คำศัพท์

Object-oriented ontology

แนวการศึกษา Object-oriented ontology

เมื่อกล่าวถึง “วัตถุ” ทำให้เกิดข้อสงสัยว่า “วัตถุ” ถูกนิยามจากอะไร ในการศึกษาปรัชญาตะวันตกความสนใจต่อ “วัตถุ” เกิดขึ้นมานานแล้ว ตั้งแต่สมัยอริสโตเติลซึ่งสนใจการดำรงอยู่ของวัตถุในฐานะวัตถุ ในความคิดของ Husserl มองวัตถุในฐานะเป็น “เจตนา” (intentional objects) ที่ก่อให้เกิดจิตสำนึกถึงคุณลักษณะและคุณสมบัติของสิ่งที่ปรากฎ แนวคิดภววิทยาวัตถุมีข้อถกเถียงที่ต่างไปจากเดิมโดยปฏิเสธว่าวัตถุที่แท้จริงคือวัตถุที่คงรูปไม่เปลี่ยนแปลงไปตามเวลาและพื้นที่ และเสนอการมองวัตถุที่พ้นไปจากการใช้เหตุผลและสติปัญญาของมนุษย์ โดยเฉพาะการไม่นำเอาประสบการณ์ของมนุษย์เป็นเครื่องมือตัดสินความจริงของวัตถุ กล่าวคือ วัตถุสามารถมีตัวตนของมันเองโดยไม่ต้องอ้างอิงการกระทำที่มนุษย์มีต่อวัตถุ ฉะนั้นความสัมพันธ์ใดๆที่มนุษย์มีต่อวัตถุมิใช่เครื่องตัดสินความจริงของวัตถุ ภววิทยาวัตถุจึงทำลายล้างความสัมพันธ์ที่วัตถุมีต่อกัน เพราะความสัมพันธ์ที่ปรากฏเป็นเพียงการตีความผ่านความรู้สึกที่มนุษย์สร้างขึ้นเอง มิใช่เป็นการบ่งชี้ความจริงเกี่ยวกับวัตถุนั้น

ในการศึกษาทางอภิปรัชญาซึ่งสนใจ “การดำรงอยู่” ของสิ่งต่างๆ มีคำถามเกี่ยวกับการดำรงอยู่ของวัตถุหรือภววิทยาวัตถุ (Object-oriented ontology) ที่ได้รับอิทธิพลความคิดเรื่อง tool-analysis มาจาก Heidegger ซึ่งต่อต้านการมีสิทธิพิเศษของมนุษย์เหนือสรรพสิ่ง (Harman, 2002) และล้มล้างความคิดที่เอามนุษย์เป็นศูนย์กลาง (anthropocentrism) แนวการศึกษาภววิทยาวัตถุเป็นปรัชญาว่าด้วยความจริง พยายามชี้ว่า “วัตถุ” มีส่วนกำหนดสภาพจิตใจของมนุษย์และทำให้มนุษย์ตระหนักถึงการมีตัวตน (Bryant, 2011) วัตถุดำรงอยู่อย่างเป็นอิสระและอยู่นอกขอบเขตการรับรู้ของมนุษย์ (human cognition) ความสัมพันธ์ของสิ่งต่างๆมีผลต่อการเข้าใจในวัตถุ ตัวอย่างเช่น จิตของมนุษย์ที่เข้าไปรุกล้ำการมีอยู่ของวัตถุ ความสัมพันธ์เหล่านี้มักจะบิดเบือนให้วัตถุกลายเป็นเพียงผู้ถูกกระทำ หรือเป็นเพียงผลผลิตที่เกิดขึ้นจากความคิดของมนุษย์ (Harman, 2005)

