คำศัพท์

Political Anthropology

            การศึกษาเรื่องการเมืองในทางมานุษยวิทยา มีจุดหมายเพื่อที่จะเข้าใจว่าในสังคมมนุษย์มีการใช้อำนาจและอิทธิพลต่อมนุษย์ด้วยกันอย่างไร และทำไมต้องเป็นเช่นนั้น การศึกษาเรื่องการเมืองครอบคลุมปรากฎการณ์ทางสังคมและวัฒนธรรมทุกรูปแบบทั้งในสังคมของมนุษย์ และสิ่งมีชีวิตประเภทลิง เพื่อที่จะนำเปรียบเทียบกับระบบการเมืองในสังคมมนุษย์ มานุษยวิทยาการเมืองเริ่มขึ้นในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 โดยลิวอิส มอร์แกน ซึ่งวิเคราะห์สังคมมนุษย์ด้วยทฤษฎีวิวัฒนาการ ส่วนงานศึกษาระบบการเมือง เริ่มต้นโดยเมเยอร์ ฟอร์เตส และอีแวน พริตชาร์ด (1940) ซึ่งวิเคราะห์ระบบการเมืองในสังคมชนเผ่าแอฟริกาในลักษณะของความสมดุลและมีเอกภาพ แต่สิ่งที่หายไปจากการวิเคราะห์คือบริบทของลัทธิอาณานิคมตะวันตกที่ชาวยุโปรเข้าไปรุกรานกลุ่มชนพื้นเมือง

          การเมืองจะมีมิติของอำนาจ อำนาจหมายถึงความสามารถใดๆที่จะทำให้เกิดการสร้างอิทธิพล ผลกระทบ และการควบคุมที่มีต่อประชาชน วัตถุสิ่งของ และทรัพย์สินทางปัญญาทั้งหลาย  การใช้อำนาจเป็นการจัดแบ่งอำนาจเพื่อส่งไปยังบุคคลหรือกลุ่มบุคคลซึ่งต้องปฏิบัติตามแนวนโยบายที่ได้รับ  อำนาจนี้ได้มาจากหลายส่วน ไม่ว่าจะเป็นอายุ เพศสภาพ การสืบทายาท การเป็นสมาชิก หรือการแข่งขันเพื่อที่จะได้ตำแหน่ง  การใช้อำนาจมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับบุคคล หรือกลุ่มบุคคลซึ่งต้องการควบคุมทรัพยากรที่มีค่า     ในบางสังคม ความเข็มแข็ง และระยะเวลาการครองอำนาจมีผลต่อการพัฒนาทิศทางและรูปแบบทางการเมือง   อำนาจและการใช้อำนาจประกอบด้วยระบบระเบียบ  การจัดระเบียบในแต่ละเรื่องจะมีเจ้าหน้าที่ดูแลและปฏิบัติการในตำแหน่งต่างๆ  เครือข่ายระบบการทำงานที่กว้างที่สุดคือ โครงสร้างอำนาจ  ระบบการเชื่อมโยงเจ้าหน้าที่หน่วยต่างๆเข้าด้วยกันภายใต้ระเบียบปฏิบัติเดียวกันเรียกว่านโยบาย  แต่กลุ่มทางสังคมทุกกลุ่มต่างใช้อำนาจเพื่อที่จะแย่งชิงสิ่งมีค่าที่มีน้อย กลุ่มแต่ละกลุ่มจึงมีการเมืองแฝงเร้นอยู่

          นโยบายที่ปรับให้เข้ากับบริบททางสังคม โดยผ่านระบบขององค์กรและสถาบันต่างๆ ซึ่งมีวิธีการคัดเลือกและขัดเกลาสมาชิก มีการแข่งขันกับองค์กรอื่นๆ มีความเห็นขัดแย้งในเรื่องกฎระเบียบซึ่งถูกสร้างขึ้นโดยรัฐธรรมนูญ และมีการถ่ายทอดวัฒนธรรมของอำนาจซึ่งประกอบด้วย คุณค่า การแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ และพิธีกรรมที่หล่อหลวมสมาชิกเข้าด้วยกัน    ในเวลาเดียวกัน นโยบายที่ปรากฏอยู่วางอยู่บนความสัมพันธ์ของการแข่งขัน การร่วมมือ และความขัดแย้งซึ่งนโยบายเหล่านี้จะต้องเห็นพ้องต้องกัน  เมื่อสังคมต้องติดต่อค้าขาย  แลกเปลี่ยนการแต่งงาน  หาพันธมิตรเพื่อกำจัดศัตรู และหาแหล่งทรัพยากร  สังคมนั้นก็ต้องมีวิธีสร้างความสัมพันธ์แบบสันติให้เกิดขึ้นกับกลุ่มคนต่างๆ หรือแม้แต่ระหว่างสังคมที่มีอำนาจอื่นๆ

