บทความ

สถานภาพความรู้ในการศึกษา การเคลื่อนไหวทางสังคมของชาวเกย์

24 มิ.ย. 2015 โดย ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ

          ในวงวิชาการ การอธิบายการต่อสู้ของชาวเกย์มีการวิเคราะห์ไว้ในหลายแง่มุม ในบทความนี้จะชี้ให้เห็นแนวการวิเคราะห์เหล่านั้นว่ามีกระแสความคิดอะไรบ้าง เพื่อที่จะเป็นประโยชน์ในการพัฒนาแนวทางการศึกษาในประเด็นนี้ต่อไปในอนาคต  บทความนี้จะมองแนวทางการศึกษาในตะวันตกซึ่งมีอยู่จำนวนมาก ซึ่งอธิบายประวัติศาสตร์ของการเคลื่อนไหวต่อสู้ของชาวเกย์ตั้งแต่ปลายครสิต์ศตวรรษที่ 19 เรื่อยมาจนถึงยุคปัจจุบัน ในแต่ละยุคสมัยการต่อสู้ของชาวเกย์มีทั้งรูปแบบและวิธีการที่คล้ายคลึงกันและแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับเป้าหมายและอุดมการณ์ของการต่อสู้  รวมถึงบริบททางสังคม การเมืองและเศรษฐกิจในแต่ละช่วงเวลา  อาจกล่าวได้ว่าการศึกษาการเคลื่อนไหวทางสังคมของชาวเกย์ เป็นการมองพัฒนาการของการต่อสู้ที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุค ในเวลาเดียวกันก็ยังเป็นการมองในระดับความคิดที่ใช้อธิบายการเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้น

          อย่างไรก็ตาม นอกจากจะทำความเข้าใจแนวทางการศึกษาแล้ว  ผู้วิจัยต้องการชี้ให้เห็นว่าแนวคิดเรื่องเพศสภาพ (Gender) และเพศวิถี (Sexuality) ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการต่อสู้ของชาวเกย์มีข้อจำกัดและคุณูปการในการต่อสู้ทางสังคมอย่างไรบ้าง   เนื่องจากแนวคิดนี้มีอิทธิพลต่อการศึกษาสังคมและวัฒนธรรมของเกย์อย่างแพร่หลายและยังคงมีพลังในแวดวงวิชาการปัจจุบัน  แม้ว่าจะมีข้อถกเถียงระหว่างนักคิดที่สนับสนุนและนักคิดที่วิพากษ์ แต่ในหมู่นักต่อสู้เพื่อชาวเกย์ยังคงให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นอย่างมาก      บทความเรื่องนี้จึงจำเป็นต้องทำความเข้าใจแนวคิดทฤษฎีเรื่องเพศว่าสะท้อนกระบวนทัศน์ในการทำความเข้าใจชีวิตของเกย์อย่างไร  โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระบวนทัศน์ที่แตกต่างกันระหว่าง “สมัยใหม่” และ “หลังสมัยใหม่”  มีผลต่อการอธิบายการเคลื่อนไหวทางสังคมของชาวเกย์อย่างไร    นักวิชาการและนักต่อสู้ชาวเกย์ตระหนักถึงแนวคิดทฤษฎีที่ใช้อธิบายสิทธิเสรีภาพของเกย์อย่างไร  และสิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดข้อถกเถียงทางวิชาการอย่างไร  ทั้งหมดนี้เป็นสถานภาพความรู้ที่จำเป็นต่อนักวิชาการรุ่นหลังที่ต้องการศึกษาการต่อสู้และการเคลื่อนไหวทางสังคมของชาวเกย์ 

          บทความเรื่องนี้จะแบ่งเป็นสามส่วน คือ ส่วนที่หนึ่งเป็นการทบทวนเป้าหมายและอุดมการณ์ในการศึกษาการเคลื่อนไหวของชาวเกย์ โดยจะชี้ให้เห็นความแตกต่างของเป้าหมายที่มาจากอุดมการณ์ที่ต่างกัน  ส่วนที่สองเป็นการศึกษาแนวคิดทฤษฎีที่ใช้อธิบายเรื่องเพศวิถีและอัตลักษณ์เกย์ซึ่งมีอิทธิพลต่อการเคลื่อนไหวทางสังคมของเกย์    และส่วนที่สาม เป็นการศึกษากระบวนทัศน์ที่ปรากฎอยู่ในเป้าหมาย อุดมการณ์และแนวคิดทฤษฎีทั้งหลาย ซึ่งทำให้เห็นแนวและทิศทางของแวดวงวิชาการว่ามองการเคลื่อนไหวของเกย์อย่างไร     ทั้งสามส่วนนี้จะมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน ซึ่งบางครั้งไม่อาจแยกออกจากกันได้อย่างเด็ดขาด  สำหรับการแบ่งส่วนในการศึกษาในที่นี้เป็นเพียงการทำให้เกิดความเข้าใจได้ง่ายขึ้นเท่านั้น  

 

เป้าหมายและอุดมการณ์ของการเคลื่อนไหวทางสังคมของเกย์

          การเคลื่อนไหวและการต่อสู้ทางสังคมของเกย์ เป็นคำที่มีนัยยะทางการเมือง ในขณะเดียวกันก็มีความหมายเชิงวัฒนธรรมที่เป็นกระบอกเสียงให้กับวัฒนธรรมย่อยของเกย์    ทฤษฎีที่ใช้อธิบายการเคลื่อนไหวทางสังคมมองว่าการเคลื่อนไหวของเกย์เป็นการเคลื่อนไหวทางสังคมแนวใหม่ หรือ New Social Movement[1] ที่ให้ความสำคัญกับอัตลักษณ์ การเคลื่อนไหวประเภทนี้เกิดขึ้นอย่างแพร่หลายในช่วงทศวรรษ 1970  นอกจากจะมีกลุ่มเกย์แล้วยังรวมถึงกลุ่มผู้หญิง และกลุ่มเรียกร้องสิทธิต่างๆ เช่น กลุ่มชาติพันธุ์  ชนกลุ่มน้อย ผู้อพยพ เป็นต้น     นักวิชาการวิเคราะห์ว่าการเคลื่อนไหวทางสังคมแนวใหม่พยายามนำเรื่องโอกาสทางอำนาจเข้ามาอธิบายเพื่อชี้ว่าชาวเกย์หรือกลุ่มคนชายขอบสามารถเข้าถึงอำนาจได้มากน้อยแค่ไหน และความสำเร็จหรือความล้มเหลวของการการเคลื่อนไหวก็สะท้อนผลของการเข้าถึงอำนาจด้วย[2]

          ทฤษฎีการเคลื่อนไหวทางสังคมมีพัฒนาการและข้อถกเถียงมาเป็นลำดับขั้น ตั้งแต่แนวจิตวิทยา และพฤติกรรมศาสตร์ซึ่งเคยอธิบายว่าการเคลื่อนไหวทางสังคมเป็นความต้องการปลดปล่อยทางอารมณ์ของกลุ่มบุคคล (Collective Behavior Theory) ต่อมาก็เริ่มอธิบายว่าการเคลื่อนไหวทางสังคมมิได้เกิดจากการใช้อารมณ์แต่ยังมีเหตุผลที่ชัดเจน ทำให้เกิดการเสนอแนวคิดเรื่องการแย่งชิงทรัพยากร (Resource Mobilization Theory) เพื่อประโยชน์ของกลุ่ม  การเคลื่อนไหวทางสังคมในแนวนี้เชื่อว่ากลุ่มมีเป้าหมายเพื่อแย่งชิงทรัพยากรจากโครงสร้างการเมืองและเศรษฐกิจ แต่นักวิชาการรุ่นต่อมาวิจารณ์ว่าการแย่งชิงทรัพยากรมองสังคมเป็นโครงสร้างมากเกินไป จนมองไม่เห็นความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างคนที่ถูกกดขี่กับผู้ที่มีอำนาจในการปกครอง  นักวิชาการที่เชื่อเรื่องอำนาจจึงเสนอการศึกษาการเคลื่อนไหวสังคมในฐานะเป็นเครื่องมือในการต่อสู้เพื่อให้ได้อำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจ (Political Process Theory)  การศึกษาในแนวนี้ได้รับความนิยมในช่วงทศวรรษ 1960 โดยเฉพาะการศึกษาวิเคราะห์การเคลื่อนไหวทางสิทธิเสรีภาพของประชาชน

          นักวิชาการบางคนตั้งข้อสังเกตว่าแนวการศึกษาเรื่องการแย่งชิงทรัพยากรและการแย่งชิงอำนาจไม่อาจทำความเข้าใจการเคลื่อนไหวของกลุ่มเกย์ได้ เพราะกลุ่มเกย์ไม่ต้องการแย่งชิงทรัพยากรหรือต้องการได้อำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจ แต่กลุ่มเกย์ต้องการให้สังคมยอมรับวัฒนธรรมย่อยที่ต่างไปจากวัฒนธรรมของรักต่างเพศ ด้วยเหตุนี้ทำให้เกิดแนวคิดการเคลื่อนไหวทางสังคมแนวใหม่ดังที่กล่าวมาข้างต้นเพื่อที่จะอธิบายมิติทางวัฒนธรรมของการต่อสู้ของชาวเกย์ที่มีความซับซ้อน และพยายามตีความใหม่เกี่ยวกับเรื่องอำนาจและการเข้าถึงทรัพยากร นอกจากนั้นยังให้ความสนใจเรื่องอัตลักษณ์ทางเพศในฐานะเป็นพลังในการเคลื่อนไหวของชาวเกย์[3]

          อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้าทศวรรษ 1970 ชาวเกย์ และโฮโมเซ็กช่วลทั้งหลายมีการเคลื่อนไหวมาอย่างชัดเจน โดยเฉพาะในประเทศเยอรมัน จากนั้นค่อยๆกระจายไปยังเมืองใหญ่ๆในทวีปยุโรป และมีความชัดเจนมากขึ้นในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง   นักประวัติศาสตร์หลายคนออกมาชี้ว่านักทฤษฎีการเคลื่อนไหวทางสังคมมองข้ามบริบททางประวัติศาสตร์ของการต่อสู้ของเกย์ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวทางวัฒนธรรม  นักประวัติศาสตร์มองว่าวัฒนธรรมเกย์เป็นวัฒนธรรมที่หล่อหลอมมาจากคนที่มีสำนึกเดียวกัน (Collective Identity) บุคคลที่เป็นเกย์จะมีส่วนสร้างและผลักดันในการเกิดต่อสู้กับอำนาจ คู่ต่อสู้ของเกย์อาจเป็นอำนาจรัฐและสถาบันทางสังคมของรักต่างเพศ  การต่อสู้ของโฮโมเซ็กช่วลมีจุดกำเนิดมาจากการรณรงค์ของนักนักวิชาการและนักต่อสู้เพื่อเรียกร้องความเท่าเทียมทางสังคม การรณรงค์ดังกล่าวนี้ทำให้เกิดแนวคิดเรื่องสังคมและชุมชนเกย์ในเวลาต่อมา[4]

          ปัจจุบัน แนวโน้มการศึกษาการเคลื่อนไหวทางสังคมจะมองมิติวัฒนธรรมและการปริมณฑลของกลุ่มคนที่มีสำนึกร่วมเดียวกัน  ปริมณฑลดังกล่าวนี้หมายถึงพื้นที่ของการสร้างประสบการณ์ร่วมของกลุ่มคนที่อยู่ในการเคลื่อนไหว  ซึ่งเกี่ยวข้องกับการสร้างกฎเกณฑ์ต่างๆที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามสถานการณ์ การเคลื่อนไหวทางสังคมของกลุ่มจึงไม่จำเป็นต้องมีกฎที่ตายตัว แต่พร้อมจะปรับเปลี่ยนได้  การศึกษาการเคลื่อนไหวทางสังคมในแนวนี้จึงมิใช่การอธิบายกฎเกณฑ์หรือโครงสร้างของกลุ่มที่เคลื่อนไหว แต่เป็นการอธิบายประสบการณ์ของกลุ่มที่พร้อมจะเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์ในสถานการณ์ต่างๆ  เนื่องจากการกระทำของกลุ่มเกี่ยวข้องกับอำนาจตลอดเวลา ไม่ใช่เฉพาะแต่การต่อสู้ทางการเมืองเท่านั้น อำนาจยังเกิดขึ้นกับการจัดการและความสัมพันธ์ภายในของกลุ่มทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ     แนวการศึกษานี้จึงสนใจปฏิบัติการภายในกลุ่มซึ่งสมาชิกแต่ละคนมีปฏิสัมพันธ์ต่อกันคล้ายกับสมาชิกที่อยู่ในองค์กร  เป็นแนวศึกษาที่รู้จักในนาม Cultural-Institutionalist Approach[5]

          เป้าหมายและอุดมการณ์ในการเคลื่อนไหวทางสังคมของเกย์ที่ผ่านมาแบ่งออกเป็นสองกระแส คือกระแสเสรีนิยม และกระแสวิพากษ์นิยม  

                กระแสเสรีนิยม  (Liberalism)  หมายถึง การเคลื่อนไหวทางสังคมของกลุ่มเกย์ที่ยังคงสนับสนุนระเบียบกฎเกณฑ์และโครงสร้างทางสังคมที่มีอยู่เดิมให้ดำรงอยู่ต่อไป  จะไม่มีการท้าทายโค่นล้มสิ่งเหล่านี้ กลุ่มเกย์ที่ออกมาเคลื่อนไหวให้สังคมยอมรับพวกเขาอาจต้องการเพียงการแก้กฎหมายที่เคยลงโทษพวกเขา หรือออกมารณรงค์ให้พวกเขาได้รับสิทธิและเสรีภาพเท่าเทียมกับคนอื่นๆ เช่น กฎหมายแต่งงาน กฎหมายบุตรบุญธรรม ฯลฯแต่จะไม่ทำลายบรรทัดฐานทางสังคมของรักต่างเพศที่มีอยู่เดิม   กลุ่มและองค์กรเกย์ที่มีเป้าหมายแนวนี้จะพบเห็นในกลุ่มโฮโมไฟล์ (Homophile) ในช่วงทศวรรษ 1940-1960    เป็นที่น่าสังเกตว่าการเคลื่อนไหวของเกย์ในแนวทางนี้จะเข้ากันได้กับสังคมประชาธิปไตยแบบทุนนิยม จะเห็นได้ว่าขบวนการโฮโมไฟล์ทั้งหลายในยุโรปและอเมริกามิได้โจมตีสถาบันทางการเมืองและเศรษฐกิจ แต่ต้องการให้เกย์อยู่ในสังคมอย่างเป็นสุขภายใต้กฎหมายและสถาบันสังคมที่รองรับสิทธิและเสรีภาพของพวกเขา

                ต้นกำเนิดของการเคลื่อนไหวในแนวนี้เห็นได้จากกลุ่มโฮโมเซ็กช่วลในเยอรมัน  กล่าวคือช่วงทศวรรษที่ 1860  ความไม่ยุติธรรมของกฎหมายทำให้บุคคลที่มีพฤติกรรมชายรักชายออกมาเรียกร้องสิทธิและพยายามแก้กฎหมาย   บุคคลสำคัญคือ คือคาร์ล เฮนริช อุลริชส์ และ คาร์ล มาเรีย เคิร์ตเบนนีย์    บุคคลทั้งสองนี้ถือเป็นผู้บุกเบิกเรื่องสิทธิเสรีภาพของโฮโมเซ็กช่วลในโลกตะวันตกและมีการเสนอทฤษฎีเกี่ยวกับเพศวิถีเป็นครั้งแรก โดยอุลริชส์อธิบายว่าความรักระหว่างชายกับชายเป็นเรื่องธรรมชาติและมีสาเหตุทางชีววิทยา[6] ผู้ชายที่รักผู้ชายจะมีจิตใจเหมือนผู้หญิง หรือจิตใจผู้หญิงที่อยู่ในร่างชาย  และการแสดงตัวตนของผู้ชายที่มีจิตใจเป็นหญิงจะเรียกว่า “เยอร์นิ่ง” (Urning)  ในช่วงปี ค.ศ.1869 คาร์ล มาเรีย เคิร์ตเบนนีย์ นักหนังสือพิมพ์และนักสิทธิมนุษยชนชาวออสเตรีย ได้คิดคำว่า “โฮโมเซ็กช่วล” เพื่ออธิบายพฤติกรรมของชายรักชายและลักษณะการแสดงอารมณ์ทางเพศของบุคคล  เคิร์ตเบนนีย์มีความคิดเหมือนกับอุลริชต์ที่ต้องการให้แก้กฎหมายมาตรา 143 (ต่อมาเป็นมาตรา 175) ที่ลงโทษชายรักชาย เพราะเห็นว่าเป็นการละเมิดสิทธิความเป็นมนุษย์ (Right of Man) แต่เคิร์ตเบนนีย์มิได้ออกมาต่อสู้เหมือนกับอุลริชส์  เขาเลือกที่จะทำงานเขียนอยู่เงียบๆ      เคิร์ตเบนนีย์เชื่อมั่นว่าเรื่องเซ็กซ์ของมนุษย์เป็นเรื่องส่วนตัว ไม่ควรนำไปกล่าวโทษทางกฎหมาย

