คำศัพท์

Clinical Cultural Competency

สมรรถนะทางวัฒนธรรม เป็นแนวคิดที่ถูกนำเสนอในหลายสาขาวิชา หลายแวดวงวิชาชีพ ไม่ว่าจะเป็นในแวดวงการแพทย์หรือการดูแลรักษาผู้ป่วย งานด้านสังคมสงเคราะห์ งานด้านการศึกษา งานด้านจิตวิทยา งานด้านการทหารและความมั่นคง รวมทั้งในแวดวงมานุษยวิทยาการแพทย์ (medical anthropology) ที่มีการนำเสนอแนวคิดนี้และถกเถียงกันอยู่เช่นกัน

ในทศวรรษ 1960 สมรรถนะทางวัฒนธรรมได้ถูกกล่าวถึงในแวดวงการแพทย์ ในความหมายของ ‘การรักษาข้ามวัฒนธรรม’ (Cross-cultural medicine) ซึ่งเป็นช่วงที่ประเด็นการเมืองของอัตลักษณ์ ขบวนการเรียกร้องสิทธิกำลังขยับขยายในสหรัฐเมริกา ต่อมาในทศวรรษ 1970 ก็ได้มีการเสนอเรื่องความแวดไวทางวัฒนธรรม (cultural sensitivity) โดยเชื่อมโยงวัฒนธรรมกับความเจ็บป่วยและการดูแลสุขภาพ กระทั่งในทศวรรษ 1980 และ 1990 คำว่า ‘cultural competence’ ก็ปรากฏขึ้นอย่างเห็นได้ชัด พร้อม ๆ กับแนวคิดเรื่อง cultural responsiveness, cultural humility และ cultural safety ซึ่งมีรายละเอียดทั้งที่เหมือนและแตกต่างกันไป (Kirmayer, 2012; Jernigan et al., 2016).

สมรรถนะทางวัฒนธรรมในทางการแพทย์ (the clinical cultural competence) หมายถึงการมีชุดของพฤติกรรม (behaviors) ทัศนคติ (attitudes) และแนวทาง/นโยบาย (policies) อันมีความสอดคล้องกันซึ่งรวมกันอยู่ภายในระบบ หน่วยงาน หรือในหมู่ผู้เชี่ยวชาญ โดยการมีสมรรถนะทางวัฒนธรรมจะช่วยให้การทำหน้าที่ดูแลรักษาผู้ป่วยในสถานการณ์ข้ามวัฒนธรรมเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ภายใต้บริบทของวิถีปฏิบัติ ความเชื่อทางวัฒนธรรม และความต้องการของผู้ป่วยหรือชุมชนวัฒนธรรมของเขา ทั้งนี้ ผู้ทำการดูแลรักษาทั้งในฐานะปัจเจกหรือองค์กร ต้องมีความรอบรู้ในมิติทางวัฒนธรรมที่เกี่ยวกับการป้องกันและรักษาโรคภัยไข้เจ็บของคนในวัฒนธรรมต่าง ๆ อีกทั้งมีทักษะที่สามารถเข้าใจความแตกต่างในการให้ความหมายต่อโรค (disease) ต่อความเจ็บป่วย (illness) หรือต่อความตาย มีทักษะที่สามารถเข้าใจการรับรู้และการแสดงออกทางอาการหรือประสบการณ์ของผู้ป่วยที่ต่างวัฒนธรรมกันได้ รวมทั้งเข้าใจอิทธิพลทางวัฒนธรรมที่ส่งผลต่อผู้ป่วยและผู้ทำการดูแลรักษาเอง (เท่าทันต่อตนเอง) กระทั่งสามารถสร้างความสัมพันธ์แบบไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกันได้ โดยอดทนอดกลั้นและเคารพในความแตกต่างหลากหลายของผู้คน/ผู้ป่วย (Cross et al., 1989; Joralemon, 2006; Jernigan et al., 2016)

