คำศัพท์

Pluralism

       Pluralism หมายถึงลักษณะทางสังคมที่ประกอบด้วยกลุ่มคนและวัฒนธรรมย่อยๆที่ดำรงอยู่ร่วมกัน  คำว่า pluralism และ plural มิใช่คำที่ใช้อย่างโดดๆ  คำว่า pluralism จะใช้พร้อมกับคำอื่นๆ เช่น cultural pluralism หรือ พหุลักษณ์ทางวัฒนธรรม  คำว่า plural society หรือ สังคมพหุลักษณ์   ความหมายของ pluralism จึงใช้แตกต่างกันในสาขาวิชาต่างๆ  ในช่วงกลางทศวรรษที่ 1980  นักปรัชญานำคำว่า pluralism มาใช้เพื่ออธิบายข้อค้นพบครั้งสำคัญในวิชาปรัชญาของคริสต์ศตวรรษที่ 20  ในมุมมองของนักปรัชญาอธิบายว่า pluralism หมายถึงการแสวงหาความจริงที่หลากหลาย  ส่วนนักมานุษยวิทยาคิดต่างไปจากนักปรัชญา เพราะการวิจัยภาคสนามที่ต้องใช้การสังเกตการณ์อย่างมีส่วนร่วมเป็นบทเรียนสำคัญที่ทำให้นักมานุษยวิทยาคิดถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรม

        ทฤษฎีทางการเมืองของอังกฤษสนใจเรื่องการประนีประนอมทางการเมืองระหว่างคนกลุ่มต่างๆซึ่งนำไปสู่แนวคิดเรื่อง pluralism   แนวคิดแบบอังกฤษจะสนใจบทบาทขององค์กรที่เกี่ยวข้องกับสถาบันทางการเมืองและประชาชน  นักทฤษฎีทางการเมืองหลายคน เช่น เจ. นีวิลล์ ฟิกจิส และเฮโวลด์ เจ ลาสกี ต่างเชื่อเรื่องพหุลักษณ์ หรือความหลากหลายของรูปแบบรัฐซึ่งประชาชนต่างสร้างรัฐของตนเองขึ้นมาเพื่อจรรโลงเอกลักษณ์ทางชาติพันธุ์  และควบคุมสมาชิกในกลุ่มให้อยู่ในระเบียบกฎเกณฑ์ ในเวลาเดียวกันก็เหนี่ยวรั้งให้รัฐบาลทำในสิ่งที่ตนเองต้องการ  แต่แนวคิดนี้ไม่สนใจเรื่องอำนาจอธิปไตย

        ส่วนแนวคิดแบบอเมริกัน เห็นได้จากนักคิด เช่น เอ เอฟ เบนต์ลีย์ และ โรเบิร์ต เอ ดาห์ล ทั้งสองคนนี้มีวิธีคิดต่างไปจากของอังกฤษ   แนวคิดแบบอเมริกันเชื่อว่ารัฐมิใช่สิ่งสำคัญ แต่การธำรงรักษาให้รัฐอยู่รอดได้สำคัญกว่า กล่าวคือ รัฐต้องมีวิธีการไกล่เกลี่ยกลุ่มคนต่างๆในรัฐมิให้ขัดแย้งกัน  นอกจากนั้น ยังเชื่อว่ากลุ่มคนต่างๆจะกระทำการใดๆเพื่อเปลี่ยนแปลงอำนาจของรัฐ และเพื่อแสดงตัวตนของปัจเจกออกมา  แนวคิดแบบอเมริกันให้ความสนใจพลังของแต่ละกลุ่มที่อยู่ภายในรัฐซึ่งก่อให้เกิดสังคมแบบประชาธิปไตย  ในขณะที่แนวคิดแบบอังกฤษเชื่อว่ารัฐบาลคือตัวกลางในการไกล่เกลี่ยคนกลุ่มต่างๆ   แนวคิดอเมริกันเชื่อว่าการดำรงอยู่ของรัฐเต็มไปด้วยการแข่งขันเชิงอำนาจกับกลุ่มคนที่หลากหลาย  เมื่ออำนาจของคนแต่ละกลุ่มมีผลต่อการตัดสินใจของรัฐ ก็จะทำให้กลุ่มผู้มีอำนาจหรือชนชั้นสูงฉกฉวยประโยชน์ให้ตนเองมากกว่าที่จะทำเพื่อประชาชนส่วนใหญ่

