คำศัพท์

Materiality

วัตถุภาวะ(Materiality) คืออะไร

วัตถุภาวะ คือ แนวคิดที่พยายามทำความเข้าใจมิติทางสังคมและวัฒนธรรมที่พัวพันอยู่กับสรรพสิ่ง ซึ่งไม่จำเป็นต้องปรากฏเป็นรูปเป็นร่างที่จับต้องได้เสมอไป การทำความเข้าใจวัตถุภาวะยังมาพร้อมกับคำถามต่อสิ่งที่เป็น “วัตถุ” เช่น มนุษย์รับรู้ความเป็นวัตถุได้อย่างไร การดำรงอยู่ของวัตถุเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับความรู้และอำนาจอย่างไร วัตถุเป็นสื่อของความหมายต่างๆได้อย่างไร เป็นต้น (de Wolff, 2018) ตัวอย่างเช่น การศึกษาสิ่งที่ถูกนิยามว่า “ขยะ” ซึ่งสังคมให้ความหมายว่าเป็นสิ่งของที่ไร้ประโยชน์หรือหมดสภาพของการใช้งาน กลายเป็นสิ่งที่ถูกทิ้งขวาง และยังเป็นสิ่งที่สกปรกและน่ารังเกียจ ในการศึกษาชีวิตของขยะในเขตชายฝั่งของเกาะฮาวายในมหาสมุทรแปซิฟิก de Wolff (2018) อธิบายว่าขยะถูกคลื่นและลมพัดพาไปตามกระแสน้ำและมากองรวมกันบนหาดทราย การเดินทางของขยะด้วยพลังทางธรรมชาติทำให้ภูมิทัศน์ของชายฝั่งทะเลถูกออกแบบใหม่โดยไม่ต้องอาศัยฝีมือของมนุษย์ ตัวอย่างนี้ชี้ให้เห็นว่ามนุษย์มิใช่ผู้เดียวที่สามารถดัดแปลงภูมิประเทศได้

de Wolff (2018) กล่าวว่าเศษวัตถุสิ่งของที่เป็นผลผลิตจากนำมือมนุษย์และวัตถุที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติล้วนถูกคลื่นลมในมหาสมุทรพัดไปตามกระแสน้ำและเกิดการสะสมและรวมตัวของวัตถุที่แตกต่างหลากหลายบนชายหาด ส่งผลให้มนุษย์ต้องเข้ามาเก็บกวาดทำความสะอาดเพื่อที่จะทำให้หาดทรายสวยงามปราศจากขยะ ในขณะเดียวกันสัตว์ชนิดต่างๆก็จะเข้ามาขุดเขี่ยเหยียบยำและหาอาหารจากเศษขยะที่กองอยู่บริเวณชายหาดเช่นกัน มนุษย์และสิ่งที่มิใช่มนุษย์จึงมีส่วนทำให้ขยะปรับเปลี่ยนสภาพไป Latour (2004) เคยกล่าวว่าการดำรงอยู่ของวัตถุคือปฏิสัมพันธ์ของสิ่งต่างๆ จากกรณีขยะในชายหาดจะพบปฏิสัมพันธ์ที่ซับซ้อนระหว่างแรงลม คลื่นในทะเล หาดทราย สัตว์ และมนุษย์ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นผู้กระทำการ นอกจากนั้น การดำรงอยู่ของขยะก็มิใช่เป็นสิ่งที่ถาวร แต่มันพร้อมจะเปลี่ยนสภาพได้ตลอดเวลา ซึ่งทำให้การศึกษาวัตถุจำเป็นต้องมองดูกระบวนการเปลี่ยนผ่านทางวัตถุ (materials-in-relationships as process) โดยตัวของมันเองแล้ว “วัตถุ” มิใช่สิ่งของที่มีขอบเขต รูปแบบ รูปทรง และพรมแดนที่หยุดนิ่ง แต่มันเป็นความไม่เสถียร สามารถแปรสภาพไปเป็นอะไรก็ได้

