คำศัพท์

Anthropology of Memory

ในการศึกษาของ Johannes Fabian (2007) ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับ “ความทรงจำ” ว่าเป็นเรื่องของ “ปฏิบัติการทางสังคม” ที่ทำให้มนุษย์ได้พบกับพรมแดนของความหมาย พรมแดนนี้จะเกิดขึ้นเมื่อมนุษย์กำลังพูดถึงเรื่องราวที่ถูกจดจำและการระลึกถึงสิ่งที่เคยเกิดขึ้นในอดีต แต่การพูดถึงสิ่งที่ผ่านมาแล้วนั้นจะเต็มไปด้วยความยอกย้อนวกวนเหมือนกำลังเดินอยู่ในเขาวงกต การปฏิบัติในลักษณะนี้ทำให้ “ความทรงจำ” ไม่ใช่เรื่องของกลไกทางชีววิทยาและการทำงานของสมองในระดับปัจเจก หากแต่เป็นเรื่องของการแสดงความหมายเชิงสังคมที่เกี่ยวข้องกับคนจำนวนมาก (Cole, 2001; Wertsch, 2002) ดังนั้น “ความทรงจำ” ในแง่นี้จึงเป็นเรื่องของส่วนรวม จากคำอธิบายของ Fabian เป็นการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ของการศึกษา “ความทรงจำ” ซึ่งแต่เดิมเคยถูกอธิบายในฐานะเป็นเรื่องส่วนตัวและแยกขาดจากสังคม อีกทั้งยังถูกกำกับภายใต้กรอบคิดวิทยาศาสตร์และทฤษฎีจิตวิทยาที่มอง “ความทรงจำ” ในฐานะเป็นปฏิกิริยาของเซลล์สมอง (cognitive memory) ที่ทำให้มนุษย์จดจำสิ่งต่าง ๆ ซึ่งเชื่อว่า “ความทรงจำ” จะถูกสร้างและถูกทำลายด้วยกลไกทางร่างกาย (Kontopodis and Matera, 2010) แต่การย้อนกลับไปพิจารณาว่า “ความทรงจำ” เป็นปฏิบัติการทางสังคมที่บุคคลต้องสื่อสารให้ผู้อื่นรับรู้ว่ามีเรื่องราวอะไรที่กำลังถูกจดจำ จะทำให้เห็นว่า “ความทรงจำ” มิได้เกิดขึ้นโดยตัวของมันเอง หากแต่มันถูกบอกเล่าด้วยภาษาและร้อยเรียงเป็นเรื่องราวเพื่อบอกให้คนอื่นเข้าใจ ซึ่งปฏิบัติการนี้เรียกว่า “ความทรงจำที่ถูกเล่า” (narrated memory) (Fabian, 2007: 93)

Fabian ยังชี้ให้เห็นว่าความทรงจำที่ถูกเล่าด้วยภาษา (verbalized memory) มิใช่สิ่งที่เกิดขึ้นแบบตรงไปตรงมา หรือถูกผลิตจากเซลล์สมองอย่างซื่อตรง แต่มันจะถูกเล่าจากประสบการณ์ของบุคคลซึ่งมีการเลือกและการจัดการด้วยอารมณ์ความรู้สึก “ความทรงจำที่ถูกเล่า” จึงเจือปนด้วยทัศนคติของคนๆ นั้น ในแง่นี้ ความทรงจำจึงมิใช่ภาพสะท้อนความจริงของอดีต แต่เป็น “เรื่องเล่าของอดีต” ที่เป็นตัวแทนของความจริง (Fabian, 2007: 102) ความเข้าใจนี้สวนทางกับความคิดเดิมๆ ที่มองว่าความทรงจำของมนุษย์คือสิ่งที่สะสมความจริงในอดีตกาล เรามักจะเชื่อว่าสิ่งที่เราจดจำจะถูกเก็บรักษาไว้อย่างดีในสมอง และเมื่อเราย้อนคิดถึงมัน มันจะเปิดเผยความจริงต่าง ๆ อย่างไม่บิดเบือน แต่เมื่อความทรงจำถูกเล่าโดยบุคคล ความทรงจำจึงเป็นสิ่งปรุงแต่ง หรือเป็นวิธีการไกล่เกลี่ยเพื่อที่จะสร้างความหมายผ่านภาษา (semeiotic mediation) (Kontopodis and Matera, 2010:1) การศึกษาที่มีอิทธิพลต่อการตีความ “ความทรงจำ” ในฐานะความสัมพันธ์เชิงสัญญะระหว่างกลไกของสมองกับสภาพแวดล้อมทางสังคม เริ่มจากการศึกษาของ Bakhtin (1986) ซึ่งให้ความสนใจระบบภาษา การสร้างคำและประโยคในฐานะกลไกของการสร้างเรื่องเล่า นักวิชาการที่นำกรอบความคิดนี้มาใช้ เช่น Donald (1991) ที่ชี้ว่าภาษามีส่วนกำหนดวิธีการที่บุคคลจะเลือกสรรและบอกเล่าความทรงจำของตัวเอง พร้อมกับการศึกษาของ Halbwachs (1992) ที่อธิบายให้เห็นว่ากลุ่มทางสังคมมีอิทธิพลต่อการบอกเล่าความทรงจำของบุคคล

