คำศัพท์

Alien Phenomenology

การดำรงอยู่ของวัตถุ

การเล่าเรื่องเกี่ยวกับการดำรงอยู่ร่วมกันของมนุษย์และสภาพแวดล้อม มีเป้าหมายเพื่อที่จะทำความเข้าใจความสัมพันธ์ที่มนุษย์มีต่อสิ่งต่างๆที่ดำรงอยู่บนโลก (Schulten, 2001) การอธิบายเพื่อทำความเข้าใจสิ่งนี้ได้รับความสนใจในหมู่นักภูมิศาสตร์ ซึ่งต้องการท้าทายแนวคิดทฤษฎีกระแสหลักที่มอง “โลกกายภาพ” หรือภูมิประเทศโดยตัดขาดจากการมีอยู่ของมนุษย์ พร้อมทั้งเสนอวิธีการเขียนแนวใหม่ที่เรียกว่า “ภวนิพนธ์” (Ontography) ซึ่งหมายถึงการบอกเล่าสภาพและเงื่อนไขของการดำรงอยู่ของสิ่งต่างๆในโลก โดยแต่ละเงื่อนไขทำให้เกิดการบอกเล่าของการมีอยู่แตกต่างกันไป (Lynch, 2013) ในแง่นี้ การเล่าเรื่องของการดำรงอยู่ของมนุษย์และสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์จำเป็นต้องเข้าใจกลวิธีของการเล่า การทำความเข้าใจประเด็นนี้อาจดูจากคำอธิบายของ Kuhn (2009) ที่เสนอว่าการทำความเข้าใจภาษาที่มนุษย์ใช้สร้างความรู้อาจแจกแจงเป็นสัญลักษณ์ภาพ แต่ละภาพจะมีคำอธิบายว่าหมายถึงอะไร เช่น ภาพสัญลักษณ์ที่บ่งบอกถึงผู้ชายและผู้หญิง ภาพสัญลักษณ์ที่มีคำอธิบายกำกับอยู่ช่วยทำให้มนุษย์เข้าใจสิ่งต่างๆได้ง่ายและเร็วกว่าการไม่มีภาพ ข้อสังเกตนี้อาจทำให้เห็นว่าการบอกเล่าถึงการดำรงอยู่ในโลกเกิดขึ้นจากประสบการณ์

การบอกเล่าถึงการดำรงอยู่หรือภวนิพนธ์ คือกลวิธีของการบันทึกเรื่องราว (inscriptive strategy) ที่มีเป้าหมายเพื่อเปิดโปงสิ่งที่เป็นความสมบูรณ์แบบและความสัมพันธ์ของสิ่งต่างๆ (interobjectivity) (Bogost, 2012) ในการศึกษาทางอภิปรัชญา การเผยให้เห็นความสัมพันธ์ของสรรพสิ่งคือการอธิบายว่าวัตถุดำรงอยู่อย่างมีความสัมพันธ์ต่อกันอย่างไร ในขณะที่เป้าหมายของภวนิพนธ์คือการบันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับปฏิสัมพันธ์ระหว่างวัตถุภายใต้กฎเกณฑ์และแบบแผนบางอย่าง ดังนั้น การบอกเล่าของการดำรงอยู่ของสิ่งต่างๆ จึงเสมือนเป็นการจัดหมวดหมู่และประเภทความสัมพันธ์ของวัตถุที่อาศัยภาษาเป็นเครื่องมือร้อยเรียง ภวนิพนธ์จึงเป็นเสมือนการจัดวางสิ่งต่างๆให้เป็นระเบียบด้วยการเรียกประเภทของวัตถุด้วยคำนาม เช่น ก้อนหิน, ต้นไม้, แม่น้ำ, เสือ, เห็ด, ปลา, เชื้อโรค, มนุษย์ เป็นต้น คำเรียกเหล่านี้เสมือนเป็นการเฉลิมฉลองการดำรงอยู่ของวัตถุ เห็นได้จากงานเขียนทางภววิทยาของ Latour (1988) และ Harman (2005, 2009) ชื่อเรียกของวัตถุประเภทต่างๆกลายเป็นรากฐานของการบอกเล่าถึงการมีอยู่ อาจกล่าวได้ว่า “ชื่อเรียก” คือวิธีวิทยาของการสร้างภวนิพนธ์ (ontographical method) ชื่อเรียกของวัตถุยังทำให้เห็นขอบเขตและเส้นแบ่งของวัตถุที่ไม่เหมือนกัน และยังตอกย้ำถึงการแยกกันอยู่ของวัตถุต่างๆ ชื่อเรียกทำให้เกิดการจัดหมวดหมู่ซึ่งเปรียบเสมือนวิธีการสร้างความชัดแจ้งให้กับการดำรงอยู่ของวัตถุ ขณะเดียวกันทำให้เข้าใจว่าการแยกกันอยู่ของวัตถุคือสิ่งที่ลงตัวและเอื้อให้วัตถุแต่ละชนิดสร้างความสัมพันธ์ต่อกันได้

