คำศัพท์

Policy Anthropology

        การวิจัยนโยบายและการวิเคราะห์นโยบายเป็นการศึกษาเพื่อที่จะศึกษาปัญหา และกระบวนการใช้นโยบายที่สะท้อนภาพข้อโต้แย้งทางสังคมที่กำลังซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ ในแวดวงสังคมศาสตร์ นักวิชาการต้องการทำความเข้าใจอย่างรอบด้านว่าสาเหตุอะไรที่ทำให้เกิดนโยบาย      ซีริล เบลชอว์ แสดงความคิดเห็นไว้ในหนังสือชื่อ The Sorcerer’s Apprentice: An Anthropology of Public Policy (1976) ชี้ให้เห็นความล่อแหลมและอันตรายที่เกิดขึ้นในวิชามานุษยวิทยา โดยเฉพาะเรื่องการสร้างนโยบายและการนำความรู้ไปประยุกต์ใช้  คำถามที่ตามมาคือ มานุษยวิทยาเป็นศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตของมนุษย์ใช่หรือไม่   วิชามานุษยวิทยาทำหน้าที่วิเคราะห์และตรวจสอบลำดับขั้นวิวัฒนาของมนุษย์ หรือว่าวิชามานุษยวิทยามีบทบาทต่อการเสนอแนะแนวทางปฏิบัติในฐานะเป็น “นายหน้าทางวัฒนธรรม” หรือผู้ที่ต่อสู้ให้กับวิถีชีวิตในบางรูปแบบเท่านั้น

          ถึงแม้ว่าตามจารีตของมานุษยวิทยาจะสนใจศึกษา และวิเคราะห์ชุมชนของมนุษย์ที่แปลกประหลาด เพื่อทำความเข้าใจวิวัฒนาการจากอดีตมาจนถึงปัจจุบัน แต่มีแนวโน้มที่จะสนใจศึกษาสังคมสมัยใหม่มากขึ้น  นักมานุษยวิทยาชื่อแจ็ค วีเธอร์ฟอร์ด เขียนหนังสือชื่อ Tribes on the Hill(1985) เป็นการศึกษาวิธีการทำงานในสภาของสหรัฐ ศึกษาระบบคุณค่าและบรรทัดฐานของเจ้าหน้าที่ที่มีส่วนสร้างนโยบาย ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าหน้าที่กับวิธีการรับรู้นโยบายของประชาชน   รอย เอ แร็บพาพอร์ท เขียนบทความเรื่อง Disorder of Our Own (1994) อธิบายว่ามานุษยวิทยาจำเป็นต้องทำความเข้าใจสังคมสมัยใหม่ และเข้าไปเกี่ยวข้องกับสาธารณะเพื่อขยายพรมแดนของมานุษยวิทยาเพื่อศึกษาเหตุการณ์ปัจจุบันและอนาคต 

          แนวคิดดังกล่าวนี้ ทำให้วิชามานุษยวิทยาต้องเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการสร้างนโยบายมากขึ้น ในขณะที่สังคมกำลังเผชิญหน้ากับปัญหาสีผิว การพัฒนาสิ่งแวดล้อม สุขภาพ การศึกษา และกระบวนการโลกาภิวัตน์  คุณค่าของนักมานุษยวิทยาที่มีส่วนเสนอนโยบายก็มีมากขึ้น  ในสภาพการณ์เช่นนี้ นักมานุษยวิทยาต้องศึกษาเปรียบเทียมวัฒนธรรมต่างๆเพื่อเสนอนโยบายที่สอดคล้องกับระบบวัฒนธรรมนั้นๆ  พี เจ พันเท็นนีย์ เขียนหนังสือเรื่อง Global Ecosystem: Creating Options Through Anthropological Perspectives (1995)  อธิบายว่ามานุษยวิทยามีศักยภาพที่จะตรวจสอบความสัมพันธ์ภายในองค์กรทางสังคมทั้งในระดับเล็กและใหญ่  ทั้งภายนอกและภายใน  ความซับซ้อนของความสัมพันธ์นี้จะเกี่ยวข้องกับผลกระทบที่มีต่อระบบสังคมทั้งหมด