       สำหรับความหลากหลายทางสังคม หรือพหุลักษณ์ทางสังคมจะให้ความสำคัญกับการวิจัยเชิงประจักษ์ โดยอาจนำแนวคิดทฤษฎีมาช่วยอธิบายให้พอเหมาะสมกับข้อมูลที่พบ  นักปรัชญาโต้แย้งว่ารัฐบาลมีหน้าที่ควบคุมความรุนแรงในสังคม  ซึ่งอาจเป็นความจริงบางส่วนเพราะความรุนแรงอาจเกิดขึ้นจากการติดต่อสื่อสารทางสังคม  อย่างไรก็ตาม แนวคิดทางการเมืองและสังคมวางอยู่บนความเชื่อเรื่องธรรมชาติที่มีอยู่จริงของรัฐ  พหุลักษณ์ทางการเมืองเชื่อว่ารัฐมีอยู่ได้ด้วยตัวเอง  คนแต่ละกลุ่มในรัฐซึ่งอาจยับยั้งหรือสนับสนุนอำนาจของรัฐก็ยังยอมรับว่ารัฐเป็นสิ่งที่ชอบธรรมที่จะเข้ามาไกล่เกลี่ยความขัดแย้งต่างๆ และการยุติความขัดแย้งก็ต้องใช้วิธีการเจรจาต่อรอง มิใช่การใช้อำนาจบังคับขู่เข็ญ  ส่วนแนวคิดเรื่องพหุลักษณ์ทางสังคมเชื่อว่าอำนาจทางการเมืองโดยเฉพาะในยุคอาณานิคม ได้มาจากพลังขับดันทางสังคม

       การศึกษาของเฟอร์นิวัล ในปี ค.ศ.1939  เกี่ยวกับผลกระทบของการปกครองในยุคอาณานิคมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  รวมทั้งการศึกษาของนักวิชาการอีกหลายคนที่ศึกษาการปกครองในยุคอาณานิคมในเขตแอฟริกาและอเมริกา  ประวัติศาสตร์ของลัทธิอาณานิคมเกิดขึ้นมาโดยมองข้ามความหลากหลายทางการเมือง กล่าวคือ ลัทธิอาณานิคมไม่เห็นคุณค่าของความคิดความเชื่อของคนกลุ่มต่างๆที่อยู่ในรัฐ   การปกครองชนกลุ่มน้อยจึงเกิดขึ้นในลักษณะของการบีบบังคับควบคุม  กลุ่มคนต่างๆที่อยู่ในรัฐล้วนมีเอกภาพในตัวเอง ยกเว้นการติดต่อแลกเปลี่ยนเชิงการค้า  ความแตกต่างทางวัฒนธรรมของคนหลายกลุ่มภายในสังคมเดียวกันทำให้เกิดความคิดเรื่องสังคมพหุลักษณ์   ความคิดเรื่องพหุลักษณ์ในแนวนี้จึงชี้ให้เห็นการแยกกันอยู่ของหน่วยทางสังคมซึ่งแต่ละหน่วยมีอำนาจของตัวเอง หรือมีการปกครองที่แตกต่างกัน และไม่จำเป็นต้องเหมือนกับบรรทัดฐานของชาติที่รัฐเป็นผู้กำหนด

