คำศัพท์

Writing Culture

      วัฒนธรรมการเขียน หมายถึง การวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับวิธีการเขียนงานทางชาติพันธุ์ของนักมานุษยวิทยาในช่วงทศวรรษที่ 1980  ซึ่งเป็นวิธีการเขียนที่ลักษณะเฉพาะและใช้ระบบอ้างอิงทางวิชาการ  การวิจารณ์เกิดขึ้นโดยนักมานุษยวิทยา นักวิชาการสายวรรณกรรม และนักประวัติศาสตร์ ซึ่งมีความสนใจเกี่ยวกับรูปแบบการเขียนที่หลากหลายเพื่ออธิบายวัฒนธรรมนอกตะวันตก โดยเฉพาะในช่วงการล่าอาณานิคม  การวิจารณ์พุ่งประเด็นไปที่การสร้างคำอธิบายและการใช้คำตามกรอบแนวคิดทฤษฎีของผู้เขียน ซึ่งเป็นผู้สร้างความรู้  การวิจารณ์นี้ก่อให้เกิดการถกเถียงมากไปกว่าการเขียนงานทางชาติพันธุ์ของนักมานุษยวิทยา  

       คำวิจารณ์ต่องานเขียนชาติพันธุ์อาจมีจุดเริ่มต้นมาก่อนหน้านี้ ตั้งแต่ทศวรรษที่ 1960 และ 1970  มีการถกเถียงและสะท้อนภาพลักษณะการทำงานภาคสนามของนักมานุษยวิทยา   การสะท้อนภาพอย่างแรกคือการบันทึกความจำเกี่ยวกับประสบการณ์ภาคสนาม บันทึกที่ได้รับความสนใจคือบันทึกส่วนตัวของมาลีนอฟสกี้ ใน ปี ค.ศ.1967   ถึงแม้ว่าจะมีการวิจารณ์ในบันทึก แต่ก็ยังไม่ใช่การวิจารณ์งานเขียน แต่มีลักษณะเป็นการสารภาพความในใจแบบสรรเสริญต่อการทำงานในภาคสนาม   เมื่อถึงทศวรรษที่ 1970 การวิจารณ์แบบใหม่ก็เกิดขึ้น โดยเน้นการวิจารณ์กระบวนการทำวิจัยทั้งหมด  การวิจารณ์ในช่วงนี้ยังคงมีลักษณะการสารภาพความในใจ ขณะเดียวกันก็มีการวิจารณ์อย่างจริงจังเกี่ยวกับกระบวนการทำงานภาคสนาม และสถานภาพของวิธีคิดทางสังคมศาสตร์

      ในทศวรรษที่ 1960  ยังมีการวิจารณ์การศึกษาของนักมานุษยวิทยาแบบเงียบๆ เกี่ยวกับความละเลยต่อบริบททางประวัติศาสตร์ ความไม่เท่าเทียมกันทางสังคม และการใช้อำนาจที่มีอยู่ในสังคมประเพณี และในสาขาวิชาของตัวเอง   การทำงานสนามสมัยใหม่ ของนักมานุษยวิทยาเกิดขึ้นในบรรยากาศของอาณานิคม และการประกาศอิสรภาพของประเทศเมืองขึ้น  นักมานุษยวิทยาจะมองหาวัฒนธรรมที่หายากและเก่าแก่ ถึงแม้ว่าดินแดนโลกที่สามได้ถูกผนวกเข้ากับระบบเศรษฐกิจของโลกแล้วก็ตาม    การวิจารณ์วิธีคิดและการทำงานในพื้นที่ที่มีวัฒนธรรมเป็นเอกเทศซึ่งมีนักมานุษยวิทยาเข้าไปอธิบาย นำไปสู่การตั้งคำถามที่เฉพาะเจาะจง เกี่ยวกับเรื่องความสัมพันธ์ของนักมานุษยวิทยากับลัทธิอาณานิคม และต่อมาถึงยุคพ้นอาณานิคมด้วย