          หลังจากนั้น ก็มีการตั้งกลุ่มของโฮโมเซ็กช่วลปี ค.ศ.1897 โดยใช้ชื่อว่ากรรมการผู้รักเพื่อนมนุษย์ในเชิงวิทยาศาสตร์ หรือ Scientific-Humanitarian Committee[7]  ผู้นำคนสำคัญคือ แม็กนัส เฮิร์ชเฟลด์ นายแพทย์ที่ออกมาต่อต้านกฎหมายและต้องการล้มล้างมาตรา 175[8] บทบาทของกรรมการผู้รักเพื่อนมนุษย์ฯ คือการค้นคว้าวิจัยทางวิทยาศาสตร์เพื่อพิสูจน์ว่าโฮโมเซ็กช่วลเป็นเรื่องธรรมชาติและทวงถามสิทธิของคนเหล่านี้    เฮิร์ชเฟลด์เชื่อว่าความยุติธรรมต้องมาจากความรู้ทางวิทยาศาสตร์ กล่าวคือ ถ้ามีการศึกษาสาเหตุของโฮโมเซ็กช่วลด้วยหลักฐานทางวิทยาศาสตร์มากเท่าใด ก็จะทำให้สังคมยอมรับโฮโมเซ็กช่วลมากขึ้นเท่านั้น   เฮิร์ชเฟลด์ได้รับอิทธิพลความคิดมาจากอุลริชส์ซึ่งทำให้เข้าพัฒนาทฤษฎีเพศที่สามขึ้นเพื่ออธิบายโฮโมเซ็กช่วลเป็นสัญชาตญาณตามธรรมชาติที่เก็บไว้ภายในทำให้มีการแสดงบทบาทตรงกลางระหว่างความเป็นชายและหญิง หรือเพศที่สาม รู้จักในนาม Uranism[9] 

        หลังจากที่กลุ่มของเฮิร์ชเฟลด์ถูกปราบปรามและทำลายโดยพรรคนาซี และโฮโมเซ็กช่วลในเยอรมันจำนวนมากถูกสังหารในค่ายกักกัน และถูกจับในข้อหาเป็นศัตรูของประเทศภายใต้นโยบายปราบปรามโฮโมเซ็กช่วล   การรวมตัวของโฮโมเซ็กช่วลก็เปลี่ยนรูปแบบไป หลังสงครามโลกครั้งที่สองกลุ่มโฮโมเซ็กช่วลก็เรียกตัวเองใหม่ว่า “โฮโมไฟล์” ซึ่งเน้นมิติเรื่องความรักมากกว่าเรื่องเพศ กามารมณ์และความใคร่[10]      ตัวอย่างกลุ่มโฮโมไฟล์ที่สำคัญ ได้แก่ สมาคมแม็ตตาชินในสหรับอเมริกา ก่อตั้งในปี ค.ศ. 1950 โดยแฮร์รี เฮย์  เป้าหมายของสมาคมแม็ตตาชิน คือ 1) เพื่อทำให้โฮโมเซ็กช่วลเกิดการรวมตัวกัน        2) เพื่อให้ความรู้แก่สังคมเกี่ยวกับวัฒนธรรมของโฮโมเซ็กช่วลซึ่งเทียบได้กับวัฒนธรรมคนผิวดำ  ชาวเม็กซิกันและชาวยิว  3) เพื่อสร้างสำนึกความเป็นผู้นำของโฮโมเซ็กช่วลเพื่อเป็นตัวแทนของกลุ่มคนที่สังคมกีดกัน และ 4) เพื่อช่วยเหลือโฮโมเซ็กช่วลที่ถูกสังคมรังแกและกดขี่ข่มเหง รวมทั้งต่อสู้เพื่อให้มีการแก้กฎหมายที่ลงโทษโฮโมเซ็กช่วลด้วย    เป้าหมายดังกล่าวมีลักษณะเป็นการทำให้โฮโมเซ็กช่วลอยู่อย่างกลมกลืน(assimilation)กับคนอื่นๆในสังคม ไม่ทำตัวแปลกประหลาดและไม่ใช้การต่อสู้แบบรุนแรงหรือก้าวร้าว   รวมทั้งส่งเสริมให้มีการยอมรับตัวเองและการมีศักดิ์ศรีเช่นเดียวกับคนอื่น[11]   เป้าหมายการทำงานดังกล่าวนี้มีลักษณะเป็นการค่อยๆแก้ ค่อยๆปฏิรูป ค่อยๆเป็นค่อยๆไป มากกว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงแบบฉับพลัดหรือการปฏิวัติ[12]

        การเคลื่อนไหวของสมาคมแม็ตตาชิน มีประเด็นที่น่าสนใจหลายเรื่อง โดยเฉพาะอุดมการณ์ในการเคลื่อนไหวที่แตกต่างกันของสมาชิกในกลุ่ม ระหว่างอุดมการณ์การแบบกลมกลืนกับสังคม กับอุดมการณ์แบบชนกลุ่มน้อย  กล่าวคือ อุดมการณ์ที่มุ่งให้โฮโมเซ็กช่วลอยู่อย่างกลมกลืนในสังคม (Assimilationist Positions) คือความพยายามที่จะทำให้โฮโมเซ็กช่วลมีคุณภาพชีวิตที่ดีโดยสังคมไม่ปฏิเสธ  แต่ขณะเดียวกันก็ไม่จำเป็นต้องประกาศตัวเอง    สมาชิกที่เชื่อในแนวนี้จึงอยู่อย่างเงียบๆ เน้นการทำงานเรื่องสิทธิและให้ความรู้กับสังคมเพื่อปรับเปลี่ยนทัศนะคติของประชาชนให้มองโฮโมเซ็กช่วลในเชิงบวก      ส่วนอุดมการณ์ของการเป็นคนกลุ่มน้อย  คือความพยายามที่จะสร้างกลุ่มของโฮโมเซ็กช่วลให้ปรากฎแก่สาธารณะ ผลักดันให้เกิดกลุ่มที่ถูกต้องตามกฎหมาย  อุดมการณ์ทั้งสองนี้มีเป้าหมายที่ต่างกัน พวกที่เชื่อเรื่องความกลมกลืนจะเน้นความเป็นปัจเจกนิยม หรือเป็นพวกที่แสวงหาความพอใจส่วนตัว ไม่ต้องการให้เป็นเป้าสายตาของสังคม  ขณะที่พวกที่เชื่อความเป็นชนกลุ่มน้อยจะเน้นเรื่องการรวมกลุ่มและการแสดงตัวต่อสาธารณะ เน้นการขับเคลื่อนของคนจำนวนมาก 

         จนกระทั่งทศวรรษ 1970 สรรพนามคำว่า “เกย์” ถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นสัญลักษณ์ในการเคลื่อนไหวเรื่องสิทธิและเสรีภาพ กลุ่มเกย์ที่สำคัญในช่วงนี้ คือ สหพันธ์นักเคลื่อนไหวเกย์ หรือ Gay Activist’s Alliance (GAA) ก่อตั้งในปี ค.ศ. 1974 เน้นเรื่องสิทธิ ศักดิ์ศรี และอิสรภาพของเกย์โดยเฉพาะ ไม่ยุ่งเกี่ยวกับกลุ่มคนผิวดำ หรือผู้หญิง[13]      กลุ่มจีเอเอมีแนวคิดแบบประชาธิปไตย และจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อทำงานด้านการเมือง สิทธิพลเมือง กฎหมาย การออกสิ่งพิมพ์ ทำงานเชิงสังคม  จัดกิจกรรมหารายได้ และจัดหาสมาชิก  ผลงานที่สำคัญของจีเอเอคือผลักดันให้สมาคมจิตเวชแห่งอเมริกายอมรับว่าโฮโมเซ็กช่วลเป็นคนปกติ  กลุ่มจีเอเอทำให้อุดมการณ์แบบเกย์นิยม หรือ Gay Pride ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย เพราะอุดมการณ์นี้ไม่ต้องการเปลี่ยนแปลงสังคม แต่พยายามทำงานร่วมมือกับสถาบันทางสังคมอื่นๆ อยู่ในระเบียบกฎเกณฑ์ของราชการมากกว่าจะต่อต้านหรือทำลายล้าง     ไม่ชอบใช้ความรุนแรง  แต่เน้นความมีตัวตนทางเพศ เชิดชูค่านิยมและวัฒนธรรมแบบเกย์ กลุ่มเกย์นิยมนี้จึงกลมกลืนอยู่กับระบบทุนนิยมได้อย่างดี    อลิซาเบ็ธ อาร์มสตรอง (2002)[14] ตั้งข้อสังเกตว่าการเคลื่อนไหวของเกย์ในทศวรรษ 1970 อาศัยจิตวิญญาณแบบขบวนการโฮโมไฟล์ที่เกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้ กล่าวคือเชื่อมั่นว่าเกย์เป็นคนกลุ่มน้อยที่มีวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ของตัวเอง

          การเติบโตของอุดมการณ์เกย์นิยมในทศวรรษ 1970 ทำให้เกิดองค์กรเกย์จำนวนมาก เช่น กลุ่มเกย์ศิลปิน กลุ่มเกย์ศาสนา กลุ่มเกย์การกุศล กลุ่มเกย์ที่มีบุตร กลุ่มเกย์ภาพยนตร์ เป็นต้น องค์กรเหล่านี้ล้วนทำให้อัตลักษณ์เกย์มีพลังและเข้มแข็ง  อุดมการณ์เกย์นิยมแทรกซึมเข้าไปในสังคมโดยทำให้เกย์รู้สึกภูมิใจในอัตลักษณ์ทางเพศของตน เป้าหมายของอุดมการณ์นี้คือสร้างพื้นที่ทางสังคมให้กับเกย์ และทำให้เกย์สามารถแสดงออกในเรื่องสิทธิความรู้สึกทางเพศ และวัฒนธรรมได้เหมือนคนอื่นๆ   นอกจากนั้นอุดมการณ์เกย์นิยมยังทำให้เกิดการสร้างชุมชนเกย์โดยมีบาร์และไนท์คลับเป็นศูนย์กลาง   ความคิดแบบเสรีนิยมทำให้เกิดกลุ่มเชิงพาณิชย์เพื่อตอบสนองตัวตนของเกย์ เช่น บาร์ ไนท์คลับ โรงอาบน้ำ ยิม ฟิตเนส  ฯลฯ ซึ่งเจริฐรุ่งเรืองและขยายตัวมากในทศวรรษที่ 1970   ธุรกิจเกย์ทำให้เกิดรูปแบบการใช้ชีวิตที่พึ่งพิงการบริโภค และทำให้เกย์กลายเป็น “ผู้บริโภค”ที่มีความสำคัญ  บรรยากาศที่ไม่เคร่งขรึมอาจเห็นได้จากการเดินพาเหรดของเกย์ ซึ่งรู้จักในนาม “Gay Pride”  เป็นกิจกรรมทางสังคมของกลุ่มเกย์ที่มีไว้เพื่อบอกตัวเองว่าการเป็นเกย์คือสิ่งที่น่าภูมิใจและเขาก็ควรมีสิทธิเช่นเดียวกับผู้ชายและผู้หญิง   พาเหรดเกย์ไพรด์จัดขึ้นครั้งแรกในนิวยอร์ค ในปี ค.ศ.1970 หลังจากครบวาระหนึ่งปีของการจราจลที่สโตนวอลล์[15]   

          อย่างไรก็ตาม ต่อมาการเดินพาเหรดมิได้มุ่งไปที่เรื่องสิทธิเสรีภาพเท่านั้น แต่ยังเป็นการเปิดเผยอารมณ์ความรู้สึกของเกย์ต่อสิ่งที่ตนเองเป็น อารมณ์ดังกล่าวนี้กลายเป็นเรื่องความสนุกสนาน ความบันเทิง แฟชั่น เสียงเพลง ปาร์ตี้ และการเต้นรำ   พาเหรดในระยะหลังจึงกลายเป็นกิจกรรมเพื่อความบันเทิงมากกว่าจะเป็นการแสดงออกถึงสิทธิเสรีภาพ  ทำให้เกย์พาเหรดกลมกลืนไปกับวัฒนธรรมป็อปและการบริโภคสินค้า  สิ่งท้าทายใหม่สำหรับองค์กรเกย์คือความคิดแบบทุนนิยมของเกย์ (Gay Capitalism)[16] ซึ่งพยายามสร้างคำอธิบายใหม่เกี่ยวกับศักดิ์ศรีของเกย์  กล่าวคือทุนนิยมเกย์มักจะพูดถึงตัวตน การใช้ชีวิต ความภาคภูมิใจ รสนิยม ความรู้สึก และความเป็นชาย ซึ่งสิ่งเหล่านี้มักจะมาพร้อมกับการบริโภคสินค้าและการใช้ชีวิตในสถานเริงรมย์ สิ่งเหล่านี้ดำเนินควบคู่ไปกับการรณรงค์เรื่องสิทธิความเป็นพลเมือง (Citizenship) ไม่ว่าจะเป็นสิทธิในการแต่งงาน การทำงาน การรับบุตรบุญธรรม และการรับมรดก เป็นต้น

           จะเห็นได้ว่าการเคลื่อนไหวทางสังคมในแนวทางเสรีนิยมค่อยๆเติบโตและพัฒนามาในสังคมประชาธิปไตยและทุนนิยมตะวันตก การเคลื่อนไหวแนวนี้มีพลังอยู่ในปัจจุบันและเป็นสิ่งที่นักวิชาการและนักต่อสู้ทั้งหลายต้องกลับมาตั้งคำถามว่า เป้าหมายเพื่อให้สังคมยอมรับและมีความสุขภายใต้วัฒนธรรมบริโภคเป็นเป้ามหมายที่เกย์ต้องการจริงหรือไม่ เนื่องจากมีสิ่งที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้นมากมายในกระแสเสรีนิยม โดยเฉพาะการสร้างความไม่เท่าเทียมให้เกิดขึ้นภายในกลุ่มเกย์ ระหว่างเกย์ชนชั้นกลางที่มีฐานะทางเศรษฐกิจดีกว่ากลุ่มเกย์อื่นๆ และการทำให้เกย์กลายเป็นสินค้าเป็นการแสดงออกถึงเสรีภาพจริงหรือไม่ 

                กระแสวิพากษ์นิยม (Radicalism)  หมายถึง กลุ่มเกย์ที่มองว่าระบบและโครงสร้างสังคมคือปัญหาสำคัญและเป็นอุปสรรคต่อการใช้ชีวิตของเกย์ ถ้าต้องการแก้ปัญหาก็จำเป็นต้องทำลายสิ่งเหล่านั้นเพื่อสร้างระบบและโครงสร้างใหม่  การเคลื่อนไหวทางสังคมของเกย์ในแนวนี้มักจะไม่แพร่หลายมากนักเนื่องจากถูกมองว่าเป็นพวกหัวรุนแรงและต้องการทำลายบรรทัดฐานทางสังคม เป็นการเปลี่ยนสังคมอย่างถอนรากถอนโค่น  ต้นตอของแนวคิดนี้พัฒนามาจากนักเคลื่อนไหวที่ยึดมั่นในอุดมการณ์แบบสังคมนิยม โดยเฉพาะนักเคลื่อนไหวชาวอังกฤษชื่อเอ็ดเวิร์ด คาร์เพนเตอร์  ในปี ค.ศ.1883  คาร์เพนเตอร์เขียนบทความเรื่อง Towards Democracy  ทำให้เขาเข้ามาในกลุ่มนักเคลื่อนไหวแบบสังคมนิยมและคุ้นเคยกับวิลเลียม มอร์ริส[17]       กลุ่มของมอร์ริสสนใจเรื่องการสร้างจิตสำนึกใหม่ให้กับประชาชน โดยไม่ได้เน้นหลักการทางเศรษฐกิจเหมือนกับนักสังคมนิยมคนอื่นๆ     ซึ่งเป็นแนวที่คาร์เพน  เตอร์หลงใหลเพราะสัมพันธ์กับเรื่องศาสนาและจิตวิญญาณ  คาร์เพนเตอร์เขียนหนังสือเรื่อง Civilization It Cause and Cure(1889) เพื่ออธิบายว่าอารยธรรมของมนุษย์เปรียบเสมือน “โรคร้าย”  ทำลายความเป็นเอกภาพระหว่างคนกับธรรมชาติ[18] 

