คำศัพท์

Assemblage

ที่มาของแนวคิด “สภาวะรวมตัว”

แนวคิดเรื่อง “สภาวะรวมตัว” (Assemblage) มาจากความคิดของนักปรัชญาฝรั่งเศส คือ Gilles Deleuze และนักจิตวิเคราะห์ Félix Guattari (1980) ซึ่งเขียนหนังสือเรื่อง A Thousand Plateaus: Capitalism and Schizophrenia โดยเสนอมุมมองเกี่ยวกับ rhizomatic thought ซึ่งอธิบายลักษณะเครือข่ายที่ไม่เป็นระเบียบแบบแผน (nonlinear network) (Mussumi, 1987) เพื่อทำความเข้าใจปรากฎการณ์สังคมที่ดำเนินไปด้วยความโยงใยเชิงสัญลักษณ์ระหว่างสถาบันที่มีการใช้อำนาจ และสถานการณ์ที่สัมพันธ์กับศิลปะ วิทยาศาสตร์ และการต่อสู้ทางสังคมโดยไม่มีระเบียบหรือความเชื่อมโยงที่ชัดเจน การเกาะเกี่ยวกันอย่างไร้ระเบียบและมีความซับซ้อนนี้ สวนทางกับคำอธิบายเรื่องโครงสร้างที่เป็นคู่ตรงข้ามและมีระเบียบที่ลงตัวคงที่ และยังเปิดเผยให้เห็นว่าความสัมพันธ์ที่ไร้ระเบียบข้ามขอบเขตของสิ่งต่างๆโดยหาจุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุดไม่ได้ เครือข่ายที่ไร้ระเบียบดังกล่าวให้ความสำคัญกับการพึ่งพาอาศัยของสิ่งต่างๆ (mutualism) ซึ่งล้วนแล้วแต่ได้ประโยชน์คล้ายกับผึ้งที่ดูดน้ำหวานจากดอกไม้ที่ผึ้งได้อาหารและดอกไม้ได้ผสมพันธุ์ ความคิดนี้ได้เปลี่ยนมุมมองต่อการอธิบายเหตุการณ์ทางสังคมและแบบแผนทางประวัติศาสตร์ โดยชี้ว่าสังคมและวัฒนธรรมมิได้มีลำดับชั้นที่เป็นระเบียบ แต่อยู่ในสภาวะแนวราบ (planar movement) ที่เหตุการณ์ต่างๆที่เคลื่อนที่และดำเนินไปอย่างต่อเนื่องไม่มีจุดเริ่มต้นและจุดสุดท้าย

Deleuze and Guattari อธิบายว่าวัฒนธรรมเคลื่อนที่ไปเหมือนกับระลอกน้ำที่กระจายและกระเพื่อมไปเป็นแนวราบ ระลอกน้ำจะวิ่งไปหาพื้นที่ว่างไม่ว่าจะมีสิ่งใดกีดขวาง น้ำก็จะไหลวนกลับไปกลับมาเพื่อหาช่องที่จะไหลไปยังพื้นที่ว่างอื่นๆ ลักษณะดังกล่าวทำให้ไม่สามารถกำหนดและบ่งชี้ได้ว่ามวลน้ำมีจุดเริ่มของการไหลตรงไหนและหยุดนิ่งตรงไหน วัฒนธรรมมีวิถีในทำนองเดียวกับการไหลของมวลน้ำและเกี่ยวโยงกับสิ่งต่างๆที่น้ำไหลเข้าไปหา หลักคิดของ Deleuze and Guattari จึงเน้นส่วนสำคัญ 6 ประการ คือ 1) การเชื่อมโยงถึงกัน 2) การแสดงความแตกต่างที่ไม่เหมือนกัน (heterogeneity) 3) การมีความหลากหลาย (multiplicity) 4) การมีลักษณะแตกร้าวไม่เป็นเนื้อเดียวกัน (asignifying rupture) 5) การมีลักษณะขยายตัวแผ่ออไปในแนวราบ และ 6) การมีลักษณะจำลองและเลียนแบบ (decalcomania) ด้วยหลักคิดทั้ง 6 ประการนี้นำไปสู่คำอธิบายเกี่ยวกับพรมแดนอาณาบริเวณของพื้นที่ ซึ่งมีอิทธิพลต่อการศึกษาระบบนิเวศ สิ่งแวดล้อมการดำรงอยู่ของธรรมชาติ วัฒนธรรมประชานิยม และชีวิตทางสังคม