Bogost (2012) ตั้งข้อสังเกตว่าการเล่าเรื่องของการดำรงอยู่แบบภวนิพนธ์ อธิบายประเภทของวัตถุอย่างเป็นระเบียบ คำเรียกวัตถุทำให้วัตถุแต่ละชนิดแยกกันอยู่ ซึ่งตรงข้ามกับการศึกษาแบบปรากฎการณ์วิทยาแปลกพิสดาร (alien phenomenology) ที่พยายามทำความเข้าใจว่าวัตถุมิได้ต่างกันเพราะชื่อเรียก แต่พวกมันต่างกันเนื่องจากสิ่งที่มันเป็น ดังนั้น ไม่ควรนำเอาชื่อเรียกมาจำกัดขอบเขตของการดำรงอยู่ของวัตถุ แม้แต่วัตถุที่มีชื่อเรียกเหมือนกัน ก็ยังพบว่ามันไม่มีความเหมือนกันเลย ปรากฎการณ์วิทยาแปลกพิสดารจึงดำรงอยู่นอกขอบเขตการรับรู้ของมนุษย์ ซึ่งพยายามทำความเข้าใจการมีอยู่ของสรรพสิ่งโดยปราศจากการจัดหมวดหมู่และประเภทที่มีมนุษย์กำหนดขึ้น การทำความเข้าใจนี้สวนทางกับระเบียบแบบแผนที่สอนให้มนุษย์เข้าใจสิ่งต่างๆภายใต้นิยามและขอบเขตที่ชัดเจน Bogost (2012) เชื่อว่าปรากฎการณ์วิทยาแปลกพิสดารคือปฏิบัติการที่ค่อยๆเป็นค่อยๆไปเพื่อที่จะอยู่กับวัตถุให้เนิ่นนาน และสามารถปรับตัวอยู่ร่วมกับมัน

วิธีการที่จะอยู่กับวัตถุอาจอาศัยการสร้างคำเรียกชื่อของวัตถุเพื่ออธิบายว่าวัตถุแต่ละชนิดเหมือนและต่างกัน และมีความเกี่ยวข้องกันอย่างไร อาศัยการอุปมาอุปไมยที่บ่งบอกว่าวัตถุมีชีวิตอย่างไร และมันดำรงอยู่ในแบบที่มันเป็นต่างไปจากความเข้าใจของมนุษย์อย่างไร วิธีการเหล่านี้มีลักษณะเป็นการสำรวจตรวจสอบถึงการดำรงอยู่และการกระทำของวัตถุในแบบที่มันเป็น ในการตรวจสอบนี้ได้อาศัยการเล่าเรื่องและการเปรียบเปรยเพื่อที่จะทำให้เห็นว่าวัตถุมีสภาพเป็นอย่างไร อีกวิธีการหนึ่งคือการเข้าไปกระทำกับวัตถุโดยตรง ซึ่งทำให้รับรู้ถึงผิวสัมผัสที่วัตถุมี การกระทำต่อวัตถุในทัศนะของ Bogost เปรียบเสมือนการแสดงความรักและความซื่อสัตย์ต่อวัตถุ การกระทำต่อวัตถุคือวิธีที่ต่างไปจากการปฏิบัติทางวิชาการทั่วไป เพราะขนบของการทำงานวิชาการจะวางอยู่บนงานเขียนที่นำเสนอเป็นตัวหนังสือ ในขณะที่การกระทำต่อวัตถุเป็นการเรียนรู้ความสามารถของวัตถุที่มันเปลี่ยนสภาพของตัวเองได้ การที่วัตถุเปลี่ยนสภาพตัวเองภายใต้แรงกระทำทั้งที่มาจากภายนอกและจากภายในตัวมัน สะท้อนว่าวัตถุมีความคิด