ทั้งนี้ แนวคิดสมรรถนะทางวัฒนธรรมในทางการแพทย์ มองว่าการรักษาสุขภาพแบบ one-size-fits-all ไม่สามารถตอบสนองต่อความแตกต่างหลากหลายของผู้คนในสังคมได้อย่างเบ็ดเสร็จ แต่ต้องสร้างทางเลือกในการดูแลรักษาผู้ป่วย โดยสมรรถนะทางวัฒนธรรมจะเป็นตัวบ่งบอกว่าเราควรทำหรือไม่ทำอะไรบ้างในการดูแลรักษาผู้ป่วยที่มีภูมิหลังทางชาติพันธุ์ (ethnic background) แตกต่างกันไป ซึ่งในทศวรรษ 1990 สังคมอเมริกันได้จัดทำสำมะโน (the U.S. census) โดยแบ่งกลุ่มทางเชื้อชาติ-ชาติพันธุ์ (The ethno-racial blocs) ออกเป็น 5 กลุ่มหลัก ๆ คือ African American, Asian American and Pacific Islanders, Latino, American Indian and Alaska Native และ White อันเป็นการจัดจำแนกความแตกต่างอย่างง่ายจากภูมิหลังดังกล่าว ก่อนที่ต่อมาจะขยับขยายมาสู่ความแตกต่างทางวัฒนธรรมของผู้ป่วยในมิติของเพศสภาพ (gender) เพศวิถี (sexual orientation) ศาสนา (religion) วัย (age) สมรรถภาพ (ability) ภาษา (language) ชนชาติ (nationality) และบุคลิกหรือตัวตนอื่น ๆ ที่สัมพันธ์อยู่กับภูมิหลังทางวัฒนธรรมอย่างสลับซับซ้อนยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ แนวคิดสมรรถนะทางวัฒนธรรมในทางการแพทย์ ยังเป็นแนวคิดที่เรียกร้องให้มีการทำความเข้าใจอย่างถ่องแท้ถี่ถ้วนต่อความไม่เป็นธรรมของกระบวนการทางสังคมการเมืองและทางเศรษฐกิจ ภายใต้มิติของความสัมพันธ์ทางอำนาจ การมีอภิสิทธิ์ในสังคม การกีดกันหรือเลือกปฏิบัติ หรือการเหยียดเชื้อชาติ รวมทั้งปัญหาเชิงโครงสร้างที่บิดเบี้ยวที่อยู่ในรูปของระบบการบริการสุขภาพ กฎเกณฑ์/ระเบียบการจัดแบ่งพื้นที่ โครงสร้างพื้นฐานในเมืองและชนบท กฎระเบียบในการนิยามความจำป่วย ซึ่งล้วนสนับสนุนให้ความเหลื่อมล้ำหรือความไม่เป็นธรรมทางสุขภาพของผู้คนยังคงดำรงอยู่ได้และเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้เกิดอาการ (Symptom) ของโรคต่าง ๆ หรือกล่าวได้ว่าคือการให้ความสำคัญต่อสมรรถนะเชิงโครงสร้าง (structural competency) ด้วยเช่นกัน ซึ่ง การมีสมรรถนะทางวัฒนธรรมในทางการแพทย์ถูกคาดหวังว่าจะช่วยลดทอนปัญหาเชิงโครงสร้างและความไม่เป็นธรรมดังกล่าวลงได้ ทั้งนี้ ในช่วงทศวรรษ 1990 และทศวรรษ 2000 หน่วยงานด้านการแพทย์ของหลายประเทศ อาทิ สหรัฐอเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สหราชอาณาจักร สวีเดน ก็ได้เริ่มพัฒนาและส่งเสริมแนวคิดสมรรถนะทางวัฒนธรรม (รวมถึงแนวคิดในทำนองเดียวกัน) ผ่านการจัดทำหลักสูตรตำราเรียนและการฝึกอบรมเพื่อเพิ่มทักษะของบุคลากรทางการแพทย์ในการจัดการกับความแตกต่างหลากหลายทางชาติพันธุ์ของผู้คนในสังคมนั้น ๆ (Brach & Fraser, 2000; Fuller, 2002; Betancourt, Green, Carrillo & Ananeh-FirempongI, 2003; Kleinman & Benson, 2006; Qureshi et al., 2008; Kirmayer, 2012; Willen & Carpenter-Song, 2013; Metzl & Hansen, 2014; Jernigan et al., 2016; Ashkinazy, 2017; Curtis et al., 2019; Wedel, 2020)