การศึกษาภววิทยาวัตถุเกี่ยวข้องกับกระบวนทัศน์ความจริงแบบคาดเดา (speculative realism) ซึ่งเป็นแนวคิดของ Ray Brassier (2014) ที่พยายามรื้อถอนตรรกะแบบลดทอน (Reduction) ที่เชื่อว่าสิ่งที่ซับซ้อนสามารถอธิบายได้จากส่วนประกอบย่อยๆที่รวมตัวกันขึ้นมา ตรรกะนี้ทำให้เกิดการคู่ความสัมพันธ์ระหว่างความคิดกับวัตถุภายใต้กระบวนทัศน์สหสัมพันธ์นิยม (Correlationism) ซึ่งเป็นการบ่มเพาะความจริงเกี่ยวกับโลกที่ถูกตีความจากความคิดของมนุษย์เท่านั้น แต่มิได้มองเห็นความจริงที่อยู่นอกเหนือความคิดของมนุษย์ กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ความจริงในโลกมักจะถูกตัดสินจากสติปัญญาของมนุษย์เพียงฝ่ายเดียว (Meillassoux, 2008) กระบวนทัศน์สหสัมพันธ์นิยมปรากฏอยู่ในการแสวงหาความรู้แบบ “ความจริงเชิงญาณวิทยา” (Epistemological Realism) ซึ่งอธิบายว่าการเข้าถึงความจริงต้องอาศัยความรู้เกี่ยวกับวัตถุที่มนุษย์คิดอย่างไตร่ตรอง ในทางตรงกันข้าม ความจริงเชิงภววิทยา (Ontological Realism) อธิบายว่าการดำรงอยู่ของวัตถุไม่ผันแปรไปตามวัตถุชนิดอื่น วัตถุทุกชนิดต่างดำรงอยู่อย่างนั้นไม่แปรเปลี่ยน

ข้อถกเถียงเกี่ยวกับภววิทยาวัตถุ สนใจธรรมชาติและความเท่าเทียมกันของวัตถุ ซึ่งนักปรัชญาชาวอเมริกัน Graham Harman ได้เสนอแนวคิดการดำรงอยู่ของวัตถุ หรือ ปรัชญาแห่งวัตถุไว้ในวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของเขาเรื่อง Tool-Being: Elements in a Theory of Objects (ปี 1999) และต่อมาในปี 2009 Levi Bryant ได้ปรับปรุงแนวคิดของ Harman โดยใช้คำว่า Object-oriented ontology จนกลายเป็นแนวคิดทางปรัชญาที่ถูกพูดถึงในปัจจุบัน ข้อถกเถียงที่มีอิทธิพลต่อการศึกษาการมีอยู่ของความจริงจากแนวคิดภววิทยาวัตถุก็คือ การละทิ้งตรรกะแบบสหสัมพันธ์นิยมที่มองโลกผ่านความคิดของมนุษย์เป็นสำคัญ ในทัศนะของ Harman (2002) เชื่อว่า “ความจริง” ยังดำรงอยู่นอกเหนือความคิดและการกระทำของมนุษย์ พร้อมกับพยายามโต้เถียงว่าการทำความเข้าใจ “วัตถุ” มิใช่การมองดูความสัมพันธ์ที่วัตถุมีต่อสิ่งต่างๆ และสรุปว่าความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นนั้นคือ “ความจริง” ในแบบที่ปรากฏ หากแต่วัตถุแต่ละชนิดมีโลกของมันโดยไม่จำเป็นต้องเกาะเกี่ยวกับวัตถุชนิดอื่น

ภววิทยาวัตถุสวนทางกับปรัชญาแบบ Immanuel Kant

Immanuel Kant คือนักปรัชญาที่ได้รับอิทธิพลแนวคิดแบบเหตุผลนิยมที่พยายามลดทอนอารมณืความรู้สึกส่วนตัวออกไปจากการแสวงหาความจริงในโลก โดยวิจารณ์ว่าอารมณ์ของมนุษย์เจือปนด้วยอคติและไม่สามารถนำมาเป็นเครื่องมือที่จะค้นหากฎเกณฑ์ของความจริงในธรรมชาติได้ วิธีการที่จะเข้าถึงกฎเกณฑ์ในธรรมชาติจำเป็นต้องอาศัยวิธีคิดแบบเหตุผล ต้องแยกแยะเหตุกับผลออกจากกันและพิสูจน์ให้เห็นธรรมชาติก่อตัวขึ้นและดำรงอยู่ด้วยกฎเกณฑ์อย่างไร วิธีคิดนี้นำไปสู่การยกย่องปัญญาของมนุษย์ให้เหนือกว่าสิ่งอื่น (transcendent anthropocentrism) ซึ่ง Harman ปฏิเสธความคิดนี้อย่างสิ้นเชิง ในทางกลับกัน การศึกษาภววิทยาวัตถุให้ความสนใจกับ “สภาวะสิ้นสุด” (finitude) หมายถึง การดำรงอยู่ของวัตถุมิได้ตัดสินจาก ความสัมพันธ์ที่วัตถุต่างๆมีต่อกัน ปฏิสัมพันธ์ของวัตถุต่างๆมิใช่ภาพแทนของการมีอยู่ของวัตถุเหล่านั้นแต่อย่างใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตีความวัตถุจากความคิดของมนุษย์มิใช่สิ่งพิสูจน์ความจริงของวัตถุนั้น

