คำศัพท์

Transnationalism

      การข้ามพรมแดนรัฐชาติ หรือTransnationalism หมายถึง ปรากฎการณ์ทางสังคมที่คนกลุ่มต่างติดต่อเชื่อมโยงผ่านความสัมพันธ์ทางการเมือง เศรษฐกิจ วัฒนธรรม ซึ่งมิได้จำกัดอยู่ภายในดินแดนของรัฐชาติใด แต่ติดต่อเชื่อมโยงข้ามอาณาเขตของรัฐชาติสมัยใหม่ อาศัยเทคโนโลยีสื่อสารเข้ามาช่วยในการติดต่อสัมพันธ์ ทำให้การสื่อสารเป็นไปอย่างรวดเร็วมากขึ้น เทคโนโลยีในคริสต์ศตวรรษที่ 20 โดยเฉพาะการขนส่งและการสื่อสาร เช่นเครื่องบิน โทรศัพท์ คอมพิวเตอร์ และวีดิโอ ทำให้โลกติดต่อสัมพันธ์กันอย่างเข้มข้น โลกจึงเต็มไปด้วยการหลั่งไหลของผู้คน ภาพลักษณ์ และวัตถุ สิ่งเหล่านี้ส่งต่อข้ามพรมแดน และทำให้เกิดข้อถกเถียงใหม่เกี่ยวกับผลกระทบของสินค้า  สื่อ และความหลากหลายทางวัฒนธรรมของโลก ซึ่งมีการอพยพย้ายเข้า ย้ายออกของผู้คนภายในรัฐชาติ   ความสัมพันธ์แบบเชื่อมโยงร้อยรัดเข้าด้วยกันที่เกิดขึ้นกับโลก คือการหลั่งไหลทางวัฒนธรรมข้ามพรมแดน ซึ่งการศึกษาทางมานุษยวิทยาอาจเรียกว่า ลักษณะข้ามพรมแดนรัฐชาติ (transnationalism) 

          การศึกษาของ อัพพาดูไร อธิบายว่าการข้ามพรมแดนมี 5 ลักษณะ คือ

1 พรมแดนชาติพันธุ์ (ethnoscapes) เกิดการเคลื่อนไหวของผู้คน เช่น นักท่องเที่ยว คนอพยพ คนถูกเนรเทศ คนย้ายถิ่นอาศัย และคนทำงาน  คนอพยพและคนทำงานในที่นี้เกิดขึ้นมากในโลกที่สาม ซึ่งมีแรงงานจำนวนมากย้ายถิ่นไปทำงานในโลกที่หนึ่ง การอพยพแรงงานนี้ทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายของมวลชนจำนวนมาก  ประเทศอเมริกาและประเทศในยุโรปจะกลายเป็นตัวแบบให้กับโลกที่สาม
2 พรมแดนเทคโนโลยี (technoscapes)  เทคโนโลยีข้อมูลข่าวสารหลั่งไหลโดยบริษัทการค้าต่างๆ กิจการพาณิชย์เกิดขึ้นในหลายประเทศ เช่น บริษัทผลิตเหล็กในลิเบียอาจได้รับความสนใจจากอินเดีย รัสเซีย จีนหรือญี่ปุ่น
3 พรมแดนการเงิน (finanscapes) มีการหลั่งไหลของเงินตราจำนวนมากในตลาดการค้าการลงทุน  การเคลื่อนไหวของเงินตรากลายเป็นเรื่องยากที่จะกำหนดขอบเขต เพราะนายทุนต้องการผลกำไรมากโดยต้องติดต่อกับต่างประเทศ มิใช่ลงทุนในประเทศอย่างเดียว  สิ่งนี้ก่อให้เกิดความขัดแย้งชนิดใหม่  เช่น ชาวลอสแอนเจลีสไม่พอใจชาวญี่ปุ่นที่มาซื้อเมืองของพวกเขา หรือชาวบอมเบย์กังวลเกี่ยวกับเมืองที่เขาอาศัยว่าจะถูกชาวอาหรับจากเปอร์เซียยึดครอง
4 พรมแดนสื่อ (mediascapes)  ภาพลักษณ์ของความจริงถูกสร้างขึ้น และถูกเผยแพร่ออกไปมากมายโดยหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ และภาพยนตร์  พรมแดนสื่อทำให้เรื่องราวของผู้คนจากที่ต่างๆทั่วโลกเป็นที่รับรู้ในวงกว้าง และทำให้คนท้องถิ่นมีโอกาสเผยแพร่เรื่องราวของตัวเองได้อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน
5 พรมแดนความคิด (ideoscapes) รัฐชาติได้สร้างความคิดขึ้นมา ความคิดที่ถูกสร้างส่วนใหญ่เป็นเรื่องของความรุ่งเรือง ความเจริญก้าวหน้า อิสรภาพ ภราดรภาพ สิทธิเสรีภาพ ประชาธิปไตย และความเป็นเอกราช ความคิดเหล่านี้มีการต่อสู้แข่งขันกันในภูมิภาคยุโรป อเมริกา และส่วนต่างๆของโลก