Arthur Kleinman นักมานุษยวิทยาการแพทย์ท่านหนึ่งได้เสนอว่า แพทย์ถือเป็นนักมานุษยวิทยาจำพวกหนึ่งเพราะต้องเอาใจใส่ต่อประสบการณ์ของผู้ป่วย พร้อมทั้งต้องพยายามเข้าใจความเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นตามที่ผู้ป่วยเป็นอยู่และที่ผู้ป่วยตอบสนองต่อความเจ็บป่วยนั้น ซึ่งมันเป็นสิ่งที่ถูกต้องเหมาะสมที่แพทย์จะต้องมีความอ่อนไหว แวดไวต่อความแตกต่างทางวัฒนธรรม และพยายามที่จะทำให้การดูแลรักษาผู้ป่วยสอดคล้องกับประเด็นทางวัฒนธรรมด้วยมุมมองทางมานุษยวิทยา โดย Kleinman มองว่าวิธีการที่ดีในเบื้องต้นคือการฝึกฝนแพทย์ให้เข้าใจเครื่องมือทางชาติพันธุ์วรรณนา (Ethnography) ที่ให้ความสำคัญกับโลกของชุมชนท้องถิ่นนั้น ๆ (local world) ชาติพันธุ์วรรณนาจะเป็นเครื่องมือที่สำคัญที่ช่วยให้แพทย์ต้องไตร่ตรอง ทบทวน และเท่าทันต่อตนเอง โดยเฉพาะเท่าทันต่อวัฒนธรรมการแพทย์สมัยใหม่ (the culture of biomedicine) ทั้งนี้ คำว่า “First do no harm by stereotyping” ควรจะถูกนำมาติดไว้บนผนังของคลินิกทุกที่ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีผู้อพยพ ผู้ลี้ภัย หรือชนกลุ่มน้อยทางชาติพันธุ์ (Kleinman & Benson, 2006) สอดคล้องกับที่ Donald Joralemon (2006) นักมานุษยวิทยาการแพทย์อีกท่านที่เสนอว่า ชาติพันธุ์วรรณนา (Ethnography) คือเครื่องมือที่สำคัญในการทำความเข้าใจต่อความทุกข์ของมนุษย์อันเนื่องมาจากโรคภัยไข้เจ็บ และยังเป็นสิ่งที่ขาดไปไม่ได้ (sin qua nun) สำหรับการทำความเข้าใจแบบองค์รวมต่อความเจ็บป่วยและการเยียวยารักษา

อย่างไรก็ตาม ข้อถกเถียงสำคัญประการหนึ่งต่อแนวคิดสมรรถนะทางวัฒนธรรมทางการแพทย์คือ ในบางครั้งบุคลากรทางการแพทย์ (รวมทั้งตัวหลักสูตรการฝึกอบรมสมรรถนะทางวัฒนธรรม) อาจจะมีการลดทอนวัฒนธรรมให้เป็นสิ่งที่ตายตัว เป็นเอกลักษณ์ที่แข็งทื่อ หรือเป็นลักษณะทั่วไปที่เข้าใจโดยง่าย (simplistic trait-based) รวมทั้งอาจจะยัดเยียดตีตราให้ผู้ป่วยมีอัตลักษณ์หนึ่ง ๆ อย่างชัดเจนเกินไป ซึ่งมันสัมพันธ์กับการที่บุคลากรทางการแพทย์มักมีความเชื่อมั่นว่าสมรรถนะทางวัฒนธรรมสามารถฝึกฝนเป็นทักษะเชิงเทคนิคจนเกิดความเชี่ยวชาญได้โดยทั่วไป (process-oriented) ทั้งนี้ ประเด็นดังกล่าวมีสาเหตุสำคัญมาจากคำจำกัดความต่อ ‘วัฒนธรรม’ ที่ไม่ตรงกัน โดยนักมานุษยวิทยามองว่าเราไม่สามารถให้ภาพต่อวัฒนธรรมหนึ่ง ๆ ได้อย่างชัดเจนตายตัว เพราะวัฒนธรรมสำหรับนักมานุษยวิทยาเป็นสิ่งที่ไม่ตายตัว มีความยืดหยุ่น มีพลวัตสูง คนหนึ่งคนใดไม่จำเป็นต้องสังกัดวัฒนธรรมใดวัฒนธรรมหนึ่งเพียงเท่านั้น (Kleinman & Benson, 2006; Kirmayer, 2012; Willen & Carpenter-Song, 2013; Good & Hannah, 2015)