          นักมานุษยวิทยาชาวอเมริกันรุ่นแรกๆ ต่างเข้าไปมีส่วนในการทำงานภาคประชาชน โดยทำหน้าที่วิจัยแนวนโยบายต่างๆ  ในปี ค.ศ.1879 จอห์น เวสลีย์ พาวเวลล์ ก่อตั้งสถาบันชาติพันธ์วิทยาแห่งอเมริกา หรือ Bureau of American Ethnology (BAE) โดยมีเป้าหมายเพื่อขจัดความขัดแย้งระหว่างชนพื้นเมืองกับชาวยุโรปในช่วงเวลานั้น และต้องการสร้างนโยบายว่าอะไรคือกิจการภายในที่อเมริกาต้องเข้ามาดูแลเอง  สถาบันนี้ก่อตั้งขึ้นโดยรัฐสภา และเป็นหน่วยงานหนึ่งของสถาบันสมิธโซเนียน  สถาบันนี้เป็นสถาบันแรกที่มีนักมานุษยวิทยาทำงานวิจัยซึ่งรัฐบาลสหรัฐเป็นผู้สนับสนุนโดยตรง  ในขณะที่ความตั้งใจของพาวเวลล์ คือการนำนโยบายที่สร้างขึ้นมาเตรียมพร้อมสำหรับการตั้งมูลนิธิทางวิทยาศาสตร์   สถาบันก็ค่อยๆเผยแพร่ข้อมูลออกไป แต่มิได้นำความรู้มาประยุกต์ใช้ และไม่มีส่วนในการเสนอแนะการสร้างนโยบายแต่อย่างใด

          จนถึงทศวรรษที่ 1930  นักมานุษยวิทยาหลายคนก็เริ่มตอบสนองต่อประเด็นทางสังคมที่เป็นปัญหา โดยอาศัยวิธีการเก็บรวบรวมข้อมูลและความรู้ต่างๆ โดยหวังว่าข้อมูลเหล่านี้จะมีอิทธิพลต่อการสร้างนโยบายแห่งชาติ และเปลี่ยนทัศนะของประชาชน ระหว่างทศวรรษที่ 1900-1910 วิชามานุษยวิทยามีบทบาทเป็นผู้นำทางปัญญาในการส่งเสริมชีวิตมนุษย์ให้ดีขึ้น แต่ต้องเผชิญหน้ากับแนวคิดและอุดมการณ์ที่แบ่งแยกวัฒนธรรมสูงกับต่ำ โดยยึดความเป็นเผ่าพันธุ์และสายเลือดเป็นเกณฑ์  บทความของอัลเฟร็ด โครเบอร์ เรื่อง The Superorganic (1971) กล่าวว่ามานุษยวิทยาเกี่ยวข้องกับแนวคิดเรื่องวัฒนธรรมในฐานะที่เป็นกระบวนการทางชีววิทยาที่เป็นอิสระ  แนวคิดนี้มีอิทธิพลต่อความเข้าใจของประชาชน และยังคงครอบงำความคิดของบุคคลที่ต้องสร้างนโยบาย

          ก่อนเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 มีนักมานุษยวิทยาทั่วโลกไม่มากนัก  นักมานุษยวิทยาเหล่านี้มีน้อยคนที่จะสนใจเรื่องการสร้างนโยบายและการนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ นักมานุษยวิทยาเหล่านี้สนใจการตีความหมายผลกระทบที่เกิดจากการกระทำของภาครัฐ ซึ่งทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม  ในแวดวงสังคมศาสตร์ วิชามานุษยวิทยาเป็นวิชาเดียวที่ศึกษามนุษย์อย่างเป็นระบบโดยใช้การศึกษาเปรียบเทียบวัฒนธรรม