จุดเปลี่ยนของสิ่งที่มิใช่มนุษย์ (nonhuman turn)

ปรากฎการณ์วิทยาแปลกพิสดาร (alien phenomenology) พยายามท้าทายวิธีคิดที่เอามนุษย์เป็นศูนย์กลาง ซึ่งมันแอบแฝงอยู่ในการอธิบายเรื่องสิ่งแวดล้อมที่มนุษย์มักคิดว่าวัตถุต่างๆ มีไว้เพื่อเอื้อประโยชน์ ค้ำจุน และจรรโลงให้ชีวิตมนุษย์ดำรงอยู่ได้ วัตถุจะถูกมองในฐานะเป็นสิ่งประคับประคองชีวิต มนุษย์จะเป็นศูนย์กลางที่มีสิ่งอื่นคอยไล่ตาม เปรียบเสมือนเป็นผู้ถูกกระทำโดยมนุษย์ ในความคิดของ Bogost การข้ามพ้นไปจากมนุษย์และการเสนอแนวคิดเรื่อง posthumanism ยังไม่เพียงพอและไม่สามารถข้ามพ้นไปจากมนุษย์ได้ ดังนั้น การจะเข้าใจการมีอยู่ของวัตถุจำเป็นต้องเห็นประสบการณ์ของวัตถุที่ไม่ได้อาศัยปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับวัตถุ แต่ต้องมองเห็นว่าวัตถุมีวิถีทางของตัวเองโดยไม่จำเป็นต้องมีมนุษย์เข้าไปเกี่ยวข้อง อย่างไรก็ตาม ข้อคิดเห็นของ Bogost ก็ยังมีเรื่องที่ยากที่จะทำความเข้าใจ นั่นคือสิ่งที่เรียกว่าประสบการณืของวัตถุคืออะไร มนุษย์สามารถเห็นและเข้าใจประสบการณ์ของวัตถุได้จริงหรือไม่ ทำไมประสบการณ์ของวัตถุจึงเป็นสิ่งสำคัญและมนุษย์จำเป็นต้องรู้

เจตนาของ Bogost คือการมองเห็นวัตถุมีความคิด มิใช่เป็นสิ่งที่ถูกใช้ประโยชน์โดยมนุษย์หรือถูกให้คุณค่าภายใต้สังคมและวัฒนธรรม แนวการศึกษาของ Bogost จึงแตกต่างไปจากกระบวนทัศน์แบบวัฒนธรรมทางวัตถุ (material culture) ซึ่งมักอธิบายวัตถุในเชิงภายภาพมากกว่าจะบ่งชี้ให้เห็นความคิดและการกระทำของวัตถุ นอกจากนั้นอิทธิพลความคิดของ Immanuel Kant ก็ทำให้การศึกษาวัตถุวนเวียนอยู่กับการแยกส่วนระหว่างมนุษย์ที่มีความคิดกับวัตถุที่ไร้ความคิด Bogost จึงพยายามเสนอการศึกษาวัตถุด้วยปรากฎการณ์วิทยาแปลกพิสดาร ซึ่งแตกแขนงและเกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวทางปรัชญาสายสัจนิยมแบบคาดเดา (speculative realism) ที่ก่อตัวขึ้นในช่วงปี ค.ศ.2007 เป็นต้นมา แนวคิดและข้อถกเถียงของสัจนิยมแบบคาดเดา มีเป้าหมายที่จะรื้อถอนระบบเหตุผลแบบสหสัมพันธ์นิยม (correlationism) และการเชื่อมั่นในการค้นหาและเข้าถึงสิ่งต่างๆโดยสติปัญญาของมนุษย์ แนวคิดสัจนิยมแบบคาดเดา ไม่เชื่อว่าการทำความเข้าใจวัตถุจะเกิดขึ้นบนตรรกะแบบการใช้ความคิดและการตีความสิ่งที่ดำรงอยู่ด้วยบรรทัดฐานของมนุษย์ (Meillassoux, 2008)

