คำศัพท์

Sensory Anthropology

ประสบการณ์แห่งผัสสะ

ผัสสะและความรู้สึกเป็นประเด็นที่นักจิตวิทยาและนักประสาทวิทยาศึกษาในเชิงกายภาพ โดยอธิบายกลไกทางร่างกายที่มีผลต่อการรับรู้และการแสดงอารมณ์ความรู้สึก ซึ่งมิได้มองมิติทางสังคมและวัฒนธรรมที่ผัสสะดำรงอยู่ในฐานะเป็นประสบการณ์ที่มนุษย์ให้ความหมายต่อชีวิตและโลก ในสังคมและวัฒนธรรมที่หลากหลายของมนุษย์ การรับความรู้สึกจากผัสสะต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการมองเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การได้สัมผัส และการลิ้มรส ล้วนเกี่ยวข้องกับแบบแผนของวิถีชีวิตและการให้ความหมายต่อสิ่งที่รู้สึก (Classen, 1993, 1997; Howes, 1991; Howes, 2004) ประเด็นสำคัญคือ การทำความเข้าใจประสบการณ์ผัสสะหรือวิธีการรับความรู้สึกของมนุษย์ไม่จำเป็นต้องมีคุณค่าและความหมายที่เหมือนกัน ตัวอย่างเช่น ร่างทรงและหมอผีในเปรูมีประสบการณ์แห่งการรับรู้โลกของสิ่งศักดิ์สิทธิ์และโลกอนาคตเมื่อประกอบพิธีกรรม ในความหมายของหมอผีเชื่อว่าความสามารถในการรับรู้เหตุการณ์ในอดีตและอนาคต การสัมผัสถึงอำนาจที่มองไม่เห็น คือญาณวิเศษที่จะเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ศักดิ์สิทธิ์ และไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในเวลาปกติ (Sharon, 1978) ผู้ชายในชนเผ่าดีซาน่าในประเทศโคลัมเบียซึ่งมีความวิตกกังวลสูงต่อการมีเพศสัมพันธ์ พวกเขาจึงอาศัยการจ้องมองแทนการสัมผัสเพื่อที่จะจินตนาการถึงการเสพสังวาส (Reichel-Dolmatoff, 1972) ในวัฒนธรรมของชาวอีนูอิตในเขตขั้วโลกเหนือ พวกเขาจะอาศัยสายตาที่เข้มข้นเพื่อการล่าสัตว์ เพราะการจ้องมองทำให้เห็นวัตถุต่างๆมีรูปทรงที่แตกต่างกันซึ่งมีความสำคัญต่อการดำรงชีพ ในขณะที่การฟังเสียงจะมีคุณค่าในเชิงสัญลักษณ์ (Carpenter et al, 1973)

ในวัฒนธรรมของชนเผ่าชีพิโบ-โคนิโบ ในประเทศเปรู พิธีกรรมรักษาโรคจะให้ความสำคัญกับความรู้สึกของผู้ป่วย โดยหมอพื้นบ้านจะจัดเตรียมสถานที่ให้ผู้ป่วยรู้สึกผ่อนคลาย มีการขับร้องเพลงที่ไพเราะ พร้อมกับอบสมุนไพรที่มีกลิ่นหอม กลิ่น ควัน และเสียงเพลงจะล่องลอยอยู่ในบริเวณที่ผู้ป่วยนอนพัก ซึ่งผู้ป่วยจะสัมผัสถึงความรู้สึกที่เรียกว่า “quiquin” อันหมายถึงการได้กลิ่นหอม ได้ยินเสียงที่ไพเราะ และได้เห็นควันที่ลอยอยู่ในอากาศ ผัสสะทั้งสามนี้คือองค์ประกอบของการทำให้ผู้ป่วยรู้สึกมีความสุขความสบาย นอกจากนั้น ญาติพี่น้องของผู้ป่วยจะอยู่เคียงข้างและคอยดูแลอย่างใกล้ชิด สภาพแวดล้อมดังกล่าวคือประสบการณ์ทางผัสสะที่มีความสำคัญต่อพิธีกรรมรักษาโรค และเป็นบรรยากาศที่ช่วยให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น (Gebhart-Sayer, 1985) ในวัฒนธรรมของชนพื้นเมืองที่พูดภาษา Anlo-Ewe ทางภาคใต้ของประเทศกาน่า ทวีปแอฟริกา ประสบการณ์เชิงผัสสะของพวกเขาต่างไปจากชาวตะวันตก พวกเขาจะรู้สึกถึงความมีชีวิตด้วยคำที่เรียกว่า “seselelame” หมายถึงการสัมผัสกับร่างกายที่อยู่ข้างใน ร่างกายนี้ต้องอาศัยความรู้สึกเท่านั้นถึงจะรับรู้ถึงมันได้ ชนพื้นเมืองกลุ่มนี้มิได้แยกกายออกจากจิต แต่ทั้งสองส่วนหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียว หมายถึงความรู้สึกสร้างร่างกายและร่างกายก็สร้างความรู้สึก (Geurts, 2003)

