คำศัพท์

Possession

        คำว่าการถูกผีสิง เป็นคำที่ใช้ในกลุ่มของผู้อพยพย้ายถิ่นมาจากแอฟริกา เอเชีย ตะวันออกกลาง หมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งใช้เรียกอาการที่มนุษย์ถูกวิญญาณบางอย่างเข้าครอบครอง หรือเข้าสิงร่าง เมื่อมนุษย์ถูกวิญญาณเข้าครอบงำ มนุษย์จะตกอยู่ใต้อำนาจของวิญญาณ และแสดงพฤติกรรมต่างๆตามที่วิญญาณสั่ง เจ้าของร่างจะไม่รู้สึกตัว หรือจำสิ่งต่างๆไม่ได้ วิญญาณที่เข้าสิงอาจจะเป็นผีบรรพบุรุษ เทวดา ปีศาจ และวิญญาณของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ชนิดต่างๆ  คนที่ถูกผีสิงจะมีอาการเปลี่ยนไป กลายเป็นคนละคน

          ปรากฏการณ์ดังกล่าว  เป็นเรื่องที่พบเห็นได้ในหลายวัฒนธรรม      ในเขตตะวันออกเฉียงเหนือของแอฟริกา เรียกอาการผีเข้านี้ว่า ซาร์ (Zar) ในประเทศเฮติ เรียกว่าวูดู (Voodoo) ในบราซิลเรียกว่า อัมบันดา (Umbanda) เป็นต้น  นักมานุายวิทยาบางคนพยายามแยกความหมายของ การถูกผีสิง ออกจาก การเข้าทรง (Shamanism) หรือการติดต่อกับวิญญาณโดยหมอผี หรือพระ แต่ความหมายของทั้งสองก็ยังก่ำกึงกัน  การไล่ผีและการติดต่อกับผีนั้นยังมีมิติอื่นๆนอกเหนือไปจากการที่บุคคลเปลี่ยนแปลงสภาพไปจากเดิมเพราะอำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์  การติดต่อกับวิญญาณยังเกี่ยวข้องกับลัทธิความเชื่อทางศาสนา และยังมีมิติทางการเมือง สังคม และเศรษฐกิจเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

          การถูกผีสิงเป็นประเด็นที่นักมานุษยวิทยาสนใจศึกษามายาวนาน  เนื่องจากลักษณะของการถูกผีสิงเป็นเรื่องของไสยศาสตร์ ซึ่งอยู่นอกกฎเกณฑ์ของเหตุผลแบบวิทยาศาสตร์  เมื่อสิ่งนี้ไม่สามารถอธิบายได้ด้วยเหตุผลจึงทำให้นักมานุษยวิทยาพยายามสร้างคำอธิบาย ถึงแม้ว่าวิธีการศึกษาของนักมานุษยวิทยาจะเป็นศาสตร์ที่มีระเบียบกฏเกณฑ์ ซึ่งอาจดูคัดแย้งกับการอธิบายเรื่องการถูกผีสิง แต่นักมานุษยวิทยาก็พยายามที่จะเข้าใจว่าการถูกผีสิงเป็นเรื่องของวัฒนธรรมที่มนุษย์แสดงออกว่ามีอะไรเกิดขึ้นกับชีวิต เช่น การเจ็บไข้ได้ป่วย การทำนายฝัน การถูกขับไล่ออกจากกลุ่ม การมีข้อห้ามตามประเพณี  สิ่งเหล่านี้ถูกกระทำด้วยอำนาจของวิญญาณที่จะแสดงตัวออกมาด้วยคำพูด การแต่งกาย การกินอาหาร การแสดงอาการต่างๆที่ต่างไปจากร่างเดิมของมนุษย์คนนั้น

          นักมานุษยวิทยาพยายามแยกประเด็นศึกษาเรื่องนี้เป็น 2 กรณี กรณีแรก การถูกผีสิงเป็นเรื่องที่สังคมสร้างระเบียบขึ้นมาควบคุมบุคคลโดยการกล่าวอ้างตำนาน ความเชื่อ หรือข้อห้าม  พร้อมๆกับมีการปฏิบัติ หรือการตอบโต้กับวิญญาณที่เข้ามาสิงร่าง เช่น การเข้าทรง การขับไล่ผี การเยียวยารักษา และพิธีกรรมต่างๆ   ประสบการณ์การถูกผีสิงจึงเป็นเรื่องของการนำบุคคลไปพบกับตำนานความเชื่อในอดีต  กรณีที่สอง การถูกผีสิงเปิดโอกาสให้มีการตีความว่าอย่างไรคือเรื่องส่วนตัว และอย่างไรคือส่วนรวม  ความหมายและคุณค่าของส่วนรวมจะถูกอธิบายให้กับบุคคล และบุคคลก็จะแสดงตัวเองออกมาผ่านอำนาจของวิญญาณ  พิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับการถูกผีเข้าเป็นสิ่งที่คาดเดาไม่ได้ แตกต่างจากพิธีกรรมอื่นๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่ท้าทายการศึกษาทางมานุษยวิทยา

          การเข้าสิงของวิญญาณโดยผ่านร่างทรง หน้าที่ของวิญญาณคือนำเรื่องราวในอดีตและปัจจุบันมาบรรจบกัน เพราะวิญญาณบรรพบุรุษจะกลับมาหาลูกหลานในปัจจุบัน เช่น ในประเทศซิมบับเว ทหารที่ผ่านสงครามจะมีความสัมพันธ์กับร่างทรง เพราะในกองทัพ ร่างทรงจะมีบทบาทสำคัญ  ชนเผ่านาดีบีลีและโชน่าในซิมบับเวเชื่อว่าในยามสงคราม วิญญาณบรรพบุรุษที่สิงร่างทรงจะให้คำแนะนำเพื่อการทำสงครามต่อสู้กับชาวตะวันตกในยุคอาณานิคม ร่างทรงจึงเปรียบเสมือนแม่ทัพที่จะชี้ชะตากรรมให้กับทหารที่รบในสงคราม รวมทั้งมีหน้าที่ออกคำสั่งให้ทหารและชาวบ้านทำในสิ่งต่างๆ  ชาวตะวันตกจึงพุ่งเป้าหมายไปที่ร่างทรงเพื่อจับตัวมาประหาร วอล์ชและคอฟแมน(1999) วิเคราะห์ว่าการสิงของวิญญาณในร่างทรงในซิมบับเว เป็นเรื่องทางการเมือง ศีลธรรมและสังคม


ผู้เขียน: ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ

เอกสารอ้างอิง:

Alan Barnard and Jonathan Spencer 1996. Encyclopedia of Social and Cultural Anthropology. Routledge : London. P.439-440

Craig S. Keener. 2010. Spirit Possession as a Cross-cultural Experience. Bulletin for Biblical Research 20.2 (2010) 215-236.

Morton Klass. 2003. Mind over Mind: The Anthropology and Psychology of Spirit Possession. Rowman & Littlefield Publishers.

Paul Christopher Johnson. 2014. Spirited Things: The Work of Possession in Afro-Atlantic Religions. Chicago: University of Chicago Press.


หัวเรื่องอิสระ: การถูกผีสิง