      ภาระหน้าที่ของนักมานุษยวิทยาในการวิเคราะห์วัฒนธรรม เป็นเรื่องของการตีความ ก่อให้เกิดข้อถกเถียงทางทฤษฎีในหมู่นักมานุษยวิทยา ซึ่งโยงใยไปถึงอิทธิพลปรัชญาความคิดของยุโรป โดยเฉพาะแนวคิดแบบ hermeneutics ที่แยกเด็ดขาดจากแนวคิดของวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ   การถกเถียงที่ลุ่มลึกในสาขามานุษยวิทยาเกี่ยวข้องกับประเด็น “วิธีคิดแบบชาวบ้าน”  และมีการอธิบายว่าการสร้างความจริงทางวัฒนธรรมมีผลต่อการกระทำทางสังคม   มานุษยวิทยาในเชิงการตีความกลายเป็นสิ่งที่รองรับการสะท้อนภาพวิธีเขียนงานชาติพันธุ์และวิธีคิดเกี่ยวกับวัฒนธรรมไปพร้อมๆกัน   มีการทบทวนแนวคิดเรื่อง relativism ที่หยั่งรากลึกในการศึกษามานุษยวิทยามาตั้งแต่แรก แนวคิดนี้ใช้ทำความเข้าใจและให้คุณค่าทางวัฒนธรรมในมุมมองของเจ้าของวัฒนธรรมนั้น ซึ่งวิธีคิดแบบนี้อาจเป็นการหาความจริงเกี่ยวกับข้อจำกัดและความเป็นไปได้ของการสื่อสารระหว่างวัฒนธรรมต่างๆ

      การวิจารณ์งานเขียนชาติพันธุ์ในทศวรรษที่ 1980 ได้รับแรงบันดาลใจจากการพัฒนาแนวคิดทฤษฎี และการใช้แนวคิดแบบสหสาขาวิชาในการศึกษางานเขียน    ข้อวิจารณ์ต่างๆได้ชี้ให้เห็นปัญหาที่ผ่านมา และก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงวิธีการเขียนงานชาติพันธุ์ที่ต่างไปจากเดิมซึ่งถูกเขียนในยุคสมัยใหม่  งานเขียนทางชาติพันธุ์จึงเป็นเป้าหมายของการวิจารณ์   การเผชิญหน้าอำนาจการเมืองและเศรษฐกิจระดับโลก ทำให้งานเขียนชาติพันธุ์ซึ่งเป็นการปฏิบัติด้วยวิธีคิดแบบ relativism ท้าทายต่อความจริงในความคิดของตะวันตก ที่ลดทอดและมองข้ามความหลากหลายทางวัฒนธรรม เพื่อที่จะสร้างคุณค่าแบบสากล  

      นอกจากนั้น การเขียนงานชาติพันธุ์ยังเป็นเครื่องหมายการทำงานของนักมานุษยวิทยา     ตัวอย่างเช่น การอ่านและการสอนงานทางชาติพันธุ์เป็นงานที่สำคัญในการถ่ายทอดให้นักศึกษาเข้าใจว่านักมานุษยวิทยาทำอะไรบ้าง และเรียนรู้อะไรบ้าง  รวมทั้ง งานเขียนชาติพันธุ์ยังเป็นบันทึกส่วนตัวที่อธิบายการมีชีวิตในสถานที่ต่างๆ และประสบการณ์ที่เล่าถึงชีวิตที่แตกต่างออกไป ซึ่งนักมานุษยวิทยาถูกคาดหวังว่าจะต้องอธิบายในเชิงทฤษฎีและเป็นวิชาการ  ทั้งการเป็นบันทึกส่วนตัวและงานเขียนทางวิชาการมีอยู่ในตัวนักมานุษยวิทยา  สิ่งสำคัญคือ งานเขียนชาติพันธุ์เป็นกิจกรรมที่สร้างอาชีพและการยอมรับนับถือ  ทุนสำหรับการทำวิจัยถูกคาดหมายว่าจะทำให้นักมานุษยวิทยาหน้าใหม่ทดสอบการทำงานภาคสนามโดยการใช้ภาษาต่างถิ่น การเข้าไปเรียนรู้และใช้ชีวิตในวัฒนธรรมอื่นซึ่งนักมานุษยวิทยาต้องมีส่วนเกี่ยวข้อง

