คำศัพท์

Islamophobia

การก่อวินาศกรรมตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ ณ มหานครนิวยอร์คในวันที่ 11 กันยายน ปีค.ศ. 2001 (เหตุการณ์ 9/11) ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่สร้างผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างโลกตะวันตกและโลกมุสลิมครั้งใหม่ นำไปสู่การประกาศสงครามต่อต้านลัทธิก่อการร้าย (War on Terrorism) โดยสหรัฐอเมริกาและชาติพันธมิตรซึ่งมุ่งเป้ากวาดล้างกลุ่มขบวนการของชาวมุสลิมที่ถูกโยงว่าเป็นกลุ่มก่อการร้ายเบื้องหลังการก่อเหตุวินาศกรรมดังกล่าว สื่อกระแสหลักทั่วโลกได้ผลิตซ้ำวาทกรรมเหมารวมสร้างความเข้าใจผิดโดยผูกภาพลักษณ์ของชาวมุสลิมเข้ากับผู้ก่อการร้ายแบบ อาทิ “ชาวมุสลิมทุกคนไม่ใช่ผู้ก่อการร้าย แต่ผู้ก่อการร้ายทุกคนเป็นชาวมุสลิม” หรือการพาดหัวข่าวว่า “มัสยิดของอังกฤษกำลังหาทุนให้กับผู้ก่อความรุนแรง” ที่สร้างความรู้สึกหวาดระแวงและความตึงเครียดต่อชุมชนชาวมุสลิมมากขึ้น (Hillton, 2005; Jackson, 2016) นำมาสู่กระแส “อิสลาโมโฟเบีย” (Islamophobia) หรือ ความหวาดกลัวอิสลาม หรือบ้างก็เรียกว่า โรคหวาดกลัวอิสลาม (Islam (ศาสนาอิสลาม) + phobia (โรคกลัว) เป็นโรคที่ผู้ป่วยมักจะแสดงอาการหวาดกลัวอย่างรุนแรงต่อสิ่งหนึ่งสิ่งใด หรือสถานการณ์เฉพาะ ซึ่งจะเป็นไปอย่างไร้เหตุผล) อันเป็นปรากฏการณ์ของความรู้สึกหวาดกลัว รังเกียจเดียดฉันท์ และมีอคติต่อศาสนาอิสลาม (Islam) และชาวมุสลิม (Muslims) อย่างรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุโรปและสหรัฐอเมริกา รวมถึงที่อื่น ๆ ของโลก

Kofi Annan อดีตเลขาธิการสหประชาชาติได้กล่าวต่อที่ประชุมในวันที่ 7 ธันวาคม ปีค.ศ. 2004 ถึงการปรากฏตัวของกระแสความหวาดกลัวอิสลามว่า “โลกถูกบังคับให้บัญญัติศัพท์ใหม่ขึ้นมาเพื่อรับผิดชอบต่อความคลั่งที่ขยายตัวไปทั่ว ซึ่งเป็นเรื่องน่าเศร้าสลดและเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนา นั่นคือ อิสลาโมโฟเบีย” (Annan 2004;)

องค์การความร่วมมืออิสลาม (Organization of Islamic Cooperation - OIC) ได้รวบรวมรายงานเหตุการณ์ที่ชาวมุสลิมตกเป็นเหยื่อของการใช้ความรุนแรงและการเลือกปฏิบัติจากกระแสความหวาดกลัวอิสลามนับตั้งแต่ปี 2008 ซึ่งปรากฏความรุนแรงหลายรูปแบบตั้งแต่การเผามัสยิด คำพูดยั่วยุในโซเชียลมีเดีย การข่มขู่ทางไปรษณีย์ การเผาคัมภีร์อัลกุรอ่าน การดูหมิ่นศาสนาอิสลามและศาสดามุฮัมมัด การทำร้ายร่างกาย การล่วงละเมิดทางวาจา จนไปถึงปรากฏการณ์เพิ่มความนิยมของพรรคการเมืองและขบวนการฝ่ายขวา กลุ่มชาตินิยมและการปะทุของพรรคฝ่ายขวาสุดโต่งที่ออกนโนบายต่อต้านชาวมุสลิมอย่างชัดแจ้ง (The Organization of Islamic Cooperation, 2020) อาทิ เหตุการณ์สะเทือนขวัญในปีค.ศ. 2019 เมื่อผู้ก่อการร้ายขวาจัดเข้าไปกราดยิงในมัสยิดไครสต์เชิร์ช (Christchurch Mosque) ประเทศนิวซีแลนด์ จนทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 51 ราย และบาดเจ็บ 49 ราย ซึ่งนับเป็นอาชญากรรมร้ายแรงที่เกิดจากความเกลียดชัง (Hate crime) อันเป็นผลมาจากกระแสความหวาดกลัวอิสลามที่ขยายตัวออกไปเป็นวงกว้างและทวีความรุนแรงขึ้น (The Royal Commission of Inquiry, 2021)

