คำศัพท์

Cyborg Anthropology

ความหมายของ Cyborg Anthropology

คำว่า Cyborg มีรากศัพท์มาจากคำว่า cybernetic organism หรือสิ่งมีชีวิตที่เกิดจากเครื่องจักร ถูกใช้ในแวดวงวิชาการครั้งแรกในบทความเรื่อง Cyborgs and Space เขียนโดย Manfred E. Clynes and Nathan S. Kline ในช่วงปี ค.ศ.1960 ในคำอธิบายของ Kline (2009) กล่าวว่าไซบอร์กคือการผสมกันระหว่างมนุษย์กับเครื่องจักรที่แสดงออกในการทำกิจกรรมต่างๆในชีวิตประจำวัน ในการศึกษาไซบอร์กมักจะสนใจส่วนประกอบของเครื่องจักรที่ถูกสร้างเข้าไปในร่างกายของมนุษย์เพื่อช่วยประคับประคองและรักษาสุขภาพของมนุษย์ให้สามารถดำรงอยู่ได้ เช่น แขนเทียม ขาเทียม หัวใจเทียม เป็นต้น ในแวดวงวิทยาศาสตร์สุขภาพ ไซบอร์กเป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ใส่เข้าไปในร่างกายเพื่อช่วยซ่อมแซม แก้ไขอวัยวะที่เสียไป และต่อชีวิตมนุษย์ (Gray, 1995)

คำว่า Cyborg Anthropology เป็นการนำคำว่า Cyborg ซึ่งหมายถึงเครื่องจักรมาไว้รวมกับคำว่า Anthropology ที่เป็นการศึกษามนุษย์ ทำให้เกิดความหมายใหม่ที่บ่งชี้ถึงแนวการศึกษาที่สนใจชีวิตมนุษย์ที่ดำรงอยู่ร่วมกับสิ่งที่มิใช่มนุษย์ ในยุคที่ความรู้มานุษยวิทยาก้าวข้าวมนุษย์ไป การศึกษาการดำรงอยู่ของสิ่งที่มิใช่มนุษย์คือโจทย์ที่ท้าทายกระบวนทัศน์และวิธีวิทยา (Downey, Dumit & Williams, 1995; Escobar, 1994) ในช่วงต้นทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา มานุษยวิทยาไซบอร์กจึงเป็นการขยายพรมแดนความรู้ที่ไม่จำกัดอยู่แต่เรื่องของ “มนุษย์” หากแต่เป็นการศึกษาปฏิสัมพันธ์ (interconnection) ของเทคโนโลยีที่ทำให้ชีวิตบนโลกเคลื่อนตัวไปอย่างไม่หยุดนิ่ง ซึ่งถือเป็นการข้ามพ้นมนุษย์และไม่เอามนุษย์เป็นศูนย์กลาง (Braidotti, 2013; Case, 2014; Haraway, 1985) กล่าวคือ มานุษยวิทยาไซบอร์กต้องการทำความเข้าใจผลกระทบที่เกิดจากวัตถุและเทคโนโลยีที่มนุษย์นำมาใช้และมีปฏิสัมพันธ์ในชีวิตประจำวัน

การศึกษาไซบอร์กหรือเครื่องจักร เป็นเพียงมิติหนึ่งในหลายมิติของการศึกษาแบบ Posthumanism กล่าวคือ ไซบอร์กคือการดำรงอยู่และประสบการณ์แบบใหม่ที่มีมนุษยืเข้าไปเกี่ยวข้อง ช่วยทำให้ขอบเขตของ “ความเป็นมนุษย์” มิได้จำกัดอยู่เฉพาะชีววิทยาและปัจจัยทางกายภาพ แต่ยังรวมเอาประสบการณ์ทางวัตถุที่ประกอบสร้างขึ้นและมีผลกระทบต่อการเป็นมนุษย์ กล่าวคือ ไซบอร์กทำให้เห็น “ตัวตน” ของมนุษย์ที่ซับซ้อนและสัมพันธ์กับสิ่งอื่น (Intersubjectivity) ในการศึกษานี้จึงถือว่าเป็นการท้าทายความรู้และทฤษฎีความเป็นมนุษย์ที่โลกตะวันตกเคยสร้างเอาไว้ หลังจากที่ Haraway (1985) ได้เสนอความคิด “ไซบอร์ก” ในฐานะเป็นการวิพากษ์ตัวตนทางเพศของมนุษย์ นำไปสู่การตั้งคำถามและการก้าวข้ามเพศสภาพที่เป็นอัตลักษณ์คงที่ เพราะไซบอร์กคือสภาวะของความคลุมเครือและความยืดหยุ่น การศึกษาตัวตนของมนุษย์จึงต้องศึกษาสภาวะดังกล่าวโดยไม่ตัดสินอัตลักษณ์ในแบบที่ตายตัวและมีแก่นแท้เพียงหนึ่งเดียว (Haraway, 2004)

วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในมิติสังคม

กระบวนทัศน์วิทยาศาสตร์ที่แบ่งแยกโลกวัตถุออกจากประสบการณ์ทางความคิด (objectivistic/positivistic) หรือแยกกายออกจากจิต กระบวนทัศน์นี้ได้ถูกรื้อถอนในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 20 พร้อมกับกระแสวิชาการหลังยุคสมัยใหม่ นำไปสู่การศึกษาพรมแดนที่ข้ามไปมาระหว่างสิ่งต่างๆ ซึ่งมิได้มีขอบเขตและเส้นแบ่งที่ชัดเจน (Rouse, 1996) การศึกษาไซบอร์กคือกระบวนทัศน์เชิงวิพากษ์ที่ต้องการรื้อถอนกระบวนทัศน์คู่ตรงข้าม ความมีแก่นแท้ ความเป็นเหตุผลของโลกทางวัตถุและความคิด ในขณะเดียวกันก็เป็นการตั้งคำถามต่อความรู้วิทยาศาสตร์ในฐานะที่เป็นปฏิบัติทางสังคมที่มิใช่เครื่องมือสำหรับการพิสูจน์ความจริง (Kuhn, 1962) ดังนั้น ความรู้วิทยาศาสตร์จึงเกี่ยวข้องกับบริบทสังคม เงื่อนไขที่นักวิทยาศาสตร์ใช้สร้างทฤษฎีต่างๆล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่สัมพันธ์กับประสบการณ์ โลกทัศน์ และวิธีปฏิบัติที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา ความรู้ของนักวิทยาศาสตร์จึงมิใช่เครื่องพิสูจน์ความจริงที่ตายตัว (Feyerabend, 1975)

Downey et al (1995) ตั้งข้อสังเกตว่าความรู้วิทยาศาสตร์เกี่ยวข้องการประสบการณ์ของมนุษย์มากกว่าการค้นหาความจริงในโลกธรรมชาติ ในแง่นี้จะพบว่าเทคโนโลยีที่ถูกสร้างขึ้นมิใช่การนำ “ความจริง” มารับใช้มนุษย์ หากแต่เป็นการทำให้มนุษย์สัมผัสประสบการณ์ที่เรียกว่า “ความจริง” ที่อาศัยรูปธรรมจากเครื่องจักรและเทคโนโลยี ตัวอย่างเช่น คอมพิวเตอร์คืออุปกรณ์ที่ช่วยทำให้มนุษย์สร้างและคำนวณข้อมูลต่างๆได้ในเวลาอันรวดเร็ว ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่ทำให้มนุษย์รู้สึกว่าตนเองมีชีวิตที่สะดวกสบายหรือแม้แต่มีอิสระที่จะแสวงหาจินตนาการที่ไร้ขอบเขต ประสบการณ์นี้จะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าไม่มีเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ คอมพิวเตอร์จึงเป็นผู้กระทำหรือส่วนทำให้มนุษย์รู้จักศักยภาพและความสามารถของตนเอง