        การวิจารณ์ที่พุ่งไปที่งานวิจัยทางมานุษยวิทยาที่มีลักษณะเป็นการใช้ถ้อยคำเพื่ออธิบายสิ่งต่างๆ ได้สะท้อนให้เห็นบริบททางประวัติศาสตร์  วิธีการศึกษา แนวคิดทฤษฎี และการวิเคราะห์  ในอดีตประเด็นเหล่านี้ถูกพิจารณาแยกจากกัน  ช่วง 60 ปีที่ผ่านมา งานเขียนทางมานุษยวิทยามีลักษณะเป็นการอธิบายความจริงเกี่ยวกับสังคมวัฒนธรรม    เรื่องแต่งในคริสต์ศตวรรษที่ 19 เป็นการสร้างความจริงเกี่ยวกับโลก หรือรูปแบบชีวิต  เช่นเดียวกับงานเขียนชาติพันธุ์ที่ถูกสร้างขึ้นโดยการเล่าเรื่องชีวิตประจำวัน ศาสนา พิธีกรรม ระบบเครือญาติ ความสัมพันธ์ทางเพศ และระบบการแลกเปลี่ยน ซึ่งต่างแสดงองค์รวมของสังคมวัฒนธรรมนั้น  ผู้เขียนจะอธิบายรายละเอียดต่างๆ จากประสบการณ์และสร้างให้เป็นเรื่องราวของความจริงขึ้นมา

       สิ่งที่ทำให้นักเขียนมีอำนาจ ก็คือการเขียนความจริงที่ผู้เขียนอ้างว่าตนเองรู้ดีที่สุด ดังนั้นงานเขียนกับการทำงานภาคสนามจึงมีความสัมพันธ์กัน     การอธิบายวิถีชีวิตของคนอื่น ทำให้งานเขียนชาติพันธุ์พัฒนาความจริงขึ้นมาเป็นของตัวเอง และเกี่ยวโยงไปถึงเงื่อนไขทางประวัติศาสตร์ที่แวดล้อมอยู่  งานเขียนชาติพันธุ์จึงเป็นงานเขียนอีกชนิดหนึ่งที่มีลักษณะคล้ายบันทึกของนักเดินทางหรือนักท่องเที่ยว  เรื่องราวที่ถูกเขียนขึ้นมีลักษณะเป็นความโรแมนติกเกี่ยวกับผู้คน และสถานที่แปลกๆ   แต่งานเขียนชาติพันธุ์พยายามอ้างเหตุผลทางวิชาการเพื่อแยกตัวเองออกจากเรื่องเล่าของนักผจญภัย ดังนั้นเป้าหมายหลักของงานเขียนชาติพันธุ์จึงเป็นการทำให้เป็นวิทยาศาสตร์ที่อธิบายความหลากหลายทางวัฒนธรรม แต่เป็นการสวนทางกับกระบวนการทำให้โลกเป็นเหมือนตะวันตกในช่วงอาณานิคม

       นักชาติพันธุ์มักจะเขียนเรื่องเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม เพื่อที่จะทำให้เกิดการเปรียบเทียบกับการศึกษาในที่อื่นๆว่า วัฒนธรรมแต่ละแห่งมีความคล้ายหรือต่างกันอย่างไร  แนวคิดดังกล่าวนี้ทำให้เกิดการมองหาลักษณะร่วมกันบางประการของวัฒนธรรมต่างๆ ซึ่งเป็นการสนับสนุนให้ตะวันตกบรรลุเป้าหมายในการครอบงำทางสังคมและเศรษฐกิจ    ความคิดเพื่อการกอบกู้ดำรงอยู่ในฐานะเป็นเป้าหมายที่มีค่า เป็นสิ่งมีมีพลังในงานเขียนทางชาติพันธุ์  ปัญหาก็คือการสร้างคุณค่าแบบนี้ไม่อาจทำให้เกิดความเข้าใจโลกที่นักมานุษยวิทยาเข้าไปศึกษาได้    ปัจจุบันนี้  ไม่มีที่ใดที่มนุษย์จะถูกตัดขาดจากโลก และกระบวนการทำให้เป็นตะวันตกก็ง่ายเกิดไปที่จะอธิบายเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม และมิอาจเป็นประเด็นที่ทำให้นักมานุษยวิทยาเข้าไปศึกษาวัฒนธรรมอื่นเพียงเพื่อที่จะกอบกู้มันใหม่   