          นโยบาย New Deal ของประธานาธิบดีแฟรงคลิ้น รูสเวลท์ ในช่วงทศวรรษที่ 1930  นักมานุษยวิทยาหลายคนและนักวิชาการสายสังคมศาสตร์อื่นๆถูกนำตัวมาที่รัฐบาลเพื่อเขียนนโยบาย   โจ อาร์ ฮาร์ดิ่ง และ เจ ไมเคิล ลีฟเซย์ เขียนบทความเรื่อง Anthropology and Public Policy (1984) เพื่อวิจารณ์ผลกระทบและการทำงานของนักมานุษยวิทยาที่มีต่อสังคมศาสตร์และการสร้างนโยบายของรัฐ  แต่บทบาทของนักมานุษยวิทยาในฐานะเป็นนักวิจัยและผู้ให้ความรู้  ทำให้นักมานุษยวิทยาเข้าไปมีส่วนในการสร้างนโยบายที่มีผลต่อสังคม  จากประสบการณ์เหล่านี้วิชามานุษยวิทยาเริ่มวิเคราะห์ปัญหาทางสังคมซึ่งเกิดขึ้นในสังคม ชุมชน โรงงาน โรงพยาบาล และโรงเรียน   นักมานุษยวิทยาหลายคนต่างเข้าไปมีส่วนในการร่าง ให้คำปรึกษา ทำวิจัย ให้ความรู้ ฝึกอบรม เพื่อช่วยการสร้างนโยบายให้รัฐบาล  แต่นักมานุษยวิทยาไม่เคยมีส่วนเป็นผู้ตัดสินใจต่อนโยบายเหล่านั้นเลย  วอลเตอร์ โกลด์ชมิดต์ เขียนหนังสือเรื่อง The Use of Anthropology (1979) อธิบายว่านักมานุษยวิทยาที่เข้ามายุ่งเกี่ยวกับการร่างนโยบายทางสังคมในช่วงทศวรรษที่ 1930-1950 มักจะพบปัญหามากมาย

          สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2  มีนักมานุษยวิทยาจำนวนมากเข้าไปเกี่ยวข้องกับการสร้างนโยบาย  หนังสือของรูธ เบเนดิกต์ เรื่อง The Chrysenthemum and the Sword (1946) เป็นหนังสือที่ได้รับการยกย่องว่ามีค่าและมีประโยชน์ต่อการศึกษาเอกลักษณ์แบบอเมริกัน หนังสือนี้ผลิตโดยกรมข้อมูลสงครามของสหรัฐ   นโยบายหลังสงครามที่ประสบความสำเร็จของญี่ปุ่น มีอิทธิพลต่อการศึกษาในประเด็นนี้เช่นกัน เมื่อสิ้นสงคราม นักมานุษยวิทยาหลายคนก็เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการสร้างนโยบายในประเด็นต่างๆ เช่น การจัดพื้นที่ทำกิน การแบ่งเขตแดนให้ชนพื้นเมือง ปัญหาสุขภาพ การประสบภัยธรรมชาติ และการพัฒนาแหล่งน้ำ  แต่ในช่วงทศวรรษที่ 1950 นักมานุษยวิทยาหลายคนกลับไปทำงานในมหาวิทยาลัย ทำให้มีนักมานุษยวิทยาไม่กี่คนที่ยังคงทำงานให้รัฐบาล

          ในช่วงทศวรรษที่ 1950 และ 1960 การศึกษาระดับสูงขยายตัวอย่างรวดเร็ว เช่นเดียวกับงบประมาณการทำวิจัยที่เพิ่มขึ้น สิ่งเหล่านี้เปิดโอกาสให้สาขาวิชามานุษยวิทยาและการพัฒนาขยายตัวออกไป  นักมานุษยวิทยาหลายคนเริ่มไม่สบายใจกับวิธีการสร้างนโยบายของรัฐในช่วงต้นของสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่เมื่อสิ้นสงคราม ในช่วงทศวรรษที่ 1960 นักมานุษยวิทยาหลายคนก็เข้าไปมีส่วนต่อต้านรัฐบาลสหรัฐที่เข้าไปทำสงครามในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะประเทศไทย และเกิดข้อโต้แย้งทางจริยธรรมในโครงการคาเมล็อต ซึ่งได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกระทรงกลาโหมของสหรัฐ

          ในทศวรรษที่ 1950 มีกลุ่มนักวิชาการสายสังคมศาสตร์กลุ่มใหญ่ ซึ่งสนใจเกี่ยวกับการสร้างนโยบาย แนวคิดเกี่ยวกับการสร้างนโยบาย และแนวคิดเชิงวิทยาศาสตร์ถูกพัฒนาขึ้นโดยแฮโรลด์ ลาสเวลล์   แนวคิดของลาสเวลล์ในเรื่องศาสตร์ของการสร้างนโยบายต้องอาศัยความรู้จากหลายสาขา ไม่มีศาสตร์ใดศาสตร์เดียวที่จะศึกษาการสร้างนโยบายได้ถูกต้อง เพราะต้องทำความเข้าสิ่งที่เป็นปัญหา ความซับซ้อนของเรื่องราว และเกี่ยวข้องกับบริบททางสังคมมากมาย ในฐานะที่วิชามานุษยวิทยาเป็นส่วนหนึ่งของมนุษยศาสตร์ มานุษยวิทยาได้ให้มุมมองเกี่ยวกับการศึกษามนุษย์แบบองค์รวม หรือรอบด้าน ต้องเก็บข้อมูลในพื้นที่จริง และใช้ความคิดทางวัฒนธรรมที่ไม่แบ่งแยกว่าของใครดีกว่ากัน  แนวคิดนี้ทำให้ลาสเวลล์สร้างวิธีการศึกษานโยบายได้ชัดเจนขึ้น  อย่างไรก็ตาม ความตั้งใจของนักมานุษยวิทยาคือการพัฒนาความคิดทางวิชาการ   แต่ศาสตร์ของการสร้างนโยบายที่แยกตัวออกเป็นเอกเทศได้นำไปสู่การพัฒนาความคิดน้อยลงเรื่อยๆ   หลักสูตรที่เกิดขึ้นในศาสตร์การสร้างนโยบายเกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยต่างๆ ภายใต้คณะรัฐศาสตร์ การวางแผน สังคมวิทยา นิติศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ สังคมสงเคราะห์ และการบริหารจัดการ

          แนวคิดเรื่องนโยบายในช่วงทศวรรษที่ 1950 และ 1960 เป็นแนวคิดที่มาจากผู้ที่ทำงานสังคมสงเคราะห์ซึ่งมีส่วนตัดสินใจต่อนโยบายต่างๆ  โดยเชื่อว่านโยบายต่อเป็นสิ่งที่ดีสำหรับประชาชน  ด้วยเหตุนี้จึงทำให้นิยามของนโยบายค่อยๆแคบลง โดยเป็นเรื่องที่สามารถนำไปใช้ได้จริง  การศึกษาทางด้านนิติศาสตร์เพื่อการแก้ปัญหาสังคม เป็นการศึกษาที่เข้าไปเกี่ยวกับการตัดสินใจเชิงนโยบายมากขึ้น  แต่สิ่งเหล่านี้มองข้ามประสิทธิภาพขอกฎหมายและผลที่ตามมา หรือมองไม่เห็นมิติของมนุษย์

