คำศัพท์

Potlatching

        Potlatch หมายถึงพิธีเลี้ยงฉลองเพื่อนำของมีค่ามาให้คนอื่น  เป็นพิธีที่เกิดขึ้นในสังคมชนเผ่าในเขตชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกด้านตะวันตกเฉียงเหนือของอเมริกา เช่น เผ่าซิมเชียน ในอลาสก้า เผ่าซาลิช และเผ่าควาคีอูลท์ในรัฐวอชิงตัน และบริติชโคลัมเบีย พิธีดังกล่าวนี้ยังคงปฏิบัติอยู่ในเผ่าบางเผ่า  ส่วนบางเผ่าอาจจัดพิธีเพื่อลำรึกถึงผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว  เมื่อมีการประกอบพิธีเลี้ยงฉลอง สมาชิกของเผ่าจะมารวมตัวกัน  โดยมีคนบางคนจะอุทิศทรัพย์สินสิ่งของบางอย่าง เช่น ผ้าห่ม อาหาร ทองแดง และวัตถุมีค่าอื่นๆ  ผู้อุทิศสิ่งของเหล่านี้จะได้รับเกียรติยศบารมีเป็นสิ่งตอบแทน  สิ่งของเหล่านี้ถูกเรียกว่า “พ็อตแลตช์”  ยิ่งมอบพ็อตแลตช์มากเท่าใด ผู้มอบก็จะยิ่งเพิ่มบารมีชื่อเสียงมากเท่านั้น

          ชนเผ่าที่มีพิธีเลี้ยงฉลองเพื่ออุทิศของมีค่าเป็นกลุ่มคนที่ยังชีพด้วยการเก็บของป่าเร่ร่อนหาอาหาร  ภายในกลุ่มจะมีหัวหน้าปกครองและตั้งถิ่นฐานเป็นหลักแหล่ง  คนเหล่านี้จะเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติที่หลากหลายทั้งบนแผ่นดินและมหาสมุทร  อาหารหลักได้แก่ ปลาซัลมอนด์ ปลาแฮร์ริง เนื้อแพะภูเขา เนื้อแมวน้ำ ลูกเบอร์รี และปลาทะเล   นักเศรษฐศาสตร์อาจอธิบายว่ามนุษย์เป็นผู้แสวงหาประโยชน์สูงสุดจากธรรมชาติ แต่ในกรณีที่ชนเผ่านำของมีค่ามาให้ผู้อื่นจะหมายความว่าอะไร  นักวิชาการบางคนอธิบายว่ากรณีของพ็อตแลตช์ เป็นการทำลายสมบัติและเป็นการสูญเสียทางเศรษฐกิจที่เลวร้าย เพราะการนำสิ่งของมีค่ามาให้คนอื่นเช่นนี้เพื่อแลกกับเกียรติยศชื่อเสียงเป็นพฤติกรรมที่ไร้เหตุผล  แต่การกระทำของชนเผ่าเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่ายังมีมนุษย์บางกลุ่มที่ยอมเสียของมีค่าเพื่อแลกกับศักดิ์ศรีและเกียรติยศ

          การศึกษาทางมานุษยวิทยานิเวศน์ หรือนิเวศน์วัฒนธรรม  พยายามทำความเข้าใจพิธีพ็อตแลตช์ของชนพื้นเมืองในเขตชายฝั่งแปซิฟิกของอเมริกาว่าเป็นพิธีกรรมที่ช่วยให้มนุษย์ปรับตัวเข้ากับธรรมชาติ  นักมานุษยวิทยาชื่อ เวย์น ซัตเติลส์ (1960) และแอนดรูว์ เวย์ดา (1961/1968) อธิบายว่าการนำของมีค่ามาให้ผู้อื่นมิใช่พฤติกรรมที่เสื่อมเสีย หรือทำให้เศรษฐกิจถดถอย  แต่เป็นวิธีการปรับตัวของมนุษย์ในสภาพแวดล้อม  คำอธิบายนี้ช่วยให้เราเข้าใจว่าทำไมมนุษย์จึงมีพิธีเลี้ยงฉลองอย่างสิ้นเปลือง  อาจกล่าวได้ว่าพิธีพ็อตแลตช์ หรือการนำทรัพย์สมบัติส่วนตัวมาให้ผู้อื่นเป็นการปรับตัวมนุษย์เพื่อให้มีชีวิตอยู่รอดในช่วงเวลาที่ขาดแคลนอาหาร