ปรากฎการณ์วิทยาแปลกพิสดาร คือประสบการณ์ที่มนุษย์เข้าใจไม่ได้และไม่ได้ดำรงอยู่ในการรับรู้ของมนุษย์ ในแง่นี้ สิ่งที่รับรู้ไม่ได้จึงเป็นการคาดเดาและเป็นสิ่งที่มนุษย์ต้องแสวงหารวิธีการที่จะเข้าใจสิ่งที่ไม่อาจเข้าใจได้ เนื่องจาก Bogost เป็นนักสร้างเกมส์คอมพิวเตอร์ ทำให้เขาเสนอการทำความเข้าใจวัตถุในฐานะเป็นสิ่งที่คิดเป็นและทำสิ่งต่างๆได้ ประสบการณ์ของวัตถุจึงเสมือนเป็นเรื่องแปลกพิสดารต่อโลกของมนุษย์ แต่สิ่งเหล่านี้ดำรงอยู่รอบๆตัวมนุษย์ตลอดเวลา ประสบการณ์ของวัตถุต่างไปจากประสบการณ์ของมนุษย์ เท่าที่ผ่านมามนุษย์พยายามเข้าใจวัตถุและสิ่งต่างๆผ่านการให้ความหมาย การสร้างอุปมาอุปไมย และการอธิบายเชิงสัญลักษณ์ซึ่งใช้เป็นภาพแทนของวัตถุเท่านั้น แต่มนุษย์ไม่สามารถเข้าใจประสบการณ์ของวัตถุได้โดยตรง ข้อจำกัดนี้ทำให้นักวิชาการสายสัจนิยมแบบคาดเดา เสนอวิธีคิดที่ต่างไปจากเดิม พร้อมตั้งคำถามว่าการคิดในแบบที่วัตถุคิดเป็นอย่างไร วิธีการที่ Bogost เสนอในปรากฎการณ์วิทยาแปลกพิสดาร คือการชี้ให้เห็นการดำรงอยู่ของวัตถุโดยอาศัยการค้นหาประสบการณ์ การรับรู้ ความคิดและความสัมพันธ์ที่วัตถุมีต่อกัน ซึ่งใช้วิธีการเปรียบเทียบและอุปมาถึงการมีอยู่ของวัตถุ โดยการจำลองให้เห็นว่าถ้ามนุษย์เป็นวัตถุสิ่งของ สิ่งที่จะเกิดขึ้นคืออะไร อาจกล่าวได้ว่าวิธีการแบบปรากฎการณ์วิทยาแปลกพิสดารใช้การเปรียบเทียบเป็นหลักเกณฑ์เพื่อที่จะศึกษาว่าวัตถุดำรงอยู่อย่างไรและมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันลักษณะใด

การแยกมนุษย์ออกจากสิ่งที่มิใช่มนุษย์ จำเป็นหรือไม่ ?