          การศึกษามานุษยวิทยาการเมืองมีหลายแนวทาง และมีจุดเน้นที่ต่างกัน  การศึกษาที่เก่าแก่แนวทางหนึ่ง คือการศึกษาพัฒนาการของการใช้อำนาจในสังคมมนุษย์ และสัตว์ประเภทลิง  โครงสร้างของการใช้อำนาจอาจดูได้ในเชิงประวัติศาสตร์และสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดการใช้อำนาจ  การศึกษาในแนวนี้จะสนใจโครงสร้างอำนาจที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างสังคมมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ ระดับเผ่า กลุ่ม  อาณาจักร และ รัฐ  นอกจากนั้นยังศึกษาการใช้อำนาจทางสังคมที่เกิดขึ้นจริงในปัจจุบัน  เป้าหมายของมานุษยวิทยาการเมือง คือการทำความเข้าใจสาเหตุและวิธีการใช้อำนาจซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงมาเป็นลำดับขั้น และศึกษาผลกระทบต่อสังคมของการใช้อำนาจนั้น   สมมุติฐานของการศึกษาแนวนี้ เชื่อว่าโครงสร้างอำนาจคือสิ่งสำคัญที่จะทำให้เกิดรูปแบบการเมืองที่หลากหลาย

          การศึกษาของแม็กซ์ กลั๊กแมน และคณะในช่วงทศวรรษที่ 1950 เป็นการศึกษาที่รู้จักในฉายา “ศึกษาเชิงกระบวนการ” หรือ “แบบมีส่วนร่วม”  ซึ่งมุ่งเน้นเรื่องพฤติกรรมกลุ่ม และปัจเจกในบริบททางการเมือง  กลั๊กแมนชี้ให้เห็นการแข่งขันที่มีฝ่ายหนึ่งชนะและพ่ายแพ้ในการเข้าถึงทรัพยากร  แนวคิดดังกล่าวนี้ โครงสร้างอำนาจเป็นสิ่งสำคัญต่อการสร้างกฎเกณฑ์และเป้าหมาย  แต่การศึกษาเปรียบเทียบระบบการเมืองยังต้องทำความเข้าใจเรื่องการปฏิบัติทางการเมืองด้วย

          อาจกล่าวได้ว่ามานุษยวิทยาการเมือง คือการศึกษากฎเกณฑ์ของพฤติกรรมมนุษย์ที่เกิดจากแรงขับดันทางชีววิทยา  ดังนั้น มานุษยวิทยาการเมืองในแนวนี้จึงเป็นการศึกษาเชิงเปรียบเทียบเกี่ยวกับการกระทำของมนุษย์ที่ต้องการได้วัตถุสิ่งของให้มากที่สุด  ต้องการทำความเข้าใจว่ามนุษย์มีการแข่งขัน ตัดสินใจ วางแผน ลงมือปฏิบัติ ร่วมมือ จัดการ ตักตวงผลประโยชน์อย่างไร เพื่อชนะหรือแพ้คู่แข่ง เพื่อให้ได้อำนาจมาแต่ผู้เดียว   ในแง่วัฒนธรรมอธิบายว่าเป้าหมายของการกระทำจะถูกให้คุณค่า และมีการสร้างคำอธิบายเกี่ยวกับการชี้วัดและตัดสินการกระทำทางการเมือง อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะเข้าใจการเมือง  เหตุการณ์และสถานการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นเพื่อแข่งขันหรือขัดแย้ง ล้วนเกิดขึ้นได้ทั่วไป ซึ่งอาจพบเห็นพฤติกรรมการใช้อำนาจแฝงเร้นอยู่ด้วย  การศึกษาจึงจำเป็นต้องมีสมมุติฐาน ซึ่งเชื่อว่าการแสวงหาอำนาจและการแข่งขันเป็นเครื่องบ่งบอกการกระทำทางการเมืองที่สำคัญ และระบบการเมืองทุกระบบล้วนต้องการแสวงหาผลประโยชน์