                เมื่อเข้ามาทำงานกับวิลเลียม มอร์ริส  เขาก็เริ่มสนใจอุดมการณ์คอมมิวนิสต์และเสนอความคิดเรื่องสังคมคอมมิวนิสต์แบบบรรพกาล (Primitive Communism) ซึ่งปฏิเสธระบบอุตสาหกรรมอย่างสิ้นเชิง  สังคมในลักษณะนี้เป็นสังคมที่คนทุกคนช่วยเหลือกันและอยู่ใกล้ชิดกับธรรมชาติ     คาร์เพนเตอร์ยังได้รับอิทธิพลความคิดจากศาสนาฮินดูเมื่อครั้งที่เดินทางไปอินเดียในปี ค.ศ.1890 ทำให้เขาสนใจเรื่องจิตวิญญาณและนำมาพัฒนาความคิดสังคมนิยม โดยเสนอว่าสังคมนิยมจะทำให้มนุษย์มีจิตสำนึกใหม่และมีความสุขแบบเรียบง่ายใกล้ชิดธรรมชาติ  เขาจึงสนับสนุนให้มนุษย์เลิกกินเนื้อสัตว์ เป็นมังสวิรัติ และรณรงค์ให้เลิกปล่อยควันพิษในอากาศ ในช่วงทศวรรษที่ 1880  คาร์เพนเตอร์เริ่มสนใจประเด็นโฮโมเซ็กช่วล และได้มีโอกาสพบกับนักคิด นักเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องสิทธิและความเป็นธรรมของโฮโมเซ็กช่วล   เขาได้มีโอกาสอ่านงานของจอห์น แอดดิงตัน ไซม่อนส์ เรื่อง A Problem in Modern Ethics ซึ่งอธิบายว่าความรักของชายกับชายเป็นการสร้างความเท่าเทียมทางสังคม  จากจุดนี้ทำให้คาร์เพนเตอร์เขียนหนังสือเรื่อง Intermediate Sex หรือเพศตรงกลาง[19]  ในปี ค.ศ.1908 เพื่ออธิบายว่าโฮโมเซ็กช่วลเป็นคนปกติ

          คาร์เพนเตอร์เชื่อว่าโฮโมเซ็กช่วลมิใช่ความเสื่อมถอย และเรียกร้องให้มีการปลดปล่อยการแสดงออกทางเพศ   คาร์เพนเตอร์อธิบายว่าชายรักชายเปรียบเสมือนมิตรภาพของนักรบ[20] (Heroic Friendship) หนังสือ Intermediate เต็มไปด้วยความคิดแบบสังคมนิยม ซึ่งอธิบายเรื่องความเสียสละเพื่อส่วนรวม  คาร์เพนเตอร์กล่าวว่าการแสดงความรักต่อคนเพศเดียวกันคือ “พลังทางสังคม” (Social Force) เช่น ชายอาวุโสช่วยเหลือเด็กหนุ่มที่ยากจนเพราะความรัก ทำให้เด็กหนุ่มมีโอกาสทางสังคม  คนรักแพศเดียวกันหรือยูเรเนียนจึงมีหน้าที่เป็น “ผู้ช่วยเหลือ” หรือ “ผู้ชี้แนะ”  เป็นผู้ที่นำมาสุขมาให้และทำให้เกิดความเข้าใจระหว่างเพื่อนมนุษย์  คาร์เพนเตอร์เชื่อว่าโฮโมเซ็กช่วลเกิดมาเพื่อช่วยคนอื่น ให้บริการแก่สังคม แก้ปัญหาสังคม เพราะโฮโมเซ็กช่วลใช้ความรักเป็นเครื่องมือที่จะช่วยผู้อื่น โดยไม่เห็นแก่เงินตราหรือผลประโยชน์ส่วนตัว  สังคมของโฮโมเซ็กช่วลเป็นสังคมที่มีอิสระเสรี  แต่สังคมทุนนิยมมีแต่กฎเกณฑ์และข้อบังคับ มีการแข่งขันและเห็นแก่ตัว   คาร์เพนเตอร์เชื่อว่าโฮโมเซ็กช่วลเป็นผู้มีสติปัญญาชาญฉลาด สุภาพอ่อนโยน  เห็นอกเห็นใจ รอบคอบ และให้คุณค่าต่อความรัก เพราะโฮโมเซ็กช่วลมีทั้งจิตใจที่เป็นชายและหญิงอยู่พร้อมกัน[21]    

          ในช่วงทศวรรษ 1930 อุดมการณ์สังคมนิยมและการปฏิวัติสังคมแพร่หลายในกลุ่มโฮโมเซ็กช่วลในอังกฤษ โดยเฉพาะชมรมต่างๆในโรงเรียนอีตันและ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์  นักเคลื่อนไหวทางสังคมที่สำคัญ ได้แก่ กาย เบอร์เกส, แอนโทนี บลันต์ และ โดนัลด์ แม็คลีน บุคคลเหล่านี้ทำงานแบบลับๆและยึดอุดมการณ์ต่อสู้เพื่อชนชั้นกรรมกร หลายคนมีคนรักเป็นชายหนุ่มที่มาจากชนชั้นแรงงาน[22] เครือข่ายโฮโมเซ็กช่วลของเบอร์เกส รู้จักในนาม Homintern   

          อุดมการณ์สังคมนิยมมาปรากฎอีกครั้งในการเคลื่อนไหวของแฮร์รี เฮย์ในสหรัฐอเมริกาในช่วงทศวรรษ 1950  แต่เป็นการเคลื่อนไหวที่ไม่มีพลังมากนักเพราะในช่วงนั้นสหรัฐอเมริกากำลังต่อต้านคอมมิวนิสต์ ทำให้เฮย์ต้องลาออกจากสมาคมแม็ตตาชิน  ระหว่างที่เฮย์เป็นผู้นำในสมาคม เขาเรียกร้องให้โฮโมเซ็กช่วลออกมาเดินขบวนเพื่อเรียกร้องสิทธิของตัวเองและทำให้สังคมตระหนักว่าเกย์ถูกกดขี่ข่มเหงเช่นเดียวกับชนชั้นแรงงาน[23]   ต่อมาในปี ค.ศ.1969 เกิดองค์กรเกย์ในนิวยอร์ค ชื่อ Gay Liberation Front (GLF) เป็นองค์กรที่มีความคิดแบบฝ่ายซ้ายและสังคมนิยม  องค์กรนี้ไม่พอใจตำรวจที่บุกบาร์สโตนวอลล์ ซึ่งเป็นแหล่งชุมนุมของเกย์      เมื่อคืนวันที่ 28 มิถุนายน 1969  ตำรวจได้เข้าไปตรวจบาร์สโตนวอลล์ ซึ่งขณะนั้นมีกลุ่มเกย์อยู่ประมาณ 200 คน ตำรวจเข้าจับกุมผู้ชายที่แต่งตัวเป็นหญิง ขณะที่เกย์อีกหลายคนพยายามวิ่งหนีออกไปทางหน้าต่างและประตู หรือซ่อนในห้องน้ำ แต่เกย์หลายคนขัดขืนการจับกุม พวกที่ไม่ถูกจับมารวมตัวกันอยู่นอกบาร์ และตะโกนใส่ตำรวจที่กำลังเดินออกมาว่า “Gay Power”[24]

                องค์จีแอลเอฟกลายเป็นองค์กรเกย์ที่ทำงานเชิงการเมือง ประเด็นหลักที่องค์กรเกย์ในยุคคนี้สนใจคือเรื่อง “เสรีภาพ”  การกดขี่ข่มเหง   รวมถึงการโค่นล้มอำนาจผู้ชายเป็นใหญ่ในระบบทุนนิยมแบบผิวขาว[25] และต้องการเปลี่ยนแปลงสังคมอย่างสิ้นเชิง[26] องค์กรจีแอลเอฟพยายามยืนอยู่เคียงข้างกลุ่มคนที่ถูกกดขี่ ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิง คนผิวดำ หรือชนกลุ่มน้อย  ดังนั้นเป้าหมายแรกของจีแอลเอฟจึงเป็นการปฏิรูปสังคมโดยรวม  และส่งเสริมให้ชาวเกย์ออกมาเปิดเผยตัวเองต่อสังคมเพราะเชื่อว่าชีวิตส่วนตัวเป็นเรื่องทางการเมือง ถ้าต้องการเปลี่ยนแปลงสังคมก็ต้องแสดงตัวตนที่แท้จริงออกมา (Coming Out)[27]  การเปิดเผยตัวในยุคแสวงหาเสรีภาพ ทำให้เกย์ต้องกล้าแสดงตัวตนในพื้นที่สาธารณะที่กว้างกว่าเดิม หัวใจของการขับเคลื่อนและต่อสู้ของจีแอลเอฟคือการสร้างอัตลักษณ์เกย์และทำให้เกย์มีตัวตน (Gay Visibility) และใช้อัตลักษณ์เกย์เพื่อที่จะทำลายการจัดประเภทของอัตลักษณ์ทางเพศทั้งหลาย  “เกย์” ในความหมายของขบวนการจีแอลเอฟคือ “อิสรภาพทางเพศ” ซึ่งไม่มีการจัดว่าใครเป็นเพศอะไร     

           คาร์ล  วิตต์แมน อธิบายในบทความเรื่อง Gay Manifesto (1969) ว่าการปกปิดตัวเองควรจะจบสิ้นไป เพราะการปกปิดเท่ากับยอมรับการกดขี่ และการถูกรังเกียจ  การเอาชนะสิ่งนี้ต้องเปิดเผยตัวเองเท่านั้น[28] เดนนิส อัลท์แมน อธิบายว่านักเคลื่อนไหวเชิงวิพากษ์เชื่อว่าโฮโมเซ็กช่วลเป็นส่วนหนึ่งของมนุษย์ เพราะมนุษย์ทุกคนจะมีความรู้สึกแบบโฮโมเซ็กช่วลแฝงอยู่ในตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นผู้ชายหรือเป็นผู้หญิง   นักต่อสู้ในแนวทางนี้มองว่าสังคมบริโภคทำให้ร่างผู้ชายกลายเป็นสินค้า ดังนั้นบาร์เกย์ทั้งหลายจึงเป็นการบ่อนทำลายวัฒนธรรมเกย์ พื้นที่ทางสังคมของเกย์ไม่ควรถูกครอบงำด้วยเซ็กซ์ แต่ควรเป็นพื้นที่ของความรักและมิตรภาพ

          เนื่องจากการต่อสู้ของจีแอลเอฟเป็นการต่อสู้แบบถอดรากถอดโค่น และบางครั้งเสี่ยงต่อการใช้ความรุนแรง ทำให้สมาชิกหลายคนค่อยๆย้ายตัวเองไปอยู่ในกลุ่มที่ทำงานเชิงประนีประนอมหรือเป็นแบบเสรีนิยมมากกว่า  จีแอลเอฟจึงค่อยๆสลายไปในระยะเวลาสั้นๆในช่วงปี ค.ศ.1971   จอห์น ดี เอมิลิโอ อธิบายว่าแนวคิดเรื่องปฏิวัติสังคมเป็นแนวคิดที่เกิดขึ้นได้ยากและค่อยๆหมดพลังลงไปท่ามกลางองค์กรเกย์ที่เกิดใหม่ๆซึ่งเคลื่อนไหวแบบค่อยๆเป็นค่อยๆไป และเน้นทำงานเฉพาะด้าน  การเคลื่อนไหวที่เน้นเรื่องสิทธิเป็นเรื่องที่เป็นไปได้มากกว่า และยิ่งมีการเดินพาเหรดก็ยิ่งจับใจมวลชนเกย์มากกว่า[29]

 

แนวคิดทฤษฎีเรื่องเพศวิถีและอัตลักษณ์เกย์

          แนวคิดทฤษฎีที่ใช้อธิบายเพศวิถีและอัตลักษณ์เกย์ แบ่งเป็นสองแนว คือ แนวแก่นแท้นิยม (Essentialism) และแนวการผลิตสร้างทางสังคม (Social Constructionism) 

          แนวแก่นแท้นิยม เป็นแนวที่อ้างอิงความรู้แบบวิทยาศาสตร์เป็นพื้นฐาน โดยเริ่มตั้งแต่ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 นักคิดและนักต่อสู้อย่างคาร์ล เฮนริช อุลริชส์, แม็กนัส เฮิร์ชเฟลด์, จอห์น แอดดิงตัน ไซมอนด์ และ เฮนรี เฮฟล็อค เอลลิส   บุคคลเหล่านี้พยายามอธิบายว่าโฮโมเซ็กช่วลเป็นสิ่งที่ธรรมชาติสร้างมา คำอธิบายนี้มีเป้าหมายเพื่อที่จะตอบโต้กลุ่มนักวิทยาศาสตร์ที่ออกมากล่าวหาว่าโฮโมเซ็กช่วลเป็นผู้ที่ผิดปกติหรือเป็นความเสื่อมถอยของมนุษย์   คำอธิบายเชิงวิทยาศาสตร์ในระยะแรกๆ มาจากอุลริชส์ หลังจากที่เขาได้อ่านงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับเซลล์ของตัวอ่อนซึ่งยังไม่มีเพศ ทำให้เขาเชื่อว่าตัวอ่อนของมนุษย์มีทั้งเพศชายและหญิงและอาจทำให้เกิดสภาวะโฮโมเซ็กช่วลได้[30]   ในปี ค.ศ.1862 อุลริชส์เขียนบทความอธิบายเกี่ยวกับ ต้นกำเนิดทางสรีระ (Physical Germ) และต้นกำเนิดทางจิตใจ (Spiritual Germ)  เพื่อที่จะเสนอว่าผู้ชายที่เป็นเยอร์นิ่งจะมีร่างกายเป็นชายและมีจิตใจเป็นหญิง     

         จนถึงปี ค.ศ.1870  อุลริชส์เขียนบทความเรื่อง Araxes: a Call to Free the Nature of the Urning from Penal Law โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับสิทธิของบุคคลที่จิตใจแบบ “เยอร์นิ่ง”  ซึ่งอุลริชส์เชื่อว่าคนที่มีจิตใจแบบนี้เป็นมนุษย์คนหนึ่งที่ธรรมชาติสร้างมา กล่าวคือในระยะที่มนุษย์พัฒนาตัวเองในครรภ์ อวัยวะเพศชายและหญิงพัฒนามาจากเซลล์เดียวกัน[31]  จิตใจของมนุษย์จะค่อยๆพัฒนาขึ้นและเป็นไปได้ที่เพศชายจะพัฒนาจิตใจเป็นผู้หญิง       แต่หนังสือที่มีอิทธิพลต่อการศึกษาโฮโมเซ็กช่วลเล่มแรกคือ Sexual Inversion เขียนโดยไซมอนด์และเอลลิส ในปี ค.ศ.1897  หนังสือเล่มนี้ได้ศึกษาบุคคล 31 คนที่มารับการรักษาอาการทางจิตกับจิตแพทย์ ซึ่งมีทั้งผู้หญิงและผู้ชาย  เอลลิสอธิบายว่าบุคคลเหล่านี้มิใช่คนป่วยทางจิต และโฮโมเซ็กช่วลก็คือคนปกติธรรมดา   มีการอธิบายว่าโฮโมเซ็กช่วลเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตั้งแต่กำเนิด หนังสือเล่นนี้มีอิทธิพลมากในยุโรปในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20

          ความเข้าใจดังกล่าวทำให้เกิดการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องให้มีการแก้กฎหมายที่ลงโทษโฮโมเซ็กช่วล  ความพยายามที่สำเร็จครั้งแรกคือการต่อสู้ของอุลริสช์ในปี ค.ศ.1864  ที่ทำให้เกิดการแก้กฎหมายของเยอรมันซึ่งระบุว่าพฤติกรรมโฮโมเซ็กช่วลไม่ผิดกฎหมาย[32]  หลังจากนั้นอุลริชส์ก็รณรงค์ให้มีการยอมรับการแต่งงานระหว่างชายกับชาย บทความของอุลริชส์แพร่หลายในชุมชนโฮโมเซ็กช่วลในเยอรมันซึ่งทำให้ความเชื่อว่าโฮโมเซ็กช่วลเป็นสิ่งที่ธรรมชาติสร้างมามีความสำคัญ รวมทั้งทำให้เกิดทฤษฎีเพศที่สามเพื่อให้การเคลื่อนไหวของโฮโมเซ็กช่วลมีน้ำหนักมากขึ้น   การเน้นย้ำเรื่องโฮโมเซ็กช่วลว่าเป็นมาแต่กำเนิด คือสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์ที่เป็นเกย์พยายามออกมาโต้เถียง และการโต้เถียงที่มีพลังมากครั้งหนึ่งมาจากการศึกษาวิจัยของไซมอนด์ เลอเวย์

          เลอเวย์เป็นนักประสาทวิทยาที่สถาบันซัลค์ในแคลิฟอร์เนีย และเปิดเผยความเป็นเกย์ของตัวเอง การวิจัยของเลอเวย์ได้รับการสนับสนุนจากนักต่อสู้เกย์ทั้งหลายเพราะ หลักฐานทางวิทยาศาสตร์จะช่วยให้เกย์ได้รับสิทธิและเสรีภาพ ในปี ค.ศ.1991 เลอเวย์ได้เขียนบทความเพื่ออธิบายว่าเซลล์สมองในส่วนไฮโปไธลามัสของเกย์แตกต่างจากผู้ชายทั่วไป  และบริเวณที่เรียกว่า INAH 3 ของสมองเป็นส่วนที่กำหนดให้มนุษย์มีความรู้สึกทางเพศว่ารักเพศเดียวกันหรือรักต่างเพศ  กล่าวคือถ้าบริเวณนี้มีขนาดใหญ่ก็จะทำให้บุคคลสนใจเพศหญิง ถ้าส่วนนี้เล็กก็จะทำให้บุคคลสนใจเพศชาย[33]  เป้าหมายของเลอเวย์มิได้อยู่ที่การพิสูจน์ว่าโฮโมเซ็กช่วลมีสาเหตุจากชีววิทยาเพียงอย่างเดียว แต่เขายังทำงานเคลื่อนไหวเกี่ยวกับสิทธิของเกย์ด้วย การวิจัยของเลอเวย์ได้รับการถกเถียงในวงการวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์ มีการตั้งข้อสังเกตว่ากรอบความคิดที่เลอเวย์ใช้อธิบายให้ความสนใจกับพฤติกรรมทางเพศของชายและแบ่งแยกคู่ตรงข้ามระหว่างชายกับหญิง ซึ่งเป็นกรอบความคิดที่ยังเชื่อในระบบเพศที่สังคมกำหนด[34]

