คำศัพท์

Acculturation

        คำว่า acculturation เป็นคำที่คิดขึ้นโดย เจ ดับบลิว พาวเวลล์ ในปี 1880  หมายถึงการเปลี่ยนแปลงของประสบการณ์ทางอารมณ์ความคิดที่เป็นผลมาจากการผสมผสานแลกเปลี่ยนหรือผนวกรวมสองวัฒนธรรมเข้าด้วยกัน ซึ่งวัฒนธรรมหนึ่งอาจเจริญกว่าอีกวัฒนธรรมหนึ่ง  ผลที่เกิดจากการผสมผสานทางวัฒนธรรมนั้นอาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในระดับบุคคลและระดับสังคมที่สัดส่วนที่ต่างกัน กล่าวคือในระดับสังคม ผลที่เกิดขึ้นอาจดูได้จากการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต ขนบธรรมเนียม ประเพณี ภาษา และโครงสร้างทางสังคม ส่วนระดับบุคคล อาจพบได้ในการแสดงออกทางพฤติกรรม การปฏิบัติ ความคิด ความเชื่อ ความรู้สึก อารมณ์ ทัศนคติต่างๆ เป็นต้น

          การศึกษาเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมอันเกิดจากการผสมผสานของสองวัฒนธรรม ได้รับความสนใจในแวดวงวิชาการตะวันตกในช่วงทศวรรษ 1910 โดยเฉพาะในสาขาวิชาจิตวิทยา สังคมวิทยา และมานุษยวิทยา ซึ่งแต่ละศาสตร์ต่างอธิบายแนวคิด acculturation แตกต่างกันไป แต่ข้อถกเถียงสำคัญก็คือเรื่องการปรับตัวของมนุษย์ให้อยู่ในวัฒนธรรมที่มีการผสมผสานได้ เช่น การปรับตัวของผู้อพยพ ผู้ย้ายถิ่นฐาน ชนกลุ่มน้อย และชนเผ่าต่างๆที่ตกอยู่ใต้อำนาจทางวัฒนธรรมของชาวตะวันตก

          นักมานุษยวิทยาอเมริกัน ฟรานซ์ โบแอส เคยตั้งข้อสังเกตว่า ผลกระทบจากอารยธรรมยุโรป และอเมริกาที่มีต่อชนพื้นเมือง เป็นการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ของพฤติกรรม คุณค่า และวิธีการปรับตัว   เป็นกระบวนการและผลลัพธ์ของการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมซึ่งจะทำให้เกิดความสัมพันธ์เชิงอำนาจของวัฒนธรรมสองแห่งที่ต่างกัน  วัฒนธรรมที่ด้อยกว่าหรือเจริญน้อยกว่าจะกลายเป็นเป้าหมายในการตรวจสอบว่ามีวัฒนธรรมอะไรที่เปลี่ยนแปลงไปบ้าง  

          ในปี 1936 โรบร์ต เรดฟีลด์, ราล์ฟ ลินตัน, เมลวิลล์ เฮอร์สโกวิตส์ อธิบายคำว่า acculturation หมายถึงปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่มีความแตกต่างทางวัฒนธรรมมาพบเจอกัน และส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงตามมาภายหลัง  ซึ่งอาจเปลี่ยนทั้งสองกลุ่มหรือกลุ่มเดียวก็ได้ นักมานุษยวิทยาอเมริกันมักจะนำแนวคิดนี้ไปศึกษาการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมของชนพื้นเมืองในอเมริกา    ในช่วงทศวรรษ 1930-1940  การศึกษาจะให้ความสำคัญเรื่องจิตวิทยา และตั้งคำถามว่ากระบวนการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมจะมีผลต่อบุคลิกภาพของบุคคลหรือไม่  หรือคุณค่าทางวัฒนธรรมตามจารีตประเพณีจะส่งผลต่อวัฒนธรรมที่เปลี่ยนไปอย่างไร  นักวิจัยบางคนสนใจประเด็นเกี่ยวกับการตอบรับต่อการเปลี่ยนแปลงและการแตกสลายทางวัฒนธรรม เช่น การเกิดขึ้นของกระบวนการทางศาสนาของผู้มีบุญ การเต้นรำ Ghost dance ของชาวอินเดียนในอเมริกา และ ลัทธิแบบ cargo cult ในเมลานีเซีย 