จากความคิดเกี่ยวกับสภาวะรวมตัวที่ไร้ระเบียบทำให้เกิดการวิเคราะห์สังคมที่ไร้รูป โดยชี้ให้เห็นลักษณะสังคมที่มีความซับซ้อน เคลื่อนที่ไม่หยุดนิ่ง มีการถ่ายเทแลกเปลี่ยนของสิ่งต่างๆ (exchangeability) ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำหน้าที่หลายหย่างในเวลาเดียวกันและต้องพึ่งพาอาศัยการมีอยู่ของสิ่งอื่นเพื่อที่จะทำให้มันดำรงอยู่ได้ สังคมที่มีลักษณะดังกล่าวนี้จะไม่มีรูปบบที่ตายตัว หากแต่ประกอบสร้างขึ้นด้วยเครือข่ายของสรรพสิ่งที่โยกย้ายสลับตำแหน่งอยู่ตลอดเวลา ส่งผลให้ความเป็นสังคมมีการรื้อทิ้ง ซ่อมแซมและสร้างใหม่อยู่เสมอ กล่าวอีกนัยหนึ่งคือสังคมมิใช่ผลผลิตของสถาบันที่มีระเบียบแบบแผน แต่เป็นผลลัพธ์ของสิ่งที่คาดไม่ถึงที่อยู่นอกกฎระเบียบ และต้องอาศัยความเกี่ยวโยงของสิ่งที่ต่างๆที่ร้อยรัดพันเกี่ยวเข้าหากัน (Stivale, 1984) การศึกษาสังคมในแนวทางนี้จำเป็นต้องวิเคราะห์กระบวนการสร้างความหมาย การเกิดขึ้นของช่วงชั้นที่ไม่เท่ากันและการสร้างขอบเขตของพื้นที่ที่หลากหลาย เพื่อทำความเข้าใจความเชื่อมโยงและปฏิสัมพมันธ์ที่ผู้กระทำการประเภทต่างๆมีต่อกัน Deleuze and Guattari อธิบายว่าสภาวะรวมตัวที่ไร้ระเบียบเกิดขึ้นภายใต้การแสวงหา และคัดเลือกผู้กระทำการที่สามารถสร้าง แก้ไข เปลี่ยนแปลง รื้อทำลาย และปรับแต่งพรมแดนพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ในแง่นี้ภายใต้สภาวะรวมตัวที่ไร้ระเบียบ ตัวกระทำการและวิธีกระทำการคือปัจจัยที่มีผลต่อรูปแบบใหม่ๆของสภาวะรวมตัวที่ไร้ระเบียบ

มานุษยวิทยากับสภาวะรวมตัว

ในการศึกษากระบวนการทางสังคมและวัฒนธรรมที่ช่วงสองถึงสามทศวรรษที่ผ่านมา อิทธิพลความคิดของเรื่องพลวัตทางสังคมมีอิทธิพลต่อนักสังคมศาสตร์อย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะคำอธิบายเกี่ยวกับสภาวะไม่นิ่งและซับซ้อนของสังคม การอธิบายสังคมที่ต่างไปจากวิธีคิดแบบเหตุผลนิยมภายใต้ความรู้วิทยาศาสตร์แบบตะวันตกและกระบวนทัศน์สมัยใหม่ซึ่งเชื่อในระเบียบและโครงสร้างที่ถาวรของสังคม ส่งผลให้เกิดการรื้อถอดทฤษฎีเดิมๆที่มักจะมองสังคมแบบหยุดนิ่ง การเคลื่อนตัวไปสู่กระบวนทัศน์หลังโครงสร้างในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 20 Marcus and Saka (2006) ตั้งข้อสังเกตว่าแนวคิดเรื่องพลวัตพยายามล้มล้างวิธีคิดโครงสร้างที่แข็งตัวของสังคม และเสนอการมองสังคมที่เต็มไปด้วยเครือข่ายความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนและไม่หยุดนิ่ง เห็นได้จากการเสนอทฤษฎีเครือข่ายผู้กระทำการ (actor-network theory- ANT) ในช่วงทศวรรษ 1980 โดยกลุ่มนักวิชาการชาวฝรั่งเศสจากศูนย์สังคมวิทยานวัตกรรม (Center for Sociology of Innovation) ได้แก่ Michel Callon, Madeleine Akrich และ Bruno Latour ซึ่งพยายามวิเคราะห์ว่ากระบวนการสร้างความรู้เกิดขึ้นภายใต้ปฏิสัมพันธ์ของเครือข่ายผู้กระทำการ โดยเน้นไปที่การสร้างความรู้วิทยาศาสตร์ที่อาศัยทั้งมนุษย์ วัตถุสิ่งของและเทคโนโลยีในการประกอบสร้างความรู้ขึ้นมา (Muniesa, 2015)

