935. Medical Anthropology Quarterly, 14(3), 414-441.

Baciu, A. (2018). Illegal Drug Use: An Anthropological Drug Phenomenon. Journal of the Anthropological Society of Serbia, 53, 61-69.

Chapkis, W., & Webb, R. (2008). Dying to Get High: Marijuana as Medicine. New York: NYU Press.

Coggans, N., Dalgarno, P., Johnson, L. & Shewan, D. (2004). Long-term heavy cannabis use: implications for health education. Drugs: Education, Prevention and Policy, 11 (4), 299– 313.

Gillogly, K. (2008). Opium, power, people: Anthropological understandings of an opium interdiction project in Thailand. Contemporary Drug Problems, 35(4), 679-715.

Hall, M. (2011). Plants as Persons: A Philosophical Botany. Albany: State University of New York Press. Jones, C. (2006). Cannabis as an alternative medicine. Queens Health Sciences Journal, 8(1), 29–33.

Kohn, E. (2013). How Forests Think: Toward an Anthropology Beyond the Human. Berkeley: University of California Press.

Mostaghim, A. & Hathaway, A. D. (2013). Identity formation, marijuana and “the self”: a study of cannabis normalization among university students. Front. Psychiatry, 4:160. doi: 10.3389/fpsyt.2013.00160

La Barre, W. (1977). Anthropological views of cannabis. Reviews in Anthropology, 4(3), 237-250.

Newhart, M. & Dolphin, W. (2019). The Medicalization of Marijuana: Legitimacy, Stigma and the Patient Experience. New York: Routledge.

Russell, A. (2019). Anthropology of Tobacco Ethnographic Adventures in Non-Human Worlds. London: Routledge.

Russo, E.B. (2005). Cannabis in India: ancient lore and modern medicine. In R. Mechoulam. (Ed.). Cannabinoids as Therapeutics. Basel, Switzerland: Birkhauser Verlag.

Taylor, S. (2008). Medicalizing cannabis – science, medicine and policy, 1950–2004: an overview of a work in progress. Drugs: Education, Prevention and Policy, 15 (5), 462– 474.

Viveiros de Castro, E. (1998). Cosmological deixis and Amerindian perspectivism. Journal of the Royal Anthropological Institute, 4(3), 469–88.

Waldstein, A. (2010). Menace or medicine? Anthropological perspectives on the self‐ administration of high potency cannabis in the UK. Drugs and Alcohol Today, 10(3), 37- 43.


หัวเรื่องอิสระ: ฝิ่น, กัญชา, ยาสูบ, สุขภาพ, วัฒนธรรม, การแพทย์, พืช, สมุนไพร