Harman (2002) กล่าวว่าการดำรงอยู่ของวัตถุมี 2 รูปแบบ คือ วัตถุที่เป็นจริง กับ วัตถุทางความรู้สึก (real objects and sensual objects) วัตถุที่เป็นจริงหมายถึงวัตถุที่อยู่นอกเหนือประสบการณ์ของมนุษย์ ส่วนวัตถุทางความรู้สึกเกิดขึ้นจากประสบการณ์และความรู้สึกของมนุษย์ ประเด็นสำคัญที่ Harman อธิบายการดำรงอยู่ของวัตถุวางอยู่บนจุดที่ทำให้เกิดความต่าง (axis of distinction) ระหว่างตัววัตถุกับคุณสมบัติของวัตถุ (objects and qualities) เช่น แอปเปิ้ลและลักษณะสีแดงของมัน จุดที่ทำให้เกิดความต่างนี้นำไปสู่การแยกคุณสมบัติของวัตถุที่ต่างกันสองแบบคือ คุณสมบัติทางความรู้สึก (sensual qualities) กับคุณสมบัติที่เป็นจริง (real qualities) วัตถุทุกชนิดมีคุณลักษณะที่มากกว่าหนึ่งและดำรงอยู่อย่างเป็นเอกเทศต่อวัตถุชนิดอื่น ในแง่นี้ วัตถุจึงมีมิติที่ลึก (depths) มากกว่าจะถูกตีความจากสติปัญญาของมนุษย์ มิติที่ลึกดังกล่าวคือศักยภาพที่ถูกกระทำมิได้ (unactualised potential) ซึ่ง Bryant (2011) เรียกศักยภาพนี้ว่า “การดำรงอยู่อย่างแท้จริง” (virtual proper being)

การทำความเข้าใจการดำรงอยู่ของ “วัตถุ” จำเป็นต้องแยก “วัตถุ” ออกจากสิ่งต่างๆ (Withdrawal) ทั้งการอธิบายด้วยทฤษฎีและปฏิบัติการ กล่าวคือ วัตถุทางความรู้สึกต้องถูกแยกออกจากวัตถุที่เป็นจริง การทำความเข้าใจวัตถุสองแบบนี้อาจพิจารณาได้จากการให้เหตุผลแบบทดแทน (vicarious causation) ซึ่งหมายถึงการดำรงอยู่ของสิ่งสองสิ่งที่ถูกทดแทนด้วยเปลือกหุ้มซึ่งปิดกั้นมิให้วัตถุสองสิ่งเข้าถึงแก่นแท้ของกันและกัน แต่ปล่อยให้วัตถุหลงติดอยู่กับเปลือกภายนอก วัตถุที่มีเปลือกหุ้มจึงเป็นวัตถุทางความรู้สึกที่บดบังวัตถุที่เป็นจริง เพราะความรู้สึกที่เกิดจากจินตนาการของมนุษย์ ทำให้มนุษย์มอง “วัตถุ” แค่เปลือกของมัน การให้เหตุผลต่อการดำรงอยู่ของ “วัตถุ” เปรียบเสมือนการสร้างสิ่งทดแทนหรือมีสิ่งห่อหุ้มซึ่งมิได้ทำลายเนื้อแท้ของวัตถุเหล่านั้น Harman ได้แบ่งความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นกับวัตถุเป็น 5 ประเภท คือ (1) ความสัมพันธ์แบบเก็บรักษา (Containment) หมายถึงความมุ่งหมายที่จะทำให้เกิดวัตถุที่เป็นจริงและวัตถุทางความรู้สึก (2) ความสัมพันธ์แบบประชิดติดกัน (Contiguity) หมายถึงวัตถุทางความรู้สึกที่ดำรงอยู่คู่กันแต่ไม่ส่งผลกระทบต่อกัน (3) ความสัมพันธ์แบบซื่อตรง (Sincerity) หมายถึงวัตถุทางอารมณ์ที่นำเอาวัตถุที่เป็นจริงมารวมเข้าด้วยกันและไม่ล้วงล้ำเข้าไปในวัตถุนั้น (4) ความสัมพันธ์แบบเกี่ยวดอง (Connection) หมายถึงวัตถุที่เป็นจริงเผชิญหน้ากับวัตถุที่เป็นจริงชนิดอื่น (5) ความสัมพันธ์แบบไม่มีความสัมพันธ์ (no relation) หมายถึงสภาวะความจริงที่วัตถุดำรงอยู่ท่ามกลางวัตถุอื่นๆอย่างเป็นอิสระต่อกัน