การศึกษา “วัตถุภาวะ” จึงแตกต่างไปจากการศึกษาแนว “วัฒนธรรมทางวัตถุ” (material culture) ในขณะที่วัตถุภาวะบ่งบอกถึงกระบวนการเปลี่ยนสภาพ ความไม่คงรูป และปฏิสัมพันธ์ของสรรพสิ่งที่กระทำต่อกันอย่างเป็นพลวัต การศึกษาแบบจารีตนิยมแนววัฒนธรรมทางวัตถุจะสนใจเพียง “สิ่งของ” ที่ถูกมนุษย์นำมาใช้ในกิจกรรมต่างๆ จะเห็นได้ว่าแนวคิดวัตถุภาวะได้ก้าวข้าวการกระทำของมนุษย์ไปสู่การกระทำร่วมกันของทั้งมนุษย์และสิ่งที่มิใช่มนุษย์ซึ่งส่งผลต่อรูปแบบและสภาวะของวัตถุที่ไม่มีความคงที่ ในแง่นี้ ความเข้าใจวัตถุภาวะจึงหมายถึงความเข้าใจสภาวะที่วัตถุเคลื่อนที่และเปลี่ยนไป โดยไม่สามารถคาดเดาได้ว่ามันจะเปลี่ยนรูปไปเป็นอะไรและอย่างไร จากตัวอย่างการศึกษาขยะบนชายหาดของ de Wolff (2018) สะท้อนให้เห็นว่าภูมิประเทศของชายหาดถูกเปลี่ยนไปตามแรงลมและแรงคลื่น พร้อมกับเศษวัตถุสิ่งของต่างๆที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติและวัตถุที่มนุษย์สร้างขึ้นผสมปนกันเป็นเศษขยะที่เกลือกลิ้งอยู่บนชายทะเล สิ่งเหล่านี้คือสภาพของวัตถุที่เปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง ทั้งชายหาดที่เปลี่ยนรูปร่างไปตามแรงลมแรงคลื่น เศษวัตถุที่ถูกคลื่นซัด ถูกสัตว์กัดแถะ ถูกใช้เป็นที่อยู่อาศัยของหอยและปูทะเล ถูกแผดเผาด้วยแสงอาทิตย์ที่ร้อนแรง และสายฝนที่ตกลงมาทำให้วัตถุเปียกชื้น วัตถุภาวะจึงดำรงอยู่กับความไม่คงทน ความหมายเดิมเกี่ยวกับการคงที่แห่ง “วัตถุ” จึงมีข้อจำกัดในการอธิบายกระบวนการเปลี่ยนผ่านที่ไร้จุดสิ้นสุดของสิ่งต่างๆได้

การศึกษา “วัตถุภาวะ” จึงเป็นการเปลี่ยนกระบวนทัศน์จากเดิมที่มอง “วัตถุ” มีเอกภาพ มั่นคง และแยกขาดจากปฏิสัมพันธ์ที่สรรพสิ่งมีต่อกัน ไปสู่การมอง “วัตถุ” เป็นสภาวะที่เปราะบางและพร้อมจะเปลี่ยนสภาพไปได้ตลอดเวลาในเงื่อนไขที่วัตถุดำรงอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีผู้กระทำงานหลากหลายลักษณะ ทั้งสิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิต ทั้งตัวมนุษย์และสิ่งที่มิใช่มนุษย์ de Wolff (2018) กล่าวว่าวัตถุภาวะคือการทำความเข้าใจสภาพแวดล้อมที่มีผลต่อความไม่คงที่ของวัตถุ ซึ่งเป็นการมองเห็นชีวิตที่พร้อมจะแตกสลายได้ทุกเมื่อ

วิพากษ์ภาวะแห่ง “วัตถุ”