       อย่างไรก็ตาม นักวิชาการที่เชื่อแนวคิดเรื่องพหุลักษณ์ทางสังคมยังมีความเห็นที่ต่างกัน รวมทั้งผู้ที่ไม่เห็นด้วยที่จะนำแบบอย่างสังคมบางแห่งมาเป็นตัวแทนสังคมพหุลักษณ์   ตัวอย่างเช่น  ปิแอร์ แวน เดน เบิร์ก(1973)  โต้แย้งว่าสังคมพหุลักษณ์อาจมีวัฒนธรรมร่วมกันก็ได้ เช่นในสังคมอเมริกา  ชาวเอมริกันผิวดำจะมีสังคมที่ต่างจากชาวอเมริกันผิวขาว แต่คนทั้งสองกลุ่มจะมีวัฒนธรรมร่วมกัน      อย่างไรก็ตาม อาจกล่าวได้ว่าความคิดเรื่องพหุลักษณ์ที่ใช้อธิบายลักษณะทางการเมืองและสังคมในอเมริกามีข้อสรุปที่ต่างกัน  ในแง่ของการเมืองมีความคิดว่าสังคมอเมริกันประกอบด้วยกลุ่มคนที่หลากหลายซึ่งนำไปสู่การปกครองแบบประชาธิปไตย  ส่วนในแง่สังคมเชื่อว่าความหลากหลายทางสังคมในอเมริกาอาจนำไปสู่ความหายนะ เพราะคนแต่ละกลุ่มจะมีความขัดแย้งและความต้องการที่ไม่เหมือนกัน

       นอกจากจะมีข้อถกเถียงในเชิงการเมืองและสังคมแล้ว ยังมีคำอธิบายจากแง่มุมทางวัฒนธรรม  กล่าวคือ  ความคิดเรื่องความหลากหลายทางวัฒนธรรมเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ในการอธิบายสังคมอเมริกา  คำอธิบายที่มาจากโฮเรซ แอ็ม คัลเลน ในปี ค.ศ.1915 ซึ่งพูดถึงพหุลักษณ์ทางวัฒนธรรม เป็นแนวคิดแรกที่ยกประเด็นเรื่องเบ้าหลอมโดยเปรียบเทียบกับสังคมอเมริกาที่มีการผสมผสานของกลุ่มคนต่างๆที่อพยพมาจากต่างแดนจนทำให้เกิดวัฒนธรรมแบบอเมริกา     ต่อมาเกลเซอร์และมอยนิฮัน(1963) และกอร์ดอน(1964) นำแนวคิดของคัลเลนมาวิเคราะห์เพื่อชี้ว่าการมองเห็นความหลากหลายทางการเมืองและสังคมของสังคมหนึ่ง เป็นเพียงกระบวนการที่มีการเปลี่ยนแปลง  ในสังคมอเมริกาที่ประกอบด้วยคนอพยพซึ่งมีการปรับตัวและอยู่ร่วมกับคนอื่น เป็นเพียงการเอาตัวรอด มิใช่การผสมผสานทางวัฒนธรรมแต่อย่างใด  นักวิชาการบางคนวิจารณ์ว่ากระบวนการเปลี่ยนแปลงนี้มิได้เกิดขึ้นเป็นขั้นตอน แต่เป็นการเปลี่ยนอย่างหลากหลายที่ขึ้นอยู่กับสำนึกทางชาติพันธุ์ ศาสนา และเชื้อชาติ

        การเปรียบเปรยว่าสังคมเหมือนกับเบ้าหลอม เนื่องจากมีความเชื่อเรื่องการอยู่ร่วมกันของคนหลายกลุ่มโดยมีความเอนเอียงที่จะเชิดชูยกย่องคนบางกลุ่ม  นอกจากนั้น ยังนำไปสู่การอธิบายเรื่องการกลืนกินวัฒนธรรมของคนกลุ่มใหญ่ที่มีต่อคนกลุ่มน้อย  การกลืนกินวัฒนธรรมในแบบหลอมละลายวัฒนธรรมของคนอื่นเป็นการสร้างความหมายใหม่ เพราะแต่เดิมการกลืนกินเป็นการครอบงำของวัฒนธรรมที่ใหญ่กว่า   สำหรับนักวิชาการที่เชื่อว่าการกลืนกินวัฒนธรรมเป็นความเท่าเทียม อธิบายว่าการติดต่อทางวัฒนธรรมมาจากการผสมผสานทางวัฒนธรรมซึ่งก่อให้เกิดวัฒนธรรมที่ยิ่งใหญ่กว่าเดิม หรือมีค่ากว่าเดิม  ถึงแม้คำอธิบายนี้จะดูเป็นกลาง แต่การศึกษาเรื่องการกลืนกินหรือผสมผสานวัฒนธรรมล้วนเชื่อว่าวัฒนธรรมต้องมีการติดต่อแลกเปลี่ยนกัน  แนวคิดเรื่องพหุลักษณ์จึงมีปัญหาในการอธิบาย เพราะความแตกต่างทางวัฒนธรรมมิใช่ของที่ประดิษฐ์ขึ้นใหม่ หากแต่เป็นการสร้างคุณค่าทางชาติพันธุ์ของคนแต่กลุ่ม