ในวัฒนธรรมญี่ปุ่น การเต้นที่เรียกว่านิฮอนบูโย (Nihon Buyo) คือการใช้ร่างกายในฐานะเป็นองค์ความรู้ เทคนิคการเคลื่อนไหวแขนขาลำตัวคือผัสสะที่ทำให้ผู้เต้นรู้สึกถึงจังหวะและท่วงท่าต่างๆ ผู้เต้นจะใช้ร่างกายตัวเองเป็นตำราและเรียนรู้ที่จะทำให้ร่างกายเคลื่อนไหวด้วยลีลาต่างๆ จากการศึกษาของ Hahn (2007) พบว่าในโรงเรียนที่มีการสอนเต้นนิฮอนบูโย ความสัมพันธ์ระหว่างครูกับศิษย์ดำเนินไปบนการเรียนรู้ในท่าเต้น ซึ่งครูไม่ได้ใช้ตำราและหนังสือ แต่ใช้การสัมผัสร่างกายเพื่อทำให้ลูกศิษย์ได้รับรู้ถึงลีลาการเคลื่อนไหวพร้อมกับมีความรู้สึกกับการเคลื่อนไหวทางร่างกาย จิตกับร่างกายจึงเชื่อมโยงถึงกัน ในการเรียนรู้ท่าเต้นนิฮอนบูโยยังเป็นเชื่อมผัสสะและความรู้สึกระหว่างครูกับศิษย์ การเชื่อมผัสสะจะเกิดขึ้นในระดับสายตาที่ลูกศิษย์จะเฝ้ามองท่วงท่าของครู ในระดับร่างกาย ครูกับศิษย์จะได้สัมผัสร่างกายของกันและกัน โดนครูจะจับเรือนร่างของศิษย์ให้เคลื่อนไหวไปตามลีลาต่างๆ ในระดับการพูดและการฟัง ครูจะพูดและอธิบายให้ศิษย์เคลื่อนไหวร่างกายพร้อมกับฟังเสียงดนตรี การเชื่อมโยงผัสสะและการรับรู้เหล่านี้คือกระบวนการสร้างความรู้ที่ก่อตัวขึ้นบนเรือนร่างของครูและศิษย์