ในการศึกษาของ Bryant (2011) เสนอแนวคิดที่เรียกว่า Onticology เพื่ออธิบายการดำรงอยู่ของวัตถุด้วยหลักการ 3 ประเภท คือ (1) หลักของความจริง (Ontic Principle) หมายถึงไม่มีความแตกต่างอะไรที่ไม่สร้างความแตกต่าง จากสมมติฐานที่ว่า “ความแตกต่าง” ดำรงอยู่ก่อนที่จะมีความรู้เกี่ยวกับความแตกต่าง หลักการนี้มองว่า “ความรู้” มิใช่สิ่งที่กำหนดสิ่งที่มีอยู่ก่อนความรู้ เช่น ความแตกต่างมีอยู่ได้ด้วยตัวมันเองโดยไม่ต้องใช้ความรู้ไปอธิบายมัน (2) หลักของความไม่เป็นมนุษย์ (Principle of the Inhuman) หมายถึงความคิดเรื่องความแตกต่างสามารถดำรงอยู่นอกเหนือความรู้ของมนุษย์และเกิดขึ้นกับวัตถุอะไรก็ได้ ทุกสิ่งล้วนมีความแตกต่างในแบบของตัวเองเช่นเดียวกับที่มนุษย์มีความคิดเรื่องความแตกต่าง (difference-making beings) (3) หลักการดำรงอยู่ (Ontological Principle) หมายถึงการสร้างความแตกต่างเป็นพื้นฐานของการดำรงอยู่ หรือกล่าวได้ว่าเมื่อมีความแตกต่างเท่ากับมีการดำรงอยู่ เมื่อสิ่งต่างๆมีความแตกต่าง ทำให้การดำรงอยู่มีลักษณะเป็นความจริงที่เชื่อมโยงกัน (inter-ontic) และเป็นความจริงที่มีอยู่ในการดำรงอยู่ (intra-ontic)

แนวคิด Onticology เสนอการมองวัตถุเป็น 4 รูปแบบ คือ (1) วัตถุที่มีความเจิดจ้า (bright objects) ตัวอย่างเช่น อุปกรณ์สมัยใหม่ที่ถูกสร้างขึ้นด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าและมีอิทธิพลต่อการมีอยู่ของวัตถุอื่น (2) วัตถุที่มีความมัว (dim objects) หมายถึงวัตถุที่ซ่อนตัวปะปนอยู่กับวัตถุชนิดอื่นหรือปรากฏเป็นรูปร่างร่วมกับสิ่งอื่น (3) วัตถุที่มีความมืด (dark objects) หมายถึงวัตถุที่ย้ายตัวเองออกไปจากการดำรงอยู่ และ (4) วัตถุที่ลวงตา (rogue objects) หมายถึงวัตถุที่เปลี่ยนการดำรงอยู่ไปเรื่อยๆ คล้ายกับการเร่ร่อนเปลี่ยนที่อยู่อาศัยไปตลอดเวลา นอกจากนั้น Bryant ยังเสนอแนวคิดภววิทยาแบบพื้นที่รกร้าง (wilderness ontology) ซึ่งอธิบายเกี่ยวกับความหลากหลายของผู้กระทำการ (pluralization of agency) ที่มิได้มีเพียงมนุษย์

