คำศัพท์

Anthropology and Human Right

        ความคิดเรื่องสิทธิมนุษยชนในทางมานุษยวิทยา หมายถึงการทำความเข้าใจวิธีคิดและระบบคุณค่าที่มนุษย์มีต่อสิทธิของบุคคล โดยทำความเข้าใจฐานความคิดที่รองรับคำอธิบายเกี่ยวกับสิทธิและตัวตนความเป็นมนุษย์ ทำความเข้าใจวิธีปฏิบัติ การแสดงออก และการได้มาในสิทธิของบุคคลในบริบทต่างๆ เปรียบเทียบสังคมแต่ละแห่งว่ามีการปฏิบัติและการให้ความหมายต่อสิทธิเหมือนหรือต่างกันอย่างไรบ้าง รวมถึงศึกษาวิธีการปกป้องคุ้มครองบุคคลให้ปลอดภัยจากการถูกคุกคาม การดูหมิ่นเหยียดหยาม ความขัดแย้ง และการทำร้าย และมาตรการต่างๆทางการเมืองที่ขับเคลื่อนการได้มาในสิทธิความเป็นมนุษย์

        สิทธิมนุษยชนมีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความคิดเรื่องธรรมชาติของมนุษย์ ในสังคมตะวันตกความคิดเรื่องสิทธิของมนุษย์ปรากฎขึ้นในช่วง Enlightenment หรือยุคที่ความรู้วิทยาศาสตร์กำลังเติบโต  ส่วนวิชามานุษยวิทยาเป็นศาสตร์ที่ศึกษามนุษย์ทั้งในมิติทางวัฒนธรรมและชีววิทยาซึ่งมีทั้งจุดร่วมและจุดต่าง   ประเด็นที่นักมานุษยวิทยาสนใจคือ สิทธิทางวัฒนธรรม สิทธิในการแสดงออกและธำรงรักษาวัฒนธรรมของคนกลุ่มต่างๆ (Rights to Culture) ประเด็นนี้ต้องการชี้ว่ามนุษย์ทุกคนมีสิทธิที่จะแสดงออกและมีส่วนร่วมในวัฒนธรรมของตัวเองโดยไม่ถูกริดรอนหรือถูกปิดกั้นจากผู้อื่น

         อย่างไรก็ตาม การศึกษาในประเด็นเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนของนักมานุษยวิทยายังมีน้อย  การศึกษาเกี่ยวกับเรื่องนี้เพิ่งเกิดขึ้นมาไม่นาน เนื่องจากเหตุผล 5 ประการ คือ 1) หลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา สังคมโลกเริ่มตระหนักถึงปัญหาสิทธิมนุษยชนมากขึ้น  2)  ประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชนกลายเป็นเรื่องทางกฎหมายและอำนาจรัฐ  3) วิชามานุษยวิทยาเติบโตมาพร้อมกับลัทธิอาณานิคม ซึ่งมีบรรยายที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชน  4) นักมานุษยวิทยาหลายคนเริ่มตระหนักว่าวัฒนธรรมของชนเผ่ากำลังสูญหายไป หรือถูกวัฒนธรรมอื่นเข้ามาครอบงำ  และ 5) วิทยาศาสตร์ต้องการสร้างความเป็นกลางและแยกส่วนสิ่งต่างๆออกจากกัน

           การศึกษาเรื่องสิทธิในแต่ละวัฒนธรรมมีความละเอียดอ่อน ซึ่งวิธีคิดแบบตะวันตกอาจไม่สามารถอธิบายบริบทความแตกต่างของวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับสิทธิได้ เช่น ชาวตะวันตกเชื่อว่าการคลุมหน้าของผู้หญิงมุสลิมเป็นการริดรอนสิทธิของผู้หญิง แต่ในวัฒนธรรมมุสลิม ไม่คิดว่าการคลุมหน้าคือการละเมิดสิทธิ หากแต่เป็นสิ่งที่มีค่าและสำคัญสำหรับผู้หญิงในการปฏิบัติตนตามหลักศาสนาอิสลาม กรณีนี้ชี้ให้เห็นว่าความหมายและการแสดงออกของสิทธิในแต่ละวัฒนธรรมจะมีบริบทที่ไม่เหมือนกัน นักมานุษยวิทยาจึงเริ่มตั้งคำถามว่าวาทกรรมของสิทธิมนุษยชนในปัจจุบันเป็นเรื่องเชิงการเมืองของสังคมประชาธิปไตยแบบเหตุผลนิยมใช่หรือไม่ เพราะการอ้างกฎหมายสากลเพื่อให้เกิดสิทธิมนุษยชนอาจบิดเบือนความหลากหลายทางวัฒนธรรมและการแสดงออกในเรื่องสิทธิที่แตกต่างกัน