          การศึกษาอีกแนวหนึ่ง คือการศึกษามิติวัฒนธรรม การศึกษาแนวนี้สนใจวิธีการแสดงออกของการใช้อำาจซึ่งเกี่ยวข้องกับสัญลักษณ์ พิธีกรรม ภาษา และการทำงานศิลปะ  ความสัมพันธ์ทางสังคมซึ่งมีเรื่องของการใช้อำนาจที่ไม่เท่าเทียมกันจะถูกแสดงออกด้วยสัญลักษณ์บางอย่างเพื่อทำให้สมาชิกอยู่ในระเบียบ  การศึกษาแนวนี้ต้องอธิบายรายละเอียดเกี่ยวกับวิธีคิดหรือความคิดเกี่ยวกับอำนาจในท้องถิ่นและในวัฒนธรรมนั้น ซึ่งปรากฏอยู่ในระบบเครือญาติ ความสัมพันธ์ระหว่างชายหญิง กีฬา ศาสนา การทำธุรกิจ หรือกลุ่มทางการเมืองและการบริหาร  เป้าหมายของการศึกษา คือการทำความเข้าใจการเมืองในบริบททางสังคม โดยการตีความจากภาษาและระบบความหมายที่สมาชิกของกลุ่มใช้ร่วมกันในสถานการณ์ใดสถานการณ์หนึ่ง ซึ่งมีการใช้อำนาจที่ไม่เท่าเทียม   อาจสันนิษฐานได้ว่าความรู้เกี่ยวกับการเมืองทั้งหมดเป็นความรู้ที่มาจากปรากฏการณ์ การเมืองอาจมาจากการแสดงออกของสมาชิกในกลุ่ม หรือมาจากกฎระเบียบที่สร้างไว้   การศึกษาแนวนี้นำไปสู่เป้าหมายสุดท้ายคือ ความเข้าใจในวิธีคิดของมนุษย์ที่สร้างความหมายให้กับความสัมพันธ์เชิงอำนาจ

          การสร้างทฤษฎีเกี่ยวกับการใช้อำนาจ เป็นการทำความเข้าใจกระบวนการที่สมาชิกในสังคมรับรู้ความหมายเพื่อที่จะตอบสนองกับโครงสร้างอำนาจ  วิธีการสร้างความหมายของอำนาจในแต่ละวัฒนธรรม อาจเป็นวิธีคิดของมนุษย์ การสร้างความหายของอำนาจอาจมิใช่การเมือง   วัฒนธรรมทางการเมืองบางอย่างอาจเป็น “ตัวแทน” ของวิธีคิดของมนุษย์ซึ่งถูกแสดงออกในรูปแบบทางการเมืองในแต่ละยุคสมัยที่ต่างกัน

          การศึกษาอีก 2 แนวทาง คือการศึกษาในสังคมระดับเล็ก  ซึ่งโครงสร้างการใช้อำนาจของสังคมขนาดเล็กนี้อาจสะท้อนให้เห็นเครือข่ายอำนาจของสังคมที่มีขนาดใหญ่กว่าได้  ประเด็นศึกษานี้เป็นเรื่องใหม่สำหรับนักมานุษยวิทยา  ปัจจุบันนี้ แนวคิดที่มีอิทธิพลต่อการศึกษาการเมืองคือแนวทฤษฎีพึ่งพา ซึ่งเป็นแนวคิดที่แตกมาจากทฤษฎีจักรวรรดินิยมของวลาดิเมียร์ เลนิน    แนวคิดการพึ่งพาเชื่อว่าระบบโลก อาณานิคม การเมืองระหว่างประเทศ การค้าข้ามชาติ ศิลปะ การสื่อสาร การแพทย์ และแม้แต่ศาสนาล้วนมีอิทธิพลต่อการเมืองระดับเล็ก  นักวิชาการหลายคนพยายามชี้ว่าปัจจัยเหล่านี้มีผลต่อโครงสร้างการใช้อำนาจในท้องถิ่น   สมมุติฐานนี้เชื่อว่าโลกมีความสัมพันธ์ระหว่างผู้มีอำนาจกับผู้ที่ถูกกดขี่ซึ่งอยู่ใต้การเมืองที่มีพลัง  นักมานุษยวิทยาการเมืองหลายคนหันมาใช้แนวคิดที่หลากหลายมากขึ้นเพื่อที่จะอธิบายความเชื่อมโยงระหว่างความสัมพันธ์ของการใช้อำนาจในระดับท้องถิ่นจนถึงระดับโลก  แนวคิดที่นิยมใช้คือแนวคิดของอัลเบิร์ต โอ เฮิร์ชแมน เรื่องการจงรักภักดี กับแนวคิดเรื่องตัวแทน