Morton(2010) เขียนหนังสือเรื่อง The Ecological Thought พร้อมกับเสนอแนวคิดเรื่อง Hyperobjects ซึ่งหมายถึงวัตถุที่เคลื่อนตัวกระจายไปอย่างหนาแน่นซับซ้อนและยุ่งเหยิงไปในเวลาและพื้นที่โดยไม่มีขอบเขตที่แน่ชัด เพื่อก้าวข้ามความจำเพาะเชิงพื้นที่ เช่น ภูมิอากาศ, ความร้อน, อุณหภูมิ, กัมมันตภาพรังสี ทั้งนี้เขาได้แบ่งคุณลักษณะของ Hyperobjects เป็น 5 ลักษณะ คือ (1) ความหนืด (Viscous) Hyperobjects ยึดติดกับวัตถุอื่นๆ ที่พวกมันสัมผัส ไม่ว่าวัตถุจะพยายามต้านทานแรงเพียงใด ด้วยวิธีนี้ Hyperobjects จะแทนที่ระยะห่าง หมายความว่ายิ่งวัตถุพยายามต้านทาน Hyperobjects มากเท่าใด วัตถุนั้นก็จะยิ่งเกาะติดมากขึ้นเท่านั้น (2) การหลอมละลาย (Molten) หมายถึง Hyperobjects ที่มีขนาดใหญ่มากจนหักล้างแนวคิดที่ว่ากาลอวกาศนั้นคงที่ เป็นรูปธรรม และสม่ำเสมอ (3) การไม่มีที่อยู่ (Nonlocal) หมายถึง Hyperobjects มีการกระจายอย่างหนาแน่นในเวลาและพื้นที่ในขอบเขตที่จำนวนรวมของพวกมันไม่สามารถรับรู้ได้ในการปรากฎเฉพาะใดๆ เช่น สภาวะโลกร้อน พายุทอร์นาโด เป็นต้น ตามความคิดของ Morton วัตถุจะไม่รู้สึกถึงความร้อน แต่มันรับรู้ถึงการมีความร้อนผ่านเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เช่นระดับน้ำทะเลสูงขึ้น หิมะขั้วโลกละลาย การไม่มีที่อยู่สะท้อนให้เห็นว่า Hyperobjects มีขอบเขตกว้างใหญ่เกินกว่าการปรากฏอยู่ในที่ใดที่หนึ่ง (4) การมีขั้นตอน (Phase) หมายถึง Hyperobjects ใช้พื้นที่สามมิติมากกว่าวัตถุอื่นๆ จะรับรู้ได้ตามปกติ ซึ่งดูแตกต่างไปจากผู้สังเกตการณ์ที่มีมุมมองหลายมิติที่สูงกว่า (5) การมีเป้าหมายร่วมกัน (Interobjective) หมายถึง Hyperobjects เกิดขึ้นจากความสัมพันธ์ระหว่างวัตถุมากกว่าหนึ่งชิ้น เช่น ภาวะโลกร้อนเกิดจากปฏิสัมพันธ์ระหว่างดวงอาทิตย์ เชื้อเพลิงฟอสซิล และคาร์บอนไดออกไซด์ รวมถึงวัตถุอื่นๆ

ในความคิดของ Morton (2013a, 2013b) hyperobjects ไม่เพียงแต่จะมองเห็นได้ในช่วงวิกฤตทางนิเวศวิทยาเท่านั้น แต่ยังเตือนมนุษย์ถึงปัญหาทางนิเวศวิทยาที่กำหนดอายุที่พวกเขาอาศัยอยู่ อาจกล่าวได้ว่า ความสามารถในการดำรงอยู่ของ hyperobjects จะอยู่ได้นานกว่าคุณค่าทางวัฒนธรรมเชิงวัตถุที่ลดน้อยลง ประกอบกับการคุกคามของวัตถุจำนวนมากต่ออินทรียวัตถุ ทำให้พวกมันมีคุณภาพทางจิตวิญญาณที่ซ่อนเร้น ในการศึกษาของ Ian Bogost (2012) ที่นำแนวคิดภววิทยาไปประยุกต์ใช้วิเคราะห์ “ปรากฎการณ์มนุษย์ต่างดาว” โดยอธิบายว่า “มนุษย์ต่างดาว” บ่งบอกถึงการถอนตัวออกจากการละเมิดมิได้ของประสบการณ์เชิงวัตถุ วัตถุชนิดหนึ่งอาจไม่รู้จักประสบการณ์ของวัตถุอื่นเพราะวัตถุมีความสัมพันธ์กันโดยใช้อุปมาอุปมัยของการมีตัวตน ปรากฎการณ์มนุษย์ต่างด้าวบ่งชี้ถึงวิธีปฏิบัติ 3 แบบ คือ (1) Ontography คือการกระทำที่เปิดเผยการมีอยู่และความสัมพันธ์ของวัตถุ (2) Metaphorism คือการกระทำที่คาดเดาเกี่ยวกับ "ชีวิตภายใน" ของวัตถุรวมถึงวิธีที่วัตถุแปลประสบการณ์ของวัตถุอื่น ๆ เป็นเงื่อนไขของตัวเอง (3) Carpentry คือการกระทำที่สร้างวัตถุที่แสดงมุมมองของวัตถุ หรือวิธีการที่วัตถุสร้างโลกของมันเอง