          ในหลายประเทศพยายามที่จะต่อสู้เพื่อมิให้ถูกกล่าวหาว่าละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยการอ้างว่าประเทศของตนมีนโยบายของตนเอง เช่นประเทศกำลังพัฒนามักอ้างว่าต้องการเวลาสำหรับการแก้ไขและปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน  หรืออ้างว่าแนวคิดเรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นแนวคิดของตะวันตกซึ่งใช้ไม่ได้กับประเทศโลกที่สาม เพราะตะวันตกใช้อำนาจในการล่าเมืองขึ้นและแสวงหาอาณานิคม    ตามธรรมเนียมดั้งเดิมของมานุษยวิทยาเป็นการศึกษาความแตกต่างทางวัฒนธรรม และบริบททางวัฒนธรรมที่ต่างกัน ขณะเดียวกันก็ศึกษาความเหมือนกันของมนุษย์เพื่อเสาะหาสิ่งสากลที่มีร่วมกัน   มานุษยวิทยาจึงเป็นศาสตร์ที่มีเป้าหมายเช่นเดียวกับการแสวงหาสิทธิมนุษยชน ทั้งในเชิงทฤษฎีและปฏิบัติ   อย่างไรก็ตาม แนวคิดเรื่องความเป็นสากลของสิทธิมนุษยชนกับเรื่องความหลากหลายทางวัฒนธรรมยังเป็นประเด็นที่นักมานุษยวิทยาต้องศึกษาและโต้เถียงกันต่อไป

          คำว่า “สิทธิมนุษย์”  เป็นคำที่บ่งบอกให้รู้ถึงคุณค่าของมนุษย์  คำนี้เป็นแนวคิดที่อยู่เหนือขอบเขตความแตกต่างทางวัฒนธรรม  ในหลายประเทศต่างเห็นพ้องต้องกันกับองค์การสหประชาชาติและกรรมการด้านสิทธิมนุษยชนสากล   ในบางประเทศอาจละเมิดสิทธิมนุษยชนและอ้างความแตกต่างทางวัฒนธรรมเพื่อมิให้ถูกตำหนิ   ถ้าวัฒนธรรมเป็นตัวขัดขวางสิทธิก็จะทำให้เกิดความขัดแย้งเช่นกัน เช่น การขลิบอวัยวะเพศของผู้หญิงในสังคมแอฟริกาและตะวันออกกลาง  ความแตกต่างและเงื่อนไขทางวัฒนธรรมอาจถูกยกขึ้นมาเป็นเหตุผลของการไม่ปฏิบัติตามสิทธิมนุษยชน  แต่นักวิชาการบางคนกล่าวว่าเหตุผลทางวัฒนธรรมไม่ควรนำมาอ้างในการละเมิดสิทธิมนุษยชน   อย่างไรก็ตามสิทธิเกี่ยวกับบุคล กลุ่มทางสังคม และประเทศชาติยังคงเป็นสิ่งที่มีปัญหา