Schorch, Saxer, and Elders (2020) เสนอว่าการทำความเข้าใจวัตถุภาวะควรมองดูกระบวนการเปลี่ยนแปลงที่ไม่หยุดนิ่งซึ่งเกิดขึ้นภายใต้เครือข่ายความสัมพันธ์ที่มองเห็นและมองไม่เห็น Daniel Miller (1987) เคยตั้งข้อสังเกตว่าเมื่อเรานึกถึงสิ่งที่เป็น “วัตถุ” เราไม่ควรทึกทักเอาเองว่าจะต้องมีบางสิ่งที่ “ไม่ใช่วัตถุ” รวมทั้ง “วัตถุ” ไม่จำเป็นต้องดำรงรูปและมีคุณลักษณะที่จับต้องได้เสมอไป การศึกษาที่ผ่านมาภายใต้กระบวนทัศน์วัตถุนิยม (materialism) และวัฒนธรรมทางวัตถุมักอธิบายว่าในความสัมพันธ์ที่มนุษย์มีกับโลกเกิดขึ้นภายใต้สภาพแวดล้อมทางกายภาพที่ประกอบด้วยวัตถุต่างๆ ซึ่งมีอิทธิพลต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ สภาพแวดล้อมทางวัตถุจึงเป็นตัวกำหนดวิธีที่มนุษย์ปฏิบัติ หรือกล่าวได้ว่าวัตถุคือสิ่งบ่งชี้พฤติกรรมและอัตลักษณ์ของมนุษย์ การทำความเข้าใจ “วัตถุ” ในเชิงกายภาพทำให้นักมานุษยวิทยาอย่าง Pierre Bourdieu (1977) เสนอความคิดว่าวัตถุคือผู้ควบคุมและหล่อหลอมวิธีปฏิบัติของมนุษย์ ทำให้เกิดแบบแผนทางสังคม เช่นระเบียบกฎเกณฑ์ของการใช้พื้นที่ รูปแบบการเพาะปลูก การปลูกสร้างอาคารบ้านเรือน เป็นต้น แบบแผนทางสังคมเหล่านี้ทำให้มนุษย์จัดระเบียบช่วงชั้นทางสังคมที่กำหนดบทบาทหน้าที่ของคนตามวัยและเพศสภาพ Bourdieu วิเคราะห์แบบแผนสังคมเหล่านี้ว่าเป็นลักษณะนิสัย (habitus) หรือทักษะความสามารถที่มนุษย์เรียนรู้จากการกระทำสิ่งต่างๆเป็นประจำ

Appadurai (1986) เคยตั้งข้อสังเกตว่าการศึกษาของนักมานุษยวิทยาเกี่ยวกับการเปลี่ยนความหมายและสถานะของวัตถุสิ่งของ เช่น การเป็นของกำนัลและการเป็นสินค้า วัตถุบางชนิดถูกใช้เป็นสิ่งของที่มีค่าเพื่อการแลกเปลี่ยนและสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มคน แต่เมื่อวัตถุชนิดเดียวกันถูกโยกย้ายจากบริบทเดิมไปสู่สภาพแวดล้อมและเงื่อนไขทางเศรษฐกิจ ของกำนัลที่มีคุณค่าทางจิตใจก็อาจถูกทำให้เป็นสินค้าที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ ข้อสังเกตนี้เป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่ทำให้การศึกษาการดำรงอยู่ในสังคมของวัตถุเปลี่ยนจากการมองแบบความคงที่ไปสู่การมองเงื่อนไขและวงจรชีวิตของวัตถุที่หมุนเปลี่ยนสถานะ คุณค่า และความหมายไปตามกิจกรรมทางสังคม Miller (1987) ตั้งข้อสังเกตว่าแนวคิดเดิมของ “วัฒนธรรมทางวัตถุ” (material culture) คือประสบการณ์ทางสังคมที่มนุษย์นำวัตถุสิ่งของมาใช้ประโยชน์ในการดำรงชีวิต แต่วัตถุเหล่านั้นคือที่สะสมความทรงจำและเรื่องราวต่างๆเกี่ยวกับมนุษย์ วัตถุจึงมิใช่เพียง “สิ่งของ” แต่มันยังเป็นกระบวนการทางสังคมที่ส่งต่อความหมาย จินตนาการ และคุณค่าผ่านจากคนรุ่นหนึ่งไปยังคนอีกรุ่นหนึ่ง กระบวนการดังกล่าวสอนให้มนุษย์เข้าใจตัวเองและสังคมที่ดำรงอยู่