          อย่างไรก็ตามการหาสาเหตุทางชีววิทยาต่อการเป็นโฮโมเซ็กช่วล ยังไม่มีการยืนยันที่ชัดเจนว่าปัจจัยทางร่างกาย ฮอร์โมน และระบบประสาทจะส่งผลต่อการแสดงพฤติกรรมโฮโมเซ็กช่วล  อัลเฟร็ด คินซีย์ตั้งข้อสังเกตว่าพฤติกรรมทางเพศของมนุษย์มีความซับซ้อน เพราะการรักชอบเพศเดียวกัน หรือรักต่างเพศมิได้เกิดขึ้นจากปัจจัยทางชีววิทยา แต่ยังเกี่ยวข้องกับสภาพแวดล้อมทางสังคมและวัฒนธรรม รวมทั้งประสบการณ์ของบุคคลตามช่วงวัยต่างๆ พฤติกรรมโฮโมเซ็กช่วลจึงมิได้เกิดจากสาเหตุใดสาเหตุหนึ่ง[35]   นอกจากนั้นการแบ่งแยกสาเหตุของการเป็นโฮโมเซ็กช่วลออกจากการเป็นรักต่างเพศก็เป็นเรื่องที่ทำได้ยาก ดังนั้นปัญหาจึงไม่ได้อยู่ที่การหาสาเหตุ แต่อยู่ที่กรอบความคิดแบบวิทยาศาสตร์ที่ต้องการสร้างสิ่งที่จับต้องได้หรือพิสูจน์ได้ 

          แนวการผลิตสร้างทางสังคม หมายถึง การอธิบายปรากฎการณ์ทางสังคมที่ทำให้เกิดการสร้างความหมายเกี่ยวกับเรื่องเพศ ซึ่งอาจมาจากสถาบันทางการเมือง เศรษฐกิจ ศาสนา การศึกษา สังคม และวัฒนธรรม การศึกษาในแนวนี้จะมองต่างไปจากแนวแก่นแท้นิยม เพราะมองว่าโฮโมเซ็กช่วลเป็นผลผลิตทางสังคม มิได้มีแก่แท้แน่นอน กล่าวคือความหมายและคุณค่าของโฮโมเซ็กช่วลจะมีการเปลี่ยนแปลงไปตามช่วงเวลาในประวัติศาสตร์  การศึกษาที่มีอิธิพลมากคือการศึกษาของมิเชล ฟูโก้ เรื่อง The History of Sexuality อธิบายว่าเมื่อประมาณ 200 ปีก่อน ไม่มีคำเรียกสำหรับเกย์ แต่มีคำอธิบายเกี่ยวกับโซโดมี ต่อมาความรู้ทางการแพทย์และจิตวิทยาก็ทำให้เกิดคำอธิบายเกี่ยวกับโฮโมเซ็กช่วลในฐานะเป็นเพศวิถีที่ต่างไปจากรักต่างเพศ      ความคิดเรื่องเพศวิถี (Sexuality) จึงเป็นผลผลิตของสังคมตะวันตกภายใต้วาทกรรมทางการแพทย์ วิทยาศาสตร์ และระบบเหตุผล ดังนั้นบุคคลที่มีพฤติกรรมรักเพศเดียวกันจะถูกนิยามเปลี่ยนไปตามยุคสมัย  อัตลักษณ์แบบเกย์จึงมิใช่สิ่งที่คงที่ 

          จากความคิดดังกล่าวทำให้ฟูโก้ไม่เห็นด้วยกับการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องเสรีภาพของชาวเกย์ เพราะการเรียกร้องเท่ากับเป็นการตอกย้ำการแบ่งประเภทของคนตามเพศสภาพและเพศวิถี ด้วยเหตุนี้จึงทำให้นักเคลื่อนไหวทางการเมืองของเกย์ไม่ลงรอยและขัดแย้งกับฟูโก้ เพราะเห็นว่าทฤษฎีกับการปฏิบัติไปด้วยกันไม่ได้   ผู้ที่เห็นด้วยกับฟูโก้ เช่น เดวิด เฮลเปอริน[36] กล่าวว่า “เกย์” เป็นวาทกรรมที่ถูกสร้างขึ้นมิได้เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ความคิดของฟูโก้จะทำให้เห็นเกย์อีกมิติหนึ่งซึ่งไม่มีความจริงแท้

           เฮลเปอริน[37] อธิบายว่าทุกวันนี้เรารู้ว่าเพศวิถีของมนุษย์มีประวัติศาสตร์ความเป็นมา แต่เราไม่เคยถามว่าประวัติศาสตร์นั้นเป็นอย่างไร  การมองว่าประวัติศาสตร์ของเพศวิถีเป็นเรื่องของอัตลักษณ์หรือการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยนั้นยังไม่เพียงพอ  นักประวัติศาสตร์มักจะอธิบายที่มาของโฮโมเซ็กช่วลว่ามาจากพฤติกรรมของโซโดไมต์  การแต่งตัวข้ามเพศ และความสัมพันธ์แบบลับๆ เพื่อทำให้เห็นว่ามีความเกี่ยวเนื่องกันระหว่างพฤติกรรมในอดีตกับปัจจุบัน  การมองประวัติศาสตร์แบบนี้เป็นการมองแบบ “constructionist” หรือคนที่เชื่อปัจจัยทางสังคม ซึ่งเชื่อว่าประวัติศาสตร์ของโฮโมเซ็กช่วลถูกสร้างมาจากสังคมสมัยใหม่ ทำให้มีการนำคำว่าโฮโมเซ็กช่วลไปเรียกพฤติกรรมของชายรักชายในอดีตและในวัฒนธรรมต่างๆ  ทั้งนี้รูปแบบความสัมพันธ์ของคนรักเพศเดียวกันในอดีตก่อนที่จะมีคำเรียกโฮโมเซ็กช่วล เป็นรูปแบบความสัมพันธ์ที่ไม่มีขอบเขตที่ชัดเจน ขึ้นอยู่กับแต่ละวัฒนธรรม

                เฮลเอรินเสนอว่าการศึกษาประวัติศาสตร์ของโฮโมเซ็กช่วลควรจะศึกษาถึงความต่อเนื่อง และต้องทำความเข้าใจความหมายของโฮโมเซ็กช่วลในฐานะเป็นแนวคิดหนึ่งซึ่งพยายามครอบงำความคิดอื่นๆที่อธิบายพฤติกรรมคนรักเพศเดียวกัน    รูปแบบความสัมพันธ์ของชายรักชายในอดีตก่อนที่จะมีคำว่าโฮโมเซ็กช่วลอาจมีชื่อเรียกต่างกัน   เฮลเปอรินให้ความสนใจในประวัติความเป็นมาของโฮโมเซ็กช่วลในโลกตะวันตกเป็นหลัก โดยศึกษาจากพฤติกรรมโซโดมีที่ชอบสอดใส่ทางทวารหนัก ผู้ที่ชอบถูกสอดใส่ ความสัมพันธ์แบบลับๆของชายรักชาย และการแต่งตัวเป็นหญิงประวัติศาสตร์ของโฮโมเซ็กช่วลจึงไม่มีความเป็นเอกภาพ และไม่เกี่ยวข้องกับชายรักชายในอดีต    พฤติกรรมหรือรูปแบบความสัมพันธ์ของชายรักชายแต่ละแบบมีความแตกต่างกัน ความสัมพันธ์แต่ละแบบมีประวัติศาสตร์ของตัวเอง และอาจมีความเชื่อมโยงกันในบางแง่มุม              

           ความหมายของโฮโมเซ็กช่วลในคริสต์ศตวรรษที่ 19 เกี่ยวข้องและสัมพันธ์กับการปลดปล่อยพฤติกรรมชายรักชายให้เป็นอิสระ ไม่เป็นบาป และไม่ผิดกฎหมายภายใต้การปกครองของเยอรมัน  ตามความคิดของเคิร์ตเบนนีย์เชื่อว่าโฮโมเซ็กช่วลเป็นแรงขับทางเพศของบุคคลที่มีต่อคนเพศเดียวกัน แต่ในเวลาต่อมานักวิชาการหลายคนได้ตีความโฮโมเซ็กช่วลในแบบที่ต่างกัน  ความหมายของโฮโมเซ็กช่วลอาจเกี่ยวข้องกับแนวคิด 3 แนว คือ หนึ่ง แนวคิดเรื่องตัวตนทางเพศซึ่งอธิบายว่าพฤติกรรมโฮโมเซ็กช่วลเกิดจากสภาพจิตใจ   สอง แนวคิดเรื่องความรู้สึกทางเพศซึ่งมีความเปลี่ยนแปลงตามช่วงวัย บางคนอาจมีจิตนาการเกี่ยวกับการมีเพศสัมพันธ์กับคนเพศเดียวกัน ซึ่งจินตนาการนี้ไม่คงที่  และสาม แนวคิดเรื่องพฤติกรรมเบี่ยงเบน ซึ่งเชื่อว่าเป็นการกระทำที่มีปัญหาสังคม  แนวคิดทั้งสามนี้มีส่วนที่ทำให้เกิดความหมายของโฮโมเซ็กช่วลสมัยใหม่ [38] ซึ่งมีความคลุมเคลือมาก    โฮโมเซ็กช่วลจะเป็นทั้งเรื่องของสภาพตัวตนทางจิต อารมณ์ความรู้สึกทางเพศ และพฤติกรรมที่แสดงออก  นอกจากนั้นยังบ่งบอกถึงความรู้สึกชอบเพศเดียวกันซึ่งอาจแสดงออกได้หลายรูปแบบ หลายลักษณะ ทำให้พฤติกรรมชายรักชายในสังคมที่ต่างกันถูกตีความว่าเป็นโฮโมเซ็กช่วลตามมุมมองของนักวิชาการตะวันตกในคริสต์ศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา 

            นักวิชาการที่ใช้กรอบการผลิตสร้างทางสังคม  ได้แก่ แมรี แม็คอินทอช ซึ่งเขียนบทความเรื่องโฮโมเซ็กช่วลในอังกฤษ ในปี ค.ศ.1968 เป็นการเปิดประเด็นว่าประวัติศาสตร์อังกฤษมีส่วนสร้างความหมายของโฮโมเซ็กช่วลอย่างไร     เจฟฟรีย์ วีคส์(1977,1981,1985) นักประวัติศาสตร์ที่แยกให้เห็นว่าพฤติกรรมแบบโฮโมเซ็กช่วล ต่างกับอัตลักษณ์ของโฮโมเซ็กช่วล และทั้งสองส่วนนี้มีการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยและบริบททางวัฒนธรรม รวมทั้งทัศนคติและความเชื่อของคนในสังคมซึ่งมองเรื่องเพศแตกต่างกัน  การศึกษาของโจนาธาน แค็ธ (1976,1983)  อธิบายว่าความหมายของโฮโมเซ็กช่วลในอดีตต่างไปจากปัจจุบัน กล่าวคืออัตลักษณ์แบบเกย์ในอเมริกาเพิ่งเกิดขึ้นมาไม่นานและต่างไปจากยุคอาณานิคม[39]

           เดวิด     กรีนเบิร์ก เขียนหนังสือเรื่อง The Construction of Homosexuality[40] ในปี ค.ศ.1988 อธิบายว่าการรับรู้และความเข้าใจต่อบุคคลที่รักเพศเดียวกันหรือโฮโมเซ็กช่วลในแต่ละยุคสมัย มีความแตกต่างกัน ในช่วงสังคมศักดินา ยุคฟิวดัลในยุโรป ศาสนาคริสต์จะมีอำนาจในทางสังคม เศรษฐกิจและการเมือง  ทำให้พฤติกรรมชายรักชายถูกมองว่าเป็นบาป หรือเป็นการทำผิดกฎธรรมชาติ   ต่อมาในคริสต์ศตวรรษที่ 19 วิทยาศาสตร์อธิบายว่าโฮโมเซ็กช่วลคือผู้ที่มีความผิดปกติทางจิต หรือมีความบกพร่องทางระบบประสาท จนกระทั่งกลางคริสต์ศตวรรษที่ 20 นักวิชาการทางสังคมศาสตร์ก็เริ่มอธิบายใหม่ว่าโฮโมเซ็กช่วลมิใช่โรคจิต แต่เป็นวิถีชีวิตที่ต่างไปจากชายหญิง ซึ่งเกี่ยวข้องกับฐานคิดของรักต่างเพศ

             ทิม เอ็ดเวิร์ด    กล่าวว่าแนวคิดการผลิตสร้างทางสังคมได้ตั้งคำถามเกี่ยวกับความหมายของ  โฮโมเซ็กช่วลซึ่งมิได้มาจากปัจจัยทางชีววิทยาหรือเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ  แต่เชื่อว่าปฏิบัติการเกี่ยวกับโฮโมเซ็กช่วลเป็นเรื่องที่แตกต่างกันตามเงื่อนไขของสังคมและกาลเวลา   อย่างไรก็ตามการมองอิทธิพลทางสังคมเพียงอย่างเดียวโดยไม่เข้าใจประสบการณ์ส่วนบุคคลของผู้ที่เป็นเกย์[41] ก็อาจทำให้เห็นว่าเกย์เป็นฝ่ายตั้งรับที่ไม่สามารถต่อรองหรือไกล่เกลี่ยนิยามความหมายได้  ดังนั้น ข้อสังเกตเกี่ยวกับแนวการผลิตสร้างทางสังคมอาจมีข้อจำกัดในการทำความเข้าใจชีวิตของเกย์ โดยเฉพาะมิติของอารมณ์และความรู้สึก  การศึกษาวิจัยในระยะหลังๆจึงมุ่งที่จะอธิบายประสบการณ์ในระดับบุคคลให้มากขึ้น  หรือการศึกษาเชิงปฏิสัมพันธ์ (Interactionist)  แนวการศึกษานี้พยายามอุดช่องว่างที่เกิดจากการมองบริบททางประวัติศาสตร์สังคมเพียงอย่างเดียว เช่นการศึกษาทางชาติพันธุ์ที่เก็บข้อมูลชีวิตของบุคคลที่เป็นเกย์ในวัฒนธรรมต่างๆ

 

กระบวนทัศน์ในการเคลื่อนไหวทางสังคมของเกย์

          กระบวนทัศน์เป็นสิ่งที่หล่อหลอมให้เกิดความคิด แนวคิดทฤษฎี และอุดมการณ์ในการต่อสู้ทางสังคมของชาวเกย์  นักวิชาการตะวันตกได้ชี้ว่ามีกระบวนทัศน์ที่สำคัญสองแบบที่ขับเคลื่อนในชุมชนเกย์ คือ กระบวนทัศน์แบบสมัยใหม่ที่ให้ความสำคัญกับการสร้างอัตลักษณ์ และกระบวนทัศน์หลังสมัยใหม่ที่พยายามรื้อสร้างอัตลักษณ์

          กระบวนทัศน์สมัยใหม่ (Modern Paradigm) กระบวนทัศน์นี้เกิดขึ้นมาตั้งแต่ที่มีการปฏิวัติทางวิทยาศาสตร์ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่  17 เป็นต้นมา ในการเคลื่อนไหวทางสังคมของเกย์ก็ได้รับความคิดแบบวิทยาศาสตร์มาโดยตลอด จะเห็นได้ว่าการต่อสู้ในแนวทางเสรีนิยมและแก่นแท้นิยมพยายามชูประเด็นเรื่องอัตลักษณ์เกย์   นักคิดและนักต่อสู้ชาวเกย์ในรุ่นแรกๆเชื่อมั่นในความมีตัวตนและเอกภาพของโฮโมเซ็กช่วล เช่น    ในการศึกษาทางประวัติศาสตร์ของจอห์น แอดดิงตัน ไซม่อน พบว่าพฤติกรรมโฮโมเซ็กช่วลสามารถสืบย้อนกลับไปถึงยุคกรีก และมีความต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน การศึกษาแนวนี้เป็นการมองประวัติศาสตร์เป็นเส้นตรงและเชื่อมั่นในแก่นแท้ของพฤติกรรมโฮโมเซ็กช่วล โดยมองข้ามไปว่าแนวคิดเรื่อง “โฮโมเซ็กช่วล” เพิ่งเกิดขึ้นในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19   ดังนั้นความสัมพันธ์ระหว่างชายกับชายในยุคกรีกจึงมีความหมายต่างไปจากคำว่าโฮโมเซ็กช่วลในยุตสมัยใหม่  ในประเด็นนี้เดวิด เฮลเพอริน (2002)[42] ได้ชี้ให้เห็นปัญหาของการมองประวัติศาสตร์แบบต่อเนื่องและมีรากเหง้าเดียวกันว่าเป็นการบิดเบือนพฤติกรรมรักเพศเดียวกันที่มิได้นิยามว่าเป็นโฮโมเซ็กช่วล ซึ่งอาจเกิดขึ้นนอกสังคมตะวันตก