          เนื่องจากสภาพแวดล้อมในเขตชายฝั่งแปซิฟิกตอนเหนือค่อนข้างแปรปรวน บางปีอาจมีอาหารมาก แต่บางปีมีอาหารน้อย  ชนพื้นเมืองในหมู่บ้านหนึ่งอาจมีอาหารเหลือกินเหลือใช้ แต่อีกหมู่บ้านหนึ่งอาจไม่มีอาหารพอเพียง ดังนั้นชนพื้นเมืองที่มีอาหารและสมบัติมั่งคั่งก็จะอุทิศสิ่งเหล่านี้ให้กับเพื่อนบ้าน    ในปีที่มีอาหารอุดมสมบูรณ์ คนในหมู่บ้านก็จะมีความสุขและมีโอกาสที่จะเก็บสะสมสมบัติไว้เพื่ออุทิศให้กับคนอื่น เช่น ผ้าห่ม เรือแคนู และชิ้นส่วนของทองแดง  สมบัติเหล่านี้จะเป็นสิ่งที่ใช้แลกกับเกียรติยศศักดิ์ศรี ชาวบ้านที่ร่ำรวยจะเชิญเพื่อนบ้านที่ยากจนมารับสมับติเหล่านี้ในพิธีพ็อตแลตช์ พิธีนี้จึงทำให้เกิดมิตรภาพระหว่างเพื่อนบ้าน ทำให้เกิดสายสัมพันธ์ที่แนบแน่น  พิธีพ็อตแลตช์จึงเปรียบเสมือนระบบการแลกเปลี่ยนระหว่างคนรวยกับคนยากจน สมบัติของคนรวยจากถ่ายเทและเคลื่อนไปสู่คนยากจน ในขณะที่คนรวยก็จะได้รับเกียรติยศศักดิ์ศรีกลับคืนมา

          พิธพ็อตแลตช์จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อมีการสะสมสมบัติและอาหารมากพอที่จะอุทิศให้คนอื่นได้  พิธีพ็อตแลตช์ทำให้ผู้ที่ได้รับอุทิศสมบัติกลายเป็นมิตรกับเจ้าของสมบัตินั้น   ถ้าเข้าของสมบัติถึงยามขัดสน พวกเขาก็จะมีมิตรคอยช่วยเหลือ เช่น อาจได้รับสมบัติและอาหารเป็นการตอบแทน  พิธีอุทิศสมับติส่วนตัวทำให้เราเห็นว่าความรวยความจนเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน  คนที่รวยอาจยากจนลงได้ และคนที่เคยจนก็อาจมั่งคั่งได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ  ชนพื้นเมืองในเขตชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกตอนเหนือของอเมริกาจึงมีเรือข่ายของมิตรกระจายอยู่ทั่วไป  เพราะชนเผ่าแต่ละกลุ่มจะมีพิธีพ็อตแลตช์ หรือการอุทิศสมบัติและอาหารให้กับเพื่อนบ้าน ซึ่งเป็นการแข่งขันเพื่อสร้างศักดิ์ศรีให้กับตนเอง  อย่างไรก็ตามพิธีดังกล่าวนี้จะพบได้น้อยในเขตที่แห้งแล้งกันดารหรือขาดแคลนอาหาร ชนพื้นเมืองในพ้นที่แห้งแล้งจึงไม่มีการแข่งขันเพื่อศักดิ์ศรีหรืออุทิศสมับติส่วนตัว แต่จะช่วยเหลือกันหาอาหาร