          ตามธรรมเนียมเดิม นักมานุษยวิทยาจะลงไปเก็บข้อมูลในหมู่บ้านและชุมชนของชาวพื้นเมืองซึ่งเป็นสังคมที่ไร้อำนาจทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจ   นักมานุษยวิทยาที่ทำงานภาคสนามมีโอกาสที่จะเห็นและทำความเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิมนุษย์ในหมู่บ้าน แต่นักมานุษยวิทยาก็อยู่ไม่นาน   ตัวอย่างเช่น  นักมานุษยวิทยาเข้าไปเรียกร้องเสรีภาพให้กับชาวบ้านซึ่งอาจถูกรัฐบาลสั่งห้ามมิให้เข้าไปทำงานในหมู่บ้านนั้นอีก   นักมานุษยวิทยายังมีทางเลือกเพื่อไปทำงานในที่อื่นๆ แต่ชาวบ้านยังต้องอยู่ที่นั่นต่อไป  ดังนั้นการเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับเรื่องสิทธิมนุษยชนจึงเป็นอันตราย หรืออาจถึงตายได้  ไม่ว่าจะเป็นนักมานุษยวิทยา ชาวบ้าน หรือผู้ที่ให้ข้อมูล

          นักมานุษยวิทยาที่อยู่ในหมู่บ้านต้องเป็นผู้ที่ทำงานเชิงรุก ยืดหยุ่น และรู้จักป้องกันตัวเอง  นอกจากนั้นยังต้องรักษาจรรยาบรรณของการทำงานด้วย  สมาคมมานุษยวิทยาอมเริกาเคยกล่าวว่าความรับผิดชอบอันดับแรกของนักมานุษยวิทยาก็คือ ชีวิตของชาวบ้านที่นักมานุษยวิทยาเข้าไปศึกษา  นักมานุษยวิทยาต้องทำทุกวิถีทางเพื่อที่จะปกป้องสิทธิและศักดิ์ศรีชาวบ้าน  นักมานุษยวิทยาต้องคำนึงถึงความปลอดภัยในร่างกาย สังคม และความรู้สึกของชาวบ้าน  นักมานุษยวิทยาต้องปกป้องสิทธิ ผลประโยชน์ และจิตใจของชาวบ้านอย่างเต็มเปี่ยม และสิ่งเหล่านี้ก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนโดยตรง

          นักมานุษยวิทยาที่ทำงานเป็นปากเสียงแทนชาวบ้านจะต้องต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงในสิ่งที่ดีกว่า  ถึงแม้ว่านักมานุษยวิทยาจะทำหน้าที่ตัวแทนของชาวบ้าน แต่เป็นการกระทำจากเหตุผลส่วนตัว  หลังจากสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา เมื่อสิ้นสุดระบบอาณานิคมและมีการปลดปล่อยประเทศต่างๆเป็นอิสระ  นักมานุษยวิทยาก็เริ่มต่อสู้เพื่อเสรีภาพของชาวบ้านเช่นเดียวกัน   กรณีสงครามเวียดนามทำให้นักมานุษยวิทยาหันมาทบทวนบทบาทของตัวเองมากขึ้น ทั้งในเรื่องวิชาชีพ ศีลธรรม จริยธรรม และการเมือง  ในช่วงเวลานั้นก็เริ่มมีรายงานเกี่ยวกับการฆ่าหมู่และฆ่าชนกลุ่มน้อยในอเมซอนและที่อื่นๆของโลกมากขึ้น   นักมานุษยวิทยาจากลาตินอเมริกาได้จัดประชุมเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนเพื่อวิจารณ์การทำงานของนักมานุษยวิทยา

          สาระจากการประชุมครั้งนั้นก่อให้เกิดสัตยาบรรณของนักมานุษยวิทยาที่จะต้องทำหน้าที่ต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพของชนพื้นเมือง   นักมานุษยวิทยาประเภททำงานเพื่อมวลชนจึงถือกำเนิดขึ้นมา โดยมีประเด็นที่สนใจคือเรื่องปัญหาสังคม เศรษฐกิจ คุณภาพชีวิต การรักษาวัฒนธรรมของชนกลุ่มน้อย และสิทธิพลเมืองของชนพื้นเมืองในส่วนต่างๆของโลก   ในช่วงทศวรรษที่ 1960 นักมานุษยวิทยาจำนวนมากได้มาร่วมสัมมนาและจัดตั้งกลุ่มทำงานเพื่อสังคมภายใต้หัวข้อเรื่อง การอยู่รอดของวัฒนธรรม (Cultural Survival) การสัมมนาในแนวนี้จัดที่เมืองเคมบริดจ์ รัฐแมสซาชูเซ็ตต์    กรุงโฮเปนเฮเก้น ประเทศเดนมาร์ค และกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ  การจัดสัมมนาดังกล่าวไม่เพียงแต่พูดถึงเรื่องสิทธิของคนพื้นเมืองและกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ แต่ยังมีการผลักดันไปสู่การวิจัยด้วย