            ทิม เอ็ดเวิร์ดวิจารณ์ว่าการศึกษาประวัติศาสตร์โฮโมเซ็กช่วลจะให้ความสำคัญหรือให้น้ำหนักกับการนิยามและสร้างแนวคิดเรื่อง “เพศวิถี” เช่นการศึกษาของเจฟฟรีย์ วีคส์ (1985) แบร์รี อดัม (1987) เดวิด กรีนเบิร์ก (1988) เป็นต้น การศึกษาเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่าประวัติศาสตร์ของโฮโมเซ็กช่วลมีวิวัฒนาการไปตามยุคสมัยเริ่มตั้งแต่ยุคความเป็นบาปเพราะศาสนาตำหนิและลงโทษ ยุคของการเป็นอาชญกรภายใต้กฎหมายโซโดมี ยุคของการเป็นโรคจิตภายใต้คำอธิบายทางการแพทย์ ยุคของการควบคุมและจัดระเบียบภายใต้สังคมประชาธิปไตย และยุคของการปฏิรูปภายใต้สิทธิมนุษยชนและความเป็นพลเมือง  ถึงแม้ว่าการแบ่งยุคสมัยดังกล่าวนี้จะมิได้ให้ภาพแบบเส้นตรง แต่ทำให้เห็นว่าโฮโมเซ็กช่วลเป็นความต่อเนื่องทางประวัติศาสตร์

          เคนเน็ธ พลัมเมอร์ (1975) ตั้งข้อสังเกตว่า “โฮโมเซ็กช่วล” ในสังคมตะวันตกเกิดขึ้นพร้อมพร้อมกับวัฒนธรรมของการดูหมิ่นแบ่งแยก[43] ความหมายของโฮโมเซ็กช่วลจึงเป็นด้านลบหรือเป็นด้านตรงข้ามกับรักต่างเพศ ซึ่งความคิดของการแบ่งแยกนี้เป็นกระบวนทัศน์สมัยใหม่ที่พยายามจัดระเบียบคู่ตรงข้ามว่าอะไรดีหรือเลว การศึกษาที่พยายามโต้แย้งว่าโฮโมเซ็กช่วลเป็นด้านตรงข้ามกับรักต่างเพศ (Heterosexual) ก็เท่ากับเป็นการตอกย้ำความคิดแบบคู่ตรงข้ามนี้ เช่นเดียวกับการอธิบายว่าตัวตนของโฮโมเซ็กช่วลเป็นตัวตนตามธรรมชาติ เท่ากับเป็นการตอกย้ำความคิดแบบแก่นแท้นิยม    ความคิดแบบคู่ตรงข้ามปรากฎอยู่ในการศึกษาโฮโมเซ็กช่วลอย่างเต็มเปี่ยม ไม่ว่าจะเป็นการอธิบายที่เชื่อว่าเกย์ถูกกดขี่ข่มเหงจากสังคมรักต่างเพศ เกย์เป็นกลุ่มคนชายขอบ และเป็นคนกลุ่มน้อย  คำอธิบายเหล่านี้ได้แยกเกย์ให้ออกไปจากคนกลุ่มใหญ่   การศึกษาของสตีเฟ่น แองเจล (2002) กล่าวว่าในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง การศึกษาเกย์พยายามอธิบายถึงกระบวนการสร้างกลุ่มวัฒนธรรมย่อยและการเกิดขึ้นของชุมชนเกย์ในเมืองใหญ่ๆ จนถึงการจัดตั้งองค์กรเพื่อเคลื่อนไหวทางสังคม[44]  การอธิบายเหล่านี้ชี้ให้เห็นถึงความคิดที่มองเกย์เป็นคนรักเพศเดียวกัน เป็นคนที่ถูกกดขี่ข่มเหง และตกอยู่ใต้อำนาจของรักต่างเพศซึ่งเป็นสิ่งที่นักต่อสู้เกย์พยายามออกมารณรงค์ 

           อย่างไรก็ตาม การศึกษาแนวนี้ทำให้ประเด็นเรื่องการกดขี่ข่มเหงทางเพศ (Sexual Oppression) เป็นความขัดแย้งเชิงคู่ตรงข้ามระหว่างคนรักเพศเดียวกันกับคนรักต่างเพศ ซึ่งเป็นการแย่งชิงอำนาจระหว่างคนชายขอบกับคนที่สังคมยอมรับซึ่งเป็นคนกลุ่มใหญ่  การศึกษาในแนวนี้ยังคงแพร่หลายอยู่ในกลุ่มนักวิชาการและนักเคลื่อนไหวเกย์ทั้งหลาย[45] 

          กระบวนทัศน์หลังสมัยใหม่ (Postmodern Paradigm) เป็นการตั้งคำถามเกี่ยวกับการสร้างความรู้และความจริงเกี่ยวกับเกย์และโฮโมเซ็กช่วลในฐานะเป็นอัตลักษณ์ทางเพศ   เป้าหมายของการโจมตีก็คือระบบเหตุผลในยุคสมัยใหม่ที่พยายามจัดประเภท “เพศ” ของมนุษย์ว่าแบบไหนดี แบบไหนเลว  เมื่อการเคลื่อนไหวของชาวเกย์นำระบบเหตุผลที่แบ่งแยกเพศมาใช้ก็เท่ากับว่าชาวเกย์เชื่อว่าตนเองเป็นเพศที่ไม่ดีตามวาทกรรมกระแสหลัก ในปี ค.ศ.1972  กาย ฮ็อคเคว็นเฮม ผู้นำองค์กรเกย์ในฝรั่งเศส เขียนหนังสือเรื่อง Homosexual Desire อธิบายว่าสังคมชายเป็นใหญ่คือสิ่งที่ถูกสร้างขึ้น และการเรียกร้องเสรีภาพของเกย์ก็เป็นเพียงการจรรโลงให้อำนาจของผู้ชายดำรงอยู่ต่อไป  การที่รักต่างเพศตื่นกลัวโฮโมเซ็กช่วลเพราะว่าพวกเขากลัวสูญเสียตัวตนของความเป็นชาย   ฮ็อคเคว็นเฮมเชื่อว่าขบวนการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพของเกย์คือความสัมพันธ์ชนิดหนึ่งที่เกิดขึ้นในสังคมที่เป็นการแข่งขันระหว่างเพศชาย   

          ความคิดของฮ็อคเคว็นเฮม ถือเป็นทฤษฎีเควียร์ (Queer Theory)ในระยะแรกๆ การศึกษาของเขาได้รับอิทธิพลจาก Gilles Deleuze และ Félix Guattari รวมทั้งได้รับอิทธิพลความคิดเชิงจิตวิทยาแบบฟรอยด์และลาค็อง   ทฤษฎีเควียร์เป็นผลผลิตของเฟมินิสต์รุ่นที่สาม หรือรู้จักในนามเฟมินิสต์เลสเบี้ยน[46] ซึ่งต้องการสำรวจและวิจารณ์วิธีคิดในการจัดระเบียบความรู้เกี่ยวกับเพศ การแบ่งชนิดของเพศสภาพ (gender) และเพศวิถี (sexuality) สนใจความหมายของอัตลักษณ์ (identity)ในมิติทางวัฒนธรรมที่มีการแบ่งระหว่างอัตลักษณ์ปกติกับผิดปกติ  นักคิดแนวเควียร์เชื่อว่าอัตลักษณ์เป็นสิ่งที่ไม่คงที่ แต่ผันแปรและเปลี่ยนได้        นักต่อสู้ชาวเกย์ที่ได้อิทธิพลจากทฤษฎีเควียร์ก็ได้นำข้อวิจารณ์นี้ไปขับเคลื่อนทางสังคม เช่น กลุ่ม ACT UP ซึ่งทำงานเชิงการเมืองมากขึ้น และยึดอุดมการณ์ใหม่แบบ Separatist ที่ต้องการแยกตัวเองออกจากกฎเกณฑ์ทางเพศแบบเดิมๆ  ซึ่งทำให้กลุ่มของเครเมอร์เป็นพวกหัวรุนแรง      แองเจเลีย วิลสัน(1993) ตั้งข้อสังเกตว่าการเมืองแบบแยกตัวพิสูจน์ให้เห็นว่าชาวเกย์ไม่ต้องการใช้บรรทัดฐานเดียวกับรักต่างเพศ ไม่ว่าจะเป็นวิถีชีวิต ค่านิยม  และศีลธรรม      แอ็คอัพมีความคิดเชิง Queer Politics[47] ที่วิพาก์วิจารณ์การจัดประเภทเซ็กของมนุษย์ ที่แบ่งแยกว่าแบบไหนถูกหรือผิด การแบ่งแบบนี้เกี่ยวข้องกับการใช้อำนาจของสถาบันต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการแพทย์ วิทยาศาสตร์ การเมือง การศึกษา และศาสนา  แต่แอ็คอัพเชื่อว่าเพศจัดแบ่งไม่ได้ และอัตลักษณ์ทางเพศก็เป็นสิ่งที่ไม่ตายตัว สามารถเปลี่ยนแปลงได้

          ในปี ค.ศ.1990 กลุ่มเควียร์เนชั่น (Queer Nation) ก่อตั้งขึ้นในนิวยอร์ค เป็นองค์กรเกย์อีกกลุ่มหนึ่งที่มีแนวคิดแบบเควียร์  มีเป้าหมายเพื่อสลายการเมืองแบบอัตลักษณ์ และสร้างอัตลักษณ์ใหม่ที่เรียกว่า “Queer” หมายถึงการไม่ระบุชัดเจนว่าตนเองมีอัตลักษณ์ทางเพศแบบไหน เป็นการแสดงตัวของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ   นักวิชาการบางคนเรียกการเคลื่อนไหวนี้ว่าการต่อต้านอัตลักษณ์ (Anti-Identity)[48]    สตีเวน ซีดแมน อธิบายว่าสัญลักษณ์แบบเควียร์ทำให้บุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศเข้ามารวมตัวกัน ซึ่งอาจจะมีทั้งชายและหญิงที่ถูกกดขี่ข่มเหง หรือเป็นคนชายขอบของสังคม  แต่ในขณะเดียวกันเควียร์ก็ไม่ได้เสนอทางออกให้กับการต่อสู้เหมือนกับการเคลื่อนไหวของเกย์ในทศวรรษ 1970[49]

          อิทธิพลความคิดเรื่องเพศตะวันตกที่ครอบงำไปยังวัฒนธรรมอื่นๆก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์เช่นกัน จากการศึกษาของเฮลเปอริน (2002) ทำให้เข้าใจว่าพฤติกรรมชายรักชายในโลกปัจจุบันถูกอธิบายด้วยแนวคิดโฮโมเซ็กช่วล และที่สำคัญกว่านั้นคือ นักวิชาการทั้งหลายพยายามเชื่อมโยงพฤติกรรมชายรักชายในอดีตและต่างวัฒนธรรมมารวมเข้ากับโฮโมเซ็กช่วล  ทำให้เกิดความเข้าใจเรื่องเพศผิดเพี้ยนไป  เฮลเปอรินกล่าวว่าโฮโมเซ็กช่วลสร้างนิยามใหม่ให้กับความสัมพันธ์ของชายรักชายในสมัยโบราณ  กล่าวคือ  บทบาทหน้าที่และฐานะของผู้ชายจะถูกลดถอนลง แต่จะเพิ่มความสำคัญต่ออัตลักษณ์ทางเพศ หรือบทบาททางเพศ  ดังนั้นเมื่อมีการอธิบายว่าใครมีพฤติกรรมโฮโมเซ็กช่วล จะมีการอธิบายต่อไปว่าคนๆนั้นไม่ใช่ผู้ชาย   หรือถูกกล่าวหาว่าเป็นเกย์  ในปัจจุบันอัตลักษณ์เกย์กลายเป็นตัวแบบที่ชัดเจนที่สุดของผู้ชายที่รักเพศเดียวกัน  ปัญหาที่ตามมาของการใช้โฮโมเซ็กช่วลเป็นแม่แบบคือ เกิดการตัดสินว่าใครคือผู้ชายที่แท้จริง ใครคือเกย์ หรือใครคือผู้ที่มีแนวโน้มเป็นเกย์  ขณะเดียวกันก็ทำให้เข้าใจเรื่องเพศโดยแบ่งแยกคู่ตรงข้าม โดยมองว่าชายคู่กับหญิงคือเพศปกติ ชายคู่กับชายคือเพศที่เบี่ยงเบน  ดังนั้น ในสังคมสมัยใหม่ การจับคู่กันระหว่างชายกับชายจึงเป็นเรื่องที่อันตรายและถูกกล่าวหาว่าเป็นเกย์   ผู้ชายที่มีความสุขกับการร่วมรักกับผู้ชายก็อาจเกิดคำถามและสงสัยว่าตนเองเป็นเกย์หรือไม่

         คำถามและความคลุมเคลือเหล่านี้ เกิดจากความเชื่อเกี่ยวกับโฮโมเซ็กช่วล และนิยามเกี่ยวกับเพศวิถี (sexuality)  เมื่อการแบ่งเพศวิถีถูกจำกัดให้เหลือเพียงการรักต่างเพศ และรักเพศเดียวกัน ทำให้ผู้ชายในสังคมสมัยใหม่มีปัญหาในการนิยามอัตลักษณ์ทางเพศของตัวเอง เพราะไม่สามารถหาตัวแบบอื่นๆมาใช้ได้  โฮโมเซ็กช่วลทำให้ความสัมพันธ์ของชายรักชายกลายเป็นเรื่องของการรักเพศเดียวกันและอัตลักษณ์ของคนรักเพศเดียวกัน   เฮลเปอรินกล่าวว่าในสังคมเกย์ปัจจุบัน ไม่มีการยกย่องคุณค่าของความแตกต่างทางฐานะ อายุ บทบาท ชนชั้น หรืออำนาจ เพราะโฮโมเซ็กช่วลให้ความสำคัญเฉพาะความเท่าเทียมของตัวตนทางจิตและอารมณ์ กล่าวคือผู้ชายที่มีความสัมพันธ์กับชาย จะเท่ากับผู้ชายทั้งสองคนมีตัวตนทางจิตและอารมณ์เหมือนกัน มีอัตลักษณ์ทางเพศเหมือนกัน หรือเป็นเกย์เหมือนกัน     โฮโมเซ็กช่วลจะเกิดขึ้นบนหลักคิดที่ว่าผู้ชายสองคนมีสิทธิของตัวเองที่จะรักกัน   มิได้เกิดจากเงื่อนไขทางสังคม ครอบครัว เครือญาติ ชนชั้น และฐานะ[50] คู่รักของเกย์จึงมีแนวโน้มที่จะออกมาเรียกร้องสิทธิเสรีภาพเพื่อให้สังคมยอมรับ มากกว่าที่จะปรับตัวให้เข้ากับบริบททางสังคมและวัฒนธรรมที่หล่อหลอมให้ผู้ชายสามารถมีความสัมพันธ์กับชาย

          เกย์ในปัจจุบันกลายเป็นด้านตรงข้ามของชายจริงหญิงแท้  ผู้ชายที่มีความสัมพันธ์กับชายจึงถูกเหมารวมว่าเป็นเกย์ เพราะเชื่อว่าการมีเซ็กซ์ระหว่างชายด้วยกันเป็นเครื่องยืนยันว่าผู้ชายคนนั้นมีตัวตนเป็นเกย์ และมีรสนิยมชอบเพศเดียวกัน  รสนิยมทางเพศกับอัตลักษณ์ทางเพศถูกมองว่าเป็นเรื่องเดียวกันภายใต้วาทกรรมโฮโมเซ็กช่วล  ตามทัศนะของเฮลเปอรินเชื่อว่าโฮโมเซ็กช่วลเป็นมากกว่ารสนิยมทางเพศ มากกว่าอารมณ์ความรู้สึกของตัวตน  โฮโมเซ็กช่วลทำลายความแตกต่างทางเพศและสังคมของบุคคลที่มีความสัมพันธ์กับคนเพศเดียวกัน  แต่หันกลับมาเน้นย้ำความเป็นปัจเจกนิยม ทำให้บุคคลต้องมีตัวตนทางเพศ  มีอารมณ์ความต้องการทางเพศ และมีสังคมทางเพศที่ชัดเจน[51]