          ในคริสต์ศตวรรษที่ 19 เมื่อสังคมแบบทุนนิยมเริ่มขยายตัวไปยังที่ต่างๆทั่วโลก ชนพื้นเมืองก็เริ่มติดต่อกับชาวตะวันตก เช่น ชนเผ่าควาคิอูลท์เริ่มนำผ้าห่มขนสัตว์มาขายให้กับชาวตะวันตก ซึ่งทำให้พวกเขามีเงินเพิ่มมากขึ้น แต่ในเวลาเดียวกัน  ชาวควาคิอูลท์ก็ต้องล้มตายจำนวนมากเพราะได้รับเชื้อโรคที่ติดมาจากคนผิวขาว    เมื่อคนที่มีฐานะบางคนตายเพราะเป็นโรค ทำให้คนที่จะอุทิศสมบัติส่วนตัวก็มีน้อยลง คนที่เหลืออยู่จึงต้องเร่งสะสมสมบัติให้มากขึ้นเพื่อที่จะแข่งขันการสร้างเกียรติยศศักดิ์ศรี   วิธีการที่ชาวควาคิอูลท์ใช้คือการนำสมบัติมาทำลายทิ้ง เช่น นำผ้าห่มมาเผาไฟ เผาบ้าน หรือนำทองแดงไปทิ้งทะเล  การกระทำดังกล่าวนี้สะท้อนให้เห็นว่าพิธีพ็อตแลตช์ได้เปลี่ยนไปจากเดิม   เนื่องจากคนพื้นเมืองลดจำนวนลงเพราะตายจากโรคร้าย ทำให้ผู้ที่จะมารับสมบัติมีน้อยตามไปด้วย ในขณะที่ชนพื้นเมืองมีสมบัติมากขึ้นจากการขายสินค้าให้ชาวผิวขาว เมื่อสมบัติมากเกินไปจึงต้องนำไปทิ้งหรือทำลาย  อาจกล่าวได้ว่า การค้ากับคนผิวขาวและโรคร้ายทำให้พิธีพ็อตแลตช์สูญเสียคุณค่าแบบเดิม

          แต่เดิมพิธีพ็อตแลตช์ ทำให้สังคมของชนพื้นเมืองไม่มีการแบ่งชนชั้นวรรณะ คนทุกคนมีฐานะเท่าๆกัน  ชนพื้นเมืองมองว่าการอุทิศสมบัติและทรัพย์สินเงินทองเป็นการได้มาซึ่งเกียรติยศชื่อเสียง    แต่ระบบทุนนิยมมองต่างออกไปโดยมุ่งเน้นให้มนุษย์สะสมทรัยพย์สินส่วนตัวให้มากที่สุด ยิ่งมีเงินทองมากยิ่งมีเกียรติมาก  อาจกล่าวได้ว่าพิธีพ็อตแลตช์สอนให้มนุษย์รู้จักการละทิ้งสมบัติส่วนตัว เพื่อที่จะอยู่เคียงข้างผู้อื่นอย่างเท่าเทียมและเป็นมิตร


ผู้เขียน: ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ

เอกสารอ้างอิง:

Aldona Jonaitis, 1991. Chiefly Feasts: the Enduring Kwakiutl Potlatch, Seattle, University of Washington Press.

Conrad Phillip Kottak. Anthropology The Exploration of Human Diversity. McGrawhill, New York. 2000, pp.365-368.

Godelier, Maurice (1996). The Enigma of the Gift. Cambridge, UK: Polity Press.

Kenneth D. Tollefson 1995. Potlatching and Political Organization among the Northwest Coast Indians. Ethnology Vol. 34, No. 1 (Winter, 1995), pp. 53-73

Seguin, Margaret (1986) "Understanding Tsimshian 'Potlatch.'" In: Native Peoples: The Canadian Experience, ed. by R. Bruce Morrison and C. Roderick Wilson, pp. 473–500. Toronto: McClelland and Stewart.


หัวเรื่องอิสระ: พิธีนำของมีค่ามาให้คนอื่น