          การศึกษาแนวนี้เชื่อว่าอำนาจในท้องถิ่นจะดำรงอยู่ได้โดยการหลีกหนี ปฏิเสธ และต่อต้านอำนาจที่มาจากภายนอก  อำนาจท้องถิ่นต้องมีวิธีการเข้าถึงผลประโยชน์ที่ตนเองต้องการโดยการเข้าไปสัมพันธ์กับอำนาจที่มีขนาดใหญ่กว่า และต้องสร้างความกลมเกลียวกับสังคมอื่นๆโดยใช้ข้อมูดมัดทางสังคมชนิดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นความเป็นชาติพันธุ์ หรือระบบอุปถัมภ์  และต้องนำผลประโยชน์มาใช้ให้เต็มที่

          ตั้งแต่กลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 นักมานุษยวิทยาเคยศึกษาระบบผู้นำ ความซับซ้อน และขนาดขององค์กรทางสังคม เพื่อที่จะจัดแยกประเภทวัฒนธรรมต่างๆที่มีอยู่ในโลก  กล่าวคือ ประวัติศาสตร์ของมานุษยวิทยาการเมืองส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความเป็นมาของวิชามานุษยวิทยา ซึ่งเป็นเรื่องการเมืองและกฎหมาย  ความพยายามครั้งแรกได้จัดจำแนกโครงสร้างของอำนาจไว้ตามลำดับพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ (ตั้งแต่สังคมระดับเผ่าไปจนถึงระดับที่ซับซ้อน)   มีข้อโต้เถียงว่าวิวัฒนาการทางการเมืองเป็นกระบวนการที่ก้าวหน้าขึ้นเรื่อยๆ  ผู้ที่เชื่อเช่นนี้ได้แก่ ลิวอิส เฮนรี มอร์แกน  แต่มีผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดนี้ ได้แก่ คาร์ล มาร์กซ์ และฟรีดิช เองเกลส์   มีการอธิบายว่า การเปลี่ยนแปลงจากความซับซ้อนไปสู่ลำดับขั้นที่สูงขึ้นเป็นผลมาจากสงคราม ความขัดแย้ง การต่อสู้ปราบปรามเพื่อเอาชนะกัน

          ครั้งหลังของคริสต์ศตวรรษที่ 19 เฮนรี เอส เมน(1861) ศึกษากฎหมายและที่มาของกฎหมาย โดยเปรียเทียบระหว่างสังคมชนเผ่ากับสังคมโรมันโบราณและสังคมตะวันตก  เมนสรุปว่าทุกสังคมกลายเป็นสังคมที่ซับซ้อนได้ ระบการเมืองและกฎหมายจะเปลี่ยนจากระบบเครือญาติไปเป็นระบบที่ต้องมีพันธสัญญา ซึ่งมีการเจรจา ลงนาม และตัดสิน   ต่อมาแนวคิดนี้ถูกโต้แย้งโดยโรเบิร์ต เอช โลวี่(1927) ซึ่งอธิบายว่ารูปแบบของกฎหมายและความสัมพันธ์ทางสังคมสามารถเกิดขึ้นได้ทุกสังคม  ข้อสังเกตนี้เป็นการศึกษาที่ต้องเก็บข้อมูลในพื้นที่และดูปัจจัยหลายอย่าง ซึ่งในช่วงทศวรรษที่ 1910 การเมืองถูกมองเป็นเรื่องเฉพาะที่ไม่เกี่ยวข้องกับบริบทอื่นๆ การศึกษาภาคสนามของนักมานุษยวิทยาจะมีบทหนึ่งที่อธิบายระบบการเมืองโดยเฉพาะ และมีบทสรุปที่อธิบายภาพรวมของวัฒนธรรม   นักมานุษยวิทยาสมัยนั้นจะอธิบายว่ารูปแบบความร่วมมือ ความขัดแย้ง และความก้าวร้าว จะเป็นตัวชี้วัดลักษณะทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างหรือการจัดการ