อย่างไรก็ตาม การเสนอความคิดเกี่ยวกับเครือข่ายผู้กระทำการที่เกิดขึ้นพร้อมกับกระบวนทัศน์หลังโครงสร้าง เป็นวิธีการของนักสังคมศาสตร์ที่พยายามรักษาสมดุลระหว่างการดำรงอยู่ของโครงสร้างและการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ซึ่งเป็นการเก็บรักษาความเชื่อที่ว่าสังคมสามารถดำรงอยู่ได้ด้วยโครงสร้างและปรับเปลี่ยนไปตามช่วงเวลา ในการศึกษาทางมานุษยวิทยาและวัฒนธรรมศึกษาในปัจจุบัน พยายามนำกรอบความคิดดังกล่าวมาวิเคราะห์กระบวนการเปลี่ยนแปลงทางสังคมซึ่งสนใจสภาวะที่ไม่มีจุดสุดท้าย นัยยะของสิ่งนี้อาจบ่งบอกถึงประสบการณ์ทางสังคมที่เคลื่อนตัวจากอดีตไปสู่เหตุการณ์ในอนาคต และอาจหมายถึงความสัมพันธ์เชิงวัตถุที่สิ่งต่างๆมีต่อกันภายใต้พรมแดนพื้นที่อย่างใดอย่างหนึ่งและเคลื่อนที่ไปข้างหน้า ประเด็นเกี่ยวกับประสบการณ์จึงถูกเสนอให้เป็นหลักคิดสำคัญ เช่นเดียวกับความคิดเรื่อง “สภาวะรวมตัวที่ไร้ระเบียบ” ของ Deleuze and Guattari ซึ่งยังอยู่ภายใต้กระบวนทัศน์ที่เชื่อในโครงสร้าง แต่พยายามอธิบายโครงสร้างในลักษณะที่ปรับตัวเองไปตามปฏิสัมพันธ์ของผู้กระทำการที่หลากหลาย

ความคิดของ Deleuze and Guattari มีอิทธิพลต่อการศึกษาทางมานุษยวิทยา โดยการนำข้อถกเถียงเรื่องสภาวะรวมตัวที่ไร้ระเบียบมาวิเคราะห์ปรากฎการณ์ทางสังคมและวัฒนธรรม นักมานุษยวิทยาเคยตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับความรู้ที่เกิดขึ้นจากข้อเขียนและอิทธิพลของภาษาซึ่งผลิตซ้ำวิธีคิดแบบเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ ข้อเขียนทั้งหลายจึงปกปิดซ่อนเร้นอำนาจที่แทรกตัวอยู่ในปฏิบัติการทางสังคมที่หลากหลาย เมื่อเกิดการตั้งคำถามเกี่ยวกับอำนาจของภาษาในช่วงทศวรรษ 1980 ทำให้ความคิดของ Deleuze and Guattari ได้รับความสนใจในวงวิชาการ Marcus (1993) ตั้งข้อสังเกตว่างานเขียนทางชาติพันธุ์ทั้งหลายล้วนเป็นพื้นที่ที่โยงใยอยู่กับความรู้หลายแบบที่นักมานุษยวิทยานำมาเป็นกรอบคิดและเขียนเป็นเรื่องราวเพื่อเล่าถึงวัฒนธรรมของคนกลุ่มต่างๆ งานเขียนเหล่านี้จึงอาศัยความคิดหลายแบบมาประกอบสร้างซึ่งสอดคล้องกับคำอธิบายเรื่องสภาวะรวมตัวที่ไร้ระเบียบ