Martin (1998) อธิบายว่าความรู้วิทยาศาสตร์เกี่ยวพันกับความสัมพันธ์ทางสังคมที่ซับซ้อน ความรู้วิทยาศาสตร์จึงแฝงไว้ด้วยอำนาจ ความเชื่อ โลกทัศน์ และประสบการณ์ส่วนตัว ดังนั้น ในการทำความเข้าใจชีวิตทางสังคมของนักวิทยาศาสตร์ เราจำเป็นต้องเข้าใจความรู้ที่นักวิทยาศาสตร์ใช้สร้างทฤษฎีและสร้างเทคโนโลยีต่างๆ การศึกษาของ Goodman, Heath and Lindee (2003) พบว่าวิทยาศาสตร์กับวัฒนธรรมไม่สามาระแยกขาดจากกันได้ เช่นสมมติฐานเกี่ยวกับความเป็นมนุษย์ของนักพันธุศาสตร์ดำรงอยู่ร่วมกับทฤษฎีวิวัฒนาการทางสังคมและวัฒนธรรมที่สร้างฐานคิดเกี่ยวกับความเป็นมนุษย์ที่เจริญก้าวหน้า ในแง่นี้ วิทยาศาสตร์ในฐานะปฏิบัติการทางสังคมและวัฒนธรรมมิได้เป็นสิ่งที่แยกขาดจากชีวิตมนุษย์ ไซบอร์กจึงเป็นผลผลิตของการเชื่อมต่อระหว่างสิ่งมีชีวิตและสิ่งไม่มีชีวิตและทำให้เกิดการทำงานร่วมกัน

การเมืองของไซบอร์ก

Gray and Mentor (1995) ตั้งข้อสังเกตว่าแนวคิดไซบอร์กของ Haraway ทำให้เห็นเครือข่ายความสัมพันธ์เชิงอำนาจแบบใหม่ที่กำลังก่อตัวและขยายกว้างไปในยุคทุนนิยมช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 20 ช่วงเวลานี้มนุษย์กำลังเผชิญกับความปั่นป่วนของกฎระเบียบทางสังคม ไม่ว่าจะเป็นการแข่งขันทางเศรษฐกิจ ความเหลื่อมล้ำระหว่างชนชั้น ความขัดแย้งและความไม่ลงรอยของคนกลุ่มต่างๆ รวมถึงความก้าวหน้าของเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และดิจิทัลที่เข้ามาเปลี่ยนวิธีมองโลกและการสร้างความสัมพันธ์ของมนุษย์ ปรากฎการณ์นี้ถูกมองในฐานะเป็นมรดกตกทอดของระบอบชายเป็นใหญ่และความเป็นเหตุผลนิยมแบบวิทยาศาสตร์ที่ผลิตซ้ำชนชั้นและอัตลักษณ์ที่เป็นแก่นแท้ของมนุษย์ ในแง่นี้ การเมืองของไซบอร์กคือการเมืองของการรื้อทำลายขอบเขตและพรมแดนที่ชัดเจนที่แบ่งแยกสิ่งต่างๆออกจากกัน และเคลื่อนไปสู่การปราศจากพรมแดนและพื้นที่เปิดที่มนุษย์และสิ่งต่างๆ สามารถเชื่อมเข้าหากัน (boundary-crossing)

การศึกษามานุษยวิทยาไซบอร์ก จึงเป็นการทำความเข้าใจวิธีการที่สิ่งต่างๆเชื่อมโยงเข้าหากันและทำให้ความเป็นมนุษย์ไม่หยุดนิ่งและปราศจากความมั่นคงถาวร Black (2014) อธิบายว่าการประสานกัน (interface) ของวัตถุสิ่งของได้สร้างประสบการณ์ของการมีตัวตนแบบใหม่ของมนุษย์ เช่น ไม้เท้าของคนตาบอดคือเครื่องมือและเทคโนโลยีที่สร้างความรู้สึกให้กับคนๆนั้น ไม้เท้าจึงมิใช่วัตถุ แต่เป็นสิ่งที่ต่อเติมและสร้างความรู้สึกให้กับมนุษย์ ในสังคมที่มีเทคโนโลยีก้าวหน้า วัตถุที่ใช้ในชีวิตประจำวันก็ยิ่งเป็นส่วนสร้างความรู้สึกที่ซับซ้อนให้มนุษย์ ไม่ว่าจะเป็น โทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ เทคโนโลยีเหล่านี้ล้วนเป็นประสบการณ์ที่ทำให้มนุษย์รู้สึกถึงการมีตัวตน การอีกนัยหนึ่งคือ ตัวตนของมนุษย์เต็มไปด้วยการเชื่อมโยงของวัตถุสิ่งของที่สร้างความรู้สึกของการดำรงอยู่ (Messinger, 2010) มานุษยวิทยาไซบอร์กจึงแสวงหาการดำรงอยู่ของวัตถุสิ่งของที่เสริมสร้างและเป็นส่วนหนึ่งในประสบการณ์ของมนุษย์