ผัสสะภายใต้ความรู้วิทยาศาสตร์ตะวันตก

ในสังคมตะวันตกช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 17 ประสบการณ์แห่งการสัมผัสทางร่างกายมีความสำคัญ โดยเฉพาะการใช้มือสัมผัสสิ่งต่างๆ และภายใต้ความรู้ทางการแพทย์ การสัมผัสเนื้อตัวร่างกาย การใช้มือล้วงเข้าไปในช่องคลอดของผู้หญิงตั้งครรภ์โดยแพทย์ที่เป็นผู้ชายบ่งบอกถึงความพยายามที่สังคมกำลังควบคุมเรือนร่างของสตรี สะท้อนให้เห็นความรู้ชีววิทยาในฐานะเป็นระบบเหตุผลที่จัดระเบียบกฎเกณฑ์ของธรรมชาติกำลังทำให้ร่างของหญิงมีครรภ์เป็นร่างที่ถูกควบคุมและถูกตรวจสอบอย่างเข้มงวด ดังนั้น การสัมผัสร่างกายด้วยวิธีทางการแพทย์จึงเป็นการเปลี่ยนประสบการณ์ทางผัสสะซึ่งผู้หญิงเคยรู้สึกถึงความอ่อนไหวทางร่างกายไปเป็นการควบคุมและการเยียวยารักษาการเจ็บป่วย (Keller, 2003) ในยุคฟื้นฟูศิลปะวิทยาการ (Renaissance) สังคมตะวันตกกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนวิธีคิดเกี่ยวกับผัสสะ โดยการรับรู้ด้วยอัวยะต่างๆจะถูกจัดลำดับความสำคัญใหม่ โดยการมองเห็นจะถูกเชิดชูให้เป็นการรับรู้ที่ดีที่สุด ในขณะที่การสัมผัสด้วยมือและร่างกายจะถูกมองว่าต่ำช้าและเป็นการรับรู้ที่ป่าเถื่อนหยาบช้า ส่งผลให้วัฒนธรรมตะวันตกในยุคเหตุผลพยายามปกปิดเนื้อตัวร่างกายและไม่ใช้มือเปล่าสัมผัสกับสิ่งต่างๆ (Harvey, 2003) กฎระเบียบเหล่านี้คือรากฐานของความรู้วิทยาศาสตร์ที่ทำให้ประสบการณ์ทางอารมณ์และความรู้สึกถูกควบคุมมิให้มีการแสดงออก ในขณะที่การใช้สติปัญญาเพื่อแยกแยะเหตุผลจะถูกยกย่องให้เป็นบรรทัดฐานของความมีอารยะ

Riskin (2002) อธิบายว่าในยุคเรืองปัญญา (Enlightenment) การศึกษาเชิงประจักษนิยม (empiricism) ที่ให้ความสำคัญกับประสบการณ์ของมนุษย์พยายามที่จะนำเอาผัสสะและการรับรู้มาไว้รวมกัน ทำให้เกิดการศึกษาที่เรียกว่า “ประจักษนิยมเชิงอารมณ์” (sentimental empiricism) อันหมายถึงการวิเคราะห์และการทำความเข้าใจอารมณ์ของมนุษย์โดยการทดลองทางวิทยาศาสตร์ เพื่อทำให้เห็นว่าสาเหตุและผลที่เกิดจากอารมณ์ทำให้มนุษย์ประสบกับอะไรบ้าง การทำให้อารมณ์มีขอบเขตที่ตรวจสอบได้เช่นนี้คือการประเมินอารมณ์ในฐานะ “วัตถุ” ที่ทำให้มนุษย์แสดงความรู้สึกในแบบต่างๆ ถ้ามนุษย์แสดงความรู้สึกที่ผิดจากปกติ เช่น ร้องไห้ฟูมฟายเหมือนคนบ้าน คนๆนั้นก็จะถูกนำมารักษาและถูกตีตราว่าเป็นผู้ป่วยจิตเวช การศึกษาอารมณ์ในกระบวนทัศน์นี้สัมพันธ์การระบอบการปกครองสมัยใหม่ที่ผู้นำพยายามควบคุมเนื้อตัวร่างกายและอารมณ์ของพลเมืองให้อยู่ในความปกติ ในสังคมที่ใช้ความรู้วิทยาศาสตร์ควบคุมสิ่งต่างๆ ผู้ที่แสดงอารมณ์ปรวนแปรจะถูกเหยียดหยามราวกับเป็นคนที่ต่ำช้าป่าเถื่อน นำไปสู่สมมติฐานที่ว่าคนพื้นเมืองในดินแดนที่ห่างไกลคือคนที่ใช้อารมณ์แก้ปัญหาและเชื่อว่าคนเหล่านั้นชอบใช้ความรุนแรง (Howes, 2003) ความคิดนี้คือมายาคติที่เกิดขึ้นพร้อมกับลัทธิอาณานิคมที่คนผิวขาวตะวันตกด้อยค่าคนพื้นเมืองว่าเป็นคนป่าเถื่อน