ทำนองเดียวกันกับข้อสังเกตที่ว่า แม้ว่าแนวคิดสมรรถนะทางวัฒนธรรมทางการแพทย์จะช่วยลดทอนการกลืนกลาย (assimilation) กลุ่มชนที่แตกต่างให้เป็นกลุ่มก้อนเดียวกัน และต่อต้านการทำให้เป็นชายขอบ (marginalization) ต่อชนกลุ่มน้อย แต่ในอีกแง่มุมหนึ่งแนวคิดดังกล่าวก็อาจจะเป็นการพยายามมุ่งหาสารัตถะทางวัฒนธรรม (essentializing) การทำให้วัฒนธรรมเป็นสินค้าหรือสิ่งของอย่างหนึ่ง และเกิดการฉกฉวยทางวัฒนธรรม (appropriating) ซึ่งอาจนำไปสู่การเหมารวมทางอัตลักษณ์และวัฒนธรรม การตีตราเชื้อชาติ/ชาติพันธุ์กับโรคภัยไข้เจ็บ กระทั่งเกิดการลดทอนอำนาจในการต่อรองของผู้ป่วยได้ด้วยเช่นกัน (Fuller, 2002; Taylor, 2003; Kleinman & Benson, 2006; Good & Hannah, 2015)

ตัวอย่างเช่น งานของ Ann Fadiman เรื่อง The Spirit Catches You and You Fall Down: A Hmong Child, Her American Doctors, and the Collision of Two Cultures ในปี 1997 ที่แม้จะช่วยแสดงให้เห็นว่าการไม่ใส่ใจต่อมิติทางวัฒนธรรมที่แตกต่างกันนั้นอาจทำให้เกิดความเสียหายต่อการดูแลผู้ป่วยได้ โดยในกรณีของงานชิ้นนี้คือ ในปี 1982 เด็กชาวม้งจากประเทศลาวที่ครอบครัวได้อพยพมาสหรัฐอเมริกาและเธอเป็นโรคลมชัก ซึ่งต่อมาได้เข้ารับการรักษาในแบบแผนของตะวันตกสมัยใหม่แต่ทว่าเธอก็ยังคงมีอาการไม่ดีขึ้นและแย่ลงอย่างมากในท้ายที่สุด (สมองตาย) โดย Ann Fadiman ได้สัมภาษณ์ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในหลายฝ่ายและพบว่ามีสาเหตุหนึ่งมาจากความไม่เข้าใจกันระหว่างครอบครัวของเด็กชาวม้งและแพทย์สมัยใหม่ โดยเฉพาะในเรื่องวัฒนธรรมของชาวม้งที่มีความแตกต่างไปจากวิธีการพิจารณาโรคและวิธีการดูแลรักษาแบบตะวันตกสมัยใหม่ ซึ่งจากกรณีดังกล่าวเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้หลายหน่วยงานได้บูรณาการประเด็นการเรียนรู้ข้ามวัฒนธรรม (cross-cultural education) รวมทั้งสมรรถนะทางวัฒนธรรมสำหรับฝึกหัดบุคลากรทางการแพทย์ และเกิดบริการการแปลภาษาสำหรับการรักษาทางการแพทย์เกิดขึ้นอย่างเห็นได้ชัด อย่างไรก็ตามต่อมาในปี 2003 Janelle Taylor นักมานุษยวิทยาการแพทย์คนหนึ่งก็ได้ตั้งข้อสังเกตสำคัญต่องานชิ้นดังกล่าวเช่นว่า อาจทำให้เกิดการอธิบายวัฒนธรรมม้ง (Hmong culture) แบบเน้นสารัตถะที่สร้างการเหมารวมต่อชาวม้งหรือสร้างความแข็งทื่อให้กับวัฒนธรรมหนึ่ง ๆ หรือทำให้เกิดการเหมารวมต่อผู้ป่วยในวัฒนธรรมหนึ่ง ๆ ได้เช่นกัน เพราะความจริงแล้วชาวม้งหรือชาติพันธุ์ใด ๆ ก็มีส่วนที่มีความเป็นปัจเจกชนอันลื่นไหลและอาจจะไม่ได้มีภูมิหลังที่เหมือนกันเสียหมด (Taylor, 2003; Kleinman & Benson, 2006; Gregg & Saha, 2006; Good & Hannah, 2015).