วิธีการทำความเข้าใจปรากฎการณ์วิทยาแปลกพิสดาร อาจพิจารณาจากภาพถ่ายวัตถุสิ่งของที่ถ่ายโดย Stephen Shore ซึ่งแสดงให้เห็นว่าวัตถชนิดต่างๆมีความสัมพันธ์กันอย่างไร เช่น ภาพที่ชื่อ Room 28 แสดงให้เห็นโคมไฟตั้งอยู่บนโต๊ะที่มีที่เขี่ยบุหรี่วางอยู่ และด้านข้างมีหน้าต่าง ผ้าม่าน โทรทัศน์ และเก้าอี้วางอยู่ ภาพนี้ถูกอธิบายในฐานะเป็นความสัมพันธ์ที่วัตถุมีต่อกัน เปรียบเสมือนวัตถุแต่ละชนิดต่างมีชีวิตของมันและเกี่ยวข้องกันโดยไม่มีมนุษย์เข้าไปแทรกแซง ตัวอย่างนี้สะท้อนว่าปรากฎการณ์วิทยาแปลกพิสดาร คือความเข้าใจชีวิตของวัตถุในแบบที่วัตถุเป็น ในแง่นี้ การบอกเล่าการดำรงอยู่และความสัมพันธ์ที่วัตถุมีต่อกันคือวิธีการเปรียบเทียบถึง “ชีวิตของวัตถุ” ซึ่งกระบวนทัศน์แบบภววิทยาให้ความสนใจกับสภาพที่เป็นจริงของวัตถุ การบอกเล่าแบบภวนิพนธ์ช่วยเห็นความสัมพันธ์ที่วัตถุมีต่อกัน การอุปมาอุปไมยถึงวัตถุช่วยให้เห็นว่าวัตถุคิดและรับรู้ถึงสิ่งต่างๆอย่างไร การกระทำต่อวัตถุช่วยให้เห็นว่าสิ่งที่วัตถุเป็นมีส่วนในการสร้างโลกอย่างไร วิธีการเหล่านี้เป็นเครื่องมือที่ Bogost เชื่อว่าจะทำให้เห็นวัตถุแตกต่างไปจากคำอธิบายที่ใช้มนุษย์เป็นศูนย์กลาง

การบอกเล่าแบบภวนิพนธ์ ต่างไปจากงานเขียนเชิงวิชาการและวรรณกรรม เนื่องจากการบอกเล่าถึงการดำรงอยู่ของวัตถุมิใช่การเล่าผ่านอารมณืความรู้สึกและประสบการณ์ของมนุษย์ ในทางกลับกัน ภวนิพนธ์คือการบอกเล่าเกี่ยวกับความเป็นจริงของวัตถุ ภาษาที่ใช้บอกเล่าจึงมิใช่ภาษาที่มนุษย์เลือกตามความชอบและความพึงพอใจ แต่เป็นภาษาที่ใช้แทนการมีอยู่ของวัตถุ ในแง่นี้ Bogost อธิบายว่าการบอกเล่าชีวิตของวัตถุต้องไม่เอาความคิดของมนุษย์เข้าไปแทรกแซง จะต้องบอกเล่าจากประสบการณ์ของวัตถุเท่านั้น เช่น การพูดถึงวัตถุด้วยคำเรียกที่แตกต่างกัน เช่น โคมไฟ, ผ้าม่าน, ที่เขี่ยบุหรี่, โต๊ะ, โทรทัศน์ ฯลฯ หมวดหมู่ของวัตถุเหล่านี้ถูกบอกเล่าเพื่อให้เห็นว่ามันแยกขาดจากกันและเกี่ยวข้องกันอย่างไร การเรียกวัตถุที่จัดวางเคียงข้างกันเหสมือนเป็นเกมต่อภาพ คือวิธีที่จะทำให้เห็นถึงการเป็นอยู่ของวัตถุ จากนั้นจึงสร้างการเปรียบเทียบและอุปมาอุปไมยว่าวัตถุต่างๆสัมพันธ์กันในลักษณะใด เพื่อเป็นการทำความเข้าใจประสบการณ์และความคิดของวัตถุชนิดต่างๆ ทั้งนี้ วิธีการเปรียบเทียบและอุปมาอุปไมยจะต้องไม่เอาความรู้สึกของมนุษย์เข้าไปเจือปน Bogost กล่าวว่าการเปรียบเทียบบ่งบอกถึงความเป็นไปได้หรือการคาดเดาที่วัตถุจะมีความคิดและประสบการณ์ในแบบที่มันเป็น