การศึกษาผัสสะเชิงมานุษยวิทยา

ในช่วงทศวรรษ 1980 เป็นต้นมา การศึกษาทางมานุษยวิทยาที่ใช้ภาษาเขียนเป็นเครื่องมือถ่ายทอดข้อมูลและความรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมอื่นเริ่มถูกตั้งคำถาม โดยเฉพาะการตีความชีวิตของมนุษย์ให้เป็นตัวหนังสืออาจจะไม่เพียงพอต่อการทำความเข้าใจอารมณ์และความรู้สึก (Howes, 2003) ทำให้เกิดการค้นหาแนวทางใหม่ๆที่จะทำความเข้าใจวัฒนธรรมของมนุษย์ แนวทางสำคัญหนึ่งคือการศึกษาผัสสะและการรับรู้ซึ่งต้องอาศัยความรู้สึกต่อสิ่งต่างๆ (Pink, 2009, 2013) เท่าที่ผ่านมาเมื่อมีการศึกษาเรื่องผัสสะและการรับรู้ ศาสตร์แต่ละสาขาอาจจะให้ความสำคัญกับผัสสะในแบบแยกส่วน เช่น การมองเห็นจะสนใจเฉพาะพฤติกรรมทางสายตา การพูดจะสนใจการสร้างคำและประโยค การสัมผัสจะสนใจพฤติกรรมทางร่างกาย เป็นต้น การศึกษาเหล่านี้มิได้มองผัสสะในฐานะเป็นประสบการณ์ร่วมของการรับรู้ที่หลากหลาย ในแวดวงมานุษยวิทยาซึ่งใช้วิธีการศึกษาแบบการสังเกตอย่างมีส่วนร่วมและเข้าไปคลุกคลีกับกลุ่มคนที่ถูกศึกษาเป็นเวลานานนำไปสู่ความสนใจเรื่องความรู้สึกที่นักมานุษยวิทยามีต่อสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นในพื้นที่ศึกษา สิ่งนี้นำไปสู่ระเบียบวิธีวิจัยที่เรียกว่า วิธีวิทยาแห่งผัสสะ (sensory methodology) ซึ่งใช้ความรู้สึกเป็นเครื่องมือเพื่อแสวงหาความรู้ (Pink, 2009)

Stoller (1997) เคยตั้งข้อสังเกตว่าการแสวงหาความรู้แบบตะวันตกที่ให้ความสำคัญกับเหตุผลและการใช้สติปัญญา อาจใช้เป็นมาตรฐานของการแสวงหาความรู้ของมนุษย์ในสังคมอื่นไม่ได้ เพราะในบางวัฒนธรรมการแสวงหาความรู้อาศัยความรู้สึกและผัสสะ (sensuous epistemology) ซึ่งชาวตะวันตกอาจไม่เข้าใจและดูหมิ่นดูแคลน ตัวอย่างเช่น การทำความเข้าใจวิธีการแสดงออกทางผัสสะซึ่งในบางวัฒนธรรมอาจให้ความสำคัญกับการรับรู้ด้วยสายตา แต่บางวัฒนธรรมอาจให้ความสำคัญกับการฟังเสียง ความแตกต่างของผัสสะที่ถูกให้คุณค่าต่างกันนี้สัมพันธ์กับเงื่อนไขทางสังคม รวมถึงการสร้างความหมายต่อผัสสะเหล่านั้น อย่างไรก็ตาม วิธีการศึกษาผัสสะอาจต้องอาศัยเทคนิคและวิธีการบางอย่างที่ต่างไปจากการเก็บข้อมูลตามปกติ จุดเริ่มต้นคือผู้ศึกษาจะต้องไม่เอาประสบการณ์ของตัวเองไปประเมินผัสสะของคนในวัฒนธรรมอื่น จากนั้นต้องเปิดใจกว้างที่จะเรียนรู้วิธีการแสดงความรู้สึกของคนต่างวัฒนธรรม โดยพยายามเข้าไปอยู่ในสถานการณ์จริงที่คนเหล่านั้นกำลังใช้ผัสสะและรับรู้สิ่งต่างๆ วิธีนี้เรียกว่า “การใช้ความรู้สึกอย่างมีส่วนร่วม” (participant sensation) (Howes, 2003)