ในการศึกษาภูมิหลังและนิยามของความหวาดกลัวของอิสลามของ Richardson (2012) พบว่า คำว่า “อิสลาโมโฟเบีย” ได้ปรากฏขึ้นก่อนหน้าเหตุการณ์ 9/11 มาเป็นเวลานานช้านานแล้ว โดยถูกพบเก่าที่สุดในงานเขียนของ Alain Quellien (1910) ซึ่งวิพากษ์วิจารณ์เจ้าหน้าที่ของอาณานิคมฝรั่งเศสในแอฟริกาตะวันตกว่ามีความหวาดกลัวต่อศาสนาอิสลามอย่างเกินเลย (islamophobie) ส่งผลให้เกิดการเลือกปฏิบัติและสร้างความบาดหมางกับชาวพื้นเมืองได้โดยง่าย นอกจากนี้ในปีค.ศ.1916 Alphonse-Étienne Dinet ศิลปินผู้เปลี่ยนไปนับถือศาสนาอิสลามและใช้ชีวิตอยู่ในอัลจีเรีย ได้ใช้คำเดียวกันนี้ในหนังสือบันทึกของเขา เพื่ออธิบายความรู้สึกเป็นปรปักษ์ (hostile) ของชาวยุโรปที่นับถือศาสนาคริสต์ที่มีต่อศาสนาอิสลาม (Richardson 2012)

ทั้งนี้ เป็นผลสืบเนื่องจากการที่ชาวตะวันตกได้สร้างมายาคติต่อศาสนาอิสลามและชาวมุสลิมในฐานะคู่ขัดแย้งมายาวนานตลอดประวัติศาสตร์ ตั้งแต่การปรากฏตัวของศาสนาอิสลามในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 7 สู่การปะทะกันระหว่างชาวคริสเตียนยุโรปกับชาวมุสลิมในสงครามครูเสดเพื่อยึดครองดินแดนปาเลสไตน์ ความไม่ลงรอยนี้สะท้อนผ่านงานเขียนของชาวตะวันตกจำนวนมาก อาทิ งานเขียนในยุคกลางของ St. John the Damascene ที่มุ่งวิพากษ์ความเชื่อในศาสนาอิสลามว่า ชาวอาหรับมุสลิมเป็นกลุ่มชนนอกรีตที่ปฏิเสธพระเยซูในฐานะพระเจ้าและแยกตัวออกมาจากสายธารของพระคัมภีร์ไบเบิล (Rhodes 2009) จนไปถึงบทละครโศกนาฏกรรมในยุคเรืองปัญญา (Age of Enlightenment) ในปีค.ศ. 1736 ของ Voltaire ที่ฉายภาพศาสดามุฮัมมัดแห่งศาสนาอิสลามว่าเป็นศาสดาจอมปลอม (false prophet) ผู้นิยมความรุนแรงและสุดโต่ง (Allen, 2010:29-31) ดังที่ Edward Said ได้กล่าวไว้ใน Orientalism (1978) ว่า มโนทัศน์ต่อศาสนาอิสลามและชาวมุสลิมในฐานะตัวแทนของอารยธรรมตะวันออกที่ถูกมองว่าล้าหลังและป่าเถื่อน ต่างจากอารยธรรมตะวันตกที่เหนือกว่า มีรากมาจากกระแสนิยมวัฒนธรรมตะวันออกโดยชาวยุโรปที่ถูกผลักดันด้วยปัจจัยทางการเมือง เศรษฐกิจ และการทหาร ที่สัมพันธ์กับการขยายตัวของลัทธิจักรวรรดินิยม (Imperialism) นั้น ส่งผลต่อการปรับเปลี่ยนโครงสร้างความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างตะวันตกและตะวันออก จนทำให้ตะวันตกสามารถเป็นผู้เล่า กำหนด จัดระเบียบ และถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับตะวันออกได้อย่างเบ็ดเสร็จ สร้างภาพแทนที่คลาดเคลื่อนเกี่ยวกับชาวตะวันออกทั้งในด้านศาสนาและวัฒนธรรม และเกิดการผลิตซ้ำต่อไปเรื่อย ๆ จนคิดเอาว่าเป็นความเข้าใจที่ถูกต้อง (Said, 1978)