          กระบวนทัศน์หลังสมัยใหม่พยายามรื้อทำลายคู่ตรงข้ามต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นความเป็นรักต่างเพศกับรักเพศเดียวกัน หรือ อัตลักษณ์เกย์กับอัตลักษณ์ชายหญิง เพื่อจะชี้ให้เห็นว่าการจัดประเภทในเรื่องเพศเป็นสิ่งที่คลุมเคลือ หรือเรื่องเพศเป็นเรื่องของการสร้างภาพ  นักวิชาการแนวโพสต์มอเดิร์นอาจอธิบายว่าวัฒนธรรมเกย์เป็นปรากฎการณ์ที่สะท้อนความไร้ระเบียบของสังคม หรือเป็นสิ่งที่ต่อต้านระเบียบสังคม[52] รวมทั้งเป็นพื้นที่เชิงปฏิสัมพันธ์ของความหมายทั้งในระดับท้องถิ่นและสากล   ทิม เอ็ดเวิร์ดซึ่งพยายามอธิบายอัตลักษณ์เกย์ด้วยกระบวนทัศน์หลังสมัยใหม่ชี้ว่า การศึกษาเกย์จำเป็นจะต้องมองความสัมพันธ์เชิงอำนาจและความไม่เท่าเทียมให้มากขึ้น เพราะความรู้เรื่องเพศเกี่ยวข้องกับอำนาจอย่างแยกไม่ออก  การอธิบายเรื่องเกย์จึงจำเป็นต้องพูดถึงเกย์ในมิติของชนชั้น เชื้อชาติ อายุ ช่วงวัย และฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง เพราะเท่าที่ผ่านมา การอธิบายมักจะมองแต่อัตลักษณ์เกย์ที่แยกสิ่งเหล่านี้ไว้ต่างหาก ราวกับว่าเกย์ทุกคนไม่มีความแตกต่างกัน[53]

 

การเคลื่อนไหวทางสังคมของเกย์ไทย

         ปัจจุบันคำว่า “เกย์” ในประเทศไทยเป็นคำที่คนทั่วไปเข้าใจและรู้ว่าหมายถึงใคร แต่ถ้าย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาจะพบว่าความหมายของ “เกย์” ยังคงมีความคลุมเคลือ เนื่องจากยังสับสนกับคำว่า “กะเทย” ซึ่งเป็นคำที่มีอยู่ในสังคมไทยมานานแล้วตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา  จากการศึกษาของเทอดศักดิ์ ร่มจำปา (2545)[54] พบว่าสังคมไทยมองว่าพฤติกรรมชายรักชายเป็นเรื่องผิดปกติ วิปริต และวิตถาร ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับพฤติกรรมลักษณะนี้มักจะเป็นเรื่องในเชิงลบที่สื่อนำมาเผยแพร่ ไม่ว่าจะเป็น การเป็นโสเภณี ชายหาเงิน ขายบริการทางเพศ การร่วมประเวณีของนักโทษชายในคุก และการฆาตกรรมเพราะความหึงหวง   ในช่วงการเปลี่ยนแปลงการปกครอง สังคมไทยยังไม่เข้าใจว่าพฤติกรรมกับกะเทย ต่างจากพฤติกรรมเกย์อย่างไร จึงเป็นภาพเหมารวมว่ากะเทยก็เหมือนกับ “เกย์”

                ความรู้ที่มีอิทธิพลต่อความเข้าใจเรื่องโฮโมเซ็กช่วลในสังคมไทย มาจากความรู้ทางการแพทย์และจิตเวชศาสตร์ ซึ่งนำความรู้นี้มาจากตะวันตกโดยอธิบายว่าเป็นความผิดปกติทางจิต  บุคคลสำคัญที่อธิบายเรื่องนี้คือนายแพทย์สุด แสงวิเชียรและนายแพทย์อรุณ ภาคสุวรรณ์ ซึ่งศึกษาพฤติกรรมของนักโทษชายในปี พ.ศ.2504 และเรียกนักโทษที่มีพฤติกรรมโฮโมเซ็กช่วลว่า “พวกชายลักเพศ”  ส่วนคำว่ากะเทยคือผู้มีความผิดปกติทางร่างกายเพราะมีอวัยวะสืบพันธุ์ทั้งสองเพศอยู่ในคนๆเดียว    บุคคลที่เป็นลักเพศถือว่าเป็นผู้ที่ป่วยทางจิตแต่ไม่มีความผิดปกติทางร่างกาย  คนเหล่านี้มีร่างกายเป็นชายปกติแต่ความรู้สึกและกิริยาท่าทางเป็นผู้หญิงซึ่งจะต้องได้รับการบำบัดรักษา[55]  ความรู้ทางการแพทย์ที่แพร่หลายในสังคมไทยทำให้เกิดความเข้าใจว่าผู้ชายที่รักเพศเดียวกันจะแสดงพฤติกรรมแบบผู้หญิง ซึ่งคำเรีกยที่นิยมของคนทั่วไปคือคำว่า “กะเทย”  ในขณะที่คำว่า “ลักเพศ” ไม่ค่อยนิยมเท่าใดนัก

                ในกลุ่มกะเทยก็มีความเข้าใจกันว่าผู้ที่เปิดเผยและแสดงออกจะถูกเรียกว่า “กะเทย” ส่วนผู้ที่ไม่แสดงออกจะถูกเรียกว่า “อีแอบ”  “แอบจิต” หรือ “เกย์”   พื้นที่ทางสังคมของกะเทยจะพบได้ในงานประกวดกะเทยตามวัดหรือรวมตัวในงานรื่นเริงต่างๆ รวมทั้งมีแหล่งชุมนุมบริเวณสะพานพุทธ ประตูน้ำ วัดแขกสีลม เป็นต้น   ส่วนผู้ที่ไม่แสดงออกก็อาจจะปะปนอยู่กับกะเทย ซึ่งสื่อมวลชนจะขนานนามว่า “กะเทยประเภทสอง” “กะเทยชาย” หรือ “กะเทยหนุ่ม” เพื่อจะแยกจากกะเทยที่ชอบแต่งตัวเป็นหญิง   ส่วนคำว่า “เกย์” ปรากฎขึ้นครั้งแรกในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันที่ 11 ตุลาคม 2508 โดยมีรายงานข่าวเกี่ยวกับแหล่งผู้ชายขายตัวให้กับฝรั่ง ซึ่งผู้ชายเหล่านี้เรียกตัวเองว่า “เกย์”[56]  อาจกล่าวได้ว่า “เกย์” ในสังคมไทยเป็นคำสรรพนามที่ใช้เรียกชายขายบริการทางเพศให้กับชาวตะวันตกที่มาอยู่เมืองไทย  ดังนั้นทัศนคติของสังคมที่มีต่อเกย์ในระยะแรกๆจึงเป็นไปในทางลบ เพราะคิดว่าเป็นภัยมืด เป็นปัญหาสังคมที่จะนำไปสู่อาชญากรรม  นอกจากนั้นสื่อของไทยยังมองว่า “เกย์” เป็นของแปลกปลอมที่มาจากตะวันตกซึ่งเป็นภัยต่อประเทศชาติ  กระทบกระเทือนต่อระบบศีลธรรมของประชาชน[57]

                อย่างไรก็ตาม ภาพที่เป็นลบที่สื่อมวลชนพยายามสร้างให้กับ “เกย์” แตกต่างจากการออกมาเล่าประสบการณ์ชีวิตของบุคคลที่สารภาพว่าตนเองเป็นชายที่ชอบเพศเดียวกัน พื้นที่สำหรับเปิดเผยตัวตนนี้เกิดขึ้นครั้งแรกในคอลัมน์ไขปัญหาตามประสาศุขเล็ก ที่เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐในปี พ.ศ.2515 และคอลัมน์ตอบปัญหาของโก๋ ปากน้ำ ในนิตยสารแปลกในปี พ.ศ.2518   การเปิดเผยประสบการณ์ดังกล่าวทำให้เห็นว่ายังมีชายรักชายที่ไม่นิยามว่าตนเองเป็น “กะเทย” อยู่ในสังคมไทย และเชื่อว่าชายรักชายเหล่านี้เป็นผู้ที่มีการศึกษาและรับรู้ข่าวสารเกี่ยวกับเกย์ในตะวันตก  แต่น้ำเสียงของชายรักชายในยุคนี้บ่งบอกว่าพวกเขารู้สึกหว้าเหว้ และคิดว่าตนเองมีความผิดปกติทางจิต

                สังคมไทยได้ยินข่าวเกี่ยวกับบาร์เกย์ครั้งแรกในปี พ.ศ.2515 เพราะหนังสือพิมพ์ไทยรัฐไปสัมภาษณ์เจ้าของบาร์เกย์ย่านพัฒน์พงษ์ที่ชื่อยศวดี ซึ่งเป็นคำอธิบายครั้งแรกที่บอกว่าสังคมไม่ควรเหยียดหยามเกย์  บาร์เกย์ของยศวดีถือว่าเป็นชมรมเกย์แห่งแรกของประเทศไทย เพราะมีสมาชิกประมาณ 3,000 คน มีทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ บาร์แห่งนี้เป็นที่พบปะสังสรรค์ เป็นที่หาเพื่อน หาคนรักของชายรักชาย หรือ “หนุ่มรักร่วมเพศ”   ผู้ชายที่มาเที่ยวบาร์จะเรียกตัวเองว่าเกย์ มีทั้งเกย์คิงและเกย์ควีนและส่วนใหญ่จะเป็นผู้ที่มีการศึกษา    จากข้อมูลดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าเกย์ในสังคมไทยมีพื้นที่ทางสังคมของตัวเองแล้ว และมีเจตนารมย์ที่จะทำให้สังคมเข้าใจพวกเขาในทางที่เป็นบวก   แม้ว่าบาร์เกย์ในยุคต่อมาจะเกี่ยวข้องกับการค้าทางเพศอย่างชัดเจน แต่บาร์ของยศวดียังทำหน้าที่เป็นศูนย์รวมของเกย์ที่ต้องการมีสังคม ในประเด็นนี้ยังไม่มีการศึกษาว่าการเกิดขึ้นของบาร์เกย์เกี่ยวข้องอย่างไรกับการแสดงออกเรื่องสิทธิและเสรีภาพของเกย์  เพราะยังมีความเข้าใจว่าบาร์เกย์คือสถานบริการทางเพศ  นักวิชาการรุ่นหลังๆจึงมองข้ามบทบาทหน้าที่ในเชิงบวกที่บาร์เกย์มอบให้กับกลุ่มเกย์ทั้งหลาย

                การเคลื่อนไหวทางสังคมของเกย์หลังจากการเกิดบาร์เกย์ของยศวดีแล้ว คือการเกิดขึ้นของนิตยสารเกย์ในปี พ.ศ.2524 นิตยสารจีแอลคือนิตยสารเล่มแรกที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับเกย์และเลสเบี้ยน  ต่อมาในปี พ.ศ.2525 เกิดนิตยสารเชิงชาย  และ พ.ศ.2526 เกิดนิตยสารมิถุนา  นิตยสารในรุ่นแรกๆนี้พยายามให้ความรู้เรื่องเพศและตอบปัญหาทางเพศแก่ผู้อ่าน รวมทั้งประสบการณ์ชีวิตของเกย์ที่ต้องการความรักและความเข้าใจจากคนรอบข้าง  ในปี พ.ศ.2528 นิตยสารมิถุนาจูเนียร์ได้นำเสนอประเด็นเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพของเกย์และความเคลื่อนไหวของเกย์ในโลกตะวันตก ต่อมามีนิตยสารเกย์ผลิตออกมาอีกหลายฉบับ เช่น นีออน  มรกต  มิดเวย์  ฯลฯ นิตยสารเหล่านี้ทำหน้าที่สำคัญประการหนึ่งคือ ทำให้เกย์ที่ไม่กล้าเปิดเผยยอมรับในความรู้สึกของตัวเอง และทำให้เห็นว่าพวกเขาไม่โดดเดี่ยว ไม่ผิดปกติ ยังมีเพื่อนที่มีความรู้สึกเดียวกัน

                ในช่วงนี้ บุคคลสำคัญอีกท่าหนึ่งที่กล้าหาญในการเปิดเผยตัวต่อสาธารณะคือ ดร.เสรี วงษ์มณฑา ซึ่งเป็นตัวอย่างของเกย์ที่พยายามทำให้สังคมเข้าใจว่าเกย์ก็คือผู้ชายธรรมดาคนหนึ่ง  มีความรู้ ความสามารถและทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมได้     ดร.เสรี เขียนบทความและบทสัมภาษณ์ลงในนิตยสารเกย์หลายฉบับ รวมทั้งนำเสนอความคิดในเวทีวิชาการหลายแห่ง  เวทีครั้งสำคัญคือ การอภิปรายเรื่องเกย์กับกฎหมาย จัดโดยคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในปี พ.ศ.2526 การอภิปรายครั้งนี้ทำให้สังคมเข้าใจว่าเกย์คือใคร และสังคมควรจะยอมรับเขาอย่างไร     คนสำคัญอีกคนหนึ่งคือ นที ธีระโรจนพงษ์ ที่เขียนคอลัมน์ในนิตยสารนีออนและมิถุนาจูเนียร์ เพื่อทำให้เกย์ยอมรับตัวเองและต้องประพฤติตัวในทางที่ดีเพื่อให้สังคมยอมรับ   รวมทั้งจัดตั้งกลุ่มเส้นสีขาว ซึ่งเป็นกลุ่มที่รณรงค์ให้ความรู้เกี่ยวกับโรคเอดส์และการมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย โดยมีกลุ่มเป้าหมายคือบาร์เกย์  การรณรงค์นี้เกิดเนื่องจากโรคเอดส์กำลังแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วในหมู่เกย์และชายขายบริการทางเพศ[58]    นทีเป็นคนแรกที่มีแนวคิดในการจัดตั้งสมาคมเกย์แห่งประเทศไทย เพราะเชื่อว่าเกย์ไทยต้องรวมตัวกันเพื่อให้มีอำนาจต่อรองทางสังคม  และช่วยสร้างภาพลักษณ์เกย์ที่ดีต่อสาธารณะ

                ในปี พ.ศ.2532 นทีได้ตั้งกลุ่มชื่อ ภราดรภาพยับยั้งโรคเอดส์แห่งประเทศไทย (Fraternity for AIDS Cessation in Thailand) กลุ่มนี้จะให้ความรู้เกี่ยวกับโรคเอดส์ในบาร์เกย์ ซาวน่าเกย์ และจัดกิจกรรมพบปะแลกเปลี่ยนข่าวสารและให้คำปรึกษาปัญหาเกย์  รวมทั้งมีการผลิตจุลสารกุลเกย์เพื่อเผยแพร่ข่าวสารต่างๆในชุมชนเกย์ ซึ่งถือว่าเป็นความเคลื่อนไหวทางสังคมที่ชัดเจนที่สุดนับตั้งแต่มีการรวมตัวของเกย์เกิดขึ้น   อย่างไรก็ตาม กลุ่มภราดรภาพของนทีก็ทำงานอยู่ในระยะเวลาสั้นๆเพราะขาดแคลนงบประมาณและไม่ได้รับการสนับสนุนจากภาคธุรกิจของเกย์มากนัก  ในขณะที่ภาคธุรกิจก็หันไปรวมตัวกันเองเพื่อที่จะทำงานที่เน้นการต่อต้านโรคเอดส์เพียงอย่างเดียว

                สถานการณ์เอดส์ในประเทศไทยได้นำไปสู่การเคลื่อนไหวของเกย์ในรูปแบบใหม่ คือ การนำปัญหาสุขภาพมาเป็นเป้าหมายของการขับเคลื่อน และการเคลื่อนไหวนี้ก็ได้รับการสนับสนุนจากหลายฝ่าย เนื่องจากโรคเอดส์เป็นโรคที่ร้ายแรงและสังคมหวาดกลัว ในระยะแรกๆ โรคเอดส์ก็สร้างภาพลบให้กับเกย์มากเพราะสังคมเชื่อว่าเอดส์เป็นโรคที่เกย์สร้างขึ้นเพราะความส่ำส่อนทางเพศของเกย์  ความเชื่อดังกล่าวนี้ทำให้ผู้ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับเกย์มารวมตัวกันในปี พ.ศ.2529 เพื่อประเมินสถานการณ์เอดส์ที่จะกระทบธุรกิจบาร์เกย์ จึงร่วมมือกับกองควบคุมกามโรคเพื่อให้ความรู้โรคเอดส์กับเด็กบาร์       ต่อมาในปี พ.ศ.2530 บรรณาธิการนิตยสารเกย์ 5 ฉบับได้รวมตัวกันเพื่อพูดคุยเกี่ยวกับการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับเกย์ เพื่อมิให้สังคมประณามว่าเกย์เป็นคนชั่ว   จนถึงปี พ.ศ.2531 กลุ่มธุรกิจเกย์และกลุ่มเกย์ที่ติดต่อกับภาครัฐได้รวกันตั้งกลุ่มชื่อ “กลุ่มเกย์สร้างสรรค์แห่งประเทศไทย” ซึ่งมีเป้าหมายรณรงค์ต่อต้านโรคเอดส์[59]  แต่กลุ่มนี้ก็ไม่ได้ทำงานในเชิงกระบวนการ มีการรวมตัวกันเฉพาะวันสำคัญๆ จนกลุ่มค่อยๆจางหายไป