ขณะเดียวกันยังมีข้อสังเกตอีกว่า ในบางครั้งผู้ป่วยและครอบครัวก็อาจตีความว่า ความสนใจของแพทย์ที่มีต่อความแตกต่างทางวัฒนธรรมนั้นเป็นการล่วงล้ำมากเกินไป ซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยรู้สึกว่ากำลังถูกแบ่งแยกและถูกตีตรา (stigmatized) ได้เหมือนกัน ทั้งนี้ ในบางครั้งมิติทางวัฒนธรรมก็อาจจะไม่ได้เป็นศูนย์กลางหรือต้นตอปัญหาของผู้ป่วยเสมอไป โดยการสนใจต่อวัฒนธรรมของผู้ป่วยที่มากเกินไปนั้นอาจจะนำไปสู่การบดบังต้นตอของปัญหาที่แท้จริงหรืออาจทำให้ไขว้เขวออกจากประเด็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่บิดเบี้ยว ปัญหาการกีดกันเลือกปฏิบัติ ปัญหาความเหลื่อมล้ำภายในระบบบริการสุขภาพก็เป็นได้ (Gregg & Saha, 2006; Metzl & Hansen, 2014) ยกตัวอย่างเช่น กรณีที่กุมารแพทย์ในรัฐแคลิฟอร์เนียได้ขอให้นักมานุษยวิทยาทางการแพทย์ช่วยให้คำปรึกษาแก่ชาวเม็กซิกันที่ติดเชื้อเอชไอวี แต่ไม่ยอมพาลูกชายวัย 4 ขวบมารักษาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเดิมทีแพทย์ได้สันนิษฐานว่าปัญหานี้เป็นเพราะพ่อของเด็กขาดความเข้าใจในความแตกต่างทางวัฒนธรรมของการดูแลรักษาโรคเป็นอย่างมาก จึงไม่ยอมพาเด็กมาดูแลรักษา แต่ทว่านักมานุษยวิทยาทางการแพทย์กลับพบว่า ชายคนนี้มีความเข้าใจอย่างถ่องแท้เกี่ยวกับเอชไอวีและการดูแลรักษาอยู่แล้ว ซึ่งส่วนใหญ่มาจากการสนับสนุนขององค์กรไม่แสวงหากำไรในท้องถิ่นที่มุ่งช่วยเหลือผู้ป่วยชาวเม็กซิกัน-อเมริกันที่ติดเชื้อเอชไอวี ทั้งนี้ นักมานายวิทยาพบว่า ปัญหาที่แท้จริงเป็นเพราะชายคนนั้นเป็นคนขับรถบัสที่มีรายได้ต่ำมาก มักจะทำงานกะดึก และไม่มีเวลาพาลูกชายไปดูแลรักษาเป็นประจำตามที่แพทย์ร้องขอ ความล้มเหลวในการมารักษาของเขาไม่ใช่เพราะความแตกต่างทางวัฒนธรรมแต่เป็นเพราะสภาวะทางเศรษฐกิจและสังคมในขณะนั้น การพูดคุยกับเขาควรคำนึงและพิจารณาถึงโลกของชุมชนท้องถิ่น (local world) ที่เป็นจริงของเขา มากกว่าการมองไปที่ความแตกต่างทางความเชื่อเรื่องสุขภาพแบบชาวแม็กซิกัน (Mexican health beliefs) (Kleinman & Benson, 2006)