ในช่วงปลายทศวรรษที่ 1990 วาทกรรมอิสลาโมโฟเบีย ได้ถูกยกเข้ามาสู่เวทีถกเถียงทางวิชาการและวงสาธารณะโดย Runnymede Trust องค์กรพัฒนาเอกชนด้านความสัมพันธ์เชื้อชาติของอังกฤษ ได้จัดประชุมกรรมาธิการว่าด้วย ชาวมุสลิมอังกฤษและความหวาดกลัวอิสลาม (Commission on British Muslims and Islamophobia) โดยจัดพิมพ์รายงานสรุปเรื่อง “ความหวาดกลัวอิสลาม: ความท้าทายสำหรับเราทุกคน” (Islamophobia: A Challenge for Us All) ให้นิยามว่าหมายถึง “ความเกลียดกลัวหรือเป็นปรปักษ์ต่อศาสนาอิสลาม ซึ่งนำไปสู่การเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมต่อชาวมุสลิมและชุมชนมุสลิม รวมถึงการผลักไสชาวมุสลิมให้ออกไปจากการเมืองกระแสหลักและกิจกรรมทางสังคมด้วย” โดยได้มีการจำแนกสาเหตุสำคัญ 8 ประการ ได้แก่ 1) ศาสนาอิสลามถูกมองว่าไม่หยืดหยุ่นและปฏิเสธการเปลี่ยนแปลงใด ๆ 2) ศาสนาอิสลามแยกตัวเป็นอื่น และไม่มีคุณค่าร่วมกับวัฒนธรรมอื่น ๆ 3) ศาสนาอิสลามล้าหลังสำหรับชาวตะวันตก ป่าเถื่อน ไร้เหตุผล โบราณ และเลือกปฏิบัติทางเพศ 4) ศาสนาอิสลามมีรุนแรงก้าวร้าวและสนับสนุนลัทธิก่อการร้าย 5) ศาสนาอิสลามเป็นอุดมการณ์ทางการเมืองและถูกใช้ในการการเมืองและการทหาร 6) ข้อวิพากษ์โลกตะวันตกโดยศาสนาอิสลามจะถูกปฏิเสธ 7) การเป็นปรปักษ์ต่อศาสนาอิสลามถูกนำมาเป็นเหตุผลในการเลือกปฏิบัติต่อชาวมุสลิมและผลักไสออกจากสังคมกระแสหลัก และ 8) การต่อต้านศาสนาอิสลามถูกมองว่าเป็นเรื่องปกติ (The Runnymede Trust, 1997)