ในความคิดของ Deleuze and Guattari เชื่อว่าสภาวะรวมตัวที่ไร้ระเบียบคือคุณสมบัติพิเศษที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสิ่งต่างๆ สภาวะดังกล่าวนี้เป็นระบบที่เปิดและเต็มไปด้วยแรงกระทำจากภายนอก คุณสมบัตินี้ช่วยทำให้สิ่งต่างๆสามารถสร้างปฏิสัมพันธ์ต่อกัน ดังนั้นสภาวะรวมตัวที่ไร้ระเบียบจึงไม่มีความเป็นเนื้อแท้ที่ถาวร แต่เป็นผลลัพธ์ของสิ่งที่ต่างกันมาเกี่ยวโยงกัน ความพยายามที่จะนำความคิดดังกล่าวนี้มาใช้วิเคราะห์ปรากฎการณ์ทางสังคมและวัฒนธรรม เป็นเรื่องที่นักวิชาการสาขาต่างๆนำมาปรับใช้ให้สอดคล้องกับทฤษฎีที่ตนเองสนใจ ซึ่งบางครั้งอาจมิใช่สิ่งเดียวกับการอธิบายของ Deleuze and Guattari ยกเว้นการหยิบยืมเอาแนวคิดเรื่องระบบเปิด สภาวะที่ไม่คงที่ การคาดเดาไม่ได้ กระบวนการเปลี่ยนผ่าน และการหลอมรวมของสรรพสิ่งที่หลากหลาย เพื่อนำไปสู่การทำความเข้าใจลักษณะโครงสร้างและความยืดหยุ่นในปรากฎการณ์ทางสังคมและวัฒนธรรมที่ไม่สามารถอธิบายได้ด้วยหลักเหตุผลนิยมแบบสมัยใหม่ (Marcus & Saka, 2006)

ตัวอย่างการศึกษาของ Manuel De Landa (2002) ได้นำความคิดของ Deleuze and Guattari มาสร้างทฤษฎี โดยชี้ว่าสภาวะรวมตัวที่ไร้ระเบียบดำรงอยู่ในฐานะภววิทยา หมายถึงการมีอยู่อย่างเป็นเอกเทศที่การชุมนุมแต่ละแบบต่างมีแบบแผนและพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ที่ไม่เหมือนกัน แต่ละการชุมนุมจะเติบโตและแผ่ขยายตัวผ่านการเกี่ยวพันกับสิ่งอื่นที่อยู่ขอบเขตการชุมนุม (relations of exteriority) แต่ภายในตัวมันเองก็มีเอกลักษณ์ที่แยกขาดจากการชุมนุมของสิ่งอื่น (Ball, 2018) คำอธิบายนี้ต่างไปจากทฤษฎีเครือข่ายผู้กระทำการของ Bruno Latour (2005) ซึ่งมองว่าการดำรงอยู่ของสิ่งต่างๆอาศัยการสร้างปฏิสัมพันธ์ต่อกันและทำให้สิ่งที่เกาะเกี่ยวกันโอบอุ้มตัวมันเองจากภายใน (relations of interiority) กล่าวคือความสัมพันธ์คือแกนกลางของการทำให้เกิดรูปแบบของการชุมนุม ในขณะที่ De Landa มองว่าความสัมพันธ์มิใช่ตัวกำหนดรูปแบบของการชุมนุม หากแต่กำหนดมาจากลักษณะเฉพาะของสิ่งต่างๆที่เข้ามาเกี่ยวโยงกัน ข้อแตกต่างนี้ทำให้เห็นว่าสภาวะรวมตัวที่ไร้ระเบียบถูกตีความออกเป็นสองแนวทาง คือแนวทางที่เชื่อว่าความสัมพันธ์คือกลไกของการดำรงอยู่ของการชุมนุม กับแนวทางที่เชื่อว่าเอกลักษณ์ของสิ่งต่างๆเป็นตัวกำหนดรูปแบบของการชุมนุม ทฤษฎีของ De Landa พยายามชี้ว่าวัตถุมีคุณสมบัติเฉพาะตัวที่แยกขาดจากกันและมันจะมีปฏิสัมพันธ์กับวัตถุอื่นๆ ที่นำไปสู่รูปแบบของสภาวะรวมตัวที่ไร้ระเบียบ