          ความสนใจต่อกิจกรรมทางการเมืองที่เฉพาะเจาะจงลงไป คือการศึกษาของนักมานุษยวิทยาชาวอังกฤษ ซึ่งเป็นการศึกษาระบบกฎหมายและการเมืองของคนพื้นเมืองในดินแดนอาณานิคม การศึกษาชิ้นแรกคือเรื่อง African Political System ในช่วงทศวรรษที่ 1940-1960 เป็นช่วงเริ่มต้นของการศึกษามานุษยวิทยาการเมือง ซึ่งมีหน่วยงานหลายแห่งสนับสนุน เช่น สถาบันมานุษยวิทยาแห่งราชอาณาจักร  สถาบันแอฟริกันนานาชาติ และรัฐบาลอังกฤษ  การศึกษาส่วนใหญ่เกิดขึ้นในแอฟริกา เอเชีย และหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก  การศึกษาเหล่านี้ได้รับการตีพิมพ์เป็นหนังสืออย่างรวดเร็ว ซึ่งส่วนใหญ่จะพูดถึงระบบการเมืองที่แปลกประหลาดที่ผูกโยงกับระบบเครือญาติ การตั้งถิ่นฐาน การปรับตัวให้เข้ากับธรรมชาติ และการสร้างความกลมเกลียวให้สมาชิก  โดยเฉพาะในสังคมชนเผ่าที่ไม่มีผู้ปกครอง  อาจกล่าวได้ว่า นักมานุษยวิทยาที่ศึกษาระบบการเมืองแบบมีผู้นำและรัฐที่มีการปกครองแบบรวมศูนย์อำนาจ เข้าไปเก็บข้อมูลภาคสนามในเวลาสั้นๆ และข้อมูลส่วนหนึ่งเป็นเอกสารประวัติศาสตร์ซึ่งมีอยู่มาก

          การศึกษาสังคมที่ยังไม่ก้าวหน้าเป็นรัฐ ทำให้เห็นรูปแบบการเมืองที่ต่างไปและไม่ตรงกับทฤษฎีทางการเมือง ในสังคมขนาดเล็ก จะมีการเมืองที่ขึ้นอยู่กับขนาดของประชากร ความขัดแย้ง และการเข้าถึงทรัพยากร การเมืองในสังคมขนาดเล็กไม่จำเป็นต้องมีองค์กรรัฐบาล แต่การใช้อำนาจอาจเกิดขึ้นกับสถาบันทางศาสนา  การศึกษารุ่นแรกๆได้บันทึกเรื่องการเมืองในสังคมชนเผ่า โดยอธิบายว่าการเมืองมี “ระบบ” และสัมพันธ์กับการใช้อำนาจแบบอื่นๆ  นักวิชาการบางคนวิจารณ์ข้อสันนิษฐานนี้ และศึกษาพฤติกรรมทางการเมืองจากกลุ่มชาติพันธุ์หลายๆกลุ่ม จากเมืองขึ้นของตะวันตก และสังคมอุตสาหกรรม  จากการศึกษาพบว่าระบบการเมืองเดิมของสังคมค่อยๆหายไปเมื่อสังคมปรับตัวเข้ากับอำนาจใหม่ 

