คำศัพท์

Slavery

         นักมานุษยวิทยาได้พยายามศึกษาวิวัฒนาการของการเป็นทาส และดูความสัมพันธ์ของการเป็นทาสกับบริบททางวัฒนธรรม  ถึงแม้ว่าทฤษฎีที่นักมานุษยวิทยาใช้ในระยะแรกๆจะอธิบายความเป็นทาสว่าเป็นสถาบันของแรงงาน แต่นักมานุษยวิทยาก็ได้ชี้ให้เห็นความแตกต่างทางวัฒนธรรมของการเป็นทาสในลักษณะต่างๆ  นักมานุษยวิทยาสนใจประเด็น 2 อย่าง ได้แก่รูปแบบทาสในครัวเรือนที่เหมือนญาติพี่น้อง กับทาสที่ถูกครอบครองเป็นสมบัติ  นักมานุษยวิทยาอธิบายว่าความเป็นทาสนั้นมีอยู่ทุกๆแห่งและทุกยุคทุกสมัย   การศึกษาทาสเริ่มใช้วิธีการเก็บข้อมูลในภาคสนาม แทนการอ่านงานทางประวัติศาสตร์  และทำให้นักมานุษยวิทยาสนใจทาสในสังคมประเพณีของชนเผ่าต่างๆภายใต้ลัทธิอาณานิคมซึ่งมีการกดขี่ข่มเหงผู้เป็นทาส    ประเด็นดังกล่าวนี้ทำให้นักมานุษยวิทยาอธิบายความเป็นทาสของชนพื้นเมืองเป็นเรื่องที่อยู่นอกสถาบันแรงงาน 

          ในช่วงทศวรรษที่ 1960 นักประวัติศาสตร์ศึกษากระบวนการเคลื่อนไหวเรียกร้องเสรีภาพของทาสในแอฟริกา และการต่อสู้เรียกร้องสิทธิของประชาชนในสหรัฐอเมริกา  การศึกษาทาสในดินแดนโลกใหม่ก่อให้เกิดการสนใจการค้าทาสชาวแอฟริกัน  นักประวัติศาสตร์จึงหันไปศึกษาการค้าทาสชาวแอฟริกัน โดยอาศัยมุมมองทางวัฒนธรรม และการบอกเล่า  และนักมานุษยวิทยาก็เข้าไปมีส่วนร่วมในการศึกษาดังกล่าวด้วย  ในเวลาเดียวกัน นักมานุษยวิทยาก็เริ่มตระหนักว่าวิธีการศึกษาของตนละเลยบริบททางประวัติศาสตร์อย่างไร  ฉะนั้นการศึกษาความเป็นทาสของชาวแอฟริกันจึงเป็นจุดเริ่มต้นของการผสมผสานระหว่างความรู้ทางมานุษยวิทยากับประวัติศาสตร์ และทำให้นักมานุษยวิทยานำวิธีการนี้ไปศึกษาเปรียบเทียบลักษณะทาสในพื้นที่อื่นๆ 

          งานวรรณกรรมเกี่ยวกับทาสมักถูกเขียนขึ้นโดยเน้นมิติประวัติศาสตร์และเศรษฐกิจ มิใช่สิ่งที่นักมานุษยวิทยาเขียน  การศึกษาทางมานุษยวิทยาเกี่ยวกับทาสมีน้อยมากเมื่อเทียบกับการศึกษาเชิงประวัติศาสตร์ และการศึกษาส่วนใหญ่ก็สนใจพื้นที่แอฟริกาเป็นสำคัญ   จากการศึกษาเปรียบเทียบทางวัฒนธรรม เป็นการศึกษาข้อมูลที่นอกเหนือขอบเขตของมานุษยวิทยา  ซึ่งทำให้ประเด็นการศึกษามิใช่เรื่องของชุมชนขนาดเล็ก และมิใช่เรื่องระบบทาสที่มีอยู่ในโลกใหม่เท่านั้น  ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ให้รายละเอียดเกี่ยวกับทาสจากแหล่งต่างๆ และช่วงเวลาต่างๆ เช่นในยุคโบราณในเขตตะวันออกกลาง ในวัฒนธรรมเมดิเตอร์เรเนียน ในยุคจักรวรรดิเยอรมัน สแกนดิเนเวีย ไอร์แลนด์ ในยุคกลางของยุโรป และรัสเซียก่อนการปฏิวัติ ในวัฒนธรรมอิสลาม อินเดีย จีน แอฟริกา และวัฒนธรรมพื้นเมืองของอเมริกา 

          การใช้ทาสก็มีลักษณะแตกต่างกันไปในแต่ละสังคม ในสังคมที่ขาดแคลนแรงงานผู้ชาย ทาสต้องทำหน้าที่เป็นทหาร เป็นผู้อารักขาผู้นำชนชั้นปกครอง เป็นผู้รับใช้กษัตริย์ ขุนนาง และข้าราชการ  บางครั้งทาสอาจทำหน้าที่เป็นนางบำเรอหรือภรรยา และเป็นทรัพย์สินภายในครอบครัว  ฉะนั้น ทฤษฎีที่อธิบายว่าทาสคือผู้ทำหน้าที่ทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียวจึงเป็นความเข้าใจที่แคบเกินไป