อย่างไรก็ตาม ในทฤษฎีวัฒนธรรมทางวัตถุ มนุษย์และวัตถุแยกขาดจากกันแบบคู่ตรงข้ามโดยมนุษย์เป็นผู้ควบคุมจัดการวัตถุตามที่ตนเองต้องการ รูปแบบความสัมพันธ์ดังกล่าวคือกระบวนการทางประวัติศาสตร์ซึ่ง Hegel (1967) เคยอธิบายกระบวนการนี้ในฐานะเป็นระบบเหตุผลที่มนุษย์สร้างวัตถุสิ่งของเพื่อเป็นเครื่องมือแสดงออกทางวัฒนธรรม ทฤษฎีนี้ถูกวิจารณ์ว่าไม่สามารถทำให้เห็นบทบาทของวัตถุในฐานะผู้กระทำการซึ่งมีอิทธิพลต่อความเป็นไปของมนุษย์ Gell (1998) และ Latour (1999) ชี้ว่าอิทธิพลของกระบวนทัศน์เหตุผลแบบวิทยาศาสตร์ตะวันตกละเลยที่จะมองดูปฏิบัติการของวัตถุที่สร้างประสบการณ์ให้กับมนุษย์ มิหนำซ้ำวิทยาศาสตร์ยังทำให้วัตถุเป็นเพียง “สิ่งของ” ที่คงรูปและตกเป็นฝ่ายถูกกระทำเพียงฝ่ายเดียว เพื่อที่จะก้าวข้ามกระบวนทัศน์วิทยาศาสตร์ นักวิชาการรุ่นหลังจึงมอง “วัตถุ” เป็นผู้มีบทบาทสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรม และมันสามารถมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งต่างๆ ทั้งที่เป็นมนุษย์และมิใช่มนุษย์ที่นำไปสู่เครือข่ายความสัมพันธ์ของผู้กระทำการ (network of agents) ที่ไม่หยุดนิ่ง

Gell (1998) ตั้งข้อสังเกตว่าการเป็นผู้กระทำการของวัตถุ หมายถึงความพยายามที่จะทำให้วัตถุมีสภาพเหมือนมนุษย์ที่มีตัวตนและสามารถทำสิ่งต่างๆได้ แต่ภายใต้การเป็นผู้กระทำการในลักษณะนี้ คำอธิบายมักจะมีแนวโน้มที่เชื่อว่าวัตถุคือภาพสะท้อนความคิดและจินตนการของมนุษย์ โดยมันจะทำให้มนุษย์รู้สึกถึงสิ่งที่ตนเองใฝ่ฝันและมีความปรารถนา อย่างไรก็ตาม คำอธิบายที่เปลี่ยนจากวัตถุเป็นผู้ถูกกระทำมาสู่การเป็นฝ่ายกระทำยังคงดำรงอยู่ภายใต้กระบวนทัศน์แบบคู่ตรงข้ามที่ยังแยกมนุษย์ออกจากวัตถุ แนวการศึกษาที่ต่างไปจากกระบวนทัศน์คู่ตรงข้ามอาจดูได้จากงานของ Meskell (2002) ซึ่งอธิบายเกี่ยวกับความเชื่อทางศาสนาและโลกหลังความตายของวัฒนธรรมอียิปต์โบราณ โดยชี้ว่าสัญลักษณ์ของปิรามิด รูปปั้นและมัมมี่มีความสัมพันธ์กันที่บ่งบอกถึงการดำรงอยู่ของวัตถุภาวะภายใต้ความศรัทธาและความเชื่อเกี่ยวกับชีวิตหลังความตาย รูปร่างและรูปทรงที่ถูกสร้างขึ้นในปิรามิด รูปปั้นและมัมมี่สะท้อนให้เห็นการเดินทางของจิตวิญญาณของคนตาย รูปปั้นเทพเจ้าคือตัวแทนของผู้ให้กำเนิดแห่งชีวิต มัมมี่คือการเก็บรักษาร่างมนุษย์ให้ดำรงอยู่ชั่วนิรันดร์ ปิรามิดคือการเดินทางไปสู่พระเจ้าบนสวรรค์ วัตถุเหล่านี้คือกระบวนการกลายเป็นวัตถุภาวะ (materialization) ที่บ่งบอกเรื่องราวของความเป็นอมตะแห่งชีวิต

กระบวนการกลายเป็นวัตถุภาวะ (Materialization)