Wertsch (2009) นำแนวคิดระบบภาษาที่สร้างความหมายมาอธิบาย “ความทรงจำ” โดยชี้ว่าการเล่าเรื่องในอดีตเป็นวิธีการไกล่เกลี่ยทางภาษาที่บุคคลพยายามสร้างคำพูดถึงสิ่งต่าง ๆ ซึ่งสะท้อนบริบททางสังคม ณ เวลาที่พูด วิธีการนี้สะท้อนให้เห็นว่าบุคคลกำลังไกล่เกลี่ยคำพูดให้เป็นเรื่องราวเพื่อสื่อสารกับกลุ่มทางสังคมที่เขาดำรงอยู่ในชีวิตประจำวัน เมื่อกลุ่มทางสังคมเปลี่ยนไป บุคคลก็จะเปลี่ยนวิธีการเล่าไปด้วย “ความทรงจำ” จึงเป็นพรมแดนของการบอกเล่าและสนทนาด้วยภาษาที่มีการตัดทอนและต่อเติมอยู่ตลอดเวลา การทำความเข้าใจด้วยกรอบความคิดนี้นำไปสู่การศึกษา “ความทรงจำ” ในฐานะเป็นปฏิบัติการและ “การกระทำ” เชิงสังคม ซึ่งมีอิทธิพลในวงวิชาการในช่วงทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา (Schatzki, Knorr-Cetina, and Savign, 2001) Kontopodis และ Matera (2010) อธิบายว่าปฏิบัติการของความทรงจำสามารถพบได้ในกิจกรรมทางสังคมและวัฒนธรรมหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น พิธีกรรมทางศาสนา งานรำลึกถึงบุคคลและเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ เทศกาล งานเฉลิมฉลอง การจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ นิทรรศการ การแสดงทางวัฒนธรรม ประเพณี และมหรสพต่าง ๆ รวมถึงสื่อสมัยใหม่ กิจกรรมเหล่านี้ล้วนมีเรื่องเล่าของความทรงจำปรากฏอยู่ ซึ่งทำหน้าที่สร้างและยืนยันอัตลักษณ์ทางสังคมให้กับกลุ่มคน โดยอาจเป็นเรื่องเชื้อชาติและความเป็นชาติ ดังนั้น “ความทรงจำ” จึงมีพลังต่อการสร้างจินตนาการทั้งในระดับปัจเจกและระดับสังคม การศึกษาความทรงจำในมิติเหล่านี้จำเป็นต้องมองความซับซ้อนและการบรรจบกันของสิ่งต่าง ๆ ทั้งภาษาของเรื่องเล่า อารมณ์ความรู้สึก อุดมการณ์ทางสังคม และกิจกรรมที่ปรากฏ