       อย่างไรก็ตาม หน้าที่ของงานเขียนชาติพันธุ์ยังไม่ล้าสมัย เพียงเพราะว่ามันมีข้อจำกัดในการอธิบาย ดั่งที่ถูกวิจารณ์โดยนักวิชาการในทศวรรษที่ 1980   วัฒนธรรมต่างๆของโลกต้องการการศึกษาใหม่ ในฐานะที่เจ้าของวัฒนธรรมนั้นคือผู้ที่เปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์   ปัจจุบันนี้เราอยู่ในยุคของโพสต์มอเดิร์น  พ้นยุคอาณานิคม และประเพณีนิยม แต่หน้าที่ของงานเขียนชาติพันธุ์ยังคงมีอยู๋ในฐานะเป็นการสร้างความคิดใหม่   การถกเถียงเกี่ยวกับประเด็นนี้อาจเป็นเรื่องสำคัญในปัจจุบันเพื่อเทียบกับงานเขียนในยุคที่ผ่านมา

       สิ่งสำคัญที่สุดในการวิจารณ์งานเขียนชาติพันธุ์ในอดีต คือการเปิดเผยให้เห็นความซับซ้อน และความเชื่อมโยงระหว่างนักมานุษยวิทยากับประเด็นที่นักมานุษยวิทยาศึกษา ซึ่งความรู้จะถูกสร้างขึ้นภายใต้ชื่อของนักวิชาการที่ผ่านการฝึกฝนมา  คำอธิบายแบบเก่าๆต้องการที่จะบดบังหรือกีดกันสิ่งที่เป็นอำนาจของผู้เขียน ที่เป็นคนเพียงคนเดียวที่สร้างคำอธิบายจากข้อมูลเกี่ยวกับคนและวัฒนธรรมต่างๆที่ได้มาจากภาคสนามให้ออกมาในรูปงานวิจัยทางชาติพันธุ์    เมื่อมีการรื้อทำลายความคิดนี้โดยข้อวิจารณ์งานเขียน ทำให้เกิดทางเลือกใหม่ๆในการเขียน และการทำงานวิจัยภาคสนาม

      ข้อวิจารณ์งานเขียนมานุษยวิทยาในทศวรรษที่ 1980  ทำให้เข้าใจว่างานของนักมานุษยวิทยาเป็นงานเขียนประเภทหนึ่งที่มีศาสตร์เฉพาะ เช่นเดียวกับปรัชญา ประวัติศาสตร์ กฎหมาย ภาษาศาสตร์ สถาปัตยกรรมศาสตร์ และวรรณกรรม  ซึ่งล้วนอยู่ในโลกตะวันตกที่พยายามสร้างความรู้ทางสังคมและวัฒนธรรมแบบสมัยใหม่  ทฤษฎีภาษาศาสตร์ ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมถูกสร้างขึ้นในฝรั่งเศสในช่วงทศวรรษที่ 1960 ซึ่งอยู่ในระหว่างการปรับเปลี่ยนแนวคิดทางภาษา ที่เริ่มหันมาสนใจภาษาในมิติสังคม  ทั้งนี้เพราะเกิดวิกฤตในการศึกษาทางวรรณกรรมซึ่งพยายามจะใช้ความรู้จากศาสตร์อื่นๆ มาอธิบาย เช่น ความรู้มานุษยวิทยาและประวัติศาสตร์   ตัวอย่างเช่น เรื่อง Metahistory ของเฮย์เดน ไวท์ เป็นการศึกษาที่พยายามทำความเข้าใจว่าการเขียนประวัติศาสตร์สมัยใหม่ คือการเขียนงานเชิงวรรณกรรม  อย่างไรก็ตาม การวิจารณ์งานเขียนในช่วงนี้ก็ยังไม่อาจสร้างแนวคิดทฤษฎีของตัวเองได้