กระบวนการกลายเป็นวัตถุภาวะ (Materialization) หมายถึงการเปลี่ยนผ่านของความคิด ความเชื่อ อุดมการณ์ และระบบคุณค่าทางสังคมไปสู่การเป็นวัตถุที่จับต้องได้ ตัวอย่างเช่น การสร้างที่อยู่อาศัยหรือสถาปัตยกรรมที่สะท้อนระบบความเชื่อเกี่ยวกับเทพเจ้าและจิตวิญญาณ การประกอบพิธีกรรมทางศาสนาที่ใช้เครื่องมือและอุปกรณ์ที่เป็นสัญลักษณ์ของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ การสร้างอนุสาวรีย์เพื่อเป็นอนุสรณ์และการรำลึกถึงบุคคลและเหตุการณ์ที่สำคัญ เป็นต้น (Shriver-Rice, 2009) ในเชิงการเมือง อุดมการณ์สังคมที่ถูกสถาปนาให้กลายเป็นสัญลักษณ์มักจะเกิดขึ้นโดยผู้ปกครองที่มีอำนาจชี้นำและครอบงำสังคม ทำให้อุดมการณ์ชาติหรือค่านิยมหลักของสังคมถูกนำเสนอในวัตถุที่เป็นสัญลักษณ์ต่างๆ ตัวอย่างที่ชัดเจนคือการสร้างรูปปั้น รูปเคารพ และอนุสาวรีย์ (DeMarrais, Castillo, & Earle, 1996)

นอกจากนั้น การกลายเป็นวัตถุภาวะยังเกิดขึ้นในปฏิบัติการในชีวิตประจำวันด้วย กล่าวคือ มนุษย์จะกระทำสิ่งต่างๆผ่านเนื้อตัวร่างกายจนเป็นรูปแบบของพฤติกรรมที่ทำซ้ำๆจนกลายเป็นเรื่องปกติ เช่น การเดิน การนั่ง การนอน การกินอาหาร การยืน เป็นต้น การจัดระเบียบร่างกายให้ทำสิ่งต่างๆบ่งบอกถึงการมีตัวตนทางสังคมของบุคคลและทำให้บุคคลตระหนักว่าตนเองกำลังเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับสิ่งอื่นอย่างไร การปฏิบัติทางร่างกายเหล่านี้ถ้าเกิดขึ้นกับคนหมู่มากในเวลาพร้อมกันจะเปรียบเป็นการสร้างอัตลักษณ์ของกลุ่ม (Rowlands, 2005) ปฏิบัติการทางสังคม (social practice) จึงเป็นกระบวนการกลายเป็นวัตถุที่อาศัยเครือข่ายความสัมพันธ์ของสิ่งต่างๆ ทั้งมนุษย์กับมนุษย์ มนุษย์กับวัตถุสิ่งของ มนุษย์กับสภาพแวดล้อม ซึ่งสอดประสานเข้าด้วยกัน ภายใต้กระบวนทัศน์ปรากฎการณ์วิทยาให้ความสนใจกับเครือข่ายความสัมพันธ์เหล่านี้และชี้ให้เห็นว่าประสบการณ์ทางสังคมช่วยทำให้มนุษย์เข้าใจการมีตัวตน การเป็นบางสิ่งที่มีรูปทรงและเห็นเป็นรูปธรรรม และการดำรงอยู่ในโลก (Boivin, 2004; Rowlands, 2005)

การไม่เป็นวัตถุภาวะ (immateriality)

ในปรากฎการณ์ทางศาสนา พบว่าสภาวะที่ไม่เป็นวัตถุเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา เห็นได้จากประสบการณ์ทางจิตวิญญาณที่ผู้มีความเชื่อและความศรัทธาในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ไม่ว่าจะนิยามเป็นเทพเจ้าหรือผู้สร้างโลกล้วนทำให้ผู้ที่ศรัทธาสัมผัสสิ่งสูงส่งนั้นโดยปราศจากการแตะต้องทางวัตถุ (Engelke, 2004) ในการศึกษาของ Maurer (2002, 2003) อธิบายว่าในระบบเศรษฐกิจทุนนิยม การแลกเปลี่ยนด้วยเงินตราถูกปรับเปลี่ยนไปเป็นการทำสัญญาซื้อขายโดยปราศจากเงินตรา เช่น การซื้อหุ้นที่มีตัวเลขราคาของสินค้าและบริการต่างๆปรับขึ้นลงอยู่ตลอดเวลา โดยผู้เล่นหุ้นไม่จำเป็นต้องถือเงินจำนวนมากและอาศัยระบบการคำนวณทางสถิติผ่านเทคโนโลยีที่บ่งชี้ว่าการซื้อขายจะได้ผลตอบแทนจำนวนเท่าไหร่ ตัวอย่างนี้สะท้อนให้เห็นว่ามูลค่าทางการเงินถูกทำให้กลายเป็นสิ่งที่มิใช่วัตถุ เป็นกลไกทางการตลาดผ่านการทำข้อตกลงระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย Maurer ชี้ว่าอำนาจของตัวเลขในระบบทุนนิยมคือกลไกสำคัญของระบอบความรู้ที่สถาปนามูลค่าของวัตถุ กล่าวคือ เมื่อระบบทุนนิยมพยายามทำให้วัตถุเป็นสินค้าที่มีราคาแลกเปลี่ยนในระบบตลาด ความรู้เชิงสถิติจะเข้ามาอธิบายมูลค่าของสินค้าเหล่านั้นและนำไปสู่การผลิตซ้ำระบอบอำนาจของเหตุผลที่ทำให้วัตถุเป็นสิ่งที่ประเมินและชี้วัดได้ด้วยสถิติและราคาที่ใช้แลกเปลี่ยน