          การศึกษาการเคลื่อนย้ายข้ามพรมแดนรัฐชาติในมิติวัฒนธรรมแบ่งออกเป็น 2 แนวทาง คือ แนวทางแรกอธิบายว่าโลกประกอบด้วยความสัมพันธ์ศูนย์กลาง และชายขอบ ซึ่งถูกครอบงำด้วยทุนนิยมตะวันตก แต่สิ่งที่ทำให้แตกต่างกันคือวัฒนธรรม  คำอธิบายแนวนี้อาจเรียกว่าเป็น แนวคิดแบบ จักรวรรดินิยมทางวัฒนธรรม(cultural imperialism)  หรือ การทำให้โลกรวมเป็นหนึ่งเดียว ซึ่งอธิบายว่าศูนย์กลางอำนาจครอบงำคนที่อยู่ชายขอบ  ผู้ที่มีอำนาจจะทำลายวัฒนธรรมชายขอบให้หมดไป และทำให้กลายเป็นวัฒนธรรมเดียวกัน       ซีส แฮมลิงค์ ศึกษาการทำลายวัฒนธรรมดนตรีของท้องถิ่นในประเทศโลกที่สามหลายแห่ง ดนตรีพื้นเมืองเหล่านี้ถูกทำลายโดยดนตรีป็อปอเมริกัน   

         แฮมลิงค์กล่าวว่า การพัฒนาทางวัฒนธรรมในประเทศศูนย์กลางเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นพร้อมกับการแผ่ขยายตัวไปยังประเทศชายขอบ  และทำให้วัฒนธรรมของชุชนชายขอบถูกทำลายไป  หรือถูกทำให้เปลี่ยนแปลงไป   คำอธิบายตามแนวทางนี้ต้องการบอกว่าโลกสมัยใหม่ทำให้ทุกอย่างดูคล้ายกัน และตอกย้ำว่าศูนย์กลางมีอำนาจที่จะครอบงำชายขอบ ซึ่งคำอธิบายนี้มองข้ามพลังของชายขอบที่อาจมีอยู่ และมองข้ามความสัมพันธ์ข้ามพรมแดนระหว่างรัฐประเทศ และท้องถิ่น

          แนวทางที่สอง อธิบายว่า ถึงแม้ว่าจะมีความแตกต่างระหว่างศูนย์กลางกับชายขอบ แต่วัฒนธรรมก็เป็นสิ่งที่ลื่นไหลไปมาข้ามพรมแดนรัฐชาติ  วัฒนธรรมมิได้ถูกแทนที่ หรือถูกทำให้หายไป แต่มันจะแทรกตัวเข้าไปอยู่ในความหมายอื่นๆ      อูลฟ์ แฮนเนอร์ซ กล่าวว่า การหลั่งไหลของวัฒนธรรมข้ามชาติต้องมีเทคโนโลยีใหม่ และสัญลักษณ์ใหม่ให้กับชุมชนชายขอบคอยรองรับ เช่น ดนตรีหรือวรรณกรรม อาจถูกนำกลับมาใช้ใหม่ผสมเข้ากับวัตถุดิบพื้นเมือง และกลายเป็นของใหม่ที่แตกต่างหลากหลาย   เช่น นักเขียนชาวไนจีเรีย โวล โซยินก้า ได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมในปี ค.ศ.1986  งานเขียนของเขาเป็นการผสมผสานระหว่างความคิดคนเมืองกับจินตนาการเกี่ยวกับตำนานของคนไนจีเรียท้องถิ่น

          อาจกล่าวได้ว่า  คำอธิบายแนวนี้ทำให้เห็นสิ่งที่เป็นวัฒนธรรมเนื้อแท้ดั้งเดิม เช่นเดียวกับคำอธิบายแบบจักรวรรดินิยมวัฒนธรรม นอกจากนั้น คำอธิบายทั้งสองแนวอาจถูกต้อง ถ้าโลกหมายถึงการผสมผสานให้เป็นหนึ่งเดียว และการทำให้เกิดความแตกต่างหลากหลาย