       คำว่า “multiculturalism”  ถูกใช้เพื่อสร้างความแตกต่างระหว่าง การกลืนกินวัฒนธรรม (acculturation ) และ  พหุลักษณ์ (pluralism)   ถึงแม้ว่า multiculturalism จะมีความหมายเดียวกับคำว่า cultural pluralism หรือความหลากหลายทางวัฒนธรรม  แต่ multiculturalism จะให้ความสนใจเรื่องพฤติกรรมของมนุษย์มากกว่า  นักปรัชญาการเมืองหลายคนมักสนใจความหลากหลายทางการเมือง แต่นักสังคมวิทยาและรักมานุษยวิทยาจะสนใจบริบททางวัฒนธรรมและสังคม  ในขณะที่นักคิดแนวพหุลักษณ์ทางสังคมจะสนใจสังคมในยุคอาณานิคม แต่นักคิดแนวพหุลักษณ์ทางวัฒนธรรมและการเมืองจะสนใจสังคมอเมริกาและอังกฤษ    ในทำนองเดียวกัน นักคิดแนวพหุลักษณ์ทางการเมือง และนักคิดแนวพหุลักษณ์ทางวัฒนธรรมต่างชื่นชมคุณค่าของความหลากหลายซึ่งช่วยสร้างสังคมประชาธิปไตยได้ ในขณะที่นักคิดแนวพหุลักษณ์ทางสังคมเชื่อว่าสังคมต้องแยกออกจากกัน เพราะคนแต่ละกลุ่มมีอำนาจในการปกครองตนเอง

       การศึกษาทางมานุษยวิทยา มีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงการศึกษาจากเดิมที่เคยสนใจสังคมที่ตัดขาดโลกภายนอก ไปสู่การศึกษาสังคมร่วมสมัยมากขึ้น  เนื่องจากสังคมทุกแห่งล้วนมีวัฒนธรรม ดังนั้นแนวคิดเรื่องพหุลักษณ์จะชี้ให้เห็นการเปลี่ยนแปลงในการศึกษาทางมานุษยวิทยา กล่าวคือ มานุษยวิทยาไม่จำเป็นต้องศึกษาสังคมโดดๆ หากแต่ควรศึกษาสังคมที่ติดต่อกับโลกภายนอกในปัจจุบัน  การเขียนงานทางชาติพันธุ์ของนักมานุษยวิทยาจะทำให้เห็นประวัติศาสตร์ของสังคมยุคทันสมัยที่พบในปัจจุบัน  กล่าวคือ นักมานุษยวิทยาสามารถอธิบายชีวิตของคนในยุคปัจจุบันได้ ซึ่งอาจทำให้วิธีการศึกษาของมานุษยวิทยาเปลี่ยนไป  การศึกษาสังคมที่ประกอบด้วยกลุ่มคนหลากหลายก่อให้เกิดคำถามว่าสังคมแบบไหนที่เป็นพหุลักษณ์ และแบบไหนมิใช่  การวิจัยมักจะพูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ซึ่งอาจเกิดขึ้นนอกเหนือพรมแดนรัฐชาติ แต่มักจะอธิบายด้วยเงื่อนไขประวัติศาสตร์ของลัทธิอาณานิคม

       ความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์อาจทำให้สภาพของพหุลักษณ์ดำรงอยู่ได้ ซึ่งสิ่งนี้มีผลต่อการกระทำทั้งในระดับบุคคลและโครงสร้างของรัฐ  การศึกษาพฤติกรรมของกลุ่มทางสังคม เช่น ความสำนึกในการเป็นสมาชิกของกลุ่มซึ่งอาจได้มาจากการสืบสายตระกูล แต่สิ่งนี้อาจนำไปสู่การตีความที่ผิดๆเกี่ยวกับเรื่องความเป็นสมาชิกที่มีอยู่โดยธรรมชาติ  ในทางปฏิบัติ การมีสำนึกของการเป็นพวกเดียวกันเป็นเพียงอัตลักษณ์ในอุดมคติที่ถูกสร้างขึ้นจากสังคมนั้นๆ   จากการศึกษาพบว่าอัตลักษณ์ของกลุ่มมีการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย โดยอาจมีการสร้างอัตลักษณ์ใหม่ หรือนำของเก่ามาใช้ใหม่เพื่อปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ทางการเมืองและเศรษฐกิจ

      ความไม่หยุดนิ่งของสมาชิกภายในกลุ่มและระหว่างกลุ่ม เป็นเรื่องทางวัฒนธรรม  กลุ่มทางสังคมมิใช่สิ่งคงที่ถาวรหรือมีเอกภาพ แต่มีความขัดแย้งและติดต่อกับคนกลุ่มอื่นๆ  จากแนวคิดนี้ทำให้ความหมายของพหุลักษณ์มีข้อบกพร่อง เพราะมองวัฒนธรรมเป็นเรื่องตายตัวและมองข้ามการเปลี่ยนแปลงเชิงประวัติศาสตร์  นอกจากนั้น แนวคิดพหุลักษณ์มีเป้าหมายที่จะธำรงรักษาความเป็นรัฐเอาไว้   ในมุมมองแบบพหุลักษณ์ทางสังคมจะเชื่อว่าเมื่ออำนาจในการผนึกรวมกลุ่มคนต่างๆมีพลังมากขึ้น ก็จะทำให้เกิดความกลมเกลียวทางสังคม  การล่มสลายของลัทธิอาณานิคมสะท้อนให้เห็นว่าอำนาจดังกล่าวมีข้อจำกัด  พรมแดนของรัฐในยุคหลังลัทธิอาณานิคมจึงยังคงมีความขัดแย้งตลอดเวลา และมีการถามว่ารัฐแบบพหุลักษณ์จะเกิดขึ้นได้อย่างไร

      แนวคิดเรื่องพหุลักษณ์ทางการเมืองและวัฒนธรรม มีข้อสันนิษฐานว่ารัฐมีขอบเขตในการสร้างอำนาจในตัวเอง ซึ่งทำให้แนวคิดพหุลักษณ์มีปัญหาในการอธิบายความหมายของรัฐในปัจจุบัน  ยิ่งมีการเน้นย้ำเรื่องพหุลักษณ์มากเท่าใด ก็ยิ่งทำให้เกิดการแก่งแย่งแข่งขันระหว่างกลุ่มต่างๆในรัฐมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มศาสนา ชาติพันธุ์ หรือเผ่าพันธุ์ ซึ่งคนแต่กลุ่มจะออกมาเรียกร้องความเป็นชาติของตัวเอง  อย่างไรก็ตาม นักคิดที่ไม่เห็นด้วยกับเรื่องพหุลักษณ์ ออกมาคัดค้านและชี้ให้เห็นว่าสังคมที่ประกอบด้วยกลุ่มคนหลากหลายมิได้เป็นสังคมที่ปราศจากความขัดแย้ง แต่ ความขัดแย้งจะมาจากกลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มศาสนา หรือเชื้อชาติ ความแตกต่างเหล่านี้อาจทำให้สังคมแบบพหุลักษณ์เกิดขึ้นไม่ได้ตามทฤษฎีที่วางไว้


ผู้เขียน: ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ

เอกสารอ้างอิง:

Bellamy, R., & Hollis, M. (1999). Pluralism and liberal neutrality. London: Frank Cass.

Denise Helly. 2002. Cultural Pluralism: An Overview of the Debate since the 60s. The Global Review of Ethnopolitics, Vol. 2 no. 1, September 2002, 75-96

David Levinson and Melvin Ember ed.(1996). Encyclopedia of Cultural Anthropology, Henry Holt and Company, New York. Pp.940-943.

McLennan, G. (1995). Pluralism. Minneapolis: University of Minnesota Press.


หัวเรื่องอิสระ: พหุนิยม