มูลค่าในวัตถุและสินค้าคือเรื่องนามธรรมที่มีอิทธิพลต่อการสร้าง “ความจริง” เกี่ยวกับวัตถุภาวะ ในสังคมสมัยใหม่ที่ขับเคลื่อนด้วยระบบทุนนิยม วัตถุต่างๆจะถูกทำให้กลายเป็น “สินทรัพย์” ที่มีราคาในตัวของมันเอง ซึ่งเป็นปัญหาในเชิงศีลธรรมว่าเรากำลังใช้สถิติตัดสินคุณค่าของสิ่งต่างๆ ในโลกที่เต็มไปด้วยวัตถุที่กลายเป็นสินทรัพย์ มูลค่าและราคาของมันนำไปสู่การสร้างความไม่เท่าเทียมทางสังคม Maurer (2003) กล่าวว่าในสังคมสมัยใหม่ สิ่งที่เป็นวัตถุที่มีราคามักจะถูกเท่าให้มีค่าเท่ากับจำนวนเงินที่ใช้แลกเปลี่ยนซื้อขาย การทำให้เงินมีค่าเท่ากับราคาของวัตถุถูกควบคุมด้วยความรู้คณิตศาสตร์ คำถามคือทุกสิ่งในโลกสามารถประเมินและคำนวณให้เป็นราคาหรือจำนวนของตัวเลขได้หรือไม่ อะไรคือกฎเกณฑ์ที่ใช้ตัดสินว่าราคาของวัตถุบางชนิดมีค่าสูงกว่าบางชนิด ปัญหานี้สะท้อนว่ามูลค่าและราคาคือนามธรรม เป็นสิ่งที่มิใช่วัตถุ แต่มันถูกกำหนดให้เป็นสิ่งเดียวกับวัตถุสินค้าและสินทรัพย์ที่ซื้อขายกันในระบบทุนนิยม Maurer เรียกปัญหานี้ว่าการแผ่ขยายและเพิ่มพลังของสิ่งที่เป็นนามธรรม (increasing abstraction) ที่ขับเคลื่อนด้วยปฏิบัติการทางการเงิน ในเวลาเดียวกันการทำให้วัตถุมีราคาได้ย้อนกลับมาเพิ่มอำนาจให้กับเหตุผเชิงตัวเลขและคณิตศาสตร์ ซึ่งตัวเลขของราคาคือสิ่งที่จับต้องไม่ได้ กลไกของระบบตลาดและทุนนิยมจึงสร้าง “ความไม่เป็นวัตถุ” ให้เติบโตและแข็งแกร่งขึ้น

