คำศัพท์

Psychic Unity

        Psychic Unity หมายถึงสภาพหรือความสามารถที่มนุษย์มีร่วมกัน ไม่ว่ามนุษย์จะเกิดในวัฒนธรรมใดก็ตาม  ประเด็นนี้คือประเด็นที่ถกเถียงกันในทางมานุษยวิทยา เช่นเดียวกับข้อถกเถียงทางปรัชญา   แนวคิดเรื่อง Psychic Unity หรือ  สภาวะจิตร่วมกัน มีหลายลักษณะ บางครั้งอาจเป็นเรื่องบุคลิกภาพของมนุษย์  หรือเป็นหลักการอธิบายของมนุษย์ในวัฒนธรรมต่างๆ  หรือเป็นแบบแผนวิวัฒนาการเดียวกันของมนุษย์

          แนวคิดเรื่องสภาวะจิตร่วมเกิดขึ้นในวิชาปรัชญา  สโตอิค(Stoic) กล่าวถึงเรื่อง consensus gentium หรือความคิดเกี่ยวกับชาติ  เป้าหมาทางจริยธรรมของสโตอิค คือการเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันระหว่างพระเจ้ากับธรรมชาติ  ธรรมชาติจึงเป็นเรื่องสากล  ธรรมชาติของมนุษย์แสดงออกโดยพฤติกรรมและความคิดซึ่งมีหนึ่งเดียว และเป็นของตายตัวต่างจากขนบธรรมเนียมประเพณีของท้องถิ่นซึ่งหลากหลายในแต่ละที่

          นักปรัชญาในสมัย Enlightenment ได้รับอิทธิพลความคิดมาจากสโตอิค และอธิบายในทำนองเดียวกัน  นักปรัชญาพยายามค้นหาปูมที่มาของศาสนา การเมือง และจริยธรรมซึ่งมีอยู่เป็นสากลของมนุษย์  นักปรัชญาสมัย Enlightenment เชื่อว่ามนุษย์มีธรรมชาติเดียวกัน    โวลแตร์อธิบายว่าสิ่งที่เรียกว่าธรรมชาติของมนุษย์ คือสิ่งที่เป็นอิสระจากขนบธรรมเนียมที่หลากหลาย และเป็นเหมือนกลของจักรวาล  ความแตกต่างในขนบธรรมเนียมเกิดจากการเรียนรู้ทางวัฒนธรรม มิได้มาจากสายเลือด   นักปรัชญาชาวอังกฤษ เบอร์นาร์ด เดอ แมนเดวิลล์กล่าวว่า จิตใจของคนป่าไม่แตกต่างจากจิตใจของมนุษย์ที่มีอารยะ  แนวคิดนี้ได้รับการสืบทอดมาและกลายเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์  สก๊อต วิลเลียม โรเบิร์ตสัน ยืนยันอย่างหนักแน่นว่ามนุษย์มีสภาวะจิตร่วมกัน  โดยอธิบายว่าจิตใจของมนุษย์มีธรรมชาติเดียวกัน  ไม่ว่ามนุษย์จะเป็นใคร หรืออยู่ที่ไหน ต่างก็มีความรู้สึกเดียวกันต่อผลกระทบในสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้น

          ในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19  มีการเก็บรวบรวมข้อมูลทางด้านชาติพันธุ์ ข้อมูลก่อนประวัติศาสตร์ มานุษยวิทยากายภาพ และภาษาศาสตร์ เพื่อนำไปใช้อธิบายความหลากหลายและพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของกลุ่มคนและขนบธรรมเนียม  ในประเทศอังกฤษ มีการสร้างทฤษฎีเกี่ยวกับสภาวะจิตร่วมโดยใช้แนวคิดการแพร่กระจายมาเป็นตัวอธิบาย   การศึกษาของเจมส์ พริชาร์ดชี้ให้เห็นว่าต้นกำเนิดของสภาวะจิตร่วมของมนุษย์ สามารถสังเกตได้จากการแพร่กระจายทางวัฒนธรรม และการอพยพของมนุษย์ซึ่งมีบรรพบุรุษร่วมกัน ความคิดนี้สอดคล้องกับพระคัมภีร์ไบเบิล

          อย่างไรก็ตาม ในช่วงทศวรรษที่ 1870 การศึกษาทางชาติพันธุ์วิทยามีข้อสมมุติฐานจากทฤษฎีวิวัฒนาการ   นักมานุษยวิทยาสมัยต่อมาไม่สนใจต่อปัญหาต้นกำเนิด แต่สนใจกระบวนการพัฒนาการ การและแสดงออก    เอ็ดเวิร์ด ไทเลอร์กล่าวว่าแบบแผนเดียวกันของขั้นตอนพัฒนาการในศิลปะและวิทยาศาสตร์เกิดขึ้นในคนกลุ่มต่างๆ    แนวคิดเกี่ยวกับสภาวะจิตร่วมมิได้เป็นข้อพิสูจน์ตามทฤษฎี แต่เป็นการตั้งสมมุติฐานที่ใช้ในการศึกษา  ถ้าไม่มีข้อสมมุติฐานเรื่องนี้  วิธีการศึกษาเปรียบเทียบของนักคิดแนววิวัฒนาการก็ไม่มีความหมาย   ถ้าเราเชื่อว่าสภาวะจิตร่วมของมนุษย์ก่อให้เกิดแบบแผนวิวัฒนาการทางวัฒนธรรม ดังนั้นข้อมูลที่ได้จากวัฒนธรรมต่างๆ คือตัวอย่างที่ชี้ว่าพัฒนาการทางสังคมของมนุษย์มีไม่เท่ากัน