จุดมุ่งหมายในการศึกษาผัสสะแบบมานุษยวิทยา คือการทำความเข้าใจความหมายที่มนุษย์ใช้ผัสสะรับรู้ในสิ่งต่างๆ โดยไม่ใช่การสังเกตหรือจ้องมองดูพฤติกรรมเหล่านั้น แต่เป็นการเข้าไปมีส่วนรับรู้ประสบการณ์แห่งอารมณ์พร้อมกับกลุ่มคนที่กำลังถูกศึกษา เพื่อที่จะทำความเข้าใจว่าในสถานการณ์ที่คนเหล่านั้นกำลังมีความรู้สึก พวกเขาสัมผัสกับคุณค่าและความหมายในสิ่งต่างๆอย่างไร เช่น ประสบการณ์และอารมณ์ที่เกิดขึ้นขณะทำพิธีกรรมทางศาสนา วิธีการนี้เหมือนกับการเอาตัวเองเข้าไปอยู่ในประสบการณ์ของคนอื่น Howes(2003) อธิบายว่ามานุษยวิทยาแห่งผัสสะมิได้มอง “ร่างกาย” เป็นเพียงอวัยวะ แต่มองในฐานะเป็น “ร่างแห่งความรู้สึก” (sentient body) ที่มีชีวิตจิตใจ ในวิธีการศึกษาดังกล่าวจะช่วยขยายความเข้าใจเกี่ยวกับวัฒนธรรมของมนุษย์ ซึ่งอยู่ในฐานะเป็นประสบการณ์แห่งผัสสะ กล่าวคือมนุษย์ใช้การรับรู้ทางอารมณ์เพื่อสร้างความหมายให้กับกิจกรรมต่างๆ ความรู้สึกจึงเป็นเครื่องมือที่เชื่อมโยงโลกทางกายภาพและโลกทางจิตวิญญาณเข้าด้วยกัน

ตัวอย่างการศึกษาของ Jackson (2004) ซึ่งเข้าไปมีส่วนร่วมทางความรู้สึกของกลุ่มนักเต้นในไนท์คลับของลอนดอน พบว่านักเต้นเหล่านั้นต่างใช้ร่างกายของตนเองเป็นพื้นที่แสดงอารมณ์และความรู้สึก การแสดงท่วงท่าและการเคลื่อนไหวในอริยาบทต่างๆบ่งบอกถึงความรู้สึกที่ต่างกัน การเต้นจึงเปรียบเสมือน “ความรู้ที่ตกผลึก” (embodied knowledge) ที่ก่อตัวและแผ่ขยายอยู่ในร่างกาย การเต้นจึงมิใช่การเคลื่อนไหว แต่เป็นการสะสมความรู้ที่บ่งบอกความรู้สึก โดยท่าเต้นจะเปรียบเสมือนภาษาที่เหล่านักเต้นใช้สื่อถึงกัน ไนท์คลับที่นักเต้นมารวมตัวกันก็มิใช่เป็นเวทีที่มีไฟสวยงาม แต่เป็นพรมแดนของความรู้สึก (sensuous landscape) และการสร้างสังคมที่ยึดโยงผ่านความรู้สึก (sensuous sociality) ที่ทำให้นักเต้นได้สัมผัสกับเสียงเพลง รสชาติของอัลกอฮอล์และจังหวะการเคลื่อนไหวของร่างกาย การรับรู้เหล่านี้เกิดขึ้นในช่วงเวลาพิเศษที่ไม่สามารถพบได้ในเวลาปกติ เพราะช่วงเวลาแห่งการเต้นได้สร้างผัสสะที่หลากหลายและผู้เต้นสามารถสื่อสารผ่านร่างกายในเชิงกามารมณ์และเสน่หาทางเพศ