การอุปมาอุปไมยเกี่ยวกับประสบการณ์ของวัตถุอาจเป็นเรื่องที่เข้าใจยาก และท้าทายสิ่งที่มนุษย์เคยเชื่อและเคยรู้สึก เรื่องที่ยากในการสร้างอุปมาอุปไมยคือการไม่เอาประสบการณ์ของมนุษย์เข้าไปตัดสิน เช่น เอาความรู้สึกของมนุษย์ไปเป็นตัวแทนของวัตถุ สิ่งที่จะช่วยให้เกิดความเข้าใจวัตถุจึงต้องมีการกระทำต่อวัตถุ ซึ่ง Bogost เสนอให้เข้าไปลงมือทำ (practice of carpentry) เช่น การเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ การประดิษฐ์งานศิลปะด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล เป็นต้น Bogost เสนอว่าปรากฎการณ์วิทยาแปลกพิสดารคือกระบวนการคาดเดาเกี่ยวกับประสบการณ์ที่แอบซ่อนอยู่ภายในซึ่งเสมือนเป็นสุนทรียะของการทำความเข้าใจการดำรงอยู่ของวัตถุ อย่างไรก็ตาม ในข้อเสนอของ Bogost ยังมีเรื่องที่น่าสงสัยและตั้งคำถาม โดยเฉพาะวิธีการแบบปรากฎการณ์วิทยาแปลกพิสดารที่เกิดขึ้นจากการบอกเล่าเกี่ยวกับชนิดของวัตถุ การอุปมาอุปไมยและการกระทำต่อวัตถุ วิธีการเหล่านี้ดูเหมือนเป็นทัศนคติแบบมนุษย์ที่เชื่อว่า “วัตถุ” ดำรงอยู่ในแบบที่ต่างไปจากประสบการณ์ของมนุษย์ ทัศนคติของ Bogost ถูกใช้เป็นเทคนิคเพื่อที่จะแบ่งแยกมนุษย์ออกจากสิ่งที่มิใช่มนุษย์ ปัญหาที่ตามมาคือมีความจำเป็นจริงหรือที่ต้องแยกสองส่วนนี้ขาดออกจากกัน (Marshall, 2013)คำถามที่ว่าการเป็นในแบบที่วัตถุเป็นนั่นคืออะไร เป็นคำถามที่ยากจะตอบและไม่สามารถเข้าใจได้ ยกเว้นมนุษย์อาศัยการคาดเดาและการเปรียบเทียบด้วยคำอธิบายต่างๆ ดังนั้น การอุปมาอุปไมยที่ถูกสร้างขึ้นก็อาจเป็นเพียงความน่าจะเป็นเกี่ยวกับวัตถุ ซึ่งมันอาจไม่ใช่สิ่งเดียวกับ “ความเป็นจริง” ที่วัตถุดำรงอยู่


ผู้เขียน: ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ

เอกสารอ้างอิง:

Bogost, I. (2012). Alien phenomenology‚ or what it’s like to be a thing. Minneapolis: University of Minnesota Press.

Harman, G. (2005). Guerrilla metaphysics: Phenomenology and the carpentry of things. Chicago: Open Court.

Harman, G. (2009). Prince of networks: Bruno Latour and metaphysics. Prahran: Repress.

Kuhn, T. (2010). How to evaluate controlled natural languages. In Fuchs, N E. Controlled Natural Language. (pp.1-20). Berlin Retrieved from https://www.zora.uzh.ch/ id/eprint/33116/1/cnl2009main_kuhn_ExtAbstr_V.pdf

Latour, B. (1988). The pasteurization of France. Cambridge: Harvard University Press.

Lynch, M. (2013). Ontography: Investigating the production of things, deflating ontology. Social Studies of Science, 43(3), 444-462.

Marshall, K. (2013). How to Be an Alien: Ian Bogost’s “Alien Phenomenology, or, What It's Like to Be a Thing” Retrieved from https://lareviewofbooks.org/article/how-to-be-an-alien/

Meillassoux, Q. (2008). After Finitude: An Essay on the Necessity of Contingency. Trans. Ray Brassier. London and New York: Continuum.

Schulten, S. (2001). The geographical imagination in America, 1880-1950. Chicago: University of Chicago Press.


หัวเรื่องอิสระ: ภววิทยา, วัตถุ, ปรากฎการณ์วิทยา, วิธีวิทยา