          ตัวอย่าง เช่นการศึกษาของเฮอร์แมน เจ นีเบอร์ ในปี ค.ศ.1910  นีเบอร์อธิบายว่าเมื่อทรัพยากรมีอย่างอุดมสมบูรณ์ มนุษย์ก็จะดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยตนเอง โดยไม่ต้องเป็นแรงงานให้ใคร  แต่ในกรณีที่จำเป็นต้องการแรงงานเพื่อช่วยทำงาน การมีทาสก็อาจเกิดขึ้นได้  แต่การอธิบายของนีเบอร์ก็ยังมีปัญหาเนื่องจากเหตุผลของการมีทาสอาจเกิดจากปัจจัยทางสังคม พอๆกับปัจจัยทางการเมืองและเศรษฐกิจ  การมีทาสมิได้ยืนยันว่าทรัพยากรจะไม่ขาดแคลน หรือจะได้รับการคุ้มครอง  ทรัพยากรยังคงผันแปรไปตามลักษณะทางสังคมและการเมือง และการคุ้มครองก็อาจมีสถาบันทางการเมืองที่คอยควบคุมอยู่

          ความหลากหลายของการใช้ทาสบ่งชี้ให้รู้ว่าทาสมิได้เป็นสิ่งที่ถาวร และสถาบันทาสก็มิใช่ภาพสะท้อนของสังคมที่แบ่งช่วงชั้น  หากแต่ทาสถูกจัดให้อยู่ระดับล่างสุดของสังคม ทาสจึงเป็นส่วนหนึ่งในระบบช่วงชั้นสูงต่ำ  ถ้าสังคมเปิดช่องว่าง ทาสก็จะปรับฐานะของตนใหม่ หรือต่อสู้กับคู่แข่งคนอื่นๆ  ทาสไม่จำเป็นต้องมีกลุ่ม หรือไม่ต้องมีสำนึกร่วมกันซึ่งทฤษฎีทาสบางทฤษฎีพยายามจะอธิบายในทำนองนั้น

          อีกประเด็นหนึ่งคือ การเพิ่มจำนวนของประชากรทาส ยังขึ้นอยู่กับสถานภาพของทาสคนนั้น สถานภาพจะกำหนดว่าบุคคลจะเป็นทาสหรือไม่  ลูกหลานของทาสอาจต้องเป็นทาสต่อไป แต่บางคนอาจสิ้นสุดการเป็นทาสในรุ่นลูกหลาน  ในสังคมเครือญาติ การมีทาสรับใช้เป็นเรื่องชั่วคราว ไม่ถาวร  แต่ในสังคมที่ซับซ้อน มักจะมีกฎระเบียบที่เคร่งครัด  เช่น ในสังคมอิสลาม ลูกหลานของผู้ที่เป็นทาสอาจได้รับอิสรภาพถ้าเกิดมานับถือศาสนาอิสลาม   สังคมที่ต้องพึ่งพาทาส และมีการใช้แรงงานทาสอย่างหนัก ทาสต้องมีอยู่ถาวร  จำนวนของทาสอาจเปลี่ยนแปลงเมื่อมีการนำแรงงานทาสมาจากที่อื่น  สิ่งนี้ทำให้เกิดการค้าทาสอย่างเป็นล่ำเป็นสัน และยังทำให้เกิดการต่อสู้เพื่อจับคนมาเป็นทาสอยู่เนืองๆ

          การนิยามความเป็นทาสเป็นเรื่องยาก ไม่ว่าจะเป็นตัวบุคคล หรือวิธีการใช้แรงงาน  ชาวตะวันตกส่วนใหญ่คิดว่าทาสคือมนุษย์ที่ถูกซื้อขาย  อย่างไรก็ตามการซื้อขายเป็นเพียงส่วนเดียวของกระบวนการ เมื่อบุคคลสูญเสียสถานภาพทางสังคมโดยถูกจับเป็นเชลย ถูกลักพาตัว ถูกลงโทษในข้อหาอาชญากรรม ถูกขายเป็นสินค้าในยามที่ข้าวยากหมากแพง เหตุการณ์เหล่านี้ทำให้บุคคลสูญเสียความเป็นตัวตนทางสังคม บุคคลจะถูกกำจัดออกจากสังคม และกลายเป็นวัตถุสิ่งของ หรือเป็นสินค้า  บุคคลจะไร้ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และกลายเป็นคนนอกสังคม บุคคลประเภทนี้อาจถูกฆ่า หรือถูกขายเป็นสินค้าหากำไร หาประโยชน์