          การศึกษาในชุมชนทำเหมืองแร่  ในท้องถิ่นที่ถูกปกครองจากรัฐชาติ และในชุมชนเมืองที่มีประชากรเคลื่อนย้ายไปมาระหว่างสังคมที่มีการเมืองต่างกัน การศึกษาเหล่านี้คือตัวอย่างที่จะทำให้เกิดความเข้าใจพฤติกรรมทางการเมืองมากขึ้น  ประมาณปลายทศวรรษ 1960 เกิดสถานการณ์ความไม่เท่าเทียมทางเพศ ชนชั้น เชื้อชาติ และการเรียกร้องเสรีภาพของดินแดนอาณานิคม สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดการทำทฤษฎีมาร์กซิสต์มาวิเคราะห์ และตรงกับเรื่องราวที่เป็นจริงในสังคมและชนชั้นที่ถูกกดขี่

          ในช่วงทศวรรษที่ 1970 การศึกษาสายวัฒนธรรมมีอิทธิพลอย่างมาก  นักมานุษยวิทยาการเมืองหลายคนจึงเปลี่ยนความสนใจมาศึกษาสิ่งที่เป็นวัตถุเชิงสัญลักษณ์และความคิด   คลิฟฟอร์ด เกียร์ต(1980) พยายามที่จะชี้ให้เห็นว่าการกระทำเชิงสัญลักษณ์ และการแสดงออกในเชิงสุนทรียะเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดรัฐ  นักมานุษยวิทยาหลายคนทำความคิดของเกียร์ตมาศึกษาเพื่อที่จะวิเคราะห์รูปแบบทางการเมือง  ทั้งนี้วางอยู่บนสมมุติฐานที่ว่าอำนาจในสังคมขึ้นอยู่กับความรู้   และ “ความรู้” ก็ถูกแสดงออกด้วยสัญลักษณ์  ประดิษฐกรรม และการกระทำซึ่งมีความหมายเกี่ยวกับการชี้นำ การจัดระเบียบ และการต่อต้าน   การศึกษาในแนวนี้ทำให้เข้าใจว่า “วัฒนธรรม” จะเต็มไปด้วยมิติทางการเมือง กล่าวคือ ตราบใดที่สมาชิกในสังคมมีสถานภาพที่แตกต่างกัน สมาชิกแต่ละคนก็ย่อมแสดงออกด้วยภาษาและสัญลักษณ์ที่ต่างกัน ซึ่งบ่งบอกว่าสมาชิกมีฐานะที่ไม่เท่ากัน

          ในช่วงปลายทศวรรษ 1970 และ 1980 การศึกษาแนววัฒนธรรมเริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้น สิ่งที่เกี่ยวข้องกับมานุษยวิทยาการเมืองก็คือประวัติศาสตร์วัฒนธรรม และวิชารัฐศาสตร์ ซึ่งมีการศึกษารากเหง้าและพัฒนาการของระบบการใช้อำนาจและการจัดระเบียบสังคมโดยรัฐ  งานวิจัยหลายเรื่องมีการใช้แนวคิดมาร์กซิสต์ ทฤษฎีวัตถุนิยมทางวัฒนธรรม แนวคิดเวเบอร์ และแนวทฤษฎีอื่นๆ  ซึ่งทำให้งานวิจัยเหล่านี้ให้ความสำคัญกับทฤษฎีและข้อมูลที่บ่งบอกจุดกำเนิดของรัฐ    การวิจัยเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงข้อจำกัดของการเกิดเป็นรัฐ ไม่ว่าจะเป็นการรุกราน การต่อสู้ และการเพิ่มจำนวนประชากร ซึ่งทำให้เกิดความขัดแย้งในการแย่งชิงทรัพยากร  สิ่งนี้ส่งผลให้ผู้ปกครองต้องใช้อำนาจควบคุม จัดระเบียบ หรือทำสงคราม  