          การศึกษาชาติพันธุ์วิทยาสกุลเยอรมัน  อดอล์ฟ บาสเตียน(Adolf Bastain) สำรวจปัญหาเกี่ยวกับสภาวะจิตร่วมโดยใช้แนวคิดปรัชญา Idealism เช่นเดียวกับการอธิบายความแตกต่างระหว่าง ระบบความคิดแบบพื้นบ้าน กับความคิดพื้นฐาน   บาสเตียนเชื่อว่ากฎเกณฑ์เบื้องต้นทางจิตของมนุษย์ ถูกแสดงออกโดยความคิดพื้นบ้านหลายแบบ เช่น ความคิดเกี่ยวกับเพทเจ้ามีหลายลักษณะ พบได้ทั้งยุคกรีกโบราณ ในโพลิเนเซีย และเอเชียใต้

          คำสนับสนุนของนักคิดแนววิวัฒนาการในเรื่องสภาวะจิตร่วมดำรงอยู่ร่วมกับแนวคิดที่เชื่อในความไม่เท่าเทียมทางวัฒนธรรมระหว่างสังคมชนเผ่ากับสังคมอารยะ  ความไม่เท่ากันนี้ถูกตอกย้ำด้วยความต่างของเผ่าพันธุ์   ทฤษฎีมานุษยวิทยาในคริสต์ศตวรรษที่ 20  พยายามทบทวนแนวคิดจากข้อสมมุติฐานเดิมของทฤษฎีวิวัฒนาการ ซึ่งย้ำในเรื่องความไม่เท่าเทียมของเผ่าพันธุ์และการมีสภาวะจิตร่วมกันของมนุษย์  การศึกษามานุษยวิทยาอเมริกันของฟรานซ์ โบแอส และอัลเฟรด โครเบอร์ ปฏิเสธคำอธิบายวัฒนธรรมในเชิงชีววิทยา และย้ำว่าต้องมีการศึกษารายละเอียดของวัฒนธรรมต่างๆ   แนวทฤษฎีหน้าที่นยมสกุลอังกฤษ โบรนิสโลว์ มาลีนอฟสกี้ อธิบายว่าสภาวะจิตร่วมของมนุษย์ดูได้จากระบบเหตุผลที่ซ่อนอยู่ในพิธีกรรมและความเชื่อในสังคมชนเผ่า  แนวทฤษฎีโครงสร้างนิยมสกุลฝรั่งเศส ได้แก่การศึกษาของเลวี่เสตราส์ อธิบายว่าโครงสร้างสังคมและตำนานที่ต่างกันในวัฒนธรรมต่างๆ มีระเบียบแบบแผนเดียวกัน ที่เกิดจากจิตใจของมนุษย์ไม่ว่าจะอยู่ในสังคมใดก็ตาม

          ถึงแม้ว่าจะมีแนวคิดเหล่านี้ แต่ปัญหาของสภาวะจิตร่วมก็ยังคงมีอยู่ในการศึกษาทางมานุษยวิทยาในปัจจุบัน  การศึกษาทางมานุษยวิทยาที่ถูกต้องจำเป็นต้องอธิบายความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่มีอยู่ในมนุษย์ ขณะเดียวกันก็ต้องหลีกเลี่ยงการไม่เน้นความแตกต่างมากจนลืมลักษณะร่วมบางอย่าง  หรืออธิบายความเป็นสากลของวัฒนธรรมโดยอ้างเหตุผลเชิงชีววิทยาเพียงอย่างเดียว


ผู้เขียน: ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ

เอกสารอ้างอิง:

Caldararo, Niccolo Leo, 2011. The Psychic Unity of Mankind: The Origins of Anthropology, the Anti-Slavery Movement, Cultural Relativism and Man's 'Unique' Nature (June 6, 2011).

Koepping, Klaus-Peter (1983) Adolf Bastian and the Psychic Unity of Mankind: The Foundations of Anthropology in Nineteenth Century Germany. St. Lucia: University of Queensland Press.

Robert H.Winthrop. 1991. Dictionary of Concepts in Cultural Anthropology. Greenwood Press, New York.pp.222-224.


หัวเรื่องอิสระ: ความสามารถที่มนุษย์มีร่วมกัน