นอกจากนี้ Kleinman และ Benson (2006) ยังเสนอว่า ที่ผ่านมานั้นการพิจารณามิติทางวัฒนธรรมที่แตกต่างได้ถูกเพ่งไปที่ผู้ป่วยหรือครอบครัวเป็นศูนย์กลาง แต่อันที่จริงแล้วสิ่งที่เราควรพิจารณาร่วมด้วยคือ วัฒนธรรมบางอย่างของกลุ่มผู้ชำนาญการทั้งหลาย (the culture of the professional) รวมทั้งควรพิจารณาภูมิหลังทางวัฒนธรรมของแพทย์ พยาบาล นักสังคมสงเคราะห์ และวัฒนธรรมการแพทย์สมัยใหม่ (biomedicine) ที่อาจจะมีแง่มุมของการเป็นตัวการสำคัญที่ผลิตซ้ำอคติทางเชื้อชาติในสถาบันต่าง ๆ ให้คงอยู่ และอาจค้ำจุนปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสุขภาพของชนกลุ่มน้อยต่าง ๆ (minority groups) ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องขจัดออกไป


ผู้เขียน: สัมพันธ์ วารี

เอกสารอ้างอิง:

Ashkinazy, B. (2017). Cultural Competence in Theory and Practice (master’s thesis). Georgia: Georgia State University. Retrieved from https://scholarworks.gsu.edu/anthro_theses/129

Betancourt, J. R., Green, A. R., Carrillo, J. E., & Ananeh-Firempong, O., (2003). Defining cultural competence: a practical framework for addressing racial/ethnic disparities in health and health care. Public health reports (Washington, D.C.: 1974), 118(4), 293–302.

Brach, C., & Fraser, I. (2000). Can cultural competency reduce racial and ethnic health disparities? A review and conceptual model. Medical care research and review : MCRR, 57 Suppl 1(Suppl 1), 181–217.

Cross, T., Bazron, B., Dennis, K., & Isaacs, M. (1989). Towards a culturally competent system of care. Washington, D.C: CASSP Technical Assistance Center, Georgetown University Child Development Center.

Curtis, E., Jones, R., Tipene-Leach, D., Walker, C., Loring, B., Paine, S. J., & Reid, P. (2019). Why cultural safety rather than cultural competency is required to achieve health equity: a literature review and recommended definition. International journal for equity in health, 18(1), 174.

Fuller K. (2002). Eradicating essentialism from cultural competency education. Academic medicine: journal of the Association of American Medical Colleges, 77(3), 198–201.

Good, M. J., & Hannah, S. D. (2015). "Shattering culture": perspectives on cultural competence and evidence-based practice in mental health services. Transcultural psychiatry, 52(2), 198–221.

Gregg, J.L., & Saha, S. (2006). Losing Culture on the Way to Competence: The Use and Misuse of Culture in Medical Education. Academic Medicine, 81, 542-547.

Jernigan, V. B., Hearod, J. B., Tran, K., Norris, K. C., & Buchwald, D. (2016). An Examination of Cultural Competence Training in US Medical Education Guided by the Tool for Assessing Cultural Competence Training. Journal of health disparities research and practice, 9(3), 150–167.

Joralemon, D. (2006) Exploring medical anthropology (2nd ed.). Boston : Pearson.

Kirmayer, L. J. (2012). Rethinking cultural competence. Transcultural psychiatry, 49(2), 149–164.

Kleinman A, Benson P. (2006). Anthropology in the Clinic: The Problem of Cultural Competency and How to Fix It. PLoS Med 3(10): e294. Retrieved from https://doi.org/10.1371/journal.pmed.0030294

Metzl, J. M., & Hansen, H. (2014). Structural competency: theorizing a new medical engagement with stigma and inequality. Social science & medicine (1982), 103, 126–133.

Qureshi, A., Collazos, F., Ramos, M., & Casas, M. (2008). Cultural competency training in psychiatry. European psychiatry : the journal of the Association of European Psychiatrists, 23 Suppl 1, 49–58.

Taylor, J. S. (2003). The story catches you and you fall down: Tragedy, ethnography, and ‘‘cultural competence’’. Medical Anthropology Quarterly, 17(2), 159–181.

Wedel, J. (2020). Facing the Challenges of Cultural Competency in Swedish Mental Healthcare. Swedish Journal of Anthropology, 3(2). 55-68.

Willen, S. S., & Carpenter-Song, E. (2013). Cultural competence in action: "lifting the hood" on four case studies in medical education. Culture, medicine and psychiatry, 37(2), 241–252.


หัวเรื่องอิสระ: สมรรถนะทางวัฒนธรรม, มานุษยวิทยาการแพทย์, แพทย์พื้นบ้าน