ประเด็นนี้ Engelke (2004) อธิบายว่าสังคมสมัยใหม่ที่เน้นความไม่เป็นรูปเป็นร่างมากเท่าไร ก็ยิ่งมีความแยบยลต่อการสร้างวิธีที่จะแสวงหาประโยชน์จากลักษณะเฉพาะของรูปธรรม(วัตถุ) ซึ่งแสดงออกถึงความไม่เป็นรูปธรรมนั้น (ราคา) Zaloom (2003) กล่าวว่าแนวคิดเรื่อง “เหตุผลทางเศรษฐกิจ” (economic rationality) สนใจปฏิบัติการทางการเงินซึ่งสร้างรูปแบบและเงื่อนไขที่ทำให้วัตถุต่างๆ เป็นสิ่งที่มีมูลค่าขึ้นมาอย่างทันทีทันใด กิจกรรมต่างๆไม่ว่าจะเป็นการลงทุน การจับจ่ายใช้สอย การทำประกัน การซื้อหุ้น การเก็งกำไร การจำนอง การกู้เงิน กิจกรรมเหล่านี้ล้วนสัมพันธ์กับวัตถุภาวะที่หลากหลาย Hasselström (2003) และ Miyazaki (2003) ตั้งข้อสังเกตว่าในโลกที่พัฒนาเทคโนโลยีทางการเงินไปอย่างรวดเร็ว ได้ทำให้มนุษย์พบวิธีหาประโยชน์จากจุดแข็งและจุดอ่อนในความสัมพันธ์ทางสังคมที่เกิดขึ้น ซึ่งมีคนบางกลุ่มกลายเป็นผู้ได้เปรียบมากกว่าคนอื่น อาจกล่าวได้ว่า เหตุผลทางเศรษฐกิจและการปฏิบัติทางการเงินในโลกปัจจุบันคือภาพสะท้อนของ “ความไม่เป็นวัตถุ” ที่อาศัยความเป็นวัตถุภาวะเป็นพื้นที่รองรับและเคลื่อนตัวไปอย่างมีพลังอำนาจ


ผู้เขียน: ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ

เอกสารอ้างอิง:

Appadurai, A. (ed.) (1986). The Social Life of Things: Commodities in Cultural Perspective. Cambridge: Cambridge University Press.

Boivin, B. (2004). Mind over matter? Collapsing the mind-matter dichotomy in material culture studies, In DeMarrais, E., Gosden, C., and Renfrew, C., (eds) Rethinking Materiality: the Engagement of the Mind with the Material World, (pp.63-71). Cambridge: McDonald Institute for Archaeological Research.

Bourdieu, P. (1977). Outline of a Theory of Practice. Cambridge: Cambridge University Press.

DeMarrais, E., Castillo, J., & Earle, T. (1996). Ideology, materialization, and power ideologies. Current Anthropology, 37, 15-31.

de Wolff, K. (2018). Materiality. Theorizing the Contemporary, Fieldsights, March 29. https://culanth.org/fieldsights/materiality

Engelke, M. (2004). Text and Performance in an African Church: The Book, 'Live and Direct'. American Ethnologist, 31(1), 76-91.

Gell, A. (1998). Art and Agency: An anthropological theory. Oxford: Oxford University Press.

Hasselström, A. (2003). Real-time, real-place market: transational connections and disconnections in financial markets. In C. Garsten and H. Wulff (Eds.), New Technologies at Work. (Pp.69-90). Oxford: Berg.

Hegel, G. (1967). The Philosophy of Right. Trans. T Knox. Oxford: Oxford University Press.

Latour, B. (1999). Pandora's Hope, An essay on the reality of science studies. Cambridge: Harvard University Press.

Latour, B. (2004). Why Has Critique Run out of Steam? From Matters of Fact to Matters of Concern. Critical Inquiry, 30(2), 225–48.

Maurer, B. (2002). Repressed futures: functional derivatives' theological unconscious. Economy and Society, 31, 15-36.

Maurer, B. (2003). Uncanny Exchanges: the possibilities and failures of `making change' with alternative monetary forms. Society and Space, 21, 317-340.

Meskell} L. (2002). Private Life in New Kingdom Egypt. Princeton, NJ: Princeton University Press.

Miller, D. (1987). Material Culture and Mass Consumption. Oxford: Blackwell.

Miyazaki, H. (2003). The temporalities of the market. American Anthropologist, 105, 255-265.

Rowlands, M. (2005). A Materialist Approach to Materiality. in Daniel Miller, (ed.), Materiality, (pp. 72-87). New York: Duke University Press.

Schorch, P., Saxer, M., & Elders, M. (Eds.). (2020). Exploring Materiality and Connectivity in Anthropology and Beyond. London: UCL Press.

Shriver-Rice, M. (2009). Materiality, Objects, and Agency: Examples from Archaeology and Anthropology A Brief Overview. Retrieved from https://www.researchgate.net/publication/312376598_Materiality_Objects_and_Agency_Examples_from_Archaeolog y_and_Anthropology_A_Brief_Overview

Zaloom, C. (2003). Ambiguous numbers; trading technologies and interpretation in financial markets. American Ethnologist, 30, 258-272.


หัวเรื่องอิสระ: มานุษยวิทยา, วัตถุ, วัตถุภาวะ, วัฒนธรรมทางวัตถุ