ในแง่ความหมายของ “วัฒนธรรม” ซึ่งนักมานุษยวิทยามักอธิบายถึงขนบธรรมเนียมประเพณีในอดีตของมนุษย์ในฐานะเป็นภาพสะท้อนของ “วัฒนธรรม” (Geertz, 1973) แต่สิ่งเหล่านี้มักจะเป็นเรื่องราวในอดีตที่ถูกจดจำและนำมาเล่าเป็นเรื่องราว เช่น การพูดถึงประเพณีในอดีตที่เชื่อว่าเป็นแก่นของวัฒนธรรม การนิยามวัฒนธรรมในแนวนี้เป็นการใช้ “ความทรงจำ” ในฐานะข้อพิสูจน์หรือตัวบ่งชี้ความจริงแท้ของวัฒนธรรม ซึ่ง Fabian (2007) วิจารณ์ว่าเป็นการทำให้ “วัฒนธรรม” หยุดนิ่งตายตัว และยังถูกใช้เป็นคู่ตรงข้ามกับ “ความทันสมัย” Fabian เสนอว่าความทรงจำเกี่ยวกับประเพณีในอดีต เหมือนกับการเก็บรวบรวมวัตถุสิ่งของมาใส่ไว้ในกล่อง และทำให้มันเป็นระเบียบ ซึ่งเป็นสิ่งเดียวกับการเก็บข้อมูลภาคสนามของนักมานุษยวิทยาที่นำเรื่องเล่าของชาวบ้านมาจัดระเบียบด้วยกรอบแนวคิดทฤษฎี เพื่อที่จะวิเคราะห์ว่าเรื่องเล่าที่เป็นความทรงจำของชาวบ้านเป็นสิ่งเดียวกับ “วัฒนธรรม” วิธีการดังกล่าวนี้วางอยู่บนตรรกะของการสร้างกฎระเบียบ ซึ่งนักมานุษยวิทยาคือผู้ที่กำลังทำให้เรื่องเล่าของชาวบ้านเป็น “ความทรงจำ” ที่มีระเบียบแบบแผนและเรียกมันว่า “พื้นที่ความรู้” (Fabian, 2007: 105) แต่วิธีการนี้เป็น “อำนาจ” โดยนักมานุษยวิทยาคือผู้กำหนดว่า “ความทรงจำ” คือสิ่งเดียวกับ “วัฒนธรรม” ในทางตรงกันข้าม Fabian มองว่าเรื่องเล่าแห่งความทรงจำเป็นสิ่งที่ไร้เบียบและกระจัดกระจาย จึงเป็นเรื่องยากและแทบเป็นไปไม่ได้ที่นักมานุษยวิทยาหรือนักชาติพันธุ์จะทำให้มันมีระเบียบที่ชัดเจน

การถกเถียงเรื่อง “ความทรงจำ” ที่กล่าวมาข้างต้น เป็นสิ่งที่นักมานุษยวิทยามองข้ามไม่ได้ ทั้งนี้ เมื่อความทรงจำมิใช่ข้อพิสูจน์ “ความจริง” ทางวัฒนธรรมอีกต่อไป แต่เป็นปฏิบัติการทางสังคมที่เคลื่อนที่อยู่ตลอดเวลา ปรากฎอยู่ภายใต้ความสัมพันธ์เชิงอำนาจและอยู่ในสภาวะย้อนแย้ง ซึ่ง Fabian(2007) เรียกสิ่งนี้ว่า “การเมืองของความทรงจำ” และ Kontopodis และ Matera (2010) เรียกว่า “ขอบเขตแห่งจินตนาการ” (imaginative horizon) และสิ่งที่นักมานุษยวิทยาต้องให้ความสำคัญก็คือ อารมณ์ของบุคคลและสังคมที่สร้างความทรงจำขึ้นมาจนกลายเป็น “ความทรงจำสาธารณะ” รวมทั้งต้องศึกษากลไกเชิงอำนาจของสถาบันสังคมที่นำ “ความทรงจำ” ไปใช้สนับสนุนและค้ำชูอุดมการณ์ต่าง ๆ ใช้แบ่งแยกคนออกจากกัน และใช้หลอมหลวมคนเข้าด้วยกัน นอกจากนั้น ความทรงจำต่อเหตุการณ์และเรื่องราวเดียวกันก็ยังถูกสร้างให้มีความหมายแตกต่างกันโดยคนที่คิดเห็นไม่เหมือนกัน ใน “ความทรงจำ” จึงมีเรื่องเล่าที่ไม่ลงรอยเกิดขึ้นเสมอ (Fabian, 2007: 95) ตัวอย่างการศึกษา เช่น Varutti (2010) วิเคราะห์การจัดแสดงภาพและเรื่องเล่าเกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์ในพิพิธภัณฑ์เมืองคุนมิ่ง มลรัฐยูนนาน ประเทศจีน ซึ่งสะท้อนอุดมการณ์ทางการเมืองของรัฐบาลจีนที่ต้องการจัดจำแนกและสร้างอัตลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ที่ต่างกัน การนำเสนอนี้คือจินตนาการของรัฐที่มีต่อกลุ่มชาติพันธุ์ แต่มิใช่เป็นข้อเท็จจริงที่กลุ่มชาติพันธุ์ใช้อธิบายตัวเอง