นอกจากนั้น มานุษยวิทยาไซบอร์กมิได้มองมนุษย์ในฐานะเป็นผู้ควบคุมโลกหรือผู้ใช้ประโยชน์จากทรัพยากร แต่มองในฐานะเป็นส่วนประกอบของโลกที่ต้องพึ่งพาวัตถุต่างๆ การทำความเข้าใจมนุษย์ในมิติความสัมพันธ์กับวัตถุอื่น ช่วยให้เห็นวิธีการมองโลกและมองมนุษย์ที่เปลี่ยนไปจากกระบวนทัศน์แบบวิทยาศาสตร์ โดยมองความซับซ้อนของสิ่งต่างๆที่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในประสบการณ์ของมนุษย์ พร้อมทั้งสร้างประสบการณ์ใหม่ให้มนุษย์เรียนรู้ที่จะอยู่กับความแตกต่างหลากหลาย โจทย์ที่ท้าทายสำหรับนักมานุษยวิทยาก็คือ เราจะอธิบายการดำรงอยู่ของสิ่งต่างๆในฐานะที่เป็นประสบการณ์ได้อย่างไร Case (2014) อธิบายว่ามานุษยวิทยาไซบอร์กก็คือการศึกษาเครือข่ายข้อมูลข่าวสารที่ดำรงอยู่ในปฏิสัมพันธ์ที่มนุษย์มีกับเทคโนโลยีต่างๆ ในขณะที่ Wells (2014) อธิบายว่ามานุษยวิทยาไซบอร์กคือการทำความเข้าใจความหมายของมนุษย์ที่เคลื่อนที่และเปลี่ยนไปตามการพึ่งพิงเทคโนโลยี

Gray (1997, 2002) กล่าวว่าชีวิตมนุษย์ถูกทำให้เป็นส่วนหนึ่งของเทคโนโลยี ตัวตนของมนุษย์จึงมิใช่เป็นผลผลิตตามธรรมชาติ เมื่อเทคโนโลยีได้ปรับเปลี่ยนชีวิตมนุษย์ให้เป็นส่วนผสมของวัตถุต่างๆ มนุษย์จะมิใช่ร่างทางชีวภาพ แต่เป็นร่างเทคโน-ชีวภาพ หรือร่าง hyper-body เห็นได้จากเทคโนโลยีสื่อสาร คมนาคม ไปจนถึงเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของมนุษย์ เทคโนโลยีทำให้ความหมายของมนุษย์ ครอบครัว สังคม ชุมชน ความเป็นพลเมือง เพศสภาพ เพศวิถี เชื้อชาติ ได้เปลี่ยนไปจากเดิม อย่างไรก็ตาม แนวโน้มของการพึ่งพาเทคโนโลยีที่เพิ่มขึ้น ทำให้เกิดคำถามเกี่ยวกับความเหลื่อมล้ำทางสังคมแบบใหม่ ผู้ที่กุมความรู้และเทคโนโลยีอาจเป็นผู้ควบคุมโลกและมีอิทธิพลต่อการดำเนินชีวิตของพลเมืองในอนาคต นอกจากนั้น มิติทางศีลธรรมของเทคโนโลยีก็เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงมิได้ ถ้าเทคโนโลยีทำให้คนบางคนละเมิดชีวิตของผู้อื่น เทคโนโลยีนั้นจะถูกตรวจสอบได้อย่างไร ปัญหาเหล่านี้คือการเมืองแบบใหม่ที่ไซบอร์กนำมาสู่สังคม