การศึกษาในแนวนี้สนใจปฏิสัมพันธ์ในระดับเล็กๆ ทั้งที่สังคมยังมีปฏิสัมพันธ์แบบอื่นอีกมาก ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการสร้างกฎหมาย สิทธิของหญิงชายและชนกลุ่มน้อย  การกดขี่ และการต่อต้านของคนในสังคม และความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ สิ่งเหล่านี้คือตัวอย่างที่เน้นเรื่องความไม่เท่าเทียม ซึ่งเป็นประเด็นที่นักวิชาการนิยมศึกษาโดยวิเคราะห์จากผลผลิตและความรู้ในวัฒนธรรมเพื่ออธิบายอำนาจที่นำไปสู่ความไม่เท่าเทียม เป้าหมายของนักวิชาการที่ศึกษาในแนวนี้ ไม่ต้องการสร้างทฤษฎีเกี่ยวกับการปฏิบัติทางการเมือง  แต่ต้องการอธิบายเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับการใช้อำนาจ  คำอธิบายเหล่านี้ช่วยให้นักมานุษยวิทยาการเมืองมองเห็นวิธีการศึกษาตีความระบบความหมายที่สังเกตจากการกระทำทางการเมือง   กล่าวได้ว่าการชุมนุมทางศาสนาอาจเกี่ยวข้องกับการสร้างกฎเกณฑ์เพื่อที่จะบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรืออำนาจวิญญาณ ซึ่งเห็นได้จากการปฏิบัติตัวของผู้สอนศาสนา   แต่การสังเกตปรากฏการณ์อย่างเดียวกันอาจมองไม่เหมือนกัน  นักวิชาการบางคนอาจสนใจว่าอำนาจถูกแสดงออกได้อย่างไรเมื่อการชุมนุมทางศาสนาไม่ต่างจากการมีอำนาจในพิธีกรรม   จุดเน้นและการตีความอาจต่างกันขึ้นอยู่กับสิ่งที่นำมาวิเคราะห์ หรือสภาพทางสังคม  แต่ส่วนใหญ่ความต่างมักจะมาจากผู้ศึกษาเอง

          การศึกษาเหล่านี้ล้วนมองข้าม หรือตั้งคำถามต่อสมมุติฐานของเวเบอร์และทฤษฎีวิวัฒนาการซึ่ง อธิบายว่าการปรับตัวทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคมของมนุษย์วางอยู่บนการทำกิจกรรมที่ถูกควบคุมซึ่งเป็นบ่อเกิดของความไม่เท่าเทียม  ระหว่างผู้ปกครองกับผู้อยู่ใต้ปกครอง หรือคนรุ่นใหม่กับคนรุ่นเก่า    การศึกษาแนวนี้จะวิเคราะห์รูปแบบกิจกรรมทางการเมือง ( เช่น การแข่งขัน ความขัดแย้ง และการอนุญาต) ซึ่งเกิดจากความไม่เท่าเทียม ศึกษาวิธีการปฏิบัติ และความตึงเครียดในสถานการณ์ต่างๆเพื่อชี้ให้เห็นว่าสิ่งเหล่านี้มีสาเหตุมาจากปัจจัยทางธรรมชาติ    แต่การศึกษาในแบบตีความ ต้องการเข้าใจความหมายของการเมือง ไม่สนใจสาเหตุหรือผลกระทบ การวิเคราะห์ระบบความหมายของมานุษยวิทยาการเมืองจะช่วยให้นักวิจัยมองเห็นความหมายทางวัฒนธรรม ทำให้เห็นว่าสังคมมีการแสดง สนับสนุน ค้ำจุน และสร้างความไม่เท่าเทียมได้อย่างไร

          การศึกษามานุษยวิทยาการเมืองในช่วงทศวรรษที่ 1990 จะพบปัญหาที่ต้องจัดการกับแนวคิดที่หลากหลายที่ใช้ศึกษาการเมืองทั้งในระดับเล็กและระดับใหญ่ ทั้งระยะเวลาสั้นและยาวในการเก็บข้อมูลในพื้นที่ และระเบียบวิธีวิจัยที่แตกต่างกัน 


ผู้เขียน: ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ

เอกสารอ้างอิง:

David Levinson and Melvin Ember(eds.) 1996. Encyclopedia of Cultural Anthropology. Henry Holt and Company, New York. pp.963-967.

Donnan, Hastings and Thomas M. Wilson (eds.) (1994) Border Approaches: Anthropological Perspectives on Frontiers, Lanham, MD: University Press of America.

Donnan, Hasting and Thomas M. Wilson (1999) Borders: Frontiers of Identity, Nation and State, Oxford: Berg.

Lewellen, Ted (1983). Political Anthropology: An Introduction. Boston, MA: Bergin and Garvey


หัวเรื่องอิสระ: มานุษยวิทยาการเมือง