ในสถานการณ์ปัจจุบันที่เทคโนโลยีสื่อสารสมัยใหม่ เช่น สื่อออนไลน์ มีบทบาทสำคัญในการจัดการชีวิตมนุษย์ เราจะพบ “ภาพลักษณ์” ของสิ่งต่างๆ ที่ถูกสร้างขึ้นในสื่อเพื่อตอบสนองจินตนาการและการบริโภคอย่างไร้ขอบเขต ภาพลักษณ์เหล่านี้คือพรมแดนใหม่ของความทรงจำที่มาบรรจบกับอุตสาหกรรมบันเทิงที่มีอิทธิพลต่อการนิยามตัวตนของมนุษย์และความสัมพันธ์ที่มนุษย์มีต่อกัน Appadurai (1996) เคยตั้งข้อสังเกตว่า “จินตนาการ” คือพลังที่ช่วยสร้างอัตลักษณ์ให้บุคคล และช่วยให้พรมแดนของความทรงจำขยายกว้างออกไปอย่างไม่สิ้นสุด ดังนั้น ภาพลักษณ์ของความทรงจำที่ถูกสร้างขึ้นด้วยเทคโนโลยีสื่อสารสมัยใหม่ ไม่ว่าจะเป็นอินเตอร์เน็ตและดิจิทัล จะทำให้ความทรงจำมีจินตนาการที่น่าพิศวงมากขึ้น แต่ทั้งนี้วางอยู่บนโครงสร้างอำนาจแบบใหม่ที่มนุษย์จะถูกควบคุมโดยไม่รู้ตัว เช่น ภาพลักษณ์ของการมีชีวิตที่ทันสมัยมาพร้อมกับการบริโภคสินค้า ภาพลักษณ์นี้ทำให้เกิดจินตนาการเกี่ยวกับการมีชีวิตที่เป็นสุข สะดวกสบาย สนุกสนาน และน่ารื่นรมย์ ซึ่งเป็นการสร้างความทรงจำเกี่ยวกับ “ชีวิตที่ทันสมัย” แต่ตกอยู่ใต้อำนาจและกฎเกณฑ์ของระบบทุนนิยม


ผู้เขียน: ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ

เอกสารอ้างอิง:

Appadurai, Arjun. 1996. Modernity at large: Cultural dimensions of globalization. Minneapolis and London: University of Minnesota Press.

Bakhtin, Mikhail M. 1986. The Problem of the Text in Linguistics, Philology, and the Human Sciences: An Experiment in Philosophical Analysis. In Bakhtin, Mikhail M. 1986. Speech Genres & Other Late Essays. Austin: University Texas Press, pp.103-131.

Cole, Jennifer. 2001. Forget colonialism? Sacrifice and the art of memory in Madagascar. Berkeley: University of California Press.

Donald, Malcolm. 1991. Origins of the Modern Mind: Three Stages in the Evolution of Culture and Cognition. Cambridge, Mass.: Harvard University Press.

Fabian, Johannes. 2007. Memory Against Culture: Argument and Reminders. Durham and London: Duke University Press.

Geertz, Clifford. 1973. The Interpretation of Culture. New York: Basic Books.

Halbwachs, Maurice. 1992. On Collective Memory. Chicago: University of Chicago Press.

Kontopodis, M. and Matera, V. 2010. “Doing Memory, Doing Identity; Politics of the Everyday in Contemporary Global Communities”. Outlines-Critical Practice Studies, Vol.2(2): 1- 14.

Schatzki, T.R., Knorr-Cetina, K., & Savign, E. V. 2001. The Practice Turn in Contemporary Theory. New York: Routledge.

Varutti, Marzia. 2010. “The Politics of Imagining and Forgetting in Chinese Ethnic Minorities' Museums”. Outlines. Critical Practice Studies, Vol.12(2): 69-82.

Wertsch, James. V. 2002. Voices of Collective Remembering. Cambridge: Cambridge University Press.

Wertsch, James. V. 2009. Text and Dialogism in the Study of Collective Memory. Paper presented at the Second International Interdisciplinary Conference on Perspectives and Limits of Dialogism in Mikhail Bakhtin. Stockholm, Sweden, June 3-5, 2009.


หัวเรื่องอิสระ: มานุษยวิทยา, ความทรงจำ, ภาษา, ความหมาย