การแพร่หลายของไซบอร์กในรูปแบบของเทคโนโลยีต่างๆ จึงเป็น “อำนาจทางเทคโนโลยี” (technopower) โดยมีนัยยะของการควบคุมสิ่งต่างๆภายใต้ระบอบความรู้ของผู้เชี่ยวชาญ การควบคุมชีวิตผ่านเทคโนโลยีไซบอร์กทำให้เกิดข้อสงสัยเกี่ยวกับขอบเขตของเทคโนโลยีที่ตอบสนองความต้องการของมนุษย์อยู่ตรงไหน สังคมจะมีมาตรการอย่างไรต่อกลุ่มคนที่ได้ประโยชน์และกลุ่มที่เสียประโยชน์จากเทคโนโลยี โครงสร้างอำนาจภายใต้ระบบทุนนิยมจะขับเคลื่อนการใช้เทคโนโลยีไปในทิศทางไหนและเพื่อเป้าหมายอะไร คำถามเหล่านี้คือภาพสะท้อนของการเมืองแบบไซบอร์กหรือการเมืองในยุคการข้ามพ้นมนุษย์ (posthuman politics) (Gray, 1997) การมองเทคโนโลยีในเชิงบวกและเป็นเครื่องมือที่จะช่วยทำให้มนุษย์มีความก้าวหน้าหรือมีชีวิตที่สมบูรณ์อาจเป็นการมองในเชิงอุดมคติ ฉะนั้น การศึกษาไซบอร์กจึงควรวิพากษ์วิจารณ์รูปแบบอำนาจที่เข้ามาควบคุมมนุษย์แบบใหม่ที่ซับซ้อนมากขึ้น (Kafer, 2013)


ผู้เขียน: ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ

เอกสารอ้างอิง:

Black, D. (2014). Where bodies end and artefacts begin: Tools, machines and interfaces. Body & Society, 20(1), 31-60.

Braidotti, R. (2013). The Posthuman. Cambridge: Polity Press.

Case, A. (2014). An Illustrated Dictionary of Cyborg Anthropology. Scotts Valley, California: CreateSpace Independent Publishing Platform.

Clynes, M.E. & Kline, N. S. (1960), Cyborgs and Space. Astronautics, 5(9), 26-27, 74-76.

Downey, G.L., Dumit, J. & Williams, S. (1995). Cyborg Anthropology. In C. Gray, (ed.), The Cyborg Handbook, New York: Routledge.

Escobar, A. (1994). Welcome to Cyberia. Current Anthropology, 35(3), 211-231.

Feyerabend, P. (1975). Against Method. London: New Left Books.

Goodman, A.H., Heath, D., & Lindee, M.S. (2003). Genetic Nature/Culture: Anthropology and Science beyond the Two-Culture Divide. Oakland, CA: University of California Press.

Gray, C.H. (ed). (1995). The Cyborg Handbook. New York: Routledge.

Gray, C.H. (1997). The ethics and politics of Cyborg embodiment: Citizenship as a hypervalue. Cultural Value, 1(2), 252-258.

Gray, C.H. (2002). Cyborg Citizen: Politics in the Posthuman Age. New York and London: Routledge.

Gray, C.H. & Mentor, S. (1995). The Cyborg Body Politic. In C. Gray, (ed.), The Cyborg Handbook, New York: Routledge.

Haraway, D. (1985). A Manifesto for Cyborgs: Science, technology, and socialist feminism in the 1980s. Socialist Review, 80, 65–107.

Haraway, D. (2004). Cyborgs, Coyotes, and Dogs: A Kinship of Feminist Figurations' and 'There are Always More Things Going on Than You Thought! Methodologies as Thinking Technologies. In D. Haraway, The Haraway Reader. (pp. 321–341). London: Routledge.

Hepso, V. (1998). Will there be a ‘scientific life’ as we know it after cyborg anthropology? Retrieved from https://www.researchgate.net/publication/258119106_Will_there_ be_a_%27scientific_life%27_as_we_know_it_after_cyborg_anthropology

Kafer, A. (2013). The Cyborg and the Crip: Critical Encounters, Feminist, Queer, Crip. Bloomington: Indiana University Press.

Kline, R. (2009). Where are the Cyborgs in Cybernetics? Social Studies of Science, 39(3), 331- 362

Kuhn T. (1962). The Structure of Scientific Revolutions. Chicago: Chicago University Press.

Martin, E. (1998). Anthropology and the Cultural Study of Science. Science, Technology and Human Values, 23(1), 24-44.

Messinger, S.D. (2010). Getting past the accident: Explosive devices, limb loss, and refashioning a life in a military medical center. Medical Anthropology Quarterly, 24(3), 281–303.

Rouse, J. (1996). Engaging Science: how to understand its practices philosophically. Ithaca; Cornell University Press.

Wells, J. (2014). Keep Calm and Remain Human: How We Have Always Been Cyborgs and Theories on the Technological Present of Anthropology. Reviews in Anthropology, 43, 5–34.


หัวเรื่องอิสระ: มานุษยวิทยา, ไซบอร์ก, เครื่องจักร, สิ่งที่มิใช่มนุษย์