          จอห์น ดับบลิว เบอร์รี(1997) ชี้ให้เห็นคุณลักษณะสำคัญ 4 ประการของ acculturation ประกอบด้วย หนึ่ง การรับเอาวัฒนธรรมที่เหนือกว่ามาใช้และละทิ้งวัฒนธรรมเดิมของตัวเอง  สอง การแยกส่วนระหว่างวัฒนธรรมใหม่กับวัฒนธรรมดั้งเดิมของตัวเอง สาม การผนวกรวมวัฒนธรรมใหม่เข้ากับวัฒนธรรมดั้งเดิม และสี่ การไม่ยอมรับทั้งวัฒนธรรมใหม่และวัฒนธรรมดั้งเดิม  คุณลักษณะทั้งสี่ประการนี้ บุคคลจะเลือกปฏิบัติแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของการดำเนินชีวิตและบริบทพื้นที่ส่วนตัวและสาธารณะ เช่น บุคคลอาจปฏิเสธวัฒนธรรมใหม่ในพื้นที่ส่วนตัว แต่จะยอมรับวัฒนธรรมใหม่เมื่ออยู่ในพื้นที่สาธารณะ  อาจกล่าวได้ว่าในกระบวนการผนวกรวมและการปะทะกันของสองวัฒนธรรมจะมีกระบวนการเลือกรับและปฏิเสธภายใต้เงื่อนไขที่ซับซ้อน ซึ่งเป็นเรื่องที่คาดเดาได้ยากว่าภายใต้กระบวนการ acculturation จะนำไปสู่การทำลายวัฒนธรรมดั้งเดิมหรือการตกอยู่ใต้อำนาจวัฒนธรรมใหม่แบบสิ้นเชิง

          ในสังคมที่ให้ความสำคัญกับพหุวัฒนธรรม การผนวกรวมวัฒนธรรมที่แตกต่างหลากหลายจะมีความสำคัญ ในขณะที่สังคมที่มีการแบ่งแยกกีดกันเชื้อชาติและชาติพันธุ์ การผนวกรวมวัฒนธรรมเข้าด้วยกันเป็นสิ่งที่อันตรายและเกิดขึ้นได้ยาก อย่างไรก็ตาม คอลลีน วอร์ด (2008) ตั้งข้อสังเกตว่าการศึกษาแนวคิด acculturation ภายใต้คุณลักษณะ 4 ประการที่กล่าวมาข้างต้นอาจจะหยาบเกินไปในปัจจุบัน เพราะบุคคลจะมีวิธีการไกล่เกลี่ยต่อรองกับการเลือกรับและปฏิเสธวัฒนธรรมในแบบที่ต่างกัน ขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่บุคคลเข้าไปเกี่ยวข้อง


ผู้เขียน: ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ

เอกสารอ้างอิง:

Berry, John W. (1997). "Immigration, Acculturation, and Adaptation". Applied Psychology 46 (1): 10.

Redfield, Robert; Linton, Ralph; Herskovits, Melville J. (1936). "Memorandum for the Study of Acculturation". American Anthropologist 38 (1): 149–152.

Rudmin, Floyd W. (2003). "Critical history of the acculturation psychology of assimilation, separation, integration, and marginalization.". Review of General Psychology 7 (1): 3

Sam, David L.; Berry, John W. (1 July 2010). "Acculturation When Individuals and Groups of Different Cultural Backgrounds Meet". Perspectives on Psychological Science 5 (4): 472

Ward, Colleen (March 2008). "Thinking outside the Berry boxes: New perspectives on identity, acculturation and intercultural relations". International Journal of Intercultural Relations 32 (2): 105–114.

Winthrop, Robert H. 1991. Dictionary of Concepts in Cultural Anthropology. Greenwood Press, New York. Pp.3-5.


หัวเรื่องอิสระ: การผสมผสานทางวัฒนธรรม