จากคำอธิบายของ Harman, Bryant, และ Morton ทำให้เข้าใจวิธีคิดแบบภววิทยาวัตถุว่าเป็นการหลีกหนีไปจากกระบวนทัศน์ที่ให้ความสำคัญกับความเชื่อมโยงและสัมพันธภาพ (relationality) ไปสู่การเทิดทูนการแยกกันอยู่อย่างเอกเทศ เป็นอิสระ เท่าเทียม และตัดขาดจากกัน (discreteness) วิธีคิดนี้สวนทางกับคำอธิบายของนักคิดแนววภววิทยาก่อนหน้านี้ซึ่งมักจะสนใจ “ความสัมพันธ์” และ “พลวัต” ของวัตถุที่ยึดโยงเข้าหากันและเปลี่ยนสภาพไปตลอดเวลา ในทางตรงกันข้าม ภววิทยาวัตถุแบบ Harman, Bryant, และ Morton สนใจการดำรงอยู่ของวัตถุที่แยกออกจากกันและเป็นความจริงแท้ที่ไม่แปรเปลี่ยนไปตามเวลาและสถานที่ (Shaviro, 2011) วิธีคิดดังกล่าวนี้มองเห็นทุกสิ่งเป็น “วัตถุ” ในแบบเดียวกัน ไม่มีวัตถุใดพิเศษหรือเหนือกว่ากัน และไม่มีวัตถุใดจะล่วงรู้และเข้าใจวัตถุอื่น (Wolfendale, 2014) สิ่งนี้คือการเสนอว่า “ความจริง” ทุกชนิดดำรงอยู่ในระนาบเดียวกัน (Wilde, 2020)

ข้อสังเกตต่อภววิทยาวัตถุ

Segall (2011) ตั้งข้อสังเกตว่าแนวคิดภววิทยาวัตถุลดทอนคุณค่าของระบบความหมายและทำให้มนุษย์กับสิ่งที่มิใช่มนุษย์เป็นแค่วัตถุที่ไร้ซึ่งความแตกต่าง นักวิชาการที่สนใจภววิทยาวัตถุควรหันกลับมาตรวจสอบและทบทวนว่าคำอธิบายเกี่ยวกับการดำรงอยู่ของวัตถุมีนัยยะอย่างไรต่อการดำรงอยู่ของมนุษย์และสิ่งที่มนุษย์ให้ความหมาย มิควรละทิ้งและละเลยความหมายที่วัตถุเหล่านั้นมีอิทธิพลต่อชีวิตของมนุษย์ เนื่องจากแนวโน้มของแนวคิดภววิทยาวัตถุจะด้อยค่าระบบความหมายที่มนุษย์สร้างขึ้น จนความหมายต่างๆกลายเป็นเพียงฝุ่นผงที่ไร้ค่า นอกจากนั้น Galloway (2012) วิจารณ์ว่าฐานคิดของภววิทยาวัตถุเกิดขึ้นในช่วงที่เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์กำลังเติบโตและมีบทบาทต่อสังคม ทำให้นักวิชาการอย่าง Harman นำกระบวนทัศน์และวาทกรรมที่เกิดจากศาสตร์คอมพิวเตอร์มาใช้เป็นคำอธิบายเกี่ยวกับการดำรงอยู่ของวัตถุ ในขณะที่ Simon (2013) ตั้งข้อสังเกตว่าการแพร่หลายของทฤษฎีศิลปะร่วมสมัยซึ่งสนใจการหลงใหลในวัตถุที่เป็นสินค้า (commodity fetishism) มีอิทธิพลต่อการทำความเข้าใจการดำรงอยู่ของวัตถุในวัฒนธรรมบริโภคและตลาดงานศิลปะ ซึ่งแนวคิดภววิทยาวัตถุก็พยายามจะศึกษา “วัตถุ” ในฐานะเป็นการดำรงอยู่ของความจริงในสังคมบริโภค รวมทั้ง Shaviro (2011) ตั้งข้อสังเกตไว้ว่าแนวคิดภววิทยาวัตถุเป็นเพียงจินตนาการและความเพ้อฝันของนักปรัชญาบางคนที่สนใจกระบวนทัศน์แบบแสวงหาความจริงแท้ที่บริสุทธิ์ ซึ่งสวนทางกับกระบวนทัศน์ที่สนใจกระบวนการเปลี่ยนผ่าน