          ถึงแม้ว่าขบวนการเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนจะเป็นขบวนการที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ทางสังคมและวัฒนธรรมในคริสต์ศตวรรษที่ 20   แต่ความยุ่งยาก ซับซ้อนเกี่ยวกับปัญหาด้านสิทธิก็ยังคงมีอยู่   สถานการณ์เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนกำลังเลวร้ายลง ท่ามกลางสังคมที่เน้นการบริโภคซึ่งต้องการใช้ประโยชน์จากทรัพยากร มีการแย่งชิงที่ดิน แรงงานซึ่งเป็นของชนพื้นเมือง  ประกอบกับอำนาจรัฐที่เข้ามาควบคุมและกดขี่ชนพื้นเมืองมากขึ้น  นอกจากนั้น ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสิทธิยังมีเรื่องของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ด้วย   หรือเหตุการณ์ทำนองเดียวกันในที่อื่นๆซึ่งเป็นเรื่องความขัดแย้งทางเชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ ประวัติศาสตร์และศาสนา   ความขัดแย้งดังกล่าวนี้กำลังแผ่ขยายออกไปภายใต้ลัทธิชาตินิยม ซึ่งนำไปสู่การใช้ความรุนแรงในรูปแบบต่างๆ  สิ่งท้าทายสิทธิมนุษยชนที่สำคัญก็คือการสร้างสภาพสังคมที่เหมาะสมมากกว่าที่จะไปขจัดหรือต่อต้านการละเมิดสิทธิ   นักมานุษยวิทยาจะต้องเข้าไปมีส่วนในเรื่องนี้ เช่นเดียวกับการตระหนัก ป้องกัน และรณรงค์ให้เกิดสิทธิมนุษยชนสำหรับคนพื้นเมืองและประชาชน   ชาวบ้านต่างรู้ว่านักมานุษยวิทยาคือส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหา หรือเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา ซึ่งอาจทำให้ชาวบ้านปิดกั้นมิให้นักมานุษยวิทยาเข้าไปเกี่ยวข้องกับพวกเขา   และนับวันชาวบ้านก็ยิ่งปิดกั้นมากขึ้นเรื่อยๆ

          นักมานุษยวิทยาต้องตระหนักถึงสิ่งเหล่านี้มากขึ้น  สิทธิมนุษยชนอาจเป็นทั้งขุมทรัพย์หรือหลุมระเบิดทางการเมืองและศีลธรรม  แต่สิ่งเหล่านี้จำเป็นต้องแสวงหาความรับผิดชอบที่เต็มเปี่ยม รวมทั้งความรับผิดชอบที่มาจากนักมานุษยวิทยาด้วย     อาจกล่าวได้ว่าเรื่องสิทธิมนุษยชนทำให้นักมานุษยวิทยา หันกลับมาตรวจสอบความรู้และการทำงานของตัวเองซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดี   การทำงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องสิทธิมนุษยชน ทำให้นักมานุษยวิทยาต้องทำงานตามภาระหน้าที่ซึ่งมุ่งหวังที่จะเป็นศาสตร์ที่ยกระดับจิตใจมนุษย์


ผู้เขียน: ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ

เอกสารอ้างอิง:

Birx, James. 2006. "Human Rights and Anthropology." Encyclopedia of Anthropology. Thousand Oaks, CA: Sage Publications.

David Levinson and Melvin Ember (eds.) Encyclopedia of Cultural Anthropology. Henry Holt and Company, New York. 1996, pp.603-606.  

Wilson, R. A. and Mitchell, J. P. (Eds.) 2004. Human Rights in global perspective: anthropological studies of rights claims and entitlements. London: Routledge.


หัวเรื่องอิสระ: มานุษยวิทยากับสิทธิมนุษยชน