          การวิจัยที่เกี่ยวข้องการการสร้างนโยบาย ยังคงดำเนินต่อไปในแวดวงมานุษยวิทยา แต่ช่วงนี้ได้รับอิทธิพลจากงบประมาณมหาศาล และการให้ความสำคัญจากสถาบันวิชาการ  การวิจัยเหล่านี้ส่วนใหญ่ให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจสำหรับการแก้ปัญหาสังคม แต่ไม่ค่อยถูกนำไปเป็นนโยบาย  ตัวอย่างโครงการวิจัย 3 โครงการซึ่งมีอิทธิพล เช่น โครงการฟ็อกซ์ ของสถาบันโซลแท็ก แห่งมหาวิทยาลัยชิคาโก ซึ่งเริ่มในปี ค.ศ.1948 เป็นโครงการที่ใช้ความรู้ทางมานุษยวิทยาเพื่อที่จะช่วยเหลือชุมชนชาวพื้นเมืองในรัฐไอโอว่า  โครงการวิคอสของมหาวิทยาลัยคอร์แนลในปี ค.ศ.1952 พยายามที่จะเปลี่ยนแปลงรูปแบบเศรษฐกิจและการเมืองในชุมชนเปรูในพื้นที่ภูเขาสูง  และโครงการ Peace Corps ในปี ค.ศ.1961 ซึ่งใช้นักมานุษยวิทยาจำนวนมากทำวิจัยเพื่อศึกษาความยากจน

          มานุษยวิทยาในทศวรรษที่ 1970 พัฒนาสาขาย่อยขึ้นหลายสาขา ซึ่งมิได้วางอยู่บนฐานคิดทฤษฎีที่เฉพาะเจาะจง แต่วางอยู่บนประเด็นปัญหาทางสังคม เช่น มานุษยวิทยาการแพทย์ การศึกษา เศรษฐกิจ คณิตศาสตร์ สัญลักษณ์และการรับรู้ การวิเคราะห์ระบบเครือข่าย กฎหมาย สงคราม ระบบนิเวศน์ หรือมานุษยวิทยานิเวศน์ มานุษยวิทยาการพัฒนา มานุษยวิทยากายภาพ การเมือง โภชนาการ และสาขาอื่นๆอีกมากมาย  ในเวลาเดียวกัน โอกาสของการทำงานเชิงวิชาการของนักมานุษยวิทยาเริ่มมีน้อยลง เพราะจำนวนนักมานุษยวิทยาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ  โรเบิร์ต วูลฟ์ และเชอร์รี เจ ฟิสต์ (1987) ได้นำวิชามานุษยวิทยาไปสู่การทำงานที่หลากหลายและเชื่อมโยงกับการประยุกต์ใช้ทฤษฎีทางสังคม และการปฏิบัติ 

         ในทศวรรษที่ 1990 นักมานุษยวิทยาหลายคนต่างเข้าไปมีบทบาทในเรื่องนโยบาย ซึ่งทำให้เกิดการเชื่อมโยงระหว่างชุมชนกับผู้ที่มีอำนาจตัดสินใจซึ่งเป็นผู้สร้างนโยบาย  ดังนั้นนักมานุษยวิทยาที่กลายเป็นผู้นำในการสร้างนโยบายจึงมีจำนวนเพิ่มขึ้น  ในทางกลับกัน  นักมานุษยวิทยาเหล่านี้ก็ทำให้เข้าใจว่าความสัมพันธ์ของมานุษยวิทยากับการสร้างนโยบายเป็นอย่างไร ทั้งในแง่ที่เป็นวิธีการทำงาน การศึกษา การขยายความรู้ และการพัฒนาแนวคิดทฤษฎีใหม่ๆเพื่อนำไปปฏิบัติ


ผู้เขียน: ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ

เอกสารอ้างอิง:

Anne Francis Okongwu and Joan P. Mencher. 2000. The Anthropology of Public Policy: Shifting Terrains. Annual Review of Anthropology, Vol. 29 (2000), pp. 107-124.

David Levinson and Melvin Ember (eds.) 1996. Encyclopedia of Cultural Anthropology. Henry Holt and Company, New York. Pp.959-961.

Janine R. Wedel, Cris Shore, Gregory Feldman, Stacy Lathrop. 2005. Toward an Anthropology of Public Policy. Annals of the American Academy of Political and Social Science, Vol. 600, 30-51.

Shore, Chris and Susan Wright (eds.) (1997) Anthropology of Policy: Critical Perspectives on Governance and Power, London, Routledge.


หัวเรื่องอิสระ: มานุษยวิทยาเชิงนโยบาย