แม้กระนั้น ข้อเสนอเกี่ยวกับแนวคิดและนิยามของความหวาดกลัวอิสลามนี้ก็ยังคลุมเครือและเปิดประเด็นให้เกิดข้อถกเถียงตามมา อาทิ Halliday (1999) เสนอว่าที่ถูกต้องแล้วความหวาดกลัวอิสลามควรที่จะถูกเรียกว่า “การต่อต้านชาวมุสลิม” (anti-Muslimism) มากกว่า โดยมองเป็นเรื่องของอคติที่มุ่งไปยังตัวชาวมุสลิมในฐานะคน มากกว่าการเป็นปรปักษ์ทางศาสนาดังเช่นในอดีต และอัตราของการต่อต้านชาวมุสลิมมาก-น้อยต่างกันไปในบริบทของชนชาติและวัฒนธรรม ขณะที่ Meer และ Modood (2009) ได้ศึกษาบริบทของความหวาดกลัวอิสลามในยุโรปและมองว่าแนวคิดนี้เป็นการซ้อนกันของการเหยียดเชื้อชาติ (Racism) และความเกลียดคนต่างชาติ (Xenophobia) ที่มุ่งกระทำต่อชาวมุสลิมชนกลุ่มน้อย (ethnic minority) โดยมีปัจจัยขึ้นอยู่กับระดับของการแสดงอัตลักษณ์ความเป็นมุสลิม (Muslimness) อันเป็นอัตลักษณ์ทางศาสนา (religious identity) ดังที่เคยเกิดขึ้นกับกรณีของการต่อต้านชาวยิว (anti-Semitism) มาก่อน (Meer and Modood 2009)

แม้ว่าโดยทั่วไปประเทศในยุโรปจะมีการคุ้มครองสิทธิของชนกลุ่มน้อย แต่อัตลักษณ์ทางศาสนาของชาวมุสลิมกลับถูกมองเป็นเรื่องของความสมัครใจที่จงใจสร้างความแตกต่างและความเป็นอื่นจากค่านิยมหลักที่ชาวยุโรปยึดถือ ตัวอย่างเช่น ในฝรั่งเศสมีการประกาศรัฐบัญญัติห้ามปกปิดใบหน้าในที่สาธารณะ ซึ่งห้ามสตรีชาวมุสลิมสวมนิกอบ (Niqab) บุรเกาะฮ์ (Burqa) เนื่องจากขัดกับค่านิยมแบบฆราวาสนิยม (secularism) ของชาติ และมีความกังวลด้านสิทธิสตรีและความมั่นคง หรือ การรณรงค์ประชามติร่างกฎหมายห้ามก่อสร้างหออะซาน (minaret) โดยพรรคฝ่ายขวาของสวิสเซอร์แลนด์ โดยให้เหตุผลว่าหออะซานเป็นสัญลักษณ์ของการขยายอิทธิพลการเมืองอิสลาม (political Islam) เป็นต้น (Abdeleli 2019)

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยภายในซึ่งเกิดจากการกระทำโดยชาวมุสลิมเองบางกลุ่มที่นิยมการใช้ความรุนแรง มีส่วนตอกย้ำและขยายกระแสความหวาดกลัวอิสลามให้ขยายมากขึ้น เช่น การปรากฏตัวของกองกำลังฏอลิบาน (Taliban) ในอัฟกานิสถาน และ กองกำลังไอสิส (ISIS) ที่มีการตีความศาสนาอิสลามอย่างสุดโต่ง (mutashaddid - extremist) ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อขับไล่อิทธิพลของชาติตะวันตกและสถาปนารัฐอิสลาม รวมถึงเหตุกราดยิงสำนักพิมพ์นิตยสารชาร์ลี เอ็บโด (Charlie Hebdo) ในกรุงปารีสในปีค.ศ. 2015 ที่ผู้ก่อการร้ายอ้างว่าเป็นการตอบโต้การวาดการ์ตูนล้อเลียนศาสดาของศาสนาอิสลาม ซึ่งปฏิกิริยาที่หลากหลายของชาวมุสลิมต่อเหตุการณ์ดังกล่าวรวมถึงหวาดหวั่นว่ากระแสความหวาดกลัวอิสลามจะยิ่งขยายตัวมากขึ้น (จรัญ มะลูลีม, 2559; สุชาติ เศรษฐมาลินี, 2016) โดยองค์กรมุสลิมได้แถลงการยืนยันไม่สนับสนุนความรุนแรงทุกชนิด แต่การดูหมิ่นศาสนาก็เป็นพฤติกรรมที่ไม่รับผิดชอบและเป็นการยั่วยุความรู้สึกของชาวมุสลิมกว่าพันล้านคนทั่วโลกและไม่สอดคล้องกับบรรทัดฐานสากลที่เรียกร้องให้เคารพความรู้สึกของผู้อื่นโดยอ้าง “เสรีภาพในการแสดงออก” ซึ่งยิ่งสร้างความรุนแรง และการก่อการร้าย ส่งเสริมความรู้สึกต่อต้านชาวมุสลิม และปรากฏการณ์ของความหวาดกลัวอิสลามมากยิ่งขึ้น (The Organization of Islamic Cooperation 2020)