Wilde (2020) ตั้งข้อสังเกตว่าวิธีคิดภววิทยาวัตถุ ให้ความสำคัญกับการดำรงอยู่ ซึ่งหมายถึงการมีพื้นที่บางอย่างให้วัตถุก่อเกิดขึ้นมา “พื้นที่” จึงเป็นแก่นความคิดที่ซ่อนอยู่ในแนวคิดภววิทยาวัตถุ จะเห็นได้ว่าข้อโต้แย้งของนักคิดแนวภววิทยาวัตถุพยายามยกประเด็นสหสัมพันธ์ขึ้นมาเป็นโจทย์และพยายามจะละทิ้งการเชื่อมโยงเข้าหากันของวัตถุ การตั้งโจทย์นี้จึงเท่ากับเป็นการให้ความสำคัญกับเรื่อง “พื้นที่” ที่วัตถุดำรงอยู่ซึ่งเสี่ยงต่อการสร้างปฏิสัมพันธ์ตลอดเวลา ไม่ว่าปฏิสัมพันธ์นั้นจะเป็นการยึดโยงเข้าหากันแบบ Interdependency หรือถอยห่างออกจากกันแบบ independency ล้วนบ่งบอกระยะทางใกล้และไกลที่สะท้อนพื้นที่ของการดำรงอยู่ของวัตถุทั้งสิ้น ข้อสังเกตของ Harman ที่กล่าวว่า “วัตถุมีความเท่าเทียมกันในการดำรงอยู่” (objects equally exist) กับ “วัตถุไม่ได้ดำรงอยู่อย่างเท่าเทียม” (objects do not exist equally) คำอธิบายนี้บ่งชี้ถึง “ข้อจำกัด” ในการดำรงอยู่ของวัตถุซึ่งเผชิญหน้ากับความสัมพนธ์ที่ไม่นิ่ง (interchanging relations) และบ่งบอกให้ทราบสภาวะของ “พื้นที่” ที่วัตถุต่างๆดำรงอยู่อย่างไม่เท่าเทียม ความจริงของวัตถุจึงเกี่ยวข้องกับขอบเขตและอาณาริเวณที่วัตถุนั้นปรากฎ Wilde (2020) กล่าวว่าวัตถุกับพื้นที่จึงแยกขาดจากกันมิได้ Garcia (2014) อธิบายว่า “พื้นที่” คือ “วัตถุ” เมื่อเอ่ยถึงการดำรงอยู่ของวัตถุ การปรากฎของพื้นที่จะเกิดขึ้นทุกครั้งเสมอ สองสิ่งนี้จึงเป็นสิ่งเดียวกัน ในการศึกษาของ Harman (2010) เรื่อง Time, space, essence and eidos: a new theory of causation, cosmos and history เขาจึงนำเรื่อง “พื้นที่” มาอธิบายเพิ่มเติมเพื่อชี้ว่ามันคือศูนย์กลางของความสัมพันธ์ทั้งที่เป็นการเชื่อมโยงเข้าหากันและถอยห่างจากกัน