          นักมานุษยวิทยา และนักวิชาการสาขาอื่นๆ สนใจประเด็นเกี่ยวกับความเป็นชาติในยุคสมัยที่โลกกำลังติดต่อสัมพันธ์กัน  คำถามคือ ในปรากฏการณ์ดังกล่าว ซึ่งมนุษย์มีการเคลื่อนย้ายถิ่นข้ามพรมแดนรัฐชาติ โดยอาศัยการเป็นผู้อพยพจะทำให้ความเป็นชาติดำรงอยู่ต่อไปได้หรือไม่  หรือปรากฏการณ์นี้จะทำให้เกิดนโยบายใหม่ในเรื่องพรมแดนประเทศหรือไม่   คำตอบอาจเป็นเรื่องยาก แต่อาจเข้าใจได้ว่าผู้อพยพจากโลกที่สามจำนวนมากซึ่งเดินทางไปตะวันตก หลังสงครามโลกครั้งที่สองโดยเฉพาะอเมริกา อังกฤษ และฝรั่งเศส ผู้อพยพเหล่านั้นทำให้ความหมายของชุมชนรัฐชาติเปลี่ยนแปลงไป

          ช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18  รัฐชาติได้ปรากฏขึ้น และกลายเป็นหน่วยรองรับสังคมทั้งหมดให้อยู่ในพื้นที่เดียวกัน  ความหมายของคำว่า “ชาตินิยม” จึงเกิดขึ้นมาพร้อมกับการมีสำนึกใหม่ของการเป็นประเทศ ซึ่งวัฒนธรรมต่างๆจะถูกทำให้อยู่ร่วมกันในฐานะเป็นหน่วยพื้นฐานทางการเมือง    ในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 20 ความเป็นหนึ่งเดียวของรัฐชาติถูกตั้งคำถามมากขึ้น แต่มันก็ยังใช้ตอกย้ำอย่างรุนแรง  ผู้อพยพจำนวนมากจากโลกที่สามเดินทางไปตะวันตกถูกกระทำอย่างเข้มงวด บางครั้งมีการพูดถึงความรุนแรงในโรงเรียน ที่ทำงาน ศาล และพื้นที่สาธารณะ   มีการโต้แย้งระหว่างผู้ที่ยึดถือชาตินิยมกับผู้ที่ไม่เห็นด้วย  และกลายเป็นสิ่งที่อยู่ตรงข้ามระหว่างชาตินิยมกับความแตกต่างหลาหลายในชาติ  มีการแนะนำให้ศึกษาสังคมในมิติของความหลากหลายทางวัฒนธรรม ความเชื่อและวิธีปฏิบัติที่แตกต่างกันของคนกลุ่มต่างๆ

          สจ๊วต ฮอลล์ โต้แย้งว่าประเทศตะวันตกล้วนเต็มไปด้วยความแตกต่างซึ่งยากเกินกว่าจะเยียวยา  ตะวันตกประกอบด้วยวัฒนธรรมหลายๆแบบ ซึ่งเป็นสิ่งที่ท้าทายความสามารถในการใช้ชีวิตอยู่กับความหลากหลายในปัจจุบัน ผู้คนในประเทศต้องจินตนาการว่าตัวเองอยู่กับคนที่ต่างไปจากเราให้ได้   แนวคิดอีกด้านหนึ่ง เช่นความคิดของอาร์เธอร์ เอ็ม ชเรซิงเกอร์ เชื่อว่ามนุษย์ที่อยู่ในสังคมที่มีความแตกต่างทางวัฒนธรรม เช่นอเมริกา  จะสร้างความร้าวฉานและทำให้ตัวเองอยู่ในกลุ่มเฉพาะ หนทางที่จะทำให้อเมริกาห่างไกลจากความแตกแยกก็คือการทำให้ประเทศหลวมรวมเป็นหนึ่งเดียว โดยทำให้ประชาชนซึมซับวัฒนธรรมเดียวกัน   สิ่งที่เกิดขึ้นกับการหลั่งไหลของผู้คนข้ามพรมแดนรัฐชาติ ก็คือการสร้าง และปรับปรุงแก้ไขวัฒนธรรมประจำชาติ ซึ่งมีความตึงเครียดเกิดขึ้นกับนโยบายการเมืองของชาติเอง


ผู้เขียน: ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ

เอกสารอ้างอิง:

Appadurai, Arjun. 1997. Modernity at Large: Cultural Dimensions of Globalization, Delhi, India, Oxford University Press

Bachmann-Medick, Doris, (ed.) 2014. The Trans/National Study of Culture: A Translational Perspective, Berlin, Boston: de Gruyter.

Barkan, Elliott Robert, (ed.) 2003. Immigration, Incorporation and Transnationalism, Somerset, New Jersey, USA, Transaction Publishers.

Dolby, Nadine and Cornbleth, Catherine. 2001 "Social identities in transnational times." Discourse: Studies in the Cultural Politics of Education, Vol. 22 Issue 3, p293-296.

Javier Inda. ใน  David Levinson and Melvin Ember (eds.) 1996. Encyclopedia of Cultural Anthropology. Henry Holt and Company, New York. Pp. 1327-1329.

Ong, Aihwa. 1999. Flexible Citizenship: The Cultural Logic of Transnationality. Duke University Press: Durham.


หัวเรื่องอิสระ: การข้ามพรมแดนรัฐชาติ