      วิชาทางมนุษยศาสตร์ในมหาวิทยาลัยต่างๆในอเมริกา เริ่มมีแนวคิดใหม่ๆเกี่ยวกับการศึกษาแบบสหสาขาวิชา ซึ่งพยายามนำศาสตร์ต่างๆมารวมกันเพื่ออธิบายปรากฏการณ์ทางภาษาและวัฒนธรรมร่วมสมัย   ข้อถกเกียงต่างๆในช่วงทศวรรษที่ 1980 สอดคล้องกับแนวคิดโพสต์มอเดิร์น  ประเด็นที่ถกเถียงคือเรื่องการใช้ภาษาเขียนซึ่งพบเห็นมากในวิชามานุษยวิทยา และมีการตั้งคำถามเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ และการเขียนงานทางชาติพันธุ์   อย่างไรก็ตามข้อวิจารณ์ในวิชามานุษยวิทยาได้รับความสนใจอย่างแพร่หลายในหมู่นักคิดโพสต์มอเดิร์น เนื่องจาก เป็นข้อวิจารณ์ที่ส่งผลกระทบต่อวิชามานุษยวิทยามากกว่าศาสตร์อื่นๆ  ตัวอย่างเช่น การวิจารณ์งานเขียนเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจในช่วงทศวรรษที่ 1980  ซึ่งต่างๆไปจากการศึกษาของไวท์ในเรื่องเดียวกัน งานของไวท์ถูกลืมไปในแวดวงวิชาการ  

      การถกเถียงในแนวคิดโพสต์มอเดิร์น มีการถามว่าจะมีแนวคิดใด หรือวิธีการอธิบายอะไรที่จะทำให้เห็นความแตกต่างของวิถีชีวิต  ที่เป็นเรื่องเพศ ชนชั้น หรือวัฒนธรรม  เมื่อเกิดคำถามนี้ สิ่งที่เกิดตามมาคือการเปรียบเทียบวัฒนธรรมในเชิงสัญลักษณ์และบริบทประวัติศาสตร์  นอกจากนั้นยังทำให้เกิดการวิจารณ์เกี่ยวกับการแก้ไขงานเขียนทางชาติพันธุ์เพื่อให้มีความถูกต้องยิ่งขึ้น พร้อมทั้งทำให้มองเห็นความหลากหลาย และตัวตนของงานเขียนที่ถูกสร้างขึ้นมา

      การศึกษาแบบสหสาขาวิชาในสหรัฐ ให้ความสนใจเกี่ยวกับเรื่องสังคมและวัฒนธรรม  ทำให้วิชามานุษยวิทยากลายเป็นวิชาเพื่อสะท้อน และวิจารณ์ตัวเองของผู้เขียนงานชาติพันธุ์ที่ได้ข้อมูลมาจากภาคสนาม  สำนวนภาษาที่ถูกเขียนขึ้นมาเคยทำให้งานเขียนชาติพันธุ์ในอดีตสร้างความจริง แต่มันกำลังถูกแทนที่ด้วยงานเขียนที่บ่งบอกความรู้สึกถึงปัญหาของการตีความวัฒนธรรม เมื่อวงวิชาการเกิดสมมุติฐานใหม่เกี่ยวกับการศึกษาสังคม  การวิจารณ์งานเขียนในทศวรรษที่ 1980 ก่อให้เกิดการตระหนักทางวิชาการและวิจารณ์แนวทางการศึกษาทางมานุษยวิทยาที่เข้มข้น   ในทางกลับกัน การวิจารณ์นี้ยังนำไปสู่การสร้างนิยามและระเบียบแบบแผนที่สอดคล้องกับการศึกษาวัฒนธรรมแบบสหวิทยาการ  ซึ่งวิชามานุษยวิทยากำลังแสวงหาตัวตน  เพื่อศึกษาประเด็นและการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมร่วมสมัยได้อย่างกว้างขวาง


ผู้เขียน: ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ

เอกสารอ้างอิง:

George E.Marcus  David Levinson and Melvin Ember (eds.) 1996. Encyclopedia of Cultural Anthropology. Henry Holt and Company, New York. Pp.1384-1387.

James Clifford and George E. Marcus (eds.) 2010. Writing Culture: The Poetics and Politics of Ethnography. University of California Press

John Van Maanen. 2011. Tales of the Field: On Writing Ethnography. University Of Chicago Press

Olaf Zenker and Karsten Kumoll. (eds.) 2010. Beyond Writing Culture: Current Intersections of Epistemologies and Representational Practices. New York: Berghahn.

Orin Starn. (ed.) 2015. Writing Culture and the Life of Anthropology. Duke University Press.


หัวเรื่องอิสระ: วัฒนธรรมการเขียน