การศึกษาผัสสะในไนต์คลับของ Jackson มิใช่การศึกษากลุ่มวัมนธรรมย่อยที่ต้องการถอดรหัสความหมายของนักเต้นหรือนักเที่ยวกลางคืนเป็นแค่เพียงการต่อต้านขัดขืนกับกฎระเบียบทางสังคม แต่การศึกษาดังกล่าวได้เสนอมุมมองเกี่ยวกับพรมแดนความรู้สึกที่ทำให้นักเต้นสัมผัสกับความตื่นเต้นสนุกสนาน เคลิบเคลิ้มที่แตกต่างไปจากช่วงเวลาปกติ สภาวะแห่งความรู้สึกนี้ก่อตัวและแผ่ซ่านอยู่ในตัวบุคคลซึ่งเขาเหล่านั้นจะสัมผัสได้ด้วยตัวเองโดยไม่จำเป็นต้องเลียนแบบคนอื่นและบบีบบังคับให้ผู้อื่นต้องรู้สึกในแบบเดียวกัน ในช่วงเวลาที่ Jackson เข้าไปศึกษาผัสสะของนักเต้นในไนต์คลับ เขาได้นำตัวเองเข้าไปอยู่ในสภาวะนั้นโดยการแต่งตัวข้ามเพศในแบบที่เขาปรารถนา ซึ่งเขาได้สัมผัสและรู้สึกกับเนื้อตัวร่างกายที่เปลี่ยนไป ท่ามกลางบรรยายของเสียงเพลง แสงไฟและเครื่องดื่ม ทำให้เขาสัมผัสถึงความเป็นอิสระที่จะปลดปล่อยตัวเอง


ผู้เขียน: ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ

เอกสารอ้างอิง:

Carpenter, E., Skolnick, A., Otto, E., Spiess, F., & Meldgaard, J. (1973). Eskimo realities. New York: Holt, Rinehart and Winston.

Classen, C. (1993). Worlds of Sense: Exploring the Senses in History and Across Cultures. London and New York: Routledge.

Classen, C. (1997). Foundations for an Anthropology of the Senses. International Social Science Journal, 153: 401–20.

Gebhart-Sayer, A. (1985). The Geometric Designs of the Shipibo-Conibo in Ritual Context. Journal of Latin-American Lore, 11(2), 143–175.

Geurts, K. (2003). Culture and the Senses Bodily Ways of Knowing in an African Community. Berkeley: University of California Press.

Hahn, T. (2007). Sensational Knowledge: Embodying Culture through Japanese Dance. Middletown, Connecticut: Wesleyan University Press.

Harvey, E. D. (2003). Sensible Flesh: On Touch in Early Modern Culture. Philadelphia: University of Pennsylvania Press.

Howes, D. (Ed.). (1991). The Varieties of Sensory Experience: A Sourcebook in the Anthropology of the Senses. Toronto: University of Toronto Press.

Howes, D. (2003). Sensual Relations: Engaging the Senses in Culture and Social Theory. Ann Arbor: University of Michigan Press.

Howes, D. (Ed.). (2004). Empire of the Senses: The Sensual Culture Reader. Oxford: Berg.

Jackson, P. (2004). Inside Clubbing: Sensual Experiments in the Art of Being Human. Oxford and New York: Berg Publishers.

Keller, E. (2003). The Subject of Touch: Medical Authority in Early Modern Midwifery. In Elizabeth D. Harvey, (Ed.), Sensible Flesh: On Touch in Early Modern Culture. (pp. 62- 80). Philadelphia: University of Pennsylvania Press.

Pink, S. (2009). Doing Sensory Ethnography. London: Sage.

Pink, S. (2013). Engaging the Senses in Ethnographic Practice. The Senses and Society, 8(3), 261-267.

Reichel-Dolmatoff, G. (1972). San Agustin: A Culture of Colombia. New York: Praeger Publishers.

Riskin, J. (2002). Science in the Age of Sensibility. Chicago: The University of Chicago Press.

Sharon, D. (1978). Wizard of the Four Winds: A Shaman's Story. New York: Free Press.

Stoller, P. (1997). Sensuous Scholarship. Philadelphia, PA: University of Pennsylvania Press.


หัวเรื่องอิสระ: มานุษยวิทยา, ผัสสะ, ความรู้สึก, ประสบการณ์