คำศัพท์

Anthropology of Science

        วิทยาศาสตร์ในมุมมองทางมานุษยวิทยา คือชุดของความรู้อย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นในสังคมตะวันตกในยุคสมัยใหม่ และมีอิทธิพลต่อการอธิบายความจริงต่างๆของสังคมและชีวิตมนุษย์ นักมานุษยวิทยาที่วิพากษ์ความรู้วิทยาศาสตร์ ตั้งคำถามเกี่ยวกับญาณวิทยาและกระบวนทัศน์ที่นักวิทยาศาสตร์ใช้สร้างทฤษฎีเกี่ยวกับมนุษย์และสังคม ซึ่งครอบงำแวดวงวิชาการ แม้แต่มานุษยวิทยาในระยะแรกๆ ก็นำเอากระบวนทัศน์แบบวิทยาศาสตร์มาใช้ศึกษาวัฒนธรรมของมนุษย์ด้วย  มอนโตย่า(2011) วิจารณ์ว่าวิทยาศาสตร์ก็เปรียบเสมือนรูปแบบทางวัฒนธรรมอย่างหนึ่งที่พยายามสร้างและผลิตความรู้ให้เป็นระบบและมีมาตรฐานสากล แต่ความรู้วิทยาศาสตร์ให้ประโยชน์แก่คนบางกลุ่ม และทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางสังคมในหลายๆกรณี

          ความรู้วิทยาศาสตร์ เป็นความรู้ในเชิงการเมืองที่มีเป้าหมายเพื่อรับใช้อำนาจและผู้มีอำนาจ ในทางสังคมศาสตร์ ที่พยายามนำทฤษฎีวิทยาศาสตร์มาใช้สร้างความรู้ของตนก็เป็นปฏิบัติการเชิงการเมืองแบบหนึ่ง เช่น การทำให้ความรู้มานุษยวิทยาเป็นสิ่งสากลเพื่ออธิบายทฤษฎีทางวัฒนธรรม

       ในอดีต มาลีนอฟสกี้เคยกล่าวว่าไม่ว่าจะเป็นคนสมัยใหม่หรือชนเผ่าต่างมีการผสมผสานวิธีคิดแบบวิทยาศาสตร์และไสยศาสตร์เข้าด้วยกัน   อีแวนส์-พริทเชิร์ด ตั้งข้อสังเกตที่ทำให้นักปรัชญางุนงง เพราะมีวิธีคิดต่างไปจากตะวันตก  พริทเชิร์ดอธิบายว่าไสยศาสตร์ในสังคมอซันเดมีเหตุผลของตัวเอง ไม่ใช่เรื่องงมงาย  ตัวอย่างเช่น การเข้าทรงเพื่อรักษาคนไข้ ถ้าทำไม่สำเร็จ ชาวอซันเดจะอธิบายว่าอำนาจของแม่มดที่ทำให้เกิดอาการไข้มีมากกว่าอำนาจของสิ่งศักดิ์สิทธิ์     ความคิดของเลวี่-สเตราส์เรื่องการแบ่งแยกประเภทของชนเผ่า เห็นได้จากวิธีคิดเกี่ยวกับดาราศาสตร์ โหราศาสตร์ การเดินเรือ พฤกษศาสตร์ นิเวศวิทยา การบริโภค สมุนไพรและยารักษาโรค ซึ่งเกี่ยวข้องกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และมีมาก่อนที่วิทยาศาตร์ของตะวันตกจะถือกำเนิดขึ้น

          อย่างไรก็ตาม การศึกษาของนักมานุษยวิทยาหลายเรื่องให้ความสำคัญกับวิธีคิดของชนพื้นเมือง แต่การศึกษาเหล่านี้อาศัยทฤษฎีวิวัฒนาการซึ่งเชื่อว่าวิทยาศาสตร์แบบตะวันตกเป็นศาสตร์ที่เปิดกว้างกว่าและมีการตั้งคำถามที่ดีกว่า  เลวี่-สเตราส์เชื่อว่าความคิดของชนพื้นเมืองมีลักษณะเป็นการปฏิบัติ หรืออาศัยความคิดที่มีมาก่อนแล้วมาปรับใช้กับปัจจุบัน  นักมานุษยวิทยาในยุคแรกๆสันนิษฐานว่าวิชามานุษยวิทยาเป็นวิทยาศาสตร์แขนงหนึ่งที่ต่างไปจากความรู้ของชนพื้นเมือง โดยลืมไปว่าวิทยาศาตร์แบบตะวันตกก็เป็นรูปแบบทางวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาหนึ่ง