            หากถามว่าการจัดตั้งองค์กรเกย์ที่มีระบบโครงสร้างการทำงานที่ชัดเจนเกิดขึ้นเมื่อใด อาจพิจารณาได้จากกรณีกลุ่มเพื่อวันพุธ ในปี พ.ศ. 2542  กลุ่มนี้เกิดจากแนวคิดของกมลเศรษฐ์ เก่งการเรือ ซึ่งเป็นผู้ให้คำปรึกษาคลินิกนิรนาม สภากาชาดไทย  พบว่าในบรรดาคนรักเพศเดียวกันมีการติดเชื้อเอชไอวีมากขึ้น   ในขณะเดียวกันก็มีปัญหาเกี่ยวกับสื่อที่นำเสนอเรื่องของเกย์ในด้านลบมากขึ้น  กมลเศรษฐ์จึงจัดเวทีเสวนาปัญหาเกย์    หลังจากนั้นได้เป็นตัวแทนของไทยไปร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการเกี่ยวกับโรคเอดส์และเพศสภาพที่ประเทศบังคลาเทศ ซึ่งทำให้ได้พบกับกลุ่มและองค์กรรักเพศเดียวของต่างประเทศ   กมลเศรษฐ์จึงกลับมาจัดตั้งกลุ่มเกย์ชื่อ “ฟ้าสีรุ้ง”  โดยมีเป้าหมายการทำงานเรื่องคุณภาพชีวิตของคนรักเพศเดียวกัน การทำให้สังคมยอมรับเกย์ และรณรงค์ให้ความรู้เรื่องโรคเอดส์ ซึ่งได้รับการช่วยเหลือจากองค์กรหมอไร้พรมแดนและมูลนิธิรักษ์ไทย   ต่อมากลุ่มฟ้าสีรุ้งได้รับการจดทะเบียนเป็นสมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทยในปี พ.ศ. 2546  โดยยึดหลักปรัชญาเรื่องความรัก ความเข้าใจ มีศักดิศรี และเท่าเทียม  ปัจจุบันสมาคมฟ้าสีรุ้งมีการเติบโตทั้งในแง่บุคลากร ภาระกิจ และเครือข่ายความร่วมมือจากองค์กรต่างๆ

                องค์กรเกย์อีกแห่งหนึ่งคือ องค์กรบางกอกเรนโบว์  (Bangkok Rainbow Organization : BRO)
ก่อตั้งในปี พ.ศ. 2545 โดยนิกร อาทิตย์และกลุ่มคนที่ทำงานด้านเอดส์และเพศศึกษาซึ่งเคยทำงานกับสมาคมฟ้าสีรุ้งมาก่อน เป้าหมายขององค์กรคือให้คำปรึกษาเบื้องต้นเกี่ยวกับการติดเชื้อเอดส์  ปัญหาเรื่องเพศในกลุ่มเยาวชนชาย และกลุ่มเยาวชนชายที่มีพฤติกรรมรักเพศเดียวกัน รวมทั้งจัดกิจกรรมทางวิชาการ เช่นเสวนาประเด็นเกย์  สื่อของเกย์ ภาพยนตร์ของเกย์ เป็นต้น        นอกจากนั้นยังมีกลุ่มเอ็มพลัสในจังหวัดเชียงใหม่ ก่อตั้งในปี พ.ศ.2546  มีเป้าหมายการทำงานเช่นเดียวกับสมาคมฟ้าสีรุ้งและบางกอกเรนโบว์   องค์กรเกย์เหล่านี้ทำงานร่วมมือกันเนื่องจากมีแหล่งทุนแหล่งเดียวกัน  ทำให้สมาคมฟ้าสีรุ้งกลายเป็นศูนย์กลางที่จะกระจายทุนไปยังกลุ่มต่างๆ      เครือข่ายความร่วมมือนี้ยังนำไปสู่การตั้งเครือข่ายความหลากหลายทางเพศของประเทศไทยเพื่อผลักดันเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพของเกย์   เลสเบี้ยน กะเทย และคนข้ามเพศ

                จากการศึกษาของใจ อึ๊งภากรณ์ เชื่อว่าการเคลื่อนไหวทางสังคมของกลุ่มเกย์และเลสเบี้ยนในประเทศไทยเกิดจากสถานการณ์เอดส์ในช่วงทศวรรษ 1980 และกระแสการบริโภคของคนรุ่นใหม่ในทศวรรษ 1990-2000 แต่การเคลื่อนไหวดังกล่าวไม่มีสำนึกทางการเมืองเหมือนในโลกตะวันตก    ใจวิเคราะห์ว่าองค์กรเกย์ไทยมิได้ต่อสู้เพื่อจะเปลี่ยนแปลงสังคม แต่แสดงออกถึงตัวตนและสร้างความเข้าใจต่อสังคม โดยมีเป้าหมายเพื่อให้สังคมยอมรับ   ใจเสนอว่าองค์กรเกย์ไทยต้องมีสำนึกทางการเมืองมากขึ้นและพยายามเข้าไปมีส่วนร่วมในการเมืองภาคประชาชนเพื่อต่อสู้กับความไม่เป็นธรรมอื่นๆในสังคมด้วย[60]     จากข้อสังเกตดังกล่าวนี้นำมาสู่คำถามสำคัญที่บทความนี้ต้องการนำเสนอก็คือ การเคลื่อนไหวทางสังคมของเกย์ไทยมีฐานคิดหรือมีอุดมการณ์หรือไม่ และเกย์ไทยอาศัยกระบวนทัศน์อะไรในการเคลื่อนไหว  คำถามเหล่านี้จะทำให้เห็นว่าการทบทวนการเคลื่อนไหวทางสังคมของเกย์ไทยของใจ อึ๊งภากรณ์ให้ความสำคัญกับเรื่องใดบ้างและเรื่องใดที่ถูกมองข้ามไป

                จะเห็นได้ว่าใจพยายามใช้ตัวแบบองค์กรเกย์ในโลกตะวันตกเป็นมาตรฐานเพื่อที่จะเทียบกับองค์กรเกย์ของไทย ซึ่งเป็นการมองในเชิงอุดมคติ และไม่เห็นความซับซ้อนที่ปรากฎอยู่ในการต่อสู้ของเกย์  ไม่ว่าจะเป็นอุดมการณ์แบบสังคมนิยม ทุนนิยม เสรีนิยม ปฏิรูปนิยม หรือปฏิวัตินิยม    รวมทั้งความคิดเรื่องเพศที่แตกต่างกันระหว่างวัฒนธรรมไทยและตะวันตก    การที่องค์กรเกย์ไทยไม่มีสำนึกทางการเมืองอาจไม่ใช่ปัญหาสำคัญ หากแต่องค์กรเกย์ไทยกำลังปรับตัวให้เข้ากับบริบททางสังคมและวัฒนธรรมที่วิถีชีวิตแบบเกย์กำลังกลายเป็นสิ่งสากลและจับต้องได้  ประเด็นนี้ผู้เขียนจะอธิบายในหัวข้อต่อไปว่าทำไมองค์กรเกย์ในโลกที่สามจึงเชื่อมั่นในเรื่องสิทธิและอัตลักษณ์เกย์ที่ขับเคลื่อนในโลกทุนนิยม      การเคลื่อนไหวทางสังคมของเกย์ไทยอาจมีลักษณะใกล้เคียงกับการเป็นพื้นที่ทางสังคมเพื่อการแสดงตัวตนของเกย์ ซึ่งอาศัยกระบวนทัศน์แบบเสรีนิยม (Liberalism) ซึ่งยังคงเชื่อฟังกฎระเบียบและบรรทัดฐานทางสังคมที่มีอยู่เดิม และมากไปกว่านั้นคือ เกย์ไทยจะไม่ทำลายบรรทัดฐานและศีลธรรม และต้องปฏิบัติตัวให้เป็นคนดีตามศีลธรรมนั้น  รวมทั้งยังมีกระบวนทัศน์แบบการเมืองเรื่องเพศ (Sexual Politics) ที่เชื่อว่าเกย์เป็นผู้ที่สังคมดูหมิ่นดูแคลน เกย์เป็นเพศที่สังคมไม่ยอมรับ   ฉะนั้นองค์กรเกย์ไทยจึงมีหน้าที่สร้างความเข้าใจต่อคนในสังคม ทำให้สังคมลดอคติและยอมรับเกย์

                กระบวนทัศน์ดังกล่าวดำเนินควบคู่ไปกับความคิดเรื่องเพศของไทย ที่เชื่อต่อๆกันมาว่าเกย์คือคนที่เบี่ยงเบนทางเพศและส่ำส่อนทางเพศ     ความเชื่อนี้กลายเป็นแหล่งอ้างอิงที่องค์กรเกย์และนักวิชาการที่ทำวิจัยเรื่องเกย์นำไปขยายผลเพื่อที่จะตอบโต้กับสังคมว่าความคิดเรื่องเพศกระแสหลักของไทยกำลังเบียดขับเพศอื่นๆออกไปจากสังคม  องค์กรเกย์จึงมีความชอบธรรมที่จะออกมาเคลื่อนไหว รณรงค์เพื่อทำให้สังคมเข้าใจ    อย่างไรก็ตาม การวิเคราะห์การเคลื่อนไหวดังกล่าวนี้ไม่อาจมองข้ามเรื่องความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่เกย์มีกับระบบทุนนิยมและ ธุรกิจของเกย์ที่สถาปนาตัวเองมาอย่างเข้มแข็งและยาวนาน   การทำให้องค์กรเกย์เปลี่ยนไปสู่ขบวนการภาคประชาชนและมีสำนึกทางการเมืองนั้น อาจเป็นเรื่องยาก เพราะอุดมการณ์แบบสังคมนิยม (Socialism) ในชุมชนเกย์ไทยยังเลือนลางและถูกบดบังด้วยวัฒนธรรมบริโภค 

                ในปัจจุบันจะพบว่าการทำงานของเกย์ไทย ถูกครอบงำด้วยเงินทุนด้านสุขภาพซึ่งมีเป้าหมายที่จะยับยั้งโรคเอดส์และการแพร่เชื้อเอชไอวีในกลุ่มเสี่ยง   คำถามที่สำคัญที่องค์กรเกย์ต้องถามคือ การทำงานภายใต้กรอบนี้ได้ปิดกั้นโลกทัศน์ของเกย์หรือไม่  ถ้าโลกทัศน์ที่เกย์ใช้อยู่ถูกนิยามจากเรื่องสุขภาพและมองว่าเกย์คือ “กลุ่มเสี่ยง” การต่อสู้ของเกย์ก็ไม่อาจหลุดพ้นไปจากวิธีคิดเรื่องเพศกระแสหลักที่แบ่งแยกระหว่างเพศปกติและเพศผิดปกติ  นอกจากนั้นความคิดเรื่องสุขภาวะทางเพศ เป็นกระบวนทัศน์แบบวิทยาศาสตร์และมีลักษณะปฏิฐานนิยม  การขับเคลื่อนทางสังคมของเกย์ก็อาจพบปัญหาในอนาคตหายังเชื่อมั่นในกระบวนทัศน์นี้  องค์กรเกย์จำเป็นต้องหันมาทบทวนตัวเองท่ามกลางระบบทุนนิยม บริโภคนิยม และสถานการณ์เอดส์  เนื่องจากมีความคิดที่ขัดแย้งกันเกิดขึ้นตลอดเวลาระหว่างการส่งเสริมให้เกย์บริโภคสินค้าที่เซ็กซ์กลายเป็นวัตถุที่เกย์ละทิ้งไม่ได้ และจำเป็นสำหรับการแสดงตัวตน  กับการส่งเสริมให้เกย์สร้างภาพลักษณ์ที่ดีและมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย ซึ่งเท่ากับการปฏิเสธชีวิตทางเพศที่มีพลังในวัฒนธรรมบริโภค  คู่ตรงข้ามนี้ดำเนินไปบนกระบวนทัศน์เสรีนิยมเหมือนกัน เป็นความย้อนแย้ง (Paradox) ที่นักเคลื่อนไหวและนักวิชาการมองข้ามไป    

บทส่งท้าย

          ผู้เขียนเชื่อว่าบทความนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของการพินิจพิเคราะห์สังคมเกย์ทั้งในแง่มิติสังคมที่เกย์ออกมาเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิเสรีภาพ และมิติทางวัฒนธรรมที่วิถีชีวิตของเกย์ขับเคลื่อนด้วยสินค้าและบริการทางเพศ  เพื่อที่จะยกระดับความเข้าใจในเชิงกระบวนทัศน์และองค์ความรู้  นักเคลื่อนไหวและนักวิชาการด้านเกย์ศึกษากำลังตกอยู่ในกรอบความคิดกระแสหลักเรื่อง “อัตลักษณ์เกย์” ซึ่งถูกตั้งคำถามจากทฤษฎีเควียร์  ความคิดนี้จะต้องทบทวนใหม่เพื่อมิให้การตอบคำถามเป็นสูตรสำเร็จ เช่น การทำให้เกย์มีสำนึกทางการเมือง การทำให้เกย์ได้สิทธิเสรีภาพ การทำให้เกย์ได้แสดงตัวตน ฯลฯ คำตอบเหล่านี้ยังไม่เพียงพอที่จะเข้าใจปัญหาความไม่เท่าเทียมและความไม่ยุติธรรมทางสังคมในปัจจุบัน  เพราะสิ่งเหล่านี้แอบแฝงหรือสร้างภาพลักษณ์อย่างแนบเนียนในวัฒนธรรมประชาธิปไตยและวัฒนธรรมบริโภค   ความไม่เท่าเทียมที่เกย์เห็นอาจมิใช่เพียงการได้สิทธิน้อยกว่าหญิงชายเท่านั้น   แต่อาจรวมถึงการที่เกย์แบ่งแยกกันเองระหว่างเกย์ชนชั้นสูงกับชนชั้นล่าง  เกย์ที่มีการศึกษากับเกย์ไร้การศึกษา  เกย์ที่แสดงความเป็นชายกับเกย์ที่ไม่มีความเป็นชาย  เกย์ที่หน้าตาดีกับเกย์ที่หน้าตาไม่ดี  เกย์ที่มีฐานะดับเกย์ที่ยากจน เกย์ที่มีจริยธรรมกับเกย์ที่ไร้จริยธรรม  เป็นต้น  การแบ่งแยกนี้คือความไม่เท่าเทียมที่ใกล้ตัวซึ่งถูกมองข้ามไป

                คำถามคือ นักต่อสู้และนักวิชาการเพื่อชาวเกย์จะนำปัญหานี้มาสู่โจทย์ของการต่อสู้อย่างไร  เพราะการต่อสู้กับชาวเกย์ด้วยกันเองอาจสำคัญเท่าๆกับการต่อสู้กับสังคมรักต่างเพศ  บางทีเราอาจต้องเปิดมุมมองใหม่เพื่อที่จะเข้าใจว่าความไม่เท่าเทียมทางสังคมคือสิ่งที่เกย์มีส่วนสร้างขึ้นมาด้วย  เราอาจต้องมองว่าการต่อสู้เพื่อให้สังคมยอมรับเกย์มิใช่เป้าหมายเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป แต่เป้าหมายที่ใหญ่กว่านั้นคือการต่อสู้กับความคิดและกระบวนทัศน์ที่ปิดกันให้เกย์มองอะไรแคบเกินไป หรือตกเป็นเหยื่อของกระบวนทัศน์บางแบบที่ทำให้เกย์ยังคงมีความเป็นอื่นอยู่ต่อไป         ดีดี เฮอร์แมน (1996) ตั้งข้อสังเกตในประเด็นนี้ว่าการทำให้เกย์ได้รับการคุ้มครองปกป้องนั้นวางอยู่บนฐานคิดเรื่องสิทธิมนุษยชนและอุดมการณ์เสรีนิยม ซึ่งเป็นกระบวนทัศน์ที่ทำให้คู่ตรงข้ามระหว่างเกย์กับรักต่างเพศดำรงอยู่[61]  บางทีเกย์อาจต้องมองการต่อสู้ที่สามารถรวมเอากลุ่มคนหลายกลุ่มเข้าด้วยกันซึ่งล้วนมีเป้าหมายและปัญหาเดียวกับเกย์  เช่น ตั้งเป็นกลุ่มพันธมิตรเพื่อต่อสู้กับความไม่เท่าเทียมทางสังคม[62]  อาจกล่าวได้ว่าการต่อสู้ของเกย์อาจต้องทบทวนเรื่องความแตกต่างทางเพศ เพราะถ้าไม่มีการดูหมิ่นเหยีดหยามเกย์ ความแตกต่างทางเพศก็อาจไม่มีความหมาย

                แต่ความแตกต่างที่เกิดขึ้นกับเกย์ คือการสร้างวัฒนธรรมที่ต่างไปจากคนส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นวิถีการดำเนินชีวิต การบริโภค การเข้าสังคม และความสัมพันธ์ทางสังคม    สตีเว่น ซีดแมน(1997) ตั้งข้อสังเกตว่าตัวแบบอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ (Ethnic Identity Model) ทำให้ขบวนการเคลื่อนไหวของเกย์แพร่หลาย แต่ตัวแบบนี้อาศัยเกย์ชนชั้นกลางที่เป็นผิวขาวเป็นมาตรฐาน เป็นการเหมารวมและบดบังความหลากหลายของเกย์ที่เป็นผิวสี หรือมาจากชนชั้นล่าง  ซีดแมนเชื่อว่า “เกย์กระแสหลัก” จะต้องถูกตรวจสอบ[63]   เนื่องจากเกย์กระแสหลักทำให้การแบ่งแยกและการจัดช่วงชั้นคนดำเนินต่อไป  การเคลื่อนไหวของเกย์ชนชั้นกลางก่อเกิดอยู่บนการช่วงชิงอำนาจโดยใช้อัตลักษณ์ทางเพศเป็นเครื่องมือเพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิ เสรีภาพ โอกาส การเข้าถึงทรัพยากร การได้รับการบริการทางสังคม และการมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจและการเมือง 