ผู้เขียน: สุนิติ จุฑามาศ

เอกสารอ้างอิง:

Abdeleli, Abdelhafidh., 2019. “Switzerland's controversial minaret ban, ten years on”. Accessed: August 2021, 8th. url: https://www.swissinfo.ch/eng/political-history_the-controversial-minaret-ban--ten-years-on/45399822

Annan, Kofi,. 2004. “Secretary-General, addressing headquarters seminar Wed Confronting Islamophobia”. United Nations, press release, 7 December 2004.

Allen, Chris., 2010. “Islamophobia”. Farnham: Ashgate. Halliday, Fred., 2003. “Islam and the myth of confrontation: religion and politics in the Middle East”. London: New York : I.B. Tauris.

Hinton, Joe., 2005. “Collections at UK mosques 'fundraising for terror'”. Accessed: August 2021, 8th. url: https://www.dailystar.co.uk/news/latest-news/uk-mosque-terror-fund-cash-17218857

Jackson, Jasper., 2016. “Daily Star Sunday censured over misleading headline on UK mosques”. Accessed: August 2021, 8th. url: https://www.theguardian.com/media/2016/apr/04/daily-star-sunday-uk-mosques-ipso

Meer, Nasar; Modood, Tariq., 2009. “Refutations of racism in the ‘Muslim question’”. Patterns of Prejudice. 43 (3–4): 335–54

Quellien, Alain., 1910. “La Politique Musulmane Dans L Afrique Occidentale Française 1910”. Paris: Émile Larose. Accessed: August 2021, 6th. url: https://gallica.bnf.fr/ark:/12148/bpt6k6152175h.texteImage

Rhodes, Bryan., 2009. “John Damascene in Context: An Examination of "The Heresy of the Ishmaelites" with special consideration given to the Religious, Political, and Social Contexts during the Seventh and Eighth Century Arab Conquests”. Masters Theses. 71. Liberty University. Accessed: August 2021, 7th. url: https://digitalcommons.liberty.edu/masters/71/

Richardson, Robin., 2012. “Islamophobia or anti-Muslim racism – or what?– concepts and terms revisited”. Accessed: August 2021, 6th. http://www.insted.co.uk/anti-muslim-racism.pdf

Said, Edward W., 1978. “Orientalism” New York: Pantheon Books. The Organization of Islamic Cooperation, 2020, “13th OIC observatory report on Islamophobia”. Accessed: August 2021, 8th. url: https://www.oic-oci.org/upload/islamophobia/2021/The_13th_Islamophobia_Annual_Report_English.pdf

The Organization of Islamic Cooperation, 2020, “OIC: Republishing of Abusive Cartoons of Prophet Muhammad, peace be upon him, by French Charlie Hebdo Newspaper, is an affront to Islam and a Provocation to Feelings of Muslims”. Accessed: August 2021, 8th. url: https://www.oic-oci.org/topic/?t_id=23831&t_ref=14161&lan=en

The Royal Commission of Inquiry., 2021. “Report: Royal Commission of Inquiry into the terrorist attack on Christchurch masjidain on 15 March 2019”. Accessed: August 2021, 8th. url: https://christchurchattack.royalcommission.nz/

The Runnymede Trust., 1997. “Islamophobia: A Challenge for Us All”. Accessed: August 2021, 7th. url: https://www.runnymedetrust.org/companies/17/74/Islamophobia-A-Challenge-for-Us-All.html

จรัญ มะลูลีม., 2559. “อิสลาโมโฟเบีย : เรียนรู้ ลบเลือนความหวาดระแวง”. กรุงเทพฯ : มติชน.

สุชาติ เศรษฐมาลินี, 2016. “อิสลามโมโฟเบีย: โรคร้ายที่ต้องรีบเยียวยา”. Accessed: August 2021, 8th. url: https://deepsouthwatch.org/th/node/8715


หัวเรื่องอิสระ: อิสลาม, อคติทางวัฒนธรรม, มุสลิม, ความเกลียดกลัว