ประเด็นความสัมพันธ์ที่วัตถุมีต่อกัน คือสิ่งที่ภววิทยาวัตถุพยายามอธิบายในฐานะเป็น “สภาพแวดล้อม” (elements) ซึ่งหมายถึงการสร้างขอบเขตให้วัตถุมีตัวตน และเป็นกิจกรรมที่ทำให้วัตถุเชื่อมเข้าหากัน โดยแบ่งเป็น 3 ลักษณะคือ (1) ความสัมพันธ์เชิงกายภาพ คือคุณสมบัติที่วัตถุมีต่างกัน (2) ความสัมพันธ์ทางความรู้สึก คือการรับรู้การดำรงอยู่ของวัตถุที่ต่างกัน และ (3) ความสัมพันธ์แบบเหตุและผล คือการตอบโต้กันของวัตถุที่แยกกันอยู่ (Harman, 2005) ความสัมพันธ์เหล่านี้ไม่จำเป็นต้องมองเห็นได้และไม่จำเป็นต้องมีขอบเขตที่ตายตัว Wilde (2020) กล่าวว่าคำอธิบายเรื่อง “ความสัมพันธ์” ไม่ว่ามันจะมองเห็นหรือมองไม่เห็นคือการบ่งบอกถึง “พื้นที่” ที่วัตถุดำรงอยู่ ในแง่นี้ ความจริงเกี่ยวกับวัตถุอาจเป็นเรื่องการทำความเข้าใจลักษณะของพื้นที่ที่สร้างความสัมพันธ์ ในขณะที่ Harman สนใจการดำรงอยู่อย่างมีแก่นแท้ถาวรของวัตถุ แต่ Wilde พยายามคิดต่างไปว่า “วัตถุ” สามารถเข้าใจได้จากสภาวะพื้นที่ที่วัตถุดำรงอยู่ (topology) กระบวนทัศน์ทั้งสองแบบนี้มีนัยยะต่อการถกเถียงเรื่องภววิทยาวัตถุอย่างเลี่ยงไม่ได้


ผู้เขียน: ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ

เอกสารอ้างอิง:

Bogost, I. (2012). Alien Phenomenology. Ann Arbor, MI: Open Humanities Press.

Brassier, R. (2014). Speculative Autopsy. In Wolfendale, P. Object Oriented Philosophy: the Noumenon’s New Clothes. Falmouth: Urbanomic.

Bryant, L.R. (2011). The Democracy of Objects. Open Humanities Press. http://openhumanitiespress.org/books/download/Bryant_2011_Democracy-of- Objects.pdf

Bryant, L. R., Harman, G., Srnicek, N. (2011). The Speculative Turn: Continental Materialism and Realism. Melbourne, Australia: re.press.

Galloway, A. (2012). A response to Graham Harman’s “Marginalia on Radical Thinking” Retrieved from https://itself.blog/2012/06/03/a-response-to-graham-harmans- marginalia-on-radical-thinking/

Garcia, T. (2014). Form and object—a treatise on things. Edinburgh: Edinburgh University Press.

Harman, G. (2002). Tool-Being: Heidegger and the Metaphysics of Objects. Chicago: Open Court.

Harman, G. (2005). Guerrilla Metaphysics: Phenomenology and the Carpentry of Things. Chicago: Open Court.

Harman, G. (2010). Time, space, essence and eidos: a new theory of causation. cosmos and history. The Journal of Natural and Social Philosophy, 6(1), 1–17.

Meillassoux, Q. (2008). After Finitude. New York, New York: Continuum. Morton, T. (2010). The Ecological Thought. Cambridge, MA: Harvard University Press.

Morton, T. (2013a). Hyperobjects: Philosophy and Ecology After the End of the World. Minneapolis: University of Minnesota Press.

Morton, T. (2013b). Realist Magic: Objects, Ontology, Causality. London: Open Humanities Press.

Segall, M.D. (2011). Cosmos, Anthropos, and Theos in Harman, Teilhard, and Whitehead. Retrieved from https://footnotes2plato.com/2011/07/12/cosmos-anthropos-and- theos-in-harman-teilhard-and-whitehead/

Shivaro, S. (2011). Processes and Powers. Retrieved from http://www.shaviro.com/Blog/?p=995

Simon, J. (2013). Neomaterialism. Berlin: Sternberg Press.

Wilde, N. (2020). Burning Bridges: The problem of relations in object-oriented ontology—a topological approach. Palgrave Commun, 6(29). https://doi.org/10.1057/s41599-020- 0406-7

Wolfendale, P. (2014). Object Oriented Philosophy: the Noumenon’s New Clothes. Falmouth: Urbanomic.


หัวเรื่องอิสระ: ภววิทยา, วัตถุ, การดำรงอยู่, ความจริง