                จุดยืนของผู้เขียนในบทความเรื่องนี้ มีความคิดที่สอดคล้องกับสตีเว่น ซีดแมนที่ว่าระบบศีลธรรมกำลังเข้ามาจัดระเบียบเพศ เพื่อให้เพศมีลำดับชั้นและมีการแสดงออกที่เหมาะสม    “ศีลธรรมแห่งการปฏิบัติทางเพศ”[64]  แพร่กระจายไปอยู่ในพรมแดนต่างๆทั้งรักต่างเพศและรักเพศเดียวกัน   ศีลธรรมในลักษณะนี้ เชื่อว่า “เพศวิถี” เป็นสิ่งที่ต้องได้รับการควบคุม ต้องเกิดประโยชน์ และต้องถูกประเมิน      อย่างไรก็ตาม มิติทางศีลธรรมในเรื่องเพศมีข้อแตกต่างกัน 2 ประการ   ประการแรกจะให้ความสำคัญกับ “ระบบศีลธรรม” เพื่อใช้ควบคุมการปฏิบัติทางเพศ  ส่วนประการที่สองจะให้ความสำคัญกับ “บุคคล” ในฐานะเป็นผู้สร้างความหมายว่าศีลธรรมควรจะเป็นอย่างไร   ศีลธรรมในแบบแรกจะมีความคงที่และค่อนข้างเป็นอนุรักษ์นิยม   ขณะที่แบบหลังจะเปลี่ยนไปตามบริบท  และเปิดกว้างให้บุคคลได้ตีความและเปลี่ยนแปลงสิ่งที่เรียกว่าศีลธรรม 

                ศีลธรรมที่เป็นพลวัต มีความเหมาะสมในสถานการณ์ปัจจุบัน เพราะการปฏิบัติทางเพศ เช่นการเคลื่อนไหวของเกย์ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นท่ามกลางเงื่อนไขหลายอย่าง    ถ้ากลุ่มเกย์เข้าใจในประเด็นนี้ก็จะทำให้เห็นว่าพฤติกรรมทางเพศของเกย์สามารถถูกตีความได้หลากหลาย ไม่จำเป็นต้องตีความจากระบบศีลธรรมจรรยาเพียงด้านเดียว เช่นตีความจากด้านอารมณ์ความรู้สึก เป็นต้น    ซีดแมนเชื่อว่าการเคลื่อนไหวทางสังคมของเกย์ไม่ควรใช้ศีลธรรมแบบคงที่ตายตัว หรือแบบสูตรสำเร็จ (Formalistic)  เพราะจะทำให้มองข้ามความซับซ้อนในการปฏิบัติทางเพศและความรู้สึกทางเพศ  การเคลื่อนไหวของเกย์จึงจำเป็นต้องใช้ทัศนะที่เปิดกว้างเพื่อมองศีลธรรมอย่างมีพลวัต    ซีดแมนไม่ต้องการให้เกย์ละทิ้งศีลธรรม แต่ชวนเชิญให้เกย์ทบทวนสิ่งที่เรียกว่า “ศีลธรรม” ซึ่งไม่อาจแยกขาดจากประสบการณ์ชีวิตและเงื่อนไขที่แวดล้อมอยู่ เพราะการเรียกร้องให้เกย์เป็นคนดี  ให้สังคมยอมรับ มิได้มาจากการควบคุมพฤติกรรมทางเพศของเกย์ หากแต่มาจากการไตร่ตรองว่าการเป็นคนดีของเกย์ไม่เกี่ยวกับการมีเซ็กซ์ หรือการใช้ชีวิตกลางคืน   หรือการเรียกร้องสิทธิก็มิใช่การสร้างกฎหมายที่คุ้มครองเกย์เสมอไป หากแต่ยังเกี่ยวข้องกับการให้โอกาสและช่วยเหลือเกย์ด้วยกันเอง

 

บรรณานุกรม

ใจ อึ๊งภากรณ์. ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมในไทย. สำนักพิมพ์ประชาธิปไตยแรงงาน, กรุงเทพฯ. 2549

เทอดศักดิ์ ร่มจำปา. วาทกรรมเกี่ยวกับเกย์ในสังคมไทย พ.ศ.2508-25042. วิทยานิพนธ์อักษรศาสตร์มหาบัณฑิต, สาขาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.2545.

 

Barry  D. Adam. The Rise of a Gay and Lesbian Movement. Twayne Publishers,

            Boston. 1987.

Bonnie Spanier. “Biological Determinism and Homosexuality” in Jennifer Robertson

            (ed.) Same-Sex Cultures and Sexualities. Oxford, Blackwell. 2005.

Carole S. Vance. “Anthropological Rediscovers Sexuality: A Theoretical Comment”

in Jennifer Robertson (ed.).Same Sex Cultures and Sexualities: An

Anthropological Reader. Blackwell, Malden, MA. 2005.

Craig A. Rimmerman. The Lesbian and Gay Movements. Westview Press, Boulder,

            Colorado. 2008.

David Halperin. How to do the History of Homosexuality. University of Chicago

Press, Chicago. 2002.

David Halperin. Saint Foucault. Towards a Gay Hagiography. Oxford University

Press, New York. 1995

David Greenberg. The Construction of Homosexuality. University of Chicago

Press, Chicago. 1988.

Diane Richardson and Steven Seidman (ed.) Handbook of Lesbian and Gay

Studies.  Sage, London. 2002

Didi Herman. Right of Passage: Struggles for Lesbian & Gay Legal Equality.

University of Toronto Press, Toronto. 1996

Domenico Rizzo. “Public Spheres and Gay Politics Since the Second World War” in

Robert Aldrich (ed.) Gay Life and Culture. Thames & Hudson, London.

2006.

Elizabeth A. Armstrong. Forging Gay Identities. Chicago, The University of

            Chicago Press. 2002.

Francis Mark Mondimore. A Natural History of Homosexuality. Baltimore, The

 John Hopkins University Press. 1996.

Florence Tamagne. A History of Homosexuality in Europe. Algora Publishing, New

            York. 2006.

Gert Hekma. “The Gay World: 1980 to the Present” in Robert Aldrich (ed.) Gay Life

            and Culture. Thames & Hudson, London. 2006.

Harry Ooosterhuis and Hubert Kennedy (ed.) Homosexuality and Male Bonding in

Pre-Nazi Germany. The Haworth Press, New York. 1991.

Jennifer Robertson (ed.).Same Sex Cultures and Sexualities: An

Anthropological Reader. Blackwell, Malden, MA. 2005.

Robert Aldrich (ed.) Gay Life and Culture. Thames & Hudson, London. 2006.

Stephen M. Engel. The Unfinished Revolution. Social Movement Theory and the

Gay and Lesbian Movement.  Cambridge University Press, Cambridge.

2001.

Stephen Angel. “Making a Minority” in Diane Richardson and Steven Seidman (ed.)

Handbook of Lesbian and Gay Studies.  Sage, London. 2002

Steven Seidman. Difference Troubles: Queering Social Theory and Sexual

Politics. Cambridge University Press, Cambridge. 1997.

Steven Seidman. “Identity and Politics in a Postmodern Gay Culture Some Historical

and Conceptual Notes” in Michael Warner (ed.) Fear of a Queer Planet

Queer Politics and Social Theory. University of Minnesota Press,

Minneapolis. 1993.

Tim Edwards. Erotics & Politics: Gay Male Sexuality, Masculinity and Feminism.

            London, Routledge. 1994.

เชิงอรรถ

[1]               Stephen M. Engel. The Unfinished Revolution. Cambridge, Cambridge University Press. 2001. หน้า.12.

[2]              Elizabeth A. Armstrong. Forging Gay Identities. Chicago, The University of Chicago Press. 2002. หน้า.5.

[3]              Elizabeth A. Armstrong. 2002. อ้างแล้ว หน้า.7.

[4]              Tim Edwards. Erotics & Politics: Gay Male Sexuality, Masculinity and Feminism. London, Routledge. 1994. หน้า.4.

[5]              Elizabeth A. Armstrong. 2002. อ้างแล้ว หน้า.10.

[6]               David F. Greenberg. The Construction of Homosexuality. The University of Chicago Press, Chicago. 1988. หน้า.409.

[7]               Harry Ooosterhuis and Hubert Kennedy (ed.) Homosexuality and Male Bonding in Pre-Nazi Germany. The Haworth Press, New York. 1991. หน้า.1.

[8]           ในกฎหมายมาตรา 175 ระบุว่าผู้ชายที่มีพฤติกรรมทางเพศกับชายอื่น หรือยอมให้ชายอื่นมีการกระทำทางเพศกับตน จะต้องถูกลงโทษโดยการจำคุก  ถ้าผู้ชายที่มีพฤติกรรมข้างต้นมีอายุต่ำกว่า 21 ปี และไม่ได้เป็นฝ่ายกระทำ ศาลอาจรอลงอาญาไว้ก่อน

[9]           Barry D.Adam. The Rise of a Gay and Lesbian Movement. Twayne Publishers, Boston. 1987.หน้า.18.

[10]             Domenico Rizzo. “Public Spheres and Gay Politics Since the Second World War” in Robert Aldrich (ed.) Gay Life and Culture. Thames & Hudson, London. 2006. หน้า.206.

[11]             Elizabeth A. Armstrong. 2002 อ้างแล้ว หน้า 41.

[12]             Elizabeth A. Armstrong. 2002 อ้างแล้ว หน้า 19.

[13]             Stephen M. Engel.  2001.อ้างแล้ว หน้า.44.

[14]             Elizabeth A. Armstrong. 2002. อ้างแล้ว หน้า 57.

[15]             Gert Hekma. “The Gay World: 1980 to the Present” in Robert Aldrich (ed.) 2006. อ้างแล้ว หน้า 333.

[16]          Barry  D. Adam. The Rise of a Gay and Lesbian Movement. Twayne Publishers, Boston. 1987.หน้า 97.

[17]             วิลเลียม มอรริส คือนักคิดที่สนใจอุดมการณ์สังคมนิยม  เขาเชื่อว่าความเจริญก้าวหน้าทางวัตถุทำลายอิสรภาพของมนุษย์  ดังนั้นสังคมจึงไม่ควรมีระบบทุนนิยม    ในปี ค.ศ.1893  มอร์ริสเขียนคำประกาศ Manifesto of the English Socialists เพื่อบอกว่าสังคมควรจะเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต  มอร์ริสมีบทบาทอย่างมากในการเผยแพร่ความคิดสังคมนิยมในหมู่นักศึกษามหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด  เขายังเป็นผู้ริเริ่มก่อตั้ง Socialist League ในปี ค.ศ.1885 และได้รับความสนใจจากชนชั้นแรงงานและพวกอนาธิปไตย ซึ่งเอ็ดเวิร์ด คาร์เพนเตอร์ก็เข้ามาเป็นสมาชิกในกลุ่มนี้ด้วย

[18]             Florence Tamagne. A History of Homosexuality in Europe. Algora Publishing, New York. 2006. p.86.

[19]             Florence Tamagne. 2006. อ้างแล้ว หน้า 86.

[20]             Barry D. Adam. 1987. อ้างแล้ว หน้า 36.

[21]             http://www.fordham.edu/halsall/pwh/carpenter-is.html#ess5

[22]             Florence Tamagne. 2006. อ้างแล้ว หน้า 273.

[23]             Stephen M. Engel. 2001. อ้างแล้ว หน้า 30.

[24]             http://en.wikipedia.org/wiki/Stonewall_riots

[25]          Stephen M. Engel. The Unfinished Revolution. Social Movement Theory and the Gay and Lesbian Movement.  Cambridge University Press, Cambridge. 2001.หน้า.42.

[26]             Elizabeth A. Armstrong. 2002. อ้างแล้ว หน้า 20.

[27]             Domenico Rizzo. “Public Spheres and Gay Politics Since the Second World War” in Robert Aldrich (ed.) Gay Life and Culture. Thames & Hudson, London. 2006. หน้า 214.

[28]             Domenico Rizzo. 2006. อ้างแล้ว หน้า 215.

[29]           Elizabeth A. Armstrong. 2002. อ้างแล้ว หน้า 92.

[30]             Francis Mark Mondimore. A Natural History of Homosexuality. Baltimore, The John Hopkins University Press. 1996. หน้า 102.

[31]             David F. Greenberg. 1988. อ้างแล้ว หน้า 408.

[32]           David Greenberg. 1988. อ้างแล้ว หน้า 408.

[33]           Bonnie Spanier. “Biological Determinism and Homosexuality” in Jennifer Robertson (ed.) Same-Sex Cultures and Sexualities. Oxford, Blackwell. 2005. หน้า 37.

[34]           Bonnie Spanier. 2005 อ้างแล้ว หน้า 39.

[35]             Francis Mark Mondimore. 1996ใ อ้างแล้ว หน้า 157.

[36]          David Halperin. Saint Foucault. Towards a Gay Hagiography. Oxford University Press, New York. 1995

[37]             David Halperin. How to Do the History of Male Homosexuality. University of Chicago Press, Chicago. 2002.

[38]             David M. Halperin. 2002. อ้างแล้ว หน้า 131.

[39]             Carole S. Vance. “Anthropological Rediscovers Sexuality: A Theoretical Comment” in Jennifer Robertson (ed.). 2005. อ้างแล้ว หน้า 18.

[40]             David Greenberg. The Construction of Homosexuality. University of Chicago Press, Chicago. 1988.

[41]             Tim Edwards. 1994. อ้างแล้ว หน้า 8.

[42]             David Halperin. How to do the History of Homosexuality. University of Chicago Press, Chicago. 2002.

[43]       Tim Edwards. 1994. อ้างแล้ว หน้า  15.

[44]           Stephen Angel. “Making a Minority” in Diane Richardson and Steven Seidman (ed.) 2002. อ้างแล้ว หน้า 377-400.

[45]           Tim Edwards. 1994. อ้างแล้ว หน้า 40.

[46]             ในปี ค.ศ.1990 มีการประชุมวิชาการเกี่ยวกับเกย์และเลสเบี้ยนที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย  เทเรซา เดอ ลอเรติสได้เสนอคำศัพท์ “Queer Theory”

[47]             http://en.wikipedia.org/wiki/Queer_theory

[48]             Elizabeth A. Armstrong. 2002 อ้างแล้ว หน้า 182.

[49]             Steven Seidman. “Identity and Politics in a Postmodern Gay Culture Some Historical and Conceptual Notes” in Michael Warner (ed.) Fear of a Queer Planet Queer Politics and Social Theory. University of Minnesota Press, Minneapolis. 1993. หน้า 105-142.

[50]             David Halperin. 2002. อ้างแล้ว หน้า 134.

[51]             David Halperin. 2002. อ้างแล้ว หน้า 134.

[52]             Tim Edwards. 1994. อ้างแล้ว หน้า 142.

[53]             Tim Edwards. 1994. อ้างแล้ว หน้า 158.

[54]             เทอดศักดิ์ ร่มจำปา. วาทกรรมเกี่ยวกับเกย์ในสังคมไทย พ.ศ.2508-25042. วิทยานิพนธ์อักษรศาสตร์มหาบัณฑิต,สาขาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.2545.

[55]             เทอศักดิ์ ร่มจำปา. 2545 อ้างแล้ว หน้า 44.

[56]             เทอศักดิ์ ร่มจำปา. 2545 อ้างแล้ว หน้า 66.

[57]             เทอศักดิ์ ร่มจำปา. 2545 อ้างแล้ว หน้า 72.

[58]             ใจ อึ๊งภากรณ์. ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมในไทย. สำนักพิมพ์ประชาธิปไตยแรงงาน, กรุงเทพฯ. 2549. หน้า 79.

[59]             เทอศักดิ์ ร่มจำปา. 2545 อ้างแล้ว หน้า 175.

[60]             ใจ อึ๊งภากรณ์. 2549 อ้างแล้ว หน้า 94.

[61]             Didi Herman. Right of Passage: Struggles for Lesbian & Gay Legal Equality. University of Toronto Press, Toronto. 1996 หน้า.50.

[62]             Craig A. Rimmerman. The Lesbian and Gay Movements. Westview Press, Boulder, Colorado. 2008. หน้า138.

[63]             Steven Seidman. Difference Troubles: Queering Social Theory and Sexual Politics. Cambridge University Press, Cambridge. 1997. หน้า 190.

[64]             Steven Seidman. 1997. อ้างแล้ว หน้า 213.


ผู้เขียน: ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ

คำสำคัญ: เกย์, การเคลื่อนไหวทางสังคม, สิทธิเสรีภาพ, ความเท่าเทียม, อัตลักษณ์ทางเพศ

หัวเรื่องอิสระ: การเคลื่อนไหวทางสังคมของเกย์