          การศึกษาวิทยาศาสตร์ในมิติมานุษยวิทยาในช่วงปัจจุบันได้รับอิทธิพลความคิดของโธมัส คูนลุดวิก วิตเก้นสไตน์, มิเชล ฟูโกต์ และทฤษฎีเฟมินิสต์  ทำให้นักมานุษยวิทยาหันกลับมามองศาสตร์ที่เรียกว่าวิทยาศาสตร์แบบตะวันตก  โดยการสำรวจตรวจสอบอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของนักวิทยาศาสตร์และการสร้างความรู้แบบวิทยาศาสตร์  การตรวจสอบนี้ทำให้วิทยาศาสตร์แบบจารีตนิยมถูกท้าทาย  เห็นได้จากพรมแดนวิชาระหว่างมานุษยวิทยาและสังคมวิทยาเริ่มแตกแยก    ประเด็นที่ตรวจสอบได้แก่เรื่องการสร้างความรู้ของวิทยาศาสตร์ในมิติสังคม  การศึกษาของบรูโน่ ลาทัวร์ และสตีพ วูลการ์ ชี้ให้เห็นว่าคำอธิบายของวิทยาศาสตร์เกิดจากการใช้ข้อมูล  ลาทัวร์กล่าวว่าการวิจัยของวิทยาศาสตร์เป็นการสร้างความรู้ซึ่งไม่อาจโต้แย้งได้  การขจัดความขัดแย้งของวิทยาศาตร์เกิดขึ้นโดยการทดลองความเข้มแข็งของคู่ต่อสู้ระหว่างมนุษย์กับสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์

          เฟมินิสต์อธิบายวิทยาวิทยาศาสตร์กีดกันผู้หญิง  เอเวอลีน ฟ็อกซ์ เคลเลอร์ และซานดรา ฮาร์ดิ่ง อธิบายว่าการปฏิบัติของวิทยาศาตร์เป็นเรื่องทางเพศ ซึ่งตอกย้ำวิธีคิดแบบวัตถุวิสัย  การตัดสิน และเหตุผลแบบผู้ชาย  ข้อสมมุติฐานของผู้ชายที่มีต่อผู้หญิง และข้อถกเถียงเกี่ยวกับเพศสภาพล้วนเกิดขึ้นในการแสวงหาความรู้แบบวิทยาศาสตร์   เอมิลี มาร์ตินศึกษาเรื่องการคลอดในอเมริกา ชี้ว่าความเชื่อทางวัฒนธรรมเกี่ยวกับเพศค่อยๆแทรกซึมเข้าไปในวงการแพทย์เพื่อที่จะอธิบายตัวแบบของการคลอด และวิธีคิด ปฏิบัติต่อเรื่องการคลอดในโรงเรียนแพทย์ ซึ่งลดคุณค่าของผู้หญิง  ดอนน่า ฮาราเวย์ อธิบายว่าวิทยาศาสตร์เปรียบเสมือนนิยายที่เล่าชีวิตของตัวละครที่ประกอบด้วยมนุษย์ เครื่องจักรและสัตว์   ฮาราเวย์เชื่อว่าวัฒนธรรมทางการเมืองของตะวันตกพยายามเปลี่ยนแปลงประเด็นเรื่องเพศและเชื้อชาติให้ไปเป็นนิยายเรื่องใหม่ที่ถูกแทนที่ด้วยวิชาสัตววิทยาและมานุษยวิทยากายภาพที่อธิบายพฤติกรรมของสัตว์ไพรเมท

          ทั้งลาทัวร์ ,มาร์ติน, และฮาราเวย์ เชื่อว่าความรู้ทางวิทยาศาสตร์คือพื้นที่ของการต่อสู้แย่งชิงอำนาจ  ลาทัวร์ชี้ให้เห็นว่าปัจเจกบุคคลและเครือข่ายทางสังคมได้สร้างอำนาจขึ้นมาโดยผ่านโครงสร้างทางเชื้อชาติ ชนชั้น และเพศสภาพ   การศึกษาวิทยาศาสตร์ในมิติมานุษยวิทยาปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงไปหลายอย่าง โดยเฉพาะอิทธิพลของวัฒนธรรมศึกษา  การศึกษาชีวิตของนักวิทยาศาตร์ในการปรับตัวทางสังคม และเปรียบเทียบวิทยาศาสตร์ในสังคมต่างๆ เช่นการศึกษาของชารอน ทราวีค ในปี ค.ศ.1988 เป็นการศึกษาเปรียบเทียบชีวิตของนักฟิสิกส์ชาวอเมริกันและญี่ปุ่น  นอกจากนั้นยังมีการศึกษาในห้องปฏิบัติการ ห้องทดลองทางวิทยาศาสตร์ การศึกษาหุ่นยนต์  พันธุศาสตร์ ประสาทวิทยา และชีวิตจำลองซึ่งลบภาพความแตกต่างระหว่างมนุษย์กับเครื่องจักร  การศึกษาเกี่ยวกับนิยายวิทยาศาสตร์และชุมชนวิทยาศาสตร์  การศึกษาในประเด็นเหล่านี้เป็นเรื่องที่กำลังมีความสำคัญ เพราะวิทยาศาสตร์กำลังแทรกซึมเข้าไปอยู่ในชีวิตของมนุษย์


ผู้เขียน: ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ

เอกสารอ้างอิง:

David Levinson and Melvin Ember (eds.) 1996 Encyclopedia of Cultural Anthropology. Henry Holt and Company, New York. Pp.66-67.

Helmreich, S. 2009. Alien Ocean. Anthropological Voyages in Microbial Seas. Berkeley: University of California Press.

Ong, A., and S.J. Collier, eds. 2005. Global Assemblages: Technology, Politics, and Ethics as Anthropological Problems. Malden, MA: Blackwell.

Rose, N. 2007. The Politics of Life Itself: Biomedicine, Power, and Subjectivity in the Twenty-First Century. Princeton: Princeton University Press.


หัวเรื่องอิสระ: มานุษยวิทยาว่าด้วยวิทยาศาสตร์