ในการศึกษาของ Paul Rabinow (2003) นำความคิดเรื่องสภาวะรวมตัวที่ไร้ระเบียบไปวิเคราะห์วิธีการสร้างความรู้ทางชาติพันธุ์และกระบวนทัศน์ที่นักมานุษยวิทยานำไปอธิบายวัฒนธรรม โดยชี้ว่าความรู้ทางมานุษยวิทยาเกิดขึ้นบนความปั่นป่วนและการสะท้อนย้อนคิด ความรู้ทางสังคมและวัฒนธรรมจึงปรากฎขึ้นบนความไม่แน่นอน แนวคิดทฤษฎีที่นักมานุษยวิทยานำมาใช้ล้วนเป็นผลผลิตมาจากระบบความรู้สมัยใหม่แบบตะวันตก ในยุคที่ความเจริญทางการแพทย์ก้าวหน้าไปมาก คำอธิบายเกี่ยวกับชีวิตมนุษย์จึงสัมพันธ์กับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป Rabinow เชื่อว่าวิธีการแสวงหาความรู้เกี่ยวกับมนุษย์จำเป็นต้องหากรอบความคิดใหม่ๆที่ต่างไปจากกระบวนทัศน์เหตุผลนิยม โดยเฉพาะการทำความเข้าใจความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนของสิ่งต่างๆที่ดำเนินไปอย่างไม่หยุดนิ่ง ในการศึกษาของ Aihwa Ong and Stephen Collier (2004) พยายามอธิบายปรากฎการณ์โลกาภิวัตน์ซึ่งมีลักษณะเป็นการเชื่อมโยงข้ามท้องถิ่นที่หลากหลาย (translocal phenomenon) ลักษณะนี้ทำให้โลกคือพรมแดนของการปฏิสัมพันธ์ที่ไม่หยุดนิ่งระหว่างคน พื้นที่ เวลา และสรรพสิ่ง สภาวะนี้ทำให้ “โลกเป็นปัจจุบัน” (actual global) และเป็นพรมแดนของการชุมนุมที่ไร้ระเบียบ (global assemblage) ซึ่งมิได้มีโครงสร้างและกฎเกณฑ์ที่ตายตัว โลกจึงเคลื่อนที่และมีรูปแบบที่เปลี่ยนไปตลอดเวลา

การศึกษาของ Kathleen Stewart (2007) อธิบายอารมณ์ความรู้สึกในชีวิตประจำวันของชาวอเมริกัน เพื่อทำความเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับพื้นที่ที่ใช้ทำกิจกรรมต่างๆ ในปฏิสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นจะพบว่ามนุษย์จะแสดงอารมณ์ที่ผันแปรไปตามสิ่งต่างๆ ที่เข้ามาเกี่ยวโยงกันไม่ว่าจะเป็นสรีระร่างกาย วัตถุ เทคโนโลยีและกิจกรรมสังคม ในการศึกษาของ N. Katherine Hayles (2006) ชี้ว่าในยุคที่มีความก้าวหน้าของเทคโนโลยีข้อมูลข่าวสาร วิธีคิดของมนุษย์ต่อสิ่งต่างๆจะเปลี่ยนไปจากเดิม เนื่องจากอุปกรณ์สื่อสารสมัยใหม่ในฐานะเป็นวัตถุที่มีบทบาทต่อการสร้างความคิดจะเข้ามาเป็นประสบการณ์ของมนุษย์ ซึ่งสะท้อนว่าความสามารถในการคิดของมนุษย์เกิดขึ้นพร้อมกับการพึ่งพาเทคโนโลยี ในแง่นี้การพัฒนาทักษะทางความคิดของมนุษย์จึงมิได้มาจากการทำงานของสมองเท่านั้น แต่ยังมาจากวัตถุภายนอกที่มนุษย์นำมาใช้ในชีวิตประจำวัน คำอธิบายของ Hayles นำไปสู่การศึกษาวัตถุภาวะ (materiality) ที่เกิดขึ้นจากการชุมนุมของสิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิต หรือมนุษย์กับเครื่องจักร สภาวะดังกล่าวทำให้เกิดการอธิบายว่าความสามารถในการคิดของมนุษย์มิได้มาจากตัวมนุษย์เพียงลำพัง แต่มันก่อตัวขึ้นจากปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับวัตถุ

Marcus and Saka (2006) ตั้งข้อสังเกตว่าการนำความคิดเรื่องสภาวะรวมตัวที่ไร้ระเบียบของ Deleuze and Guattari มาวิเคราะห์ปรากฎการณ์ทางสังคมและวัฒนธรรมเกิดขึ้นบนความกระวนกระวายใจต่อความสัมพันธ์ที่มนุษย์มีต่อวัตถุ สิ่งนี้สะท้อนวิธีคิดแบบคู่ตรงข้ามระหว่างสิ่งมีชีวิตและสิ่งไม่มีชีวิต วัตถุวิสัยกับอัตวิสัย เหตุผลกับอารมณ์ ระเบียบกฎเกณฑ์และความผันผวน เมื่อนักวิชาการทางสังคมศาสตร์นำเอาความคิดเรื่อง assemblage มาใช้เพื่ออธิบายความไม่คงที่ของสังคม บางครั้งก็ดูเหมือนว่าจะเป็นการตีความไปตามวาทกรรม หรืออธิบายด้วยภาษาของกระบวนทัศน์หลังโครงสร้าง สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือการตอกย้ำในประเด็นความหลากหลายและการอยู่ร่วมกันของสิ่งต่างๆ โดยที่สิ่งเหล่านี้กลายเป็นของสำเร็จรูปที่มีแบบแผนที่ชัดเจน จะเห็นได้ว่าปัจจุบัน แนวคิดสภาวะรวมตัวที่ไร้ระเบียบได้กลายเป็นคำอธิบายของกระบวนทัศน์ที่ต้องการแสวงหาความจริงที่ต่างไปจากเดิม


ผู้เขียน: ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ

เอกสารอ้างอิง:

Ball, A, (2018). Manuel Delanda, Assemblage theory. Parrhesia, 29, 241-247.

DeLanda, M. (2002). Intensive Science and Virtual Philosophy. London: Continuum.

Deleuze, G. & Guattari, F. (1987) [1980]. A Thousand Plateaus. Translated by Massumi, Brian. Minneapolis: University of Minnesota Press.

Hayles, N. K. (2006) ‘(Un)masking the Agent: Distributed Cognition in Stanislaw Lem’s “TheMask”’, in Bill Maurer and Gabriele Schwab (Eds), Accelerating Possession: Global Futures of Property and Personhood. New York: Columbia University Press

Latour, B. (2005). Reassembling the social: an introduction to actor-network-theory. Oxford New York: Oxford University Press.

Marcus, G. E. (1993). What Comes (Just) after “Post”: The Case of Ethnography’, in Norman Denzin and Yvonna Lincoln (Eds.). Handbook of Qualitative Social Science. Beverly Hills, CA: Sage

Marcus, G.E. & Saka, E. (2006). Assemblage. Theory, Culture and Society, 23(2-3), 101-106.

Massumi, B. (1987). Translator's Foreword: Pleasures of Philosophy. A Thousand Plateaus. Minneapolis: University of Minnesota Press.

Muniesa, F. (2015). Actor-Network Theory. in James D. Wright (Ed.), The International Encyclopedia of Social and Behavioral Sciences, 2nd Edition, (pp.80-84). Oxford, Elsevier.

Ong, A. & Collier, S. J. (Eds.). Global Assemblages: Technology, Politics, and Ethics as Anthropological Problems. Hoboken, NJ: Wiley-Blackwell.

Rabinow, P. (2003). Anthropos Today. Princeton, NJ: Princeton University Press.

Stewart, K. (2007). Ordinary Affects. Durham, NC: Duke University Press.

Stivale, C. J. (1984). The Literary Element in "Mille Plateaux": The New Cartography of Deleuze and Guattari. SubStance, 13 (44–45), 20–34.


หัวเรื่องอิสระ: การรวมตัว, ความไร้ระเบียบ, การโยงใย, เครือข่าย