          การจับเป็นเชลย การขาย และการแสวงหาคนมาเป็นทาส เป็นการกระทำที่เห็นกันบ่อยๆ แต่สิ่งเหล่านี้ยังไม่มีการศึกษาเชิงวัฒนธรรม และยังไม่มีทฤษฎีใดมาอธิบาย  ถ้าการจับตัวเป็นเชลยและการค้าทาส คือความหมายของการเป็นทาส ฉะนั้นการเป็นทาสก็เป็นเรื่องปกติ  ประเด็นเกี่ยวกับการแสวงหาคนมาเป็นทาส กับการใช้ทาสเพื่อเป็นแรงงานเป็นคนละประเด็น และเป็นเรื่องที่ซับซ้อน  ระบบทาสที่หลากหลายมิใช่อยู่ที่วิธีการใช้แรงงานทาส แต่การใช้แรงงานขึ้นอยู่กับปัจจัยทางวัฒนธรรม สังคม และการเมือง

          ตัวอย่างเช่น  ระบบทาสในยุคแรกๆที่นักมานุษยวิทยาพยายามศึกษาจะมีอยู่ในสังคมล่าสัตว์ และสังคมเพาะปลูก สังคมประเภทนี้ไม่จำเป็นต้องใช้ทาสในการทำงานที่ซับซ้อน หรือต้องควบคุมอย่างเข้มงวด  แต่ทาสทำงานเหมือนคนในครัวเรือน   ในสังคมที่ซับซ้อน ระบบสังคม การเมือง และเศรษฐกิจอาจมีความสำคัญและให้ประโยชน์กับบุคคล ซึ่งต้องมีทาสที่เป็นแรงงานคอยรับใช้  การใช้มนุษย์เป็นทาสจำเป็นต้องมีการจัดระเบียบสังคม และมีความพยายามที่จะปฏิบัติต่อมนุษย์ซึ่งถูกสังคมกดขี่ข่มเหง  ทาสที่ถูกนำมาจากดินแดนอื่นต้องมีฐานะใหม่ในสังคมของนายทาส สิ่งนี้คล้ายกับเป็นพิธีเปลี่ยนสถานภาพ

          ธรรมชาติของการเป็นคนนอกที่สังคมไม่ยอมรับ ยังสัมพันธ์กับโครงสร้างทางสังคม  ในสังคมขนาดเล็ก หน่วยสังคมพื้นฐานคือกลุ่มญาติ  การเป็นคนนอกอาจเกิดขึ้นช้าๆภายในกลุ่มญาติ  ทาสในสังคมแบบนี้อาจมาจากนอกชุมชนเพื่อมาเป็นคนรับใช้ เป็นสมบัติเพื่อการครอบครอง หรือเป็นสมาชิกในครอบครัว  ลักษณะทางสังคมและเศรษฐกิจอาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้คนที่เป็นญาติ กับกลุ่มคนที่เป็นทาสมีความแตกต่างกัน  กล่าวคือผู้ที่เป็นทาสอาจเป็นผู้นำกลุ่ม หรือเป็นหัวหน้าชุมชน ในกรณีนี้ทาสที่มีอิสระไม่จำเป็นต้องรอให้สังคมเปิดโอกาสในการเลื่อนฐานะตนเอง หากแต่เขาสามารถทำสิ่งต่างๆได้เสรี

          ตัวอย่างเช่น สังคมทาสโรมัน และในโลกใหม่ ทาสมีฐานะดีและสามารถพึ่งพาตัวเองได้ ไม่ต้องขอความช่วยเหลือจากผู้เป็นนาย ไม่ต้องดิ้นรนเพื่อหาอิสรภาพให้ตนเอง  ทาสที่มีอิสระแตกต่างจากทาสประเภทอื่นๆที่ถูกสังคมกดขี่ข่มเหง  ในกรุงโรม ทาสที่ถูกกดขี่อาจพบอิสรภาพได้เมื่อเขาสามารถพึ่งพาอาศัยเจ้านาย ลูกหลานที่เกิดมาก็จะมีอิสรภาพด้วย  ส่วนทาสในภาคใต้ของอเมริกา เป็นทาสที่เป็นเชื้อชาติเดียวกัน  กระบวนการเป็นอิสระของทาสจะเป็นการเรียกร้องจากทาสรุ่นหลังซึ่งมองดูบรรพบุรุษของตนเองถูกกดขี่ข่มเหงจากสังคม


ผู้เขียน: ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ

เอกสารอ้างอิง:

Igor Kopytoff ใน David Levinson and Melvin Ember. (ed.) 1996. Encyclopedia of Cultural Anthropology. Henry Holt and Company. New York. Pp.1190-1193.

Jesse Sage and Liora Kasten, 2008. Enslaved: True Stories of Modern Day Slavery, Palgrave Macmillan

Kevin Bales (ed.), 2005. Understanding Global Slavery Today. A Reader, University of California Press

Tom Brass, 1999. Towards a Comparative Political Economy of Unfree Labour: Case Studies and Debates, London and Portland, OR: Frank Cass Publishers

Thomas Sowell, 2005. The Real History of Slavery, in: Black Rednecks and White Liberals, San Francisco: Encounter Books


หัวเรื่องอิสระ: การเป็นทาส